News & Events

สรุปประเด็นการเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยา เหตุกราดยิงฯ – ตอนที่ 2 แนวทางการนำเสนอข่าวสารของสื่อและประชาชน

สรุปสาระ คำถาม-คำตอบ
การเสวนาทางวิชาการ ถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน”

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์


 

ผู้ร่วมการเสวนา

1. ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์

2. รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

3. ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

4. ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

ดำเนินรายการโดย

ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ – นักจิตวิทยาพัฒนาการ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

 

ตอนที่ 2 – แนวทางการนำเสนอข่าวสารของสื่อและประชาชน

 

 

การนำเสนอข่าวของสื่อแบบไหนที่เรียกว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในสถานการณ์ความรุนแรง

 

เมื่อเกิดเหตุลักษณะแบบนี้ คนข่าวเองก็เหนื่อย เสี่ยงชีวิตตัวเอง ไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ปฏิบัติการด้วยซ้ำ ด้วยความตั้งใจอย่างหนักเพื่อความรวดเร็ว ถูกต้อง ได้เรื่องราว และได้จำนวนผู้ชม

 

แต่อิทธิพลของสื่อนั้นทรงอิทธิพลมาก การรายงานข่าวของสื่อนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมมาก เพราะฉะนั้นเราควรจะมาหาตรงกลางว่าจุดเหมาะสมอยู่ตรงไหน

 

จากข้อมูลที่มีเกี่ยวกับการศึกษาทางจิตวิทยาเรื่องอิทธิพลของการนำเสนอข่าวของสื่อต่อเหตุการณ์กราดยิงในอเมริกาเป็นเวลากว่า 5-6 ปี พบว่า ลักษณะการรายงานข่าวรูปแบบหนึ่งสามารถทำนายการเกิดเหตุต่อไปได้ (จะมีเหตุการณ์คล้ายๆ กันตามมาภายใน 2 สัปดาห์) โดยอธิบายเหตุผลว่า การเลียนแบบนั้น เกิดขึ้นกับคนที่มีโอกาสมีความพร้อมและได้รับการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจจากการเชื่อมโยงตนเองกับผู้ก่อเหตุกรณีก่อน นั่นแปลว่า

 

  1. การนำเสนอข่าวในลักษณะการเปิดเผยชื่อ ภาพ เครื่องแบบ อาวุธ เรื่องราวส่วนตัว ประวัติ และแรงจูงใจในการก่อเหตุ ทำให้คนที่มีแนวโน้มไขว้เขวอยู่แล้ว รับรู้ถึงความคล้ายคลึงของตนเองกับผู้ก่อเหตุ และยึดเป็นตัวเปรียบเทียบ นอกจากนี้ การมองเห็นถึงรางวัลที่จะได้รับ คือการได้มีตัวตน มีพื้นที่ข่าว แม้ในทางกฎหมายจะถูกลงโทษ แต่เมื่อสื่อนำเสนอข่าวเพื่อจะให้ข้อมูลกับผู้คนว่าเกิดอะไรขึ้น ตอบสนองความอยากรู้ ความเป็นห่วงของผู้คน ก็ทำให้ผู้ก่อเหตุรู้สึกได้มีตัวตน
  2. ยิ่งการใช้คำบรรยายพฤติกรรมผู้ร้ายในบางลักษณะก็ยิ่งกลายเป็นดูเท่ ดูน่ายกย่อง เช่นคำว่า “อุกอาจ” อาจจะดูเท่ ดูเจ๋ง สำหรับบางคนที่นิยมความรุนแรง ทั้งนี้ควรใช้คำที่เป็นทางลบ ให้รู้สึกว่าไม่น่าทำตาม เช่น พฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย พฤติกรรมที่ขาดเมตตา
  3. นอกจากนี้ การนำเสนอตัวเลข เช่น ยอดผู้เสียชีวิต และเปรียบเทียบว่าครั้งนี้ คนเสียชีวิตมากกว่าครั้งก่อน น้อยกว่าครั้งก่อน มันให้นัยยะของความเก่ง ความเจ๋ง ก็จะกระตุ้นให้คนรู้สึกอยากทำลายยอด

 

สรุปได้ว่า การนำเสนอของสื่อที่กระตุ้นแรงจูงใจ ให้รู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเอง มองเห็นถึงการได้รางวัล จะไปเพิ่มแนวโน้มการตัดสินใจของคนที่มีความพร้อม มีโอกาส ก่อเหตุขึ้นได้

 

 

 

 

ดังนั้นการนำเสนอข่าวลักษณะนี้ก็คงต้องมาช่วยกันคิดต่อว่าจะมีทางออกร่วมกันอย่างไร

 

โดยมีไกด์ไลน์คร่าวๆ จากบทความต่างๆ ว่า

  1. ไม่เอ่ยชื่อ ไม่ให้ตัวตนคนร้าย
  2. นำเสนอเรื่องราวของเหยื่อแทน สร้างตัวแบบทางบวก ว่าคนเหล่านี้ผ่านเรื่องราวเลวร้ายร่วมกันมาได้อย่างไร เล่าเรื่องราวของผู้ที่แจ้งเหตุก่อน ผู้ที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งพบผลว่าผู้ชมเองก็ชอบรับข่าวแบบนี้เช่นกัน

 

 

 

การแชร์ข่าวในโซเชี่ยลเราสามารถทำได้อย่างไรจึงเหมาะสม

 

ทุกวันนี้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่เรามีทำให้เราทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ดังนั้นไกด์ไลน์สำหรับการเป็นสื่อหรือผู้ส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ก็ทำได้ในลักษณะเดียวกันกับของสื่อหลัก คือ

  1. อย่าทำให้ผู้ก่อเหตุดูเป็นคนพิเศษ มีตัวตน มีพื้นที่ กลายเป็นที่ดูเท่ ถือปืน ใส่ชุดยูนิฟอร์ม ดูน่ายกย่อง
  2. ให้เราอัปเดตเหตุการณ์ตามจริง ตรงไปตรงมา ไม่เร้าอารมณ์ หรือที่เรียกว่าไม่ดึงดราม่า ไม่ให้ค่ากับผู้ก่อเหตุ และ
  3. เราควรเน้นเรื่องการป้องกันและการเยียวยา

และพวกเราเองเป็นผู้บริโภค เรามีฟีดแบค มีการตักเตือนกันอย่างตรงไปตรงมา ได้อย่างรวดเร็ว เราเลือกได้ว่าจะรับข่าวสารจากสื่อใด แชร์สิ่งใด

 

สรุปประเด็นการเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยา เหตุกราดยิงฯ – ตอนที่ 1 สาเหตุการเกิดอาชญากรรมและการป้องกัน

สรุปสาระ คำถาม-คำตอบ
การเสวนาทางวิชาการ ถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน”

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์


 

ผู้ร่วมการเสวนา

1. ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์

2. รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

3. ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

4. ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

ดำเนินรายการโดย

ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ – นักจิตวิทยาพัฒนาการ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

 

ตอนที่ 1 – สาเหตุการเกิดอาชญากรรมและการป้องกัน

 

 

พฤติกรรมความรุนแรงเกิดขึ้นกับคนปกติได้

 

ทุกคนมีโอกาสที่จะกระทำความรุนแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูด มันเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่ว่าคนที่ทำจะต้องเป็นคนที่มีความผิดปกติถึงจะกระทำ คนผิดปกติบางคนเขาก็ไม่ก้าวร้าว

 

คนปกติอย่างพวกเราพอถึงเวลาที่พอเหมาะ มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น มี trigger (ตัวกระตุ้น) ก็สามารถเกิดพฤติกรรมความรุนแรงหรือความก้าวร้าวได้ เพราะความก้าวร้าวเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เป็นพฤติกรรมเพื่อการอยู่รอด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรตระหนักคือการควบคุมไม่ให้มันแสดงออกนั้นสำคัญกว่า

 

 

 

คนแบบที่มีโอกาสแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและเป็นอันตรายต่อผู้อื่น

เราจะสังเกตได้ว่าในอดีตเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้ไม่ค่อยมีเกิดขึ้น ความก้าวร้าวไม่ค่อยแสดงออกลักษณะนี้

 

เท่าที่ศึกษาลักษณะของสังคม ตอนนี้เกิดปัญหาคล้ายกันทั่วโลกคือเด็กเราอยู่ในสังคมที่เรียกว่าไฮเทคโนโลยี เราถูกสร้างลักษณะบางอย่างขึ้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งใจ แต่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ นั่นคือความหุนหันพลันแล่น (impulsiveness) เนื่องจากเราทำทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว มีอะไรเราก็กดโทรศัพท์ เราไม่รอ เราไม่ได้สอนเด็กให้ควบคุมตัวเอง มีวินัย ยอมรับกฎระเบียบของสังคม จริง ๆ ไม่ใช่แค่เด็ก ผู้ใหญ่เอง เมื่อก่อนยังคิดช้าๆ รอ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีอะไรกดโทรศัพท์แล้ว

 

ประเด็นที่สองตามมา ตามหลักจิตวิทยาคนที่มีแนวโน้มแสดงความก้าวร้าวสูง ข้อแรก คือคนที่มองโลกในแง่ร้าย เราพบว่าคนที่มองโลกในแง่ร้ายมักจะมีความรู้สึกว่าทำไมตนเองต้องถูกกระทำ ทำไมต้องมาทำกับฉันแบบนี้ แล้วจะแสดงพฤติกรรมต่อต้าน (นักจิตวิทยาสังคมก็สนใจเรื่องนี้และพยายามเปลี่ยนความคิดของคนให้มองโลกในแง่บวกมากขึ้น คือไม่ใช่ว่าไม่ให้มองลบเลย ก็ไม่ดี เพียงแต่ให้พยายามมองในแง่บวกเป็นหลัก)

 

ต่อมาคือ การที่เรามองปัญหาไปทางคนอื่น เราไม่ค่อยมองสาเหตุที่ตัวเรา เวลาเราทำอะไรเราไม่มอง แต่เวลาที่คนอื่นทำ เราจะรู้สึกว่าทำไมคนอื่นทำแบบนี้ ทำไมสังคมเป็นแบบนี้ และจะมีแนวคิดว่า เธอทำฉัน ฉันก็ทำเธอ หรือเพื่อปกป้องกันฉันก็ทำเธอก่อน

 

อีกข้อคือการที่ชอบดูอะไรที่โหดร้าย ก็จะมีแนวโน้มที่จะแสดงออกทางก้าวร้าว แต่ก็อาจจะมีผลตรงข้ามก็ได้ คือพอดูอะไรแบบนี้แล้วก็เหมือนเป็นการได้ระบาย

 

 

 

ปัจจัยที่ทำให้คนก่อเหตุอาชญากรรมคือ มูลเหตุจูงใจ + โอกาส

มูลเหตุจูงใจ คือ การตัดสินใจของคน พฤติกรรมของคน
ส่วนโอกาส คือ ช่วงจังหวะเวลา สถานที่ ที่ทำให้ประกอบอาชญากรรมได้ เช่น การเข้าถึงอาวุธปืน การเข้าถึงสถานที่

 

 

 

ผู้กระทำความผิดมีลักษณะส่วนบุคคลเช่นไร

ในการศึกษาของต่างประเทศเกี่ยวกับเหตุการณ์กราดยิงมาเป็นเวลากว่า 20 ปี พบว่า มีลักษณะของผู้ที่กระทำความผิดอยู่ 4-5 ประการ ได้แก่

เป็นคนที่เก็บตัว โดดเดี่ยว ไม่สุงสิงกับใคร เก็บกด ในอเมริกามีเหตุการณ์กราดยิงมากว่า 200 กว่าครั้งในสิบปี (ปีละยี่สิบกว่าครั้ง) มีผู้เสียชีวิตกว่าพันคน

