News & Events

ทักษะทางจิตวิทยาสำหรับนักกีฬา

 

ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนจะยอมรับว่า “จิตวิทยา” มีความสำคัญต่อนักกีฬาและการแข่งขันกีฬา แต่ก็อาจไม่เข้าใจว่า ที่ว่าสำคัญนั้นมันสำคัญอย่างไร และแท้จริงแล้วจิตวิทยามีอะไรบ้างที่จะช่วยให้นักกีฬาประสบความสำเร็จและมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วยกัน

 

ครั้งนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง “ทักษะทางจิตวิทยา” (mental skill) สำหรับนักกีฬาครับ

 

เมื่อพูดถึงกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาแล้ว การเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะทางกีฬา (sport skill) และความเข้าใจในเกมการแข่งขัน รวมทั้งการพัฒนาหรือรักษาสภาพร่างกายของตัวเอง ถือเป็นเรื่องปกติที่นักกีฬาทำอยู่ตลอดเวลาเพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน

 

ถึงแม้ว่านักกีฬาและโค้ชจะยอมรับว่า “จิตใจ” มีผลต่อการแข่งขันก็ตาม แต่มีเพียงบางคนที่จะรู้จักทักษะทางจิตวิทยา และอาจมีน้อยคนที่จะ “เรียนรู้และฝึกซ้อม” ทักษะทางจิตวิทยา ควบคู่กับทักษะทางกีฬา

 

ทักษะทางจิตวิทยาสำหรับนักกีฬามีหลากหลายครับ ไม่ได้เป็นแค่ทักษะสำหรับการแข่งขันเท่านั้น แต่เป็นทักษะสำหรับหลาย ๆ มิติของชีวิตนักกีฬาทีเดียว ตั้งแต่การฝึกซ้อม การแข่งขัน การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการปรับตัวเมื่อถึงเวลาเลิกอาชีพนักกีฬา

 

นักจิตวิทยาได้จัดกลุ่มทักษะทางจิตวิทยาเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. ทักษะพื้นฐาน
  2. ทักษะที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางกีฬา
  3. ทักษะที่จะช่วยให้นักกีฬาได้พัฒนาตัวเอง และ
  4. ทักษะการทำงานเป็นทีม

 

งานของนักจิตวิทยาในเรื่องนี้ คือ การช่วยให้นักกีฬาได้เรียนรู้ พัฒนา และฝึกฝน ทักษะทางจิตวิทยาเหล่านี้ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขัน พร้อมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น นักกีฬาหลาย ๆ คนเมื่อพัฒนาทักษะทางจิตวิทยาในกิจกรรมกีฬาแล้ว ยังสามารถนำทักษะเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ได้ เช่น การเรียน การทำงาน ฯลฯ

 

มาดูกันครับว่า ทักษะทางจิตวิทยาแต่ละกลุ่มนั้น มีอะไรบ้าง และจะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

 

 

ทักษะพื้นฐาน

 

ทักษะพื้นฐาน (foundation skill) เป็นทักษะทางจิตวิทยาที่นักกีฬาและโค้ชทุกคนพึงมี ไม่ว่าจะเล่นกีฬาอะไร หรือลงแข่งขันในระดับอะไร ตัวอย่างของทักษะพื้นฐาน เช่น การสร้างแรงจูงใจมุ่งความเป็นเลิศ (achievement drive) ที่จะช่วยให้นักกีฬาทุ่มเทฝึกซ้อมทำงานหนัก และสามารถบริหารชีวิตของตัวเองให้จดจ่ออยู่กับการพัฒนาทักษะทางกีฬาของตัวเอง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง นักกีฬาอาจต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการตั้งเป้าหมาย การบริหารเวลาและการจัดลำดับความสำคัญ การวางแผน การวางกลยุทธ์ (สำหรับชีวิตประจำวัน) เพื่อพัฒนาทักษะการสร้างแรงจูงใจมุ่งความเป็นเลิศ ทักษะพื้นฐานอื่น ๆ เช่น การตระหนักรู้ตัว (self-awareness) การคิดให้เป็นประโยชน์ (productive thinking) การสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง (self-confidence) เป็นต้น

 

 

ทักษะที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางกีฬา

 

ทักษะกลุ่มที่จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาทักษะทางกีฬา (performance skill) นี้ เป็นทักษะที่เมื่อนักกีฬาเรียนรู้และฝึกฝนแล้ว จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาทักษะทางกีฬาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสามารถรีดเค้นผลงานในการแข่งขันได้ถึงระดับสูงสุด ทักษะกลุ่มนี้ เช่น ทักษะที่เกี่ยวกับกระบวนการทางปัญญาและการรับรู้ (perceptual-cognitive skill) ที่จะช่วยให้นักกีฬาสามารถ “เลือก” ประมวลข้อมูลที่สำคัญในการแข่งขัน และ “ตัด” ข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป อีกทักษะหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน คือ การจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า (attentional focus) หรือการสร้างสมาธิ นอกจากนั้น การกำกับอารมณ์และการบริหารพลังงาน (energy management) ยังเป็นอีกทักษะที่จำเป็นมากสำหรับการแข่งขัน เพราะการแข่งขันเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์รุนแรง ทั้งอารมณ์ทางบวกและอารมณ์ทางลบ นักกีฬาที่มีทักษะการกำกับอารมณ์และการบริหารพลังงานที่ดีนั้น จะสามารถกำหนดอารมณ์ของตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการแข่งขันได้อย่างสม่ำเสมอ

 

 

ทักษะที่จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาตัวเอง

 

ทักษะที่จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาตัวเอง (personal development skill) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักกีฬาจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมและการแข่งขันโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น สำหรับนักกีฬาที่อยู่ในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังหา “อัตลักษณ์” ของตัวเอง การเล่นกีฬาอาจช่วยพัฒนาทักษะที่เด็ก ๆ และวัยรุ่นจะแสวงหาและพัฒนาอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของพวกเขาได้ (identity achievement) นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระดับใด การจัดการกับความคาดหวังของทั้งตนเองและผู้คนรอบข้าง รวมทั้งความสามารถที่จะรู้ว่าเมื่อประสบปัญหาหรือความยากลำบากแล้วจะหันหน้าไปขอความช่วยเหลือจากใครก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่านักกีฬาคนนั้นมีทักษะที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal competence) หรือไม่

 

 

ทักษะการทำงานเป็นทีม

 

ทักษะทางจิตวิทยาที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ทักษะการทำงานเป็นทีม (team skill) ไม่ว่าจะเล่นกีฬาที่ต้องแข่งขันเป็นทีมหรือไม่ นักกีฬาทุกคนอาจต้องทำงานร่วมกับโค้ช เพื่อนร่วมทีม นักกายภาพบำบัด หรือบุคคลอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น ทักษะการทำงานเป็นทีม เช่น การสื่อสาร (communication) ภาวะผู้นำ (leadership) การสร้างความมั่นใจให้กับทีม (team confidence) รวมถึงการสร้างความกลมเกลียวภายในทีม (cohesion) ย่อมเป็นทักษะที่สำคัญ ถ้านักกีฬาขาดทักษะเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะเล่นกีฬาที่แข่งขันคนเดียวก็ตาม ก็จะไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น (รวมทั้งนักจิตวิทยาด้วยในบางกรณี) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้นักกีฬาคนนั้นทำผลงานที่ยอดเยี่ยมได้

 

 

ท้ายสุดแล้ว อย่าลืมว่าทักษะทางจิตวิทยาเหล่านี้ คือ “ทักษะ” ที่นักกีฬาจะต้องเรียนรู้และฝึกฝน ไม่ต่างอะไรกับทักษะทางกีฬา บางทักษะอาจเรียนรู้ได้จากการฝึกซ้อมทักษะทางกีฬาทั่ว ๆ ไป แต่บางทักษะก็จำเป็นต้องมีการจัดสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ รวมทั้งการให้ผลป้อนกลับ (feedback) อย่างเหมาะสม การเรียนรู้จึงจะเกิดขึ้นได้ดี

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

แบบวัดทางจิตวิทยา

 

หลาย ๆ คนคงจะเคยเห็นหรือเคยได้ลองตอบคำถามตามนิตยสารหรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เมื่อคุณตอบคำถามเสร็จแล้ว คำตอบที่คุณได้จากคำถามเหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่คุณอยากรู้ เช่น

 

  • คุณจะได้รู้ว่าคุณมีความเครียดหรือไม่
  • คุณมีบุคลิกภาพอย่างไร
  • มุมมองที่คุณมีต่อความรักเป็นอย่างไร

 

ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น และในบางครั้งคุณอาจจะสังเกตเห็นว่าชุดคำถามบางชุดมีการใช้คำว่า “แบบวัดทางจิตวิทยา”

 

 

แบบวัดทางจิตวิทยาคืออะไร?


