News & Events

หากคุณกำลัง “กลัว เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า” จากภาวะวิกฤต COVID-19

ความไม่รู้ว่าจะต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ไปถึงเมื่อไหร่ การคาดเดาไม่ได้ ในภาวะที่เรารับรู้ว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และใกล้ตัวเรา ชุมชนเรามากขึ้น มีจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศเพิ่มขึ้น สามารถส่งผลให้เรารู้สึกวิตกกังวล และเครียดต่อสถานการณ์ ซึ่งนอกจากความวิตกกังวล และเครียด ต่อตัวไวรัสนี้แล้ว เราต่างมีความเครียดและห่วงเรื่องการหาเลี้ยงปากท้องด้วย เจ้าของกิจการต้องมีการปรับแผนกลยุทธ์ธุรกิจกันใหม่เพื่อความอยู่รอดของบริษัท ที่จะแฝงมาด้วยความอยู่รอดของคนในครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ และรวมถึงพนักงานลูกจ้างและครอบครัวลูกจ้างที่จะทำยังไงให้อยู่รอดด้วยเช่นกัน

 

เรามีวิธีการรับมือกับความวิตกกังวล และเครียด อย่างไรบ้าง

 

อันดับแรกเลย ก่อนที่เราจะไปจัดการกับความกลัวหรือวิตกกังวล เราควรทำความเข้าใจก่อนว่าความกลัวหรือความวิตกกังวลมันต่างกัน

 

ในสถานการณ์ที่เรารับมือไม่ได้ เราจะเกิด “ความกลัว” เรามักจะกลัวในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เรารู้สึกถึงความไม่มั่นคงไม่ปลอดภัย ซึ่งจริง ๆ ความกลัวไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป ความกลัวอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ การที่เรารู้จักที่จะกลัว แปลว่า เราจะไม่ทำอะไรแบบบ้าระห่ำ เราจะรู้จักการวางแผนก่อน

 

“ความกลัว” มีอยู่ 2 แบบ คือ

  1. ความกลัวในสิ่งที่รับมือไม่ได้
  2. ความกลัวที่จะสร้างให้เรารู้ว่าเราจะรับมือกับปัญหาหรือการแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง

ระดับของความกลัวจึงมีความสำคัญ หากเราควบคุมความกลัวให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ เราจะใช้ความกลัวให้เกิดประโยชน์ได้ ให้ความกลัวนั้นสร้างให้เราเตรียมรับมือแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ในกรณีโควิด ก็จะล้างมือบ่อย ๆ ไม่ไปที่ชุมชน และรักษาระยะห่าง

 

แต่หากเป็นความกลัวเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง ที่สัมพันธ์กับบริบทที่เราอาจจะควบคุมไม่ได้ เราก็ควรใช้ระดับของความกลัวที่จะสร้างการรับมือว่าเราจะปรับตัวอย่างไรดี ทำอย่างไรดีเพื่อให้เรายังพอทำมาหากินต่อไปได้ เช่น เปลี่ยนเป็นขายของออนไลน์ ค้าขายออนไลน์มากขึ้น

 

แต่บางอาชีพก็น่าเห็นใจ บางอย่างก็ไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้เหมือนกัน ซึ่งเมื่อปรับเปลี่ยนไม่ได้เราอาจจะเกิดความเครียด เราต้องตระหนักรู้ว่าตอนนี้เราเครียด แล้วเราจะจัดการกับความเครียดในสิ่งนั้นได้อย่างไร เรามีหนทางออกยังไงได้บ้าง เราแก้ไขมันได้หรือไม่

 

เมื่อเรามีความกลัว เราก็อาจจะมีความกังวล เช่น กลัวเรื่องปากท้อง และกังวลว่าเราจะไปรอดมั้ย ทำอย่างไรต่อดี

 

“ความกังวล” เป็นเรื่องของความคิดที่เราสามารถหาวิธีการจัดการได้ ซึ่งแตกต่างจากความวิตกกังวลที่มักทำให้เรารู้สึกร้อนรนจนหาทางออกไม่ได้ค่ะ

 

เมื่อเราเกิดความกังวล เราต้องมาถามก่อน :

  1. “What” เรากังวลเรื่องอะไร
  2. “Why” ทำไมเราถึงกังวล มันส่งผลกระทบหรือ “affect” เราอย่างไร
  3. “How” เราจะแก้ไขมันอย่างไร เราทำอะไรกับมันได้บ้าง

 

การเรียงลำดับความกังวลของเราโดยการตั้งคำถามเหล่านี้ เราก็จะเริ่มคลายมันออก พอเราจัดการได้ มันจะไม่นำไปสู่ความวิตกกังวล เมื่อเราวิตกกังวล เราจะตั้งคำถามอย่างเดียว เช่น เราติดไวรัสหรือยัง แต่ไม่เกิดการตั้งคำถามที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ว่าเราจะแก้ไขมันได้อย่างไร

 

ความวิตกกังวล คือ เมื่อเราเริ่มลนลานเราจะทำพฤติกรรมโดยไม่ได้ยั้งคิด เช่น ซื้อสินค้ามาตุนไว้ ซึ่งได้ตั้งคำถามหรือไม่คะว่าเราทำสิ่งนั้น ๆ ทำไม มีเหตุผลรองรับหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มี เราจะรู้สึกเลยว่า เราทำทุกอย่างด้วยความเหนื่อยล้า เพราะเราวิตกกังวลมาก จนเราเหมือนรู้สึกว่าสิ้นหวัง ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร สักพักก็อาจจะเริ่มหมดความสนใจ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าได้ค่ะ

 

ความเครียดและความกลัวเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มันสามารถทำให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ได้ ลองดูว่าเราจะจัดการมันอย่างไร และแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเราควบคุมมันได้ เราจะไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง และก็เครียดจนกระทั่งพาล จนไปมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนในบ้านกับคนในครอบครัว หรือ แม้กระทั่ง ทำให้ภาวะอารมณ์ตัวเองไม่คงที่จนทำงานไม่ได้ค่ะ

 

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการโดย

 

คุณฐิตาภา ชินกิจการ

นักจิตวิทยาคลินิก

และ

อาจารย์ ดร.วิทสินี บวรอัศวกุล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาทรัพยากรมนุษย์และการทำงาน คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความคิดของเราที่ส่งผลต่ออาการซึมเศร้าและวิตกกังวล

 

ความคิดของคนเรานั้นนอกจากจะมีผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ของเราแล้ว ยังส่งผลต่อสภาวะทางจิตของเราอีกด้วย โดยเฉพาะอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล

 

อาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล ทั้ง 2 อาการนี้มีความแตกต่างกัน และมีความรุนแรงต่างกัน ดังนี้

 

 

อาการซึมเศร้า


 

เรามักจะได้ยินคนทั่วไปพูดถึงอารมณ์และความรู้สึกเศร้ากันอยู่บ่อย ๆ แต่อาการซึมเศร้านี้มิได้เพียงรู้สึกเศร้าบ่อยครั้งหรือแทบทุกวันเท่านั้น โดยหลักใหญ่ ๆ แล้ว ผู้ที่มีอาการซึมเศร้านอกจากจะมีความรู้สึกเศร้า หดหู่แล้ว ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย คือ รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรงในการทำงานหรือทำกิจกรรม ขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและกิจกรรมต่าง ๆ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า รู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดตลอด มีพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การนอน และน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รับประทานอาหารได้น้อยลง นอนไม่หลับหรือนอนมากจนเกินไป เป็นต้น อีกทั้ง คิดอะไรได้ช้าลง ไม่ค่อยมีสมาธิ ตัดสินใจช้า ในบางคนอาจมีอาการท้อแท้และคิดถึงเรื่องฆ่าตัวตายด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ก่อกวนการดำเนินชีวิตตามปกติของคนเราอย่างมาก

 

ทั้งนี้เนื่องมาจากสภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนเราต้องแข่งขันในการดำรงชีวิตตลอดเวลา รวมทั้งปัจจุบันมีเหตุการณ์ไม่ดีหลาย ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การขาดแคลนอาหาร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คุกคามการดำเนินชีวิตของคนมากยิ่งขึ้น ทำให้คนเราต้องพยายามต่อสู้และดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ความเครียดและสภาพความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับจิตใจคนเหล่านี้ อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

 

 

อาการวิตกกังวล


 

อาการวิตกกังวล ถือว่าเป็นอาการปกติที่ทุกคนจะต้องประสบเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น โดยปกติแล้วนักจิตวิทยาถือว่าความวิตกกังวลระดับน้อยถึงปานกลางนั้นมีประโยชน์กับคนเราเหมือนกัน เพราะความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจะทำให้เราพยายามปรับปรุงสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดในอนาคต และยังเป็นหลักประกันความมั่นคงในอนาคตของเราอีกด้วย แต่ทว่าคนที่มีความวิตกกังวลจนถึงขั้นมากผิดปกตินั้น ความกังวลดังกล่าวก็ทำร้ายตัวของเขาเองอย่างรุนแรง คนเหล่านี้จะมีอาการกังวลมากจนเกินปกติ รวมถึงอาการกลัวและหวาดระแวงมากกว่าปกติอีกด้วย

 

อาการดังกล่าวจะส่งผลถึงสภาพทางร่างกายด้วย คือ ผู้ที่มีอาการวิตกกังวลมากกว่าปกติอาจมีอาการใจสั่น หรือหายใจขัด มือไม้สั่น บางรายอาจมีอาการมึน วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว ปวดท้อง มีอาการตึงของกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการเหล่านี้มักจะเป็นแบบเรื้อรัง ไม่หายขาด จะเกิดขึ้นรุนแรงขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความวิตกกังวล และความกลัว เราอาจมองได้ว่าเป็นอาการพื้น ๆ ไม่รุนแรงเท่าใดนัก แต่ทว่าอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันของเราไม่น้อยเลยทีเดียว บางรายไม่สามารถทำงานที่ตนเองวางเป้าหมายไว้ได้ หรืองานที่ทำไม่ประสบความสำเร็จ โดยอาการวิตกกังวลนี้มักจะเกี่ยวของกับอาการซึมเศร้าเป็นอย่างมาก ปัจจุบันพบว่าผู้ที่มีอาการวิตกกังวลมักจะมีอาการซึมเศร้าร่วมอยู่ด้วย นักจิตวิทยาเองก็พยายามหาสาเหตุและวิธีการเพื่อมาช่วยบำบัดอาการดังกล่าว เพราะถึงแม้ว่าเป็นสภาพทางอารมณ์ที่ไม่รุนแรงมากเท่าโรคทางจิตประเภทอื่น ๆ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ในงานวิจัยยังพบอีกว่า ผู้หญิงจะมีอาการวิตกกังวลมากกว่าผู้ชาย และมักจะเกิดในผู้หญิงที่อยู่แยกกับสามี หย่าร้าง หรือเป็นหม้าย ส่วนผู้หญิงที่เป็นโสดก็พบว่ามีอาการวิตกกังวลเช่นกัน แต่ไม่สูงเท่าผู้หญิงในสามกลุ่มแรก

