News & Events

คณบดีคณะจิตวิทยา เข้าร่วมโครงการ “Big Fish” ประจำไตรมาสที่ 2 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เยือนมหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 แห่ง และหน่วยงานเอกชน 1 แห่ง

 

วันที่ 6 – 7 กุมภาพันธ์ 2568 คณะจิตวิทยา โดย ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี ได้เข้าร่วมโครงการยุทธศาสตร์ความเป็นผู้นำเครือข่ายและฮับองค์ความรู้และบุคลากรผู้นำเชิงวิชาการ บนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก (Global networking with TOP100 universities) “Big Fish” ประจำไตรมาสที่ 2 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์

 

โครงการนี้ดำเนินการโดยสำนักบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างคณะและหน่วยงานต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกในภูมิภาคต่าง ๆ ในด้านวิชาการและด้านวิจัยนวัตกรรม เพื่อยกระดับความเป็นศูนย์กลางและผู้นำนานาชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การเดินทางครั้งนี้ได้เดินทางไปเยือนมหาวิทยาลัยที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ 3 แห่ง และหน่วยงานเอกชน 1 แห่ง โดยคณบดีคณะจิตวิทยาได้เข้าร่วมกิจกรรมดังนี้

 

วันที่ 6 ก.พ. 2568

 

  • พบผู้บริหารของ Nanyang Technological University (NTU) และร่วมกิจกรรม Focus Group กลุ่ม Health ระหว่างผู้บริหาร คณะ และหน่วยงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพของจุฬาฯ กับ Lee Kong Chain School of Medicine นำโดย Professor Joseph Sung Senior Vice-President (Health & Life Sciences) Dean, Lee Kong Chian School of Medicin
  • พบอธิการบดีของ National University of Singapore (NUS) และร่วมกิจกรรม Meeting กลุ่ม Health ระหว่างผู้บริหาร คณะ และหน่วยงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ของจุฬาฯ กับ NUS

 

วันที่ 7 ก.พ. 2568

 

  • พบอธิการบดีและคณะผู้บริหารของ Singapore Management University (SMU) จากนั้นเยี่ยมชม SMU X
  • เยี่ยมชม Google Headquater

 

 

 

NTU


 

 

 

NUS


 

 

 

SMU


 

 

 

Google


 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายกว่า 50 องค์กร จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ Safer Internet Day Thailand 2025 (SIDTH 2025) วันที่ 10-11 ก.พ. 2568

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายกว่า 50 องค์กร ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ Safer Internet Day Thailand 2025 (SIDTH 2025) เนื่องในวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ ปี 2568 ระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2568 ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะจิตวิทยา คณะนิเทศศาสตร์ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข

 

 

  • บรรยากาศงานนิทรรศการ ณ ทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส – สยามสแควร์วัน

 

 

 

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14.45 – 16.15 น. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนา Chula Safer Cyber Together ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการระดับชาติฯ ณ ห้อง 702 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10)

 

ประเด็นการเสวนาได้แก่

 

 

  • “อินเทอร์เน็ตปลอดภัยด้วยกฎหมายผู้ปกป้องอินเทอร์เน็ต (Internet safer with cyber defender law)”

โดย รศ. ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

 

  • “โลกดิจิทัล ความปลอดภัย และเสรีภาพของเยาวชนจากมุมมองทางปรัชญา”

โดย รศ. ดร.ศิรประภา ชวะนะญาณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

 

  • “มาร่วมกันใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างฉลาด ปลอดภัย และรับมืออย่างเข้มแข็ง ในโลกดิจิทัล”

โดย ผศ. ภญ. ดร.สุนทรี ท. ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

 

  • “รู้จัก เข้าใจ และป้องกัน Cyberbullying”

โดย ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

  • “จากคีย์บอร์ดสู่หัวใจ: สื่อสารออนไลน์อย่างปลอดภัยด้วยความร่วมรู้สึกทางดิจิทัล”

โดย อ. ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

 

  • “Digital Literacy: ทักษะสำคัญของเด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัล”

โดย น.ส. ณัฏฐนันท์ มุขมา วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ

 

  • “สาธารณสุข ในยุคโลก(โรค)ออนไลน์ : เช็คก่อนเชื่อ ชัวร์ก่อนแชร์”

โดย ผศ. ดร.ปกเกศ วงศาสุลักษณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ

 

ดำเนินรายการโดย อ. ดร.ถิรพุทธิ์ ปิติฉัตร ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ

 

 

 

 

 

ขอแสดงความยินดีกับ น.ส.รัชฎาวัลย์ ตะเพียนทอง นิสิตคณะจิตวิทยา ที่ได้เหรียญทองแดงในการแข่งขันพุมเซ่ชิงแชมป์โลก

 

คณะจิตวิทยา ขอแสดงความยินดีย้อนหลังกับ น.ส.รัชฎาวัลย์ ตะเพียนทอง นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้เข้าร่วมแข่งขันกีฬาเทควันโด พุมเซ่ ชิงแชมป์โลก 2024 ในรายการ “Hong Kong 2024 World Taekwondo Poomsae championships” ณ ฮ่องกง โคลิเซียม เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ 30 พ.ย. – 4 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา และสามารถคว้าเหรียญทองแดง 2 เหรียญ จากพุมเซ่รุ่นประชาชน ทีมหญิง และเดี่ยวหญิง

 

 

 

ภาพจาก ข่าวสด และ เดลินิวส์

 

ขอแสดงความยินดีกับนิสิตคณะจิตวิทยาที่เข้าร่วมการแข่งขันและได้รับเหรียญรางวัลในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยครั้งที่ 50 “ธรรมศาสตร์เกมส์ 2025”

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับนิสิตคณะจิตวิทยาที่เข้าร่วมการแข่งขันและได้รับเหรียญรางวัลในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยครั้งที่ 50 “ธรรมศาสตร์เกมส์ 2025” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 9-18 มกราคม 2568

 

 

 

 

ชญานุศภัฒค์ ชินนะเกิดโชค
2 เหรียญทอง จาก ฟันดาบสากล ดาบ Foil (ทีมหญิง) และ ฟันดาบสากล ดาบ Foil (บุคคลหญิง)

จิรัสยา รุมาคม
1 เหรียญเงิน จาก ยูยิตสู ทีมหญิง

สุพิชญา สุภาเพียร
1 เหรียญเงิน จาก ครอสเวิร์ด ทีมหญิง

รัชฎาวัลย์ ตะเพียนทอง
1 เหรียญทองแดง จาก เทควันโด ท่ารำ (Poomsae) เดี่ยวหญิง

พรนภา ศรีสวรรค์
พีรนุช พรสุขสว่าง
วรรณิศา จารุกิจไพศาล
เหรียญทองแดง จาก ฮอกกี้ ทีมกลางแจ้ง หญิง 5 คน

ณัฐกฤตา พลรัฐ
เข้ารอบชิงชนะเลิศ ยิงปืน ปืนสั้นอัดลม (Air Pistol) ทีมหญิง และ บุคคลหญิง

 

 

โดยเมื่อวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 นักกีฬาของคณะจิตวิทยาจำนวน 6 คน ได้รับมอบเกียรติบัตรและช่อดอกไม้แสดงความยินดีจากผู้บริหารคณะจิตวิทยา (นำโดย ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดี) และ Prof. Dr. Jolanda Jetten, Head of School of Psychology, Queensland University

 

 

 

 

รูปแบบความรัก – Love Styles

 

Zick Rubin (1970) เสนอว่า ความรัก คือเจตคติเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมที่บุคคลหนึ่งมีต่ออีกบุคคลหนึ่งในทิศทางที่แน่นอน Rubin ได้แยกความแตกต่างระหว่างความชอบและความรักไว้ว่า ความรักนั้นเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งและความผูกมัดมากกว่าความรู้สึกชื่นชอบธรรมดา โดยเขาเสนอว่าความรักประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ได้แก่

 

  1. Attachment – ความต้องการอยู่กับอีกคนหนึ่ง อยากใช้เวลาด้วยกัน และแสวงหาความใกล้ชิด
  2. Caring – ความต้องการให้อีกคนหนึ่งมีความสุขและได้เติมเต็มความต้องการของเขา เห็นอกเห็นใจ ใส่ใจ
  3. Intimacy – ความสนิทสนมทางอารมณ์และความรู้สึกของการแบ่งปันความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ส่วนตัว ทำให้เกิดความเข้าใจและเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งระหว่างกัน

 

