News & Events

อดเปรี้ยวไว้กินหวาน : ในเชิงจิตวิทยา

 

“การชะลอการได้รับความพึงพอใจ” เป็นศัพท์ทางจิตวิทยาที่หมายถึง การที่มนุษย์สามารถควบคุมความต้องการของตนเองโดยเลือกที่จะปฏิเสธการรับรางวัลหรือสิ่งที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที เพื่อที่จะรับรางวัลหรือสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต อีกนัยหนึ่งก็คือ “การอดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ซึ่งสำนวนนี้มีความหมายเล็งถึง ผลไม้ที่เราเก็บมาจากสวนผลไม้บางชนิด เช่นมะม่วง ถ้าเรานำมารับประทานทันทีจะมีรสเปรี้ยว แต่ถ้าเราเก็บไว้สักระยะหนึ่ง มันจะสุกและมีรสชาติหอมหวาน น่ารับประทานมากกว่า ดังนั้นผู้ที่เก็บมะม่วงจากต้น จะต้องไม่ใจร้อน แต่ต้องรู้จักอดทน และรอคอยจนกว่าผลจะสุก เพื่อจะได้รับประทานผลไม้ที่มีรสหวานอร่อย ซึ่งจะคุ้มค่ากับที่ได้รอคอย

 

ในชีวิตของคนเรานั้น มีหลายเรื่องที่เราต้องรอคอย และต้องหักห้ามใจที่จะไม่รับผลตอบแทนที่มีคุณค่าน้อยในทันที เพื่อเห็นแก่ผลประโยชน์ที่มากกว่าในอนาคต ในขณะที่รอคอย เราอาจจะรู้สึกคับข้องใจ เนื่องจากไม่สามารถได้รับสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของเราทันที หลายคนหมดความอดทนก็เลยเลือกที่จะรับผลตอบแทนที่น้อยกว่า เพื่อความสุขความพึงพอใจในปัจจุบัน ทำให้เสียโอกาสที่จะรับผลตอบแทนที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต

 

การปฎิเสธที่จะรับรางวัลหรือสิ่งตอบแทนที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที แต่เลือกที่จะรอคอยเพื่อรับสิ่งตอบแทนที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต เป็นคุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์พบกับความสุขความพึงพอใจ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถมีคุณลักษณะดังกล่าวได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสังคมปัจจุบันที่เน้นความรวดเร็ว และการตอบสนองอย่างทันอกทันใจ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การติดต่อสื่อสาร หรือการรับบริการต่าง ๆ ผู้คนในปัจจุบันมักให้ความสำคัญแก่ความสะดวดรวดเร็ว ในสมัยก่อนที่จะมีอินเตอร์เน็ต เราติดต่อสื่อสารกันทางจดหมาย ซึ่งต้องการใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 วันกว่าจะถึงผู้รับ อีกทั้ง ถ้าต้องการค้นหาข้อมูล ก็เดินทางไปที่ห้องสมุด หากในปัจจุบันเราสามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ภายในไม่กี่วินาที โดยผ่านทางจดหมายอิเลคทรอนิกส์ และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ทันทีจากฐานข้อมูลทั่วโลกโดยนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ถึงกระนั้นหลายคนยังรู้สึกไม่พอใจ และหงุดหงิดกับการรอคอยเพียงสองสามนาทีในกรณีอินเตอร์เน็ตขัดข้อง หรือมีคนใช้บริการมาก

 

ทั้งนี้ บริษัทต่าง ๆ ได้แข่งขันกันพัฒนาโปรแกรมที่ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารและทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ได้ทันที โดยไม่ต้องรอคอย จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลย ที่เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคนี้จะขาดความสามารถในการอดทนและรอคอย เนื่องจากในชีวิตประจำวัน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวดรวดเร็วให้มากมาย

 

หากสิ่งสำคัญในเรื่องของชีวิตและจิตใจนั้น เราไม่อาจจะเร่งรัดให้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ไปได้อย่างรวดเร็ว ชีวิตต้องการเวลาในการหล่อหลอม การปลูกฝัง และการทะนุบำรุงให้งอกงาม ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ การที่จะรู้จักกัน การผูกพันรักใคร่กันได้นั้นต้องอาศัยเวลา ไม่ใช่เพราะได้รู้จักอย่างผิวเผินผ่าน “แชทรูม” ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้วัยรุ่นหลายคนได้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี และต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างอนาถมาแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรหันมาให้ความสนใจในการปลูกฝังคุณลักษณะด้านการอดทน และการรอคอยให้แก่บุตรหลานของตน

 

โดยนักจิตวิทยาได้ให้ความสนใจต่อความสามารถในการชะลอการได้รับความพึงพอใจของมนุษย์มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการชะลอการได้รับความพึงพอใจของเด็ก งานวิจัยส่วนใหญ่มักจะศึกษาปัจจัยที่ทำให้เด็กสามารถชะลอการได้รับความพึงพอใจได้เพิ่มขึ้น โดยที่ผู้วิจัยมักจะให้เด็กทำงานบางอย่าง เช่น ระบายสีรูปภาพ หรือร้อยลูกปัด เป็นต้น เมื่อเด็กทำงานเสร็จแล้วผู้วิจัยก็จะมีรางวัลให้ โดยเด็กจะเลือกรับรางวัลได้ 2 แบบคือ รับรางวัลที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที หรือรอที่จะรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต ซึ่งระยะเวลาที่เด็กต้องรอนั้นจะมีตั้งแต่เป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น เด็กสามารถเลือกรับช็อคโกแล็ต 1 แท่งทันที โดยกดกระดิ่งให้สัญญาณ หรือเลือกรับช็อคโกแล็ต 2 แท่งในวันรุ่งขึ้น หรือเลือกรับกล่องดินสอที่มี 6 สี ทันที หรือรับดินสอที่มี 12 สี ในอีกสองวันข้างหน้า เป็นต้น ผลจากการวิจัยทำให้นักจิตวิทยาสามารถสรุปปัจจัยที่ทำให้เด็กชะลอการได้รับความพึงพอใจหรือ รอคอยเพื่อรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าได้หลายข้อดังนี้

 

  1. เด็กจะสามารถชะลอการได้รับความพึงพอใจได้ดี ถ้ารางวัลนั้นไม่ได้อยู่ต่อหน้า นักวิจัยพบว่าเด็กอายุ 5-6 ปี จะรู้จักหาสิ่งของมาปิดรางวัลได้ แต่เด็กอายุ 8 ปี จะพยายามไม่มองไปที่รางวัล และพูดเตือนตนเองว่า “ถ้าฉันกดกระดิ่งเดี๋ยวนี้ฉันจะได้สิ่งนี้ แต่ถ้าฉันรอคอยฉันได้สิ่งนั้น”
  2. การเบี่ยงเบนความสนใจไปจากรางวัล นักวิจัยพบว่าเด็กอายุ 4-5 ปี พยายามทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับรางวัลในขณะที่รอคอย เช่น ร้องเพลงเบา ๆ ซบหน้ากับโต๊ะ ตบเท้าเป็นจังหวะ จับกระดิ่งสัญญาณเล่นพูดถึงเงื่อนไขการรอคอยออกมาดัง ๆ มองเพดานและอธิษฐานหรือไม่ก็นอนหลับไป เป็นต้น
  3. การชักชวนให้เด็กคิดถึงการตัดสินใจของคนอื่นที่ไม่เหมือนกับตน สามารถทำให้เด็กเปลี่ยนใจได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กในงานวิจัยตัดสินใจเลือกรับรางวัลที่มีคุณค่าน้อยกว่าในทันที ผู้วิจัยก็จะบอกกับเด็กว่า มีเด็กอีกคนหนึ่ง สมมติว่าชื่อเด็กชาย ก เลือกที่จะรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าในวันรุ่งขึ้น แล้วถามเด็กว่า ทำไมเด็กชาย ก จึงเลือกเช่นนั้น เด็กส่วนมากก็จะตอบได้ว่า เพราะเด็กชาย ก ต้องการรางวัลที่มากกว่า ผลการวิจัยพบว่า การที่ให้เด็กได้คิดใช้เหตุผลเช่นนี้ ทำให้เด็กเปลี่ยนใจจากการเลือกรับรางวัลในทันทีเป็นการเลือกรับรางวัลที่มีค่ามากกว่าในวันรุ่งขึ้นได้ แสดงให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้เด็กคิดถึงการตัดสินใจที่ขัดแย้งกับตนสามารถทำให้เด็กปรับความคิดและตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ต้องรอคอยว่ามีมากกว่าจึงมีความคุ้มค่าที่จะรอคอย
  4. ความไว้วางใจที่มีต่อผู้วิจัยว่าผู้วิจัยจะให้รางวัลแก่เขาเป็นสองเท่าตามที่ได้สัญญาไว้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีคูปองมอบให้แก่เด็ก เพื่อให้เด็กนำมาแลกรับรางวัลในวันรุ่งขึ้น คูปองจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของรางวัลที่เด็กจะได้รับจริง และเด็กก็มักจะเก็บรักษาคูปองนั้นไว้เป็นอย่างดีและไม่ลืมที่จะนำมาให้ผู้วิจัยในวันรุ่งขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าเด็กเกิดความไม่แน่ใจว่าผู้วิจัยจะทำตามสัญญาหรือไม่ หรือเด็กที่เคยมีประสบการณ์กับผู้ใหญ่ที่ไม่รักษาคำพูดมาก่อน เด็กก็อาจจะตัดสินใจเลือกรับรางวัลในทันที แม้จะมีคุณค่าน้อยกว่า เพราะยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลยหากผู้วิจัยไม่ทำตามสัญญา ดังนั้น ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการสอนลูกให้รู้จักอดทนและรอคอย สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ การรักษาคำพูดหรือคำสัญญาที่ได้ให้ไว้กับเด็ก เช่น สัญญาว่าจะพาเด็กไปสวนสนุก ถ้าเด็กทำการบ้านเสร็จ เมื่อเด็กทำงานเสร็จแล้วพ่อแม่ก็ต้องทำตามที่ให้สัญญาไว้ เพราะเป็นการสอนให้เด็กเห็นคุณค่าและความคุ้มค่าของการทำการบ้านให้เสร็จเสียก่อน แต่ถ้าพ่อแม่ไม่รักษาสัญญาก็จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจในผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีอะไรอยู่เฉพาะหน้าก็ขอคว้าไว้ก่อน ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่ขาดความสามารถในการชะลอการได้รับความพึงพอใจนั่นเอง

 