 

 

ความคิดของคนเราเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลได้อย่างไร


 

หากเราพูดถึงหลักวิชาการที่ว่าด้วยสาเหตุของความผิดปกติทางจิต เรามักจะมุ่งประเด็นของสาเหตุไปที่การถ่ายทอดทางพันธุกรรม คือ สิ่งที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมาสู่ลูกหลาน ผ่านทางรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่ายีนส์ นอกจากพันธุกรรมที่มีผลต่อความผิดปกติทางจิตแล้ว สภาพแวดล้อมก็ส่งผลเช่นเดียวกัน นักจิตวิทยาบางกลุ่มจึงมาให้ความสนใจกับการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อหาทางป้องกันและบำบัดอาการทางจิตดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งเกิดมาโดยมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดเหล้าเนื่องจากบรรพบุรุษหรือพ่อหรือแม่มีอาการดังกล่าว แต่หากเด็กคนนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง คือ พ่อแม่ไม่ดื่มเหล้า คบเพื่อนที่ไม่ดื่มเหล้าของมึนเมา เด็กคนนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่ไม่ติดเหล้าก็ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ สรุปได้ว่าปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อพฤติกรรมและอาการทางจิตได้ เช่นเดียวกับภาวะซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล นอกจากนี้ยังมีสาเหตุปลีกย่อยอีก เช่น สารสื่อประสาทในสมองบางตัวทำงานผิดปกติ บางอย่างมากไป หรือบางอย่างน้อยไปก็ส่งผลต่ออาการทั้งสองชนิดนี้ได้เช่นกัน

 

แต่ทว่า นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งพบว่า ความคิดของเราส่งผลให้อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นหรือรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งลักษณะหรือรูปแบบการคิดนี้เราเรียกว่า Rumination หรือ การย้ำคิดหรือการคิดหมกมุ่น ซึ่งมีการศึกษาเรื่องของการคิดหมกมุ่นมากว่า 20 ปีแล้ว และจากผลการวิจัยจำนวนมากพบว่า การที่คนเราคิดหมกมุ่นหรือคิดมากจนเกินไปจะส่งผลต่ออาการซึมเศร้าและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก การคิดหมกมุ่นนี้ไม่ใช่การคิดเรื่องทั่วไป แต่เป็นการที่คนเราคิดเรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้นกับตนเอง ความผิดพลาดที่ผ่านมาของตนเอง หรือสิ่งที่ตัวเองกลัวว่าจะเกิดในอนาคต ความเศร้า และความปล่าวเปลี่ยวที่ตนเองกำลังประสบอยู่ซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานาน ๆ

 

จากการวิจัยพบว่า ความคิดเหล่านี้ทำให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหรืออาการวิตกกังวลอยู่แล้ว มีอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก และเมื่อทดลองในคนที่ไม่เคยมีอาการซึมเศร้าเลย โดยให้ลองคิดเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวไว้ข้างต้นก็พบว่า แม้แต่ในคนปกติเองเมื่อทดลองให้คิดในสิ่งไม่ดีซ้ำไปซ้ำมา ก็เกิดอาการซึมเศร้าขึ้นมาได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ เราอาจเกิดข้อสงสัยได้ว่า การที่เราคิดย้อนกลับไปถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตหรือห่วงเรื่องไม่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมันไม่ดีจริงหรือไม่ เนื่องจาก เมื่อเราคิดถึงข้อผิดพลาดเราจะได้รู้ว่า เราเคยทำพลาดตรงไหนมา เราก็จะได้แก้ไขโดยไม่ทำข้อผิดพลาดนั้นอีก และถ้าเราคิดถึงผลไม่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็จะได้ป้องกันตัวเองเสียก่อน โดยหากกล่าวถึงข้อดีในประเด็นนี้ ก็เป็นคำตอบที่ถูกต้อง หากแต่ว่าคนบางคนเมื่อคิดถึงข้อผิดพลาดในอดีตหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วไม่สามารถหาวิธีการแก้ปัญหาได้ เพราะแทนที่จะคิดหาวิธีแก้ปัญหา กลับคิดแต่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันมาจากความโง่เขลาเบาปัญญาของตัวเอง ความไม่เก่งของตัวเอง ความแย่ของตัวเอง หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นมันจะต้องแย่หรือไม่ดีเท่านั้น โดยความคิดเหล่านี้เอง ทำให้คนเหล่านี้มีอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลที่รุนแรงขึ้น เพราะหมกมุ่นคิดแต่เรื่องทางลบของตัวเองจนลืมคิดถึงทางแก้ไข สุดท้ายก็บั่นทอนสุขภาพจิต สมองไม่ได้รับการพักผ่อนเนื่องจากเมื่อคิดถึงเรื่องไม่ดีซ้ำไปซ้ำมา สารสื่อประสาทที่ไม่ดีก็ออกมามาก ความเครียดก็เพิ่มขึ้น ที่เศร้าอยู่แล้วก็เศร้าขึ้นไปอีก ที่กังวลอยู่แล้วก็ยิ่งกังวลมากขึ้นไปอีก

 

ระหว่างคิดให้มากเพื่อหาทางแก้ปัญหา กับคิดมากจนเกินไปเลยแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไปมัวหมกมุ่นกับเรื่องแย่ ๆ ของตนเองนั้นต่างกันอย่างไร ยังมีงานวิจัยบางส่วนพบอีกว่า การที่เราคิดหมกมุ่นมากจนเกินไปนั้นยังส่งผลต่อความจำของเราด้วย มีการทดสอบผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้าและมีลักษณะคิดหมกมุ่นสูงให้ลองพูดถึงความทรงจำในอดีตโดยดูจากคำที่กำหนดให้ เช่น เมื่อผู้ป่วยเห็นคำว่า ความสุข ผู้ป่วยจะต้องเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เขามีความสุข โดยต้องเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิด วัน เวลา และสถานที่ที่เฉพาะเจาะจง พบว่าผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้าและมีรูปแบบการคิดแบบหมกมุ่นสูง จะไม่สามารถบอกเหตุการณ์ วัน เวลา และสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงได้ ทั้งนี้นักทฤษฎีทางจิตวิทยาได้อธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้น่าจะเกิดจาก ผู้ป่วยมัวแต่คิดถึงสภาพของตนเองในทางลบมากจนเกินไป จนไม่สามารถจะระลึกถึงสิ่งที่เฉพาะเจาะจงได้ ทว่า ตอนนี้ยังไม่มีผลการวิจัยที่ชี้ชัดลงไปว่าการที่เราคิดมากจนเกินไปจะส่งผลไม่ดีต่อระบบความจำของเรา หากเราป้องกันตัวไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย

 

 

เราสามารถป้องกันตัวเองกันได้อย่างไร?


 

การรักษาอาการซึมเศร้าในปัจจุบันมักจะใช้การรักษาด้วยยาเป็นเสียส่วนมาก เพราะได้ผลรวดเร็วกว่าการรักษาประเภทอื่น ๆ แต่มีรายงานหลายฉบับพบว่า การที่เราสามารถควบคุมความคิดของเราได้ก็สามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลได้มากเช่นกัน โดยความคิดและใจของเรานี้เป็นใหญ่ เหมือนที่พระท่านว่า คิดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น คิดดีก็ได้ดี คิดไม่ดีก็ได้ไม่ดี คือไม่สบายใจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พยายามหยุดการคิดหมกมุ่นให้ได้นั่นเอง พยายามอยู่กับปัจจุบัน ไม่ยึดอารมณ์ความรู้สึกไปติดกับอดีตหรืออนาคต อดีตคือบทเรียน แต่ทำใจและทำสมาธิอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด

 

 

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 


 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การลดความวิตกกังวล จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลภายในจิตใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นช่วงนี้นอกเหนือการดูแลตนเอง ด้วยการกินร้อน ช้อนกลางของตนเอง ล้างมือบ่อย ๆ และการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำนั้น การดูแลจิตใจตนเองก็สำคัญไม่น้อย

 

 

สำหรับผู้มีความวิตกกังวลสูง แนวทางปฏิบัติสำหรับการดูแลจิตใจตนเองมีดังนี้

 

 

1. ใช้เวลาในการสงบจิตใจ และสังเกตความความคิด ความรู้สึกและร่างกายของตนเองอย่างอ่อนโยน อาจเริ่มจากการสังเกตลมหายใจของตนเอง แล้วตั้งคำถามกับตนเองอย่างอ่อนโอน “ตอนนี้ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร” “ร่างกายแต่ละส่วนของฉันเป็นอย่างไร” สำหรับผู้ที่มีความวิตกกังวลสูง การสังเกตตนเองอย่างอ่อนโยนจะช่วยให้เรารู้เท่าทันอาการทางกายที่เกิดจากความวิตกกังวล อาจจะเป็นใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกตามร่างกาย หรือการปวดเมื่อยส่วนต่างๆ

 

2. หากท่านมีอาการดังกล่าวข้างต้น ขอให้ท่านใช้เวลาสัก 5-10 นาที ในช่วงเช้า-กลางวัน-เย็น และก่อนนอน ฝึกการผ่อนคลาย (Relaxation) แบบจิตวิทยา การฝึกการผ่อนคลายเป็นหนึ่งในเทคนิคที่สำคัญของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบมุ่งเน้นความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT) ในการลดอาการความวิตกกังวล โดยการฝึกการผ่อนคลายที่ได้รับความนิยม คือการกำหนดลมหายใจตนเอง มีวิธีดังนี้

