News & Events

Counterproductive work behavior – พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า

 

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า หมายถึง พฤติกรรมที่ปฏิบัติโดยบุคลากร โดยมีเจตนาทำความเสียหายและเป็นภัยต่อองค์การหรือสมาชิกในองค์การ ดังนั้น การกระทำโดยเหตุบังเอิญหรือการกระทำโดยบุคคลภายนอกองค์การไม่จัดเป็นพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า

 

ปัจจุบันงานวิจัยส่วนใหญ่แบ่งพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่

  • พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การ
  • พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าของเพื่อนร่วมงาน

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การ จำแนกเป็น 5 องค์ประกอบย่อยดังนี้

  • การถอนตัว เช่น การขาดงาน มาสาย และพักนานกว่ากำหนด
  • การละเมิด เช่น เล่าถึงสิ่งแย่ ๆ เกี่ยวกับที่ทำงานให้คนนอกฟัง
  • การลักขโมย เช่น นำของใช้จากที่ทำงานกลับบ้าน
  • ความเบี่ยงเบนในการปฏิบัติงาน เช่น ทำงานผิดเพื่อประชด และไม่ทำตามคำสั่ง
  • การสร้างความเสียหาย เช่น ใช้วัสดุและอุปกรณ์ของบริษัทมากกว่าความจำเป็น

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าของเพื่อนร่วมงาน จำแนกเป็น 4 องค์ประกอบย่อยดังนี้

  • การละเมิด เช่น ล้อเลียนเพื่อนร่วมงาน เมินเฉยต่อบางคนในที่ทำงาน คุกคามเพื่อนร่วมงาน ปล่อยข่าวลือในเรื่องไม่ดีในที่ทำงานเมื่อรู้สึกไม่พอใจ
  • การลักขโมย เช่น หยิบของของเพื่อนร่วมงานติดมือกลับบ้าน
  • ความเบี่ยงเบนในการปฏิบัติงาน เช่น ปฏิเสธที่จะช่วยบางคนในที่ทำงาน ปิดบังข้อมูลที่สำคัญไม่ให้บางคนในที่ทำงานรู้ และรบกวนเพื่อนร่วมงานขณะที่เขากำลังทำงานอยู่
  • การสร้างความเสียหาย เช่น ทำลายทรัพย์สินของเพื่อนร่วมงาน

 

นอกจากนี้ พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้ายังสามารถจำแนกลักษณะของการกระทำออกเป็น 2 แบบ คือ

  • การกระทำแบบแสดงออก ได้แก่ ความก้าวร้าว การทำลาย การขู่เข็น การวางเพลิงและการลักขโมย
  • การกระทำแบบไม่แสดงออกโดยตรง ได้แก่ การจงใจว่าตนไม่สามารถทำตามคำสั่ง การจงใจทำงานผิด การมาทำงานสาย การใช้วัสดุอุปกรณ์ในที่ทำงานสิ้นเปลือง การเพิกเฉยต่อบางคนในที่ทำงาน การทำร้ายผู้อื่นในที่ทำงานด้วยวาขา และการนำของใช้ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัวที่บ้าน

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า


 

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า ความคับข้องใจที่เกิดจากการเผชิญสิ่งเร้าความเครียดในที่ทำงาน ได้แก่ “ความขัดแย้งกับหัวหน้า” “ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน” และ “ความจำกัดขององค์การ” ส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าได้

 

(ความจำกัดขององค์การ หมายถึง สถานการณ์ในที่ทำงานที่ขัดขวางไม่ให้บุคคลใช้ความสามารถและแรงจูงใจที่จะทำผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยปัญหาที่ทำให้รู้สึกไม่ดีกับงานที่ทำงาน ได้แก่ อุปกรณ์หรือวัสดุคุณภาพต่ำ กฎเกณฑ์หรือกระบวนการดำเนินงานขององค์การ งบประมาณการทำงานไม่เพียงพอ สิ่งแวดล้อมในที่ทำงานไม่ดี มีเสียงดังรบกวนขณะทำงาน เป็นต้น)

 

นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจเรื่องอายุและประสบการณ์การทำงาน กล่าวคือ การวิจัยในต่างประเทศพบว่ายิ่งบุคคลมีอายุมากขึ้นและประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ยิ่งมีแนวโน้มทำพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าลดลง เนื่องจากบุคคลมีความซื่อสัตย์ต่อองค์การและมีแนวโน้มที่จะไม่ทำพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อองค์การ แต่ในการวิจัยในประเทศไทยพบผลที่ตรงกันข้าม คือ ยิ่งบุคคลมีอายุมากขึ้นและมีประสบการณ์มากขึ้นยิ่งมีแนวโน้มทำพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้ามากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือค่านิยมของแต่ละองค์การในประเทศไทย

 

ส่วนปัจจัยด้านบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า ได้แก่ การมีบุคลิกภาพแบบหลงตนเองสูง ความฉลาดทางอารมณ์ต่ำ การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ และการมีอัตลักษณ์ทางจริยธรรมต่ำ (ความต้องการในการดำรงความสอดคล้องและคงเส้นคงวาระหว่างหลักจริยธรรมที่ตนยึดถือและการแสดงออกต่อสังคมภายนอก) เป็นต้น

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

“การทำนายพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การและเพื่อนร่วมงานจากบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ลักษณะนิสัยด้านความโกรธ และสิ่งเร้าความเครียดในการทำงาน” โดย ประพิมพา จรัลรัตนกุล (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44139

 

“อัตลักษณ์ทางจริยธรรม และคติรวมหมู่ทางจิตในฐานะตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง และพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า” โดย ชิตพล สุวรรณนที (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58262

 

ภาพประกอบจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Social_Loafing.jpg

Emotional eating – การรับประทานด้วยอารมณ์

 

 

 

 

การรับประทานด้วยอารมณ์ หมายถึง การรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับปกติเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางลบ อาทิ ความเสียใจ ความกังวล ความโกรธ หรืออารมณ์ทางบวก

 

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วอารมณ์ที่กระตุ้นให้เกิดการรับประทานอาหารในลักษณะนี้นั้นจะเป็นอารมณ์ทางลบ โดยการรับประทานอาหารมักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลอยู่คนเดียว หลังเวลาเย็นหรือระหว่างรับประทานของว่าง และมักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลรับประทานอาหารที่บ้านของตนเองมากกว่าการรับประทานอาหารข้างนอก

 

การรับประทานด้วยอารมณ์ไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกาย คือ อาการหิว หรือไม่ได้ทำไปสู่เจตนาเพิ่มพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน หากแต่เป็นไปเพื่อเยียวยาอารมณ์ทางลบ หรือส่งเสริมอารมณ์ทางบวกของบุคคล

 

ซึ่งอาหารที่บุคคลเลือกรับประทานด้วยอารมณ์นั้นมักมีแคลอรี่สูง หรือคาร์บโบไฮเดรตสูง ซึ่งปริมาณแคลอรี่ที่สูงขึ้นนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลน้ำหนักขึ้นและอยู่ในภาวะอ้วน

 

 

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์


 

ลักษณะอารมณ์ (Mood)

การรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มเติมอารมณ์ทางบวกและลดอารมณ์ทางลบ และการรับประทานอาหารยังถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ลบ เช่น เบื่อหน่าย เศร้า โกรธ กลัว กังวล และเหงา

 

สถานการณ์ที่ต้องเผชิญ (Situational Characteristic)

เหตุการณ์ในชีวิตเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ โดย Macht, Haupt และ Ellgring พบว่านักเรียนที่ใกล้จะสอบมีความเครียดมากกว่าและมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารเพื่อจัดการความเครียด

 

การจำกัดอาหาร (Eating Restraint)

อาจส่งผลให้บุคคลที่ควบคุมน้ำหนักยังเป็นผู้หมกมุ่น เข้มงวดอยู่กับการรับประทานอาหารแบบเข้มงวด ทำให้เสี่ยงต่อการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ เช่น เมื่อบุคคลต้องใช้ความคิดในระดับที่มาก มีแนวโน้มที่จะบริโภคอาหารในปริมาณมากขึ้นด้วย

 

ภาวะอ้วน (Obesity)

ทฤษฎี Psychosomatic (Bruch, 1973) เสนอว่าความเชื่อมโยงระหว่างภาวะอ้วนและการรับประทานอาหารเกิดจากการเรียนรู้ของบุคคลผ่านการจัดการอารมณ์ทางลบ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก โดย Braet และ Van Strein (1997) ได้รายงานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีที่มีภาวะอ้วนมีความเกี่ยวโยงกับการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์มากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติ

 

ชาติพันธุ์ (Ethnic Background)

การศึกษาของ Jingxiong และคณะ (2007) พบว่าผู้ปกครองในประเทศจีนใช้อาหารเป็นการแสดงความรัก ความห่วงใย รวมถึงการฝึกลูกหลานของตนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Steinegger, Dorn, Goody, Khoury และ Daniels (2005) ที่พบว่าสตรีแอฟริกันอเมริกันมีความเสี่ยงที่จะรับประทานอาหารด้วยอารมณ์เป็นพิเศษในช่วงวัยรุ่นตอนต้น

 

อิทธิพลของครอบครัว (Familial Influence)

เด็กอาจเรียนรู้การรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ ผ่านการสังเกตและเลียนแบบของพ่อแม่ นอกจากนี้ Snoek และคณะ (2007) เสนอว่า ลูกในวัยรุ่นที่มีรายงานว่าได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์น้อย มักมีความเสี่ยงในการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์มากกว่าวัยรุ่นที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง

 

ลักษณะบุคลิกภาพ (Dispositional Characteristic)

การศึกษาของ Benjamin และ Wulfert (2002) พบว่าลักษณะร่วมของผู้ที่รับประทานอาหารด้วยอารมณ์และการติดแอลกอฮอล์มีบุคลิกภาพหุนหันพลันแล่นและคล้อยตามสังคมได้ง่าย

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมต่อการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์และการรับรู้ความสามารถของตนในการลดน้ำหนักของนิสิตนักษึกษาหญิง” โดย ภาสุร จึงแย้มปิ่น (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55391

 

ภาพจาก https://www.fitfoundme.com/kick-emotional-eating-curb/

พูดได้มากกว่า 1 ภาษา ทำให้สมองเฉียบคมขึ้นจริงไหม ?

