News & Events

After 85 years, why are we still using ECT for depression?

 

Clinical Cognitive Neuroscience research seminars… over Zoom

Open to all
Wednesday 3rd May 2023, 20:00-21:00

 

After 85 years, why are we still using ECT for depression?

 

by

Professor Declan McLoughlin
Departtment of Psychiatry & Trinity College Institute of Neuroscience, Trinity College Dublin, St Patrick’s University Hospital, Dublin, Ireland

 

 

Please register at:

มาทำงานบ้านกันเถอะ! : สรุปประโยชน์ 5 ข้อ เมื่อให้เด็ก ๆ ช่วยงานบ้าน และแนวทางเบื้องต้น

 

ด้วยความรักและความหวังดีของพ่อแม่ เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนพยายามเสาะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นเสริมพัฒนาการ อาหารการกินดี ๆ ที่ถูกสุขอนามัย ไปจนถึงคลาสเรียนเสริมความรู้ทางวิชาการ และทักษะอื่น ๆ เพื่อปูทางให้ลูก ๆ เติบโตอย่างแข็งแรง สมวัย มีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิต แต่มีอีกหนึ่งทักษะสำคัญของชีวิตที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนยังมองข้ามไป และไม่ได้เสริมสร้างทักษะให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก นั่นคือ การจัดการงานบ้าน นั่นเอง

 

การจัดการงานบ้าน หมายถึง กิจวัตรที่ต้องจัดการ เพื่อให้บ้านและสิ่งของเครื่องใช้มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมต่อการใช้งานอยู่เสมอ เช่น การล้างจาน ซักผ้ารีดผ้า ล้างห้องน้ำ ปัดกวาดเช็ดถู และอีกมากมายหลายอย่าง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ยุ่งยากและน่าเบื่อหน่าย แต่เป็นทักษะสำคัญของชีวิตที่ควรให้เด็ก ๆ เรียนรู้ และฝึกฝน

 

บทความนี้ สรุป 5 ประโยชน์ของการฝึกลูก ๆ จัดการงานบ้านและแนวทางเบื้องต้น มาให้ค่ะ

 

 

ประโยชน์ 5 ข้อ ของการฝึกลูก ๆ จัดการงานบ้าน


 

1. ฝึกความรับผิดชอบ

 

เมื่อเด็ก ๆ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานบ้านบางอย่าง เด็ก ๆ จะได้ฝึกรับผิดชอบหน้าที่ หรือรับผิดชอบสิ่งของที่เป็นของตัวเอง โดยคุณพ่อคุณแม่อาจมอบหมายให้เด็ก ๆ ได้จัดการจานอาหารของตัวเองหลังกินเสร็จ เช่น โกยเศษอาหารลงถังขยะ และนำจานไปไว้ในอ่าง หรือ เมื่อลูกทำน้ำหกบนพื้น คุณพ่อคุณแม่ควรชวนให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเช็ดน้ำที่หกด้วยตัวเอง การทำแบบนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบการกระทำของตัวเองด้วย

 

 

 

2. พัฒนาทักษะการจัดการงานบ้าน และการพึ่งพาตนเอง

 

ผู้ใหญ่หลายคนเข้าใจดีว่าการจัดการงานบ้านซักผ้า รีดผ้า ทำกับข้าว ล้างจาน เก็บของ ล้างห้องน้ำ เช็ดห้องถูห้อง ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยทักษะความชำนาญ และการจัดระบบระเบียบชีวิตที่ดี เพื่อให้สามารถดูแลจัดการทั้งงานในบ้าน และงานนอกบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทักษะการจัดการเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้ในชั่วเวลาข้ามคืน หากแต่อาศัยการฝึกฝน และลองผิดลองถูกหลายครั้ง จนเกิดเป็นกิจวัตร และความเข้าที่เข้าทางมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

การฝึกให้เด็กได้ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะจัดการดูแลชีวิต และสิ่งของเครื่องใช้ของตัวเองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จะช่วยให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถจัดการดูแล รับผิดชอบกิจวัตรของตัวเองได้โดยไม่รู้สึกว่าชีวิตยุ่งเหยิงจนเกินเยียวยา คุณพ่อคุณแม่อาจทำตารางเวลาบอกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันติดไว้ในที่ ๆ เด็กสามารถเห็นได้ชัดเจน และให้เด็กทำสัญลักษณ์เมื่อช่วยกันทำงานนั้นได้เสร็จ เพื่อเป็นจุดที่บอกว่าทำได้แล้วนะ ทำเสร็จแล้วนะ เป็นต้น

 

ตารางเวลาในการทำงานบ้านนี้อาจไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน อาจมีการปรับให้ตรงกับความสะดวกและเป็นไปได้ของแต่ละครอบครัว แต่ควรมีการจัดสรรเวลาที่ชัดเจน เช่น ทุกเช้าวันอาทิตย์ 8 ถึง 9 โมง เราจะมาจัดการงานบ้านกัน เป็นต้น การกำหนดกิจวัตรที่สม่ำเสมอจะช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ และเกิดพฤติกรรมใหม่ ๆ ได้ดีกว่าการไม่มีกิจวัตรที่ชัดเจน

 

3. ส่งเสริมพัฒนาการทางการรู้คิด และสติปัญญา

 

การศึกษาพบว่าเด็ก ๆ ที่ช่วยจัดการงานบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรับผิดชอบในส่วนของตัวเอง เช่น จัดที่นอน หรือดูแลรับผิดชอบงานส่วนรวม เช่น ล้างจานหลังมื้ออาหาร มีแนวโน้มจะมีความจำปฏิบัติการ (working memory) และการยับยั้งพฤติกรรม (inhibitory control) ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม หรือ Executive Function (EF) ที่ดีกว่า ทั้งนี้เพราะการจัดการงานบ้านอย่างหนึ่ง ให้สำเร็จลุล่วง ประกอบไปด้วยขั้นตอนย่อย ๆ หลายขั้นตอนที่ต้องมีการทำเป็นลำดับต่อเนื่องกัน อีกทั้งเด็ก ๆ ยังต้องยับยั้งความต้องการไปทำอย่างอื่น เพื่อจัดการงานบ้านให้เสร็จก่อนด้วย เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกทักษะ EF ที่ดีอีกกิจกรรมหนึ่ง

 

4. ส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อ และการทำงานประสานกันระหว่างมือกับตา

 

การทำงานบ้านถือเป็นกิจกรรมที่ต้องมีการขยับกล้ามเนื้อ และประสานการทำงานระหว่างกล้ามเนื้อมือกับตา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทักษะอะไรก็ตามเมื่อยิ่งได้ใช้ ได้ฝึกฝน ก็จะยิ่งแข็งแรงขึ้น และทำได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การพับผ้า ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อทั้งแขน มือ และนิ้ว เพื่อจับและควบคุมผ้าให้ทบกัน รวมถึงสายตาก็ต้องเล็งดูขอบผ้า เพื่อให้ชายผ้าทบตรงกัน ผู้ใหญ่อาจคิดว่าการพับผ้าเป็นงานที่ง่ายมาก ไม่มีความซับซ้อนอะไร แต่สำหรับเด็กวัยอนุบาลไปจนถึงวัยประถม การพับผ้าชนิดต่าง ๆ ก็ถือเป็นกิจกรรมที่ท้าทายต่อพัฒนาการ เหมาะสำหรับใช้ฝึกกล้ามเนื้อ และการทำงานประสานกันระหว่างมือกับตาได้ดีเหมือนกัน

 

 

5. เสริมสร้างคุณภาพชีวิต และสุขภาวะทางใจที่แข็งแรง

 

การสามารถจัดการงานบ้านได้สำเร็จลุล่วง และทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็คล้ายกับการประสบความสำเร็จในกิจกรรมอื่น ๆ ที่มักก่อให้เกิดการรับรู้ถึงความสามารถของตนเอง ว่าฉันก็ทำได้ เกิดเป็นจังหวะเล็ก ๆ ที่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง จากการศึกษาระยะยาวพบว่า การให้เด็กช่วยทำงานบ้านตั้งแต่เล็ก มีความสัมพันธ์กับการรับรู้ถึงความสามารถของตนเอง มีความพึงพอใจในชีวิต และพฤติกรรมเอื้อสังคมที่สูงกว่า รวมถึงมีความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ที่ดีกว่าเมื่อโตขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการที่เราสามารถจัดระเบียบชีวิต และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี ยังเป็นทักษะที่ช่วยส่งเสริมการเข้าสังคม และส่งเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีอีกด้วย

 

 

 

เห็นได้ว่าการฝึกให้ลูกมีส่วนร่วมในการจัดการงานบ้านมีประโยชน์มากมายหลายด้านต่อพัฒนาการที่ดีของลูกตลอดช่วงชีวิต จึงเป็นกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม แต่ควรจัดสรรเวลา และหาโอกาสเพื่อให้ลูกได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะในการจัดการงานบ้านตามระดับพัฒนาการของลูก โดยสามารถเริ่มให้ลูกช่วยทำได้ตั้งแต่ช่วงประมาณก่อน 2 ขวบ ซึ่งตามพัฒนาการของเด็กเล็กส่วนใหญ่นั้นจะมีความอยากช่วยหยิบช่วยทำอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มจากงานง่าย ๆ อย่างเช่นการช่วยกันเก็บของเล่นเข้าตะกร้า การให้ลูกช่วยเอาผ้าใส่ตะกร้า ไปจนถึงการช่วยกันแยกสีของเสื้อผ้าเพื่อเตรียมซัก และสามารถปรับเปลี่ยน เพิ่มงาน เพิ่มระดับความซับซ้อนขึ้นตามพัฒนาการของลูก อย่างไรก็ตามถึงแม้จะให้ลูกช่วยทำงานบ้านเพื่อฝึกพัฒนาการ คุณพ่อคุณแม่ก็ยังไม่ควรมุ่งหวังไปที่ความสมบูรณ์แบบจากสิ่งที่ลูกกำลังหัดทำ แต่สิ่งที่ควรตั้งเป้าหมายคือการที่ลูกสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ผ่านการฝึกทำซ้ำ จนเคยชินเป็นลักษณะนิสัย และทักษะที่ดีติดตัวลูกไปตลอดชีวิต

 

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Rende, R. (2015). The developmental significance of chores: Then and now. The Brown University Child and Adolescent Behavior Letter, 31(1), 1-7. https://doi.org/10.1002/cbl.30009

 

Rende, R. (2021). Chores: Why they still matter and how to engage youth. The Brown University Child and Adolescent Behavior Letter, 37(6), 1-4. https://doi.org/10.1002/cbl.30545

 

Tepper, D. L., Howell, T. J., & Bennett, P. C. (2022). Executive functions and household chores: Does engagement in chores predict children’s cognition? Australian Occupational Therapy Journal, 69(5), 585– 598. https://doi.org/10.1111/1440-1630.12822

 

White, E. M., DeBoer, M. D., & Scharf, R. J. (2019). Associations between household chores and childhood self-competency. Journal of Developmental & Behavioral Pediatrics, 40(3), 176-182. https://doi.org/10.1097/DBP.0000000000000637

 

ภาพจาก Canva

 

 


 

 

บทความโดย
อาจารย์พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ถอดความ PSY Talk เรื่อง ทำอย่างไร? เมื่อบ้านไม่ใช่ Safety Zone ครอบครัวไม่ใช่ที่เซฟใจ

 

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง

ทำอย่างไร? เมื่อบ้านไม่ใช่ Safety Zone ครอบครัวไม่ใช่ที่เซฟใจ

 

โดยวิทยากร
  • ผศ. ดร.ชมพูนุท ศรีจันทร์นิล (อ.นุท) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา
  • ผศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี (อ.กล้า) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาคลินิก
  • อ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน (อ.นีท) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการ
วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ (อ.หยก) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคมและการสื่อสาร

 

วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 – 11.00 น.