ส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุจะมีลักษณะเช่นนี้ คือ

  1. ถูก discriminate จากเพื่อน มีปัญหาด้านปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่มีที่ปรึกษา แนะนำทางออกให้ จึงแก้ปัญหาด้วยตัวเอง อย่างเช่นกรณีที่โคราชนี้ มีทหารคนอื่นที่โดนโกงเหมือนกัน ถูกกระทำแบบเดียวกัน และมีแนวคิดจะก่อเหตุเหมือนกัน แต่ได้ไปปรึกษาแม่ เมื่อมีคนปรึกษาจึงไม่ได้กระทำ
  2. เป็นคนที่ถูกกระทำมาในวัยเด็ก เช่น คนที่มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกกระทำจากพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง ถูกกระทำจากในโรงเรียนหรือที่ทำงาน ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธเกลียด เช่นในอเมริกา เคยมีเหตุเด็กอายุ 16 ไปกราดยิงเพื่อนในโรงเรียน และได้ให้เหตุผลว่าเขาเกลียดโรงเรียน เกลียดวันจันทร์เท่านั้น เพราะเคยถูกปฏิเสธ และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม รู้สึกกดดัน
  3. เป็นผู้ที่นิยมหรือคลุกคลี เรียนรู้เกี่ยวกับความรุนแรงมาโดยตลอด เช่น เคยมีผู้ก่อเหตุกราดยิงที่มีพฤติกรรมชอบฆ่าสัตว์ ยิงม้า ยิงสุนัข ชื่นชอบสะสมปืน บางรายมีการเขียนเรียงความที่แสดงถึงความคับแค้นและการฆาตกรรม
  4. มีการเรียนรู้ศึกษาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา (อย่างจริงจัง) มีการจดบันทึก และวางแผนไว้

 

 

ปัจจัยด้านโอกาส

มูลเหตุจูงใจเหล่านี้ เมื่อรวมกับโอกาสในการกระทำความผิด อย่างในอเมริกาที่อาวุธปืนหาง่าย โดยเฉพาะที่มีอานุภาพร้ายแรง เหตุกราดยิงก็เกิดขึ้นได้มากกว่า

 

อย่างในประเทศไทยแม้เพิ่งเคยเกิดเหตุกราดยิง แต่กรณีที่มีการตายจากอาวุธปืนนับว่ามีมาก เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก เพราะในประเทศไทย เพียงแค่ขับรถปาดหน้ากัน ตบไฟสูงใส่กัน สามีภรรยาขัดแย้งกัน ก็ยิงกันได้ อาวุธปืนมีในครอบครองกันเยอะ คนหนึ่งมีได้ 4-5 กระบอก พ่อแม่มีเก็บไว้ ลูกหยิบไปเล่นที่โรงเรียน แม้แต่ลิงก็เคยมีเหตุลิงหยิบปืนไปเล็งทำท่าจะยิง

 

ในบางประเทศที่อาวุธปืนหายากอย่างในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน แม้ไม่มีเหตุกราดยิง Mass Shooting ก็จะเป็นลักษณะการใช้อาวุธอื่น Mass killer เช่น เอามีดมาไล่แทงคนในรถไฟ หรือในญี่ปุ่นเคยมีการใช้ยาพิษก่อเหตุในสถานีรถไฟใต้ดิน

 

 

 

ถ้าถามว่าจะป้องกันเรื่องนี้อย่างไร ก็ต้องทำทั้งสองอย่าง คือตัดโอกาสและตัดเหตุจูงใจ

ตัดโอกาส คือเรื่องการควบคุมอาวุธปืน ไม่ให้มีมายิงกันง่าย ๆ แต่เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นได้ยากเพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง บริษัทปืนก็ดี สนามยิงปืน สวัสดิการปืนของหน่วยราชการก็ดี ก็ต้องอาศัยพลังของคนในสังคมช่วยกันผลักดัน เพราะแม้ต่อให้จ่าคนนี้ไม่ไปปล้นอาวุธปืน แต่ตัวเขาเองก็มีปืนอยู่แล้ว 5 กระบอก หรือ ผอ.กอล์ฟเองก็มีอาวุธปืนอานุภาพร้ายแรง

 

ส่วนการตัดมูลเหตุจูงใจ ก็ต้องเปิดช่องให้คนในสังคมได้มีโอกาสระบาย ไม่ใช่สร้างกฎหรือกติกาที่มีการเอาเปรียบกันได้ จนทำให้คนไม่มีโอกาสได้ระบายหรือคลายความกดดัน

 

 

 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การลอกเลียนแบบนั้นมี 2 มิติ

  1. การเรียนรู้จากตัวแบบ คือ เราได้เรียนรู้ว่าตัวแบบกระทำอะไร อย่างไร ด้วยวิธีการอย่างไร ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร
  2. แรงจูงใจให้กระทำพฤติกรรมตามแบบ นั่นแปลว่า การเรียนรู้พฤติกรรมจากตัวแบบไม่ได้หมายความว่าเราจะทำเลียนแบบ เราต่างรู้ว่าเราจะฆ่าใครอย่างไร ฆ่าตัวเองอย่างไร ขโมยอย่างไร แต่ถามว่าเราจะทำหรือไม่

ดังนั้นตัวแบบไม่ได้ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ แต่ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจ ว่าเรามีตัวกระตุ้นให้ต้องการที่จะทำพฤติกรรมนั้นหรือไม่ มีความสามารถที่จะทำได้หรือไม่ เช่น เรารู้วิธีการปล้นธนาคาร เราคิดอยากปล้นธนาคาร เราไปหาอาวุธได้ แต่เมื่อธนาคารมีวิธีการป้องกันที่ดี ปล้นไปแล้วอาจจะติดคุกหรือตาย เราก็ไม่ปล้น

 

ดังนั้นเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย ต้องมีการประจวบเหมาะของแรงจูงใจ ตัวกระตุ้น โอกาส สถานการณ์ และการฆ่ากันตาย ยิงกัน จี้ปล้น หรือยิงปืนระบายความเครียดอย่างเหตุการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราไม่สามารถเปรียบเทียบกับเหตุการณ์นี้ที่ได้

 

 

 

การก่อความรุนแรงเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้วางแผนไว้ได้หรือไม่

ต้องแยกกันระหว่างการวางแผน และการตั้งใจ เช่นในกรณีโคราชนั้น จากการวิเคราะห์ สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการก่อเหตุที่มีการวางแผน แต่จะก่อเหตุโดยตั้งใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ก่อเหตุมีการลำดับแผนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่เมื่อวางแผนแล้วยังไม่ได้มีการตั้งใจจะทำ แต่เขาทำเพราะมีเหตุกระตุ้นให้ลงมือ หากเป็นการหุนหันพลันแล่นโดยไม่มีการวางแผนแล้วนั้น เมื่อมีเหตุกระตุ้นทำให้เกิดความโกรธรุนแรง ก็จะหยิบปืนขึ้นมายิงเปรี้ยงหนึ่ง แล้ววาง จะไม่มีการไปยิงผู้อื่น แต่ในกรณีโคราชที่มีการวิ่งไปยิงผู้อื่นต่อ แสดงว่ามีการวางแผน ว่าถ้าทำแล้วจะต้องมีชื่อของตนปรากฏออกไปให้ได้ ให้คนรู้ว่าฉันอยู่ตรงนี้ มีอะไรเกิดขึ้นกับฉัน

ดังนั้นในกรณีโคราช เรียกว่าเป็นการประจวบเหมาะของแผนการ เหตุกระตุ้น โอกาส ความสามารถที่จะลงมือ

 

ดังนั้นการที่จะป้องกันเหตุความรุนแรง ต้องหาทางป้องกันสภาพแวดล้อมไม่ให้มีโอกาสหรือปัจจัยเอื้อต่อการเกิดเหตุการณ์ เช่น การเข้าถึงอาวุธ ฯลฯ การจะไปควบคุมตัวบุคคลไม่ให้มีความก้าวร้าวหรือคิดวางแผนในใจเป็นเรื่องยาก เพราะคนได้เรียนรู้วิธีการต่าง ๆ ไปแล้ว รู้แล้วว่าถ้าอยากทำจะทำได้อย่างไร

การจัดการที่สภาพแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่ทำได้เบื้องต้น ถ้าควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ต่อให้คนมีความก้าวร้าวอย่างไรเหตุการณ์ก็จะไม่เกิด หรือถ้าเกิดก็จะไม่รุนแรง จากนั้นสิ่งที่ควรทำต่อไปคือการให้สถาบันครอบครัวเลี้ยงดูปลูกฝังเด็กให้รู้จักควบคุมตัวเอง มีภูมิคุ้มกันที่จะจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ เมื่อเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้ก็ต้องหันกลับมาควบคุมที่ตัวเอง

 

 

 

 

การฆ่าตัวเอง และการฆ่าผู้อื่น แบบธรรมดา (ด้วยรักโลภโกรธหลง) เกิดขึ้นได้ทั้งโดยวางแผนและไม่ได้วางแผน

 

ส่วนการฆ่าอีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า การฆ่าต่อเนื่อง serial killer เช่นกรณีของสมคิด ที่มีการฆ่า แล้วเว้นระยะ แล้วกลับมาทำใหม่ แล้วทิ้งระยะอีก เช่นนี้คือมีการวางแผนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีการเลือกที่กระทำต่อเหยื่อบางกลุ่ม คือเลือกเหยื่อที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ ที่ทำแล้วสามารถปกปิด หลุดรอดได้ ไม่ถูกจับ ในสถานที่ที่ไม่มีใครเห็น เช่นในโรงแรมหรือในบ้าน

 

และมีการฆ่าอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า spree killer คือการฆ่าต่อเนื่องด้วยอารมณ์พาไป ยิงคนแรกและคนที่สองที่สามต่อไปด้วยอารมณ์ ยิงไปเรื่อยๆ ในสถานที่แตกต่างด้วยระยะเวลาอันสั้น ลักษณะแบบนี้มีการวางแผนอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น กรณีที่ลพบุรี พอยิงคนแรกแล้ว คนอื่นยิงตามไปไม่มีเหตุผลแล้ว แต่การที่จะไปปล้นก็มีการวางแผนมาก่อน

 

การฆ่าประเภทที่สุดท้ายคือ การกราดยิง หรือ Mass Shooting ทุกกรณีหรือส่วนใหญ่ มีการวางแผนทั้งนั้น เพราะการจะทำอย่างนี้ได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอาวุธ เช่นในกรณีโคราช ผู้ก่อเหตุมีการคิดแล้วว่าจะไปปล้นอาวุธ และมีการโพสต์ในเฟซบุ๊กก่อนว่าเดี๋ยวคอยดู จะมีข่าวใหญ่ เช่นเดียวกับในอเมริกา ผู้ก่อเหตุก็จะโพสต์หรือมีการบันทึกเอาไว้ว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ให้คนคอยจดจำ

 

 

 

มุมมองทางอาชญวิทยาต่อการวิสามัญคนร้าย

การใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหาความรุนแรง ก็จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นไปอีก อย่างกรณีในนิวซีแลนด์ ที่มีการกราดยิงในมัสยิดแล้วไลฟ์เฟซบุ๊ก เจ้าหน้าที่จับเป็นคนร้าย แล้วไม่ให้ตัวตนกับคนร้าย ส่งคนร้ายเข้าคุกไป ในนอร์เวย์มีการยิงเด็กในค่ายหลายสิบคน ตอนนั้นก็มีคนเรียกร้องให้ประหารชีวิต แต่เขาตัดสินจำคุก และได้ให้คำอธิบายว่าปกติคนในประเทศของเขาไม่มีการทำผิดแบบนี้อยู่แล้ว เป็นสังคมที่มีความสงบ ปราศจากความรุนแรง

การที่มีใครสักคนมาก่อเหตุแบบนี้แสดงว่าคนนั้นต้องมีความผิดปกติที่ควรได้รับการแก้ไข ควรบำบัดคนเหล่านั้นให้กลับมา จึงส่งเข้าคุกที่ดีที่สุดในโลก มีความสวยงาม สะอาด สะดวกสบาย เพื่อเปลี่ยนให้ดีขึ้น

 

