News & Events

บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง – Narcissism

 

 

บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ถูกมองว่าเป็นอาการผิดปกติทางบุคลิกภาพ

ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 4 (DSM-IV) ระบุว่าบุคลิกภาพแบบหลงตนเองมีลักษณะเด่นที่

 

การเห็นว่าตนดีกว่าหรือเหนือกว่าผู้อื่น ต้องการเป็นที่สนใจ แสวงหาการได้รับการยกย่องชื่นชม และได้รับความสนใจในฐานะเป็นบุคคลสำคัญ คาดหวังว่าตนจะเป็นที่รักของผู้อื่น และได้รับความสนใจในฐานะเป็นบุคคลสำคัญ หมกมุ่นอยู่กับความเพ้อฝันในความสำเร็จ อำนาจ ความรุ่งโรจน์ ความฉลาด ความสวยงาม รวมถึงประเมินความสามารถของตนสูงเกินความเป็นจริง ประกอบกับคิดถึงแต่ตนเองเป็นที่ตั้งและยึดตนเองเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ตนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย รู้สึกว่าตนสมควรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นเพื่อตนเอง เพราะตนเองมีความหมกมุ่นในสิ่งที่ปรารถนา รวมทั้งขาดความเห็นอกเห็นใจ ไม่สนใจหรือรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น แสดงพฤติกรรมและเจตคติในลักษณะที่หยิ่งยโส อวดดี ปกป้องตนเองจากคำวิจารณ์ของผู้อื่นและอิจฉาผู้อื่น ซึ่งลักษณะเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

 

 

บุคลิกภาพแบบหลงตนเองนี้ นอกจากจะนับเป็นอาการผิดปกติทางจิตวิทยาแล้ว ยังสามารถพบได้ในบุคคลทั่วไปด้วย

 

งานวิจัยพบว่าผู้ที่มีบุคลิกภาพหลงตนเองจะพยายามสร้างตัวตนในอุดมคติที่มีความสมบูรณ์แบบขึ้นมา และแสวงหาการยืนยันตัวตนในอุดมคติ ซึ่งเป็นตัวตนที่มีความสวยงาม หรูหรา ดีเลิศ แสดงให้เห็นถึงการรับรู้เกี่ยวกับตนเองแบบผิด ๆ ของผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แม้บุคคลคิดว่าตนเป็นคนสำคัญ แต่ลึกๆ ในใจแล้วกลับตระหนักว่าตัวตนที่แท้จริงมีความแตกต่างจากตัวตนในอุดมคติ ส่งผลให้ในระดับจิตไร้สำนึกบุคคลมีความรักหรือเห็นคุณค่าของตัวตนที่แท้จริงในระดับต่ำ การพยายามเพิ่มคุณค่าให้กับตนเองอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นไปเพื่อรักษาภาพลวงตาที่ตนได้สร้างเอาไว้

 

Kernberg (1975) กล่าวว่า ความหลงตนเองมีสาเหตุจากการที่บุคคลขาดความรักความเอาใจใส่ในวัยเด็ก พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างละเลย เด็้กจึงโดดเดี่ยว ถูกปฏิเสธ ทำให้บุคลิกภาพแบบหลงตนเองพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันตนเองจากความรู้สึกสูญเสีย ถูกทอดทิ้ง ส่งผลให้บุคคลหวาดกลัวกับการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่สนใจและเพิกเฉยต่อผู้อื่น เชื่อว่าตนเองเท่านี้ที่สามารถเชื่อถือได้ และไม่ไว้ใจผู้อื่น

 

เช่นเดียวกับ Kohut (1977) ที่เสนอว่า ความหลงตนเองมีที่มาจากการถูกทอดทิ้งหรือขาดความสนใจ ความล้มเหลวของครอบครัว พ่อและแม่ไม่แสดงความรักและความผูกพันกับลูก แต่ลูกกลับพยายามทำตนตามความสมบูรณ์แบบของพ่อและแม่

 

ขณะที่ Emmons (1987) ได้เสนออีกแนวคิดหนึ่งว่า ความหลงตนเองเกิดจากการที่ครอบครัวให้คุณค่ากับเด็กสูงเกินไป โดยเด็กถูกเลี้ยงดูอย่างเอาใจใส่และปกป้องจากพ่อแม่มากเกินไป ราวกับว่าตนเป็นคนพิเศษ ความรักของพ่อและแม่ที่มีต่อตนทำให้เด็กคิดว่าตนเป็นที่สนใจ เป็นที่รักของพ่อแม่และบุคคลรอบข้าง และรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบ เด็กจึงหลงตนเอง

 

งานวิจัยของ Wink ได้แบ่งคนหลงตนเองเป็น 2 ประเภท คือ คนหลงตนเองแบบเปิดเผย (Overt Narcissist) จะมีลักษณะชอบแสดงอำนาจ อิสระ เชื่อมั่น มักก้าวร้าว ชอบเป็นที่สนใจและยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง และคนหลงตนเองแบบปกปิด (Covert Narcissist หรือ Hypersensitive Narcissist) จะมีลักษณะปกป้องตนเอง อ่อนไหว ขาดความมั่นใจ รู้สึกไม่พอใจตนเอง โดยมีผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองและสุขภาพจิตต่างกัน ผู้ที่หลงตนเองแบบเปิดเผยจะมีการเห็นคุณค่าในตนเองสูง แต่ผู้ที่หลงตนเองแบบปกปิดจะเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ คนหลงตนเองแบบเปิดเผยจึงมีสุขภาวะทางจิตที่ดีกว่า มีความสุขในชีวิตมากกว่าคนหลงตนเองแบบปกปิด

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของความหลงตนเอง รูปแบบความรักแบบเล่นเกม และการกระตุ้นลักษณะเน้นความสัมพันธ์ต่อการผูกมัดในความสัมพันธ์” โดย สุธาสินี ใจสมิทธ์ (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20752

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองต่อการตอบรับของผู้บริโภค : การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านความเป็นวัตถุนิยมและอิทธิพลกำกับของรูปแบบการ ดึงดูด” โดย วรรณธิดา ปางวิรุฬห์รักษ์ (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/37505

ภาพพื้นหลังจาก http://www.pixelstalk.net/black-grunge-wallpaper/

“อุเบกขา” ในทางจิตวิทยาและประสบการณ์การสังเกตสภาวะ

หวั่นไหว… หวาดหวั่น… หวาดกลัว… เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้อาจถูกเรียกว่า “ความทุกข์ใจ” และในบางครั้ง ช่วงเวลาที่ถูกเรียกว่าความสุขก็ยังเจือปนด้วยความทุกข์เหล่านี้เช่นกัน จะมีหนทางใดที่ทำให้เราหลุดพ้นจากความวนเวียนทางอารมณ์นี้ หรือความรู้สึกใดบ้างที่กล่าวได้ว่าเป็นสภาวะที่เป็นอิสระ และอยู่เหนือไปจากความสุข

 

ในขณะที่เขียนบทความฉบับนี้ ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาจิตตปัญญาศึกษาที่มุ่งศึกษาเรื่องภายในระดับจิตวิญญาณ และปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่มุ่งเน้นเหตุปัจจัยภายนอก ฟังดูอาจจะเชื่อมโยงกันค่อนข้างยาก ผู้เขียนมองว่าพฤติกรรมที่เราสังเกตและศึกษาได้นั้น ล้วนมีเหตุเบื้องลึกจากภายในจิตใจ ดังนั้น การศึกษาทำความเข้าใจสภาวะของจิต ย่อมทำให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติตามที่เราคาดหวังได้

 

 

ปัจจุบันผู้เขียนมีความสนใจศึกษาจิตวิทยาแนวพุทธ หรือ Buddhist Psychology ซึ่งเป็นการนำศาสตร์ทางจิตวิทยามาใช้อธิบายกระบวนการเกิดและการดับแห่งทุกข์ อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา และสภาวะที่ผู้เขียนมุ่งศึกษาเป็นพิเศษคือ “อุเบกขา” ซึ่งเป็นทั้งหลักธรรมและองค์ประกอบในหลายหมวดธรรม โดยข้อที่รู้จักกันมากได้แก่ พรหมวิหาร ๔ อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

 

คำว่าอุเบกขา เป็นคำที่ประเทศไทยใช้ทับศัพท์มาจากภาษาบาลี โดยอุเบกขานี้เป็นสภาวะที่อธิบายถึงการไม่ตกไปในอำนาจของอารมณ์ความรู้สึกในฝั่งฝ่ายใด (เช่น สุข ทุกข์ รัก ชัง) ด้วยจิตที่มีสติตั้งมั่นและเปี่ยมด้วยปัญญาอย่างสม่ำเสมอ หรือในอีกความหมายคือ เป็นสภาวะจิตที่ตื่นรู้อารมณ์ต่าง ๆ เพียงรับรู้แต่จิตไม่เข้าไปยึดและไม่เข้าไปเสพอารมณ์ใด

 

ปัจจุบัน อุเบกขา ถูกเรียกด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Equanimity” (\ee-kwuh-NIM-uh-tee\) ซึ่งถูกกล่าวถึงทั้งในบริบทของคริสต์ศาสนา พุทธศาสนา และจิตวิทยาสมัยใหม่ (Modern Psychology) ที่ไม่เกี่ยวข้องโยงใยกับศาสนาใด ๆ ในแง่มุมของศาสนา อุเบกขา หรือ Equanimity มีรากฐานมาจากเรื่องของความรัก หรือความเมตตาต่อสรรพสิ่ง เป็นความรักอันบริสุทธิ์ที่ปราศจากเงื่อนไข (Agape (ἀγάπη) ซึ่งในคริสต์ศาสนา ผู้ที่จะเข้าถึงสภาวะอุเบกขานี้ได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรักในระดับ Agape ซึ่งหมายถึงพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น ส่วนทางพุทธศาสนามองว่า มนุษย์ทุกคนสามารถฝึกจิตตนเองให้เกิดสภาวะนี้ได้จากการเจริญสติ (Mindfulness) และการเจริญปัญญาจนรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับมุมมองของจิตวิทยาสมัยใหม่ที่กล่าวว่า Equanimity เป็นผลมาจากการเจริญสติ และการฝึกสมาธิ (Meditation) (Anālayo, 2021; Desbordes, 2015) แตกต่างกันที่อุเบกขาในทางพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญกับการเจริญปัญญาควบคู่กับการเจริญสติ ในขณะที่มุมมองจิตวิทยาสมัยใหม่ไม่ได้มีการกล่าวถึง “ปัญญา” มากนัก

 

 

