News & Events

ความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม – Executive Function (EF)

 

ความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม (EF) เป็นกระบวนการทางปัญญาซึ่งทำงานส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเป้าหมายที่มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ ถูกควบคุมโดยการทำงานของ Prefrontal Cortex ประกอบด้วย การยับยั้งพฤติกรรม ความจำเพื่อใช้งาน และการยืดหยุ่นทางความคิด

 

Executive Function (EF) ได้รับการนิยามขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1970 โดย Karl H. Pribram ศัลยแพทย์ประสาทชาวออสเตรีย ซึ่งกล่าวถึงการทำงานของ Prefrontal Cortex จากกรณีศึกษาที่มีผู้ประสบอุบัติเหตุทำให้สมองส่วนดังกล่าวได้รับการเสียหาย ส่งผลต่อการรับรู้ทางปัญญาที่เปลี่ยนไป เช่น พฤติกรรมที่ขาดการยับยั้ง การตอบสนองต่อสิ่งเร้า การตัดสินใจที่ผิดพลาด การไม่ยืดหยุ่นทางความคิด Prefrontal Cortex ทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้บริหารสั่งการควบคุมการจราจรทางอากาศ ทำงานควบคุม สั่งการ เชื่อมโยงกับสมองส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่อยู่ใต้ชั้น Cortex หรือที่เรียกว่า Subcortical structures เช่น การทำงานร่วมกับ Basal ganglia และ Amygdala ซึ่งมีความสำคัญต่อรูปแบบการเรียนรู้และการตอบสนองอารมณ์และความเครียด

 

 

 

 

 

ความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม (EF) ของเด็กวัยอนุบาล


 

 

EF เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของ Prefrontal Cortex ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของสมองที่เจริญเติบโต ข้อมูลทางประสาทวิทยาแสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของ Prefrontal Cortex จะเริ่มพัฒนาในช่วงทารกต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงช่วงผู้ใหญ่วัยเริ่ม

 

ความจำเพื่อใช้งาน เป็นองค์ประกอบที่ทารกแสดงให้เห็นในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ตามต่อมาด้วยการยับยั้งพฤติกรรมอย่างง่ายที่จะแสดงให้เห็นในช่วง 6 เดือนหลัง จากนั้นทั้งสององค์ประกอบนี้จะเริ่มทำงานร่วมกันในช่วงอายุ 2 ปี และการยืดหยุ่นทางความคิดจะเป็นองค์ประกอบสุดท้ายที่ถูกพัฒนา เนื่องจากมีความซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยการยับยั้งพฤติกรรมและความจำเพื่อใช้งานที่ถูกพัฒนามาก่อนหน้าเข้ามาทำงานร่วมกัน และจะพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 3-5 ปี หรือวัยอนุบาล ช่วงอนุบาลจึงถือเป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของบุคคล

 

ความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม (EF) สัมพันธ์กับพัฒนาการทางปัญญา สังคม และอารมณ์ของเด็ก ส่งผลต่อการควบคุมพฤติกรรมของตนเองและทักษะที่สัมพันธ์กับการเรียนรู้ เนื่องจากวัยอนุบาลเป็นช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเล็ก ๆ ในบ้าน ไปสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น คือโรงเรียน การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมในเด็กวัยอนุบาลถือเป็นกระบวนการเตรียมตัวพร้อมให้เด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียน และวางรากฐานการเรียนรู้เพื่อความประสบความสำเร็จในระดับที่สูงขึ้น

 

แม้ว่าความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของบุคคลสามารถเกิดขึ้นได้จากกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติ แต่หากเกิดความล่าช้าของพัฒนาการในส่วนนี้อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นได้ด้วย เด็กที่มีความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมดี เมื่อเริ่มเข้าโรงเรียนจะสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง และมีพฤติกรรมเชิงบวก เช่น สามารถนั่งอยู่ในที่นั่งตนเอง สามารถควบคุมความสนใจของตนเองต่อการเรียน สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จ พฤติกรรมเหล่านี้จะพาพวกเขาไปสู่การได้รับผลตอบกลับต่อพฤติกรรมในทางบวก เช่น ได้รับการชื่นชมจากคุณครูและเพื่อน ๆ ส่งผลให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะเพิ่มพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น และโรงเรียนจะกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขและความสำเร็จสำหรับพวกเขา ในทางกลับกัน เด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนด้วยความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมระดับต่ำ มักจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่าชื่นชม เช่น เดินลุกออกจากที่นั่ง มีปัญหาด้านการจดจ่อใส่ใจในการเรียน มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นต่อเพื่อนหรือคุณครู ทำให้พวกเขาได้รับผลตอบกลับพฤติกรรมในทางลบ เช่น การถูกลงโทษ หรือมีผลการเรียนที่ไม่ดี ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีการรับรู้ต่อตนเองและโรงเรียนในเชิงลบ และอาจนำพาพวกเขาไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ที่ใหญ่ขึ้น

 

ความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม (EF) สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ในการเรียน ทักษะทางสังคมและการปรับตัว รวมถึงพฤติกรรมความก้าวร้าวรุนแรง และการใช้สารเสพติด เด็กที่มีความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมดี เมื่อเป็นวัยรุ่นมักจะไม่เกิดปัญหาการหยุดเรียนหรือหลุดออกจากระบบโรงเรียน ไม่ค่อยมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด และมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายจิตใจที่ดี

 

 

การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรม


 

 

การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมตั้งแต่วัยอนุบาลน่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับการเสริมสร้างในเด็กโต เนื่องจากความยืดหยุ่นจองระบบประสาทและสมอง รวมถึงการวางรูปแบบพฤติกรรมที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนได้ง่าย ส่งผลให้เด็กในวัยอนุบาลสามารถเรียนรู้และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าวัยที่สูงขึ้น

 

การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของเด็กวัยอนุบาลสามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ

 

  1. การถ่ายทอดองค์ความรู้แบบใกล้ (Near transfer)

    เป็นการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมแยกองค์ประกอบ อันได้แก่ (1) การยับยั้งพฤติกรรม (2) ความจำเพื่อใช้งาน (3) การยืดหยุ่นทางความคิด แต่ละองค์ประกอบโดยตรง