ดังนั้นจะวิสามัญหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ความคิดของคนในสังคม ถ้าสังคมไหนมีแนวคิดตาต่อตาฟันต่อฟัน ความรุนแรงต้องแก้ด้วยความรุนแรง ก็จะมีการวิสามัญ ถ้าที่ไหนมีปรัชญาเปลี่ยนคนโดยไม่ใช้ความรุนแรง ก็จะไม่มีการประหารหรือวิสามัญ

 

 

 

สำหรับในนอร์เวย์ในอเมริกาเมื่อจำคุกครบจำนวนขั้นต่ำแล้ว เขาจะมีการประเมินก่อนว่าสภาพจิตใจสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้หรือยังเป็นอันตรายต่อสังคมหรือไม่ ในบางกรณีที่มีคนประเมินไม่ผ่าน ก็ติดคุกต่อไปอีก ซึ่งหลายเคสที่สภาพจิตใจเขาเสียไปแล้ว โอกาสที่จะกลับมาเหมือนเดิมก็ยาก โดยเฉพาะในกรณีทีเป็นการฆ่าต่อเนื่อง เขาสามารถเว้นการก่อเหตุไปได้หลายปี เว้นไปห้าปี สิบปี สิบเก้าปีก็ยังมี แล้วกลับมาก่อเหตุได้ ไม่หาย ดังนั้นการปรับ การแก้ไขพฤติกรรม การเยียวยา ก็เป็นเรื่องจำเป็น

แต่กับบางคนก็ไม่สามารถทำได้ ต้องเก็บเขาไว้นาน ๆ ให้ความชราภาพทำลายศักยภาพในการประกอบอาชญากรรม

 

อย่างไรก็ดีสำหรับในประเทศไทย ระบบคำพิพากษาของเราเป็นคำพิพากษาที่ตายตัว คือ จำคุกสิบปี ก็คือสิบปี ต่างจากของต่างประเทศที่เป็นแบบขั้นต่ำ คือ อย่างน้อยสิบปี เมื่อติดคุกสิบปีแล้ว ก็มาประเมินว่าควรจะอยู่อีกกีปี ของเราจึงไม่มีการประเมิน แต่มีการอบรมขัดเกลาในระหว่างที่ติดอยู่

 

อีกประเด็นหนึ่งคือการแยกแยะคนที่กระทำผิดโดยพลั้งพลาด หรือโดยสันดานเป็นผู้ร้าย ด้วยความโหดเหี้ยมทารุณ ใครที่กระทำผิดโดยพลั้งพลาดก็ควรที่จะให้เขาได้รับโอกาสกลับสู่สังคม แต่คนที่ทำผิดโดยร้ายแรง เราควรจะเก็บเขาไว้นาน ๆ แต่ด้วยระบบกฎหมายของเราขณะนี้เราไม่สามารถเก็บเขาไว้ได้นาน เมื่อคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ก็ต้องปล่อยออกมา

แต่ตอนนี้กระทรวงยุติรรมมีแนวคิดที่จะเก็บคนเหล่านี้ไว้นาน ๆ ด้วยมาตรการต่าง ๆ หรือทีฟลอริด้า กฎหมายของเขา หากผู้ใดมีการกระทำผิดซ้ำเดิมครบ 3 ครั้ง แม้เป็นเพียงคดีเล็กน้อย เช่น ขโมยชุดชั้นใน ก็สามารถจำคุกตลอดชีวิตได้ เพราะถือว่ากระทำผิดโดยสันดาน

จิตวิทยาความรุนแรง : กรณีสามีทำร้ายภรรยา

 

ทุกสังคมมีความคิดตรงกันว่าสตรีและเด็กจัดเป็นบุคคลที่อ่อนแอ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เมื่อถูกทำร้าย ดังนั้นการก่อความรุนแรงต่อสตรีและเด็กจึงเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผู้เกี่ยวข้องพยายามค้นหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขเพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามพฤติกรรมดังกล่าวก็ยังคงปรากฏอยู่ในทุกสังคม และนับวันจะยิ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้น

 

พฤติกรรมการทำร้ายร่างกายภรรยาของสามี มักจะเริ่มต้นจากการผลักและการตบหน้าภรรยา แล้วเพิ่มความรุนแรงขึ้นไปจนถึงขั้นทุบตี เป็นเหตุให้ภรรยาบาดเจ็บสาหัส บางรายอาจเสียชีวิต และ/หรือดำรงชีวิตต่อไปอย่างหวาดกลัว

 

การศึกษาของ Yllo และ Straus (1981) พบว่าความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวมักเกิดขึ้นบ่อยในคู่สามีภรรยาวัยหนุ่มสาว ซึ่งอาจจะแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือใช้ชีวิตร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนสมรสกันก็ได้ มีฐานะยากจน และตกงาน ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (O’ Leary และคณะ, 1989) ได้ระบุว่าการแสดงความรุนแรงต่อกันในระดับต่ำได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายเริ่มผูกสมัครรักใคร่กัน กล่าวคือ เพศหญิง 44 % และเพศชาย 31 % รายงานว่ามีการผลักหรือตบหน้าคู่สัมพันธ์มาตั้งแต่ก่อนสมรสแล้ว รวมทั้งเพศหญิง 36 % เพศชาย 27 % รายงานว่ามีการทำร้ายกันและกันในช่วง 18 เดือนแรกของชีวิตสมรส ด้วยเหตุนี้ คู่สมรสบางคู่จึงได้ทำข้อตกลงตั้งแต่เริ่มใช้ชีวิตร่วมกันว่า จะจำกัดความรุนแรงที่อาจแสดงต่อกันในรูปของความก้าวร้าวทางวาจาเท่านั้น

 

พฤติกรรมการทำร้ายร่างกายกันดังกล่าวยังพบได้บ่อยหลังการเสพสุรา หรือยาเสพติด แต่ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติและสถานะทางเศรษฐกิจ

 

 

สามีที่ชอบทำร้ายร่างกายภรรยาจะมีลักษณะบุคลิกภาพแบบใด?


 

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง (Bouza, 1990) ได้ระบุว่า สามีที่ทำร้ายภรรยามักเป็นคนโดดเดี่ยวทางสังคม มีการตระหนักถึงคุณค่าของตนเองในระดับต่ำ มีความไม่มั่นคงทางเพศ ขี้อิจฉาริษยารวมทั้งมักจะโยนความผิดให้ฝ่ายภรรยา

 

เมื่อสามีมีลักษณะอันไม่พึงประสงค์ดังกล่าวแล้ว เหตุใดภรรยาจึงไม่ตีจากไปแต่ยังคงอดทนอยู่ด้วย?

 

O’ Leary และคณะ (1989) พบว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของผู้หญิงที่อยู่ในสภาวะดังกล่าว มิได้คิดว่าชีวิตคู่ของตนไร้ความสุข บุคคลดังกล่าวมักไม่ยอมรับความจริงและโทษว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงดังกล่าว คือ เหล้า ความเครียด ความคับข้องใจ หรือไม่ก็แปลความหมายของพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรัก หรือความเป็นชายที่แท้จริง รวมทั้งมีความเชื่ออย่างฝังใจว่าคู่ของตนมิได้มีเจตนาจะทำร้ายตน

 

ส่วนภรรยาที่มีการตระหนักในคุณค่าของตนเองต่ำ จะรู้สึกว่าตนเองสมควรจะถูกทุบตี ภรรยาที่ไม่สามารถพึ่งพิงตนเองทางเศรษฐกิจได้ จะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถจะไปไหนได้รอดเนื่องจากไม่มีงานทำ จึงต้องกลับมาทนอยู่ในสภาพเดิม และภรรยาบางคนจำต้องทนอยู่ เนื่องจากรู้ว่าหากหนีไป สามีจะติดตามหาอย่างไม่ลดละ หากพบอาจจะทำร้ายร่างกายหนักกว่าที่เป็นอยู่ หรืออาจจะฆ่าภรรยาที่ทรยศได้

 

นอกจากนั้นแล้ว ภรรยาที่ถูกทำร้ายร่างกายยังคิดว่าตนเองไร้ที่พึ่งพิง ด้วยเหตุว่าเมื่อแจ้งความแล้ว ตำรวจมักมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว พยายามไกล่เกลี่ยให้เลิกแล้วต่อกัน และแทบจะไม่เคยจับสามีเข้าคุกเลย ซึ่งขัดแย้งกับผลการวิจัยของ Bouza (1990) ที่รายงานว่า สามีที่ทำร้ายภรรยาแล้วถูกจับกุมคุมขัง มีแนวโน้มจะทำร้ายภรรยาน้อยลง

 

ในปัจจุบัน สังคมได้ให้ความสนใจต่อสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น โดยมีการตั้งบ้านฉุกเฉินสำหรับเด็กและสตรีที่ถูกทำทารุณกรรมขึ้น เพื่อช่วยเหลือให้ที่พักพิงแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการทารุณกรรม รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการด้านคดีความ นอกจากนั้นยังได้จัดโปรแกรมพิเศษเพื่อช่วยเหลือสามีที่ชอบทำร้ายภรรยาให้หยุดพฤติกรรมที่เลวร้ายดังกล่าว โดยการจัดให้มีการให้คำปรึกษาเป็นกลุ่ม มีการทำครอบครัวบำบัด (family therapy) ซึ่งจะช่วยแก้ไขพฤติกรรมของบุคคลต่าง ๆ ในครอบครัว อีกทั้งยังช่วยหยุดความรุนแรงในระดับต่ำหรือปานกลางลงก่อนที่จะลุกลามจนเกิดอันตรายขึ้นได้

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ศิรางค์ ทับสายทอง

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การใฝ่หาความสนใจทำให้เรามีความสร้างสรรค์น้อยลง

 

ในบทความนี้ผู้เขียนจะเล่าถึง TED Talk ของนักแสดงชายชื่อดัง โจเซฟ กอร์ดอน เลวิท เกี่ยวกับเรื่องความรู้สึก 2 ประเภท คือ การให้ความสนใจ (paying attention) และการได้รับความสนใจ (getting attention)

 

ความรู้สึกสองอย่างนี้อาจจะพอจำแนกได้โดยง่าย แต่เพื่อให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น ผู้เขียนขออธิบายดังนี้

 

การให้ความสนใจ หมายถึงการมีส่วนร่วมกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในปัจจุบัน ในกรณีของโจเซฟ เขาได้อธิบายถึงการทุ่มเทกับการสร้างสรรค์ในงานแสดงและการกำกับภาพยนตร์ ส่วนการได้รับความสนใจ คือความรู้สึกของการได้รับคำชื่นชมจากคนอื่น ๆ หรือการมีชื่อเสียง ในฐานะนักแสดงและผู้กำกับชื่อดัง โจเซฟมีประสบการณ์ตรงอย่างท่วมท้นกับความรู้สึกทั้งสองแบบ ซึ่งเมื่อเขาได้พิจารณาดี ๆ แล้วเขาพบว่ายิ่งให้ความสำคัญกับการได้รับความสนใจมากขึ้นเท่าใด เราก็จะสูญเสียความสุขที่มีต่อการทุ่มเทให้กับงานสร้างสรรค์ของเราไป

 

มุมมองนี้ของโจเซฟได้รับการสนับสนุนด้วยงานวิจัยและแนวคิดเรื่อง “การไหลลื่น” หรือ “Flow” คำนี้บัญญัติขึ้นโดยนักจิตวิทยาชาวฮังการี ชื่อว่า ซิกเซนมิฮาย (Csikszentmihalyi) จากการศึกษาบุคคลชั้นนำกว่า 90 คน ในวงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการศิลปะ ธุรกิจ ราชการ และวิทยาศาสตร์ ซิกเซนมีฮาย (1995) พบว่า ผู้ที่มีความสมบูรณ์และสร้างสรรค์มักเกิดความพึงพอใจและผูกพันในงานสูงกว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความสมดุลระหว่างความท้าทายของงานและความสามารถของบุคคล ดังเช่น นักเรียนกับคณิตศาสตร์ ถ้าโจทย์เลขยากเกินความสามารถของนักเรียน ก็อาจเกิดความวิตกกังวลและขาดความมั่นใจในตนเอง แต่ถ้ามันง่ายเกินไป เขาก็จะเบื่อ ทั้งสองกรณีไม่อาจสร้างความพึงพอใจและความผูกพันของนักเรียนต่อคณิตศาสตร์ได้เลย