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่

https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/1184208352457325

 

 

 

 

พื้นที่ปลอดภัยภายในบ้านเป็นอย่างไร


 

อ.นุท

พื้นที่ปลอดภัย คือ การที่บ้านเป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนในบ้านได้เชื่อมต่อกัน ไม่ว่าเวลาดีหรือเวลาร้าย คือการที่ทุกคนกล้าที่จะพูดคุยและเข้าหากันได้อย่างเป็นตัวเอง อย่างเปิดเผย ไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบที่ตัวเองไม่อาจยอมรับหรือไม่อยากที่จะได้รับ

 

อ.นีท

สำหรับเด็กเล็กที่ยังใช้ภาษาได้ไม่ชัด ความรู้สึกจึงสำคัญ การสื่อสารของพ่อแม่ที่ไม่ต้องคิดว่าลูกจะไม่เข้าใจ สามารถพูดกับลูกได้ตั้งแต่ทารกไปเลย เป็นการปูพื้นให้รู้ว่านี่คือน้ำเสียง บรรยากาศ และความรักที่พ่อแม่มีให้ และถ้าเขาหนาวมีคนหาผ้าห่อให้ ถ้าเขาหิวมีคนทำอะไรให้กิน และเวลาเขาร้องไห้ พ่อแม่อาจจะยังตีความไม่ออกว่าเพราะอะไร แต่พ่อแม่ที่ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นได้คือพ่อแม่ที่พยายามตีความความหมายของการร้องไห้ด้วยการลองทุกวิถีทาง หิวหรือเปล่า หรือปวดท้อง หรือร้อนหนาวเกินไป

 

แม้ว่าเราจะยังสื่อสารกับลูกทารกไม่ได้ แต่เด็กเขาจับความรู้สึกได้หมด เช่น เสียงที่โกรธ เสียงที่สนุก ดีใจ แม้ภาษาของเขาจะยังไม่พัฒนาเต็มที่ แต่เขาก็รู้ว่าวิธีการพูดแบบนี้คือบรรยากาศที่ดี รู้ว่าเวลาที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ตะโกนใส่กัน เป็นสิ่งที่เขากลัว อย่างที่เราเคยเห็นคลิปเวลาที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ลูกทารกก็จะร้องไห้จ้า

 

เด็กสามารถจับความรู้สึกได้ และบรรยากาศที่เขารับรู้มันจะบอกไปถึงว่าเขาจะรู้สึกปลอดภัยหรือเปล่า รู้สึกว่าในสองปีแรกที่เขายังเดินไม่คล่องยังพูดไม่เก่ง เขาไม่สามารถที่จะเรียกร้องอะไรได้นอกจากการร้องไห้ เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ทะเลาะกันต่อหน้าเขา เขาก็จะรู้สึกว่านี่ไม่เป็นเซฟโซนของเขาแน่เลย เพราะบรรยากาศมันไม่ดี

 

อ.กล้า

เคสเด็กและวัยรุ่นที่บอกว่าครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน ก็มักจะเป็นเคสที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ มีความรู้สึกไม่มั่นคงทั้งทางอารมณ์และจิตใจ ดังนั้นในมุมมองของนักจิตวิทยาตามทฤษฎี schema therapy พื้นที่เซฟโซนจะประกอบไปด้วย 5 ลักษณะ

  1. เด็กจะต้องเติบโตและรู้สึกปลอดภัย ทั้งร่างกายและจิตใจ รู้สึกว่าได้รับความรักความอบอุ่น ไม่ถูกลงโทษหรือตำหนิว่ากล่าวอย่างรุนแรง
  2. เด็กจะต้องได้มีโอกาสได้แสดงออกถึงความสามารถ สิ่งที่เขาชอบ ที่เขาถนัด
  3. เด็กต้องมีโอกาสแสดงออกถึงความรู้สึกความต้องการของเขา ถ้าเขาโกรธ ก็ได้มีโอกาสแสดงออกอย่างเหมาะสม ถ้าเขาดีใจ ก็มีโอกาสได้แสดงออกกับพ่อแม่หรือคนรอบตัวอย่างเหมาะสม
  4. เด็กต้องมีโอกาสได้เล่น ได้แสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองตามธรรมชาติของเด็ก
  5. เด็กได้รับความคาดหวังของพ่อแม่อย่างเหมาะสม พ่อแม่จัดเตรียมเรื่องระเบียบวินัยให้อย่างไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป

 

ถ้าพื้นที่เซฟโซนตรงนี้เขาไม่ได้รับอย่างเหมาะสม เด็กจะสร้างเลนส์ตาทางจิตวิทยา คือมีการมองโลกทางบวกหรือลบจนเกินไป และนำมาสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาซึมเศร้า ก้าวร้าว หรือวิตกกังวลมากเกินผิดปกติ หรือวัยรุ่นบางคนมีลักษณะของ self-entitlement คือมองว่าโลกเป็นของฉันทั้งหมด

 

อ.หยก

ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม ถ้าพ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี ก็จะสร้างบรรยากาศเชิงบวกในบ้าน และเด็ก ๆ ก็จะเรียนรู้ มีการเลียนแบบทางอารมณ์ หรือเจริญรอยตาม ดังที่เราเห็นกันในหลาย ๆ ประเด็นของสังคมไทย บางครั้งบุคคลที่ก่อเหตุไม่ดีในสังคม เขาอาจจะมีพื้นหลังทางครอบครัวที่ไม่ดี

 

 

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งในบ้าน โรงเรียน และทุกพื้นที่ที่เด็กเข้าถึง


 

อ.นุท

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยทำได้ในทุกระดับ โดยอาจจะเริ่มจากระดับครอบครัว ให้เด็กเขาได้เติบโตมาได้รับการตอบสนองที่เหมาะสม ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ รวมถึงสังคม สามารถที่จะเป็นตัวเองได้โดยไม่ต้องกลัวผลเสีย หรือการตัดสินในแง่ลบจากคนในครอบครัว และถ้าจะขยายมุมมองไปในมิติอื่น ๆ ของสังคม เช่น สถานศึกษา ถ้ามองจากมุมจิตวิทยาการปรึกษา ก็คือการให้อยู่บนพื้นฐานของการเข้าอกเข้าใจ ให้รู้ว่าโลกใบนี้ยังมีใครบางคนที่เข้าใจฉันและยอมรับฉันในแบบที่ฉันเป็น เราก็จะสามารถเติบโตแบบที่เป็นเรา และมีความเชื่อมั่นในดำรงตนอยู่บนโลกใบนี้ อย่างไม่มีอุปสรรคหรือมีข้อขัดแย้งในใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลรู้สึกดีกับตัวเอง กับความสัมพันธ์ที่มีกับผู้อื่น รวมถึงกับโลกใบนี้ด้วย อันนี้เริ่มมาจากคนรอบตัวของเด็ก ๆ ซึ่งไม่ได้มีแค่ครอบครัว แต่เป็นทั้งชุมชมที่เลี้ยงเด็กคนหนึ่งขึ้นมา

 

ดังนั้นทั้ง community หรือสังคมแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่ล้วนมีความจำเป็น ในโรงเรียนก็สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ โดยคุณครูเป็นพื้นที่หลัก เพราะเป็นคนส่งต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในโรงเรียนที่สำคัญ คุณครูที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กได้คือคุณครูที่ไม่ใช้อำนาจนิยม คือการไม่แสดงความเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว การใช้ความรุนแรง การลงโทษเด็กอย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการลงโทษทางกายเพราะมันจะมีผลต่อจิตใจด้วย และคุณครูจะต้องเป็นคนที่เด็กรู้สึกว่าจะยอมรับในความเป็นเขา และเป็นคนที่เขาจะสามารถเข้าถึงได้เสมอ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ครูก็สามารถมองลึกเข้าไปได้ว่าอะไรที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเช่นนี้ คุณครูที่พยายามเข้าใจเรื่องราว ไม่ได้มองว่าคือเด็กเป็นปัญหา แต่มองว่าอะไรบ้างที่นำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหา ซึ่งอาจจะมาจากประสบการณ์วัยเด็กที่ยากลำบาก สภาพแวดล้อมครอบครัวที่มีความรุนแรง หรือมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม ครอบครัวที่ disfunction ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ถ้าคุณครูสามารถมองไปถึงเบื้องหลังของพฤติกรรมอะไรต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา และทำความเข้าใจอย่างแท้จริง ด้วยความเข้าอกเข้าใจ ด้วยการยอมรับ ก็จะเป็นพื้นที่สำคัญให้เด็กคนหนึ่งได้ผ่านพ้นความเลวร้ายที่เขาอาจจะควบคุมหรือกำหนดไม่ได้ และพัฒนาเติบโตได้ผ่านพื้นที่เซฟโซนที่คุณครูได้สร้างขึ้นมา

 

ทั้งนี้ถ้ามองในภาพรวม คุณครูก็ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ จำเป็นจะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้คุณครูด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานร่วมกัน เช่น นักจิตวิทยาในโรงเรียน หรือนโยบายของโรงเรียน ที่เอื้อให้คุณครูสามารถให้ความสำคัญกับเรื่องใด ดังนั้นสิ่งแวดล้อมไม่ได้ส่งผลไม่เพียงแค่กับเด็ก แต่ส่งผลทางอ้อมผ่านคุณครูด้วยเช่นกัน

 

และถ้ามองถึงในระดับสังคม การที่สังคมที่จะสร้างเด็กขึ้นมาได้ ก็ต้องเริ่มจากโครงสร้างของสังคมที่ต้องเน้นในเรื่องของการสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกันหรืออย่างน้อยค่อนข้างเท่าเทียมกัน งานวิจัยพบว่า เด็กที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหามักจะเป็นเด็กที่ครอบครัวไม่สามารถเป็นเซฟโซนให้กับเด็ก ไม่สามารถสนองความต้องการทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมให้กับเด็กได้อย่างเหมาะสม โดยพื้นฐานแล้วมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความยากจน ดังนั้นความยากจนเป็นหนึ่งในโครงสร้างสำคัญของปัญหาในสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ให้บุคคลที่อยู่ในสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ด้อย สามารถเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้ เข้าถึงการได้รับการดูแลด้านร่างกายและสุขภาพจิต รวมไปการได้รับการดูแลในมิติครอบครัวที่เขาอาจจะไม่มีทรัพยากรที่จะซัพพอร์ตครอบครัวได้ ครอบครัวที่มีความไม่สมบูรณ์อาจไม่สามารถสร้างพื้นที่เซฟโซนที่สมบูรณ์ได้ ดังนั้นสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยตรงนี้ และถ้ามองไปถึงรากลึกเลยจริง ๆ ก็ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดความยากจน

 

 

การสร้างความเห็นอกเห็นใจสามารถทำได้อย่างไร


 

อ.นุท

Empathy เป็นสิ่งที่สร้างได้ เพราะเป็นทักษะ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตัวมา ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นสามารถสร้างได้ผ่านการพยายามมองโลกในแบบที่ผู้อื่นมอง มองตามสิ่งที่คนคนนั้นเขารับรู้ ไม่ใช่มองแบบที่เรามองและยึดตัวเองเป็นหลัก เช่น เราพยายามทำความเข้าใจเด็กคนหนึ่ง ว่าเรื่องแค่นี้ทำไมคิดมากขนาดนี้ เพราะเราเคยผ่านวัยเหล่านั้นมาแล้ว แต่สำหรับแต่ละวัยจะมีความทุกข์ไม่เหมือนกัน ความทุกข์ของวัยเด็ก เช่น การที่เขาไม่ได้เล่น หรือไม่ได้ขอเล่นอย่างที่เขาอยากได้ อันนี้คือความทุกข์อย่างหนึ่งของเขา ซึ่งถ้าเรามองในมุมของเด็กเขาก็จะเข้าใจในโลกทัศน์ของเขา เข้าใจความทุกข์ที่สำหรับเรามันดูเบาบางเหลือเกิน แต่มันเป็นทุกข์หนักหน่วงของเขา ถ้าเราใช้มุมมองของเขามองปัญหาของเขามันก็จะนำมาสู่ความเข้าอกเข้าใจในสภาวะที่เขากำลังเผชิญ

