News & Events

Special Talk “Growth mindset and academic engagement: How cultural context inspires new theories and practices.”

การบรรยายพิเศษ เรื่อง

“Growth mindset and academic engagement:
How cultural context inspires new theories and practices.”

 

Growth (fixed) mindset refers to the belief in the malleability (unchangeability) of valued personal attributes, such as intelligence, sociability and morality (Dweck, 1999; Dweck, Chiu, & Hong, 1995). Growth mindset has received much attention from both psychologists and educators because of the consistent finding that compared to others, students who possess or are situationally induced to embrace a growth mindset are more motivated to pursue challenging goals, remain resilient in the face of hardship and setbacks, improve their performance and have better emotional wellbeing. These findings confer confidence in the efficacy of using growth mindset interventions to bolster students’ resilience and social emotional competence. Subsequent intervention studies have shown that growth mindset intervention in schools can improve students’ academic performance and social-emotional wellbeing.
The sizes of psychological benefits of growth mindset intervention vary across cultural contexts. For example, the benefits are more sizeable in Western individualist cultures than Asian collectivist cultures. We attribute the small effect size of growth mindset intervention in Asian societies to three inter-related factors: (1) keen academic competition among students in Asian societies, (2) the Asian cultural belief that effort is a way to compensate for low ability, and (3) the lack of academic mobility in Asian societies. We further propose an ecological perspective to guide theory construction and practices of growth mindset educational intervention. In this talk, I will present the gist of this perspective and our attempts to develop growth mindset educational practices in Hong Kong Asian contexts.

 

 

โดยวิทยากร :
Professor Chi-yue Chiu
Dean of Social Science, Choh-Ming Li Professor of Psychology, Chinese University of Hong Kong

 

 

* บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ

 

 

ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 – 12.00 น.
ณ ห้อง 614 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
จำกัด 60 ที่นั่งเท่านั้น
ลงทะเบียนเข้าร่วมได้ทาง
Register-Button - SiamQuant
สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ :
คุณพิพัฒน์พน โทร 02-218-1193 อีเมล Bhibhatbhon.P@chula.ac.th

 

 


 

 

การเดินทางมายัง Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

 

  • การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ
    ลงรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ หรือลงรถเมล์ป้ายสนามกีฬาแห่งชาติ หรือป้ายมาบุญครอง
    และเดินต่ออีก 3-4 นาที
  • การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว
    สามารถจอดรถที่
    1. อาคารจุฬาพัฒน์ 14 (อาคารจอดรถ 4) ค่าบริการ : ชั่วโมงละ 20 บาท
    https://goo.gl/maps/CsiNtQd81mEv5DSa9
    2. ลานจอดรถสวนหลวงสแควร์ ค่าบริการ : 2 ชั่วโมงแรก 20 บาท จากนั้นชั่วโมงละ 20 บาท
    https://goo.gl/maps/jpqU6po83DKM5TAh7

Anxiety – ความวิตกกังวล

 

 

 

ความวิตกกังวล หมายถึง สภาวะทางอารมณ์ที่บุคคลรู้สึกกังวล กระวนกระวายใจ เครียด รู้สึกว้าเหว่ มีความคิดเกี่ยวกับความตาย รวมถึงมีอาการนอนไม่หลับ และอาการชาหรือเจ็บแปลบตามร่างกายในชีวิต

 

ความวิตกกังวลคือลักษณะอารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงอันตราย เป็นความรู้สึกของการเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรือความขัดข้องใจที่คุกคามสวัสดิภาพ ภาวะสมดุล วิถีชีวิตของบุคคล หรือกลุ่มสังคมที่บุคคลนั้นเป็นเจ้าของอยู่

 

กล่าวได้ว่า ความวิตกกังวลไม่ได้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับบุคคลโดยตรงจากสถานการณ์ที่เข้ามากระทบ แต่เป็นกระบวนการที่เกิดจากการที่บุคคลประเมินความน่าจะเป็นของสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งเป็นผลจากการที่บุคคลเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตที่เคยประสบ

 

สรุปคือ ความวิตกกังวลเป็นผลจากการที่บุคคลได้รับสิ่งเร้าแล้วคิดประเมินหรือคาดคะเนว่าสิ่งเร้านั้นจะทำให้เกิดความไม่พึงพอใจหรือทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคล ส่งผลให้บุคคลไม่สาม

 

 

สาเหตุของการเกิดความวิตกกังวล


 

ความวิตกกังวลสามารถเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการในชีวิต เช่น การเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่น โดยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลและความคับข้องใจ อีกทั้งความวิตกกังวลยังสามารถเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือเกิดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ความขัดแย้งกับบุคคลอื่น เป็นต้น

 

 

อาการของความวิตกกังวล


 

  1. ความรู้สึกวิตกกังวล – เป็นอาการหลักที่เกิดขึ้น บุคคลมักรายงานว่าตนเองรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมาก รู้สึกว่าตนอยู่ในภาวะตึงเครียด อึดอัด หวาดหวั่น หงุดหงิด กระวนกระวาย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย สิ้นหวัง รู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า ตำหนิตนเองและผู้อื่น คิดกลับไปกลับมา และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีเคราะห์ร้ายเกิดขึ้นกับตนเอง อีกทั้งรู้สึกไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลของตนเองได้
  2. อาการด้านร่างกาย – บุคคลที่มีความวิตกกังวลจะมีการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติโดยเฉพาะระบบประสาทซิมพาเธติก ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป และนำมาซึ่งอาการต่าง ๆ เช่น หัวใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก เท้าเย็น เหงื่อออก กล้ามเนื้อตึง ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ท้องอืด รู้สึกชาบริเวณปลายมือและเท้า ประจำเดือนมาผิดปกติ
  3. ปัญหาเรื่องการนอนหลับ – มีอาการนอนหลับยาก พักผ่อนไม่เพียงพอ รู้สึกไม่พึงพอใจการนอนหลับของตนเอง อาจมีปัญหาการตื่นขึ้นกลางดึกและไม่สามารถนอนหลับได้อีก ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า
  4. ด้านความคิด สติปัญญา และการรับรู้ – มีความหมกมุ่น ฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ ลืมง่าย สับสน ความสามารถในการตัดสินใจลดลง ระดับการรับรู้ลดลง บางครั้งมีรายงานว่าอยู่ ๆ บุคคลก็รู้สึกว่าหัวตื้อ รู้สึกโหวง ๆ
  5. อารมณ์โกรธ โมโหง่าย – มีอาการโกรธง่าย ฉุนเฉียวกับเรื่องเล็กน้อย และไม่มีสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
  6. อาการอ่อนเพลีย – มักรู้สึกอ่อนเพลียแม้ไม่ได้ออกแรง โดยการพักผ่อนไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน
  7. ด้านพฤติกรรม – บุคคลจะแสดงออกพฤติกรรมทั้งทางคำพูดและท่าทาง เช่น หน้านิ่ว คิ้วขมวด กระสับกระส่าย กำมือแน่น พูดเร็ว พูดเรื่องซ้ำเดิม ใจลอย เคลื่อนไหวโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมถดถอย และหลีกเลี่ยงบุคคลหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความกังวล

 

 

ระดับความวิตกกังวลของบุคคล


 

มี 4 ระดับ ดังนี้

  1. ระดับต่ำ Mild anxiety – ระดับนี้พบได้ทั่วไป เช่น การตึงเครียดจากการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นระดับที่ทำให้บุคคลเกิดความตื่นตัว กระตือรือร้นที่จะเอาชนะปัญหา มีการรับรู้ที่ว่องไว ความจำดี สมาธิดี อารมณ์และการกระทำไม่เปลี่ยนจากปกติมากนัก รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระเนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้น เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ม่านตาขยาย ฝ่ามือมีเหงื่อออก การเคลื่อนไหวเร็วขึ้น บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับต่ำนี้ยังสามารถควบคุมตนเองได้ โดยอาจต้องการความช่วยเหลือบ้าง เช่น ต้องการข้อมูลเพิ่ม ต้องกาความสะดวก ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจ
  2. ระดับปานกลาง Moderate anxiety – ระดับนี้มีผลทำให้ประสาทสัมผัสและการรับรู้แคบลง ความสนใจน้อยลง ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง อาจมีอาการทางสรีระ เช่น หายใจเข้าออกแรง รู้สึกปั่นป่วนในกระเพาะอาหาร ปวดศีรษะ บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับปานกลางนี้ยังสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองได้
  3. ระดับรุนแรง (Severe anxiety) – ระดับนี้มีผลทำให้ประสาทสัมผัสและการรับรู้แคบลง ทำให้หมกมุ่นในรายละเอียดมากจนเกินไป ไม่สามารถจับสาระสำคัญของเรื่องใดได้ ความสามารถในการแก้ไขปัญหาลดลงและทำงานได้ไม่เต็มสมรรถภาพ เกิดความสับสน มีพฤติกรรมที่แสดงออกเพื่อปกป้องตนเองมากขึ้น และมักเป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่สังเกตเห็นได้ เช่น กระวนกระวาย หงุดหงิด โมโหง่าย เรียกร้องเกินกว่าเหตุ ต่อต้าน ตื่นกลัว ตัวสั่น เกร็ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ท้องเดิน หรือท้องผูก นอนไม่หลับ บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับรุนแรงนี้ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น
  4. ระดับรุนแรงมาก (Panic anxiety) – ระดับนี้มีผลทำให้บุคคลเกิดความกลัวอย่างรุนแรงมาก หรือเป็นความกลัวสุดขีด ทำให้บุคคลขาดการควบคุมตนเอง และแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่มีในสภาวะปกติ เช่น กรีดร้อง วิ่งหนีไปอย่างไรจุดหมาย หรือตกตะลึงแน่นิ่งหมดสติทันทีทันใด บุคคลที่มีความวิตกกังวลระดับรุนแรงมากนี้จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและไม่สามารถทำภารกิจเหมือนปกติได้

 

 

โรควิตกกังวล


 

คู่มือเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช DSM-5 ระบุถึงโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ซึ่งมีลักษณะและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ได้แก่

  1. โรคการกลัวอยู่ในที่ชุมชน (Agoraphobia)
  2. โรคการกลัวเฉพาะเจาะจง (Specific Phobia)
  3. โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia)
  4. โรคกลัวการพูดเฉพาะสถานการณ์ (Selective Mutism)
  5. โรควิตกกังวลอย่างรุนแรง (Panic Disorder)
  6. โรควิตกกังวลจากการพลัดพราก (Separate Anxiety Disorder)
  7. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)

 

 


 

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการล้อเลียนกับความซึมเศร้าและความวิตกกังวลในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น โดยมีคุณภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทและการยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความสามารถในการฟื้นพลังเป็นตัวแปรกำกับ” โดย ณัฐพล ชัยกิตติพรเลิศ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59835

 

“ผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยารายบุคคลตามแนวการบำบัดที่เน้นการยอมรับและความมุ่งมั่นแบบสั้นต่อความวิตกกังวลของผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรัง” โดย สืบพงศ์ ฉัตรธัมมลักษณ์ (2558) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/50258

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/pikisuperstar

 

 

ต้อนรับ Dr.Hisayuki Uneyama จาก Ajinomoto Co., Inc.