 

ซิกเซนมิฮายอธิบายว่า เมื่อความสมดุลบังเกิด เราก็จะทำสิ่งนั้นด้วยความเพลิดเพลิน จนเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วเหมือนติดปีก เขาเสนอว่า “ความลื่นไหล” คือสิ่งสำคัญที่มอบความสุขและการเติมเต็มให้กับเรา ช่วงเวลาที่ดีที่สุดไม่ใช่การได้อยู่เฉย ๆ หรือผ่อนคลาย แต่เป็นการที่ร่างกายและจิตใจของเราได้ขยายออกไปอย่างถึงที่สุดในการลงมือทำสิ่งที่ยากและคุ้มค่าให้สำเร็จ

 

กลับมาที่เวที TED Talk ของโจเซฟ ความเข้าใจเรื่อง “การลื่นไหล” การเติมเต็มชีวิตและความสุขที่ได้จากสภาวะนี้ คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ไม่ง่ายเลยที่วัยรุ่นจะสามารถลำดับความสำคัญของ การได้รับความสนใจ ว่าคือปลายทาง ส่วนการทุ่มเทตนเองในงานสร้างสรรค์ ว่าคือสิ่งที่จะพาไปสู่เป้าหมายนั้น

 

ตัวอย่างเช่น มีนักเต้น 2 คน คนหนึ่งมีแรงจูงใจจากการได้รับความสนใจ เธอมีความสุขจากการโพสต์คลิปการฝึกซ้อมและมียอดเข้าชมราว ๆ 500 ครั้ง แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวันหนึ่งมียอดเข้าชมเพียง 150 ครั้ง เราสามารถเดาได้ว่านักเต้นคนที่หนึ่งจะรู้สึกท้อและเสียใจที่คนสนใจเขาน้อยลง ส่วนนักเต้นคนที่สอง แรงจูงใจของเธอมาจากความทุ่มเทในการเต้น มีความสุขระหว่างการฝึกซ้อม นักเต้นทั้งสองคนนี้จะเป็นอย่างไรหากต้องซ้อมหนักขึ้นและนานขึ้น นักเต้นคนไหนจะสร้างเส้นทางอาชีพจากความสร้างสรรค์นี้ได้มากกว่า คำตอบนี้อาจจะไม่สามารถฟันธงได้ แต่เราก็คงจะพอเห็นภาพได้ว่านักเต้นคนใดที่จะได้รับการเติมเต็มและมีความสุขมากกว่าหลังผ่านการฝึกซ้อมเป็นเวลานาน

 

ทำไมถึงแรงจูงใจจากภายนอกเช่นความโด่งดังนั้นไม่ยังยืน ประเด็นนี้โจเซฟมองว่า การได้รับความสนใจคือการเสพติดอย่างหนึ่ง “ครั้งหนึ่งตอนที่ผมมีผู้ติดตามถึงหนึ่งล้านคน ผมเคยรู้สึกว่ามันมหัศจรรย์มาก ตอนนี้ผมมีผู้ติดตาม 4.2 ล้านคนแล้ว แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ผมพอใจแล้ว …มันไม่เคยพอ” ตัวเลขนี้ดูจะห่างไกลจากวัยรุ่นทั่วไปมากๆ เราอาจจะสรุปเร็วเกินไปว่าแรงจูงใจจากภายนอกนั้นไม่ยั่งยืน แต่ที่แน่ ๆ แรงจูงใจจากภายในเช่นความพึงพอใจที่ได้รับจากการทุ่มเทในงานสร้างสรรค์นั้นย่อมเป็นเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความสุขในชีวิตมากกว่าการแสวงหาความโด่งดัง

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Csikszentmihalyi, M. (2013). Flow: the Psychology of Happiness. London: Ebury Digital.

 

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ภูมิ โชติกะวรรณ

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

ผู้ปกครองแบบไหนที่เราอยากเป็น

 

เรื่องหนึ่งที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนสงสัยและเป็นกังวล คือเรื่องที่ตัวเราจะส่งผลกระทบต่อคนรุ่นต่อไปอย่างไร ทุกวันนี้ ผู้ปกครองหลายคนคงเริ่มสังเกตว่า ตนและบุตรหลานของตนขาดความเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียนได้พบกับมุมมองที่น่าสนใจของนักจิตวิทยาพัฒนาการท่านหนึ่ง ชื่อว่า ริชาร์ด ไวส์บอร์ด ผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ของความสำเร็จ ความสุข และจริยธรรม และอยากจะยกมานำเสนอให้กับผู้อ่านได้ขบคิดในเรื่องพัฒนาการด้านสังคมและจริยธรรมดังต่อไปนี้

 

หากเราทำการสำรวจผู้ปกครองชาวไทยด้วยคำถามที่ว่า “อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะปลูกฝังให้กับลูกหลานของเรา” ผู้เขียนเองคาดว่าคำตอบยอดนิยมคงหนีไม่พ้นเรื่อง ความสำเร็จ ความสุข และการเป็นคนดี และถ้าให้เรียงลำดับของสิ่งเหล่านี้ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่น่าจะเลือกให้ “การเป็นคนดี” คือสิ่งสำคัญที่สุด รองลงมาคือ ความสุข และการประสบความสำเร็จ

 

ริชาร์ดและคณะได้ถามคำถามเช่นนี้กับผู้ปกครองชาวอเมริกัน ในการสำรวจระดับชาติเมื่อปี 2557 และนอกจากถามไปยังผู้ปกครองแล้ว ในการสำรวจนี้ยังถามความคิดเห็นของเด็กวัยรุ่นด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลการสำรวจพบว่า เด็กวัยรุ่นเชื่อว่า ผู้ปกครองของเขานั้นให้คุณค่ากับการประสบความสำเร็จมากกว่าการเป็นคนดี และหนึ่งในคำถามของแบบสำรวจที่ว่า “ผู้ปกครองจะภูมิใจในตัวฉันมากกว่า หากฉันมีผลการเรียนที่ดี เมื่อเทียบกับการที่ฉันเป็นคนดีของสังคม” เด็กวัยรุ่นเห็นด้วยกับข้อความนี้ถึง 3 ใน 4

 

ผู้เขียนเชื่อว่าหากมีการสำรวจเช่นนี้ในประเทศไทย ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับสิ่งที่วัยรุ่นรับรู้ ก็น่าจะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน แล้วอะไรคือที่มาของความสับสนนี้

 

สิ่งหนึ่งที่พอจะอธิบายได้ก็คือ การสื่อสารแบบอวัจนภาษาของผู้ใหญ่ที่มีต่อวัยรุ่น

 

ในฐานะครู ผู้เขียนเชื่อว่ามีสิ่งที่สำคัญควบคู่ไปกับการสอนเนื้อหาวิชา ครูทุกคนต่างมีอุดมการณ์และค่านิยมเดียวกันในการปลูกฝังสิ่งที่ดีให้กับผู้เรียน เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความใฝ่รู้ และความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นคุณลักษณะสำคัญที่เราล้วนต้องการมอบให้แก่ผู้เรียน แต่ในเวลาเดียวกัน ครูและผู้ปกครองต่างตระหนักถึงความจำเป็นของการประเมินผล ความสำเร็จ และผลการเรียนที่ดี เราต่างเข้าใจว่า “เกรด” คือสิ่งสำคัญที่มีผลอย่างยิ่งต่อเส้นทางการศึกษาและอาชีพของเด็ก แต่ ถ้าเราไม่ระวังเราอาจปลูกฝังความเชื่อว่าเกรดนั้นสำคัญกว่าค่านิยมและคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เราผู้ปกครองและครูต้องการให้เขาเป็น

 

ผู้เขียนเคยตอบคำถามกับนิสิตในชั้นเรียน พร้อมเอ่ยคำพูด อย่างเช่น “ไม่ต้องกังวลหรอก หัวข้อนี้มันไม่ออกสอบ” ผู้เขียนมีเจตนาที่จะแสดงความเข้าใจในตัวนักเรียน ว่าเขามีเนื้อหาวิชาที่ต้องจดจำไปสอบอย่างมากมาย และผู้เขียนอยากจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ได้ครบถ้วนในเวลาที่จำกัด แต่ก็เป็นไปได้ว่า ผู้เรียนจะตีความคำพูดนั้นไปว่า “ถ้าสิ่งนั้นไม่ออกสอบ ก็ไม่จำเป็นต้องอยากรู้” หรือ “ถ้าไม่ส่งผลต่อเกรด ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ” จะเห็นได้ว่า ง่ายเพียงใดที่การตอบสนองโดยไม่รู้ตัวของเราจะส่งผลกระทบทางลบได้ โดยเฉพาะถ้ามันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

ตามงานวิจัยของริชาร์ดและคณะ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับผู้ปกครองเช่นกัน หากผู้ปกครองกดดันอย่างต่อเนื่องเรื่องการเรียน แต่นาน ๆ ครั้งจะพูดถึงความสำคัญของการเป็นคนดี ก็คงไม่น่าแปลกใจที่เด็กจะรู้สึกว่าความสำเร็จของตัวเองนั้นสำคัญที่สุด และไม่แปลกเลยที่เด็กจะรู้สึกว่าผู้ปกครองให้ความสำคัญเรื่องผลการเรียนของเขามากกว่าการเป็นคนดีหรือการมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

 

บทความนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใด เพียงแต่ต้องการให้ผู้ปกครองได้ตระหนักว่า การแสดงออกของเรานั้นมีผลสำคัญเพียงใดสำหรับเด็ก ๆ รุ่นต่อไป

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ภูมิ โชติกะวรรณ

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

เป็นเจ้านาย (มือใหม่) อย่างไรให้ลูกน้องรัก

 

ท่านผู้อ่านที่เพิ่งจะได้รับตำแหน่ง บางท่านอาจจะรู้สึกไม่แน่ใจในการเป็นหัวหน้า เพราะไม่รู้ว่าเราต้องวางตัวอย่างไร ต้องทำอะไรมากหรือน้อยแค่ไหน หรือต้องรับมือกับความคาดหวังของคนรอบข้างอย่างไร ดังนั้นการเป็นเจ้านายมือใหม่จึงเป็นเรื่องที่อาจจะทำให้เราเกิดความรู้สึกวิตกกังวลและนำไปสู่ความเครียดได้ในที่สุด

 

การเป็นหัวหน้าในสมัยก่อนนั้น มักจะต้องมาควบคู่กับอำนาจบารมี รวมไปถึงการใช้พระเดชและพระคุณ แต่ในสมัยนี้จะมีความแตกต่างกันไป เพราะคนที่จะเป็นหัวหน้านั้นจะต้องมีความรู้ในเรื่องที่รับผิดชอบ มีคุณธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพ ปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส มีความเป็นผู้นำในเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการทำงาน เนื่องจากในปัจจุบันโลกของเราอยู่ในลักษณะที่เรียกว่าเป็นสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร ในการทำงานด้านต่าง ๆ จึงมีการแข่งขันกันสูงมาก หากหัวหน้าหรือที่เรียกว่าเจ้านายขาดทักษะต่าง ๆ ที่กล่าวมา ย่อมจะทำให้ไม่สามารถทำงานได้สำเร็จ และในที่สุดก็จะไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน และท้ายที่สุดก็อาจจะต้องถูกออกจากงานได้

 

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่สำคัญมากอีกเรื่องเรื่องสำหรับเจ้านายมือใหม่ก็คือ การทำงานเป็นทีม รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นสำหรับคนในหน่วยงาน โดยเริ่มต้นจากการมองเห็นความสำคัญของทุกคนที่อยู่ในหน่วยงานให้ได้ แม้ว่าในเบื้องต้นอาจจะมองว่าลูกน้องแต่ละคนมีปัญหาที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารบ้างก็ตาม แต่เมื่อเราก้าวเข้ามาในฐานะหัวหน้าคนใหม่แล้ว ย่อมจะทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ดีมากขึ้นได้ เราต้องมั่นใจในตัวของเราว่ามีความสามารถที่จะทำได้ แต่ถ้าพิจารณาแล้วว่าเราขาดทักษะอันใด เราก็ควรจะหาเวลาไปพัฒนาทักษะนั้นให้เกิดขึ้นในตัวเรา เพื่อที่จะใช้ในการทำงานในองค์กรต่อไป

