News & Events

ทำไมพ่อแม่ (บางคน) จึงทำทารุณกรรมต่อลูก

 

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อลูกของตน แต่พ่อแม่บางคนมิได้เป็นเช่นนั้น เขาสามารถทำทารุณกรรมต่อลูกของตนเองทั้งทางร่างกายและทางเพศได้ ทารุณกรรมทางกาย หมายถึง การทำร้ายเด็กจนได้รับบาดเจ็บทางกาย ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น ตาปูด ปากแตก ส่วนทารุณกรรมทางเพศ หมายถึงการสัมพันธ์ทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เช่น การจับต้องลูบคลำ การข่มขืนกระทำชำเรา

 

พฤติกรรมทารุณกรรมที่พ่อแม่แสดงต่อลูกทั้งทางร่างกายและทางเพศปรากฎบ่อยในหน้าหนังสือพิมพ์ในชีวิตประจำวันของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นการทารุณกรรมทางเพศ แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญ?

 

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ทำทารุณกรรมต่อลูก


 

การศึกษาวิจัย (Browne & Finkelhor, 1986) พบว่า 90 % ของผู้กระทำทารุณกรรมมิใช่คนที่มีความผิดปกติทางจิต รวมทั้งมิได้มีบุคลิกภาพเป็นฆาตกร แต่ส่วนมากแล้วมักจะเป็นคนโดดเดี่ยว อ้างว้าง ไร้ความสุข ซึมเศร้า โกรธง่าย มีความกดดันมาก หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้เกิดความซึมเศร้าได้

 

การศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (Wolf, 1985) รายงานว่าพ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูกมักได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายเช่นเดียวกันมาแต่ในอดีต เป็นเหตุให้มีความเชื่อว่า การกระทำของตนเป็นการแสดงถึงการมีอำนาจในตนเอง รวมทั้งช่วยให้ตนสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้

 

นอกจากนี้ พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูก ยังไม่รู้วิธีการที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดี กล่าวคือ ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรให้ลูกหยุดร้องไห้ และเมื่อไม่สามารถทำให้ลูกหยุดได้ก็โกรธจนลืมตัวทำพฤติกรรมที่เลวร้ายลงไป เช่น เอาเตารีดนาบหลังลูก ตบตีลูกอย่างทารุณ ขาดความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการปกติของเด็ก เช่น พ่อแม่จะคาดหวังให้ลูกไม่ทำเลอะเทอะ หรือขับถ่ายเป็นที่เป็นทางก่อนถึงวัยอันควร อีกทั้งยังขาดความสามารถในการอ่านสัญญาณทางอารมณ์ของลูก ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการผิดพลาด เช่นพยายามป้อนนมลูกเมื่อลูกร้องด้วยความเจ็บปวด เมื่อลูกบ้วนอาหารทิ้งก็แสดงอารมณ์รุนแรงด้วยความโกรธ

 

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวของพ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูกแล้ว จะพบว่า พ่อแม่ที่มีลักษณะดังกล่าวมีแนวโน้มจะมีปัญหาในชีวิตสมรส และทะเลาะเบาะแว้งถึงขนาดลงไม้ลงมือกันมากกว่าครอบครัวอื่นๆ มีลูกมาก ภายในบ้านไร้ระเบียบวินัย นอกจากนั้น พ่อแม่ที่ทารุณลูกยังมีแนวโน้มจะไม่สัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ครอบครัวของตนหรือแม้แต่กับเพื่อน ๆ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเกิดความเครียดขึ้นในครอบครัว ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาผู้ใด เป็นเหตุให้เรื่องที่น่าสลดใจดังกล่าวเกิดขึ้น หากบุคคลมีผู้ที่จะช่วยค้ำจุนทางจิตใจ ช่วยชี้แนวทางที่ถูกต้องในขณะที่เผชิญความเครียดแล้ว ผลจะไม่ออกมาอย่างที่เป็นอยู่แน่นอน

 

พ่อแม่อาจมิใช่เป็นเพียงองค์ประกอบเดียวที่นำไปสู่การทำทารุณกรรม ลักษณะของเด็กก็อาจจะเป็นตัวยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวโดยมิได้ตั้งใจได้ ผลการศึกษาวิจัย (J.R Reid และคณะ, 1982) พบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมมักเป็นเด็กที่เรียกร้องเวลาและความเอาใจใส่จากพ่อแม่สูงกว่าเด็กอื่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ หรือเป็นเด็กที่อยู่เฉยไม่ได้ หรือเป็นเด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำ หรือมีความพิการทางร่างกาย การศึกษาอีกชั้นหนึ่ง (Tsai and Wagner, 1979) พบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมมักเป็นเด็กที่ร้องไห้มาก และมีพฤติกรรมในทางลบมากกว่าเด็กทั่วไป

 

สังคมและวัฒนธรรมก็มีส่วนส่งเสริมต่อการมีพฤติกรรมดังกล่าว นอกเหนือไปจากองค์ประกอบของพ่อแม่และตัวเด็กเอง การตกงาน การต้องทนทำงานที่ตนไม่พึงพอใจ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวที่หนักหนาสาหัสมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการทำทารุณกรรมต่อภรรยาและลูก วัฒนธรรมก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน สังคมใดที่มีวัฒนธรรมที่เน้นความรุนแรงจะวางเจตคติเกี่ยวกับการลงโทษที่รุนแรง อันอาจนำไปสู่การแสดงความรุนแรงต่อสตรีและเด็กที่ไร้หนทางสู้ได้ง่าย ซึ่งตรงกันข้ามกับสังคมที่มีวัฒนธรรมที่ไม่เน้นความรุนแรง เด็กที่กระทำผิดจะไม่ถูกตี แต่จะเน้นการแก้ไขพฤติกรรมด้วยวิธีการอื่นที่สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาได้เช่นเดียวกัน เช่น การยิ้มและชมเชยเด็กเมื่อทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เด็กอยู่ตามลำพังเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ใน วัฒนธรรมเช่นนี้ เด็กจะไม่ได้รับการปลูกฝังเจตคติของความรุนแรง และไม่มีความคิดว่าความรุนแรงสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้

 

นอกเหนือจากการทารุณทางกายแล้ว เด็กยังอาจถูกทำทารุณกรรมทางเพศได้อีก จากรายกรณีที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่ออื่น ๆ พบว่า ผู้ที่กระทำทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก มักเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและเด็กมีความไว้วางใจ เช่น พ่อ ญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว หรือเพื่อน ๆ ของบุคคลในครอบครัว ดังนั้นวิธีการป้องกันจึงควรจะเน้นการสอนให้เด็กระมัดระวังมิให้บุคคลแปลกหน้าหรือแม้บุคคลที่เด็กรักและไว้ใจมาสัมผัสแตะต้อง ลูบคลำ จูบกอด ถอดเสื้อผ้าออก หรือชักชวนให้ไปอยู่ในที่ลับตาผู้อื่น

 

อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวอาจจะเป็นเหมือนดาบ 2 คมได้ ด้านหนึ่งสามารถป้องกันการถูกทำทารุณกรรมทางเพศจากคนใกล้ชิด แต่อีกด้านหนึ่งอาจทำให้เด็กตกใจกลัว และขัดขวางต่อการมีความรักความผูกพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดได้ อีกวิธีการหนึ่งคือการที่พ่อแม่กระตุ้นให้เด็กเล่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่เด็กทำในแต่ละวัน โดยไม่มีการตำหนิติเตียนหรือลงโทษเด็กหากเด็กทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อปลูกฝังความคิดว่าเด็กสามารถเล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้พ่อแม่ฟังได้โดยไม่ถูกลงโทษ และพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ทุกเรื่อง เป็นที่เชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยทำให้พ่อแม่ได้รับรู้เรื่องต่าง ๆ ของลูก และตัดไฟเสียแต่ต้นลมได้

 

 

พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมต่อลูก รู้สึกผิดในใจและเกลียดตนเองในสิ่งที่ทำลงไปหรือไม่?


 

Wolfe (1985) พบว่าพ่อแม่ที่กระทำพฤติกรรมดังกล่าว รู้สึกเกลียดตนเองและละอายใจในสิ่งที่ทำลงไป แต่รู้สึกว่าตนเองขาดอำนาจที่จะหยุดยั้งมัน

 

 

ผลกระทบจากการที่เด็กถูกทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศ


 

แน่นอนที่สุด การที่เด็กถูกทารุณกรรมทางกายหรือทางเพศก็ตาม ย่อมมีผลร้ายแรงที่ตามมา เด็กที่ถูกทารุณทางกายจะมีผลการเรียนต่ำ ชอบแยกตัวจากเพื่อนฝูง ก้าวร้าว ไม่ร่วมมือกับผู้อื่น ผลที่ตามมาก็คือ การเข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมตามมาได้ ส่วนเด็กที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศมีแนวโน้มจะเกิดความหวาดกลัวต่อเพศตรงข้าม มีความรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่า มีปัญหาพฤติกรรม ผลการเรียนต่ำ หมกมุ่นกับเรื่องเพศ ซึมเศร้า ไม่ไว้วางใจบุคคลอื่น รวมทั้งมีปัญหาการปรับตัวทางเพศ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะติดตัวเด็กไปแม้เข้าสู่วัยรุ่นใหญ่แล้วก็ตาม

 

