News & Events

ความทรงจำคืออะไร?

Memory: processes involved in retaining, retrieving, and using information about stimuli, images, events, ideas, and skills after the original information is no longer present (Goldstein, 2011)

 

 

ความทรงจำ หมายถึง การบันทึกประสบการณ์ต่าง ๆ ของเราผ่านการเรียนรู้ ไม่ว่าเราจะเรียนรู้อะไรมาก็ตามมันจะถูกบันทึกเข้าความทรงจำของเรา ความทรงจำจะประกอบไปด้วยกระบวนการเก็บ ดึงออกมา และ การใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งเร้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รูป เหตุการณ์ ไอเดีย หรือ สกิลในการทำอะไรต่าง ๆ หลังจากที่ข้อมูลดั้งเดิมไม่ได้มีอยู่แล้วตรงหน้าเราแล้ว เช่น ความทรงจำเกี่ยวกับว่าเมื่อวานตอนเย็นเราทานอะไรเป็นอาหารเย็นหรือไม่ได้ทานเลย หรือ เราได้จอดรถไว้ที่ไหน ความทรงจำถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเรามากในการดำรงชีวิต ถ้าหากไม่มีกลไกที่ทำให้เราจำสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา เราก็จะไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เลย

 

 

ความทรงจำของเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

 

ในการที่เราจะสร้างความทรงจำใหม่ ข้อมูลที่ได้รับมาจะถูกเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ใช้งานได้ ซึ่งเกิดขึ้นผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการเข้ารหัส (encoding) เมื่อเข้ารหัสข้อมูลสำเร็จแล้ว จะต้องเก็บไว้ในหน่วยความจำเพื่อใช้ในภายหลัง นักวิจัยเชื่อกันว่าความทรงจำถูกสร้างขึ้นผ่านการเสริมสร้างความเชื่อมโยงที่มีอยู่หรือการเติบโตของการเชื่อมต่อใหม่ระหว่างเซลล์ประสาท

 

จากการศึกษาและงานวิจัยต่าง ๆ พบว่า การเปลี่ยนแปลงในการเชื่อมต่อที่ช่องว่างระหว่างเซลล์ที่เรียกว่า “ไซแนปส์” สัมพันธ์กับการเรียนรู้และการเก็บรักษาข้อมูลใหม่ การเสริมสร้างการเชื่อมต่อนี้จะช่วยส่งข้อมูลไปยังหน่วยความจำ ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมหากเราต้องการที่จะจำอะไรได้ เราจะต้องมีการทวนซ้ำข้อมูลที่เราต้องการจะจำ เพราะการทวนซ้ำจะช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำข้อมูลที่เราต้องการจะจำได้นั่นเอง ทุกครั้งที่เราทวนซ้ำจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และทำให้เราจำข้อมูลนั้นได้นั่นเอง

 

 

ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราจำได้แล้ว มีความรู้สึกเป็นอย่างไรเมื่อความทรงจำของเราได้ถูกจำไปแล้ว โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักที่จะไม่รู้ว่าเราจำได้แล้ว เว้นแต่เวลาที่เราต้องการที่จะใช้หน่วยความจำนั้น หรือถูกถาม เราถึงจะรู้ได้ว่าเราจำมันได้หรือไม่ ซึ่งการที่ทำให้เราสามารถตอบได้นั้นจะต้องมีการดึงหน่วยความจำที่เราเก็บเอาไว้มาใช้ (retrieval)

 

 

ในปี 1968 Atkin and Shiffrin ได้เสนอโมเดลว่าหน่วยความจำของเรานั้นมันมีหลายแบบ โดยเขาได้แบ่งความทรงจำเป็น 3 แบบ ได้แก่ sensory memory, short-term memory, และ long-term memory เริ่มมาจากการที่เรารับรู้ถึงอะไรบางอย่างก่อน เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามา หรือมี input เข้ามา อันดับแรกสิ่งเร้านั้นจะเข้าไปอยู่ใน sensory memory ของเรา sensory memory คือความทรงจำที่เกี่ยวกับข้อมูลของสิ่งที่เรารับรู้มา แต่ว่า sensory memory จะอยู่กับเราสั้นมาก ๆ เพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในวันปีใหม่ที่มีการจุดพลุกัน พอเขาจุดพลุ ทำให้ที่ตรงนั้นมันสว่าง ทำให้เราสามารถมองเห็นหน้าคนข้าง ๆ เราได้ และเมื่อพลุค่อย ๆ ดับลง ในความมืดนั้น เรายังจะสามารถมองเห็นหน้าคนข้าง ๆ เราได้อยู่อีกพักหนึ่ง เป็นเพราะ sensory memory ของเราทำให้เราสามารถจำจดใบหน้าคนข้าง ๆ ได้อยู่ หลังจากนั้นแล้วหากความทรงจำนี้เป็นความทรงจำที่เราสนใจจดจ่ออยู่กับมัน ความทรงจำนี้ก็จะถูกส่งไปยัง short term memory หรือ ความทรงจำระยะสั้น ซึ่งก็จะทำให้เราสามารถจำใบหน้าของคนที่อยู่ข้าง ๆ เราได้นานว่าเดิมเล็กน้อย เพราะความทรงจำระยะสั้นจะสามารถอยู่กับเราได้นานกว่า sensory memory เราจะสามารถประมวลข้อมูลได้ประมาณ 5-7 อย่างพร้อม ๆ กันในเวลา 15-20 วินาที และหากเราได้มีการทบทวนข้อมูลที่เราต้องการที่จะจำซ้ำ ๆ ข้อมูลนั้นก็จะถูกส่งไปยัง long term memory หรือความทรงจำระยะยาวที่จะเก็บความทรงจำเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งความทรงจำพวกนี้จะอยู่เป็นปี ๆ จนถึง 10-20 ปีก็ยังได้

 

 

เพราะฉะนั้นหากเราต้องการที่จะจำอะไรได้ เราควรที่จะทบทวนข้อมูลนั้นซ้ำ ๆ เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับหน่วยความจำนั้น ยิ่งทบทวนมากเท่าไหร่ เราก็มีโอกาสที่จะจำได้มากขึ้นค่ะ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Atkinson, R. C., & Shiffrin, R. M. (1968). Human memory: A proposed system and its control processes. In Psychology of learning and motivation (Vol. 2, pp. 89-195). Academic Press.

 

Goldstein, E. B. (2019). Cognitive psychology: Connecting mind, research and everyday experience (5th ed.). Cengage. ISBN: 9781337408271

 

Malmberg, K. J., Raaijmakers, J. G., & Shiffrin, R. M. (2019). 50 years of research sparked by Atkinson and Shiffrin (1968). Memory & cognition47(4), 561-574.

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

 

อาจารย์ ดร.พจ ธรรมพีร

ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ)
และอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การถูกปฏิเสธจากกลุ่ม – Social/Group Rejection

 

 

การถูกปฏิเสธจากกลุ่ม คือ การที่สมาชิกในกลุ่มแสดงพฤติกรรมเพิกเฉย ไม่สนใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างมากเนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย การถูกปฏิเสธหรือถูกขับออกจากกลุ่มจึงอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดเช่นเดียวกับการเจ็บปวดทางกาย อันเป็นกลไกพื้นฐานที่ส่งสัญญาณว่ามีเหตุไม่ปกติเกิดขึ้น

 

กล่าวได้ว่าการถูกปฏิเสธจากกลุ่มเป็นการลงโทษทางสังคมวิธีหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่ถูกปฏิเสธรับรู้ว่าตนเองมีโอกาสที่จะอยู่รอดในสังคมได้น้อยลง รู้สึกว่าตนไร้ค่า เปรียบเสมือนคนที่ไม่มีตัวตน เรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ความตายทางสังคม

 

การถูกปฏิเสธจากกลุ่มเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ในกลุ่มเด็ก จะใช้การปฏิเสธหรือขับออกจากกลุ่มเวลาที่เล่นด้วยกัน ในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงจะใช้การปฏิเสธเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะกัน ส่วนในผู้ใหญ่ เกือบทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์เป็นผู้ปฏิเสธและถูกปฏิเสธมาแล้วทั้งสิ้น

 

ในการสำรวจชาวอเมริกันกว่า 2,000 คน พบว่า มีจำนวน 67% รายงานว่าเคยใช้วิธีเงียบ ไม่พูดกับคนรักเมื่อต้องการปฏิเสธ มี 75% ระบุว่าเคยตกเป็นเหยื่อของการถูกคนรักไม่พูดด้วย และจากคำรายงานของพลเมืองผู้สูงอายุพบว่า การถูกสังคม เพื่อนร่วมงาน หรือสมาชิกครอบครัวเพิกเฉย มีค่าสหสัมพันธ์ทางลบกับความพึงพอใจในชีวิต นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการประเมินตนเองในทางลบ และบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการถูกปฏิเสธมักรู้สึกทางลบต่อคนที่ปฏิเสธตน อย่างไรก็ดี เมื่อมีโอกาสบุคคลที่ถูกปฏิเสธก็มักพยายามทำดีเพื่อที่ตนจะได้กลับไปเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง นอกจากนี้ยังพบว่า เพื่อป้องกันความรู้สึกไม่สบายใจจากการถูกปฏิเสธ บุคคลจะพยายามนำความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคืนมาด้วยการพยายามจดจำข้อมูลของกลุ่มมมากขึ้น รักผู้อื่นมากขึ้น หรือกระทั่งคล้อยตามบรรทัดฐานของกลุ่มมากขึ้นแม้ว่าตนจะไม่เห็นด้วย