 

คณะจิตวิทยาต้อนรับ Dr.Hisayuki Uneyama จาก Ajinomoto Co., Inc. ในโอกาสการเข้าพบเพื่อหารือถึงความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ รองคณบดี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ณ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คของคณะจิตวิทยา (2555-2561)

 

หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คทางจิตวิทยา น่าสะสม
ติดต่อสั่งซื้อได้ทาง inbox Page Facebook : บริหารชีวิตด้วยจิตวิทยา

ส่งทางไปรษณีย์ โดยคิดค่าส่งตามจริง

 


 

 

หนังสือ
ราคาโปรโมชั่น (บาท)
เลี้ยงให้ได้เรื่อง
130
ใช้ชีวิต เรียนรู้ เปลี่ยนแปลง เติบโต
120
บริหารชีวิตด้วยจิตวิทยา
100
ปรองดองสร้างได้
90
ชีวิตไม่ยาก
80
Line of Love
60
ซื้อครบ 6 เล่ม
550 (แถมกระเป๋าผ้าพับได้)

 

 

เซตโปรโมชั่น 6 เล่ม แถมฟรี กระเป๋าผ้าพับได้

ราคา 550 บาท

 

 

 

 

เลี้ยงให้ได้เรื่อง

ราคา sale 130 บาท

 

 

 

ใช้ชีวิต เรียนรู้ เปลี่ยนแปลง เติบโต

ราคา sale 120 บาท

 

 

 

บริหารชีวิตด้วยจิตวิทยา

ราคา sale 100 บาท

 

 

 

ปรองดองสร้างได้

ราคา sale 90 บาท

 

 

 

ชีวิตไม่ยาก

ราคา sale 80 บาท

 

 

 

Line of Love

ราคา sale 60 บาท

 

 

 

 


 

ติดต่อสั่งซื้อได้ทาง inbox Page Facebook : บริหารชีวิตด้วยจิตวิทยา

ส่งทางไปรษณีย์ โดยคิดค่าส่งตามจริง

(หรือมารับด้วยตนเองที่คณะจิตวิทยา)

Emotional crisis – วิกฤตทางอารมณ์

 

 

 

 

ภาวะวิกฤตทางอารมณ์ คือ สภาวะจิตใจที่เป็นทุกข์อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม สถานการณ์ที่ยากลำบาก หรือภาวะจิตใจที่ไม่เป็นสุข ไม่อาจจัดการรับมือด้วยวิธีที่เคยใช้เป็นปกติ เป็นผลให้บุคคลรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย สูญเสียสภาวะของความสมดุล มีความเครียดและความรู้สึกอารมณ์รุนแรง

 

สภาพอารมณ์และความรู้สึกในระดับรุนแรง เช่น ความกลัว ความวิตกกังวลอย่างสูง ความโกรธ ความเศร้า อาจทำให้เกิดการตอบสนองอย่างรุนแรงในลักษณะการทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น สภาพอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงนี้เป็นผลสืบเนื่องเมื่อบุคคลเผชิญกับสถานการณ์ที่รับรู้ว่าเป็นปัญหาสำคัญ แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือไม่สามารถใช้วิธีการจัดการปัญหาที่เคยใช้มายุติปัญหานั้น ๆ ได้ สภาพอารมณ์ความรู้สึกรุนแรงอาจเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนพฤติกรรม ก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อตัวบุคคลที่กำลังเผชิญปัญหาและครอบครัว

 

ทั้งนี้ ภาวะวิกฤตทางอารมณ์จะเข้าสู่ภาวะสมดุลในระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี มีแนวคิดที่เสนอว่าผลกระทบของภาวะวิกฤตอาจส่งผลนานกว่ากรอบเวลานั้น และอาจส่งถึงตลอดช่วงชีวิต โดยสิ่งที่ตามมาเมื่อเหตุการณ์วิกฤตผ่านพ้นไปจะเป็นตัวตัดสินว่าภาวะวิกฤตนั้นจะเป็นสิ่งที่ส่งผลในระยะยาวหรือไม่

 

 

ประเภทวิกฤตทางอารมณ์


 

Baldwin (1978) แบ่งวิกฤตทางอารมณ์ที่มักพบบ่อยในการใช้ความช่วยเหลือผู้ปะสบภาวะวิกฤตออกเป็น 6 ประเภท คือ

 

1. ภาวะวิกฤตตามลักษณะปัญหา (Dispositional Crises) คือ ความรู้สึกไม่เป็นสุขอันเป็นผลจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหา

การให้ความช่วยเหลือหลักเป็นลักษณะที่ผู้ให้บริการให้การสนับสนุนและช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจในปัญหาชัดเจนขึ้น หรือให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นหรือตามที่ผู้รับบริการต้องการ เช่น การให้ข้อมูล การให้ความรู้ การสนับสนุนหรือการส่งต่อผู้รับบริการ การช่วยเหลือภาวะวิกฤตลักษณะนี้จะไม่ได้ลงลึกไปถึงระดับอารมณ์ความรู้สึก แต่ผู้ให้บริการควรตระหนักถึงสถานการณ์วิกฤตที่ผู้รับบริการเผชิญ รวมทั้งตระหนักถึงสถานะทางอารมณ์ของผู้รับบริการ

 

2. ภาวะวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงตามช่วงชีวิตที่คาดการณ์ได้ (Crises of Anticipated Life Transitions) คือภาวะวิกฤตทั่วไป (Generic Crisis) อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงตามปกติในแต่ละช่วงชีวิต หรือการเปลี่ยนแปลงที่คาดการณ์ได้ ซึ่งผู้รับบริการอาจสามารถหรือไม่สามารถควบคุมสถานการณ์หรือผลลัพธ์ได้

ในภาวะวิกฤตประเภทนี้ผู้รับบริการอาจเข้ามารับบริการก่อน หลัง หรือในขณะที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง การให้ความช่วยเหลือวิกฤตประเภทนี้ ผู้ให้บริการควรช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงอย่างถ่องแท้ และช่วยให้ผู้รับบริการสำรวจผลทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้นตามมา หรือช่วยให้ผู้รับบริการพร้อมรับมือกับผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง

 