การศึกษาวิจัยของ Kaufman & Zigler (1987) พบว่าเด็กที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศจะมีลักษณะเหมือน “ระเบิดเวลา” ที่พร้อมจะระเบิดความรุนแรงต่อลูกๆของตน อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยอีกชั้นหนึ่ง (Zgeland & Sroufe,1981) ได้รายงานว่าหากเด็กที่ถุกทารุณกรรมทางเพศได้รับการค้ำจุนทางจิตใจจากผู้ใกล้ชิด ได้รับการกระตุ้นให้เด็กระบายความโกรธแค้น และเกลียดชังออกมาได้อย่างเปิดเผย รวมทั้งสามารถพูดถึงประสบการณ์ที่เลวร้ายของตนออกมาโดยไม่ต้องเก็บกดแล้ว โอกาสที่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีความรักและชีวิตครอบครัวที่มีความสุขก็มีทางจะเป็นไปได้มาก

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : https://www.pxfuel.com/en/free-photo-xjpbc

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ศิรางค์ ทับสายทอง

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

จิตวิทยาเกี่ยวข้องกับการทำงานในองค์การอย่างไร

 

เมื่อเอ่ยชื่อวิชา “จิตวิทยา” คนส่วนมาก็คงนึกถึงนักจิตวิทยาที่นั่งฟังผู้ป่วยเล่าปัญหาของตัวเอง หรือไม่ก็นึกถึงคนที่ใช้จิตวิทยาหลอกล่อให้คนอื่น ๆ หลงเชื่อ

 

โดยทั่วไปแล้ว หลายคนยังเข้าใจจิตวิทยาผิดไปจากความเป็นจริงอยู่มาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ภาพที่ปรากฏออกไปสู่สังคมมักแสดงถึงนักจิตวิทยาในฐานะผู้บำบัดหรือผู้รักษา จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะศาสตร์จิตวิทยานั้นกว้างขวางและครอบคลุมกว่าแค่การบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตเท่านั้น

 

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และครอบคลุมไปถึงเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราด้วย เราจะพบว่าจิตวิทยานั้นแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกเรื่องในชีวิตของเรา และด้านหนึ่งที่สำคัญก็คือ การทำงาน โดยส่วนมากเรามักจะไม่รู้กันว่าจิตวิทยาสามารถประยุกต์เข้ากับชีวิตการทำงานได้ทั้งในการเข้าใจและพัฒนาตนเอง ทั้งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ลูกน้อง หรือลูกค้า หรือแม้แต่องค์การเองก็สามารถนำจิตวิทยาไปใช้เพื่อบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ

 

คนที่จะกำลังหางานทำหรือพนักงานที่ทำงานอยู่แล้ว สามารถใช้จิตวิทยาเพื่อค้นหาความสามารถ ความถนัด บุคลิก ลักษณะต่าง ๆ ของตนเอง เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกงานที่เหมาะสมกับตน หรือมองหาเส้นทางอาชีพที่ตนจะดำเนินต่อไปในอนาคต แนวคิดหลักอย่างหนึ่งของจิตวิทยาคือ คนเราแต่ละคนแตกต่างกัน ทั้งในด้านบุคลิกภาพ ความเชื่อ ทัศนคติแรงจูงใจ หรือความสามารถ ความแตกต่างเหล่านี้ก็ส่งผลให้คนแต่ละคนทำงานได้แตกต่างกัน คนบางคนอาจจะทำงานเป็นพนักงานขายที่เก่งกาจ สามารถสร้างเครือข่ายลูกค้าได้กว้างขวาง แต่คนคนนี้อาจจะไม่เก่งในด้านการบริหารงาน หรือไม่ได้เป็นผู้นำที่ดี จิตวิทยาจะช่วยให้บุคคลรู้ว่าตนเองมีลักษณะต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีบุคลิกภาพแบบชอบเปิดตัว ชอบเข้าสังคม เราก็จะสามารถเลือกงานที่เหมาะสมกับบุคลิกของเราได้ หรือ ถ้าเรามีความสนใจในการออกแบบสร้างสิ่งใหม่ ๆ หรือมีความถนัดด้านความคิดสร้างสรรค์ เราก็จะเลือกอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น งานโฆษณา หรืองานออกแบบ จากตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า จิตวิทยาช่วยให้บุคคลรู้จักตนเองมากขึ้น เมื่อบุคคลรู้จักตนเองมากขึ้นก็จะสามารถเลือกและทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงได้ทำงานที่ตนเองสนใจหรือรัก นอกจากนี้จิตวิทยายังช่วยในการจัดการความเครียด การเข้าใจตนเอง การพัฒนาตนเองให้ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า

 

นอกจากจิตวิทยาจะช่วยให้พนักงานเข้าใจตนเองและพัฒนาตนเองได้แล้ว วิชาจิตวิทยายังช่วยให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางบวกกับเพื่อนร่วมงาน วิธีการในการจูงใจลูกน้อง หรือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับเจ้านาย

 

สำหรับองค์การ ความรู้ทางจิตวิทยาจะช่วยให้องค์การสามารถบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถและลักษณะตรงตามที่ต้องการ ช่วยในการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานมุนานะตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ช่วยให้พนักงานตระหนักในขีดความสามารถของตนและนำมาใช้หรือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

ด้วยเหตุนี้องค์การจึงควรให้ใส่ใจกับพนักงานของตนให้มาก สาขาวิชาที่ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงเกิดขึ้น จิตวิทยาเองก็มีส่วนช่วยในการบริหารทรัพยากรมนุษย์อยู่ไม่น้อยทีเดียว ทั้งตัวองค์ความรู้และทฤษฎีที่จะช่วยให้องค์การสามารถตัดสินใจเลือกบุคลากรได้ตรงกับความต้องการ ทั้งแบบวัดทางจิตวิทยาที่จะช่วยให้องค์การรู้ว่าพนักงานแต่ละคนมีลักษณะในด้านต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ความรู้ดังกล่าวช่วยให้องค์การสามารถเลือกคนได้เหมาะสมกับงาน พัฒนาพนักงานให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นทันท่วงทีต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถให้รางวัลแก่พนักงานที่ทำงานดีและลงโทษพนักงานที่ประพฤติเสียหายได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

 

ระบบบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่ดี ช่วยให้พนักงานทำงานได้เต็มความสามารถ ซึ่งนั่นก็หมายถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและการบรรลุเป้าหมายขององค์การ เมื่อองค์การบรรลุเป้าหมาย นั่นก็หมายถึงความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นของพนักงาน ทั้งองค์การและพนักงานต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

 

ประเด็นเรื่องมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญ และในปัจจุบันหลาย ๆ องค์การก็เริ่มตระหนักถึงประเด็นนี้ เมื่อจิตวิทยาได้ใช้อย่างจริงจังในองค์การทั้งโดยตัวพนักงานและตัวองค์การเอง เราก็คงจะได้เห็นบรรยากาศของการทำงานที่มีความสุขและมีประสิทธิภาพ

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ให้เด็ก ๆ

 

คุณพ่อ คุณแม่ หรือท่านที่ต้องเลี้ยงเด็ก คงต้องเคยเจอกับสถานการณ์ที่ลูกหรือเด็กร้องไห้ งอแง อาละวาด อย่างตอนที่เด็กอยากได้ของเล่นหรือขนม แล้วพ่อแม่ไม่ให้ หรืออยากไปเล่นกับเพื่อน แล้วเกิดเรื่องทะเลาะกัน พอเด็กร้องไห้งอแงขึ้นมา ทางผู้ใหญ่หากยังใจเย็นพอ ก็พยายามพูดดี ๆ กับเด็ก พยายามคุยกันอย่างมีเหตุผล เช่น “อย่าร้องไห้สิลูก หนูเพิ่งกินขนมไปเมื่อวานเอง กินทุกวันไม่ได้นะลูก” หรือ “เพื่อนเขาไม่ได้ตั้งใจนะ เจ็บนิดเดียวเอง เดี๋ยวก็หาย” แต่หลาย ๆ ครั้งผู้ใหญ่จะพบว่าการพยายามคุยกับเด็กด้วยเหตุผลนั้นกลับไม่ทำให้เด็กหยุดร้องไห้งอแง หรือลดความเข้มข้นของอารมณ์เด็กในตอนนั้นได้เลย เหมือนเด็กไม่ฟังอะไรทั้งนั้น

 

จริง ๆ แล้วในจังหวะที่เด็กกำลังมีอารมณ์เข้มข้น อย่างเช่น อารมณ์โกรธ และเสียใจนั้น ผู้ใหญ่จะพยายามพูดใช้เหตุผลเท่าไหร่ อย่างไรก็ยากที่จะได้ผล สาเหตุหนึ่งเพราะพัฒนาการของสมองที่ประมวลเหตุผลของเด็กนั้นยังไม่ดีเหมือนของผู้ใหญ่ แต่สมองในส่วนของอารมณ์นั้นจะพัฒนาเร็วกว่า อิทธิพลของอารมณ์จึงมีเหนือเหตุผลได้ง่าย ๆ แต่ถึงเด็กจะแสดงอารมณ์ได้อย่างเชี่ยวชาญ จากที่เราเห็นว่าเด็กหัวเราะหรือร้องไห้อย่างชัดเจน แต่เด็กยังไม่ใช่วัยที่รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง แถมยังควบคุมอารมณ์ไม่ได้ดีนัก ผลที่ตามมาคือเด็กปล่อยให้อารมณ์ครอบงำจนไม่สามารถรับฟังเหตุผลเพื่อไปจัดการกับพฤติกรรมของตัวเอง

 

คำถามต่อมาคือแล้วเราควรจะจัดการอย่างไรเวลาเด็กมีอารมณ์เข้มข้นจนตัวเด็กควบคุมไม่ได้ มีวิธีแก้ปัญหาวิธีหนึ่งที่น่าสนใจที่เรียกว่า “การสนับสนุนทางอารมณ์” (emotional support)

