News & Events

สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมเสวนาวิชาการ : New Normal ของบ้านที่มีความสุขแบบ Life Di

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2563
โดย แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ และศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย
ดำเนินรายการโดย
ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

พัฒนาการ คือ การเปลี่ยนผ่านจากเด็กเข้าสู่วัยรุ่น เรียนมหาวิทยาลัย และจบออกไปทำงาน เข้าสู่การแต่งงาน รับบทบาทเป็นพ่อแม่ และเข้าสู่วัยสูงอายุ การเสวนาหัวข้อนี้จะช่วยเสริมสร้างให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และความสัมพันธ์ในแต่ละช่วงวัยของคนในครอบครัว เพื่อจะได้ย้อนกลับไปดูบ้านของตัวเอง และปรับตัวเข้าหากัน เพื่ออยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข


 

 

เราจะเริ่มจากผู้สูงวัยในบ้านลงมาถึงวัยเด็กเล็ก โดย รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต กล่าวว่า ผู้สูงวัย จะมีความถดถอยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ มีความคิดและการแสดงออกที่ช้าลง เรียนรู้ได้ช้า และจดจำได้น้อยลง แต่ปัญหา คือ ผู้สูงวัยไม่ยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และจะเกิดความวิตกกัลวล (Insecure) ในสิ่งที่ตัวเองเคยทำได้ กังวลว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากลูกหลาน จนทำให้เกิดอาการซึมเศร้า มักเกิดกับผู้ที่เคยทำงานโดยใช้ความสามารถมาก ๆ ในตำแหน่งระดับสูง มากกว่าบุคคลทั่วไป เกิดการย้ำอยู่จุดเดิม (Fixation) ยังยึดติดว่ายังคงเป็นผู้นำของครอบครัว และเกรี้ยวกราด (Frustrate) ในบางครั้ง โดยหลัก ๆ ผู้สูงวัยมักจะมี 2 ประเภท คือ

 

1) อยากให้ลูกหลานถามสารทุกข์สุขดิบ และ

2) อย่ามายุ่งกับฉัน ฉันทำเองได้

 

ในยุค New Normal นี้ หรือแม้แต่เวลาใด ๆ ผู้สูงวัยจะต้องยอมรับก่อนว่า เราสูงวัยแล้ว ไม่ควรดื้อดึงว่าฉันเคยทำได้ ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่าทุกอย่างไม่มีอะไรที่เป็นของเรา ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามวิถีของมัน ร่างกายก็ย่อยสลายไปตามเวลา สิ่งที่เราเคยคิดว่าดี อาจจะไม่ได้ดีในวันนี้ก็ได้ ต้องไม่คาดหวังให้ลูกหลานต้องมาดูแล เอาอกเอาใจ เพียงแค่ให้อยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจในระดับหนึ่ง ต้องหากิจกรรมที่ตัวเองชอบ เพื่อโฟกัสไปที่สิ่งนั้น ๆ ไม่อย่างนั้นเราอาจไปสร้างปัญหาให้ลูกหลานได้ ส่วนลูกหลานที่มีความใกล้ชิดกับผู้สูงวัย ควรถามและฟังด้วยความใส่ใจ เช่น หิวมั้ย ให้ท่านมีความสุขกับสิ่งที่ท่านทำ อย่าไปขวาง เพียงแต่ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย

 

“ผู้สูงวัยต้องการการเข้าใจ รับฟัง การเอาใจใส่ และการเคารพ (respect)”

 

“ผู้สูงวัยที่เพิ่งจะเกษียณ ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ควรปรับตัวหากิจกรรมที่ตัวเองชอบล่วงหน้าก่อนการเกษียณสัก 2 ปี”


 

 

สำหรับวัยทำงาน อ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน กล่าวว่าวัยทำงานนี้เรียกว่าเป็นช่วงอายุที่กว้างซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย วัยทำงาน จนถึงวัยเกษียณ เลยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ผู้ใหญ่ตอนกลาง และผู้ใหญ่ตอนต้น

 

ผู้ใหญ่ตอนกลาง เป็นช่วงที่มีคน 2 วัย ขนาบสองข้างหรือที่เรียกว่า sandwich generationถือได้ว่าเป็นรายได้หลักของครอบครัว ส่งลูกเข้าเรียนจนจบมหาวิทยาลัยได้ ต้องดูแลสุขภาพของญาติผู้ใหญ่ ทั้งการบริหารเศรษฐกิจของบ้านที่ถดถอยลง ต้องทำงานมากขึ้นเพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งทำให้วัยกลางคนในบ้านนี้มีความเครียดสูงมากขึ้นในช่วง New Normal นี้ และยังมีความคาดหวังจากญาติผู้ใหญ่ ทำให้เปรียบเสมือนไส้แซนด์วิชที่ถูกบีบอยู่ตรงกลาง

 

วัยทำงานต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงวัย เครียดเรื่องงาน เรื่องลูก อยู่กับความคาดหวังจากท่าน อย่างไม่สิ้นสุด เช่น ทำงานนี้สิ มีลูกคนแรกแล้วต้องมีลูกคนที่สองสิ ซื้อบ้านหลังใหญ่กว่านี้สิ ทำให้เกิดความเครียด ขอให้ลองวิธีต่อไปนี้

 

  1. ต้องปรับใจก่อน ว่าเป็นเพราะผู้ใหญ่ไม่ได้มีกิจกรรมใด ๆ ทำ หรือว่าเป็นเราเองที่ห้ามท่านทำ ถ้าหากท่านต้องการทำกิจกรรมอะไร ก็ควรส่งเสริมท่าน
  2. ต้องมีแนวร่วมที่ดี มีสังคมเพื่อน ไว้แชร์ประสบการณ์ ชีวิตของวัยกลางคนต้องไม่ burn out ต้องดูแลตัวเองเพื่อที่เราจะสามารถดูแลคนในบ้านได้อย่างดี ต้องไม่รู้สึกผิดที่จะออกจากบ้านเพื่อจะไปทำอะไรดีๆ เพื่อตัวเราบ้าง
  3. พูดกันด้วยความจริงใจ เช่น พูดความจริงว่าสภาพเศรษฐกิจในครอบครัวตอนนี้ไม่สามารถมีลูกอีกคนได้

 

ส่วนผู้ใหญ่ตอนต้น ก็คือ วัยทำงานที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย ถือเป็นผู้ใหญ่ฝึกหัด ต้องพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าบางบ้านมีความคาดหวังที่ให้เราช่วยค่าใช้จ่ายที่บ้านด้วย ก็จะมีความกดดันสูงขึ้นไปอีก ความเครียด ความกดดันนี้จะกินเวลามากน้อยเท่าไร ก็ขึ้นกับตัวเรา และสถานการณ์ของแต่ละบ้าน และยังมีเรื่องของความรักเข้ามาอีก การถูกเทก็เป็น New Normal อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความคิดของผู้ใหญ่ตอนต้นจะมีความคิดว่าการแต่งงานตนเองจะต้องมีความพร้อมด้านเงิน ด้านการงาน เพื่อที่สามารถดูแลคนอีกหนึ่งคนได้ ยิ่งสมัยนี้ผู้ใหญ่ตอนต้น ต้องต่อสู้กับตัวเอง เช่น งานที่ทำ แต่ไม่ใช่งานที่ชอบ แต่ก็ต้องทำไปก่อนเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว คนรุ่นใหม่จะเข้าไปทำงานเพื่อหาประสบการณ์ และเมื่องานนั้นไม่มีความท้าทายแล้ว จึงไปหางานใหม่ๆ ทดลองต่อ ซึ่งเป็นการพัฒนาตัวเองที่พ่อแม่หลายๆครอบครัวอาจจะไม่เข้าใจ ความชอบ ความฝัน กับความเป็นจริง บางทีก็ต้องตอบโจทย์สถานการณ์ในบ้านเพราะมันสามารถทำเงินได้ บางทีเราอาจจะเอาความฝันไว้ข้าง ๆ ตัว และทำอาชีพที่ครอบครัวอยากให้ทำก่อน เมื่อถึงเวลา มีจังหวะ และเราพร้อม เราก็สามารถเอาความฝันนั้นมาทำให้เป็นความจริงได้

 

“วัยผู้ใหญ่จะเป็นวัยที่ไม่สนุกเหมือนวัยเด็ก แต่จะเป็นวัยที่มีความท้าทาย
และถ้าเราก้าวข้ามผ่านความท้าทายนี้ได้เราจะเป็นผู้ใหญ่ที่แกร่งและดูแลผู้อื่นได้”

 

“พ่อแม่ชอบคิดว่าลูกยังไม่โต ควรให้ความไว้ใจเด็กว่าเค้าโตแล้ว ดูแลตัวเองได้”


 

 