อารมณ์ของเด็กก็มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกรับรางวัลในทันทีหรือรอรับรางวัลที่มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต ในงานวิจัยเรื่องหนึ่ง ผู้วิจัยได้ให้เด็กบางคนคิดถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกมีความสุขมา 3 สิ่ง และให้เด็กบางคนคิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้ามา 3 สิ่ง ก่อนให้ตัดสินใจเลือกรับรางวัล ผลปรากฏว่าเด็กที่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าเลือกรับรางวัลแบบทันทีมากกว่าเด็กที่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข ทั้งนี้เป็นเพราะว่า เด็กเลือกรับรางวัลทันที เพื่อหยุดสภาวะไม่สบายใจที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ในขณะที่เด็กที่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข มีแนวโน้มที่จะคิดถึงคุณค่าของรางวัลที่มากกว่า ทำให้สามารถชะลอการได้รับความพึงพอใจได้ดีกว่า ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เวลาที่เราไม่สบายใจนั้น เราจะขาดความรอบคอบ ต้องการเพียงแต่หาอะไรบางอย่างที่สามารถทำให้เราสบายใจได้ทันที แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีคุณค่าน้อยหรือไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร ดังนั้น เราจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการตัดสินใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดความไม่สบายใจ

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

อยู่บ้านตอนแรกก็รักกันดี อยู่นาน ๆ ไปอีหยังหว่า

 

เชื่อว่าหลายท่าน หลายที่ทำงานได้พยายามจัดสรรตัวเองหรือบุคคลในที่ทำงานให้อยู่บ้าน หรือทำงานจากที่บ้าน (work from home) เพื่อช่วยลดปัญหาการแพร่ไวรัสนะคะ ทีนี้ตอนอยู่บ้านช่วงแรก ๆ ก็ยังพูดคุย รักกันปกติ แต่มีรายงานจากสื่อต่างประเทศ เช่นที่ New York สหรัฐอเมริกา และที่จีน ในช่วงการเก็บตัวว่า ในครอบครัวเกิดความหงุดหงิด อารมณ์เสีย แล้วแสดงออกต่อบุคคลในครอบครัว เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทัศนคติ เช่น ต่อการประพฤติตัวต่อไวรัสที่ไม่ตรงกัน ไม่เข้าใจกัน หนักว่านั้นคือ พบว่าคู่ของเรา กับเรานั้น ไม่มีความเหมือนกันเลย

 

การที่ต้อง Work from home ไหนจะงานที่มีอยู่แล้ว ไหนจะงานที่เพิ่มจากโควิด แต่แฟนหรือคู่สมรสกลับมองว่าอยู่บ้านแล้วแต่ไม่ใส่ใจกัน เกิดเป็นความไม่เข้าใจกันอีก เพิ่งมาเห็นว่าคู่ของเราดูไม่รู้จักเรา ไม่เข้าใจเรา หรือไม่รู้จักไม่เข้าใจลูกของเรา กลายเป็นความคาดหวัง ความเข้าใจไม่เหมือนเดิม

 

เราควรเตรียมตัวอย่างไร ให้การอยู่บ้านของเราและครอบครัวเป็นไปได้อย่างดี

 

ผู้เขียนมองแบบนี้นะคะว่า คู่ที่ทะเลาะ บางครั้งเมื่อเราแบกรับความเครียดต่อสิ่งอื่นมา แต่ไม่ได้ตระหนักรู้ว่าตัวเองเครียด (เช่น จากการทำงานที่ต้องเปลี่ยนแผน หรือลดรายจ่าย) จนกระทั่งเหมือนเราสาดอารมณ์ใส่คนข้าง ๆ เราโดยเราไม่รู้ตัว

 

เมื่อเห็นว่าคนในครอบครัวเราเครียด เราจะจัดการกับภาวะอารมณ์เขาได้อย่างไร

 

อาจจะเป็นการคุยกันบ้าง แต่หากเขาสาดอารมณ์ใส่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสาดอารมณ์กลับนะคะ จินตนาการภาพเขาอาจจะเหมือนคนที่กำลังจะจมน้ำอยู่ ที่ตะเกียกตะกาย เขาอาจจะสะบัดน้ำใส่เราบ้าง เขาอาจจะทำให้เรารู้สึกรำคาญใจ แต่หากเราเข้าใจเจตนาว่าเขามีภาวะความเครียดบางอย่างที่เขาจัดการไม่ได้ แล้วเราปลอบประโลมเขาด้วยคำพูด ก็จะทำให้ดูสงบลงได้ เช่น “ไม่เป็นไร เดี๋ยวตรงนี้เราดูให้นะ” “เดี๋ยวจัดการให้นะ คุณทำตรงนี้ไปก่อน”

 

แต่ต้องผลัดกันนะคะ ถ่อยทีถ่อยอาศัยกัน สามีและภรรยาต่างต้องเข้าใจในจุดนี้ว่าทุกคนต่างมีภาวะเครียดในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ อะไรที่เป็นความสบายใจของคุณตอนนี้ ฉันทำให้ได้ ฉันจะทำ

 

คนเรามักสื่อสารด้วย Second message หรือข้อความที่ 2 เช่น การพูดว่า “ทำไมคุณอยู่บ้านแล้วไม่ดูแลบ้านเลย” “ทำไมคุณอยู่บ้านแล้วไม่มีเวลาให้ฉันมากกว่านี้ ไม่สนใจฉันเลย สนใจแต่งาน” ข้อความนี้ฟังดูเหมือนการต่อว่านะคะ แต่ภายใต้ข้อความนี้คือ “ฉันน้อยใจแล้วนะ ฉันแค่อยากให้คุณมาสนใจฉันบ้าง” ซึ่งนั่นคือข้อความที่ 1 ถ้าคนฟังแล้วเข้าใจภาวะตรงนี้ สะท้อนกลับสักนิดว่า “คุณกำลังน้อยใจใช่ไหม โอเค ฉันจะสนใจคุณมากขึ้น” ปัญหาก็จะจบ แต่คนส่วนใหญ่มักตีความด้วยข้อความที่ 2 เพียงอย่างเดียว

 

สถานการณ์โควิดนี้เหมือนเป็นการพิสูจน์หลาย ๆ เรื่อง พอเราใกล้กันมากขึ้น มีภาวะความเครียด ถ้าเรายังสามารถจับมือผ่านไปได้ ด้วยการที่เราเข้าใจซึ่งกันและกัน และถ่อยทีถ่อยอาศัยกัน มันจะทำให้เรารู้เลยว่าคนที่อยู่ข้างเราก็ไม่ใช่ใคร คนในบ้านนี่เอง เขาคือความสบายใจที่เรามอบให้แก่กันได้ค่ะ

 

มองแนวคู่รักบำบัดนะคะ Personal space หรือ พื้นที่ส่วนตัวนั้นสำคัญมาก คนเราจะมีวงกลมเป็นของตัวเอง วงกลมของคุณ วงกลมของฉัน เราต้องแชร์วงกลมนี้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ทับซ้อนกันสนิท หมายถึงว่า เราจะมีพื้นที่เป็นของตนเอง พื้นที่นี้หมายความว่า

“ฉันอยากที่จะรู้สึกอย่างที่ฉันอยากที่จะรู้สึก”

“อยากที่จะพูดหรืออยากที่จะคิดอย่างที่ฉันอยากที่จะคิดหรือพูด”

โดยที่เขาต้องไม่มาตัดสินฉัน และฉันจะต้องไม่นำความเดือดร้อนไปให้เขา

 

ตัวอย่างในสถานการณ์โควิดนี้ ผู้เขียนออกไปทำงานนอกบ้าน และมีความคิดว่าเมื่อกลับมาเราต้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนชุด แยกเสื้อผ้าซักต่างหาก ซึ่งคนในบ้านอาจจะไม่เห็นด้วย แต่คนในบ้านเข้าใจว่าเรากังวลบางอย่าง ไม่สบายใจบางอย่าง นั่นคือ Personal space หรือ เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เราจะรู้สึกได้อย่างเต็มที่ คนในครอบครัวต้องเคารพในความรู้สึก หากสบายใจก็ให้ทำ นั่นคือการเคารพพื้นที่ส่วนตัวซึ่งกันและกัน ซึ่งมันสำคัญมากสำหรับการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหนึ่ง หรือการอยู่ด้วยกันเป็นคู่รัก โดยพื้นที่จริง ๆ ทางกายภาพจะมีส่วนน้อยนะคะ เมื่อพูดถึงเรื่องพื้นที่ส่วนตัว เราจะมองถึงพื้นที่ด้านจิตใจเป็นหลัก

 

ในส่วนของพื้นที่ทางกายภาพจริง ๆ เช่น เรา Work from home แล้วเราต้องการพื้นที่ ที่ไว้นั่งคิดงานของเรา มีพื้นที่ที่เราจะแสดงกริยาท่าทางไม่เหมาะสมโดยไม่มีใครมาตัดสินเรา ว่าทำไมคุณทำหน้าแบบนั้น หรือเราไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลว่าถ้าเราทำหน้าแบบนั้น ถอนหายใจแรง ๆ สบถคำบางคำออกมา แล้วมันจะไปมีผลต่อคนในบ้านว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร หรือเขาจะมองว่าฉันเป็นคนอย่างไร

 

แต่การมีพื้นที่ส่วนตัวนี้ ไม่ว่าจะในแง่จิตใจหรือทางกายภาพ ก็ควรอยู่บนพื้นฐานความสบายใจที่เรามอบให้แก่กัน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะนำมาอ้างเพื่อสาดอารมณ์หรือทำพฤติกรรมต่าง ๆ ที่สร้างความไม่สบายใจแก่กัน แล้วบอกว่านี่เป็นพื้นที่ของฉันนะคะ

 

บางทีเขาต้องการพื้นที่กว้าง ๆ เพราะเขาต้องการหลบหน้ากัน (แบบนี้ต้องพิจารณาความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกที) หรือบางทีฉันต้องการพื้นที่ส่วนตัว เพื่อต้องการแสดงออกบางอย่าง ถ้าอยู่ในพื้นที่บ้านเล็ก ๆ แล้วทุกคนไม่ตัดสินกัน คุณจะแสดงออกอย่างไรก็ได้ อันนั้นคือภาวะอารมณ์ของคุณ เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าบ้านจะแคบขนาดไหน คุณก็จะอยู่ได้อย่างสบายใจมากกว่าค่ะ

 

กล่าวโดยสรุปคือ

 

การเตรียมตัวเตรียมใจให้การอยู่บ้านของเราและครอบครัวเป็นไปได้อย่างดี มีปัจจัยหลัก 3 ด้าน