 

 

พ่อแม่ควรเลี้ยงดูลูกแบบไหนให้ลูกรู้สึกว่าบ้านเป็นเซฟโซน


 

อ.นีท

รูปแบบการเลี้ยงดูที่เหมาะสมที่สุดคือรูปแบบการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย คือรูปแบบการเลี้ยงดูที่ประกอบด้วยการให้ความรักความอบอุ่น ในมิติที่ให้ข้อกำหนดที่ตกลงกันได้ เป็นระเบียบที่เหมาะสมกับการมีอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น การไม่แซงคิว การรอคอยเพื่อให้ได้สิ่งจำเป็น เช่นไม่เกินขนมก่อนกินข้าว ซึ่งมันเป็นกฎง่าย ๆ ที่พ่อแม่ให้กฎเหล่านี้เพื่อให้ลูกใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติสุข และในขณะเดียวกันลูกก็พูดคุยกับพ่อแม่และพ่อแม่ให้เหตุผลได้ ว่ากฎเกณฑ์ที่พ่อแม่ตั้งให้ด้วยความรักความอบอุ่น ลูกจะรับรู้ได้ว่าถึงแม้มันจะเป็นเรื่องไม่สนุกเลย ไม่ได้กินขนม แต่ว่าถ้าเราบอกเขาได้ว่ามันจำเป็นเพราะอะไร เช่นบอกว่า ถ้ากินขนมจนอิ่มแล้วไม่ได้กินข้าว ก็จะไม่ได้สารอาหารที่จำเป็น คือเราต้องมองถึงเรื่องเหตุและผล มีผู้ใหญ่บางคนมองว่าเด็กยังไม่เข้าใจเรื่องหลักเหตุผล บังคับเขาไปเลยดีกว่า ซึ่งนี่เป็นวิธีคิดที่ไม่ได้รับการรองรับจากงานวิจัย เพราะงานวิจัยเราพบว่า พ่อแม่ที่พูดกับลูกด้วยเหตุผลแบบที่ผู้ใหญ่เราพูด ๆ กัน เด็กยอมรับได้เยอะ ถ้าเด็กได้รับการควบคุมจากพ่อแม่ ที่เขารับรู้ว่าเป็นการควบคุมด้วยความรักและด้วยเหตุและผลที่เข้าใจได้

 

หลักการเลี้ยงดูมันคือเรื่องวิธีคิดที่ปล่อยให้เด็กได้คิดเอง แต่เราเป็นเพียงผู้ช่วยให้เขาทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเขา เหตุและผลคืออะไร ทำไมถึงไม่ให้วิ่งในห้าง เหตุผลคืออะไร ถ้าชนของของแตกเราอาจจะบาดเจ็บ หรือเราอาจจะต้องจ่ายตังค์ซื้อของที่เราไม่ได้ใช้ ทุกอย่างมีเหตุและผลหมดเลย แต่อาจเป็นที่พ่อแม่ที่ไม่ใจเย็นพอที่จะอธิบาย โดยเฉพาะกับเด็กสองขวบขึ้นไป เขาพูดเก่งแล้ว มีคำถามเยอะ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็น นี่เป็นวิธีสร้างบรรยากาศในครอบครัว ถ้าลูกถามอย่าหงุดหงิดที่จะตอบ เพราะการตอบทุกครั้งคือการยอมรับกับลูกว่านี่คือเซฟโซนจริง ๆ ทุกครั้งที่เราถามแล้วบอกว่ายุ่งน่าอย่าเพิ่งมา เขาก็จะรู้สึกอยากออกห่างไปเรื่อย ๆ เพราะทุกครั้งที่ถามไม่เคยได้คำตอบ เขาก็อาจจะคิดไปเองว่าผู้ใหญ่ก็อาจจะต้องการเพียงใช้อำนาจบังคับเราเท่านั้นหรือ

 

 

สำหรับบ้านที่ไม่เป็นเซฟโซนยังสามารถแก้ไขได้หรือไม่


 

อ.กล้า

ยังสามารถแก้ไขได้ตลอด โดยเฉพาะในเชิงบุคลิกภาพ งานวิจัยพบว่าบุคลิกภาพของเราจะเริ่มนิ่งตอนอายุ 30 เพราะฉะนั้นถ้ายังเป็นไม้อ่อนก็ยังพอที่จะปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็ก ๆ ก็ยังต้องหวังพึ่งผู้ใหญ่ คือครอบครัวและโรงเรียนไม่ควรจะมีสิ่งเหล่านี้ถ้าอยากจะให้เด็ก ๆ กลับลำได้

  1. ต้องไม่มีความคับข้องใจ ไม่มีบรรยากาศให้เด็กรู้สึกสับสน ว่าทำอะไรก็ผิดทั้งขึ้นทั้งล่อง หลาย ๆ เคสที่เข้ามา จะมีการรีพอร์ตว่าไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวที่บ้านอย่างไร เวลาที่ผมเงียบ ก็บอกว่าผมไม่ร่าเริง เวลาที่ผมพูดก็บอกว่าผมไม่มีมารยาท พ่อแม่ก็ควรมีความชัดเจน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ก้าวร้าว กดดัน ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ และจะต้องไม่สับสน
  2. ต้องไม่มีการลงโทษ ต่อว่า ตำหนิอย่างรุนแรง ที่สร้างบาดแผลทางด้านจิตใจ (trauma)
  3. บ้านและโรงเรียนไม่ต้องจัดเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้เด็ก แบบ too much good things ให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรบางอย่างเขาควรจะได้ อะไรบางอย่างที่เขาไม่สมควรที่จะได้รับ ณ ตอนนี้

 

นอกจากนี้ ครูและพ่อแม่จะต้องเป็นตัวแบบที่ดี มีความรู้ทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการ มีทักษะเรื่อง positive parenting นโยบายทางภาครัฐก็ควรจะต้องเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น จัดเตรียมหลักสูตรเหล่านี้ในครู นักวิชาการ หรือพ่อแม่

 

สิ่งที่บ้านและโรงเรียนสอนอาจจะไม่เหมือนกันได้ หลักสำคัญอยู่ที่การสื่อสาร ที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา มีเหตุผล และเอาตัวเด็กเป็นที่ตั้ง มองว่าลูกรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ ฉันคิดว่าลูกต้องรู้สึกอย่างไร เช่น เมื่อลูกถูกคุณครูที่โรงเรียนดุมา ก็มาตั้งคำถามว่า ลูกกำลังรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ การตั้งคำถามนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าอกเข้าใจ อย่างที่อ.นุทบอกเรื่อง empathy และมาที่การสื่อสารที่อ.นีทบอก ถึงกฎหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็นโดยไม่ใช้อารมณ์ชองเราเป็นที่ตั้ง สิ่งนี้ก็จะลดความสับสนขัดแย้งในใจของเด็กได้

 

 

สัญญาณที่เด็กบอกว่าเขารู้สึกว่าบ้านไม่ใช่เซฟโซน


 

อ.นุท

สัญญาณที่เด็กบอกว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ เขาต้องการได้รับความเข้าอกเข้าใจ สิ่งที่จะสังเกตได้ชัด ๆ เลยคือ การมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เขามีบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง เช่น ช่างพูดช่างคุย กลายเป็นคนเก็บตัวมากยิ่งขึ้น หรือการมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาบางอย่าง เช่น ขาดโรงเรียนบ่อย มีผลการเรียนด้อยลง ไม่มีสมาธิจดจ่อกับการเรียน รวมถึงการมีพฤติกรรมก้าวร้าว การเก็บตัว การแยกตัว

นอกจากนี้อาจสังเกตทางด้านร่างกาย เด็กบางคนถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัว เราอาจจะเห็นร่องรอยบาดแผลหรือร่องรอยการถูกทำร้าย อันนี้เป็นสัญญาณเร่งด่วนที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ ใส่ใจ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น

 

เมื่อเราพบสัญญาณต่าง ๆ เหล่านี้ สิ่งที่เราจะต้องทำ คือการซักถามเพิ่มเติมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาจะเป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือในการแก้ไขได้อย่างไร ถ้าบ้านมีพื้นที่เซฟโซน เด็กสะดวกใจในการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง อันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่นำไปสู่การช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที ไม่นำไปสู่ผลกระทบอื่น ๆ หรือปัญหาเพิ่มเติม แต่สำหรับบ้านที่ไม่เป็นเซฟโซน และเป็นพื้นที่ตรงนั้นที่สร้างบาดแผลทางใจและทางกาย คนรอบข้างที่นอกเหนือจากครอบครัวก็จำเป็นต้องให้การสังเกต ทำความเข้าใจปัญหา และให้ความช่วยเหลือ

 

สำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถสังเกตได้จากภาษากาย เช่น การร้องไห้ที่ต่อเนื่อง ถ้าเราเป็นคนในชุมชนแล้วได้ยินเสียงเด็กร้องไห้อย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่มองว่าเป็นเรื่องของครอบครัวเขา การที่เรารู้สึกว่าสังคมนี้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลของเรา จะเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสังคมได้เช่นกัน และในฐานะคนในครอบครัว การที่เด็กส่งสัญญาณบางอย่าง เช่น แสดงท่าทีหวาดกลัว แสดงท่าทีไม่สามารถอดทนกับอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้หรือการปฏิเสธอย่างรุนแรง พ่อแม่สังเกตสัญญาณตรงนี้และต้องคาดการณ์ว่าลูกกำลังรู้สึกอะไรอยู่ ทำความเข้าใจ และตอบสนอง แม้ว่าจะยังตอบสนองได้ไม่ตรงจุด ก็ให้เราสังเกต ตั้งคำถาม และพยายามตอบสนอง ในท้ายที่สุดเราก็จะสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม

 

 

ความรู้สึกไม่ปลอดภัยส่งผลต่อพัฒนาการอย่างไร


 

อ.นีท

เราสามารถสังเกตได้จากที่โรงเรียน เด็กที่เคยเรียนเก่ง ถ้าผลการเรียนถดถอย มีรายงานจากคุณครูว่าโดดเรียน เป็นประจำทั้งที่แต่ก่อนไม่เคยเป็นเลย อันนี้ก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่เราจับสังเกตได้ สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่ฝึกการเข้าห้องน้ำได้แล้ว สามารถเดินเข้าห้องน้ำเองได้ ทำความสะอาดร่างกายด้วยตัวเองได้ เมื่อมีปัญหาบางอย่างมากระทบจิตใจ อาจทำให้เขาเกิดอาการถดถอย (regression) เช่น มีอาการฉี่รดที่นอน หรือการที่เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยแล้วแต่ย้อนกลับไปทำตัวเหมือนน้องเล็ก มีอาการไม่อยากกินข้าวเอง ร้องให้ป้อนข้าว กรณีแบบนี้อาจต้องอาศัยนักจิตวิทยาการปรึกษาหรือนักจิตวิทยาคลินิกเข้ามาร่วมเข้ามาวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นทางจิตใจ

 