  2. การถ่ายทอดองค์ความรู้แบบไกล (Far transfer)

    คือมีการใช้กิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมทางร่างกาย กิจกรรมการฝึกสติ เข้ามาเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมผ่านกิจกรรม

 

การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมในเด็กวัยอนุบาลสามารถทำได้ทั้งในลักษณะการจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม และรายบุคคล การจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่มจะเน้นให้เด็กเกิดความสนุกและมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ อีกทั้งมีความคุ้มค่าด้านงบประมาณ เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในโรงเรียน ในขณะที่การจัดการเรียนรู้เป็นรายบุคคลจะเน้นแก้ไขปัญหาทางพัฒนาการของเด็กแต่ละคน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงจุดและส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีกว่า

 

การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของเด็กวัยอนุบาล ในช่วงแรกจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนโดยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู ในการตั้งกฎเกณฑ์และออกแบบโครงสร้างการเรียนรู้ในกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กปฏิบัติตาม เมื่อเด็กเริ่มพร้อม ผู้ใหญ่จึงค่อย ๆ ลดการสนับสนุนเหล่านั้นเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้และตั้งกฎเกณฑ์ของตนเองในการจัดการพฤติกรรมได้มากขึ้น และลดการพึ่งพากฎเกณฑ์ที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น

 

การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของเด็กวัยอนุบาลสามารถทำได้ผ่านกิจกรรมในหลายรูปแบบ เช่น การเล่นบทบาทสมมติ การแต่งและเล่านิทาน การเล่นเกมปริศนา การเล่นบัตรคำ ทำอาหาร รวมถึงกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย โดยการจัดกิจกรรมให้ประสบความสำเร็จมิควรมุ่งเน้นแต่การเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว แต่กิจกรรมนั้นควรช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคมไปด้วยพร้อมกัน

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

อริสรา แก้วม่วง. (2566). ผลของโปรแกรมการเต้น ซี แอนด์ ซี ต่อการเสริมสร้างความสามารถทางปัญญาในการจัดการพฤติกรรมของเด็กวัยอนุบาล [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. https://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2023.141

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “อคติและความหลากหลายในองค์กร”

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “อคติและความหลากหลายในองค์กร”

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ “อคติและความหลากหลายในองค์กร” ในวันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2568 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ในรูปแบบออนไลน์ทางโปรแกรม Zoom โดย อาจารย์ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดี หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาตะวันตก-ตะวันออก ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร

 

 

 

ในยุคที่โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรที่ประสบความสำเร็จมักเป็นองค์กรที่สามารถบริหารจัดการความหลากหลายของบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความหลากหลาย (Diversity) ในองค์กรครอบคลุมหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเพศ วัย เชื้อชาติ วัฒนธรรม ความเชื่อ ความสามารถ ทัศนคติ หรือรูปแบบการทำงาน ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างนวัตกรรม เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวเข้ากับตลาดที่หลากหลายได้ดียิ่งขึ้นอย่างไรก็ตาม ความหลากหลายในองค์กรยังมาพร้อมกับความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะ “อคติ” (Bias) ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร อคติอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวสามารถส่งผลกระทบต่อกระบวนการ การตัดสินใจ การสรรหาบุคลากร การพิจารณาความสามารถของพนักงาน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในองค์กร อคติที่ไม่ได้รับการจัดการอาจนำไปสู่ความไม่เท่าเทียม ความขัดแย้ง และบรรยากาศการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา

 

เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง เคารพความแตกต่าง และส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอคติและแนวทางในการลดอคติที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน การอบรมเรื่อง “อคติและความหลากหลายในองค์กร” จึงถูกจัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้บุคลากรทุกระดับตระหนักถึงรูปแบบของอคติที่อาจพบเจอในที่ทำงาน เรียนรู้แนวทางในการบริหารจัดการอคติอย่างเหมาะสม รวมถึงสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของความหลากหลายที่มีต่อการพัฒนาองค์กร

 

โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยา หัวข้อ อคติและความหลากหลายในองค์กร เป็นการอบรมที่เน้นให้ คนทำงานในระดับปฏิบัติการทั่วไป เพื่อให้ได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับความหลากหลายและอคติที่เผชิญในชีวิตการทำงานประจำวัน เช่น การเข้าใจความต่าง อคติที่เกิดขึ้น แนวทางการพูดคุย และการสร้างความร่วมมือกับผู้อื่น

 

 

วิธีการฝึกอบรม
  • การบรรยาย ระยะเวลา 3 ชั่วโมง เวลา 9.00 – 12.00 น.
    วันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2568
  • ออนไลน์ ทางโปรแกรม Zoom

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน
  • บุคคลทั่วไป   1,000 บาท
  • นิสิต / ศิษย์เก่าของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ   800 บาท

 

ผู้เข้าร่วมสามารถรับชมการอบรมย้อนหลังได้ 15 วัน 

และท่านที่เข้ารับการอบรมจะได้รับเกียรติบัตรแบบ e-certificate ทางอีเมล

 

 

 

เงื่อนไขการลงทะเบียน
  1. กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
  2. การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
  3. เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วันทำการ
  4. บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
  5. ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางอีเมลที่ท่านระบุในฟอร์มการรับสมัคร
  6. เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี

 

 

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี โทร. 02-218-1307 E-mail: wathinee.s@chula.ac.th

 

 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 42 ปี แห่งการสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.ขำคม พรประสิทธิ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 42 ปีแห่งการสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารศิลปกรรมศาสตร์ 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

 

 

 

 

แสดงความยินดีกับ นายธีรพัชร์ จรรยาสัณห์ นิสิต JIPP ชั้นปีที่ 2 ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล/ฟุตซอลและได้รับรางวัลชนะเลิศ

 

คณะจิตวิทยา ขอแสดงความยินดีกับ นายธีรพัชร์ จรรยาสัณห์ นิสิต JIPP ชั้นปีที่ 2 ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาฟุตบอล/ฟุตซอลกับทีม CU Inter Football Club และชนะเลิศ 2 รายการ พร้อมตำแหน่ง Top scorer ในการแข่งขัน

 