3. ภาวะวิกฤตซึ่งเป็นผลจากความเครียดจากการถูกกระทบกระเทือนจิตใจ (Crises Resulting from Traumatic Stress) คือ ภาวะวิกฤตทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลันเมื่อบุคคลถูกกระตุ้นในเกิดความเครียดจากปัจจัยภายนอกหรือจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและไม่อาจควบคุมได้ นำไปสู่ผลกระทบทางความรู้สึกที่ท่วมทันรุนแรง การเผชิญกับสิ่งไม่คาดคิดอาจทำให้บุคคลมีความสามารถในการจัดการรับมือลดลงไปชั่วขณะ และบุคคลมักต้องเรียนรู้วิธีจัดการอื่น ๆ เพื่อรับมือกับสถาการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน สิ่งที่กระตุ้นความเครียดในตัวบุคคลจนเกิดเป็นภาวะวิกฤตทางอารมณ์นั้นอาจเป็นได้ทั้งเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจมาก หรือเกิดจากการรวมกันของหลาย ๆ เหตุการณ์ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ผลกระทบทางจิตใจอาจทำให้ผู้รับบริการเกิดการรับมือปัญหาที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้นงานหลักของผู้ให้บริการในกรณีภาวะวิกฤตประเภทนี้คือ การให้การสนับสนุนช่วยเหลือและเอื้อให้ผู้รับบริการตระหนักและเข้าใจถึงผลกระทบของสถานการณ์ รวมทั้งช่วยให้ผู้รับบริการหยิบเอาวิธีการจัดการการรับมือปัญหาที่มีอยู่มาใช้อย่างเหมาะสมหรือเอื้อให้เกิดการเรียนรู้การจัดการใหม่ ๆ

 

4. ภาวะวิกฤตจากพัฒนาการ (Maturational/Developmental Crises) คือ ภาวะวิกฤตทางอารมณ์ที่เป็นผลจากความพยายามจัดการสถานการณ์ปัญหาเชิงความสัมพันธ์ ซึ่งสามารถสะท้อนกลับไปยังปัญหาในอดีตที่ไม่ได้รับการจัดการสะสางอย่างเหมาะสม และภาวะวิกฤตประเภทนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของบุคคลที่ต้องการพัฒนาเติบโตทางด้านอารมณ์ความรู้สึก ลักษณะของภาวะวิกฤตประเภทนี้ เช่น การไม่สามารถพึ่งพาตนเอง ความขัดแย้งทางค่านิยม ความสามารถในการผูกพันกับผู้อื่นในเชิงอารมณ์ความรู้สึก

แนวในความช่วยเหลือคือ การทำความเข้าใจปัญหาเบื้องลึกที่เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาเชิงความสัมพันธ์ในปัจจุบัน และการหาวิธีการตอบสนองต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสมเมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้ง

 

5. ภาวะวิกฤตที่สะท้อนถึงพยาธิสภาพทางจิตใจ (Crises Reflecting Psychopathology) คือ สภาวะที่พยาธิสภาพทางจิตใจเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะวิกฤต หรือมีส่วนสำคัญที่ทำให้บุคคลไม่สามารถจัดการรับมือปัญหาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เช่น การมีปัญหาทางจิตเวช กล่าวคือปัญหาทางพยาธิสภาพทางจิตใจของผู้รับบริการซึ่งทำให้เกิดการตอบสนองการจัดการรับมือปัญหาที่ไม่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะวิกฤตมากกว่าที่จะมีสาเหตุมาจากตัวเหตุการณ์ที่เข้ามากระตุ้น

เป้าหมายหลักในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่เผชิญภาวะวิกฤตประเภทนี้คือ การลดความตึงเครียดในตัวผู้รับบริการให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ และส่งเสริมให้เกิดการตอบสนองต่อสถานการณ์ตึงเครียดที่เหมาะสม

 

6. ภาวะฉุกเฉินทางจิตเวช (Psychiatric Emergencies) คือ ภาวะวิกฤตที่ทำให้การทำงานปกติทางร่างกายและจิตใจเกิดบกพร่องอย่างรุนแรง จนทำให้บุคคลไม่สามารถรับผิดชอบต่อตนเองได้ ลักษณะของวิกฤตประเภทนี้ เช่น ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย หรือผู้ที่เสพยาเกินขนาด

การให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ประสบภาวะวิกฤตประเภทนี้ต้องอาศัยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการประเมินสภาวะจิตใจและสภาพร่างกายของผู้รับบริการ เน้นการทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่นำมาสู่ภาวะฉุกเฉินนี้ และเน้นให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นตามอาการของผู้รับบริการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

 

 

แนวทางการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภาวะวิกฤต


 

Kanel (2012) สรุปว่าการปรับเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ที่มีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลไม่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางอารมณ์ เมื่อบุคคลสามารถปรับการรับรู้ปัญหาและมีทักษะการรับมือปัญหาเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ความรู้สึกไม่เป็นสุขลดลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้มีระดับพฤติกรรมดีขึ้น

 

สอดคล้องกับ Hoff และคณะ (2009) ที่ระบุว่าวิธีการเข้าช่วยเหลือควรอาศัยพื้นฐานจากมุมมองความคิด ความรู้สึก และการกระทำของผู้ประสบภาวะวิกฤต และปรับให้เหมาะสมกับสาเหตุที่มาของภาวะวิกฤต โดยแนวทางการช่วยเหลือผู้รับบริการนั้นมุ่งไปยังการจัดการรับมือภาวะวิกฤตทั้งทางด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ประกอบด้วยแนวทางดังนี้

 