คุณปิยะวัฒน์ วิรัชวัฒนกุล ครูฟาร์มผู้มีความใกล้ชิดกับเด็กวัยรุ่นเล่าประสบการณ์ให้เราฟังว่า

 

วัยม.ต้น – ม.ปลาย เป้าหมายหลัก คือ การเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนออนไลน์ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นการเรียนเพื่อเสริม อยู่ในวงแคบๆ แต่ตอนนี้กลายมาเป็นการเรียนหลัก ความออนไลน์กับเด็กเป็นเรื่องธรรมดามาก เด็กจะรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำเพราะไม่มีทางเลือก ความเครียดของการเรียนออนไลน์ก็คือ การต้องจัดหาอุปกรณ์ที่สนับสนุน อาจสร้างปัญหากับบางครอบครัวในยุคที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี

 

stay home stay safe การเรียนออนไลน์ที่บ้านจะทำให้อยู่ในสายตาของพ่อแม่ เด็กวัยรุ่นต้องการความเป็นส่วนตัว (Privacy) มากกว่าที่พ่อแม่จะมาแอบดูพฤติกรรม ทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกจับตามอง เมื่อเด็กอยู่ในบ้านตลอดเวลาทำให้รับรู้เรื่องราวหลาย ๆ อย่างมากขึ้น เช่น สถานะทางการเงินของที่บ้าน หรือการทะเลาะกันของพ่อแม่

 

ความสัมพันธ์ของตัวเด็กเองกับเพื่อน ๆ ในสถานการณ์นี้ ออกไปเจอเพื่อนมากเหมือนเดิมไม่ได้ จะทำให้เกิดความเครียด ความเหงา ก็จะไปแสดงออกผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่ก็มีความรู้สึกว่าประสบการณ์กับเพื่อนในช่วงที่เตรียมเข้ามหาวิทยาลัยก็จะขาดหายไป

 

อาชีพสายสาธารณสุขกำลังเป็นฮีโร่ในสถานการณ์ COVID-19 นี้ และเด็กจะต้องเลือกสายอาชีพในตอนม.5 – ม.6 อาชีพทางสายสาธารณสุขจึงเป็นอาชีพที่เป็นที่สนใจในสถานการณ์ COVID-19 นี้

 

เด็กโตจะบ่นในลักษณะที่เป็นกังวลกับหลักสูตรสอบใหม่ การเปิดเทอมช้า ก็ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเรียนไม่ทันการสอบ


 

 

วัยเด็กเล็ก คุณดุจฤทัย โรจน์ปัญญากิจ กล่าวว่าเด็กวัยนี้ต้องการการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ต้องการใช้เวลากับพ่อแม่ หรือออกไปเล่นข้างนอก แต่สำหรับบางบ้านที่ผู้ปกครองต้องทำงาน ไม่สามารถมีเวลาให้กับเด็กได้ เด็กก็จะเกิดความเครียด และเมื่อเนอสเซอรี่และโรงเรียนปิด ตัวพ่อแม่เองก็เกิดการกดดัน ยิ่งสำหรับการเรียนออนไลน์นั้นยิ่งเป็นไปได้ยากในเด็กวัยนี้ เด็กบางคนอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งก็จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่เป็น เด็กเล็กก็ไม่สามารถสอนปู่ย่าตายาย หรือใช้งานอุปกรณ์เองได้ ทำให้บางครอบครัวที่ไม่มีเวลาเพราะต้องทำงาน มีปัญหาว่าไม่รู้ว่าจะสอนลูกอย่างไรดี

 

ดังนั้น ควรมีการจัดเวลาของคู่สามี ภรรยา สลับกันดูแลลูก การให้ปู่ย่าตายายได้เล่นกับเด็ก ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ่อแม่ควรจัดเวลาทำงานและเวลาเล่นให้กับลูก โดยสามารถจัดเป็นกิจวัตร (Routine) ได้ เด็กวัยนี้มีความสามารถที่จะเข้าใจตารางเวลาได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจ คาดหวัง เกิดการจดจำที่ดีได้

 

Q&A

 

Q1. เรื่องห้ามลูกล็อคประตูเพื่อคอยดูพฤติกรรม ควรหรือไม่ควรคะ

A1 ศิลปะของการเป็นพ่อแม่วัยรุ่น คือ ควรอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ทำให้เค้ารู้สึกว่าเราวางใจกับเค้าแล้ว แล้วเมื่อเค้ามีปัญหาอะไร เค้าจะมาหาเราเอง

 

Q2. ตัวเองเป็นคนที่เรียนไม่เก่งตั้งแต่เด็ก โดนดูถูกจากเพื่อนพ่อแม่ว่าโง่ตั้งแต่เด็ก จนตอนนี้จะเรียนจบป.เอกแล้ว ยังโดนดูถูกว่าโง่อยู่ จะมีวิธีจัดการกับความรู้สึกตัวเองที่เป็นปมด้อยอย่างไรดีคะ

A2 ไม่ควรใช้ชีวิตด้วยคำพูด ความคาดหวัง (expectation) ของคนอื่น ควรต้องบอกกับตัวเองว่าควรทำตามเป้าหมายของชีวิต (set and reach goal) ควรคิดว่าฉันเป็นตัวฉันที่ดีพอ

 

Q3. เราจะก้าวไปสู่วัยผู้ใหญ่อย่างไร ไม่ให้ร่างกายจิตใจถดถอยเร็วเกินไปทั้งร่างกายและจิตใจ และจะทำอย่างไรกับความวิตกกังวลเหล่านี้

A3 ต้องรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจ ทานอาหารที่ดี พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดความเครียด

 

Q4. มีกิจกรรมอะไรไว้เล่นกับเด็ก ๆ เวลาหยุดอยู่บ้านมั้ยคะ

A4

1. สิ่งสำคัญคือ “ไม่แตกหัก เสียหาย”

2. เอากล่องมาต่อ ๆ กันเป็นบ้าน ให้เด็ก ๆ มุด

3. เอาเทปกาวมาแปะที่พื้นเพื่อฝึกการก้าวกระโดด

4. ฝึกทำขนมง่าย ๆ

5. สำหรับเด็ก preschool อาจจะใช้กระดาษสอนเรื่องสี และรูปทรงต่าง ๆ


 

วิทยากร

  1. รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต
  2. อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน
  3. คุณปิยะวัฒน์ วิรัชวัฒนกุล
  4. คุณดุจฤทัย โรจน์ปัญญากิจ

ภัย COVID-19 กับสุขภาพจิตในวิถี New Normal

 

ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในชีวิตเราบ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นมาย่อมส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตในทุก ๆ ด้าน

 

ภาพจำของภัยพิบัติส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวงจำกัดไม่มีการแผ่ขยายไปยังพื้นที่อื่น เช่น อุทกภัย วาตภัย แต่ภัยที่เกิดจากโรคระบาดไม่เป็นเช่นนั้น โรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสานพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ที่มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วถึง 10,700,000 รายทั่วโลก และใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในโลกนี้ล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น

 

มีคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรมอันเนื่องมาจาก COVID-19 วิถีชีวิตใหม่นั้นจะยั่งยืนแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับภัยพิบัติอื่น ๆ ที่ผ่านมา

 

การศึกษาพฤติกรรมของสังคมนั้นพบว่า กลุ่มผู้ประสบภัยพิบัติเอง มักเป็นคนกลุ่มแรกที่ออกมาแสดงความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่เกิดเหตุเภทภัย เนื่องจาก พวกเขาเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่สุด นอกจากนี้ ในช่วงคับขัน ร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้พวกเขากระปรี้กระเปร่า และมีพลังที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และอาจจะรู้สึกว่าทุกข์ของตัวเองนั้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับทุกข์ของผู้อื่น และการลงมือทำอะไรสักอย่างในสถานการณ์คับขัน ยังช่วยลดความวิตกกังวล และเพิ่มการรับรู้ความสามารถของตนเองในการควบคุมสถานการณ์ตรงหน้าได้

 

ตัวอย่างที่เราได้พบเห็นอย่างมากมายในช่วงที่ประเทศต้องปิดตัวเพื่อลดการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหมอและพยาบาลที่นอกจากทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่แล้ว ยังมีการผลิตสื่อให้ความรู้น่ารัก ๆ กับประชาชน หรือโครงการ “ตู้ปันสุข” และกิจกรรมอาสาสมัครอื่น ๆ เพื่อแบ่งปันอาหารและของใช้จำเป็นให้กับผู้ที่ขาดแคลน ทำให้เราได้เห็นมุมดี ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมช่วงนี้

 

 

สิ่งสุดท้ายที่อยากจะสื่อในบทความนี้ก็คือ เรามักจะจินตนาการไปว่าผู้ประสบภัยนั้น มีความอ่อนแอ เปราะบาง และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งแน่นอนว่ามีผู้ที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นเช่นนั้น หากคุณมีคนรอบตัวที่เคยเผชิญกับเหตุการณ์หนัก ๆ ในชีวิต แผลเหล่านั้นล้วนใช้เวลากว่าจะบรรเทาเบาบางลง โปรดให้เวลา และให้โอกาสให้เขาได้ทำอะไรเพื่อตนเอง และเพื่อผู้อื่นด้วยตัวของเขาเอง ไม่ปิดโอกาสในการพึ่งตนเองของเขาจนเกินไป แต่ก็ระวังมิให้คนคนนั้นหายไปจากครรลองสายตา อย่าให้เขารู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยกจากผู้อื่น นั่นย่อมทำให้ผู้ที่มีความเปราะบางจากภัยพิบัติอยู่ในสังคมได้อย่างมีสุขภาพจิตที่ดี

 

 

รายการอ้างอิง

 

U.S. Department of Health and Human Services, Substance Abuse and Mental Health Services Administration (2000). Training Manual for Mental Health and Human Services Workers in Major Disasters (2nd Ed.) Washington, DC.