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ คือ การที่ผู้ใหญ่เข้าไปช่วยให้เด็กรับรู้อารมณ์ของตนว่าตนกำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ และทำให้เด็กเท่าทันอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น และจะทำให้เด็กเริ่มรับฟังเหตุผลมากขึ้นตามลำดับ

 

ก่อนที่เด็กจะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ เด็กต้องรู้ก่อนว่า ในตอนนั้นตัวเองมีอารมณ์อะไร อารมณ์นั้นมักจะสร้างการตอบสนองทางพฤติกรรมที่รวดเร็ว เช่น ร้องไห้ หัวเราะ และในหลายๆ ครั้ง เด็กยังไม่รู้ว่าตัวเองมีอารมณ์อย่างไรกันแน่ ดีใจ เสียใจ โกรธ พอใจ หรืออะไร ดังนั้นผู้ใหญ่จึงเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนในส่วนนี้ได้ อาจจะเป็นการพูดคุยเพื่อถามเด็ก ให้เด็กตระหนักก่อนว่าตัวเองกำลังมีอารมณ์อย่างไรอยู่ เช่น ถามว่า “หนูโมโหใช่ไหมที่เพื่อนแย่งขนมไป” หรือ “เสียใจใช่ไหมที่ไม่ได้ของเล่น” เมื่อเด็กได้ฟังคำถาม เด็กจะคิดหาคำตอบ และเป็นการทบทวนอารมณ์ตัวเองไปในตัวว่า “ฉันกำลังโมโหหรือเปล่า” “ฉันกำลังเสียใจหรือเปล่า” เพื่อที่จะตอบผู้ใหญ่ เช่น “เปล่า หนูไม่ได้โกรธ” “หนูไม่ได้เสียใจ” หรือในหลาย ๆ ครั้ง ผู้ใหญ่เองก็ไม่รู้ว่าตอนนี้เด็กมีอารมณ์อย่างไร พอได้ถามตอบกัน ก็จะทำให้ทั้งตัวเด็กเข้าใจอารมณ์ตนเองในขณะนั้น และรับรู้ว่าผู้ใหญ่เข้าใจได้ตรงกันด้วย

 

เมื่อเด็กรู้ถึงอารมณ์ของตัวเอง และรู้ว่าผู้ใหญ่ก็เข้าใจว่าตัวเด็กกำลังมีอารมณ์อย่างไร อารมณ์ของเด็กจะค่อยๆ สงบลง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กเริ่มฟังสิ่งอื่น ๆ มากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่เริ่มใช้เหตุผลกับเด็ก ๆ ได้มากขึ้น

 

การสนับสนุนทางอารมณ์ ยังไม่ใช่แค่การทำให้เด็กเข้าใจอารมณ์ของตนเอง แต่ผู้ใหญ่ยังสนับสนุนวิธีการจัดการกับอารมณ์ให้เด็กๆ ได้ด้วย เมื่อผู้ใหญ่รู้แล้วว่าเด็กกำลังมีอารมณ์อย่างไร ก็อาจจะสอนว่า “ถ้าหนูโกรธ เรามาลองนับ 1 ถึง 10 กัน” หรือ “หายใจเข้าลึกๆ แล้วหายใจออก” ทำให้เด็กมีวิธีรับมือกับอารมณ์ที่เข้มข้นของตัวเอง และทำให้อารมณ์นั้นสงบได้ง่ายขึ้น

 

ไม่เพียงแค่อารมณ์ทางลบเท่านั้น แต่บางครั้งเด็กก็ตอบสนองต่ออารมณ์ทางบวกที่เข้มข้นอย่างไม่ควร เช่น การกระโดดโลดเต้น ตะโกนชอบใจเสียงดังจนหยุดไม่อยู่ การพูดคุยให้เด็กรู้ว่ากำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ และจะทำอย่างไรกับอารมณ์เหล่านั้นก็นำมาใช้ได้เช่นกัน เช่น “หนูดีใจมากเลยใช่ไหม ที่ได้ของเล่น แต่ตอนนี้ยังเล่นไม่ได้นะ รออีกหน่อย แล้วไปเล่นกันที่บ้านดีกว่า”

 

สิ่งที่ควรระวังขณะที่ผู้ใหญ่สนับสนุนทางอารมณ์ คือไม่ควรตีตราว่าอารมณ์ไหนคือสิ่งที่ไม่ดี อย่างเช่น ไม่ควรพูดว่า “หนูกำลังอิจฉาน้องหรือ ไม่ดีเลยนะ” “หนูอย่าโกรธสิ คนอื่นเขาไม่ชอบ” เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ตอบสนองตามธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติที่จะมีอารมณ์ทางลบ การตีตราว่าอารมณ์ใดไม่ดี จะทำให้เด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่ยอมรับอารมณ์ของตนในขณะนั้น สิ่งสำคัญของการสนับสนุนทางอารมณ์คือการให้เด็กรับรู้อารมณ์อย่างเป็นกลาง และรู้ว่าอารมณ์นั้นมาจากไหน เช่น ถามเด็กว่า “หนูกำลังอิจฉาเพราะพ่อซื้อขนมให้น้องเยอะกว่าหรือเปล่า” “หนูกำลังโกรธเพราะเพื่อนทำหนูเจ็บหรือเปล่า” และคอยสนับสนุนวิธีการจัดการกับอารมณ์ทางลบนั้น เช่น สอนเด็กว่า “ถ้ารู้สึกอิจฉา ก็มาคุยกับพ่อหรือแม่ได้นะ” “ถ้าหนูโกรธเพื่อน ก็อย่าเพิ่งไปทำอะไรเพื่อน มานับเลขกันก่อนดีกว่า มาทำใจให้เย็นกัน”

 

อีกสิ่งที่ควรระวังคืออย่าคาดหวังว่าเราสอนเด็กแล้วเด็กจะเข้าใจและทำตามได้ทันทีในสองสามครั้ง เด็กบางคนเข้าใจอารมณ์ตัวเองแล้ว แต่ยังหยุดอารมณ์ตัวเองไม่ทัน รู้อารมณ์ของตัวเองแล้วแต่ใจไม่เย็นลงสักที ลองคิดเปรียบเทียบว่าการสนับสนุนทางอารมณ์เหมือนกับการปลูกต้นไม้ที่ต้องใช้เวลา การให้เด็กเข้าใจอารมณ์และตอบสนองอย่างถูกต้องเอง ก็ต้องค่อย ๆ ฝึกกันไป อย่าเร่งรัดจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลงแทน ค่อย ๆ สนับสนุนแล้วเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงของเด็ก และวันหนึ่งการสนับสนุนของเราย่อมเห็นผลแน่นอน

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก https://eresmama.com/

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Counterproductive work behavior – พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า

 

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า หมายถึง พฤติกรรมที่ปฏิบัติโดยบุคลากร โดยมีเจตนาทำความเสียหายและเป็นภัยต่อองค์การหรือสมาชิกในองค์การ ดังนั้น การกระทำโดยเหตุบังเอิญหรือการกระทำโดยบุคคลภายนอกองค์การไม่จัดเป็นพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า

 

ปัจจุบันงานวิจัยส่วนใหญ่แบ่งพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่

  • พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การ
  • พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าของเพื่อนร่วมงาน

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การ จำแนกเป็น 5 องค์ประกอบย่อยดังนี้

  • การถอนตัว เช่น การขาดงาน มาสาย และพักนานกว่ากำหนด
  • การละเมิด เช่น เล่าถึงสิ่งแย่ ๆ เกี่ยวกับที่ทำงานให้คนนอกฟัง
  • การลักขโมย เช่น นำของใช้จากที่ทำงานกลับบ้าน
  • ความเบี่ยงเบนในการปฏิบัติงาน เช่น ทำงานผิดเพื่อประชด และไม่ทำตามคำสั่ง
  • การสร้างความเสียหาย เช่น ใช้วัสดุและอุปกรณ์ของบริษัทมากกว่าความจำเป็น

 

พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าของเพื่อนร่วมงาน จำแนกเป็น 4 องค์ประกอบย่อยดังนี้

  • การละเมิด เช่น ล้อเลียนเพื่อนร่วมงาน เมินเฉยต่อบางคนในที่ทำงาน คุกคามเพื่อนร่วมงาน ปล่อยข่าวลือในเรื่องไม่ดีในที่ทำงานเมื่อรู้สึกไม่พอใจ
  • การลักขโมย เช่น หยิบของของเพื่อนร่วมงานติดมือกลับบ้าน
  • ความเบี่ยงเบนในการปฏิบัติงาน เช่น ปฏิเสธที่จะช่วยบางคนในที่ทำงาน ปิดบังข้อมูลที่สำคัญไม่ให้บางคนในที่ทำงานรู้ และรบกวนเพื่อนร่วมงานขณะที่เขากำลังทำงานอยู่
  • การสร้างความเสียหาย เช่น ทำลายทรัพย์สินของเพื่อนร่วมงาน

 

นอกจากนี้ พฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้ายังสามารถจำแนกลักษณะของการกระทำออกเป็น 2 แบบ คือ

  • การกระทำแบบแสดงออก ได้แก่ ความก้าวร้าว การทำลาย การขู่เข็น การวางเพลิงและการลักขโมย
  • การกระทำแบบไม่แสดงออกโดยตรง ได้แก่ การจงใจว่าตนไม่สามารถทำตามคำสั่ง การจงใจทำงานผิด การมาทำงานสาย การใช้วัสดุอุปกรณ์ในที่ทำงานสิ้นเปลือง การเพิกเฉยต่อบางคนในที่ทำงาน การทำร้ายผู้อื่นในที่ทำงานด้วยวาขา และการนำของใช้ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัวที่บ้าน