  1. ฟังอย่างตั้งใจและห่วงใย ผู้เผชิญภาวะวิกฤตมักมีความรู้สึกละอายใจที่ตนไม่สามารถจัดการรับมือปัญหาได้ การมีผู้ฟังที่ดีรับฟังจะช่วยให้บุคคลนั้นรู้สึกมีความสำคัญและรู้สึกว่าตนสมควรได้รับความช่วยเหลือแม้ว่าปัญหาที่เผชิญอาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่
  2. สนับสนุนการแสดงอารมณ์ความรู้สึกอย่างเปิดเผย ผู้ที่เผชิญภาวะวิกฤตบางรายจะเก็บความรู้สึก เช่น โกรธ เสียใจ หงุดหงิด ไม่พอใจ สิ้นหวัง การเชื่อมโยงอารมณ์แง่ลบที่มีต่อการแสดงอารมณ์ความรู้สึกในวัยเด็ก หรือเหตุผลทางวัฒนธรรม มีส่วนต่อการแสดงความรู้สึกเมื่อเกิดสถานการณ์ที่กระทบจิตใจ การที่ผู้ให้บริการยอมรับความรู้สึกเชิงลบนั้นจะช่วยให้ผู้รับบริการรู้สึกดีขึ้นได้ทันที ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการรับมือปัญหาที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
  3. ช่วยให้บุคคลเกิดความเข้าใจในภาวะวิกฤต ผู้ให้บริการสามารถช่วยให้บุคคลมองเห็นปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่มีส่วนทำให้เกิดสถานการณ์วิกฤต และช่วยขจัดความรู้สึกโทษตัวเอง ผู้รับบริการควรได้สำรวจปัญหาในภาพรวม ซึ่งรวมทั้งผลทางกายภาพและพฤติกรรมซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับภาวะวิกฤต
  4. ช่วยให้บุคคลยอมรับความเป็นจริง บุคคลที่เผชิญภาวะวิกฤตบางคนจะรู้สึกว่าตนตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายและโทษคนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่เผชิญภาวะวิกฤตที่สาเหตุมาจากสภาพสังคม ไม่เพียงเป็นแค่ความรู้สึก แต่บุคคลอยู่ในฐานะของผู้เคราะห์ร้ายจริง ๆ การช่วยเหลือทำได้โดยเอื้อให้บุคคลนั้นสื่อความโกรธออกมาเป็นการกระทำที่จะเปลี่ยนการกดขี่ทางสังคม
  5. ช่วยให้บุคคลได้สำรวจแนวทางใหม่ ๆ ที่จะจัดการรับมือปัญหา ในบางกรณีบุคคลจะไม่ใช้วิธีจัดการรับมือปัญหาแบบเดิมที่เคยใช้อีก ผู้ให้บริการสามารถชวนให้ผู้รับบริการสำรวจวิธีการรับมือที่เคยใช้แล้วประสบผลสำเร็จ และค้นหาว่าวิธีนี้น่าจะยังใช้ได้อยู่หรือไม่ หรือสามารถเรียนรู้การตอบสนองต่อปัญหาด้วยการรับมือรูปแบบใหม่
  6. เชื่อมโยงบุคคลเข้ากับเครือข่ายทางสังคม การสำรวจแนวทางการจัดการปัญหาใหม่ ๆ จะนำสู่การเชื่อมโยงสังคม เนื่องจากบุคคลที่เผชิญภาวะวิกฤตมักตัดขาดตนเองออกจากผู้อื่น การเยียวยารักษาจึงจำเป็นต้องเชื่อมความสัมพันธ์นั้นใหม่ หรือสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ในทางเดียวกัน นอกจากเอื้อการเชื่อมสัมพันธภาพกับสังคม ผู้ให้บริการยังมีส่วนที่เอื้อให้ผู้รับบริการตัดความสัมพันธ์ที่ส่งผลลบต่อจิตใจ
  7. เน้นย้ำถึงวิธีการจัดการใหม่ที่ได้เรียนรู้ ประเมินผลที่ได้รับจากการปรึกษาและติดตามผลหลังผ่านพ้นภาวะวิกฤต บุคคลต้องการเวลาเพื่อที่จะใช้แนวทางที่เรียนรู้มาใช้กับปัญหา แนวทางที่ผลควรได้รับการสนับสนุน แนวทางที่ไม่ได้ผลก็ควรละทิ้ง และค้นหาแนวทางใหม่ๆ

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ประสบการณ์ทางจิตใจในการเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่มีศิลปะเป็นสื่อของนิสิตนักศึกษาที่มีแนวโน้มภาวะวิกฤตทางอารมณ์” โดย อัจจิมา อาภานันท์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/45468

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/starline

 

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพัฒนาการช้าหรือไม่

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกพัฒนาการช้าหรือไม่ ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกับคำว่าพัฒนาการเสียก่อน

 

พัฒนาการ คือ การเปลี่ยนแปลงด้านการทำหน้าที่ (Function) และวุฒิภาวะ (maturation) ของอวัยวะต่าง ๆ เมื่อเวลาผ่านไปตัวบุคคลสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำสิ่งที่ยากและสลับซับซ้อนได้มากขึ้น ตลอดจนมีการเพิ่มทักษะใหม่ ๆ รวมทั้งมีความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมหรือสภาวะใหม่ในบริบทของครอบครัวและสังคม

 

พัฒนาการนั้นเป็นสิ่งที่คงที่แน่นอน พัฒนาการมนุษย์เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องตั้งแต่ปฏิสนธิดำเนินไปตลอดชีวิต ซึ่งพัฒนาการของแต่ละบุคคลจะมีลำดับขั้นตอนการพัฒนาในลักษณะเดียวกัน แต่อัตราและระยะเวลาในการผ่านขั้นตอนต่าง ๆ อาจแตกต่างกัน และพัฒนาการจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจากพัฒนาการนี้ พัฒนาการที่ต้องทำได้ต่อไปคืออะไร เช่น เด็กแรกเกิดจากนอนหงาย เริ่มชันคอได้ เริ่มยกอกได้ในท่านอนคว่ำ จากนั้นจะพลิกคว่ำได้เอง

 

กล่าวโดยสรุปคือ พัฒนาการของเด็กทุกคนมีลำดับที่เหมือนกัน และพัฒนาไปตามขั้นตอน ดังนั้นผู้ปกครองอย่าคาดหวังว่าลูกจะพัฒนากระโดดข้ามพัฒนาการในแต่ละขั้นตอน ควรให้เด็กพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละขั้นตอน ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาแตกต่างกัน ไม่ควรเปรียบเทียบเด็กแต่ละคน

 

Flat design stages of a baby boy set

 

ต่อไปเรามาดูว่าพัฒนาการเด็กประกอบด้วยด้านใดบ้างเพื่อการส่งเสริมอย่างรอบด้าน ไม่ควรให้ความสำคัญด้านใดด้านหนึ่ง