 

 

ความแตกต่างระหว่างบุคคลต่อการตอบสนองเมื่อถูกปฏิเสธจากกลุ่ม

 

1. การเห็นคุณค่าแห่งตน (Self-esteem)

 

บุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ เมื่อถูกปฏิเสธจะรายงานอารมณ์ลบว่ารู้สึกเจ็บปวดมากกว่า และจะมีปฏิกิริยาตอบสนองหรือรู้สึกได้ไวกว่าบุคคลที่เห็นคุณค่าในตนเองสูง

 

2. ความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Cultural differences)

 

ในด้านความรู้สึกต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ในวัฒนธรรมตะวันตก (อเมริกา) ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคือการเป็นส่วนหนึ่งอย่างหลวม ๆ กว้าง ๆ หมายความว่าชาวตะวันตกจะมีความคาดหวังว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะยืดหยุ่น เพราะเหตุนี้ชาวตะวันตกจะเชื่อใจและสนิทสนมกับคนแปลกหน้าได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ถูกคนแปลกหน้าทำร้ายจิตใจได้ง่าย ๆ เพราะมีจิตใจเปิดกว้าง ขณะที่ชาวตะวันออก (ญี่ปุ่น) ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคือการเป็นส่วนหนึ่งอย่างมั่นคงปลอดภัย หมายความว่าพวกเขาจะคาดหวังในความสัมพันธ์ว่าจะคงอยู่ไปตลอดชีวิต ดังนั้นชาวตะวันออกจะระแวดระวังในการปฏิสัมพันธ์หรือสนิทสนมกับคนแปลกหน้า ทั้งนี้ผู้ร่วมการทดลองจากทั้งสองวัฒนธรรมต่างรู้สึกไม่สบายใจต่อการถูกปฏิเสธเหมือนกัน แต่ผู้วิจัยพบว่า ชาวอเมริกันในตอนแรกจะเชื่อในคู่รักของตนมาก และเมื่อถูกปฏิเสธพวกเขาลดความประทับใจที่มีต่อคู่รักในด้านความรู้สึกอบอุ่น คุณสมบัติ และความเข้ากันได้ ส่วนชาวญี่ปุ่นเมื่อถูกปฏิเสธ จะลดแค่ความรู้สึกอบอุ่นที่มีต่อคู่รักเท่านั้น แต่ยังคงความประทับใจต่อคู่รักในด้านคุณสมบัติและความเข้ากันได้ไว้ที่ระดับกลาง ๆ

 

3. รูปแบบความผูกพัน (Attachment style)

 

เด็กที่ค่อนข้างขาดความอบอุ่น เช่น ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง มีแนวโน้มจะก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ได้อยู่กับพ่อแม่ของตนและมีความอบอุ่น ซึ่งการตอบสนองในวัยเด็กนี้จะส่งผลระยะยาวไปถึงวัยผู้ใหญ่ คือ เมื่อถูกปฏิเสธจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือต่อด้านสังคม บุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง (secure) สามารถปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี และมักไม่กลัวการถูกปฏิเสธ มีความมั่นคงทางอารมณ์สูง ส่วนบุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบขาดความใส่ใจ (dismissing) เมื่อถูกปฏิเสธจะไม่แสดงอาการหรืออารมณ์โกรธออกมา แต่จะลดความสัมพันธ์กับผู้อื่นลง ขณะที่บุคคลที่มีรูปแบบความผูกพันแบบหมกมุ่น (preoccupied) และแบบหวาดกลัว (fearful) จะแสดงความโกรธเมื่อถูกปฏิเสธมากกว่าแบบอื่น ๆ

 

4. รูปแบบความเป็นมิตร (Agreeableness)

 

ลักษณะความเป็นมิตรเป็นหนึ่งในห้าของบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ ที่มีลักษณะเป็นมิตรกับผู้อื่น มีความยืดหยุ่น สามารถพูดคุยตกลงรอมชอมกับผู้อื่นได้ดี มักมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง บุคคลที่มีลักษณะนี้สูงจึงมักใส่ใจในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้อื่น เมื่อถูกปฏิเสธบุคคลเหล่านี้จะมีการตอบสนองที่หนักและรุนแรงกว่า

 

5. ลักษณะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธ (Rejection sensitivity)

 

บุคคลที่มีลักษณะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธสูงมีแนวโน้มจะคาดการณ์ว่าตนจะถูกปฏิเสธอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์อาจไม่ได้เกิดขึ้น บุคคลมักตีความสถานการณ์ที่กำกวมว่าตนกำลังจะถูกปฏิเสธ ดังนั้นจึงมักตอบสนองต่อการถูกปฏิเสธอย่างเป็นปฏิปักษ์ ด้วยความวิตกกังวลและใส่ใจมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะนั้น การที่บุคคลกลัวการถูกปฏิเสธและมักวิตกกังวลว่าจะจะถูกปฏิเสธนี้พัฒนามาจากประสบการณ์การถูกปฏิเสธในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้น การรับรู้ว่าตนถูกปฏิเสธเป็นตัวกระตุ้นทั้งอารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมามากเกินความจริง ทั้งอารมณ์โกรธ อิจฉา และพยายามควบคุมพฤติกรรมของผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม บุคคลที่มีความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธสูงมักหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจมีการปฏิเสธ กระทั่งหลีกเลี่ยงการการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคม ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่บุคคลจะได้รับการยอมรับในสังคมก็ลดน้อยลงไปด้วย

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของการถูกปฏิเสธจากกลุ่มต่อการคล้อยตามกลุ่ม : การศึกษาอิทธิพลกำกับของความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธต่ออิทธิพลส่งผ่านของความก้าวร้าว” โดย ธีร์กัญญา เขมะวิชานุรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46118

 

ภาพประกอบ https://www.rawpixel.com/

Reverse Culture Shock

“Reverse Culture Shock”

ความตื่นตระหนกทางวัฒนธรรมเมื่อกลับสู่ถิ่นฐานเดิม

รู้สึกแปลกแยก เบื่อ คิดถึงที่ที่จากมา ไม่คุ้นชินกลับบ้านเกิด

เกิดอะไรขึ้นกับเราเมื่อกลับประเทศมา

 

 

Here to heal ชวนคุณมาทำความรู้จัก “Reverse Culture Shock” ใน Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ในหัวข้อเรื่อง “Reverse Culture Shock”          

โดยวิทยากร อ. ดร. พนิตา เสือวรรณศรี ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2565 เวลา 10.00-12.00

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/1tjTUtNyYGWgHu2J9

โดยทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านในวันศุกร์ที่ 29 เวลา 15.00 น. ผ่านทาง Email ที่ใช้ลงทะเบียนเข้าร่วม หรือหากไม่ได้รับอีเมลสามารถทักสอบถามข้อมูลที่ LINE OFFICIAL ACCOUNT

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW

ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 


 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ here to heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. 

เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ก เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุย

ใส่ใจหรือสามารถ? นักการเมืองแบบไหนดี?

ใส่ใจหรือสามารถ? นักการเมืองแบบไหนดี?

การรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้ง : กระบวนการทางจิตวิทยาสังคมที่ส่งผลทางการเมือง

 

หากผู้เขียนถามผู้อ่านว่าท่านใช้เกณฑ์ใดในการเลือกผู้ว่ากรุงเทพหรือผู้แทนราษฎรมาเป็นตัวแทนของพวกท่าน ท่านจะตอบว่าอะไร?

 

บางท่านอาจจะตอบว่าพรรคการเมืองที่นักการเมืองคนนั้นสังกัดอยู่ บางท่านอาจจะตอบว่าประสบการณ์ทางการเมืองของผู้สมัครคนนั้น บางท่านอาจจะตอบว่าความเข้ากันได้ของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้สมัครและของท่าน คำตอบเหล่านี้ไม่มีผิดถูก อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความสวยงามของเจตจำนงอิสระของปัจเจกบุคคลที่นักจิตวิทยาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักจิตวิทยาสังคมที่ศึกษาอิทธิพลของปัจจัยส่วนบุคคลกับปัจจัยทางสังคมต่อการรู้คิดและพฤติกรรมของบุคคล

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับนักจิตวิทยาสังคม แต่จากการค้นคว้าของผู้เขียนกลับไม่พบการศึกษาทางจิตวิทยาสังคมเกี่ยวกับการเลือกผู้สมัครในประเทศไทยเลย การศึกษามักเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยทั่วไปซึ่งนักรัฐศาสตร์ให้ความสนใจ งานวิจัยที่ใกล้เคียงกับหัวข้อนี้ที่สุดคือสารนิพนธ์ของคุณพิรุณธร เบญจพรรังสิกุล (2554) ที่ศึกษาอิทธิพลของปัจจัยทางการตลาดทางการเมือง เช่น นโยบายและผู้สมัคร สื่อจากพรรค ภาพลักษณ์ของพรรคต่อการเลือกพรรคการเมือง ซึ่งก็เป็นงานวิจัยทางการตลาด ไม่ใช่งานวิจัยด้านจิตวิทยาสังคม ผู้เขียนจึงขอนำเสนองานวิจัยจากต่างประเทศที่ศึกษาว่าการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครส่งผลต่อการเลือกอย่างไร และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านในวันที่บ้านเมืองเราจะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง

 

 

มิติบุคลิกภาพพื้นฐานหลักที่นักจิตวิทยาสังคมใช้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาการรับรู้ทางสังคม (Abele & Wojciszke, 2014; Judd et al., 2005) มี 2 ประเภท ได้แก่ ความอบอุ่นและความสามารถ ความอบอุ่นเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะทางสังคม เช่น ความเป็นมิตร ความน่าคบหา และคุณลักษณะด้านจริยธรรม เช่น ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ มีจริยธรรม ส่วนความสามารถนั้นเกี่ยวข้องกับการมีความรู้ ทักษะต่าง ๆ แต่ละคนมีทั้งความอบอุ่นและความสามารถ และมีในระดับต่างกันได้ บางคนจิตใจดี น่ารัก แต่ไม่ค่อยฉลาด บางคนเก่งแต่ไม่น่าคบ บางคนทั้งเก่งทั้งนิสัยดี บางคนนิสัยก็ไม่ดีแถมไม่เก่งก็มี

 

การรับรู้บุคลิกภาพของผู้อื่นมีความสำคัญในแง่วิวัฒนาการ (Fiske et al., 2007) เพราะความอบอุ่นเป็นคุณลักษณะที่บ่งบอกว่าบุคคลนี้จะเป็นมิตรหรือศัตรูกับเรา โดยทั่วไปเราจะมองว่าคนที่มีความอบอุ่นสูงจะไม่ทำอันตรายเรา เราสามารถคบหากับคน ๆ นี้ได้ ส่วนผู้ที่มีความอบอุ่นต่ำมักจะได้รับการมองในทางลบ ไม่น่าคบและไม่น่าเข้าใกล้ ส่วนความสามารถเป็นสิ่งที่เราใช้ประเมินว่าบุคคลนี้จะมีโอกาสในการประสบความสำเร็จแค่ไหนในสิ่งที่เขาตั้งเป้าไว้ ผู้ที่มีความสามารถสูงย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าผู้ที่มีความสามารถน้อยกว่า เมื่อพิจารณาทั้งสองบุคลิกภาพรวมกัน เราจะได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการคัดเลือกคนรอบตัวเรา เช่น เราอาจจะยอมเก็บคนที่มุ่งร้ายต่อเราแต่ไม่เก่งไว้ข้างตัวเรามากกว่าคนที่มุ่งร้ายต่อเราและมีความสามารถ เนื่องจากคนที่สองเป็นอันตรายกับเรามากกว่า ในการเลือกคู่ครอง เราอาจจะเลือกคนที่จะไม่นอกใจเราที่ไม่ได้รวยมากแทนที่จะเลือกคนที่รวยมากแต่โกหกเราตลอดก็ได้ ในบริบทนี้การรับรู้บุคลิกภาพในแง่ของความอบอุ่นและความสามารถมีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ นักจิตวิทยาสังคมได้นำบุคลิกภาพสองมิตินี้ไปศึกษาต่อในหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้กลุ่ม (stereotype content model: Fiske et al., 2002) และแบรนด์ (Brands as Intentional Agents Framework: Kervyn et al., 2012)

 

 

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ยังไม่มีงานวิจัยในไทยที่นำกรอบแนวคิดของจิตวิทยาสังคมมาศึกษาการเลือกผู้สมัครทางการเมือง แต่ในต่างประเทศมีนักวิจัยศึกษาผลของการรับรู้ความอบอุ่นและความสามารถของผู้สมัครรับเลือกตั้งต่อการเลือกผู้สมัครแล้ว โดยเป็นการศึกษาร่วมกับตัวแปรอื่นดังนี้

 

 

Chen & Lee (2012) ศึกษาว่าวัฒนธรรม คือ แนวโน้มปัจเจกนิยมกับคติรวมหมู่ (individualism and collectivism orientation) มีผลต่อการให้น้ำหนักบุคลิกภาพทั้งสองหรือไม่ โดยพวกเขาวิเคราะห์ว่าความอบอุ่นถือเป็นความสามารถทางสังคม (social competence) ลักษณะที่สะท้อนความสามารถดังกล่าวอาจจะทำให้ประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ให้น้ำหนักกับความสามารถทางสังคมมากกว่าความสามารถทั่วไป เมื่อเทียบกับประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมก็ได้ คณะผู้วิจัยทำการทดลองโดยให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและไต้หวันดูรูปของผู้สมัครเลือกตั้งที่ได้รับการเลือกตั้งมาแล้วกับผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในประเทศของตน ประเมินลักษณะของบุคคลในรูป ได้แก่ ฉลาด มีความสามารถ ประสบความสำเร็จ (สะท้อนความสามารถ) มีทักษะการเข้าสังคม ปรับตัวเข้ากับสังคมได้เก่ง (สะท้อนความสามารถทางสังคม) เป็นที่ชื่นชม นิสัยดี เป็นมิตร (สะท้อนความเป็นที่ชื่นชอบ) มีเกียรติ ซื่อตรง พึ่งพาได้ มีมโนธรรม (สะท้อนการมีมโนธรรม) การใช้อำนาจ การมีอำนาจและการกล้าแสดงออก (สะท้อนความมีอำนาจ) และวิเคราะห์ทางสถิติว่ากลุ่มคุณลักษณะเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครจริงที่เกิดขึ้นไปแล้วและการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวมหรือไม่

 

สำหรับผู้ร่วมการทดลองจากสหรัฐอเมริกาพบว่า การรับรู้ความสามารถของผู้สมัครเป็นตัวแปรเดียวที่ทำนายการตัดสินใจเลือกผู้สมัครได้ และยังพบว่าการรับรู้ถึงความมีอำนาจลดการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ในขณะที่ความสามารถ ความสามารถทางสังคม การเป็นที่ชื่นชม การมีมโนธรรมและความมีอำนาจทำนายการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวม นอกจากนี้ การสนับสนุนผู้สมัครโดยรวมยังได้รับอิทธิพลร่วมจากการรับรู้ความสามารถของผู้สมัครและแนวโน้มปัจเจกนิยมของผู้ร่วมการทดลอง โดยพบว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมสูงสนับสนุนผู้สมัครที่รับรู้ว่ามีความสามารถมากกว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมต่ำ นอกจากนี้ยังพบอิทธิพลร่วมของการรับรู้ความสามารถทางสังคมและแนวโน้มคติรวมหมู่ที่ส่งผลต่อการสนับสนุนโดยรวม โดยพบว่าผู้ที่มีแนวโน้มคติรวมหมู่สูงสนับสนุนผู้สมัครที่รับรู้ว่ามีความสามารถทางสังคมมากกว่าผู้ที่มีแนวโน้มคติรวมหมู่ต่ำ สุดท้ายยังพบว่าการรับรู้ความมีมโนธรรมและแนวโน้มปัจเจกนิยมมีผลต่อการสนับสนุนโดยรวม โดยพบว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมสูงสนับสนุนผู้สมัครที่รับรู้ว่ามีมโนธรรมน้อยกว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมต่ำ

 

สำหรับผู้ร่วมการทดลองชาวไต้หวันพบว่าความสามารถของผู้สมัครมีผลต่อการตัดสินใจเลือกจริง แต่ความสามารถทางสังคมและความเป็นที่ชื่นชอบของผู้สมัครก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครเช่นกัน และพบว่าการรับรู้ถึงความมีอำนาจลดการตัดสินใจเลือกจริงเช่นเดียวกับชาวอเมริกัน ในการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวมพบผลที่เหมือนกับที่พบในชาวอเมริกันคือ ความสามารถ ความสามารถทางสังคม การเป็นที่ชื่นชม การมีมโนธรรมและความมีอำนาจทำนายการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวม และพบอิทธิพลของแนวโน้มปัจเจกนิยมร่วมกับการรับรู้ว่ามีความสามารถ โดยรวมแล้วงานวิจัยนี้จึงแสดงให้เห็นว่าการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครกับค่านิยมทางวัฒนธรรมในระดับบุคคลมีผลต่อการเลือกตั้งมากกว่าวัฒนธรรมในระดับประเทศ

 

 

Bennett et al. (2019) ศึกษาการรับรู้บุคลิกภาพของนักการเมืองจาก 2 พรรคหลักในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ บุช ครูซและทรัมป์จากรีพับลิกัน กับคลินตัน โอบาม่าและแซนเดอรส์จากเดโมแครต พบว่าทั้งความอบอุ่นและความสามารถทำนายการตัดสินใจเลือกผู้สมัครทุกคนได้ ยกเว้นบุชที่พบว่าการรับรู้ความสามารถเท่านั้นที่สามารถทำนายการตัดสินใจเลือกเขาได้ นอกจากปัจจัยด้านการรับรู้บุคลิกภาพแล้วการระบุว่าตนเป็นรีพับลิกันหรือเดเมแครต (political party affiliation) ก็มีผลต่อการเลือกตั้งเช่นกัน โดยพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครจากพรรคที่ตนเป็นสมาชิกมากกว่า ที่น่าสนใจคือความเป็นสมาชิกพรรคมีผลต่อการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัคร โดยพบว่าทั้งผู้ที่ระบุว่าตนเป็นรีพับลิกันและเดโมแครตประเมินผู้สมัครที่มาจากพรรคของตนดีกว่าผู้สมัครจากอีกพรรค

 

 