 

ในบางครั้งเราอาจจะมองคนในหน่วยงานของเราในบางมุมเฉพาะที่เขาหันให้เราดู แต่ถ้าเราเป็นเจ้านายของเขา เราจำเป็นจะต้องรู้จักเขาในทุกแง่ทุกมุม เข้าใจจุดเด่น จุดด้อย และสิ่งพิเศษในตัวของเขา เพื่อที่จะเลือกมาใช้ในงานได้อย่างเหมาะสม เปรียบเหมือนผักตบชวาที่ลอยเป็นขยะอยู่ในแม่น้ำ แต่หากเรานำขึ้นมาจากน้ำแล้วตากแห้ง รูดให้เป็นเส้นใย เราย่อมสามารถใช้สานเป็นเครื่องใช้ที่มีราคาได้เช่นนั้น

 

สิ่งสำคัญต่อไปในการเป็นเจ้านายมือใหม่ที่มีประสิทธิภาพคือ การสร้างศรัทธาและความไว้วางใจให้กับลูกน้อง การสร้างศรัทธาสามารถทำได้โดยการวางตนเองอย่างเหมาะสม มีความน่าเชื่อถือ มีอุดมการณ์เพื่อองค์กร ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและถือปฏิบัติอย่างนั้นจริง ๆ ไม่ใช่พูดอย่างเดียวแต่ไม่เคยแสดงให้คนอื่นเห็นจุดยืนนี้ของตน ในช่วงแรกลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานอาจจะยังไม่รับทราบว่าเราเป็นอย่างนั้น แต่ก็อย่าเพิ่งเสียกำลังใจไปนะครับ เพราะการสร้างศรัทธาให้คนอื่นนับถือในตัวเรา ต้องใช้เวลาและผลงานที่เกิดขึ้นเป็นตัวตัดสิน

 

สำหรับการสร้างไว้วางใจก็เช่นกัน เราสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ โดยการมีสติระวังตน ทั้งกาย วาจา ใจ อย่างดี เราไม่ควรพูดอะไรโดยไม่คิด และควรคิดในทุกคำก่อนที่เราจะพูดออกไป เพราะคำพูดของคนที่เป็นหัวหน้าย่อมจะมีน้ำหนักมากกว่าคำพูดของคนทั่วไป เมื่อใดก็ตามที่เราพูดออกไป เราต้องคิดเสมอว่า คำพูดของเรานั้นจะต้องมั่นคงมากกว่าพันธะสัญญาใด ๆ ที่เขียนไว้ดีที่สุดแล้ว และเราจะรับผิดชอบในทุกสิ่งที่ออกจากปากของเรา เมื่อเราทำได้ดังนี้ เราอาจจะกลายเป็นคนที่พูดน้อย แต่คำพูดของเราจะกลายเป็นคำพูดที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะสิ่งที่เราพูดนั้นเป็นเรื่องจริงเสมอ

นอกจากนั้นในการพูดหรือการแจ้งข้อมูลข่าวสารใด ๆ ก็ตาม เราจะต้องเข้าใจว่า ในบางคนเขาควรจะได้ทราบข้อมูลนั้น แต่ในขณะเดียวกันบางคนก็ยังไม่ควรทราบในเวลานั้น เพราะอาจจะทำให้เกิดความเสียหายในการบริหารได้ และบางเรื่องถ้าคิดแล้วว่าพูดไปไม่ได้ประโยชน์ ก็ไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ เพราะคำพูดที่มากเกินไปย่อมจะทำให้ถ้อยคำนั้นไร้คุณค่า

 

การเป็นเจ้านายที่ดีนั้น จำเป็นต้องคิดอยู่เสมอว่าทุกคนที่อยู่ในองค์กรนั้น ยิ่งอยู่นานยิ่งมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น จากประสบการณ์การทำงานและความรู้ที่สะสม ดังนั้นหากเราปล่อยให้คนที่มีคุณค่าเหล่านี้ ทำงานเหมือนกับตอนที่รับเขาเข้ามาทำงานใหม่ๆ ย่อมจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า เราต้องหางานที่ท้าทายและเหมาะสมกับความสามารถของคนที่เรามีอยู่ รวมไปถึงการสร้างหนทางในการประสบความสำเร็จในวิชาชีพหรือตำแหน่งหน้าที่ของเขาเหล่านั้น มีการวางแผนในการพัฒนาความก้าวหน้าในสายงานของเขาร่วมกัน โดยการคัดเลือกเขาไปอบรมพัฒนาทักษะความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นในตำแหน่งที่เขารับผิดชอบ เพื่อให้เขาเห็นโอกาสของความก้าวหน้า เห็นอนาคต ทำให้เขาก็เกิดความมั่นใจ และพร้อมที่จะก้าวหน้าไปกับองค์กร

 

โดยปกติแล้วเวลาที่เราส่งลูกน้องไปฝึกอบรมตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เรามักจะปล่อยเขาไปตามบุญตามกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ คือ หัวหน้าไม่เคยรู้ว่า เขาไปอบรมอะไรมา แล้วจะนำมาใช้ในการทำงานได้หรือไม่ ไม่มีการสร้างบรรยากาศในการให้คุณค่าและความสำคัญสำหรับคนที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปอบรม ไม่มีการสร้างบรรยากาศของการสอนงานซึ่งกันและกัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้องค์กรของเราย่ำอยู่กับที่ ทั้งที่เรามีทรัพยากรที่ดีและพร้อมที่จะผลักดันองค์ให้อยู่ในแนวหน้า น่าเสียดายนะครับ

 

ดังนั้นตัวหัวหน้าเองต้องเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีนี้ให้เกิดขึ้นในองค์กรของเราให้ได้ เมื่อใดก็ตามที่มีการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ในหน่วยงานของเรา หัวหน้าควรต้องจัดเวลาในการมาฟังบรรยายร่วมกับลูกน้องบ้าง ไม่ควรปิดตัวเอง หรือคิดว่าเรื่องนี้เรารู้อยู่แล้ว การที่มีหัวหน้าเข้าไปนั่งฟังด้วยนี้ จะทำให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกที่ดีว่า หัวหน้ามีความตั้งใจในการพัฒนาองค์กรจริง ๆ เอาใจใส่ลูกน้อง และที่สำคัญคือ หัวหน้าจะได้ทราบว่าลูกน้องได้เรียนรู้อะไรมา เพื่อที่จะได้ใช้เขาได้อย่างเต็มศักยภาพที่เขามี ไม่เช่นนั้นแล้วหัวหน้าอาจจะกลายเป็นคนที่เด๋อด๋า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และลูกน้องอาจจะดูถูกเอาได้ครับ คนที่เป็นหัวหน้าควรจะต้องเป็นทั้งหัวและเป็นทั้งหน้า คือมีความคิดสติปัญญา ความรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างเพียงพอเสมือนกับเป็นหัว และเป็นตัวแทนที่ดีขององค์กรได้เสมือนกับหน้า ไม่ยากเลยนะครับถ้าเรามีความเต็มใจที่จะพัฒนาทั้งตนเองและองค์กรที่เรารัก

 

ในการทำงานในองค์กรนั้น สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอคือ ความขัดแย้ง ซึ่งอาจจะเป็นความขัดแย้งของคนสองคน หรือกลุ่มสองกลุ่ม หรือมากกว่านั้น เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น สิ่งที่เจ้านายมือใหม่มักจะคิดก็คือ ทำไมสิ่งนี้ต้องเกิดในสมัยของเราด้วย หากเราคิดอย่างนี้ยิ่งจะทำให้เรามีความรู้สึกที่แย่ลง ดังนั้นเราควรคิดใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า ความขัดแย้งก็เหมือนถ่านไฟที่ลุกโชน มีทั้งคุณและมีทั้งโทษ ขึ้นอยู่ที่เราจะวางมันลงไป ถ้าเราวางถ่านไฟนี้ในเตา ก็ย่อมจะใช้ประโยชน์ในการหุงต้มอาหารได้ แต่ถ้าวางไว้ในตู้เสื้อผ้า ทุกอย่างคงวอดวาย

 

เจ้านายที่ฉลาดย่อมสามารถใช้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทางสร้างสรรค์ได้ เพราะความขัดแย้งในระดับที่เหมาะสมนั้นย่อมจะทำให้องค์กรมีชีวิตชีวา มีการทำงานที่รอบคอบมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดมุมมองใหม่ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน และถ้าเราไม่ทำให้ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่พูดให้ทุกคนรู้สึกว่าความคิดที่แตกต่างของแต่ละคนนั้นมีคุณค่า ไม่ทำให้ใครต้องตกอยู่ในภาวะสุนัขจนตรอกหรือแพะรับบาป และหัวหน้าสามารถชักจูงให้ทุกคนในทีมเกิดการยอมรับและหาข้อยุติในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ องค์กรนั้นย่อมจะสามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ

 

ความคิดที่ต่างกันนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากแต่ละคนอาจจะใช้วิธีการคิดที่ต่างกัน หรือมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน จึงส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่ต่างกัน นอกจากนั้นถ้าในองค์กรมีคนที่มีบุคลิกที่ต่างกันสุดขั้วก็ยิ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ง่ายยิ่งขึ้น คนที่เป็นหัวหน้าจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับการวางระบบ การจัดทีมในการทำงานของแต่ละคนอย่างเหมาะสม เอาคนที่มีแนวโน้มจะไม่ถูกกันอยู่ห่าง ๆ กัน เอาคนที่ชอบกันให้ทำงานร่วมกัน เหมือนกับที่บ้านเราอาจจะน้ำมันที่ไวไฟ แต่ถ้าเราปิดขวดให้แน่นแล้วเก็บไว้ห่างจากเปลวไฟย่อมจะปลอดภัยแน่นอน

 

ทักษะสำคัญของการเป็นเจ้านายมือใหม่ที่ดีนั้น คือจะต้องเป็นคนช่างสังเกต เก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานและคนในทีมให้มาก ต้องทำความเข้าใจในความเหมือนและความต่าง ต้องสามารถจัดวางคนและงานได้อย่างเหมาะสม และวางตนให้อยู่ตรงกลางให้ได้ มีความหนักแน่นและไม่มีอคติกับคนในหน่วยงาน ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

 

นอกจากนี้ เมื่อหน่วยงานของเราเริ่มมีการทำงาน สิ่งสำคัญที่เราจะขาดไม่ได้ก็คือ การติดตามงาน ในบางครั้งเมื่อเราเพิ่งได้เป็นเจ้านายมือใหม่ เราอาจจะเข้าใจว่าเมื่อเราสั่งงานใครไปแล้วงานนั้นย่อมจะได้เหมือนกับที่เราสั่ง แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ เนื่องจากความบกพร่องในการติดต่อสื่อสาร อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจ หรือมีประสบการณ์ต่างกัน เลยทำให้เข้าใจกันไปคนละอย่าง ดังนั้นเมื่อเราจะสั่งงานใครก็ตาม เราควรจะมีการตรวจสอบความเข้าใจให้ตรงกันเสมอ และจะต้องแบ่งเวลาไว้ใช้ในการติดตามงานด้วย เพื่อให้งานนั้นออกมาอย่างสมบูรณ์และทันเวลา

 