 

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วแบบวัดทางจิตวิทยาคืออะไร ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร และการสร้างแบบวัดทางจิตวิทยานั้นทำอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแบบวัดที่เราตอบกันอยู่นั้นบอกสิ่งที่เราต้องการจะรู้ได้อย่างแท้จริง แบบวัดทางจิตวิทยานั้นมีประโยชน์ต่อคุณอย่างไร และแบบวัดทางจิตวิทยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยวิธีการวิจัยนั้นมีความแตกต่างอย่างไรจากแบบวัดที่เราเห็นกันทั่วไปตามนิตยสารหรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ

 

แบบวัดทางจิตวิทยาเริ่มมีการใช้เมื่อประมาณสงครามโลกครั้งที่ 2 วัตถุประสงค์ของแบบวัดทางจิตวิทยาในสมัยนั้นคือ ความต้องการที่จะประเมินความสามารถและศักยภาพของทหารที่เข้าร่วมรบในสงครามว่ามีมากน้อยแค่ไหน ต้องมีการฝึกเพิ่มหรือลดอะไรหรือไม่ เพื่อให้การรบของทหารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับในปัจจุบัน นักจิตวิทยาใช้แบบวัดทางจิตวิทยาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งเพื่อช่วยในการประเมินสภาวะต่าง ๆ ของผู้เข้ารับการบริการ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินพัฒนาการในเด็ก การประเมินสภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งความสุข เป็นต้น

 

นอกจากนี้แบบวัดทางจิตวิทยายังถูกนำมาใช้ในบริษัทหรือในวงการธุรกิจ เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการประเมินความสามารถเพื่อคัดคนเข้าทำงาน หรือแม้แต่เพื่อเลื่อนขั้นให้กับพนักงานด้วยเช่นกัน หรือแม้กระทั่งการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาเพื่อศึกษาความคิดเห็นของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน หรือความคิดเห็นที่มีต่อบุคคลข้ามเพศ รวมไปถึงความคิดเห็นที่บุคคลมีต่อพฤติกรรมของตนที่เกิดขึ้น และการวางแผนต่อสิ่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น พฤติกรรมการดื่มเหล้าของตนเองในปัจจุบัน และการวางแผนที่จะเลิกดื่มเหล้าในอนาคต เป็นต้น เหล่านี้คือตัวอย่างที่ นักจิตวิทยาใช้แบบวัดทางจิตวิทยาช่วยในการทำงาน

 

 

กว่าจะได้แบบวัดทางจิตวิทยามาหนึ่งชุด นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยผู้พัฒนาแบบวัดนั้นต้องทำอะไรกันบ้าง?


ก่อนที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยจะพัฒนาหรือสร้างแบบวัดทางจิตวิทยา เพื่อประเมินอะไรสักอย่างขึ้นมาได้นั้น นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยคนนั้น จะต้องมีการระบุความหมาย หรือพฤติกรรมที่เขาต้องการที่จะประเมินอย่างชัดเจนก่อน ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการที่จะพัฒนาหรือสร้างแบบวัดทางจิตวิทยาเพื่อประเมินสภาวะความเครียด นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยคนนั้นจะต้องระบุให้ได้ก่อน ความเครียดในแบบวัดที่เขากำลังจะพัฒนาขึ้นนั้นคืออะไร ลักษณะอาการแบบไหนที่ฟ้องว่าคนกำลังเครียด และอะไรที่ไม่ใช่

 

การระบุความหมายหรือหาพฤติกรรมที่จะสื่อได้ถึงความเครียดนั้น ทำได้หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทฤษฎีทางวิจัย งานวิจัยในอดีตที่ผ่านมา หรือแม้แต่การสัมภาษณ์ จากนั้น เมื่อนักจิตวิทยาหรือนักวิจัย สามารถระบุความหมายหรือคำอธิบายที่ชัดเจน สำหรับสิ่งที่เขาต้องการประเมินแล้ว ความหมายหรือคำอธิบายที่สร้างขึ้นจะถูกนำมาพัฒนาเป็นคำถามที่ใช้ในแบบวัด

 

คำถามที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้น ๆ บางคำถามอาจถามความถี่ของพฤติกรรมหรืออาการทางกายที่เกิดขึ้น เพื่อดูความเข้มข้นของสิ่งที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยต้องการจะศึกษา บางครั้งคำถามที่สร้างขึ้นอาจจะขอให้ผู้ตอบแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพื่อดูมุมมองของผู้ตอบ เช่น แบบวัดความเครียดจะมีทั้งลักษณะคำถามที่ประเมินอาการทางกายที่อาจจะบ่งบอกถึงความเครียดที่เกิดขึ้น ว่ามีบ่อยมากน้อยแค่ไหน เพื่อดูความเข้มข้นของความเครียดที่ผู้ตอบมี และยังมีคำถามที่ขอให้ผู้ตอบแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อว่า ตนมีความคิดหรือความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเครียดหรือไม่ เพื่อดูว่าผู้ตอบรู้สึกถึงระดับความเครียดของตัวเองหรือไม่

 

เมื่อนักจิตวิทยาหรือนักวิจัยได้คำถามที่จะนำมาใช้ในแบบวัดทางจิตวิทยาแล้ว แบบวัดชุดนั้นจะถูกนำมาทดสอบด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทางสถิติ หรือแม้กระทั่งการพิจารณาอย่างเป็นระบบ ว่าคำถามและคำตอบที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นเหมาะสมกับผู้ตอบหรือไม่ เพื่อพัฒนาให้แบบวัดชุดนั้นมีคุณภาพ สามารถประเมินสิ่งที่ต้องการจะรู้ได้อย่างถูกต้อง ไม่มีความผิดพลาด ขั้นตอนเหล่านี้เป็นขั้นตอนคร่าว ๆ ที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยมักจะต้องทำเพื่อพัฒนาแบบวัดทางจิตวิทยาขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าแบบวัดชุดนั้นมีคุณภาพอย่างแท้จริง

 

 

คุณภาพของแบบวัดทางจิตวิทยา


 

ในการสร้างหรือการพัฒนาแบบวัดทางจิตวิทยาขึ้นมาชุดหนึ่งนั้น การทดสอบคุณภาพของแบบวัดเป็นกระบวนการหนึ่งเพื่อให้แน่ใจได้ว่าคำตอบที่ได้จากแบบวัดนั้นเป็นอย่างที่ผู้ตอบเป็นอยู่หรือคิดอยู่จริง ซึ่งการทดสอบนั้นอาจจะถูกทดสอบด้วยวิธีการทางสถิติ และรวมไปถึงการวิเคราะห์ว่าคำถามและคำตอบที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นเหมาะสมกับผู้ตอบหรือไม่ คุณภาพของแบบวัดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าแบบวัดชุดนั้นมีคุณภาพหรือไม่ ผลที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยได้ หรือแม้แต่คำตอบที่คุณได้จากแบบวัดชุดนั้น จะไม่อาจทำให้เราแน่ใจได้เลยว่า ผลที่ได้นั้นสะท้อนตัวผู้ตอบจริง ๆ ในทางจิตวิทยาหรือการวิจัยนั้น นักจิตวิทยาและนักวิจัยมักจะดูเรื่องใหญ่ ๆ อยู่ 2 เรื่องด้วยกัน เราเรียกกันว่า “ความตรงและความเที่ยง”

 

ความตรง หรือ validity ก็คือ แบบวัดนั้นสามารถวัดในสิ่งที่เราอยากรู้ได้จริง ๆ ถ้าจะให้เปรียบเทียบกันง่าย ๆ ก็อย่างเช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก คือเครื่องมือที่เราแน่ใจได้อย่างแน่นอนว่า มันจะบอกน้ำหนักของสิ่งที่วางอยู่บนเครื่องชั่งนั้นจริง ๆ ไม่รวน หรือว่ากลายไปวัดอย่างอื่นแทน ก็เหมือนกันกับแบบวัดทางจิตวิทยานั่นแหละ เราต้องการที่จะแน่ใจว่า แบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นประเมินในสิ่งที่เราต้องการจะรู้จริง ๆ แบบวัดความเครียดก็สามารถประเมินความเครียดของผู้ตอบได้จริง

 

ความเที่ยง หรือ reliability ความเที่ยงจะบอกเราว่าผลที่ได้ออกมาจากแบบวัดชุดนั้น ถ้าเราตอบแบบวัดชุดนั้นซ้ำอีกครั้งจะได้ผลเท่าเดิมหรือไม่ ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ สมมติว่าถ้าน้ำหนักของเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเราจะขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนักเครื่องนั้นสักกี่ครั้ง ตัวเลขที่แสดงถึงน้ำหนักของเราก็ยังคงเป็นตัวเลขเดิมอยู่ตลอดนั่นเอง ไม่ใช่ว่าชั่งตอนเช้าได้ 60 กก. พอมาตอนบ่ายกลายเป็น 50 กก. แบบนี้แสดงว่าเครื่องชั่งหรือแบบวัดของเรามีปัญหาแน่นอน

 

ในทางการวิจัยและการพัฒนาแบบวัดเรามีวิธีการมากมายที่จะทดสอบเพื่อให้รู้ว่าแบบวัดชุดนั้นมีความตรงจริงหรือไม่ และมีความเที่ยงหรือไม่ แล้วเราที่เป็นผู้ใช้จะรู้ได้อย่างไร?

