News & Events

ต้อนรับปีใหม่ (จีน) ด้วยใจที่สงบ

 

ใกล้ถึงตรุษจีนแล้ว คงเป็นเวลาที่หลายคนอยากทบทวนเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง ยิ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาดูน่าห่วง COVID-19 ระลอกสองกลับมาเยือนอีกครั้ง อาจทำให้หลายคนไม่สบายใจ ชีวิตสับสนวุ่นวาย กลายเป็นความวิตกกังวลขึ้น

 

ความสงบในใจ หรือ Serenity น่าที่จะเป็นตัวแปรทางจิตวิทยาหนึ่งที่ช่วยเราได้ในช่วงเวลานี้ ความสงบนี้สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกทางบวกที่เราเรียนรู้พัฒนาขึ้น สามารถใช้เป็นหลักเกาะเมื่อชีวิตไม่เป็นมิตรนัก การศึกษาวิจัยพบว่าผู้ที่มีความสงบในใจจะสามารถรักษาไว้ซึ่งความสุขความพึงพอใจในชีวิต แม้เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดต่อเนื่องเป็นเวลานาน

 

การศึกษาวิจัยระบุว่าความสงบในใจมีที่มาหลัก ๆ จากการที่เราเปิดใจรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีร้ายตรงใจเราหรือไม่ก็ตาม การยอมรับไม่ได้หมายความว่าเราแน่นิ่ง ปล่อยชีวิตให้วิ่งไปตามยถากรรม หากแต่เป็นการที่เราเองรับรู้และยอมรับถึงขอบเขตพื้นที่ในชีวิตที่เราควบคุมดูแลได้ ไม่กดดันให้ตัวเองจัดการอะไร ๆ เกินกว่าพื้นที่ที่มี พร้อมกันนี้ ก็ไม่ปล่อยใจให้หวั่นไหวไปกับสถานการณ์กดดัน จนละเลยแก่นสำคัญในชีวิต

 

ในกรณีของ COVID-19 ก็คงเป็นการรับรู้ยอมรับความท้าทายจากการติดเชื้อระลอกใหม่ หาทางจัดการป้องปรามความเสี่ยงในส่วนที่ตัวเองทำได้ โดยไม่หวั่นไหวสั่นคลอนหรือพะวงอยู่กับความท้าทายนี้ จนลืมที่จะดูแลให้ชีวิตดำเนินไปตามทิศทางที่ตัวเองให้คุณค่านะคะ

 

อาจมีองค์ประกอบของความสงบในใจที่เราแต่ละคนต้องใช้เวลาบ่มเพาะพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรู้ขอบเขตพื้นที่ที่เรามีอำนาจควบคุม การเปิดใจรับสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง หรือการมีทิศทางในชีวิต หากมีส่วนไหนที่การพูดคุยปรึกษาทางจิตวิทยาจะเป็นประโยชน์ได้ นักจิตวิทยายินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้คุณพร้อมสำหรับปีใหม่ (จีน) ปีนี้นะคะ

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

ลักษณะบุคคลที่อยู่ด้วยยากและวิธีการรับมือ

ตามปกติมนุษย์เราต้องการอยู่ใกล้ชิดบุคคลที่เป็นมิตร บุคคลที่มีความสุข มีความอบอุ่นปลอดภัยที่จะอยู่ใกล้ บุคคลที่มีความรักและความปรารถนาดีให้กับเรา อย่างไรก็ตามในชีวิตประจำวันของเรา เราต้องพบเจอกับบุคคลที่มีบุคลิกภาพต่าง ๆ กัน ในบางครั้งเราก็ไม่สามารถเลือกได้ว่า เราจะพบคนประเภทหรือแบบใด

 

ก่อนอื่นเรามาดูความหมายของบุคคลที่อยู่ด้วยยากหรือยากที่จะอยู่ด้วย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า toxic people หรือ toxic personality โดยในทางจิตวิทยาบุคลิกภาพเรียกว่าผู้มีบุคลิกภาพด้านมืดสามประการ (dark triad personality)

 

  1. พวกหลงตนเอง (narcissism) บุคคลประเภทนี้ จะต้องการการให้เกียรติอย่างมาก ต้องการได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษจากคนอื่น คิดว่าตนเองมีความสำคัญ มีอำนาจ มีความงาม มีสติปัญญามากกว่าคนอื่น มองว่าตนเองมีเอกลักษณ์เหนือกว่าคนอื่น หรือมักยึดโยงกับบุคคลที่มีอำนาจหรือมีตำแหน่ง ต้องการการชื่นชมจากผู้อื่น ต้องการให้บุคคลอื่นเชื่อฟังตน หรือใช้ประโยชน์ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตนเอง
  2. พวกแมคไควิลเลียน บุคลิกภาพประเภทนี้มาจากนักการทูตชาวอิตาลีเมื่อหลายร้อยปีก่อน ชื่อ Niccolò Machiavelli ที่เป็นผู้สังเกตว่า นักการทูตรอบตัวเขาหลายคนมีบุคลิกภาพแบบนี้ โดยบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบแมคไควิลเลียนจะมีลักษณะที่มักทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยใช้ประโยชน์จากผู้อื่น เช่น อาจประจบเอาใจผู้มีอำนาจจนเกินงาม ไม่จริงใจ ทำผิดแต่ไม่รับผิดและพยายามเอาตัวรอด มีเล่ห์เหลี่ยม ถ้าสังคมหรือองค์การที่มีธรรมาภิบาล บุคคลประเภทนี้จะอยู่ยาก
  3. พวกไซโคพาธ (psychopath) บุคคลประเภทนี้จะไม่รู้สึกผิดเมื่อทำไม่ดีกับผู้อื่น ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น อาจดูมีเสน่ห์ในเบื้องต้นแต่เมื่อคบไปนาน ๆ จะทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือปัญหาตามมาได้ มักพบบุคลิกภาพแบบนี้ในฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer)

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าบุคลิกภาพด้านมืดทั้งสามประเภทจะทำให้บุคคลแวดล้อมไม่มีความสุข นอกจากนี้ยังมีลักษณะนิสัยอื่น ๆ อีกที่ยากต่อการที่บุคคลทั่วไปจะมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น คนที่เห็นแก่ตัว คนที่มักครอบงำผู้อื่นไม่ให้ผู้อื่นเป็นตัวของตัวเอง คนที่มักตำหนิบุคคลอื่น คนขี้เหวี่ยงขี้วีน ขี้โมโห อารมณ์ไม่ดี คนที่ไม่ทำตามที่พูด คนที่มักโกหกและมีข้อแก้ตัวตลอดเวลา คนที่ไม่ให้เกียรติบุคคลอื่น คนที่มักนินทาและแทงข้างหลัง คนที่หยิ่งทะนงหรือหยิ่งยโสไม่ฟังความคิดบุคคลอื่น ซึ่งเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนก็อาจมีลักษณะนิสัยที่กล่าวมาไม่มากก็น้อย บางครั้งเราก็แสดงออกไปโดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างน้อยบทความนี้ก็อาจทำให้เราตระหนักว่า ใคร ๆ ก็อยากอยู่ใกล้บุคคลที่มีความจริงใจและเป็นกัลยาณมิตร

 

ลักษณะนิสัยที่กล่าวมาทำให้บุคคลที่อยู่ใกล้หงุดหงิด ไม่มีความสุข และอาจทำให้มีการนับถือตนเองที่ต่ำลง ดังนั้นเรามาดูวิธีการอยู่กับบุคคลเหล่านี้ให้มีความสุขกันค่ะ นักจิตวิทยาแนะนำว่า เราควรมีขอบเขตหรือช่องว่างหรือระยะห่างเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มีลักษณะนิสัยที่กล่าวมา หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “set boundary” กล่าวคือ เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลเหล่านี้ก็พยายามปฏิสัมพันธ์ให้น้อย มีการวางตัวของเราที่เหมาะสม เมื่อเราคำนึงสิทธิของเขา เขาก็ต้องรู้จักคำนึงสิทธิของเรา ไม่ใช่ว่าเราต้องโอนอ่อนเข้าหาเขาฝ่ายเดียว

 

ทั้งนี้ การวางตัวหรือพฤติกรรมการตอบสนองดังกล่าว เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะในการดำเนินชีวิต หรือถ้ามีระยะห่างระหว่างกันแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ต้องเลิกติดต่อกันหรือติดต่อกันให้น้อยที่สุด

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย ผู้ช่วยศาสราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและการประยุกต์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

การจัดการความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น

Dr.John Ng ผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดการความขัดแย้ง ของ Eagles Mediation and Counseling Center ประเทศสิงคโปร์  ได้เขียนไว้ในหนังสือของท่าน และได้ให้มุมมองเกี่ยวกับธรรมชาติของความขัดแย้งไว้ 4 ประเด็น ดังนี้

 

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

 

เนื่องด้วยคนเรามีความแตกต่างกัน เช่น มีบุคลิกภาพต่างกัน มีความคิดเห็นต่างกัน มีค่านิยมต่างกัน และมีความต้องการต่างกัน เราจึงมีความขัดแย้งกัน ดังนั้นตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็สามารถมีความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ การมีความขัดแย้งไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกหักในความสัมพันธ์ แต่วิธีจัดการกับความขัดแย้งต่างหากที่มีผลต่อความสัมพันธ์

ความขัดแย้งมีค่าเป็นกลาง

 

คนส่วนมากกลัวความขัดแย้ง เพราะคิดว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่ดี เรามักจะเชื่อมโยงความขัดแย้งกับคำที่มีความหมายในทางลบ เช่น ความโกรธ ความก้าวร้าว การต่อสู้ การโต้เถียง ความคับข้องใจ ความขมขื่น และความเกลียดชัง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งก็มีข้อดีได้ เพราะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น เกิดความคิดใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เกิดการยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน และมีมุมมองชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม

ครอบครัวที่ไม่มีความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัวที่มีความสุขเสมอไป

 

พ่อแม่ที่คิดว่าครอบครัวของตนไม่มีความขัดแย้งอาจจะไม่รู้ตัวว่าได้สร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวแก่ลูก ๆ จนไม่มีใครกล้าพูดถึงความต้องการที่แท้จริงของตนออกมา พ่อแม่ที่เข้มงวดเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นเท่ากับได้กวาดความขัดแย้งไปซ่อนไว้ใต้พรมซึ่งรอเวลาที่จะระเบิดออกมา แต่ครอบครัวที่มีความเป็นประชาธิปไตย แม้มีความขัดแย้งก็สามารถจัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ไม่มีวันจบ

 

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมักจะเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่มีการโต้เถียงกันซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น เรื่องผลการเรียน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของห้องนอน การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ การนอนตื่นสาย การพูดโทรศัพท์นานเกินไป และการออกไปเที่ยวเตร่นอกบ้านกับเพื่อน เป็นต้น ทั้งนี้ พ่อแม่ต้องยอมรับว่าจะต้องมีความขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าลูกจะเติบโตผ่านช่วงวัยรุ่นนี้ไป ดังนั้นแทนที่จะหลีกหนีหรือเก็บซ่อนความขัดแย้งไว้ สิ่งที่ควรทำก็คือ การหาวิธีจัดการกับความขัดแย้งเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

นอกจากนี้ ดร.จอนห์น อึ้ง ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นไว้ดังนี้

 