 

หายใจออก 1 ยาวกว่าหายใจเข้า 1 จังหวะ เพราะอะไรเราต้องหายใจออกยาวกว่า หายใจเข้า 1 จังหวะ เนื่องด้วยเวลาเราวิตกกังวล หัวใจของเราจะเต้นเร็วและถี่กว่าปกติ (ทั้งที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) ผลที่ตามมา คือ ร่างกายของเราจะมีออกซิเจนมากกว่าปกติ และเกินความจำเป็น ผลที่ตามมา คือเราจะเกิดอาการทางกายอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นใจสั่น มือสั่น รู้สึกลุกลี้ลุกลน หรือเหงื่อออกตามร่างกาย ดังนั้นท่านอาจจะหายใจเข้า 2 วินาที หายใจออก 3 วินาที หรือหายใจเข้า 3 วินาที หายใจออก 4 วินาที (หรือจังหวะที่เรารู้สึกผ่อนคลายตามความเหมาะสมของเรา) เพื่อรักษาสมดุลในร่างกายเรา งานวิจัยทางจิตวิทยาจำนวนมาก บ่งชี้ว่าการฝึกการผ่อนคลายช่วยลดอาการทางกายที่เกิดจากความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี

 

3. ลดการเข้าถึงข้อมูล ในช่วงเวลาที่เรามีความวิตกกังวลสูง นักจิตวิทยาพบว่าหลายคนจะพยายามควบคุมสถานการณ์ เพื่อให้ตนมั่นใจว่าตนเองจะไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายไปกว่านี้ เช่น การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เรากังวล เช่น เรื่องไวรัส Covid-19 แต่การมีข้อมูลมากเกินความจำเป็น กลับทำให้เกิดความวิตกกังวลสะสมมากขึ้น ดังนั้นการลดรับข้อมูลจะช่วยลดความวิตกกังวลได้มาก โดยขอให้ท่านเลือกรับข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น ลดความถี่ในการเสพสื่อ มีวินัยกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

 

4. หากอาการความวิตกกังวลของท่านไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง จนความวิตกกังวลนั้นทำให้ท่านไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ (กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และหงุดหงิดกับคนรอบข้างมากขึ้น) ขอท่านพิจารณาพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาวิธีการที่เหมาะสมกับท่านต่อไป

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย อาจารย์ ดร. สมบุญ จารุเกษมทวี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ

 

บุคคลที่มีนิสัยชอบคาดหวังความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist คือ บุคคลที่ตั้งมาตรฐานกับตัวเองและคนรอบข้างเอาไว้สูง และมักไม่ยอมยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนง่าย ๆ โดยเรียกว่า เป็นคนที่ต้องการให้ทุกอย่าง perfect โดยหลายคนเชื่อว่าการคาดหวังความสมบูรณ์แบบเป็นคุณสมบัติที่น่าพึงปรารถนา เพราะคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบน่าจะมีความ เพียรพยายาม ทุ่มเททำสิ่งต่างๆ ให้ดีที่สุด ซึ่งก็น่าจะนำไปสู่การประสบความสำเร็จอย่างสูงในทุก ๆ ด้าน

 

นักจิตวิทยาพบว่า คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบอาจไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเสมอไป เนื่องจาก การคาดหวังความสมบูรณ์แบบมักจะเป็นแรงผลักดันให้คนเราทำงานหนัก ตั้งอกตั้งใจทำดีที่สุด ซึ่งย่อมทำให้ประสบความสำเร็จสูงด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การเล่นกีฬา ไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น หากสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อการคาดหวังความสมบูรณ์แบบนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และบนมาตรฐานที่เป็นไปได้

 

นอกจากนี้ นักจิตวิทยายังพบว่า คนที่มีนิสัยชอบคาดหวังความสมบูรณ์แบบโดยส่วนใหญ่นั้นจะตั้งมาตรฐานสูงจนเกินจริง ทั้งยังมีความคิดแบบขาวดำในการตัดสินความสำเร็จ คือ ถ้าไม่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ก็จะมองว่าเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หลายคนถึงกับเอาคุณค่าของตนเองไปผูกอยู่กับความสำเร็จที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ กล่าวคือถ้าทำได้อย่างที่คาดหวังไว้ ก็จะรู้สึกตัวเองมีคุณค่า แต่ถ้าทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ไร้ความสามารถ

 

ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ทำให้คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบไม่พึงพอใจอะไรง่าย ๆ แม้แต่ตัวพวกเขาเอง บางคนใช้เวลากับการทำงานชิ้นหนึ่ง ๆ มากเกินความจำเป็น เพราะแม้จะทำได้สำเร็จแล้วก็ยังไม่พึงพอใจ จนงานเสร็จช้ากว่ากำหนด บางคนถึงกับไม่ยอมลงมือทำงานเพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี การมีนิสัยคาดหวังความสมบูรณ์แบบจึงกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานมากกว่าที่จะช่วยให้งานออกมาดี

 

คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบมากเกินจริงจึงมักอยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลได้ง่าย และบางรายอาจถึงกับคิดฆ่าตัวตาย เมื่อเห็นว่าตนเองไม่สามารถเป็นได้อย่างอุดมคติที่อยากจะเป็น อีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีความสุข

 

 

ลักษณะนิสัยของคนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)


 

นักจิตวิทยาแบ่งลักษณะของการคาดหวังความสมบูรณ์แบบไว้ 3 แบบ ซึ่งคนคนหนึ่งอาจมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมีทั้งสามอย่างอยู่ในตนเองก็เป็นได้ ดังนี้

  • การคาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง
  • การคาดหวังความสมบูรณ์แบบในคนอื่น
  • การคิดว่าคนอื่นคาดหวังให้ตนสมบูรณ์แบบ

 

 

ปัญหาของการคาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง


 

 

ปัญหาที่ 1 คือ การตั้งมาตรฐานสำหรับวัดความสำเร็จสูงเกินกว่าความเป็นจริง

 

โดยคนทั่วไปที่ต้องการพัฒนาตนเองย่อมต้องตั้งเป้าหมายของสิ่งที่จะทำให้สูงเข้าไว้ก่อน เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาตนเอง แต่การตั้งเป้าหมายให้สูงนั้น ต้องมีความสมเหตุสมผล โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ หากสูงเกินไปจนไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็อาจหมดแรงจูงใจได้ ทว่า คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเองจะตั้งเป้าหมาย หรือมาตรฐานในการวัดผลความสำเร็จที่สูงเกินเอื้อมอยู่เสมอ แถมยังคิดหมกมุ่นอยู่แต่ผลลัพธ์มากกว่าสนุกกับกระบวนการทำงานอีกด้วย

 

ซึ่งบุคคลประเภทนี้จะมองไปที่ผลลัพธ์ว่าเขาอยากเป็นอย่างไร อยากได้อะไร มากแค่ไหน ดีแค่ไหน แต่ไม่ได้นำประสบการณ์ในอดีต หรือความเป็นไปได้อื่น ๆ เข้ามาพิจารณาด้วย เช่น บุคคลหนึ่งอยากทำงาน 20 ชิ้นให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันเดียว แต่ลืมพิจารณาว่าในอดีตทำได้อย่างมากวันละ 12 ชิ้น หรือคนทั่วไปทำได้มากที่สุดแค่ 10 ชิ้นเท่านั้น เมื่อเป้าหมายหรือมาตรฐานสูงเกินกว่าที่จะเป็นไปได้จริง บุคคลนี้จึงต้องหักโหมทำงานอย่างหนัก เหนื่อย ไม่สนุก แล้วก็ต้องเผชิญกับความผิดหวัง เป็นต้น

 

นักจิตวิทยาแนะนำว่า เมื่อจะตั้งมาตรฐานในการทำสิ่งใด เราควรประเมินความสามารถของตัวเองตามความเป็นจริง อย่าฝืนตัวเอง เพื่อลดแรงกดดัน เปิดโอกาสให้ตัวเองได้สนุกกับการทำงาน และมีลุ้นที่จะทำสำเร็จให้ได้ชื่นใจ แทนที่จะจดจ่ออยู่กับเป้าหมายที่ยากจะทำได้สำเร็จ

 

ปัญหาที่ 2 คือ การไม่พึงพอใจในความสำเร็จที่ไม่สมบูรณ์แบบเต็มร้อย

 

มักคิดหมกหมุ่นอยู่กับความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย กล่าวคือ คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง อยากให้ตนเองเป็นคน Perfect นั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องตั้งมาตรฐานไว้สูง และกดดันตัวเองให้ทำให้ได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้ สำหรับคนที่มีลักษณะอย่างนี้ สิ่งที่เขาเรียกว่า “ความสำเร็จ” นั้นมีอย่างเดียว คือสมบูรณ์แบบตามที่ตั้งมาตรฐานเอาไว้ หากมีข้อผิดแม้แต่จุดเดียว นั่นคือ “ความล้มเหลว” แม้ว่างานนั้นจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามไปเรียบร้อยแล้ว หากมีที่ติสักนิด คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบก็จะคิดวนเวียนอยู่แต่ความผิดพลาดเหล่านั้น เฝ้าโกรธตัวเอง โทษตัวเอง จนบางทีก็ไม่ได้ชื่นชมกับความสำเร็จของตนเองเลย

 

นักจิตวิทยาเสนอว่า ถ้าพบว่าตัวเองมีอาการเช่นนี้ ให้ลองคิดถึงแง่บวก หรือด้านที่ประสบความสำเร็จของสิ่งที่ตนทำ แล้วถามตัวเองว่า สิ่งที่ผิดพลาดนั้น มันเลวร้ายอย่างที่เราคิดหรือไม่ โดยคนอื่นคิดว่ามันเลวร้ายอย่างที่เราคิดหรือไม่

 

ปัญหาที่ 3 คือ คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตัวเอง มีความกลัวความล้มเหลว และกลัวการผิดพลาด

 

คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเองจำนวนมากไม่ได้ถูกผลักดันด้วยแรงจูงใจที่อยากจะประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่ง ที่คนเหล่านี้พยายามทุ่มเททำงานหนักให้สมบูรณ์เต็มร้อย ก็เพราะกลัวความผิดพลาดและล้มเหลว เพราะคนเหล่านี้มักเอาคุณค่าของตนเองไปผูกอยู่กับการประสบความสำเร็จ และ ความสำเร็จสำหรับคนเหล่านี้ คือต้องได้ตามที่ตั้งเป้าไว้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ หากเกิดข้อผิด พลาดเล็กน้อย ก็ทำให้รู้สึกว่าตนเองล้มเหลวทันที และยังส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นและการเห็นคุณค่าในตนเองลดลงไปด้วย บางครั้งความกลัวดังกล่าวก็มีความรุนแรงมาก จนทำให้คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเองไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรนอกเหนือจากกรอบหรือวิธีการที่เคยประสบความสำเร็จ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างก็ไม่ตัดสินใจ เพราะกลัวว่าจะเลือกทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อต้องลงมือทำงาน ก็ลังเล ไม่กล้าลงมือ เพราะมัวแต่กังวลว่าทำแล้วจะไม่ดี จะไม่สำเร็จ

 

บางคนเลยเลือกที่จะหนีไปจากความกลัวเหล่านี้ด้วยการผัดวันประกันพรุ่ง หรือไม่ทำงานเสียเลย เพราะตราบใดที่ยังไม่ลงมือทำ ก็ไม่ต้องเสี่ยงที่จะผิดพลาด ความกลัวเช่นนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะแทนที่คนเหล่านี้จะนำศักยภาพของตนออกมาใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์ ก็กลับถูก “ความกลัวว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ” ขัดขวางไม่ให้ลงมือทำอะไรเลย

 

นอกจากนี้ การไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าลงมือ และไม่กล้าเสี่ยงหาวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงาน ยังทำให้เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงจัดว่าเป็นอุปสรรคในการทำงานและพัฒนาตนเองด้วย

 

นักจิตวิทยาเสนอว่า เราควรเปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่อความผิดพลาดเสียใหม่ เพราะความผิดพลาดคือสิ่งที่ช่วยให้เราเรียนรู้ ถ้าเกิดความรู้สึกกลัว ๆ กล้า ๆ ไม่ลงมือทำเสียที ก็ลองกำหนดเวลาที่จะทำสิ่งนั้นให้ชัดเจน เช่นวันนี้ สองชั่วโมง และลงมือทำเลย

 

ปัญหาที่ 4 คือ การตกอยู่ในภาวะตึงเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า จนกระทั่งอาจคิดฆ่าตัวตายได้

 

ในคนทั่วไป การประสบความสำเร็จย่อมทำให้รู้สึกว่าตัวเองดี มีคุณค่า และการประสบความล้มเหลวก็ย่อมทำให้รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า หรือคิดว่าคนอื่นจะไม่รัก แต่คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง ซึ่งตั้งมาตรฐานกับตนเองไว้สูงเกินกว่าความเป็นจริง ย่อมมีโอกาสที่จะทำได้ไม่ถึงเกณฑ์ จึงต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าบ่อยกว่าคนทั่วไป

 

นอกจากนี้ คนเหล่านี้ ซึ่งมักเอาคุณค่าของตนเองไปผูกอยู่กับการประสบความสำเร็จชนิดสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ เมื่อประสบความล้มเหลวยังมักโทษตัวเอง โกรธตัวเองอย่างรุนแรงอีกด้วย บางคนเชื่อว่า การเป็นคนสมบูรณ์แบบ เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ตนมีคุณค่า เป็นที่รักของคนอื่น ทุกครั้งที่ทำอะไรผิดพลาด ไม่สมบูรณ์แบบ จึงเกิดความรู้สึกเคว้งคว้าง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า

 

นักจิตวิทยาพบว่า ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่เป็นที่รัก เพราะไม่สามารถเป็นคนที่ “สมบูรณ์แบบ” อย่างที่ตัวเองตั้งมาตรฐานเอาไว้ได้ บางครั้งอาจเข้มข้นมากจนนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตายได้

 

โลกนี้มีสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบอยู่มากมาย เนื่องจาก มาตรฐานเรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็ล้วนเป็นสิ่งสมมุติที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ เลิกกลัวความผิดพลาด กล้าที่จะลองผิดลองถูก ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงมากขึ้น ความสำเร็จหรือการเป็นคนดีมีคุณค่าไม่จำเป็นต้องปลอดจากความผิดพลาดเสมอไป

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การจัดการความเครียดจากสถานการณ์การระบาด COVID-19

 

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของความเครียดกันก่อนว่าความเครียดเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นจะขอสรุปแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมปัญญานิยมที่อธิบายว่า ความเครียดของเรานั้นเกิดจากการที่เราคิดและตีความสภาพการณ์ที่ตนเองเผชิญอยู่ ถ้าเราคิดว่าสภาพการณ์ที่เราเผชิญอยู่นั้นสร้างปัญหาให้กับชีวิตของเราและเราไม่สามารถที่จะจัดการกับมันได้ เราก็จะเกิดความวิตกกังวลอันนำไปสู่ความเครียดในเวลาต่อมา จากแนวคิดนี้ทำให้เข้าใจได้ว่าเรานั้นจะเกิดความเครียดทุกวัน เป็นความเครียดที่เราเกิดความเคยชินจนเราไม่รู้สึกถึงความเครียดนั้น แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 แน่ใจได้เลยว่าเรานั้นย่อมต้องเกิดความเครียดอย่างแน่นอน แต่จะมากจะน้อยย่อมขึ้นอยู่กับการรับรู้สภาวะความเสี่ยงและความเข้าใจในธรรมชาติของไวรัส COVID-19 ตลอดจนความสามารถในการป้องกันตนเองของแต่ละคน ความเครียดที่เกิดขึ้นถ้าน้อยก็จะไม่ค่อยใส่ใจที่จะป้องกันตนเอง แต่ถ้าเครียดมากอาจจะมีอาการถึงขั้นวิตกจริตเลยก็ได้ จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น หงุดหงิด หุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นที่คิดว่าพวกเขาเป็นพาหะของไวรัส COVID-19 เป็นต้น

 

ความเครียดมีข้อดีเหมือนกัน คือถ้าเครียดน้อยจะทำให้เราหาแนวทางป้องกันตนเอง แต่ถ้ามากไปก็จะทำให้เกิดปัญหากับตัวเองและผู้อื่นได้ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว คำถามคือเรารู้ได้อย่างไรว่าเราเครียดมากในระดับที่ต้องจัดการแล้ว สังเกตง่าย ๆ ในเงื่อนไขต่อไปนี้ คือนอนมากไปหรือนอนไม่หลับ กินน้อยลงหรือกินมากขึ้น ท้องร่วงโดยไร้สาเหตุ หงุดหงิดเร็วเกินกว่าเหตุ หรือปวดศีรษะบ่อยครั้ง เป็นต้น

 

ถ้าพบว่าเครียดมากให้เริ่มจัดการดังนี้

 

เรารู้ว่าเมื่อคนเราเกิดความเครียดเราก็จะเกิดความตึงทั้งร่างกายและจิตใจ

 

การจัดการในขั้นแรกจึงไม่ยากเพียงแต่เราต้องจัดการกับความตึงทางร่างกายก่อน โดยอาจจะนวด และหรือออกกำลังกาย จากนั้นค่อยจัดการทางด้านจิตใจโดยเริ่มจากการผ่อนคลาย ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เช่นฟังเพลง ดูภาพยนตร์ เล่นโยคะ ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือเป็นต้น

 

ขั้นต่อมาเป็นเรื่องที่ยากขึ้นมาอีกนิด คือให้ปรับเปลี่ยนความคิดของตนเองไปเป็นทางบวกให้มากขึ้น เช่นคิดว่าไม่ใช่ทุกคนจะติดไวรัส COVID-19 และถ้าเราเกิดติดไวรัส COVID-19 ก็รักษาหายได้ อัตราการตายของคนไทยจากไวรัส COVID-19 มีถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 ทำให้เราได้อยู่บ้านกับครอบครัวมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น และเราก็ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ในการสื่อสาร และการทำงาน การมองโลกทางบวกจะทำให้ชีวิตและสุขภาพจิตเราก็จะดีขึ้น

 

คิดเสมอว่า ไม่มีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ ผลกระทบของปัญหามีสองด้านเสมอ คือ ด้านบวกและลบ เพียงแต่เราเลือกที่จะมองนั่นเอง ดังนั้นการแก้ปัญหาความเครียดทางด้านจิตใจ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการมองโลกหรือปัญหาในทางบวกนั่นเอง

 

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการส่งเสริมทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม

ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life-Di Center)

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

รับมือกับความเครียดจากการตกงาน

 

ด้วยสภาพเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา องค์การหรือบริษัทจึงต้องการบุคลาการที่มีทักษะพร้อมและเหมาะสมกับตลาดแรงงานมาสร้างผลผลิตให้แก่องค์การอย่างเต็มศักยภาพเพื่อความอยู่รอด อีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องมีพนักงานเก่าหลายรายที่อาจมีคุณสมบัติไม่เป็นตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องเผชิญกับการถูกบีบให้ออกจากงานอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้

 

หลังจากถูกไล่ออกจากงาน คนส่วนใหญ่มักรู้สึกสะเทือนใจ และตกใจจนเกิดความสงสัยว่าทำไมต้องเป็นตนเอง หรือบางคนก็รู้สึกเหมือนถูกทรยศ “ว่านี่หรือคือสิ่งที่ฉันควรได้รับจากการที่จงรักภักดีต่อองค์การมายาวนาน” โดยคนที่ถูกไล่ออกนั้นมักรู้สึกสับสนว่า “ฉันจะทำอย่างไรต่อไป ชีวิตของฉันจะเป็นอย่างไรหากไม่มีงานนี้” และคนที่ถูกไล่ออกส่วนมากมักรู้สึกอับอาย คิดว่าตนไม่เป็นที่ต้องการ และเป็นคนล้มเหลว หรือบางคนก็เครียดจัดจนจบชีวิตตนเองลง

 

 