 

โดยส่วนมากถ้าแบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นผ่านการพัฒนาขึ้นมาด้วยการวิจัย ผู้พัฒนาจะมีการรายงานขั้นตอนในการสร้างแบบวัดพร้อมทั้งคุณภาพของแบบวัดด้วย ซึ่งถ้าแบบวัดชุดนั้นมีการเผยแพร่สู่สาธารณะชนหรือเป็นแบบวัดที่คุณสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย รายงานการสร้างแบบวัดก็ควรจะต้องมีอยู่คู่กับแบบวัดชุดนั้น หรือไม่ผู้พัฒนาก็ควรจะต้องรายงานคุณภาพของแบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นไว้ด้วย

 

 

ประโยชน์ของแบบวัดทางจิตวิทยา


 

นักจิตวิทยาใช้แบบวัดทางจิตวิทยาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำงาน โดยใช้แบบวัดทางจิตวิทยาช่วยในการประเมินสภาวะต่าง ๆ ในผู้รับบริการ ไม่ว่าจะเป็นในเด็กหรือในผู้ใหญ่ และใช้แบบวัดทางจิตวิทยาในการศึกษาความคิดเห็นต่าง ๆ หรือแม้แต่พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

นอกเหนือจากในหมู่นักจิตวิทยา ในบริษัทต่าง ๆ หรือองค์การต่าง ๆ ก็มีการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาอยู่เช่นกัน เป้าหมายของการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาในองค์การนั้นก็มีหลากหลายกันออกไป อาจจะเพื่อการคัดเข้าทำงาน หรือเพื่อนำผลที่ได้จากแบบวัดทางจิตวิทยามาใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลื่อนขั้น หรือย้ายตำแหน่งงาน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ สามารถนำแบบวัดทางจิตวิทยาไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปได้ด้วย เช่น แบบวัดทางจิตวิทยาที่ใช้ในการประเมินความเครียด หรือความสุข แบบวัดเหล่านี้มักจะเป็นแบบวัดที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก ผู้ใช้สามารถตอบและคำนวณคะแนนที่ได้จากแบบวัดชุดนั้น และนำคะแนนที่ได้ไปเทียบกับผลเพื่อแปลความหมายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งผู้ใช้อาจจะใช้คะแนนที่ได้จากแบบวัดเหล่านี้ มาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่ช่วยให้ตระหนักและเข้าใจสภาพทางจิตใจของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมตัว หรือเตรียมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากสภาพทางจิตใจที่เป็นอยู่ได้

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำแบบประเมินความเครียด ที่มีคำถามเกี่ยวกับความคิด หรือมุมมองต่าง ๆ ที่คุณมีต่อตัวของคุณเอง โดยคำถามเหล่านี้เป็นความคิดที่นำไปสู่สภาวะความเครียด และพบว่า คะแนนที่คุณได้นั้นแสดงถึง สภาวะความเครียดในระดับสูง สิ่งนี้สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณตระหนักกับตนเองได้ว่า ถึงแม้ว่าบางครั้งคุณอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าคุณเครียด แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมรอบตัวของคุณนั้น อาจจะกำลังส่งผลกระทบต่อระบบความคิดและความรู้สึกของคุณอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นคุณอาจจะต้องคอยสังเกตตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เพื่อคอยผ่อนคลายตัวเองจากความเครียดลงบ้าง หรือเตรียมเข้าพบนักจิตวิทยาการปรึกษา หากพบว่าความเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตและจิตใจของคุณ เป็นต้น

 

 

แบบวัดทางจิตวิทยาในนิตยสารหรือในเว็บไซต์ต่าง ๆ แตกต่างอย่างไรกับแบบวัดทางจิตวิทยาที่ถูกพัฒนาตามแนวทางการวิจัย?


 

แบบวัดที่เราเห็นกันอยู่โดยทั่วไปตามนิตยสารหรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ นั้น เคยมั้ยที่รู้สึกว่า เวลาอ่านคำถามและคำตอบแล้วเราไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำว่า คำถามนี้เกี่ยวข้องอะไรกับความเครียด หรือการถามแบบนี้จะช่วยบอกอะไรเกี่ยวกับรูปแบบความรักของเราได้ นั่นเป็นเพราะว่าคำถามนั้นอาจยังไม่มีความชัดเจนพอ แต่สำหรับแบบวัดทางจิตวิทยาที่พัฒนาขึ้นมานั้นประโยคที่ใช้เป็นคำถามจะมีความชัดเจน ไม่มีความกำกวม หรือพาให้เคลือบแคลงว่า ข้อคำถามเหล่านี้จะสามารถวัดในสิ่งที่ต้องการจะรู้ได้จริง ๆ หรือไม่

 

นอกจากนี้แบบวัดที่เราเห็นกันอยู่โดยทั่วไปนั้น บางครั้งอาจจะไม่ได้มีการบอกถึงคุณภาพของแบบวัดชุดนั้น นั่นก็คือความตรงและความเที่ยงที่ได้เคยพูดถึงไปแล้ว รวมไปถึงการอธิบายขั้นตอนในการพัฒนาแบบวัดชุดนั้นว่าทำมาอย่างไร ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างใด ซึ่งส่วนนี้อาจจะทำให้เราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า คำตอบหรือผลที่ได้จากการแปลผลแบบวัดนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้ตอบหรือไม่ ซึ่งในขณะที่แบบวัดทางจิตวิทยาที่ผ่านการสร้างหรือการพัฒนาด้วยวิธีดำเนินการวิจัย มักจะต้องมีการรายงานขั้นตอนการสร้างและคุณภาพของแบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นด้วย ดังนั้นผู้ใช้ก็จะสามารถมั่นใจได้ว่าผลหรือคำตอบที่ผู้ตอบได้จากการทำแบบวัดชุดนั้น สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้ตอบได้

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ปรับวิธีคิดการเลี้ยงลูกให้ทันกับโลกยุคดิจิตอล

 

ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ดิฉันมักได้อ่านผ่านตาบทความจำนวนหนึ่งที่พูดถึงอาชีพต่าง ๆ ที่กำลังจะแทนที่แรงงานคนด้วยเครื่องกลอัจฉริยะ ในยุคที่เทคโนโลยีมีความรุดหน้ารวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน ไอเดียธุรกิจ หรือกิจกรรมอะไรก็ตามที่เราคิดได้วันนี้ พรุ่งนี้เราอาจจะพบว่ามีคนที่คิดเหมือนเราและทำผลงานออกมาก่อนเราเสียแล้ว

 

ในยุค internet of things มีผู้ที่ใช้นามว่า Dr.PsY แห่งเว็บ Propertytoday ได้แปลไว้อย่างเหมาะเจาะว่า “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” นั้น เราสามารถสื่อสาร ค้าขาย โพส ไลค์ เมนท์ แชร์ หรือทำธุรกรรมใดๆ ได้รวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส

 

ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่หนึ่งคือการผลิตบุคลากรทางจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ที่ศึกษาพัฒนาการมนุษย์ตั้งแต่แรกปฏิสนธิไปจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เพื่อออกไปปรับใช้ในชีวิตและรับใช้สังคม ดิฉันเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วอาชีพเรา วิชาการในศาสตร์ของเราที่เราถ่ายทอดไปให้นิสิตนั้น จะไปต่อไปในทิศทางใดในยุคนี้ จึงเริ่มสนใจอยากจะค้นและหาคำตอบ

กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ฉันได้ตระหนักถึงประเด็นนี้คือ ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็น นักอนาคตศาสตร์ (Futurist) ในปัจจุบันมีการรวมกลุ่มคนที่ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ ประมวลข้อมูล อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อทำนายความเป็นไปของโลก ไม่ว่าจะในภาพกว้างอย่างสิ่งแวดล้อม การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงภาพที่แคบลงมาในระดับองค์การและชุมชน คนกลุ่มนี้มักได้เชิญไปพูดในเวทีต่าง ๆ ซึ่งถ้าค้นใน TED.com ก็จะพบการพูดที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นเลยทีเดียว

 

นักอนาคตศาสตร์ที่สนใจประเด็นทางการศึกษา จึงเริ่มออกมาพูดถึง การที่เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนมีทักษะแห่งอนาคตใหม่ (21st Century Skills; Rotherham & Willingham, 2010) ที่ต้องสามารถเรียนรู้ด้วยกันนำตนเองได้ อยากรู้เรื่องใดต้องค้นได้ วิเคราะห์ได้ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ต้องมีความสามารถในการทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม และมีใจเปิดกว้าง เปิดรับความต่าง เพราะเราสื่อสารกันทั้งโลก ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนในชาติในภาษาเดียวกับเราเท่านั้น

 

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าจะอยู่รอดในยุคใหม่ได้ ความเก่งที่ทำข้อสอบได้เกรด A อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ การมีทักษะปรับตัว มีความคล่องตัวในการทำงาน ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ รู้เท่าทัน คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น และที่สำคัญคือทำงานเป็น คนที่เก่งแบบท่องจำ เรียนรู้แบบผิวเผิน (surface learning; Hay, 2007) แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญของตนเอง ในอนาคตอาจจะอยู่ยากขึ้น เพราะงานแบบที่ใช้ทักษะเบื้องต้น หรืองานที่ทำตามรูปแบบซ้ำๆ เครื่องจักรอัจฉริยะสามารถทำแทนเราได้ แต่ความเป็นมนุษย์มีการเรียนรู้ เติบโต และมีชีวิตจิตใจ เป็นเรื่องที่เราต้องผลักดันศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้เหนือกว่าสมองกลให้ได้

 

ดิฉันจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองคิดให้ได้แบบ Futurist วิเคราะห์งานอาชีพ ความชอบ ตัวตน และความสามารถของเราที่มีอยู่ ลองคิดวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ (เอาที่ไม่บิดเบือนเข้าข้างตนเองนะคะ) อย่างเป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์ และถามตัวเองว่า เรามีทักษะและมีการปรับตัวเพื่อให้ทันกับยุคใหม่นี้แล้วหรือยัง

 

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่กำลังมีบุตรหลาน ถ้าคุณคิดตามแบบ Futurist คุณจะรู้เลยว่า วิธีการเลี้ยงดูแบบที่เราเคยได้รับมา เติบโตมานั้น อาจจะใช้ไม่ได้แล้วกับการเลี้ยงเด็กยุคนี้ เนื่องจากเด็กยุคใหม่เกิดมาพร้อมกับยุคอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง มีสิ่งยั่วยุที่ควบคุมได้ยากจากออนไลน์ พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูยุคใหม่ ต้องปูพื้นฐานให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขาตั้งแต่แรกเริ่ม (trust) ตามแนวคิดของ Erikson (1950) และต้องสร้างสายใยความผูกพันธ์ (attachment) ที่ทำให้ลูกรู้ว่าเราเป็นที่พึ่งให้เขาได้ ให้เขาได้รู้จัก ได้รับ และได้ให้ความรัก และรักคนอื่นเป็นตั้งแต่ในบ้าน ตามแนวคิดของ Bowlby (1979) เหล่านี้จะเป็นปัจจัยตั้งต้นที่ดีที่จะทำให้บุตรหลานของเราออกไปรับมือกับโลกยุคใหม่ได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีจากที่บ้าน

 

ลองนึกถึงว่าหากลูกของเราโพสข้อความออนไลน์ หรือได้ออกสื่อออนไลน์ แล้วมีผู้คนมากมายที่ไม่ได้รู้จักกันมาพิมพ์ในเชิงต่อว่า ใช้คำพูดรุนแรงให้เสียหาย เด็กที่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีจากที่บ้านจะรับรู้ว่าตนมีครอบครัวที่รัก เข้าใจ และพร้อมจะเป็นที่พักใจ เป็นที่ปรึกษาได้ ผิดกับเด็กที่เติบโตมาโดยได้รับความรักไม่สม่ำเสมอ จึงไม่แน่ใจนักถึงความอบอุ่นจากคนในครอบครัว เมื่อมีความทุกข์ ก็อาจจะไม่เข้าหาครอบครัว อาจโกหก ปิดบัง และอาจเข้าหาเพื่อนหรือเด็กที่โตกว่ายามมีปัญหา

 

นอกจากนี้ เราจึงควรต้องมาคิดต่อว่าการเรียนหรือรูปแบบการศึกษาแบบที่เราเติบโตมา จะยังใช้ได้กับการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 นี้อยู่หรือไม่ ที่เป็นห่วงอย่างมากคือ การจัดการเรียนการสอนทางวิชาการที่เร็วเกินกว่าพัฒนาการและความพร้อมของเด็กเล็ก (Gallant, 2009) เด็กวัยนี้ควรได้เรียนรู้ผ่านการเล่นมากกว่าการนั่งเรียนนะคะ

 

พ่อแม่ปู่ย่าตายายเติบโตมากับชุดความคิดที่ว่าเรียนดี เรียนเก่ง เรียนจบ ได้งานที่ดีที่มั่นคง จึงเน้นเรื่องการเรียนและผลการเรียน จนอาจลืมพัฒนาองค์ประกอบด้านอื่นของชีวิตที่บุคคลในยุคใหม่จำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง ซึ่งก็คือ การรู้จักตัวเอง การพัฒนาทักษะในกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบหลงใหล เพราะต้องไม่ลืมว่า ต่อไปจะมีอาชีพที่เกิดใหม่ที่คนยุคก่อนไม่คาดคิดมาก่อน เช่น การเป็นนักประกอบโมเดลหุ่นยนต์ที่มีกลุ่มผู้ติดตามออนไลน์ เป็นต้น และอาชีพที่มีอยู่บางอาชีพจะลดความสำคัญลงไป ที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันคือ อาชีพทางด้านสิ่งพิมพ์ที่เห็นได้ว่ามีนิตยสารหลายฉบับปิดตัวไป เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทางสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องรอเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์

 

ดังนั้น แนวทางของคนยุคใหม่คือ การเป็นตัวจริง และรู้จริง ในเรื่องที่ตนสนใจ ถ้าขายสินค้าก็ต้องรู้จักคิดให้สินค้าและบริการมีความน่าสนใจ สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้ จึงต้องเป็นผู้ที่ใฝ่รู้ ค้นหาความรู้อย่างลึกซึ้ง (deep learning) และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีร่วมมือทำงานกับผู้อื่นได้ ไม่ใช่เพื่อเกรด หรือเพื่อใบปริญญา แต่เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตนเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพให้แข่งขันกับคนทั้งโลกได้

 

สิ่งหนึ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างดิฉันพอจะมีส่วนร่วมในยุคของการเปลี่ยนผ่านนี้ คือการปรับวิธีการสอนที่ส่งเสริมให้นิสิตได้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ให้มากขึ้น ให้นิสิตได้ฝึกการค้นคว้าด้วยตนเอง และในฐานะของนักจิตวิทยาพัฒนาการ ดิฉันขอเชิญชวนให้คุณมาลองมองในเลนส์ของนัก Futurist และต้องกล้าที่จะออกจากกรอบ และปรับตัวให้ทัน ในทุก ๆ มุมมองของการใช้ชีวิต

 

บางคนอาจมองว่าสิ่งที่ดิฉันคิดเป็นเพียงนิยายเพ้อฝัน คิดว่ายังอีกนานกว่าโลกจะเปลี่ยนไปถึงจุดนั้น ถ้าเช่นนั้น ดิฉันขอเดินนำทางไปก่อนนะคะ เพราะมีอีกหลายคนที่เดินล่วงหน้าไปก่อนเร็วกว่าดิฉันอีกค่ะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bowlby, J. (2002). The making & breaking of affectional bonds. New York: Brunner-Routledge.

 

Erikson, E. H. (1950). Childhood and Society. New York: Norton.