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า


 

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า ความคับข้องใจที่เกิดจากการเผชิญสิ่งเร้าความเครียดในที่ทำงาน ได้แก่ “ความขัดแย้งกับหัวหน้า” “ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน” และ “ความจำกัดขององค์การ” ส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าได้

 

(ความจำกัดขององค์การ หมายถึง สถานการณ์ในที่ทำงานที่ขัดขวางไม่ให้บุคคลใช้ความสามารถและแรงจูงใจที่จะทำผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยปัญหาที่ทำให้รู้สึกไม่ดีกับงานที่ทำงาน ได้แก่ อุปกรณ์หรือวัสดุคุณภาพต่ำ กฎเกณฑ์หรือกระบวนการดำเนินงานขององค์การ งบประมาณการทำงานไม่เพียงพอ สิ่งแวดล้อมในที่ทำงานไม่ดี มีเสียงดังรบกวนขณะทำงาน เป็นต้น)

 

นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจเรื่องอายุและประสบการณ์การทำงาน กล่าวคือ การวิจัยในต่างประเทศพบว่ายิ่งบุคคลมีอายุมากขึ้นและประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ยิ่งมีแนวโน้มทำพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าลดลง เนื่องจากบุคคลมีความซื่อสัตย์ต่อองค์การและมีแนวโน้มที่จะไม่ทำพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อองค์การ แต่ในการวิจัยในประเทศไทยพบผลที่ตรงกันข้าม คือ ยิ่งบุคคลมีอายุมากขึ้นและมีประสบการณ์มากขึ้นยิ่งมีแนวโน้มทำพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้ามากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือค่านิยมของแต่ละองค์การในประเทศไทย

 

ส่วนปัจจัยด้านบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า ได้แก่ การมีบุคลิกภาพแบบหลงตนเองสูง ความฉลาดทางอารมณ์ต่ำ การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ และการมีอัตลักษณ์ทางจริยธรรมต่ำ (ความต้องการในการดำรงความสอดคล้องและคงเส้นคงวาระหว่างหลักจริยธรรมที่ตนยึดถือและการแสดงออกต่อสังคมภายนอก) เป็นต้น

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

“การทำนายพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้าขององค์การและเพื่อนร่วมงานจากบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ลักษณะนิสัยด้านความโกรธ และสิ่งเร้าความเครียดในการทำงาน” โดย ประพิมพา จรัลรัตนกุล (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44139

 

“อัตลักษณ์ทางจริยธรรม และคติรวมหมู่ทางจิตในฐานะตัวแปรกำกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง และพฤติกรรมการทำงานแบบถ่วงความก้าวหน้า” โดย ชิตพล สุวรรณนที (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58262

 

ภาพประกอบจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Social_Loafing.jpg

Emotional eating – การรับประทานด้วยอารมณ์

 

 

 

 

การรับประทานด้วยอารมณ์ หมายถึง การรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับปกติเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางลบ อาทิ ความเสียใจ ความกังวล ความโกรธ หรืออารมณ์ทางบวก

 

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วอารมณ์ที่กระตุ้นให้เกิดการรับประทานอาหารในลักษณะนี้นั้นจะเป็นอารมณ์ทางลบ โดยการรับประทานอาหารมักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลอยู่คนเดียว หลังเวลาเย็นหรือระหว่างรับประทานของว่าง และมักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลรับประทานอาหารที่บ้านของตนเองมากกว่าการรับประทานอาหารข้างนอก

 

การรับประทานด้วยอารมณ์ไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกาย คือ อาการหิว หรือไม่ได้ทำไปสู่เจตนาเพิ่มพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน หากแต่เป็นไปเพื่อเยียวยาอารมณ์ทางลบ หรือส่งเสริมอารมณ์ทางบวกของบุคคล

 

ซึ่งอาหารที่บุคคลเลือกรับประทานด้วยอารมณ์นั้นมักมีแคลอรี่สูง หรือคาร์บโบไฮเดรตสูง ซึ่งปริมาณแคลอรี่ที่สูงขึ้นนี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลน้ำหนักขึ้นและอยู่ในภาวะอ้วน

 

 

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์


 

ลักษณะอารมณ์ (Mood)

การรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มเติมอารมณ์ทางบวกและลดอารมณ์ทางลบ และการรับประทานอาหารยังถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ลบ เช่น เบื่อหน่าย เศร้า โกรธ กลัว กังวล และเหงา

 

สถานการณ์ที่ต้องเผชิญ (Situational Characteristic)

เหตุการณ์ในชีวิตเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ โดย Macht, Haupt และ Ellgring พบว่านักเรียนที่ใกล้จะสอบมีความเครียดมากกว่าและมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารเพื่อจัดการความเครียด

 

การจำกัดอาหาร (Eating Restraint)

อาจส่งผลให้บุคคลที่ควบคุมน้ำหนักยังเป็นผู้หมกมุ่น เข้มงวดอยู่กับการรับประทานอาหารแบบเข้มงวด ทำให้เสี่ยงต่อการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ เช่น เมื่อบุคคลต้องใช้ความคิดในระดับที่มาก มีแนวโน้มที่จะบริโภคอาหารในปริมาณมากขึ้นด้วย

 

ภาวะอ้วน (Obesity)

ทฤษฎี Psychosomatic (Bruch, 1973) เสนอว่าความเชื่อมโยงระหว่างภาวะอ้วนและการรับประทานอาหารเกิดจากการเรียนรู้ของบุคคลผ่านการจัดการอารมณ์ทางลบ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก โดย Braet และ Van Strein (1997) ได้รายงานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีที่มีภาวะอ้วนมีความเกี่ยวโยงกับการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์มากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติ

 

ชาติพันธุ์ (Ethnic Background)

การศึกษาของ Jingxiong และคณะ (2007) พบว่าผู้ปกครองในประเทศจีนใช้อาหารเป็นการแสดงความรัก ความห่วงใย รวมถึงการฝึกลูกหลานของตนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Steinegger, Dorn, Goody, Khoury และ Daniels (2005) ที่พบว่าสตรีแอฟริกันอเมริกันมีความเสี่ยงที่จะรับประทานอาหารด้วยอารมณ์เป็นพิเศษในช่วงวัยรุ่นตอนต้น

 

อิทธิพลของครอบครัว (Familial Influence)

เด็กอาจเรียนรู้การรับประทานอาหารด้วยอารมณ์ ผ่านการสังเกตและเลียนแบบของพ่อแม่ นอกจากนี้ Snoek และคณะ (2007) เสนอว่า ลูกในวัยรุ่นที่มีรายงานว่าได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์น้อย มักมีความเสี่ยงในการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์มากกว่าวัยรุ่นที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง

 

ลักษณะบุคลิกภาพ (Dispositional Characteristic)

การศึกษาของ Benjamin และ Wulfert (2002) พบว่าลักษณะร่วมของผู้ที่รับประทานอาหารด้วยอารมณ์และการติดแอลกอฮอล์มีบุคลิกภาพหุนหันพลันแล่นและคล้อยตามสังคมได้ง่าย

 

 


 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแนวปัญญาพฤติกรรมนิยมต่อการรับประทานอาหารด้วยอารมณ์และการรับรู้ความสามารถของตนในการลดน้ำหนักของนิสิตนักษึกษาหญิง” โดย ภาสุร จึงแย้มปิ่น (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55391

 

ภาพจาก https://www.fitfoundme.com/kick-emotional-eating-curb/

พูดได้มากกว่า 1 ภาษา ทำให้สมองเฉียบคมขึ้นจริงไหม ?

 

ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงเรียนสอนภาษาและโรงเรียนสองภาษาเพิ่มขึ้นมากมาย การเรียนรู้ภาษาที่สอง (bilingualism) ทำให้เราสามารถสื่อสารกับผู้คนต่างชาติ เปิดโอกาสสู่มิตรภาพ ความรัก ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และเปิดโลกทัศน์ต่อความคิดและวัฒนธรรมหลากหลาย

 

แต่นอกจากประโยชน์เหล่านี้ การพูดได้ 2 ภาษาส่งผลดีต่อการทำงานของสมองด้วยหรือไม่?

 

ในหลายปีที่ผ่านมาสื่อในสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองเป็นเหมือนการลับสมองให้เฉียบคมมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยจากนักจิตวิทยาที่ศึกษากระบวนการรู้คิดของคน

 

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพค่ะ

 

ฝนสามารถพูดภาษาไทยและภาษาจีน ส่วนใหญ่เธอพูดภาษาไทยกับครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่เธอใช้ภาษาจีนสื่อสารกับอาม่าอากงซึ่งพูดภาษาไทยไม่ได้ ฝนต้องเรียนรู้คำศัพท์และหลักไวยากรณ์ที่แตกต่างของ 2 ภาษานี้ และต้องเลือกใช้ภาษาที่เหมาะสมกับคนที่คุยด้วย โดยยับยั้งไม่นำอีกภาษาหนึ่งมาใช้

 

ความสามารถในการสลับระหว่างสองภาษานี้จึงอาจส่งผลประโยชน์ต่อกระบวนการทำงานของสมองของฝน เรียกว่า Bilingual Advantage Hypothesis สมมุติฐานนี้กล่าวว่า คนที่เรียนรู้ภาษาที่สองเหมือนได้รับการฝึกสมองเพิ่มเติมที่จะช่วยส่งเสริมระบบความจำ การจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ (prioritizing) และการสลับทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (task switching) คล้ายกับการเล่นเกมไขปริศนาในโทรศัพท์มือถือที่อ้างว่าช่วยพัฒนาความจำหรือทักษะอื่น ๆ

 

ทั้งหมดนี้เป็นความจริงหรือเป็นเพียงการล่อลวงทางการตลาด?

