News & Events

การใช้อารมณ์ขันรับมืออารมณ์ลบ

คนไทยรวยอารมณ์ขัน

 

ผู้เขียนมีความคิดเช่นนี้ เพราะสังเกตเห็นว่าในทุกวิกฤตหนัก ๆ ที่คนไทยเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันนี้ สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2554 หรือสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา (และยังไม่ผ่านไป หลายต่อหลายระลอก) ท่ามกลางความตึงเครียด ความโศกเศร้า ความวิตกกังวล ความโกรธ การโต้เถียง และคำวิพากษ์วิจารณ์ ก็มักจะมีมุกตลกมาแบ่งปันกันในสังคมเสมอ

 

มุกตลกนั้นมีทั้งในรูปคำคม การ์ตูน 4 ช่อง ภาพประกอบเรื่อง ภาพประกอบเพลง ภาพประกอบเนื้อเพลงคาราโอเกะ คลิปล้อเลียน เพลงแปลง รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้แล้วยังตลกด้วย

 

การศึกษาทางจิตวิทยานั้นพบว่า การใช้ความตลกขบขัน (humor) เป็นหนึ่งในวิธีการจัดการอารมณ์ทางลบที่มนุษย์เราใช้กัน โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด หรือมุมมองที่เรามีต่อปัญหาและมีต่อความสามารถในการแก้ปัญหา ให้สถานการณ์ที่คุกคามความรู้สึกของเรา (threat) กลายเป็นสถานการณ์ที่เป็นความท้าทาย (challenge) และเมื่อเรามีมุมมองต่อปัญหาเปลี่ยนไป อารมณ์ทางลบที่ทำให้เรารู้สึกตึงเครียด (หัวร้อน) ก็จะบรรเทาลงไปด้วย

 

นักจิตวิทยาอธิบายว่า การใช้ความตลกขบขันนั้นมีลักษณะคล้ายกับการเบี่ยงเบนความสนใจ (distraction) โดยเมื่อเราได้ผ่อนคลายอารมณ์จากการคิดถึงปัญหาในมุมอื่น หรือจากการพยายามสร้างสรรค์มุกต่าง ๆ ขึ้นมา อารมณ์ที่ผ่อนคลายลงนั้น จะช่วยให้เราสามารถโฟกัสกับปัญหาได้มากขึ้น และนำไปสู่การจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้นด้วย

 

นอกจากนี้ นักจิตวิทยาพบว่า การใช้ความตลกขบขันนั้นมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถป้องกันได้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือจัดการได้ในทันที ต้องรอเวลา อย่างเช่นในสถานการณ์ COVID-19 ที่เราไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ ไม่สามารถยุติมาตรการเคอร์ฟิวได้ ไม่สามารถเปิดกิจการหรือเปลี่ยนใจนายจ้างให้ไม่ลดเงินเดือนได้ อย่างไรก็ดี ความตลกขบขันจะใช้ได้ผลเมื่อเราไม่ได้อยู่ในสภาวะอารมณ์ที่เข้มข้นมาก (เพราะถ้าเราอารมณ์เข้มข้นมากก็คงจะตลกไม่ออก) กล่าวคือ ในระหว่างที่เราไม่สามารถจัดการปัญหาได้ทั้งหมด เราก็จัดการกับอารมณ์ของเรา ซึ่งจะส่งผลทางบวกให้เราอยู่ในสภาวะที่พร้อมต่อการแก้ปัญหาเมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง

 

นักจิตวิทยายังเสนออีกว่า การใช้ความตลกขบขันมีความสัมพันธ์กับระดับความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ด้วย เพราะผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง คือผู้ที่มีความสามารถด้านการปรับตัวสูง โดยสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง ยอมรับและตระหนักในสิ่งที่เกิดขึ้น และรู้จักยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อการปรับอารมณ์โดยไม่ปฏิเสธปัญหา แต่ทั้งนี้ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะใช้ความตลกขบขันในทางบวก (adaptive humor) หรือตลกในทางสร้างสรรค์ (ตลกแบบที่คนอื่นตลกด้วย) ขณะที่ผู้ที่มีความฉลาดอารมณ์ต่ำจะใช้ความตลกขบขันในทางลบ (maladaptive humor) หรือตลกไม่สร้างสรรค์ (ตลกดูถูกตนเอง ตลกทำร้ายคนอื่น ตลกแบบที่คนอื่นไม่ตลกด้วย)

 

สรุปแล้ว การสร้างความตลกขบขันในสถานการณ์ที่เลวร้าย ก็เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการรับมือกับปัญหา แต่มีข้อพึงระวังว่าการใช้มุกตลกของเรานั้นควรให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ มิเช่นนั้นแล้วอาจจะนำพาปัญหาอื่นเข้ามาแทรกได้
และถ้าเราเป็นผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหานั้น ก็อย่ามามัวแต่ตลกอย่างเดียว เพราะจะเป็นการเพิกเฉยต่อปัญหา ต้องลงมือทำด้วย แล้วจะตลกด้วยก็ไม่มีใครว่าอะไรค่ะ

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Peña-Sarrionandia, A., Mikolajczak, M., & Gross, J. J. (2015). Integrating emotion regulation and emotional intelligence traditions: a meta-analysis. Frontiers in psychology, 6, 160.

 

Greven, C., Chamorro-Premuzic, T., Arteche, A., & Furnham, A. (2008). A hierarchical integration of dispositional determinants of general health in students: The Big Five, trait emotional intelligence and humour styles. Personality and Individual differences, 44(7), 1562-1573.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความสมดุลระหว่างชีวิต (ที่บ้าน) และการทำงาน

 

ในช่วงนี้ บางคนที่ต้อง work from home อาจประสบปัญหาความไม่สมดุลหลายอย่าง เช่น เรื่องต่าง ๆ ภายในบ้านรบกวนการทำงาน หรือการเผชิญกับความคาดหวังที่จะต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ครั้งนี้เราจะมาคุยกันว่า เราจะทำอะไรได้บ้างในสภาวะเช่นนี้

 

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า “ความสมดุล” นี้ เป็นเรื่องของใครของมัน บางคนอาจทำงานตลอดเวลาแต่ก็ยังรู้สึกว่าชีวิตตนเองสมดุลอยู่ หรือบางคนอาจชอบที่จะ “รวม” ชีวิตการทำงานเข้ากับชีวิตด้านอื่น ๆ อยู่แล้ว คนกลุ่มนี้เมื่อต้องทำงานที่บ้านก็อาจไม่ต้องปรับตัวอะไรมากนัก ในทางกลับกัน คนที่ชอบ “แยก” ชีวิตการทำงานออกจากชีวิตด้านอื่น ๆ เมื่อต้องทำงานที่บ้านก็อาจต้องปรับตัวมาก ดังนั้นประเด็นของบทความนี้คือ “คนที่เคยมีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน” แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้านแล้วรู้สึกว่า “ความสมดุลนั้นเสียไป” ซึ่งคนที่ประสบปัญหามากที่สุดน่าจะเป็นคนที่มีสไตล์การทำงานที่ค่อนข้างแยกเรื่องงานออกจากเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต

 

แนวทางสำคัญของการส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิต (ที่บ้าน) และการทำงาน คือ การพยายามทำให้การทำงานที่บ้าน ไม่แตกต่างจากการทำงานที่ทำงาน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ทำให้ทุกอย่างคล้ายกับการทำงานที่ทำงานมากที่สุด ตั้งแต่สภาพแวดล้อม การใช้เวลา ไปจนถึงการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากเวลาเราทำงานที่ทำงาน เราจะมี “ขอบเขต” ที่ค่อนข้างชัดเจน อย่างน้อยที่สุดก็คือระยะห่างระหว่างบ้านและที่ทำงาน ที่จะคอยช่วยกำหนดว่า สิ่งใดหรือใคร ที่จะผ่านขอบเขตนี้มาได้ แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้าน ขอบเขตที่เราเคยมีก็อาจเลือน ๆ ไป จนทำให้บางคนเผลอล้ำขอบเขตของเรา หรือแม้แต่ตัวเราเองที่ยังอาจสับสนกับการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงทำให้เราไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้อย่างสมดุลเหมือนแต่ก่อน สิ่งที่เราจะต้องทำ คือ พยายามทำให้ขอบเขตเดิมที่จริง ๆ มีอยู่แล้ว ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง

 

 

งานวิจัยของ Kreiner และคณะ (2009) พบเทคนิคที่น่าสนใจ 4 กลุ่ม ที่เราน่าจะนำมาปรับใช้ในกรณีนี้ได้

 

 

1. เทคนิคด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

 

ถ้าเรารู้สึกว่า เรื่องต่าง ๆ ของบ้านดึงความสนใจของเราในขณะที่กำลังทำงานอยู่มากเกินไป การจัดกระทำให้มีพื้นที่ “ที่ทำงาน” เป็นสัดเป็นส่วนและแยกออกจากพื้นที่ที่เราใช้พักผ่อน ก็จะช่วยให้เราแยกกิจกรรมการทำงานออกจากกิจกรรมอื่น ๆ ที่บ้านได้ระดับหนึ่ง พื้นที่เป็นสัดเป็นส่วนนี้อาจทำได้จากการเพิ่มระยะห่าง (ระหว่างโต๊ะทำงานและมุมพักผ่อน) การสร้างฉากกั้น หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น เครื่องเขียน) แยกกัน

 

2. เทคนิคด้านเวลา

 