 

 

พัฒนาการของเด็กประกอบด้วย


 

1. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การทรงตัว เช่น การนั่ง ยืน เดิน กระโดด วิ่ง

 

2. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก กิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การใช้กรรไกรตัดกระดาษการพับตามรอยพับ การทำงานประสานกันระหว่างมือและสายตา การใช้ช้อนตักข้าว

 

3. พัฒนาการด้านภาษาภาษา ภาษาเปรียบเหมือนรหัสที่คนในสังคมใช้ร่วมกันเป็นระบบหรือเป็นสิ่งที่แทนความคิดของคนโดยการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่สร้างโดยเจ้าของภาษา มีกฎเกณฑ์หรือมีไวยากรณ์ที่ควบคุมกำหนดใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ พัฒนาการทางภาษาพัฒนาการด้านภาษาสามารถแบ่งออก 2 ด้าน คือ (1) ความสามารถในการเข้าใจภาษา receptive language และ (2) ความสามารถในการใช้ภาษา expressive language

  • ความเข้าใจภาษา receptive language เช่น ชี้ภาพในหนังสือเมื่อบอกให้ทำตามคำสั่งได้
  • การใช้ภาษา expressive language เช่น สามารถบอกชื่อตัวเอง บอกชื่อคนภายในครอบครัว บอกชื่อเพื่อน บอกความต้องการ บอกความรู้สึก โดยใช้คำพูด

 

4. พัฒนาการด้านสติปัญญา เช่น ความคิดรวบยอด การใช้เหตุผล ยกตัวอย่างเช่น สามารถจับคู่เสียงกับรูปภาพสัตว์ได้ สามารถบอกได้ว่าตัวเองชอบภาพไหน จับคู่ภาพกับการกระทำได้ เปรียบเทียบเล็กกว่า-ใหญ่กว่า สั้น-ยาวได้ ความเข้าใจจำนวน จำแนกประเภทได้

 

5. พัฒนาการด้านอารมณ์สังคม บอกความรู้สึก เข้าใจอารมณ์ตนเอง อิจฉา ภูมิใจ อาย และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การสร้างมิตรภาพระหว่างเพื่อน การเริ่มเล่นกับผู้อื่น

 

6. พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเอง เด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียนจะมีความพึงพอใจที่ได้จัดการกับร่างกายของตนเอง รวมทั้งมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และเป็นช่วงที่เด็กจะพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ปกครองควรมีความอดทนในการรอและให้โอกาสเด็กในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ช่วงแรก ๆ อาจมีถูกบ้างผิดบ้าง ควรให้โอกาสเด็กได้ทำและเรียนรู้

 

 

Students with kindergarten room elements on white

 

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น พัฒนาการทั้ง 6 ด้านในแต่ละบุคคลจะมีลำดับขั้นตอนที่เหมือนกันแต่จะมีอัตราเร็วช้าต่างกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ประเมินพัฒนาการลูกเบื้องต้นได้จากข้อมูลพัฒนาการในแต่ละวัย พัฒนาการในแต่ละด้านควรทำอะไรได้บ้าง อาจเช็คจากสมุดวัคซีนของลูก เมื่อพบว่าลูกของเรามีพัฒนาการที่แตกต่างไปจากวัยที่เด็กส่วนใหญ่ควรทำได้แล้ว เช่น เมื่อลูกอายุ 15 เดือนลูกเดินทรงตัวโดยไม่ต้องช่วยจับยังไม่ได้ หรือเมื่อลูกอายุ 2 ขวบแต่ยังไม่มีภาษา ไม่สามารถสื่อความหมายหรือพูดคำที่มีความหมายได้เลย

 

เมื่อพบว่าพัฒนาการของลูกไม่เป็นไปตามพัฒนาการในแต่ละวัย ควรรีบไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพราะอาจส่งผลกระทบกับพัฒนาการในขั้นต่อ ๆ ไป

 

 

 

ยกตัวอย่าง พัฒนาการของเด็ก 2 -3 ปี
พัฒนาการ
ทำได้
ทำไม่ได้
ต่อบล็อกไม้ซ้อนกัน  6  ชั้น
ขีดเส้นตรงได้
ชี้ภาพในหนังสือได้ถูกต้องเมื่อถามเป็นกริยาท่าทาง หรือหน้าที่สิ่งของ เช่น  ใครกำลังวิ่ง
ชี้เครื่องแต่งกายตามคำบอกได้ 3 อย่าง เช่น เสื้อ กางเกง รองเท้า
เข้าใจหน้าที่ของสิ่งของ เช่นแก้วไว้ใส่น้ำดื่ม
เข้าใจจำนวนความหมายว่า 1
บอกชื่อตนเองได้
บอกความต้องการ ใช้ภาษาพูดมากว่าท่าทาง
ตอบคำถาม อะไร ที่ไหน ได้
การพูดชัดเจนพอที่ทำให้คนคุ้นเคยฟังเข้าใจร้อยละ 75
รู้จักอวัยวะ 6 ส่วน
สามารภจับคู่เสียงร้องของสัตว์ได้
จับคู่ภาพกับวัตถุจริงได้
ใช้ช้อนในการรับประทานอาหารได้
ใส่และถอดเสื้อผ้าเองได้

 

 

จากตารางเป็นตัวอย่างของพัฒนาการเด็กในช่วงวัย 2-3 ปี นั่นคือ เมื่ออายุอยู่ในช่วง 2 ปี ยังทำไม่ได้ทุกข้อ คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสในการลงมือทำ แต่เมื่ออายุถึง 3 ปี ต้องทำได้ทุกข้อ หากยังทำไม่ได้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อการสร้างเสริมพัฒนาการได้อย่างถูกต้อง

 

 

 


 

 

บทความโดย

 

คุณณัฎฐภรณ์ ขุนไชย

นักจิตวิทยา ประจำศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Mindful Self-Compassion: ชวนคุณดูแลใจ ด้วยความเมตตาต่อตนเอง”

ขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจ เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง

 

“Mindful Self-Compassion: ชวนคุณดูแลใจ ด้วยความเมตตาต่อตนเอง”

 

โดยวิทยากร

 

อาจารย์ ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ

ผู้ช่วยคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

 

ในวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 – 13.00 น.