  • 11th International Football Cup Tournament ระหว่างวันที่ 3-12 ก.พ. 2568
  • the INTERCUP Futsal Tournament ระหว่างวันที่ 16-17 พ.ย. 2567

 

 

ภาพจาก IG: cuinterfootballclub

 

 

 

 

กิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะนิสิต JIPP โดยศูนย์สุภาวะทางจิต ต้อนรับปี 2025

 

หลักสูตร Joint International Psychology Program (JIPP) ร่วมกับ ศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Wellness) คณะจิตวิทยา จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะทางจิตให้แก่นิสิต JIPP ภายใต้โครงการ “การบริการวิชาการจัดส่งนิสิตเข้าศึกษาที่ The University of Queensland ปีที่ 6” ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ดังนี้

 

 

  • Reflect & Reignite Through Art – วันที่ 16, 23 มกราคม 2568

 

 

 

  • Me, Myself, and Symbols on a T-Shirt – วันที่ 30 มกราคม 2568

 

 

 

  • Blooming Heart, Grateful Souls – วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568

 

 

 

 

อธิการบดีจุฬาฯ มาพบปะและบรรยายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย

 

คณะจิตวิทยา ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้มาพบปะและบรรยายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้แก่คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตคณะจิตวิทยา ได้รับฟัง พร้อมตอบข้อซักถาม ณ PSYCHE SPACE เมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.00-14.30 น.

 

 

 

 

 

 

 

 

“อุเบกขา” การประเมินสภาวะปล่อยวางด้วยแบบสอบถามทางจิตวิทยา (ตอนที่ 2)

 

“หลับใหลหลง เวียนวกวน หนทางตื่น         เฝ้าฝันฝืน กลืนอัตตา พาลทุกข์ถม
ดุจจันทรา จมราตรี ทุกข์ระทม         วาดหวังพ้น ตรมธารา พบปัญญา”

 

จากบทความตอนที่ 1 ที่ผู้เขียนได้ศึกษาเกี่ยวกับความหมายและองค์ประกอบของอุเบกขาในบริบทของพระพุทธศาสนาและในบริบทอื่น ๆ ไปแล้วนั้น บทความนี้ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการประเมินสภาวะอุเบกขาด้วยตนเอง ผ่านการสำรวจความรู้สึกของเราที่มีต่อสิ่งกระตุ้นเร้าต่าง ๆ ที่เข้ามาในแต่ละวัน โดยใช้มาตรวัด Equanimity Scale 16 (ES-16) ที่สร้างและพัฒนาโดย Rogers et al. (2021) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยดุษฎีนิพนธ์ แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ ในหัวข้อ “ผลของการเจริญสติและพรหมวิหารภาวนาต่อสภาวะอุเบกขาและสุขภาวะทางจิต”

 

Equanimity หรืออุเบกขาในภาษาไทย หมายถึง “ความสามารถ” ของจิตใจในการดำรงรักษาความสงบ ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก และปล่อยวางจากความยึดติดในผลลัพธ์ต่าง ๆ (Kabat-Zinn, 2003; Bodhi, 2005; Desbordes et al., 2015) เป็นสภาวะทางจิต (state of mind) สามารถพัฒนาได้ และมีผลช่วยให้บุคคลเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิตด้วยความสงบสุขุม โดยอุเบกขานั้น ถูกกล่าวถึงในสื่อจิตวิทยาเชิงบวก และจิตวิทยากระแสหลักในช่วงไม่นานมานี้ เห็นได้จากบทความต่าง ๆ ที่ปรากฏในเว็บไซต์ Psychology Today (Bernhard, 2019) และ positivepsychology.com (Schaffner, 2023) เป็นต้น ซึ่งกล่าวถึงอุเบกขาว่าเป็นความสุขจากการละวางทางอารมณ์ อันพัฒนาได้จากการปฏิบัติสมาธิเจริญสติ (Mindfulness Meditation) จนเกิดสภาวะที่จิตเกิดความเป็นกลาง (Even-mind state of mind) หรือกล่าวได้ว่าเป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติ (Mindfulness Insight) นั่นเอง (Eberth et al., 2019)

 

งานวิจัยเชิงทดลองในปัจจุบันให้ผลยืนยันว่า อุเบกขา (Equanimity) มีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมอารมณ์ (Emotional Regulation) ช่วยลดการยึดติดทางอารมณ์และอคติที่เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก รวมถึงทักษะการปรับโครงสร้างทางความคิด (Cognitive Restructuring) ซึ่งการมีอุเบกขาจะช่วยให้บุคคลสามารถมองสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยมุมมองที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น (Juneau et al., 2020; Weber, 2020) ทั้งนี้ มีการค้นพบเพิ่มเติมว่า อุเบกขาเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการปล่อยวางตัวตนจากประสบการณ์ ซึ่งนำไปสู่การลดทอนการตอบสนองทางอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพ (Cayoun & Shires, 2020) กล่าวคือ อุเบกขาเกิดขึ้นเมื่อจิตใจอยู่ในภาวะที่สมดุล ด้วยการผสานระหว่างสติและปัญญา จนนำไปสู่ความสามารถในการละวางตัวตนจากเรื่องราวและเหตุการณ์ที่มากระทบ และปรากฏความสงบที่เป็นกลางในจิตใจ

 

ในการพัฒนาเครื่องมือประเมินสภาวะอุเบกขา เพื่อนำไปใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความก้าวหน้าของสภาวะขณะปฏิบัติสมาธิ จากโปรแกรมการพัฒนาอุเบกขาที่อยู่ระหว่างพัฒนา ผู้วิจัยเลือกใช้มาตร Equanimity Scale – 16 ของ Rogers et al. (2021)

 