ในฐานะนักจิตวิทยาพัฒนาการ จะสามารถบอกถึงความเป็นไปได้ว่าเด็กน่าจะมีความรู้สึกอะไรหรือมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับเด็ก แต่ตัวเด็กยังเล็กเกินไปที่จะสื่อสารออกมา เขาอาจจะรู้สึกไม่ชอบใจ รู้สึกว่ามีความไม่ชอบมาพากล เขารู้สึกไม่มีความสุขกับเหตุการณ์นี้ แต่เขาไม่สามารถอธิบายมันออกมาเป็นคำพูด หรือเขาอาจจะตีความไปเองว่าถ้าเล่าให้พ่อแม่ฟังพ่อแม่จะโกรธ จะไม่รักเขา เด็กทุกคนมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อให้พ่อแม่รัก ดังนั้นถ้ามีอะไรที่เขารู้สึกสับสน มีอะไรที่มันไม่ชัดเจน เด็กอาจจะไม่อยากเปิดปากพูด ถ้าเด็กมีพี่น้อง พี่น้องอาจจะเป็นคนที่ได้รับข่าวก่อน ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องแล้วว่าจะเล่าเรื่องนี้ให้พ่อแม่ฟังอย่างไร และจะนัดแนะกันอย่างไรที่จะไม่กระโตกกระตากจนทำให้น้องรู้สึกว่าถูกตัดสินหรือถูกเหมารวม ในกรณีแบบนี้บางทีก็อาจต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

 

แบบไหนถึงเรียกว่าวิกฤตและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ


 

อ.กล้า

การสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับใครสักคนเราต้องมีเวลาจริง ๆ ที่จะสังเกตเขา พ่อแม่ต้องใช้เวลาในการสังเกตเพื่อให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่จะสังเกตคือ

  1. สิ่งที่เขาเคยชอบ แล้วอยู่ดี ๆ เขาไม่ชอบ หรือเคยเรียนได้ดีในวิชานี้ แต่เทอมนี้กลับเปลี่ยนไป
  2. เริ่มมีอาการฝันร้ายอย่างรุนแรง หงุดหงิด ก้าวร้าว ความรู้สึกไม่สบายใจที่เขายังสื่อสารด้วยคำพูดไม่ได้ อาจแสดงออกด้วยการหงุดหงิดหรือซึมลงอย่างเห็นได้ชัด

 

เมื่อพบสัญญาณเช่นนี้ก็ต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ อย่างแรกอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู พูดคุยสอบถาม แต่ไม่คาดคั้น ถ้ายังเป็นเช่นนั้นต่อไปก็อาจจะต้องไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

 

องค์ความรู้ด้านพัฒนาการของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ ที่จะประเมินได้ว่าอะไรคือความเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย และอะไรคือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ เช่น การเก็บตัว ไม่ดูแลตัวเอง ไม่พูดกับเราเลย หรือมีคำพูดในเชิงลบ คำพูดบางคำที่เราจัดให้เป็นคำพูดกลุ่ม A เช่น “ผมรู้สึกไม่มีคุณค่า” “ผมรู้สึกไร้ค่า” “ไม่รู้เกิดมาเพื่ออะไร” เป็นระดับคำพูดที่แสดงถึงความรู้สึกที่มันกระทบใจของเขาจริง ๆ คำพูดอื่น ๆ เช่น “วันนี้เรียนได้ไม่ค่อยดี” “วันนี้ผมไม่ค่อยชอบ” คำพูดเหล่านี้เราอาจจะรับฟัง แต่ไม่ต้องกระโตกกระตาก หรือรู้สึกระแวงมากนัก

 

 

การทำให้บ้านกลับมาเป็นเซฟโซน


 

อ.นุท

การซัพพอร์ตบุคคลในครอบครัวหรือนอกครอบครัวก็ตาม พื้นฐานสำคัญเลยคือความเชื่อมโยง อย่างที่กล่าวตอนต้นว่าเซฟโซนคือการที่สมาชิกในครอบครัว connect กัน ซึ่งการเชื่อมโยงสัมพันธภาพนั้นสามารถขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ตลอดชั่วชีวิตเลย สัมพันธภาพอาจจะดาวน์ลงได้ตามช่วงวัย เช่น ช่วงวัยรุ่นเขาอาจจะต้องการ space ส่วนตัวมากขึ้น ต่างจากในวัยเด็กที่ space กับพ่อแม่นั้นใกล้ชิดกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่เราจะสามารถเข้าใจและสนับสนุนกันได้ ก็จะทำไม่ได้เลยหากปราศจากสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน สัมพันธภาพอาจคลายลงไปได้แต่ก็สามารถฟื้นฟูได้เสมอถ้าเรามีความใส่ใจและเห็นว่าสัมพันธภาพนั้นมีความสำคัญ ทั้งกับเขาและกับเรา เราสามารถฟื้นฟูสิ่งที่มันหย่อนมันคลายหรือที่ผุทลายลงไปให้กลับคืนมาได้เช่นกัน ไม่ว่าลูกจะอยู่ในช่วงวัยใด และแม้ว่าเราจะขาดความเชื่อมโยงกับเขาไปบางโมเมนต์ของชีวิต เราสามารถกลับมาเชื่อมจุดนี้ได้ถ้าหากเราใส่ใจซึ่งกันและกัน และมีความปรารถนาที่จะให้บ้านของเรามีความปลอดภัย เป็นบ้านที่ทุกคนสามารถที่จะเป็นตัวของตัวเอง ภายใต้การยอมรับความแตกต่างของบุคคลในบ้านได้

 

การมีส่วนร่วมในชีวิตประจำวัน การถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ การถามถึงเรื่องราวชีวิตกิจวัตรประจำวัน สิ่งเล็ก ๆ พื้นฐานเหล่านี้สามารถทำให้สัมพันธภาพที่ต่อกันไม่ค่อยติดสามารถกลับมาติดกันยิ่งขึ้นได้ ทำให้บุคคลในบ้านได้รู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียงกัน ถึงความเป็นทีมเดียวกันได้

 

อ.นีท

ในมุมจิตวิทยาพัฒนาการ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกมันมีจุดตั้งต้นตั้งแต่วันที่เขาลืมตาดูโลก ดังนั้นต้องดูว่าเราให้กรอบความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกเป็นแบบไหนตั้งแต่แรก ถ้าถามว่าเราจะสนิทกับลูกวัยรุ่นได้มั้ย ก็ต้องกลับไปดูก่อนว่าตั้งแต่เด็กจนโตเราเลี้ยงดูเขาแบบไหน ถ้าเราคุ้นชินกับการเลี้ยงดูแบบเผด็จการ ด้วยความที่เขาเป็นเด็ก เด็กจะยอมรับกับการเลี้ยงดูแบบที่บอกบังคับให้เขาทำแบบนั้นแบบนี้ได้ ตั้งแต่เด็กจนโตถึงวัยประถมต้น เด็กประถมต้นจะเริ่มเห็นความหลากหลาย เห็นว่าพ่อแม่คนอื่นเป็นอย่างไร เขาก็จะเริ่มมีคำถามมากขึ้นจากการเปรียบเทียบและเห็นตัวอย่างจากหลาย ๆ บ้าน พอลูกเป็นวัยรุ่น หลายคนจะรู้สึกว่าไม่สนิทกับลูกเหมือนเดิม ห่างกับลูกมากกว่าเดิม เราก็ต้องกลับไปย้อนถามว่าที่สนิทกันตอนเด็ก ๆ เป็นเพราะเราเป็นผู้คุมกฎ และเด็กยังไม่มีการตั้งคำถาม เพราะยังรู้สึกสนุกกับการรับประสบการณ์จากพ่อแม่ แต่พอมาถึงจุดหนึ่งที่เขาโตขึ้นและมีคำถาม และพ่อแม่ให้ความชัดเจนไม่ได้เนื่องจากว่าชินกับการเลี้ยงดูแบบบอกให้ทำ หรือถ้าเขาทำไม่ได้ก็ทำให้ พอเด็กโตขึ้นมาแล้วแต่พ่อแม่ยังคงทำแบบเดิม เขาก็จะเริ่มมีระยะห่างออกไป จะเห็นว่าเด็กม.ปลาย เด็กมหาลัย จะเริ่มมีความรู้สึกและแสดงออกว่าบ้านไม่ใช่เซฟโซน นั่นอาจจะเป็นเพราะเรายังคงเป็นพ่อแม่เจนก่อน ที่ดูลูกในแบบที่พ่อแม่เลี้ยงเรามาอย่างไรเราก็เลี้ยงต่อไปแบบนั้น โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงแนวคิด positive parent อย่างที่อ.กล้าอธิบาย ซึ่งมีบทบาทในสมัยนี้อย่างมาก พ่อแม่ยุคใหม่นี้จะเริ่มเข้าใจคำนี้มากขึ้น แต่เด็กมหาลัยทุกวันนี้เขายังโตมากับพ่อแม่ที่เลี้ยงดูเขาแบบโอบอุ้มมากเกินไปหรือปกครองมากเกินไป และไม่เคยมีเหตุมีผลให้เขา จึงกลายเป็นช่องว่าง ไม่มีความสัมพันธ์ไหนที่ซ่อมไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะรู้ตัวเมื่อไร หากคุ้นชินกับการเลี้ยงดูแบบบอกให้ทำหรือแบบเผด็จการ ก็ค่อย ๆ เปลี่ยน บอกลูกว่าโอเครู้แล้วว่ามันไม่ดี และเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนวัฒนธรรมครอบครัว สิ่งเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ถ้าทุกฝ่ายตั้งใจที่จะทำ

 

 

ถ้าเราเติบโตมาแบบไม่อบอุ่น เราจะเป็นคนที่สร้างครอบครัวที่อบอุ่นได้อย่างไร


 

อ.นีท

ตามโมเดล Resilience ที่บอกว่าแม้คนเราเกิดโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน ก็ไม่ได้หมายความว่าคนต้นทุนต่ำจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเสมอไป มันมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ในเชิงของจิตวิทยาครอบครัว เราจะมองถึงตัวแปรทางจิตวิทยาตัวหนึ่งที่เรียกว่า Very important person คนสำคัญในชีวิตของคนคนหนึ่งที่ไม่ใช่เป็นสมาชิกในครอบครัว หรือเป็นสมาชิกครอบครัวที่ไม่ใช่พ่อแม่ เช่น เราอาจจะคุยกับพ่อแม่ไม่รู้เรื่อง แต่เราคุยกับน้ารู้เรื่อง หรือทุกวันนี้จะมี para-social relationship เช่น เราเห็นต้นแบบจากศิลปินดาราที่เขามีความพยายามไปสู่เป้าหมายที่เขาตั้งใจ เด็กบางคนที่แม้ว่าที่บ้านจะไม่เป็นเซฟโซน แต่เมื่ออยู่ในโลกที่ได้เฝ้าสังเกตการสู้ฝันของศิลปินคนนั้น ก็เกิดพลังที่จะต่อสู้ ได้อยู่ในกลุ่มแฟนคลับที่มีการแลกเปลี่ยนพูดคุย ก็เกิดเป็นกำลังใจ แม้ para-social จะไม่ได้มีผลทางบวกอย่างเดียว แง่มุมทางลบก็มี เช่นการคลั่งไคล้ศิลปินคนหนึ่งมากเกินไป แต่ในมุมหนึ่ง โซเชียลมีเดียทุกวันนี้มันทำให้เราเห็นโลกที่กว้างขึ้น เห็นตัวแบบอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสมาชิกในครอบครัวได้ เราเลือกมาหยิบใช้ได้เมื่อเราโตขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้ร่มของคนในครอบครัวเสมอไป สิ่งนี้พิสูจน์แล้วในการศึกษาระยะยาว (longitudinal study) ว่า A ไม่ได้นำไปสู่ B เสมอไป ครอบครัวที่ไม่อบอุ่นอาจทำให้เราได้เรียนรู้ว่านี่คือตัวอย่างที่ไม่ดี และตัวอย่างที่ดีมีให้เห็นมากมายและเราสามารถเลือกใช้ได้