ภาพประกอบจาก https://image.freepik.com/

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สร้างสัมพันธ์อย่างไรเมื่อต้องใส่หน้ากากเข้าหากัน

 

งานวิจัยมากมายพูดถึงความสำคัญของรอยยิ้มว่าช่วยก่อให้เกิดการสานสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนได้อย่างดี เขายิ้มมา เรายิ้มไป รับส่งความรู้สึกที่ดีระหว่างกัน

 

แต่จากนี้อาจจะไม่มีอีกแล้วค่ะรอยยิ้มนั้น อย่างน้อยก็ตราบเท่าที่เชื้อโควิด 19 ยังอยู่ ซึ่งทำให้เราต้องปรับแนวทางการใช้ชีวิต และยกให้ “หน้ากากอนามัย” เป็นเพื่อนคู่กายขาดกันไม่ได้ ไปเรื่อย ๆ

 

แล้วอย่างนี้เราจะสร้างความสัมพันธ์กันอย่างไรในเมื่อแต่ละคนโผล่พ้นหน้ากากมาแต่ตากับหน้าผาก! พนักงานขายทั้งหลายก็ไม่สามารถโปรยยิ้มพิมพ์ใจมัดใจลูกค้าได้อีก ต่อให้ท่านสวยหล่อน่าคุยด้วยขนาดไหน คนอื่นก็แทบจะมองไม่ออก หรือเราจะส่งยิ้มทักทายเพื่อนใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่เราแอบชอบได้อย่างไร ในเมื่อรอยยิ้มถูกหน้ากากอนามัยยึดอำนาจไปแล้ว

 

ไม่เป็นไรค่ะ เรายังเหลือ “ดวงตา” ที่ว่ากันว่าเป็นหน้าต่างของหัวใจ และเรายังเหลือภาษากายอีกหลายอย่างที่สามารถใช้เพื่อสานสัมพันธ์กับผู้อื่นในยุค new normal ลองมาดูแนวทางสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นแม้ต้องใส่หน้ากากอนามัยกันค่ะ

 

 

1. ยิ้มต่อไปแม้จะอยู่ใต้หน้ากาก

 

เพราะรอยยิ้มโดยเฉพาะยิ้มที่จริงใจ จะถูกกระตุ้นโดยสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ และยิ้มที่มาจากความรู้สึกดีที่แท้จริงนั้น ไม่ได้ยิ้มเฉพาะที่ปาก แต่ยิ้มที่ตาด้วยค่ะ (และทำให้เกิดตีนกานั่นเอง) นั่นคือเมื่อเรายิ้มด้วยความจริงใจดวงตาของเราจะยิ้มด้วย ซึ่งเป็นส่วนที่สื่อสารไปยังผู้อื่นได้ นอกจากนี้ การสบตายังมีความหมายอื่น ๆ สรุปสั้น ๆ ได้ดังนี้ค่ะ

 

  • ตาสบตา คือการเปิดประตูสู่การสานสัมพันธ์ทั้งแบบเพื่อน หรือคู่รัก ไม่สบตาก็คือไม่สนใจ
  • แค่สบตาก็สะท้านใจ งานวิจัยชี้ว่าการสบตากันก่อให้เกิดการกระตุ้นเร้าทางร่างกาย เช่น ใจเต้นตึกตัก
  • สายตาสื่อหลายความหมาย จ้องนิ่ง จ้องนาน ในต่างสถานการณ์ก็ต่างความหมาย
  • หลบตาแปลว่าเขากำลังพูดโกหก? งานวิจัยชี้ตรงกันข้ามกับความเชื่อนี้ว่า คนโกหกมักจะสบตาผู้ฟังมากกว่าปกติ เพื่อกลบเกลื่อน เพื่อพยายามโน้มน้าวให้เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง หรืออาจจะเพื่อดูว่าเขาเชื่อคำโกหกของเราหรือเปล่า

 

ดังนั้น เนื่องจากเราต้องสวมหน้ากากอนามัย เราก็คงต้องพึ่งดวงตาของเราเยอะหน่อยในการสื่อความสนใจ ใส่ใจ และความเป็นมิตรไปยังคนอื่นๆ นะคะ อย่าเผลอปล่อยให้โอกาสผ่านไปโดยการก้มหน้าดูแต่จอโทรศัพท์มือถือนะคะ

 

 

2. ใช้ภาษากายส่งความปรารถนาดี

 

แม้เราจะต้องรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด แต่เราก็ยังสามารถแสดงออกด้วยภาษากายในการสื่อสารความปรารถนาดีและความเป็นมิตรไปยังผู้อื่นได้หลายทาง สรุปง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

 

  • ยืน/นั่งแบบเปิดตัว อย่าไขว้ขา อย่ากอดอก จะแสดงความเป็นมิตรและพร้อมสานสัมพันธ์มากกว่า
  • โน้มตัวเข้าหา (แต่ไม่ต้องแนบชิด) แสดงความสนใจและใส่ใจ
  • สัญลักษณ์มือที่สื่อสารทางบวก เช่น สู้ๆ ยอดเยี่ยม ส่งหัวใจ หรือโอเค ได้เวลางัดออกมาใช้บ่อย ๆ แล้วค่ะ

 

 

3. ส่งเสียงแห่งความเป็นมิตร

 

จากที่เดินผ่านก็ส่งยิ้มทักทายเพื่อนร่วมงาน พอรอยยิ้มใช้การไม่ได้ เราก็อาจจะต้องเพิ่มความพยายามสื่อสารความปรารถนาดีโดยการใช้คำพูดทักทายแทน “สวัสดี เป็นไงบ้าง” อย่าลืมว่าเมื่อท่านใส่หน้ากาก เสียงของท่านอาจจะเบาลงได้ ก็อาจต้องเพิ่มความพยายามกระจายเสียงกันนิดนะคะ

 

 

4. พูดไม่ถนัดอาจช่วยให้ได้หัดฟัง

 

ใครจะไปรู้ว่าในยุคที่คนเราไม่อยากพูดคุยยาวๆ ภายใต้หน้ากากอนามัยซึ่งหายใจไม่ค่อยสะดวกนั้น อาจจะกลายเป็นโอกาสให้เราได้พูดน้อยลง ได้เงียบเสียงจากตัวเราเอง และได้ฟังคนอื่นๆ พูดหรือแสดงออกมากขึ้นได้ การฟังอย่างตั้งใจ พยักหน้าว่ารับฟัง ถามคำถามกระตุ้นให้เขาได้พูดต่อโดยไม่ตัดสินเขาว่าถูกหรือผิด เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ดีแม้จะมีหน้ากากอนามัยแผ่นโตแปะอยู่บนใบหน้าก็ตาม

 

 

5. การใส่หน้ากาก = ฉันเป็นห่วงเธอนะ

 

แม้จะมีงานวิจัยที่บอกว่า คนไข้รู้สึกว่าหมอที่ใส่หน้ากากนั่งคุยด้วย ดูเข้าอกเข้าใจความรู้สึกคนไข้น้อยกว่าหมอที่คุยกับคนไข้โดยไม่ใส่หน้ากาก หรือหน้ากากเป็นตัวปิดกั้นการสานสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วค่ะเนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิด 19 ดังนั้น ไม่ต้องกังวลว่าท่านจะดูลึกลับ ดูไม่รับแขก หรือดูห่างเหินจากคนอื่นเมื่อใส่หน้ากากอนามัย เพราะเป็นไปได้ว่า หน้ากากอนามัยจากที่แสดงการปิดบังตัวตนของผู้ใส่ กำลังกลายเป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัย การใส่ใจต่อผู้อื่น การปฏิบัติตัวที่ดีในยุคโควิด การมีความเป็นมืออาชีพในการทำงานหรือติอต่อกับผู้เกี่ยวข้อง หรือความปลอดภัยในการสร้างความสัมพันธ์ด้วยก็เป็นได้ค่ะ