 

ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงเรียนสอนภาษาและโรงเรียนสองภาษาเพิ่มขึ้นมากมาย การเรียนรู้ภาษาที่สอง (bilingualism) ทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้คนต่างชาติ เปิดโอกาสสู่มิตรภาพ ความรัก ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และเปิดโลกทัศน์ต่อความคิดและวัฒนธรรมหลากหลาย

 

แต่นอกจากประโยชน์เหล่านี้ การพูดได้ 2 ภาษาส่งผลดีต่อการทำงานของสมองด้วยหรือไม่?

 

ในหลายปีที่ผ่านมาสื่อในสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองเป็นเหมือนการลับสมองให้เฉียบคมมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยจากนักจิตวิทยาที่ศึกษากระบวนการรู้คิดของคน

 

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพค่ะ

 

ฝนสามารถพูดภาษาไทยและภาษาจีน ส่วนใหญ่เธอพูดภาษาไทยกับครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่เธอใช้ภาษาจีนสื่อสารกับอาม่าอากงซึ่งพูดภาษาไทยไม่ได้ ฝนต้องเรียนรู้คำศัพท์และหลักไวยากรณ์ที่แตกต่างของ 2 ภาษานี้ และต้องเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมกับคนที่คุยด้วย โดยยับยั้งไม่นำอีกภาษาหนึ่งมาใช้

 

ความสามารถในการสลับระหว่างสองภาษานี้จึงอาจส่งผลประโยชน์ต่อกระบวนการทำงานของสมองของฝน เรียกว่า Bilingual Advantage Hypothesis สมมุติฐานนี้กล่าวว่า คนที่เรียนรู้ภาษาที่สองเหมือนได้รับการฝึกสมองเพิ่มเติมที่จะช่วยส่งเสริมระบบความจำ การจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ (prioritizing) และการสลับทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (task switching) คล้ายกับการเล่นเกมไขปริศนาในโทรศัพท์มือถือที่อ้างว่าช่วยพัฒนาความจำหรือทักษะอื่น ๆ

 

ทั้งหมดนี้เป็นความจริงหรือเป็นเพียงการล่อลวงทางการตลาด?

 

มีงานวิจัยส่วนหนึ่งที่สนับสนุนว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองมีประโยชน์ต่าง ๆ ดังกล่าว แต่บางงานวิจัยก็ไม่พบหลักฐานยืนยันความเชื่อนี้ ดังนั้น เรามาดู 2 ประเด็นของ Bilingual Advantage กันค่ะ ว่าจริงหรือไม่จริงแค่ไหน

 

การพูดได้ 2 ภาษา ส่งเสริมระบบความคิดด้านอื่นด้วย นอกจากพัฒนาการด้านภาษา

ข้อนี้มีหลักฐานสนับสนุนค่ะ มีงานวิจัยหนึ่งวัดการทำงานของสมองของเด็กวัยรุ่นระหว่างรับการทดลองที่ต้องใช้ทักษะการยับยั้งและสลับเปลี่ยน พบว่าเด็กที่พูดได้สองภาษาสามารถทำงานนั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กที่พูดได้ภาษาเดียว และมีงานวิจัยอีกงานที่พบว่า เด็กวัยประถมที่พูดได้สองภาษาสามารถทำคะแนนได้มากกว่าเด็กที่พูดได้ภาษาเดียวในการทดลองที่วัดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องใช้ทักษะการคิดค้นคำตอบที่แปลกใหม่และหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ เช่น ให้เด็กลองนึกว่าสิ่งของชิ้นนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ อย่างไรบ้าง

 

ผลทดลองชี้ว่าเด็กที่พูดได้สองภาษาอาจมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเพราะพวกเขามีคลังคำศัพท์สองชุดที่แตกต่าง และต้องเลือกใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมในการสื่อสาร อย่างไรก็ดี ประโยชน์ในความคิดสร้างสรรค์นี้อาจจำกัดแค่ความคิดสร้างสรรค์ทางภาษาเท่านั้น เพราะเด็กที่พูดได้ภาษาเดียวสามารถทำคะแนนได้ดีเท่ากับเด็กที่พูดได้สองภาษาในการทดลองที่วัดความคิดสร้างสรรค์ด้านอื่นที่ไม่ใช้ภาษา เช่น การวาดรูปหรือต่อเติมรูปภาพ

 

การพูดได้ 2 ภาษา ช่วยต่อต้านโรคอัลไซเมอร์ในวัยชรา

ข้อนี้ก็มีงานวิจัยสนับสนุนเช่นกันค่ะ ผู้สูงวัยที่พูดได้สองภาษามีอาการสูญเสียความทรงจำช้ากว่าผู้ที่พูดได้ภาษาเดียวประมาณ 4-5 ปี น่าทึ่งมากค่ะ เพราะปัจจุบันยังไม่มียาชนิดไหนที่มีผลแบบนี้ต่อโรคอัลไซเมอร์ การพูดได้ 2 ภาษาอาจปกป้องสมองต่อการเสื่อมเร็วด้วยการฝึกฝนที่สมองได้รับจากการถูกใช้ในการควบคุมสองภาษา (โดยมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับระดับการศึกษาและการดูแลสุขภาพของคนนั้น ๆ ด้วย) แต่การเรียนรู้ภาษาที่สองไม่ได้ป้องกันโรคอัลไซเมอร์โดยสิ้นเชิงนะคะ เพียงแต่อาจช่วยเลื่อนอาการความจำเสื่อมให้เกิดขึ้นช้ากว่าผู้อื่นที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกัน

ถึงแม้จะมีงานวิจัยสนับสนุน Bilingual Advantage แต่เราไม่ควรด่วนสรุปว่าการพูดสองภาษาจะมีประโยชน์ดังกล่าวต่อสมองอย่างแน่ชัดค่ะ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึง เช่น สภาพแวดล้อมและวิธีการใช้ภาษาที่สอง เป็นต้น

 

ขอยกตัวอย่างสองกรณีให้เห็นภาพค่ะ

 

มิ้นท์เรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนสองภาษาในกรุงเทพฯ แต่เธอพูดภาษาไทยกับเพื่อนและครอบครัวที่บ้าน ในขณะที่ลินดาก็เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แต่เธอเรียนที่ฟิลิปปินส์ คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่สามารถพูดทั้งภาษาฟิลิปปินส์และภาษาอังกฤษได้คล่อง ในชีวิตประจำวันลินดาอาจใช้ทั้งสองภาษานี้สลับกันในประโยคเดียวกันด้วย (code switching) ลินดาจึงอาจได้รับประโยชน์ต่อสมองจากการพูดภาษาที่สองมากกว่า เพราะเธอได้ฝึกฝนการสลับเปลี่ยนระหว่างสองภาษามากกว่ามิ้นท์

 

สรุปแล้วการพูดได้ 2 ภาษาทำให้สมองเฉียบคมขึ้นจริงหรือไม่?

 

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเรียนภาษาที่สองมีผลต่อพัฒนาการของสมองและการทำงานของกระบวนการรู้คิด แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่พูดสองภาษาจะได้รับผลในแบบเดียวกันค่ะ การเรียนรู้สองภาษาส่งผลต่อบุคคลในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ผลสรุปเรื่อง Bilingual Advantage ยังไม่แน่ชัด แต่การเรียนรู้ภาษาที่สองย่อมมีประโยชน์อยู่แล้วค่ะ ทำให้เราสามารถสื่อสารรู้เรื่องกับผู้คนต่างประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา ได้เพื่อน ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ได้ใช้ในการงาน ยังไงก็คุ้มค่าค่ะที่จะลงทุนและใช้เวลาในการเรียนรู้ภาษาเพิ่มเติม

 

 

รายการอ้างอิง

 

Abutalebi, J., Della Rosa, P. A., Green, D. W., Hernandez, M., Scifo, P., Keim, R., … & Costa, A. (2011). Bilingualism tunes the anterior cingulate cortex for conflict monitoring. Cerebral Cortex, 22(9), 2076-2086.

 

Bialystok, E., Craik, F. I., & Freedman, M. (2007). Bilingualism as a protection against the onset of symptoms of dementia. Neuropsychologia, 45(2), 459-464.

 

Bialystok, E., Craik, F. I., & Luk, G. (2012). Bilingualism: consequences for mind and brain. Trends in Cognitive Sciences, 16(4), 240-250.

 

Linck, J. A., Kroll, J. F., & Sunderman, G. (2009). Losing access to the native language while immersed in a second language: Evidence for the role of inhibition in second-language learning. Psychological Science, 20(12), 1507-1515.