Bor (2020) ได้ทดสอบว่าสภาพเศรษฐกิจที่ดีหรือย่ำแย่จะส่งผลต่อการเลือกผู้สมัครที่มีเมตตาและใส่ใจประชาชนกับผู้สมัครที่น่าไว้ใจและเป็นที่พึ่งได้ใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและเดนมาร์กหรือไม่ พบว่าบุคลิกภาพของผู้สมัครมีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครมากกว่าสภาพเศรษฐกิจเสียอีก โดยพบว่าบุคลิกภาพทั้งสองกลุ่มทำนายการเลือกได้ โดยความอบอุ่นมีน้ำหนักมากกว่าความสามารถ

 

 

การศึกษาที่กล่าวถึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานวิจัยในหัวข้อนี้เท่านั้น และแน่นอนว่าการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครไม่สามารถทำนายการตัดสินใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ การตัดสินใจใด ๆ ก็ตามของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก ควรมีการศึกษาถึงปัจจัยและกระบวนการดังกล่าวให้ลึกซึ้งและครอบคลุมขึ้น อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่ากระบวนการทางจิตวิทยาสังคมส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเมือง หากนักการเมืองต้องการประสบความสำเร็จก็ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการนี้ แต่ที่สำคัญกว่าคือผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งก็ควรรู้เท่าทันว่าเป้าหมายของนักการเมืองคืออะไร บุคลิกภาพที่พวกเขาแสดงออกสอดคล้องกับตัวตนจริงของเขาหรือไม่ นักการเมืองต้องการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับรู้พวกเขาในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์กับพวกเขาเฉพาะเวลาที่พวกเขาต้องการเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ การกระทำของนักการเมืองพ้องรับกับภาพลักษณ์ที่พวกเขาแสดงออกและต้องการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับรู้หรือไม่ การรอบรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเรา และการตัดสินใจอย่างรอบคอบมีความสำคัญอย่างยิ่งหากประชาชนต้องการเพิ่มโอกาสในการเลือกผู้แทนที่จะ “ใส่ใจ” ความต้องการของประชาชน และ “สามารถ” ทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

พิรุณธร เบญจพรรังสิกุล. (2554). ปัจจัยทางการตลาดทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกพรรคการเมืองไทยของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเขตกรุงเทพมหานคร. [สารนิพนธ์ ปริญญาธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ]. http://ir.swu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/99682/1/Pirunthorn_B.pdf

 

Abele, A. E., & Wojciszke, B. (2014). Communal and agentic content in social cognition: A dual perspective model. In J. M. Olson & M. P. Zanna (Eds.), Advances in Experimental Social Psychology (Vol. 50, pp. 195-255). https://doi.org/10.1016/B978-0-12-800284-1.00004-7

 

Bennett, A. M., Malone, C., Cheatham, K., & Saligram, N. (2019). The impact of perceptions of politician brand warmth and competence on voting intentions. Journal of Product & Brand Management, 28(2), 256-273. https://doi.org/10.1108/JPBM-09-2017-1562

 

Bor, A. (2020). Evolutionary leadership theory and economic voting: Warmth and competence impressions mediate the effect of economic perceptions on vote. The Leadership Quarterly31(2), 101295. https://doi.org/10.1016/j.leaqua.2019.05.002

 

Chen, F. F., Jing, Y., & Lee, J. M. (2012). “I” value competence but “we” value social competence: The moderating role of voters’ individualistic and collectivistic orientation in political elections. Journal of Experimental Social Psychology48(6), 1350-1355. https://doi.org/10.1016/j.jesp.2012.07.006

 

Fiske, S. T., Cuddy, A. J., & Glick, P. (2007). Universal dimensions of social cognition: Warmth and competence. Trends in cognitive sciences11(2), 77-83. https://doi.org/10.1016/j.tics.2006.11.005

 

Fiske, S. T., Cuddy, A. J., Glick, P., & Xu, J. (2002). A model of (often mixed) stereotype content: competence and warmth respectively follow from perceived status and competition. Journal of personality and social psychology82(6), 878-902. https://doi.org/10.1037/0022-3514.82.6.878

 

Judd, C. M., James-Hawkins, L., Yzerbyt, V., & Kashima, Y. (2005). Fundamental dimensions of social judgment: understanding the relations between judgments of competence and warmth. Journal of Personality and Social Psychology89(6), 899-913. https://psycnet.apa.org/buy/2005-16185-005

 

Kervyn, N., Fiske, S. T., & Malone, C. (2012). Brands as intentional agents framework: How perceived intentions and ability can map brand perception. Journal of Consumer Psychology22(2), 166-176. https://doi.org/10.1016/j.jcps.2011.09.006

 


 

 

บทความวิชาการโดย

 

อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Gaslighting…ผิดจริงหรือแค่ทริคทางจิตใจ?

‘Gaslighting’ อาจเป็นคำศัพท์ที่ฟังดูคุ้นหูสำหรับใครหลาย ๆ คนที่เคยได้รับชมภาพยนต์เรื่อง Gaslight ในปี ค.ศ. 1944 ซึ่งเป็นเรื่องราวของสามีที่ต้องการครอบครองสมบัติของภรรยาโดยการหลอกลวงให้เธอเชื่อว่าเธอมีอาการทางจิตด้วยทริคทางจิตใจที่แยบยล การหลอกลวงด้วยการโกหกโดยทั่วไปอาจไม่ส่งผลกับจิตใจของคนเราได้เท่ากับการหลอกให้สงสัยในความคิดของตนเอง

 

 

ผู้เป็นสามีใช้วิธีการหรี่ไฟในตะเกียงลง และเมื่อภรรยาของเขาถามถึงแสงไฟที่มืดลงนั้นเขากลับตอบเพียงว่าเธอคิดไปเอง การนำข้าวของไปซ่อนตามที่ต่าง ๆ และบอกกล่าวให้ภรรยาของเขาเชื่อว่าเธอเป็นคนที่ทำด้วยตัวเอง สารพัดคำลวงที่ทำให้เธอเข้าใจว่าเธอคือคนผิด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนปกติยกเว้นตัวเธอ

 

หลายต่อหลายครั้งที่ถูกหลอกอย่างแนบเนียน หลายต่อหลายครั้งที่ถูกชี้นำให้สงสัยว่าความคิดของตนนั้นยังปกติอยู่หรือไม่ ผลลัพธ์สุดท้ายคือการที่เธอสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและถูกควบคุมอย่างสมบูรณ์ ตกเป็นเหยื่อของทริคทางจิตใจนั้นอย่างไม่สามารถหลีกหนีได้พ้น

Gaslighting จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจ (psychological manipulation) ในความสัมพันธ์ด้วยการปลูกฝังเมล็ดพันธ์ของความแคลงใจ ความสงสัย และความไม่เชื่อมั่นในตนเองซึ่งพบได้ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ไม่เพียงแต่เชิงโรแมนติกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงครอบครัว เพื่อน สังคมการศึกษา และสังคมการทำงานอีกด้วย (Petric, 2018) 

 

 

“คิดมากไปหรือเปล่า?”

“คิดไปเองหรือเปล่า?”

“เพราะคุณทำแบบนั้น ฉันเลยเป็นแบบนี้”

“ที่ทำแบบนี้เพราะเป็นห่วงนะ”

“ไม่เชื่อใจกันเลยใช่ไหม?”

“ทำไมไม่อดทนเลย คนอื่นเขายังทนได้”

 

 

ประโยคเหล่านี้อาจเป็นประโยคธรรมดาที่ได้ยินกันจนชินหู และแม้จะสร้างความรู้สึกขัดแย้งในใจได้บ้างแต่หลายต่อหลายคนมักเลือกที่จะเชื่อว่าตนเป็นฝ่ายผิด กับดักทางจิตวิทยาของการใช้ถ้อยคำเหล่านี้นั้นฟังดูไม่เหมือนคำโกหกหลอกลวง แต่เป็นการปลูกฝังความคิด ความรู้สึกผิด และความไม่เชื่อมั่นในตัวบุคคล…และนั่นคือสิ่งที่อันตรายยิ่งกว่า

 

 

สัญญาณเตือนว่า Gaslighting กำลังเกิดขึ้นกับคุณ

  1. เป็นฝ่ายที่ต้องเอ่ยคำขอโทษตลอดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของคุณ
  2. เชื่อว่าตนเองไม่สามารถทำสิ่งที่ถูกได้ ทำอะไรก็ผิดเสมอ
  3. รู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา หวาดกลัวว่าจะทำผิดหรือไม่ถูกใจใคร
  4. สูญเสียความมั่นใจในตนเอง
  5. สูญเสียความเป็นตัวตน
  6. ตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิดและการตัดสินใจของตนเองตลอดเวลา ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ
  7. รู้สึกโดดเดี่ยวและไร้กำลัง รู้สึกว่าตนไม่เหมือนใคร แตกต่างและแปลกแยก
  8. ผิดหวังในตนเอง และกลัวผู้อื่นจะผิดหวังในตัวคุณ

 

จะเห็นได้ว่าคำพูดที่ดูธรรมดา กลับสร้างผลลัพธ์ทางจิตใจที่รุนแรงและส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นในตนเอง (self-esteem) ได้เป็นอย่างมาก การต้องเผชิญกับ gaslighting นั้นอาจมาถึงโดยที่ไม่ทันได้รู้ตัว แต่เมื่อเราลองคิดทบทวนในสิ่งที่ได้ฟังและสิ่งที่ตนคิดนั้นเราจะพบว่ากับดักทางจิตวิทยาชนิดนี้อยู่รอบตัวเราในทุกความสัมพันธ์ เมล็ดพันธ์แห่งความแคลงใจยังพร้อมจะเติบโตในตัวคุณได้ทุกสถานการณ์

 

แล้วจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับ Gaslighting?