เนื่องจากผู้วิจัย อาจารย์ที่ปรึกษา และพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ลงความเห็นว่าองค์ประกอบของมาตรวัดฉบับนี้มีความสอดคล้องกับนิยามของอุเบกขาในแนวพุทธ องค์ประกอบด้านการยอมรับต่อประสบการณ์ทางอารมณ์ (Experiential Acceptance) นั้น หมายถึง การที่บุคคลยอมรับประสบการณ์ภายในทั้งหมดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ความรู้สึก หรือการรับรู้สัมผัสทางกาย โดยไม่พยายามต่อต้านหรือยึดติดกับประสบการณ์เหล่านั้น ประกอบด้วยคำถาม 8 ข้อ ตัวอย่าง เช่น “เมื่อฉันมีความคิดหรือจินตนาการที่ทำให้รู้สึกทุกข์ใจ ฉันสามารถรับรู้โดยไม่ตอบสนองมันได้” และ “ฉันพยายามบ่มเพาะความสงบภายในใจ แม้ว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหรืออยู่เหนือการควบคุม” องค์ประกอบด้านการไม่ตอบสนองทางอารมณ์ต่อสิ่งเร้า (Non-Reactivity) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการไม่ปรุงแต่งตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายใน เช่น ความคิดหรือความรู้สึก ซึ่งช่วยป้องกันการยึดติดหรือการปฏิเสธต่อประสบการณ์เหล่านั้น หรือความสามารถในการยับยั้งการตอบสนองที่เคยเรียนรู้มาก่อนต่อประสบการณ์เหล่านี้ ประกอบด้วยคำถาม 8 ข้อ เช่น “เมื่อฉันเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง ฉันจะตอบสนองมันในทันที” (ข้อคำถามทางลบ) และ “ฉันค้นพบว่าตนเองจำเป็นต้องตอบสนองต่อทุกความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัวของฉัน” (ข้อคำถามทางลบ)

 

ขั้นตอนการพัฒนา เมื่อผู้วิจัยได้รับอนุญาตจากเจ้าของมาตรวัดแล้ว จึงแปลข้อคำถามเป็นภาษาไทยด้วยวิธีการ Forward translation ตรวจสอบความถูกต้องสอดคล้องของการแปลภาษา และความสอดคล้องของข้อกระทงที่แปลกับนิยามขององค์ประกอบมาตรวัดอุเบกขา จนได้ข้อคำถามที่คณะผู้วิจัยลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่ามีความเหมาะสมเชิงเนื้อหา (content validity) ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันของมาตรวัดโดยใช้ผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งสิ้น 647 ท่าน พบว่าองค์ประกอบของมาตรวัดสอดคล้องกับการศึกษาต้นฉบับ และมีค่าสหสัมพันธ์ทางบวกกับมาตรวัดพรหมวิหาร 4 ฉบับภาษาไทย (ครรชิต แสนอุบล และคณะ (2563) พัฒนาจากงานวิจัยของ Kraus & Sears (2008))

 

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา พบค่าเฉลี่ยการประเมินสภาวะอุเบกขาด้วยตนเองของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ 55.9 (SD = 9.34, ช่วงคะแนนการตอบ 30 – 80 คะแนน) ซึ่งสะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างคนไทยมองว่าตนเองมีความสามารถในการปล่อยวางในระดับปานกลางถึงสูง อย่างไรก็ตาม ค่าคะแนนนี้ไม่ได้แตกต่างมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนจากมาตรวัดต้นฉบับที่เก็บข้อมูลในประเทศออสเตรเลีย (Mean = 58.76, SD = 10.36, Range = 23 – 78) ที่ผู้คนนับถือศาสนาได้หลากหลาย

 

อย่างไรก็ตาม ในด้านประสิทธิภาพของการประเมิน คณะผู้วิจัยพบว่าแบบสอบถามประเมินตนเองนี้ครอบคลุมเพียงส่วนผลของสภาวะซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาจิต แต่ยังขาดการประเมินที่กระบวนการพัฒนาอุเบกขา ซึ่งไม่เพียงเป็นเป้าหมายปลายทางของการพัฒนาจิตใจ แต่ยังเป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องได้รับการบ่มเพาะอย่างต่อเนื่องผ่านการเจริญสติควบคู่กับพรหมวิหารภาวนา เพื่อให้เกิดความสมดุลของจิตใจและเข้าถึงอุเบกขาอย่างแท้จริง

 

อุเบกขา จิตลอยลม เหนือฝั่งสุข         พ้นตรมทุกข์ จุดปัญญา ดุจจันทร์ฉาย
สุกสว่าง อร่ามฟ้า รัตติคลาย         ทุกข์มลาย อัมพรแจ้ง แสงแห่งธรรม
อุเบกขา ดุจอุบล ไร้ตมติด         ดุจปรุงจิต สติรั้ง ไร้ค่าหมาย
ดุจสัญญา กาล-นาน ไร้ค่าคลาย         ดุจรู้หมาย วางสมญา สงบงาม
อุเบกขา แท้มิเที่ยง เพียรความว่าง         ว่างจากกาม ฉวยยึดหา ตัณหาใหม่
ญาณปัญญา สมดุลกลาง สว่างใจ         เห็นแจ้งนัย เหตุปัจจัย สุขในธรรม

 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในจิตวิทยาแนวพุทธ และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในหัวข้อคล้ายคลึงกัน

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

หนังสือและบทความวิชาการ

 

1. Bodhi, B. (2005). In the Buddha’s words: An anthology of discourses from the Pali canon. Wisdom Publications.

 

2. Cayoun, B. A., & Shires, A. G. (2020). Co-emergence reinforcement and its relevance to interoceptive desensitization in mindfulness and therapies aiming at transdiagnostic efficacy. Frontiers in Psychology, 11, 545945. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2020.545945

 

3. Desbordes, G., Negi, L. T., Pace, T. W., Wallace, B. A., Raison, C. L., & Schwartz, E. L. (2015). Effects of mindful-attention and compassion meditation training on amygdala response to emotional stimuli in an ordinary, non-meditative state. Frontiers in Human Neuroscience, 9, 376. https://doi.org/10.3389/fnhum.2015.00376

 

4. Eberth, J., Sedlmeier, P., Schwarz, M., & Schönert-Reichl, K. (2019). The effects of mindfulness meditation: A meta-analysis. Mindfulness, 10(6), 1075-1089. https://doi.org/10.1007/s12671-018-0854-2

 

5. Juneau, C., Karakasidou, V., Tsokanos, A., & Moneta, G. B. (2020). The role of equanimity in resilience and mental well-being. Journal of Positive Psychology, 15(3), 280-294. https://doi.org/10.1080/17439760.2020.1716051

 