  1. การมีค่านิยมที่แตกต่างและขัดแย้งกัน ค่านิยมของวัยรุ่นมักแตกต่างจากพ่อแม่ ในขณะที่วัยรุ่นให้คุณค่าแก่เสรีภาพ การมีเพื่อน และความสนุกสนาน พ่อแม่จะให้คุณค่าแก่ความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์สุจริต และการมีเกียรติยศชื่อเสียง เมื่อ 2ฝ่ายมีค่านิยมที่แตกต่างกัน ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น
  2. การมีอุปนิสัยที่ไม่ถูกใจพ่อแม่ สิ่งที่พ่อแม่มักจะบ่นเกี่ยวกับอุปนิสัยของวัยรุ่นก็คือ ความไม่เป็นระเบียบ การขาดความรับผิดชอบ และการไม่เอาใจใส่ต่อการเรียนและการสอบ ในขณะที่วัยรุ่นจะมองพ่อแม่ว่าควบคุมชีวิตของเขามากเกินไป เจ้าระเบียบเกินไป และจ้องจับผิดมากเกินไป
  3. การมีความคาดหวังที่ซ่อนเร้นและไม่เป็นจริง พ่อแม่อาจมีความคาดหวังที่สูงเกินไป เช่น คิดว่าลูกยังเรียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ห้องนอนยังไม่สะอาดเรียบร้อยเท่าที่ควร และใช้เวลากับเพื่อนมากเกินไป พ่อแม่บางคนคาดหวังให้ลูกทำบางสิ่งบางอย่างให้แต่ไม่เคยบอกลูกตรงๆ ในขณะที่ลูกก็มีความคาดหวังต่อพ่อแม่ที่ซ่อนเร้นอยู่ เช่น อยากให้พ่ออยู่กับครอบครัวมากขึ้น เพราะพ่อเดินทางบ่อยเกินไป แต่ลูกไม่เคยบอกให้พ่อรู้
  4. การมีรูปแบบการสื่อสารในด้านลบและไม่มีประสิทธิภาพ การใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหรือการกระทำที่ก้าวร้าวทำให้เกิดความโกรธ ทั้งในพ่อแม่และวัยรุ่น พ่อแม่ที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้อาจดุด่าว่ากล่าวลูกต่อหน้าคนอื่น ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย และเมื่อวัยรุ่นตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงบ้าง การสื่อสารของทั้ง 2 ฝ่ายจะกลายเป็นการตะโกนใส่กัน แต่จะไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งได้
  5. การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มนุษย์ทุกคนมีความเห็นแก่ตัวในระดับหนึ่ง บางครั้งพ่อแม่ก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าจะคิดถึงวัยรุ่น เช่น พ่อแม่อยากจะดูดีในสายตาของคนอื่น และรู้สึกอับอายเมื่อลูกเรียนไม่ดี หรือสอบเข้าเรียนในสาขาวิชาที่ต้องการไม่ได้  จึงพยายามกดดันให้ลูกเรียนดีเพื่อพ่อแม่จะได้มีหน้ามีตา วัยรุ่นเองก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเช่นกัน เขามักจะไม่สนใจเป้าหมายระยะยาว  หรือผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำในปัจจุบันที่มีต่ออนาคต วัยรุ่นมักทำอะไรตามใจตนเอง และบางครั้งก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ส่งผลเสียต่อชีวิตของตน เช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน การใช้ยาเสพติด เป็นต้น
  6. การมีความสนใจที่ต่างกันและขัดแย้งกัน วัยรุ่นกับพ่อแม่มักมีความสนใจต่างกัน เช่น วัยรุ่นชอบฟังดนตรีประเภทร็อก หรือเร็คเก ในขณะที่พ่อแม่รู้สึกว่าเสียงดังเกินไปและดนตรีแนวนี้มีอิทธิพลในด้านลบต่อเด็ก นอกจากนี้วัยรุ่นยังชอบไปงานปาร์ตี้และเที่ยวกลางคืน ในขณะที่พ่อแม่คิดว่าสถานที่เหล่านี้จะทำให้ลูกถูกชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสียได้ง่ายวัยรุ่นบางคนคิดว่า เกมส์คอมพิวเตอร์สนุกสนานและตื่นเต้น แต่พ่อแม่รู้สึกว่าลูกติดเกมส์มากเกินไป
  7. การมีอคติในทางลบที่นำไปสู่การติเตียน มนุษย์มีความลำเอียง และเราควรจะตระหนักว่าเราลำเอียงในด้านใดบ้าง เราสามารถแบ่งความลำเอียงออกเป็น 3 แบบ คือ
    • เรามีแนวโน้มที่จะอนุมานสาเหตุของพฤติกรรมแบบเข้าข้างตนเอง กล่าวคือ ถ้าเราทำผิด เรามักจะโทษสถานการณ์แต่ถ้าคนอื่นทำผิด เราจะโทษว่ามาจากลักษณะนิสัยหรือความตั้งใจที่ไม่ดีของเขา เช่น ถ้าเรามาสายเราจะโทษว่ารถติด แต่ถ้าลูกของเรามาสาย เราจะกล่าวหาว่าเขาเป็นคนเกียจคร้านหรือไม่รับผิดชอบ
    • เรามีแนวโน้มที่จะยึดตนเองเป็นมาตรฐาน กล่าวคือ เราเชื่อว่าวิถีชีวิต เจตคติ และพฤติกรรมของเราเป็นเรื่องปกติ และคนอื่นก็จะเป็นเหมือนเรา ถ้าเราเป็นคนที่มีระเบียบ เราก็คิดว่าลูกของเราก็จะเป็นเหมือนเราด้วย และถ้าลูกของเราแตกต่างจากเรา เราจะยอมรับไม่ได้ ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เรายังคิดว่าเราเป็นพวกที่ปกติ และถ้าคนไหนไม่เหมือนเรา เขาก็เป็นคนที่ผิดปกติ
    • เรามีแนวโน้มที่จะเน้นลักษณะทางลบของคนอื่นมากกว่าลักษณะทางบวกของเขาและจะใช้ลักษณะทางลบนั้นตัดสินพฤติกรรมที่ตามมา เช่น ถ้ามีใครมาถามถึงลูกวัยรุ่นของเรา เราก็มีแนวโน้มที่จะพูดถึงอุปนิสัยที่ไม่ดีของลูกมากกว่า ทั้งที่ลูกก็มีส่วนที่ดีหลายอย่าง เช่น เราอาจจะพูดว่า “ลูกสาวฉันพูดโทรศัพท์ตลอดเวลา” แต่กลับไม่พูดถึงความขยันและความตั้งใจเรียนของลูก วัยรุ่นก็เช่นกัน เขามักจะบ่นว่า “พ่อแม่ผมเป็นคนขี้บ่น และไม่เข้าใจผม” แต่จะมีวัยรุ่นน้อยคนที่จะบอกว่า “พ่อแม่ผมทำงานหนักเพื่อส่งผมเรียน” นักจิตวิทยาเชื่อกันว่าหากเราเน้นที่คุณลักษณะด้านลบของคนมากเกินไป คนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามคำทำนายของเราโดยกลายเป็นคนที่มีลักษณะที่ไม่พึงปรารถนานั้นในที่สุด
  8. การมีอารมณ์ที่อ่อนไหว ควบคุมไม่ได้วัยรุ่นหลายคนมีอารมณ์ที่อ่อนไหวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างวัยเด็กกับวัยรุ่น บางคนโกรธง่าย และไม่สบายใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ  บางครั้งก็ระเบิดอารมณ์ออกมาอย่างรุนแรงเมื่อได้รับการกระตุ้นเพียงเล็กน้อย บางคนก็หงุดหงิด เจ้าคิดเจ้าแค้นเมื่อมีใครมาทำให้ไม่พอใจ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตน และมักต้องได้รับการปลอบให้ใจเย็นลง ตลอดเวลา พ่อแม่ก็สามารถระเบิดอารมณ์ใส่ลูกๆ ได้เช่นกัน เมื่อรู้สึกว่าอำนาจของตนกำลังถูกท้าทาย
  9. การมีชีวิตภายใต้ความกดดันและข้อเรียกร้องที่มากเกินไป ทั้งพ่อแม่และวัยรุ่นอยู่ภายใต้ความกดดันที่จะต้องประสบความสำเร็จ พ่อแม่มีแรงกดดันจากที่ทำงาน และเมื่ออยู่ที่บ้านก็ถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นพ่อแม่ที่ดีและเข้าใจลูก ส่วนวัยรุ่นเองก็มีแรงกดดันจากข้อเรียกร้องของพ่อแม่ในเรื่องการเรียน ครูก็เรียกร้องให้เขาเป็นนักเรียนที่ดี และเพื่อนๆ ก็เรียกร้องให้เขาเป็นคนที่ให้ความร่วมมือ แรงกดดันเหล่านี้ทำให้พ่อแม่และวัยรุ่นหงุดหงิดง่ายและมักจะขาดการควบคุมอารมณ์เมื่ออยู่ที่บ้าน
  10. ประสิทธิภาพของการเป็นพ่อแม่ที่ดี พ่อแม่หลายคนเป็นพ่อแม่ด้วยวิธีลองผิดลองถูก บางคนก็ยังมีปัญหากับคู่สมรสและมีปัญหาในที่ทำงานด้วย วัยรุ่นเองก็ไม่รู้ว่าจะเป็นวัยรุ่นที่ดีได้อย่างไร เขาอาจจะเรียนหนังสือไม่เก่ง และไม่รู้วิธีที่จะสื่อสารกับพ่อแม่และเพื่อน งานวิจัยด้านสมองแสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นบางคนวางแผนไม่เป็น  ไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญ ไม่สามารถควบคุมความต้องการและไม่สามารถคิดถึงผลที่ตามมาจากการกระทำของตน

 

 

 

จากปัจจัยทั้งหมดที่ได้กล่าวมาทั้ง 10 ข้อนี้ทำให้เราเห็นว่าทั้งพ่อแม่และวัยรุ่นอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล ดังนั้นการมีความขัดแย้งจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ

 

Dr.John Ng ได้เสนอแนะแนวคิดกว้าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งไว้ 3 ข้อด้วยกันคือ

 

  1. การเห็นคุณค่าของกันและกัน พ่อแม่และวัยรุ่นต้องเห็นคุณค่าของกันและกันและมีความยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน พ่อแม่ต้องยอมรับความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครของวัยรุ่น และไม่ควรคิดว่าวัยรุ่นเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของตน
  2. พ่อแม่และวัยรุ่นควรใช้เวลาอยู่ด้วยกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางบวก เช่น ไปท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนานร่วมกัน เฉลิมฉลองโอกาสแห่งความสำเร็จร่วมกัน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนทางอารมณ์ซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ทางบวกเหล่านี้จะช่วยลบล้างผลที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง พ่อแม่ควรจะใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ทางบวกอย่างน้อยห้าเท่าของเวลาที่มีความสัมพันธ์ทางลบกับวัยรุ่น
  3. พ่อแม่และวัยรุ่นควรเรียนรู้จากความขัดแย้งพ่อแม่อาจจะต้องยอมให้ลูกล้มเหลวหรือทำผิดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แล้วเราจะได้หายจากความขัดแย้ง มิฉะนั้นทั้งพ่อแม่ละวัยรุ่นก็จะเก็บความไม่พอใจและความขมขื่นไว้ซึ่งจะมีผลเสียต่อความสัมพันธ์ในอนาคต

 

นอกจากนั้น Dr.John Ng ยังได้ให้กฎ 8 ข้อ ในการจัดการกับความขัดแย้งไว้ดังนี้

 

  1. เมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน อย่าโจมตีในเรื่องส่วนตัวของกันและกันและไม่ควรตำหนิหรือกล่าวหาลูกด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
  2. พ่อแม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ทำลงไป ถ้าทำผิดต่อลูกต้องรู้จักขอโทษ ไม่ใช่แก้ตัว หรือโทษผู้อื่น
  3. เมื่อเกิดความขัดแย้งให้ตั้งใจรับฟังคำพูดของลูก ด้วยการถามคำถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ หรืออาจจะพูดทวนสิ่งที่ลูกพูดเพื่อตรวจสอบว่าเราเข้าใจลูกถูกต้องหรือไม่ และเปิดโอกาสให้ลูกให้ข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับการกระทำของเรา
  4. การควบคุมอารมณ์ด้านลบไม่ให้มาบดบังประเด็นของความขัดแย้ง การมีอารมณ์ในด้านลบมักเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกโกรธหรือคับข้องใจ  ทำให้การสื่อสารขาดประสิทธิภาพ
  5. การพิจารณาความสำคัญของประเด็นความขัดแย้ง เรื่องบางเรื่องไม่สำคัญมากพอที่จะมาโต้เถียงกัน ดังนั้น การหลีกเลี่ยงหรือยอมตามอีกฝ่ายหนึ่งอาจคุ้มค่ากว่า
  6. แก้ไขความขัดแย้งทีละประเด็น อย่านำปัญหาเก่า ๆ ที่เกิดขึ้นนานแล้วมาปะปนกับปัญหาปัจจุบัน ทำให้เกิดความสับสนและแก้ปัญหาได้ยากขึ้น
  7. เลือกโอกาสในการพูดคุยให้เหมาะสมดูอารมณ์ของตนเองและของลูก ถ้าอยู่ในอารมณ์โกรธ ควรรอให้อารมณ์เย็นลงก่อนแล้วจึงค่อยพูดคุยกัน
  8. เชื่อมโยงประเด็นปัจจุบันกับเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น หรือเป้าหมายระยะยาว แทนที่จะเห็นแต่ความสนใจหรือผลประโยชน์ปัจจุบัน การมองปัญหาในมุมกว้างจะช่วยให้การแก้ไขความขัดแย้งง่ายขึ้น เพราะทั้งพ่อแม่และวัยรุ่นต่างก็มีเป้าหมายอันเดียวกัน คือความสุขและความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Psyche Poll #5 : คำทัก/คำถามสุดจี๊ด…ในวันรวมญาติ

หลังจากที่เพจบริหารชีวิตด้วยจิตวิทยาได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “คำทักคำถามสุดจี๊ดในวันรวมญาติ”ไว้ตั้งแต่ช่วงปีใหม่โดยคาดหวังว่าจะนำ

มาเผยแพร่ในช่วงสงกรานต์ แต่กลายเป็นว่าปีนี้ สงกรานต์เราก็ถูกเลื่อนไปก่อนด้วยสถานการณ์ไม่ปกติ แต่ก็เริ่มกลับมาทำงานปกติกันได้ 2-3 เดือนแล้ว แล้วก็มีวันหยุดชดเชยให้เริ่มเดินทางไปพบปะญาติมิตรกันตามปกติ รวมถึงงานรับปริญญาที่หลายมหาวิทยาลัยอาจจะถูกเลื่อนก็เริ่มกลับมาแบบ New normal เช่นกัน หลาย ๆ คนก็น่าจะเริ่มได้เดินทางพบปะญาติตามต่างจังหวัด หรือมีญาติเดินทางมาร่วมแสดงความยินดี ได้พบปะทักทายกันเป็นปกติหลังจากกักตัวกันมานาน ก็อยากจะมาชวนดูผลโพล ว่าประสบการณ์ของเพื่อน ๆ หลายคนที่ตอบโพลไว้ก่อนจะมี Covid – 19 ผู้ตอบมักจะกลับบ้านไปเจอคำถามแบบไหนมากวนใจกันบ้าง

 

สำหรับโพล นี้ก็มีผู้สนใจตอบคำถามทั้งสิ้น 44 คนส่วนมากเป็น เพศหญิง จำนวน 44 คน (73 %) เพศชาย จำนวน 9 คน (20 %) และไม่ระบุเพศอีกจำนวน 3 คน (7 %) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 20-30 ปี และ 31-40 ปี ช่วงอายุละ 16 คน (36%) อายุต่ำกว่า 20 จำนวน 5 คน และอายุมากกว่า 31 จำนวน 7 คน

 

ข้อคำถามประกอบด้วย
  1. คำถามยอดฮิตในวันรวมญาติที่คุณเคยเจอ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
  2. คำทักทายอะไรที่คุณไม่อยากได้ยิน (ทักแบบนี้อย่าทักดีกว่า) (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

 

ผลการสำรวจปรากฎดังนี้


 

คำถามยอดฮิตในวันรวมญาติที่คุณเคยเจอ

สำหรับอันดับ 1 ของคำถามยอดฮิต ในวันรวมญาติพี่พบเจอมากที่สุด ได้แก่ “ทำงานที่ไหน” โดย ผู้ตอบคำถาม 25 คน จากทั้งหมด 44 คน (56.82%) เคยเจอกับคำถามนี้ ซึ่งก็เป็นตัวแทนคำถามเกี่ยวกับหน้าที่การงาน ซึ่งก็สอดคล้องกับอายุกลุ่มตัวอย่างที่มาช่วยตอบโพลนี้ ซึ่งส่วนมากผู้ที่มาตอบก็จะเป็นช่วงวัยที่เริ่มทำงานกันแล้ว คำถามนี้เป็นคำถามพื้นฐานที่ดูไม่คุกคามมากนัก และคำตอบของคำถามสามารถนำมาใช้ประเมินชีวิตการเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย การเดินทาง สถานะทางเศรษฐกิจของผู้ถูกถาม หรือครอบครัวผู้ถูกถาม ฯลฯ เพื่อวิเคราะห์และใช้เป็นข้อมูลนำไปสู่บทสนทนาต่อ ๆ ไปได้ แต่ก็อย่าถามเยอะเกินไปอย่างเรื่องเงินเดือน เจ้านาย ขอส่วนลด เส้นสาย ฯลฯ จะเป็นการเสียมารยาท และทำให้อีกฝ่ายอึดอัดได้

 

สำหรับอันดับ 2 และอันดับ 3 เป็นตัวแทนคำถามจากหมวดความรักและการมีครอบครัว โดยคำถามที่พบเจอมากเป็นอันดับ 2 ของที่ผู้ตอบโพลนี้คือ “มีแฟนหรือยัง” และอันดับ 3 คือ “จะแต่งงานเมื่อไหร่” คำถามในส่วนนี้ก็จะมีความเป็นลำดับขั้นตอนของชีวิตตามที่คนทั่วไปรับรู้ ถ้าโสด ก็จะถามว่า เมื่อไหร่จะมีแฟน ถ้ามีแฟนแล้วเมื่อไหร่จะแต่งงาน เมื่อไหร่จะมีลูก ฯลฯ เป็นขั้นตอนไป โดย “มีแฟนหรือยัง” เป็นคำถามที่สามารถพบเจอได้ตั้งแต่ มัธยมปลาย จนกว่าจะมีแฟน ซึ่งคนโสดอาจจะถูกถาม จนอายุเกือบ 40 ก็เป็นไปได้ หรือหากต้องไปพบผู้สูงอายุที่ความทรงจำไม่ดีแล้วก็มีโอกาสถูกถามซ้ำเรื่อย ๆ เช่นกัน ซึ่งจากกลุ่มผู้ตอบคำถามที่ส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 20-40 ก็ยังไม่พบเจอคำถามที่เลยขั้นของการแต่งงานมากนัก เช่น คำถามที่ว่า “จะมีลูกเมื่อไหร่” “ลูกเรียนที่ไหน”

 