ถ้าเราสามารถจัดตารางเวลาการทำงานแยกออกจากตารางเวลาที่เราทำกิจกรรมอื่น ๆ กับครอบครัว (หรือที่ทำคนเดียว) ได้ ก็จะช่วยให้เราทำงานที่บ้านได้อย่างสบายใจมากขึ้น ตารางเวลานี้อาจล้อไปกับตารางเวลาเดิมในช่วงที่เราทำงานที่ทำงาน แต่ถ้างานของใครไม่สามารถกำหนดหรือกะเกณฑ์ตารางเวลาได้อย่างชัดเจน เรายังสามารถใช้เทคนิค การออมเวลา (banking) ได้ สมมติว่า เราจำเป็นต้องทำงานช่วงกลางคืนทั้ง ๆ ที่เราน่าจะได้ใช้เวลาช่วงนี้กับครอบครัว เราสามารถ “เก็บออม” ช่วงเวลานี้ไว้แล้วไปหักลบกับเวลาทำงานช่วงอื่น ๆ ได้ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เรารู้สึกสมดุลในการใช้เวลามากขึ้น ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถทำงานยึดตามตารางเวลาที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกก็ตาม

 

นอกจากนี้ เราอาจจัดเวลาบางช่วงที่ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องงานและเรื่องในบ้านเลย สำหรับบางคนที่จะต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัว อยู่ที่ทำงานก็ต้องทำงานเต็มที่ อยู่ที่บ้านก็ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวเต็มที่เช่นกัน เมื่อก่อนเราอาจใช้เวลาระหว่างการเดินทางหรือการรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นช่วงเวลา “พักผ่อน” เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้านแล้ว ช่วงเวลาเหล่านี้หายไป กลายเป็นว่าเมื่อหันไปทางหนึ่งก็เป็นเรื่องงาน พอหันกลับมาอีกทางหนึ่งก็เป็นเรื่องในบ้าน ไม่มีเวลาพักหายใจเลย ดังนั้น การจัดเวลาบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องงานและเรื่องในบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน

 

3. เทคนิคเชิงพฤติกรรม

 

ประกอบไปด้วย (a) การกำหนดขอบเขตของ “การรวมกัน” ระหว่างกิจกรรมการทำงานและกิจกรรมอื่น ๆ อย่างยืดหยุ่นแต่ชัดเจน (b) การจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ (c) การใช้เทคโนโลยี และ (d) การหาตัวช่วย

 

โดยทั่วไป แต่ละคนชอบที่จะรวมหรือแยกกิจกรรมการทำงานและกิจกรรมอื่น ๆ ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่น้อยคนนักที่จะชอบแบบสุดโต่ง (ต้องแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด หรือสามารถรวมกันได้ทุกเรื่อง) ส่วนใหญ่แล้วจะมีความชอบอยู่ตรงกลาง คือ รวมกันบางเรื่องและแยกกันบางเรื่อง ดังนั้น เราควรจะกำหนดขอบเขตตั้งแต่แรกเลยว่า เมื่อต้องทำงานที่บ้าน เรื่องใดบ้างในการทำงานที่เราขอให้แยกออกจากการใช้เวลากับครอบครัวอย่างชัดเจน และเรื่องใดบ้างที่เรายอมให้มากินเวลาส่วนตัวได้ หรือใครบ้างที่สามารถติดต่อเราได้ทุกเวลา และใครบ้างที่ติดต่อเราได้เฉพาะเวลางานเท่านั้น และการกำหนดขอบเขตนี้ควรทำทั้ง 2 ทิศทาง คือ จากการทำงานมา (รบกวน) ที่บ้าน และจากที่บ้านไป (รบกวน) การทำงานด้วย

 

เทคนิคต่อไป คือ การจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ ในการทำงานที่บ้าน บางครั้งเราเผชิญกับปัญหาเรื่องงานและปัญหาเรื่องบ้านพร้อม ๆ กัน เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า เมื่อปัญหาเกิดขึ้น เราจะได้ลงมือจัดการตามลำดับความสำคัญที่เราได้กำหนดไว้แล้ว

 

เราสามารถดัดแปลงการใช้เทคโนโลยีให้ชีวิตที่บ้านและการทำงานมีความสมดุลมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่บ้านทำงาน เราอาจสร้าง user สำหรับการทำงานแยกออกมาเพื่อไม่ให้ไฟล์หรือโปรแกรมต่าง ๆ ผสมปนเปกัน หรือแม้แต่เราอาจใช้อีเมลสำหรับการทำงานและอีเมลส่วนตัวแยกกัน

 

เทคนิคสุดท้าย คือ การหาตัวช่วย ในที่นี้ก็คือ gatekeeper หรือบุคคลที่จะมาช่วยเรารับมือกับความต้องการต่าง ๆ ที่บางครั้งอาจถาโถมเข้ามาเกินพอดี ในกรณีที่เราทำงานที่บ้านและมีเพื่อนร่วมงานติดต่อมานอกตารางเวลางานที่ตกลงกันไว้ เราอาจให้ “คนอื่น” เป็นคนรับเรื่องและพิจารณาว่า เรื่องที่ติดต่อมานั้นมีความสำคัญและมีความเร่งด่วนมากพอที่จะสละเวลาส่วนตัวไปทำหรือไม่

 

4. เทคนิคด้านการสื่อสาร

 

เทคนิคสามกลุ่มแรกอาจไม่ประสบความสำเร็จถ้าเราไม่มีการสื่อสารที่ดีพอ ทั้งกับเพื่อนร่วมงานและกับสมาชิกในครอบครัว หัวใจของการสื่อสาร คือ การกำหนดความคาดหวังในเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของเราให้ชัดเจน เนื้อหาของการสื่อสารที่สำคัญ เช่น เราอาจต้องการลักษณะการทำงานที่เหมือนเดิมหรือคล้ายเดิม ทั้งเรื่องตารางเวลาและเรื่องการติดต่องาน สมมติว่า แต่เดิมเราตกลงกันไว้อย่างชัดเจนทั้งตารางเวลาทำงานและลักษณะการติดต่องาน เมื่อต้องทำงานที่บ้าน เราก็ควรจะสื่อสารให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจว่า เราต้องการคงตารางเวลาทำงานเดิมไว้และต้องการใช้การติดต่องานวิธีเดิม ซึ่งแน่นอนว่า ความคาดหวังนี้จะต้องสื่อสารกับทั้งเพื่อนร่วมงานที่ทำงาน และสมาชิกในครอบครัวที่บ้านด้วย ถ้าเราต้องการสมาธิในการทำงานอย่างเต็มที่ การสื่อสารความต้องการนี้กับสมาชิกในครอบครัวให้พวกเขาเข้าใจก็จะทำให้การทำงานที่บ้านราบรื่นมากขึ้น

 

เทคนิค 4 กลุ่มนี้ เป็นเทคนิคเบื้องต้นที่เราน่าจะนำไปใช้ได้ สำหรับบุคคลที่ต้องทำงานที่บ้านและรู้สึกว่า การทำงานที่บ้านทำให้สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเสียไป เมื่อเทียบกับสภาวะก่อนหน้าที่เราทำงานที่ทำงาน สำหรับบางคนที่ชีวิตไม่สมดุลอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะทำงานที่ทำงานหรือทำงานที่บ้านก็ตาม เทคนิคเหล่านี้ก็อาจพอช่วยได้บ้าง แต่อาจต้องมีการทำความเข้าใจอย่างหนักหน่วงและการสื่อสารที่ชัดเจนกับสมาชิกในทีม ทั้งทีมทำงานและทีมที่บ้าน เนื่องจากบางเทคนิคอาจได้ผลกับบางคนและในบางสถานการณ์ การทดลองใช้เทคนิคต่าง ๆ แล้วสังเกตดูว่า เทคนิคใดบ้างที่เหมาะสมกับเรา หรือลองปรับเทคนิคเหล่านี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะหน้าของแต่ละคน น่าจะทำให้ชีวิตที่บ้านและการทำงานกลับมามีความสมดุลเหมือนเดิมไม่มากก็น้อย

 

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถสู่ความเป็นเลิศ

ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life-Di Center)

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

การประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาของตนเอง

 

ในชีวิตคนเราย่อมประสบพบเจอปัญหาต่าง ๆ มากมายและหลากหลาย ซึ่งบางคนสามารถปรับตัวและผ่านปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตได้ดี ตรงกันข้ามบางคนก็สามารถผ่านปัญหาต่าง ๆ ไปได้อย่างทุลักทุเล หรือไม่สามารถผ่านไปได้ งานวิจัยจำนวนมากทางจิตวิทยาพบว่า บุคคลที่รับรู้หรือคิดว่าตนเองมีความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าบุคคลที่คิดว่าตนเองไม่สามารถจะแก้ปัญหาในชีวิตได้

 

การประเมินความสามารถในการแก้ปัญหา อีกนัยหนึ่งก็คือ ความมั่นใจว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตหรือการรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งสัมพันธ์กับตัวแปรต่าง ๆ ที่สำคัญทางจิตวิทยาได้แก่ การปรับตัว บุคคลที่มีความมั่นใจว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีจะสามารถปรับตัวได้ดี มีความสิ้นหวัง ซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายต่ำกว่าบุคคลที่ไม่มั่นใจว่าตนเองจะสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า บุคคลที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาจะบริโภคแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่น้อยกว่าบุคคลที่ไม่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้

 

สำหรับตัวแปรทางด้านบุคลิกภาพ มีงานวิจัยพบว่า บุคคลที่มั่นใจว่าสามารถแก้ปัญหาได้ จะมีความวิตกกังวลและความโกรธต่ำ แต่จะมีความอยากรู้อยากเห็นสูง มีรายงานพบว่า พ่อแม่ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะใช้การลงโทษลูกน้อยกว่าพ่อแม่ที่ไม่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหา และลูกของพ่อแม่ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาจะมีการพัฒนาทางอารมณ์และสังคมที่ดีกว่าลูกของพ่อแม่ที่ไม่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหา

 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ หรือรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จะบ่นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนน้อยกว่าผู้ที่ไม่มั่นใจว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาได้ อีกทั้ง ผู้ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ มักใช้วิธีเผชิญปัญหา ไม่หนีปัญหา และพยายามแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาหรืออุปสรรคนั้น ๆ โดยผู้ที่แก้ปัญหาได้ดีจะรู้จักประเมินสิ่งแวดล้อมและรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

 

วิธีที่จะทำให้เรามีความมั่นใจว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีหรือรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้นั้น มี 3 ประการ ได้แก่

 

ประการที่ 1 รู้จักยืดหยุ่น ถ้าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่สามารถไปถึงได้ให้หาเป้าหมายสำรองที่สามารถไปถึงได้และทำให้เราพึงพอใจ วิธีนี้ทำให้เรารู้สึกว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีและมีความมั่นใจในการแก้ปัญหา

 

ประการที่ 2 หาวิธีหรือแนวทางใหม่ ๆ ในการควบคุมสถานการณ์ เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอาจแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่ตนเองป่วย ลดความเครียด ดูแลอาหารการกินและออกกำลังกายตามความเหมาะสม การที่สามารถรู้อาการของโรคหรือการที่สามารถทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมหรือแก้ปัญหาได้ดี นอกจากนี้ การกระทำใดๆ ก็ตามของบุคคลที่ส่งผลในทางบวกต่อบุคคลก็จะทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ เช่น บุคคลที่ควบคุมอาหารแล้วน้ำหนักลดก็จะมีกำลังใจในการควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก เป็นต้น

 

ประการที่ 3 การยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใด ๆ โดยพยายามหาข้อบวกในปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบ หลายคนพบสิ่งที่มีความหมายในการสูญเสีย หลายคนสามารถพัฒนาตนเองจากการสูญเสีย การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บุคคลพัฒนาความรู้สึกของการควบคุมสถานการณ์ รู้สึกว่าตนเองไม่โชคร้ายจนเกินไป

 

การที่เรารับรู้หรือรู้สึกว่าเราสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดี หรือการที่เรามีความรู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีจะทำให้เรามีความสุข อย่างไรก็ตาม การรับรู้นี้ก็ควรอยู่ในโลกของความเป็นจริง กล่าวคือ เราควรมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้จริงตามที่เรารับรู้ เนื่องจาก การรับรู้ที่บิดเบือนอาจทำให้เราประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดได้ นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องของการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถในการแก้ปัญหาหรือการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ไม่ดีเท่ากับคนที่สุขภาพแข็งแรง บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีจะรับรู้ว่าตนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่บุคคลที่ซึมเศร้าจะรับรู้ว่าตนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลผู้ป่วยต้องเข้าใจ และรู้ว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ต้องการกำลังใจมากกว่าปกติและผู้ป่วยอาจมีอาการหงุดหงิดเนื่องจากรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีเท่าเดิม ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดจึงควรรับฟังผู้ป่วยด้วยความเห็นใจและอดทน

 

การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ และความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ที่รู้สึกว่าตนเองยังไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีก็สามารถใช้ปัญหาหรืออุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นแบบทดสอบที่ทำให้เราเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อในที่สุดเราก็จะมีความสามารถในการเผชิญกับปัญหาและมีความมั่นใจในการแก้ปัญหา ไม่ต้องกลัวหรือหนีปัญหา และยังสามารถช่วยแก้ปัญหาให้ผู้อื่นได้ถ้าผู้อื่นต้องการให้ช่วยเหลือ ทำให้เราสามารถปรับตัวบนโลกของเราได้อย่างมีความสุข

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

ผลกระทบของ COVID-19 และ Work from Home กับมนุษย์เงินเดือน

 

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นคลื่นลูกหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่กระทบต่อการดำรงชีวิต การทำงานของคนเราในยุคปัจจุบัน และความก้าวหน้านี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเสียด้วย แน่นอนว่าความก้าวหน้านี้ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในหลาย ๆ แง่มุม รวมถึงการทำงานภายในองค์การของเราด้วยเช่นกัน

 

คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตไร้สาย สมาร์ทโฟน ตัวอย่างเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวมนุษย์เงินเดือนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว และการแก้ไขงานได้ทันกำหนดส่ง อีกทั้งยังส่งผลให้รูปแบบการทำงานของมนุษย์เงินเดือนบางกลุ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ต้องทำงานที่ออฟฟิศก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน

 

 

Work from Home ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลยในยุคนี้เลย หลาย ๆ องค์การทั้งในไทยและต่างประเทศเริ่มใช้นโยบายนี้ในการทำงานมาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้และได้เปลี่ยนวิถีการทำงานของเราได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายองค์การไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐและเอกชนมีนโยบายให้พนักงานของตนสามารถทำงานจากที่บ้าน ซึ่งสอดคล้องกับประกาศของทางรัฐเพื่อลดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของโรค COVID-19 จากมนุษย์เงินเดือนที่เวลาทำงานต้องเข้าออฟฟิศทุกวันต้องเปลี่ยนไปทำงานจากที่บ้านทุกวันแทน แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่องค์การมีนโยบายทำงานจากที่บ้านได้ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย แค่เปลี่ยนจากทำงานที่บ้านไม่กี่วัน เป็นทำงานจากที่บ้านทุกวันก็เพียงเท่านั้น

 

เช่นนี้ ดูเหมือนจะลำบากเฉพาะกับคนกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มที่สองสบายกว่า แต่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเมื่อต้องทำงานจากที่บ้านเป็นระยะเวลานาน ทุกวัน และต้องกักตัว (Self-isolation) ไปด้วย อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อตัวเราได้ นั่นคือ ความขัดแข้งในบทบาทระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัว (Work-life / family conflict) จากแนวคิด Role of Boundary ที่พนักงานโดยปกติแล้วจะแยกบทบาทของตนออกเป็น 2 บทบาท คือ บทบาทในงานและบทบาทของชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัว ซึ่งพนักงานจะพยายามที่จะรักษาสมดุลทั้ง 2 บทบาทนี้ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของกายภาพหรือจิตใจ หากทั้ง 2 บทบาทนี้สมดุล ก็จะเกิดการรับรู้ที่เราได้ยินบ่อย ๆ มาก คือ “Work-Life balance” นั่นเอง แต่หากทั้ง 2 บทบาทนี้ไม่สมดุล พนักงานก็จะรับรู้ว่ามีการขัดแย้งกันของ 2 บทบาท คือ “Work-Life conflict” โดยความขัดแย้งสามารถเกิดได้ 2 ลักษณะคือ

 

  1. บทบาทในงานไปขัดแย้งบทบาทชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัว และ
  2. บทบาทชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัวไปขัดแย้งกับหน้าที่การงานของเรา

 

 

ความขัดแย้งดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการ Work from Home ในช่วงนี้อย่างไร ?

 

ปัจจัยแรกคือสถานที่ทำงานของมนุษย์เงินเดือน หรือออฟฟิศ สถานที่ทำงานเป็นสิ่งที่จะพอให้พนักงานรับรู้และแยกแยะบทบาททั้ง 2 บทบาทได้ในทั้งเชิงกายภาพและจิตใจ แม้ว่าอาจจะ conflict บ้างในกรณีที่มีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสำหรับการทำงานหลังเวลาเลิกงานด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง แต่เมื่อพนักงานต้องเปลี่ยนจากการทำงานที่ออฟฟิศมาเป็นในรูปแบบของการทำงานที่บ้านทุกวันเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานและไม่สามารถคาดเดาได้ถึงสถานการณ์และจุดจบของการแพร่ระบาด COVID-19 รวมทั้งเทคโนโลยีสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า สามารถโทร อีเมล พิมพ์ข้อความที่เกี่ยวกับงานของเราได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ความสามารถการรับรู้และแยกแยะ 2 บทบาทของพนักงานนั้นลดลงและไม่ชัดเจนมากขึ้น (Blurring the role of boundary) สิ่งนี้เมื่อเกิดเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ ความรู้สึก ความเครียดที่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการเวลาที่มีประสิทธิภาพลดลง ความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน (Burnout) รวมถึงความขัดแย้งระหว่างความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

 

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะมีอารมณ์หรือความรู้สึกขัดแย้งได้ในเวลาที่ทำงานจากที่บ้าน การจัดการเวลาในการทำงานผิดเพี้ยนไป การพักผ่อนลดน้อยลง เวลาการเข้านอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าความสะดวกรวดเร็วของการติดต่อสื่อสารผ่านเทคโนโลยีและการทำงานที่บ้านแบบ 100% เป็นช่วงระยะเวลานาน ๆ ทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราต้องรับหน้าที่ 2 บทบาทไปพร้อม ๆ กัน คือ

 

  1. รับผิดชอบภาระงาน ประชุมต่าง ๆ ในฐานะพนักงานออฟฟิศ และ
  2. รับผิดชอบงานบ้านต่าง ๆ และ/หรือ ธุรกิจครอบครัวที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามแต่ละบทบาทของตนที่มีในแต่ละครอบครัว (แน่นอนว่ายังไม่นับรวมบทบาททางสังคมในสถาบันครอบครัวด้วย)

 

สองบทบาทนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันและสถานที่เดียวกันอาจจะก่อให้เกิดความคลุมเครือของ 2 บทบาท และนำไปสู่การรับรู้ความขัดแย้งได้ ผลเสียของการรับรู้ความขัดแย้งก็ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็สะท้อนให้เราได้เห็นว่า Work from Home อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์หรือดีสำหรับทุกคนเสมอไป เผลอ ๆ อาจจะให้ผลเสียสำหรับมนุษย์เงินเดือนบางท่านเสียด้วยซ้ำ

 

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Adkins, C. L., & Premeaux, S. A. (2014). The use of communication technology to manage work-home boundaries. Journal of Behavioral and Applied Management, 15(2), 82- 100.