หลักของการสั่งงานที่น่าสนใจสำหรับเจ้านายมือใหม่ที่จะเสนอให้ผู้อ่านได้ทดลองใช้มีดังนี้ครับ ก่อนที่จะสั่งงานใครก็ตามควรมีสติและมีขั้นตอนในการสั่งงาน ขั้นแรกเรียกว่าขั้นยิ้มรักทักทาย คือจะต้องยิ้มให้เขาและสังเกตว่าเขาอยู่ในสภาพที่พร้อมในการรับฟังเราหรือไม่ ถ้าเรายิ้มแล้วเขาไม่ยิ้มตอบ หรือแสดงให้เรารับรู้ว่าเขากำลังยุ่ง ก็อย่าได้เสียเวลาสั่งงานเขาในตอนนั้น เพราะสั่งไปเขาก็ไม่รับรู้ เช่น หัวหน้าบางคนเจอลูกน้องที่ในลิฟต์ อย่างไรเสียเขาก็หนีเราไปไหนไม่ได้ ก็เลยมอบหมายงานให้เสียเลย ซึ่งในเวลานั้นลูกน้องอาจจะกำลังคิดเรื่องอะไรค้างอยู่หรืออาจจะรีบไปทำธุระส่วนตัวที่สำคัญ เขาจึงไม่สามารถที่จะจำในสิ่งที่เรามอบหมายให้ได้ หากเราทักเขาแล้วเขายิ้มตอบ เราก็ใช้ขั้นที่สองต่อไปโดยการถามเขาว่า เขาพอมีเวลาในการรับฟังเราสักห้านาทีไหม หากเขาไม่ว่างก็ถามต่อไปว่า หากเป็นในวันนี้ พอจะมีเวลาช่วงไหนที่เราจะสามารถเข้าไปคุยได้บ้างเพื่อให้งานสามารถจะดำเนินการต่อไปได้ หากเขาพร้อมจะรับฟังแล้ว เราก็นำเข้าสู่ขั้นที่สาม คือ บอกรายละเอียดต่างๆ ของงาน เพื่อให้เขาเข้าใจ ต่อจากนั้นจึงเป็นขั้นที่สี่ซึ่งสำคัญที่สุดคือ ขั้นตรวจสอบความเข้าใจโดยใช้ความเป็นกัลยาณมิตร โดยถามเขาว่า พอจะทบทวนให้เราฟังได้ไหมว่ามีงานอะไรที่เราสั่งไปบ้าง เนื่องจากเราอยากจะตรวจสอบตัวเองว่าเราพลาดตรงไหนไปบ้างหรือไม่ คำพูดแบบนี้ในทางจิตวิทยาเรียกว่าการพูดแบบ I message จะทำให้ผู้ฟังสบายใจที่จะตอบ เพราะไม่รู้สึกว่าถูกจับผิด สุดท้ายคือขั้นที่ห้าซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายคือ ขั้นสรุปวันเวลาที่งานเสร็จเพื่อที่เราจะสามารถมารับงานได้

 

การเป็นเจ้านายมือใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เราจะต้องรู้จักคิด รู้จักพูดและรู้จักที่จะหยุดพูด คำพูดและการกระทำของหัวหน้าจะเป็นตัวสร้างความศรัทธาและความไว้วางใจให้กับลูกน้องทุกคน

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก https://cdn.pixabay.com/

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูพงศ์ ปัญจมะวัต

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ผลดีรอบด้านของการสนับสนุนอารมณ์ให้กับเด็กๆ

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ให้กับเด็ก ๆ คือการช่วยสนับสนุนให้เด็กรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง รวมถึงการบอกวิธีในการรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้ในบทความ “การสนับสนุนทางอารมณ์ให้เด็ก ๆ”

 

ไม่เพียงแค่ในสถานการณ์ที่คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดูอยากให้เด็กๆ มีอารมณ์ที่รุนแรงน้อยลงเพื่อที่จะฟังเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรตอบสนองต่ออารมณ์ในแบบนั้นเท่านั้น การสนับสนุนทางอารมณ์ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากหากเราหมั่นสนับสนุนทางอารมณ์ให้กับเด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ

 

ข้อดีประการแรกคือ เด็กจะเข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตัวเองได้ไวกว่าเด็กที่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์ แม้ว่าอารมณ์มีหลากหลายแบบอย่าง โกรธ ดีใจ เสียใจ อิจฉา พึงพอใจ และอื่นๆ อีกมาก ทำให้บางครั้งเด็กอาจจะไม่รู้จักว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่าอะไร แต่อย่างน้อยที่สุดการที่เด็กรู้ตัวว่ากำลังอารมณ์ดีหรืออารมณ์เสียก็มีประโยชน์กับตัวเด็กแล้วในการเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ส่วนการแยกแยะนั้น อาจเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะสนับสนุนด้วยการตั้งคำถาม หรือแม้แต่การสอนให้รู้ว่าอารมณ์นั้นคืออะไรด้วยการบอก และเมื่อเด็กเข้าใจว่าอารมณ์ของตัวเองกำลังเป็นอย่างไรได้ไว แทนที่จะเด็กจะมีพฤติกรรมตอบสนองต่ออารมณ์โดยอัตโนมัติในแบบที่ไม่สมควร เช่น โมโห ก็ร้องไห้ โวยวาย ตีคนที่ตัวเองไม่พอใจ การที่มีผู้ใหญ่คอยสนับสนุนด้วยการบอกว่าหากมีอารมณ์แบบไหน ต้องทำอย่างไร เมื่อเด็กรู้แล้วว่าตนเองมีอารมณ์อะไรอยู่ เด็กจะได้นำทางเลือก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมกว่ามาตอบสนองแทน เช่น โกรธก็บอกกับอีกฝ่ายดีๆ ว่ากำลังโกรธ ไม่พอใจ หรือนับเลขเพื่อให้อารมณ์ของตนเองเย็นลง

 

การที่เด็กตอบสนองอย่างเหมาะสมทำให้เกิดข้อดีต่อมาคือ เด็กจะสร้างความสัมพันธ์ในสังคมได้ดีกว่า เข้าหาเพื่อนได้ง่ายกว่า เพราะการตอบสนองที่เหมาะสมทำให้บุคคลรอบตัวมีแนวโน้มที่จะพอใจกว่า และชื่นชอบเด็กคนนั้นมากกว่า เช่น ถ้าเด็กเห็นของเล่นของเพื่อน แล้วอิจฉา อยากเข้าไปเล่นมาก ๆ อยากได้เป็นของตัวเอง หากเด็กไม่รู้เท่าทันและมีพฤติกรรมตอบสนองไปทันที เช่น เข้าไปแย่งของเล่นของเด็กคนอื่นทันที หรือร้องไห้ว่าต้องการบ้าง เด็กๆ และบุคคลรอบตัวก็อาจจะรู้สึกไม่ดี แต่ถ้าเด็กรู้เท่าทันว่าตนเองกำลังมีอารมณ์อย่างไร รู้ว่าตนเองอิจฉา อยากได้ของเล่น และถ้าอยากได้อาจจะไปขอเพื่อนเล่นดี ๆ ถ้าเพื่อนไม่ให้ เด็กอาจจะโกรธ แต่เมื่อเด็กเท่าทัน เด็กก็จะไม่ตอบสนองด้วยการงอแงหรือก้าวร้าว แต่อาจจะเป็นการไปบอกคุณครูหรือพ่อแม่ว่าอยากมีของเล่นแบบนั้นบ้าง หรือไปชวนเพื่อนคนอื่นเล่นอย่างอื่นแทน สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสังคมนั้นราบรื่นกว่า

 

ข้อดีประการถัดไป การที่เด็กที่เข้าใจอารมณ์ของตนเองนั้น จะเป็นพื้นฐานในการเข้าใจผู้อื่นที่อยู่ในสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน รวมถึงการมีความเห็นอกเห็นใจ และมีความร่วมรู้สึกกับคนนั้น ๆ เพราะตนเองก็เคยประสบอารมณ์ดังกล่าวมาแล้ว และรู้ว่าเป็นอย่างไร สุขหรือทุกข์ใจอย่างไร เช่น เด็กเห็นเด็กคนอื่นร้องไห้ เด็กก็จะเห็นอกเห็นใจ หรือร่วมรู้สึกว่าเด็กคนนั้นคงกำลังเสียใจ และรู้สึกไม่ดี เพราะตอนตัวเองร้องไห้ ตนเองก็รู้สึกแบบนั้น

 

เมื่อเด็กเข้าใจอารมณ์ของบุคคลอื่น เด็กอาจจะตอบสนองกับบุคคลที่อยู่ในอารมณ์ต่างๆ ได้ดีกว่า เช่น ถ้ารู้ว่าเพื่อนโกรธ พอเด็กเข้าใจอารมณ์เพื่อน เด็กอาจจะหยุดหยอกแกล้ง หรืออาจจะพยายามเอาใจ และนี่ยิ่งเป็นการทำให้เด็กสานความสัมพันธ์ รวมถึงรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ รอบตัวได้ดีกว่า

 

ข้อดีประการสุดท้ายคือข้อดีต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว จากการสอนลูก ๆ และเด็ก ๆ ให้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง ตัวคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้เลี้ยงที่เป็นคนสอนเองก็อาจจะได้ฉุกคิดเช่นกัน เวลาที่ตนเองมีอารมณ์ที่เข้มข้นรุนแรง เช่น ตอนโกรธมาก ๆ ให้รู้และเท่าทันตนเองว่าไม่ควรจะไปพูดกระแทกเสียงใส่คนอื่นๆ ในบ้าน เพราะว่าเคยสอนลูกแบบนั้น ก็ควรจะทำตามให้สอดคล้องเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ๆ

 

นอกจากนี้ในขั้นตอนของการสนับสนุนทางอารมณ์ เด็กจะตระหนักว่าพ่อแม่เข้าใจว่าตนเองมีอารมณ์อย่างไร ทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ยอมรับตนไม่ว่าตนจะมีอารมณ์อย่างไรก็แล้วแต่ ในอนาคตเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เด็กที่ได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์มักจะเข้าหาพ่อแม่ เพื่อปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ของชีวิต แตกต่างจากวัยรุ่นส่วนใหญ่ที่มักจะเก็บเรื่องอารมณ์จากพ่อแม่ และไปปรึกษาและระบายกับเพื่อน ๆ เท่านั้น ข้อดีนี้ทำให้ครอบครัวรู้ว่าบุตรหลานของตนกำลังเครียด หรือเศร้ากับเรื่องใดหรือไม่ และจะได้ตอบสนองต่อวัยที่หุนหันพลันแล่นได้อย่างเหมาะสม หรือช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหากไปเจอกับปัญหาใหญ่ ๆ ในชีวิต

 

การสนับสนุนทางอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่น่านำไปใช้ เพื่อเด็กๆ และผู้เลี้ยงดู เพราะมีข้อดีในระยะยาวกับทั้งตัวเด็กและคนอื่น ๆ ในครอบครัว

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

ทำไมพ่อแม่ (บางคน) จึงทำทารุณกรรมต่อลูก

 

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อลูกของตน แต่พ่อแม่บางคนมิได้เป็นเช่นนั้น เขาสามารถทำทารุณกรรมต่อลูกของตนเองทั้งทางร่างกายและทางเพศได้ ทารุณกรรมทางกาย หมายถึง การทำร้ายเด็กจนได้รับบาดเจ็บทางกาย ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น ตาปูด ปากแตก ส่วนทารุณกรรมทางเพศ หมายถึงการสัมพันธ์ทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เช่น การจับต้องลูบคลำ การข่มขืนกระทำชำเรา

 

พฤติกรรมทารุณกรรมที่พ่อแม่แสดงต่อลูกทั้งทางร่างกายและทางเพศปรากฎบ่อยในหน้าหนังสือพิมพ์ในชีวิตประจำวันของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นการทารุณกรรมทางเพศ แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญ?