 

อ.กล้า

เราเลือกที่จะอยู่ได้ แม้จะมาจากครอบครัวที่กระพร่องกระแพร่ง และจริง ๆ ทุกครอบครัวในโลกนี้ก็ไม่มีครอบครัวไหนที่สมบูรณ์แบบ ต่างมีความบกพร่องในบางจุด แต่เราเลือกที่จะรับจุดตรงนั้นจนลืมโฟกัสในจุดดีของครอบครัวหรือคนรอบข้างหรือเปล่า เราสามารถเลือกที่จะอยู่กับต้นแบบหรือโมเดลที่เรารู้สึกว่า positive ได้ การเลือกที่จะอยู่กับตัวแบบที่ดี ที่ positive ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างครอบครัวที่ฉีกออกไปจากที่เราเผชิญมาได้

 

อ.นุท

เราล้วนได้รับอิทธิพลอย่างมากจากสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ ถ้าสิ่งแวดล้อมในครอบครัวไม่เอื้อต่อการเติบโตของเราในวิถีที่เหมาะสมหรือที่เราต้องการ สิ่งแวดล้อมข้างนอกก็เป็นตัวแบบหรือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่เราจะเติบโตได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราจะสามารถสร้างบุคคลขึ้นมาให้เป็นบุคคลที่ functional ในสังคม เป็นบุคคลที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ตัวเขา ครอบครัวเขา และสังคมโดยรวมได้ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนรอบข้าง ก็จะต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งใครล่ะคือคนที่รับผิดชอบที่จะจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับเด็ก คำตอบก็คงเป็นทุกคน รวมถึงตัวเรา ตัวบุคคลคนนั้นเองเขาก็สามารถเลือกสิ่งแวดล้อมให้กับเขาเองได้ในระดับหนึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งหมด

 

ดังนั้นภายใต้การที่เราเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่อาจจะมีความบกพร่อง มีความขาดแคลาน ไม่สมบูรณ์ เราจะเติมเต็มสิ่งแวดล้อมในชีวิตต่อ ๆ ให้กับทั้งตัวเรา คนรอบข้าง หรือครอบครัวใหม่ของเราในวันข้างหน้า ก็คือการที่เราจะต้องมีความหวัง ความหวังว่าเราจะไปสู่วิถีชีวิตที่แตกต่างหรือไม่เหมือนเดิมจากสิ่งที่เรามา มันจะต้องมี mindset ที่มองว่าชีวิตฉันเลือกได้ ชีวิตฉันกำหนดให้ไม่เหมือนเดิม ชีวิตฉันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่ฉันผ่านมา นอกจาก mindset ส่วนบุคคลแล้วสังคมก็ต้องให้ความหวังด้วย ต้องทำให้บุคคลมีความหวังในการดำรงตนในโลกใบนี้ในแบบที่เขามุ่งหวังด้วยเหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาได้จากชุมชนของเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา กลุ่มเพื่อน หรือนโยบายของประเทศ ด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพ การเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ จะทำให้บุคคลสามารถมีความหวัง และเข้าถึงทรัพยากรที่จะทำให้หวังของเขาที่จะมีชีวิตที่แตกต่างนั้นเป็นจริงได้ รวมถึงนักจิตวิทยาด้วย ที่จะมอบกลไก เครื่องไม้เครื่องมือในการปรับพฤติกรรม ปรับความคิด ปรับอารมณ์หรือสภาพจิตใจของบุคคล ให้เป็นบุคคลที่สามารถที่จะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมเดิม และสามารถพัฒนาตนเข้าไปแก้ไขสิ่งแวดล้อมที่ตนเองอยู่ รวมถึดำรงตนในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

คนที่รัก? พรรคที่ใช่? นโยบาย? วิธีการลงคะแนนเสียงในมุมมองจิตวิทยาสังคม

 

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศวันเลือกตั้ง นักการเมืองไทยก็มุ่งหน้าหาเสียงกันอย่างเต็มที่ ซึ่งในสถานการณ์นี้มีกระบวนการทางจิตวิทยาสังคมที่เกี่ยวข้องมากมาย ในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องจิตวิทยาสังคมกับการลงคะแนนเสียงผ่านการถ่ายทอดสด (ดูย้อนหลังได้ ที่นี่) โดยได้พูดถึงกระบวนการทางจิตวิทยาสังคมที่เกี่ยวข้อง 2 กระบวนการ ได้แก่ การรับรู้บุคลิกภาพด้านความอบอุ่นและความสามารถของนักการเมือง (อ่านได้ ที่นี่) และการพิจารณาสารโน้มน้าว เนื่องจากเวลาจำกัด ผู้เขียนจึงเห็นว่าควรนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อการพิจารณาสารโน้มน้าว โดยหวังว่าผู้อ่านจะได้รับข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการลงคะแนนเสียงในครั้งนี้และการพิจารณาสารโน้มน้าวอื่น ๆ ต่อไป

 

 

การโน้มน้าว หรือ Persuasion


 

คือการที่ผู้ส่งสารพยายามใช้สารเพื่อเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกของผู้รับสาร (APA, ไม่ระบุปีที่พิมพ์) ดังนั้นการโน้มน้าวในบริบทนี้ก็คือการที่นักการเมืองสื่อสารเพื่อให้ประชาชนมีความคิด ความรู้สึกทางบวกต่อพวกเขา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้นั่นเอง Elaboration Likelihood Model (Petty & Cacioppo, 1986) โมเดลหลักเกี่ยวกับการโน้มน้าวโมเดลหนึ่งได้เสนอว่า คนเรามีวิธีพิจารณาสารโน้มน้าว 2 วิธี ได้แก่ ทางสายแกน (central route) และทางสายเปลือก (peripheral route) สมมติว่าคนสองคนดูไลฟ์หาเสียงของนักการเมืองคนเดียวกันที่ทั้งสองคนไม่รู้จักมาก่อน คนสื่อสารคนเดียวกัน ตัวสารเหมือนกัน แต่คนรับสารต่างกัน คนแรก เอ เป็นคนที่ไม่อินกับการเมืองและไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเมืองมาก คนที่สอง บี เป็นคนที่อินกับการเมืองและมีความรู้เกี่ยวกับการเมืองเยอะ ปรากฎว่าเอสนใจตัวผู้สมัครหรือคนสื่อสารว่ามาจากพรรคไหน นามสกุลอะไร หน้าตาเป็นยังไง แต่งตัวยังไง ไลฟ์ยาวแค่ไหน แต่บีที่อินและมีความรู้เกี่ยวกับการเมืองฟังสิ่งที่นักการเมืองคนนี้กำลังพูดว่ากำลังนำเสนอนโยบายด้านไหน ข้อดีข้อเสียของนโยบายนี้คืออะไร พรรคอื่นมีนโยบายนี้หรือไม่ ในตัวอย่างนี้เอกำลังใช้ทางสายเปลือก เพราะกำลังสนใจสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการโน้มน้าว ส่วนบีกำลังใช้ทางสายแกน เพราะกำลังสนใจสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของการโน้มน้าว

 

โมเดลนี้บอกว่าคนเราใช้ทั้งทางสายแกนและทางสายเปลือก ในการพิจารณาสารโน้มน้าวครั้งนี้เอใช้ทางสายเปลือก แต่ไม่ได้หมายความว่าเอจะใช้ทางสายเปลือกตลอดไป และก็ไม่ได้หมายความว่าบีจะใช้ทางสายแกนสม่ำเสมอในทุกๆเรื่อง แรงจูงใจและความพร้อมในตอนนั้นมีผลต่อการที่เราจะเลือกพิจารณาสารโน้มน้าวผ่านทางสายแกนหรือทางสายเปลือก ปัจจัยที่ทำให้แรงจูงใจสูงคือความชอบคิดโดยทั่วไป ความรู้ในเรื่องนั้น และความสำคัญของการตัดสินใจครั้งนั้น หากเราเป็นคนชอบใช้ความคิด มีข้อมูลในเรื่องนั้นมาก ในบริบทนี้คือการมีความรู้เกี่ยวกับการเมืองมาก และเรามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมากๆ แนวโน้มที่จะใช้ทางสายแกนก็สูง นอกจากแรงจูงใจแล้ว ความพร้อมทั้งด้านกายภาพและเวลาในขณะนั้นก็มีผล ถ้าเราไม่เหนื่อยไม่ง่วง มีเวลาเพียงพอในการพิจารณาสาร ไม่มีสิ่งรบกวน เราก็จะมีความพร้อมในการพิจารณาสารโน้มน้าวสูง แนวโน้มที่จะใช้ทางสายแกนก็สูง (Petty & Hinsenkamp, 2017) ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นว่าการที่เราตระหนักว่าตอนนี้เรามีแรงจูงใจและความพร้อมระดับไหนมีความสำคัญ เพราะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันต่อการโน้มน้าว เช่น ถ้าเรารู้ว่าเราเป็นคนไม่ชอบคิดแต่เราสนใจการเมืองตอนนี้มาก เราเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญ เราอยากใช้ทางสายแกน เราก็ต้องหมั่นเตือนตัวเองบ่อยๆว่าให้ดูที่เนื้อหาเป็นสำคัญ อย่าให้ความสำคัญที่ผู้พูด ถ้าปกติเราเป็นคนชอบคิด แต่เราไม่ได้มีความรู้เรื่องการเมืองมาก แต่มีคนมาให้ใบปลิวของผู้สมัครคนหนึ่งตอนเย็นเลิกงานซึ่งเราเหนื่อยแล้ว แต่เราอยากใช้ทางสายแกน เราก็ยังไม่ต้องอ่าน เพราะตอนนี้สมองเราอ่อนล้า ยังไม่พร้อมที่จะพิจารณาตัวสารจริงจัง

 

 

แล้วควรใช้ทางสายแกนหรือทางสายเปลือกในการพิจารณาผู้สมัครรับเลือกตั้ง?