ในหลักธรรมทางพุทธศาสนา นอกจากพรหมวิหาร ๔ แล้ว ยังมีหลักธรรมอีกหลายหมวดที่มีอุเบกขาเป็นองค์ประกอบขั้นสูงสุด เช่น โพชฌงค์ ๗ ทศบารมี และอื่น ๆ โดยอุเบกขาสามารถจัดแบ่งตามลักษณะอาการ (ส่วนประกอบในระดับเจตสิก) และหน้าที่ได้ ๑๐ ประการ และได้จากการฝึกสติปัฏฐาน ๔ อาทิ การเจริญอานาปานสติ หรือการฝึกสมาธิจนเกิดเป็นองค์ฌาน เป็นต้น ในด้านการพัฒนาปัญญาที่จะเข้าถึงสภาวะอุเบกขาได้นั้น อาจต้องทำความเข้าใจถึงสัจจะเบื้องต้นในเรื่องของชีวิตก่อน หลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า

 

สิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นเสมือนว่ามีจริงนั้น ล้วนเกิดจากส่วนประกอบย่อย ๆ ที่เรียกว่าธาตุ เมื่อมาประกอบกันและทำหน้าที่แสดงอาการต่าง ๆ จึงเรียกว่าเป็นขันธ์ มนุษย์ประกอบด้วย ๕ ขันธ์ ได้แก่ รูป (ร่างกาย) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความทรงจำ) สังขาร (การปรุงแต่ง) และวิญญาณ (ตัวรู้) ซึ่งทั้งห้าส่วนนี้ ทำงานสอดคล้องกันจนเกิดเป็นการรับรู้ เกิดความนึกคิด ความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ และแสดงการกระทำผ่านทางร่างกายอันเป็นธาตุประกอบในโลกทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเมื่อธาตุลมดับออกจากร่างกาย เราจึงถือว่าบุคคลนั้นตายจากโลกนี้ไป ส่วนธาตุอื่น ๆ ก็สลายกลับคืนธรรมชาติไป … ทุกสิ่งล้วนเป็นธรรมชาติ ไม่เคยมีเราเป็นเจ้าของสิ่งใด

 

 

ในช่วงปิดภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อุทิศเวลาทั้งหมดที่มีเพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา โดยเริ่มจากการวางปริยัติลงเสียก่อน เนื่องจากรู้สึกว่ายิ่งแบก ความรู้ยิ่งหนัก ใจยิ่งฟุ้งซ่านและไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่เป็นเป้าหมายได้ แม้ว่าในปัจจุบัน ผู้เขียนอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงสภาวะนี้ได้โดยสุดรอบ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เข้าใจและเข้าถึงได้มากขึ้น เกิดความรู้สึกปลอดโปร่ง โล่งเบาจากการคิด การตั้งคำถาม วางลงได้ซึ่งความสับสน และหมดข้อสงสัยในการมีอยู่ของสภาวะใจที่เป็นกลาง ห่างจากทุกข์และสุข พระอาจารย์ในการปฏิบัติของผู้เขียนย้ำเสมอว่า หากเมื่อใดที่ยังคงมีคำถาม ขอให้เพียรปฏิบัติต่อไปจนเกิดการหยั่งรู้ได้ด้วยตนเอง หรือเกิดปัญญาญาณอันเป็นความรู้ที่ไม่ใช่การนึกคิดปรุงแต่ง ไม่ใช่การจำได้หมายรู้ หรืออนุมานสภาวะความรู้สึกเอาเอง แต่เป็นความรู้ความเข้าใจที่หมดซึ่งข้อสงสัยแคลงใจทั้งปวง

 

 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนกราบขอขมาท่านผู้อ่านหากมีข้อผิดพลาดประการใดในการนำเสนอบันทึกประสบการณ์ในครั้งนี้ ผู้เขียนมีเจตนาเพียงแบ่งปันความเข้าใจที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางศึกษา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในจิตวิทยาแนวพุทธ และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในหัวข้อคล้ายคลึงกัน

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Anālayo, B. (2021). Relating Equanimity to Mindfulness. Mindfulness, 12, 2635–2644. https://doi.org/10.1007/s12671-021-01671-z

 

Desbordes, G., Gard, T., Hoge, E. A., Hölzel, B. K., Kerr, C., Lazar, S. W., Olendzki, A., & Vago, D. R. (2015). Moving beyond mindfulness: defining equanimity as an outcome measure in meditation and contemplative research. Mindfulness, 6(2), 356-372. https://doi.org/10.1007/s12671-013-0269-8

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/photos/water

 


 

 

บทความวิชาการ 

โดย อุษณีย์ ศิริอุยานนท์

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีเมล์ 6471007238@student.chula.ac.th, Neptune.siri@gmail.com

 

ผู้ตรวจแก้ไขบทความ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์

อาจารย์ประจำ แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระอาจารย์วรศิลป์ วรปัญโญ

พระอาจารย์สอนปฏิบัติสมาธิภาวนา สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ – Buddhist counseling

 

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธเป็นองค์ความรู้ด้านการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ผสมผสานและสังเคราะห์ระหว่างองค์ความรู้ทฤษฎีจิตวิทยาตะวันตกเข้ากับหลักธรรมทางพุทธศาสนาของโลกตะวันออก โดย รศ. ดร.โสรีช์ โพธิ์แก้ว เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาและวางรากฐาน เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจนตกผลึกเป็นการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธที่มีหลักพุทธธรรมเป็นกรอบแนวคิดพื้นฐานในการทำงาน

 

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือแบบรายบุคคล และแบบกลุ่ม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กลุ่มจิตวิทยาพัฒนาการและการปรึกษาแนวพุทธ ทั้งสองรูปแบบมีวัตถุประสงค์ในการทำงานเหมือนกัน จำแนกออกเป็น 2 มิติ คือ มิติการพัฒนาความเจริญงอกงามของบุคคล (personal growth) และมิติการแก้ปัญหา (problem solving)

 

มิติการพัฒนาความเจริญงอกงามของบุคคล เป็นมิติที่ขยายโลกทัศน์ของผู้รับบริการให้กว้างมากขึ้น และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิต สอดคล้องกับหลักของธรรมชาติที่กล่าวไว้ในหลักธรรมทางพุทธศาสนา ส่วนมิติการแก้ปัญหาเป็นมิติการทำงานกับปัญหาที่เป็นประเด็นค้างอยู่ในจิตใจของผู้รับบริการ จนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อปัญหา และจัดการกับปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต

 

 

หลักพุทธธรรมรากฐานของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ

 

นักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธเป็นเหมือนกัลยาณมิตรที่นำพาผู้รับบริการจากความทุกข์สู่ความไม่ทุกข์ ความไม่รู้ของอวิชชาไปสู่ปัญญาของสัมมาทิฏฐิ จนผู้รับบริการอยู่ในภาวะกลมกลืนกับวิถีมรรคในองค์แปด

 

หลักพุทธธรรมพื้นฐานสำคัญของนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ ได้แก่

 

  • หลักอริยสัจ 4 – การประสบกับความทุกข์ การทำความเข้าใจลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้น การค้นหาสาเหตุ การพิจารณาแนวทางแก้ไข การกำหนดแนวทางปฏิบัติแก้ไขและลงมือปฏิบัติให้พ้นทุกข์
  • หลักอิทัปปัจจยตา – ความเข้าใจต่อสรรพสิ่งว่ามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ไม่มีสิ่งใดที่มีตัวตนตั้งอยู่จริง ทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แสดงให้เห็นถึงปัจจัยการเกิดและดับเนื่องต่อกันและกัน
  • หลักไตรลักษณ์ – ลักษณะทั่วไป หรือสามัญลักษณะของสรรพสิ่ง 3 ประการ คือ
    • อนิจจตา ภาวะของความไม่เที่ยงไม่คงที่ เมื่อมีการเกิดขึ้นย่อมมีการสลายไป
    • ทุกขตา ภาวะที่ถูกบีบคั้น กัดดัน ฝืนและขัดแย้งในตัวเองเพราะการเปลี่ยนแปลง
    • อนัตตตา ภาวะไม่มีตัวตนแท้จริง

 

 

กระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ

 

ในการทำงานของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ นอกจากอาศัยหลักพุทธธรรมเป็นฐานคิดของการทำงานแล้ว หลักพุทธธรรมยังปรากฏอยู่ในรูปแบบของกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาด้วย รายละเอียดกระบวนการมีดังนี้

 

1. กระแสบุคคล (individual process) เป็นบทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 3 ประบวนการ ได้แก่

  • การเชื่อมสมาน (tuning in) นักจิตวิทยาละทิ้งตนเองอย่างแท้จริงเพื่อรับรู้ปรากฏการณ์ที่อยู่ในจิตใจของผู้รับบริการ เป็นสภาวะจิตใจที่เปิดกว้าง โล่ง สงบ พร้อมนำตนเองไปเข้าเชื่อมสมานกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหรือผู้รับบริการได้อย่างแนบสนิท สภาวะจิตใจนั้นเรียกว่า สมานัตตา
  • การพินิจรอยแยก (identify split) นักจิตวิทยาค้นหารอบแยกอันเป็นรากเหง้าของความทุกข์ที่อยู่ในใจของผู้รับบริการ โชรีช์ โพธิ์แก้ว สรุปรากเหง้าของความทุกข์คือ “ความคาดหวัง” เป็นรอยแยกของความปรารถนาของผู้รับบริการและความเป็นจริงในชีวิต นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อรับรู้ถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างความคาดหวังและเป็นความเป็นของผู้รับบริการ และใช้ทักษะของตนเอื้อให้ผู้รับบริการได้ตระหนักถึงความคาดหวังเป็นเหตุแห่งทุกข์
  • การประจักษ์แจ้ง (realization) นักจิตวิทยาอาศัยความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิตสื่อให้ผู้รับบริการเข้าใจในความจริงของธรรมชาติ คลี่คลายปัญหาที่อยู่ในใจ ให้ผู้รับบริการได้คอยสังเกตและพิจารณาความเข้าใจนั้นอย่างมีสติและสมาธิ จนผู้รับบริการเกิดปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต

 

2. กระแสกลุ่ม (group process) เป็นบทบาทของนักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธในฐานของผู้นำกลุ่ม เป็นกระบวนการที่ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวหรือดำเนินไปอย่างกลมกลืนสอดคล้องกัน และสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการทำงาน แบ่งได้เป็น 4 ประการ ได้แก่

  • การเอื้อให้เปิดเผยตนเอง (Facilitate disclosure) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยให้สมาชิดได้เล่าเรื่องราวหรือประสบการณ์ของตนเอง โดยเรื่องนั้นเหล่านั้นจะเป็นประเด็นในการทำความเข้าใจ ศึกษาตนเอง และเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิก
  • การเอื้อให้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (facilitate interaction) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยให้สมาชิกได้แบ่งปันความรู้สึกหรือใส่ใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันเป็นกลุ่มมากขึ้น
  • การเอื้อให้เกิดความงอกงาม (facilitate growth) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยสมาชิกให้ขยายทัศนะ ความคิด ความรู้สึกผ่านเรื่องราวหรือประเด็นที่สมาชิกเล่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น รับรู้ถึงสิ่งดีงามที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวที่สมาชิกเล่า เพื่อให้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป
  • การเอื้อให้เกิดการแก้ปัญหา (Facilitate problem solving) ผู้นำกลุ่มเอื้ออำนวยให้สมาชิกร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในใจ โดยอาศัยแผนที่ของหลักอริยสัจ 4 เพื่อให้สมาชิกเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโลกและชีวิต

 

การพัฒนานักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ

 

ในกระบวนการเรียนการสอน นักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธต้องฝึกฝนปฏิบัติต่อเนื่องยาวนาน ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้สอน ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่มีความเข้าใจในหลักพุทธธรรมด้วย และในกระบวนการฝึกฝนพัฒนาตนเอง การสังเกตพิจารณาตนเอง (contemplative approach) เป็นกระบวนการสำคัญ การทำความเข้าใจหลักพุทธธรรมข้องพิจารณาผ่านการดำเนินชีวิตจริงของตนเอง นอกจากนี้ นักจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธต้องพัฒนาทางด้านจิตใจ (spiritual development) ให้เกิดความสงบผ่านการภาวนาและเจริญสติ การสังเกตตนเองจะช่วยให้เท่าทันต่อความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ของตนเอง จิตใจสงบนิ่งพร้อมรับรู้และเชื่อมสมานกับผู้รับบริการเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแนบสนิท

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“กระบวนการนิเทศแบบกลุ่มตามโมเดลการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ: การวิจัยแบบสร้างทฤษฎีจากข้อมูล” โดย วรัญญู กองชัยมงคล (2558) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/49795

 

ภาพประกอบ https://unsplash.com/photos/BP-Q-Z0Ua9Y

ความรัก เรา และคนอื่น ๆ : ความสัมพันธ์เชิงคู่รัก และอิทธิพลของคนรอบข้าง

ความรักอาจเป็นเรื่องของคน มากกว่า 2 คน

 

ความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่ประสบความสำเร็จอาจได้รับการสนับสนุนจากบุคคลอื่น ๆ

และความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่ประสบความล้มเหลวก็อาจได้รับการสนับสนุนจากบุคคลอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่มือที่สาม) เช่นกัน

 

หลายคนอาจมีประสบการณ์ที่สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่ “หวังดี” ให้คำแนะนำ ตักเตือน หรือแม้กระทั่ง “ด่าให้ตื่น” เมื่อพวกเขามีความเห็นว่า คนที่เรากำลังคบหาดูใจกันอยู่ไม่น่าจะเป็น “คนที่ใช่” สำหรับเรา หรือหลายคนก็อาจเคยพยายามทำหน้าที่เป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่หวังดีเสียเอง บางคนอาจคล้อยตามคนรอบข้างและเลือกที่จะยุติความสัมพันธ์ แต่บางคนก็อาจพยายามพิสูจน์ (ว่า) ตัวเอง (ถูกและคนรอบข้างผิด) และเลือกที่จะสานต่อความสัมพันธ์ การคล้อยตาม/ไม่คล้อยตามคนรอบข้างอาจขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย และ 2 ปัจจัย ที่น่าสนใจ คือ ความไว้ใจต่อความเห็นทางลบและปฏิกิริยาต่อความเห็นทางลบ

 

“ความไว้ใจ” (trust) ต่อความเห็นทางลบ (หรือการไม่ยอมรับ [disapproval]) ที่คนรอบข้างมีต่อคู่รักของเราอาจแปรเปลี่ยนได้จากหลากหลายปัจจัย

 

Jenson และคณะ (2021) ศึกษาบทบาทของปัจจัย 4 ปัจจัย ที่มีต่อความไว้ใจต่อความเห็นทางลบจากคนรอบข้าง ซึ่งได้แก่

 

(i) การรับรู้ “ความเชี่ยวชาญ” ในเรื่องความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง

(ii) หลักฐานสนับสนุนความเห็นทางลบ

(iii) การรับรู้ความลำเอียงของคนรอบข้าง

และ (iv) การรับรู้ “กระแส” ของคนส่วนใหญ่

 

Jenson และคณะ อธิบายที่มาที่ไปของปัจจัยเหล่านี้ว่า ถ้าคนที่มีความเห็นทางลบถูกมองเป็น “กูรู” หรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องความสัมพันธ์ โดยที่พวกเขาอาจประสบความสำเร็จในความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือประสบความสำเร็จในการให้คำแนะนำแก่ผู้อื่น บุคคลก็อาจมีความไว้ใจต่อความเห็นทางลบ นอกจากนั้น ถ้าคนที่มีความเห็นทางลบได้นำเสนอเหตุผลและหลักฐานที่น่าเชื่อถือ (เช่น อธิบายได้อย่างชัดเจนว่า บุคคลและคู่รักอาจมีบุคลิกภาพไม่เข้ากัน หรือมีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า คู่รักของบุคคลมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ) เพื่อที่จะสนับสนุนความเห็นทางลบของตัวเอง บุคคลก็อาจมีความไว้ใจต่อความเห็นทางลบเช่นกัน

 

ในทางกลับกัน หากบุคคลเชื่อถือการรับรู้และประสบการณ์ของตนเอง (ว่าจริงแท้ที่สุดแล้ว) พวกเขาจะพยายามหาคำอธิบายเมื่อได้รับความเห็นทางลบจากคนรอบข้าง และคำอธิบายที่ง่ายที่สุด คือ คนรอบข้างมี “ความลำเอียง” ต่อคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของพวกเขา และพวกเขาจะไม่ไว้ใจต่อความเห็นทางลบ และสุดท้าย เมื่อบุคคลเผชิญกับความเห็นทางลบจากคนรอบข้าง พวกเขาจะหันไปหาความเห็นของคนอื่น ๆ เพื่อที่จะดูว่า คนส่วนใหญ่มีความเห็นทางลบหรือความเห็นทางบวก (approval) และจะปรับเปลี่ยนระดับความไว้ใจต่อความเห็นทางลบไปตามกระแสของคนส่วนใหญ่ (Jenson et al., 2021)

 

Jenson และคณะ (2021) เก็บข้อมูลกับผู้เข้าร่วมการวิจัย 173 คน (ซึ่งผู้เข้าร่วมการวิจัยเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้นที่ ไม่ได้ มีคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ที่ไม่ยอมรับคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของพวกเขา [การมีคนรอบข้างไม่ยอมรับคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของเราน่าจะเป็นเรื่องปกติ]) ผลการวิจัยพบว่า การรับรู้ “ความเชี่ยวชาญ” ในเรื่องความสัมพันธ์ของคนรอบข้างและหลักฐานสนับสนุนความเห็นทางลบมีความสัมพันธ์ ทางบวก กับความไว้ใจต่อความเห็นทางลบ (ยิ่งมากก็ยิ่งไว้ใจ) และการรับรู้ความลำเอียงของคนรอบข้างมีความสัมพันธ์ ทางลบ กับความไว้ใจต่อความเห็นทางลบ (ยิ่งมากก็ยิ่งไม่ไว้ใจ) และประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผลการวิจัยนี้เกิดขึ้นกับทั้งความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่สังคมมักจะยอมรับและความสัมพันธ์เชิงคู่รักที่สังคมมักจะไม่ยอมรับ (เช่น คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ คู่รักที่มีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติและศาสนา คู่รักที่มีอายุแตกต่างกันมาก ฯลฯ)

 

นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นและความไว้ใจแล้ว บุคคลยังอาจมี “ปฏิกิริยา” ที่แตกต่างกัน เมื่อเผชิญกับความเห็นทางลบที่คนรอบข้างมีต่อคู่รักและความสัมพันธ์เชิงคู่รัก ซึ่งปฏิกิริยาอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

 

(i) ปฏิกิริยาต่อต้าน (defiant reactance) ที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะทำตรงกันข้ามกับความเห็นทางลบ (เช่น คบหากันอย่างสนิทสนมมากขึ้น) บางคนอาจเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า boomerang effect (ที่อาจไม่ได้สะท้อนความรักอย่างแท้จริง) หรือ Romeo and Juliet effect (ที่มักจะสะท้อนความรักอย่างแท้จริง)

 

และ (ii) ปฏิกิริยาเมินเฉย (independent reactance) ที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะไม่ใส่ใจกับความเห็นทางลบและแสดงความต้องการอิสระที่จะตัดสินใจในเรื่องความรักด้วยตัวเอง

 

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับความเห็นทางลบจากคนรอบข้างอาจสามารถอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดบางคนที่ได้รับความเห็นทางลบจึงตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ แต่บางคนที่ได้ความเห็นทางลบกลับตัดสินใจสานต่อความสัมพันธ์ Sinclair และคณะ (2015) ได้ดำเนินการวิจัยทางจิตวิทยาเพื่อที่จะหาคำตอบของคำถามนี้ โดยใช้ทั้งการสำรวจด้วยเครื่องมือวัดทางจิตวิทยา การทดลองด้วยเรื่องราวสมมติ (experimental vignette) ที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะอ่านเรื่องราวสมมติที่พ่อแม่/เพื่อนแสดงการยอมรับ (ความเห็นทางบวก) หรือไม่ยอมรับ (ความเห็นทางลบ) ต่อคู่รัก และการทดลองด้วย virtual dating game ที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยจะเล่นเกมกับหน้าม้า (confederate) และได้รับความเห็นที่สอดคล้องกัน/ไม่สอดคล้องกันระหว่างพ่อแม่และเพื่อน

 

ผลการวิจัยโดยภาพรวม คือ ปฏิกิริยาเมินเฉยมีบทบาทค่อนข้างมากต่อการที่บุคคลจะมี “ระดับความรักความชอบพอ (คู่รักของตน)” เปลี่ยนแปลงไปเมื่อได้รับความเห็นจากคนรอบข้าง กล่าวคือ เมื่อบุคคลได้รับความเห็น ทางบวก จากคนรอบข้าง พวกเขาจะมีความรักความชอบพอในระดับสูง (ซึ่งไม่น่าแปลกใจ) แต่เมื่อบุคคลได้รับความเห็น ทางลบ จากคนรอบข้าง ระดับความรักความชอบพอของพวกเขาจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มที่พวกเขาจะมีปฏิกิริยาเมินเฉยต่อความเห็นทางลบนั้น หากบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉย ระดับความรักความชอบพอของพวกเขาก็จะลดต่ำลงเพียงเล็กน้อย แต่หากบุคคล ไม่ได้ มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉย ระดับความรักความชอบพอของพวกเขาก็จะลดต่ำลงเป็นอย่างมาก ส่วนปฏิกิริยาต่อต้านไม่ได้แสดงบทบาทที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าปฏิกิริยาเมินเฉยทำได้ง่ายกว่าและไม่น่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งมากนัก (Sinclair et al., 2015)

 

ประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยข้างต้น คือ เราอาจคิดว่าปฏิกิริยาเมินเฉยเป็นสิ่งที่พึงประสงค์เพราะบุคคลจะไม่เอนเอียงไปตามความเห็นจากคนรอบข้าง (ซึ่งก็ถูก) อย่างไรก็ตาม ความแน่วแน่มั่นคงนี้จะเกิดขึ้นกับทั้งกรณีที่ได้รับความเห็นทางลบและกรณีที่ได้รับความเห็นทางบวก จากงานวิจัยของ Sinclair และคณะ (2015) ผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มักจะรายงานระดับความรักความชอบพอ สูงที่สุด คือ คนที่ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉยและได้รับความเห็นทางบวกจากคนรอบข้าง แต่สำหรับคนที่มีแนวโน้มที่จะมีปฏิกิริยาเมินเฉย ความเห็นทางบวกจากคนรอบข้างอาจไม่ได้ทำให้ระดับความรักความชอบพอเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด (ซึ่งบางคนที่นิยมการเผื่อใจก็อาจถูกใจกับสิ่งนี้)

 

จุดเริ่มต้นของความรักอาจเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักคงไม่สามารถจำกัดอยู่แค่เรื่องของคนสองคนได้ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า คนรอบข้างมีอิทธิพลต่อความรักและความสัมพันธ์เชิงคู่รักของเราไม่มากก็น้อย การรักษาความสมดุลระหว่างการรับรู้ของตัวเองและความเห็นจากคนรอบข้างอาจเป็น “โจทย์” ที่คู่รักอาจต้องช่วยกันประคับประคอง

 

เมื่อความสัมพันธ์เชิงคู่รักดำเนินไปอย่างราบรื่น การลดทอนเสียงจากคนรอบข้างอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี แต่เมื่อความสัมพันธ์เชิงคู่รักเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรค การรับฟังเสียงจากคนรอบข้างและการประเมินสถานการณ์บนความเป็นจริงก็อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน (McNulty et al., 2008) อย่างไรเสีย ความเห็นจากคนรอบข้างไม่ได้เป็น “ประกาศิต” ที่จะชี้เป็นชี้ตายความสัมพันธ์ระหว่างเราและคู่รัก แต่เป็นเพียงกระจกสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งบางบานอาจนำเสนอภาพที่ตรงกับความเป็นจริง แต่บางบานอาจนำเสนอภาพที่บิดเบี้ยว ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้านด้วยตัวเองก็ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ และสุดท้าย ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นของความรักอาจเป็นเรื่องของคนสองคน แต่จุดสิ้นสุดของความรัก (เมื่อเกิดขึ้นแล้ว) จะ เป็นเรื่องของคนสองคนอย่างแน่นอน

 

 

รายการอ้างอิง

 

Jenson, K., Holmberg, D., & Blair, K. (2021). Trust me, he’s not right for you: Factors predicting trust in network members’ disapproval of a romantic relationship. Psychology and Sexuality, 12, 345-361.

 

McNulty, J. K., O’Mara, E. M., & Karney, B. R. (2008). Benevolent cognitions as a strategy of relationship maintenance: “Don’t sweat the small stuff” … But it is not all small stuff. Journal of Personality and Social Psychology, 94, 631-646.

 

Sinclair, H., Felmlee, D., Sprecher, S., & Wright, B. (2015). Don’t tell me who I can’t love: A multimethod investigation of social network and reactance effects on romantic relationships. Social Psychology Quarterly, 78, 77-99.

 

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

การทำหน้าที่ของครอบครัว – Family Function

 

 

การทำหน้าที่ของครอบครัว คือ การที่สมาชิกในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กันภายใน และปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของตน เพื่อให้ครอบครัวมีการตอบสนองทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อปรับตัวให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

 

 

การทำหน้าที่ของครอบครัว (ตามแนวคิดของ McMaster, 1982)

 

McMaster Model of Family Function: MMFF มองว่าครอบครัวเป็นระบบเปิดที่ประกอบด้วยระบบย่อยหลายส่วน ได้แก่ ระบบบิดามารดาและบุตร ระบบคู่สมรส ระบบพี่น้อง และระบบเครือญาติ แนวคิดนี้ใช้ทฤษฎีหลายอย่างมาอธิบายการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัว เช่น ทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีการเรียนรู้ และทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยอยู่ภายใต้ทฤษฎีระบบ (System theory) และมีสมมติฐานดังนี้

 

  • สมาชิกที่อยู่ร่วมกันในระบบครอบครัวมีความเกี่ยวข้องกัน พฤติกรรมของสมาชิกคนหนึ่งย่อมีอิทธิพลต่อสมาชิกคนอื่น ๆ
  • การทำความเข้าใจสมาชิกคนในคนหนึ่ง ไม่สามารถกระทำได้โดยวิเคราะห์บุคคลนั้นเพียงคนเดียว จะต้องพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้นกับครอบครัวทั้งระบบด้วย
  • รูปแบบของปฏิสัมพันธ์และการจัดองค์กรในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญต่อพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคน

McMaster ได้แบ่งหน้าที่ของครอบครัวออกเป็น 6 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน ได้แก่

 

1. การแก้ปัญหา (Problem Solving)

หมายถึง ความสามารถของครอบครัวต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งภายใน และภายนอกครอบครัว โดยแบ่งปัญหาได้เป็น 2 ด้าน คือ

1.1 ปัญหาด้านวัตถุ (Instrumental) เป็นปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ที่อยู่อาศัย สุขภาพ การเงิน
1.2 ปัญหาด้านอารมณ์ (Affective) เช่น ความโกรธเคืองระหว่างพี่น้อง การไม่ไว้วางใจกันระหว่างสามีภรรยา

 

2. การสื่อสาร (Communication)

หมายถึง การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทั้งการสื่อสารโดยใช้คำพูด และการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด ครอบครัวที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารจะสื่อสารกันได้อย่างชัดเจน (เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา) และตรงต่อบุคคลเป้าหมาย (ไม่ผ่านบุคคลอื่น ไม่เป็นการพูดลอย ๆ)

 

3. บทบาท (Role)

หมายถึง แบบแผนหรือพฤติกรรมที่สมาชิกในครอบครัวจะประพฤติกันซ้ำ ๆ เป็นประจำ เพื่อทำให้ครอบครัวสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม การประเมินความเป็นไปของบทบาทในครอบครัวต้องพิจารณา 2 ด้าน คือการมอบหมายความรับผิดชอบในหน้าที่บางประการให้สมาชิก และการดูแลให้สมาชิกรับผิดชอบต่อบทบาทและหน้าที่ของตน

 

4. การตอบสนองทางอารมณ์ (Affective responsiveness)

หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์ที่จะตอบสนองต่อกันอย่างเหมาะสมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณอารมณ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัว ทั้งอารมณ์เชิงบวก เช่น รัก เป็นสุข ยินดี และอารมณ์เชิงลบ เช่น กลัว เศร้า โกรธ เสียใจ ผิดหวัง ครอบครัวที่ทำหน้าที่ได้ดีจะแสดงอารมณ์ได้หลายแบบในปริมาณและสถานการณ์ที่เหมาะสม

 

5. ความผูกพันทางอารมณ์ (Affective involvement)

หมายถึง ระดับความห่วงใยที่มีต่อกันของสมาชิกในครอบครัว การเห็นคุณค่าในสิ่งต่าง ๆ ที่สมาชิกทำ ความผูกพันทางอารมณ์มีหลายระดับ ตั้งแต่ (1) ปราศจากความผูกพัน (2) ผูกพันแบบไม่มีความรู้สึก คือ สนใจตามหน้าที่ หรือเพราะความอยากรู้อยากเห็น (3) ผูกพันเพื่อตนเอง เพื่อเสริมคุณค่าในตนเอง มิได้สนใจอีกฝ่ายอย่างจริงใจ (4) ผูกพันอย่างเข้าอกเข้าใจในความต้องการของอีกฝ่ายอย่างเหมาะสม (5) ผูกพันมากเกินไป จนอีกฝ่ายรู้สึกไม่มีความเป็นส่วนตัว จนถึง (6) ผูกพันจนเหมือนเป็นบุคคลเดียวกัน

 

6. การควบคุมพฤติกรรม (Behavior control)

หมายถึง แบบแผนการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสถานการณ์ต่าง ๆ พฤติกรรมที่ต้องมีการควบคุมได้แก่ พฤติกรรมที่ตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจและชีวภาพ พฤติกรรมทางสังคม พฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สิน และการรักษาระเบียบวินัยภายในครอบครัว

 

 

การควบคุมพฤติกรรมภายในครอบครัวแบ่งได้ 4 แบบ คือ

 

แบบเข้มงวด – ครอบครัวมีการกำหนดมาตรการและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน มีบทลงโทษเมื่อทำผิด ข้อดีคือสมาชิกทุกคนจะปฏิบัติสมหน้าที่ แต่ในทางกลับกัน การปรับตัวของสมาชิดจะยากลำบาก อาจส่งผลให้สมาชิกมีการต่อต้านแบบดื้อเงียบ

แบบยืดหยุ่น – ครอบครัวมีกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนกฎไปตามความเหมาะสม เป็นการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพราะเป็นไปตามความเข้าใจและยอมรับของคนในครอบครัว

แบบอะไรก็ได้ – ครอบครัวไม่มีทิศทางแน่นอนว่าสมาชิกควรประพฤติอย่างไร สมาชิกมักขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน การสื่อสารมักมีปัญหาเพราะมมีใครฟังใคร ครอบครัวแบบนี้จะปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดี โตมาด้วยความรู้สึกไม่มั่นคง ควบคุมตนเองไม่ได้ และอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อเรียกร้องความสนใจ

แบบยุ่งเหยิง – ครอบครัวมีการควบคุมพฤติกรรมแบบขึ้น ๆ ลง ๆ บางครั้งเข้มงวด บางครั้งยืดหยุ่น การควบคุมแบบนี้ไม่เหมาะสมที่สุด เพราะทำให้ครอบครัวไม่มีเสถียรภาพและไม่มีความเสมอต้นเสมอปลายในการปฏิบัติหน้าที่

 


 

 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดเผยตนเอง ความเหงา และการทำหน้าที่ของครอบครัวต่อพฤติกรรม การเสพติดอินเตอร์เน็ต” โดย ณัฐรดา อยู่ศิริ สุพิชฌาย์ นันทภานนท์ และ หทัยพร พีระชัยรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46895

East-West Center Online Seminar No.6 “Examining the role of culture in psychological research”

The East-West Psychological Science Research Center

presents a series of online seminars.