 

Gallant, P. A. (2009). Kindergarten teachers speak out: “Too much, too soon, too fast!”. Reading Horizons, 49(3), 201-220.

 

Hay, D. B. (2007). Using concept maps to measure deep, surface, and non-learning outcomes. Studies in Higher Education, 32(1), 39-57.

 

Rotherham, A. J., & Willingham, D. T. (2010). “21st century” skills: Not new, but a worthy challenge. American Educator, Spring 2010, 17-20.

 

ภาพประกอบจาก https://anmysite.com/top/looking-through-telescope.html

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ความฉลาดทางอารมณ์ในโลกออนไลน์

 

ชีวิตคนเราเดี๋ยวนี้ต้องอยู่ในโลกไซเบอร์หรืออินเทอร์เน็ตอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ผ่านมา คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ซึ่งมีเกือบ 63 ล้านคน มีผู้ที่ท่องโลกไซเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ตทั้งสิ้นกว่า 16 ล้านคน หรือคิดคร่าว ๆ ก็คือ 1 ใน 4 ของประชากรกลุ่มเป้าหมาย และถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีแหล่งข่าวอ้างว่าจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 18 ล้านคน และกว่าร้อยละ 80 ของคนเหล่านี้มีบัญชีเฟสบุ๊ค อีกทั้งกรุงเทพกลายเป็นเมืองที่มีจำนวนผู้ใช้เฟสบุ๊คมากที่สุดในโลก หรือกว่า 8 ล้านคนทีเดียว แสดงให้เห็นว่าคนไทยให้ความสนใจเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน และใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในระดับสูง และมีทีท่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรถามว่าโลกไซเบอร์ดีหรือไม่ดี อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์หรือมีโทษอีกต่อไปแล้ว เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าเราจัดการหรือใช้งานสิ่งนั้นอย่างไร

 

นักจิตวิทยาได้พยายามติดตามศึกษาพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ และมีประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เราท่องอินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน หรือมีความฉลาดทางอารมณ์ในโลกออนไลน์

 

ประการแรก โปรดระวังการขาดการยับยั้งใจ (disinhibition) การโพสต์ข้อความหรือเขียนความคิดความรู้สึกของเราอย่างเมามันไม่ยั้งมือเมื่อออนไลน์ เป็นปรากฏการณ์ที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ บางคนคงจะเคยรู้สึกเสียใจ รู้สึก “ไม่น่าเลย” ที่ได้เขียนอะไรลงไป หรือกรณีของผู้ที่ต้องติดคุกติดตะราง ถูกให้ออกจากงานหรือต้องเสียเพื่อนฝูงเสียคนรักที่คบกันมานานปีเพราะความลืมตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต ก็มีให้ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ การขาดการยับยั้งใจในโลกไซเบอร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเมื่อเราพบกันตัวจริงเสียงจริงเสียอีก

 

นักจิตวิทยาอธิบายว่า “สภาวะนิรนาม” (anonymity) หรือการไม่ปรากฏเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของเรา มักทำให้เราหลุดพ้นออกจากกฎ-กติกา-มารยาท ตามเกณฑ์มาตรฐานของสังคมโดยไม่รู้ตัว เรารู้สึกมีเสรีภาพ เป็นอิสระกว่าที่ควรจะเป็น ปลอดจากความเป็นตัวตนและพันธะความรับผิดชอบที่ผูกติดอยู่กับตัวตนนั้น (deindividuation) ขาดการระงับยับยั้งชั่งใจ และกระทำสิ่งที่ ถ้าอยู่ด้วยกันตัวต่อตัวโดยปกติวิสัยแล้วจะไม่กล้าทำ ทำนองเดียวกับการกล้าแสดงความก้าวร้าวรุนแรงของ กลุ่มม๊อบ หรือเล่นอะไรแผลง ๆ เมื่อแต่งแฟนซีใส่หน้ากาก หรือแม้กระทั่งการกล้าลุกขึ้นเต้นสุดเหวี่ยงในแสงสลัวของคอนเสิร์ต สภาวะนิรนามตัดเราออกจากบุคลิกภาพปกติ ทำให้เราขาดการเชื่อมโยงกับความเป็นจริง จึงเอื้อให้เกิดการกระทำหรือแสดงออกแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ อย่างไม่รู้ตัวได้โดยง่าย

 

เราควรเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์โดยระมัดระวังถ้อยคำของเรา ตระหนักถึงการขาดการยับยั้งใจบนอินเทอร์เน็ตกันให้มาก ๆ สุภาษิตที่ว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก” อาจจะเปลี่ยนไปให้เข้ากับยุคสมัยนี้ กลายเป็น “ปลาหมอตายเพราะปาก และเราอาจลำบากเพราะปลายนิ้วมือ”

 

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องแปลกที่ว่ามีปรากฏการณ์ในแง่ตรงกันข้ามก็เกิดขึ้นด้วย จากผลของการปราศจากการยับยั้งใจในโลกออนไลน์ พบว่าคนบางคนกลับกลายเป็นนิรนามน้อยกว่าในชีวิตนอกอินเทอร์เน็ต คือเปิดเผยตนเองในเครือข่ายออนไลน์มากเกินไป บางทีถึงขนาดยอมรับในสิ่งที่แม้กับเพื่อนสนิทก็ยังไม่บอกให้รู้ เผลอหลุดปลายนิ้วเผยเรื่องราวส่วนตัวออกไป สุดท้ายก็มักจะเสียใจในภายหลังว่าไม่น่าลืมตัวเลย และนอกจากเสียใจแล้วก็เป็นไปได้ที่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ จะเกิดขึ้นตามมาด้วย สภาวะนิรนามมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมออนไลน์ของเราเป็นอย่างยิ่ง ควรตั้งสติและปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราให้ดี

 

อย่างไรก็ตาม การไม่ต้องปรากฏตัวให้ใครเห็นในโลกไซเบอร์ก็มีข้อดี คือเราไม่ต้องเป็นกังวลว่าเสื้อผ้าหน้าผมของเราดูดีแล้วหรือยัง และก็ไม่ต้องเป็นห่วงสีหน้าท่าทางของเราด้วย เราสามารถมีสมาธิและอยู่กับความคิดความรู้สึกหรือสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไปได้อย่างเต็มที่ ลองนึกถึงการปฏิสัมพันธ์จริง ๆ ในชีวิต ไหนจะตื่นเต้น ประหม่าเขินอาย ไหนจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจโดยรูปลักษณ์การปรากฏกาย แววตาสีหน้าของคู่สนทนา ไหนจะพยายามอ่านสีหน้าท่าทาง ตีความน้ำเสียงของอีกฝ่าย เพราะฉะนั้นในบางสถานการณ์ การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตจึงอาจชัดเจน ตรงประเด็น เฉียบแหลม และมีประสิทธิภาพมากกว่า

 

ยิ่งไปกว่านี้ ในการสนทนาแบบตัวต่อตัวกับผู้อื่น มีเรื่องบางเรื่องที่เรากลัวว่า เราจะสะเทือนใจและแสดงออกทางอารมณ์เกินไปถ้าพูดออกมา จนทำให้เราไม่กล้าพูดถึง แต่ในโลกออนไลน์เราสามารถเรียบเรียงและเล่าเรื่องที่ลำบากใจไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องหวั่นว่าเราจะเสียสมดุลในสายตาผู้อื่น มิหนำซ้ำขณะที่เราพิมพ์ข้อความ เราเองก็มักจะใช้เหตุผลและเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งใจเย็นขึ้นด้วย ส่วนฝ่ายผู้รับหรือผู้อ่านข้อความของเรานั้น การวิจัยพบว่ามักเกิดความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม เป็นกันเองขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ประมาณว่าข้อความที่อ่านไปจะกลายเป็นเสียงดังอยู่ในโสตประสาท และผนวกเข้ากับการสนทนากับตัวเองของคนเรา

 

การสื่อสารออนไลน์สร้างความใกล้ชิดสนิทสนมแบบจดหมายให้เรา แต่ด้วยข้อความเรื่องราวปกติในชีวิตประจำวันที่ไม่ต้องเป็นทางการหรือมีพิธีรีตองอะไรเลย ประโยชน์ข้อนี้ในระดับกลุ่มพบว่า เครือข่ายออนไลน์สามารถสร้างกลุ่มในการบำบัดทางจิต หรือกลุ่มสนับสนุนทางจิตใจต่าง ๆ ให้สมาชิกกล้าเปิดใจ กล้าแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกที่เก็บกลั้นไว้ในใจ ตลอดจนกล้าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความหวัง ความฝันและความกลัวได้ โดยอาศัยผลทางบวกของการปราศจากการระงับยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์ เพื่อความงอกงามและการปรับตัวต่าง ๆ ตราบใดที่สมาชิกสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวและปกปิดเอกลักษณ์ตัวบุคคลไว้ได้