6. Kabat-Zinn, J. (2003). Mindfulness-based interventions in context: Past, present, and future. Clinical Psychology: Science and Practice, 10(2), 144–156. https://doi.org/10.1093/clipsy.bpg016

 

7. Kraus, S., & Sears, S. R. (2008). Measuring the immeasurables: Development and initial validation of the Self-Other Four Immeasurables (SOFI) scale based on Buddhist teachings on loving kindness, compassion, joy, and equanimity. Social Indicators Research, 92(2), 169–181. https://doi.org/10.1007/s11205-008-9300-1

 

8. Rogers, H. T., Shires, A. G., & Cayoun, B. A. (2021). Development and validation of the Equanimity Scale-16. Mindfulness, 12(1),107–120. https://doi.org/10.1007/s12671-020-01503-6

 

9. Weber, J. (2020). The role of equanimity in facilitating positive mental states and mental well-being. Dissertation, the University of Bolton. https://ub-ir.bolton.ac.uk/esploro/outputs/doctoral/The-role-of-equanimity-in-facilitating/999482108841

 

บทความออนไลน์

 

10. Bernhard, T. (2019, November 7). Equanimity: The key to happiness. Psychology Today. https://www.psychologytoday.com/intl/blog/turning-straw-gold/201911/equanimity-the-key-happiness

 

11. Schaffner, A. K. (2023, June 8). Equanimity: The art of cultivating inner peace and balance. Positive Psychology. https://positivepsychology.com/equanimity/

 

วิทยานิพนธ์และบทความภาษาไทย

 

12. ครรชิต แสนอุบล, สิทธิพร ครามานนท์, และ อสมา คัมภิรานนท์. (2563). การศึกษาและการเสริมสร้างคุณลักษณะพรหมวิหาร 4 ของนิสิตหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) 5 ปี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. วารสารวิจัยทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 15(2). https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jre/article/view/13243

 

 

 


 

 

 

 

บทความโดย

อุษณีย์ ศิริอุยานนท์ นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีเมล์ 6471007238@student.chula.ac.th, Neptune.siri@gmail.com

 

ผู้ตรวจแก้ไขบทความ
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์
    แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พระอาจารย์วรศิลป์ วรปัญโญ
    สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • อาจารย์ ดร. สุภีร์ ทุมทอง
    สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีพุทธโฆส นครปฐม

 

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 39 ปี แห่งการสถาปนาศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ

 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีกับ ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 39 ปีแห่งการสถาปนาศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาฯ

 

 

 

 

 

 

 

การขอโทษที่มีประสิทธิภาพ

 

สวัสดีเดือนแห่งความรักครับ… ถึงบทความนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับความรัก หรือด้านดี ๆ ของความรักโดยตรง แต่ก็อยากพยายามเกริ่นแบบลากเข้าให้เกี่ยวกับความรักสัก 1 ย่อหน้า

 

ถ้าหากถามว่ารักคืออะไร คำตอบที่เราน่าจะเคยได้ยินผ่านสื่อต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็ก ๆ (ตอนนี้คนเขียนก็ไม่เด็กมานานมากแล้ว) “รักคือการให้อภัย” ก็น่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบที่พอคุ้นหูคนไทย อาจจะด้วยความเป็นเมืองพุทธ ที่มีค่านิยม ปล่อยวาง เมตตา ดูมี EQ ใด ๆ ก็แล้วแต่ ก็ฟังผ่าน ๆ ไม่ได้ตั้งคำถาม พอโตมาได้เรียนจิตวิทยาก็เริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมให้อภัย ? ทำไมรักไม่ขอโทษ ? ทำไมรักไม่แก้ไข ?

 

สมัยวัยรุ่นก็จะมีเพลงที่ร้อง “โกรธกันแล้วในใจของเธอมีความสุขไหม ?” พอได้ยินหลายปีจนโตมาก็เริ่มคิ้วขมวดพลางคิดในใจ “เอ้า จะให้หายโกรธอย่างเดียว ไม่กะจะสำนึกเรียนรู้แก้ไขอะไรเลยนิ ?”

 

พอเป็นยุคหลัง ๆ ก็มีวลีอย่าง “มัวแต่ให้อภัยแล้ว เมื่อไหร่จะได้แก้แค้น”

 

ก็เห็นคำว่าให้อภัยบ่อย บทความของคณะก็เคยเขียนเรื่อง การให้อภัย (Forgiving) หรือไม่ให้อภัย (Unforgiving) 1 บทความ แล้ว บทความนี้เลยจะมาเขียนเกี่ยวกับบทบาทของอีกฝั่งก็คือ ผู้ละเมิด ในกรณีที่ต้องการจะแก้ไขในสิ่งผิด ซ่อมแซมความสัมพันธ์ กับพฤติกรรมที่เรียกว่า “การขออภัย-ขอโทษ” (apology)

 

ความสัมพันธ์ของมนุษย์ไม่ว่ารูปแบบใด ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิด การละเมิด (transgressions) ทำลายความเชื่อใจ (trust violation) หรือสร้างความเจ็บปวด (hurt) ให้แก่กัน ไม่ว่าจะอุบัติเหตุทำให้อีกฝ่ายเจ็บตัว คำพูดที่ไม่เหมาะสมหรือผิดคำพูดทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ การละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือความคาดหวัง หักหลัง ทำลายความเชื่อใจ สร้างความเสียหายทางจิตใจ เวลา ธุรกิจ ฯลฯ จุดเริ่มต้นความขัดแย้งไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือใหญ่โต ล้วนส่งผลต่อ ร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ของทั้ง ผู้ละเมิด (transgressor) และผู้ถูกกระทำ (victim)

 

Risen and Gilovich (2007) ได้นำเสนอบทบาททางสังคมของการขอโทษไว้ว่า

 

  1. การแสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้ว่าตนเองได้ละเมิดกฎใด ๆ ของสังคมอาจจะเป็น ศีลธรรม ศาสนาและความเชื่อ มนุษยธรรม สัญญา ความเชื่อใจ ฯลฯ รวมถึงยืนยันความชอบธรรมหรือการมีอยู่จริงและความสมเหตุสมผลของกฎที่ได้ละเมิดนั้น
  2. เพื่อกู้คืนเกียรติของผู้ถูกกระทำ และแสดงเจตนาว่าผู้ละเมิดยังต้องการประคับประคองความสัมพันธ์ระยะยาว และจะรับผิดชอบหน้าที่ในการแก้ไขความสัมพันธ์ ให้เหมือนเดิม หรือเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยทางสังคมในกรณีที่ทำผิดต่อกลุ่มบุคคลขนาดใหญ่