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

โน้มน้าวคนใกล้ตัวอย่างไรให้เข้าสู่ new normal

 

ในยุคของการระบาดของไวรัสโควิด 19 คนเราต่างก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินต่าง ๆ เพื่อป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดจากการติดเชื้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพกและใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ การล้างมือบ่อย ๆ การพกและใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค และการรักษาระยะห่างระหว่างกัน

 

จะทำอย่างไรดีคะ ถ้าหากคนใกล้ตัวเราไม่ยอมทำตามกฏเพื่อความอยู่รอดจากเชื้อโควิดเหล่านี้? เช่น คุณพ่อคุณแม่อายุมากแล้ว ก็อาจจะไม่อยากใส่หน้ากากเพราะรู้สึกอึดอัด ยังอยากออกไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนหรือจับกลุ่มเม้ามอยกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน เราลูกหลานจะทำอย่างไรดีให้ท่านตระหนักและหันมาปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันเชื้อโรคโควิด? หรือแม้แต่ผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นที่อาจจะรู้สึกว่าตัวเองแกร่ง หรือคนที่การ์ดตก อยากกลับไปใช้ชีวิตที่อิสระไม่ต้องเก็บเนื้อเก็บตัวให้เดียวดาย เราจะชักจูงพวกเขาอย่างไรดีให้หันมา “ตั้งการ์ด” ป้องกันเชื้อโควิดระลอกสอง

 

ลองวิธีต่อไปนี้ดูค่ะ

 

 

1. ชวนให้ทำเพื่อตัวเองหรือคนที่เขารัก

 

ทฤษฏีการโน้มน้าวใจในทางจิตวิทยาสังคม จะแนะนำให้เน้นที่ผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเขาเอง หรือผลเสียที่จะเกิดกับตัวเขา เพื่อเป็นแรงดันให้คนคนนั้นอยากจะทำตามที่เราบอก ดังนั้นง่ายที่สุดคือทักเขาว่า “ไม่กลัวติดโควิดตายเหรอ ทำไมไม่ใส่หน้ากาก” “ออกไปทำไมที่คนเยอะแยะ เดี๋ยวก็ติดโควิดหรอก” แน่นอนว่าคนที่ไม่ยอม “ตั้งการ์ด” กันโควิดนั้นก็จะมีข้ออ้างมากมาย โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าตัวเขาคงไม่โชคร้ายไปได้เชื้อโรคมาหรอก หรือถึงจะติดจริง ๆ เป็นได้ก็หายได้ ความเชื่อเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นธรรมชาติของคนเราที่มักจะคิดเข้าข้างตัวเองอยู่บ่อย ๆ เถียงไปก็ไร้ประโยชน์ค่ะ เจอแบบนี้เราก็แค่เปลี่ยนเป้าหมายจากตัวเขาไปที่ “คนที่เขารัก” แทน เราทุกคนมีครอบครัวหรือคนที่เรารัก ที่เราไม่อยากเห็นเขาต้องได้รับเชื้อโควิด ดังนั้นประโยคที่จะกระตุกใจคนที่ไม่ยอมตั้งการ์ด ก็อาจเป็น “ไม่กลัวเอาไปติดลูกเหรอ” “ไม่กลัวเป็นแล้วไม่ได้ดูแลลูกหลาน/พ่อแม่เหรอ” “เป็นแล้วติดกันทั้งบ้านได้เลยนะ เด็ก คนแก่ ถึงตายได้นะ” คนที่ได้ยินก็มักจะเถียงได้ยาก และทำให้นึกถึงคนที่เขารักและสำคัญกับเขา ซึ่งมักจะเป็นตัวกระตุ้นได้อย่างดีเพื่อให้คนเรายอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองค่ะ

 

2. ทำให้ new normal เป็นเรื่องง่าย ๆ

 

คนที่ไม่อยากจะใส่หน้ากากอนามัย ไม่สนใจจะรักษาระยะห่าง พอมีโอกาสเขาก็จะ “ไม่ทำ” สิ่งเหล่านั้น วิธีที่จะตะล่อมให้เขายอมทำได้ง่ายขึ้นก็คือการจัดสภาพแวดล้อมให้พร้อมสำหรับ new normal เช่น การจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและเจลฆ่าเชื้อโรคให้พร้อมสำหรับเขา แบบที่ใส่สบาย สวย/เท่ห์ ใส่ง่ายหายใจสะดวก มีไว้ให้พร้อมเสมอในที่ที่เขาใช้ชีวิต เช่น มีไว้ก่อนออกจากบ้าน ในรถ ในกระเป๋าถือ แบบนี้ก็จะลดอาการงอแงแก้ตัวว่า ทำไม่ได้ หรือ ไม่สะดวก ไปได้มากค่ะ และคนรอบ ๆ ตัวเขาก็ต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน สม่ำเสมอ และสนุกสนานด้วยจะยิ่งดี คนเราบางทีทำอะไรก็เพราะคนรอบ ๆ ตัวเราเขาทำกัน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็น new normal ก็จะช่วยให้คนดื้อค่อย ๆ ปรับตัวได้ค่ะ

 

3. ชดเชยความสูญเสีย/ไม่สะดวก

 

คนเรามักจะต่อต้านเมื่ออิสระเสรีภาพที่เคยมีต้องมาเสียไปหรือถูกจำกัด เช่น ห้ามออกจากบ้าน ห้ามไปเที่ยว ห้ามไปแดนซ์ ห้ามไปดูมวย ทั้งที่เคยทำได้ตามใจชอบ ดังที่เป็นข่าวการประท้วงการ lockdown ในต่างประเทศ การห้ามหรือแนะว่าไม่ควรทำสิ่งที่เขาเคยทำได้ ก็มักถูกมองว่าเป็น “ความสูญเสีย” ที่จะเกิดขึ้นถ้าเขายอมเชื่อตาม ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจจริงไหมคะ? ดังนั้นเราก็ควรจะหาทางชดเชยสิ่งเหล่านี้เพื่อลดแรงต้านนั่นเอง แปลว่าเราไม่ควรห้ามอย่างเดียว แต่ควรชวนเขาทำสิ่งใหม่ทดแทน (นี่ละค่ะ new normal) เช่น การจัดให้ผู้สูงอายุได้พบเจอเพื่อนๆ ผ่านวีดีโอคอล การหากิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ สำหรับเขาให้ทำที่บ้านมาทดแทนการออกไปสังสรรค์ในแบบที่เสี่ยง แนะนำการช้อปปิ้งออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ แทนการออกไปเดินที่คนเยอะ ๆ เป็นต้นค่ะ

 

 

ที่กล่าวมาเป็นแค่สิ่งที่เราลุกขึ้นมาทำได้เองเพื่อคนใกล้ตัวที่อาจจะไม่ยอมป้องกันตัวเองค่ะ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่คงทนถาวรได้นั้นได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมในภาพกว้างด้วย การรณรงค์ของภาครัฐ การจำหน่ายจ่ายแจกหน้ากากอนามัยที่เพียงพอ การจัดสถานที่สาธารณะที่เอื้ออำนวยต่อการรักษาระยะห่าง การมีมาตรการคุมเข้มเรื่องการสวมหน้ากากและรักษาระยะห่าง การให้ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ เพื่อปรับตัว หรือการจัดพื้นที่ผู้ให้บริการต่างๆ ที่เพียงพอต่อการรักษาระยะห่าง ก็ล้วนส่งผลต่อการที่คนเราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเข้าสู่ new normal ได้ยากหรือง่ายทั้งนั้นค่ะ เรียกว่าต้องปรับไปพร้อมกันทุกภาคส่วนกันทีเดียว

 

ฮึบ ทำไปพร้อม ๆ กันนะคะ แล้วเราจะรอดไปด้วยกัน!