 

หัวใจสำคัญของจิตวิทยาคือการเข้าใจและยอมรับความหลากหลาย ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมของวิธีพิจารณาสารทั้งสองประเภท และวิเคราะห์ผลที่น่าจะเกิดขึ้นจากการเลือกพิจารณาสารทั้งสองประเภทในบริบทนี้ เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาและตัดสินใจว่าจะพิจารณาสารโดยวิธีไหน

 

ในด้านกระบวนการ การพิจารณาสารโน้มน้าวผ่านทางสายแกนเหมือนกับการคิดวิเคราะห์ การตกผลึก เพราะใช้เวลาและทรัพยากรทางความคิดมากกว่าการพิจารณาสารโน้มน้าวผ่านทางสายเปลือก ซึ่งหลังจากการใช้ความคิดเยอะ ๆ จะทำให้เราเกิดความเหนื่อยล้าซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการใช้ความคิดในการทำกิจกรรมอื่น ๆ ข้อดีในแง่ผลผลิตคือข้อสรุปจากการคิดครั้งนั้นของเราคงทนถาวรกว่า เช่น ถ้าเราตัดสินใจเลือกคนคนนี้เพราะนโยบายเขาดูมีทางทำได้มากที่สุด ถึงต่อไปนโยบายของคนคนนี้จะโดนวิจารณ์ หรือได้รับการพิสูจน์ว่าทำไม่ได้ เราก็จะต่อต้านเพราะเราเชื่อมั่นในความคิดของเรา แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าข้อสรุปของเรานั้นถูกหรือผิด ถ้าข้อสรุปนั้นผิด แต่เราไม่ยอมปรับเปลี่ยนความคิด อาจจะหมายความว่าเราเป็นคนดื้อดึงก็ได้ ส่วนทางสายเปลือกนั้น ข้อดีคือไม่เปลืองเวลา ไม่เปลืองทรัพยากรทางปัญญาเท่ากับการใช้ทางสายแกน ข้อเสียคือข้อสรุปของเราที่เกิดขึ้นไม่คงทน เช่น วันนี้เราเลือกคนนี้เพราะเขาดูเป็นคนไว้ใจได้ แต่เมื่อภาพลักษณ์เขาเปลี่ยนไปมุมมองที่เรามีต่อเขาก็ไม่เหมือนเดิม

 

ในแง่ของผลลัพธ์ คงต้องพิจารณาที่เป้าหมายของทั้งประชาชนและนักการเมือง ถ้าความต้องการของประชาชนคือความเจริญก้าวหน้าของประเทศ การใช้ทางสายแกนที่ให้ความสำคัญกับนโยบายน่าจะตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า เพราะนโยบายเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนประเทศมากกว่ารูปร่างหน้าตา นามสกุลหรือสังกัดพรรค ถ้าประชาชนแสดงออกว่านโยบายคือสิ่งที่ประชาชนพิจารณา นักการเมืองก็จะหาเสียงโดยการนำเสนอนโยบายอย่างเข้มข้น ประชาชนที่ต้องการใช้ทางสายแกนก็จะมีข้อมูลในการตัดสินใจ แต่ถ้าโจทย์ของประชาชนคือการเลือกคนที่รักจากพรรคที่ใช่เข้าสภา การใช้ทางสายเปลือกที่ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของผู้สมัครจะตอบโจทย์มากกว่า หากประชาชนแสดงออกว่าคุณลักษณะของผู้สมัครคือสิ่งที่ประชาชนพิจารณา นักการเมืองก็จะหาเสียงโดยการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของตน ประชาชนก็จะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการพิจารณาสารผ่านทางสายเปลือก ดังนั้น ทั้งประชาชนและนักการเมืองต้องตกผลึกว่าโจทย์ของตัวเองคืออะไรจึงจะบอกได้ว่าทางสายแกนหรือทางสายเปลือกคือวิธีพิจารณาสารโน้มน้าวที่เหมาะสมและควรใช้

 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากจะย้ำว่าไม่มีรูปแบบการพิจารณาสารโน้มน้าวที่ถูกผิดหรือดีกว่าด้อยกว่ากัน แม้วิธีคิดหรือการตัดสินใจของเราจะไม่ตรงกับของคนอื่น เราจะเป็นคนส่วนน้อยหรือส่วนมาก ทุกคนควรมีโอกาสแลกเปลี่ยนและวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างสร้างสรรค์ด้วยความเคารพกันและกันตามวิถีประชาธิปไตยของสังคมศิวิไลซ์

 

 

รายการอ้างอิง

 

American Psychological Association. (n.d). Persuasion. https://dictionary.apa.org/persuasion

 

Petty, R. E., & Cacioppo, J. T. (1986). The elaboration likelihood model of persuasion. In L. Berkowitz (Ed.), Advances in experimental social psychology (Vol. 19, pp. 123–205). Academic Press.

 

Petty, R. E., & Hinsenkamp, L. (2017). Routes to persuasion, central and peripheral. In F. M. Moghaddam (Ed.), The SAGE encyclopedia of political behavior. SAGE Publications, Inc.  http://dx.doi.org/10.4135/9781483391144.n330

 

 


 

 

บทความโดย

 

อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา

 

What makes an executive function?

 

Imagine a busy manager working in a multinational company, handling multiple tasks, dealing with unexpected problems, proposing creative solutions, and overall, keeping focused on their business goals. Of course, it is actually their brain that is doing all this, and in fact these sorts of processes are known in psychology and neuroscience as executive functions. And because of their ability to explain high-level control of human behavior, executive functions have become important in most subfields of modern psychology, including industrial and organizational. So, do (cognitive) executive functions explain how well real executives, and other workers function?

 

Executive functions, as a psychological term, can be classified in into many types: Three that are frequently studied by psychologists are inhibition, working memory, and switching (moving attention to different parts of a task). Providing a sort of proof that these are ‘executive’: It has been shown that people with white-collar jobs are generally better at working memory and switching than people with blue-collar jobs (Eslami et al., 2023).

 

 

Furthermore, measures of executive function made with cognitive tests predict supervisor ratings of managers and other white-collar workers very well, but much less so for factory workers (Higgins, et al., 2007). This suggests that workers with more dynamic jobs (such as executives and managers) do have better cognitive executive functions, and that the better those executive functions are, the more successful they are in their professions. Further, it’s not just supervisor ratings. Actual performance can be predicted with executive function tests. For sales personnel, inhibition may be the key- those with the best ability to inhibit their responses on cognitive tests also make the most sales (Pluck et al., 2020).

 

Interestingly the same tests that predict workplace success also predict performance of adolescent students. One particular test, the Hayling Test, requires research participants to listen to sentences read aloud, and then to complete them by adding the last word. But, the task requires that the participant say a word that makes no sense. This is actually harder that it sounds, and many people make errors, by saying sensible words. For this reason, it is thought of as a test of inhibition. High school students who are good at this have higher grade point average than students who make frequent inhibition errors (Pluck et al., 2019). The same phenomenon is seen with university students, in which good inhibition ability on the Hayling Test predicts higher grade point average (Pluck et al., 2016). The importance of this is that it gives a new way for psychologists to think about the cognitive abilities that predict real-life success. Traditionally, they would use intelligence tests, but cognitive executive function tests appear to be more accurate predictors in both education and the workplace.

 

The tests used to test cognitive executive functions are in fact often work based. These involve a sort of role play within a scenario. In one, participants are asked to image that they are working in a hotel, and they must deal with multiple different tasks over a 15-minute period, including completing invoices, sorting coins, and alphabetizing name badges for conference guests (Manly et al., 2002). Another test, that we are using here in the Faculty of Psychology, involves a virtual reality office, in which participants have to plan a business meeting, while dealing with expected events, and remembering to do several other daily office tasks too (Jansari, et al., 2014). These business-based executive function tests are proving to be useful because they are both more realistic than traditional tests from cognitive psychology, and they measure organization of behavior beyond that measured by traditional intelligence tests.

 

Given these close links, and the use of the term ‘executive’ to describe high-level cognitive processes, it might seem that the concept of executive functions originated in industrial and organizational psychology. But no, the origin is actually computing. It seems that early computer scientists faced similar problems of how to organize their programs. They needed something would organize all of the other programs, tell them when to repeat something, and when to stop or to switch to a different activity. The first of these programs, the ‘Automatic Supervisor’ in 1956, was soon developed into another program called the ‘General Motors Executive System’, and these terms were later adopted by cognitive psychologists who developed the first theories of human executive functions (Pluck et al., 2023).

 

Whether it be control of computers, human cognition, or management of a company, similar principles emerge, such as the need for top-down control of routine tasks, monitoring performance, canceling plans, and making new ones. These are all types of executive control.

 

Free vector businessman avatar with icons

 

So, are strong (cognitive) executive functions the defining feature of those who are successful in management and other white-collar occupations? They certainly seem to help, but we should be careful about placing too much emphasis on cognitive abilities. Motivation and personality probably play equally important roles in determining how well a person functions in their profession. As a striking example, in 2007 a 44-year man was given a brain scan and found to have an abnormal condition in which he had far less brain tissue the most people, and that he may been that way for most of his life (Feuillet et al., 2007). Cognitive testing revealed that his performance IQ (closely related to executive function) was only 70, placing him in the bottom 3% of the population. Nevertheless, he had worked for decades, without problem, as a civil servant. It appears that strong executive functions are useful, but not essential, for administrative and other white-collar occupations.

 

 

References

 

Eslami, A., Nassif, N. T., & Lal, S. (2023). Neuropsychological performance and cardiac autonomic function in blue-and white-collar workers: a psychometric and heart rate variability evaluation. International Journal of Environmental Research and Public Health, 20(5), 4203.

 

Feuillet, L., Dufour, H., & Pelletier, J. (2007). Brain of a white-collar worker. The Lancet, 370(9583), 262. https://doi.org/10.1016/S0140-6736(07)61127-1

 

Higgins, D. M., Peterson, J. B., Pihl, R. O., & Lee, A. G. M. (2007). Prefrontal cognitive ability, intelligence, Big Five personality, and the prediction of advanced academic and workplace performance. Journal of Personality and Social Psychology, 93(2), 298–319. https://doi.org/10.1037/0022-3514.93.2.298

 

Jansari, A. S., Devlin, A., Agnew, R., Akesson, K., Murphy, L., & Leadbetter, T. (2014). Ecological assessment of executive functions: a new virtual reality paradigm. Brain Impairment, 15(2), 71-87.

 

Manly, T., Hawkins, K., Evans, J., Woldt, K., & Robertson, I. H. (2002). Rehabilitation of executive function: facilitation of effective goal management on complex tasks using periodic auditory alerts. Neuropsychologia, 40(3), 271-281.

 

Pluck, G., Crespo-Andrade, C., Parreño, P, Haro, K. I., Martínez, M. A. & Pontón, S. C. (2020). Executive functions and intelligent goal-directed behavior: A neuropsychological approach to understanding success using professional sales as a real-life measure. Psychology & Neuroscience, 13(2), 158–175.

 

Pluck, G., Ruales-Chieruzzi, C. B., Paucar-Guerra, E. J., Andrade-Guimaraes, M. V., & Trueba, A. F. (2016). Separate contributions of general intelligence and right prefrontal neurocognitive functions to academic achievement at university level. Trends in Neuroscience and Education, 5(4), 178-185. https://doi.org/10.1016/j.tine.2016.07.002

 

Pluck, G., Cerone, A., Villagomez-Pacheco, D. (2023). Executive function and intelligent goal-directed behavior: perspectives from psychology, neurology, and computer science. In: Masci, P., Bernardeschi, C., Graziani, P., Koddenbrock, M., Palmieri, M. (eds) Software Engineering and Formal Methods. SEFM 2022 Collocated Workshops. SEFM 2022. Lecture Notes in Computer Science, vol 13765. Springer, Cham. https://doi.org/10.1007/978-3-031-26236-4_27

 

Pluck, G., Villagomez-Pacheco, D., Karolys, M. I., & Montaño-Córdova, M. E. & Almeida-Meza, P. (2019). Response suppression, strategy application, and working memory in the prediction of academic performance and classroom misbehavior: A neuropsychological approach. Trends in Neuroscience and Education, 17. https://doi.org/10.1016/j.tine.2019.100121

 

 

 


Author

Dr. Graham Pluck
Lecturer in Cognitive Psychology and JIPP Program

 

 

Job burnout – ความเหนื่อยหน่ายในงาน

 

 

 

 

ความเหนื่อยหน่ายในงานเป็นสภาพการณ์ทางลบที่ทำให้บุคคลเกิดความอ่อนล้าทางอารมณ์ มีความสัมพันธ์กับการเกิดความเครียดของบุคคล

องค์ประกอบของความเหนื่อยหน่ายในงานแบ่งออกเป็น 3 มิติ ดังนี้

 