 

ดังนั้นแล้ว การขอโทษจะเกิดขึ้นก็ต้องมีกระบวนการคิดหลายอย่างเกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ละเมิด (transgressor) กว่าจะเกิดขึ้นได้ แล้วก็มีหลายปัจจัยที่ขัดขวางที่ไม่เกิดการขอโทษ หรือทำให้การขอโทษไม่มีประสิทธิภาพโดย Karina Schumann (2018) ก็ได้นำเสนออุปสรรคนี้ไว้ 3 ปัจจัย

 

1. Low Concern for the Victim or Relationship

ผู้ละเมิด (transgressor) ที่ตื่นตระหนกและกลัวความผิด หรือกลัวผลลบต่าง ๆ ที่ตามมา มีแนวโน้มที่จะมีความคิดในลักษณะเอาตนเองเป็นที่ตั้ง เน้นการสื่อสารแบบปกป้องตัวเอง ระบุความผิดพลาดไปที่สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่ อ้างข้ออ้างใด ๆ หรือหนักสุดก็โทษเหยื่อ (Victim Blaming) ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การขอโทษเลย เพื่อที่จะขอโทษอย่างมีประสิทธิภาพ การยอมรับ เข้าใจปัญหาและความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับอีกฝ่ายเป็นสิ่งจำเป็น หรือภาษาไทยใกล้เคียงก็คือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ในมุมมองของผู้เสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นอะไร รับรู้สถานการณ์และผู้ละเมิดอย่างไร และในฐานะผู้ละเมิดที่มีศีลธรรม จะสามารถแก้ไขได้อย่างไร

 

2. Perceived Threat to Self-Image

การยอมรับว่าตัวเองได้ละเมิดศีลธรรมใด ๆ ไป อาจจะยากง่ายต่างกันไปตามศีลธรรมที่ได้ละเมิดว่าผิดมากแค่ไหน ผู้มีจิตสำนึกดีอาจจะรู้สึกผิดหวังในตนเอง ก่อนจะยอมรับตนเอง และขอโทษ แต่สำหรับผู้มีชื่อเสียงหรือมีตำแหน่งสูง การขอโทษ อาจทำให้รู้สึกว่ากระทบภาพลักษณ์ทางสังคมของตนเอง และมักจะประเมินว่า การยอมรับและขอโทษแต่โดยดีนั้น น่าอับอายมากกว่า การหลบเลี่ยงปฏิเสธความผิดและปฏิเสธความรับผิดชอบ (Leunissen, De Cremer, van Dijke, & Reinders Folmer, 2014) หรืออีกส่วนก็กลัวว่าหากยอมรับความผิดและขอโทษไปแล้วก็จะ สูญเสียอำนาจ เสียเกียรติ เสียศักดิ์ศรี เสียตำแหน่งหรือเสียผลประโยชน์ใด ๆ ไป

 

3. Perceived Apology Ineffectiveness

ปัจจัยสุดท้ายก็คือการมองโลกในแง่ร้าย (pessimistic) ของผู้ขออภัย เพราะทุกการขอโทษก็มีความเสี่ยงที่ต้องแบกรับก็คืออาจจะไม่ได้รับการให้อภัย ผู้ละเมิดมีแนวโน้มว่าจะประเมินผลดีของการขอโทษต่ำกว่าที่คิด และไม่เชื่อว่าจะสามารถซ่อมแซมความสัมพันธ์ หรือชดเชยความเสียหายได้ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการพยายามหรือลงทุนเพื่อให้เกิดการขอโทษที่มีประสิทธิภาพ

 

 

สำหรับผู้เขียนแล้ว ตัวคำว่า “ขอโทษ” หรือ “ขออภัย ที่ทำ…ในวันนั้น” จบ เปล่า ๆ โดยไม่มีอะไรเพิ่มเติม ก็เหมือนกับการหยิบยื่นกล่องเปล่าที่ไม่มีเนื้อหาอยู่ภายใน สะท้อนถึงความว่างเปล่าในห้วงความคิดขอผู้ขอโทษ สร้างความสับสนแก่ผู้รับสารว่า “ฉันต้องให้อภัยอะไร ?”

 

นักจิตวิทยาให้ความเห็นว่าคำ “ขอโทษ” เปล่า ๆ มีผลแค่ช่วยระงับอารมรณ์โกรธของผู้ถูกละเมิดเท่านั้น เหมาะกับอุบัติเหตุเล็กน้อยอย่างการ เดินชนกัน หรือเดินเตะ/เหยียบเท้า ขอโทษแล้วก็แยกย้ายกันไป ในขณะที่สิ่งที่เรา ทำลายความเชื่อใจ (trust violation) หรือสร้างความเจ็บปวด (hurt) ต่อผู้อื่น โดยเจตนาก็ดี หรือไม่เจตนาก็ดี จนต้องผิดใจกัน หากผู้ละเมิดอยากขอโทษ ต้องการการให้อภัยจากคนที่เรายังอยากคงความสัมพันธ์ต่อไปก็น่าจะต้องมีเนื้อหามากกว่านั้น ในส่วนสุดท้ายนี้จึงอยากยกงานของ Lewicki et al. (2016) ที่ได้ศึกษาโครงสร้างองค์ประกอบของการขออภัยที่มีประสิทธิภาพ มานำเสนอซึ่งได้ออกมาเป็น 6 องค์ประกอบ

 

1. Expression of Regret

ผู้ละเมิดแสดงความรู้สึกผิดและเสียใจ ที่ได้ทำพลาด หรือทำให้เกิดความสูญเสีย : การแสดงความรู้สึกผิดเล็กน้อย ร่วมกับประสบการณ์ผลกระทบที่ตนได้รับหลังจากที่กระทำละเมิดไป จะช่วยลดอารมณ์โกรธ และดำเนินการสื่อสารต่อไปได้ราบรื่นขึ้น