 

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

เมื่อบ้านต้องกลายเป็นโรงเรียน และพ่อแม่ต้องกลายเป็นครูจำเป็น

สถานการณ์โลกเราในยามนี้ที่มีโควิด-19 นั้นทำให้เราทุกคนต้องปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รอบด้าน สำหรับครอบครัวที่มีลูก ๆ วัยเรียนแล้ว เรื่องใหม่ที่ต้องเจอก็คือบ้านต้องกลายเป็นโรงเรียน และการเรียนในระบบของเด็ก ๆ ส่วนหนึ่งมาจากหน้าจอ หรือมาจากแบบฝึกหัดที่คุณครูส่งมาให้ โดยพ่อแม่ต้องทำหน้าที่เป็นคุณครูจำเป็น ซึ่งถือเป็นความท้าทาย เพราะพ่อแม่ยังต้องทำงาน และการเรียนรู้ของเด็กก็เป็นเรื่องสำคัญ แล้วเราควรจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

 

อย่าคาดหวังความเพอร์เฟกต์ ก่อนอื่นเลย ขอให้คุณพ่อคุณแม่เตรียมใจให้พร้อม ว่าบ้านไม่ใช่โรงเรียน และเราไม่สามารถทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบได้ ทั้งในแง่ของเวลา เงินทอง และอุปกรณ์ แต่เราสามารถทำให้ดีที่สุดตามความสามารถของเราและลูกได้ในสถานการณ์เช่นนี้

 

วางแผน แต่ละบ้านต่างก็มีสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่ห้องหับภายในบ้าน เรื่องเวลางานของพ่อแม่ หรือแม้แต่เรื่องเทคโนโลยี เราจึงควรวางแผนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในบ้าน อย่างเรื่องเวลา หากพ่อแม่สะดวกช่วยเรื่องเรียนลูกได้ 1-2 ชั่วโมงในวันทำงาน ก็จัดชั่วโมงเพิ่มไปในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น หากการเรียนผ่านทางออนไลน์เป็นปัญหาสำหรับครอบครัว เราก็อาจต้องกลับมาใช้แบบฝึกหัดแบบกระดาษหรืออ่านหนังสือแทน ดูออนไลน์หรือค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตร่วมกับลูกบ้างเท่าที่จำเป็นเพื่อการตรวจสอบข้อมูล หากโรงเรียนต้องการให้ส่งการบ้านทุกวัน แต่ด้วยตารางแล้วไม่สามารถจัดได้ ก็คุยกับคุณครูให้เคลียร์ ช่วยกันหาแนวทางที่จะทำได้ ที่สำคัญไม่ควรไปเปรียบเทียบกับบ้านอื่น ๆ เพราะแต่ละครอบครัวล้วนมีปัจจัยไม่เหมือนกัน

 

เวลาคุณภาพ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านกังวลว่าเวลาที่ให้กับลูกในการเรียนที่บ้านนั้นจะน้อยไป ขอให้นึกไว้อย่างหนึ่งว่า เวลาคุณภาพ (quality time) นั้นสำคัญกว่าเวลาจำนวนมาก อีกอย่างหนึ่ง การเรียนในบ้านจะมีลักษณะเป็นแบบตัวต่อตัว ซึ่งเด็กจะได้รับความสนใจจากเราอย่างเต็มที่ เมื่อเทียบกับการเรียนในโรงเรียนที่ครูจะต้องแบ่งความสนใจให้เด็กหลายคน ดังนั้นเพียง 1-2 ชั่วโมงในการเรียนรู้ในบ้าน ก็พอจะเทียบเคียงกันได้

 

เด็กมีความสามารถในการให้ความสนใจจดจ่อกับกิจกรรมตรงหน้า (attention span) ได้ดีขึ้นตามอายุ หากอยากทราบว่าลูกเราสามารถนั่งทำกิจกรรมได้นานเท่าไร วิธีคำนวณคือ ให้เอาอายุลูก คูณด้วย 2-3 นาที คือ หากมีลูกอายุ 3 ขวบ เด็กจะสามารถทำกิจกรรมตรงหน้าได้นานประมาณ 6-9 นาที จากนั้นต้องหาอะไรอย่างหนึ่งมาทำแก้ขัดก่อน เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็กก็เป็นร้องเพลง ชวนคุยเรื่องอื่น เป็นต้น แล้วค่อยพาลูกกลับมาสู่กิจกรรมที่ต้องการอีกครั้ง หากเป็นกิจกรรมที่ยาก พ่อแม่อาจจะช่วยแนะวิธีคิดเป็นขั้น ๆ ว่าทำอะไรก่อนหลัง เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเครียด พ่อแม่จึงไม่ควรตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินความสามารถตามพัฒนาการของเด็ก

 

บรรยากาศสำคัญ หลายครั้งที่การสอนการบ้านหรือนั่งเรียนกับลูกกลายเป็นเรื่องเครียด เพราะเราไปตั้งความหวังกับลูกมากเกินไป พ่อแม่ผู้ปกครองอาจรู้สึกหงุดหงิดว่าทำไมเรื่องง่าย ๆ แค่นี้ ลูกคิดไม่ได้ ทำไมลูกไม่ตั้งใจ จนบรรยากาศเริ่มเสีย พ่อแม่ก็ไม่สนุก ลูกก็ไม่สนุก ขอให้เอาใจเราไปใส่ในใจลูกให้มาก ๆ เด็กอย่างไรก็คือเด็ก ที่ต้องการการเล่น หากเราอยากให้เด็กเรียนรู้ ก็ต้องทำให้การเรียนสนุกและเหมือนการเล่น เช่น ทำเหมือนเป็นเกมโชว์ แปลงเป็นการเล่านิทาน หรือแสดงบทบาทสมมติ เป็นต้น ดังนั้น ต้องไม่เครียด บรรยากาศที่ดีสำคัญมาก

 

ธรรมชาติของคนเราจดจำอารมณ์ความรู้สึกได้เก่งมาก ถ้าเรียนแล้วสนุก การเรียนรู้ของเด็กจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น และเขาก็จะรักการเรียนรู้ แต่หากถูกตำหนิอยู่เสมอ เด็กก็จะมีรอยประทับของความรู้สึกแย่ ๆ นี้ติดตัวเขาไปตลอด อาจทำให้มีความรู้สึกที่ไม่ดีกับการเรียน และตำหนิตัวเองว่าไม่เก่ง ทำไม่ได้ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการตัวเด็กเอง

 

สร้างแรงผลักดันจากภายใน เด็กจะพัฒนาตัวเองได้ดี ถ้ามีความสุขกับกิจกรรมที่ได้ทำ ทำแล้วอิน อยากจะเรียนรู้เพิ่ม อยากจะเก่งขึ้นด้วยตนเอง แบบนี้เรียกว่ามีแรงผลักดันจากภายใน คือมี passion การเรียนรู้ที่มาจากความชอบเช่นนี้ จะทำให้เด็กพัฒนาตนเองให้มีความสามารถที่โดดเด่น ซึ่งอาจจะเป็นทักษะที่เฉพาะตัวนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพได้ พ่อแม่จึงควรพยายามส่งเสริมกิจกรรมที่ลูกชอบและสนใจ เปิดโอกาสให้ได้ลองทำให้สุดความสามารถ โดยไม่ต้องกังวลว่าสิ่งที่ลูกชอบจะเป็นเรื่องไร้สาระหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าโลกยุคใหม่หมุนไปเร็วมาก จะมีอาชีพแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายที่เราไม่สามารถเอาบรรทัดฐานของยุคสมัยเรามาวัดได้ ดังนั้นลูกอยากทำอะไรก็ส่งเสริมและให้กำลังใจ ไม่ควรไปห้ามปรามให้ต้องทะเลาะบั่นทอนความสัมพันธ์กัน

 

พ่อแม่หลายท่านอาจเคยได้ทราบเรื่องการส่งเสริมโดยการให้รางวัล การให้รางวัลนั้นได้ผลดี แต่จะให้ผลเฉพาะช่วงแรกเท่านั้น พ่อแม่อาจใช้รางวัลเพื่อช่วยดึงความสนใจให้เด็กทำกิจกรรมที่ไม่ชอบ เมื่อลูกเริ่มปรับตัวกับงานที่ไม่ชอบได้ดีขึ้นบ้างแล้ว รางวัลอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป การให้รางวัลที่มากและบ่อยเกินไปอาจทำให้เด็กรู้สึกเบื่อกับการทำกิจกรรมนั้น หากเด็กไม่ชอบวิชาเลข พ่อแม่บอกว่าถ้าทำเกรดได้ดีจะให้รางวัลเป็นสิ่งของ แต่เมื่อผลการเรียนเลขดีขึ้น ลูกอาจจะรู้สึกดีกับวิชานี้ขึ้นมาบ้าง เริ่มมีความมั่นใจแล้ว ก็ให้กำลังใจให้พยายามต่อด้วยตัวเด็กเอง ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าถ้าตั้งใจ ก็จะเก่งขึ้นได้ เรียกว่ามี growth mindset

 

เรียนรู้จากลูก อาจเรียกได้ว่า วิกฤตินี้โควิดอาจเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้ใช้เวลาในการทำความรู้จักกับลูก ว่าแท้จริงแล้วลูกชอบหรือสนใจอะไร และเน้นการสอนทักษะชีวิตให้ลูก เป็นเรื่องที่พ่อแม่สนใจก็ได้ ซึ่งเป็นความรู้นอกตำรา แต่เป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 เช่น การรู้จักตัวเอง รู้เท่าทันและควบคุมอารมณ์ตัวเอง การสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ รับฟังผู้อื่นอย่างเข้าอกเข้าใจ และที่สำคัญที่สุดในภาวะนี้คือ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง พ่อแม่สามารถนำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำอยู่แล้วในบ้าน มาประยุกต์สอนลูก ๆ เช่น การซ่อมแซม บำรุงรักษาข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน การประหยัดอดออม การค้าขาย เป็นต้น