 

Okoh, N. (1980). Bilingualism and divergent thinking among Nigerian and Welsh school children. The Journal of Social Psychology, 110(2), 163-170.

 

ภาพจาก https://www.psychologicalscience.org

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์สุภสิรี จันทวรินทร์

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์

 

จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์

นี่เป็นคำถามที่ผิดตรรกะของชีวิตและวิวัฒนาการอย่างที่สุดคำถามหนึ่งเท่าที่เคยเจอมาในชีวิต

 

โลกได้ศึกษาจิตวิทยามานานแล้ว ถ้าจะพูดแบบเหมารวมสักหน่อยก็น่าจะพร้อมกับช่วงที่มีมนุษย์คนแรกถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก แต่สำหรับการศึกษา “อย่างเป็นระบบ” นั้น พระพุทธเจ้าและปราชญ์ท่านอื่น ๆ ก็ได้ทำกันมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วเช่นกัน ซึ่งตามหลักวิวัฒนาการแล้ว สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่น่าจะคงอยู่มาได้นานขนาดนี้ ถ้ามันจะไม่มีประโยชน์จริง ๆ ศาสตร์นี้คงจะหายไปตามกาลเวลาและก็คงจะไม่มีโอกาสได้เรียนวิชานี้เป็นแน่

 

น่าแปลกใจและน่าสนใจมากว่าคำถามนี้ถูกถามมาได้อย่างไร

 

คำถามที่ไม่เหมาะสมมักจะนำไปสู่คำตอบที่ไม่เหมาะสม แต่คำถามที่ไม่เหมาะสมบางคำถามอาจจะนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจมากกว่าได้

 

สำหรับบางคนที่ยังสงสัยว่า อะไรเล่าที่เป็นจิตวิทยาแล้วอะไรเล่าที่ไม่เป็น ตอนนี้ขอให้มองข้ามข้อสงสัยนี้ไปก่อน สิ่งที่เราจะคุยกันต่อไปอาจจะให้คำตอบด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

 

เอาล่ะ ในเมื่อมี “ความเชื่อ” ว่าอย่างไรเสีย ศาสตร์จิตวิทยาก็มีประโยชน์ คำถามต่อมาคือ “เพื่อใครหรือสำหรับใคร” ที่ว่าสำหรับมนุษย์นั้นจะว่ากว้างก็กว้างแต่จะว่าแคบก็แคบ อย่างที่เราอาจเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า สิ่งที่มีประโยชน์สำหรับบางคนอาจจะไม่มีประโยชน์…หรือเรียกว่ามีโทษน่าจะถูกต้องมากกว่า…สำหรับอีกหลาย ๆ คนก็ได้ ถ้าเช่นนั้น มันน่าสนใจว่าจิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์ทุกคนทุกผู้ทุกวัยได้อย่างไร

 

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มองตัวเองเป็นหลัก…ไม่มากก็น้อย

ลองเปลี่ยนคำว่า “มนุษย์” เป็น “ทุกคนเท่า ๆ กัน” ดีไหมครับ “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับทุกคนเท่า ๆ กัน”

 

ลองแบ่งคนอย่างหยาบ ๆ ออกเป็น 3 กลุ่มกันก่อน

 

  1. คนกลุ่มแรกเกิดมาพร้อมกับพรวิเศษบางอย่างที่ทำให้เขาหรือเธอมีความสามารถที่แตกต่างเหนือกว่าคนทั่วไป เป็นความสามารถทางศิลปวิทยาการทั่วไปแหละ อย่าเพิ่งไปนึกถึงความสามารถพิสดารอะไรที่เราเห็นกันในหนังในละครเลย
  2. คนกลุ่มที่สองเกิดมาพร้อมกับสิ่งทั่ว ๆ ไป
  3. คนกลุ่มที่สามเกิดมาพร้อมกับปัญหาหรือความบกพร่องอะไรบางอย่าง

 

ไม่ได้บอกว่าการแบ่งแบบนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องนะครับ แค่ลองคิดเล่น ๆ เท่านั้น

 

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า ศาสตร์จิตวิทยาน่าจะมีประโยชน์ “มากที่สุด” สำหรับคนกลุ่มที่สาม หรืออาจจะคิดไปไกลกว่านั้นว่า ศาสตร์จิตวิทยาน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนกลุ่มที่สาม “เท่านั้น”

 

ผิดไปมากเลยครับ ลองไล่จากข้างหลังมาข้างหน้าก็แล้วกัน

 

สำหรับคนกลุ่มที่สาม จะพูดว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากในการบำบัดรักษาก็ไม่น่าจะเป็นคำพูดที่เกินไปนัก คนที่มีปัญหาจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ ศาสตร์จิตวิทยาจะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

ส่วนคนกลุ่มที่สองเล่า จิตวิทยาจะมีประโยชน์อะไร

 

แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้อย่างปกติ แต่คงไม่มีใครที่ไม่มีปัญหาที่ต้องแก้ไข ไม่มีความทุกข์ที่ต้องปลดเปลื้อง ไม่มีสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ และไม่มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ต้องสร้างและคอยประคับประคอง การช่วยคนให้จัดการกับสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของศาสตร์จิตวิทยาเท่านั้นครับ

 

คราวนี้ลองมาดูคนกลุ่มที่หนึ่งบ้าง อย่างที่พูดไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า คนกลุ่มนี้เกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่พิเศษบางอย่างที่อาจเหนือกว่าคนอื่นอีกหลาย ๆ คน ทำให้เราคิดไปว่า คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องพึ่งศาสตร์จิตวิทยาด้วยหรือ?

 

จำเป็นมากครับ…

 

มีสักกี่คนที่ค้นพบศักยภาพของตัวเอง…ด้วยตัวเอง มีสักกี่คนเล่าที่สามารถฟูมฟักศักยภาพนั้นให้กลายเป็น “ความสามารถพิเศษ” ที่หลาย ๆ คนยกย่อง…ด้วยตัวเอง และมีสักกี่คนเล่าที่ไม่มีปัญหากับ “สิ่งพิเศษ” เหล่านี้

 

จิตวิทยาสามารถช่วยให้เขาหรือเธอค้นพบสิ่งนั้น พัฒนามันให้เต็มที่ และป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความพิเศษนั้นเอง

 

คราวนี้ลองคิดเกินไปกว่าประโยชน์ของมนุษย์สักเล็กน้อย ลองเติมคำว่า “เท่านั้น” และสลับเรียงคำในประโยคใหม่ จะได้ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์เท่านั้นจริงหรือ” น่าสนใจนะครับ

 

ถ้าจะให้คิดถึงเรื่องสำคัญ ๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวของเราเองแล้ว คงจะหนีไม่พ้นเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อาจรวมไปถึงสัตว์สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกนี้ร่วมกับเราด้วยจิตวิทยาจะมีประโยชน์ต่อสิ่งเหล่านี้ไหม?

 

ตอบได้เลยว่ามีครับ…

 

ลองคิดง่าย ๆ จากแนวคิดที่ว่าทุกสิ่งในโลกล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย และมนุษย์เองนี่แหละที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการคงอยู่ของหลาย ๆ สิ่งในธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ก็น่าจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยเช่นกัน

 

หน้าที่หนึ่งของศาสตร์จิตวิทยาก็คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ โดยผลของมันถ้าจะพูดอย่างกว้าง ๆ ก็คือการทำให้คน ๆ นั้นและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

 

มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกบริโภคเครื่องดื่มสักขวด?

 

ถ้าเรารู้ว่ากระบวนการผลิตเครื่องดื่มชนิดนี้มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการกำจัดสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ มีการปฏิบัติกับลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบต่อแหล่งทรัพยากร เราอาจจะเลือกไม่อุดหนุนของชนิดนี้ ถามว่าการเลือกซื้อ…พฤติกรรมที่ดูเหมือนจะไม่มีความสำคัญอะไร…ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างรอบตัวคน ๆ นั้นหรือ?

 

ช่วยเปลี่ยนแปลงครับ แต่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ

 

ยังมีกระบวนการอื่น ๆ อีกมากมายที่ร่วมกันกำหนดผลของพฤติกรรมของเรา แต่การที่เราตระหนักรู้ว่า พฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเองนั้นมีผลกระทบขยายกว้างไปกว่าขอบเขตแคบ ๆ รอบตัวเรา ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

 

จิตวิทยาสามารถช่วยกระตุ้นให้คนเกิดการตระหนักรู้ผลกระทบของพฤติกรรม ทั้งต่อตัวเองและต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไม่ว่าใกล้หรือไกล เมื่อรู้แล้วก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี ประโยชน์ก็อาจจะบังเกิดกับทั้งตัว “มนุษย์” เองและธรรมชาติรอบตัว

 

จาก “ความเชื่อ” ที่ว่าจิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์…ทุกคน และรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราด้วย แต่ทำไมคนบางคนถึงมองไม่เห็นประโยชน์ของมัน?