 

2. Explanation

อธิบายสาเหตุของการละเมิด : เป็นการเล่าเรื่องราว สถานการณ์แวดล้อม กระบวนการคิดพิจารณา การตัดสินใจ เจตนา การละเลย ความประมาท ความโลภ ฯลฯ ที่ทำให้เกิดความผิดพลาด ความสูญเสีย หรือพติกรรมที่ละเมิดนั้น ความเป็นประโยชน์ของส่วนนี้ก็แล้วแต่สถานการณ์ บางสถานการณ์ก็อาจไม่มีเหตุผลที่ดี หรือบางทีผู้เสียหายก็ไม่ได้อยากรู้เหตุผล แต่ก็เป็นส่วนสำคัญ ของผู้ถูกละเมิดที่คิดแบบเป็นเหตุผล ที่ต้องการพิจารณาสถานการณ์และกระบวนคิดของผู้ละเมิด เพื่อตัดสินว่าจะให้อภัย หรือไม่ให้อภัยในส่วนใด

 

3. Acknowledgement of Responsibility

ส่วนวิเคราะห์ตนเอง และสรุปการตระหนักรู้ของผู้ขอโทษว่า พฤติกรรมใดของตน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ผิดศีลธรรม หลักการ ค่านิยมของสังคม และแสดงความรับผิดชอบ แก้ไขความบกพร่องทางศีลธรรมนั้น

 

4. Declaration of Repentance

แสดงความพยายามหรือวางแผนจะดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อตรวจสอบป้องกัน เพื่อประกันว่าจะเพื่อไม่ให้ความผิดพลาดเดิมเกิดซ้ำในครั้งถัดไป

 

5. Offer of Repair

สัญญาณที่แสดงถึงความพยายามของผู้ละเมิด ในการกู้คืนสถานการณ์ รับผิดชอบชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อ ร่างกาย ทรัพย์สิน ของอีกฝ่าย รวมถึงความพยายามซ่อมแซมความสัมพันธ์และความเชื่อใจที่เสียไป

 

6. Request for Forgiveness

ข้อความขอให้ผู้เสียหายให้อภัยในสิ่งทีได้ทำลงไป : จากกระบวนการทั้ง 5 ส่วนข้างบน ที่เป็นบทบาทของผู้ขอโทษร่ายยาวแต่เพียงผู้เดียว (ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้ฟังที่ดี) ส่วยสุดท้ายนี้ เหมือนจะบังคับสร้างปฏิสัมพันธ์ จากการสื่อสารฝ่ายเดียวเป็นการสื่อสารสองทาง ในกรณีที่มีแนวโน้มจะได้รับการให้อภัย ส่วนสุดท้ายนี้ก็เหมือนการชวนให้มาร่วมกันสร้างความเชื่อใจใหม่อีกครั้ง แทนที่ผู้ขอโทษจะต้องสร้างความเชื่อใจแก้ไขความสัมพันธ์แต่เพียงผู้เดียว

 

 

ทั้ง 6 นี้คือองค์ประกอบที่นักจิตวิทยาพบในการขอโทษที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีทั้งหมด แต่หากมีเยอะองค์ประกอบ มีแนวโน้มจะถูกประเมินทางบวกมากกว่ามีน้อยองค์ประกอบ แม้ความเห็นของนักจิตวิทยาที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยมักจะให้น้ำหนักกับส่วน Expression of Regret และ Acknowledgement of Responsibility เป็นส่วนหลัก ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์/ผู้รับสาร แต่จากกการทดลองไม่พบว่ามีองค์ประกอบใดที่สำคัญที่สุด

 

ก็จะพอเห็นได้ว่าการขอโทษที่ดีนั้น ผู้ละเมิดก็จะต้องใช้เวลา ทำความเข้าใจตนเองและสถานการณ์ที่ทำผิด เรียบเรียงความคิดพิจารณาความสามารถ และทรัพยากรของตนเองในการแก้ไขปัญหา วางแผนอนาคตระดับหนึ่ง แล้วทำให้ทั้งหมดเป็นการสื่อสารอีกที ซึ่งไม่ใช่กระบวนการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที รวดเร็ว ราบรื่น และใช่ว่าจะเกิดกับทุกคน กับผู้ถูกกระทำที่ไม่มีอำนาจ ความสัมพันธ์ไม่มีประโยชน์ไม่มีความหมาย การจะยอมตัดความสัมพันธ์ไป อาจจะง่ายกว่าการพิจารณายอมรับความพร่องศีลธรรมของตนเองรวมถึงการชดใช้ความเสียหายก็ได้ มนุษย์ก็เลยต้องมี กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ที่ใช้งานค่อนข้างลำบากไว้เป็นเครื่องมือท้าย ๆ ในการเรียกร้องความยุติธรรม

 

 

ในเดือนแห่งความรักนี้ เพื่อรักษาความสัมพันธ์และความรักให้ยืนยาวแบบ Heatly หากพบว่าตนเองทำอะไรผิดพลาดไป ก็ขอโทษ ยอมรับ เรียนรู้ และแก้ไข โดยลองพิจารณาทีละขั้นตอนตามที่นักจิตวิทยาได้นำเสนอมาข้างต้นกันดูนะครับ

 

 

 

 

อ้างอิง

Leunissen, J. M., De Cremer, D., van Dijke, M., & Reinders Folmer, C. P. (2014). Forecasting errors in the averseness of apologizing. Social Justice Research, 27, 322-339.

 

Lewicki, R. J., Polin, B., & Lount Jr, R. B. (2016). An exploration of the structure of effective apologies. Negotiation and conflict management research, 9(2), 177-196.

 

Risen, J. L., & Gilovich, T. (2007). Target and observer differences in the acceptance of questionable apologies. Journal of personality and social psychology, 92(3), 418.

 

Schumann, K. (2018). The psychology of offering an apology: Understanding the barriers to apologizing and how to overcome them. Current Directions in Psychological Science, 27(2), 74-78.