การปกป้องตนเองและระมัดระวังไม่ให้ถูกทำลายความมั่นใจในตนเองด้วยหลุมกับดักทางจิตใจนี้อาจมีได้หลายหนทาง เช่น

  1. เว้นระยะห่าง ถอยห่างจากความรู้สึกสงสัยในตนเองที่ถูกทิ้งเอาไว้ให้ การเดินออกจากสถานการณ์เหล่านั้นหรือให้เวลาตนเองได้หายใจลึกๆเพื่อผ่อนคลายและมีเวลาใช้ความคิด อาจช่วยให้เราสามารถทบทวนได้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับสิ่งใด
  2. เก็บหลักฐาน เพราะ gaslighting มักทำให้คุณต้องสงสัยในตัวคุณเอง การเก็บหลักฐานของเรื่องราวต่าง ๆ ไว้นั้นจะช่วยให้คุณสามารถยืนยันกับตนเองและสถานการณ์ตรงหน้าได้ว่าความคิดของคุณไม่ใช่เพียงแค่ความคิดเห็นของคุณฝ่ายเดียว
  3. ใช้มุมมองที่ 3 มุมมองของคนที่อยู่ภายนอกสถานการณ์อาจช่วยให้คุณมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นในเรื่องราวเหล่านั้น การอยู่ในสถานการณ์ที่มีการบีบคั้นทางอารมณ์ ย่อมทำให้มุมมองต่าง ๆ ของคุณแคบลงและไม่สามารถประมวลผลสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
  4. ถอยห่างจากความสัมพันธ์ แม้จะเป็นหนทางที่ยากในการกระทำได้จริง แต่การเผชิญกับ gaslight ซ้ำ ๆ จนทำให้สูญเสียความเป็นตัวตนไปนั้นย่อมส่งผลเสียที่มากกว่า หากพบสัญญาณของการกระทำเหล่านั้นและพบว่าไม่มีหนทางอื่นใดที่จะแก้ไขได้ การจบความสัมพันธ์นั้นอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการหลีกให้พ้นและจบการทำร้ายทางจิตใจลง

 

ความเชื่อมั่นในตนเองและความเป็นตัวตนนั้นคือสิ่งสำคัญที่ไม่ควรปล่อยให้ถูกทำลายลงไป การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและยืนยันความคิดของตนเองเมื่อพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อาจช่วยให้พ้นจากจากทริคทางจิตใจเหล่านี้ได้ เพราะคนทุกคนมีความแตกต่างกันและมีความคิดเป็นของตนเอง การเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อนนั้นจึงไม่ใช่ความผิดใด ๆ

 

อย่าให้คำพูดของใคร ทำลายคุณค่าในตัวของคุณเอง

 

References: 

 

Gordon, S. (2022, January 5). What Is Gaslighting? Verywell Mind. https://www.verywellmind.com/is-someone-gaslighting-you-4147470

 

Morris, S. Y., & Raypole, C. (2021, November 24). How to Recognize Gaslighting and Get Help. Healthline. https://www.healthline.com/health/gaslighting

 

Petric, D. (2018). Gaslighting and the knot theory of mind. https://www.juliedawndennis.co.uk/wp-content/uploads/2020/03/Gaslightingandtheknottheoryofmind.pdf

 


 

บทความวิชาการ โดย

คุณบุณยาพร อนะมาน

นักจิตวิทยาประจำศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 


 

แค่เชื่อว่า “ทำได้” คุณก็จะ “ทำได้” (ตอนที่ 4)

แค่เชื่อว่า “ทำได้” คุณก็จะ “ทำได้”

“Efficacy” ทุนทางจิตวิทยา ตอนที่ 4

 

คำว่า “Hero” เป็นคำโบราณที่มีรากฐานศัพท์มาจากภาษากรีกและถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษในราวช่วงศตวรรษที่ 16 ในอดีตคำว่า Hero นั้นใช้แทนความหมายของนักรบ (Warrior) ผู้กล้าหาญและเสียสละซึ่งย่อมเป็นบุคคลพิเศษและแตกต่างไปจากคนธรรมดาทั่วไป แต่เดิมคำนี้ยังรวมไปถึงนักรบผู้กล้าในเทพนิยายกรีกโบราณที่มีความเป็นมนุษย์ครึ่งเทพ (Semidivine being) ที่สามารถติดต่อสื่อสารและมีชีวิตได้ทั้งในโลกของมนุษย์และเหนือมนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน ต่อมาคำเดียวกันนี้ได้กลายเป็นคำที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นเมื่อถูกนำมาใช้เรียก “ยอดมนุษย์” หรือตัวละครเอกในการ์ตูนของมาร์เวลคอมิกส์ซึ่งเป็นค่ายการ์ตูนยอดนิยมของสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1939 ทำให้ Hero หรือยอดมนุษย์ต่าง ๆ มีชื่อเสียงก้องโลกกลายเป็น Super Hero ในเวลาต่อมา การ์ตูนแทบทุกเรื่องเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักอ่านทุกเพศทุกวัยที่ได้เสพอรรถรสความบันเทิงของการ์ตูนในยุคแรก ๆ พร้อมกับการเรียนรู้ด้านคุณธรรม ความดี ความกล้าหาญที่สอดแทรกมาในเนื้อเรื่องอย่างแยบยล จนคำว่า HERO กลายเป็นคำติดปากที่ทุกคนคุ้นเคยด้วยพลังบวกจากจินตนาการที่เพียงแค่ได้ยิน หรือสัมผัสของหัวใจที่พองโตขึ้นทันทีหากได้เป็น HERO ในใจของใครคนใดคนหนึ่ง จนถึงปัจจุบันในสถานการณ์ของโรคระบาด HERO ได้ถูกใช้เป็นคำยกย่องต่อบุคลากรในแวดวงการรักษาพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง Ruth Marcus ผู้หญิงเก่งผู้เป็นทั้งนักวิจารณ์และนักข่าวทางการเมืองชาวอเมริกันและยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง The Washington Post เคยกล่าวสรรเสริญบุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และพยาบาลรวมถึงหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดที่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งต่อตัวเองและครอบครัวว่าทุกคนคือ HERO ผู้เสียสละ อุทิศตนเองอย่างใหญ่หลวงเพื่อภารกิจการให้ความช่วยเหลือทุกคนให้ได้มีชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัย (Marcus, 2020)

 

องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าสถานการณ์การระบาดใหญ่ของ Covid-19 เป็นวิกฤตที่โลกของเราไม่เคยเผชิญมาก่อน (WHO, 2020) และส่งผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน ทั้งต่อวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน สุขภาพจิต ความเครียดตลอดจนความเป็นอยู่ของผู้คน (Holmes et al., 2020, Rajkumar, 2020) จากผลการวิจัยพบว่า ประชากรมากถึงร้อยละ 30 อาจได้รับผลกระทบจากความเครียด ความซึมเศร้า และความวิตกกังวล หลังจากการกักตัว (Odriozola- González et al., 2020) ในช่วงเวลาแห่งความกลัวและความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แม้เราจะหันหา HERO ผู้กล้าที่จะมาช่วยเหลือเราไม่พบเหมือนในการ์ตูนได้ แต่เราทุกคนสามารถสร้าง HERO ขึ้นได้ในใจของเราเองเพราะคนเรามักต้องการทรัพยากรทางจิตใจเพื่อมาช่วยลดความเครียด และทุนทางจิตวิทยา (PsyCap) คือ HERO ที่สามารถช่วยให้ผู้คนรักษาไว้ซึ่งสุขภาพจิตที่มีคุณภาพได้สำเร็จโดยการช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีและลดระดับความวิตกกังวลและอาการภาวะซึมเศร้าที่รุกเร้าเข้ามาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ท้าทายที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บุคคลที่มีทรัพยากรทางจิตใจที่มากกว่าจะได้รับผลกระทบทางลบน้อยกว่าจากสถานการณ์ชีวิตที่ตึงเครียดมากมายที่แวดล้อมอยู่รอบตัว

 

 

บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วในชุดของบทความสี่ตอนจบเกี่ยวกับต้นทุนทางจิตวิทยาของคนเราที่นำเอาพยัญชนะหลักในแต่ละองค์ประกอบของตัวแปรทางจิตวิทยาทั้ง 4 ด้านร่วมกันสร้างเป็นตัวแปรใหม่อันทรงพลังที่เรียกว่า ทุนทางจิตวิทยา หรือ HERO หากท่านผู้อ่านได้ติดตามมาตั้งแต่ต้นและทำความเข้าใจกับตัวแปรทางจิตวิทยาทั้ง 3 ด้านที่ผ่านมาแล้ว ได้แก่

 

ความหวัง (Hope)

ความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience) และ

การมองโลกในแง่ดี (Optimism)

 

ซึ่งทั้งหมดล้วนเปี่ยมไปด้วยพลังทางบวกในการช่วยป้องกันและยกระดับของอารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติของบุคคลต่อสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการทำงานหรือในด้านของสุขภาพ และในตอนสุดท้ายนี้ ขอกล่าวถึงองค์ประกอบด้านสุดท้ายคือการรับรู้ความสามารถของตนเอง หรือ Self Efficacy โดยนำพยัญชนะตัวอักษร E ในคำว่า Efficacy มาประกอบจนเป็นคำว่า HERO ที่สมบูรณ์และเป็นที่รู้จักกันดี