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณสหรัฐ วงศ์ชมภู

นักจิตวิทยาประจำศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

หนูยังไม่อยากไปเรียน…เตรียมตัวเตรียมใจลูกน้อยให้กลับไปเรียนหลังโควิด

 

สถานการณ์การระบาดของโควิดในช่วงนี้ ทำให้โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอมออกไปถึงเดือนกรกฎาคมเลยนะคะ โชคดีที่จังหวะการหยุดอยู่บ้านในช่วงนี้พอดีกับช่วงเวลาปิดเทอมใหญ่ ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเหมือนปิดเทอมตามปกติ แต่ผู้ปกครองหลายท่านที่ลูกยังเล็กอยู่ โดยเฉพาะช่วงวัยอนุบาลและประถมต้น ๆ ที่ยังติดคุณพ่อคุณแม่มากอาจจะเริ่มกังวลว่าการปิดเทอมไวกว่าปกติ และการเปิดเทอมช้าออกไปอาจจะทำให้ลูก ๆ ติดใจกับการอยู่บ้านจนไม่อยากไปโรงเรียนเมื่อถึงเวลาเปิดเทอมได้ อันที่จริงแล้ว เมื่อใกล้ถึงเวลาเปิดเทอม ผู้ปกครองสามารถจัดตารางกิจกรรมเพิ่มเติมเพื่อให้เด็ก ๆ ปรับตัวได้ดีขึ้นดังนี้ค่ะ

 

1. วอร์มอัพ…เตรียมใจกันก่อน

 

ก่อนเปิดเทอมจริงสัก 2-3 สัปดาห์ ผู้ปกครองสามารถเกริ่นว่ามีเวลาอีกกี่วันก่อนที่โรงเรียนจะเปิดเพื่อเตรียมใจของเขาก่อนได้ค่ะ แต่ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า เด็ก ๆ ในวัยอนุบาลและประถมช่วงต้น ยังเข้าใจเรื่องเวลาไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ดังนั้นการบอกเด็ก ๆ ด้วยคำพูดว่า “เดี๋ยววันที่ 1 จะเปิดเรียนแล้วนะ” เด็ก ๆ จะไม่เห็นภาพว่ากว่าจะถึงวันที่ 1 ที่ว่านี้มันยาวนานแค่ไหน เทคนิคง่าย ๆ คือการช่วยทำตาราง หรือนำปฏิทินมาวงวันที่ แล้วชวนเขามาขีดวันออกทุกวัน พร้อมกับนับวันที่เหลือไปด้วย เพื่อให้เขาได้เห็นภาพระยะเวลาที่เหลืออย่างเป็นรูปธรรมค่ะ แถมยังได้ฝึกนับเลขไปด้วยในตัวนะคะ อยากจะชวนกันนับเป็นภาษาอะไรก็ได้ค่ะ

 

2. อย่าให้คำว่า “ไปโรงเรียน” กลายเป็นผู้ร้าย

 

บางทีผู้ใหญ่ก็สนุกกับการหยอกเด็ก ๆ เรื่องไปโรงเรียนนะคะ การพูดว่า “โรงเรียนจะเปิดแล้วนะ” เพื่อหยอกเพราะรู้ว่าเขาไม่ชอบไปโรงเรียนอาจจะยิ่งย้ำให้เด็ก ๆ คิดถึงการไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ และทำให้เกิดความรู้สึกแย่เกินจริงกับการไปเรียนได้ค่ะ หากรู้ว่าเด็ก ๆ ของเรายังไม่สบายใจกับการต้องกลับไปเรียน ขอให้พูดพร้อมกับการสังเกตอารมณ์และชวนคุยเรื่องอารมณ์ของเขาเสมอ เช่น “หนูยังไม่อยากไปเรียนหรือลูก” “โรงเรียนมันเป็นยังไงหรือคะ” และร่วมกันหาทางออก เช่น “พอเลิกเรียนปุ๊บหนูลงมาจะเห็นคุณแม่เลยนะ” เพื่อให้เขารู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าคุณพ่อคุณแม่จะมารับแน่นอนค่ะ และขอให้ทำตามที่ตกลงกันไว้เมื่อถึงเวลา

 

3. ซ้อมแบ่งเวลาทำหน้าที่-เวลาเล่น

 

เมื่อเด็ก ๆ เข้าโรงเรียน สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมคือ การต้องทำตามตารางที่โรงเรียนกำหนด จะเล่นหรือนอนพักตามใจไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องปรับตัวให้ได้ เพื่อให้สามารถทำตามกฎเกณฑ์อื่นๆ ในสังคมที่ซับซ้อนกว่านี้ได้ค่ะ แต่การปรับตัวจะผ่านไปได้อย่างราบรื่นขึ้นหากมีผู้ปกครองคอยช่วยเหลือนะคะ ก่อนที่เด็ก ๆ จะเปิดเรียน ขอให้ผู้ปกครองลองซ้อมจัดตารางทำหน้าที่และเวลาเล่นของเขาให้เป็นเวลาตามที่โรงเรียนกำหนด เช่น ให้ตื่นและทำกิจวัตรประจำวันตอนเช้าเหมือนกับต้องไปโรงเรียน ใส่ชุดนักเรียน อาจจะขึ้นรถจริง ๆ แล้วสมมติกันว่าถึงโรงเรียนแล้วแต่ไม่ต้องออกไปข้างนอกก็ได้นะคะ หาบทเรียนสนุก ๆ มาเล่นไปพร้อมกับเขาในช่วงเช้า นอนกลางวัน (กรณีอนุบาล) และตื่นมาเล่น หรือเรียนต่อในช่วงบ่าย ค่ะ ที่สำคัญคือ ขอให้ดูความพร้อมของเด็ก ๆ ด้วยนะคะ หากเขายังไม่พร้อมอาจจะเริ่มแค่บางอย่างก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มเติมทีหลังค่ะ

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการใช้ศิลปะและการเล่นเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการในเด็ก
ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life-Di Center)
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

การรับมือปัญหาด้านสุขภาพจิตในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่เพียงแต่กระทบโดยตรงกับสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิต ทั้งของคนที่ได้รับเชื้อ คนที่กลัวว่าว่าจะได้รับเชื้อ บุคลากรที่ทำงานโดยตรง รวมถึงคนที่ติดตามข่าวสารตลอดเวลา เราต่างอยู่ในภาวะของความกังวล ความกลัวและความเหนื่อยล้า และตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลต่อการใช้ชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะเรื่องปากท้องที่ทำให้แต่ละคนมีความเครียดและความกังวลเพิ่มสูงขึ้น

 

หลายกิจการต้องให้พนักงานพักงานชั่วคราว บางอาชีพไม่สามารถหารายได้จุนเจือตนเองและครอบครัวได้เพียงพอ มิหนำซ้ำยังต้องมีภาระหนี้สินที่เกิดจากการพยายามหาเลี้ยงครอบครัวให้สามารถอยู่รอดได้ในแต่ละวัน นอกจากนี้ ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักจิตวิทยายังพบว่าการระบาดของ COVID-19 มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่ใช้บริการด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก่อนหน้านี้ เช่น รายงานว่าไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมอย่างเดิมที่ทำได้ รู้สึกหดหู่กับชีวิตมากขึ้น หรือบางรายที่มีปัญหาความสัมพันธ์ภายในบ้านและต้องกลับมาอยู่ด้วยตลอดเวลา ก็ก่อให้เกิดความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น

 

การระบาดของไวรัสในครั้งนี้จึงมีแนวโน้มส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น การดูแลจิตใจจึงเป็นพื้นฐาน ที่ช่วยจัดการความเครียดและความกังวลใจของเรา โดยเราสามารถใช้โอกาสนี้ในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกและ ความคิดของตนเอง ลองฝึกการยืดหยุ่นกับตนเองมากขึ้น โดยเริ่มจากการสังเกตและยอมรับความรู้สึกในขณะนี้

 

“ใช่ ฉันรู้สึกกังวลใจอย่างมาก”

“ฉันรู้สึกกลัวจริง ๆ ว่ามันจะแย่”

“ฉันรู้สึกกลัวและสับสนไม่รู้ว่าจะหาเงินจากไหนให้พอใช้ถึงเดือนหน้า”

 

อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถยอมรับว่าเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ ไม่ต้องเร่งรัดหรือปฏิเสธความรู้สึกนั้น

 

หลังจากการยอมรับความรู้สึกของตนเองแล้ว ลองหันกลับมามองปัญหาที่เราแต่ละคนเผชิญอยู่ มองหาแนวทางการแก้ปัญหารูปแบบที่หลากหลาย จากเดิมที่เคยคิดไว้ว่าชีวิตเราจะเป็น 1 2 3 4 อาจลองเปลี่ยน สลับมุมมองให้มีความยืดหยุ่นกับชีวิตมากขึ้น

 

ความยืดหยุ่นเป็นกระบวนการของการปรับตัวและการเติบโตที่อาศัย ระยะเวลา การจะยืดหยุ่นกับความคิดตนเองได้นั้น สิ่งที่มาควบคู่กันคือความเห็นอกเห็นใจและมีเมตตาต่อตนเอง ให้โอกาสตนเองได้ค่อย ๆ เรียนรู้ ปรับตัวในสภาวะที่เปลี่ยนแปลง จริงอยู่ที่การปรับมุมมองอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์ตอนนี้ แต่หากเราสามารถยืดหยุ่นกับตนเองได้บ้างแล้ว เราก็จะสามารถให้โอกาสตัวเราเองอยู่ในจุดที่ผิดพลาด ไม่สมหวัง และบอกกับตัวเองได้ว่า เรากำลังค่อย ๆ ก้าวผ่านปัญหานี้ไปทีละเล็กทีละน้อย

 