  1. ความอ่อนล้า (Exhaustion) – เป็นมิติที่สะท้อนถึงความเครียดภายในตัวของบุคคล ที่ทำให้บุคคลรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน และรู้สึกว่าพลังกายและพลังใจในการทำงานลดลง เป็นความอ่อนล้าทั้งทางใจ ทางอารมณ์ และทางกายภาพ
  2. ความเย็นชา (Cynicism) – เป็นมิติที่สะท้อนความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ แสดงออกในทางเพิกเฉย ไม่สนใจ ทั้งต่องานที่ทำอยู่เป็นประจำ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และอาจรวมไปถึงบุคคลในครอบครัวด้วย ความเย็นชาเป็นรูปแบบการจัดการปัญหาและความเครียดที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  3. ประสิทธิผลการทำงาน (Professional efficacy) – เป็นมิติที่สะท้อนให้เห็นถึงการประเมินตนเองที่มีต่อความเหนื่อยหน่ายและทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ ไม่สามารถสร้างให้เกิดความสำเร็จ หรือผลผลิตของงานออกมาได้ และอาจรวมถึงความสำเร็จทางด้านสังคมด้วย

 

 

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเหนื่อยหน่ายในงาน


 

  1. ลักษณะของงานที่มีข้อเรียกร้องในงานที่สูง ทั้งในเชิงปริมาณงาน เช่น ความกดดันด้านเวลา หรือจำนวนชิ้นงานที่มากเกินไป และในเชิงคุณภาพของงาน เช่น ความขัดแย้งในบทบาท และความไม่ชัดเจนในบทบาท
  2. ลักษณะอาชีพที่เน้นการติดต่อและประสานงานกับบุคคลอื่นเป็นหลัก เช่น ครู พยาบาล ซึ่งอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางอารมณ์มากกว่าอาชีพอื่น
  3. ลักษณะองค์การ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในองค์การ เช่น การลดจำนวนพนักงานหรือการควบรวมกิจกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อพนักงานเพราะเกิดการละเมิดสัญญาใจระหว่างพนักงานและองค์การ (psychological contract)
  4. ปัจจัยส่วนบุคคล งานวิจัยพบว่า อายุ เพศ สถานภาพการสมรส เชื้อชาติ และระดับการศึกษา อาจส่งผลความเหนื่อยหน่ายในงานได้ แต่ความสัมพันธ์อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อาจถูกปะปนจากผลของตัวแปรอื่นได้
  5. ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ เช่น บุคคลที่มีระดับความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ ความเชื่ออำนาจในตนที่มีผลมาจากปัจจัยภายนอก (External locus of control) รูปแบบรับมือกับปัญหาในลักษณะหลีกเลี่ยง บุคคลที่มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ และบุคลิกภาพประเภท A (Type-A personality)
  6. เจตคติที่มีต่องาน โดยบุคคลที่มีความคาดหวังต่องานในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะทำงานหนักและมากเกินความจำเป็น และเมื่อความพยายามในการทำงานที่บุคคลลงทุนลงแรงทำไปไม่ตรงกับความคาดหวังที่มีต่องานเมื่อใด ก็มีโอกาสเกิดความเหนื่อยหน่ายในงานได้

 

 

ผลลัพธ์ของความเหนื่อยหน่ายในงาน


 

ความเหนื่อยหน่ายในงานมีผลกระทบต่อทั้งผลการปฏิบัติงานและสุขภาพของบุคคล

 

โดยความเหนื่อยหน่ายในงานมีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการถอนตัวและการขาดงานของบุคคล รวมไปถึงความตั้งใจในการลาออกจากงาน และพฤติกรรมการลาออกจากงาน

 

ทั้งนี้ พนักงานที่มีความเหนื่อยหน่ายในงาน แต่ยังคงทำงานให้กับองค์การ จะทำให้ปริมาณ คุณภาพ และประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลลดลง ทั้งยังทำให้ระดับความพึงพอใจในงาน และความผูกพันกับองค์การลดลง รวมทั้งทำให้ผู้ที่ร่วมงานกับบุคคลที่เหนื่อยหน่ายในงานเกิดอารมณ์และประสบการณ์ทางลบในการทำงานเช่นเดียวกัน

 

ส่วนเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต อาการที่อาจพบได้ในบุคคลที่มีความเหนื่อยหน่ายในงาน คือ ความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า มองตนเองและผู้อื่นในทางลบ สูญเสียความกระตือรือร้น หรือมีความเชื่อมั่นในตนเองลดลง นอกจากนี้ ความอ่อนล้ายังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความเครียดอีกด้วย เช่น การนอนไม่หลับ ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา อาการปวดเมื่อย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติ

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“อิทธิพลของแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องานและข้อเรียกร้องในงานต่อความพึงพอใจในงานของพนักงาน โดยมีความผูกใจมั่นในงานและความเหนื่อยหน่ายในงานเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย ผดารัช สีดา (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/45181

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นคุณค่าในตนเอง ภาระงาน ความเชื่อในอำนาจควบคุมกับความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน” โดย ธนพล บุญเลิศ, ศศิมาภรณ์ ชื่นอารมณ์, สร้างสรรค์ รัตนสงวนวงศ์ (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47170

 

ภาพจาก http://www.shutterstock.com/

 

Self-compassion – ความเมตตากรุณาต่อตนเอง

 

 

 

 

ความเมตตากรุณาต่อตนเอง หมายถึง การตระหนักรู้ถึงประสบการณ์ในแง่ลบที่ตนเองมีโดยไม่หลีกเลี่ยง บิดเบือน ปฏิเสธ หรือตัดสินตีความ หากแต่เข้าใจว่าประสบการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ อันส่งผลให้บุคคลปฏิบัติต่อตนเองเพื่อบรรเทาความทุกข์ด้วยความเมตตา

 

ทั้งนี้ ความเมตตากรุณาต่อตนเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว การสงสารตัวเอง หรือการยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากความเมตตากรุณาต่อตนเองมีพื้นฐานการมองโลกและชีวิตตามความเป็นจริงว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาจะต้องเจอทั้งสุขและทุกข์เหมือนกันหมดทุกคน ดังนั้น บุคคลที่มีความเมตตากรุณาต่อตนเองเมื่อต้องตกอยู่ในความทุกข์ยาก ความลำบาก ความผิดหวัง หรือความล้มเหลว เขาจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตของมนุษย์ทุกคน ซึ่งต่างจากความเห็นแก่ตัว การสงสารตัวเอง และการยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลาง เพราะบุคคลที่มีสิ่งเหล่านี้จะคิดเข้าข้างตนเอง คิดว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น จึงมักเปรียบเทียบ เมื่อเจอกับความผิดหวังจึงรู้สึกว่าตนเองน่าสงสาร โชคร้าย ทำให้เกิดเป็นความรู้สึกแปลกแยกออกมา

 

ความเมตตากรุณายังไม่ใช่การทำตามใจตนเอง หรือการทำเพื่อความสุขของตนเองเป็นหลัก เมื่อผ่านพ้นสถานการณ์ที่ตึงเครียด จะเห็นได้ว่ามีหลายคนเลือกที่จะชดเชยสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการให้รางวัลกับตัวเอง บางคนเลือกที่จะนอนดูโทรทัศน์ทั้งวัน ขณะที่บางคนเลือกกินไอศกรีมถ้วยใหญ่ หรือซื้อเสื้อผ้าข้าวของราคาแพง โดยคิดว่านี่คือการให้กำลังใจตนเอง ปฏิบัติต่อตนเองอย่างมีเมตตา ซึ่งแม้จริงแล้วการทำแบบนี้ไม่ใช่ลักษณะของความเมตตากรุณาต่อตนเอง เพราะความเมตตากรุณาต่อตนเองจะส่งเสริมให้บุคคลมีความปรารถนาที่จะเห็นตัวเองมีความสุขและสุขภาวะดีในระยะยาว ซึ่งการไปถึงจุดจุดนั้นอาจยากลำบากและไม่รู้สึกสะดวกสบาย เช่น การเลิกบุหรี่ การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย เป็นต้น

 

ความเมตตากรุณาต่อตนเองแตกต่างจากการเห็นคุณค่าในตนเองตรงที่ ความเมตตากรุณาต่อตนเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการประเมินคุณค่า และไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นเพื่อให้รู้สึกถึงคุณค่าในตนเองที่มีอยู่ อีกทั้ง ความเมตตากรุณาต่อตนเองยังไม่ขึ้นอยู่กับความพิเศษหรือจุดยืนที่แตกต่างของตนเองจากคนอื่น ๆ ความเมตตากรุณาต่อตนเองจึงไม่ส่งผลให้บุคคลหลงตนเอง อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ และบิดเบือนการรับรู้ที่มีต่อตนเองที่แท้จริง

 

 

องค์ประกอบของความเมตตากรุณาต่อตนเอง (Neff, 2003)


 

1. การมีความเมตตาต่อตนเอง

คือ การยอมรับได้ในสิ่งที่ตนเองเป็น สามารถปฏิบัติต่อตนเองด้วยความรักและความเข้าใจอย่างอ่อนโยน แม้ในยามที่ประสบกับความทุกข์ ความผิดพลาด และความล้มเหลว โดยไม่ประเมินคุณค่าของตนเองจากสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่กล่าวโทษตนเอง ตำหนิตนเอง และวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง

 

2. การรับรู้ว่าประสบการณ์ที่มีเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์

คือ การมีฐานความคิดและความเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องพบทั้งความสุขและความทุกข์ ความลำบาก ความผิดหวัง ความผิดพลาดเป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิตและเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคนเหมือนกัน ไม่ใช่แค่กับตนผู้เดียว ดังนั้นจึงไม่ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกจากคนอื่น

 

3. การมีสติระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ

เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์หรือภาวะอารมณ์ที่เป็นทุกข์ จะสามารถรับรู้และทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดได้อย่างเป็นกลาง สามารถควบคุมอารมณ์และการแสดงออกให้เป็นปกติ โดยไม่ผูกโยงหรือจมดิ่งกับอารมณ์ที่กำลังวูบไหวจนสูญเสียความยับยั้งชั่งใจ ขาดหลักเหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากอื่นๆ ตามมา

 

 

หลายงานวิจัยกล่าวตรงกันว่า ความเมตตากรุณาต่อตนเองเป็นคุณลักษณะที่เอื้อให้บุคคลมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความมั่นคงทางจิตใจมากขึ้น มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความยืดหยุ่นทางอารมณ์ การรับรู้ตนเองตามความเป็นจริง การมีพฤติกรรมใส่ใจผู้อื่น และมีความสัมพันธ์ทางลบกับการหลงตนเอง และการมีปฏิกิริยาโต้กลับด้วยความโกรธ อีกด้วย

 

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นคุณค่าในตนเอง ความเมตตากรุณาต่อตนเอง ค่าดัชนีมวลกาย การประเมินตนเสมือนวัตถุและความพึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายในสตรีวัยรุ่น” โดย พลอยชมพู อัตศรัณย์ (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42008

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความเครียดและความสุขในนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย โดยมีความเมตตากรุณาต่อตนเองเป็นตัวแปรส่งผ่าน” วัชราวดี บุญสร้างสม (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42630

 

ขอบคุณภาพจาก http://www.imgbase.info

 

What are emotions?

 

What are emotions?

 

 

To study a phenomenon, such as emotion, scientifically, psychologists need to precisely define what they are studying. So, what is an emotion?

 

In some ways, trying to define emotion is like trying to define rock n’ roll. If asked, we can easily list examples – sadness, happiness, anger, fear, etc. But pinpointing what these emotions have in common as a category is more difficult (e.g., Beck, 2015).

 

 

Emotions Change How We Feel


 

We can start by asking how emotions, such as happiness and fear, differ from other mental states such as beliefs and thoughts. Perhaps the most obvious difference is that we feel emotions.