 

เมื่อสื่อสารออนไลน์เราสามารถแม้กระทั่งออกจากบุคลิกภาพปกติ ไปสู่บุคลิกภาพใหม่ หรือตัวตนใหม่ด้วยก็ยังได้ และหลายคนเป็นเช่นนี้ ซึ่งอาจเป็นกรณีในทิศทางบวก เช่นปกติไม่ค่อยกล้าเสนอแนะ ไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น ก็สามารถมีส่วนร่วม แสดงออกอย่างฉะฉานน่าประทับใจในโลกออนไลน์ได้ และเมื่อมีโอกาสฝึกฝนทักษะในสถานการณ์ที่วิตกกังวลน้อยคุกคามน้อยบนโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็มักแผ่ขยายไปยังพฤติกรรมเมื่อปฏิสัมพันธ์ซึ่ง ๆ หน้ากับผู้อื่น จนเกิดการพัฒนาก้าวหน้าดีขึ้นตามไปได้ด้วย

 

แต่อิทธิพลจากการขาดการระงับยับยั้งใจและสภาวะนิรนาม ประกอบกับการปราศจากเอกลักษณ์ตัวบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ตที่เอื้อให้ผู้คนนำเสนอตัวตนได้ต่าง ๆ นานา อาจเป็นไปในทิศทางลบที่มุ่งร้าย เป็นภัยอันตรายหรือสร้างความทุกข์ใจแก่ผู้อื่นได้เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นขอให้ระลึกไว้เสมอว่าตัวตนของชาวไซเบอร์ที่เรารู้จักอาจไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขาก็ได้ เราต้องช่วยกันเตือนลูกหลานญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงให้ระมัดระวัง อย่าไปหลงเชื่อคนไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต และทำนองเดียวกัน เราเองก็ต้องระงับยับยั้งใจอย่าเคลิบเคลิ้มไปกับสภาวะนิรนามและสำแดงตัวตนที่แตกต่างไปจากความเป็นจริงอย่างสนุกสนาน จนอาจทำร้ายจิตใจผู้อื่น หรือเข้าข่ายหลอกลวงสังคม และถือเป็นความผิดทางกฎหมายได้

 

ข้อคิดประการต่อไป การมีความฉลาดทางอารมณ์ในโลกไซเบอร์ ยังหมายถึงการเข้าใจในความไม่ปะติดปะต่อของการสื่อสารออนไลน์บางครั้งเราต้องรอเป็นเวลานานกว่าสิ่งที่เรากล่าวไปจะได้รับการตอบสนอง หรืออาจจะไม่ได้รับเลยก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหลาย ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะปล่อยวาง และอยู่ในสังคมอินเทอร์เน็ตด้วยจิตว่าง ไม่หวั่นไหวกระทบกระเทือน และไม่ถือเป็นเรื่องที่ต้องเก็บมากังวล โดยลดละการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งไปซะ

 

สำหรับพวกเราบางคนที่มีลักษณะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธเป็นพื้นนิสัยอยู่แล้ว คือเป็นห่วงเป็นกังวลมากเกินไปว่าผู้อื่นจะปฏิเสธ จะไม่ยอมรับ จะไม่ตอบสนอง เช่นนี้ก็ต้องฝึกฝนใจให้ดี เรียกว่าต้องเสริมภูมิต้านทานให้ใจคอหนักแน่น อย่าไประบุว่าปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์นั้นเกี่ยวข้องกับตนเป็นการส่วนตัว อย่ามัวแต่ตีความว่าการตอบสนองหรือไม่ตอบสนองของสมาชิกอื่น ๆ มีสาเหตุมาจากตัวเราเอง แต่ควรทำใจให้สบาย ๆ คิดซะว่าการสื่อสารบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน เดี๋ยวคนนี้มาคนนั้นไป เดี๋ยว like เดี๋ยวไม่ like เป็นเรื่องธรรมดา เราต้องรู้เท่าทัน และพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่ออยู่กับเทคโนโลยีนี้และตักตวงประโยชน์สุขจากความก้าวหน้าของมนุษยชาติให้ได้เท่าที่ทรัพยากรและสติปัญญาความสามารถส่วนบุคคลจะอำนวย และมีความสุขสนุกสนานเพลิดเพลินในโลกออนไลน์ด้วยความฉลาดทางอารมณ์

ความจริงหลักการสำคัญในการดำรงชีวิตบนโลกออนไลน์ ก็คือหลักการเดียวกันกับการใช้ชีวิตโดยทั่วไป นั่นก็คือทางสายกลาง ไม่น้อยไป ไม่มากไป ไม่แรงไป ไม่จืดไป ไม่บ่อยไป ไม่ถี่ไป

 

ยกตัวอย่างเช่น การที่ใครสักคนหนึ่งขยันโพสข้อความหรือสิ่งที่น่าสนใจขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เราก็จะได้พบได้เห็นเขาคนนั้นและเรื่องราวของเขาบ่อย ๆ จริงอยู่ที่เรามักชอบสิ่งที่เราคุ้นเคย หรือเห็นบ่อย ๆ ยิ่งคุ้นเคยก็ยิ่งชอบมากขึ้น นักจิตวิทยายืนยัน แต่เมื่อบ่อยเกินไป หรือเนื้อหาทำนองเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ถึงจุด ๆ หนึ่งเราก็มักจะเริ่มเบื่อ เริ่มเอือมระอา ที่เคยชื่นชม ที่เคยประทับใจ ที่เคยเห็นคุณค่า ก็อาจจะกลายเป็นเฉย ๆ หรือเซ็ง ๆ หรือแม้กระทั่งรู้สึกรำคาญขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นความน่าดึงดูดใจสร้างได้ด้วยทางสายกลาง อย่าใช้เวลาป้อนทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้สึกหรือประสบพบเจอขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ต และอย่าคอยเฝ้าตอบสนองทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้อื่นส่งมา ซึ่งก็แน่นอนว่า ถ้าหากเรามัวแต่คอยจะใช้ชีวิตออนไลน์ แล้วเราจะมีเวลาไปหาประสบการณ์ดี ๆ ในชีวิตจริงมาเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวเราได้อย่างไร ผู้มีอีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ในโลกไซเบอร์ จะตระหนักดีในประเด็นเหล่านี้

 

ผลเสียที่ชัดเจนของการอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากเกินไปก็พอจะเป็นที่ทราบกันดี ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียเวลาสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ กับคนใกล้ชิด การขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา และการอดนอนที่ส่งผลกระทบไปยังด้านอื่น ๆ ของชีวิตอีกมากมาย เช่น สุขภาพ การทำงาน และความปลอดภัยเมื่อใช้ยวดยานพาหนะ ส่วนผลอื่น ๆ ที่ไม่ชัดเจนที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต ก็เริ่มปรากฏออกมาให้ทราบจากผลการศึกษาวิจัยทางจิตวิทยา เช่น เรื่องความหึงหวง

 

นักจิตวิทยาพบว่าผู้ที่ใช้เวลาบนเฟซบุ๊กมาก จะหึงหวงคู่รักของตนมากขึ้นด้วย สาเหตุอาจเป็นเพราะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคู่รักมากขึ้น รู้ว่ารู้จักใครและไปไหนทำอะไรมามากขึ้น ซึ่งในยุคก่อนเครือข่ายสังคมข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ได้รับการเปิดเผย

 

พูดถึงการเปิดเผยตนเอง คงไม่แปลกใจว่าผู้ที่ไม่ค่อยจะปฏิบัติตามทางสายกลางในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้แก่ คนโสด คนโสดจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่ละเอียดลึกซึ้งมากกว่าผู้ที่มีคู่รักแล้ว หรือผู้ที่ไม่ระบุสถานะความสัมพันธ์ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่ว่า คู่นัดพบทางออนไลน์เปิดเผยตนเองให้กันและกันรวดเร็วกว่าคู่นัดพบที่พบกันจริง ๆ ดูเหมือนว่าการขาดการระงับยับยั้งใจเมื่อออนไลน์จะสามารถทั้งเร่งและเพิ่มการเปิดเผยตนเองของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนโสดและคนที่อายุไม่มาก การเปิดเผยตนเองมากเกินไป และ/หรือเร็วเกินไปอาจทำให้เราลำบากและเสียใจในภายหลังได้