จาก 3 อันดับแรกก็จะสังเกตได้ว่าจะเป็นคำถามที่ถูกถามบ่อย ๆ จะเป็นคำถามกว้าง ๆ ที่จะถามถึงพัฒนาการ หรือประสบการณ์ทั่วไปที่สังคมคาดหวังจากวัยผู้ใหญ่ (จากช่วงวัยส่วนมากที่ตอบโพลนี้) การเรียนจบมาทำงาน การมีแฟน การมีครอบครัว ก็จะยังเป็นคำถามที่ปลอดภัยระดับหนึ่ง ถึงแม้จะสร้างความกดดันให้คนที่ไม่มีงาน หรือไม่มีแฟนก็ตาม ในขณะที่อันดับต่อ ๆ ไปก็จะเริ่มมีความคาดคั้น กดดัน การเปรียบเทียบมากกว่า เช่น “เรียนจบแล้วจะทำงานอะไร” “เงินเดือนเท่าไหร่” เป็นคำตอบที่อยู่ในอันดับ 4 อีกปัจจัยหนึ่งของคำตอบอันดับท้าย ๆ ก็คือคำถามที่มีความเป็นส่วนตัว มีสถานการณ์จำเพาะมากกว่า กล่าวคือ คำตอบเกี่ยวกับคำถามอันดับท้าย ๆ อาจจะมาจากญาติที่มีความใกล้ชิดกว่าคนที่ถามคำถามอันดับต้น ๆ เช่น รู้ว่าได้งานแล้ว เรียนจบแล้วไม่ทำงานจะเรียนต่อเป็นต้น

 

 

คำทักทายอะไรที่คุณไม่อยากได้ยิน (ทักแบบนี้อย่าทักดีกว่า)

สำหรับคำถามที่สองของเราที่ถามว่า คำถามแบบไหนที่ผู้ตอบของเราไม่อยากได้ยิน คำตอบอันดับที่ 1 คือ “อ้วนขึ้นนะ” และอันดับต่อ ๆ มา ได้แก่ “เมื่อก่อนดูดีกว่านี้นะ” “โทรมจัง” “สิวเยอะขึ้นนะ” “ดำขึ้นนะ” ตามลำดับ ก่อนอื่นเลยก็ต้องยอมรับว่าโพลของเรานั้นไม่ได้คิดตัวเลือกไว้ให้หลากหลายเท่าไหร่ แต่เมื่อพิจารณา คำตอบที่มีผู้ตอบมาเพิ่มเติมในช่องอื่น ๆ แล้ว ก็ยังมีกว่าครึ่งที่เป็นคำถามในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ “หน้าแก่จัง”  “ผอมลงรึเปล่า (จะผอมหรือจะอ้วนก็ไม่ควรทัก)” และ “ทุกคำพูดในเชิงลบ” คำถามเหล่านี้หากจะเหมารวมก็จะได้หมวดหมู่ประมาณ “การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก” ซึ่งบทความนี้ก็จะมาชวนมองว่ามันเกิดอะไรขึ้นทำไมคนถามถึงถามแบบนี้ แล้วคนที่โดนถามแบบนี้จะรู้สึกอย่างไรได้บ้าง

 

ในการไปเยี่ยมญาติส่วนมากมักจะเป็นฝ่ายที่ครอบครัวอายุน้อยกว่า (พ่อแม่ลูก) เดินทางไปหาคนอายุมากกว่า (ปู่ย่าตายาย ลุงป้า ฯลฯ) ฝ่ายที่ไปพบปะก็มักจะมีการวางแผน นัดหมาย หรืออาจมีจุดประสงค์บางอย่าง เช่น ตามโอกาสเทศกาล งานบุญ งานศพ หรือป่วยเยี่ยมที่โรงพยาบาล ฝ่ายไปหาก็มักจะมีข้อมูลของผู้ที่จะไปพบอยู่ในระดับหนึ่ง หรืออยู่ในสถานที่ของฝ่ายต้อนรับ การทักทายใด ๆ ก็จะเป็นไปได้เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า มีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ให้หยิบยกมาคุยมาถามไถ่กันได้ง่าย กลับกันฝ่ายต้อนรับมักจะมีข้อมูลของคนที่มาเยี่ยมไม่เยอะ หรือรู้แค่สถานะของญาติหรือเพื่อนตรง ๆ คนเดียว แต่ไม่รู้เกี่ยบกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวที่มาด้วยกันนัก รวมถึงการลืมเลือนจากช่วงเวลาและการเสื่อมของความจำของผู้สูงอายุ แต่ด้วยวัฒนธรรมไทย และมารยาทใด ๆ ใครมาก็ต้องต้อนรับทักทาย จะปล่อยให้ลูกหลานนั่งเล่นโทรศัพท์ไปคนเดียวมันจะเสียมารยาทเล็กน้อย และขัดใจหน่อย ๆ ก็เลยต้องทักต้องชวนคุยแต่ก็ไม่มีข้อมูลอะไรจะให้ทักทายถามสารทุกข์ ก็มีแต่ข้อมูลที่ได้จากลูกตาที่มองเห็นกันอยู่ตรงนี้ ก็เลยเป็นการทักทายรูปลักษณ์ภายนอกไปอย่างเคยชิน ซึ่งอาจจะทักด้วยความรู้สึกจริงจัง เป็นห่วง สนใจ ติดตลก ฯลฯ

 

การทักถึงการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการทางร่างกายก็มีมาตลอด ถ้าเป็นเด็ก ๆ ก็จะถูกทักว่า “โตไวจัง ไม่เจอแปปเดียวโตขึ้นขนาดนี้แล้ว” “น่ารักจัง” “สูงขึ้นเยอะเลย” ฯลฯ พอเป็นวัยรุ่นก็อาจจะเริ่มมีการเปรียบเทียบ โตช้า/โตเร็ว เปรียบเทียบกับคนอื่น และก็จะมีค่านิยมเกี่ยวกับลักษณะภายนอกที่ได้รับการยอมรับแตกต่างกันไป เช่น อ้วน-ผอม เตี้ย-สูง ขาว-ดำ ซึ่งเด็กล้อกันเองก็สร้างความไม่พอใจระดับหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าผู้ใหญ่ทัก เด็กก็มักไม่ได้ตอบโต้อะไร อาจจะได้แค่จำไว้ว่าไม่ชอบผู้ใหญ่คนนี้แล้วไปหลบหลังพ่อแม่ แต่กับวัยผู้ใหญ่ก็จะมีการวิเคราะห์แตกต่างกันออกไป เรารับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายตัวเองมากขึ้น รู้ว่าเราพอใจ/ไม่พอใจหรือมีภาพในหัวว่าอยากให้เรามีรูปร่างอย่างไร ซึ่งก็จะมีทั้งคนอ้วนที่ไม่ได้อยากอ้วน และคนผอมที่ไม่ได้อยากผอม ทำให้ค่านิยมเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลมากขึ้น และมักจะมีโอกาสน้อยที่จะทำให้ผู้ถูกทักพอใจ

 

นอกจากนี้ก็มีคำถามอื่น ๆ ที่ผู้ตอบโพลพิมพ์เพิ่มเติมเข้ามาให้ได้แก่ “ทำไมไม่ยกมือไหว้” “ทำงานที่ไหน เงินเดือนเท่าไหร่ รับราชการไหม” “บ้านสร้างเสร็จรึยัง” ก็จะเป็นทั้งการสอน การยัดเยียดค่านิยม การถามเรื่องส่วนตัวมากเกินไป และสร้างความกดดันให้กับคนฟัง ซึ่งก็มักจะไม่ได้สร้างบรรยากาศที่ดีในการสนทนาเช่นกัน สิ่งที่ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับการทักญาติที่ไม่ได้สนิท คือ การทักทายกว้าง ๆ ทั่วไป เริ่มจากกล่าว “สวัสดี” ตามมารยาทหรือตามความสนิทสนม และเลือกคำถามกลาง ๆ กว้าง ๆ “ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง” “ช่วงนี้ทำอะไรบ้าง” ให้ผู้ตอบได้มีโอกาสได้เลือกว่าจะหยิบยกเรื่องใดในชีวิตมาแบ่งปันในการสนทนา แต่ถ้าถามหลานแล้วหลานตอบสั้น ๆ เป็นมารยาท นั่งเล่นมือถือ เหมือนไม่อยากคุยด้วยก็แนะนำเปลี่ยนกลับไปคุยกับรุ่นพ่อ-แม่ดีกว่า หรือถ้าสนิทกันหรือมีข้อมูลมากขึ้น ก็อาจเพิ่มความเฉพาะเรื่อง แต่ก็ยังถามกว้าง ๆ  เช่น “พ่อแม่เป็นอย่างไรบ้าง” หรือเริ่มจากคุยเรื่องตัวเองก่อนก็ได้ (แต่ไม่ใช่อวด) จะทำให้อีกฝ่ายได้แบ่งปันเรื่องราวในหมวดหมู่เดียวกันได้ง่ายกว่า คำถามในลักษณะเหล่านี้ผู้ตอบจะไม่ได้รู้สึกว่าถูกกดดัน คาดคั้นคำตอบ ก็จะตอบได้ตามที่สบายใจ ไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวเกินไป รวมถึงการเลือกพูดคุยกับคนที่ยินดีจะคุยด้วยน่าจะดีกับทุกฝ่ายมากกว่า

 

อย่างไรก็แล้วแต่ถ้าไปเยี่ยมแล้วไปขอเงินนี้ ขอไม่แสดงความคิดเห็นนะครับ ^^

 

 


 

เรียบเรียงโดย คุณณัฐนันท์ มั่นคง

นักจิตวิทยาประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ

การเจรจาต่อรองแทรกอยู่ในชีวิตของเราในหลายสถานการณ์ เช่น การต่อรองทางธุรกิจเพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด การเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง การต่อรองเงินเดือนในการเข้าทำงานหรือเลื่อนตำแหน่ง การต่อรองเพื่อซื้อเสื้อผ้ารองเท้าจากร้านค้าต่าง ๆ และการต่อรองแบ่งทรัพย์สินและสิทธิในตัวบุตรเมื่อหย่าร้างกัน เป็นต้น

 

ดังนั้น ทักษะการเจรจาต่อรองจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับการหาทางออกร่วมกันกับผู้อื่นรอบตัวเรา และเรื่องการเจรจาต่อรองนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาทางจิตวิทยาสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการแก้ไขความขัดแย้ง

 

 

ลักษณะทั่วไปของการเจรจาแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ แบบได้-เสีย และแบบได้-ได้

 

 

1. แบบได้-เสีย


 

คือการเจรจาที่อยู่บนมุมมองว่าจะต้องมีฝ่ายหนึ่งได้ฝ่ายหนึ่งเสีย หรือการได้ประโยชน์ของฝ่ายหนึ่ง หมายถึงการที่อีกฝ่ายจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป ตัวอย่างเช่น การต่อรองกับแม่ค้าเพื่อซื้อเสื้อสักตัว ถ้าเราผู้ซื้อต่อได้ราคายิ่งต่ำมากเท่าไหร่ ผู้ซื้อก็จะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ ส่วนแม่ค้าก็จะเสียประโยชน์ เพราะเขาจะได้เงินค่าเสื้อน้อยลง เป็นต้น เมื่อพิจารณาถึงการเจรจาต่อรอง เราจะรู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จหากเราสามารถต่อรองให้ได้สินค้าราคาต่ำที่สุดจากแม่ค้า และถือว่าเราต่อรองเก่งและได้ประโยชน์มากกว่าแม่ค้า การต่อรองแบบนี้คู่ต่อรองมักจะคิดว่าเรื่องราคาหรือผลประโยชน์ฝ่ายตนสำคัญที่สุด และต้องการตักตวงไปให้ได้มากที่สุด

 

วิธีการต่อรองแบบได้-เสีย มีดังนี้

 

วิธีที่ 1 คือการต่อรองจะต้องมีการยอมลดเป็นครั้ง ๆ จากทั้งสองฝ่าย ดังนั้น หากเราเป็นผู้ขาย เราก็จะต้องตั้งราคาเผื่อการลดเมื่อผู้ซื้อยื่นข้อเสนอขอลดราคาเช่นกัน

 

วิธีที่ 2 คือการได้เสนอราคาก่อนจะได้เปรียบ หมายถึง หากเราเป็นผู้ขายให้เรากำหนดราคาสินค้าไว้เลยตั้งแต่แรก หากเราต่อรองเงินเดือนก็ต้องชิงจังหวะเป็นฝ่ายที่เรียกเงินเดือนก่อน โดยการได้เสนอราคาหรือตั้งตัวเลขก่อนอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากราคาแรกที่เราเสนอนั้นจะเป็นตัวกำหนดว่าการต่อรองจะคุยกันที่ราคาสูงหรือต่ำเพียงใด หากเราปล่อยให้อีกฝ่ายเรียกราคามาก่อน เขาก็ย่อมเรียกราคาในแบบที่เขาต้องจ่ายน้อยที่สุด และหากเราไปเจรจากับเขาที่ราคาที่ต่ำ เรามีโอกาสที่จะกลายเป็นผู้เสียประโยชน์ดังนั้นการตั้งราคาหรือเรียกราคาแรกให้ได้ประโยชน์ที่สุด คือการตั้งไว้สูงหรือต่ำในแบบที่จะให้ประโยชน์สูงสุดแก่ฝ่ายเรา

 

วิธีที่ 3 คือ การหาตัวเลือกสำรอง หมายถึง การเตรียมตัวเลือกอื่น ๆ ไว้เพื่อเป็นทางออก หากเราตกลงกับคู่เจรจาคนนี้ไม่ได้ เช่น หากบริษัทนี้ไม่ยอมให้เงินเดือนสูงเท่าที่เราต้องการ เราจะมีบริษัทอื่นให้ไปสมัครงาน ที่ให้ประโยชน์แก่เราได้พอ ๆ กับบริษัทนี้หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากจะทำให้เรามีอำนาจการต่อรอง อีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการแสดงเราว่าไม่ยอมอ่อนข้อง้อคู่เจรจาปัจจุบันมากเกินไป เพราะเรายังมีตัวเลือกอื่นรออยู่นั่นเอง

 

สรุปได้ว่า การต่อรองให้ได้ผลประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุดจะต้องมีการเตรียมตัวหาข้อมูลที่รอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นการชิงเสนอราคาที่จะทำให้เราได้ประโยชน์สูงสุด และการหาทางเลือกอื่นสำรองไว้

 

 

 

2. แบบได้-ได้


 

คือการต่อรองจากมุมมองว่าทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมกันหาทางออกที่ต่างก็ได้ประโยชน์ตามต้องการ โดยไม่มีใครต้องเสียประโยชน์ให้ใคร โดยงานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่าการเจรจาแบบได้-ได้ ให้ผลดีทั้งในด้านข้อสรุปที่ได้ และการรักษาความรู้สึกความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคู่เจรจาอีกด้วย ซึ่งการต่อรองให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แสดงให้เห็นว่าการต่อรองไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยผู้ชนะและผู้แพ้เสมอไป ทั้งสองฝ่ายสามารถช่วยกันหาทางออกให้เป็นผู้ชนะทั้งคู่ได้

 

จุดสำคัญของการต่อรองลักษณะนี้คือการที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน จะต้องพูดคุยกันว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร เพราะอะไร ต้องพยายามเข้าใจความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าเขาก็มีสิทธิที่จะอยากได้ผลประโยชน์ที่เขาต้องการ และช่วยกันคิดว่าจะหาทางออกอย่างไรจึงจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งฝ่ายเขาและฝ่ายเรา ตัวอย่างเช่น หากหน่วยงาน ก. ต้องการส่วนแบ่งงบประมาณมาก แต่หน่วยงาน ข. ก็ต้องการเช่นกัน เมื่องบประมาณแต่ละปีมีจำกัดก็ทำให้ต้องมีฝ่ายที่ผิดหวัง การต่อรองแบบได้-ได้ ก็คือเมื่อหน่วยงาน ก. และ ข. มานั่งคุยกันว่าต่างจะเอางบประมาณไปทำอะไร อาจจะพบว่า ต่างต้องการจะเอาไปลงทุนในสิ่งเดียวกัน ก็อาจจะสามารถร่วมมือกันและปรับข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายให้ลงตัวได้โดยไม่มีใครต้องยอมเสียผลประโยชน์ หรืออาจจะช่วยกันคิดหางบประมาณมาเพิ่ม เพื่อจะทั้งสองหน่วยงานจะได้ส่วนแบ่งตามต้องการอย่างแน่จริง เป็นต้น