 

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ทำทารุณกรรมต่อลูก


 

การศึกษาวิจัย (Browne & Finkelhor, 1986) พบว่า 90 % ของผู้กระทำทารุณกรรมมิใช่คนที่มีความผิดปกติทางจิต รวมทั้งมิได้มีบุคลิกภาพเป็นฆาตกร แต่ส่วนมากแล้วมักจะเป็นคนโดดเดี่ยว อ้างว้าง ไร้ความสุข ซึมเศร้า โกรธง่าย มีความกดดันมาก หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดความซึมเศร้าได้

 

การศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (Wolf, 1985) รายงานว่าพ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูกมักได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายเช่นเดียวกันมาแต่ในอดีต เป็นเหตุให้มีความเชื่อว่า การกระทำของตนเป็นการแสดงถึงการมีอำนาจในตนเอง รวมทั้งช่วยให้ตนสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้

 

นอกจากนี้ พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูก ยังไม่รู้วิธีการที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดี กล่าวคือ ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรให้ลูกหยุดร้องไห้ และเมื่อไม่สามารถทำให้ลูกหยุดได้ก็โกรธจนลืมตัวทำพฤติกรรมที่เลวร้ายลงไป เช่น เอาเตารีดนาบหลังลูก ตบตีลูกอย่างทารุณ ขาดความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการปกติของเด็ก เช่น พ่อแม่จะคาดหวังให้ลูกไม่ทำเลอะเทอะ หรือขับถ่ายเป็นที่เป็นทางก่อนถึงวัยอันควร อีกทั้งยังขาดความสามารถในการอ่านสัญญาณทางอารมณ์ของลูก ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการผิดพลาด เช่นพยายามป้อนนมลูกเมื่อลูกร้องด้วยความเจ็บปวด เมื่อลูกบ้วนอาหารทิ้งก็แสดงอารมณ์รุนแรงด้วยความโกรธ

 

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวของพ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูกแล้ว จะพบว่า พ่อแม่ที่มีลักษณะดังกล่าวมีแนวโน้มจะมีปัญหาในชีวิตสมรส และทะเลาะเบาะแว้งถึงขนาดลงไม้ลงมือกันมากกว่าครอบครัวอื่นๆ มีลูกมาก ภายในบ้านไร้ระเบียบวินัย นอกจากนั้น พ่อแม่ที่ทารุณลูกยังมีแนวโน้มจะไม่สัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ครอบครัวของตนหรือแม้แต่กับเพื่อน ๆ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเกิดความเครียดขึ้นในครอบครัว ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาผู้ใด เป็นเหตุให้เรื่องที่น่าสลดใจดังกล่าวเกิดขึ้น หากบุคคลมีผู้ที่จะช่วยค้ำจุนทางจิตใจ ช่วยชี้แนวทางที่ถูกต้องในขณะที่เผชิญความเครียดแล้ว ผลจะไม่ออกมาอย่างที่เป็นอยู่แน่นอน

 

พ่อแม่อาจมิใช่เป็นเพียงองค์ประกอบเดียวที่นำไปสู่การทำทารุณกรรม ลักษณะของเด็กก็อาจจะเป็นตัวยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวโดยมิได้ตั้งใจได้ ผลการศึกษาวิจัย (J.R Reid และคณะ, 1982) พบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมมักเป็นเด็กที่เรียกร้องเวลาและความเอาใจใส่จากพ่อแม่สูงกว่าเด็กอื่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรือเป็นเด็กที่อยู่เฉยไม่ได้ หรือเป็นเด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำ หรือมีความพิการทางร่างกาย การศึกษาอีกชั้นหนึ่ง (Tsai and Wagner, 1979) พบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมมักเป็นเด็กที่ร้องไห้มาก และมีพฤติกรรมในทางลบมากกว่าเด็กทั่วไป

 

สังคมและวัฒนธรรมก็มีส่วนส่งเสริมต่อการมีพฤติกรรมดังกล่าว นอกเหนือไปจากองค์ประกอบของพ่อแม่และตัวเด็กเอง การตกงาน การต้องทนทำงานที่ตนไม่พึงพอใจ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวที่หนักหนาสาหัสมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการทำทารุณกรรมต่อภรรยาและลูก วัฒนธรรมก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน สังคมใดที่มีวัฒนธรรมที่เน้นความรุนแรงจะวางเจตคติเกี่ยวกับการลงโทษที่รุนแรง อันอาจนำไปสู่การแสดงความรุนแรงต่อสตรีและเด็กที่ไร้หนทางสู้ได้ง่าย ซึ่งตรงกันข้ามกับสังคมที่มีวัฒนธรรมที่ไม่เน้นความรุนแรง เด็กที่กระทำผิดจะไม่ถูกตี แต่จะเน้นการแก้ไขพฤติกรรมด้วยวิธีการอื่นที่สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาได้เช่นเดียวกัน เช่น การยิ้มและชมเชยเด็กเมื่อทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เด็กอยู่ตามลำพังเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ใน วัฒนธรรมเช่นนี้ เด็กจะไม่ได้รับการปลูกฝังเจตคติของความรุนแรง และไม่มีความคิดว่าความรุนแรงสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้

 

นอกเหนือจากการทารุณทางกายแล้ว เด็กยังอาจถูกทำทารุณกรรมทางเพศได้อีก จากรายกรณีที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่ออื่น ๆ พบว่า ผู้ที่กระทำทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก มักเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและเด็กมีความไว้วางใจ เช่น พ่อ ญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว หรือเพื่อน ๆ ของบุคคลในครอบครัว ดังนั้นวิธีการป้องกันจึงควรจะเน้นการสอนให้เด็กระมัดระวังมิให้บุคคลแปลกหน้าหรือแม้บุคคลที่เด็กรักและไว้ใจมาสัมผัสแตะต้อง ลูบคลำ จูบกอด ถอดเสื้อผ้าออก หรือชักชวนให้ไปอยู่ในที่ลับตาผู้อื่น

 

อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวอาจจะเป็นเหมือนดาบ 2 คมได้ ด้านหนึ่งสามารถป้องกันการถูกทำทารุณกรรมทางเพศจากคนใกล้ชิด แต่อีกด้านหนึ่งอาจทำให้เด็กตกใจกลัว และขัดขวางต่อการมีความรักความผูกพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดได้ อีกวิธีการหนึ่งคือการที่พ่อแม่กระตุ้นให้เด็กเล่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กทำในแต่ละวัน โดยไม่มีการตำหนิติเตียนหรือลงโทษเด็กหากเด็กทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อปลูกฝังความคิดว่าเด็กสามารถเล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้พ่อแม่ฟังได้โดยไม่ถูกลงโทษ และพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ทุกเรื่อง เป็นที่เชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยทำให้พ่อแม่ได้รับรู้เรื่องต่าง ๆ ของลูก และตัดไฟเสียแต่ต้นลมได้

 

 

พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูก รู้สึกผิดในใจและเกลียดตนเองในสิ่งที่ทำลงไปหรือไม่?


 

Wolfe (1985) พบว่าพ่อแม่ที่กระทำพฤติกรรมดังกล่าว รู้สึกเกลียดตนเองและละอายใจในสิ่งที่ทำลงไป แต่รู้สึกว่าตนเองขาดอำนาจที่จะหยุดยั้งมัน

 

 

ผลกระทบจากการที่เด็กถูกทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศ


 

แน่นอนที่สุด การที่เด็กถูกทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศก็ตาม ย่อมมีผลร้ายแรงที่ตามมา เด็กที่ถูกทารุณทางกายจะมีผลการเรียนต่ำ ชอบแยกตัวจากเพื่อนฝูง ก้าวร้าว ไม่ร่วมมือกับผู้อื่น ผลที่ตามมาก็คือ การเข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมตามมาได้ ส่วนเด็กที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศมีแนวโน้มจะเกิดความหวาดกลัวต่อเพศตรงข้าม มีความรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่า มีปัญหาพฤติกรรม ผลการเรียนต่ำ หมกมุ่นกับเรื่องเพศ ซึมเศร้า ไม่ไว้วางใจบุคคลอื่น รวมทั้งมีปัญหาการปรับตัวทางเพศ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะติดตัวเด็กไปแม้เข้าสู่วัยรุ่นใหญ่แล้วก็ตาม

 

การศึกษาวิจัยของ Kaufman & Zigler (1987) พบว่าเด็กที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศจะมีลักษณะเหมือน “ระเบิดเวลา” ที่พร้อมจะระเบิดความรุนแรงต่อลูกๆของตน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยอีกชั้นหนึ่ง (Zgeland & Sroufe,1981) ได้รายงานว่าหากเด็กที่ถุกทารุณกรรมทางเพศได้รับการค้ำจุนทางจิตใจจากผู้ใกล้ชิด ได้รับการกระตุ้นให้เด็กระบายความโกรธแค้น และเกลียดชังออกมาได้อย่างเปิดเผย รวมทั้งสามารถพูดถึงประสบการณ์ที่เลวร้ายของตนออกมาโดยไม่ต้องเก็บกดแล้ว โอกาสที่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีความรักและชีวิตครอบครัวที่มีความสุขก็มีทางจะเป็นไปได้มาก

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : https://www.pxfuel.com/en/free-photo-xjpbc

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ศิรางค์ ทับสายทอง

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

จิตวิทยาเกี่ยวข้องกับการทำงานในองค์การอย่างไร

 

เมื่อเอ่ยชื่อวิชา “จิตวิทยา” คนส่วนมาก็คงนึกถึงนักจิตวิทยาที่นั่งฟังผู้ป่วยเล่าปัญหาของตัวเอง หรือไม่ก็นึกถึงคนที่ใช้จิตวิทยาหลอกล่อให้คนอื่น ๆ หลงเชื่อ

 

โดยทั่วไปแล้ว หลายคนยังเข้าใจจิตวิทยาผิดไปจากความเป็นจริงอยู่มาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ภาพที่ปรากฏออกไปสู่สังคมมักแสดงถึงนักจิตวิทยาในฐานะผู้บำบัดหรือผู้รักษา จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะศาสตร์จิตวิทยานั้นกว้างขวางและครอบคลุมกว่าแค่การบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตเท่านั้น

 

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และครอบคลุมไปถึงเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราด้วย เราจะพบว่าจิตวิทยานั้นแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกเรื่องในชีวิตของเรา และด้านหนึ่งที่สำคัญก็คือ การทำงาน โดยส่วนมากเรามักจะไม่รู้กันว่าจิตวิทยาสามารถประยุกต์เข้ากับชีวิตการทำงานได้ทั้งในการเข้าใจและพัฒนาตนเอง ทั้งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ลูกน้อง หรือลูกค้า หรือแม้แต่องค์การเองก็สามารถนำจิตวิทยาไปใช้เพื่อบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ

 

คนที่จะกำลังหางานทำหรือพนักงานที่ทำงานอยู่แล้ว สามารถใช้จิตวิทยาเพื่อค้นหาความสามารถ ความถนัด บุคลิก ลักษณะต่าง ๆ ของตนเอง เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกงานที่เหมาะสมกับตน หรือมองหาเส้นทางอาชีพที่ตนจะดำเนินต่อไปในอนาคต แนวคิดหลักอย่างหนึ่งของจิตวิทยาคือ คนเราแต่ละคนแตกต่างกัน ทั้งในด้านบุคลิกภาพ ความเชื่อ ทัศนคติแรงจูงใจ หรือความสามารถ ความแตกต่างเหล่านี้ก็ส่งผลให้คนแต่ละคนทำงานได้แตกต่างกัน คนบางคนอาจจะทำงานเป็นพนักงานขายที่เก่งกาจ สามารถสร้างเครือข่ายลูกค้าได้กว้างขวาง แต่คนคนนี้อาจจะไม่เก่งในด้านการบริหารงาน หรือไม่ได้เป็นผู้นำที่ดี จิตวิทยาจะช่วยให้บุคคลรู้ว่าตนเองมีลักษณะต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีบุคลิกภาพแบบชอบเปิดตัว ชอบเข้าสังคม เราก็จะสามารถเลือกงานที่เหมาะสมกับบุคลิกของเราได้ หรือ ถ้าเรามีความสนใจในการออกแบบสร้างสิ่งใหม่ ๆ หรือมีความถนัดด้านความคิดสร้างสรรค์ เราก็จะเลือกอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น งานโฆษณา หรืองานออกแบบ จากตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า จิตวิทยาช่วยให้บุคคลรู้จักตนเองมากขึ้น เมื่อบุคคลรู้จักตนเองมากขึ้นก็จะสามารถเลือกและทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงได้ทำงานที่ตนเองสนใจหรือรัก นอกจากนี้จิตวิทยายังช่วยในการจัดการความเครียด การเข้าใจตนเอง การพัฒนาตนเองให้ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า

 

นอกจากจิตวิทยาจะช่วยให้พนักงานเข้าใจตนเองและพัฒนาตนเองได้แล้ว วิชาจิตวิทยายังช่วยให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางบวกกับเพื่อนร่วมงาน วิธีการในการจูงใจลูกน้อง หรือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับเจ้านาย

 

สำหรับองค์การ ความรู้ทางจิตวิทยาจะช่วยให้องค์การสามารถบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถและลักษณะตรงตามที่ต้องการ ช่วยในการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานมุนานะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ช่วยให้พนักงานตระหนักในขีดความสามารถของตนและนำมาใช้หรือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

ด้วยเหตุนี้องค์การจึงควรให้ใส่ใจกับพนักงานของตนให้มาก สาขาวิชาที่ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงเกิดขึ้น จิตวิทยาเองก็มีส่วนช่วยในการบริหารทรัพยากรมนุษย์อยู่ไม่น้อยทีเดียว ทั้งตัวองค์ความรู้และทฤษฎีที่จะช่วยให้องค์การสามารถตัดสินใจเลือกบุคลากรได้ตรงกับความต้องการ ทั้งแบบวัดทางจิตวิทยาที่จะช่วยให้องค์การรู้ว่าพนักงานแต่ละคนมีลักษณะในด้านต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ความรู้ดังกล่าวช่วยให้องค์การสามารถเลือกคนได้เหมาะสมกับงาน พัฒนาพนักงานให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นทันท่วงทีต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถให้รางวัลแก่พนักงานที่ทำงานดีและลงโทษพนักงานที่ประพฤติเสียหายได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

 

ระบบบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่ดี ช่วยให้พนักงานทำงานได้เต็มความสามารถ ซึ่งนั่นก็หมายถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและการบรรลุเป้าหมายขององค์การ เมื่อองค์การบรรลุเป้าหมาย นั่นก็หมายถึงความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นของพนักงาน ทั้งองค์การและพนักงานต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

 

ประเด็นเรื่องมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญ และในปัจจุบันหลาย ๆ องค์การก็เริ่มตระหนักถึงประเด็นนี้ เมื่อจิตวิทยาได้ใช้อย่างจริงจังในองค์การทั้งโดยตัวพนักงานและตัวองค์การเอง เราก็คงจะได้เห็นบรรยากาศของการทำงานที่มีความสุขและมีประสิทธิภาพ

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ให้เด็ก ๆ

 

คุณพ่อ คุณแม่ หรือท่านที่ต้องเลี้ยงเด็ก คงต้องเคยเจอกับสถานการณ์ที่ลูกหรือเด็กร้องไห้ งอแง อาละวาด อย่างตอนที่เด็กอยากได้ของเล่นหรือขนม แล้วพ่อแม่ไม่ให้ หรืออยากไปเล่นกับเพื่อน แล้วเกิดเรื่องทะเลาะกัน พอเด็กร้องไห้งอแงขึ้นมา ทางผู้ใหญ่หากยังใจเย็นพอ ก็พยายามพูดดี ๆ กับเด็ก พยายามคุยกันอย่างมีเหตุผล เช่น “อย่าร้องไห้สิลูก หนูเพิ่งกินขนมไปเมื่อวานเอง กินทุกวันไม่ได้นะลูก” หรือ “เพื่อนเขาไม่ได้ตั้งใจนะ เจ็บนิดเดียวเอง เดี๋ยวก็หาย” แต่หลาย ๆ ครั้งผู้ใหญ่จะพบว่าการพยายามคุยกับเด็กด้วยเหตุผลนั้นกลับไม่ทำให้เด็กหยุดร้องไห้งอแง หรือลดความเข้มข้นของอารมณ์เด็กในตอนนั้นได้เลย เหมือนเด็กไม่ฟังอะไรทั้งนั้น

 

จริง ๆ แล้วในจังหวะที่เด็กกำลังมีอารมณ์เข้มข้น อย่างเช่น อารมณ์โกรธ และเสียใจนั้น ผู้ใหญ่จะพยายามพูดใช้เหตุผลเท่าไหร่ อย่างไรก็ยากที่จะได้ผล สาเหตุหนึ่งเพราะพัฒนาการของสมองที่ประมวลเหตุผลของเด็กนั้นยังไม่ดีเหมือนของผู้ใหญ่ แต่สมองในส่วนของอารมณ์นั้นจะพัฒนาเร็วกว่า อิทธิพลของอารมณ์จึงมีเหนือเหตุผลได้ง่าย ๆ แต่ถึงเด็กจะแสดงอารมณ์ได้อย่างเชี่ยวชาญ จากที่เราเห็นว่าเด็กหัวเราะหรือร้องไห้อย่างชัดเจน แต่เด็กยังไม่ใช่วัยที่รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง แถมยังควบคุมอารมณ์ไม่ได้ดีนัก ผลที่ตามมาคือเด็กปล่อยให้อารมณ์ครอบงำจนไม่สามารถรับฟังเหตุผลเพื่อไปจัดการกับพฤติกรรมของตัวเอง

 

คำถามต่อมาคือแล้วเราควรจะจัดการอย่างไรเวลาเด็กมีอารมณ์เข้มข้นจนตัวเด็กควบคุมไม่ได้ มีวิธีแก้ปัญหาวิธีหนึ่งที่น่าสนใจที่เรียกว่า “การสนับสนุนทางอารมณ์” (emotional support)

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ คือ การที่ผู้ใหญ่เข้าไปช่วยให้เด็กรับรู้อารมณ์ของตนว่าตนกำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ และทำให้เด็กเท่าทันอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และจะทำให้เด็กเริ่มรับฟังเหตุผลมากขึ้นตามลำดับ

 

ก่อนที่เด็กจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ เด็กต้องรู้ก่อนว่า ในตอนนั้นตัวเองมีอารมณ์อะไร อารมณ์นั้นมักจะสร้างการตอบสนองทางพฤติกรรมที่รวดเร็ว เช่น ร้องไห้ หัวเราะ และในหลายๆ ครั้ง เด็กยังไม่รู้ว่าตัวเองมีอารมณ์อย่างไรกันแน่ ดีใจ เสียใจ โกรธ พอใจ หรืออะไร ดังนั้นผู้ใหญ่จึงเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนในส่วนนี้ได้ อาจจะเป็นการพูดคุยเพื่อถามเด็ก ให้เด็กตระหนักก่อนว่าตัวเองกำลังมีอารมณ์อย่างไรอยู่ เช่น ถามว่า “หนูโมโหใช่ไหมที่เพื่อนแย่งขนมไป” หรือ “เสียใจใช่ไหมที่ไม่ได้ของเล่น” เมื่อเด็กได้ฟังคำถาม เด็กจะคิดหาคำตอบ และเป็นการทบทวนอารมณ์ตัวเองไปในตัวว่า “ฉันกำลังโมโหหรือเปล่า” “ฉันกำลังเสียใจหรือเปล่า” เพื่อที่จะตอบผู้ใหญ่ เช่น “เปล่า หนูไม่ได้โกรธ” “หนูไม่ได้เสียใจ” หรือในหลาย ๆ ครั้ง ผู้ใหญ่เองก็ไม่รู้ว่าตอนนี้เด็กมีอารมณ์อย่างไร พอได้ถามตอบกัน ก็จะทำให้ทั้งตัวเด็กเข้าใจอารมณ์ตนเองในขณะนั้น และรับรู้ว่าผู้ใหญ่เข้าใจได้ตรงกันด้วย

 

เมื่อเด็กรู้ถึงอารมณ์ของตัวเอง และรู้ว่าผู้ใหญ่ก็เข้าใจว่าตัวเด็กกำลังมีอารมณ์อย่างไร อารมณ์ของเด็กจะค่อยๆ สงบลง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กเริ่มฟังสิ่งอื่น ๆ มากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่เริ่มใช้เหตุผลกับเด็ก ๆ ได้มากขึ้น

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ ยังไม่ใช่แค่การทำให้เด็กเข้าใจอารมณ์ของตนเอง แต่ผู้ใหญ่ยังสนับสนุนวิธีการจัดการกับอารมณ์ให้เด็กๆ ได้ด้วย เมื่อผู้ใหญ่รู้แล้วว่าเด็กกำลังมีอารมณ์อย่างไร ก็อาจจะสอนว่า “ถ้าหนูโกรธ เรามาลองนับ 1 ถึง 10 กัน” หรือ “หายใจเข้าลึกๆ แล้วหายใจออก” ทำให้เด็กมีวิธีรับมือกับอารมณ์ที่เข้มข้นของตัวเอง และทำให้อารมณ์นั้นสงบได้ง่ายขึ้น

 

ไม่เพียงแค่อารมณ์ทางลบเท่านั้น แต่บางครั้งเด็กก็ตอบสนองต่ออารมณ์ทางบวกที่เข้มข้นอย่างไม่ควร เช่น การกระโดดโลดเต้น ตะโกนชอบใจเสียงดังจนหยุดไม่อยู่ การพูดคุยให้เด็กรู้ว่ากำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ และจะทำอย่างไรกับอารมณ์เหล่านั้นก็นำมาใช้ได้เช่นกัน เช่น “หนูดีใจมากเลยใช่ไหม ที่ได้ของเล่น แต่ตอนนี้ยังเล่นไม่ได้นะ รออีกหน่อย แล้วไปเล่นกันที่บ้านดีกว่า”

 

สิ่งที่ควรระวังขณะที่ผู้ใหญ่สนับสนุนทางอารมณ์ คือไม่ควรตีตราว่าอารมณ์ไหนคือสิ่งที่ไม่ดี อย่างเช่น ไม่ควรพูดว่า “หนูกำลังอิจฉาน้องหรือ ไม่ดีเลยนะ” “หนูอย่าโกรธสิ คนอื่นเขาไม่ชอบ” เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ตอบสนองตามธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติที่จะมีอารมณ์ทางลบ การตีตราว่าอารมณ์ใดไม่ดี จะทำให้เด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ยอมรับอารมณ์ของตนในขณะนั้น สิ่งสำคัญของการสนับสนุนทางอารมณ์คือการให้เด็กรับรู้อารมณ์อย่างเป็นกลาง และรู้ว่าอารมณ์นั้นมาจากไหน เช่น ถามเด็กว่า “หนูกำลังอิจฉาเพราะพ่อซื้อขนมให้น้องเยอะกว่าหรือเปล่า” “หนูกำลังโกรธเพราะเพื่อนทำหนูเจ็บหรือเปล่า” และคอยสนับสนุนวิธีการจัดการกับอารมณ์ทางลบนั้น เช่น สอนเด็กว่า “ถ้ารู้สึกอิจฉา ก็มาคุยกับพ่อหรือแม่ได้นะ” “ถ้าหนูโกรธเพื่อน ก็อย่าเพิ่งไปทำอะไรเพื่อน มานับเลขกันก่อนดีกว่า มาทำใจให้เย็นกัน”

 

อีกสิ่งที่ควรระวังคืออย่าคาดหวังว่าเราสอนเด็กแล้วเด็กจะเข้าใจและทำตามได้ทันทีในสองสามครั้ง เด็กบางคนเข้าใจอารมณ์ตัวเองแล้ว แต่ยังหยุดอารมณ์ตัวเองไม่ทัน รู้อารมณ์ของตัวเองแล้วแต่ใจไม่เย็นลงสักที ลองคิดเปรียบเทียบว่าการสนับสนุนทางอารมณ์เหมือนกับการปลูกต้นไม้ที่ต้องใช้เวลา การให้เด็กเข้าใจอารมณ์และตอบสนองอย่างถูกต้องเอง ก็ต้องค่อย ๆ ฝึกกันไป อย่าเร่งรัดจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลงแทน ค่อย ๆ สนับสนุนแล้วเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของเด็ก และวันหนึ่งการสนับสนุนของเราย่อมเห็นผลแน่นอน

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก https://eresmama.com/

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University