ณ ห้อง 805 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ลงทะเบียนเข้าร่วมการอบรมได้ที่ https://forms.gle/TVm3qcRN6nUi9ahJA

รับจำนวน 30 คน เท่านั้น

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง FB Here to Heal

การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Oasis of Happiness”

ขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจ เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง

“Oasis of Happiness”

 

โดยวิทยากร

ดร.สหรัฐ เจตมโนรมย์

นักจิตวิทยาการปรึกษาจากสถาบันวันที่ฉันตื่น

 

ในวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 – 13.00 น.

ณ ห้อง 614 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ลงทะเบียนเข้าร่วมการอบรมได้ที่ https://forms.gle/vbNXEJJ8zVR9mLb6A

รับจำนวน 50 คน เท่านั้น

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง FB Here to Heal

การเสวนาวิชาการ เรื่อง DESTIGMATIZATION ลดการตีตรา เสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ

 

ขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาวิชาการ เรื่อง

DESTIGMATIZATION ลดการตีตรา เสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ

 

 

วิทยากรผู้ร่วมการเสวนา
  1. คุณณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ – นักจิตวิทยาและนักสื่อสารด้านคนพิการ
  2. ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ – คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย
  3. พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ – ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
  4. คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ – นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว​ โฮสต์ประจำของ RUOK podcast และผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce
ผู้ดำเนินรายการ
  1. ดีเจวี คุณรวีโรจน์ เลิศพิภพเมธา
วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลา 9.00 – 12.00 น.
ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) ชั้น 20 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประเด็นการเสวนา
  • การประทับตราว่าด้อยค่าในการแสวงหาความช่วยเหลือจากนักวิชาชีพ (Stigma associated with seeking professional psychological help) อุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไม่แสวงหาความช่วยเหลือด้านจิตใจกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์
  • แนวทางในการแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตใจอย่างเหมาะสม
  • วิธีการเบื้องต้นในการดูแลจิตใจตนเอง และคนรอบข้าง

 

ลงทะเบียนเข้าร่วมการเสวนา (onsite) ได้ที่ https://forms.gle/Zm1aL8uT6jWFPcM46

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
FB Here to Heal

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตรักษาแนวพุทธเพื่อการยกระดับและการเยียวยาจิตใจ”

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนนักวิชาชีพสายสุขภาพทางจิตใจ นักวิชาชีพที่ทำงานด้านพัฒนามนุษย์ และผู้ที่สนใจทุกท่าน เข้าร่วมหลักสูตรประกาศนียบัตร

 

 

“การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตรักษาแนวพุทธเพื่อการยกระดับและการเยียวยาจิตใจ”
“Buddhist contemplative counseling and psychotherapy for transformation and healing”

 

 

 

 

วิทยากร

 

รองศาสตราจารย์ ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว นายกสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย
ร่วมด้วยทีมวิทยากร 5 ท่าน

 

 

การอบรมประกอบด้วย 4 โมดุล

 

ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 จำนวนรวม 20 วัน

 

1. The Concepts

11-15 มกราคม 2566 ณ แวลลี่การ์เด้นรีสอร์ท อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

การศึกษาแนวความคิดต่าง ๆ ของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและการรักษาแนวแนวพุทธ ให้ผู้เรียนได้เข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เกิดทัศนะและบุคลิกภาพใหม่ที่เหมาะกับความเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ ซึ่งหมายถึงการเป็นบุคคลที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติของชีวิตตนเอง และดำเนินชีวิตด้วยความเข้าใจนั้น ทำให้ปราศจากความทุกข์เพราะรู้ถึงความเป็นจริงของชีวิตและความเป็นจริงของการเกิดขึ้นของความทุกข์ ตลอดจนสามารถดำรงอยู่กับผู้อื่นอย่างที่เป็นสะพานให้ผู้อื่นได้ยกระดับตนเองให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น และสูงขึ้นได้

 

2. The Practicum

22-26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ แวลลี่การ์เด้นรีสอร์ท อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี

การฝึกปฏิบัติเพื่อปรับระดับจากความเข้าใจให้เป็นการกระทำ ให้จิตใจและการแสดงออกเป็นเนื้อเดียวกัน และทำให้เกิดภาวะที่การดำรงอยู่กับผู้อื่นคือการดำรงอยู่กับตนเองอย่างแท้จริง ปราศจากการปกป้องตนเองที่ทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้อื่นเป็นไปไม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่ผลเสียในด้านสัมพันธภาพและทำให้การรักษาเยียวยาด้อยคุณภาพลงไป การฝึกปฏิบัติในโมดุลนี้เป็นการฝึกเพื่อทำความเข้าใจถึงรากเหง้าของความไม่สบายใจทั้งปวง และค้นพบแผนที่และการเอื้อผู้อื่นได้รู้จักแผนที่เพื่อการเดินทางผ่านอุปสรรคต่าง ๆ และดำเนินชีวิตต่อไปในหนทางของตนได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

 

3. The Supervision

5-9 เมษายน 2566 ณ คำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

การนิเทศงานของผู้เรียนที่ได้ปฏิบัติมาในช่วงระหว่างโมดุลที่สองและสาม เกิดการบูรณาการแนวความคิดต่าง ๆ และสิ่งที่ได้ไปปฏิบัติตกผลึกเป็นก้อนของความเข้าใจ ผ่านการร่วมเรียนรู้แบบแบ่งปันประสบการณ์ ทำให้ผู้เรียนเกิดความเติบโตทางความรู้และทัศนะ เข้าถึงหัวใจของจิตวิทยาการปรึกษาและจิตรักษามากขึ้น ตลอดจนเข้าใจในชีวิตเพื่อการดำเนินชีวิตในวิถีทางของความสุขสงบ