การดูแลชีวิตตัวเองทีละเล็กทีละน้อย เป็นการลดทอนความคาดหวังในใจเรา บางครั้งการคิดภาพใหญ่ ก็ทำให้เรารู้สึกท้อใจ หดหู่ เมื่อภาพนั้นยังมาไม่ถึง การผ่อนเบากิจกรรมหรืองานที่ต้องทำให้เป็นรายละเอียดย่อย ๆ ก็ช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าเราสามารถควบคุมหรือทำสิ่งใดได้บ้าง เช่น การจัดสรรเวลาในการทำงานที่บ้าน สามารถแบ่งเวลาทำงาน ออกกำลังกาย สื่อสารพูดคุยกับคนที่รู้สึกสบายใจและไว้วางใจ การจัดช่วงเวลานอนที่เหมาะสม เป็นต้น

 

สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้หวือหวา แต่ก็เป็นวิธีการที่ทำให้เราเรียนรู้จะอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น จนบางครั้งเราอาจจะพบว่าทำให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

หากยังไม่สามารถหาแนวทางการจัดการปัญหาได้ ลองสื่อสารกับคนรอบตัวถึงอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของเรา บางครั้งมันเป็นเรื่องยากที่เราจะจัดการอารมณ์ความรู้สึกเพียงลำพัง การได้สื่อสารให้คนที่เราไว้วางใจหรือ สบายใจก็ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย เพราะเป้าหมายของการสื่อสารไม่ใช่การหาแนวทางแก้ปัญหา แต่ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจที่มีคนที่ฉันไว้ใจรับฟังความรู้สึกของฉันโดยไม่ตัดสิน

 

และสุดท้ายรักษาร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงไปพร้อม ๆ กัน แม้วันนี้อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ แต่เราก็ยังสามารถดูแลตัวเราเองให้แข็งแรง มีแรงลุกขึ้นมานั่งคิดไตร่ตรองอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบันเพื่อจัดการ ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า มีเวลาให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย พักจากความเครียดหรือข้อมูลมากมายที่ทำให้จิตใจว้าวุ่น การฝึกความแข็งแรงทั้งทางกายและทางใจจะช่วยให้เราไม่จมอยู่กับปัญหาหรือความรู้สึกทางลบนานเกินไป

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความวิชาการ

โดย คุณวรกัญ รัตนพันธ์

นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำศูนย์สุขภาวะทางจิต

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

COVID-19 และการกักตัวของนักศึกษาต่างแดน

 

การกักตัวอยู่ในที่พัก ในห้องทรงสี่เหลี่ยมกับหน้าต่างที่เห็นวิวได้เล็กน้อย และการแทบไม่ได้ออกไปที่ใดในหลายสิบวันเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด มองดูเผิน ๆ อาจไม่ใช่เรื่องที่รุนแรง แต่มันอาจท้าทายและมีผลกระทบต่อสุขภาวะสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ และตัดสินใจไม่กลับไปยังมาตุภูมิอันเป็นที่รัก

 

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา บทความหนึ่งวารสารเดอะแลนเซต (The Lancet) ได้รวบรวมเหตุกระตุ้นที่อาจมีส่วนทำให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตในช่วงของการกักตัวมาพอสังเขป อาทิ

 

ก. ความกลัวการติดโรค กลัวว่าอาการที่ตนเองประสบอยู่ เช่น การมีไข้ ไอจามหรือปวดตามร่างกายนั้นเข้าข่ายอาการของเชื้อไวรัสโควิดหรือไม่ หรือตนเองจะมีส่วนแพร่เชื้อแก่บุคคลใกล้ชิดหรือไม่ (ดังโพสต์ในโลกออนไลน์กันว่า “แกว่าฉันติดยัง?”) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ต่างแดน ความสงสัยในการเข้าสู่ระบบการรับการรักษาหรือการดูแลผู้ป่วยจะมีคุณภาพดีหรือไม่เมื่อเทียบกับที่ไทย อาจยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับนักศึกษาต่างแดนได้ไม่มากก็น้อย

 

ข. ความไม่เพียงพอของปัจจัย 4 และข้อมูล หากเรารับรู้ว่าปัจจัย 4 (อาหาร น้ำ เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย) อาจมีไม่เพียงพอต่อในแต่ละวัน ย่อมกระตุ้นให้เกิดความกังวลและเครียดได้ง่าย ตัวอย่างประเทศที่ผมกำลังศึกษาอยู่ ในบางช่วงนั้นไข่ไก่ กระดาษชำระ ปรอทวัดไข้ และหน้ากากอนามัย กลายเป็นสิ่งที่ขาดแคลน รวมทั้งการขาดแนวทางในการปฏิบัติตัวในช่วงการกักตัว ย่อมมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความความกังวลใจในการใช้ชีวิต

 

ค. ความหงุดหงิดและความเบื่อหน่าย เนื่องจากมหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นการสอนออนไลน์ การพบเจอเพื่อนร่วมชั้นบบปกติ กิจกรรมสังสรรค์หรือการท่องเที่ยว ย่อมถูกยุติหรือจำกัดลง และสำหรับนักศึกษาต่างประเทศที่ทุกคนมาใช้ชีวิตอยู่ไกลบ้าน ไกลจากครอบครัวและคนใกล้ชิด มาเจอวัฒนธรรมใหม่ สังคมใหม่ แม้จะสามารถปรับตัวและเริ่มใช้ชีวิตอยู่ได้ แต่เมื่อกลับมาถูกจำกัดให้อยู่ในห้องก็อาจมีส่วนชักนำให้เกิดความเหงาและความโดดเดี่ยวที่มากยิ่งขึ้น

 

ผลกระทบของการกักตัวสำหรับนักศึกษาแต่ละคนย่อมแตกต่างกันตามแต่ละประเทศหรือคุณลักษณะนิสัยที่นักศึกษาเป็น แต่วิธีการหนึ่งที่อาจารย์นิเทศก์ของผมแนะนำให้ทำในช่วงเวลาดังกล่าวคือ การจัดโครงสร้างหรือกิจวัตรประจำวันให้กับตนเองในแต่ละวัน ซึ่งพบว่ามีส่วนช่วยลดความเศร้าซึมและเพิ่มแรงจูงใจได้

 

นักจิตวิทยา Mariana Plata ได้แนะนำถึงการแบ่งกิจวัตรประจำวันโดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน ซึ่งสามารถเลือกจัดสรรเวลาได้ตามแต่ความเหมาะสมในรูปแบบของตนเอง ดังนี้

 

  1. ในระดับของงานหรืออาชีพ หมายถึง การใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือหรือบทความในสายงานอาชีพของคุณ รวมทั้งการสนทนากับเพื่อนร่วมงาน เกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของตนเอง หากมองให้สอดคล้องกับนักศึกษาในต่างประเทศ การจดจ่อกับการทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) หรือการทำการบ้านจากวิชาเรียนต่าง ๆ ก็อาจเป็นหนึ่งในส่วนที่ช่วยให้นักศึกษามีสิ่งให้สนใจ จดจ่อและใช้เวลาในแต่วันอย่างคุ้มค่าได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีแพลตฟอร์มในการเรียนคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Coursera, MOOC และอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
  2. ในระดับของความสัมพันธ์ คือการแบ่งเวลาให้กับการเชื่อมต่อกับผู้คนใกล้ชิดของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรักหรือครอบครัว ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ แต่สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่อยู่ไกลบ้าน กิจกรรมที่ทำได้อาจเป็นการพูดคุยผ่านแอพลิเคชันต่าง ๆ ที่เอื้อให้โลกของเราอยู่ใกล้กันมากขึ้น เมื่อนักศึกษามีเครือข่ายหรือการสนับสนุนทางสังคมที่แข็งแรงนั้นย่อมสำคัญต่อสุขภาวะทางกายและทางใจ เป็นเหมือนหลักค้ำจุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีความเครียดสูงอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในครั้งนี้*
  3. ในระดับของตัวบุคคล มีคำพูดหนึ่งที่ว่า “ความสัมพันธ์ที่น่าตื่นเต้น ท้าทายและสำคัญที่สุดอันหนึ่งคือความสัมพันธ์ที่เรามีต่อตัวเราเอง” จากซีรีส์ดังเรื่อง Sex and the city สะท้อนถึงความจริงในแง่มุมหนึ่งว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งด้วยเขตเวลาที่ต่างกัน ที่ผู้คนที่เมืองไทยต่างหลับใหล ในขณะที่ประเทศที่เราอยู่ยังคงสว่างไสว เราคงต้องมีช่วงเวลาที่เราต้องอยู่คนเดียว ดังนั้นการใช้และให้เวลากับตนเองจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อทั้งสุขภาพกาย ใจและอารมณ์ กิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการนั่งดื่มชากาแฟยามเช้า การดูภาพยนตร์หรือซีรีส์โปรด การออกกำลังกายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการกลับมาทำกิจกรรมที่เคยไม่มีโอกาสได้ลองทำ อาทิ การทำอาหาร อบขนมเป็นต้น

 

การแบ่งเวลาให้กับทั้งสามระดับนั้น มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกันอย่างมาก หากนักศึกษาที่รู้สึกเหงาหรือเครียด อาจขาดแรงจูงใจที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ หรือทำงานที่ได้รับมอบหมาย และเมื่อไม่สามารถทำได้ตามเป้าที่วางไว้ ก็ย่อมกระทบต่ออารมณ์ ความเครียดและอาจถอนตัวจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

 

ดังนั้นแล้วสำหรับคนที่อยู่เมืองไทย และมีคนใกล้ตัวไม่ว่าจะกำลังศึกษาเล่าเรียนหรือทำงานอยู่ต่างประเทศ ล้วนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนและดูแลจิตใจให้กับบุคคลเหล่านี้ การได้เชื่อมต่อสายใยกันไม่ว่าจะด้วยช่องทางไหนหรือรูปแบบใด จึงเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมากสำหรับนักศึกษาที่อยู่ต่างแดน

 

ผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มีโอกาสมาศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าว จึงอยากเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง และขอเป็นแรงใจให้เพื่อน ๆ นักศึกษาที่ยังอยู่ต่างประเทศได้ดูแลทั้งสุขภาพกายใจ และผ่านช่วงเวลาท้าทายนี้ไปได้นะครับ

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Brooks, S. K., Webster, R. K., Smith, L. E., Woodland, L., Wessely, S., Greenberg, N., & Rubin, G. J. (2020). The psychological impact of quarantine and how to reduce it: Rapid review of the evidence. The Lancet, 395(10227), 912-920. https://doi.org/10.1016/S0140-6736(20)30460-8

 

Plata, M. (2018, October 4). The power of routines in your mental health. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-gen-y-psy/201810/the-power-routines-in-your-mental-health

 

Sawir, E., Marginson, S., Deumert, A., Nyland, C., & Ramia, G. (2008). Loneliness and international students: An Australian study. Journal of Studies in International Education, 12(2), 148-180. http://dx.doi.org/10.1177/1028315307299699

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

อดเปรี้ยวไว้กินหวาน : ในเชิงจิตวิทยา

 

“การชะลอการได้รับความพึงพอใจ” เป็นศัพท์ทางจิตวิทยาที่หมายถึง การที่มนุษย์สามารถควบคุมความต้องการของตนเองโดยเลือกที่จะปฏิเสธการรับรางวัลหรือสิ่งที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที เพื่อที่จะรับรางวัลหรือสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต อีกนัยหนึ่งก็คือ “การอดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ซึ่งสำนวนนี้มีความหมายเล็งถึง ผลไม้ที่เราเก็บมาจากสวนผลไม้บางชนิด เช่นมะม่วง ถ้าเรานำมารับประทานทันทีจะมีรสเปรี้ยว แต่ถ้าเราเก็บไว้สักระยะหนึ่ง มันจะสุกและมีรสชาติหอมหวาน น่ารับประทานมากกว่า ดังนั้นผู้ที่เก็บมะม่วงจากต้น จะต้องไม่ใจร้อน แต่ต้องรู้จักอดทน และรอคอยจนกว่าผลจะสุก เพื่อจะได้รับประทานผลไม้ที่มีรสหวานอร่อย ซึ่งจะคุ้มค่ากับที่ได้รอคอย

 

ในชีวิตของคนเรานั้น มีหลายเรื่องที่เราต้องรอคอย และต้องหักห้ามใจที่จะไม่รับผลตอบแทนที่มีคุณค่าน้อยในทันที เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ที่มากกว่าในอนาคต ในขณะที่รอคอย เราอาจจะรู้สึกคับข้องใจ เนื่องจากไม่สามารถได้รับสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของเราทันที หลายคนหมดความอดทนก็เลยเลือกที่จะรับผลตอบแทนที่น้อยกว่า เพื่อความสุขความพึงพอใจในปัจจุบัน ทำให้เสียโอกาสที่จะรับผลตอบแทนที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต

 

การปฎิเสธที่จะรับรางวัลหรือสิ่งตอบแทนที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที แต่เลือกที่จะรอคอยเพื่อรับสิ่งตอบแทนที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต เป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์พบกับความสุขความพึงพอใจ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถมีคุณลักษณะดังกล่าวได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสังคมปัจจุบันที่เน้นความรวดเร็ว และการตอบสนองอย่างทันอกทันใจ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การติดต่อสื่อสาร หรือการรับบริการต่าง ๆ ผู้คนในปัจจุบันมักให้ความสำคัญแก่ความสะดวดรวดเร็ว ในสมัยก่อนที่จะมีอินเตอร์เน็ต เราติดต่อสื่อสารกันทางจดหมาย ซึ่งต้องการใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 วันกว่าจะถึงผู้รับ อีกทั้ง ถ้าต้องการค้นหาข้อมูล ก็เดินทางไปที่ห้องสมุด หากในปัจจุบันเราสามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ภายในไม่กี่วินาที โดยผ่านทางจดหมายอิเลคทรอนิกส์ และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ทันทีจากฐานข้อมูลทั่วโลกโดยนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ถึงกระนั้นหลายคนยังรู้สึกไม่พอใจ และหงุดหงิดกับการรอคอยเพียงสองสามนาทีในกรณีอินเตอร์เน็ตขัดข้อง หรือมีคนใช้บริการมาก

 

ทั้งนี้ บริษัทต่าง ๆ ได้แข่งขันกันพัฒนาโปรแกรมที่ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารและทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ได้ทันที โดยไม่ต้องรอคอย จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลย ที่เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคนี้จะขาดความสามารถในการอดทนและรอคอย เนื่องจากในชีวิตประจำวัน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวดรวดเร็วให้มากมาย

 

หากสิ่งสำคัญในเรื่องของชีวิตและจิตใจนั้น เราไม่อาจจะเร่งรัดให้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ไปได้อย่างรวดเร็ว ชีวิตต้องการเวลาในการหล่อหลอม การปลูกฝัง และการทะนุบำรุงให้งอกงาม ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ การที่จะรู้จักกัน การผูกพันรักใคร่กันได้นั้นต้องอาศัยเวลา ไม่ใช่เพราะได้รู้จักอย่างผิวเผินผ่าน “แชทรูม” ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้วัยรุ่นหลายคนได้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี และต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างอนาถมาแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรหันมาให้ความสนใจในการปลูกฝังคุณลักษณะด้านการอดทน และการรอคอยให้แก่บุตรหลานของตน

 

โดยนักจิตวิทยาได้ให้ความสนใจต่อความสามารถในการชะลอการได้รับความพึงพอใจของมนุษย์มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการชะลอการได้รับความพึงพอใจของเด็ก งานวิจัยส่วนใหญ่มักจะศึกษาปัจจัยที่ทำให้เด็กสามารถชะลอการได้รับความพึงพอใจได้เพิ่มขึ้น โดยที่ผู้วิจัยมักจะให้เด็กทำงานบางอย่าง เช่น ระบายสีรูปภาพ หรือร้อยลูกปัด เป็นต้น เมื่อเด็กทำงานเสร็จแล้วผู้วิจัยก็จะมีรางวัลให้ โดยเด็กจะเลือกรับรางวัลได้ 2 แบบคือ รับรางวัลที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที หรือรอที่จะรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต ซึ่งระยะเวลาที่เด็กต้องรอนั้นจะมีตั้งแต่เป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น เด็กสามารถเลือกรับช็อคโกแล็ต 1 แท่งทันที โดยกดกระดิ่งให้สัญญาณ หรือเลือกรับช็อคโกแล็ต 2 แท่งในวันรุ่งขึ้น หรือเลือกรับกล่องดินสอที่มี 6 สี ทันที หรือรับดินสอที่มี 12 สี ในอีกสองวันข้างหน้า เป็นต้น ผลจากการวิจัยทำให้นักจิตวิทยาสามารถสรุปปัจจัยที่ทำให้เด็กชะลอการได้รับความพึงพอใจหรือ รอคอยเพื่อรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าได้หลายข้อดังนี้

 

  1. เด็กจะสามารถชะลอการได้รับความพึงพอใจได้ดี ถ้ารางวัลนั้นไม่ได้อยู่ต่อหน้า นักวิจัยพบว่าเด็กอายุ 5-6 ปี จะรู้จักหาสิ่งของมาปิดรางวัลได้ แต่เด็กอายุ 8 ปี จะพยายามไม่มองไปที่รางวัล และพูดเตือนตนเองว่า “ถ้าฉันกดกระดิ่งเดี๋ยวนี้ฉันจะได้สิ่งนี้ แต่ถ้าฉันรอคอยฉันได้สิ่งนั้น”
  2. การเบี่ยงเบนความสนใจไปจากรางวัล นักวิจัยพบว่าเด็กอายุ 4-5 ปี พยายามทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับรางวัลในขณะที่รอคอย เช่น ร้องเพลงเบา ๆ ซบหน้ากับโต๊ะ ตบเท้าเป็นจังหวะ จับกระดิ่งสัญญาณเล่นพูดถึงเงื่อนไขการรอคอยออกมาดัง ๆ มองเพดานและอธิษฐานหรือไม่ก็นอนหลับไป เป็นต้น
  3. การชักชวนให้เด็กคิดถึงการตัดสินใจของคนอื่นที่ไม่เหมือนกับตน สามารถทำให้เด็กเปลี่ยนใจได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กในงานวิจัยตัดสินใจเลือกรับรางวัลที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที ผู้วิจัยก็จะบอกกับเด็กว่า มีเด็กอีกคนหนึ่ง สมมติว่าชื่อเด็กชาย ก เลือกที่จะรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าในวันรุ่งขึ้น แล้วถามเด็กว่า ทำไมเด็กชาย ก จึงเลือกเช่นนั้น เด็กส่วนมากก็จะตอบได้ว่า เพราะเด็กชาย ก ต้องการรางวัลที่มากกว่า ผลการวิจัยพบว่า การที่ให้เด็กได้คิดใช้เหตุผลเช่นนี้ ทำให้เด็กเปลี่ยนใจจากการเลือกรับรางวัลในทันทีเป็นการเลือกรับรางวัลที่มีค่ามากกว่าในวันรุ่งขึ้นได้ แสดงให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้เด็กคิดถึงการตัดสินใจที่ขัดแย้งกับตนสามารถทำให้เด็กปรับความคิดและตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ต้องรอคอยว่ามีมากกว่าจึงมีความคุ้มค่าที่จะรอคอย
  4. ความไว้วางใจที่มีต่อผู้วิจัยว่าผู้วิจัยจะให้รางวัลแก่เขาเป็นสองเท่าตามที่ได้สัญญาไว้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีคูปองมอบให้แก่เด็ก เพื่อให้เด็กนำมาแลกรับรางวัลในวันรุ่งขึ้น คูปองจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของรางวัลที่เด็กจะได้รับจริง และเด็กก็มักจะเก็บรักษาคูปองนั้นไว้เป็นอย่างดีและไม่ลืมที่จะนำมาให้ผู้วิจัยในวันรุ่งขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าเด็กเกิดความไม่แน่ใจว่าผู้วิจัยจะทำตามสัญญาหรือไม่ หรือเด็กที่เคยมีประสบการณ์กับผู้ใหญ่ที่ไม่รักษาคำพูดมาก่อน เด็กก็อาจจะตัดสินใจเลือกรับรางวัลในทันที แม้จะมีคุณค่าน้อยกว่า เพราะยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลยหากผู้วิจัยไม่ทำตามสัญญา ดังนั้น ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการสอนลูกให้รู้จักอดทนและรอคอย สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ การรักษาคำพูดหรือคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับเด็ก เช่น สัญญาว่าจะพาเด็กไปสวนสนุก ถ้าเด็กทำการบ้านเสร็จ เมื่อเด็กทำงานเสร็จแล้วพ่อแม่ก็ต้องทำตามที่ให้สัญญาไว้ เพราะเป็นการสอนให้เด็กเห็นคุณค่าและความคุ้มค่าของการทำการบ้านให้เสร็จเสียก่อน แต่ถ้าพ่อแม่ไม่รักษาสัญญาก็จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจในผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีอะไรอยู่เฉพาะหน้าก็ขอคว้าไว้ก่อน ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่ขาดความสามารถในการชะลอการได้รับความพึงพอใจนั่นเอง

 

อารมณ์ของเด็กก็มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกรับรางวัลในทันทีหรือรอรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต ในงานวิจัยเรื่องหนึ่ง ผู้วิจัยได้ให้เด็กบางคนคิดถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกมีความสุขมา 3 สิ่ง และให้เด็กบางคนคิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้ามา 3 สิ่ง ก่อนให้ตัดสินใจเลือกรับรางวัล ผลปรากฏว่าเด็กที่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าเลือกรับรางวัลแบบทันทีมากกว่าเด็กที่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข ทั้งนี้เป็นเพราะว่า เด็กเลือกรับรางวัลทันที เพื่อหยุดสภาวะไม่สบายใจที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ในขณะที่เด็กที่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข มีแนวโน้มที่จะคิดถึงคุณค่าของรางวัลที่มากกว่า ทำให้สามารถชะลอการได้รับความพึงพอใจได้ดีกว่า ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เวลาที่เราไม่สบายใจนั้น เราจะขาดความรอบคอบ ต้องการเพียงแต่หาอะไรบางอย่างที่สามารถทำให้เราสบายใจได้ทันที แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีคุณค่าน้อยหรือไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร ดังนั้น เราจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการตัดสินใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดความไม่สบายใจ

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

อยู่บ้านตอนแรกก็รักกันดี อยู่นาน ๆ ไปอีหยังหว่า

 

เชื่อว่าหลายท่าน หลายที่ทำงานได้พยายามจัดสรรตัวเองหรือบุคคลในที่ทำงานให้อยู่บ้าน หรือทำงานจากที่บ้าน (work from home) เพื่อช่วยลดปัญหาการแพร่ไวรัสนะคะ ทีนี้ตอนอยู่บ้านช่วงแรก ๆ ก็ยังพูดคุย รักกันปกติ แต่มีรายงานจากสื่อต่างประเทศ เช่นที่ New York สหรัฐอเมริกา และที่จีน ในช่วงการเก็บตัวว่า ในครอบครัวเกิดความหงุดหงิด อารมณ์เสีย แล้วแสดงออกต่อบุคคลในครอบครัว เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ เช่น ต่อการประพฤติตัวต่อไวรัสที่ไม่ตรงกัน ไม่เข้าใจกัน หนักว่านั้นคือ พบว่าคู่ของเรา กับเรานั้น ไม่มีความเหมือนกันเลย

 

การที่ต้อง Work from home ไหนจะงานที่มีอยู่แล้ว ไหนจะงานที่เพิ่มจากโควิด แต่แฟนหรือคู่สมรสกลับมองว่าอยู่บ้านแล้วแต่ไม่ใส่ใจกัน เกิดเป็นความไม่เข้าใจกันอีก เพิ่งมาเห็นว่าคู่ของเราดูไม่รู้จักเรา ไม่เข้าใจเรา หรือไม่รู้จักไม่เข้าใจลูกของเรา กลายเป็นความคาดหวัง ความเข้าใจไม่เหมือนเดิม

 

เราควรเตรียมตัวอย่างไร ให้การอยู่บ้านของเราและครอบครัวเป็นไปได้อย่างดี

 

ผู้เขียนมองแบบนี้นะคะว่า คู่ที่ทะเลาะ บางครั้งเมื่อเราแบกรับความเครียดต่อสิ่งอื่นมา แต่ไม่ได้ตระหนักรู้ว่าตัวเองเครียด (เช่น จากการทำงานที่ต้องเปลี่ยนแผน หรือลดรายจ่าย) จนกระทั่งเหมือนเราสาดอารมณ์ใส่คนข้าง ๆ เราโดยเราไม่รู้ตัว

 

เมื่อเห็นว่าคนในครอบครัวเราเครียด เราจะจัดการกับภาวะอารมณ์เขาได้อย่างไร

 

อาจจะเป็นการคุยกันบ้าง แต่หากเขาสาดอารมณ์ใส่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสาดอารมณ์กลับนะคะ จินตนาการภาพเขาอาจจะเหมือนคนที่กำลังจะจมน้ำอยู่ ที่ตะเกียกตะกาย เขาอาจจะสะบัดน้ำใส่เราบ้าง เขาอาจจะทำให้เรารู้สึกรำคาญใจ แต่หากเราเข้าใจเจตนาว่าเขามีภาวะความเครียดบางอย่างที่เขาจัดการไม่ได้ แล้วเราปลอบประโลมเขาด้วยคำพูด ก็จะทำให้ดูสงบลงได้ เช่น “ไม่เป็นไร เดี๋ยวตรงนี้เราดูให้นะ” “เดี๋ยวจัดการให้นะ คุณทำตรงนี้ไปก่อน”

 

แต่ต้องผลัดกันนะคะ ถ่อยทีถ่อยอาศัยกัน สามีและภรรยาต่างต้องเข้าใจในจุดนี้ว่าทุกคนต่างมีภาวะเครียดในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ อะไรที่เป็นความสบายใจของคุณตอนนี้ ฉันทำให้ได้ ฉันจะทำ

 

คนเรามักสื่อสารด้วย Second message หรือข้อความที่ 2 เช่น การพูดว่า “ทำไมคุณอยู่บ้านแล้วไม่ดูแลบ้านเลย” “ทำไมคุณอยู่บ้านแล้วไม่มีเวลาให้ฉันมากกว่านี้ ไม่สนใจฉันเลย สนใจแต่งาน” ข้อความนี้ฟังดูเหมือนการต่อว่านะคะ แต่ภายใต้ข้อความนี้คือ “ฉันน้อยใจแล้วนะ ฉันแค่อยากให้คุณมาสนใจฉันบ้าง” ซึ่งนั่นคือข้อความที่ 1 ถ้าคนฟังแล้วเข้าใจภาวะตรงนี้ สะท้อนกลับสักนิดว่า “คุณกำลังน้อยใจใช่ไหม โอเค ฉันจะสนใจคุณมากขึ้น” ปัญหาก็จะจบ แต่คนส่วนใหญ่มักตีความด้วยข้อความที่ 2 เพียงอย่างเดียว

 

สถานการณ์โควิดนี้เหมือนเป็นการพิสูจน์หลาย ๆ เรื่อง พอเราใกล้กันมากขึ้น มีภาวะความเครียด ถ้าเรายังสามารถจับมือผ่านไปได้ ด้วยการที่เราเข้าใจซึ่งกันและกัน และถ่อยทีถ่อยอาศัยกัน มันจะทำให้เรารู้เลยว่าคนที่อยู่ข้างเราก็ไม่ใช่ใคร คนในบ้านนี่เอง เขาคือความสบายใจที่เรามอบให้แก่กันได้ค่ะ

 

มองแนวคู่รักบำบัดนะคะ Personal space หรือ พื้นที่ส่วนตัวนั้นสำคัญมาก คนเราจะมีวงกลมเป็นของตัวเอง วงกลมของคุณ วงกลมของฉัน เราต้องแชร์วงกลมนี้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ทับซ้อนกันสนิท หมายถึงว่า เราจะมีพื้นที่เป็นของตนเอง พื้นที่นี้หมายความว่า

“ฉันอยากที่จะรู้สึกอย่างที่ฉันอยากที่จะรู้สึก”

“อยากที่จะพูดหรืออยากที่จะคิดอย่างที่ฉันอยากที่จะคิดหรือพูด”

โดยที่เขาต้องไม่มาตัดสินฉัน และฉันจะต้องไม่นำความเดือดร้อนไปให้เขา

 

ตัวอย่างในสถานการณ์โควิดนี้ ผู้เขียนออกไปทำงานนอกบ้าน และมีความคิดว่าเมื่อกลับมาเราต้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนชุด แยกเสื้อผ้าซักต่างหาก ซึ่งคนในบ้านอาจจะไม่เห็นด้วย แต่คนในบ้านเข้าใจว่าเรากังวลบางอย่าง ไม่สบายใจบางอย่าง นั่นคือ Personal space หรือ เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เราจะรู้สึกได้อย่างเต็มที่ คนในครอบครัวต้องเคารพในความรู้สึก หากสบายใจก็ให้ทำ นั่นคือการเคารพพื้นที่ส่วนตัวซึ่งกันและกัน ซึ่งมันสำคัญมากสำหรับการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหนึ่ง หรือการอยู่ด้วยกันเป็นคู่รัก โดยพื้นที่จริง ๆ ทางกายภาพจะมีส่วนน้อยนะคะ เมื่อพูดถึงเรื่องพื้นที่ส่วนตัว เราจะมองถึงพื้นที่ด้านจิตใจเป็นหลัก

 

ในส่วนของพื้นที่ทางกายภาพจริง ๆ เช่น เรา Work from home แล้วเราต้องการพื้นที่ ที่ไว้นั่งคิดงานของเรา มีพื้นที่ที่เราจะแสดงกริยาท่าทางไม่เหมาะสมโดยไม่มีใครมาตัดสินเรา ว่าทำไมคุณทำหน้าแบบนั้น หรือเราไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลว่าถ้าเราทำหน้าแบบนั้น ถอนหายใจแรง ๆ สบถคำบางคำออกมา แล้วมันจะไปมีผลต่อคนในบ้านว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร หรือเขาจะมองว่าฉันเป็นคนอย่างไร

 

แต่การมีพื้นที่ส่วนตัวนี้ ไม่ว่าจะในแง่จิตใจหรือทางกายภาพ ก็ควรอยู่บนพื้นฐานความสบายใจที่เรามอบให้แก่กัน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะนำมาอ้างเพื่อสาดอารมณ์หรือทำพฤติกรรมต่าง ๆ ที่สร้างความไม่สบายใจแก่กัน แล้วบอกว่านี่เป็นพื้นที่ของฉันนะคะ

 

บางทีเขาต้องการพื้นที่กว้าง ๆ เพราะเขาต้องการหลบหน้ากัน (แบบนี้ต้องพิจารณาความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกที) หรือบางทีฉันต้องการพื้นที่ส่วนตัว เพื่อต้องการแสดงออกบางอย่าง ถ้าอยู่ในพื้นที่บ้านเล็ก ๆ แล้วทุกคนไม่ตัดสินกัน คุณจะแสดงออกอย่างไรก็ได้ อันนั้นคือภาวะอารมณ์ของคุณ เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าบ้านจะแคบขนาดไหน คุณก็จะอยู่ได้อย่างสบายใจมากกว่าค่ะ

 

กล่าวโดยสรุปคือ

 

การเตรียมตัวเตรียมใจให้การอยู่บ้านของเราและครอบครัวเป็นไปได้อย่างดี มีปัจจัยหลัก 3 ด้าน

 

  1. การเคารพพื้นที่ส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญ โดยหมายรวมถึงความรู้สึกของเขาด้วยที่เราต้องเคารพ ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร เขาอยากจะแสดงออกยังไง เขาต้องมีพื้นที่ที่เขาจะเป็นตัวเอง
  2. เราต้องผลัดกัน take turn รู้จักการเป็นผู้รับและเป็นผู้ให้ บางทีเราอาจจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ตลอด เมื่อมีใครคนหนึ่งร้อน อีกคนก็ต้องเป็นน้ำเย็น เข้าใจ และให้อภัย และเมื่ออีกฝ่ายร้อนบ้าง อีกคนก็ต้องผลัดกันเป็นน้ำเย็นเช่นกัน
  3. มองลึกลงไปใน Message ที่สื่อสารกัน บางครั้งเราสื่อสารด้วย Second message ที่ดูเหมือนตำหนิต่อว่ากัน แต่ถ้าเรามองเห็นความรู้สึกน้อยใจ การต้องการความสนใจ เราก็จะทะเลาะกันน้อยลง

 

อีกนิดก่อนปิดท้าย การผลัดกัน take turn ดูแลใจกัน ไม่ได้หมายความว่าจะตั้งหน้าตั้งตารอ ที่จะคิดว่า “เมื่อวานคุณสาดอารมณ์ใส่ฉัน คราวนี้ตาฉันบ้างล่ะ” นะคะ เพราะเป้าหมายเราคือเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการรักษาบรรยากาศภายในบ้านให้ดีที่สุด อยากให้บ้านเป็นที่สบายใจ แล้วเมื่อเรามีเป้าหมายร่วมกันแบบนี้ มันก็จะออกมาดีค่ะ

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการโดย

 

คุณฐิตาภา ชินกิจการ

นักจิตวิทยาคลินิก

และ

อาจารย์ ดร.วิทสินี บวรอัศวกุล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาทรัพยากรมนุษย์และการทำงาน คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รูปแบบการจัดการความขัดแย้ง

 

วัฒนธรรม เพศ และรูปแบบการจัดการกับความขัดแย้ง : การเปรียบเทียบระหว่างนิสิตนักศึกษาไทยและอเมริกัน

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งมี 5 รูปแบบ ได้แก่

 

  1. การหลีกหนี (Avoiding/Withdrawing) – เป็นรูปแบบการจัดการที่ไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายของใครเลย หลีกหนีต่อปัญหาและละทิ้งความต้องการ อาจเป็นไปโดยชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือถอนตัวอย่างถาวร [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นน้อย]
  2. การยอมตาม (Obliging/Accommodating) – ยินดีตอบสนองความพึงพอใจของอีกฝ่ายโดยยอมเสียสละความต้องการของตนเอง [คิดถึงตนเองน้อย และคิดถึงผู้อื่นมาก]
  3. การใช้อำนาจ (Dominating/Competing) – เน้นตอบสนองต่อเป้าหมายของตนเองเป็นสำคัญ ใช้อำนาจทุกอย่างที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการโต้เถียงหรือตำแหน่งที่สูงกว่า [คิดถึงตนเองมาก และคิดถึงผู้อื่นน้อย]
  4. การประนีประนอม (Compromising) – หาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ยอมให้มากกว่าผู้แข่งขัน แต่ไม่ถึงกับเป็นผู้ยอมตาม และเผชิญปัญหามากกว่าผู้หลีกเลี่ยง แต่ไม่ลงลึกในรายละเอียดเท่าผู้ร่วมมือ [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นปานกลาง]
  5. การบูรณาการ (Integrating/Collaborating) – การพยายามหาทางออกร่วมกับคู่กรณีโดยมุ่งตอบสนองต่อเป้าหมายของทั้งสองฝ่าย ลงลึกในประเด็นปัญหาเพื่อได้ทางออกที่สร้างสรรค์ซึ่งสร้างความพึงพอใจแก่ทั้งคู่ [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นมาก]

 

จากการเก็บข้อมูลกับนักศึกษาไทยและอเมริกันจำนวน 575 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนไทยและคนอเมริกัน เพศชายและเพศหญิง รายงานถึงการจัดการความขัดแย้งรูปแบบต่าง ๆ แตกต่างกันดังนี้

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่คนไทยนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. ยอมตาม 2. หลีกหนี 3. บูรณาการ 4. ใช้อำนาจ 5. ประนีประนอม

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่คนอเมริกันนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. บูรณาการ 2. ใช้อำนาจ 3. หลีกหนี 4. ยอมตาม 5. ประนีประนอม

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่ผู้ชายนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. บูรณาการ 2. ใช้อำนาจ 3. ยอมตาม 4. หลีกหนี 5. ประนีประนอม

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่ผู้หญิงนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. บูรณาการ 2. หลีกหนี 3. ยอมตาม 4. ประนีประนอม 5. ใช้อำนาจ

 

 

คนไทย VS คนอเมริกัน

 

เหตุที่กลุ่มตัวอย่างคนไทยใช้กลยุทธ์การจัดการความขัดแย้งแบบหลีกหนีและยอมตามมากกว่าคนอเมริกัน และคนอเมริกันใช้กลยุทธ์การจัดการความขัดแย้งแบบใช้อำนาจ ประนีประนอม และบูรณาการมากกว่าคนไทย นั้นเป็นเพราะ คนไทยส่วนใหญ่มีค่านิยมคติรวมหมู่สูง นั่นหมายถึงการไม่ชอบการแข่งขันภายในกลุ่ม พยายามหลีกเลี่ยงความไม่ลงรอยและการเผชิญหน้า รู้สึกปลอดภัยมากกว่าเมื่อพึ่งพาอาศัยกันและกัน อีกทั้งมีแรงขับที่จะเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองน้อย เห็นแก่ความสัมพันธ์มากกว่าเป้าหมายของตน ในทางตรงกันข้าม คนอเมริกันส่วนใหญ่มีค่านิยมแบบปัจเจกนิยมสูง ซึ่งมีลักษณะของการคำนึงถึงตนเองมากกว่าผู้อื่น รับมือกับความขัดแย้งด้วยการลงมือแก้ปัญหา เจรจา และใช้อำนาจ มองการปะทะทางความคิดและการโต้แย้งด้วยเหตุผลเป็นคุณลักษณะทางบวกที่แสดงถึงความเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย

 

ผู้ชาย VS ผู้หญิง

 

สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างผู้ชายและผู้หญิง พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งสองเพศใช้รูปแบบการจัดการความขัดแย้งแบบบูรณาการมากที่สุดไม่แตกต่างกัน แต่ผู้ชายจัดการความขัดแย้งแบบใช้อำนาจมากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงจัดการความแย้งแบบหลีกหนี ยอมตาม และประนีประนอมมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเป็นเพราะผู้หญิงมักให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์สูง มองว่าพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้ การถอย ยอมตาม หรือประนีประนอมจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ขณะที่ผู้ชายเป็นเพศที่ยืนหยัดในสิทธิ์ของตน บงการ และใช้อำนาจมากกว่า

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“วัฒนธรรม เพศ และรูปแบบการจัดการกับความขัดแย้ง : การเปรียบเทียบระหว่างนิสิตนักศึกษาไทยและอเมริกัน”

“Culture, gender, and conflict management styles : comparisons between Thai and American students”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2549)

โดย นางสาวภิสสรา อุมะวิชนี

อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ : รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพร อุวรรณโณ

วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/39802