 

Indeed, feelings are a defining aspect of emotion. But describing an emotion as a feeling does not tell us how an emotion differs from a mood. For example, what would differentiate being in a bad mood from negative emotions such as sadness or anger? If I am in a bad mood, my negative feelings can last for hours or perhaps even a day. In contrast, feeling angry or afraid is more of a temporary change in feeling.

 

 

Emotions are Responses to Our Understanding of Situations


 

If emotions are changes in feelings, what causes these changes? People experience emotions in response to situations that significantly affect their goals, concerns, or well-being (Moors, Ellsworth, Scherer, and Frijda, 2013). The situations that matter vary from person to person. Suppose it rains. A person who planned a romantic trip to the beach might be upset, while someone who planned to sleep in wouldn’t care. So, an emotion is not a response to an objective situation, such as rain, an election outcome, or a break-up, but rather a reaction to a person’s interpretation of that event.

 

Different emotions correspond to different kinds of interpretations (Lazarus, 1991). We feel sad after a loss, fearful in response to immediate threats, happy about rewards, and angry about injustice. Such interpretations are known as appraisals (e.g. Ellsworth, 2013).

 

 

Emotions Affect Our Bodies and Behavior


 

Once we have interpreted an event as being of a certain kind, an emotion is followed by additional responses in our bodies and actions (or action tendencies). For example, a person who is afraid would display a fearful facial expression, his heart would race, and he would potentially try to escape the situation. These responses are not arbitrary (Ekman, 1999). With fear, for example, our eyes get wider so we can see better and our hearts race to increase our supply of oxygen so we can appropriately fight or escape the situation as needed.

 

 

Summary


 

In short, emotions are felt responses to important psychological situations that include changes in feelings, appraisals, bodily responses, and action. While not all emotion researchers would agree with this entire definition (e.g. Barrett & Russell, 2014; Ekman 2016), it is a solid starting point for thinking clearly and having meaningful discussions about the nature of emotion.

 

 

References

 

Barrett, L. F., & Russell, J. A. (Eds.). (2014). The psychological construction of emotion. Guilford Publications.

 

Beck, J. (2015, February 24). Hard feelings: Science’s struggle to define emotions. The Atlantic. Available from http://www.theatlantic.com.

 

Ekman, P. (1999). Basic emotions. Handbook of cognition and emotion, 98(45-60), 16.

 

Ekman, P. (2016). What scientists who study emotion agree about. Perspectives on psychological science, 11(1), 31-34.

 

Ellsworth, P. C. (2013). Appraisal theory: Old and new questions. Emotion Review, 5(2), 125-131.

 

Lazarus, R. S. (1991). Progress on a cognitive-motivational-relational theory of emotion. American psychologist, 46(8), 819.

 

Moors, A., Ellsworth, P. C., Scherer, K. R., & Frijda, N. H. (2013). Appraisal theories of emotion: State of the art and future development. Emotion Review, 5(2), 119-124.

 

 

 


 

Author

 

Dr. Adi Shaked
Lecturer in Social Psychology Area

 

 

5 Preconference Workshops TICP 2023

 

 

 

Preconference Workshops TICP 2023

27 July – 3 August 2023

 

📍Faculty of Psychology, Chulalongkorn University 🗺️ Map
6-7th Fl. Borommaratchachonnanisisattaphat Building. Rama 1 Road, Wangmai, Pathumwan, Bangkok 10330 Thailand

 

 

Program

 


1️⃣ A Structural Equation Modeling Approach to Multivariate Prediction.

Dr. Fei Gu, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

27 July 2023 l 9.00-12.00 GMT+7

 


2️⃣ Acceptance and Commitment Therapy: Theory, Practice and Demonstration of Skills and Techniques.

Asst. Prof. Kullaya Pisitsungkagarn and Asst. Prof. Somboon Jarukasemthawee,

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

31 July 2023 l 9.00-16.00 GMT+7

 


3️⃣ Acceptance and Commitment Therapy for Well-Being and Health Promotion.

Prof. William H. O’ Brien, Clinical Psychology Training Program, Bowling Green State University

1 August 2023 l 9.00-16.00 GMT+7

 


4️⃣ Using Compassion Focused Therapy to Support People Struggling with Problematic Psychosis.

Asst. Prof. Andrew Fox, School of Psychology, University of Birmingham

2 August 2023 l 9.00-16.00 GMT+7

 


5️⃣ Dialectical Behavior Therapy Skills for Emotional Dysregulation: Theory and Practice of DBT Skills.

Prof. David C. Wang, Fuller School of Psychology

3 August 2023 l 9.00-16.00 GMT+7

 

 

 

 

 

This workshop is designed for researchers who want to build appropriate predictive models for multiple outcome variables.
Conventionally, Multiple Regression is a commonly used method that produces a prediction equation for a single outcome variable in terms of a set of explanatory variables.

 

In case of multiple outcome variables, Multivariate Regression can be used to provide the prediction equations, one for each of the outcome variables. Essentially, the prediction equations obtained from multivariate regression are identical to the ensemble of individual prediction equations obtained from multiple regression for each of the outcome variables.

 

However, like multiple regression, multivariate regression may suffer the multicollinearity problem among the explanatory variables. To overcome the multicollinearity problem, several alternative methods have been developed in the literature, including Principal Component Regression, Canonical Correlation Regression, and Redundancy Analysis (also known as reduced-rank regression).

 

This workshop will review these methods and discuss their similarity and differences. In addition, a recently developed structural modeling approach is introduced to provide the relevant inferential information for the parameter estimates from these methods.

 

Participants of this workshop will be able to make informed decisions to build their predictive models in the future.

 

 

 

 

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดได้มีการผสานปรัชญาตะวันออก การฝึกสติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัด อาทิ เช่น Acceptance and Commitment Therapy (ACT), Compassion-Focused Therapy และ Dialectical Behavioral Therapy (DBT) โดยการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดดังกล่าวได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการลดปัญหาสุขภาพจิตไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลให้กับผู้คนทั่วโลก

 

Acceptance and Commitment Therapy (ACT) เป็นหนึ่งการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดที่ให้ความสำคัญกับการฝึกสติ เพื่อมุ่งเน้นการยอมรับ พร้อมกันเอื้อให้ผู้รับบริการได้ค้นหาค่านิยมในการดำเนินชีวิตอย่างกลมกลืน เกิดเป็นการยืดหยุ่นทางจิตใจ (Psychological Flexibility) อันเป็นสมดุลย์แห่งการดำเนินชีวิต ในช่วงโรคระบาดโควิด และยุคหลังโรคระบาด (post-covid) นักจิตวิทยาทั่วโลกได้ยกย่องให้ Acceptance and Commitment Therapy (ACT) เป็นหนึ่งในการบำบัดที่เหมาะสมต่อการสร้างสมดุลย์ในช่วงวิกฤตดังกล่าว

 

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมบุญ จารุเกษมทวี คณาจารย์จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันเผยแพร่องค์ความรู้ การฝึกอบรม และสั่งสมประสบการณ์การให้บริการทางด้านจิตบำบัดแบบ Acceptance and Commitment Therapy (ACT) ให้กับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในโอกาสนี้คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดอบรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในหัวข้อ Acceptance and Commitment Therapy: Theory, Practice and Demonstration of Skills and Techniques ในวันที่ 31 กรกฏาคม 2566 เวลา 9.00-16.00 น ณ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การอบรมครั้งนี้บรรยายเป็นภาษาไทย

 

 

 

 

นอกจากนี้คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชิญ Professor William O’ Brien จาก Bowling Green State University, Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา มาร่วมต่อยอดองค์ความรู้ Acceptance and Commitment Therapy (ACT) ในหัวข้อAcceptance and Commitment Therapy for Well-Being and Health Promotion ในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 ณ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รูปแบบ Workshop: นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีการสรุปใจความสำคัญ เป็นช่วง ๆ โดย ผศ. ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ และ ผศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี

 

 

 

 

ที่ผ่านมาการบำบัดรักษาแก่ผู้มีประสบการณ์​ Psychosis​ มักพึ่งพายาทางจิตเวช​เป็นสำคัญ​ และหลายครั้งจิตบำบัดมักถูกละเลย ดังนั้นการเพิ่มองค์ความรู้ทางจิตบำบัดสำหรับผู้มีประสบการณ์​ Psychosis​ จะเป็นประโยชน์​อย่างยิ่งต่อการขยายขอบเขต​งานด้านจิตบำบัด

 

เมื่อความเมตตา​ซึ่งเป็นปรัชญาตะวันออก​อันอ่อนโยน ผสานกับระบบระเบียบของจิตบำบัดตะวันตก บูรณาการเป็น​ “Compassion​ Focused​ Therapy – จิตบำบัดมุ่งเน้นความเมตตา” Dr. Andrew Fox จาก​ The University of Birmingham ประเทศอังกฤษ​ ได้นำ​ Compassion Focused ​Therapy​ มาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้รับบริการที่มีอาการ​ Psychosis ต่าง​ ๆ​ อย่างเชี่ยวชาญ​และลงตัว

 

ชวนมาเรียน​รู้​ร่วมกันเพื่อขยายองค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาไปด้วยกัน​ ในหัวข้อ​ Using Compassion Focused Therapy to Support People Struggling with Problematic Psychosis ในวันที่​ 2 สิงหาคม​ 2566​ ณ​ คณะจิตวิทยา​ จ​ุฬาลงกรณ์ม​หาวิทยาลัย การอบรมครั้งนี้มีแปลและสรุป​ความเป็นภาษาไทย​เป็นช่วง​ ๆ

 

 

 

 

Dialectical Behavioral Therapy หรือ DBT เป็นรูปแบบจิตบำบัดที่ผสมผสานการบำบัด Cognitive-Behavioral Therapy (CBT) และการฝึกสติ (Mindfulness) อย่างลงตัว ในปัจจุบัน DBT เป็นจิตบำบัดที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่ามีประสิทธิภาพในการลดปัญหาการควบคุมอารมณ์ (Emotion Dysregulation) และกลายเป็น Gold Standard Treatment หรือ First Choice of Treatment สำหรับผู้มีปัญหา Borderline Personality Disorder

 

วิทยากรคือ Prof. David Wang เป็นศาสตราจารย์ประจำที่ Fuller School of Psychology มลรัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา อาจารย์มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Dialectical Behavioral Therapy ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้รับบริการที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์จำนวนมาก และเป็นผู้เผยแพร่องค์ความรู้ Dialectical Behavioral Therapy ในหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลก

 

การอบรมจัดขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รูปแบบ Workshop นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีการสรุปใจความสำคัญ เป็นช่วง ๆ โดย ผศ. ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ และ ผศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี

 

 


 

 

 

Workshops ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการทางจิตวิทยาระดับนานาชาติ The 2nd Thailand International Conference in Psychology 2023 (TICP 2023) ภายใต้ธีม “Psychology for Health and Well-being in the BANI World” ระหว่างวันที่ 27 ก.ค. – 4 ส.ค. 2566 สนใจเข้าร่วมงานประชุมวิชาการและการอบรมเชิงปฏิบัติการสามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่

 

 

 

 


 

 

งานประชุมวิชาการ TICP 2023

 

 

 

 

Clinical Cognitive Neuroscience research seminars “Serotoninergic Effects on Cognition”

 

Online Seminar – Open to all


 

 

Serotoninergic Effects on Cognition

Dr Christelle Langley, PhD
Department of Psychiatry, University of Cambridge, UK

 

Wednesday, 22nd March 2023, 20:00-21:00

 

A series of Clinical Cognitive Neuroscience research seminars…over Zoom. Open to all

 

Please register at: https://forms.gle/dptvhx7SwY2vW23L8

 

Organized by Dr Graham Pluck, graham.ch@chula.ac.th