Please join us – all are welcome. 6th event:

 

“Examining the role of culture in psychological research”

 

 

 

by Jennifer Chavanovanich, PhD, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Tuesday 15 February 2022, 7-8 pm (Thailand time GMT +7)

Topics:

🌎 Perspective of East and West Psychology
🌎 Cultural psychology and Cross-cultural psychology reseach method differences
🌎 Diversity and Acculturation ex. multiculturalism

 

Registration is free. https://forms.gle/K4WnSJKo6Xq5dxF39

The presentation is in Thai. FB Live

 

 


 

 

Clip https://www.facebook.com/eastwestpsycu/videos/677630323422000/

 

รักในวัยเรียน

“รักในวัยเรียน” ความรักในที่นี้หมายถึงความรักฉันชู้สาว หรือจะเรียกอีกอย่างก็คือ “การมีแฟนในวัยเรียน” ความรักต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นความรักความผูกพันกับเพศเดียวกันหรือต่างเพศ เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น จะว่าเป็นธรรมชาติก็พูดได้เช่นกัน เพราะในวัยเด็กเริ่มรุ่น เด็กจะผูกพันสนใจใครบางคนเป็นพิเศษ ก็เนื่องมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนซึ่งจะหลั่งออกมาในช่วงของวัยเริ่มรุ่น 

 

นักจิตวิทยาบางท่านกล่าวว่า เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะคิดว่า การตื่นตัวทางเพศและการเริ่มสนใจบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ เรียกว่า “ความรัก” ดังนั้นเมื่อเด็กวัยรุ่นที่เริ่มมีความรู้สึกอย่างนี้ เด็กวัยรุ่นก็จะคิดว่า “ฉันรักคนนี้แล้ว” ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเป็นความตื่นเต้น ความสนใจผิวเผินที่เกิดขึ้นเท่านั้น และยิ่งถ้าสังคมรอบตัวโดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความรักและการมีแฟน” วัยรุ่นจะเกิดพฤติกรรมของการตามอย่างกันได้ง่ายขึ้น มีการเดินจับกันเป็นคู่ ๆ ถ้าคนไหนไม่มีแฟนคนนั้น “แปลก” หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้าค่านิยมของกลุ่มสังคมที่เด็กวัยรุ่นอยู่เป็นลักษณะนี้ก็จะทำให้เด็กวัยรุ่นเกิดความรักในวัยเรียนหรือมีแฟนในวัยเรียนได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความรักของเด็กวัยเริ่มรุ่นเป็นความรักที่ผิวเผิน เกิดเนื่องจากความตื่นตัวทางเพศและการทำตามอย่าง จึงทำให้ความรักในช่วงนี้เป็นความรักที่มีการเปลี่ยนแปลงง่าย ยังไม่ใช่ความรักที่คงทนถาวรเหมือนความรักของผู้ใหญ่ หรือที่เป็นความรักฝรั่งเขาเรียกว่า “Puppy Love” นั่นเอง

 

ความรักในวัยเรียนมีโอกาสของการเกิดขึ้นได้สูง เพราะร่างกายของช่วงวัยรุ่นจะมีการหลั่งของฮอร์โมนที่จะส่งผลให้เด็กวัยรุ่นเริ่มมีความสนใจบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษและถ้าสังคมรอบตัวของเด็กวัยรุ่นให้ค่านิยมต่อการมีแฟนก็จะยิ่งทำให้เด็กวัยรุ่น เกิด “ความรักในวัยเรียน” ได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังเป็นโชคดีของผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่น นั่นก็คือมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาแล้วพบว่า ถ้าเราเบนความสนใจของเด็กวัยรุ่นให้ไปมุ่งสนใจทางอื่นที่มีประโยชน์ เช่นทางด้านการเรียนหรือทางด้านกีฬา ก็จะสามารถทำให้เด็กวัยรุ่นเบี่ยงเบนความสนใจโดยไม่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องทางเพศมากนัก จนไม่เกิด “ความรักในวัยเรียน” ที่ออกนอกลู่นอกรอยไป

 

 

ขั้นตอนของความรัก

 

ความรักที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดกับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ย่อมจะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับ คือในขั้นแรกจะเป็นความรักที่ซาบซึ้งหวาบหวาม ขั้นนี้เป็นช่วงของการรักกันใหม่ ๆ ซึ่งเป็นระยะที่คนที่รักกันพยายามทำตัวให้ดูดีในสายตาของอีกฝ่ายหนึ่ง มีการสร้างภาพที่ดีของตนเองขึ้นในสายตาของฝ่ายตรงข้าม เช่น พูดเพราะ แต่งตัวสวย ทำตัวดี ซึ่งในระยะนี้เป็นระยะแรกของความรักหรือการเป็นแฟนกัน ในเด็กวัยรุ่นจะเห็นได้ชัดถึงการสร้างความผูกพันหวานซึ้งซึ่งกันและกันมีการโทรศัพท์หากันทุกช่วงเวลา มีข้อความหวาน ๆ ให้กันเป็นความรักและความลุ่มหลงผสมเข้าด้วยกัน ซึ่งในระยะนี้เป็นช่วงที่อันตรายที่อาจมีการสร้างความผูกพันลึกซึ้ง หรืออาจถึงการมีเพศสัมพันธ์กันได้ อย่างไรก็ตามในระยะนี้จะอยู่ไม่นานนัก จากการศึกษาพบว่า จะอยู่ประมาณ 4-12 เดือน

 

ระยะที่สองเป็นระยะที่ตัวตนที่แท้จึงเริ่มปรากฏ นั่นก็คือหลังจากคบไปได้ระยะหนึ่ง ตัวตนที่แท้จริงจะปรากฏให้อีกฝ่ายได้เห็น การทำตัวให้ดูดีในสายตาของอีกฝ่ายจะลดลงระยะนี้วัยรุ่นจะปรับตัวต่อสภาพความเป็นจริงของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการปรับตัวนี้จะนำไปสู่การเข้ากันได้หรือแตกกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเรายอมรับสภาพความเป็นจริงของอีกฝ่ายได้มากน้อยแค่ไหน

.

ส่วนในระยะสุดท้าย จะเป็นระยะที่ดูการเข้ากันได้ในสภาพที่ไกลตัวออกไป นั่นก็คือ จะดูสภาพของครอบครัวของแต่ละฝ่าย สภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งถ้าคนที่รักกันสามารถผ่านขั้นที่ 3 ได้มีการยอมรับซึ่งกันและกัน และเข้าสู่การอยู่ด้วยกันอย่างถาวร ก็จะอยู่ด้วยกันด้วยดี มีความสุข

 

 

ในระยะวัยรุ่น ซึ่งกำลังเรียนหนังสือ ถ้าเกิดความรักขึ้นก็มักจะอยู่ในระยะแรก มีความหวือหวาของอารมณ์รักแรง โกรธแรง ซึ่งเป็นลักษณะของวัยรุ่น ดังนั้นความรักของเด็กวัยรุ่นจะเป็นความรักที่มีความผูกพันกันสูง เรียกว่าขาดกันไม่ได้ รวมทั้งรู้สึกว่า ไม่มีใครเข้าใจเขาได้ดีกว่าคนที่เขารัก ดังนั้น การห้ามไม่ให้ “วัยรุ่นรักกัน” จะยิ่งทำให้วัยรุ่นเกิดความกดดัน มีการแอบพบกัน มีการโกหกผู้ปกครอง และเนื่องจากต้องหลบซ่อน แอบพบกันจึงทำให้การเรียนเสีย เรียนไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ปกครองควรพยายามเข้าใจเด็กวัยรุ่น พยายามให้พฤติกรรมของวัยรุ่นอยู่ในสายตาของผู้ปกครอง ไม่จำเป็นต้องห้ามแต่ควรจะประคับประคองให้อยู่ในพฤติกรรมที่เหมาะสม จะได้ไม่เป็นปัญหาในภายหน้า

 

 

ทำไมรักของวัยรุ่นถึงยังไม่มั่นคง

 

ความรักของวัยรุ่น โดยเฉพาะในช่วงมัธยมตอนต้น ซึ่งยังเป็นความรักที่เปลี่ยนแปลงง่าย เช่น รู้สึกรักคนนี้ 2 เดือน พอพบคนใหม่เปลี่ยนไปชอบคนใหม่ เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ สำหรับเรื่องนี้ เราสามารถอธิบายพฤติกรรมของวัยรุ่นช่วงนี้ได้ในหลายประการคือ

 

ประการแรก วัยรุ่นในช่วงวัยรุ่นตอนต้นจนถึงวัยรุ่นตอนกลาง (อายุ 13-17 ปี) เป็นช่วงที่เด็กค้นหาความเป็นตนซึ่งความเป็นตนในที่นี้ก็คือ การค้นหาว่าเขาเป็นใครมีความสามารถแค่ไหนมีความต้องการอะไรในชีวิตที่แท้จริง ซึ่งการค้นพบตัวเองจะเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้โดยตรงหรือการสังเกตคนรอบตัว ประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้วัยรุ่นเปลี่ยนการรับรู้ตนเองและความต้องการของตัวเองไปเรื่อย ๆ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้วัยรุ่นเปลี่ยนคนที่ตนเองรักเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของตนในขณะนั้น และเมื่อวัยรุ่นค้นพบตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ความรักของวัยรุ่นจะมั่นคงขึ้น และไม่เปลี่ยนแปลงง่ายนัก

 

ประการที่สองก็คือ ในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นตอนต้น จะมีการติดยึดอยู่กับลักษณะภายนอก เช่น ชอบคนหล่อ ชอบคนสวย หรือชอบคนเก่ง ซึ่งยังไม่คำนึงถึงการเข้ากันไม่ได้ในความคิดและทัศนคติ ทำให้วัยรุ่นมีความสัมพันธ์กันไม่นาน ซึ่งในเรื่องนี้นักจิตวิทยาพบว่า สัมพันธภาพจะยืนยาวได้ทั้งคู่จะต้องมีทัศนคติที่เหมือนกัน 75% หรือ 3/4 ของความคิดเห็นจะต้องเหมือนกัน จากลักษณะยึดติดกับลักษณะภายนอก และเด็กวัยรุ่นยังอยู่ในการค้นหาตัวเอง จึงทำให้ความรักที่เกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นตอนต้นมีลักษณะไม่มั่นคง ผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในวัยรุ่นจึงควรดูแลวัยรุ่นให้สายสัมพันธ์ในรูปของความรักของวัยรุ่นอยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะพอควร อย่าปล่อยโอกาสที่มากเกินไป จนทำให้วัยรุ่นสามารถทำพฤติกรรมที่เกินเลย เพราะในช่วงวัยรุ่นยังเป็นความรักที่ไม่มั่นคง ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นก็จะทำให้เสียหายด้วยกันทุกฝ่าย

 

 

ความรักกับเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน

 

ในช่วงวัยรุ่นเด็กจะเริ่มมีการตื่นตัวทางเพศ ซึ่งในระยะนี้อารมณ์ทางเพศของวัยรุ่นจะเปรียบเสมือนไฟที่ได้รับเชื้อเพลิงเข้าไปไฟก็จะลุกขึ้นโดยง่าย ดังนั้นความใกล้ชิด การสัมผัสที่เด็กวัยรุ่นมีให้กันจะเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงซึ่งพร้อมจะทำให้ไฟซึ่งก็คือพฤติกรรมทางเพศลุกขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเด็กเริ่มมีความรักก็ย่อมต้องการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ตนรัก โอกาสของการเกิดพฤติกรรมทางเพศที่เกินเลย หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยก็เป็นไปได้โดยง่าย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้เราจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ได้อย่างไร สำหรับในเรื่องนี้มีผู้รู้หลายท่านแนะนำวิธีการในการแก้ปัญหานี้หลายประการ ประการที่สำคัญก็คือการสร้างความรู้ความเข้าใจของการแสดงออกพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย และไม่ละเมิดสิทธิกันและกัน