 

สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่านปรับตัวปรับใจให้รับกับสถานการณ์โควิด – 19 นี้ ขอให้ใช้โอกาสนี้ที่สมาชิกในครอบครัวได้อยู่บ้านด้วยกัน สร้างบรรยากาศที่ดีต่อกัน เข้าใจกันและกันให้มาก ๆ เพื่อก้าวผ่านภาวะนี้ไปได้

 

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/free-photos-vectors/education

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การบังคับใส่หน้ากากอนามัยตามสีที่กำหนด กับมุมมองเชิงจิตวิทยา

 

กลายเป็นประเด็นร้อนทั่วโลกโซเชียลภายในไม่กี่ชั่วโมง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 มีผู้แชร์ภาพประกาศของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งกำหนดรูปแบบหน้ากากอนามัยที่นักเรียนต้องสวมใส่เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดเทอม ว่าต้องเป็นสีพื้นไม่มีลวดลาย โดยมีตัวอย่างว่าให้นักเรียนหญิงใส่หน้ากากสีอ่อนเช่น ขาว ชมพู และนักเรียนชายให้ใส่หน้ากากสีขาว เทา ดำ ทำให้ชาวโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

 

ล่าสุด วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศแล้วว่า ไม่ได้มีนโยบายหรือการสั่งการให้กำหนดสีหน้ากากอนามัยที่นักเรียนต้องใส่ และยังย้ำว่าให้ใช้หน้ากากแบบใดก็ได้ที่ถูกสุขอนามัย แต่ประเด็นดรามาที่เกิดขึ้นก็น่าจะนำมาวิเคราะห์และสรุปบทเรียนเพื่อหาแนวทางการจัดการพฤติกรรมที่น่าจะ ‘work’ กว่าการบังคับ

 

วันนี้เรามาลองมองการจัดการกับพฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยของนักเรียนจากมุมจิตวิทยากันค่ะ

 

การกำหนดสีหน้ากากที่นักเรียนสวมใส่ตามข่าวนั้น น่าจะทำให้เกิดภาพที่เรียบร้อยเป็นระเบียบดี แต่ถ้ากลับมาพิจารณาว่า เป้าหมายของการใส่หน้ากากอนามัย คือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อ COVID-19 ซึ่งจะได้ผลดีถ้าคนส่วนใหญ่ใส่กันเยอะ ๆ หรือ 100% ได้ยิ่งดี การกำหนดสีหน้ากากก็ดูจะนอกประเด็นไปไกลสักหน่อย

 

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องความเหมาะสมในเชิงปฏิบัติ เช่น หากนักเรียนมีหน้ากากอยู่แล้วแต่ไม่ได้สีตรงกับที่กำหนด อาจทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินเพื่อซื้อใหม่ และการที่หน้ากากรูปแบบและสีเดียวกันอาจทำให้มีโอกาสหยิบสลับกัน ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลทางจิตวิทยาที่การบังคับเช่นนี้อาจไม่ได้ผลและอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาด้วย

 

เหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องแรงจูงใจ การบังคับคือการใช้แรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation) ซึ่งจะทำให้คนทำตามเฉพาะเมื่อมีการตรวจสอบ แต่เมื่อไม่มีใครคอยจับตามองก็พร้อมที่จะเลิกทำ เพราะในใจไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยตั้งแต่ต้น หรือบางกรณี แม้ตอนแรกจะไม่ได้ขัดข้องอะไร แต่การถูกบังคับอาจทำให้รู้สึกอยากต่อต้านขึ้นมาก็ได้ ยิ่งในวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่กำลังค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ชอบถูกบังคับ และในแง่สุขภาพก็รู้สึกว่าตนเองแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย อาจจะยิ่งเห็นว่าไม่ใส่หน้ากากอนามัยก็ได้ไม่เห็นเป็นไร

 

วิธีที่ดีกว่านั้นจึงเป็นการสร้างให้เกิดแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) ทำให้นักเรียนอยากใส่หน้ากากอนามัยเองโดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญหรือคอยสอดส่อง

 

ทฤษฎีจิตวิทยาทฤษฎีหนึ่งที่นิยมใช้อธิบายการเกิดแรงจูงใจภายใน คือ ทฤษฎีความมุ่งมั่นของตนเอง (self-determination theory) โดย Ryan และ Deci เสนอไว้ว่า แรงจูงใจภายในที่จะทำพฤติกรรมสักอย่างหนึ่งนั้น เกิดจากการมีความรู้สึกว่าตนเองสามารถทำสิ่งนั้นได้ดี (competence) สามารถเลือกเองตัดสินใจเองได้ (autonomy) และการทำสิ่งนั้นเปิดโอกาสให้ได้มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น (relatedness)

 

ลองนึกดูก็ได้ค่ะ ว่าหากคุณ “ถูกบังคับ” ให้ทำอะไรสักอย่างที่คุณไม่ชอบ แถม “ไม่ถนัด” และ “ไม่มีโอกาสให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับใครเลย” คุณจะอยากทำสิ่งนั้นไหม

 

แล้วจะประยุกต์ทฤษฎีนี้เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนอยากใส่หน้ากากกันเป็นประจำได้อย่างไร เรามาลองคิดวิธีประยุกต์ทฤษฎีความมุ่งมั่นของตนเอง (self-determinism theory) กันดีไหมคะ?

 

ประการแรก เราอาจเริ่มจากส่งเสริมให้นักเรียนเลือกใส่หน้ากากรูปแบบและสีสันอย่างที่นักเรียนชอบ ที่ใส่แล้วรู้สึกว่าดูดี มั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง เพื่อเพิ่มความรู้สึกว่าได้เลือกเองตัดสินใจเอง (autonomy) ไม่ถูกจำกัดเสรีภาพ

 

ส่วนเรื่องการได้แสดงออกถึงความสามารถนั้น พฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยเองอาจไม่ต้องใช้ความสามารถอะไร แต่เราสามารถเปิดช่องให้มีการทำกิจกรรมที่ได้แสดงออกถึงความสามารถ (competency) ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบที่แต่ละคนถนัด เช่น ให้ออกแบบหน้ากากผ้า ทำคลิปรีวิวหน้ากากผ้าแบบต่าง ๆ ทำคลิปสอนเพื่อนทำหน้ากากผ้า DIY แบบเก๋ ๆ หรือสร้างสื่อรูปแบบอื่น ๆ เพื่อเชิญชวนคนอื่น ๆ ทั้งในและนอกโรงเรียนให้สวมหน้ากากผ้า

 

นอกจากนี้ ควรทำให้กิจกรรมดังกล่าตอบสนองความต้องการทางสังคม (relatedness) ด้วย เช่น มีพื้นที่ให้ได้นำหน้ากากที่เลือกใส่ หรือหน้ากากที่ออกแบบเก๋ ๆ มาโชว์ เหมือนเป็นแฟชั่น เช่น บนเว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ของโรงเรียน หรือจะให้นักเรียนร่วมกันจัดตั้งช่องทางการสื่อสารดังกล่าวขึ้นเองก็ได้ เพื่อให้รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเชื่อมโยงกับผู้อื่นในสังคม ได้รับการตอบสนองจากผู้อื่นในสังคมเมื่อสื่อสารหรือเผยแพร่ความเห็นหรือผลงานของตัวเองออกไป

 

วิธีนี้ยังสามารถสร้างให้เกิดอิทธิพลทางสังคม (social influence) จากการได้เห็นเพื่อนนักเรียนรุ่นราวคราวเดียวกันสวมใส่หน้ากากอนามัยสวย ๆ เท่ ๆ มาโชว์กัน ทำให้เกิดพฤติกรรมคล้อยตามได้อีกด้วย ผลการวิจัยทางจิตวิทยาสังคมจำนวนมากพบว่า อิทธิพลทางสังคมจากบรรทัดฐานทางสังคมว่าคนอื่นส่วนใหญ่ทำอะไรกันนั้นมีผลต่อพฤติกรรมของบุคคลมากทีเดียว

 

คงเห็นแล้วนะคะว่า การทำพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพของคนในสังคมนั้น มีวิธีอื่นที่ดีกว่าการออกกฎมาบังคับ โดยเฉพาะถ้ากฎนั้นจุกจิกหยุมหยิมจนคนขยับตัวไม่ได้ เลือกทำอะไรด้วยตัวเองแทบไม่ได้เลย ก็อาจทำลายแรงจูงใจภายใน และไม่ก่อให้เกิดการยอมรับและเปลี่ยนความคิดอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็จะไม่ยั่งยืน