 

 

 


 

 

บทความโดย

ณัฐนันท์ มั่นคง

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา

จริยธรรม – Morality

 

จริยธรรม หมายถึง หลักการ แนวทาง และค่านิยม ที่บุคคลใช้ประเมินและตัดสินพฤติกรรมทางสังคม ว่าพฤติกรรมหรือการกระทำใดเป็นการกระทำที่ถูก ที่ควรนำมาประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ทางสังคมที่แต่ละสังคมสร้างขึ้น และพฤติกรรมหรือการกระทำใดเป็นการกระทำที่ชั่วและไม่สมควรประพฤติปฏิบัติ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ทางสังคม ตลอดจนปฏิกิริยาที่บุคคลมีต่อพฤติกรรมและแนวโน้มที่นำไปสู่การมีพฤติกรรมจริยธรรมทางบวก และพยายามหักห้ามใจมิให้มีพฤติกรรมจริยธรรมทางลบ อันเป็นผลมาจากการยอมรับมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคม และนำมาสร้างเป็นลักษณะทางจริยธรรมขึ้นในตนเอง

 

Kohlberg (1976) เสนอว่า จริยธรรมเป็นผลมาจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการทางปัญญา (cognitive processes) และสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ บุคคลจะมีพัฒนาการทางจริยธรรมอยู่ในขั้นสูงก็ต่อเมื่อมีทักษะทางปัญญาสังคม มีความสามารถที่จะเข้าใจในทัศนะของผู้อื่น และช่างคิดช่างสังเกตซึ่งทำให้บุคคลสามารถเรียนรู้กฎเกณฑ์ทางสังคมมากขึ้น ส่งผลให้บุคคลมีคุณภาพในการคิดเชิงจริยธรรม และสามารถคิดหาเหตุผลมาตัดสินพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสมเหตุสมผลตามบรรทัดฐานของสังคม

 

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ในอดีตนักจิตวิทยาจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการทางปัญหาในการหาเหตุผลเพื่อการตัดสินเชิงจริยธรรม แต่การศึกษาที่ผ่านมาได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงอิทธิพลของจิตไร้สำนึกที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การเบรกรถทันทีเมื่อเห็นไฟแดง บุคคลทำลงไปโดยไม่ต้องคิด เป็นการรู้เอง ซึ่งก็คือการตัดสิน หาทางออก หรือหาข้อสรุปอย่างทันทีทันใดโดยไม่ต้องพยายาม

 

 

การรู้เองทางจริยธรรม (moral intuition) จึงหมายถึง การตัดสินด้านจริยธรรมที่เกิดขึ้นมาในจิตสำนึกอย่างทันทีทันใด อาจเป็นการประเมินที่มีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกรวมอยู่ด้วย เช่น ดี-เลว ชอบ-ไม่ชอบ โดยปราศจากการตระหนักรู้ ปราศจากการค้นหา เปรียบเทียบหรือวินิจฉัยเพื่อหาข้อสรุป ทั้งการรู้เองและการใช้เหตุผลต่างก็เป็นลักษณะของปัญญาทั้งคู่ แต่แตกต่างกันที่ การรู้เองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ความพยายามและเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ส่วนการใช้เหตุผลเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้ากว่า และอาจต้องใช้ความพยายาม

 

 

Haidt (2001) ได้เสนอว่า ในการตัดสินเชิงจริยธรรม คนเราใช้การรู้เองมากกว่า ส่วนการใช้เหตุผลเป็นสิ่งที่เกิดภายหลังจากที่การตัดสินได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อบุคคลต้องการหาเหตุผลมาอ้างอิงการตัดสินใจ ตามแนวคิดนี้ การตัดสินด้านจริยธรรมจะคล้ายกับการตัดสินเชิงสุนทรียศาสตร์ นั่นคือ เมื่อเราเห็นการกระทำหรือได้ยินเรื่องราวต่าง ๆ เราจะเกิดความรู้สึกทันทีว่าสิ่งนั้นรับได้หรือรับไม่ได้ ซึ่งแสดงออกมาทางอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและไม่ต้องพยายาม ความรู้สึกว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด ดีหรือเลวจะเกิดขึ้นมาเอง การรู้เองทางจริงธรรมเหล่านี้มีทั้งที่เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ (natural selection) และเกิดจากแรงผลักดันทางวัฒนธรรม

 

ตัวอย่างของการตัดสินทางจริยธรรมที่คนเราใช้การรู้เองเป็นสำคัญ คือ เรื่องการมีเพศสัมพันธ์โดยสายเลือดระหว่างพี่กับน้อง เมื่อคนทั่วไปรับรู้เรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะตัดสินทันทีว่าผิดจริยธรรม โดยอ้างถึงเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น หากพลาดพลั้งมีลูก ลูกที่เกิดมาจะมีความผิดปกติ หรือพี่น้องคู่นี้ต้องรู้สึกผิดเป็นบาดแผลในใจ ถึงแม้บุคคลจะได้ทราบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นความเต็มใจของสองพี่น้อง และมีการคุมกำเนิดเป็นอย่างดี คนทั่วไปก็ยังมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดอยู่ดี แม้บางคนจะไม่อาจอธิบายได้ว่าทำไมจึงตัดสินเช่นนั้น

 

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าอารมณ์ความรู้สึกจากการรู้เองส่งผลต่อการตัดสินด้านจริยธรรมเป็นอย่างมาก ในงานวิจัยที่เจาะลึกลงไปในระดับประสาทวิทยายังพบว่า คนไข้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนตรงกลางของสมองส่วนหน้า ทำให้คนไข้มีอารมณ์ความรู้สึกที่ขาดหาย และความตื่นตัวทางประสาทสัมผัสที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมการตอบสนองอย่างอัตโนมัติและการตัดสินใจก็ลดน้อยถอยลง คนไข้มีการตัดสินใจที่ย่ำแย่ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ถึงแม้เขาจะยังรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เนื่องจากอารมณ์ความรู้สึกที่ขาดหายไป ทำให้ไม่สามารถ “รู้สึก” ถึงทางเลือกที่เหมาะสม

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

ปริญญา ฤกษ์อรุณ. (2548). ลักษณะทางจริยธรรมของวัยรุ่นตอนปลายที่มีพฤติกรรมอาสาช่วยเหลือผู้อื่น. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/7910

 

ไตรภพ จตุรพาณิชย์. (2557). อิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมต่อการตัดสินด้านจริยธรรม. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://doi.org/10.14457/CU.the.2014.663