การถูกไล่ออกจากงานและผลกระทบด้านจิตใจ


 

การสูญเสียงานนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจที่รุนแรง 3 ประการ ได้แก่

 

ประการแรก คือการสูญเสียงานทำให้คนเราสูญเสียความเป็นตัวตน หรือ identity ของตนไป

กล่าวคือ คนเรามักระบุความเป็นตัวตนของเรากับงานที่เราทำ เช่น ฉันเป็นนักการตลาด ฉันเป็นนักร้อง ฉันเป็นหมอ เป็นต้น บางคนอาจจะรู้สึกผูกพันอย่างแนบแน่นกับอาชีพของตน เช่น ภูมิใจว่าตนเองเป็นหัวหน้าฝ่ายขาย บางคนอาจให้ความสำคัญแก่บทบาทการเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว หรือการเป็นคนที่พึ่งพาตนเองได้มากกว่า ดังนั้น การสูญเสียงานไปอาจทำให้บุคคลนั้นรู้สึกสูญเสียส่วนหนึ่งของตนเองไปด้วย

 

ประการที่สอง คือ การสูญเสียจุดมุ่งหมายในชีวิต

เมื่อคนเราสูญเสียงาน ก็มักรู้สึกว่าชีวิตของไร้จุดหมาย เช่น “วันนี้ฉันจะทำอะไร พรุ่งนี้ฉันจะทำอะไร” หลายคนที่ทำงานมักมีจุดมุ่งหมายในสายอาชีพของตน ต่างต้องการที่จะก้าวหน้าในงาน ได้รับการเลื่อนขั้น จึงทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าหากมีเหตุที่ทำให้ต้องลาออกจากงาน หรือโดนไล่ออก ก็จะรู้สึกสงสัยถึงจุดหมายในชีวิตของตนเอง และเริ่มประเมินว่าอะไรเป็นสิ่งที่ตนต้องการต่อไปหลังจากที่สูญเสียงานไป

 

หากบางคนโชคดี มีโอกาสและเวลาทบทวน มองย้อนกลับไปว่าตนเองต้องการอะไรในชีวิต ก็อาจค้นพบจุดหมายใหม่ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และพบความหมายในชีวิตของตน เช่น หลังจากตกงาน บางคนก็ตัดสินใจออกเดินทางเพื่อพักผ่อนจิตใจชั่วคราว ใช้เวลาอยู่กับตนเอง คิดย้อนทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ จนทำให้ค้นพบความต้องการที่แท้จริงของตน หรือบางคนอาจจะขอบคุณที่ตนถูกไล่ออกจากงานเก่า เพราะทำให้ตนได้ทบทวนความสามารถ ความถนัด และคุณลักษณะของตนว่าจริง ๆ แล้ว ตนเหมาะกับอะไร จนทำให้พบเจอทางเลือกใหม่หรืองานใหม่ที่เติมเต็มชีวิตของตนมากกว่าเดิม

 

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรทิ้งช่วงนานเกินไปในการหยุดพักเพื่อทบทวนตนเอง เพราะอาจทำให้ออกห่างจากโลกแห่งความเป็นจริง จนจะกลายเป็นหนีความจริงไปตลอด และก็มักจมอยู่กับความรู้สึกผิด เสียใจกับคำถามวน ๆ ว่า “ถ้าหากฉันทำอย่างนั้น ฉันก็จะไม่เป็นอย่างนี้”

 

ประการที่สาม คือ การรู้สึกสูญเสียการเห็นคุณค่าในตนเอง

เมื่อเกิดข้อผิดพลาด ล้มเหลวในการทำสิ่งใด เช่น สอบเลื่อนขั้นไม่ผ่าน ถูกปฏิเสธจากงาน บุคคลมักรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า และไร้ความสามารถ โดยเฉพาะการอาศัยอยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับการมุ่งมานะทำงานอย่างหนักเพื่อผลผลิต และความสำเร็จในอาชีพการงาน ดังนั้นการเห็นคุณค่าในตนเองนั้นมักขึ้นอยู่กับความสำเร็จและผลผลิตที่เราได้มาจากการทำงาน หากเราทำงานสำเร็จ ได้รับคำชมเชยจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน เราก็จะรู้สึกว่าเราเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าและมีความสามารถในองค์การ

 

คนส่วนใหญ่ที่ถูกไล่ออกมักรู้สึกผิด วิตกกังวล อับอาย หรือบางรายถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า จึงทำให้กลายเป็นคนปลีกตัวจากสังคม ปฏิเสธความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพราะกลัวการถูกมองว่าเป็นคนไร้ความสามารถ ไม่เอาไหน ความวิตกกังวลด้านอารมณ์และการเงินมักก่อให้เกิดความเครียดในความสัมพันธ์กับผู้อื่นและครอบครัว ความรู้สึกไม่มั่นคงหลังถูกไล่ออกทำให้คนขาดสติ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ บางคนก็หันเข้าหายาเสพย์ติดหรือดื่มเหล้าเพื่อผ่อนคลายความเครียด ซึ่งเป็นชนวนไปสู่การมีปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอีกด้วย

 

 

วิธีการรับมือกับความเครียดหลังตกงาน


 

หลังจากศูนย์เสียการทำงาน คนเรามักสูญเสียความเป็นตัวตน ขาดจุดหมายในชีวิต ขาดความมั่นใจ และรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า จึงทำให้เผชิญกับปัญหาด้านอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกผิด อับอาย วิตกกังวล และซึมเศร้า ซึ่งถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้น โดยการรับมือกับอารมณ์ทางลบ คือ การมีความเมตตากรุณาให้แก่ตนเอง หรือเรียกว่า “self-compassion” คือการหันมาดูแลใส่ใจตนเอง ยอมรับความเป็นจริง เผชิญหน้ากับความล้มเหลว ซึ่งการสูญเสียงานที่เรารัก หรือเราอาจทำสิ่งใดผิดพลาดไป แต่ทั้งหมดก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ ย่อมสามารถทำในสิ่งที่ถูก ผิด พลั้งพลาดได้ อีกทั้ง ควรเปิดใจยอมรับและเข้าใจความรู้สึกเจ็บปวด หรือความล้มเหลวของตัวเราเอง มากกว่าที่จะตำหนิตนเอง โดยการมีความกรุณาให้แก่ตนเองจะช่วยให้รู้สึกดีและปรับตัวต่อเหตุการณ์ได้ดี ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

ความมีเมตตากรุณาให้แก่ตนเองนั้นสามารถทำได้ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจว่าความไม่สมบูรณ์แบบ ความล้มเหลว และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็หลีกหนีไม่ได้ ดังนั้นควรเผชิญกับมันมากกว่าที่จะโกรธแค้นโชคชะตา คนเราไม่สามารถได้สิ่งที่ตนต้องการเสมอไป ดังนั้น เราจึงไม่ควรปฏิเสธความจริง เพราะการพยายามปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมก่อให้เกิดความเครียด ความคับข้องใจ และการตำหนิตนเอง

 

ต่อมาเราต้องมีสติที่รับรู้ถึงอารมณ์ของตนเองตามจริง ไม่พยายามหลอกตนเองว่า “ฉันไม่เครียดสักนิดที่ตกงาน” หรือว่าแสดงอารมณ์ลบเกินความจริงที่ตนรู้สึก การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ไม่ได้หมายความว่าให้ตัดสินหรือประเมินตนเอง แต่ให้สังเกตสภาวะอารมณ์ของตนเองอย่างเปิดใจ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจตนเองมากขึ้น

 

นอกจากความมีเมตตากรุณาเข้าใจตนเองจะช่วยให้ฟื้นตัวจากความเครียดหลังตกงานได้ หากแต่ยังมีสิ่งที่ควรหลีกเหลี่ยงหลังจากตกงาน เพื่อที่สามารถรับมือกับความเครียดได้ ดังนี้

 

ข้อแรก คือ พยายามอย่าตื่นตระหนก เห็นได้จากงานวิจัยพบว่าการวิตกกังวลในระดับปานกลางจะเป็นตัวสร้างแรงจูงใจที่ดีในการทำสิ่งต่าง ๆ แต่การตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลขั้นสุดจะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ยิ่งแย่ลง เพราะเมื่ออยู่ในสภาวะตื่นตระหนก จะไม่สามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องเหมาะสมได้

 

ข้อสอง คือ หลีกเลี่ยงการปลีกตัว หลายคนเมื่อเผชิญกับความเจ็บปวด มักจะปลีกตัวไปเยียวยารักษาตนเอง และการให้เวลากับตนเองเพื่อทบทวนสิ่งที่ผ่านมา เพื่อวางแผนอนาคตใหม่หลังจากตกงาน ซึ่งก็อาจจะมีประโยชน์ หากแต่ไม่ควรปลีกตัวจากคนที่รักและห่วงใย

 

ข้อสาม คือ อย่าปล่อยให้อารมณ์ลบมาครอบงำ หลังจากตกงาน คนทั่วไปมักรู้สึกโกรธ ขมขื่น และเศร้าหมอง การจมอยู่กับอารมณ์เหล่านี้จะทำให้เสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ในการนำเวลาและพลังกาย พลังใจ มาคิดหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตนเอง

 

ข้อสี่ คือ เลี่ยงการคิดอยู่ในกรอบ หลาย ๆ คนอาจคิดว่าการหางานชั่วคราว หรือ part-time อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ แต่หากเงินเป็นปัจจัยสำคัญ พอตกงานก็ย่อมกระทบต่อการใช้ชีวิต ดังนั้นควรที่จะมองทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ด้วย ไม่ควรคิดอยู่ในกรอบว่าต้องทำงานที่คล้าย ๆ กับงานที่เคยทำอยู่เพียงเท่านั้น

 

ข้อสุดท้ายที่ควรหลีกเหลี่ยง คือ ไม่ควรตั้งคำถาม “ถ้าหาก หรือ what ifs” ยกตัวอย่างเช่น “ถ้าหากฉันไม่ถูกไล่ออก ฉันก็คง หรือ ถ้าหากฉันทำโปรเจคงานนั้นสำเร็จ ฉันก็คง….” ในเมื่ออดีตไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ไม่ควรไปเสียเวลา ทว่าควรที่จะหันมาพิจารณาถึงเป้าหมายต่อไปในชีวิต

 

กล่าวโดยสรุป หลายคนอาจมองว่าการถูกไล่ออกจากงานเป็นจุดจบในชีวิตแล้ว จึงทำให้ตกเป็นเหยื่อของความเครียดและปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นเราควรมีสติ มีความเมตตาให้กับตนเอง มองว่าเราเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งมีผิดพลาดได้ อีกทั้งอย่าปฏิเสธความหวังดีและช่วยเหลือจากคนรอบ ๆ ข้างเรา คนที่เขารักและหวังดีต่อเรา เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราฟื้นตัวจากความผิดหวังในชีวิตได้

 

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร. ประพิมพา จรัลรัตนกุล

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Vigor at work – ความกระปรี้กระเปร่าในงาน

 

 

 

 

ความกระปรี้กระเปร่าเป็นอารมณ์ทางบวกชนิดหนึ่ง มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ

 

  • พลังทางกาย (physical strength) – ความสามารถของบุคคลที่แสดงออกทางร่างกาย
  • พลังทางอารมณ์ (emotional energy) – ความสามารถของบุคคลที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในความรู้สึกของบุคคลอื่น
  • พลังทางการรู้คิด (cognitive liveliness) – ขั้นตอนการทำงานของกระบวนการทางความคิด และความว่องไวทางด้านจิตใจ

 

ความกระปรี้กระเปร่าในงาน หมายถึง การตอบสนองต่ออารมณ์ทางบวกที่มีต่อบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กัน โดยมีองค์ประกอบสำคัญเกี่ยวกับงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วย ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกันของพลังทางกาย พลังทางอารมณ์ และพลังทางการรู้คิด

 

ความกระปรี้กระเปร่าในงานมีลักษณะใกล้เคียงกับสภาวะอารมณ์ (mood state) เพราะมีระยะเวลาที่คงอยู่ยาวนานกว่าความรู้สึก (emotion) ชั่วขณะ

 

เนื่องจากความกระปรี้กระเปร่าในงานเป็นอารมณ์ทางบวกชนิดหนึ่ง ซึ่งอารมณ์ทางบวกเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเจริญเติบโตของบุคคลและการเชื่อมต่อสังคม เพราะช่วยขยายขอบเขตของความคิดและการกระทำของผู้คน ลดความสนใจอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นทางจิตใจ ตลอดจนเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดี ดังนั้น ความกระปรี้กระเปร่าในงานจึงมีความสัมพันธ์กับการที่บุคคลเกิดความพึงพอใจในงาน มีผลปฏิบัติงานที่ดี มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

 

นอกจากนี้ ความกระปรี้กระเปร่าในงานเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการทำงานภายในองค์การ จึงพบว่าเป็นตัวแปรทำงานประสิทธิภาพขององค์การได้อีกด้วย

 

 

ทรัพยากรที่เป็นที่มาของความกระปรี้กระเปร่าในงาน


 

แบ่งเป็น 4 ระดับ

 

ทรัพยากรระดับองค์การ คือ การที่องค์การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีการให้รางวัล ให้พนักงานมีช่วงเวลาพักผ่อน องค์การให้พนักงานมีโอกาสเติมเต็มแหล่งพลังของพวกเขาในช่วงเวลาการทำงาน

 

ทรัพยากรระดับกลุ่ม คือ กลุ่มทำงานที่มีแนวโน้มถ่ายทอดอารมณ์ซึ่งกันและกัน เพราะการขัดเกลาทางสังคม ลักษณะขององค์การ การพึ่งพาซึ่งกันและกันในการทำงาน กฎระเบียบ และบรรทัดฐานที่มีร่วมกัน ทั้งนี้ ความกระปรี้กระเปร่าของพนักงานคนหนึ่งสามารถส่งต่อไปสู่คนอื่นได้

 

ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับงาน ได้แก่ เอกลักษณ์ของงาน ความสำคัญของงาน การได้รับข้อเสนอแนะ ข้อมูล ความคิดเห็นต่อการทำงานจากผู้อื่น และการประสบความสำเร็จในงาน

 

ทรัพยากรระดับบุคคล คือ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพนักงาน อำนาจที่เกิดจากความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ

นอกจากทรัพยากรทั้ง 4 ระดับนี้ ยังมีปัจจัยด้านพันธุกรรม สรีรวิทยา และปัจจัยด้านบุคลิกภาพ เช่น ความมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกทางบวก การมองในด้านบวก และการรับรู้ความสามารถของตน

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของการรับรู้การสนับสนุนจากองค์การต่อเจตนาในการประหยัดพลังงานในสถานที่ทำงาน : การศึกษาตัวแปรส่งผ่านของความกระปรี้กระเปร่าในงาน และความกตัญญู” โดย กวิตา พร้อมเพราะ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/54945

ภาพจาก https://graphiccave.com/

ทำงานให้ได้งาน…การจัดลำดับความสำคัญของงาน

 

ในชีวิตปัจจุบันนั้น เต็มไปด้วยความเร่งรีบ มีหลายสิ่งหลายอย่างให้ทำมากมาย บางอย่างก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำ เรียกว่าใจไปเต็มที่ บางสิ่งเราก็เฉย ๆ แต่บางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่อยากทำ แต่จำเป็นต้องทำ จะเห็นได้ว่า เรามีสิ่งที่ต้องทำ ติดตรงที่ระดับความอยากทำไม่เท่ากัน เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะทำอย่างไร?

 

เป็นไปได้ไหมที่เราจะทำแต่สิ่งที่เราชอบก่อน สิ่งที่ไม่ชอบก็เก็บไว้ทำทีหลัง? เรามักพบว่าถ้าทำอย่างนั้น ท้ายที่สุด สิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ไม่ได้ทำ และก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย เช่น เราอยากเล่นอินเทอร์เน็ต อ่านนิตยสาร คุยกับเพื่อน ดูโทรทัศน์ ทั้งที่เราต้องรีดผ้า เพื่อให้มีเสื้อใส่ไปทำงานในวันรุ่งขึ้น กลายเป็นว่า เราไม่มีเสื้อใส่ ต้องรีบ ๆ รีดเสื้อตอนเช้า เลยทำให้ออกจากบ้านช้า ผจญกับรถติด ไปทำงานสาย และถ้าเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ สุดท้ายก็ถูกหักเงินเดือน

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ในที่สุดแล้ว เราสามารถทำงานทุกอย่างได้ทันเวลาตามกำหนด สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะทำกันก็คือ ทำรายการสิ่งที่ต้องทำ หรือ to-do list ซึ่งก็คือ การจดให้ครบถ้วนเลยว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องทำ ไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่อยากทำ พร้อมทั้งกำหนดวันที่ต้องทำงานนั้นเสร็จด้วย โดยเฉพาะงานที่เราอาจจะลืมได้หากเราไม่เขียนไว้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนความจำว่าเรายังมีอะไรที่ต้องทำอีกบ้าง และเมื่อทำรายการหนึ่ง ๆ เสร็จสิ้น ก็ทำสัญลักษณ์ไว้ว่างานนั้นเสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นจึงทำงานชิ้นอื่นในรายการต่อไป

 

ในการที่เราจะจัดลำดับความสำคัญได้ เราต้องรู้สิ่งที่เราจะต้องทำทั้งหมดก่อน หลายคนจึงแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการทำรายการสิ่งที่ต้องทำ หรือ to-do list พร้อมวันเวลาที่ควรเสร็จสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องใดๆ แค่เขียนลงมาให้หมดทั้งงานที่เป็นกิจวัตรและสิ่งอื่นๆ ที่ต้องทำ หากมีงานที่เป็นโครงการใหญ่ ประกอบไปด้วยหลายงานย่อย ก็ควรเขียนประเภทของงานย่อยที่ต้องทำ งานนั้นจะได้ไม่หลุด หายและเราสามารถประเมินการจัดสรรเวลาตามปริมาณงานหรือสิ่งที่ต้องทำที่ใกล้เคียงความเป็นจริงได้มากขึ้น

 

จากนั้น เราจึงพิจารณาถึงระดับความสำคัญของงาน โดยดูจากผลกระทบที่เกิดขึ้นหากวันนี้เราทำงานดังกล่าวไม่เสร็จทันเวลา สิ่งที่เราไม่สามารถทำให้เสร็จภายในวันนั้นได้ แล้วส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเราหรือคนอื่น ถือว่าเป็นงานที่สำคัญที่สุด งานที่ส่งผลกระทบปานกลาง จะสำคัญรองลงมา เป็นเช่นนี้ไปอย่างต่อเนื่อง

 

ต่อมา เราจำเป็นต้องคำนึงถึง คือ วันเวลาที่ควรเสร็จสิ้น เนื่องจากมันจะทำให้เรารู้ถึงความเร่งด่วนของงาน หากเป็นงานด่วนและสำคัญ เราควรจะรีบทำก่อน แต่ถ้าหากเป็นงานด่วน แต่ไม่สำคัญ เราอาจขอให้คนอื่นช่วยทำแทนได้ หากเป็นงานสำคัญแต่ไม่ด่วน เราก็ควรเก็บไว้ทำในวันรุ่งขึ้น แต่ถ้าหากเป็นงานไม่ด่วน และไม่สำคัญ เราจะให้คนอื่นทำ หรือเก็บไว้ทำเองในเวลาที่ว่างกว่านี้ก็สามารถทำได้

 

อีกสิ่งหนึ่งที่อาจพิจารณาคือ ความยากง่ายของงาน งานที่ยาก ที่ต้องใช้สมาธิ หรือความคิดค่อนข้างมาก อาจจำเป็นต้องทำในตอนเช้าหรือตอนที่สมองปลอดโปร่ง ในขณะที่งานง่าย หรืองานที่สำเร็จได้ไวนั้น เราสามารถทำในจังหวะที่เรารออะไรบางอย่างได้ เช่น ในระหว่างที่เรารอทำธุรกรรมทางการเงิน เราอาจเช็คอีเมล์ คิดเมนูอาหารที่จะรับประทาน หรือเขียนรายการที่จะต้องซื้อที่ซุปเปอร์มาเก็ต เป็นต้น

 

ดังจะเห็นได้ว่า ในการจัดลำดับความสำคัญนั้น เราเริ่มจากการทำรายการสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำทั้งหมด แล้วเลือกทำในสิ่งที่เร่งด่วนและสำคัญก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมาหากเราทำไม่เสร็จตามเวลา ความยากง่ายของงานก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกำหนดเวลาที่ควรทำงานนั้น ๆ ได้ คือ งานที่ทำเสร็จได้เร็ว สามารถทำในขณะที่เรารอหรือเดินทางได้

 

นอกจากนี้ หากงานทุกอย่างที่มีอยู่ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งสิ้น เราจำเป็นต้องกำหนดเส้นตายที่จะต้องทำงานชิ้นหนึ่ง ๆ ให้เสร็จตามความเป็นจริง และตั้งเป้าหมายของงานที่เป็นไปได้ การตั้งเป้าหมายของชิ้นงานที่สูงเกินไป นอกจากจะทำให้เราท้อแล้ว อาจทำให้เราใช้เวลานานกว่าที่ตั้งไว้ได้ ดังนั้น การตั้งเป้าหมายของงาน กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม และกำกับตัวเองให้ได้ตามนั้น จะช่วยป้องกันไม่ให้เราใช้เวลาหมดไปกับการทำงานใดงานหนึ่งมากเกินไป จนไม่สามารถทำงานอื่นได้เสร็จตามกำหนด

 

อย่างไรก็ดี ในบางครั้งเราอาจเจองานที่เร่งด่วน จำเป็นต้องทำในวันนั้นหลาย ๆ งาน มิเช่นนั้นแล้วจะส่งผล กระทบรุนแรงไม่ต่างกัน ในกรณีเช่นนี้ สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ เราอาจต้องเลือกทำในสิ่งที่เอื้อประโยชน์กับคนอื่นก่อน เช่น ทำข้อมูลให้คนอื่นนำไปใช้ต่อได้ ส่งเอกสารให้ลูกค้า เพื่อที่เขาจะส่งให้เจ้านายพิจารณาต่อได้ เป็นต้น

 

ที่สำคัญ เราควรจะยืดหยุ่นพอที่จะปรับเปลี่ยนแผนหรือลำดับการทำงาน เนื่องจากในระหว่างที่ทำงาน อาจมีสิ่งที่ไม่คาดหวังเกิดขึ้นได้เสมอ เราจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องทำงานที่กำลังทำอยู่นั้นให้เสร็จสิ้นก่อน ก่อนที่จะปรับลำดับความสำคัญ หรือเริ่มทำงานใหม่ เพื่อให้งานที่ทำอยู่เสร็จเป็นชิ้น ๆ ไป ไม่ต้องมากังวลว่างานเก่ายังไม่เสร็จ งานใหม่ก็มาแล้ว ดังนั้น หากเป็นงานเร่งที่สำคัญพอ ๆ กัน เราทำเพื่อคนอื่นก่อน และกำหนดเวลาการทำงานแต่ละชิ้นให้เหมาะสมกับที่ทำได้จริง และทำตามนั้น แต่หากจำเป็นต้องมีการปรับแผน ก็เป็นสิ่งควรทำ

 

กล่าวโดยสรุป ในการจัดลำดับความสำคัญ เราจำเป็นต้องรู้สิ่งที่เราจะทำทั้งหมด รู้ว่างานใดสำคัญขนาดไหน รู้ความยากง่ายของงาน รู้ว่าเมื่อไรที่งานนั้นควรเสร็จสิ้น แต่ถ้าหากเป็นงานที่สำคัญและเร่งด่วนพอ ๆ กัน ควรเลือกทำในสิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้ส่วนรวมหรืองานอื่น ๆ ก่อน และกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการทำงานหนึ่ง ๆ ให้เสร็จ และกำกับตัวเองให้ทำได้ตามนั้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อให้การทำงานทุกอย่างนั้นเสร็จสิ้นอย่างดี

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกเทคนิคหนึ่งที่อาจช่วยให้เราตัดสินใจเลือกทำสิ่งต่าง ๆ ในรายการได้ คือ การจัดหมวดประเภทให้กับรายการที่ต้องทำ เช่น เราแบ่งกระดาษออกเป็น 3 ช่อง

 

  • ช่องที่ 1 อาจเป็นงานตามหน้าที่การงาน ที่เราต้องรับผิดชอบ เช่น การทำรายงานส่ง การติดต่อลูกค้า เป็นต้น
  • ช่องที่ 2 อาจเป็นงานบ้านที่เราต้องดูแล เช่น กวาดถูบ้าน ซื้อของใช้เข้าบ้าน เป็นต้น
  • ช่องที่ 3 อาจเป็นงานทางสังคม เช่น การอัพเดทเรื่องราวกับเพื่อน เป็นต้น

 

โดยการแบ่งเป็นช่อง ๆ แบบนี้ ก็เพื่อให้เราตัดสินใจง่ายขึ้น ว่ารายการใดในลิสต์ที่สามารถรอได้ หรือเก็บไว้ทำวันหลังได้

 

เทคนิคต่อมาที่อาจนำไปใช้ได้ คือ เวลาเราพิจารณาสิ่งที่ต้องทำแล้วมีสิ่งที่เราไม่ชอบ หรืองานนั้นค่อนข้างท้าทาย ให้เราเลือกทำงานเหล่านี้ก่อน เมื่อทำงานที่ท้าทายและงานที่เราไม่ชอบเสร็จสิ้น เราก็จะได้ทำสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่ทำแล้วเรามีความสุข เปรียบเสมือนการให้สิ่งที่เราชอบทำเป็นรางวัลเมื่อเราสามารถทำงานที่ไม่ชอบได้สำเร็จ ก็จะเป็นการจูงใจในการทำงานได้อย่างดีทางหนึ่ง

 

อีกเทคนิคที่สำคัญ คือ การทำงานให้เสร็จทีละชิ้น ไม่ทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะการทำทีละงานจะทำให้ผลงานที่ได้มีประสิทธิภาพกว่า เนื่องจากในระหว่างที่เราทำงานใดงานหนึ่งนั้น เราสามารถมุ่งความสนใจ สมาธิ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องคิดเผื่อ หรือคอยกังวลกับเรื่องอื่นจนเสียสมาธิหรือละเลยบางรายละเอียดไป

 

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ รายการสิ่งที่ต้องทำกับนาฬิกานั้นก็ควรอยู่ในที่ที่มองเห็นได้ง่าย เพื่อให้เราสังเกตได้ตลอดว่าเราเหลืออะไรให้ทำอีกบ้าง และเรามีเวลาอีกเท่าไร ในบางครั้ง หากมีใครมาชวนให้เราทำอะไรที่ไม่ได้จำเป็นมากนัก เช่น ชวนให้ไปซื้อของเป็นเพื่อน เราก็ต้องรู้จักปฏิเสธบ้าง เพื่อให้งานของเราทำเสร็จลุล่วงทันเวลา และในบางครั้ง เราอาจจำเป็นต้องให้บางรายการที่ต้องทำนั้น เป็นรายการของวันพรุ่งนี้ หากสิ่งนั้นยังรอได้ หากไม่ทำวันนี้จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ แต่เมื่อวันพรุ่งนี้มาถึง ก็พึงต้องทำ ไม่ใช่ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ จนถึงวันสุดท้ายในการส่งจะกลายเป็นว่าเราไม่สามารถทำงานได้ทัน ทั้งที่เราสามารถทำได้

 

นอกจากนี้ อย่าลืมหาเวลาพักให้ตัวเองบ้าง เมื่อเวลาทำงานหนัก ใช้ทรัพยากรในตัวเรามาก ๆ สมองเรา ร่างกายเราก็ล้าได้ ซึ่งการทำงานในช่วงที่ล้านั้น โอกาสที่งานจะไม่ค่อยมีคุณภาพ ใช้เวลามาก และอาจต้องกลับมาแก้ จนกลายเป็นว่าเราต้องใช้เวลาไปกับงานนั้นถึง 2 เท่า ก็เป็นได้

ในการจัดลำดับความสำคัญกับทุกสิ่งที่เราต้องทำในชีวิต หากทำได้นั้น การบริหารจัดการเวลาที่มีอยู่ 24 ชั่วโมงนี้จะได้เป็นไปอย่างคุ้มค่า ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ โดยไม่รบกวนงานที่จำเป็นต้องทำอีกด้วย

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ณัฏฐารีย์ ศิริวิวัฒน์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ดูแลใจยามป่วย

 

นักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาถึงอารมณ์ของมนุษย์และผลของอารมณ์ที่มีต่อสุขภาพกาย สิ่งที่นักจิตวิทยาค้นพบ คือ การที่คนเรามีอารมณ์ด้านบวกจะเป็นการช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น กล่าวอีกนัยก็คือ เมื่อเรามีอารมณ์ทางบวก อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันเราจากความเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้นักจิตวิทยายังค้นพบว่าในทางกลับกันอารมน์ทางลบก็อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของคนเราได้ และนักจิตวิทยายังได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและพบว่า ผู้ที่มีความวิตกกังวลสูงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าถึง 3 เท่า และมีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่าอารมณ์ทางลบมีอิทธิพลต่อโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานอีกด้วย

 

การดูแลใจให้มีอารมณ์ทางบวกจะเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้เมื่อเราป่วยกาย กายก็จะไม่ทรุดหนักลงไปหากใจยังมีอารมณ์บวก โดยวิธีการฝึกเบื้องต้นคือ การมองโลกในแง่ดีหรือบางครั้งที่เราเรียกว่ามองโลกทางบวก โดยลองหามุมดี ๆ ในสิ่งต่าง ๆ ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน ให้มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะกับเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัว

 

นอกจากนี้ ความหวัง ก็มีผลต่อสุขภาพกายเช่นกัน โดยนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายของความหวังว่าเป็นอารมณ์ที่มองไปในอนาคตโดยมีลักษณะของความคาดหวังถึงผลในทางบวกที่จะเกิดขึ้นต่อไปและยังมีความรู้สึกว่าตนจะสามารถทำได้ ซึ่งนักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาพบถึงคุณค่าของความหวังที่มีต่อบุคคลที่ป่วยเป็น โรคร้ายแรงที่อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น โรคมะเร็ง มีงานวิจัยบางชิ้นที่พบความสัมพันธ์ระหว่างความหวังกับระยะเวลาในการอยู่รอดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยผู้ป่วยที่มีความหวังในระดับสูงมีแนวโน้มที่จะมีระยะเวลาในการอยู่รอดได้นาน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบถึงความสัมพันธ์ระหว่างความหวังกับความถี่และความเข้มของอาการป่วย โดยผู้ป่วยที่มีความหวังในระดับสูงมีแนวโน้มที่จะมีความถี่และความเข้มของอาการป่วยในระดับต่ำ

 

จากผลการวิจัยดังกล่าว เราอาจจะสามารถสรุปได้ว่า แม้เราจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต ก็มีโอกาสในการอยู่ได้หากเรามีความหวัง ดังนั้นแม้เราจะป่วยทางกายเป็นโรคใด ๆ ก็ตาม หากเรายังสามารถประคองใจของเราไว้ให้มีความหวัง ประคองใจของเราไม่ให้ป่วยเป็นโรคไปด้วย ย่อมจะส่งผลในทางบวกกับตัวเรามากกว่าการที่เราปล่อยใจให้ หดหู่ หมดกำลัง แต่ในทางกลับกันหากเราป่วยทางกายแล้วยังปล่อยใจให้ป่วยด้วย มันอาจจะยิ่งส่งผลร้ายต่อเรา

 

ทว่าในความเป็นจริง เวลาที่เราป่วยกายแล้ว ใจก็จะหดหู่ไปด้วย เพียงแค่เวลาที่เราเป็นหวัด ปวดหัว ตัวร้อน ก็ทำให้ใจเราพาลหมดกำลัง ไม่อยากจะทำอะไร แต่หากเราพยายามทำจิตใจให้ร่าเริง สดชื่น เราจะสังเกตได้ว่า อาการหมดแรง ไม่อยากจะทำอะไร มันหายไปได้ และถ้าเราสามารถทำใจให้เข้มแข็งไว้ บางทีอาการเจ็บป่วยทางกาย อาจจะพ่ายแพ้แก่กำลังใจที่เข้มแข็งของเราก็เป็นได้ โดยตัวช่วยตัวหนึ่งที่อาจช่วยสร้างกำลังใจที่เข้มแข็งได้ ก็คือ เครือข่ายสนับสนุนทางสังคมของเรา

 

เครือข่ายสนับสนุนทางสังคม คือ กลุ่มคนที่เราสามารถเชื่อมั่นได้ว่า คนเหล่านี้จะคอยช่วยเหลือเรา โดยมักจะเป็นคนในครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ เพื่อนสนิท นอกจากคนเหล่านี้แล้ว เรายังสามารถขยายเครือข่ายสนับสนุนทางสังคมของเราได้ เช่น เพื่อนร่วมงาน หรือ เพื่อนที่เราเจอกันเป็นประจำในที่ออกกำลัง คนเหล่านี้ก็สามารถเข้ามามีส่วนเป็นเครือข่ายสนับสนุนทางสังคมของเรา ช่วยให้กำลังใจ ช่วยประคองใจเรา เวลาที่เรามีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายได้เช่นเดียวกัน

 

ผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกับที่เรากำลังต้องเผชิญอยู่ ก็น่าจะเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายสนับสนุนทางสังคมของเราได้ เนื่องจากประสบการณ์ตรงที่เขามีจะช่วยให้เขาเข้าใจอาการทางกาย และอาการทางใจของเราที่กำลังเกิดขึ้นได้ และสามารถช่วยประคองให้ใจเรากลับมาสู่ภาวะเข้มแข็งได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น หากคนที่เคยผ่านประสบการณ์ในการทำเคมีบำบัดมาแล้ว ย่อมจะเข้าใจความคิด ความรู้สึก ของผู้ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเคมีบำบัดว่ามีความคิด ความรู้สึกใดเกิดขึ้นบ้าง สามารถบอกเล่าประสบการณ์ สามารถให้การสนับสนุนทางจิตใจ และเข้าใจสถานการณ์ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์มาก่อน เป็นต้น

 

สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ ควรมองหาคนที่สามารถช่วยสร้างกำลังใจให้เราได้อย่างแท้จริง คนที่จะคอยช่วยเหลือ คอยสนับสนุนและส่งเสริมให้เราสามารถผ่านช่วงเวลาที่เรารู้สึกแย่จากการเจ็บป่วยทางกายไปได้ และเราจะมั่นใจได้ว่าคน ๆ นั้นจะอยู่เมื่อเราต้องการ และบุคคลนั้นเองก็ควรจะเป็นคนที่รู้จักดูแลใจของตนเองด้วย

 

นอกจากนี้ ตัวเราแต่ละคนก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางสังคมของผู้อื่นได้เช่นกัน โดยเราเองก็มีความสำคัญในการช่วยให้คนที่มีอาการเจ็บป่วยทางกายสามารถประคองใจไม่ให้เจ็บป่วยได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเพื่อนไม่สบาย แล้วมีเราบอกว่า คุณเป็นคนแข็งแรง ดูแลตัวเองมาตลอด ป่วยแค่นี้ ไม่นานก็หายได้ เป็นต้น คำพูดเช่นนี้ย่อมเป็นคำพูดที่สร้างกำลังใจดังนั้นนอกจากเราจะมองหาผู้ที่ให้กำลังใจแก่เราแล้ว เราเองก็ควรจะเป็นผู้ที่ให้กำลังใจแก่ผู้อื่นเมื่อเขาเจ็บป่วยด้วยเช่นกัน

 

ดังนั้น เราควรที่จะพัฒนาเครือข่ายสนับสนุนทางสังคมของเราให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะได้มีแหล่งสนับสนุนและให้กำลังใจแก่กันและกันเวลามีคนหนึ่งคนใดมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางใจ วิธีการในการหากำลังใจ และการสนับสนุนจากเครือข่ายทางสังคมของเรา

 

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเจ็บป่วยทางกายที่เกิดขึ้น หากเราพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะพบว่า การเจ็บป่วย หรือ การไม่สบายนี้ก็อาจจะเป็นเครื่องมือให้เราได้เข้าใจและเห็นความจริงว่า ทุก ๆ สิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่มีอะไรที่อยู่กับที่แน่นอนตายตัว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดตอนนี้ก็คือตัวเราเอง หากเราสามารถมองเห็นเช่นนี้ได้แล้ว ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ใจของเราก็จะสามารถยอมรับการเจ็บป่วยทางกายที่เกิดขึ้นได้อย่างสงบ เมื่อใจเรายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสงบเช่นนี้แล้ว พวกความวิตกกังวล ความเครียด ความกลัว หรือเราสามารถเรียกรวม ๆ ได้ว่า ความทุกข์ ก็จะไม่สามารถปรากฏขึ้นมาในใจเราได้เลย และหากกำลังใจเข้มแข็ง กำลังกายก็ย่อมจะเข้มแข็งตามไปด้วย

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Compassion fatigue – ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ

 

 

ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ หมายถึง อาการความอ่อนล้า เหนื่อยล้า ทั้งทางกายและใจ เมื่อต้องดูแลช่วยเหลือและรับฟังเรื่องราวเจ็บปวด เป็นทุกข์ ที่เป็นบาดแผลทางจิตใจของผู้อื่น เนื่องจากเป็นคนที่มีความใส่ใจ ความร่วมรู้สึก อยากจะช่วยเหลืออย่างแท้จริง ซึ่งส่งผลให้สมรรถภาพในการทำงานลดลง รวมถึงความใส่ใจที่จะเข้าอกเข้าใจอยากช่วยเหลือก็ลดลงด้วย จนเกิดความชินชาต่อความเจ็บปวดของผู้คน

 

 

สัญญาณเตือนถึงการมีความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ


 

ด้านจิตใจและจิตวิญญาณ เช่น การมีความอ่อนล้าทางอารมณ์ ถอยห่างจากความสัมพันธ์ มีความสามารถในการเข้าอกเข้าใจเห็นใจผู้อื่นลดน้อยลง อคติต่อโลกและสังคมมนุษย์ รู้สึกแย่ต่อการช่วยเหลือผู้อื่น ไม่รู้สึกพึงพอใจหรือรื่นเริง หวาดกลัวอย่างไม่สมเหตุสมผล วิตกกังวลสูง มีการตัดสินใจที่แย่ ไม่สามารถแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวได้ ไม่สนใจทบทวนความคิดความรู้สึกของตน

 

ด้านร่างกาย เช่น มีความเหนื่อยล้าหมดแรง ปวดศีรษะ ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้มีปัญหา อิดโรย ระบบการนอนมีปัญหา และอาจหมกมุ่นกับความเจ็บป่วยทางร่างกาย

 

ด้านพฤติกรรม เช่น ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้น มีปัญหาทางสัมพันธภาพกับผู้คน การตัดสินใจระหว่างให้บริการบกพร่อง รวมถึงมีการตอบสนองที่เฉยชา

 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ


 

ได้แก่ ปริมาณงานที่มากเกินไป ตนเองมีประวัติบาดแผลทางจิตใจ การเข้าถึงการนิเทศ (supervision) ที่น้อย สิ่งแวดล้อมในการทำงานไม่เอื้ออำนวย มีทัศนคติการมองโลกในเชิงลบ การไม่ใส่ใจดูแลตนเอง

 

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์การให้คำปรึกษา ถ้าเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่มีวัยวุฒิและประสบการณ์มาก จะรู้ถึงขอบเขตความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ของตน รู้สึกพึงพอใจหรือประสบความสำเร็จในการได้พยายามช่วยเหลือได้มากกว่า และสามารถสร้างระยะห่างหรือสร้างสมดุลในการแยกตนเองออกจากการซึมซับความทุกข์ของผู้อื่นได้ดีกว่า อันเป็นปัจจัยที่ช่วยบรรเทาความเครียดจากการช่วยเหลือผู้อื่นให้ลดลงได้

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความเครียด ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ และสุขภาวะของนักวิชาชีพผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต” โดย นางสาวศิริลักษณ์ เตชะธนอิทธิกุล (2561) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/61248

 

ภาพประกอบจาก https://thriveglobal.com