 

ลองปรับคำถามจากคำถามแรกดูนะครับ

 

คำตอบที่ว่าจริงหรือไม่จริงนั้นดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่หยาบเกินไปสักหน่อย ถ้าเราเพิ่มมุมมองการรับรู้ของคนและระดับของความมีประโยชน์ในคำถามเล่า อะไรจะเกิดขึ้น ลองเพิ่มคำว่า “มากพอ” ในคำถามที่ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์” เป็น “จิตวิทยามีประโยชน์มากพอจริงหรือสำหรับมนุษย์”

 

ที่ว่ามากพอหรือไม่นั้น มันน่าจะขึ้นอยู่กับความต้องการและมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละคน เพราะฉะนั้นขอปรับเปลี่ยนคำถามอีกสักเล็กน้อยเป็น “ทำไมบางคนเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากพอที่จะให้ความสำคัญกับมัน แต่บางคนกลับเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์แต่ไม่มากพอที่จะสนใจ”

น่าคิดนะครับ…

 

เป็นไปได้ไหมว่า ที่คนหนึ่งเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากพอในขณะที่อีกคนไม่เห็นเช่นนั้นเป็นเพราะว่า ต่างคนต่างเห็นความชัดเจนของศาสตร์จิตวิทยาไม่เท่ากัน คนแรกสามารถนึกออกว่าจิตวิทยาคืออะไร ทำอะไรได้ และใช้อย่างไร แต่คนหลังกลับมองไม่เห็น ถึงจะเห็นก็เห็นแบบผิด ๆ ถูก ๆ เลือนลางเต็มที

 

หลายคนคิดว่าศาสตร์จิตวิทยาศึกษาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ถูกมากกว่าผิดครับ….

 

จิตวิทยาแตกต่างจากศาสตร์แขนงอื่น ๆ ตรงที่ส่วนใหญ่แล้วเราศึกษาสิ่งที่เป็นนามธรรมมากกว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรม เป็นอัตวิสัยมากกว่าเป็นปรวิสัย และเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ที่มีสารเคมีวัดได้อย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับวิศวกรรมศาสตร์ที่มีสิ่งปลูกสร้างจับต้องได้

 

จิตวิทยาศึกษาสิ่งที่อยู่ภายในสมองและจิตใจ ความคิด ความรู้สึก รวมไปถึงพฤติกรรมที่เราแสดงออกมา สิ่งเหล่านี้นอกจากจะจับต้องไม่ได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของเรา…เกินไป

 

มนุษย์ทุกคนมีความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมต่าง ๆ เราสื่อสารสิ่งที่เราคิด เราแสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก เรามองเห็นสิ่งที่เราและคนอื่นกระทำ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งเราอาจไม่ทันได้สังเกตถึง “ความแปลกประหลาด” ของมัน และมองข้ามความสำคัญของการศึกษาสิ่งเหล่านี้ไป

 

ลองมองตัวเองและคนรอบข้างดูสิครับ ฟังสิ่งที่เราคิด รับสิ่งที่เรารู้สึก และสังเกตสิ่งที่คนอื่นกระทำ ลองคิดว่าเพราะอะไรมันถึงได้เป็นอย่างนั้น ลองคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ เพียงเท่านี้จิตวิทยาดูจะน่าสนใจมากขึ้น และอาจจะเห็นประโยชน์ “มากพอ” ที่จะให้ความสำคัญกับมันก็ได้

เราลองมาตั้งคำถามที่หันเข้าสู่คนใช้ศาสตร์กันบ้างดีกว่า แค่เติมคำว่า “นัก” เข้าไปในประโยคคำถามเดิมเท่านั้นเอง “นักจิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์”

 

จริง ๆ แล้วคำถามนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคำถามเดิมที่ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์” เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมองจากศาสตร์มาเป็นคนใช้ศาสตร์เท่านั้นเอง

 

อาจจะตอบง่าย ๆ ได้ว่า ถ้าอาชีพนักจิตวิทยาไม่มีประโยชน์ ก็คงจะไม่มีอาชีพนี้อยู่ในสังคมแล้ว ตอบแบบกำปั้นทุบดิน

 

ลองเปลี่ยนจาก “มีประโยชน์หรือไม่” เป็น “จำเป็นหรือไม่” ดีกว่าไหมครับ เพราะทุกสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีประโยชน์ แต่บางสิ่งที่มีประโยชน์อาจจะไม่จำเป็นก็ได้

 

แน่นอนว่า นักจิตวิทยามีประโยชน์ แต่ความจำเป็นนั้นอาจจะไม่เท่ากันสำหรับแต่ละคน ทุกคนต่างมีปัญหาหรือจุดสะดุดในชีวิต บางคนอาจจะก้าวผ่านไปได้ด้วยตัวเอง บางคนที่ไปต่อไม่ได้อาจจะต้องการความช่วยเหลือ นักจิตวิทยาจะมีความจำเป็นมากสำหรับคนกลุ่มหลังแต่จะมีความจำเป็นน้อยลงสำหรับคนกลุ่มแรก

 

ใครที่มีจุดสะดุดหรือตกหล่มบ่อย นักจิตวิทยาก็จะมีความจำเป็นต่อเขาหรือเธอมากหน่อย นักจิตวิทยาอาจจะช่วยคลายความไม่สบายใจ ช่วยทำให้มองเห็นปัญหาและมีความคิดต่อปัญหานั้นชัดเจนมากขึ้น เปรียบได้กับการทำให้น้ำที่ขุ่นอยู่นั้นใสขึ้น ส่วนใครที่มีจุดสะดุดน้อยหรือเมื่อตกหล่มแล้วสามารถขึ้นมาเองได้ นักจิตวิทยาก็จะมีความจำเป็นต่อเขาหรือเธอน้อยหน่อย อาจจะแค่ช่วยสะกิดบางจุดที่ขรุขระให้ราบเรียบ เดินต่อไปได้อย่างราบรื่นเท่านั้นเอง

 

พอจะสรุปได้ว่า ทั้งศาสตร์และนักจิตวิทยาล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น แต่จะมีความจำเป็นต่อคนแต่ละคน สิ่งแต่ละสิ่งมากน้อยอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการ มุมมองการรับรู้ และความเข้าใจปัญหาเหตุการณ์ต่าง ๆ ของแต่ละคนครับ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Cognitive dissonance – ความไม่คล้องจองของปัญญา

 

 

ความไม่คล้องจองของปัญญา หมายถึง ภาวะที่ส่วนของปัญญามีความสัมพันธ์กันแบบไม่คล้องจอง คือ ส่วนของปัญญาที่เกิดตามหลังเป็นไปอย่างสวนทางกับส่วนของปัญญาส่วนแรก

 

ส่วนของปัญญา หมายถึง ส่วนย่อย ๆ ส่วนหนึ่งของปัญญา อันได้แก่ ความรู้ ความเชื่อ เจตคติ ความคิดเห็น และค่านิยมที่บุคคลมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งต่อตนเอง ต่อพฤติกรรมของตนเอง และสภาพแวดล้อม

 

[ตัวอย่าง]
ส่วนของปัญญาที่ 1 – เป็นคนไทย
ส่วนของปัญญาที่ 2 – เชียร์ฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ในการแข่งขันกับทีมชาติไทย
เกิดความไม่คล้องจองของปัญญาเพราะการเป็นคนไทยหมายรวมถึงการต้องเชียร์ทีมชาติไทยด้วย

 

ทฤษฎีความไม่คล้องจองของปัญญา (โดย Leon Festinger, 1957) เสนอว่า เมื่อเกิดความไม่คล้องจองของปัญญา บุคคลจะเกิดความไม่สบายใจ จึงต้องพยายามลดความไม่คล้องจองทางปัญญาที่เกิดขึ้นและเพิ่มความกลมกลืนเพื่อลดความไม่สบายใจนั้น

 

บุคคลลดความไม่คล้องจองของปัญญาได้หลายวิธี เช่น

  • เปลี่ยนส่วนของปัญญาที่เกี่ยวกับพฤติกรรม
  • เพิ่มส่วนของปัญญาใหม่ขึ้นมา
  • ลดความสำคัญของประเด็นที่ขัดแย้ง

 

ตัวอย่างเช่น

  • กลับมาเชียร์ทีมชาติไทย
  • อธิบายว่ามันเป็นแค่แมทช์กระชับมิตร
  • บอกว่าถ้าทีมชาติไทยแข่งกับทีมชาติอื่น ก็กลับมาเชียร์ทีมชาติไทย

 

ทฤษฎีความไม่คล้องจองของปัญญามีความสำคัญเนื่องจากสามารถอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในการประเมิน (evaluation) การตัดสิน (judgment) และการตัดสินใจ (decision) ในเรื่องต่าง ๆ ได้ กล่าวคือ ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่การไม่ลงรอยกันระหว่างส่วนของปัญญา และอยู่ที่วิธีการที่บุคคลจัดการเพื่อลดความไม่คล้องจองที่เกิดขึ้น

 

การตระหนักถึงผลกระทบของปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็จะช่วยให้บุคคลสามารถพัฒนาการประเมินและการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของความชอบความคงเส้นคงวาและการรับรู้ความมีอิสระ ในการเขียนเรียงความต่อต้านเจตคติต่อความไม่คล้องจองของปัญญา” โดย มยุรินทร์ เตชะเชวงกุล (2545) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/90

“ผลของการเห็นคุณค่าแห่งตน การรับรู้โอกาสเลือก และการชี้นำต่อการเกิดความไม่คล้องจองของปัญญา” โดย ระวีวรรณ ทิพยานนท์ (2551) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20426

เมื่อไรที่จะมาหานักจิตวิทยาการปรึกษา

 