 

  1. การเคารพพื้นที่ส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญ โดยหมายรวมถึงความรู้สึกของเขาด้วยที่เราต้องเคารพ ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร เขาอยากจะแสดงออกยังไง เขาต้องมีพื้นที่ที่เขาจะเป็นตัวเอง
  2. เราต้องผลัดกัน take turn รู้จักการเป็นผู้รับและเป็นผู้ให้ บางทีเราอาจจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ตลอด เมื่อมีใครคนหนึ่งร้อน อีกคนก็ต้องเป็นน้ำเย็น เข้าใจ และให้อภัย และเมื่ออีกฝ่ายร้อนบ้าง อีกคนก็ต้องผลัดกันเป็นน้ำเย็นเช่นกัน
  3. มองลึกลงไปใน Message ที่สื่อสารกัน บางครั้งเราสื่อสารด้วย Second message ที่ดูเหมือนตำหนิต่อว่ากัน แต่ถ้าเรามองเห็นความรู้สึกน้อยใจ การต้องการความสนใจ เราก็จะทะเลาะกันน้อยลง

 

อีกนิดก่อนปิดท้าย การผลัดกัน take turn ดูแลใจกัน ไม่ได้หมายความว่าจะตั้งหน้าตั้งตารอ ที่จะคิดว่า “เมื่อวานคุณสาดอารมณ์ใส่ฉัน คราวนี้ตาฉันบ้างล่ะ” นะคะ เพราะเป้าหมายเราคือเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการรักษาบรรยากาศภายในบ้านให้ดีที่สุด อยากให้บ้านเป็นที่สบายใจ แล้วเมื่อเรามีเป้าหมายร่วมกันแบบนี้ มันก็จะออกมาดีค่ะ

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการโดย

 

คุณฐิตาภา ชินกิจการ

นักจิตวิทยาคลินิก

และ

อาจารย์ ดร.วิทสินี บวรอัศวกุล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาทรัพยากรมนุษย์และการทำงาน คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รูปแบบการจัดการความขัดแย้ง

 

วัฒนธรรม เพศ และรูปแบบการจัดการกับความขัดแย้ง : การเปรียบเทียบระหว่างนิสิตนักศึกษาไทยและอเมริกัน

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งมี 5 รูปแบบ ได้แก่

 

  1. การหลีกหนี (Avoiding/Withdrawing) – เป็นรูปแบบการจัดการที่ไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายของใครเลย หลีกหนีต่อปัญหาและละทิ้งความต้องการ อาจเป็นไปโดยชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือถอนตัวอย่างถาวร [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นน้อย]
  2. การยอมตาม (Obliging/Accommodating) – ยินดีตอบสนองความพึงพอใจของอีกฝ่ายโดยยอมเสียสละความต้องการของตนเอง [คิดถึงตนเองน้อย และคิดถึงผู้อื่นมาก]
  3. การใช้อำนาจ (Dominating/Competing) – เน้นตอบสนองต่อเป้าหมายของตนเองเป็นสำคัญ ใช้อำนาจทุกอย่างที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการโต้เถียงหรือตำแหน่งที่สูงกว่า [คิดถึงตนเองมาก และคิดถึงผู้อื่นน้อย]
  4. การประนีประนอม (Compromising) – หาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ยอมให้มากกว่าผู้แข่งขัน แต่ไม่ถึงกับเป็นผู้ยอมตาม และเผชิญปัญหามากกว่าผู้หลีกเลี่ยง แต่ไม่ลงลึกในรายละเอียดเท่าผู้ร่วมมือ [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นปานกลาง]
  5. การบูรณาการ (Integrating/Collaborating) – การพยายามหาทางออกร่วมกับคู่กรณีโดยมุ่งตอบสนองต่อเป้าหมายของทั้งสองฝ่าย ลงลึกในประเด็นปัญหาเพื่อได้ทางออกที่สร้างสรรค์ซึ่งสร้างความพึงพอใจแก่ทั้งคู่ [คิดถึงตนเองและคิดถึงผู้อื่นมาก]

 

จากการเก็บข้อมูลกับนักศึกษาไทยและอเมริกันจำนวน 575 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างคนไทยและคนอเมริกัน เพศชายและเพศหญิง รายงานถึงการจัดการความขัดแย้งรูปแบบต่าง ๆ แตกต่างกันดังนี้

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่คนไทยนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. ยอมตาม 2. หลีกหนี 3. บูรณาการ 4. ใช้อำนาจ 5. ประนีประนอม

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่คนอเมริกันนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. บูรณาการ 2. ใช้อำนาจ 3. หลีกหนี 4. ยอมตาม 5. ประนีประนอม

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่ผู้ชายนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. บูรณาการ 2. ใช้อำนาจ 3. ยอมตาม 4. หลีกหนี 5. ประนีประนอม

 

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่ผู้หญิงนิยมใช้ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1. บูรณาการ 2. หลีกหนี 3. ยอมตาม 4. ประนีประนอม 5. ใช้อำนาจ

 

 

คนไทย VS คนอเมริกัน

 

เหตุที่กลุ่มตัวอย่างคนไทยใช้กลยุทธ์การจัดการความขัดแย้งแบบหลีกหนีและยอมตามมากกว่าคนอเมริกัน และคนอเมริกันใช้กลยุทธ์การจัดการความขัดแย้งแบบใช้อำนาจ ประนีประนอม และบูรณาการมากกว่าคนไทย นั้นเป็นเพราะ คนไทยส่วนใหญ่มีค่านิยมคติรวมหมู่สูง นั่นหมายถึงการไม่ชอบการแข่งขันภายในกลุ่ม พยายามหลีกเลี่ยงความไม่ลงรอยและการเผชิญหน้า รู้สึกปลอดภัยมากกว่าเมื่อพึ่งพาอาศัยกันและกัน อีกทั้งมีแรงขับที่จะเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองน้อย เห็นแก่ความสัมพันธ์มากกว่าเป้าหมายของตน ในทางตรงกันข้าม คนอเมริกันส่วนใหญ่มีค่านิยมแบบปัจเจกนิยมสูง ซึ่งมีลักษณะของการคำนึงถึงตนเองมากกว่าผู้อื่น รับมือกับความขัดแย้งด้วยการลงมือแก้ปัญหา เจรจา และใช้อำนาจ มองการปะทะทางความคิดและการโต้แย้งด้วยเหตุผลเป็นคุณลักษณะทางบวกที่แสดงถึงความเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตย

 

ผู้ชาย VS ผู้หญิง

 

สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างผู้ชายและผู้หญิง พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งสองเพศใช้รูปแบบการจัดการความขัดแย้งแบบบูรณาการมากที่สุดไม่แตกต่างกัน แต่ผู้ชายจัดการความขัดแย้งแบบใช้อำนาจมากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงจัดการความแย้งแบบหลีกหนี ยอมตาม และประนีประนอมมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเป็นเพราะผู้หญิงมักให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์สูง มองว่าพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้ การถอย ยอมตาม หรือประนีประนอมจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ขณะที่ผู้ชายเป็นเพศที่ยืนหยัดในสิทธิ์ของตน บงการ และใช้อำนาจมากกว่า

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“วัฒนธรรม เพศ และรูปแบบการจัดการกับความขัดแย้ง : การเปรียบเทียบระหว่างนิสิตนักศึกษาไทยและอเมริกัน”

“Culture, gender, and conflict management styles : comparisons between Thai and American students”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2549)

โดย นางสาวภิสสรา อุมะวิชนี

อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ : รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพร อุวรรณโณ

วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/39802

หากคุณกำลัง “กลัว เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า” จากภาวะวิกฤต COVID-19

ความไม่รู้ว่าจะต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ไปถึงเมื่อไหร่ การคาดเดาไม่ได้ ในภาวะที่เรารับรู้ว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และใกล้ตัวเรา ชุมชนเรามากขึ้น มีจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศเพิ่มขึ้น สามารถส่งผลให้เรารู้สึกวิตกกังวล และเครียดต่อสถานการณ์ ซึ่งนอกจากความวิตกกังวล และเครียด ต่อตัวไวรัสนี้แล้ว เราต่างมีความเครียดและห่วงเรื่องการหาเลี้ยงปากท้องด้วย เจ้าของกิจการต้องมีการปรับแผนกลยุทธ์ธุรกิจกันใหม่เพื่อความอยู่รอดของบริษัท ที่จะแฝงมาด้วยความอยู่รอดของคนในครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ และรวมถึงพนักงานลูกจ้างและครอบครัวลูกจ้างที่จะทำยังไงให้อยู่รอดด้วยเช่นกัน

 

เรามีวิธีการรับมือกับความวิตกกังวล และเครียด อย่างไรบ้าง

 

อันดับแรกเลย ก่อนที่เราจะไปจัดการกับความกลัวหรือวิตกกังวล เราควรทำความเข้าใจก่อนว่าความกลัวหรือความวิตกกังวลมันต่างกัน

 

ในสถานการณ์ที่เรารับมือไม่ได้ เราจะเกิด “ความกลัว” เรามักจะกลัวในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เรารู้สึกถึงความไม่มั่นคงไม่ปลอดภัย ซึ่งจริง ๆ ความกลัวไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป ความกลัวอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ การที่เรารู้จักที่จะกลัว แปลว่า เราจะไม่ทำอะไรแบบบ้าระห่ำ เราจะรู้จักการวางแผนก่อน

 

“ความกลัว” มีอยู่ 2 แบบ คือ

  1. ความกลัวในสิ่งที่รับมือไม่ได้
  2. ความกลัวที่จะสร้างให้เรารู้ว่าเราจะรับมือกับปัญหาหรือการแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง

ระดับของความกลัวจึงมีความสำคัญ หากเราควบคุมความกลัวให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ เราจะใช้ความกลัวให้เกิดประโยชน์ได้ ให้ความกลัวนั้นสร้างให้เราเตรียมรับมือแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ในกรณีโควิด ก็จะล้างมือบ่อย ๆ ไม่ไปที่ชุมชน และรักษาระยะห่าง

 

แต่หากเป็นความกลัวเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง ที่สัมพันธ์กับบริบทที่เราอาจจะควบคุมไม่ได้ เราก็ควรใช้ระดับของความกลัวที่จะสร้างการรับมือว่าเราจะปรับตัวอย่างไรดี ทำอย่างไรดีเพื่อให้เรายังพอทำมาหากินต่อไปได้ เช่น เปลี่ยนเป็นขายของออนไลน์ ค้าขายออนไลน์มากขึ้น

 