 

 

ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเองนั้น พัฒนามาจาก ทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Learning Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเทคนิคที่นำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเรา ทฤษฎีนี้พัฒนาโดยนักจิตวิทยาชาวแคนาดาคือ Albert Bandura โดย Bandura ได้ศึกษาความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง (Self Efficacy) ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือการมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งความเชื่อนี้มีอิทธิพลช่วยให้บุคคลเกิดความมั่นใจในตนเอง สามารถปฏิบัติตนหรือมีพฤติกรรมเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการได้ หลังจากบทความของ Bandura เรื่อง Self-Efficacy: Toward a Unifying Theory of Behavioral Change ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Psychological Review ในปี 1977 Self Efficacy ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ถูกนำไปค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องมากที่สุด ที่ช่วยพัฒนามุมมองและความรู้ความเข้าใจในคุณประโยชน์ของตัวแปรให้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น เช่น Stajkovic และคณะ (1998) พบว่าการรับรู้ความสามารถของตนเองมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและเป็นไปในทางบวกกับผลการปฏิบัติงาน และพบว่าความพึงพอใจในงานกับผลการปฏิบัติงานนั้นมีความสัมพันธ์ต่อกัน จึงเป็นไปได้มากว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองกับความพึงพอใจในงานนั้นย่อมมีความเกี่ยวข้องกัน ต่อมา  Özkalp (2009) เคยกล่าวไว้ว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้น ไม่ใช่ความสามารถของแต่ละบุคคลที่มี แต่เป็น “ความเชื่อ” (Belief) ของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับความสามารถที่ตนมีอยู่ บุคคลที่เชื่อว่าตนเองมีความสามารถก็จะสามารถพัฒนาตนเองให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างประสบความสำเร็จได้ Caprara และคณะ (2003) ให้คำนิยามไว้ว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นเป็นพลังในการไปสู่เป้าหมายของงานที่หลากหลาย และการประสบความสำเร็จในบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย

 

เมื่อคนเรามีความเชื่อว่าตนเองนั้นมีความสามารถ บุคคลนั้นจะบริหารจัดการกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ทักษะที่ตนมีอยู่ ในการจัดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นจึงไม่ได้หมายถึงเพียงสิ่งที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะทำ แต่หมายถึงสิ่งที่บุคคลนั้นมีความเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ ซึ่งความเชื่อมั่นนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้นักจิตวิทยาเข้าใจ และทำนายว่าบุคคลจะทำหรือไม่ทำพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างในบริบทของสุขภาพ เช่น หากบุคคลเชื่อว่าตนเองไม่มีความสามารถ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ความเชื่อนี้ส่งผลให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าการควบคุมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายหรือการเลิกสูบบุหรี่เป็นเรื่องยากที่เกินไป ทำไม่ได้แน่ ๆ และส่งผลให้ไม่ลงมือทำพฤติกรรม ๆ

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลสามารถพัฒนาความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถของตนเองนั้น มีอยู่ 4 ปัจจัย ดังต่อไปนี้  (Bandura ,1994)

 

 

การเรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จของตนเอง (Mastery experiences)

 

เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเสริมสร้างและพัฒนาความรู้สึกเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองโดยผ่านทางการรับรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จของตนเองซึ่งความสำเร็จต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้น จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งในความสามารถส่วนตัวของแต่ละบุคคล ในทางกลับกันความล้มเหลวจะคอยบั่นทอนความเชื่อมั่นนั้นให้พังทลายลงได้ โดยเฉพาะในเวลาที่ความล้มเหลวเกิดขึ้นก่อนที่ความเชื่อมั่นของแต่ละคนจะก่อกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างที่มั่นคงแข็งแรง

 

การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้อื่นโดยการพบเห็น การรับฟังหรือรับรู้มา (Vicarious experiences)

 

เป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาคุณลักษณะทางจิตวิทยานี้ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยผ่านการรับรู้จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสหรือผ่านตามาจากคนอื่นหรือรียกว่า “ตัวแบบ” (Modelling)  ซึ่งในช่วงหลายปีนี้ มักเกิดขึ้นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพราะเป็นช่องทางที่ผู้เรียนรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีการผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจ การได้มองเห็นผู้อื่นที่ดูคล้ายกับตนเองทำพฤติกรรมบางอย่างและประสบความสำเร็จทำให้ผู้เฝ้ามองรู้สึกได้ว่าตนเองน่าจะมีความสามารถในการลงมือทำกิจกรรมนั้น ๆ ให้สัมฤทธิ์ผลได้เช่นเดียวกัน การรับรู้ถึงความสามารถของตนเองจากการสังเกตตัวแบบนั้นจึงขึ้นอยู่กับการรับรู้ถึงความใกล้เคียงของตนเองกับตัวแบบนั้น ๆ ด้วย ยิ่งถ้าหากมีความใกล้เคียงกันมาก ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามมากขี้นและมีการเลียนแบบจนประสบความความสำเร็จและถึงแม้อาจจะเกิดความล้มเหลวบ้างแต่ก็ไม่ล้มเลิกพฤติกรรมง่าย ๆ ถ้าคนเรามองเห็นตัวแบบที่มีความแตกต่างไปจากตนเองมาก ตัวแบบที่แตกต่างนี้ก็จะไม่ค่อยส่งผลต่อการพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเอง

 

การถูกชักนำหรือจูงใจจากสิ่งต่าง ๆ ในสังคม (Social persuasion)

 

การจูงใจทางสังคมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คนเรานั้นมีความเชื่อว่าตนเองมีคุณสมบัติบางอย่างที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ บุคคลที่ได้รับคำชมเชย คำชื่นชมในความสำเร็จ หรือ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีเยี่ยม บุคคลมักมีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนความพยายามของตนเองได้มากขึ้นและรักษาระดับของรู้สึกนั้นไว้ได้ดีกว่าบุคลลที่จะเริ่มต้นทำงานด้วยความไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเอง ผู้ที่ขาดความมั่นใจในตนเองมักจะจมอยู่กับความบกพร่องของตนเมื่อต้องจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการได้รับการสนับสนุนหรือคำชื่นชมทำให้บุคคลได้รับรู้ถึงความสามารถของตนเอง ส่งผลให้บุคคลเกิดความพยายามที่จะก้าวไปสู่การประสบความสำเร็จ การได้รับคำชมหรือการแนะนำจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านทักษะ กระตุ้นความมานะพยายามเพื่อฝึกฝนจนเกิดความชำนาญและรู้สึกได้ถึงความสามารถของตนเองในแต่ละบุคคลด้วย

 

สภาวะที่เกิดขึ้นภายในร่างกายและอารมณ์ของตนเอง (Physiological and emotional states)

 

สภาวะทางร่างกายและอารมณ์ในทางลบส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับความสามารถของตนเองได้ กล่าวคือ บุคคลที่มีความเหนื่อยล้า มีความเครียด และอารมณ์ด้านลบ เช่น สับสนหรือวิตกกังกล มักจะขาดความสามารถในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้ และเมื่อทำงานนั้นแล้วก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ยิ่งจะทำให้การรับรู้ความสามารถของตนเองในตัวบุคคลนั้นยิ่งลดต่ำลง ทำให้ขาดความเชื่อมั่น คิดว่าตนเองมีความสามารถไม่เพียงพอ เกิดความลังเลใจจนทำให้การตัดสินใจขาดประสิทธิภาพ หากบุคคลมีการจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสมรวมทั้งการปรับอารมณ์เชิงลบให้เป็นบวก จะช่วยให้บุคคลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและประสบความสำเร็จในการทำงานนั้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้บุคคลเกิดการรับรู้ความสามารถของตนเองได้

 

 

 

นอกจากนั้นแล้ว การรับรู้ความสามารถของตนเองมีบทบาทสำคัญอย่างมากในงานด้านจิตวิทยาสุขภาพ (Health psychology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและความใส่ใจต่อโภชนาการของคนเรารวมถึงอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ด้วย ปัจจุบันผู้ป่วยมักป่วยและเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases) เช่น มะเร็ง เบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตและทำพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า งานวิจัยจำนวนมากพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จคือการรับรู้ความสามารถของตนเอง ดังนั้นการส่งเสริมให้บุคคลที่มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองในการทำพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การเลิกพฤติกรรมสูบบุหรี่ การเลิกพฤติกรรมดื่มสุรา การออกกำลังกาย การควบคุมหรือลดน้ำหนักของตัวเอง การวางแผนการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จะส่งผลให้บุคคลสุขภาพดีห่างไกลจากโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อได้

 

 

ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความเรื่อง การมองโลกในแง่ดี ที่ได้เผยแพร่ไปแล้วนั้น ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายเอาไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมองโลกในแง่ดีกับการรับรู้ความสามารถของตนเองว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร กล่าวคือในปี 2011 มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มพยาบาลในประเทศไต้หวันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะซึมเศร้า การรับรู้ความสามารถของตนเอง และการมองโลกในแง่ดี (Chang et al., 2011) ผลการวิจัยพบว่าการมองโลกในแง่ดีและการรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นสามารถช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีนัยสำคัญ ในบริบทของการทำงาน มีงานวิจัยที่ศึกษาถึงการรับรู้ความสามารถของตนเองและการมองโลกในแง่ดีในฐานะตัวแปรทำนายความผูกพันต่อองค์กร (Organizational commitment) ของพนักงานธนาคาร (Akhter et al., 2012) พบว่าการรับรู้ความสามารถในตนเองและการมองโลกในแง่ดีมีความสัมพันธ์กันทางบวก นั่นคือเมื่อพนักงานมีการรับรู้ความสามารถของตนเองที่เพิ่มมากขึ้น การมองโลกในแง่ดีจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยหรืออีกนัยหนึ่งคือเมื่อพนักงานมองโลกในแง่ดีมากขึ้นย่อมรับรู้ถึงความสามารถในตนเองที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น งานวิจัยศึกษาการรับรู้ความสามารถของตนเองในกลุ่มครู (Teacher self-efficacy ) และการมองโลกในแง่ดีในเชิงวิชาการเฉพาะบุคคล (Individual academic optimism) ในฐานะตัวแปรทำนายของการเรียนรู้อย่างมืออาชีพของครู (Teacher professional learning) กลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 คนในจังหวัดคาราบัก (Karabuk) ประเทศตุรกี (Kılınç et al., 2021) ผลการศึกษานี้พบว่าตัวแปรทุกตัวมีความสัมพันธ์ต่อกันในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ และการรับรู้ความสามารถของครูสามารถทำนายการมองโลกในแง่ดีเชิงวิชาการและการเรียนรู้อย่างมืออาชีพได้ในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน ผลการศึกษาช่วยสนับสนุนโมเดลเชิงโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่นำมาศึกษาเพื่อแสวงหาแนวทางที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอาชีพครูต่อไป

 

 

ในสถานการณ์ของโรคระบาด COVID-19 ที่คนทั้งโลกกำลังรับมืออยู่ มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาบทบาทของการรับรู้ความสามารถของตนเองในการรับมือวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ดังกล่าว งานวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถของตนเอง ความวิตกกังวล (Anxiety) และการนอนที่ผิดปกติ (Sleep disorder) ของพยาบาลในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 (Simonetti et al., 2021) ศึกษากับกลุ่มพยาบาล 1,005 คนจากหลายโรงพยาบาลในประเทศอิตาลี พบว่าพยาบาลมีปัญหาในการนอนหลับสูงมากถึงร้อยละ 71.40  มีความวิตกกังวลในระดับปานกลางร้อยละ 33.23 และมีความเชื่อในความสามารถของตนเองอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 50.65 ผลการวิจัยพบสหสัมพันธ์ในทางบวกระหว่างความวิตกกังวลกับปัญหาคุณภาพการนอนหลับ และสหสัมพันธ์ในทางลบระหว่างการรับรู้ความเชื่อมั่นของตนเองกับความวิตกกังวลและความผิดปรกติของการนอนหลับด้วย ส่วนในประเทศจีนมีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากบุคลากรผู้ให้บริการสาธารณสุขในชุมชน (Community mental health care workers) ในช่วงเดือนมีนาคมปี 2020 เพื่อศึกษาถึงความเครียดในการทำงาน (Occupational stress) สุขภาพจิต (Mental health) และการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Sun et al., 2021) ผลการศึกษาพบว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนที่เป็นกลุ่มเฝ้าระวังในช่วงกักตัว จะมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลที่สูงกว่าบุคลากรโดยทั่วไป และการได้รับการฝึกอบรมทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอารมณ์ทางบวกและการรับรู้ความสามารถของตนเองจะช่วยทำให้บุคคลมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากยิ่งขึ้น ผลกระทบที่เกิดจากความเครียดในงานที่สะสมเพิ่มมากขึ้นนั้นสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดที่ช่วยสนับสนุนการกำหนดหน้าที่ในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ได้อย่างสมเหตุสมผลและช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตของพนักงานได้

 

 

บทความเกี่ยวกับ HERO ที่ผ่านมาทั้ง 3 ตอนรวมทั้งบทความในตอนนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า องค์ประกอบทั้ง 4 ด้านของทุนทางจิตวิทยา ได้แก่ ความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience) ความหวัง (Hope) การมองโลกในแง่ดี (Optimism) และ การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) แต่ละองค์ประกอบล้วนมีความสำคัญ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและยังเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลช่วยส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกอื่น ๆ ทั้งในบริบทของการทำงานหรือการดูแลสุขภาพ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า คุณลักษณะทางจิตวิทยาทั้ง 4 ประการนี้ เมื่อนำมารวมกันเป็นทุนทางจิตวิทยาจะเป็นตัวแปรที่มีโครงสร้างในระดับที่สูงขึ้น (Higher order construct) มีความแม่นยำในการทำนายพฤติกรรมการทำงานหรือความพึงพอใจในการทำงานมากกว่าการวิเคราะห์โดยแยกองค์ประกอบทุนทางจิตวิทยาเป็นด้านย่อย ๆ (Avey et al. 2011)

 

อย่างไรก็ตาม ารดำรงรักษาไว้ซึ่งคุณลักษณะที่ดีทั้ง 4 ด้าน ทำให้เรามีต้นทุนจิตวิทยาที่ช่วยเราเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคหรือความทุกข์ร้อนใจที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละวัน การหมั่นพัฒนาและเสริมสร้างทุนทางจิตวิทยาในตนเองให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้มากที่สุดย่อมจะช่วยให้ชีวิตที่ถูกกระทบจากสถานการณ์แวดล้อมที่หลากหลายและไม่คาดฝันหรือเกิดขึ้นได้ในทุกระดับของความรุนแรง จะยังคงประคองชีวิตและจิตใจของตนเองให้ก้าวเดินต่อไปได้ แม้อาจจะซวนเซบ้างในช่วงเวลาหนึ่ง คงไม่นานจะกลับมาหยัดยืนและเป็น HERO ให้กับสมาชิกอันเป็นที่รักในครอบครัว ลูกน้องในสถานที่ทำงาน และหลายคนที่ยังอ่อนแอและอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ต่อไป

 

 


 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Akhter, S., Ghayas, S., & Adil, A. (2012). Self-efficacy and optimism as predictors of organizational commitment among bank employees. International Journal of Research Studies in Psychology, 2(2).

 

Avey, J.B., Reichard, R.J., Luthans, F., Mhatre, K.H. (2011) Meta-analysis of the impact of positive psychological capital on employee attitudes, behaviors, and performance. Hum Resour Dev Q 22(2):127–152

 

Bandura, A. (1994). Self-efficacy. In V. S. Ramachaudran (Ed.), Encyclopedia of human behavior (Vol. 4, pp. 71–81). New York: Academic Press. (Reprinted in Encyclopedia of mental health, by H. Friedman, Ed., 1998, San Diego: Academic Press.)

 

Caprara, G. V., & Cervone, D. (2003). A conception of personality for a psychology of human strengths: Personality as an agentic, self-regulating system. In L. G. Aspinwall & U. M. Staudinger (Eds.), A psychology of human strengths: Fundamental questions and future directions for a positive psychology (pp. 61–74). American Psychological Association.

 

Chang, Y., Wang, P. C., Li, H. H., & Liu, Y. C. (2011). Relations among depression, self-efficacy and optimism in a sample of nurses in Taiwan. Journal of Nursing Management, 19(6), 769–776.

 

Holmes EA, O’Connor RC, Perry VH, et al. (2020) Multidisciplinary research priorities for the COVID-19 pandemic: A call for action for men- tal health science. The Lancet Psychiatry 7(6): 547–560.

 

Kılınç, A. Ç., Polatcan, M., Atmaca, T., & Koşar, M. (2021). Teacher Self-Efficacy and Individual Academic Optimism as Predictors of Teacher Professional Learning: A Structural Equation Modeling. Egitim ve Bilim, 46(205), 373–394.

 

Odriozola-González P, Planchuelo-Gómez Á, Irurtia MJ, et al. (2020) Psychological symptoms of the outbreak of the COVID-19 confine- ment in Spain. Journal of Health Psychology. Epub ahead of print 30 October 2020.

 

Özkalp E. A New Dimension in organizational behavior: A positive (positive) approach and organizational behavior issues. Proceedings of 17th National Management and Organization Congress. 2009;491-498. Turkish.

 

Marcus, R. (2020, March 27). Opinion: These are the heroes of the coronavirus pandemic. The Washington Post. https://www.washingtonpost.com/opinions/2020/03/27/nurses-doctors-are-heroes-this-moment/

 

Rajkumar RP (2020) COVID-19 and mental health: A review of the existing literature. Asian Journal of Psychiatry 52: 102066.

 

Simonetti, V., Durante, A., Ambrosca, R., Arcadi, P., Graziano, G., Pucciarelli, G., Simeone, S., Vellone, E., Alvaro, R., & Cicolini, G. (2021). Anxiety, sleep disorders and self-efficacy among nurses during COVID-19 pandemic: A large cross-sectional study. Journal of Clinical Nursing, 30(9–10), 1360–1371.

 

Stajkovic, A. D., & Luthans, F. (1998). Self-Efficacy and Work-Related Performance: A Meta-Analysis. Psychological Bulletin, 124(2), 240–261.

 

Sun, Y., Song, H., Liu, H., Mao, F., Sun, X., & Cao, F. (2021). Occupational stress, mental health, and self-efficacy among community mental health workers: A cross-sectional study during COVID-19 pandemic. International Journal of Social Psychiatry, 67(6), 737–746.