“เอาจริงๆ พี่ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้สึกอะไร เป็นแบบนี้มาหลายเดือนแล้ว ไปทานข้าวกับเพื่อนก็ไม่สนุก กลับบ้านก็เหงา รบกวนสอบถามได้ไหมคะ พี่เหมาะกับการมาหานักจิตวิทยาไหมคะ เขาจะว่าพี่เป็นอะไรหรือเปล่า”

 

“ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ทำไปก็มีแต่จะพัง ไม่อยากทำอะไรเลยค่ะ แบบนี้คุยกับนักจิตวิทยาได้ไหมคะ”

 

“มีแต่คนบอกว่าเรื่องเล็ก แต่เราไม่รู้จะทำยังไง เราคุยกับนักจิตวิทยาได้ไหม”

 

เสียงจากปลายทางสายโทรศัพท์ มักโทรมาถามด้วยความกังวล และไม่แน่ใจ หากแต่ต้องการได้รับการยืนยันจากปลายสายอีกฝั่ง ว่ามีคนรับฟังฉัน ก็คงเพียงพอที่จะให้ตัดสินใจมาพูดคุยได้

 

คำถามที่เขียนไว้ข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างของความกังวลใจ ลังเล สงสัยและไม่แน่ใจในการตัดสินใจเข้ามารับบริการการปรึกษาเขิงจิตวิทยาหรือเข้ามาพูดคุยทางด้านสุขภาพจิต บางครั้งอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว บางครั้งอาจจะคิดว่าไม่ควรมาเพราะเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ที่ใครก็เจอ แต่ในฐานะผู้เขียนอยากจะชวนผู้อ่านลองสำรวจตัวเราเองในแต่ละวัน ว่าเรากำลังเผชิญกับเรื่องราวและความรู้สึกใดบ้าง เพื่อจะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านตัดสินใจได้ว่าเมื่อไรที่เราน่าจะมาหานักจิตวิทยาการปรึกษา

 

 

1. เมื่อเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ยากลำบากในชีวิต

 

การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้การดำเนินชีวิตบางอย่างเปลี่ยนไปด้วย เกิดความรู้สึกผิดหวัง เครียด สับสน หรือยากต่อการจัดการชีวิตประจำวัน

 

2. เมื่อเราเริ่มรับรู้ว่ามีพฤติกรรมหรือความคิดบางอย่างที่ขัดขวางการดำเนินชีวิต

 

สามารถสังเกตได้จากการคิดหรือวิธีการที่เรามักใช้ในการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาการทำงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือคนรอบข้างที่ไม่เอื้อต่อการจัดการปัญหาให้มีประสิทธิภาพเท่าที่เราตั้งใจไว้ มิหนำซ้ำอาจจะส่งผลให้เกิดความซับซ้อนในการแก้ปัญหามากขึ้น เช่น การดื่มสุรา การทำร้ายร่างกายตนเอง พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มากหรือน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

 

3. เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าประสบการณ์ในอดีตรบกวนจิตใจ

 

แม้เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจะจบไปแล้ว แต่ผลของเหตุการณ์หรือความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ยังคงส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในทุกวันนี้ ทำให้รู้สึกกังวลใจ กลัวหรือแม้แต่เบื่อหน่ายต่อการดำเนินชีวิต

 

4. เมื่อต้องการตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ ในชีวิต

 

การตัดสินใจเรื่องสำคัญเป็นส่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสับสนและกังวลได้ เพราะเป็นการเลือกโดยที่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าผลของการเลือกนั้นจะสมหวังหรือไม่ การพูดคุยจะช่วยทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ความกังวล” หรือ “ความคาดหวัง” ได้ชัดเจนมากขึ้น

 

5. เมื่อความสัมพันธ์ในชีวิตเริ่มสะดุดหรือมีการยุติ

 

การเปลี่ยนแปลงทางด้านความสัมพันธ์ เช่น การหย่าร้าง การเลิกรา ความสัมพันธ์ระยะไกล การมีความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ส่งผลต่อความรู้สึกทั้งความรู้สึกทุกข์ใจ เจ็บปวด ทรมาน สิ้นหวัง ซึ่งย่อมมีผลต่อการรรับรู้ตนเองในแง่ลบ และความเชื่อมั่นในตนเอง

 

6. เมื่อสุขภาพกายหรือโรคภัยไข้เจ็บมีผลต่อสุขภาพจิต

 

โรคหรืออาการทางกายบางอย่างที่รบกวนการดำเนินชีวิตส่งผลให้เกิดความเครียดในการใช้ชีวิต การทำงาน หรืออาจจะทำให้มีความรู้สึกกังวลใจต่อการรักษา

 

7. เมื่อมีความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์

 

บางครั้งเราอาจจะสังเกตว่าตนเองมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากเคยเป็นคนชอบเที่ยวกับเพื่อนๆ แต่ก็เริ่มเก็บตัว ไม่อยากไปไหน รับรู้ได้ว่าตนเองมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ลักษณะที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และต้องการแนวทางในการดูแลสุขภาพจิต หรือในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์และมีคำแนะนำให้มีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาควบคู่กับการรักษากับจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

8. เมื่อต้องการสำรวจความสามารถของตนเอง

 

การมาคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษานอกจากจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นปัญหา ความไม่สบายใจแล้ว หลายครั้งสิ่งที่เราหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน คือ ศักยภาพของผู้รับบริการ เป็นการชวนให้ผู้รับบริการได้สำรวจว่าอะไรที่เอื้อให้เราสามารถก้าวผ่านปัญหาไปได้

 

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการสำรวจดังกล่าว เป็นแนวทางเบื้องต้นในการช่วยตัดสินใจ หากสิ่งสำคัญของการตัดสินใจนั้น คือ การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของเรา ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานเหมือนการดูแลสุขภาพกาย หากมีสิ่งที่เราเริ่มรู้สึกเปลี่ยนแปลง ยากต่อการรับมือ มีภาวะความรู้สึกที่ไม่สามารถรับมือได้ การมาคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาจึงเป็นทางเลือกพื้นฐานของการดูแลสุขภาพจิตอย่างหนึ่งค่ะ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Oud, M., de Winter, L., Vermeulen-Smit, E., Bodden, D., Nauta, M., Stone, L., … & Engels, R. (2019). Effectiveness of CBT for children and adolescents with depression: a systematic review and meta-regression analysis. European Psychiatry, 57, 33-45.

 

Sohrabi, R., Mohammadi, A., & Aghdam, G. A. (2013). Effectiveness of group counseling with problem solving approach on educational self-efficacy improving. Procedia-Social and Behavioral Sciences, 84, 1782-1784.

 

Seth Meyers Psy.D. Benefits of Pre-Marital Counseling: Successful Marriage. www.psychologytoday.com. (Online). 2011. Available from : https://www.psychologytoday.com/us/blog/insight-is-2020/201109/benefits-pre-marital-counseling-successful-marriage

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณวรกัญ รัตนพันธ์

นักจิตวิทยาการปรึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พยุงตัวเราเองให้ลุกยืน ในวันที่ล้มลง

 

ดิฉันเชื่อว่าเราทุกคนต้องเคยผ่านวันที่แย่ๆ ถูกแม่ว่า แฟนนอกใจ เพื่อนร่วมงานแทงข้างหลัง หรือบางทีก็แทงเราซึ่งๆ หน้านี่เลย กิจการที่ทุ่มเทลงทุนขาดทุน ถูกเพื่อนๆ ต่อต้านหรือเข้าใจผิด วันที่เราตกเป็นฝ่ายผิด เป็นคนไม่ดีพอ เป็นคนไม่เอาไหน เฮ้อ… มันช่างเลวร้ายเสียจริง

 

ถ้าวันนั้นมาถึง เราจะรับมือกับมันอย่างไรดีคะ?

 

ลองมานั่งมองเรื่องร้ายๆ พวกนี้กันก่อนนะคะ

 

ในชีวิตเรา การตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จะทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองหรือรู้สึกว่าตัวเราไม่ดีพอ ในทางจิตวิทยาเรียกเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเหตุการณ์ที่คุกคามการเห็นคุณค่าของตนเอง

 

เมื่อเจอสถานการณ์เหล่านี้เราก็จะพยายามปกป้องตัวเองด้วยการปฏิเสธบ้าง หนีความจริงบ้าง ไม่ยอมรับผิดบ้าง โทษคนอื่นหรือสิ่งอื่นบ้าง เพื่อที่จะคงความรู้สึกว่าตัวเองยังดีพอ เช่น แฟนนอกใจก็โทษแฟนว่าเค้าช่างโง่ซะจริงที่หักหลังคนแสนดีอย่างเราได้

 

แต่การแก้ตัวเหล่านี้ก็ส่งผลเสียได้ เพราะมันทำให้เราไม่ยอมรับความผิดที่เราเป็นคนก่อหรือความบกพร่องของตัวเราเพื่อที่เราจะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเองต่อไป

 

เอ… แล้วเราจะทำอย่างไรดีให้คนที่ทำผิด เลิกโทษปี่โทษกลองแล้วหันมายอมรับความบกพร่องของตน เพื่อจะปรับปรุงตัวเองต่อไป

 

นักจิตวิทยาสังคมได้เสนอเทคนิคที่เรียกว่า การยืนยันคุณค่าของตนเอง

 

 

การยืนยันคุณค่าของตนเองคืออะไร?