แต่บางอาชีพก็น่าเห็นใจ บางอย่างก็ไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้เหมือนกัน ซึ่งเมื่อปรับเปลี่ยนไม่ได้เราอาจจะเกิดความเครียด เราต้องตระหนักรู้ว่าตอนนี้เราเครียด แล้วเราจะจัดการกับความเครียดในสิ่งนั้นได้อย่างไร เรามีหนทางออกยังไงได้บ้าง เราแก้ไขมันได้หรือไม่

 

เมื่อเรามีความกลัว เราก็อาจจะมีความกังวล เช่น กลัวเรื่องปากท้อง และกังวลว่าเราจะไปรอดมั้ย ทำอย่างไรต่อดี

 

“ความกังวล” เป็นเรื่องของความคิดที่เราสามารถหาวิธีการจัดการได้ ซึ่งแตกต่างจากความวิตกกังวลที่มักทำให้เรารู้สึกร้อนรนจนหาทางออกไม่ได้ค่ะ

 

เมื่อเราเกิดความกังวล เราต้องมาถามก่อน :

  1. “What” เรากังวลเรื่องอะไร
  2. “Why” ทำไมเราถึงกังวล มันส่งผลกระทบหรือ “affect” เราอย่างไร
  3. “How” เราจะแก้ไขมันอย่างไร เราทำอะไรกับมันได้บ้าง

 

การเรียงลำดับความกังวลของเราโดยการตั้งคำถามเหล่านี้ เราก็จะเริ่มคลายมันออก พอเราจัดการได้ มันจะไม่นำไปสู่ความวิตกกังวล เมื่อเราวิตกกังวล เราจะตั้งคำถามอย่างเดียว เช่น เราติดไวรัสหรือยัง แต่ไม่เกิดการตั้งคำถามที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ว่าเราจะแก้ไขมันได้อย่างไร

 

ความวิตกกังวล คือ เมื่อเราเริ่มลนลานเราจะทำพฤติกรรมโดยไม่ได้ยั้งคิด เช่น ซื้อสินค้ามาตุนไว้ ซึ่งได้ตั้งคำถามหรือไม่คะว่าเราทำสิ่งนั้น ๆ ทำไม มีเหตุผลรองรับหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มี เราจะรู้สึกเลยว่า เราทำทุกอย่างด้วยความเหนื่อยล้า เพราะเราวิตกกังวลมาก จนเราเหมือนรู้สึกว่าสิ้นหวัง ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร สักพักก็อาจจะเริ่มหมดความสนใจ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าได้ค่ะ

 

ความเครียดและความกลัวเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มันสามารถทำให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ได้ ลองดูว่าเราจะจัดการมันอย่างไร และแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเราควบคุมมันได้ เราจะไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง และก็เครียดจนกระทั่งพาล จนไปมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนในบ้านกับคนในครอบครัว หรือ แม้กระทั่ง ทำให้ภาวะอารมณ์ตัวเองไม่คงที่จนทำงานไม่ได้ค่ะ

 

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการโดย

 

คุณฐิตาภา ชินกิจการ

นักจิตวิทยาคลินิก

และ

อาจารย์ ดร.วิทสินี บวรอัศวกุล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาทรัพยากรมนุษย์และการทำงาน คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความคิดของเราที่ส่งผลต่ออาการซึมเศร้าและวิตกกังวล

 

ความคิดของคนเรานั้นนอกจากจะมีผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ของเราแล้ว ยังส่งผลต่อสภาวะทางจิตของเราอีกด้วย โดยเฉพาะอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล

 

อาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล ทั้ง 2 อาการนี้มีความแตกต่างกัน และมีความรุนแรงต่างกัน ดังนี้

 

 

อาการซึมเศร้า


 

เรามักจะได้ยินคนทั่วไปพูดถึงอารมณ์และความรู้สึกเศร้ากันอยู่บ่อย ๆ แต่อาการซึมเศร้านี้มิได้เพียงรู้สึกเศร้าบ่อยครั้งหรือแทบทุกวันเท่านั้น โดยหลักใหญ่ ๆ แล้ว ผู้ที่มีอาการซึมเศร้านอกจากจะมีความรู้สึกเศร้า หดหู่แล้ว ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย คือ รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรงในการทำงานหรือทำกิจกรรม ขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและกิจกรรมต่าง ๆ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า รู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดตลอด มีพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การนอน และน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รับประทานอาหารได้น้อยลง นอนไม่หลับหรือนอนมากจนเกินไป เป็นต้น อีกทั้ง คิดอะไรได้ช้าลง ไม่ค่อยมีสมาธิ ตัดสินใจช้า ในบางคนอาจมีอาการท้อแท้และคิดถึงเรื่องฆ่าตัวตายด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ก่อกวนการดำเนินชีวิตตามปกติของคนเราอย่างมาก

 

ทั้งนี้เนื่องมาจากสภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนเราต้องแข่งขันในการดำรงชีวิตตลอดเวลา รวมทั้งปัจจุบันมีเหตุการณ์ไม่ดีหลาย ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การขาดแคลนอาหาร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คุกคามการดำเนินชีวิตของคนมากยิ่งขึ้น ทำให้คนเราต้องพยายามต่อสู้และดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ความเครียดและสภาพความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับจิตใจคนเหล่านี้ อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

 

 

อาการวิตกกังวล


 

อาการวิตกกังวล ถือว่าเป็นอาการปกติที่ทุกคนจะต้องประสบเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น โดยปกติแล้วนักจิตวิทยาถือว่าความวิตกกังวลระดับน้อยถึงปานกลางนั้นมีประโยชน์กับคนเราเหมือนกัน เพราะความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจะทำให้เราพยายามปรับปรุงสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดในอนาคต และยังเป็นหลักประกันความมั่นคงในอนาคตของเราอีกด้วย แต่ทว่าคนที่มีความวิตกกังวลจนถึงขั้นมากผิดปกตินั้น ความกังวลดังกล่าวก็ทำร้ายตัวของเขาเองอย่างรุนแรง คนเหล่านี้จะมีอาการกังวลมากจนเกินปกติ รวมถึงอาการกลัวและหวาดระแวงมากกว่าปกติอีกด้วย

 

อาการดังกล่าวจะส่งผลถึงสภาพทางร่างกายด้วย คือ ผู้ที่มีอาการวิตกกังวลมากกว่าปกติอาจมีอาการใจสั่น หรือหายใจขัด มือไม้สั่น บางรายอาจมีอาการมึน วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว ปวดท้อง มีอาการตึงของกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการเหล่านี้มักจะเป็นแบบเรื้อรัง ไม่หายขาด จะเกิดขึ้นรุนแรงขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความวิตกกังวล และความกลัว เราอาจมองได้ว่าเป็นอาการพื้น ๆ ไม่รุนแรงเท่าใดนัก แต่ทว่าอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันของเราไม่น้อยเลยทีเดียว บางรายไม่สามารถทำงานที่ตนเองวางเป้าหมายไว้ได้ หรืองานที่ทำไม่ประสบความสำเร็จ โดยอาการวิตกกังวลนี้มักจะเกี่ยวของกับอาการซึมเศร้าเป็นอย่างมาก ปัจจุบันพบว่าผู้ที่มีอาการวิตกกังวลมักจะมีอาการซึมเศร้าร่วมอยู่ด้วย นักจิตวิทยาเองก็พยายามหาสาเหตุและวิธีการเพื่อมาช่วยบำบัดอาการดังกล่าว เพราะถึงแม้ว่าเป็นสภาพทางอารมณ์ที่ไม่รุนแรงมากเท่าโรคทางจิตประเภทอื่น ๆ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ในงานวิจัยยังพบอีกว่า ผู้หญิงจะมีอาการวิตกกังวลมากกว่าผู้ชาย และมักจะเกิดในผู้หญิงที่อยู่แยกกับสามี หย่าร้าง หรือเป็นหม้าย ส่วนผู้หญิงที่เป็นโสดก็พบว่ามีอาการวิตกกังวลเช่นกัน แต่ไม่สูงเท่าผู้หญิงในสามกลุ่มแรก

 

 

ความคิดของคนเราเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลได้อย่างไร


 

หากเราพูดถึงหลักวิชาการที่ว่าด้วยสาเหตุของความผิดปกติทางจิต เรามักจะมุ่งประเด็นของสาเหตุไปที่การถ่ายทอดทางพันธุกรรม คือ สิ่งที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมาสู่ลูกหลาน ผ่านทางรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่ายีนส์ นอกจากพันธุกรรมที่มีผลต่อความผิดปกติทางจิตแล้ว สภาพแวดล้อมก็ส่งผลเช่นเดียวกัน นักจิตวิทยาบางกลุ่มจึงมาให้ความสนใจกับการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อหาทางป้องกันและบำบัดอาการทางจิตดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งเกิดมาโดยมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดเหล้าเนื่องจากบรรพบุรุษหรือพ่อหรือแม่มีอาการดังกล่าว แต่หากเด็กคนนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง คือ พ่อแม่ไม่ดื่มเหล้า คบเพื่อนที่ไม่ดื่มเหล้าของมึนเมา เด็กคนนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่ไม่ติดเหล้าก็ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ สรุปได้ว่าปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อพฤติกรรมและอาการทางจิตได้ เช่นเดียวกับภาวะซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล นอกจากนี้ยังมีสาเหตุปลีกย่อยอีก เช่น สารสื่อประสาทในสมองบางตัวทำงานผิดปกติ บางอย่างมากไป หรือบางอย่างน้อยไปก็ส่งผลต่ออาการทั้งสองชนิดนี้ได้เช่นกัน

 

แต่ทว่า นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งพบว่า ความคิดของเราส่งผลให้อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นหรือรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งลักษณะหรือรูปแบบการคิดนี้เราเรียกว่า Rumination หรือ การย้ำคิดหรือการคิดหมกมุ่น ซึ่งมีการศึกษาเรื่องของการคิดหมกมุ่นมากว่า 20 ปีแล้ว และจากผลการวิจัยจำนวนมากพบว่า การที่คนเราคิดหมกมุ่นหรือคิดมากจนเกินไปจะส่งผลต่ออาการซึมเศร้าและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก การคิดหมกมุ่นนี้ไม่ใช่การคิดเรื่องทั่วไป แต่เป็นการที่คนเราคิดเรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้นกับตนเอง ความผิดพลาดที่ผ่านมาของตนเอง หรือสิ่งที่ตัวเองกลัวว่าจะเกิดในอนาคต ความเศร้า และความปล่าวเปลี่ยวที่ตนเองกำลังประสบอยู่ซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานาน ๆ