 

มีงานวิจัยส่วนหนึ่งที่สนับสนุนว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองมีประโยชน์ต่าง ๆ ดังกล่าว แต่บางงานวิจัยก็ไม่พบหลักฐานยืนยันความเชื่อนี้ ดังนั้น เรามาดู 2 ประเด็นของ Bilingual Advantage กันค่ะ ว่าจริงหรือไม่จริงแค่ไหน

 

การพูดได้ 2 ภาษา ส่งเสริมระบบความคิดด้านอื่นด้วย นอกจากพัฒนาการด้านภาษา

ข้อนี้มีหลักฐานสนับสนุนค่ะ มีงานวิจัยหนึ่งวัดการทำงานของสมองของเด็กวัยรุ่นระหว่างรับการทดลองที่ต้องใช้ทักษะการยับยั้งและสลับเปลี่ยน พบว่าเด็กที่พูดได้สองภาษาสามารถทำงานนั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเด็กที่พูดได้ภาษาเดียว และมีงานวิจัยอีกงานที่พบว่า เด็กวัยประถมที่พูดได้สองภาษาสามารถทำคะแนนได้มากกว่าเด็กที่พูดได้ภาษาเดียวในการทดลองที่วัดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องใช้ทักษะการคิดค้นคำตอบที่แปลกใหม่และหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ เช่น ให้เด็กลองนึกว่าสิ่งของชิ้นนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ อย่างไรบ้าง

 

ผลทดลองชี้ว่าเด็กที่พูดได้สองภาษาอาจมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเพราะพวกเขามีคลังคำศัพท์สองชุดที่แตกต่าง และต้องเลือกใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมในการสื่อสาร อย่างไรก็ดี ประโยชน์ในความคิดสร้างสรรค์นี้อาจจำกัดแค่ความคิดสร้างสรรค์ทางภาษาเท่านั้น เพราะเด็กที่พูดได้ภาษาเดียวสามารถทำคะแนนได้ดีเท่ากับเด็กที่พูดได้สองภาษาในการทดลองที่วัดความคิดสร้างสรรค์ด้านอื่นที่ไม่ใช้ภาษา เช่น การวาดรูปหรือต่อเติมรูปภาพ

 

การพูดได้ 2 ภาษา ช่วยต่อต้านโรคอัลไซเมอร์ในวัยชรา

ข้อนี้ก็มีงานวิจัยสนับสนุนเช่นกันค่ะ ผู้สูงวัยที่พูดได้สองภาษามีอาการสูญเสียความทรงจำช้ากว่าผู้ที่พูดได้ภาษาเดียวประมาณ 4-5 ปี น่าทึ่งมากค่ะ เพราะปัจจุบันยังไม่มียาชนิดไหนที่มีผลแบบนี้ต่อโรคอัลไซเมอร์ การพูดได้ 2 ภาษาอาจปกป้องสมองต่อการเสื่อมเร็วด้วยการฝึกฝนที่สมองได้รับจากการถูกใช้ในการควบคุมสองภาษา (โดยมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับระดับการศึกษาและการดูแลสุขภาพของคนนั้น ๆ ด้วย) แต่การเรียนรู้ภาษาที่สองไม่ได้ป้องกันโรคอัลไซเมอร์โดยสิ้นเชิงนะคะ เพียงแต่อาจช่วยเลื่อนอาการความจำเสื่อมให้เกิดขึ้นช้ากว่าผู้อื่นที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกัน

ถึงแม้จะมีงานวิจัยสนับสนุน Bilingual Advantage แต่เราไม่ควรด่วนสรุปว่าการพูดสองภาษาจะมีประโยชน์ดังกล่าวต่อสมองอย่างแน่ชัดค่ะ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึง เช่น สภาพแวดล้อมและวิธีการใช้ภาษาที่สอง เป็นต้น

 

ขอยกตัวอย่างสองกรณีให้เห็นภาพค่ะ

 

มิ้นท์เรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนสองภาษาในกรุงเทพฯ แต่เธอพูดภาษาไทยกับเพื่อนและครอบครัวที่บ้าน ในขณะที่ลินดาก็เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง แต่เธอเรียนที่ฟิลิปปินส์ คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่สามารถพูดทั้งภาษาฟิลิปปินส์และภาษาอังกฤษได้คล่อง ในชีวิตประจำวันลินดาอาจใช้ทั้งสองภาษานี้สลับกันในประโยคเดียวกันด้วย (code switching) ลินดาจึงอาจได้รับประโยชน์ต่อสมองจากการพูดภาษาที่สองมากกว่า เพราะเธอได้ฝึกฝนการสลับเปลี่ยนระหว่างสองภาษามากกว่ามิ้นท์

 

สรุปแล้วการพูดได้ 2 ภาษาทำให้สมองเฉียบคมขึ้นจริงหรือไม่?

 

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเรียนภาษาที่สองมีผลต่อพัฒนาการของสมองและการทำงานของกระบวนการรู้คิด แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่พูดสองภาษาจะได้รับผลในแบบเดียวกันค่ะ การเรียนรู้สองภาษาส่งผลต่อบุคคลในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ผลสรุปเรื่อง Bilingual Advantage ยังไม่แน่ชัด แต่การเรียนรู้ภาษาที่สองย่อมมีประโยชน์อยู่แล้วค่ะ ทำให้เราสามารถสื่อสารรู้เรื่องกับผู้คนต่างประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา ได้เพื่อน ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ได้ใช้ในการงาน ยังไงก็คุ้มค่าค่ะที่จะลงทุนและใช้เวลาในการเรียนรู้ภาษาเพิ่มเติม

 

 

รายการอ้างอิง

 

Abutalebi, J., Della Rosa, P. A., Green, D. W., Hernandez, M., Scifo, P., Keim, R., … & Costa, A. (2011). Bilingualism tunes the anterior cingulate cortex for conflict monitoring. Cerebral Cortex, 22(9), 2076-2086.

 

Bialystok, E., Craik, F. I., & Freedman, M. (2007). Bilingualism as a protection against the onset of symptoms of dementia. Neuropsychologia, 45(2), 459-464.

 

Bialystok, E., Craik, F. I., & Luk, G. (2012). Bilingualism: consequences for mind and brain. Trends in Cognitive Sciences, 16(4), 240-250.

 

Linck, J. A., Kroll, J. F., & Sunderman, G. (2009). Losing access to the native language while immersed in a second language: Evidence for the role of inhibition in second-language learning. Psychological Science, 20(12), 1507-1515.

 

Okoh, N. (1980). Bilingualism and divergent thinking among Nigerian and Welsh school children. The Journal of Social Psychology, 110(2), 163-170.

 

ภาพจาก https://www.psychologicalscience.org

 

 


 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์สุภสิรี จันทวรินทร์

อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์

 

จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์

นี่เป็นคำถามที่ผิดตรรกะของชีวิตและวิวัฒนาการอย่างที่สุดคำถามหนึ่งเท่าที่เคยเจอมาในชีวิต

 

โลกได้ศึกษาจิตวิทยามานานแล้ว ถ้าจะพูดแบบเหมารวมสักหน่อยก็น่าจะพร้อมกับช่วงที่มีมนุษย์คนแรกถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก แต่สำหรับการศึกษา “อย่างเป็นระบบ” นั้น พระพุทธเจ้าและปราชญ์ท่านอื่น ๆ ก็ได้ทำกันมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้วเช่นกัน ซึ่งตามหลักวิวัฒนาการแล้ว สิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่น่าจะคงอยู่มาได้นานขนาดนี้ ถ้ามันจะไม่มีประโยชน์จริง ๆ ศาสตร์นี้คงจะหายไปตามกาลเวลาและก็คงจะไม่มีโอกาสได้เรียนวิชานี้เป็นแน่

 

น่าแปลกใจและน่าสนใจมากว่าคำถามนี้ถูกถามมาได้อย่างไร

 

คำถามที่ไม่เหมาะสมมักจะนำไปสู่คำตอบที่ไม่เหมาะสม แต่คำถามที่ไม่เหมาะสมบางคำถามอาจจะนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจมากกว่าได้

 

สำหรับบางคนที่ยังสงสัยว่า อะไรเล่าที่เป็นจิตวิทยาแล้วอะไรเล่าที่ไม่เป็น ตอนนี้ขอให้มองข้ามข้อสงสัยนี้ไปก่อน สิ่งที่เราจะคุยกันต่อไปอาจจะให้คำตอบด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

 

เอาล่ะ ในเมื่อมี “ความเชื่อ” ว่าอย่างไรเสีย ศาสตร์จิตวิทยาก็มีประโยชน์ คำถามต่อมาคือ “เพื่อใครหรือสำหรับใคร” ที่ว่าสำหรับมนุษย์นั้นจะว่ากว้างก็กว้างแต่จะว่าแคบก็แคบ อย่างที่เราอาจเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า สิ่งที่มีประโยชน์สำหรับบางคนอาจจะไม่มีประโยชน์…หรือเรียกว่ามีโทษน่าจะถูกต้องมากกว่า…สำหรับอีกหลาย ๆ คนก็ได้ ถ้าเช่นนั้น มันน่าสนใจว่าจิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์ทุกคนทุกผู้ทุกวัยได้อย่างไร

 

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มองตัวเองเป็นหลัก…ไม่มากก็น้อย

ลองเปลี่ยนคำว่า “มนุษย์” เป็น “ทุกคนเท่า ๆ กัน” ดีไหมครับ “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับทุกคนเท่า ๆ กัน”

 