 

พูดง่ายๆ ก็คือการที่เราใช้เวลานึกถึงสิ่งสำคัญในชีวิตที่เรายึดถือเป็นเป้าหมายหรือเป็นธงแห่งชีวิต เช่น ครอบครัว ธรรมมะ หรือชีวิตแบบที่เราศรัทธา เช่น การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เป็นต้น หรือนึกถึงตัวตนที่แท้จริงว่าเราเป็นใครและต้องการอะไรกันแน่ การคิดถึงเรื่องที่เราทำได้ดี หรือการนึกถึงเรื่องที่มีคนชมเชยเราเมื่อวันก่อน การได้นึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เราเคยได้ทำสิ่งต่างๆ ที่สะท้อนความเป็นตัวเราก็ใช้ได้เช่นกัน เช่น เมื่อวานได้ไปทำบุญช่วยเหลือเด็กกำพร้ามา หรือการได้แสดงออกถึงค่านิยมหลักของชีวิตเรา เช่น รักครอบครัว เป็นนักสู้ ชอบท่องเที่ยว ชอบกิน แล้วแต่แต่ละคนเลยว่า สายไหน

 

 

การยืนยันคุณค่าของตนเองช่วยอะไรเราบ้าง?


 

การได้นึกว่า ‘ไอ้เรามันสายกินนะเนี่ย’ จะช่วยพยุงตัวเราให้ลุกขึ้นเมื่อต้องเจอความพ่ายแพ้ผิดพลาดได้ยังไงกัน?

 

การนึกถึงความเป็นตัวตนของเราหรือสิ่งดีๆ อื่นๆ ที่เรามีหรือได้เคยทำ สามารถช่วยให้คนเรารู้สึกมั่นใจในคุณค่าของตนเองมากขึ้นค่ะ ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ผิดพลาดมากขึ้น ลดการแก้ตัวน้ำขุ่นๆ เพื่อปกป้องตัวเอง และหันมาปรับปรุงตัวเองได้ในที่สุด เช่น สอบได้คะแนนไม่ดี ก็ยืนยันตนเองว่า “แต่เราก็เป็นลูกที่ดีของพ่อกับแม่มาตลอดเลยนะ” การคิดแบบนี้จะช่วยเตือนเราว่าชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเรื่องเดียว เรื่องที่สำคัญจริงๆ ในชีวิตเราคือเรื่องการได้มีครอบครัวที่อบอุ่นต่างหาก และในเมื่อชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเรื่องเดียว เราก็จะลดความสำคัญของปัญหานั้นลง มองปัญหาแบบ zoom out ออกมาเห็นภาพที่กว้างขึ้น เห็นปัญหาเล็กลง และช่วยให้เรารู้สึกว่า เอาอยู่….สู้เว้ย เดี๋ยวสอบรอบหน้าแก้ตัวใหม่

 

การยืนยันคุณค่าของตนเองนี้ใช้ได้ผลจริงหรือเปล่า?


 

งานวิจัยในต่างประเทศพบผลที่ดีในหลากหลายเรื่องเลยค่ะ เช่น คนดื่มเหล้าที่มักจะแก้ตัวเมื่อถูกตำหนิหรือถูกบอกให้เลิกดื่ม เมื่อได้นั่งเขียนเล่าว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของตน (เช่นครอบครัว หรือการได้อยู่กับน้องหมาตัวโปรด) คอเหล้าเหล่านี้ก็รู้สึกมีกำลังใจพอที่จะรับฟังว่ากินเหล้ามันทรมานตับนะ พอเปิดใจรับฟังว่าฉันผิดจริง ก็น่าจะนำสู่การเลิกดื่มได้ในที่สุด

 

เทคนิคง่ายๆ คิดบวกๆ ลองนำไปใช้พยุงตัวเราให้ลุกยืน ในวันที่ล้มลงนะคะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/redirect/201203/affirm-yourself

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ที่ว่างแห่งความรัก

 

ความรักเป็นปัญหาคลาสสิกของคนเรา ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน หรือไม่ว่าจะวัยใดก็ตาม ความรักก็ยังคงเป็นสิ่งที่บุคคลพูดถึงและต้องการมันอยู่เสมอ และเรามักจะแสวงหาความรักที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง

 

แล้วอะไรคือความรักที่ดีที่สุดล่ะ

 

ความรักของพ่อแม่คงเป็นหนึ่งในคำตอบที่ผุดขึ้นมาทันทีทันใดในหัวของใครหลายคน เพราะความรักของพ่อแม่เป็นความรักที่บริสุทธิ์ที่สุด พ่อแม่พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นและก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคง และพ่อแม่ไม่ได้ต้องการสิ่งใด ๆ ตอบแทนจากลูก

 

 

ความรักลักษณะนี้ทำให้เกิดอะไร

 

“Love is the giving of space” การมอบพื้นที่ว่างของพ่อแม่ ทำให้ลูกสามารถเอาใจไปวางไว้ที่ว่างแห่งนั้นได้อย่างสบายใจ สบายใจมากพอที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพ รับรู้ที่ว่างแห่งนี้เป็นที่ที่ปลอดภัย ทำให้ลูกพร้อมที่จะเติบโตตามที่ที่เขาอยากจะเป็น

 

 

ความรักแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ที่ว่างแห่งหัวใจของพ่อแม่ต้องพร้อมที่จะ “ยอมรับ” กับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างยินดีและอย่างเต็มใจ อย่างยินดีคือพร้อมยินดีกับการเติบโตบนที่ว่างที่พ่อแม่มอบไว้ให้ อย่างเต็มใจคือพร้อมยอมรับแม้จะเกิดความผิดพลาดขึ้นก็ตาม

 

การมีความรักแบบนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ “พร้อม” เสมอ ดังที่ท่านติช นัช ฮันท์ พระอาจารย์เซนชาวเวียดนาม กล่าวว่า “ถ้าคุณรักใครสักคนแต่คุณไม่ได้ทำตัวให้พร้อมสำหรับเขาแล้ว นั่นไม่ใช่ความรักที่แท้จริง”

 

 

ความรักลักษณะนี้ต้องเป็นความรักของพ่อแม่เท่านั้นใช่หรือไม่

 

ไม่จำเป็นเลย พ่อแม่บางคนก็อาจไม่มีที่ว่างเช่นนี้ให้กับลูก เช่น ลูกต้องตั้งใจเรียนสอบให้ติดหมอจะได้เป็นหน้าเป็นตาให้กับพ่อแม่นะลูก เป็นต้น ความรักของพ่อแม่เช่นนี้จึงไม่มีที่ว่างที่จะให้ลูกเติบโตได้ตามศักยภาพของเขา เป็นความรักที่ “ไม่พร้อม”

 

ในบทบาทของลูกก็สามารถ “พร้อม” ที่จะรักพ่อแม่ได้เช่นกัน ลูกสามารถมอบที่ว่างให้กับเสียงบ่นของพ่อแม่ สามารถเป็นที่ว่างให้กับความไม่รู้ในการเล่นแอพพลิเคชั่นของพ่อแม่ ความรักเช่นนี้จึงเป็นความรักที่พร้อมต้อนรับพ่อแม่ในแบบที่เขาเป็น เป็นโอกาสของการทำหน้าที่ลูกที่มอบที่ว่างให้กับพ่อแม่

 

ในการทำงานก็สามารถมีความรักที่พร้อมได้เช่นกัน หัวหน้ามีที่ว่างพร้อมที่จะให้ลูกน้องทำงานตามศักยภาพของเขา เป็นที่ว่างแห่งการต้อนรับความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงานของลูกน้อง และที่ว่างแห่งนี้จะเป็นที่ว่างให้ลูกน้องได้เติบโตขึ้น ในทางกลับกันลูกน้องเองก็สามารถมอบที่ว่างให้กับหัวหน้า เป็นที่ว่างให้กับหัวหน้าเป็นผู้นำในการทำงาน

 

ในความรักของหนุ่มสาวก็มีที่ว่างได้เช่นกัน ต่างฝ่ายต่างเป็นที่ว่างซึ่งกันและกันให้แต่ละฝ่ายได้เป็นตัวของตัวเอง เป็นที่ว่างที่จะยอมรับและให้อภัยกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นที่ว่างที่จะทำความเข้าใจและใช้ชีวิตร่วมเดินทางกันต่อไป

 

หลายครั้งหลายคนอาจไม่มีที่ว่างที่เพียงพอ ไม่พร้อมที่จะเป็นที่ว่างให้อีกฝ่าย ไม่พร้อมที่จะยอมรับความผิดพลาด ทำให้ไม่สามารถร่วมเดินทางต่อไปได้ และเป็นปัญหาของคู่รักอยู่เสมอ

 

ท้ายที่สุด เราก็สามารถรักตัวเองด้วยการมอบที่ว่างให้กับตัวเอง ที่ว่างของการเรียนรู้เติบโตและเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ที่ว่างของการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับความผิดพลาด และเป็นที่ว่างที่พร้อมจะให้อภัยกับตัวเองอยู่เสมอ

 

ความรักที่แท้จริง คือ ความพร้อมที่จะมอบที่ว่างให้อีกฝ่ายเติบโตและความพร้อมที่จะยอมรับสิ่งที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะบทบาทไหนในชีวิตก็มีความรักที่แท้จริงได้ เพียงแค่เป็นที่ว่างให้แก่กัน

 

คุณพร้อมหรือยังที่มอบที่ว่างให้ใครสักคน

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Depression – ความซึมเศร้า

 

 

 