 

จากการวิจัยพบว่า ความคิดเหล่านี้ทำให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหรืออาการวิตกกังวลอยู่แล้ว มีอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก และเมื่อทดลองในคนที่ไม่เคยมีอาการซึมเศร้าเลย โดยให้ลองคิดเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวไว้ข้างต้นก็พบว่า แม้แต่ในคนปกติเองเมื่อทดลองให้คิดในสิ่งไม่ดีซ้ำไปซ้ำมา ก็เกิดอาการซึมเศร้าขึ้นมาได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ เราอาจเกิดข้อสงสัยได้ว่า การที่เราคิดย้อนกลับไปถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตหรือห่วงเรื่องไม่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมันไม่ดีจริงหรือไม่ เนื่องจาก เมื่อเราคิดถึงข้อผิดพลาดเราจะได้รู้ว่า เราเคยทำพลาดตรงไหนมา เราก็จะได้แก้ไขโดยไม่ทำข้อผิดพลาดนั้นอีก และถ้าเราคิดถึงผลไม่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็จะได้ป้องกันตัวเองเสียก่อน โดยหากกล่าวถึงข้อดีในประเด็นนี้ ก็เป็นคำตอบที่ถูกต้อง หากแต่ว่าคนบางคนเมื่อคิดถึงข้อผิดพลาดในอดีตหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วไม่สามารถหาวิธีการแก้ปัญหาได้ เพราะแทนที่จะคิดหาวิธีแก้ปัญหา กลับคิดแต่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันมาจากความโง่เขลาเบาปัญญาของตัวเอง ความไม่เก่งของตัวเอง ความแย่ของตัวเอง หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นมันจะต้องแย่หรือไม่ดีเท่านั้น โดยความคิดเหล่านี้เอง ทำให้คนเหล่านี้มีอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลที่รุนแรงขึ้น เพราะหมกมุ่นคิดแต่เรื่องทางลบของตัวเองจนลืมคิดถึงทางแก้ไข สุดท้ายก็บั่นทอนสุขภาพจิต สมองไม่ได้รับการพักผ่อนเนื่องจากเมื่อคิดถึงเรื่องไม่ดีซ้ำไปซ้ำมา สารสื่อประสาทที่ไม่ดีก็ออกมามาก ความเครียดก็เพิ่มขึ้น ที่เศร้าอยู่แล้วก็เศร้าขึ้นไปอีก ที่กังวลอยู่แล้วก็ยิ่งกังวลมากขึ้นไปอีก

 

ระหว่างคิดให้มากเพื่อหาทางแก้ปัญหา กับคิดมากจนเกินไปเลยแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไปมัวหมกมุ่นกับเรื่องแย่ ๆ ของตนเองนั้นต่างกันอย่างไร ยังมีงานวิจัยบางส่วนพบอีกว่า การที่เราคิดหมกมุ่นมากจนเกินไปนั้นยังส่งผลต่อความจำของเราด้วย มีการทดสอบผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้าและมีลักษณะคิดหมกมุ่นสูงให้ลองพูดถึงความทรงจำในอดีตโดยดูจากคำที่กำหนดให้ เช่น เมื่อผู้ป่วยเห็นคำว่า ความสุข ผู้ป่วยจะต้องเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เขามีความสุข โดยต้องเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิด วัน เวลา และสถานที่ที่เฉพาะเจาะจง พบว่าผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้าและมีรูปแบบการคิดแบบหมกมุ่นสูง จะไม่สามารถบอกเหตุการณ์ วัน เวลา และสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงได้ ทั้งนี้นักทฤษฎีทางจิตวิทยาได้อธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้น่าจะเกิดจาก ผู้ป่วยมัวแต่คิดถึงสภาพของตนเองในทางลบมากจนเกินไป จนไม่สามารถจะระลึกถึงสิ่งที่เฉพาะเจาะจงได้ ทว่า ตอนนี้ยังไม่มีผลการวิจัยที่ชี้ชัดลงไปว่าการที่เราคิดมากจนเกินไปจะส่งผลไม่ดีต่อระบบความจำของเรา หากเราป้องกันตัวไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย

 

 

เราสามารถป้องกันตัวเองกันได้อย่างไร?


 

การรักษาอาการซึมเศร้าในปัจจุบันมักจะใช้การรักษาด้วยยาเป็นเสียส่วนมาก เพราะได้ผลรวดเร็วกว่าการรักษาประเภทอื่น ๆ แต่มีรายงานหลายฉบับพบว่า การที่เราสามารถควบคุมความคิดของเราได้ก็สามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลได้มากเช่นกัน โดยความคิดและใจของเรานี้เป็นใหญ่ เหมือนที่พระท่านว่า คิดอย่างไร ก็ได้อย่างนั้น คิดดีก็ได้ดี คิดไม่ดีก็ได้ไม่ดี คือไม่สบายใจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พยายามหยุดการคิดหมกมุ่นให้ได้นั่นเอง พยายามอยู่กับปัจจุบัน ไม่ยึดอารมณ์ความรู้สึกไปติดกับอดีตหรืออนาคต อดีตคือบทเรียน แต่ทำใจและทำสมาธิอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด

 

 

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 


 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การลดความวิตกกังวล จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลภายในจิตใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นช่วงนี้นอกเหนือการดูแลตนเอง ด้วยการกินร้อน ช้อนกลางของตนเอง ล้างมือบ่อย ๆ และการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำนั้น การดูแลจิตใจตนเองก็สำคัญไม่น้อย

 

 

สำหรับผู้มีความวิตกกังวลสูง แนวทางปฏิบัติสำหรับการดูแลจิตใจตนเองมีดังนี้

 

 

1. ใช้เวลาในการสงบจิตใจ และสังเกตความความคิด ความรู้สึกและร่างกายของตนเองอย่างอ่อนโยน อาจเริ่มจากการสังเกตลมหายใจของตนเอง แล้วตั้งคำถามกับตนเองอย่างอ่อนโอน “ตอนนี้ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร” “ร่างกายแต่ละส่วนของฉันเป็นอย่างไร” สำหรับผู้ที่มีความวิตกกังวลสูง การสังเกตตนเองอย่างอ่อนโยนจะช่วยให้เรารู้เท่าทันอาการทางกายที่เกิดจากความวิตกกังวล อาจจะเป็นใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกตามร่างกาย หรือการปวดเมื่อยส่วนต่างๆ

 

2. หากท่านมีอาการดังกล่าวข้างต้น ขอให้ท่านใช้เวลาสัก 5-10 นาที ในช่วงเช้า-กลางวัน-เย็น และก่อนนอน ฝึกการผ่อนคลาย (Relaxation) แบบจิตวิทยา การฝึกการผ่อนคลายเป็นหนึ่งในเทคนิคที่สำคัญของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบมุ่งเน้นความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT) ในการลดอาการความวิตกกังวล โดยการฝึกการผ่อนคลายที่ได้รับความนิยม คือการกำหนดลมหายใจตนเอง มีวิธีดังนี้

 

หายใจออก 1 ยาวกว่าหายใจเข้า 1 จังหวะ เพราะอะไรเราต้องหายใจออกยาวกว่า หายใจเข้า 1 จังหวะ เนื่องด้วยเวลาเราวิตกกังวล หัวใจของเราจะเต้นเร็วและถี่กว่าปกติ (ทั้งที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) ผลที่ตามมา คือ ร่างกายของเราจะมีออกซิเจนมากกว่าปกติ และเกินความจำเป็น ผลที่ตามมา คือเราจะเกิดอาการทางกายอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นใจสั่น มือสั่น รู้สึกลุกลี้ลุกลน หรือเหงื่อออกตามร่างกาย ดังนั้นท่านอาจจะหายใจเข้า 2 วินาที หายใจออก 3 วินาที หรือหายใจเข้า 3 วินาที หายใจออก 4 วินาที (หรือจังหวะที่เรารู้สึกผ่อนคลายตามความเหมาะสมของเรา) เพื่อรักษาสมดุลในร่างกายเรา งานวิจัยทางจิตวิทยาจำนวนมาก บ่งชี้ว่าการฝึกการผ่อนคลายช่วยลดอาการทางกายที่เกิดจากความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี

 

3. ลดการเข้าถึงข้อมูล ในช่วงเวลาที่เรามีความวิตกกังวลสูง นักจิตวิทยาพบว่าหลายคนจะพยายามควบคุมสถานการณ์ เพื่อให้ตนมั่นใจว่าตนเองจะไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายไปกว่านี้ เช่น การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เรากังวล เช่น เรื่องไวรัส Covid-19 แต่การมีข้อมูลมากเกินความจำเป็น กลับทำให้เกิดความวิตกกังวลสะสมมากขึ้น ดังนั้นการลดรับข้อมูลจะช่วยลดความวิตกกังวลได้มาก โดยขอให้ท่านเลือกรับข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น ลดความถี่ในการเสพสื่อ มีวินัยกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

 

4. หากอาการความวิตกกังวลของท่านไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง จนความวิตกกังวลนั้นทำให้ท่านไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ (กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และหงุดหงิดกับคนรอบข้างมากขึ้น) ขอท่านพิจารณาพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาวิธีการที่เหมาะสมกับท่านต่อไป

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย อาจารย์ ดร. สมบุญ จารุเกษมทวี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ

 

บุคคลที่มีนิสัยชอบคาดหวังความสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist คือ บุคคลที่ตั้งมาตรฐานกับตัวเองและคนรอบข้างเอาไว้สูง และมักไม่ยอมยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนง่าย ๆ โดยเรียกว่า เป็นคนที่ต้องการให้ทุกอย่าง perfect โดยหลายคนเชื่อว่าการคาดหวังความสมบูรณ์แบบเป็นคุณสมบัติที่น่าพึงปรารถนา เพราะคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบน่าจะมีความ เพียรพยายาม ทุ่มเททำสิ่งต่างๆ ให้ดีที่สุด ซึ่งก็น่าจะนำไปสู่การประสบความสำเร็จอย่างสูงในทุก ๆ ด้าน

 

นักจิตวิทยาพบว่า คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบอาจไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเสมอไป เนื่องจาก การคาดหวังความสมบูรณ์แบบมักจะเป็นแรงผลักดันให้คนเราทำงานหนัก ตั้งอกตั้งใจทำดีที่สุด ซึ่งย่อมทำให้ประสบความสำเร็จสูงด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การเล่นกีฬา ไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น หากสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อการคาดหวังความสมบูรณ์แบบนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และบนมาตรฐานที่เป็นไปได้

 