ลองแบ่งคนอย่างหยาบ ๆ ออกเป็น 3 กลุ่มกันก่อน

 

  1. คนกลุ่มแรกเกิดมาพร้อมกับพรวิเศษบางอย่างที่ทำให้เขาหรือเธอมีความสามารถที่แตกต่างเหนือกว่าคนทั่วไป เป็นความสามารถทางศิลปวิทยาการทั่วไปแหละ อย่าเพิ่งไปนึกถึงความสามารถพิสดารอะไรที่เราเห็นกันในหนังในละครเลย
  2. คนกลุ่มที่สองเกิดมาพร้อมกับสิ่งทั่ว ๆ ไป
  3. คนกลุ่มที่สามเกิดมาพร้อมกับปัญหาหรือความบกพร่องอะไรบางอย่าง

 

ไม่ได้บอกว่าการแบ่งแบบนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องนะครับ แค่ลองคิดเล่น ๆ เท่านั้น

 

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า ศาสตร์จิตวิทยาน่าจะมีประโยชน์ “มากที่สุด” สำหรับคนกลุ่มที่สาม หรืออาจจะคิดไปไกลกว่านั้นว่า ศาสตร์จิตวิทยาน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนกลุ่มที่สาม “เท่านั้น”

 

ผิดไปมากเลยครับ ลองไล่จากข้างหลังมาข้างหน้าก็แล้วกัน

 

สำหรับคนกลุ่มที่สาม จะพูดว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากในการบำบัดรักษาก็ไม่น่าจะเป็นคำพูดที่เกินไปนัก คนที่มีปัญหาจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ ศาสตร์จิตวิทยาจะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นเรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัว และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

ส่วนคนกลุ่มที่สองเล่า จิตวิทยาจะมีประโยชน์อะไร

 

แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้อย่างปกติ แต่คงไม่มีใครที่ไม่มีปัญหาที่ต้องแก้ไข ไม่มีความทุกข์ที่ต้องปลดเปลื้อง ไม่มีสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ และไม่มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ต้องสร้างและคอยประคับประคอง การช่วยคนให้จัดการกับสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของศาสตร์จิตวิทยาเท่านั้นครับ

 

คราวนี้ลองมาดูคนกลุ่มที่หนึ่งบ้าง อย่างที่พูดไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า คนกลุ่มนี้เกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่พิเศษบางอย่างที่อาจเหนือกว่าคนอื่นอีกหลาย ๆ คน ทำให้เราคิดไปว่า คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องพึ่งศาสตร์จิตวิทยาด้วยหรือ?

 

จำเป็นมากครับ…

 

มีสักกี่คนที่ค้นพบศักยภาพของตัวเอง…ด้วยตัวเอง มีสักกี่คนเล่าที่สามารถฟูมฟักศักยภาพนั้นให้กลายเป็น “ความสามารถพิเศษ” ที่หลาย ๆ คนยกย่อง…ด้วยตัวเอง และมีสักกี่คนเล่าที่ไม่มีปัญหากับ “สิ่งพิเศษ” เหล่านี้

 

จิตวิทยาสามารถช่วยให้เขาหรือเธอค้นพบสิ่งนั้น พัฒนามันให้เต็มที่ และป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความพิเศษนั้นเอง

 

คราวนี้ลองคิดเกินไปกว่าประโยชน์ของมนุษย์สักเล็กน้อย ลองเติมคำว่า “เท่านั้น” และสลับเรียงคำในประโยคใหม่ จะได้ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์เท่านั้นจริงหรือ” น่าสนใจนะครับ

 

ถ้าจะให้คิดถึงเรื่องสำคัญ ๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวของเราเองแล้ว คงจะหนีไม่พ้นเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อาจรวมไปถึงสัตว์สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกนี้ร่วมกับเราด้วยจิตวิทยาจะมีประโยชน์ต่อสิ่งเหล่านี้ไหม?

 

ตอบได้เลยว่ามีครับ…

 

ลองคิดง่าย ๆ จากแนวคิดที่ว่าทุกสิ่งในโลกล้วนมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย และมนุษย์เองนี่แหละที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการคงอยู่ของหลาย ๆ สิ่งในธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ก็น่าจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยเช่นกัน

 

หน้าที่หนึ่งของศาสตร์จิตวิทยาก็คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ โดยผลของมันถ้าจะพูดอย่างกว้าง ๆ ก็คือการทำให้คน ๆ นั้นและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

 

มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเลือกบริโภคเครื่องดื่มสักขวด?

 

ถ้าเรารู้ว่ากระบวนการผลิตเครื่องดื่มชนิดนี้มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการกำจัดสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ มีการปฏิบัติกับลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบต่อแหล่งทรัพยากร เราอาจจะเลือกไม่อุดหนุนของชนิดนี้ ถามว่าการเลือกซื้อ…พฤติกรรมที่ดูเหมือนจะไม่มีความสำคัญอะไร…ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างรอบตัวคน ๆ นั้นหรือ?

 

ช่วยเปลี่ยนแปลงครับ แต่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ

 

ยังมีกระบวนการอื่น ๆ อีกมากมายที่ร่วมกันกำหนดผลของพฤติกรรมของเรา แต่การที่เราตระหนักรู้ว่า พฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเองนั้นมีผลกระทบขยายกว้างไปกว่าขอบเขตแคบ ๆ รอบตัวเรา ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

 

จิตวิทยาสามารถช่วยกระตุ้นให้คนเกิดการตระหนักรู้ผลกระทบของพฤติกรรม ทั้งต่อตัวเองและต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไม่ว่าใกล้หรือไกล เมื่อรู้แล้วก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี ประโยชน์ก็อาจจะบังเกิดกับทั้งตัว “มนุษย์” เองและธรรมชาติรอบตัว

 

จาก “ความเชื่อ” ที่ว่าจิตวิทยามีประโยชน์สำหรับมนุษย์…ทุกคน และรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราด้วย แต่ทำไมคนบางคนถึงมองไม่เห็นประโยชน์ของมัน?

 

ลองปรับคำถามจากคำถามแรกดูนะครับ

 

คำตอบที่ว่าจริงหรือไม่จริงนั้นดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่หยาบเกินไปสักหน่อย ถ้าเราเพิ่มมุมมองการรับรู้ของคนและระดับของความมีประโยชน์ในคำถามเล่า อะไรจะเกิดขึ้น ลองเพิ่มคำว่า “มากพอ” ในคำถามที่ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์” เป็น “จิตวิทยามีประโยชน์มากพอจริงหรือสำหรับมนุษย์”

 

ที่ว่ามากพอหรือไม่นั้น มันน่าจะขึ้นอยู่กับความต้องการและมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละคน เพราะฉะนั้นขอปรับเปลี่ยนคำถามอีกสักเล็กน้อยเป็น “ทำไมบางคนเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากพอที่จะให้ความสำคัญกับมัน แต่บางคนกลับเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์แต่ไม่มากพอที่จะสนใจ”

น่าคิดนะครับ…

 

เป็นไปได้ไหมว่า ที่คนหนึ่งเห็นว่าจิตวิทยามีประโยชน์มากพอในขณะที่อีกคนไม่เห็นเช่นนั้นเป็นเพราะว่า ต่างคนต่างเห็นความชัดเจนของศาสตร์จิตวิทยาไม่เท่ากัน คนแรกสามารถนึกออกว่าจิตวิทยาคืออะไร ทำอะไรได้ และใช้อย่างไร แต่คนหลังกลับมองไม่เห็น ถึงจะเห็นก็เห็นแบบผิด ๆ ถูก ๆ เลือนลางเต็มที

 

หลายคนคิดว่าศาสตร์จิตวิทยาศึกษาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ถูกมากกว่าผิดครับ….

 

จิตวิทยาแตกต่างจากศาสตร์แขนงอื่น ๆ ตรงที่ส่วนใหญ่แล้วเราศึกษาสิ่งที่เป็นนามธรรมมากกว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรม เป็นอัตวิสัยมากกว่าเป็นปรวิสัย และเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ที่มีสารเคมีวัดได้อย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับวิศวกรรมศาสตร์ที่มีสิ่งปลูกสร้างจับต้องได้

 

จิตวิทยาศึกษาสิ่งที่อยู่ภายในสมองและจิตใจ ความคิด ความรู้สึก รวมไปถึงพฤติกรรมที่เราแสดงออกมา สิ่งเหล่านี้นอกจากจะจับต้องไม่ได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของเรา…เกินไป

 

มนุษย์ทุกคนมีความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมต่าง ๆ เราสื่อสารสิ่งที่เราคิด เราแสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก เรามองเห็นสิ่งที่เราและคนอื่นกระทำ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งเราอาจไม่ทันได้สังเกตถึง “ความแปลกประหลาด” ของมัน และมองข้ามความสำคัญของการศึกษาสิ่งเหล่านี้ไป

 

ลองมองตัวเองและคนรอบข้างดูสิครับ ฟังสิ่งที่เราคิด รับสิ่งที่เรารู้สึก และสังเกตสิ่งที่คนอื่นกระทำ ลองคิดว่าเพราะอะไรมันถึงได้เป็นอย่างนั้น ลองคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ เพียงเท่านี้จิตวิทยาดูจะน่าสนใจมากขึ้น และอาจจะเห็นประโยชน์ “มากพอ” ที่จะให้ความสำคัญกับมันก็ได้

เราลองมาตั้งคำถามที่หันเข้าสู่คนใช้ศาสตร์กันบ้างดีกว่า แค่เติมคำว่า “นัก” เข้าไปในประโยคคำถามเดิมเท่านั้นเอง “นักจิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์”

 