 

อินเทอร์เน็ตกับการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกต่อไป การจะมีชีวิตที่ราบรื่นจำเป็นต้องอาศัยความฉลาดทางอารมณ์ รู้เท่าทันธรรมชาติของพฤติกรรมการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต มีสติ ไม่เผลอทำสิ่งที่จะทำให้ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง และพิจารณายึดถือทางสายกลางเป็นแนวปฏิบัติบนโลกไซเบอร์ เช่นเดียวกับในโลกแห่งการพบหน้าสบตาพูดจากัน

 

บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะต้านทานสิ่งล่อใจจากโลกออนไลน์ พฤติกรรมส่วนหนึ่งของเรามักตกอยู่ภายใต้กลไกที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “การเสริมแรงแบบกำหนดเวลาไม่แน่นอน” และ “การเสริมแรงแบบกำหนดอัตราไม่แน่นอน” ซึ่งล้วนเป็นกลไกที่มีอานุภาพมาก

 

ตัวอย่างเช่นการเช็คอีเมล์ ส่วนใหญ่เราก็มักจะได้รับอีเมล์ธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรสนุกสนาน ไม่มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ แต่แล้วจู่ ๆ เราได้รับเมล์ที่ถูกใจ มีอะไรดี ๆ เข้ามาให้เราอ่าน เราชอบมาก พฤติกรรมการเช็คอีเมล์ของเราก็จะได้รับการเสริมแรงจากอีเมล์เด็ด ๆ ที่เข้ามานี้ คือเราก็จะคอยเช็คเมล์อยู่เรื่อย ๆ และไม่เลิกง่าย ๆ แม้นาน ๆ ทีเมล์ที่ถูกใจถึงจะโผล่เข้ามา ภายใต้กลไกการเสริมแรงแบบกำหนดเวลาไม่แน่นอนนี้ นิสัยการเช็คอีเมล์จึงเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และคนส่วนใหญ่ก็ประเมินความถี่ที่ตนเข้าอีเมล์น้อยกว่าความเป็นจริงด้วย

 

หรือถ้าจะวิเคราะห์การเข้าเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหลาย บางครั้งเราโพสรูปหรือข้อความขึ้นไปโดยไม่ค่อยได้รับการตอบสนอง แต่ทว่าบางทีเราก็บังเอิญได้รับการกด like อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ได้รับ comment ชื่นใจ ๆ เข้ามาอย่างคาดไม่ถึง เช่นนี้หมายความว่าพฤติกรรมการโพสของเราได้รับการเสริมแรงแบบกำหนดอัตราไม่แน่นอน ซึ่งจะทำให้เราคงกระทำพฤติกรรมต่อไปในความถี่สูง และไม่เลิกราง่าย ๆ ทำนองเดียวกับนักพนันที่โยกคาน slot machine ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่นาน ๆ ทีจึงจะมีเหรียญหล่นออกมา

 

กลไกการเรียนรู้ส่วนหนึ่งของคนเราเป็นอย่างนี้ แต่เราไม่จำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขในสภาพแวดล้อมที่ล่อใจเราเพียงฝ่ายเดียว เราสามารถตั้งใจกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และกำกับการกระทำความคิดความรู้สึกของเราได้

 

ตัวอย่างเช่นผลการวิจัยพบความแตกต่างระหว่างผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ไร้บทบาท คือใช้เวลาเข้าไปเลื่อนดูรูปและอ่าน updates ของผู้อื่นเฉย ๆ กับผู้ใช้เฟสบุ๊คที่มีบทบาท คือลง status ขึ้นรูป หรือความคิดเห็นต่าง ๆ ไม่น่าแปลกใจใช่ไหมที่การมีบทบาทเป็นหนทางไปสู่การเพิ่มความผูกพันเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เรียกว่าได้ประโยชน์จากเวลาที่ใช้ไป นอกจากนี้ยังพบว่าการ updates เรื่องราวของเราบนเครือข่าย หรือ share ในกลุ่มสังคมออนไลน์ทำให้เราเหงาน้อยลงด้วย เพราะเกิดความรู้สึกเชื่อมต่อชนิดรายวันกับเพื่อนฝูง และที่น่าแปลกใจก็คือผลที่เกิด คือความเหงาลดลงนี้ไม่ขึ้นอยู่กับว่าเพื่อนฝูงตอบหรือไม่ตอบ หรือตอบอย่างไร เพียงแค่การเข้าหา เชื่อมต่อกับพวกพ้องก็มีผลลดความเหงาได้แล้ว

 

แม้โลกไซเบอร์จะมีคุณค่าและให้ความสะดวกสบายมหาศาลแก่เรา แต่ก็ไม่อาจแทนที่การพบหน้าสบตาพูดจากันได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องการสื่ออารมณ์ โน้มน้าวใจ หรือต้องการจับอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของอีกฝ่าย นอกจากนี้การสื่อสารออนไลน์ให้ความรู้สึกมีอิสระเสรี ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดีอาจเป็นที่มาของความขัดแย้งความทุกข์ใจในรูปแบบต่าง ๆ ที่นักจิตวิทยากำลังพยายามศึกษาทำความเข้าใจกันอยู่ การดำเนินชีวิตให้ราบรื่นในโลกปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจนี้ เพราะความฉลาดทางอารมณ์เมื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่สร้างและฝึกฝนกันได้

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การฆ่าตัวตาย

 

เราอาจมีข้อสงสัยเกิดขึ้นในใจเสมอเวลาที่เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ว่า “มีคนฆ่าตัวตาย” ซึ่งก็มีทั้งเพศชาย เพศหญิง มีทั้งเด็กวัยรุ่นและคนชรา ทำไมพวกเขาถึงต้องฆ่าตัวตาย มันเกิดอะไรขึ้นถึงต้องตัดสินใจเช่นนี้

 

ความจริงแล้วในชีวิตประจำวันของเราทุกคนก็จะต้องเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ กันไป บางเรื่องดี บางเรื่องร้าย เรื่องที่ดีก็นำมาซึ่งความสุขใจ เรื่องร้ายก็นำมาซึ่งความทุกข์ใจ เมื่อเราต้องเจอกับเรื่องที่ทุกข์ใจบ่อยครั้ง เราก็ต้องจะหาวิธีจัดการกับความทุกข์นั้น ซึ่งก็มีทั้งวิธีที่การจัดการกับเหตุแห่งทุกข์ วิธีการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือวิธีการเลี่ยงจากความทุกข์ อยู่ที่ว่าคนแต่ละคนจะเลือกใช้วิธีไหน ซึ่ง “การฆ่าตัวตาย” ก็เป็นวิธีหนึ่งที่คนเราเลือกขึ้นมาใช้ในเลี่ยงจากความทุกข์นั้น หรือเลี่ยงจากความเป็นจริงที่ตนเองต้องเผชิญอยู่ แต่แน่นอนว่า ในชีวิตเราย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้นมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อกหักรักคุด แฟนทิ้ง ตกงาน ไปจนถึงการสูญเสียคนที่มีความสำคัญในชีวิต เช่น บิดามารดา ซึ่งความทุกข์แต่ละอย่างที่เราต้องเผชิญนั้นย่อมมีน้ำหนักแตกต่างกันที่จะส่งให้คนเราตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย

 

มีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า คนที่ต้องเผชิญความทุกข์จากการสูญเสียคนที่ตนเองรักและผูกพันด้วย เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนคิดจะฆ่าตัวตาย ซึ่งคำว่าสูญเสียนี้ หมายถึงการไม่มีคนคนนั้นอยู่ด้วยอีกแล้ว ซึ่งเป็นได้ทั้งการตายจากกัน หรือการเลิกร้างจากกัน

 

อยากให้เรามองการสูญเสียคนที่ตนเองรักและผูกพันในมุมที่กว้างว่า คนแต่ละช่วงวัยก็จะมีคนที่คนรักและผูกพันด้วยต่างกันไป เช่น เมื่อเราเป็นวัยรุ่น เพื่อนอาจจะเป็นคนที่เรารู้สึกรักและผูกพันที่สุด การที่เราต้องสูญเสียเพื่อนอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในขณะเมื่อเราอยู่ในวัยกลางคน ลูกจะเป็นคนที่เรารู้สึกรักและผูกพันที่สุด การที่เราต้องสูญเสียลูกก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นเมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เวลาที่ทราบว่าคนใกล้ชิดรอบตัวเราต้องเจอกับความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียดังกล่าว เราควรจะดูแลเอาใจใส่เขาด้วยความใกล้ชิดเป็นพิเศษ รวมทั้งยังต้องมีความเข้าใจตัวเขาด้วย พยายามเลี่ยงความคิดที่ว่า เรื่องแค่นี้จะอะไรกันนักหนา ไร้สาระ เพราะอย่างที่กล่าวมาตอนต้นแล้วว่า คนแต่ละช่วงวัยก็จะมีความแตกต่างกันไป อย่างน้อยถ้าเราดูแลใกล้ชิดเมื่อเขามีความทุกข์ดังกล่าวก็จะเป็นการพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องราวที่น่าเสียใจขึ้นได้

 

 

ทำไมจึงมีข่าวการฆ่าตัวตายของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง?