นอกจากนี้ นักจิตวิทยายังพบว่า คนที่มีนิสัยชอบคาดหวังความสมบูรณ์แบบโดยส่วนใหญ่นั้นจะตั้งมาตรฐานสูงจนเกินจริง ทั้งยังมีความคิดแบบขาวดำในการตัดสินความสำเร็จ คือ ถ้าไม่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ก็จะมองว่าเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หลายคนถึงกับเอาคุณค่าของตนเองไปผูกอยู่กับความสำเร็จที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ กล่าวคือถ้าทำได้อย่างที่คาดหวังไว้ ก็จะรู้สึกตัวเองมีคุณค่า แต่ถ้าทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ไร้ความสามารถ

 

ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ทำให้คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบไม่พึงพอใจอะไรง่าย ๆ แม้แต่ตัวพวกเขาเอง บางคนใช้เวลากับการทำงานชิ้นหนึ่ง ๆ มากเกินความจำเป็น เพราะแม้จะทำได้สำเร็จแล้วก็ยังไม่พึงพอใจ จนงานเสร็จช้ากว่ากำหนด บางคนถึงกับไม่ยอมลงมือทำงานเพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี การมีนิสัยคาดหวังความสมบูรณ์แบบจึงกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานมากกว่าที่จะช่วยให้งานออกมาดี

 

คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบมากเกินจริงจึงมักอยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวลได้ง่าย และบางรายอาจถึงกับคิดฆ่าตัวตาย เมื่อเห็นว่าตนเองไม่สามารถเป็นได้อย่างอุดมคติที่อยากจะเป็น อีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีความสุข

 

 

ลักษณะนิสัยของคนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist)


 

นักจิตวิทยาแบ่งลักษณะของการคาดหวังความสมบูรณ์แบบไว้ 3 แบบ ซึ่งคนคนหนึ่งอาจมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมีทั้งสามอย่างอยู่ในตนเองก็เป็นได้ ดังนี้

  • การคาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง
  • การคาดหวังความสมบูรณ์แบบในคนอื่น
  • การคิดว่าคนอื่นคาดหวังให้ตนสมบูรณ์แบบ

 

 

ปัญหาของการคาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง


 

 

ปัญหาที่ 1 คือ การตั้งมาตรฐานสำหรับวัดความสำเร็จสูงเกินกว่าความเป็นจริง

 

โดยคนทั่วไปที่ต้องการพัฒนาตนเองย่อมต้องตั้งเป้าหมายของสิ่งที่จะทำให้สูงเข้าไว้ก่อน เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาตนเอง แต่การตั้งเป้าหมายให้สูงนั้น ต้องมีความสมเหตุสมผล โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ หากสูงเกินไปจนไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็อาจหมดแรงจูงใจได้ ทว่า คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเองจะตั้งเป้าหมาย หรือมาตรฐานในการวัดผลความสำเร็จที่สูงเกินเอื้อมอยู่เสมอ แถมยังคิดหมกมุ่นอยู่แต่ผลลัพธ์มากกว่าสนุกกับกระบวนการทำงานอีกด้วย

 

ซึ่งบุคคลประเภทนี้จะมองไปที่ผลลัพธ์ว่าเขาอยากเป็นอย่างไร อยากได้อะไร มากแค่ไหน ดีแค่ไหน แต่ไม่ได้นำประสบการณ์ในอดีต หรือความเป็นไปได้อื่น ๆ เข้ามาพิจารณาด้วย เช่น บุคคลหนึ่งอยากทำงาน 20 ชิ้นให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันเดียว แต่ลืมพิจารณาว่าในอดีตทำได้อย่างมากวันละ 12 ชิ้น หรือคนทั่วไปทำได้มากที่สุดแค่ 10 ชิ้นเท่านั้น เมื่อเป้าหมายหรือมาตรฐานสูงเกินกว่าที่จะเป็นไปได้จริง บุคคลนี้จึงต้องหักโหมทำงานอย่างหนัก เหนื่อย ไม่สนุก แล้วก็ต้องเผชิญกับความผิดหวัง เป็นต้น

 

นักจิตวิทยาแนะนำว่า เมื่อจะตั้งมาตรฐานในการทำสิ่งใด เราควรประเมินความสามารถของตัวเองตามความเป็นจริง อย่าฝืนตัวเอง เพื่อลดแรงกดดัน เปิดโอกาสให้ตัวเองได้สนุกกับการทำงาน และมีลุ้นที่จะทำสำเร็จให้ได้ชื่นใจ แทนที่จะจดจ่ออยู่กับเป้าหมายที่ยากจะทำได้สำเร็จ

 

ปัญหาที่ 2 คือ การไม่พึงพอใจในความสำเร็จที่ไม่สมบูรณ์แบบเต็มร้อย

 

มักคิดหมกหมุ่นอยู่กับความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย กล่าวคือ คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง อยากให้ตนเองเป็นคน Perfect นั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องตั้งมาตรฐานไว้สูง และกดดันตัวเองให้ทำให้ได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้ สำหรับคนที่มีลักษณะอย่างนี้ สิ่งที่เขาเรียกว่า “ความสำเร็จ” นั้นมีอย่างเดียว คือสมบูรณ์แบบตามที่ตั้งมาตรฐานเอาไว้ หากมีข้อผิดแม้แต่จุดเดียว นั่นคือ “ความล้มเหลว” แม้ว่างานนั้นจะประสบความสำเร็จอย่างงดงามไปเรียบร้อยแล้ว หากมีที่ติสักนิด คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบก็จะคิดวนเวียนอยู่แต่ความผิดพลาดเหล่านั้น เฝ้าโกรธตัวเอง โทษตัวเอง จนบางทีก็ไม่ได้ชื่นชมกับความสำเร็จของตนเองเลย

 

นักจิตวิทยาเสนอว่า ถ้าพบว่าตัวเองมีอาการเช่นนี้ ให้ลองคิดถึงแง่บวก หรือด้านที่ประสบความสำเร็จของสิ่งที่ตนทำ แล้วถามตัวเองว่า สิ่งที่ผิดพลาดนั้น มันเลวร้ายอย่างที่เราคิดหรือไม่ โดยคนอื่นคิดว่ามันเลวร้ายอย่างที่เราคิดหรือไม่

 

ปัญหาที่ 3 คือ คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตัวเอง มีความกลัวความล้มเหลว และกลัวการผิดพลาด

 

คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเองจำนวนมากไม่ได้ถูกผลักดันด้วยแรงจูงใจที่อยากจะประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่ง ที่คนเหล่านี้พยายามทุ่มเททำงานหนักให้สมบูรณ์เต็มร้อย ก็เพราะกลัวความผิดพลาดและล้มเหลว เพราะคนเหล่านี้มักเอาคุณค่าของตนเองไปผูกอยู่กับการประสบความสำเร็จ และ ความสำเร็จสำหรับคนเหล่านี้ คือต้องได้ตามที่ตั้งเป้าไว้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ หากเกิดข้อผิด พลาดเล็กน้อย ก็ทำให้รู้สึกว่าตนเองล้มเหลวทันที และยังส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นและการเห็นคุณค่าในตนเองลดลงไปด้วย บางครั้งความกลัวดังกล่าวก็มีความรุนแรงมาก จนทำให้คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเองไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรนอกเหนือจากกรอบหรือวิธีการที่เคยประสบความสำเร็จ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างก็ไม่ตัดสินใจ เพราะกลัวว่าจะเลือกทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อต้องลงมือทำงาน ก็ลังเล ไม่กล้าลงมือ เพราะมัวแต่กังวลว่าทำแล้วจะไม่ดี จะไม่สำเร็จ

 

บางคนเลยเลือกที่จะหนีไปจากความกลัวเหล่านี้ด้วยการผัดวันประกันพรุ่ง หรือไม่ทำงานเสียเลย เพราะตราบใดที่ยังไม่ลงมือทำ ก็ไม่ต้องเสี่ยงที่จะผิดพลาด ความกลัวเช่นนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะแทนที่คนเหล่านี้จะนำศักยภาพของตนออกมาใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์ ก็กลับถูก “ความกลัวว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ” ขัดขวางไม่ให้ลงมือทำอะไรเลย

 

นอกจากนี้ การไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าลงมือ และไม่กล้าเสี่ยงหาวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงาน ยังทำให้เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงจัดว่าเป็นอุปสรรคในการทำงานและพัฒนาตนเองด้วย

 

นักจิตวิทยาเสนอว่า เราควรเปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่อความผิดพลาดเสียใหม่ เพราะความผิดพลาดคือสิ่งที่ช่วยให้เราเรียนรู้ ถ้าเกิดความรู้สึกกลัว ๆ กล้า ๆ ไม่ลงมือทำเสียที ก็ลองกำหนดเวลาที่จะทำสิ่งนั้นให้ชัดเจน เช่นวันนี้ สองชั่วโมง และลงมือทำเลย

 

ปัญหาที่ 4 คือ การตกอยู่ในภาวะตึงเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า จนกระทั่งอาจคิดฆ่าตัวตายได้

 

ในคนทั่วไป การประสบความสำเร็จย่อมทำให้รู้สึกว่าตัวเองดี มีคุณค่า และการประสบความล้มเหลวก็ย่อมทำให้รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า หรือคิดว่าคนอื่นจะไม่รัก แต่คนที่คาดหวังความสมบูรณ์แบบในตนเอง ซึ่งตั้งมาตรฐานกับตนเองไว้สูงเกินกว่าความเป็นจริง ย่อมมีโอกาสที่จะทำได้ไม่ถึงเกณฑ์ จึงต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าบ่อยกว่าคนทั่วไป

 

นอกจากนี้ คนเหล่านี้ ซึ่งมักเอาคุณค่าของตนเองไปผูกอยู่กับการประสบความสำเร็จชนิดสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ เมื่อประสบความล้มเหลวยังมักโทษตัวเอง โกรธตัวเองอย่างรุนแรงอีกด้วย บางคนเชื่อว่า การเป็นคนสมบูรณ์แบบ เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ตนมีคุณค่า เป็นที่รักของคนอื่น ทุกครั้งที่ทำอะไรผิดพลาด ไม่สมบูรณ์แบบ จึงเกิดความรู้สึกเคว้งคว้าง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า

 

นักจิตวิทยาพบว่า ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่เป็นที่รัก เพราะไม่สามารถเป็นคนที่ “สมบูรณ์แบบ” อย่างที่ตัวเองตั้งมาตรฐานเอาไว้ได้ บางครั้งอาจเข้มข้นมากจนนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตายได้

 

โลกนี้มีสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบอยู่มากมาย เนื่องจาก มาตรฐานเรื่องต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็ล้วนเป็นสิ่งสมมุติที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ เลิกกลัวความผิดพลาด กล้าที่จะลองผิดลองถูก ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริงมากขึ้น ความสำเร็จหรือการเป็นคนดีมีคุณค่าไม่จำเป็นต้องปลอดจากความผิดพลาดเสมอไป

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การจัดการความเครียดจากสถานการณ์การระบาด COVID-19

 

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของความเครียดกันก่อนว่าความเครียดเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นจะขอสรุปแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมปัญญานิยมที่อธิบายว่า ความเครียดของเรานั้นเกิดจากการที่เราคิดและตีความสภาพการณ์ที่ตนเองเผชิญอยู่ ถ้าเราคิดว่าสภาพการณ์ที่เราเผชิญอยู่นั้นสร้างปัญหาให้กับชีวิตของเราและเราไม่สามารถที่จะจัดการกับมันได้ เราก็จะเกิดความวิตกกังวลอันนำไปสู่ความเครียดในเวลาต่อมา จากแนวคิดนี้ทำให้เข้าใจได้ว่าเรานั้นจะเกิดความเครียดทุกวัน เป็นความเครียดที่เราเกิดความเคยชินจนเราไม่รู้สึกถึงความเครียดนั้น แต่เมื่อเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 แน่ใจได้เลยว่าเรานั้นย่อมต้องเกิดความเครียดอย่างแน่นอน แต่จะมากจะน้อยย่อมขึ้นอยู่กับการรับรู้สภาวะความเสี่ยงและความเข้าใจในธรรมชาติของไวรัส COVID-19 ตลอดจนความสามารถในการป้องกันตนเองของแต่ละคน ความเครียดที่เกิดขึ้นถ้าน้อยก็จะไม่ค่อยใส่ใจที่จะป้องกันตนเอง แต่ถ้าเครียดมากอาจจะมีอาการถึงขั้นวิตกจริตเลยก็ได้ จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น หงุดหงิด หุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นที่คิดว่าพวกเขาเป็นพาหะของไวรัส COVID-19 เป็นต้น

 

ความเครียดมีข้อดีเหมือนกัน คือถ้าเครียดน้อยจะทำให้เราหาแนวทางป้องกันตนเอง แต่ถ้ามากไปก็จะทำให้เกิดปัญหากับตัวเองและผู้อื่นได้ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว คำถามคือเรารู้ได้อย่างไรว่าเราเครียดมากในระดับที่ต้องจัดการแล้ว สังเกตง่าย ๆ ในเงื่อนไขต่อไปนี้ คือนอนมากไปหรือนอนไม่หลับ กินน้อยลงหรือกินมากขึ้น ท้องร่วงโดยไร้สาเหตุ หงุดหงิดเร็วเกินกว่าเหตุ หรือปวดศีรษะบ่อยครั้ง เป็นต้น

 

ถ้าพบว่าเครียดมากให้เริ่มจัดการดังนี้

 

เรารู้ว่าเมื่อคนเราเกิดความเครียดเราก็จะเกิดความตึงทั้งร่างกายและจิตใจ

 

การจัดการในขั้นแรกจึงไม่ยากเพียงแต่เราต้องจัดการกับความตึงทางร่างกายก่อน โดยอาจจะนวด และหรือออกกำลังกาย จากนั้นค่อยจัดการทางด้านจิตใจโดยเริ่มจากการผ่อนคลาย ทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เช่นฟังเพลง ดูภาพยนตร์ เล่นโยคะ ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือเป็นต้น

 

ขั้นต่อมาเป็นเรื่องที่ยากขึ้นมาอีกนิด คือให้ปรับเปลี่ยนความคิดของตนเองไปเป็นทางบวกให้มากขึ้น เช่นคิดว่าไม่ใช่ทุกคนจะติดไวรัส COVID-19 และถ้าเราเกิดติดไวรัส COVID-19 ก็รักษาหายได้ อัตราการตายของคนไทยจากไวรัส COVID-19 มีถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 ทำให้เราได้อยู่บ้านกับครอบครัวมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น และเราก็ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ในการสื่อสาร และการทำงาน การมองโลกทางบวกจะทำให้ชีวิตและสุขภาพจิตเราก็จะดีขึ้น

 

คิดเสมอว่า ไม่มีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ ผลกระทบของปัญหามีสองด้านเสมอ คือ ด้านบวกและลบ เพียงแต่เราเลือกที่จะมองนั่นเอง ดังนั้นการแก้ปัญหาความเครียดทางด้านจิตใจ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการมองโลกหรือปัญหาในทางบวกนั่นเอง

 

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการส่งเสริมทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม

ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life-Di Center)

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

รับมือกับความเครียดจากการตกงาน

 

ด้วยสภาพเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา องค์การหรือบริษัทจึงต้องการบุคลาการที่มีทักษะพร้อมและเหมาะสมกับตลาดแรงงานมาสร้างผลผลิตให้แก่องค์การอย่างเต็มศักยภาพเพื่อความอยู่รอด อีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องมีพนักงานเก่าหลายรายที่อาจมีคุณสมบัติไม่เป็นตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องเผชิญกับการถูกบีบให้ออกจากงานอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้

 

หลังจากถูกไล่ออกจากงาน คนส่วนใหญ่มักรู้สึกสะเทือนใจ และตกใจจนเกิดความสงสัยว่าทำไมต้องเป็นตนเอง หรือบางคนก็รู้สึกเหมือนถูกทรยศ “ว่านี่หรือคือสิ่งที่ฉันควรได้รับจากการที่จงรักภักดีต่อองค์การมายาวนาน” โดยคนที่ถูกไล่ออกนั้นมักรู้สึกสับสนว่า “ฉันจะทำอย่างไรต่อไป ชีวิตของฉันจะเป็นอย่างไรหากไม่มีงานนี้” และคนที่ถูกไล่ออกส่วนมากมักรู้สึกอับอาย คิดว่าตนไม่เป็นที่ต้องการ และเป็นคนล้มเหลว หรือบางคนก็เครียดจัดจนจบชีวิตตนเองลง

 

 

การถูกไล่ออกจากงานและผลกระทบด้านจิตใจ


 

การสูญเสียงานนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจที่รุนแรง 3 ประการ ได้แก่

 

ประการแรก คือการสูญเสียงานทำให้คนเราสูญเสียความเป็นตัวตน หรือ identity ของตนไป

กล่าวคือ คนเรามักระบุความเป็นตัวตนของเรากับงานที่เราทำ เช่น ฉันเป็นนักการตลาด ฉันเป็นนักร้อง ฉันเป็นหมอ เป็นต้น บางคนอาจจะรู้สึกผูกพันอย่างแนบแน่นกับอาชีพของตน เช่น ภูมิใจว่าตนเองเป็นหัวหน้าฝ่ายขาย บางคนอาจให้ความสำคัญแก่บทบาทการเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว หรือการเป็นคนที่พึ่งพาตนเองได้มากกว่า ดังนั้น การสูญเสียงานไปอาจทำให้บุคคลนั้นรู้สึกสูญเสียส่วนหนึ่งของตนเองไปด้วย

 

ประการที่สอง คือ การสูญเสียจุดมุ่งหมายในชีวิต

เมื่อคนเราสูญเสียงาน ก็มักรู้สึกว่าชีวิตของไร้จุดหมาย เช่น “วันนี้ฉันจะทำอะไร พรุ่งนี้ฉันจะทำอะไร” หลายคนที่ทำงานมักมีจุดมุ่งหมายในสายอาชีพของตน ต่างต้องการที่จะก้าวหน้าในงาน ได้รับการเลื่อนขั้น จึงทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าหากมีเหตุที่ทำให้ต้องลาออกจากงาน หรือโดนไล่ออก ก็จะรู้สึกสงสัยถึงจุดหมายในชีวิตของตนเอง และเริ่มประเมินว่าอะไรเป็นสิ่งที่ตนต้องการต่อไปหลังจากที่สูญเสียงานไป

 

หากบางคนโชคดี มีโอกาสและเวลาทบทวน มองย้อนกลับไปว่าตนเองต้องการอะไรในชีวิต ก็อาจค้นพบจุดหมายใหม่ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และพบความหมายในชีวิตของตน เช่น หลังจากตกงาน บางคนก็ตัดสินใจออกเดินทางเพื่อพักผ่อนจิตใจชั่วคราว ใช้เวลาอยู่กับตนเอง คิดย้อนทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ จนทำให้ค้นพบความต้องการที่แท้จริงของตน หรือบางคนอาจจะขอบคุณที่ตนถูกไล่ออกจากงานเก่า เพราะทำให้ตนได้ทบทวนความสามารถ ความถนัด และคุณลักษณะของตนว่าจริง ๆ แล้ว ตนเหมาะกับอะไร จนทำให้พบเจอทางเลือกใหม่หรืองานใหม่ที่เติมเต็มชีวิตของตนมากกว่าเดิม

 

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรทิ้งช่วงนานเกินไปในการหยุดพักเพื่อทบทวนตนเอง เพราะอาจทำให้ออกห่างจากโลกแห่งความเป็นจริง จนจะกลายเป็นหนีความจริงไปตลอด และก็มักจมอยู่กับความรู้สึกผิด เสียใจกับคำถามวน ๆ ว่า “ถ้าหากฉันทำอย่างนั้น ฉันก็จะไม่เป็นอย่างนี้”

 

ประการที่สาม คือ การรู้สึกสูญเสียการเห็นคุณค่าในตนเอง

เมื่อเกิดข้อผิดพลาด ล้มเหลวในการทำสิ่งใด เช่น สอบเลื่อนขั้นไม่ผ่าน ถูกปฏิเสธจากงาน บุคคลมักรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า และไร้ความสามารถ โดยเฉพาะการอาศัยอยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับการมุ่งมานะทำงานอย่างหนักเพื่อผลผลิต และความสำเร็จในอาชีพการงาน ดังนั้นการเห็นคุณค่าในตนเองนั้นมักขึ้นอยู่กับความสำเร็จและผลผลิตที่เราได้มาจากการทำงาน หากเราทำงานสำเร็จ ได้รับคำชมเชยจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน เราก็จะรู้สึกว่าเราเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าและมีความสามารถในองค์การ

 

คนส่วนใหญ่ที่ถูกไล่ออกมักรู้สึกผิด วิตกกังวล อับอาย หรือบางรายถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า จึงทำให้กลายเป็นคนปลีกตัวจากสังคม ปฏิเสธความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพราะกลัวการถูกมองว่าเป็นคนไร้ความสามารถ ไม่เอาไหน ความวิตกกังวลด้านอารมณ์และการเงินมักก่อให้เกิดความเครียดในความสัมพันธ์กับผู้อื่นและครอบครัว ความรู้สึกไม่มั่นคงหลังถูกไล่ออกทำให้คนขาดสติ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ บางคนก็หันเข้าหายาเสพย์ติดหรือดื่มเหล้าเพื่อผ่อนคลายความเครียด ซึ่งเป็นชนวนไปสู่การมีปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอีกด้วย

 

 

วิธีการรับมือกับความเครียดหลังตกงาน


 

หลังจากศูนย์เสียการทำงาน คนเรามักสูญเสียความเป็นตัวตน ขาดจุดหมายในชีวิต ขาดความมั่นใจ และรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า จึงทำให้เผชิญกับปัญหาด้านอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกผิด อับอาย วิตกกังวล และซึมเศร้า ซึ่งถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้น โดยการรับมือกับอารมณ์ทางลบ คือ การมีความเมตตากรุณาให้แก่ตนเอง หรือเรียกว่า “self-compassion” คือการหันมาดูแลใส่ใจตนเอง ยอมรับความเป็นจริง เผชิญหน้ากับความล้มเหลว ซึ่งการสูญเสียงานที่เรารัก หรือเราอาจทำสิ่งใดผิดพลาดไป แต่ทั้งหมดก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ ย่อมสามารถทำในสิ่งที่ถูก ผิด พลั้งพลาดได้ อีกทั้ง ควรเปิดใจยอมรับและเข้าใจความรู้สึกเจ็บปวด หรือความล้มเหลวของตัวเราเอง มากกว่าที่จะตำหนิตนเอง โดยการมีความกรุณาให้แก่ตนเองจะช่วยให้รู้สึกดีและปรับตัวต่อเหตุการณ์ได้ดี ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

ความมีเมตตากรุณาให้แก่ตนเองนั้นสามารถทำได้ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจว่าความไม่สมบูรณ์แบบ ความล้มเหลว และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็หลีกหนีไม่ได้ ดังนั้นควรเผชิญกับมันมากกว่าที่จะโกรธแค้นโชคชะตา คนเราไม่สามารถได้สิ่งที่ตนต้องการเสมอไป ดังนั้น เราจึงไม่ควรปฏิเสธความจริง เพราะการพยายามปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมก่อให้เกิดความเครียด ความคับข้องใจ และการตำหนิตนเอง

 

ต่อมาเราต้องมีสติที่รับรู้ถึงอารมณ์ของตนเองตามจริง ไม่พยายามหลอกตนเองว่า “ฉันไม่เครียดสักนิดที่ตกงาน” หรือว่าแสดงอารมณ์ลบเกินความจริงที่ตนรู้สึก การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ไม่ได้หมายความว่าให้ตัดสินหรือประเมินตนเอง แต่ให้สังเกตสภาวะอารมณ์ของตนเองอย่างเปิดใจ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจตนเองมากขึ้น

 

นอกจากความมีเมตตากรุณาเข้าใจตนเองจะช่วยให้ฟื้นตัวจากความเครียดหลังตกงานได้ หากแต่ยังมีสิ่งที่ควรหลีกเหลี่ยงหลังจากตกงาน เพื่อที่สามารถรับมือกับความเครียดได้ ดังนี้

 

ข้อแรก คือ พยายามอย่าตื่นตระหนก เห็นได้จากงานวิจัยพบว่าการวิตกกังวลในระดับปานกลางจะเป็นตัวสร้างแรงจูงใจที่ดีในการทำสิ่งต่าง ๆ แต่การตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลขั้นสุดจะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ยิ่งแย่ลง เพราะเมื่ออยู่ในสภาวะตื่นตระหนก จะไม่สามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องเหมาะสมได้

 

ข้อสอง คือ หลีกเลี่ยงการปลีกตัว หลายคนเมื่อเผชิญกับความเจ็บปวด มักจะปลีกตัวไปเยียวยารักษาตนเอง และการให้เวลากับตนเองเพื่อทบทวนสิ่งที่ผ่านมา เพื่อวางแผนอนาคตใหม่หลังจากตกงาน ซึ่งก็อาจจะมีประโยชน์ หากแต่ไม่ควรปลีกตัวจากคนที่รักและห่วงใย

 

ข้อสาม คือ อย่าปล่อยให้อารมณ์ลบมาครอบงำ หลังจากตกงาน คนทั่วไปมักรู้สึกโกรธ ขมขื่น และเศร้าหมอง การจมอยู่กับอารมณ์เหล่านี้จะทำให้เสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ในการนำเวลาและพลังกาย พลังใจ มาคิดหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตนเอง

 

ข้อสี่ คือ เลี่ยงการคิดอยู่ในกรอบ หลาย ๆ คนอาจคิดว่าการหางานชั่วคราว หรือ part-time อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ แต่หากเงินเป็นปัจจัยสำคัญ พอตกงานก็ย่อมกระทบต่อการใช้ชีวิต ดังนั้นควรที่จะมองทางเลือกอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ด้วย ไม่ควรคิดอยู่ในกรอบว่าต้องทำงานที่คล้าย ๆ กับงานที่เคยทำอยู่เพียงเท่านั้น

 

ข้อสุดท้ายที่ควรหลีกเหลี่ยง คือ ไม่ควรตั้งคำถาม “ถ้าหาก หรือ what ifs” ยกตัวอย่างเช่น “ถ้าหากฉันไม่ถูกไล่ออก ฉันก็คง หรือ ถ้าหากฉันทำโปรเจคงานนั้นสำเร็จ ฉันก็คง….” ในเมื่ออดีตไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ไม่ควรไปเสียเวลา ทว่าควรที่จะหันมาพิจารณาถึงเป้าหมายต่อไปในชีวิต

 

กล่าวโดยสรุป หลายคนอาจมองว่าการถูกไล่ออกจากงานเป็นจุดจบในชีวิตแล้ว จึงทำให้ตกเป็นเหยื่อของความเครียดและปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นเราควรมีสติ มีความเมตตาให้กับตนเอง มองว่าเราเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งมีผิดพลาดได้ อีกทั้งอย่าปฏิเสธความหวังดีและช่วยเหลือจากคนรอบ ๆ ข้างเรา คนที่เขารักและหวังดีต่อเรา เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราฟื้นตัวจากความผิดหวังในชีวิตได้

 

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร. ประพิมพา จรัลรัตนกุล

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

Vigor at work – ความกระปรี้กระเปร่าในงาน

 

 

 

 

ความกระปรี้กระเปร่าเป็นอารมณ์ทางบวกชนิดหนึ่ง มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ

 

  • พลังทางกาย (physical strength) – ความสามารถของบุคคลที่แสดงออกทางร่างกาย
  • พลังทางอารมณ์ (emotional energy) – ความสามารถของบุคคลที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในความรู้สึกของบุคคลอื่น
  • พลังทางการรู้คิด (cognitive liveliness) – ขั้นตอนการทำงานของกระบวนการทางความคิด และความว่องไวทางด้านจิตใจ

 

ความกระปรี้กระเปร่าในงาน หมายถึง การตอบสนองต่ออารมณ์ทางบวกที่มีต่อบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์กัน โดยมีองค์ประกอบสำคัญเกี่ยวกับงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วย ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกันของพลังทางกาย พลังทางอารมณ์ และพลังทางการรู้คิด

 

ความกระปรี้กระเปร่าในงานมีลักษณะใกล้เคียงกับสภาวะอารมณ์ (mood state) เพราะมีระยะเวลาที่คงอยู่ยาวนานกว่าความรู้สึก (emotion) ชั่วขณะ

 

เนื่องจากความกระปรี้กระเปร่าในงานเป็นอารมณ์ทางบวกชนิดหนึ่ง ซึ่งอารมณ์ทางบวกเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเจริญเติบโตของบุคคลและการเชื่อมต่อสังคม เพราะช่วยขยายขอบเขตของความคิดและการกระทำของผู้คน ลดความสนใจอารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นทางจิตใจ ตลอดจนเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดี ดังนั้น ความกระปรี้กระเปร่าในงานจึงมีความสัมพันธ์กับการที่บุคคลเกิดความพึงพอใจในงาน มีผลปฏิบัติงานที่ดี มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

 

นอกจากนี้ ความกระปรี้กระเปร่าในงานเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการสร้างแรงจูงใจในการทำงานภายในองค์การ จึงพบว่าเป็นตัวแปรทำงานประสิทธิภาพขององค์การได้อีกด้วย

 

 

ทรัพยากรที่เป็นที่มาของความกระปรี้กระเปร่าในงาน


 

แบ่งเป็น 4 ระดับ

 

ทรัพยากรระดับองค์การ คือ การที่องค์การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีการให้รางวัล ให้พนักงานมีช่วงเวลาพักผ่อน องค์การให้พนักงานมีโอกาสเติมเต็มแหล่งพลังของพวกเขาในช่วงเวลาการทำงาน

 

ทรัพยากรระดับกลุ่ม คือ กลุ่มทำงานที่มีแนวโน้มถ่ายทอดอารมณ์ซึ่งกันและกัน เพราะการขัดเกลาทางสังคม ลักษณะขององค์การ การพึ่งพาซึ่งกันและกันในการทำงาน กฎระเบียบ และบรรทัดฐานที่มีร่วมกัน ทั้งนี้ ความกระปรี้กระเปร่าของพนักงานคนหนึ่งสามารถส่งต่อไปสู่คนอื่นได้

 

ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับงาน ได้แก่ เอกลักษณ์ของงาน ความสำคัญของงาน การได้รับข้อเสนอแนะ ข้อมูล ความคิดเห็นต่อการทำงานจากผู้อื่น และการประสบความสำเร็จในงาน

 

ทรัพยากรระดับบุคคล คือ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพนักงาน อำนาจที่เกิดจากความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ

นอกจากทรัพยากรทั้ง 4 ระดับนี้ ยังมีปัจจัยด้านพันธุกรรม สรีรวิทยา และปัจจัยด้านบุคลิกภาพ เช่น ความมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกทางบวก การมองในด้านบวก และการรับรู้ความสามารถของตน

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของการรับรู้การสนับสนุนจากองค์การต่อเจตนาในการประหยัดพลังงานในสถานที่ทำงาน : การศึกษาตัวแปรส่งผ่านของความกระปรี้กระเปร่าในงาน และความกตัญญู” โดย กวิตา พร้อมเพราะ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/54945

ภาพจาก https://graphiccave.com/