จริง ๆ แล้วคำถามนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากคำถามเดิมที่ว่า “จิตวิทยามีประโยชน์จริงหรือสำหรับมนุษย์” เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมองจากศาสตร์มาเป็นคนใช้ศาสตร์เท่านั้นเอง

 

อาจจะตอบง่าย ๆ ได้ว่า ถ้าอาชีพนักจิตวิทยาไม่มีประโยชน์ ก็คงจะไม่มีอาชีพนี้อยู่ในสังคมแล้ว ตอบแบบกำปั้นทุบดิน

 

ลองเปลี่ยนจาก “มีประโยชน์หรือไม่” เป็น “จำเป็นหรือไม่” ดีกว่าไหมครับ เพราะทุกสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีประโยชน์ แต่บางสิ่งที่มีประโยชน์อาจจะไม่จำเป็นก็ได้

 

แน่นอนว่า นักจิตวิทยามีประโยชน์ แต่ความจำเป็นนั้นอาจจะไม่เท่ากันสำหรับแต่ละคน ทุกคนต่างมีปัญหาหรือจุดสะดุดในชีวิต บางคนอาจจะก้าวผ่านไปได้ด้วยตัวเอง บางคนที่ไปต่อไม่ได้อาจจะต้องการความช่วยเหลือ นักจิตวิทยาจะมีความจำเป็นมากสำหรับคนกลุ่มหลังแต่จะมีความจำเป็นน้อยลงสำหรับคนกลุ่มแรก

 

ใครที่มีจุดสะดุดหรือตกหล่มบ่อย นักจิตวิทยาก็จะมีความจำเป็นต่อเขาหรือเธอมากหน่อย นักจิตวิทยาอาจจะช่วยคลายความไม่สบายใจ ช่วยทำให้มองเห็นปัญหาและมีความคิดต่อปัญหานั้นชัดเจนมากขึ้น เปรียบได้กับการทำให้น้ำที่ขุ่นอยู่นั้นใสขึ้น ส่วนใครที่มีจุดสะดุดน้อยหรือเมื่อตกหล่มแล้วสามารถขึ้นมาเองได้ นักจิตวิทยาก็จะมีความจำเป็นต่อเขาหรือเธอน้อยหน่อย อาจจะแค่ช่วยสะกิดบางจุดที่ขรุขระให้ราบเรียบ เดินต่อไปได้อย่างราบรื่นเท่านั้นเอง

 

พอจะสรุปได้ว่า ทั้งศาสตร์และนักจิตวิทยาล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น แต่จะมีความจำเป็นต่อคนแต่ละคน สิ่งแต่ละสิ่งมากน้อยอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการ มุมมองการรับรู้ และความเข้าใจปัญหาเหตุการณ์ต่าง ๆ ของแต่ละคนครับ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Cognitive dissonance – ความไม่คล้องจองของปัญญา

 

 

ความไม่คล้องจองของปัญญา หมายถึง ภาวะที่ส่วนของปัญญามีความสัมพันธ์กันแบบไม่คล้องจอง คือ ส่วนของปัญญาที่เกิดตามหลังเป็นไปอย่างสวนทางกับส่วนของปัญญาส่วนแรก

 

ส่วนของปัญญา หมายถึง ส่วนย่อย ๆ ส่วนหนึ่งของปัญญา อันได้แก่ ความรู้ ความเชื่อ เจตคติ ความคิดเห็น และค่านิยมที่บุคคลมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งต่อตนเอง ต่อพฤติกรรมของตนเอง และสภาพแวดล้อม

 

[ตัวอย่าง]
ส่วนของปัญญาที่ 1 – เป็นคนไทย
ส่วนของปัญญาที่ 2 – เชียร์ฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ในการแข่งขันกับทีมชาติไทย
เกิดความไม่คล้องจองของปัญญาเพราะการเป็นคนไทยหมายรวมถึงการต้องเชียร์ทีมชาติไทยด้วย

 

ทฤษฎีความไม่คล้องจองของปัญญา (โดย Leon Festinger, 1957) เสนอว่า เมื่อเกิดความไม่คล้องจองของปัญญา บุคคลจะเกิดความไม่สบายใจ จึงต้องพยายามลดความไม่คล้องจองทางปัญญาที่เกิดขึ้นและเพิ่มความกลมกลืนเพื่อลดความไม่สบายใจนั้น

 

บุคคลลดความไม่คล้องจองของปัญญาได้หลายวิธี เช่น

  • เปลี่ยนส่วนของปัญญาที่เกี่ยวกับพฤติกรรม
  • เพิ่มส่วนของปัญญาใหม่ขึ้นมา
  • ลดความสำคัญของประเด็นที่ขัดแย้ง

 

ตัวอย่างเช่น

  • กลับมาเชียร์ทีมชาติไทย
  • อธิบายว่ามันเป็นแค่แมทช์กระชับมิตร
  • บอกว่าถ้าทีมชาติไทยแข่งกับทีมชาติอื่น ก็กลับมาเชียร์ทีมชาติไทย

 

ทฤษฎีความไม่คล้องจองของปัญญามีความสำคัญเนื่องจากสามารถอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในการประเมิน (evaluation) การตัดสิน (judgment) และการตัดสินใจ (decision) ในเรื่องต่าง ๆ ได้ กล่าวคือ ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่การไม่ลงรอยกันระหว่างส่วนของปัญญา และอยู่ที่วิธีการที่บุคคลจัดการเพื่อลดความไม่คล้องจองที่เกิดขึ้น

 

การตระหนักถึงผลกระทบของปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็จะช่วยให้บุคคลสามารถพัฒนาการประเมินและการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ผลของความชอบความคงเส้นคงวาและการรับรู้ความมีอิสระ ในการเขียนเรียงความต่อต้านเจตคติต่อความไม่คล้องจองของปัญญา” โดย มยุรินทร์ เตชะเชวงกุล (2545) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/90

“ผลของการเห็นคุณค่าแห่งตน การรับรู้โอกาสเลือก และการชี้นำต่อการเกิดความไม่คล้องจองของปัญญา” โดย ระวีวรรณ ทิพยานนท์ (2551) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20426

เมื่อไรที่จะมาหานักจิตวิทยาการปรึกษา

 

“เอาจริงๆ พี่ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้สึกอะไร เป็นแบบนี้มาหลายเดือนแล้ว ไปทานข้าวกับเพื่อนก็ไม่สนุก กลับบ้านก็เหงา รบกวนสอบถามได้ไหมคะ พี่เหมาะกับการมาหานักจิตวิทยาไหมคะ เขาจะว่าพี่เป็นอะไรหรือเปล่า”

 

“ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ทำไปก็มีแต่จะพัง ไม่อยากทำอะไรเลยค่ะ แบบนี้คุยกับนักจิตวิทยาได้ไหมคะ”

 

“มีแต่คนบอกว่าเรื่องเล็ก แต่เราไม่รู้จะทำยังไง เราคุยกับนักจิตวิทยาได้ไหม”

 

เสียงจากปลายทางสายโทรศัพท์ มักโทรมาถามด้วยความกังวล และไม่แน่ใจ หากแต่ต้องการได้รับการยืนยันจากปลายสายอีกฝั่ง ว่ามีคนรับฟังฉัน ก็คงเพียงพอที่จะให้ตัดสินใจมาพูดคุยได้

 

คำถามที่เขียนไว้ข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างของความกังวลใจ ลังเล สงสัยและไม่แน่ใจในการตัดสินใจเข้ามารับบริการการปรึกษาเขิงจิตวิทยาหรือเข้ามาพูดคุยทางด้านสุขภาพจิต บางครั้งอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว บางครั้งอาจจะคิดว่าไม่ควรมาเพราะเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ที่ใครก็เจอ แต่ในฐานะผู้เขียนอยากจะชวนผู้อ่านลองสำรวจตัวเราเองในแต่ละวัน ว่าเรากำลังเผชิญกับเรื่องราวและความรู้สึกใดบ้าง เพื่อจะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านตัดสินใจได้ว่าเมื่อไรที่เราน่าจะมาหานักจิตวิทยาการปรึกษา

 

 

1. เมื่อเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ยากลำบากในชีวิต

 

การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้การดำเนินชีวิตบางอย่างเปลี่ยนไปด้วย เกิดความรู้สึกผิดหวัง เครียด สับสน หรือยากต่อการจัดการชีวิตประจำวัน

 

2. เมื่อเราเริ่มรับรู้ว่ามีพฤติกรรมหรือความคิดบางอย่างที่ขัดขวางการดำเนินชีวิต

 

สามารถสังเกตได้จากการคิดหรือวิธีการที่เรามักใช้ในการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาการทำงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือคนรอบข้างที่ไม่เอื้อต่อการจัดการปัญหาให้มีประสิทธิภาพเท่าที่เราตั้งใจไว้ มิหนำซ้ำอาจจะส่งผลให้เกิดความซับซ้อนในการแก้ปัญหามากขึ้น เช่น การดื่มสุรา การทำร้ายร่างกายตนเอง พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มากหรือน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

 

3. เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าประสบการณ์ในอดีตรบกวนจิตใจ

 

แม้เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจะจบไปแล้ว แต่ผลของเหตุการณ์หรือความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ยังคงส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในทุกวันนี้ ทำให้รู้สึกกังวลใจ กลัวหรือแม้แต่เบื่อหน่ายต่อการดำเนินชีวิต

 

4. เมื่อต้องการตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ ในชีวิต

 

การตัดสินใจเรื่องสำคัญเป็นส่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสับสนและกังวลได้ เพราะเป็นการเลือกโดยที่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าผลของการเลือกนั้นจะสมหวังหรือไม่ การพูดคุยจะช่วยทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ความกังวล” หรือ “ความคาดหวัง” ได้ชัดเจนมากขึ้น