 

ผู้นำ ผู้กำหนดนโยบาย หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ สามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้กับการเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องอื่น ๆ ด้วยนะคะ เพราะการบังคับด้วยกฎระเบียบหรือการใช้แรงจูงใจภายนอก นอกจากจะไม่ได้ให้ผลที่ต้องการในระยะยาวแล้ว ยังอาจเกิดผลเสียสะท้อนกลับมาได้ด้วยนะคะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Ryan, R. M., & Deci, E. L. (2000). Self-determination theory and the facilitation of intrinsic motivation, social development, and well-being. American Psychologist, 55, 68-78. https://doi.org/10.1037/0003-066X.55.1.68

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จิตวิทยาปริชาน

 

เมื่อพูดถึงสาขาต่าง ๆ ในจิตวิทยา ส่วนมากแล้วสาขาที่หลาย ๆ คนรู้จักจะมี จิตวิทยาสังคม (social psychology) จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) จิตวิทยาการปรึกษา (counselling psychology) จิตวิทยาคลินิก (clinical psychology) จิตวิทยาองค์การ (organizational psychology) และ จิตวิทยาประยุกต์ (applied psychology) แต่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักจิตวิทยาปริชาน หรือ อีกชื่อหนึ่งที่มักจะถูกเรียกคือ จิตวิทยาปัญญา หรือ จิตวิทยาการรู้คิด เท่าไรนัก

 

จิตวิทยาปริชาน มุ่งศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ และตัดสินใจว่าเราควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ กระบวนการที่ว่านี้รวมไปถึง การใส่ใจ การรับรู้ การเรียนรู้ ความจำ ภาษา การแก้ปัญหา การให้เหตุผล และการคิด

ทั้งหมดที่ว่ามานี้เราสามารถสรุปได้ว่า

 

จิตวิทยาปริชานพยายามศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจการรับรู้ของมนุษย์ผ่านการสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้เรายังสามารถนำความรู้ทางจิตวิทยาปริชานมารวมกับความรู้ทางด้านประสาทวิทยา (cognitive neuroscience) เพื่อทำให้เราสามารถศึกษาการรับรู้ของมนุษย์ผ่านการทำงานของสมองและโครงสร้างของสมองได้อีก

 

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งของหัวข้อในจิตวิทยาปริชาน คือ ความจำ (memory) นักจิตวิทยาปริชานจะทำวิจัยว่า

  • “ทำไมบางเรื่องที่เราอยากจำได้แต่เรากลับลืม”
  • “ในขณะที่เรื่องที่เราอยากลืมเรากลับจำได้แม่นยำ”
  • “จะทำอย่างไรให้เราจำได้ดีขึ้น”
  • “แต่ถ้าบางเรื่องมันกระทบจิตใจเรามาก ๆ จะทำอย่างไรให้เราลืมเรื่องพวกนั้นไป”
  • “ความจำที่เราคิดว่าเราจำได้แม่นยำมาก ๆ เราจำมันได้อย่างที่มันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า”
  • “ความทรงจำของเรามันสามารถบิดเบือนไปได้ไหม”

รวมไปถึงการทำงานของสมองว่า

  • “สมองส่วนใดมีหน้าที่ในการทำงานเกี่ยวข้องกับความจำ”
  • “หากสมองส่วนนี้ได้รับความเสียหายไปทำให้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำลดลงไป จะทำอย่างไรเพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้”

 

เมื่อได้ผลการวิจัยมาก็จะนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยพบว่า หากเราต้องการจำข้อมูลใดให้ได้ เราจะต้องพยายามดึงมันมาใช้บ่อย ๆ เราสามารถนำความรู้นี้มาปรับใช้ในเตรียมสอบได้ กล่าวคือ เมื่อเราทบทวนบทเรียนจบแล้ว การที่เรานำแบบฝึกหัดหรือข้อสอบเก่ามาฝึกทำ เพื่อให้มีเรียกคืนข้อมูลที่เราอ่านไปแล้ว จะทำให้เราจำบทเรียนได้ดีขึ้น

 

 

Brain scheme with circles and icons

 

 

ในปัจจุบันความรู้ทางจิตวิทยาปริชานถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ บริบท เช่น

 

  • การศึกษา ที่ได้นำความรู้ทางจิตวิทยาปริชานมาปรับใช้กับเทคนิคการสอนต่าง ๆ เพื่อทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การทำจิตบำบัด ที่นำความทางจิตวิทยาปริชานมาใช้ในการปรับความคิดและพฤติกรรมในการรักษาโรค
  • การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ การเข้าใจ และการทำงานของสมองได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาอัลกอริทึมแบบระบบเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น Virtual Reality (VR) หรือการจำลองสภาพแวดล้อมจริง ที่นำความรู้เกี่ยวกับการรู้สึกและการรับรู้ในจิตวิทยาปริชานมาใช้

 

จากตัวอย่างที่ว่ามาจะเห็นได้ว่าความรู้ทางจิตวิทยาปริชานสามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายบริบทที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ ความเข้าใจของมนุษย์

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร. พจ ธรรมพีร

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Anonymity – ภาวะนิรนาม

 

 

ความนิรนาม คือ การไม่มีตัวตน การไม่สามารถระบุตัวตนได้

 

ความนิรนามเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนขาดความรู้ตนเอง ทำให้ขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์รอบตัวอย่างมีสติ ความคิดและความสามารถในการใช้เหตุผลลดลง ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างซึ่งในเวลาปกติจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนั้น พฤติกรรมเหล่านี้ถูกแสดงออกตามสิ่งเร้าในสถานการณ์อย่างไม่มีการไตร่ตรอง ความรุนแรงของพฤติกรรมจึงมีมากกว่าปกติ

 

ความนิรนามเป็นองค์ประกอบสำคัญของการลดความเป็นตัวตน (deindividuation) คือการที่บุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ความเด่นชัดของตัวบุคคลลดลง เช่น อยู่ในแสงสลัว อยู่ในฝูงชน ใส่หน้ากาก หรือใช้สีทาหน้าตา สภาพการณ์เหล่านี้มักโน้มนำบุคคลให้ทำพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากพฤติกรรมปกติ ซึ่งจะเป็นไปในทางบวกหรือลบขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะโน้มนำไปในทางใด

 

กล่าวได้ว่า บุคคลมักกล้าแสดงออกในสิ่งที่ตัวตนจริงไม่กล้าทำเมื่ออยู่ภายใต้ภาวะนิรนาม

 

 

Burkell (2006) ได้แบ่งความนิรนามออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  • ความนิรนามจากการระบุตัว (Identity Protection) คือ การไม่ระบุชื่อ
  • ความนิรนามจากการสังเกตเห็น (Visual Anonymity) คือ การมองไม่เห็นจากอีกฝ่าย
  • ความนิรนามจากพฤติกรรมที่ตนกระทำ (Action Anonymity) คือ การกระทำไม่สามารถรับรู้ถึงผู้กระทำได้

 

การศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ความนิรนามและคุณภาพของความคิดเห็นในเว็บออนไลน์ (Omernick & Sood, 2013) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ใช้ 3 กลุ่ม คือ ผู้ใช้ระบุตัวตน ผู้ใช้ระบุนามปากกา และผู้ใช้ไม่ระบุตัวตน พบว่า ผู้ใช้ระบุตัวตน แสดงความคิดเห็นตรงกับหัวข้อเรื่องมากกว่า มีคำด่าทอและแสดงอารมณ์โกรธน้อยกว่า แสดงความคิดเห็นด้วยความรู้สึกทางบวกมากกว่า แต่ถ้านับจำนวนการแสดงความคิดเห็นต่อบทความ ผู้ใช้ไม่ระบุตัวตนมีการแสดงความคิดเห็นมากกว่า

 

ส่วนการศึกษาการรับรู้ความนิรนามในบริบทการทำงาน (Hackman & Kaplan, 1974) พบว่า การทำงานด้วยความนิรนามมีประโยชน์ในแง่การเพิ่มผลิตผลการทำงาน การสร้างความพึงพอใจในกลุ่มผู้ที่แลกเปลี่ยนความคิดอย่างนิรนาม เนื่องจากช่วยลดความหวั่นในการประเมิน ลดความมีอำนาจ และสถานะแข่งขัน นำไปสู่การมีทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น แต่มีข้อเสียในแง่ การอู้งาน การลดการรับฟังผู้อื่น การลดความเป็นตัวตน และการเข้าสังคมที่ไม่ดี ซึ่งลดประสิทธิภาพของกลุ่มและนำไปสู่ความไม่พึงพอใจในการทำงาน

 

นอกจากนี้ การศึกษาอื่น ๆ พบประโยชน์ของความนิรนาม ได้แก่ ทำให้บุคคลสนใจในเนื้อหาที่พูดมากกว่าตัวบุคคล ความนิรนามทำให้เกิดความอิสระในการพูดในหัวข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหว ทำให้คนกลุ่มน้อยที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างสามารถมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นของตน นำไปสู่การมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น มีความคิดเห็นที่หลากหลายมากกว่า ลดความสนใจไปยังตัวบุคคลและลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล ความนิรนามยังมีประโยชน์ต่อความเป็นส่วนตัว ทำให้บุคคลสามารถควบคุมปริมาณหรือขอบเขตที่ผู้อื่นจะเข้าถึงตัวบุคคลได้ ซึ่งส่งผลทางบวกต่อสุขภาวะทางจิต

 

อย่างไรก็ดี ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่าความนิรนามทำให้บุคคลลดความตระหนักรู้ในตน และเอื้อให้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น ยิ่งในสื่อออนไลน์ที่เป็นพื้นที่เปิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การข่มเหงรังแกทางไซเบอร์ยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย ความนิรนามส่งผลต่อการลดความวิตกกังวลในการข่มเหงรังแกผู้อื่น เพิ่มการรับรู้อำนาจ และลดความรับผิดชอบในตนเอง เนื่องจากตนไม่ได้รับผลกระทบทางลบจากการกระทำของตนเอง บุคคลรับรู้ว่าตนสามารถทำอะไรก็ได้และไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำที่เกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ ในมุมของผู้ถูกกระทำ การถูกรังแกโดยบุคคลนิรนามสร้างผลประทบทางลบให้กับเหยื่อมากกว่า เพราะเกิดความรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย เกิดความหวั่นวิตก รับรู้อำนาจที่ด้อยกว่า และไม่รู้ถึงวิธีการจัดการกับปัญหา

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018

 


 

เรียบเรียงโดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Self-objectification – การประเมินตนเสมือนวัตถุ

 

 

การประเมินตนเสมือนวัตถุ

หมายถึง การที่บุคคลใช้รูปลักษณ์ตัดสินคุณค่าของตนเอง จนละเลยคุณค่าด้านอื่นหรือปัจจัยภายใน เช่น ความคิด อารมณ์ความรู้สึกหรือความต้องการทางร่างกายไป

 

การประเมินตนเสมือนวัตถุมีองค์ประกอบ 3 ด้าน ดังนี้

 

1. การเฝ้าสำรวจภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (Body surveillance)

หมายถึง การเฝ้าตรวจตราทางภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเองว่าเป็นไปตามค่านิยมของสังคมที่กำหนดหรือไม่ และมีการประเมินจากมุมมองของคนอื่น

 

2. ความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (Body shame)

หมายถึง ความรู้สึกอับอายในภาพลักษณ์ของตนเองที่ภาพลักษณ์ของตนเองนั้นไม่ได้สวยงามและเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้วางเอาไว้

 

3. ความเชื่อเกี่ยวกับการควบคุมภาพลักษณ์ทางร่างกายของตนเอง (Control belief)

หมายถึง ความเชื่อทางด้านภาพลักษณ์ในร่างกายของตนเองว่าตนเองนั้นสามารถควบคุมให้เป็นไปตามที่มาตรฐานของสังคมได้ตั้งไว้ได้

ด้วยปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม นักจิตวิทยาพบว่า เพศหญิง รวมถึงกลุ่มชายรักชาย มีแนวโน้มที่จะประเมินตนเสมือนวัตถุมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและอยู่ในระหว่างการค้นหาอัตลักษณ์และบทบาทแห่งตน

 

 

ผลกระทบของการประเมินตนเสมือนวัตถุ

 

บุคคลที่มีการเฝ้าสำรวจตนเองทางรูปลักษณ์มากเท่าไร ก็จะทำให้มีโอกาสเห็นข้อจำกัดทางด้านรูปลักษณ์ของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้บุคคลมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์และน้ำหนักของตนเองมาก จึงพยายามที่จะควบคุมน้ำหนักและรูปร่างของตนเองให้เป็นไปตามอุดมคติ เกิดเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติและมีอาการซึมเศร้าที่สูงขึ้นได้

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นคุณค่าในตนเอง การเปิดรับอิทธิพลจากสื่อ การประเมินตนเสมือนวัตถุ และความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์ทางร่างกายในชายรักชายและชายรักต่างเพศ” โดย พรรณทิพา ปัทมอารักษ์ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/59684

 

ภาพจาก https://www.verywellmind.com/eating-disorders-awareness-prevention-4157248

 

Positive Illusions – ภาพลวงตาทางบวก

 

 

ภาพลวงตาทางบวก

 

การเกิดภาพลวงตาทางบวก ประกอบด้วย การเห็นคุณค่าในตนเองสูง หรือมองตนเองในทางบวกเกินจริง การรับรู้ว่าตนมีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เกินความสามารถที่แท้จริงของตนเอง และการมองโลกในแง่ดีว่าในอนาคตจะมีแต่สิ่งดี ๆ เกิดขึ้น

 

การเกิดภาพลวงตาทางบวกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดได้ในบุคคลทั่วไป เราจะมองตนเองตามจริงและมีแนวโน้มไปในทางบวกเกินจริงหรือเกิดภาพลวงตาทางบวกเกี่ยวกับตนเอง ส่วนบุคคลที่มองตนเองไปในทางลบเกินจริงคือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

 

กล่าวได้ว่า การเกิดภาพลวงตาทางบวกนี้เปรียบเสมือนต้นทุนทางจิตให้บุคคลสามารถเผชิญกับอุปสรรคปัญหาและผ่านพ้นไปได้ รวมทั้งส่งผลให้บุคคลมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ขณะที่บุคคลที่มองแต่ความจริงมากเกินไป ไม่มีการสร้างภาพลวงตาทางบวกเลย มีแนวโน้มที่จะมีความทุกข์ จัดระบบตนเองไม่ดี และส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ

 

 

การสร้างภาพลวงตาทางบวกในความสัมพันธ์

 

คือ การสร้างภาพในจินตนาการตามอุดมคติทางบวก และมีอุดมคติที่มาจากความประทับใจต่อคู่รักซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง โดยจะเน้นไปที่ข้อดีของคนรัก และมองข้ามข้อเสียของคนรัก

 

ตัวอย่างเช่น ความจริงของสามีเป็นคนเจ้าชู้ ชอบนอกใจภรรยา แต่สามีมีข้อดีคือหาเงินเก่ง เลี้ยงดูครอบครัวได้ ภรรยามองข้ามข้อเสียเกี่ยวกับความเจ้าชู้ของสามีไป สร้างภาพลวงตาโดยเน้นไปที่ข้อดีคือความสามารถในการดูแลครอบครัวของสามี ภาพลวงตาที่ภรรยาสร้างขึ้นนี้ นักจิตวิทยาพบว่า ทำให้ภรรยารับรู้ว่าสามีดูแลครอบครัวได้ดี มากกว่าที่สามีมองตนเองเสียอีก (Murray & Holmes, 1993)

 

การศึกษาในคู่รักและคู่สมรสหลาย ๆ งานในหลายปีที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ว่า ความพึงพอใจในคนรักและความสัมพันธ์ เกิดมาจากการที่บุคคลสร้างอุดมคติเกี่ยวกับคนรักของตนขึ้นมา เมื่อมีคนรัก บุคคลมักจะมองคนรักไปตามอุดมคติที่ตนสร้างไว้ การสร้างภาพลวงตาทางบวกนี้มีพื้นฐานความจริง จึงเกิดการถ่ายโอนการกระทำทางบวกไปสู่คนรัก คนรักจึงมีพฤติกรรมทางบวกเช่นนั้นตามไปด้วย (Self-fulfilling) นอกจากนี้ การรับรู้ตนเองในทางบวกและมีความสงสัยในตนเองต่ำ ส่งผลให้บุคคลเชื่อว่าพวกเขาจะมีคนรักที่ดีได้ ดังนั้น การรับรู้ตนเอง การรับรู้คนรักตามอุดมคติ และการรับรู้คนรักตามความเป็นจริง จึงมีผลต่อความพึงพอใจทั้งในคนรักและความสัมพันธ์ทั้งสิ้น

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของการมองโลกในแง่ดี ต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ และการผูกมัดในความสัมพันธ์ โดยมีภาพลวงตาทางบวกเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย กุสุมา กาญจนประกิจ (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42676

 

“อิทธิพลของภาพลวงตาทางบวกต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก” โดย สิรินรัตน์ ศรีสรวล (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/76