 

World Health Organization (2020) Coronavirus disease 2019 (COVID-19) – Situation report 91.

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี วัฒฑกโกศล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

East-West Center Online Seminar No.7 “Eating Disorders from a Health at Every Size Approach”

The East West Center x Wellness Center

Please come join us at the 7th online seminar.

 

“Eating Disorders from a Health at Every Size Approach”

 

 

 

By Jenna Daku, DPsych.

A psychotherapist and certified intuitive eating counsellor, and clinical director of Freedom To Be Therapy, UK.

 

Hosted by Panita Suavansri, DPsych, the director of Center for Psychological Wellness, Chulalongkorn.

 

 

Date & Time:

Thursday, 17 March 2022, at 8-9 pm (Thailand time GMT +7)

 

Registration is free at HERE

 

What will be discussed?

  • How eating disorders are defined and signs of eating disorders
  • Experiences working with clients who have eating disorders
  • Cultural issues relating to eating disorders

 


The event is presented by The East-West Psychological Science Research Center together with
the Center for Psychological Wellness, Chulalongkorn University.


 

Clip https://www.facebook.com/eastwestpsycu/videos/770174713984299/

 

ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ – Posttraumatic growth

 

 

 

ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการเผชิญภาวะวิกฤตที่สำคัญในชีวิต หรือการผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด

 

โดยที่ภาวะวิกฤตดังกล่าวจะท้าทายความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของบุคคล ความงอกงามดังกล่าวสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ได้แก่

 

    • การรู้ซึ้งในคุณค่าของการมีชีวิตอยู่
    • การมีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่มีความหมายมากขึ้น
    • การรับรู้ถึงพลังและความสามารถของตนเอง
    • การปรับเปลี่ยนการจัดลำดับความสำคัญของชีวิต
    • การมีแก่นหรือการมีจิตวิญญาณในตน

 

ความงอกงามดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัยที่เคยประสบเหตุการณ์เครียดในชีวิต แต่ความงอกงามจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อเวลาผ่านไป อาจต้องมีปัจจัยบางประการที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้ขึ้น เช่น การมีวิธีการจัดการกับปัญหาที่มีประสิทธิภาพ หรือการได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง รวมถึงการเข้ารับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ก็อาจเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จะช่วยส่งผลให้บุคคลที่เผชิญกับเหตุการณ์เครียดในชีวิตเกิดความงอกงาม

 

 

องค์ประกอบของความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ

 
1. การเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของตนเอง (Perceived changes in self)

 

บุคคลที่เผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจและก้าวผ่านเหตุการณ์นั้น ๆ มาได้ จะให้ข้อสรุปว่าตนเองเข้มแข็งมากขึ้น ก่อให้เกิดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะขยายผลไปยังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต รวมถึงเหตุการณ์สะเทือนใจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย บุคคลที่ก้าวผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจมาได้มักจะพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี การเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของตนเองแบ่งได้เป็น 2 องค์ประกอบย่อย คือ

 

1.1 การค้นพบความเข้มแข็งในตนเอง (Personal Strength) บุคคลตระหนักรู้ว่าเหตุการณ์ร้าย ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ตนเองก็สามารถรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

 

1.2 การพบโอกาสใหม่ ๆ (New possibilities) การค้นพบทางเลือกใหม่หรือการได้เริ่มต้นเส้นทางใหม่ในชีวิต ซึ่งรวมถึงกิจกรรมและความสนใจใหม่ที่เกิดขึ้นจากความงอกงามด้วย

 

2. การเปลี่ยนการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น (A changed sense of relationships with others)

 

การเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจส่งผลให้บุคคลเปิดเผยตนเองมากยิ่งขึ้น และการเปิดเผยตนเองจะช่วยให้บุคคลได้รับโอกาสในการทดลองพฤติกรรมใหม่ ๆ รวมถึงได้รับโอกาสในการรับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากคนรอบข้าง การรับรู้ถึงภาวะเปราะบางของตนเองและผู้อื่นจะช่วยให้บุคคลเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้นและเกิดความเต็มใจที่จะรับความช่วยเหลือ การเปลี่ยนแปลงการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นมีหนึ่งองค์ประกอบย่อย คือ

 

2.1 การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น (Relating to others) การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ที่มีความหมายลึกซึ้งกับผู้อื่นมากขึ้น บุคคลรับรู้ถึงความใกล้ชิดและความเห็นอกเห็นใจซึ้งกันและกันจากคนรอบข้าง ซึ้งอาจเกิดขึ้นได้จากการมีประสบการณ์ร่วมกันกับผู้อื่น

 

3. การเปลี่ยนแปลงในแง่ของปรัชญาชีวิต (A changed philosophy of life)

 

ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณอาจถูกสั่นคลอนจากเหตุการณ์สะเทือนใจ ความพยายามต่อสู้เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์สะเทือนใจจะส่งผลให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้น และเมื่อตระหนักรู้ถึงความหมายของเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นแล้วจะเกิดการบรรเทาความทุกข์ทางอารมณ์ และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านปรัชญาชีวิตในที่สุด การเปลี่ยนแปลงในแง่ของปรัชญาชีวิตแบ่งเป็น 2 องค์ประกอบย่อย คือ

 

3.1 การชื่นชมยินดีในชีวิต (Appreciation of life) การตระหนักรู้คุณค่าในชีวิตของตนเองเพิ่มมากขึ้น บุคคลให้คุณค่าหรือความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตใหม่ และรู้สึกขอบคุณในสิ่งที่ตนเองมี หรือสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รอยยิ้มของของเด็ก หรือการใช้เวลาอยู่กับเด็กเล็ก ๆ เป็นต้น

 

3.2 การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ (Spiritual change) การตระหนักรู้ความหมายในชีวิต บุคคลจะมีความพึงพอใจในชีวิตมากยิ่งขึ้นและเกิดการเปลี่ยนมุมมองทางจิตวิญญาณ เช่น การเข้าใจชีวิต หรือการมีความเชื่อทางศาสนาที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

 

 

 

คุณลักษณะของบุคคลกับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ

 

 

1. บุคลิกภาพของบุคคล (Personality characteristics)

 

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจและบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ พบว่า บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผย (Extraversion) และบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ใหม่ (Openness to experience) มีความสัมพันธ์กับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจในระดับปานกลาง นอกจากนี้ การมองโลกในแง่ดี (Optimism) ก็มีความสัมพันธ์กับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจในระดับปานกลางเช่นกัน

 

2. การจัดการกับความทุกข์ใจ (Managing distressing emotions)

 

ภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ บุคคลจะแสวงหาหนทางเพื่อรับมือกับความรู้สึกทุกข์ใจในช่วงแรก ส่งผลให้จิตใจอ่อนแอลง และกระบวนการทางความคิดที่หนักหน่วงจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ถ้ากระบวนการทางความคิดของบุคคลมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนมุมมองและเกิดการเข้าใจชีวิต ก่อให้เกิดประสบการณ์ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งกระบวนการทางความคิดดังกล่าวอาจใช้เวลานาน

 

3. การได้รับการสนับสนุนทางสังคมและการเปิดเผยตัวตน (Support and disclosure)

 

การได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่นช่วยให้เกิดความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจได้มากขึ้น โดยเป็นวิธีการที่จะช่วยให้บุคคลได้ผสมผสานมุมมองใหม่ๆ กับกรอบแนวคิดทางความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลิกภาพ สัมพันธภาพในการปรึกษา และความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ ในผู้ที่มีประสบการณ์รับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา” โดย ชิชยะ ศรีชัยสวัสดิ์ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/60083

 

ภาพประกอบ http://www.freepik.com

Here to heal Online Workshop: Gratitude

“Gratitude” ชวนมาขอบคุณ ให้อบอุ่นหัวใจ

 

 

 

Here to heal ชวนคุณมาสร้างความสุขและพัฒนาความสัมพันธ์ผ่านความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณกับ Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ในหัวข้อเรื่อง “Gratitude”
โดยวิทยากร ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2565 เวลา 13.00-15.00 น.

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://docs.google.com/…/1FAIpQLSeTGZ57JJ0ra4…/viewform
โดยทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านในวันศุกร์ที่ 18 เวลา 15.00 น. ผ่านทาง Email ที่ใช้ลงทะเบียนเข้าร่วม

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW
ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 


 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ here to heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.
เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ก Here-to-Heal เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุยได้เลยค่ะ

บริการให้คำปรึกษาผู้ปกครองด้านพัฒนาการ แบบรายบุคคล สำหรับเด็กอายุแรกเกิด – 6ปี

 

ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย จุฬาฯ จัดโครงการให้คำปรึกษาผู้ปกครองด้านพัฒนาการ แบบรายบุคคล สำหรับเด็กอายุแรกเกิด – 6 ปี ผ่านโปรแกรม Zoom (online)

 

ให้คำปรึกษาด้านพัฒนาการ โดย นักจิตวิทยาพัฒนาการ ให้คำแนะนำด้านพัฒนาการ การปรับพฤติกรรม

ให้คำปรึกษา 45 นาที/ครั้ง

 

 

 

ติดต่อสอบถาม นัดหมาย/จองคิว ได้ทั้งช่องทาง Line @chulalifedi และ Inbox Page Life Di ค่ะ