 

5. เมื่อความสัมพันธ์ในชีวิตเริ่มสะดุดหรือมีการยุติ

 

การเปลี่ยนแปลงทางด้านความสัมพันธ์ เช่น การหย่าร้าง การเลิกรา ความสัมพันธ์ระยะไกล การมีความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ส่งผลต่อความรู้สึกทั้งความรู้สึกทุกข์ใจ เจ็บปวด ทรมาน สิ้นหวัง ซึ่งย่อมมีผลต่อการรรับรู้ตนเองในแง่ลบ และความเชื่อมั่นในตนเอง

 

6. เมื่อสุขภาพกายหรือโรคภัยไข้เจ็บมีผลต่อสุขภาพจิต

 

โรคหรืออาการทางกายบางอย่างที่รบกวนการดำเนินชีวิตส่งผลให้เกิดความเครียดในการใช้ชีวิต การทำงาน หรืออาจจะทำให้มีความรู้สึกกังวลใจต่อการรักษา

 

7. เมื่อมีความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์

 

บางครั้งเราอาจจะสังเกตว่าตนเองมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากเคยเป็นคนชอบเที่ยวกับเพื่อนๆ แต่ก็เริ่มเก็บตัว ไม่อยากไปไหน รับรู้ได้ว่าตนเองมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ลักษณะที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และต้องการแนวทางในการดูแลสุขภาพจิต หรือในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์และมีคำแนะนำให้มีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาควบคู่กับการรักษากับจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

8. เมื่อต้องการสำรวจความสามารถของตนเอง

 

การมาคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษานอกจากจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นปัญหา ความไม่สบายใจแล้ว หลายครั้งสิ่งที่เราหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน คือ ศักยภาพของผู้รับบริการ เป็นการชวนให้ผู้รับบริการได้สำรวจว่าอะไรที่เอื้อให้เราสามารถก้าวผ่านปัญหาไปได้

 

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการสำรวจดังกล่าว เป็นแนวทางเบื้องต้นในการช่วยตัดสินใจ หากสิ่งสำคัญของการตัดสินใจนั้น คือ การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของเรา ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานเหมือนการดูแลสุขภาพกาย หากมีสิ่งที่เราเริ่มรู้สึกเปลี่ยนแปลง ยากต่อการรับมือ มีภาวะความรู้สึกที่ไม่สามารถรับมือได้ การมาคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาจึงเป็นทางเลือกพื้นฐานของการดูแลสุขภาพจิตอย่างหนึ่งค่ะ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Oud, M., de Winter, L., Vermeulen-Smit, E., Bodden, D., Nauta, M., Stone, L., … & Engels, R. (2019). Effectiveness of CBT for children and adolescents with depression: a systematic review and meta-regression analysis. European Psychiatry, 57, 33-45.

 

Sohrabi, R., Mohammadi, A., & Aghdam, G. A. (2013). Effectiveness of group counseling with problem solving approach on educational self-efficacy improving. Procedia-Social and Behavioral Sciences, 84, 1782-1784.

 

Seth Meyers Psy.D. Benefits of Pre-Marital Counseling: Successful Marriage. www.psychologytoday.com. (Online). 2011. Available from : https://www.psychologytoday.com/us/blog/insight-is-2020/201109/benefits-pre-marital-counseling-successful-marriage

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณวรกัญ รัตนพันธ์

นักจิตวิทยาการปรึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พยุงตัวเราเองให้ลุกยืน ในวันที่ล้มลง

 

ดิฉันเชื่อว่าเราทุกคนต้องเคยผ่านวันที่แย่ๆ ถูกแม่ว่า แฟนนอกใจ เพื่อนร่วมงานแทงข้างหลัง หรือบางทีก็แทงเราซึ่งๆ หน้านี่เลย กิจการที่ทุ่มเทลงทุนขาดทุน ถูกเพื่อนๆ ต่อต้านหรือเข้าใจผิด วันที่เราตกเป็นฝ่ายผิด เป็นคนไม่ดีพอ เป็นคนไม่เอาไหน เฮ้อ… มันช่างเลวร้ายเสียจริง

 

ถ้าวันนั้นมาถึง เราจะรับมือกับมันอย่างไรดีคะ?

 

ลองมานั่งมองเรื่องร้ายๆ พวกนี้กันก่อนนะคะ

 

ในชีวิตเรา การตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จะทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองหรือรู้สึกว่าตัวเราไม่ดีพอ ในทางจิตวิทยาเรียกเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเหตุการณ์ที่คุกคามการเห็นคุณค่าของตนเอง

 

เมื่อเจอสถานการณ์เหล่านี้เราก็จะพยายามปกป้องตัวเองด้วยการปฏิเสธบ้าง หนีความจริงบ้าง ไม่ยอมรับผิดบ้าง โทษคนอื่นหรือสิ่งอื่นบ้าง เพื่อที่จะคงความรู้สึกว่าตัวเองยังดีพอ เช่น แฟนนอกใจก็โทษแฟนว่าเค้าช่างโง่ซะจริงที่หักหลังคนแสนดีอย่างเราได้

 

แต่การแก้ตัวเหล่านี้ก็ส่งผลเสียได้ เพราะมันทำให้เราไม่ยอมรับความผิดที่เราเป็นคนก่อหรือความบกพร่องของตัวเราเพื่อที่เราจะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเองต่อไป

 

เอ… แล้วเราจะทำอย่างไรดีให้คนที่ทำผิด เลิกโทษปี่โทษกลองแล้วหันมายอมรับความบกพร่องของตน เพื่อจะปรับปรุงตัวเองต่อไป

 

นักจิตวิทยาสังคมได้เสนอเทคนิคที่เรียกว่า การยืนยันคุณค่าของตนเอง

 

 

การยืนยันคุณค่าของตนเองคืออะไร?


 

พูดง่ายๆ ก็คือการที่เราใช้เวลานึกถึงสิ่งสำคัญในชีวิตที่เรายึดถือเป็นเป้าหมายหรือเป็นธงแห่งชีวิต เช่น ครอบครัว ธรรมมะ หรือชีวิตแบบที่เราศรัทธา เช่น การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เป็นต้น หรือนึกถึงตัวตนที่แท้จริงว่าเราเป็นใครและต้องการอะไรกันแน่ การคิดถึงเรื่องที่เราทำได้ดี หรือการนึกถึงเรื่องที่มีคนชมเชยเราเมื่อวันก่อน การได้นึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เราเคยได้ทำสิ่งต่างๆ ที่สะท้อนความเป็นตัวเราก็ใช้ได้เช่นกัน เช่น เมื่อวานได้ไปทำบุญช่วยเหลือเด็กกำพร้ามา หรือการได้แสดงออกถึงค่านิยมหลักของชีวิตเรา เช่น รักครอบครัว เป็นนักสู้ ชอบท่องเที่ยว ชอบกิน แล้วแต่แต่ละคนเลยว่า สายไหน

 

 

การยืนยันคุณค่าของตนเองช่วยอะไรเราบ้าง?


 

การได้นึกว่า ‘ไอ้เรามันสายกินนะเนี่ย’ จะช่วยพยุงตัวเราให้ลุกขึ้นเมื่อต้องเจอความพ่ายแพ้ผิดพลาดได้ยังไงกัน?

 

การนึกถึงความเป็นตัวตนของเราหรือสิ่งดีๆ อื่นๆ ที่เรามีหรือได้เคยทำ สามารถช่วยให้คนเรารู้สึกมั่นใจในคุณค่าของตนเองมากขึ้นค่ะ ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ผิดพลาดมากขึ้น ลดการแก้ตัวน้ำขุ่นๆ เพื่อปกป้องตัวเอง และหันมาปรับปรุงตัวเองได้ในที่สุด เช่น สอบได้คะแนนไม่ดี ก็ยืนยันตนเองว่า “แต่เราก็เป็นลูกที่ดีของพ่อกับแม่มาตลอดเลยนะ” การคิดแบบนี้จะช่วยเตือนเราว่าชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเรื่องเดียว เรื่องที่สำคัญจริงๆ ในชีวิตเราคือเรื่องการได้มีครอบครัวที่อบอุ่นต่างหาก และในเมื่อชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนเรื่องเดียว เราก็จะลดความสำคัญของปัญหานั้นลง มองปัญหาแบบ zoom out ออกมาเห็นภาพที่กว้างขึ้น เห็นปัญหาเล็กลง และช่วยให้เรารู้สึกว่า เอาอยู่….สู้เว้ย เดี๋ยวสอบรอบหน้าแก้ตัวใหม่

 

การยืนยันคุณค่าของตนเองนี้ใช้ได้ผลจริงหรือเปล่า?


 

งานวิจัยในต่างประเทศพบผลที่ดีในหลากหลายเรื่องเลยค่ะ เช่น คนดื่มเหล้าที่มักจะแก้ตัวเมื่อถูกตำหนิหรือถูกบอกให้เลิกดื่ม เมื่อได้นั่งเขียนเล่าว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของตน (เช่นครอบครัว หรือการได้อยู่กับน้องหมาตัวโปรด) คอเหล้าเหล่านี้ก็รู้สึกมีกำลังใจพอที่จะรับฟังว่ากินเหล้ามันทรมานตับนะ พอเปิดใจรับฟังว่าฉันผิดจริง ก็น่าจะนำสู่การเลิกดื่มได้ในที่สุด

 

เทคนิคง่ายๆ คิดบวกๆ ลองนำไปใช้พยุงตัวเราให้ลุกยืน ในวันที่ล้มลงนะคะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/redirect/201203/affirm-yourself

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย