ในชีวิตการทำงานของคนเราจะต้องมีความสามารถประกอบกันอยู่ 2 ส่วน คือ ความสามารถที่จะใช้กับการทำงาน (work ability) และความสามารถทางสังคม (social ability) ซึ่งต้องใช้ควบคู่กันจึงจะทำให้ชีวิตการทำงานประสบความสำเร็จและมีความสุข เพราะถ้าเราใช้ความสามารถเพียงอันหนึ่งอันใด การทำงานก็จะประสบปัญหา เช่น คนที่เอาแต่งานไม่สนใจชีวิตสังคมรอบข้าง ก็จะทำให้การทำงานเป็นไปในระดับหนึ่งโดยจะขาดความร่วมมือช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ในทางตรงข้ามถ้าเราเอาแต่สังคม โดยไม่สนใจฝึกปรือในเรื่องของความสามารถในการทำงานก็จะทำให้การทำงานมีปัญหาเช่นกัน ดังนั้นความสามารถทั้ง 2 อย่างจึงจำเป็นต้องใช้ควบคู่กันไปเพื่อให้ชีวิตของบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ในเรื่องของทักษะชีวิต โดยเฉพาะทักษะในการใช้ชีวิตโดยทั่วไปที่เป็นทักษะที่ใช้ประกอบคู่ไปกับการทำงาน หรือใช้ในชีวิตประจำเพื่อให้บุคคลสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข มักจะถูกละเลย เพราะบุคคลคิดว่าเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ต้องรู้กันทั้งนั้น หรือที่เรียกว่า Common sense หากแท้จริงแล้วเราไม่รู้หรือไม่มีทักษะเหล่านี้ ก็ทำให้การใช้ชีวิตเกิดปัญหาได้ ทักษะเหล่านี้ ได้แก่ ทักษะของการแก้ปัญหาทักษะในการระงับอารมณ์โกรธ ทักษะในการสร้างสัมพันธ์ และทักษะของการพูดและการฟัง
ทักษะในการแก้ปัญหา
ปัญหาเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังแสวงหาวิธีการที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม มนุษย์จะต้องผ่านการแก้ปัญหามาก่อนทั้งสิ้น โดยปัญหาจะเกิดขึ้นตลอดเวลา และจะเกิดขึ้นเมื่อมีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่บุคคลคาดว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาจะเป็นวิธีการกระทำเพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ตนคาดไว้ให้ได้มากที่สุด
นักจิตวิทยาได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ดีว่า ต้องมีการคิดผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้
ขั้นที่ 1 คือ เมื่อเกิดปัญหาให้พยายามมองให้ถ้วนถี่ว่าปัญหานั้นคืออะไร อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหา ซึ่งควรมองในแง่แห่งความเป็นจริงเพื่อจะดูจุดปัญหาที่ถูกต้องในการวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งเทคนิคที่มักใช้ก็คือพยายามเขียนสาเหตุต่าง ๆ ที่คาดว่าจะทำให้เกิดปัญหาทั้งหมดใส่กระดาษแล้วค่อย ๆ ตัดสาเหตุที่ ไม่ใช่ ออกไปทีละข้อจนเหลือโอกาสที่จะเป็นไปได้ไม่กี่ข้อและเมื่อได้สาเหตุที่แน่ชัดแล้วให้ก้าวไปสู่ขั้นที่ 2
ขั้นที่ 2 คือ เมื่อเราทราบสาเหตุ ให้ขจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโดยการหาหนทางที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหา ซึ่งการจะหาหนทางใดควรพิจารณาควบคู่ไปกับการลงทุนลงแรงและความสามารถในการกระทำของตัวเองในการแก้ปัญหานั้น ๆ และเมื่อได้วิธีการแก้ปัญหาแล้ว
ขั้นที่ 3 คือ ให้ลงมือทำ ซึ่งในขั้นนี้มีสิ่งสำคัญก็คือ การวางแผนเพื่อให้เกิดการกระทำตามตารางที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้จริง ๆ ตลอดจนมีการควบคุมเพื่อบอกให้รู้ว่า เราแก้ปัญหาได้ถูกต้องหรือยัง ถ้าไม่เป็นไป ตามแผนที่วางไว้ ควรจะต้องแก้ไขใหม่ และไม่ควรยึดว่าต้องแก้ปัญหาแบบเดิม ถ้าไม่ได้ผลก็ควรต้องยอมรับและหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ โดยกลับไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกใหม่ ถ้าเราคิดแก้ปัญหาเป็นขั้นตอนดังที่กล่าวมา การแก้ปัญหาก็จะประสบความสำเร็จ หากสิ่งสำคัญคือ เมื่อการแก้ปัญหาเดิมล้มเหลว จงอย่าเสียความตั้งใจ
ทักษะชีวิตเรื่องการพูดและฟังที่ดี
ทักษะที่สำคัญทักษะหนึ่งในชีวิตของคนเรานั้นก็คือทักษะของการพูดและการฟัง การพูดและการฟังเป็นทักษะที่ต้องใช้ควบคู่กัน โดยจะใช้อย่างหนึ่งอย่างใดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโอกาส ซึ่งเราควรจะรู้ว่าเมื่อไร เราต้องพูด และเมื่อไรเราควรฟัง โดยทั่วไป หากไม่นับเรื่องการพูดคุยในชีวิตประจำวันแล้ว เราควรจะพูดเมื่อมีอะไรมากระทบต่อสิทธิหรือความต้องการของเรา ซึ่งการพูดนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะถ้าเราไม่พูดจะรู้สึกอึดอัดหรือยอมในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพจิตของเราอีกต่อหนึ่ง โดยสิ่งที่สำคัญคือจะพูดอย่างไรให้เป็นการยืนยันสิทธิของเราโดยไม่มีการขัดแย้ง
นักจิตวิทยาได้เสนอวิธีการพูดแบบนี้ไว้หลายวิธี เช่น พูดในทิศทางบวกสำหรับคนที่เราพูดคุยด้วยไปก่อนแล้วจึงตามสิ่งที่เราต้องการ เช่น ยกย่องในความสามารถหรือความดีของผู้ที่เราพูดด้วยก่อนแล้วจึงพูดว่าเราต้องการอะไร เป็นต้น ซึ่งการพูดแบบนี้จะนุ่มนวล ผู้ฟังฟังโดยไม่รู้สึกขัดแย้ง
นอกจากนี้ การพูดที่จะสื่อถึงความต้องการของเราส่วนใหญ่ ให้ใช้คำว่า “ฉัน” เช่น “ฉันรู้สึกว่าทำงานไม่ได้เลย ถ้าเราเงียบเสียงลงกว่านี้ ฉันคงทำงานได้เสร็จในวันนี้” เป็นต้น การใช้ความรู้สึกของเราบอกกับคนอื่นโดยใช้คำว่า “ฉัน” จะนุ่มนวลกว่า คำว่า “เธอ” เช่น “เธอเงียบหน่อย ฉันทำงานไม่ได้” เป็นต้น ซึ่งจะมีความนุ่มนวลที่แตกต่างกันในประโยคแรก ดังนั้นการพูดที่ดีจำเป็นต้องมีการฝึก และมีเทคนิคที่ดีเพื่อให้มีการพูดอย่างมีประสิทธิภาพได้
นอกจากนี้ ทักษะหนึ่งที่จำเป็นก็คือทักษะของการฟัง การฟังเป็นทักษะที่ง่ายกว่าการพูด การเป็นผู้ฟังที่ดี สามารถทำได้ง่าย ๆ คือตั้งใจฟัง จับประเด็นเข้าใจและพูดย้อนกลับในความหมายของผู้พูดแค่ใส่ใจคำพูดของเรา ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ผู้พูดรู้สึกว่า เราเข้าใจเขาและเขาจะพูดต่อ และจะมีทัศนคติที่ดีต่อเราอีกด้วย
การรู้จักพูดและฟังที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ รู้ว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด เมื่อไรควรพูด หรือเมื่อไรควรฟัง ในเรื่องของการพูดให้ยึดว่า “ถ้าเราพูดไปแล้วเราเป็นคนฟัง เราจะรู้สึกอย่างไร” ซึ่งถ้าคิดได้ในลักษณะเช่นนี้จะทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง นอกจากเป็นผู้พูดที่ดีแล้ว เราควรเป็นผู้ฟังที่ดีอีกด้วย
ทักษะทั้งการพูดและการฟังเป็นทักษะที่สำคัญในชีวิตเพราะมนุษย์เราจำเป็นต้องมีการสื่อสารกันตลอดเวลา ถ้าเรามีการพูดหรือการฟังที่ดีก็เปรียบเหมือนเป็นกำไรชีวิต และเพื่อให้เกิดชีวิตการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
ทักษะชีวิตเรื่องการระงับอารมณ์โกรธ
การโกรธเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนอย่างหนีไม่พ้น โดยการโกรธมีผลเสียต่อบุคคลมากมาย เช่น สุขภาพของตนเอง และส่งผลต่อบุคคลใกล้เคียงหรือคนอื่น เป็นต้น ซึ่งบางครั้ง เมื่อมีอารมณ์โกรธแล้วเราแสดงการโกรธออกไปยังเป้าหมายโดยขาดความยั้งคิด อาจเป็นการทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนนั้นไปอย่างน่าเสียดาย หลาย ๆ คนมักจะคิดว่า “ฉันไม่น่าทำอย่างนั้นเลย ทำให้เรามองหน้ากันไม่ติดจนถึงทุกวันนี้” หรือ “ถ้าฉันคิดสักนิดก่อนทำ อะไร ๆ มันคงจะดีกว่านี้” ดังนั้นเราจึงสามารถจะสรุปได้ว่า การโกรธไม่ได้มีผลดีแต่อย่างใด ดังนั้นเราควรมาพัฒนาทักษะที่ทำให้เราสามารถรับกับอารมณ์โกรธ
การโกรธเป็นผลมาจากการรับรู้ซึ่งเกิดจากความคิดของเราเอง เช่น ถ้าเรารับรู้ว่า “คนอื่นแกล้งเรา” เราจะโกรธในขณะเดียวกันถ้าคนอื่นทำพฤติกรรมแบบเดียวกัน แต่เรารับรู้ว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ เราก็จะไม่โกรธ ดังนั้นเราสรุปได้ว่า การโกรธขึ้นอยู่กับการคิดของตัวเราเอง เพราะฉะนั้น เทคนิคที่ดีของการทำให้เราไม่โกรธก็คือให้เราหัดคิดในทางบวกกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวก็จะทำให้เราโกรธน้อยลง
นอกจากนั้นการโกรธมักจะเกิดจากความไม่เข้าใจ เช่น ความไม่เข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ ความไม่เข้าใจในสิ่งที่แตกต่างว่าทุกคนมีความต่างจะให้ใครคิดเหมือนเราคงเป็นไปไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล ความแตกต่างทางด้านความคิด ก็จะทำให้เราโกรธคนอื่นน้อยลง
หากเราพยายามหาทางออกในการระงับความโกรธ แต่ความโกรธก็ไม่เบาบางลง สิ่งที่เป็นไปได้คือ เราก็ควรจะหาทางออกเพื่อที่จะระบายความโกรธนั้นโดยไม่ควรให้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อใคร เช่น การไปเล่นกีฬา หรือแม้แต่การทำสมาธิทำจิตใจให้สงบ ซึ่งก็เป็นวิธีที่ดีในการทำให้เราหายโกรธได้บ้าง และเมื่อเราหายโกรธ สติของเราก็จะกลับคืนมา ทำให้เราคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มาจากสาเหตุที่ทำให้เราโกรธได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เหนือสิ่งใด เมื่อโกรธขอให้เราคิดให้ได้ว่า ถ้าแสดงความโกรธออกไป ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่ตามมาหลังจากเราแสดงความโกรธออกไปจะสะท้อนกลับมาที่ตัวเราอย่างไร ซึ่งหากตนเองตระหนักได้ เราจะสามารถควบคุมความโกรธได้ อีกทั้งสิ่งต่าง ๆ ในด้านลบที่ตามมากับการโกรธก็จะไม่เกิดขึ้น