 

ในปัจจุบันค่านิยมเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศตลอดจนเพศสัมพันธ์เปลี่ยนไป เด็กรุ่นยุคใหม่มีการยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนมากขึ้น จากการสำรวจพบว่า ผู้ชายจะยอมรับให้มีเพศสัมพันธ์กับคนรักมากกว่าผู้หญิง ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม สังคมปัจจุบันยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนมีมากขึ้น โดยมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ทั้งนี้ ที่บ้านและโรงเรียนควรทำความเข้าใจให้วัยรุ่นได้ตระหนักถึงผลที่ตามมาและความเสี่ยงต่าง ๆ จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

 

 

ถ้าวัยรุ่นมีรักในวัยเรียนจะทำอย่างไร

 

ความรักเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไปไม่พ้น ถ้าเราพบว่าวัยรุ่นเกิดความรักระหว่างกันและกันฉันหนุ่มสาวขึ้นในวัยเรียนเราจะทำอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก เพราะในช่วงวัยรุ่น “ความรักเปรียบเสมือนโคถึก” จะห้ามก็ไม่ได้ ซึ่งถ้าห้ามจะยิ่งเกิดการกดดันและเกิดพฤติกรรมหลบซ่อน เพราะวัยรุ่นเปรียบเสมือนเรือที่แล่นอยู่ในกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ถ้าเราไปห้ามไปขัดขวางไม่ให้เรือแล่น เรือก็จะแตก ดังนั้นเราจะถือหางเสือเรืออย่างไรที่จะทำให้เรือค่อย ๆ พยุงตัวไปได้จนกว่าจะผ่านกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากนี้

 

ความจริงโดยธรรมชาติของวัยรุ่น ความรักส่วนใหญ่อยู่ไม่นาน วัยรุ่นมีแนวโน้มจะเปลี่ยนคนที่ตนรักไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อความรักเกิดขึ้น เราก็ควรเปลี่ยนกระแสความรักของวัยรุ่นให้เป็นกระแสความรักที่ดี หรือตามศัพท์สมัยใหม่ เรียกว่า “เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส” นั่นเอง

 

เราจะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้อย่างไร จริง ๆ แล้วความรักจะเหมือนพลังงานที่มีแรงผลักดันหรือแรงบันดาลใจให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อเด็กอยู่ในห้วง “ความรัก” เราสามารถกระตุ้นให้เด็กเห็นคุณค่าของความรัก และมีการทำพฤติกรรมบางอย่างเพื่อคนที่คนรัก เช่น จัดให้มีกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันกับคนที่เด็กรัก เช่น ช่วยกันเรียน ช่วยกันดูหนังสือ หรือทำงานอดิเรกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุนให้ทำกิจกรรมร่วมกันในทิศทางสร้างสรรค์นี้สามารถตอบสนองของการอยากอยู่ใกล้ชิดกันได้ ตลอดจนยังทำให้เด็กเรียนรู้นิสัยที่แท้จริงของกันและกันในทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง รวมทั้งอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่

 

 

ความรักเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเกิดในผู้ใหญ่ หรือในวัยเรียน ความรักจะสร้างประโยชน์มากมายถ้าเรารู้จักเปลี่ยนพลังงานที่เกิดจากความรักให้ไปสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม และเมื่อเกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมแล้ว พฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือพฤติกรรมที่เราไม่ต้องการให้เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น

 

 


 

รายการอ้างอิง

ภาพประกอบจาก http://www.freepik.com

 

 


 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ประไพพรรณ ภูมิวุฒิสาร

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

ชายและหญิงรักต่างกันหรือไม่?

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์เพราะต้องการความรัก ผู้ชายมีความรักเพราะต้องการมีเพศสัมพันธ์”
แม้คำกล่าวนี้จะมีอคติ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงและผู้ชายรักแตกต่างกัน

 

นักจิตวิทยา ได้สรุปผลการวิจัยที่ศึกษาความแตกต่างในเรื่องความรักของผู้หญิงและผู้ชายไว้ว่า ผู้หญิงตกหลุมรักบ่อยกว่าผู้ชาย และเป็นความรักที่รุนแรงกว่าผู้ชาย ผู้หญิงคิดว่าความรักเป็นสิ่งที่สวยงามและมีอุดมคติเรื่องคู่มากกว่าผู้ชาย แม้ผู้หญิงจะรักบ่อยกว่าและรุนแรงกว่า แต่กลับพบว่าผู้ชายตกหลุมรักเร็วกว่าผู้หญิง

ผู้หญิงและผู้ชายเชื่อและมีประสบการณ์รักแรกพบบ่อยพอ ๆ กัน ผู้หญิงและผู้ชายรักในปริมาณเท่า ๆ กัน แต่อาจจะมีวิธีรักแตกต่างกัน ดูเหมือนผู้ชายเชื่อในรักโรแมนติคมากกว่าผู้หญิง เช่น เชื่อว่ารักแท้มีแค่เพียงครั้งเดียวในชีวิต รักแท้ย่อมนำไปสู่ความสุขที่สมบูรณ์แบบ คนควรจะแต่งงานกับใครก็ได้ที่ตนรักโดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานภาพทางสังคม ผู้หญิงดูเหมือนจะฉลาดกว่าผู้ชายในเรื่องนี้ และคำนึงถึงความเป็นจริงในเรื่องของเศรษฐกิจสังคมมากกว่า จึงทำให้ผู้หญิงใช้ความเหมาะสมเป็นเกณฑ์ในการเลือกคนที่ตนจะรักและแต่งงานด้วย

 

การที่คู่รักหรือคู่สมรสทำให้อีกฝ่ายรู้สึกพึงพอใจมักทำให้ความสัมพันธ์ยืนยาว การให้เครดิตในสิ่งที่อีกฝ่ายทำให้กับตนจะช่วยเติมความสุขให้แก่คนทั้งคู่ แต่สิ่งที่พบก็คือ คู่รักหรือคู่สมรสมักมองว่าตนทำอะไร ๆ ให้แก่อีกฝ่ายมากกว่าที่ทำจริง ๆ เช่น การหุงหาอาหาร การทำความสะอาดบ้าน และการวางแผนทำโน่นทำนี่ เป็นต้น นี่ย่อมแสดงว่าผู้ชายและผู้หญิงไม่ได้ให้เครดิตกับคู่ของตนเต็มที่เท่าที่อีกฝ่ายทำจริง ๆ และเป็นไปได้ว่ามีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การกวาดบ้าน หรือการโอบกอดแสดงความรัก

 

จริง ๆ แล้วผู้ชายและผู้หญิงมีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องนี้ ผู้ชายคิดว่ากิจกรรมบางอย่าง เช่น การล้างจาน การกวาดบ้าน สำคัญมากกว่าการแสดงความรักใคร่ หรือการโอบกอด ในขณะที่ผู้หญิงคิดตรงกันข้าม ด้วยเหตุนี้ เวลาที่ผู้ชายคิดจะแสดงความรักต่อคู่รักหรือภรรยา ผู้ชายจึงล้างรถให้ผู้หญิงเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขารักผู้หญิงมากแค่ไหน ซึ่งผู้หญิงมองว่าการล้างรถเป็นการทำประโยชน์แต่ไม่ใช่การแสดงความรัก

 

ผู้หญิงและผู้ชายมองความรักและความสัมพันธ์แตกต่างกัน สำหรับผู้หญิงความใกล้ชิดคือการพูดคุยกัน สำหรับผู้ชาย ความสัมพันธ์คือการทำอะไร ๆ ด้วยกัน ผู้หญิงให้ความสำคัญของความสามารถในการหารายได้ของผู้ชาย ความซื่อตรงไม่นอกใจ  ผู้ชายให้ความสำคัญกับเรื่องเพศ การเอาอกเอาใจ และความสนใจร่วมกัน ผู้หญิงชอบบ่นว่าความสัมพันธ์กำลังมีปัญหา ในขณะที่ผู้ชายคิดว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ผู้หญิงต้องการแก้ปัญหาเวลาที่ขัดแย้งกัน แต่ผู้ชายต้องการหลีกเลี่ยงปัญหา

 

…คงจะพอเห็นนะคะว่า ผู้หญิงกับผู้ชายรักต่างกันอย่างไร…

 

 


 

รายการอ้างอิง

ภาพประกอบจาก http://www.freepik.com

 


 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คัคนางค์ มณีศรี

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

ความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ – Sexual satisfaction

 

ความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ หมายถึง ผลการประเมินความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อเพศสัมพันธ์ที่ตนมีกับคนรักว่ามีความน่าพึงพอใจแค่ไหน และบุคคลพึงพอใจกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเป็นอย่างไร

 

ทั้งนี้นักวิชาการมักศึกษาเรื่องความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์จากกลุ่มคู่รักชายหญิงมากกว่ากลุ่มคู่รักเพศเดียวกัน ดังนั้นทฤษฎีและและคิดเรื่องความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์จึงเป็นความรู้ที่ครอบคลุมความสัมพันธ์ของคู่รักชายหญิงเป็นส่วนใหญ่ โดยแนวคิดที่ได้รับความนิยมประกอบด้วย 3 แนวคิด ดังนี้

 

 

1. แนวคิดที่มุ่งเน้นปัญหาเพศสัมพันธ์

 

เป็นการศึกษาความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ด้วยการประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นในการมีเพศสัมพันธ์ (Magnitude of problem) คือมุ่งเน้นวัดความรู้สึกไม่พึงพอใจที่บุคคลมีต่อเพศสัมพันธ์ของตนกับคนรัก มากกว่าเป็นการวัดความพึงพอใจ ใช้ประสบการณ์ทางลบหรือปัญหาจริงของคนไข้ที่มาบำบัดเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ในชีวิตอยู่เป็นแนวคิดในการสร้างมาตรวัดเพื่อจำแนกคู่รักที่มีปัญหาเพศสัมพันธ์ออกจากกลุ่มคู่รักที่ไม่มีปัญหา ข้อคำถามส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักเช่น เพศสัมพันธ์ของเราจืดชืด คนรักของฉันรุนแรงกับฉันเกินไปขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

 