 

อีกทั้ง การต่อรองแบบได้-ได้นั้น จุดสำคัญคือทั้งสองฝ่ายจะต้องเต็มใจและเปิดใจหารือกัน โดยมีเป้าหมายที่จะหาทางออกร่วมกัน หากเราต่อรองโดยคิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้าฝ่ายเราให้มากที่สุดโดยไม่นึกถึงฝ่ายเขา ก็จะไม่สามารถต่อรองแบบได้-ได้ให้ประสบความสำเร็จได้ ยิ่งไปกว่านั้น ต้องให้เวลาพูดคุยกันอย่างเพียงพอไม่รีบร้อนหาข้อสรุป เพราะการหาทางออกที่ดีต่อทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ได้หากันเจอง่าย ๆ

 

 

การเลียนแบบท่าทางของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น การจัดท่านั่งท่ายืนของเราให้คล้ายกับคนที่เรากำลังต่อรองด้วยให้มากที่สุดโดยไม่ให้เขารู้ตัวว่าเรากำลังเลียนแบบเขา การเลียนแบบนี้มักทำให้บุคคลเป้าหมายรู้สึกชอบเรา เชื่อใจเรามากขึ้น เพราะเราแสดงความเหมือนกันกับเขา และเมื่อเขาชอบพอเรา ก็มักจะร่วมมือหารือกับเราอย่างดีในการเจรจา

 

นักจิตวิทยาพบเทคนิคที่ช่วยให้การเจรจาเป็นแบบได้ประโยชน์ทั้งคู่ นั่นคือการพยายามมองจากมุมของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก็คือการที่เราพยายามนึกให้ออกว่าคู่เจรจาของเราน่าจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์นี้ คิดว่าเขาน่าจะอยากได้หรือต้องการอะไรในการเจรจานี้ การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเรานี้จะช่วยให้เราเข้าใจเห็นใจอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น และทำให้เรารู้สึกอยากจะร่วมมือเพื่อทำให้เขาได้รับผลประโยชน์ที่เขาอยากได้มากขึ้น

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมยังค้นพบเทคนิคที่ช่วยให้การต่อรองแบบนี้ได้ผลดี นั่นคือการคิดถึงเป้าหมายที่เราอยากจะได้หรือไปให้ถึงในการต่อรองแต่ละครั้งให้ชัดเจน โดยเป้าหมายนี้นักจิตวิทยาเสนอว่าควรจะเป็นเป้าหมายในเชิงสร้างเสริม ซึ่งหมายถึงการนึกถึงสิ่งที่เราต้องการจะได้มา ต้องการจะให้เกิดขึ้น หรือต้องการจะให้ดีขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะคิดในทางระมัดระวังไม่ให้เกิดอะไรที่ไม่ดี หรือระวังไม่ให้การเจรจาล้มเหลว การคิดวางเป้าหมายแบบสร้างเสริมจึงเป็นการคิดในเชิงพัฒนาไปยังสิ่งที่ดีกว่า การคิดถึงเป้าหมายแบบสร้างเสริมก่อนการเข้าพบพูดคุยกับคู่เจรจาว่าเราต้องการสิ่งใดจากการเจรจาครั้งนี้ จะช่วยให้เราเจรจาต่อรองได้โดยไม่หลุดจากเป้าหมาย การนึกถึงเป้าหมายแบบสร้างเสริมก่อนเจรจา จะทำให้เป้าหมายนั้นอยู่ในใจเราเสมอในระหว่างการพูดคุย และเพิ่มความมุ่งมั่นที่จะคุยกันให้ลงตัว โดยวิธีการปฏิบัติในการใช้เทคนิคเป้าหมายแบบสร้างเสริมก็คือ ใช้เวลา 1 นาทีก่อนการเริ่มเจรจา นึกให้ชัดเจนว่าเราต้องการให้ผลการเจรจาออกมาแบบพึงพอใจทั้งสองฝ่าย และเราอยากจะทำอะไร พูดอะไรบ้างในระหว่างการเจรจา เพียงแค่นี้เองเราก็น่าจะเข้าสู่การเจรจาได้ด้วยความมุ่งมั่นและมีโอกาสจะเจรจาได้สำเร็จมากขึ้น

 

 

รายการอ้างอิง

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Psychological safety – ความปลอดภัยทางจิตใจ

 

 

 

ความปลอดภัยทางจิตใจในการทำงาน คือ ความเชื่อของสมาชิกในทีมว่าตนจะไม่ถูกลงโทษ หรือหักหน้า จากการพูดถึงความคิด คําถาม ข้อกังวล หรือความผิดพลาด เพราะสมาชิกต่างต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงระหว่างบุคคลเมื่อต้องทํางานร่วมกับผู้อื่น ไม่ต้องการที่จะถูกเพิกเฉยจากการถามคําถามหรือหาข้อมูล ถูกมองว่าไม่มีความสามารถ ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี และถูกมองว่าเป็นคนที่รบกวนการทํางานของผู้อื่น

 

หากมีความปลอดภัยทางจิตใจในการทํางาน ผู้คนจะมีความมั่นใจที่จะกระทําพฤติกรรมต่าง ๆ อาทิ การถามคำถาม การแบ่งปันข้อมูล การขอความช่วยเหลือ การทดลองในสิ่งใหม่ๆ การพูดถึงความผิดพลาด และการขอผลป้อนกลับ ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ต่อไปได้

 

นั่นหมายความว่า การปลอดภัยทางจิตใจไม่ได้หมายถึงบรรยากาศที่สบาย ๆ เป็นกันเอง ความสนิทสนมกันของสมาชิก หรือการปราศจากแรงกดดัน หรือการไม่มีปัญหาภายในทีม ในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจนั้น จะเอื้อให้สมาชิกสามารถอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นปัญหาหรือข้อผิดพลาดต่าง ๆ ได้ เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดที่หลากหลายส่งผลทําให้เกิดการสร้างและแบ่งปันวิธีการในการแก้ไขปัญหารวมถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนากระบวนการและผลลัพธ์ในการทํางาน นำมาสู่การเพิ่มผลงานทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่ม

 

นอกจากนี้ ความปลอดภัยทางจิตใจช่วยลดความวิตกกังวลในการเรียนรู้ เมื่อพนักงานในองค์การต้องเรียนรู้สิ่งใหม่จากการเปลี่ยนแปลงขององค์การได้อีกด้วย

 

 

ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดความปลอดภัยทางจิตใจ

 

  1. บริบทสนับสนุน (context support) – การมีทรัพยากรข้อมูลและรางวัลอย่างเหมาะสมต่อทีม
  2. การสอนแนะจากผู้นํา (leader coaching)
  3. ความใส่ใจอย่างทั่วถึงของผู้นํา (leader inclusiveness)
  4. การปฏิสัมพันธ์ร่วมกับสมาชิกภายในทีมที่มีคุณภาพ

 

 


 

 

อ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างแรงจูงใจในการเรียนรู้กับความผูกพันต่อองค์การโดยมีความปลอดภัยทางจิตใจเป็นตัวแปรกำกับ” โดย วีระวัชร์ มงคลโชติ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/57930

จิตวิทยาการตลาด: ลูกค้าคือพระเจ้าจริงหรือ?

กลยุทธิ์การตลาดเมื่อในสมัยอดีตเป็นที่ทราบกันดีว่า เราจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับตัวสินค้า (Product) จึงเกิดคำว่า Mass Production ขึ้น องค์กรจะให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่ดีมีคุณภาพออกสู่ท้องตลาดในปริมาณที่มากเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มกำไร ในระยะเวลาต่อมา คู่แข่งทางการตลาดก็เริ่มมีเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคเริ่มมีโอกาสในการเลือกบริโภคสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการที่มัวแต่มามุ่งเน้นการผลิตสินค้าออกสู่ตลาดอย่างเดียวก็คงดูจะไปไม่รอด เพราะถ้ามีสินค้าแต่ไม่มีผู้ใดต้องการจะบริโภค ท้ายที่สุดผู้ประกอบการรายนั้น ๆ ก็คงต้องม้วนเสื่อเก็บกลับบ้านไป ผู้ประกอบการที่เริ่มไหวตัวทันก็จะเริ่มสนใจองค์ประกอบอื่น ๆ ทางการตลาดนอกเหนือไปจากตัวสินค้าเอง อาทิ กลยุทธ์เรื่องราคา สถานที่จัดแสดงสินค้า และการส่งเสริมการขาย สิ่งเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการรับรู้และพฤติกรรมของผู้บริโภคแทบทั้งสิ้น สุภาษิตท่านว่าไว้ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” แล้วเราจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกพึงพอใจและเลือกบริโภคสินค้าของเราได้อย่างไรกัน?

 

 

 

 

เริ่มจากที่ตัวสินค้า

 

เรามักจะคอยนึกถึงแต่ว่าเราจะผลิตอะไรออกสู่ตลาดจนบางครั้งเราลืมคำนึงไปว่า สินค้านั้นเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในขณะนั้น ๆ หรือไม่ ผู้ประกอบการบางท่านอาจจะแย้งว่า “เดี๋ยวเราทำการโฆษณาดี ๆ ก็ทำให้สินค้าขายได้เอง แล้วสินค้าของเราก็มีคุณภาพดีอยู่แล้ว” ถ้าเช่นนั้นเราต้องย้อนถามตัวเองว่า จ่ายแพงกว่าทำไม? กับการที่ต้องไปทุ่มเทโฆษณามากมายมหาศาลเพียงเพื่อจะยัดเยียดสินค้าที่ผู้บริโภคไม่ต้องการให้กับเขา ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดรุ่นใหม่ควรที่จะเปลี่ยนแนวความคิดดังกล่าว แล้วหันมาผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการแทนที่จะผลิตสินค้าที่ตนต้องการ เหมือนกับยุคหนึ่งมีสินค้าที่ดีมีคุณภาพและสร้างสรรค์ออกมาสู่ท้องตลาด นั่นก็คือผลิตภัณฑ์ Comfort-100 ยอดจำหน่ายไม่ค่อยสูงตามที่คาดการไว้ทั้ง ๆ ที่เป็นสินค้าที่มีไอเดียที่ดี หากแต่ในขณะนั้นผู้บริโภคยังไม่เกิดความต้องการที่จะบริโภคสินค้าประเภทนี้ ตรงกันข้ามยุคที่การถ่ายภาพสติ๊กเกอร์จากตู้ถ่ายได้รับความนิยมอย่างสูง ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทนี้ก็ตกกระไดพลอยโจน ไม่ต้องลงทุนอะไรมากนอกจากมีสินค้าเอาไว้บริการผู้บริโภคเท่านั้น ประหยัดงบประมาณการโฆษณาไปได้อีกหลายสตางค์ทีเดียว

 

สิ่งที่มีผลต่อการรับรู้และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นอกเหนือไปจากสินค้าเองแล้วนั้น เรื่องของราคาก็มีบทบาทที่สำคัญเช่นเดียวกัน

 

เมื่อยุคสมัยก่อนเราต่างรับรู้ว่าของดีต้องราคาแพง แต่ในปัจจุบันโลกแห่งการค้าเสรีเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตหลายรายผลิตสินค้าออกมาแข่งขันในตลาด ต่างก็ทำการห้ำหั่นราคาจนแทบต้องร้องเพลง “ยอมฉันยอมเจ็บปวด” ยอมที่จะขายเท่าทุนหรือในบางรายการยอมขายขาดทุนเพื่อช่วงชิงลูกค้า ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีเม็ดเงินอัดฉีดมากนั้น จำต้องตีฆ้องร้องกล่าวออกมาว่า “ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า” ผู้บริหารหรือผู้ประกอบการยุคใหม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางของตนเอง ในเรื่องของราคานั้นเป็นการยากที่เราจะไปเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคว่าเราควรเลือกใช้ของดีมีคุณภาพและของที่ดีมีคุณภาพนั้นราคาย่อมแพง ถ้าเราลองสุ่มผู้บริโภคในปัจจุบันแล้วสอบถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ เราจะพบว่าส่วนมากมีแนวโน้มความคิดใหม่ที่ว่า “ของดีราคาถูก” มีอยู่จริง จากที่เคยมีความนิยมชมชอบว่าเจ้าเสื้อโปโลที่มีเจ้าจระเข้เขียวเป็นโลโก้นั้น เป็นเสื้อที่ดีมีคุณภาพ แต่โอกาสที่จะมีไว้เป็นเจ้าของนั้นไม่มากนั้น เพราะสนนราคาที่ค่อนข้างแพง แต่ในปัจจุบันเสื้อโปโลที่เป็นสินค้าของไทยเพื่อคนไทยที่มีราคาถูกกว่าแต่คุณภาพเต็มเปี่ยมก็เริ่มเข้ามาในตลาดแล้ว

 

ยุทธวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการก็คงจะเป็นเรื่องของการปรับราคาต้นทุน โดยส่วนมากเรามักจะคำนึงถึงเราจะขายราคาเท่าไหร่จึงจะคุ้มทุน หรือภาษาทางการตลาดที่ว่า “Break Even Point” แต่เพื่อเป็นการรับมือกับคู่แข่งที่มากมายในตลาด เราจำเป็นต้องปรับลดต้นทุน หรือการลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีความจำเป็นหรือจำเป็นน้อยออกไป ทำให้เราสามารถที่จะขายสินค้าในราคาที่ผู้บริโภคพอใจที่จะซื้อได้ การลดต้นทุนอย่างง่ายก็เช่น การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในบางส่วน อาทิ การนำอินเตอร์เน็ตเข้ามาใช้ จากที่เคยต้องส่งแฟกซ์ข้ามจังหวัดข้ามประเทศ ก็ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นลงไป โดยการส่งอีเมล์แทน มีความสะดวกรวดเร็วและได้ผลดีกว่าวิธีการเดิมเสียอีก เมื่อรู้ดังนี้แล้วท่านผู้ประกอบการทั้งหลาย เริ่มคิดจะเปลี่ยนกลยุทธ์กันบ้างหรือยังคะ

 

 

ลูกค้า / ผู้บริโภค มีอิทธิพลต่อกลไกการตลาดอย่างไร?

 

ถ้าเราถามอาซ้ออาเฮียที่เปิดร้านโชว์ห่วยเมื่อในสมัยอดีตว่า ท่านเหล่านั้นมีการจัดวางสินค้าหรือมีการเลือกทำเลที่ตั้งร้านค้าอย่างไร เรามักจะได้ยินท่านว่า “ก็จัดร้านแบบตามใจข้านี่แหละรับรองว่าจำได้ว่าของอะไรอยู่ที่ไหน” แต่ท่านจำได้คนเดียวนะ คนอื่นเข้าไปแล้วอาจจะงงเป็นไก่ตาแตก บางทีผู้บริโภคอยากใช้ผงซักฟอกยี่ห้อหนึ่ง ท่านมีขายแต่ยี่ห้อที่ท่านชอบ จะซื้อก็ซื้อ เป็นซะอย่างนั้นไป คำว่าผู้บริโภคคือพระเจ้าอาจจะยังไม่เคยถือกำเนิดมาในยุคนั้น เมื่อวันเวลาผ่านไปกรรมใดใครก่อกรรมนั้นก็คืนสนอง ผู้บริโภคกลายเป็นผู้ชี้ชะตาชีวิตของธุรกิจให้ถือกำเนิดหรืออวสานได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ร้านค้าใดที่ไม่มีสินค้าที่ครบครัน หรือการจัดวางดูแล้วไม่เข้าที ผู้บริโภคก็ไม่ง้ออีกต่อไปเพราะเขามีร้านที่เรียกกันว่า Super Store ที่มีสินค้าแทบทุกประเภทและอยู่ในราคาย่อมเยา แถมด้วยบรรยากาศก็น่าเดินจับจ่ายใช้สอยเสียนี่กระไร ผู้ประกอบการเริ่มหันมาสนใจผู้บริโภคมากขึ้น มนุษย์เราทุกคนย่อมชอบความสะดวกสบาย นี่คือสัจธรรม หากท่านต้องการให้กิจการหรือสินค้าของท่านเป็นที่ติดตลาด ท่านย่อมเล็งเห็นให้ได้ว่าผู้บริโภคของท่านอยู่ที่ใด แล้วนำไปเสนอให้ใกล้ที่สุด ประเภทว่าคุยโม้โอ้อวดได้ว่าสินค้าของฉันดีเสียอย่าง เดี๋ยวลูกค้าก็มาหาเอง ท่านต้องมั่นใจให้ได้เสียก่อนว่าท่านไม่มีคู่แข่งเป็นแน่แท้ อย่างเช่น เมื่อสมัยที่โทรศัพท์มือถือรุ่นกระบอกข้าวหลามเข้ามาใหม่ ๆ มีขายเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่ไม่ต้องง้อใคร แต่ในปัจจุบันโลกแห่งการค้าเสรีมากขึ้น เราในฐานะผู้ประกอบการจะต้องเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่นสถานีเติมน้ำมันตราดาวแถวบ้านผู้เขียน เปิดทั้งสองฝั่งไปและกลับ ตรงข้ามกันเลย ประมาณว่าเอาใจผู้บริโภคอยากจะเติมตอนขาไปก็ได้ขากลับก็ได้ ไม่ต้องกลับรถเพราะเสี่ยงกับการเจอปัญหารถติดจนอาจทำให้เปลี่ยนใจไปเติมสถานีอื่นเสีย อีกสักตัวอย่างหนึ่ง แชมพูและครีมนวดผมยี่ห้อหนึ่งที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่านกพิราบ การจัดวางสินค้านั้นเรียกได้ว่าผู้บริโภคเดินไปตรงส่วนไหนของซุปเปอร์มาเก็ตก็เป็นต้องเห็น เขามีการวางโปรโมทสินค้าทั้งในทางเข้า ทางออกก่อนชำระเงิน และที่ชั้นวางสินค้าประเภทแชมพูและครีมนวดผม ทำเอาคนที่เห็นบ่อย ๆ เข้าก็เลยนึกอยากจะลองดูสักที ยิ่งประกอบกับยี่ห้อที่เราต้องการนั้นมันหายากหาเย็นหรือของหมดตลาดพอดี ก็ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีเปลี่ยนยี่ห้อใช้ดูสักทีก็แล้วกัน

 

 

ในวันหยุดสุดสัปดาห์คุณแม่บ้านคุณพ่อบ้านก็เตรียมตัวออกไปจับจ่ายใช้สอย แหล่งช้อปปิ้งนั้นมีมากมาย สินค้าก็มีหลากหลายประเภท แต่อะไรเป็นตัวที่จูงใจให้ผู้บริโภคเลือกที่จะไปสถานที่แห่งนั้นหรือเลือกซื้อสินค้านั้น ๆ

 

“คุณค่ะวันนี้เราไปห้างหมีขาวนะคะ ฉันเห็นเขาโฆษณาลดราคาสินค้าทุกชั้นทุกแผนกในช่วงวันหยุดนี้ ลดตั้ง 50 % แน่ะ ไปเร็วเข้าสิคะคุณ”

 

“ผมใช่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของระบบส้มหวานเพราะมีการบริการหลังการขายที่ดีเยี่ยมครับ”

 

จากตัวอย่างเราจะเห็นว่าการส่งเสริมทางการขายหรือที่เราเรียกทับศัพท์กันอยู่เสมอ ๆ ว่า Promotion เป็นสิ่งหนึ่งที่จูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกใช้สินค้าใดสินค้าหนึ่ง ผู้ประกอบการมักจะงัดกลยุทธิ์ ลดแลกแจกแถมออกมาเสนอแก่ผู้บริโภคอยู่เสมอ หากเรายังจำโฆษณาในสมัยก่อน ๆ ได้บ้าง เราจะพบว่าส่วนใหญ่ Concept ของงานโฆษณาเหล่านั้นคือการส่งสารให้ผู้ชมรับทราบว่ามีการแลกแจกแถมมากน้อยแค่ไหน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ทุกครั้งเมื่อเราพบโฆษณามักจะรับเปลี่ยนช่องถ้ากำลังดูโทรทัศน์ หรือเปลี่ยนคลื่นถ้าคุณกำลังฟังวิทยุ กระแสของการโฆษณาในสมัยนั้นขึ้นอยู่กับแนวคิดของผู้ประกอบการเสียส่วนใหญ่ และแล้วเมื่อถึงวันที่ผู้บริโภคขึ้นมาชี้ชะตาโฉมหน้าใหม่ของกลยุทธ์ในการส่งเสริมการขาย การโฆษณาแบบเก่าคงจะใช้ไม่ได้ผลเสมอไป ผู้บริโภคหันมาสนใจในอิมเมจของสินค้ารวมไปถึงตัวบริษัทกันเลยทีเดียว การดูแลผู้บริโภคในปัจจุบันจึงดูเป็นงานที่ยากขึ้น การสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ว่าบริษัทกำลังทำอะไรเพื่อผู้บริโภคและสังคมโดยรวม เหล่านี้จะเป็นการช่วยสร้างเสริมอิมเมจของทั้งองค์กรเองและสินค้า ยกตัวอย่างสินค้าเบียร์ยี่ห้อหนึ่งที่โฆษณาว่าบริษัทของเขาทำโครงการแจกผ้าห่มแก่ประชาชนที่ยากไร้ในช่วงฤดูหนาว ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า นอกจากที่เขาบริโภคเบียร์ยี่ห้อนี้แล้ว พวกเขายังได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือเพื่อมนุษย์อีกด้วย

 

งานนี้ผู้ประกอบการท่านใดที่มุ่งแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว ก็ดูจะเป็นการยากที่จะผงาดอยู่ในตลาดที่มีผู้บริโภคกุมบังเหียนอยู่ในขณะนี้ เทคนิคการแบ่งปันกำไรคืนสู่สังคมจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ดีในการสร้างอิมเมจให้กับตัวสินค้าและบริษัท

 

โฉมหน้าของการตลาดไทยสมัยใหม่ เราต้องหันมามุ่งเน้นที่ตัวผู้บริโภคกันมากขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากแนวความคิดทางการตลาดเมื่อในอดีตที่มุ่งเน้นแต่ตัวผลิตภัณฑ์ การที่ตลาดมุ่งเน้นที่ตัวผู้บริโภคนั้น คือ การดูแลและให้บริการลูกค้าเฉกเช่นเป็นสมาชิกของครอบครัว การเอื้ออำนวยความสะดวกตลอดจนการจดจำข้อมูลพื้นฐานของผู้บริโภคก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เหล่านี้จะช่วยในการเพิ่มยอดการขายของท่าน ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงจากธุรกิจ Pizza Hut ที่อเมริกา ระบบข้อมูลของลูกค้าดีมาก ทันทีที่มีลูกค้าโทรเข้ามาเพื่อสั่งพิซซ่า สิ่งแรกที่เราต้องการคือเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้า เมื่อเราคีย์เบอร์นั้นเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์จะปรากฏชื่อและที่อยู่ของเบอร์นั้น ๆ กรณีที่เป็นลูกค้าเก่า ก็จะมีบันทึกเอาไว้ว่าเคยสั่งอะไรไปเมื่อไหร่บ้าง เราก็สามารถสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกค้าได้โดยการถามไถ่ถึงออเดอร์ครั้งล่าสุดว่ามีคำติชมอย่างไรบ้าง จากนั้นเราก็เริ่มเสนอสินค้าตัวใหม่ให้ลูกค้าได้ลองนอกเหนือจากสิ่งที่ลูกค้าเคยสั่ง ในส่วนลูกค้าใหม่เราก็จะไม่พบข้อมูลการสั่งสินค้าใด ๆ เราก็สามารถทำการสำรวจตลาดได้ว่าเหตุใดลูกค้ารายนี้จึงไม่เคยสั่งสินค้ากับเราก่อนหน้านี้

 

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ลูกค้าถูกเสมอ” หรือ “ลูกค้าคือพระเจ้า” ถามว่ามันถูกต้องไหม ในความคิดของผู้เขียนคงดูจะไม่เป็นการถูกต้องทั้งหมด ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วเราคงต้องคอยเอาใจลูกค้ากันทุกคน หากแต่ในความเป็นจริงเราควรจะทำการจัดกลุ่มลูกค้าที่สนใจสินค้าหรือบริการของเราจริง ๆ หรือกลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกค้าของเราอยู่แล้ว การจัดให้มีบริการเสริม (Value Adding) สำหรับกลุ่มนี้ ก็จะทำให้ลูกค้าเก่าไม่เปลี่ยนใจไปหาใครอื่น

 

นอกจากนี้ นักการตลาดหรือผู้บริหารยุคใหม่นอกจากที่จะต้องให้ความสนใจกับผู้บริโภคมากเป็นพิเศษแล้ว ก็ไม่ควรมองข้ามบุคลากรในองค์กรของท่านด้วยนะคะ เพราะถ้าพวกเขาขาดขวัญกำลังใจหรือการได้รับการฝึกอบรมที่ดีแล้ว ก็คงไม่มีใครคอยดูแลลูกค้าของเราจริงไหมคะ

 

 

รายการอ้างอิง

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุกัลยา สว่าง

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Democratic behavior – พฤติกรรมประชาธิปไตย

 

 

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงได้ คนในสังคมจำเป็นต้องมีจิตใจ มีพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่เป็นประชาธิปไตยด้วย การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงจะสมบูรณ์และประสบความสำเร็จได้

 

ที่ผ่านมามีผู้ศึกษาวิจัย นักรัฐศาสตร์และนักจิตวิทยาจำนวนมากได้กล่าวถึงพฤติกรรมประชาธิปไตยไว้ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ (สมนึก มังน้อย, 2539)

 

1. การรู้จักบทบาทและหน้าที่ของตน
  • เคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบแบบแผนของสังคม
  • ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเต็มใจและเกิดผลดีต่อส่วนรวม
  • ปฏิบัติหน้าที่การงานสำเร็จตามกำหนดเวลาที่ได้รับมอบหมาย
  • เอาใจใส่ติดตามการปฏิบัติงานโดยไม่ทอดทิ้ง
  • ยอมรับบทบาทหน้าที่ของกันและกัน

 

2. การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
  • ให้โอกาสผู้อื่นแสดงความคิดเห็น
  • ไม่ดูถูกเหยียดหยามความคิดเห็นของผู้อื่น
  • สนใจฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยความเต็มใจ
  • ซักถามโดยใช้เหตุผลเมื่อไม่เข้าใจความคิดเห็นของผู้อื่น
  • ไม่ยึดถือความเห็นของตนเองว่าถูกต้องเสมอไป

 

3. การคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
  • รู้จักเสียสละโดยพิจารณาตามเหตุผลและความเหมาะสม
  • เต็มใจที่จะทำงานร่วมกับหมู่คณะ
  • ไม่ละเลยและเพิกเฉยต่อการกระทำใด ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมตามความสามารถและโอกาส
  • รู้จักอดทน อดกลั้น เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม
  • รู้จักละอายใจต่อความประพฤติของตนที่จะรักษาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ

 

4. การยอมรับและเคารพในสิทธิและหน้าที่ของบุคคล
  • ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยไม่ก้าวก่ายหรือรบกวนหน้าที่ของผู้อื่น
  • รู้จักให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น ไม่สนใจและให้ความสำคัญแต่เฉพาะตนเองเท่านั้น
  • รักความยุติธรรม
  • รู้จักเห็นอกเห็นใจและห่วงใยผู้อื่น
  • ยอมรับมติของหมู่คณะ

 

5. การใช้ปัญญาหรือเหตุผลในการตัดสินปัญหา
  • รู้จักการใช้เหตุผลในการพิจารณาตัดสินปัญหาเมื่อเกิดข้อขัดแย้ง
  • ตัดสินปัญหาโดยใช้ข้อมูลประกอบ
  • ไม่นำความเชื่อหรือโชคลางมาเป็นเครื่องตัดสินใจ
  • รู้จักวิเคราะห์และประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยใช้สติปัญญาและเหตุผลตลอดเวลา
  • แยกเรื่องส่วนตัวกับหน้าที่การงานออกจากกันในการทำงาน หรือการตัดสินปัญหาใด ๆ

 

 

ปัจจัยคัดสรรที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมประชาธิปไตย

 

ได้แก่

 

1. การอบรมเลี้ยงดู

 

ครอบครัวเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก เป็นสถาบันที่สร้างบุคลิกภาพ พฤติกรรม และสติปัญญาในอนาคตของเด็ก ซึ่งรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูที่ส่งเสริมพฤติกรรมประชาธิปไตยให้แก่เด็ก คือ การอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (authoritative parenting style) หมายถึง การที่พ่อแม่มีการควบคุมความประพฤติของเด็ก แต่ขณะเดียวกันก็พยายามอธิบายเหตุผลประกอบการกระทำ ด้วยการอธิบายกฎเกณฑ์ที่เด็กจะต้องประพฤติ และมีการยอมรับเด็กในระดับสูง ตอบสนองความต้องการของเด็ก เด็กได้เป็นตัวของตัวเองตามสมควร พ่อแม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่ถูกควบคุมและไม่เป็นอิสระมากจนเกินไป

 

ส่วนการอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดมากเกินไป แบบตามใจมากเกินไป และแบบปล่อยปละละเลย ไม่ช่วยให้เด็กมีความรับผิดชอบ ทำให้เด็กไม่มีวินัยในตนเอง ไม่ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น หรือคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีเหตุผลในการคิดตัดสินปัญหา

 

2. เพศ

 

แต่ละเพศให้ความสนใจกับพฤติกรรมประชาธิปไตยแตกต่างกัน ด้วยบทบาททางเพศที่ถูกกำหนดไว้จากครอบครัวและสังคมที่คาดหวังต่อผู้ชายและผู้หญิงที่ต่างกัน โดยผลการวิจัยในประเทศไทยพบว่า ผู้ชายให้ความสนใจต่อข่าวสารทางการเมือง และมีความคาดหวังต่อประโยชน์ของการปกครองท้องถิ่นหรือสุขาภิบาล และอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าผู้หญิง

 

3. การร่วมกิจกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียน

 

โรงเรียนเปรียบเสมือนสังคมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เด็กและวัยรุ่นมีพัฒนาการทางสังคมให้ดีขึ้น มีกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กมีส่วนเพื่อนร่วมให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพในสังคม เป็นสถานที่ถ่ายทอดการเรียนรู้ทางการเมืองทั้งทางตรง โดยการอบรมให้ความรู้ทางการเมืองการปกครอง และทางอ้อม โดยการจัดกิจกรรมให้เด็กได้รู้จักการปฏิบัติตนในสังคม สร้างพฤติกรรมทางการเมืองในโรงเรียน เช่น การเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น การยอมรับฟังเหตุผล การเลือกคณะกรรมการนักเรียน หรือการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานนักเรียน เป็นต้น

 

งานวิจัยในประเทศไทยพบว่า นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ มีทัศนคติทางการเมืองแบบประชาธิปไตย มีความสำนึก และกระตือรือร้น สนใจในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ส่วนนักเรียนนายร้อยทหารบกและนักเรียนนายเรือ มีทัศนคติทางการเมืองทั้งแบบอำนาจนิยมและประชาธิปไตยอยู่ในคนเดียวกัน แต่มีความโน้มเอียงไปทางอำนาจนิยมมากกว่าประชาธิปไตย

 

4. การรับรู้ข่าวสาร

 

ข่าวสารเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เมื่อบุคคลต้องการข้อมูลในการตัดสินใจหรือไม่แน่ใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บุคคลจะต้องการข่าวสารเพิ่มมากขึ้น โดยสิ่งที่ทำให้บุคคลเลือกรับสื่อต่าง ๆ ได้แก่ ทัศนคติและประสบการณ์เดิมของตน ครอบครัว สังคม วัฒนธรรม อายุ เพศ ภูมิลำเนา ตลอดจนการศึกษา

 

ทั้งนี้ อิทธิพลของสื่อมวลชนที่มีต่อประชาชนนั้นไม่ใช่อิทธิพลโดยตรง แต่เป็นอิทธิพลโดยอ้อม Klapper (1966) กล่าวว่า มีปัจจัยต่าง ๆ ที่กั้นอิทธิพลของสื่อมวลชน ได้แก่ ความมีใจโน้มเอียง/การเลือกของผู้รับสาร ผู้นำความคิดเห็นของคนในสังคม และธุรกิจด้านสื่อมวลชน (ว่ามีลักษณะเสรีหรือผูกขาดการนำเสนอข่าวสาร)

 

นอกจากนี้ อิทธิพลที่สื่อมวลชนมีต่อประชาชนเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น คือ สื่อจะสนับสนุนทัศนคติ ค่านิยม และแนวโน้มด้านพฤติกรรมของประชาชนให้มีความเข้มแข็งขึ้น พร้อมที่จะแสดงให้ปรากฏออกมาเมื่อมีแรงจูงใจเพียงพอหรือมีโอกาสที่เหมาะสม การทำหน้าที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงนั้น สื่อมวลชนจะสามารถมีอิทธิพลได้เมื่อบุคคลมีความโน้มเอียงที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว สื่อมวลชนเพียงแต่เป็นผู้เสนอหนทางในการเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเท่านั้น และสื่อมวลชนสามารถสร้างทัศนคติและค่านิยมใหม่ให้แก่ประชาชนได้ก็ต่อเมื่อ บุคคลนั้น ๆ ไม่เคยมีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งนั้นมาก่อน และบุคคลต้องได้รับสารที่เสนอเรื่องราวในแนวเดียวกันบ่อย ๆ เพราะการสร้างทัศนคติและค่านิยมใหม่นั้นเป็นอิทธิพลในลักษณะสะสมมีให้ก่อให้เกิดผลได้ในทันทีหรือระยะเวลาอันสั้น

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมประชาธิปไตยของวัยรุ่นตอนปลาย” โดย พัชราวลัย ศิลป (2545) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/10416

 

ภาพจาก https://www.huffingtonpost.com/fixcapitalism/do-we-really-want-democra_b_10799776.html

เทคนิคดูแลใจ : ปลุกความภูมิใจให้ตนเอง

 

บางครั้งเราอาจจะเคยได้ยินข่าวของคนรอบตัวของเราว่าช่วงนี้ดูเหมือนเขามีความทุกข์ ความเศร้า หน้าตาบ่งบอกว่ามีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในใจ บางคนก็เศร้าซึม บางคนก็ถึงขั้นซึมเศร้า ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุนานาประการ บางคนที่เคยมีความสุขหากแต่ไม่เคยเตรียมใจ พอมีเรื่องร้ายบางอย่างเข้ามากระทบ ก็ส่งผลให้อารมณ์หวั่นไหวได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับบางคนที่มีความภูมิใจในตนเองต่ำ อาการก็จะยิ่งหนักมากกว่าคนอื่นทั่วไป

 

สาเหตุของการมีความภูมิใจในตนเองต่ำ มีมากมายหลายประการ สะสมต่อเนื่องกันมาตลอดชีวิต ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการหล่อหลอมของครอบครัว รวมทั้งสังคมของแต่ละคน เช่น บางคนเกิดมาแล้วไม่เคยได้รับความรัก การดูแลเอาใส่ใจ ให้กำลังใจ บางคนพบกับประสบการณ์ของการสูญเสียความรัก บางคนไม่เคยได้รับการยอมรับหรือยกย่องจากบุคคลอื่น ทำให้รับรู้ตนเองว่าขาดความสามารถเทียบเท่าผู้อื่น หรือบางคนจริง ๆ แล้วก็มีความสามารถ แต่รับรู้ตนเองจากการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นว่า ตนเองไม่มีสามารถเพียงพอทัดเทียมกับผู้อื่น หรือไม่สามารถพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในขณะที่คนรอบข้างประสบความสำเร็จ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดแนวโน้มที่จะทำให้เรากลายเป็นคนที่มีความภูมิใจในตนเองต่ำได้ในที่สุด

 

 

 

ความภูมิใจในตนเอง แท้จริงเป็นเรื่องของการรับรู้ การตีความประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา หรือที่ยึดติดกับมัน จนกลายเป็นความเชื่อว่าตนเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บุคคลที่มีความภูมิใจในตนเองต่ำหรือรู้สึกตัวเองว่าไม่มีศักดิ์ศรี สู้คนอื่นไม่ได้ บางครั้งอาจมีลักษณะของความบกพร่องในการปรับตัว (Dysfunctional coping) ไม่สามารถจะต่อสู้กับปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ ขณะที่ผู้อื่นเขาสามารถผ่านจุดนั้นไปได้ ทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง บางครั้งก็รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า (Worthlessness) ไม่มีความสำคัญต่อคนรอบข้างหรือแม้แต่ในครอบครัวของตนเอง บางทีก็รู้สึกเหมือนว่าตนเองไม่มีใครจะคอยสนใจช่วยเหลือ (Helplessness) เหมือนอยู่คนเดียวในโลก ความรู้สึกจะค่อย ๆ ดิ่งลงทุกที ส่งผลให้รู้สึกขาดความหวัง (Hopelessness) ขาดกำลังใจ (Empowerlessness) รู้สึกเหนื่อย ท้อ และหมดแรงที่จะลุกขึ้นมาสู้ บางสถานการณ์อาจจะมีใครสักคนเข้ามาช่วยเหลือก็อดที่จะแอบคิดมองเขาในแง่ร้ายหรืออดระแวงไม่ได้ (Paranoid) มีความรู้สึกไม่ไว้วางใจ และคิดว่าเขาก็อาจจะจะรู้สึกไม่ดีต่อเรา ในบางอารมณ์อาจจะมีความรู้สึกเหมือนเกลียดตัวเอง บางขณะก็ดูเหมือนจะพยายามจะรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่นให้คงอยู่ (Maintain Positive Relationship) เพื่อใช้เป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ พยายามฝืนแสดงพฤติกรรมแบบเดิม ๆ ที่ตนเองเคยกระทำทั้งที่ไม่อยากทำหรือไม่มีความสุขที่จะทำ (Act in Their own behave) เพื่อให้คนรอบข้างยอมรับ

 

การสร้างความภูมิใจในตนเอง (Self esteem) จะเป็นการพัฒนาคุณค่าศักดิ์ศรีแห่งตนให้เกิดขึ้น โดยปกติแล้วความภูมิใจในตนเองจะเริ่มก่อตัวและสะสมมาตลอดช่วงชีวิตของคน ผ่านกระบวนการการรับรู้ของตนเอง เริ่มตั้งแต่ในช่วงต้นของชีวิตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันความภูมิใจในตนเองก็สามารถที่จะสูญสิ้นได้เช่นกัน ความภูมิใจในตนเองหรือการนับถือในตนเองนั้นจะเกิดขึ้นได้จากการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว ผ่านการซึมซับประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตอย่างต่อเนื่องไปจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ วิธีการในการสร้างความภูมิใจในตนเอง สามารถเริ่มได้โดยวิธีการต่อไปนี้

 

  1. พยายามคิดกับตัวเองในแง่ดีบ่อย ๆ หาสิ่งที่ดีในตัวเองให้พบและพูดในสิ่งที่ดีกับตัวเอง เช่น เราทำได้ เราเป็นคนเก่งคนหนึ่ง เราคิดในสิ่งที่คนอื่นคิดไม่ถึง ตอนนี้เราก้าวหน้าขึ้นมากกว่าแต่ก่อนมากเลย คำพูดดี ๆ เหล่านี้แม้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่คำพูดเหล่านี้ก็สามารถทำให้เราเปลี่ยนความรู้สึกที่เราเคยรู้สึกไม่ดีกับตัวเองให้ลดน้อยลงได้อย่างน่าแปลกใจ
  2. สร้างความรู้สึกว่า เราก็คือเรา เราไม่ใช่เขา ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปกดดันตนเองด้วยการเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่น ๆ ให้เสียอารมณ์ แต่ถ้าเราต้องการจะเปรียบเทียบ ก็ควรเปรียบเทียบตัวเราตอนนี้กับตัวเราในอดีต หรือเปรียบเทียบการพัฒนาตนเองกับเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เพื่อให้สามารถมองเห็นหนทางสู่ความสำเร็จจะเหมาะสมกว่า
  3. ใช้การออกกำลังกายเพื่อสร้างวินัยและเป็นการฝึกใจตนเองให้เข้มแข็ง มีแรงจูงใจที่มั่นคง วิธีการคือ การลองตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกายอะไรก็ได้ที่เราชอบ แล้วพยายามไปให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ เช่น ตั้งใจจะวิ่งให้ได้ถึง 30 นาที ก็พยายามจนสามารถทำได้ ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่แก้ตัวว่าไม่พร้อม หรือแสดงความสงสารตัวเองไม่อดทนไม่สู้ หากเราสามารถฝึกตนเองให้สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจ พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้เราเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น นอกจากนั้นการที่เราออกกำลังกายที่เสียเหงื่อ ยังทำให้ร่างกายหลั่งสารแอนโดรฟินหรือสารแห่งความสุขออกมา ยิ่งทำให้เรารู้สึกมีความสุขมากยิ่งขึ้น
  4. พยายามบอกกับตนเองว่า ไม่มีใครในโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบไปเสียทุกเรื่อง สิ่งที่สำคัญ คือ การยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบว่า อาจจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้เราเป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น หรือมองว่าในความไม่สมบูรณ์แบบอาจจะทำให้งานชิ้นนั้นมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งเดียวที่หาได้ยากและมีคุณค่าในตัวของมันเองก็ได้
  5. บอกกับตนเองว่า ทุกคนสามารถที่จะทำผิดพลาดได้ และความผิดพลาดนี่แหละที่จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้และเติบโตมากขึ้น ถ้าเรารู้สาเหตุของความผิดพลาดนั้น และทำให้ความผิดพลาดครั้งนั้นเป็นครูของเรา ที่จะสอนให้เราไม่ทำผิดซ้ำ
  6. หากจะต้องมีการเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้และอีกสิ่งนั้นเราควบคุมไม่ได้ จงพยายามให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ จะดีกว่าการจะไปเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่นอกเหนือจากการควบคุมของเรา เช่น การเปลี่ยนแปลงความคิดหรือควบคุมการกระทำของตนเอง จะทำได้ง่ายกว่าการไปเปลี่ยนแปลงคนอื่นให้คิดหรือเปลี่ยนแปลงการกระทำให้เป็นไปตามที่เราต้องการ
  7. พยายามให้เวลาในการทำในสิ่งที่ทำให้ตัวเรามีความสุขในทุก ๆ วัน แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น อ่านหนังสือ ทำอาหาร หรือการฝึกทำสิ่งต่างๆที่เราชอบ การได้อยู่กับสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขเหล่านี้จะทำให้เรามีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่คิดบวกมากยิ่งขึ้น
  8. เปิดโอกาสในการให้รางวัลหรือฉลองให้กับความสำเร็จของตนเองบ้าง แม้จะเป็นความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ ก็ตาม การให้ความสุขกับตนเองด้วยวิธีนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตนเองและทำให้เรามีความสุขมากยิ่งขึ้น
  9. การมีเพื่อน การได้มีโอกาสที่จะช่วยเหลือเพื่อน ๆ หรือได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ บ้าง ย่อมจะส่งผลดีต่อความรู้สึกของเรา และทำให้อารมณ์ของเราดีขึ้น มีความสุขมากยิ่งขึ้น และนับถือตนเองมากยิ่งขึ้น
  10. การเลือกคบหาสมาคมกับเพื่อน ๆ หรือคนที่คอยสนับสนุนให้เราคิดบวก จะทำให้เรามีความสุข พยายามค้นหากลุ่มคนที่จะทำให้เรารู้สึกดี และหลีกเลี่ยงในการคบหากับคนที่จะทำให้เราเกิดความรู้สึกทางลบหรือมองโลกในแง่ร้าย ชีวิตเราจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น

 

 

 

เทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ดีกับตนเองและเพิ่มความภูมิใจในตนเองมากยิ่งขึ้น การสร้างความภูมิใจให้เกิดขึ้นในตนเอง จะทำให้เรามีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น เกิดการรับรู้ตนเองดีขึ้น และจะส่งผลทำให้เราเป็นคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น การฝึกสร้างความภูมิใจให้เกิดขึ้น สามารถจะทำได้โดยความสำเร็จนั้นไม่ต้องเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ หรือเปรียบเทียบกับใคร การหมั่นคิดและฝึกรู้สึกแบบนี้บ่อย ๆ จะทำให้เรามองตนเองในแง่บวก ทำให้เราเกิดความรู้สึกชื่นชมในตนเอง มาถึงตอนนี้อยากให้ท่านลองหลับตา ยิ้มน้อย ๆ ที่มุมปากแล้วนึกถึงสิ่งที่ดีของตัวเราที่มีอยู่ ไม่ยึดตัวเองไว้กับอดีตที่ผ่านมา หรือไม่ผูกตัวเองไว้กับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ไม่เปรียบเทียบตนเองกับใคร เพราะไม่มีใครที่จะเหมือนกันในโลกนี้ ทุกคนจะมีความมหัศจรรย์ของตนเองเสมอ ไม่ทุกข์ใจกับความคาดหวัง แต่ให้นึกถึงสิ่งที่ดี หรืออุปสรรคที่เราผ่านมาได้จวบจนถึงวันนี้ เราจะรู้สึกดีกับตนเองมากยิ่งขึ้น พยายามขยายการรับรู้นี้ให้กว้างออกไป มองตนเองและบุคคลอื่นด้วยความคิดบวก มองว่าทุกคนล้วนแต่มีเรื่องที่น่าสนใจ ทุกคนล้วนต้องผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างกัน และเราก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น เมื่อเราสร้างความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมาได้ ก็จะทำให้เกิดความหวังและมีกำลังใจ และส่งผลให้เราสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น สามารถในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น และสามารถยืนได้อย่างสง่างามท่ามกลางคนหลายล้านคนในโลกใบนี้

 

 

 

ภาพประกอบจาก http://www.freepik.com

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย ผู้ช่วยศาสราจารย์ชูพงศ์ ปัญจมะวัต

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมเสวนาวิชาการ Lunch Talk#2 : ครูทำร้ายเด็ก : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน

LUNCH TALK มื้อที่ 2

วันอังคารที่ 29 กันยายน 2563

เรื่อง ครูทำร้ายเด็ก : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน

 

วิทยากร

รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต (อ.สมโภชน์)

ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ (อ.น้อง)

คุณเวณิกา บวรสิน (ครูส้ม)

 

ดำเนินรายการโดย

อ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ (อ.หยก)

 

 

 

 

 

สาเหตุที่การทำร้ายเด็กเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมคืออะไร?


 

อ.สมโภชน์ :

 

เรื่องนี้มองได้ 2 มิติ มิติแรกเป็นเรื่องค่านิยมของไทยตั้งแต่อดีต ที่เราเชื่อว่า “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” เมื่อเด็กทำผิด หรือทำไม่ถูกใจเรา เราก็จะลงโทษ อีกมิติหนึ่งเป็นเรื่องของการที่ครูไม่เข้าใจวิธีการที่จะจัดการกับปัญหาของเด็ก ซึ่งเด็กสมัยนี้แอคทีฟมาก ขณะที่ครูต้องการจะควบคุมเด็ก แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จึงใช้วิธีการรุนแรง และคิดว่าตนเองไม่ผิด

 

เรื่องค่านิยมการเลี้ยงดูนั้น ผมเชื่อว่าการที่เราใช้วิธีการเลี้ยงดูเด็กเช่นไร เป็นเพราะเราเคยมีประสบการณ์ถูกใช้วิธีการเช่นนั้นมาก่อน เป็นเรื่องของการเรียนรู้จากตัวแบบ ถึงแม้ว่าการที่เราถูกกระทำเช่นนั้นจะเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ แต่ในเวลาที่เราเผชิญกับปัญหาและไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร บวกกับการที่รู้สึกว่าจากที่เราเคยถูกกระทำมานั้น เราก็เงียบ ก็หยุด ดังนั้น เมื่ออยากให้เขาหยุดบ้าง เราก็เลยใช้วิธีการเช่นนั้นบ้าง

 

นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เรียนครู และไม่มีความรู้เกี่ยวกับเด็ก

 

อ.น้อง :

 

เมื่อเราไม่รู้จักวิธีอื่นที่ดีกว่า เราก็จะใช้สิ่งที่เราคุ้นเคย เช่น ถ้าตอนเด็ก ๆ เราถูกผู้ใหญ่ขู่ว่าถ้าทำไม่ดีจะจับขังห้องมืด เมื่อถึงเวลาที่เราต้องดูแลเด็ก เราก็จะใช้วิธีเหล่านี้กับลูกหลานของเราหรือเด็กที่เราดูแลด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจทำไปโดยไม่ตั้งใจ แต่เป็นสิ่งที่นึกได้ในเวลานั้น และในทางจิตวิทยา คนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเอง คือคิดว่า เรายังเติบโตโดยผ่านสิ่งนั้นมาได้ มันก็น่าจะโอเค โดยที่เราลืมไปว่าตอนเด็ก ๆ เราก็ไม่ชอบ แต่เราทำสิ่งเดียวกันนี้กับเด็กรุ่นหลัง ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันด้วยResearch ทั้งนี้ ต่อให้เราไม่ได้ถูกกระทำจากพ่อแม่ แต่ผู้ใหญ่คนอื่นในชีวิตเราก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเราได้เช่นกัน

 

ในสมัยที่ อ.น้อง โตมา เวลาเราทำการบ้านไม่ได้ หรือทำผิดทำพลาด ครูก็จะตี ตีแล้วก็จะอธิบาย แต่ในสมัยนี้เราพยายามที่จะไม่ให้มีการตี เพราะการตีมันเลยเถิดได้ การตีไม่สำคัญเท่าการอธิบาย ครูและนักจิตวิทยาเด็กจะทราบดีว่าการสอนเด็กทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องตีหรือใช้การลงโทษรุนแรง ยิ่งในเด็กเล็ก การทำร้ายร่างกายเป็นการทำร้ายจิตใจด้วย เพราะเด็กจะกลัว

 

 

 

ทำไมครูคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์จึงเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น?


 

อ.สมโภชน์ :

 

เป็นไปได้ว่าเป็นความเคยชินของครูบางคนที่มองว่าเป็นเรื่องปกติของการใช้ความรุนแรงในการควบคุมเด็ก และอาจเป็นไปได้ว่าเขาเข้าไปเตือนแล้ว แต่โดนสวนกลับ จึงไม่เข้าไปยุ่งอีก

 

อ.หยก :

 

ทางจิตวิทยาสังคมสามารถอธิบายได้ว่า บุคคลในเหตุการณ์อาจมองว่าเดี๋ยวก็มีคนอื่น ๆ เข้าไปจัดการ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเราโดยตรง แต่อย่างในกรณีที่เป็นข่าวนั้น อาจเป็นไปได้ว่าครูคนอื่นเคยเข้าไปห้าม แต่ถูกเตือนมาว่าความรุนแรงแบบนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ อย่างไรก็คงต้องไปติดตามข่าวเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะบางคนก็ยังพูดจริงบ้างไม่จริงบ้าง ข้อมูลยังไม่ตรงกัน

 

ครูส้ม :

 

จากประสบการณ์ของครูส้ม เคยได้ฟังจากที่ครูคนอื่นมาเล่าว่ามีครูบางคนเห็นเพื่อนครูในห้องทำโทษเด็กแบบรุนแรงแล้วเขาไม่ห้าม เพราะเขาเห็นว่าสิ่งที่ครูคนนั้นทำไปมันโอเค กรณีนี้เหมือนว่าเป็นอารมณ์ร่วมของครูในห้อง คือตนก็รู้สึกรำคาญอยู่แล้วเช่นกัน ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งทำโทษเด็กแบบรุนแรงแล้วทำให้เด็กในห้องหยุดพฤติกรรมที่ครูไม่พอใจ และทำกิจกรรมตามที่ครูต้องการได้ ครูคนอื่นที่เหลือก็จะปล่อยให้ทำโทษเด็กในลักษณะแบบนั้นต่อไป กรณีแบบนี้ผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่าต้องมีการตักเตือนว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ การลงโทษเด็กมีวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การทำร้ายเด็ก และการที่ครูคนอื่นเห็นเหตุการณ์แล้วไม่พูดหรือเตือน ให้ถือเป็นความผิดร่วมกันทั้งหมด เพราะถือเป็นผู้สนับสนุน

 

 

สภาวะจิตใจของเด็กที่ถูกทำร้ายจะเป็นอย่างไร?


 

ครูส้ม :

 

จากกรณีที่ครูสีส้มเคยเจอ คือมีเด็กที่เล็กมาก อายุ 2 ขวบ 8 เดือน ผู้ปกครองพามาสมัครเรียนที่โรงเรียนที่ครูสีส้มสอนอยู่ แต่เพราะยังเด็กเกินไปโรงเรียนจึงไม่ได้รับไว้ ผู้ปกครองจึงพาไปเข้าเรียนอีกโรงเรียนที่รับเด็กเข้าอนุบาลหนึ่งตั้งแต่ยังไม่ถึง 3 ขวบ และมีเปิดซัมเมอร์คอร์ส ปรากฏว่าไปเรียนได้เพียง 3 วัน คุณแม่พาเด็กกลับมา โดยที่เด็กมีอาการหวาดกลัวกับคำว่าคุณครู ไปแอบหลังพ่อแม่เมื่อได้ยินคำว่าคุณครู เด็กไม่ยอมเล่าอะไรให้ฟัง แต่เท่าที่ฟังเรื่องราว คาดว่าเด็กเห็นเพื่อนถูกทำร้าย ซึ่งกว่าที่เด็กคนนี้จะฟื้นฟูสภาพจิตใจได้ ยอมคุยกับครูคนอื่น ๆ ไม่ตื่นขึ้นมาร้องกรี๊ดหรือละเมอตอนนอนกลางวัน ใช้เวลา 1 ปีเต็ม จะเห็นได้ว่าเพียง 3 วันที่เด็กพบเจอความรุนแรง ต้องใช้เวลา 1 ปี ในการแก้ไขและปรับสภาพจิตใจ

คนเป็นครูควรต้องเรียนจิตวิทยาและมีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก ต้องสามารถจัดการกับเด็กได้ เด็กยิ่งเล็ก เขายิ่งป่วน พลังเยอะ เพราะเป็นวัยของการเล่นการซน การให้เขาอยู่นิ่ง ๆ เป็นเรื่องยาก หากเขาลุกเดินหรืออะไรบ้าง ครูต้องมีวิธีให้เขากลับมานั่ง หรือให้เขาลุกเดินลุกเล่นโดยที่ไม่ทำให้ห้องวุ่นวาย ในอดีตก็พบว่ามีกรณีที่ครูลงโทษเด็กรุนแรงเกินไป เช่น เมื่อ 2-3 ปีก่อน มีข่าวกรณีฟ้องร้องว่าครูใช้ไม้ตีเด็กเกือบโดนดวงตา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นครูที่ไม่ได้จบครู

 

 

 

แนวทางสำหรับพ่อแม่ในการสังเกตความผิดปกติของเด็กที่อาจถูกทำร้าย


 

อ.น้อง :

 

การลงโทษนักเรียนนั้น ในกรณีของเด็กโตไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะเขาสามารถสื่อสารได้ แต่สำหรับเด็กเล็ก เขาไม่ได้มีภาษาที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก พ่อแม่ต้องช่างสังเกตถึงสิ่งที่ผิดปกติ เช่น การฝันร้าย นอนละเมอ หรือการกลับมาฉี่รดที่นอน การเกาะพ่อเกาะแม่เมื่อเจอคนแปลกหน้าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หรือการกลัวอะไรแปลก ๆ เช่น อย่างในกรณีที่เป็นข่าวอยู่ในตอนนี้คือเด็กกลัวห้องน้ำ

สำหรับนักจิตวิทยานั้นจะมีวิธีที่เรียกว่า Play therapy / Art therapy คือ ให้เด็กเล่นหรือทำงานศิลปะ แล้วนักจิตวิทยาจะค่อย ๆ คุยกับเด็กผ่านการเล่นการระบายสี ดูการแสดงออก การพูดของเด็กในระหว่างการเล่นนั้น

 

อีกกรณีของเด็กที่น่าสงสารมากเรื่องหนึ่งคือ การที่เด็กถูกขู่ว่าไม่รัก ซึ่งเด็กก็อยากให้ครูรักทั้งนั้น ถ้าครูขู่ว่าจะไม่รัก หรือบอกว่าที่ทำไปเพราะรักนะ แบบนี้จะปิดปากเด็กได้มาก ถ้าพ่อแม่ไม่ถามหรือต่อให้ถามเขาก็อาจจะไม่พูด ต้องสังเกตอย่างเดียว

 

อ.สมโภชน์ :

 

พฤติกรรมของเด็กที่ผิดปกติไป แม้เพียงเล็กน้อย เช่น ซึมเกินไป ไม่รับประทานอาหาร หรือมีอะไรที่ผิดปกติไปจากที่เคยเป็น ก็ต้องตรวจสอบ ต้องไปเช็คที่โรงเรียน ระดับความผิดปกติของเด็กนั้น ถ้าเพียงแค่ซึม ก็แสดงว่ามีปัญหาบ้าง แต่ถ้าเด็กแสดงออกอย่างเช่นมีอาการกลัว นอนแล้วกรี๊ดหรือละเมอ แบบนี้แสดงว่าเด็กมีอาการของ trauma นับเป็นปัญหาใหญ่

 

ครูส้ม :

 

สำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เด็กไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่เด็กยังเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนรอบตัวด้วย ดังเช่นที่คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยว่า เด็กอยู่บ้านซนจะตาย แต่ครูบอกว่าที่โรงเรียนเป็นเด็กดี ซึ่งเป็นไปได้ว่า เด็กจะเรียนรู้ว่าถ้าเล่นซนแบบที่บ้านครูจะดุ หรือไม่พอใจ เด็กจึงพยายามทำตัวเป็นเด็กดีเพื่อให้ครูรัก นั่นแสดงว่า เด็กไม่จำเป็นต้องโดนทำโทษ แค่เห็นเพื่อนโดนทำโทษ เขาก็จะเรียนรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองได้

 

เด็กเล็กเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับจากครูค่อนข้างสูง เพราะเขาเพิ่งออกจากบ้านและก้าวเท้าเข้าสู่โรงเรียน ครูคือบุคคลภายนอกคนแรกที่เขารู้สึกว่ามีอำนาจ เขาจึงต้องการการยอมรับจากครู ไม่ว่าครูจะพูดจะสั่งอะไร เขาจะเชื่อฟัง เวลาที่เกิดปัญหาอะไรขึ้นที่โรงเรียน เด็กถึงไม่พูด เพราะอาจถูกบอกจากครูว่า ไม่ให้พูด ถ้าบอกใครครูจะไม่รัก หรือบอกว่า ที่ทำไปเพราะครูรักหนูนะ แม้พฤติกรรมจะไม่ใช่ แต่เด็กจะยอมรับเช่นนั้น ยอมรับในสิ่งที่ครูบอก เพราะเขาอยากได้การยอมรับจากครู

 

อ.น้อง :

 

การที่ผู้ใหญ่ใช้ความเป็นครูมาทำร้ายเด็กจึงเป็นเรื่องที่แย่มาก เพราะเด็กเขาไม่สู้ และเขายอมเพราะต้องการความรักจากครู ทุกคนที่ดูข่าวก็คงโกรธ แต่เราก็ต้องจัดการอารมณ์ของเราให้ได้ เพราะถ้าไม่ได้ ก็จะเป็นเช่นคนในข่าว ที่เขาทำร้ายเด็กเพราะเขาจัดการอารมณ์ตนเองไม่เป็นแล้วเอาไปลงกับเด็ก

 

 

 

 

อ.สมโภชน์ :

 

ถ้าเราสงสัยว่าลูกเราจะถูกทำร้ายที่โรงเรียน เราก็ต้องพูดคุยกับทั้งลูกและโรงเรียนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะเราคงไม่สามารถสรุปได้เองว่าเกิดอะไรขึ้น หากเราพบปัญหาว่าเด็กเกิดความกลัวจากการถูกทำร้ายที่โรงเรียน การแก้ไขจะค่อนข้างยาก เพราะเด็กยังอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่โรงเรียน การเรียนรู้ของเด็กที่ควรจะเรียนรู้ในโรงเรียนจะไม่เกิดขึ้น เด็กจะอยู่ในอาการแพนิค และยิ่งถ้าต้องพบเจอปัญหาไปนาน ๆ ได้พบเจอพฤติกรรมรุนแรงจากครูไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะโดนกระทำด้วยตนเองหรือกระทำกับเพื่อน ๆ ของเขาก็ตาม ความกลัวจะยิ่งแผ่ขยายมากขึ้น และต่อให้ย้ายโรงเรียนไป เด็กก็จะคิดว่าโรงเรียนก็คือโรงเรียน เขาก็จะกลัวเหมือนเดิม

 

ดังนั้นผมเสนอว่า ถ้าสาเหตุของปัญหาเกิดจากที่โรงเรียนจริง ขอให้นำเด็กออกจากโรงเรียน เพื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อม โดยจะต้องมีครูที่เข้าใจเด็กจริง ๆ รู้วิธีการว่าจะปฏิบัติกับเด็กอย่างไร เช่น ให้รางวัล พูดชมหรือกอดเมื่อเขามีพฤติกรรมที่ดี และถ้าเขามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เราสามารถลงโทษได้ด้วยการวางเฉยต่อเขา และบอกเขาในสิ่งที่เขาควรทำ เพราะเด็กยังไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ขอแค่ให้ครูบอกเขา

 

ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากพูดถึง คือ เรื่องความคาดหวังของผู้ปกครอง ว่าเมื่อไปโรงเรียนเด็กจะต้องรู้ภาษาอังกฤษ เก่งคณิตศาสตร์ เมื่อเป็นเช่นนี้ โรงเรียนและครูต้องรับความคาดหวังแบบนี้มาจากพ่อแม่ ซึ่งการจะสอนให้เด็กเรียนรู้วิชาเหล่านี้ได้ก็ต้องบังคับให้เด็กอยู่กับที่ แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กอยู่กับที่ ซึ่งขัดกับธรรมชาติของเด็กที่เขาจะต้องเคลื่อนไหว ซึ่งครูก็อาจจะเลือกใช้การตีเด็กหรือหยิกเด็ก ซึ่งเมื่อเด็กเจ็บเขาก็หยุด กล่าวได้ว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของกันและกัน คือไม่สามารถกล่าวโทษโรงเรียนอย่างเดียวได้

 

นอกจากนี้ การลงโทษนั้น ยิ่งครูทำรุนแรง พฤติกรรมของเด็กก็จะยิ่งถูกกดลงไป จึงเป็นเหมือนการเสริมแรงให้ครูทำรุนแรงมากขึ้น คือครูเห็นว่าการลงโทษเด็กแบบนี้สามารถหยุดเด็กได้

 

ในความเป็นจริงแล้ว การจัดกิจกรรมให้เด็กนั้นจะต้องจัดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว แต่เรื่องที่เกิดขึ้นในข่าว อาจเป็นเพราะครูไม่เข้าใจ และปฏิบัติกันแบบเดิมตามที่เคย ๆ ทำกันมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กสมัยนี้จะมี impulsive สูง (ความหุนหันพลันแล่น) เพราะมีเทคโนโลยีสูง ทุกอย่างมันเร็ว เขาก็จะเคลื่อนไหวเร็วด้วย ซึ่งนอกจากเด็กจะมี impulsive สูงแล้ว ครูเองก็เช่นกัน ควบคุมตนเองไม่ได้ เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ตอบสนองทันที โดยไม่ได้คิด

 

ดังนั้นแล้ว พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า เด็กเล็กนั้น เราไม่ควรจะต้องคาดหวังให้เขามาเรียนคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เด็กต้องเล่นตามวัย อย่าสร้างความกดดันเป็นทอด ๆ ไปสู่โรงเรียน สำหรับเด็กนั้นเมื่อถึงเวลาเขาก็จะเรียนรู้ได้ดี ไม่จำเป็นต้องเร่งเขา

 

อ.น้อง :

 

ถ้าชวนเด็กเล่น เขาจะเล่น ถ้าชวนเด็กเรียน เขาจะไม่เอา ง่ายที่สุดคือเราควรสอนผ่านการเล่น แบบนั้นจะสนุกทั้งคนสอนและคนเรียน โดยอัตราส่วนของคนสอนต่อเด็กต้องเหมาะสม เพราะไม่มีทางที่ผู้ใหญ่หนึ่งคนจะดูแลเด็กเป็นสิบ ๆ ได้ ไม่เช่นนั้นเมื่อเขาควบคุมเด็กไม่ได้ เขาจะควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ สัญชาตญาณที่ออกมาจะกลายเป็นความรุนแรง และพอใช้ปั๊บ เด็กหยุดในทันที เมื่อใช้ได้ผลเขาก็จะใช้ไปเรื่อย ๆ กรณีแบบนี้เราไม่ได้เจอแค่ในโรงเรียน พี่เลี้ยงเด็กที่บ้านก็มีแบบนี้เยอะเหมือนกัน พี่เลี้ยงที่ทารุณเด็กเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่บ้านก็มี ปัญหานี้จึงไม่ใช่แค่ปัญหาที่โรงเรียน แต่เป็นปัญหาของพี่เลี้ยงที่ไม่ได้รับการฝึกมา และไม่มีใจที่รักเด็กจริง ๆ

 

ครูส้ม :

 

การเปลี่ยนสถานที่หรือการย้ายโรงเรียนอาจไม่ช่วยเท่าที่ควรถ้าไปเจอครูแบบเดิม นั่นคือ ถ้าเด็กถูกครูทำร้าย เด็กจะเกิดความไม่ไว้ใจครู ดังนั้น หากมีการย้ายโรงเรียนใหม่ ครูจะต้องสร้างความไว้ใจให้เด็ก จนกระทั่งเด็กรับรู้ว่าครูไว้ใจได้ อย่างเช่นกรณีเด็ก 2 ขวบที่เล่าไปนั้น ทุกเช้าครูส้มต้องไปรับมาจากคุณแม่ที่หน้าโรงเรียน และจะพาเขาเดินดูรอบโรงเรียน ครูคนอื่นก็จะทัก คุยเล่นโดยยังไม่เข้ามาแตะตัว ไม่ทำอะไรเขา ซึ่งก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าที่เด็กจะเกิดความไว้ใจ ยอมคุยกับครูคนอื่นในห้อง และยอมให้ครูห้องอื่นแตะตัวได้ นอกจากนี้ยังต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วย ว่าตอนนี้เราต้องการแก้พฤติกรรมการกลัวโรงเรียนและการกลัวครูของน้องก่อน เรื่องอื่นอย่าเพิ่งคาดหวัง แต่ครูก็จะพยายามเสริมให้ ซึ่งเด็กก็อาจจะยังเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ ตราบใดที่ความไม่ไว้วางใจในตัวครูยังแก้ไม่หาย

 

ในกรณีที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้ อย่างแรกที่อยากให้ทำ คือ การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในห้อง อย่าให้เด็กมีภาพติดตากับสิ่งที่เขาเคยเห็น ถ้าพ่อแม่ยังพาเด็กออกจากโรงเรียนไม่ได้ โรงเรียนก็ต้องช่วยด้วยการปรับสภาพแวดล้อม รวมถึงบุคลากรที่จะรับเข้ามาทำงาน ต้องเป็นคนที่เข้าใจเด็กและปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องคุยกับพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอ

 

 

 

 

 

บุคลากรที่เกี่ยวข้องในสถาบันการศึกษาควรมีคุณสมบัติอย่างไร?


 

อ.น้อง :

 

คนอยู่กับเด็กต้องสนุกกับการอยู่กับเด็ก รักเด็ก ไม่ขี้รำคาญ ไม่ขี้หมั่นไส้ ไม่ใจร้อน ถ้าไม่มีคุณสมบัติที่จะอยู่กับเด็กเล็ก ก็อย่าฝืน เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายได้มาก อย่างเคสเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่พี่เลี้ยงเด็กกระทืบเด็ก เมื่อเขาได้ทำสักครั้งแล้ว เขาจะทำแรงขึ้น ๆ

 

อ.สมโภชน์ :

 

คนที่มาเป็นครูอนุบาลต้องผ่านการอบรม ต้องเป็นคนที่เข้าใจเด็กและยอมรับเด็กได้ และควบคุมอารมณ์ตนเองได้ สำหรับคนที่มีความหุนหันพลันแล่น บางทีเขาอาจทำรุนแรงไปโดยไม่ตั้งใจ แต่เพราะเขาไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง และเมื่อคุมอารมณ์ไม่ได้ จึงอาจหันไปใช้ความเคยชินหรือสิ่งที่เคยเรียนรู้มาในอดีต คือใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้นพื้นฐานเริ่มต้นเลยคือต้องเป็นคนที่รักเด็ก และผ่านการฝึกที่จะเข้าใจและยอมรับธรรมชาติของเด็กและสิ่งที่เด็กเป็น

 

คนที่ทำความรุนแรงกับเด็กไปแล้วนั้น ถ้าครั้งต่อไปไม่ได้ผล เขาก็จะทำแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละครั้งที่ได้ผล ก็จะเป็นการเสริมแรงเขา ว่าเขามีอำนาจเหนือเด็ก จนกระทั่งลืมตัวไปว่าเขาไม่มีสิทธิ์ทำร้ายใคร

 

การลงโทษนั้นเป็นเรื่องที่กระทำได้ แต่ต้องเข้าใจว่าจุดประสงค์ของการลงโทษคือการหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อย่างพฤติกรรมรุนแรง เช่น การที่เด็กจิกหัวเพื่อนไปกระแทกผนัง เด็กไปกัดเพื่อน แบบนี้เราต้องลงโทษ แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมทั่วไปของเด็ก เช่น เด็กซน เด็กวิ่ง เด็กไม่ทำตามสิ่งที่เราบอก แบบนี้ไม่ควรจะลงโทษเลย สำหรับพฤติกรรมของเด็กที่รุนแรง เราไปดึงเด็กออกมาเฉย ๆ ไม่ได้ เราควรที่จะต้องลงโทษ โดยวิธีการลงโทษนั้นต้องไม่ใช่วิธีการรุนแรง ไม่ลงโทษด้วยอารมณ์ และต้องตามมาด้วยการสร้างพฤติกรรมใหม่ให้เขาด้วย คอนเซปต์ของการลงโทษคือการหยุด หยุดเพื่อสร้าง เช่น หากเด็กกัดเพื่อน เราต้องหยุดการกัด และอาจจะสอนให้เขาลองจับมือเพื่อน กอดเพื่อน หรือสอนให้เขารู้จักการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เหมาะสม และให้การเสริมแรงเขาด้วยการชื่นชม ทำให้เขาเรียนรู้ว่าการอยู่ร่วมกันต้องเป็นแบบนี้

 

 

 

ในปัจจุบันโรงเรียนมีการคัดกรองบุคลากรในการรับเข้ามาทำงานหรือไม่?


 

ครูส้ม :

 

ตามปกติแล้วจะต้องมีการคัดกรอง อย่างแรกเลยก็คือคนที่เป็นครูประจำชั้นจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ จบครูมาโดยตรง ถ้าไม่จบครูมาโดยตรงจะเป็นได้แค่พี่เลี้ยงเด็ก และในโรงเรียนที่มีมาตรฐาน พี่เลี้ยงเด็กก็ต้องผ่านการอบรม หรือมีเอกสารรับรองคุณวุฒิว่าผ่านการอบรมในโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลเด็กในวัยเดียวกับที่มาสมัครทำงานเพื่อดูแลเด็กในวัยนั้น ๆ

 

 

เราควรจะร่วมด้วยช่วยกันอย่างไรบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก?


 

อ.น้อง :

 

เราทุกคนต้องเตือนตัวเองว่า เรื่องอารมณ์เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะต้องจัดการอารมณ์ของตนเองให้ได้ ไม่ใช่นำมาเป็นข้ออ้างในการทำร้ายผู้อื่น ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกว่า EQ นั่นคือ เราต้องรู้จักตนเอง ถ้าเราเหนื่อยมากทำงานไม่ไหว หรือถ้าอยู่ในอารมณ์แบบนี้แล้วไปทำงาน จะต้องทะเลาะกับคนอื่นแน่ ๆ ก็ไม่ต้องไป ลางานไปเลย เราต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ที่จัดการอารมณ์ตนเองได้หรือไม่ได้ และจะจัดการอย่างไร ไม่ใช่เอาอารมณ์ตนเองไปโยนใส่คนอื่นและขอให้เขาเห็นใจ เช่นนั้นเราจะเรียกตนเองไม่ได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ดี

 

ถ้ามีช่วงเวลาที่เราจัดการตนเองไม่ได้จริง ๆ เราอาจต้องพึ่งมืออาชีพ ไปคุยกับนักจิตวิทยา หรือไปหาเพื่อนฝูงที่สามารถช่วยเหลือเรื่องจิตใจเราได้ ในบางครั้งเราช่วยเหลือตนเองไม่ได้แต่เราก็ต้องรู้ตัว อย่าปล่อยให้อารมณ์พาไป ข้ออ้างที่ว่าเราไม่ได้ตั้งใจมันพูดง่ายมาก ไม่มีใครหรอกที่ตั้งใจ แต่การไม่ตั้งใจนั้น อาจมาจากการที่คุณไม่รับผิดชอบต่อตนเองจนเอาความรับผิดชอบนั้นไปไม่รับผิดชอบต่อคนในสังคมด้วย

 

อ.สมโภชน์ :

 

คนที่จะเป็นครูต้องรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบตนเอง และรู้ว่ามีสิทธิแค่ไหน ทุกคนมีอารมณ์ แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาอารมณ์ของเราไปลงกับเด็ก เด็กควรได้รับความรัก ความเข้าใจ และนำพาเขาไปสู่สิ่งที่ควรได้รับ ในทุก ๆ วันครูอาจจะต้องฝึกกำหนดลมหายใจ นับเลข เพื่อให้ตนสงบลงเมื่อรู้สึกว่าควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นต้น

 

ครูส้ม :

 

ผู้ปกครองเองก็ควรพูดคุยกับเด็กเป็นประจำ วันนี้ที่โรงเรียนหนูทำอะไรไปบ้าง วันนี้มีอะไรเล่าให้พ่อแม่ฟังซิ การที่พูดคุยกับลูกเป็นประจำ ถ้ามีอะไรผิดปกติเด็กจะกล้าบอก ที่สำคัญคือผู้ปกครองต้องรับฟังเด็ก ไม่ใช่ถามแล้วไม่ตั้งใจฟัง หรือลูกเล่าอะไรออกมาก็ดุเขาไว้ก่อน ลูกก็จะไม่อยากเล่า เพราะฉะนั้นให้คุยกันให้เหมือนชีวิตประจำวัน คุยกันให้เขารู้สึกเป็นเรื่องธรรมดาที่จะคุยกันว่าเขาเจออะไร ให้เขารู้สึกวางใจว่าการคุยนี้จะไม่ได้การรับการลงโทษ เช่น การดุว่า หรือการตำหนิ เมื่อทำเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่จะได้รับข้อมูลอีกเยอะ และจะทราบได้ว่าลูกของเรามีความผิดปกติใดหรือไม่ เช่น ทุกทีเคยคุยมา 3 ประโยค วันนี้คุยมาประโยคเดียว เท่านี้ก็พอจะทราบได้แล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้น และเราจะตรวจจับความผิดปกติได้เร็วขึ้น

 

 

สรุป


 

บุคลากรที่เป็นครูหรือคนดูแลเด็กเล็ก จะต้องมีสติ รู้จักตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองว่าต้องเองกำลังดูแลอนาคตของชาติ ไม่ควรเอาอารมณ์ทางลบของตนเองไปโยนให้เป็นภาระและทำร้ายผู้อื่น พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ต้องใส่ใจบุตรหลานของตนเอง พูดคุยสารทุกข์สุกดิบกันทุกวัน หมั่นสังเกตบุตรหลานของตนเอง เพื่อที่ว่าวันใดหากเกิดอะไรที่ไม่ดีขึ้น เขาจะได้กล้ามาบอกเรา เราจะได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

 

 

 

รับชมการเสวนาออนไลน์ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/642641639724673/