ทักษะชีวิตเรื่องการสร้างมิตรภาพ
ปัจจุบัน เราจะต้องอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย ซึ่งมีทั้งเพื่อน คนรู้จักคนที่เราต้องทำงานด้วย หรือแม้แต่คนในครอบครัว ทุกคนที่อยู่รอบข้างของเราล้วนมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการคิดและการกระทำ ซึ่งความแตกต่างนี่เองที่ทำให้คนเรามีความขัดแย้งกัน หรือไม่สามารถมีมิตรภาพที่ดีต่อกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็มีความต้องการอะไร ๆ ที่เหมือน ๆ กันอยู่บ้างที่จะทำให้คนเรามีความสุขจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น นักจิตวิทยาได้พยายามศึกษารวบรวมความต้องการของมนุษย์เหล่านี้ และได้ให้ข้อคิดถึงวิธีการต่าง ๆ ที่สามารถจะสร้างมิตรภาพที่ดีระหว่างบุคคลไว้ โดยสรุปได้ดังนี้คือ
จงให้ความสำคัญกับคนอื่น กล่าวคือ ทุกคนต้องการเป็นคนที่มีความสำคัญทั้งนั้น ดังจะเห็นได้จากความพยายามจะประสบความสำเร็จเพื่อให้คนอื่นได้ชื่นชม ยอมรับ และยกย่องในด้านหนึ่งด้านใด และในทางกลับกันเพื่อให้คนอื่นได้ชื่นชม ยอมรับ และยกย่องในด้านหนึ่งด้านใด และในทางกลับกันถ้าเราให้ความสำคัญกับคนอื่น ยกย่องคนอื่นก็ย่อมนำมาซึ่งการสร้างมิตรภาพที่ดีได้
จงสนใจในสิ่งที่คนอื่นสนใจ กล่าวคือ การให้ความสนใจไปยังสิ่งที่ผู้อื่นสนใจจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกดีๆ กับเราเพราะการที่เราสนใจแต่กับเรื่องของตัวเอง จะทำให้คนที่เราปฎิสัมพันธ์ด้วยเกิดความเบื่อหน่าย นอกจากนั้นการที่เราสนใจในเรื่องที่ผู้อื่นสนใจยังทำให้เราสามารถมีเรื่องที่สามารถพูดคุยกันได้ซึ่งจะนำมาซึ่งการสร้างมิตรภาพที่ดีอีกวิธีหนึ่ง
สนใจในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนอื่น ดังเช่น การจำชื่อ จำวันเกิดจำอาหารที่ชอบหรือไม่ชอบ เป็นต้นโดยเหล่านี้จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยและสามารถสร้างมิตรภาพที่ดีไว้
ซึ่งทักษะชีวิตนี้เป็นทักษะที่จำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน จะทำอะไร เราอาจจะต้องดึงทักษะเหล่านี้มาใช้โดยไม่ได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนั้นเราจึงควรรู้เทคนิคต่างๆที่เสริมสร้างให้เราเกิดทักษะเหล่านี้ เพื่อให้การดำรงชีวิตของเราไม่มีปัญหา และใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย รองศาสตราจารย์ ประไพพรรณ ภูมิวุฒิสาร
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University