ในการศึกษาตามแนวคิดนี้พบว่า คู่รักที่มีปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์จะรายงานว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงคู่รักด้วย เช่น งานวิจัยในกลุ่มชายรักชายของ Peixoto และ Nobre (2016) พบว่า ชายรักชายที่มีความเครียดเนื่องจากปัญหาสมรรถภาพทางเพศ คือ มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศ การหลั่งเร็ว การหลั่งช้า และการไม่มีอารมณ์เพศ จะประเมินความพึงพอใจในความสัมพันธ์เชิงคู่รักต่ำกว่าชายรักชายที่ไม่มีปัญหาเรื่องสรรถภาพทางเพศ สอดคล้องกับงานของ Heiman และคณะ (2011) ที่ศึกษาเรื่องความพึงพอใจในความสัมพันธ์ในคู่รักชายหญิงวัยสูงอายุใน 5 ประเทศ พบว่า ความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์สามารถวัดได้ด้วยสมรรถภาพทางเพศ เพราะสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันสูงมากจนสามารถใช้แทนกันได้ เช่นเดียวกับ งานวิจัยของ Sprecher (2002) ที่ศึกษากลุ่มผู้ที่อยู่ในระยะคบหากัน และงานวิจัยของ Stanik และ Bryant (2012) ที่ศึกษากลุ่มคู่สมรสใหม่ ก็พบว่าความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์สามารถทำนายความพึงพอใจในความสัมพันธ์เชิงคู่รักได้ โดยพบความสอดคล้องทั้งชายและหญิง

 

 

2. แนวคิดตามทฤษฎีแลกเปลี่ยนทางสังคม (Interpersonal Exchange Theory)

 

แนวคิดนี้อธิบายความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ว่าเป็นทั้งความคิดและเป็นความรู้สึกของบุคคลผสมผสานกัน โดยบุคคลจะประเมินผลตอบแทนหรือสิ่งที่ตนได้รับ (Rewards) เปรียบเทียบกับส่วนที่ลงทุนหรือที่ตนต้องเสีย (Cost) เพื่อความสัมพันธ์ทางเพศ ประกอบกับใช้ความรู้สึกของตนเพื่อตัดสินการประเมินนั้นร่วมด้วย

 

งานวิจัยของ Byers และ Macneil (2006) ที่ศึกษาคู่สมรสชายหญิงที่มีความสันพันธ์ยาวนาน ยืนยันว่าความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ของคู่รักเป็นผลมาจากการประเมินผลตอบแทนและการลงทุนที่เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น หากบุคคลรับรู้ว่าคนรักใส่ใจเพศสัมพันธ์ไม่เท่ากับตน ก็จะเกิดความพึงพอใจต่ำกว่ากรณีที่รับรู้ว่าคนรักใส่ใจกับเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับตน

 

 

3. แนวคิดที่มองว่าเพศสัมพันธ์เป็นกิจกรรมทางเพศของบุคคลสองฝ่ายกระทำร่วมกัน

 

แนวคิดนี้มองว่าผลลัพธ์หรือความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอิทธิพลมาจากทั้งตัวบุคคลเองและคนรัก Štulhofer และคณะ (2010) วิเคราะห์องค์ประกอบความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเพศชาย ทั้งผู้ที่เป็นชายรักชายและชายรักหญิง พบว่า ความพึงพอใจในความสัมพันธ์แบ่งเป็น 2 องค์ประกอบ คือ

 

(1) องค์ประกอบด้านความพึงพอใจส่วนบุคคล (Ego-focused) หมายถึง การรับรู้ของบุคคลว่าตนเองรู้สึกเช่นไรต่อเพศสัมพันธ์ เช่น เกิดอารมณ์ตื่นตัวทางเพศ มีสมาธิกับเพศสัมพันธ์ หรือมีความพร้อมต่อเพศสัมพันธ์

 

(2) องค์ประกอบด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก (Activity-focused) คือ การรับรู้ของบุคคลว่าคนรักของตนมีการตอบสนองต่อเพศสัมพันธ์ที่มีกับตนว่าเช่นไร เช่น คนรักเปิดใจขณะมีเพศสัมพันธ์ คนรักใส่ใจต่อความต้องการทางเพศ หรือคนรักมีความสร้างสรรค์ในการมีเพศสัมพันธ์

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระดับความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ของชายรักชายและชายรักหญิง พบว่า ชายรักชายมีความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์สูงกว่าชายรักหญิง และความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์มีสหสัมพันธ์ทางบวกกับความพึงพอใจในชีวิต ความใกล้ชิดผูกพันระหว่างคู่รัก การสื่อสารระหว่างคู่รัก

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดของชายรักชาย ความพึงพอใจในเพศสัมพันธ์ และการสื่อสารเมื่อเกิดความขัดแย้ง กับความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของชายรักชาย” โดย ณัชชา วิรัชวัฒนกุล (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55673

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/rawpixel-com

ความรักในที่ทำงาน

 

ท่านผู้อ่านกำลังมีความรักอยู่หรือเปล่าคะ คนรักของท่านเป็นใคร ท่านกับเขาเจอกันยังไงคะ

 

หากเราถามคำถามนี้กับหนุ่มสาววัยทำงาน ท่านจะพบว่า คำตอบที่ได้จำนวนมากคือ เจอกันในที่ทำงาน ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ถ้าเราลองนับจำนวนชั่วโมงที่เราลืมตาตื่น ท่านคงไม่ปฏิเสธว่าเวลาที่ตื่นส่วนใหญ่ เราอยู่ในที่ทำงาน เราแทบจะไม่มีเวลาสำหรับเรื่องอื่น ๆ นอกจากไปทำงานแล้วก็กลับบ้านนอน ไม่นับชั่วโมงที่ติดอยู่บนท้องถนนนะคะ

 

อย่างไรก็ตามแม้เราจะยุ่งกับงานสักแค่ไหน แต่เราก็ยังอยากมีใครสักคนเป็นคนพิเศษที่เรารักและรู้ว่าเขาก็รักเรา เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะหาได้ที่ไหน ที่ทำงานจึงกลายเป็นที่สำหรับแสวงหาความรักที่สะดวกและดูจะเหมาะสมที่สุด

 

ในอดีตคนทั่ว ๆ ไปมักมีทัศนคติว่า “จงหลีกเลี่ยงการมีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงาน เพราะจะมีแต่ความยุ่งยาก” ผู้ที่ศึกษาเรื่องของความรักในที่ทำงานจะมุ่งเน้นแต่ผลทางลบจากความสัมพันธ์ของคนที่ทำงานอยู่ในที่เดียวกัน แต่ในเมื่อเราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน โรแมนซ์ในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะพบเห็นคู่รักในที่ทำงานและบางคู่ก็พัฒนาความสัมพันธ์จนถึงขั้นแต่งงานกันเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า โรแมนซ์ในที่ทำงานเป็นผลดีต่อหน่วยงานเสียด้วยซ้ำไป เมื่อไหร่ที่คู่รักผ่านพ้นช่วงหลงใหลใฝ่ฝันอีกฝ่ายจนไม่มีสมาธิกับเรื่องใด ๆ นอกจากรักครั้งแรกหรือรักครั้งใหม่นี้ จากการศึกษาพบว่า โรแมนซ์ในที่ทำงานกลับช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจแก่พนักงานที่เป็นคู่รักกัน และอาจขยายผลไปสู่เพื่อนร่วมงานในเชิงของบรรยากาศในที่ทำงาน กระตุ้นให้สร้างผลงาน พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น

ความรักเปลี่ยนแปลงคนนะคะ จากคนที่โดดเดี่ยวกลายเป็นคนที่เข้าสังคม จากคนขี้บ่นช่างวิพากษ์วิจารณ์เป็นคนที่ร่วมทีมงานกับผู้อื่นได้ และจากคนสะเพร่าไม่มีระเบียบกลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ

 

รู้อย่างนี้แล้ว ท่านที่ตั้งใจว่าจะไม่ยอมมีความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานเดียวกัน จะเปลี่ยนใจไหมคะ

 

ดังที่ได้กล่าวว่าโรแมนซ์ในที่ทำงานเป็นสิ่งที่มีให้พบเห็นมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะคนยุคใหม่ใช้เวลาของชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในที่ทำงาน นอกจากนี้ ที่ทำงานก็มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการที่จะเกิดความดึงดูดใจระหว่างบุคคล คนที่ทำงานด้วยกัน ส่วนใหญ่มีบุคลิกลักษณะมุ่งมั่นและเป้าหมายหลายอย่างคล้าย ๆ กัน เมื่อทำงานด้วยกันนาน ๆ ก็เกิดความคุ้นเคย พึ่งพาอาศัยกัน เวลาที่มีเรื่องตื่นเต้น หรือเรื่องคับข้องใจ เขาก็มีประสบการณ์ร่วมกัน ร่วมกันฉลองชัยชนะและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในงาน เกือบจะเรียกได้ว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในระดับหนึ่งทีเดียวค่ะ

 


 

 

อะไรทำให้คนยุคใหม่ตกหลุมรักเพื่อนร่วมงาน

 

ปัจจัยแรกก็คือ ความใกล้ชิด นั่นเองค่ะ

 

หนุ่มสาวรักกันก็เพราะเพื่อนร่วมงานเป็นบุคคลที่อยู่ตรงหน้า นักจิตวิทยาบอกว่า ยิ่งคุณอยู่ใกล้กับใครสักคนนาน ๆ คุณจะยิ่งชอบเขามากขึ้น นานวันเข้า หากไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคอื่น ๆ เข้ามาขัดขวาง ความชอบนี้จะพัฒนาเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งขึ้น ความใกล้ชิดที่พูดถึงนี้ ครอบคลุมทั้งทางกายภาพ เช่น โต๊ะทำงานอยู่ใกล้กัน หรือ ความใกล้ในการทำงาน เช่น ทำโปรเจคเดียวกัน อาจจะเป็นเรื่องของความบังเอิญ เช่น เจอกันในลิฟต์ หรือร้านอาหาร หรืออาจจะถูกส่งเข้าประชุมหรือสัมมนาที่เดียวกัน การเจอกันบ่อย ๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกคุ้นเคย… ซึ่งนำไปสู่ความไว้วางใจ… ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ท่านพอจะเห็นภาพใช่ไหมคะ

 

ปัจจัยที่ 2 ที่ทำให้เกิดโรแมนซ์ในที่ทำงาน คือ ความปลอดภัย ค่ะ

 

ในสังคมที่มีความสับสนซับซ้อน แต่ละคนก็มีภูมิหลัง หรืออาจจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังต่าง ๆ กัน เราไม่รู้ว่าใครเป็นใครกันแน่ เพื่อนร่วมงานจึงเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย อย่างน้อย ๆ เราก็รู้ว่าเขาเรียนจบอะไรมา เขามีอุปนิสัยส่วนตัวอย่างไร ใจเย็นหรือใจร้อน ขี้เหนียวหรือฟุ่มเฟือย มีรสนิยมหรือไม่ใส่ใจ มีน้ำใจหรือชอบโดดเดี่ยว เขาแต่งงานหรือกำลังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใครหรือเปล่า และหากสนิทกันมาก ๆ คุณอาจได้รู้ปัญหาสุขภาพและปัญหาส่วนตัวของเขาเสียด้วยซ้ำไป ในเมื่อคุณสามารถมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาที่เชื่อถือได้ เพราะประสบกับตัวเอง คุณจึงสามารถใช้ข้อมูลนี้ประกอบการพิจารณาว่า เขากับคุณจะเดินเส้นทางเดียวกันไปได้ราบรื่นหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คุณจะเสี่ยงมีความสัมพันธ์กับคนนอกที่ทำงานที่คุณอาจไม่สามารถมีข้อมูลประกอบการพิจารณาได้ดีแบบนี้ทำไมกันคะ

 

ปัจจัยที่ 3 ที่นำมาสู่โรแมนซ์ในที่ทำงานคือ ความคล้ายคลึงกัน

 

ตามปกติเรามีแนวโน้มที่จะทำงานกับคนที่มีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพทางสังคมที่คล้ายคลึงกัน ระดับการศึกษา และรายได้ ความสนใจ ทัศนคติ และค่านิยม ซึ่งเรามีความเชื่อว่า คนที่เหมือนกันมักจะชอบกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนในที่ทำงานเดียวกันจะชอบกัน

ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องโรแมนซ์ในที่ทำงานกล่าวว่า การที่หน่วยงานคัดเลือกพนักงานที่มีคุณสมบัติตรงกับวัฒนธรรมขององค์การ หน่วยงานจึงได้ทำหน้าที่กลั่นกรองผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นคู่รักกันไปโดยปริยาย พูดง่าย ๆ ก็คือว่า หน่วยงานหรือบริษัทได้ทำหน้าที่บริการหาคู่ให้แก่พนักงานนั่นเอง

 

ปัจจัยที่ 4 คือ ความรู้สึกตื่นตัว

 

ที่ทำงานอาจจะเป็นที่ที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา รวมถึงกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ หรือที่ทำงานอาจจะเป็นที่ที่น่าเบื่อ ห่างเหิน ว้าเหว่ หรือน่าหงุดหงิดใจ ไม่ว่าที่ทำงานจะเป็นแบบไหนก็ล้วนแล้วแต่เอื้อประโยชน์ให้ความรักเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น เวลาที่สภาพแวดล้อมเคร่งเครียด ไม่ว่าจะเป็นเพราะความตื่นเต้น หรือเป็นเพราะความวิตกกังวลในปัญหาเรื่องงานที่เกิดขึ้น นักจิตวิทยาบอกว่า สถานการณ์แบบนี้ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว ซึ่งเป็นเพราะงาน แต่คนมักถ่ายโอนความรู้สึกตื่นตัวอันนี้ไปยังผู้หญิงหรือผู้ชายที่หน้าตาท่าทางดีที่อยู่ใกล้ ๆ ความตื่นตัวที่เกิดขึ้นนี้อาจมาจากเรื่องงาน เช่น ใกล้ถึงกำหนดส่งงาน การออกแรงทำอะไรสักอย่าง อากาศที่ร้อนไปหรือหนาวไป ลักษณะงานที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย การแข่งขัน หรือความวิตกกังวล แต่คนจะตีความการตื่นตัวนี้ผิด ไปเข้าใจว่าเป็นความตื่นตัวจากการอยู่ใกล้ชิดกัน เลยเกิดเป็นความรู้สึกพิเศษที่มีต่อเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิด

 

โรแมนซ์ในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่พบเห็นบ่อยครั้ง เมื่อคนต้องทำงานร่วมกันนาน ๆ ในสภาพกดดัน และบางครั้งอาจต้องพึ่งพากันและกันในเรื่องที่ถึงแก่ความเป็นความตาย

 

ปัจจัยที่ 5 ที่เป็นที่มาของโรแมนซ์ในที่ทำงานคือ ความสะดวก ค่ะ

 

หากนับจำนวนชั่วโมงในแต่ละวันว่าเราทำอะไรบ้าง เอาแค่เรื่องหลัก ๆ นะคะ เรานอน 6 ถึง 7 ชั่วโมง เดินทางไปทำงานทั้งขาไป-ขากลับ 3 ถึง 4 ชั่วโมง อยู่ที่ทำงาน 8 ถึง 10 ชั่วโมง มนุษย์บ้างานอาจอยู่ที่ทำงานถึง 12 ชั่วโมง นับกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ เช่น ซักผ้า ดูแลความสะอาดบ้านช่อง สัตว์เลี้ยง ซื้อของใช้จำเป็น แค่นี้ท่านก็เหลือเวลาสำหรับแสวงหาความรักเพียงประมาณวันละ 2 ถึง 4 ชั่วโมง นี่เราไม่ได้พูดถึงกรณีงานเร่งด่วนที่อาจต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ และทำแม้ในช่วงสุดสัปดาห์ก็ตาม

 

การแสวงหาคนพิเศษเป็นสิ่งที่ใช้เวลามากเหลือเกินค่ะ เพราะฉะนั้นการมองคนใกล้ชิดในที่ทำงานจึงเป็นสิ่งที่สะดวก และดูสมเหตุสมผลดี คุณสามารถใช้เวลาร่วมกันช่วงพักเที่ยง หรือช่วงเบรค คุณสามารถเดินไปหาพูดคุยกับเขาที่โต๊ะทำงาน หรือการที่คุณทำงานโปรเจคเดียวกัน คุณก็ได้ใช้เวลาร่วมกัน ซึ่งแบบนี้น่าจะเข้าท่ากว่าการนัดคนนอกที่ต้องรอกันที่ร้านอาหาร หรือรอที่บ้านจนกว่าคุณจะเสร็จงานใช่ไหมคะ

 

นอกจากนั้นการมีคนรักอยู่ในที่ทำงานเดียวกันยังทำให้คนมีคนที่จะคอยเกื้อหนุนให้กำลังใจคุณในชั่วโมงทำงานด้วย เขาสามารถเป็นที่ปรึกษาให้คุณได้ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เพราะเขาน่าจะเข้าใจสถานการณ์ของคุณได้ดีกว่าคนนอก

 


 

จากการศึกษาคนวัยทำงานพบว่าโรแมนซ์ในที่ทำงานพัฒนาเป็นขั้น ๆ จำแนกได้เป็น 4 ขั้น

 

 

ขั้นแรก เป็นช่วงสร้างฝัน บุคคลเริ่มเกิดความสนใจในผู้ร่วมงาน จึงมีการปรุงแต่งโฉมเป็นพิเศษ มีการฝันกลางวัน และพยายามทำตนให้เป็นที่สนใจของอีกฝ่าย

 

ขั้นที่สอง เป็นขั้นดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ทั้งสองฝ่ายต่างรับรู้ว่ามีใจตรงกัน มีการนัดพบกันออกไปทานอาหาร ดูหนัง ฟังเพลง เริ่มต้นความสัมพันธ์ คู่รักอาจไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน เพราะมัวแต่มองหากันและกัน

 

ขั้นที่สาม เป็นขั้นความสัมพันธ์เข้าที่ คู่รักเริ่มแน่ใจในความสัมพันธ์ของตน หันกลับมาใส่ใจกับงาน และปฏิบัติตัวตามกิจวัตรปกติ

 

ขั้นที่สี่ เป็นขั้นตัดสินใจว่าจะผูกมัดกันจนถึงกับแต่งงานกันหรือตกลงใช้ชีวิตร่วมกัน หรือจะเลิกความสัมพันธ์

 

 

เราได้ทราบกันแล้วถึงสาเหตุที่คนในที่ทำงานเดียวกันมักจะกลายเป็นคู่ครองกันในที่สุด รวมถึงขั้นตอนความสัมพันธ์ของคู่รักในที่ทำงานว่าพัฒนาอย่างไรจนถึงขั้นแต่งงานกัน หรือเลิกร้าง

 


 

 

ข้อเตือนใจที่ควรระมัดระวังหากคุณกำลังคิดที่จะแสวงหาความรักในที่ทำงาน

 

ประการแรก การควงเจ้านาย การคบหาควงคู่ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง เป็นเรื่องที่อันตรายต่อชื่อเสียงและอาชีพของพนักงานที่สุด ความสัมพันธ์ลักษณะนี้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับหน่วยงาน ทั้งถูกวิพาษ์วิจารณ์ในทางเสื่อมเสียจากผู้ร่วมงานอีกด้วย และหากโชคร้ายยังสามารถเป็นเรื่องขึ้นศาลก็เป็นไปได้

 

หากความสัมพันธ์ยุติ คนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานต่ำกว่ามักจะถูกกดดันให้ลาออก หรือสมัครใจออกเองเพราะทนความกดดันจากการต้องทำงานภายใต้อดีตคู่รักไม่ได้ แต่ถ้าหากความสัมพันธ์ราบรื่น ทั้งคู่ก็จะเป็นที่จับตามองของคนในหน่วยงาน ความอิจฉาริษยา หรือไม่พอใจในหมู่เพื่อนร่วมงานอาจจะปรากฏให้เห็น หากคุณได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือมีความดีความชอบ เพื่อนร่วมงานอาจเหมาเอาว่าเขาถูกมองข้ามเพราะเขาไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายเหมือนอย่างคุณ

 

โรแมนซ์ในที่ทำงานตามอุดมคติ ควรจะเป็นคนโสดสองคนที่ทำงานต่างแผนกกัน และมีเส้นทางความก้าวหน้าในตำแหน่งคนละเส้นทางกัน

 

ประการที่ 2 ที่ต้องระวังคือ การมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่แต่งงานแล้ว เรื่องนี้เป็นสิ่งน่าอึดอัดใจอย่างยิ่งของบรรดาเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ที่รับรู้ และบางรายอาจเป็นที่ชิงชังของเพื่อนร่วมงาน การมีความสัมพันธ์กับคนที่แต่งงานแล้ว เป็นการทำลายอาชีพของคนทั้งคู่เพราะเพื่อนร่วมงานมองว่า คนคู่นี้ขาดจริยธรรมและจรรยาบรรณในการทำงาน

 

ประการที่ 3 คือ การเลิกราความสัมพันธ์ ตามปกติการยุติความสัมพันธ์กับคนรักเป็นสิ่งที่ยากลำบากอยู่แล้ว แต่การยุติความสัมพันธ์กับคนที่ทำงานในสถานที่เดียวกันยิ่งยากเป็นหลายเท่า การที่คุณต้องเห็นเขาวันแล้ววันเล่าเป็นสิ่งที่ทรมานใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของคุณ เวลาที่คู่รักเลิกรากัน บางครั้งทำให้ที่ทำงานกลายเป็นสมรภูมิรบย่อย ๆ ได้ เพราะเพื่อนร่วมงานมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ยิ่งกว่านั้นคู่รักที่เลิกรากันบางคู่ต่างแสดงธรรมชาติไม่ดีของตัวอออกมาเวลาเลิกรัก บางคนมีการตามตื้อและราวี ส่งผลกระต่องานที่ทำและบรรยากาศการทำงานโดยทั่ว ๆ ไป

 

 

เอาละค่ะ ท่านผู้อ่านมีข้อเตือนใจตัวเองแล้วนะคะ หากคิดจะค้นหารักในที่ทำงาน ขอให้ท่านโชคดีมีความสุขในความรักนะคะ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คัคนางค์ มณีศรี

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University