มุมมองด้านจิตวิทยาวิวัฒนาการ มักอธิบายความรักว่าเกี่ยวข้องกับการเลือกคู่ คือ มองว่าความรักเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทารกที่เกิดขึ้นสามารถอยู่รอดสูง และสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ของตนไว้ได้ เนื่องจากบุคคลที่มีความรักต่อกัน ตัดสินใจอยู่ร่วมกัน และมีการให้กำเนิดทารกขึ้น บุคคลทั้งสองจะสามารถดูแลทารกที่เกิดมาได้อย่างดี มีโอกาสรอดสูง และมีอายุที่ยืนยาวจนสามารถสืบเผ่าพันธุ์ได้สูงกว่าทารกที่เกิดจากบุคคลที่ไม่ได้มีความรักต่อกัน ไม่ช่วยกันเลี้ยงดูทารก

 

ส่วนทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม อธิบายว่า ความรักเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคม โดยบุคคลจะเรียนรู้พฤติกรรมความรักโดยอาศัยบริบททางสังคมเป็นหลัก ดังนั้นรูปแบบความรักในแต่ละวัฒนธรรมจึงมีความแตกต่างกัน ตามแต่การเรียนรู้ของบุคคลในสังคม

 

ขณะที่ทฤษฎีการขยายความเป็นตัวตน มีมุมมองว่า มนุษยมีความปรารถนาที่จะเติบโตและขยายความเป็นตัวตนของตนเอง การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น การเรียนรู้ประสบการณ์การมีสัมพันธภาพ ร่วมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับรู้ตนเองของบุคคลอื่น ทำให้บุคคลสามารถเข้าใจตัวตนของตนเองได้ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ความเป็นตัวตนของตนเองมีขอบเขตขยายกว้างขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน

 

 

 

 

รูปแบบความรัก


 

รูปแบบความรักหรือเจตคติเกี่ยวกับความรักพัฒนามาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และเด็กในครอบครัว รวมถึงบุคลิกภาพ เพศ ภูมิหลัง เชื้อชาติ สถานภาพ อายุ ค่านิยม และประสบการณ์ในชีวิตจะหล่อหลอมแนวคิดต่อความรักด้วย ทั้งนี้ Lee (1973) ได้แบ่งประเภทของรูปแบบความรักและลักษณะของบุคคลที่มีความรักแต่ละรูปแบบดังนี้

 

1. ความรักแบบเสน่หา (Eros)

คือ ผู้ที่เชื่อและมีความดึงดูดใจกับคู่รักตั้งแต่แรกพบ ต้องการความผูกพันทางร่างกายและอารมณ์สูง พอใจกับการมีอารมณ์ที่เร่าร้อน พร้อมที่จะรักและยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ พยายามพัฒนาสายสัมพันธ์กับคนรักอย่างรวดเร็ว เปิดเผยตนเองอย่างซื่อสัตย์และจริงใจ สนใจแต่เฉพาะคู่ของตน และไม่เรียกร้องความเป็นเจ้าของจากคู่รัก

 

2. ความรักแบบเล่นเกม (Ludus)

คือ ความรักที่มีความผูกพันกันเพียงชั่วคราว มีคู่รักหลายคนในเวลาเดียวกัน และพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างความผูกพันทางอารมณ์อย่างลึกซึ้งกับคู่รัก ไม่แสดงความหึงหวงและความเป็นเจ้าของ รวมทั้งไม่ต้องการให้คู่รักแสดงความหึงหวงและความเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน ต้องการรักษาความเป็นอิสระของตน แม้บุคคลจะไม่ปรารถนาที่จะทำให้คู่ของตนเจ็บปวด แต่การโกหกและการไม่ซื่อสัตย์เกิดขึ้นได้เสมอ

 

3. ความรักแบบมิตรภาพ (Storge)

คือ ความรักที่มีพื้นฐานมาจากมิตรภาพ คู่รักมักรู้จักกันมาแบบเพื่อนเป็นเวลานาน มีความใกล้ชิดสนิทสนมคุ้นเคยกัน เข้าใจกัน คู่รักต้องการเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างค่อนเป็นค่อยไป ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน บุคคลจะพิจารณาความรักในฐานที่เป็นพื้นฐานของสังคมและครอบครัว โดยปราศจากความใคร่และไม่ต้องการความตื่นเต้นเร้าใจ แต่ต้องการมิตรภาพที่แนบแน่น

 

4. ความรักแบบใช้เหตุและผล (Pragma)

คือ ความรักที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ บุคคลจะแสดงหาคู่รักที่เหมาะสมกับตนมากที่สุด ใช้เหตุและผลพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ประกอบกัน โดยมีจุดหมายที่จะมีความสัมพันธ์กันในระยะยาวและต้องการที่จะรู้จักคู่รักของตนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ หากพิจารณาว่าคู่รักไม่เหมาะสมกันตน บุคคลอาจยุติความสัมพันธ์ลง

 

5. ความรักแบบลุ่มหลง (Mania)

คือ ความรักที่ปรารถนาความใกล้ชิดกัน ต้องการความเป็นเจ้าของกันและกันสูง มักเกิดความหึงหวงและความเข้าใจผิดกัน มักหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่เกี่ยวกับคู่ของตน ปรารถนาที่จะใช้เวลาอยู่กับคู่ตลอดเวลา เกิดความวิตกกังวลทันที่ถ้าคู่ของตนขาดความสนใจหรือไม่แสดงความรักตามที่ปรารถนา เชื่อว่าถ้าตนมีชีวิตโดยปราศจากความรักชีวิตของตนจะไม่มีค่า

 

6. ความรักแบบเสียสละ (Agape)

คือ ความรักที่บุคคลต้องการเป็นฝ่ายให้มากกว่าฝ่ายรับ คิดถึงความสุขและผลประโยชน์ของคู่รักเป็นหลัก โดยไม่กังวลถึงความต้องการของตนเองและไม่คาดหวังว่าจะได้รับอะไรกลับคืน ห่วงใย ใส่ใจ ให้อภัย ไม่เรียกร้อง มีการสนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกันสูง ดังนั้น “การให้” จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความรักแบบเสียสละ

 

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาเกี่ยวกับรูปแบบความรัก


 

 

งานของ Fricker และ Moore (2002) พบว่า รูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงสัมพันธ์กับความรักแบบเสน่หา บุคคลที่รับรู้ตนเองทางบวกจะเห็นคุณค่าในตนเองสูง และมีอิทธิพลทางทางบวกโดยตรงต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ส่วนรูปแบบความผูกพันแบหลบหลีกมีสหสัมพันธ์ทางบวกกับความรักแบบเล่นเกม และมีสหสัมพันธ์ทางลบกับความรักแบบเสน่หาและเสียสละ อีกทั้งลักษณะรูปแบบความผูกพันวิตกกังวลยังสะท้อนความรักแบบลุ่มหลง โดยบุคคลจะต้องการผูกมัดในความสัมพันธ์แบบโรแมนติดอย่างมาก และขึ้นกับคู่รักของตนเป็นสำคัญ

 

งานของ Morrow, Clark และ Brock (1995) พบว่า บุคคลจะเลือกคู่รักที่มีรูปแบบความรักคล้ายกับรูปแบบความรักของตน สอดคล้องกับงานของ Hahn และ Blass (1997) ที่พบว่า รูปแบบความรักที่บุคคลคล้ายคลึงกับคู่รักมากที่สุดคือ ความรักแบบมิตรภาพ และความรักแบบเสียสละ ส่วนที่คล้ายคลึงกับคู่รักน้อยที่สุดคือ ความรักแบบเล่นเกม นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า คู่รักที่มีรูปแบบความรักคล้ายคลึงกันจะมีแนวโน้มอยู่ด้วยกันและพึงพอใจในความสัมพันธ์มากกว่าคู่รักที่มีรูปแบบความรักแตกต่างกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีความคาดหวังในความสัมพันธ์ที่เป็นไปในทางเดียวกัน

 

งานของ วาริน เทพยายน (2542) พบว่าอายุมีสหสัมพันธ์ทางลบกับความรักแบบลุ่มหลง คือเมื่ออายุเพิ่มขึ้นและมีระยะเวลาคบกับคนรักนานขึ้น จะทำให้มีความรักแบบลุ่มหลงลดลง และพบว่าบุคคลที่เคยมีความรักหลายครั้งมีแนวโน้มจะมีความรักแบบเล่นเกมสูงขึ้น เสียสละในความรักและพึงพอใจในความสัมพันธ์น้อยลง

 

 

 


 

 

 

ข้อมูลจาก

 

สุธาสินี ใจสมิทธ์. (2553). อิทธิพลของความหลงตนเอง รูปแบบความรักแบบเล่นเกม และการกระตุ้นลักษณะเน้นความสัมพันธ์ต่อการผูกมัดในความสัมพันธ์. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://doi.org/10.14457/CU.the.2010.1915

 

สิริภรณ์ ระวังงาน. (2553). ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ ต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยมีองค์ประกอบของความรักทั้งสามเป็นตัวแปรส่งผ่าน. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ.  http://doi.org/10.14457/CU.the.2010.1237

 

 

JIPP14 Parent Meeting 2025

 

The Joint International Psychology Program (JIPP) between Chulalongkorn University and The University of Queensland (UQ) hosted its launch “Parent Meeting for #JIPP14 Students” on February 4, 2025, at the Chaloem Rajakumari 60 Building, 20 Fl., Chulalongkorn University.

 

Welcomed parents and JIPP14 students were Asst. Prof. Natthasuda Taephan, Ph.D., Dean of Faculty Psychology, Phot Dhammapeera, Ph.D., Director of JIPP, Prof. Jolanda Jetten, Ph.D., Head of the School of Psychology, and Miss Donna Guest, International Development Manager.

 

The event provided valuable insights into preparing for the Chula-UQ transfer, navigating studies and life in Brisbane at The University of Queensland, and the insights information from JIPP12 students. This event has sparked excitement as we embark on this academic journey together.

 

 

 

เกิดอะไรขึ้น ? เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่น

 

 

เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย… หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้าง

 

แล้วเคยสงสัยกันมั้ยว่า การเป็นวัยรุ่นเหนื่อยอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้างกับการเป็นวัยรุ่น และถ้าอยากจะลดความเหนื่อยล่ะ จะทำได้อย่างไร

 

วัยรุ่น เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเด็กมาสู่การเป็นผู้ใหญ่ หลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นนั้น เหตุผลหลัก ๆ คือ เพื่อเตรียมวัยรุ่นให้พร้อมกับการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่

 

ดังนั้น เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่นจึงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมายที่จะเป็นพื้นฐานต่อการรับบทบาทในฐานะผู้ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

โดยการเปลี่ยนแปลงที่วัยรุ่นจะต้องเผชิญนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย (Biological transitions) การเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญา (Cognitive transitions) และการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม (Social transitions)

 

  • การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย (Biological transitions)

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ความสูงและน้ำหนัก ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวัยรุ่น หรือการเปลี่ยนแปลงในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่แสดงให้เห็นถึงการมีวุฒิภาวะทางเพศ เช่น เด็กชาย มีกล้ามเนื้อมากขึ้น มีเสียงที่เปลี่ยนไป หรือในเด็กหญิงที่มีการขยายของหน้าอกและสะโพก จนเกิดเป็นคำทักทาย “โตเป็นสาวแล้วนะเนี่ย” หรือ “โตเป็นหนุ่มเลย” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอก นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกายด้วยเช่นกัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงการหลั่งของระดับฮอร์โมนเพศ (Sex hormone) ซึ่งทำให้เด็กชายมีการหลั่งครั้งแรก (First ejaculation) หรือเด็กหญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรก

 

และเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายเหล่านี้ ทำให้วัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หรือเพิ่งจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย มีความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเอง หรือกังวลกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนเอง

 

การเปลี่ยนแปลงต่อมาคือ

  • การเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญา (Cognitive transitions)

การเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของวัยรุ่นในการทำความเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยวัยรุ่นจะสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเป็นไปได้ต่าง ๆ เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น สูตรทางเคมี สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ

 

ถ้าจะให้กล่าวโดยสรุปก็คือ วัยรุ่นมีความสามารถในการเข้าใจสิ่งรอบตัวได้ละเอียดและลึกซึ้งมากขึ้น

 

แต่นอกจากนี้ วัยรุ่นยังมีลักษณะความคิดที่เป็นความเฉพาะตัวของช่วงวัยด้วย ลักษณะแรกคือ การมีผู้ชมในจินตนาการ (Imaginary audience) โดยวัยรุ่นจะคิดว่าคนรอบข้างนั้นจะคอยสังเกตลักษณะหรือพฤติกรรมของวัยรุ่นอยู่ตลอดเวลา เปรียบได้กับการที่วัยรุ่นอยู่บนเวทีที่มีคนรอบข้างเป็นผู้ชมคอยจับจ้อง ซึ่งอาจทำให้วัยรุ่นกังวลกับรูปลักษณ์ของตนเองมากขึ้น อีกลักษณะคือ ความคิดที่ว่า ตนเองเป็นคนพิเศษ ประสบการณ์ของตนเองนั้นมีลักษณะที่เฉพาะเจาะจง (Personal fable) ดังนั้นผู้ใหญ่อาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “พ่อไม่เข้าใจผมหรอก…” หรือ “แม่ไม่เข้าใจในสิ่งที่หนูเจอหรอก…” เป็นต้น ซึ่งความคิดในลักษณะนี้ยังทำให้วัยรุ่นมีความเชื่อได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอื่นจะไม่เกิดขึ้นกับพวกเขา ความเชื่อในลักษณะนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น เพราะเชื่อว่าอุบัติเหตุหรืออันตรายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนอื่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับพวกเขา

 

การเปลี่ยนแปลงในกลุ่มสุดท้ายคือ

  • การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม (Social transitions)

 

การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมมีทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตนเอง และการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

 

การเปลี่ยนแปลงภายในตนเองที่เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเด็กก้าวสู่วัยรุ่นคือ การพัฒนาอัตตลักษณ์ (Identity) หรือ การพยายามหาคำตอบว่า ฉันคือใคร ซึ่งช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงของการสำรวจและทดลองสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาสิ่งที่ตรงกับตนเอง ดังนั้นประสบการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้วัยรุ่นได้ค้นพบสิ่งที่เป็นตัวตน

 

นอกจากนี้เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ความสัมพันธ์ที่วัยรุ่นมีกับคนรอบข้างเกิดการก็เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น

    • ความสัมพันธ์กับครอบครัว ที่อาจจะมีการใช้เวลาร่วมกันที่ลดลง เนื่องด้วยวัยรุ่นต้องการที่จะมีอิสระมากขึ้น
    • ความสัมพันธ์กับเพื่อน ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตของวัยรุ่นมากขึ้น เป็นแหล่งสนับสนุนที่เพิ่มเติมเข้ามาในชีวิตวัยรุ่น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ “แทนที่” ความสัมพันธ์กับครอบครัวแต่เป็นสิ่งที่ “เพิ่มเติม” นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์กับครอบครัว
    • ความสัมพันธ์แบบคู่รัก ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้ ความสัมพันธ์ที่วัยรุ่นต้องเริ่มต้นทำความรู้จักและเรียนรู้ที่จะมีความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้

จะเห็นได้ว่าเมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่น มีเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้น และเพื่อให้วัยรุ่นสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอันมากมายที่เกิดขึ้น

 

จะทำอย่างไรดี… ที่จะช่วยลดความเหนื่อยจากการก้าวเข้าสู่วัยรุ่น

 

ไม่ว่าจะเป็นตัววัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้าง สิ่งที่สำคัญคือ เปิดใจ เข้าใจ และเรียนรู้

 

เปิดใจ… สังเกตและยอมรับในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งตัววัยรุ่นเองและผู้ใหญ่ การเปิดใจจะช่วยลดความกลัวและความวิตกกังวลของวัยรุ่นที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในวัยรุ่นและผู้ใหญ่

 

เข้าใจ… ความพยายามที่จะทำความเข้าใจทั้งต่อสาเหตุและเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้าง

 

เรียนรู้… ที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งตัววัยรุ่นเองที่ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และผู้ใหญ่ที่ยังต้องเรียนรู้ว่าจะปรับตัวให้เข้ากับเด็กที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ที่จะปรับตัวซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่สามารถอยู่ร่วมกันได้ พร้อมทั้งสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

 

อ้างอิง

Arnett, J. J. (2018). Adolescence and emerging adulthood (6th ed.). New Jersey: Pearson.

Steinberg, L. (2017). Adolescence (11th ed.). New York: McGraw-Hill Education.

 

 


 

 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

 

 

ขอแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 108 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬา

 

วันที่ 29 มกราคม 2568 ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วย คุณเวณิกา บวรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คณะจิตวิทยา เข้าร่วมพิธีตักบาตร และแสดงความยินดีกับ ศ. ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดี และผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันครบรอบ 108 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ อาคารแถบ นีละนิธิ ชั้น 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

 

“จิตวิทยา จุฬาฯ” ร่วมกับ “สสส.” มอบรางวัลเชิดชู 11 องค์กรต้นแบบ สร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards)

 

“จิตวิทยา จุฬาฯ” ร่วมกับ “สสส.” มอบรางวัลเชิดชู 11 องค์กรต้นแบบ สร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards)

 

 

โครงการ “Thai Mind Awards” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 2 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ “คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และ “สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต” (TIMS) โดยความสนับสนุนของ สสส. ที่ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาระบบเกณฑ์การคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตดีเด่น เพื่อเฟ้นหาและเชิดชูองค์กรต้นแบบสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตให้กับพนักงาน

5 องค์กร ที่ชนะรางวัล “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” (The Excellence in Thai Mind Awards) ได้แก่

  1. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
  2. เอไอเอ ประเทศไทย จำกัด
  3. บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาปราจีนบุรี
  4. บริษัท ยีอี เมดิคอล ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
  5. โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา

 

6 องค์กร ที่ได้รับรางวัลพิเศษ (The Honorable Mention Awards) ในมิติต่าง ๆ ของ GRACE ได้แก่

  1. ดิ แอสเพน ทรี เดอะ ฟอเรสเทียส์
  2. บริษัท เอเอ็นซี โบรเกอเรจ จำกัด
  3. บริษัท ซีเมนส์ เฮลธ์แคร์ จำกัด
  4. บริษัท ทีดีซีเอ็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
  5. โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
  6. บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด และ บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด (ในนามของ PASAYA)

 

 

 


 

ข่าวและภาพจาก https://www.chula.ac.th/news/213249

 

พิธีมอบรางวัลจัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 22 มกราคม 2568 ณ หอประชุมจุฬาฯ โดยมี ศ. ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการดูแลสุขภาวะทางจิตของบุคลากรในองค์กรไทย ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์และการดำเนินงานโครงการ

 

 

 

จากนั้นเป็นพิธีมอบรางวัลสำหรับสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) และมอบรางวัลสำหรับองค์กรที่มีความโดดเด่นในมิติต่างๆ ของสุขภาวะ (The Honorable Mention Awards)

 

 

 

 

ปิดท้ายด้วยการบรรยายเรื่อง การดูแลสุขภาวะของบุคลากรจุฬาฯ โดย ศ. ดร.คณพล จันทร์หอม รองอธิการบดีจุฬาฯ และการเสวนาแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมขององค์กรที่ได้รับรางวัลโดยผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัล

 

 

 

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการจิตบำบัดแบบมุ่งเน้นอารมณ์สำหรับคู่รัก

 

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการจิตบำบัดแบบมุ่งเน้นอารมณ์สำหรับคู่รัก โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ

Learning Emotionally Focused Couple Therapy (EFT): An Introduction to Comprehensive Theory, Basic Skills, and a Step-by-Step Process

 

การอบรมนี้มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจแนวคิดพื้นฐาน ทักษะที่สำคัญและกระบวนการตามแนวคิด Emotionally Focused Couple Therapy (EFT) เหมาะสำหรับนักจิตวิทยา หรือผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิต จัดโดย ศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Wellness) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รุ่นที่ 1

วันที่ 8-10 มีนาคม 2568 เวลา 9.30 – 16.30 น.

ณ ห้อง 614 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

——– รุ่นทีี่ 1 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว ———

 

รุ่นที่ 2

วันที่ 22-24 มีนาคม 2568

ณ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ

– วันที่ 22 มี.ค. 2568 ห้อง 809 ชั้น 8

– วันที่ 23-24 มี.ค. 2568 ห้อง 614 ชั้น 6

——– รุ่นทีี่ 1 อบรมเสร็จสิ้นแล้ว ———

 

รุ่นที่ 3

วันที่ 23-25 พฤษภาคม 2568
ณ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ
ห้องอเนกประสงค์ ขั้น 4 คณะจิตวิทยา
– ปิดรับลงทะเบียนวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 หรือเมื่อมีผู้ลงทะเบียนครบตามจำนวน)


ลงทะเบียนทาง https://forms.gle/E9W825Tm5QP7mNjM8

 

วิทยากร

 

รับจำนวนจำกัด รุ่นละ 30 ท่าน เท่านั้น

 

อัตราค่าลงทะเบียน
  • 8,500 บาท (อัตราค่าลงทะเบียนนี้ รวมอาหารว่าง อาหารกลางวัน เอกสารการอบรมและประกาศนียบัตรสำหรับผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 80% ของเนื้อหา)

 

*การยกเลิกการลงทะเบียน ขอสงวนสิทธิ์ไม่คืนค่าลงทะเบียนทุกกรณี*

 

 

 

 

ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เบอร์โทรศัพท์โครงการ : 093-354-2650
อีเมล : psychulaworkshop@gmail.com