ภาวะซึมเศร้า เป็นภาวะจิตใจผิดปกติ ที่มีผลทำให้พฤติกรรมบุคคลเปลี่ยนไปจากเดิม คือ เกิดการมองตัวเอง มองสังคม และมองอนาคตในแง่ลบ เช่น มองตนเองว่าไร้ค่า มองเห็นแต่ความยากลำบาก ล้มเหลว และหมดหนทางแก้ไข อาจเป็นผลเนื่องมาจากการสูญเสียสิ่งต่างๆ ที่ตนรักไป (เช่น บุคคลที่รัก เงินทอง ตำแหน่งหน้าที่ ความเป็นอิสระ และความสำคัญอื่นๆ) ซึ่งอารมณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่หรือคงอยู่นาน ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อม

 

 

ภาวะซึมเศร้าแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ


 

ความรู้สึกเศร้า (depressive feeling) เป็นความรู้สึกไม่มีความสุข อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของตัวบุคคลหรือความบกพร่องของหน้าที่ด้านชีววิทยา ทั้งนี้ ความรู้สึกเสียใจหรือร้องไห้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่รวมว่าเป็นอาการของโรคซึมเศร้า คือจะไม่มีความคิดในแง่ลบกับตัวเอง ตำหนิตัวเองหรือคิดว่าตัวเองไร้ค่า

 

โรคซึมเศร้า (depressive illness, major depression) ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ จะมีอาการซึมเศร้าเป็นอาการเด่นชัดร่วมกับอาการสำคัญอย่างอื่น ดังคำอธิบายต่อไปนี้

 

อาการแต่ละอาการของโรคซึมเศร้า


 

  1. อารมณ์เศร้า เป็นอาการสำคัญของโรค ซึ่งมีด้วยกันหลายแบบ เช่น ใจคอหดหู่ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่แจ่มใส ไม่เบิกบาน หรือจิตใจเศร้าหมอง อารมณ์เศร้าไม่จำเป็นต้องมีตลอดเวลา เวลาไม่เศร้าอาจรู้สึกสนุกสนานหรือมีอารมณ์ขันได้ แต่เมื่อเป็นมาก อารมณ์เศร้าจะมีอยู่เกือบตลอดเวลา แต่ไม่คงที่อยู่ตลอดวัน ส่วนมากผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้ามากที่สุดตอนเช้า และดีขึ้นในตอนเย็นหรือค่ำ
  2. อารมณ์หงุดหงิดโกรธง่าย อารมณ์นี้เป็นอาการสำคัญ ผู้ป่วยจะรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง แต่ควบคุมตัวเองไม่ได้ และมักเสียใจเมื่อทำสิ่งที่ไม่ดีไปแล้ว ซึ่งผู้ป่วยมักคิดว่าไม่มีใครเข้าใจว่าตนไม่สบาย และไม่อยากเป็นเช่นนี้ แต่เมื่อหงุดหงิดก็ไม่ทราบว่าจะควบคุมอย่างไร
  3. ความรู้สึกเบื่อและหมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมที่เคยชอบ และกิจวัตรประจำวันที่เคยทำก็ไม่อยากทำ ผู้ป่วยบางส่วนมีความรู้สึกทางเพศลดลงหรือไม่มีเลย
  4. เบื่ออาหาร ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอยากอาหาร แม้ที่ตนเคยชอบ การรู้รสก็จะเปลี่ยนไปด้วย แต่ก็มีบางรายรู้สึกอยากอาหารมากกว่าธรรมดา
  5. นอนไม่หลับ มักปรากฏเป็นอาการแรก ผู้ป่วยอาจนอนไม่หลับเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ก่อนมีอาการอื่น ในระยะแรก ผู้ป่วยจะหลับยาก หลับไม่สนิท ฝันร้าย หรือตื่นบ่อย เมื่อเป็นมากขึ้นมักจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า นอนไม่หลับตอนใกล้เช้า ลักษณะคือ เมื่อเข้านอนจะหลับได้ตามปกติ แต่ตอนดึกตีหนึ่งตีสอง เมื่อตื่นแล้วจะหลับอีกไม่ได้ หรือหลับได้ยาก หลับไม่สนิท เป็นบ่อยจนเหมือนมีนาฬิกาปลุกให้ตื่น
  6. อ่อนเพลีย ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลียอยู่เกือบตลอดเวลาแม้ไม่ได้ออกแรง การพักผ่อนไม่ช่วยให้ดีขึ้น อาการอาจเกิดเฉพาะส่วนของร่างกายก็ได้ เช่น แขนหรือขา บางรายจะคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจเพราะเหนื่อยง่าย เมื่อมีอาการใจสั่นหรือเจ็บหน้าอกด้วยยิ่งทำให้วิตกกังวลมาก
  7. ความคิดเชื่องช้า ตั้งแต่เริ่มไม่สบาย ผู้ป่วยจะมีความคิด การเคลื่อนไหว และการพูดเชื่องช้า จะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยจะเงียบและซึมลง สนใจเรื่องต่างๆ ลดลง หันมาเพิ่มความสนใจตัวเองและกังวลเกือบตลอดเวลากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะพยายามฝืนตัวเอง พูด แต่งตัว ทำงาน หรืออ่านหนังสือ เพื่อให้เหมือนปกติ แต่ก็ทำไม่ได้
  8. สมาธิเสีย ความจำไม่ดี และลืมง่าย ก็เป็นอาการสำคัญ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าพูดอะไรไปแล้วนึกไม่ออก อ่านหนังสือแล้วจำไม่ได้ ทำให้วิตงกังวลมากเพราะทำงานได้ไม่ดี ทำไม่ได้ มีข้อผิดพลาด กังวลว่าจะต้องออกจากงาน จะสอบตก หรือสมองจะเสียตลอดไป
  9. ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนด้อยในด้านต่างๆ เช่น ความสามารถ สติปัญญา เกียรติยศชื่อเสียง คิดว่าตนทำหน้าที่บกพร่องและไม่อาจเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ ความคิดเช่นนี้ถ้ามีมากและรุนแรงจะทำให้ผู้ป่วยคิดอยากตายและฆ่าตัวตายได้ เพราะมองตนเองในด้านไม่ดีและไม่มีประโยชน์ตลอดเวลา ครุ่นคิดว่าตนเป็นคนไม่มีค่า เป็นภาระ และนำความยุ่งยากมาให้ครอบครัว ถ้าไม่มีตนทุกคนจะสบาย ดังนั้นจึงควรตายไปเสีย
  10. ความรู้สึกมีความผิด ผู้ป่วยที่เศร้ามากมักมีความรู้สึกมีความผิดและตำหนิตัวเอง ทั้งที่ไม่มีความผิดแต่อย่างใด หรือถ้ามีก็เป็นเรื่องไม่สำคัญ หากรู้สึกมากและรุนแรง ผู้ป่วยจะคิดว่าตนเป็นคนไม่ดี มีบาป ไม่สมควรมีชีวิตอยู่
  11. ความคิดอยากตาย ผู้ป่วยที่เศร้ามากๆ อาการไม่สบายทั้งหลายจะมีมาก จนรู้สึกทรมาน เมื่อถึงจุดที่ไม่อาจทนต่อไปได้ ผู้ป่วยจะหาทางหนีจากความทรมาน ซึ่งความตายเป็นทางออกที่ผู้ป่วยส่วนมากนึกถึงเป็นสิ่งแรก
  12. ความกลัวและความวิตกกังวล ผู้ป่วยจะกลัวและวิตกกังวลไปต่างๆ กังวลว่าทำไมเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ กลัวจะไม่หาย กลัวจะวิกลจริต กลัวจะเป็นโรคร้ายแรง กลัวเมื่ออยู่คนเดียว หรือกลัวจะทำอันตรายตนเอง ความกลัวและความวิตกกังวลเหล่านี้จะวนเวียนอยู่ในความคิดจนไม่อาจทำใจให้สงบได้
  13. อาการทางกายอื่นๆ ผู้ป่วยมักมีอาการทางกายร่วมได้ด้วยเสมอและเกิดได้กับอวัยวะทุกระบบ ที่พบบ่อย คือ ปวดท้อง ท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยตามตัว ผู้ป่วยทุกรายจะกังวลกับอาการเหล่านี้มาก และคิดว่าเป็นโรคทางกาย เวลามาพบแพทย์ก็ไม่แสดงอารมณ์เศร้าเลย ลักษณะดังกล่าวพบได้บ่อยในเวชปฏิบัติทั่วไป เรียกว่า mashed depression หรือความเศร้าที่ถูกปิดบัง

 

การดำเนินโรค


 

โรคซึมเศร้าอาจเริ่มเป็นในเด็กหรือวัยรุ่น อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยเมื่อเริ่มเป็นครั้งแรกคือ 24 ปี และคนรุ่นใหม่จะเริ่มมีอาการของโรคนี้ที่อายุน้อยลง
เป็นโรคที่มักเป็นซ้ำ ๆ ประมาณร้อยละ 50-60 ของผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรกจะเป็นครั้งที่ 2 ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่มีอาการ 2 ครั้ง จะเป็นครั้งที่ 3 และร้อยละ 90 ของผู้ที่เป็น 3 ครั้งจะเป็นครั้งที่ 4

 

ร้อยละ 5-10 จะมีอาการของโรคซึมเศร้าชนิดแมเนียในเวลาต่อมา

 

 

สาเหตุของภาวะซึมเศร้า


 

ปัจจัยทางพันธุกรรม – จากการศึกษาในฝาแฝด พบว่า ฝาแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน หากคนหนึ่งมีอารมณ์เศร้า ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นร้อยละ 75 ส่วนฝาแฝดจากไข่คนละใบมีโอกาสเป็นร้อยละ 14 นอกจากนี้ พี่น้องของคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีโอกาสเป็นสูงกว่าคนทั่วไป 10-15 เท่า ถ้าบิดา-มารดาเป็นโรคซึมเศร้า บุตรมีโอกาสเป็นถึง 25 เท่า อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนว่ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบใด แต่มีหลักบางอย่างแสดงว่าน่าจะถ่ายทอดผ่านทางโครโมโซม x

 

ปัจจัยทางชีวเคมี – ขณะที่มีอารมณ์เศร้า จะมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีบางอย่างในสมองที่สำคัญ คือ ซีโรโทนิน และนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท หากสารสื่อประสาทสองตัวนี้ต่ำลง บุคคลจะเกิดอารมณ์เศร้า และถ้าเพิ่มขึ้น บุคคลจะตื่นเต้นและครื้นเครง นอกจากนี้ ฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนก็เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า โดยพบว่า อารมณ์เศร้าเกิดบ่อยในผู้หญิง มักเกิดในระยะหลังคลอดหรือหมดประจำเดือน และเมื่อมีความผิดปกติของอารมณ์ จะมีความผิดปกติของประจำเดือนร่วมด้วย

 

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม – ภาวะแวดล้อมและสภาวะตึงเครียด อาทิ การมีสัมพันธภาพที่ไม่ดีกับบุคคลอื่น การหย่าร้าง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ความล้มเหลวในหน้าที่การงาน การสูญเสีย ทั้งการสูญเสียในชีวิตจริง หรือการสูญเสียในมโนภาพ เช่น การสูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง รวมถึงการเปลี่ยนวัย และโรคทางกายเรื้อรัง ล้วนสัมพันธ์กับการเกิดอารมณ์เศร้า เบื่อหน่ายชีวิต โดยบุคคลมีความคิดเกี่ยวกับตนเองและชีวิตที่ผ่านมา รวมถึงที่จะมีต่อในในอนาคตทางด้านลบ และไม่มีคุณค่า

 

โรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัยผสมผสานกัน คือ ทั้งพันธุกรรม ร่างกาย จิตใจ และสภาพสังคมวัฒนธรรมที่บีบคั้น และมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นได้ทั้งปัจจัยเสริม ปัจจัยเร่ง และปัจจัยให้ป่วยต่อเนื่อง โดยปัจจัยแต่ละด้านจะมีอิทธิพลมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน

 

 

การช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้า


 

การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระยะแรกให้ความเข้าใจกันและกัน ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อบุคคล สำหรับเด็ก ผู้ใหญ่สามารถช่วยเหลือให้คำแนะนำเรื่องการปรับตัว การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับผู้อื่น และแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมได้

 

การป้องกันในระยะที่สองเมื่อพบเห็นปัญหาควรรีบให้การช่วยเหลือ ไม่มองข้ามหรือเพิกเฉย อาจแนะนำให้ใช้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาในโรงเรียน ศูนย์สุขภาพจิตชุมชน หรือสายด่วนสุขภาพจิต ทั้งนี้ สำหรับการประเมินว่ามีแนวโน้มมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่นั้น การสังเกตอารมณ์เพียงอย่างเดียวอาจสู้การถามโดยตรงไม่ได้ แบบประเมินภาวะซึมเศร้าสามารถค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ต หากพบว่ามีแนวโน้ม ควรให้รับการปรึกษาจากนักจิตวิทยา เพื่อปรับวิธีคิดและเพิ่มทักษะทางสังคม และหากมีอาการรุนแรง ควรรับการรักษาจากจิตแพทย์เพื่อให้ได้รับยาที่เหมาะสมแก่อาการของผู้ป่วย เนื่องจากการทำจิตบำบัดอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล

 

การป้องกันในระยะที่สาม – เมื่อได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจแล้ว ผู้ป่วยและญาติควรเฝ้าระวังดูแลการกลับเป็นซ้ำ หาความรู้ และข้อมูลการช่วยเหลือทางสังคมสงเคราะห์ด้านต่างๆ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความคิดฆ่าตัวตายของนักเรียนวัยรุ่นที่ไม่มีประวัติการฆ่าตัวตาย” โดย อมรรัตน์ ศุภมาศ (2546) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6434

 

“การเปรียบเทียบความสามารถด้านการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีภาวะปรกติและมีภาวะซึมเศร้า” โดย รัมภาศรี สุคนธมาน (2551) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47607

 

“ผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มต่อภาวะวิตกกังวล-ซึมเศร้า ของนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย” โดย ดารุวรรณ โรจนสุพจน์ (2544) คณะแพทยศาสตร์ – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/2418

Social support – การสนับสนุนทางสังคม

 

 

 

การสนับสนุนทางสังคม คือ การปฏิสัมพันธ์อย่างมีจุดมุ่งหมายที่นำมาซึ่งการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม เช่น การรับรู้ เข้าใจ และตอบสนองทางอารมณ์ความรู้สึก การให้ข้อมูล ให้วัตถุสิ่งของ รวมถึงการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

 

การที่บุคคลรับรู้การสนับสนุนทางสังคม บุคคลจะเกิดการรับรู้ว่าตนได้รับความรัก ความเอาใจใส่ การเห็นคุณค่า และการยอมรับ ส่งผลทางบวกต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ ทำให้บุคคลสามารถเผชิญกับเหตุการณ์ที่มาคุกคามชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดยผลทางจิตใจ คือทำให้บุคคลเกิดอารมณ์ที่มั่นคงต่อเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญ มีแรงจูงใจในการแก้ไขปัญหาจากการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและสถานการณ์ และมีความเครียดลดลง

 

ส่วนผลทางด้านร่างกาย คือส่งผลต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ระบบฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายรู้สึกสบายและผ่อนคลาย และมีสุขภาพที่แข็งแรง มีภูมิด้านทานโรคสูง

 

 

ประเภทของการสนับสนุนทางสังคม


 

มีด้วยกัน 5 ด้าน ดังนี้

 

  1. ความรักใคร่ผูกพัน (attachment) ส่งผลให้ผู้รับการสนับสนุนรับรู้ถึงความรัก ความผูกพัน ความเอาใจใส่ ความอบอุ่น และความปลอดภัย
  2. ความช่วยเหลือและคำแนะนำ (assistance/guidance) เช่น ข้อมูล คำแนะนำ และกำลังใจ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดที่บุคคลเผชิญอยู่ และส่งผลให้บุคคลสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
  3. การยอมรับและการเห็นคุณค่า (reassurance of worth) เมื่อบุคคลได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ครอบครัว และสังคม ยามที่บุคคลได้แสดงความสามารถในการช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ส่งผลให้บุคคลรู้สึกถึงคุณค่าในตนเองมากขึ้น
  4. การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (social integration) แสดงให้เห็นถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมของกลุ่มคนที่มีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ และความคิดเห็น ส่งผลให้บุคคลมีเป้าหมาย รับรู้ว่าเป็นเจ้าของ และได้รับการยอมรับในกลุ่มหรือสังคม
  5. การได้ช่วยเอื้อประโยชน์แก่บุคคลอื่น (opportunity for nurturance) เป็นการที่บุคคลได้มีโอกาสอบรมเลี้ยงดูผู้อื่น ให้การช่วยเหลือผู้อื่น ส่งผลให้บุคคลเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นที่ต้องการของบุคคลอื่น

 

 

แหล่งของการสนับสนุนทางสังคม


 

แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

 

กลุ่มปฐมภูมิ (primary groups) เป็นกลุ่มสังคมขนาดเล็ก สมาชิกในกลุ่มมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน มีความสัมพันธ์กันเป็นส่วนตัว การติดต่อสื่อสารเป็นแบบไม่เป็นทางการ มีลักษณะผ่อนคลาย กลุ่มปฐมภูมิเป็นแหล่งสนับสนุนทางอารมณ์ที่สำคัญมาก บุคลิกภาพของบุคคลจะได้รับอิทธิพลจากกลุ่มปฐมภูมิ ตัวอย่างของกลุ่มปฐมภูมิได้แก่ ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน

 

กลุ่มทุติยภูมิ (secondary group) เป็นกลุ่มสังคมขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ เนื่องจากกลุ่มไม่ได้เน้นที่ความผูกพันของสมาชิกกลุ่ม โดยมากเป็นการรวมกันเพื่อทำงานเฉพาะอย่าง ดังนั้นกลุ่มจะถือเอาผลงานและการแสดงบทบาทของสมาชิกเป็นสำคัญ การติดต่อสื่อสารจึงมีลักษณะเป็นทางการ ตัวอย่างของกลุ่มทุติยภูมิได้แก่ กลุ่มชมรม กลุ่มเพื่อนช่วยงาน

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของการรับรู้ความสามารถของตนเองและการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมต่อสุขภาวะในวัยรุ่นตอนต้น” โดย จิวีณา พีชะพัฒน์, ณาตรการณ์ ชยุตสาหกิจ และ ณิชา ศิลปวัฒนานันท์ (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47862

 

“ความวิตกกังวล การสนับสนุนทางสังคมและกลวิธีการเผชิญปัญหาของนิสิตนักศึกษา” โดย นันทินี ศุภมงคล (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/93

 

ภาพจาก http://psych-your-mind.blogspot.com/2014/10/what-kinds-of-support-are-most.html