 

4. The Examination

24-28 พฤษภาคม 2566 ณ คำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

การตรวจสอบ ประเมิน ทบทวน และจัดการเพิ่มเติมความถูกต้อง ส่งเสริมความมั่นใจของการทำงานด้านจิตวิทยาการปรึกษาและจิตรักษาแนวพุทธ ผ่านการให้ผู้เรียนสาธิตการกระทำการปรึกษาและให้เพื่อนร่วมเรียนพิจารณาและให้ข้อมูลสะท้อนกลับ ภายใต้การดูแลของวิทยากร ให้ผู้เรียนตรวจสอบความเข้าใจและการนำไปปฏิบัติ ตลอดจนการประยุกต์การใช้โมเดลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธไปสู่มิติอื่น ๆ ในชีวิต เช่น ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับผู้คนในครอบครัว ในที่ทำงาน การบริหารงาน และในการจัดการกับปัญหาในใจที่เกิดขึ้นกับตนเองและในการดำเนินชีวิต

 

 

 

คุณสมบัติของผู้เข้าฝึกอบรม

 

  1. นักวิชาชีพสายสุขภาพทางจิตใจ หรือนักวิชาชีพที่ทำงานพัฒนามนุษย์ เช่น นักจิตวิทยาทุกสาขา จิตแพทย์ พยาบาล นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นักการศึกษา ครูแนะแนว นักบริหาร หรือผู้ที่สนใจในหลักสูตรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และ
  2. จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อายุไม่น้อยกว่า 30 ปี

 

 

จำนวนผู้เข้าฝึกอบรม

 

30 คน

 

 

อัตราค่าลงทะเบียน

 

100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)

 

 

หมายเหตุ

 

  1. บุคลากรของรัฐจากส่วนงานและส่วนราชการต่าง ๆ เข้าร่วมได้โดยไม่ถือเป็นวันลาและมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนตลอดจนมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ตามระเบียบของทางราชการ
  2. ค่าลงทะเบียนครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการอบรม ค่าเอกสารบรรยาย ค่าอาหารเช้า/กลางวัน/เย็นค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก และค่าประกันการเดินทางภายในประเทศ
  3. ค่าลงทะเบียนไม่ครอบคลุมค่าเดินทาง และการเดินทางไป-กลับยังสถานที่การอบรม
  4. ขอสงวนสิทธิ์การเลื่อน/ยกเลิกการอบรม ในกรณีที่มีผู้สมัครเข้าร่วมการอบรมไม่ครบ 30 ท่าน หรือเกิดเหตุสุดวิสัย
  5. ขอสงวนสิทธิ์ไม่คืนค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการอบรมทุกกรณี ยกเว้นกรณีคณะจิตวิทยายกเลิก/เลื่อนการจัดอบรม (กรณีที่มีการยกเลิก/เลื่อนการจัดอบรม คณะจิตวิทยาจะแจ้งให้ผู้เข้าร่วมอบรมทราบล่วงหน้าก่อนวันอบรม 7 วัน)
  6. หลังเสร็จสิ้นการอบรม ผู้เข้าร่วมจะได้รับใบประกาศนียบัตร โดยผู้เข้าร่วมจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 80% ของแต่ละโมดุล

 

 

สิ่งที่คาดว่าผู้เรียนจะได้รับ

 

  • ความเข้าใจในคำสอนพระพุทธศาสนาและการนำมาใช้ในการพัฒนารักษาและเยียวยาจิตใจ ตลอดจนการนำหลักพระพุทธศาสนาให้มานำชีวิตและดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน
  • การเพิ่มพูน soft skills อย่างมีประสิทธิภาพและลึกซึ้งในการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักบริหาร นักวิชาชีพ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับมนุษย์
  • การเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการพัฒนารักษาและเยียวยาจิตใจของผู้ช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา จิตแพทย์ พยาบาล นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือนักการศึกษา
  • การเพิ่มพูนน้ำหนักในการดำรงชีวิตอย่างมีประโยชน์และสงบสุข เพื่อการพัฒนาตนเองและรักษาตนเองให้อยู่ในวิถีของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่ทั้งเป็นประโยชน์และสงบสุข

 

 

การสมัครเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ

 

ลงทะเบียนและชำระเงินได้ทาง https://forms.gle/haQJsVhegzfiph4w7

 

 

วิธีการชำระเงินค่าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ

 

  1. ชำระเงินผ่าน QR code ของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ (อัตราค่าธรรมเนียมการโอนตามที่ธนาคารกำหนด)
  2. ชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร เข้าบัญชีออมทรัพย์ของคณะจิตวิทยา เลขที่บัญชี 038-258341-5 ชื่อบัญชี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสยามสแควร์ (อัตราค่าธรรมเนียมการโอนตามที่ธนาคารกำหนด)
  3. ชำระเงินผ่านบริการ K Payment Link โดยตัดจ่ายจากบัตรเครดิต

 

** สำหรับท่านที่ต้องการชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านบริการ K Payment Link โดยตัดจ่ายจากบัตรเครดิต กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่โครงการ คุณวาทินี โทร 02-218-1307 อีเมล Wathinee.s@chula.ac.th

 

โดยมีเงื่อนไขดังนี้

    • การชำระเงินผ่านบริการ K Payment Link โดยตัดจ่ายจากบัตรเครดิต จะมีค่าดำเนินการเพิ่มเติมจากค่าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอีก 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) รวมท่านต้องชำระเงินเพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 102,000 บาท (หนึ่งแสนสองพันบาทถ้วน)
    • สำหรับการแบ่งจ่ายและการคิดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่ธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตกำหนด และกรุณาติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อดำเนินการส่วนนี้ด้วยตนเอง
    • หากมีการยกเลิกการอบรม โครงการฯ จะคืนเงินเให้ท่านเฉพาะในส่วนค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการอบรม จำนวนเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) เท่านั้น

 

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

 

คุณวาทินี สนลอย โทร 02-2181307 อีเมล wathinee.s@chula.ac.th