 

ข้อมูลจากงานวิจัยที่พบว่า การที่ผู้ชายฆ่าตัวตายมากว่าผู้หญิง มีปัจจัยสองประการ คือ

 

  1. การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้หญิงจะมีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในลักษณะของการพูดคุยแบ่งปันความรู้สึกต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน ผู้หญิงจะพร้อมที่จะพูดคุยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของเธอกับเพื่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ดีหรือร้ายก็ตาม ในขณะที่ผู้ชายมักจะไม่ค่อยชอบพูดคุยถึงเรื่องราวที่เป็นความรู้สึกลึก ๆ ของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ดีหรือร้าย และมักจะเก็บความรู้สึกต่าง ๆ ไว้กับตนเอง ซึ่งความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นว่า การสนทนาที่ผู้หญิงมีต่อกันและกันนั้น เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยระบายและลดความโน้มเอียงที่เธอจะฆ่าตัวตายได้ พอทราบเช่นนี้แล้วเราอาจจะเห็นถึงประโยชน์ของการที่ผู้หญิงพูดได้ทั้งวัน
  2. วิธีการในการเผชิญปัญหา แน่นอนที่สุดว่า คนเราเมื่อมีปัญหาที่ต้องเผชิญมาก ๆ และไม่สามารถจัดการกับปัญหานั้นได้สำเร็จ ก็อาจจะนำไปสู่การมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจในการเผชิญปัญหาของผู้หญิงก็คือ เมื่อผู้หญิงมีปัญหาต่าง ๆ ผู้หญิงจะมีความพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา โดยเลือกใช้วิธีการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าผู้ชาย ตัวอย่างเช่น หากผู้หญิงมีความเครียดในการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานใหม่ ผู้หญิงก็พร้อมที่จะไปแสวงหาความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาทางจิตใจของบุคคล ดังนั้นปัญหาความเครียดของเธอก็จะลดลงจนหายไปในที่สุด ซึ่งเท่ากับเป็นการลดปัจจัยสาเหตุที่จะนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายได้

 

จากปัจจัยทั้งสองประการที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ต้องการที่จะบอกเพียงว่าผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย หรือ ผู้ชายดีกว่าผู้หญิงแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการอยากให้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ว่า เวลาที่เรามีความรู้สึก มีอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบ เราควรหาโอกาสที่จะแบ่งปันความรู้สึกนั้นกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรักหรือคนในครอบครัวก็ได้ และหากคุณรู้สึกว่าตนเองมีปัญหาที่ไม่สบายใจมาก ๆ ก็ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ อาจจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยคุณได้

 

 

การสังเกตบุคคลรอบข้าง


 

ก่อนที่จะกล่าวถึงสัญญาณต่าง ๆ นั้น อยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า สัญญาณที่จะกล่าวถึงแต่ละสัญญาณ ไม่ได้หมายความว่า การที่เพื่อนของคุณหรือญาติของคุณมีสัญญาณใดสัญญาณหนึ่งแล้วจะแปลว่าเขาพยายามที่จะฆ่าตัวตาย หรือ ต้องมีกี่สัญญาณประกอบกันจึงจะแสดงว่าเขามีความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย เพราะความจริงแล้วสัญญาณต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงก็เป็นเพียงสิ่งที่บอกความเป็นไปได้เท่านั้น ส่วนความเป็นไปได้จะเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร คงต้องอาศัยความใกล้ชิดของคุณที่มีต่อบุคคลนั้น มาช่วยตัดสินประกอบ จึงจะเป็นสิ่งที่บอกได้อย่างแน่นอนกว่า

ลักษณะของบุคคลที่มีความเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะพยายามฆ่าตัวตายนั้นมีหลายประการด้วยกัน ดังนี้

 

  1. บุคคลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนและพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างผิดปกติหรือไม่ เช่น ไม่นอนตามเวลาปกติที่เคยนอน หรือ นอนน้อยกว่าปกติที่เคยนอน จากนอนวันละ 8 ชั่วโมง มาเป็นนอนวันละ 2 ชั่วโมง เป็นต้น หรือในส่วนพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น ไม่ยอมทานอาหารเลย บอกปฏิเสธทุกครั้งที่มีคนชวนทานอาหาร
  2. บุคคลนั้นพยายามที่จะแยกตัวออกห่างจากเพื่อนสนิท แยกตัวออกห่างจากครอบครัว จากผู้ใกล้ชิด โดยจะพยายามเลี่ยงการทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันร่วมกันกับผู้อื่น เช่น บุคคลที่พยายามจะเก็บตัวอยู่ตามลำพังในห้องส่วนตัวโดยไม่ยอมติดต่อกับผู้อื่นเลย
  3. บุคคลนั้นที่มีพฤติกรรมที่รุนแรง หรือ มีพฤติกรรมที่ขัดขืน เช่น บุคคลแสดงอารมณ์โกรธอย่างรุนแรงด้วยการทำลายข้าวของหรือทำร้ายตนเอง หรือบุคคลที่แสดงพฤติกรรมขวางโลก
  4. บุคคลที่ต้องพึ่งพาสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นสารเสพติดชนิดใดก็ตาม เช่น บุคคลที่ติดยาบ้า ยานอนหลับ เป็นต้น
  5. บุคคลที่ปล่อยปละละเลยไม่ให้ความสนใจกับลักษณะภายนอกของตนเอง เช่น บุคคลที่ปล่อยให้ผมยาวรุงรัง สวมใส่เสื้อผ้าที่สกปรก ไม่ทำความสะอาดร่างกายตนเอง
  6. บุคคลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของตนเอง ชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น จากเคยเป็นบุคคลที่ชอบเข้าสังคม สังสรรค์ พบปะกับเพื่อน ก็กลายเป็นคนเก็บตัวเงียบอยู่กับบ้าน ไม่ยอมพบปะพูดคุยกับใครเลย หรือ จากคนที่ร่าเริงแจ่มใส กล้าแสดงความคิดเห็น เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ กลายเป็นคนที่เศร้าซึม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความเป็นตัวเองออกมา
  7. บุคคลนั้นจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งทำอยู่เป็นประจำ ลองใช้วิธีง่าย ๆ สังเกตดู คือ ดูจากคุณภาพงานที่เขาทำว่าคุณภาพของงานนั้นลดลงหรือไม่ เนื่องจากบุคคลที่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะทำสิ่งใด จะไม่สามารถบังคับให้ใจจดจ่อต่องานชิ้นหนึ่งชิ้นใดได้ งานนั้นก็จะมีคุณภาพไม่ดี หากงานใดก็ตามที่บุคคลนั้นทำมีผลออกมาไม่ดีเสมอ ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่ทำอยู่
  8. บุคคลนั้นมักจะบ่นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยทางกายของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งอาการเจ็บป่วยทางกายที่มักบ่นถึง จะเป็นอาการเจ็บป่วยทางกายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับทางอารมณ์ เช่น บุคคลที่มักบ่นว่าตนรู้สึกปวดท้อง หรือ ปวดหัว อยู่เป็นประจำ
  9. บุคคลที่ไม่ให้ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้ความพึงพอใจ เช่น การดูโทรทัศน์ การชมภาพยนตร์ อ่านออกกำลังกาย หรือแม้แต่การนั่งสมาธิ ซึ่งกิจกรรมที่ให้ความพึงพอใจของแต่ละบุคคลก็จะมีความแตกต่างกันไป หากคุณเป็นคนที่ใกล้ชิดก็ลองสังเกตดูว่า คนรอบข้างคุณมีกิจกรรมอะไรที่เขาพึงพอใจ เมื่อเขามีการเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะได้สามารถสังเกตเห็นได้ทันท่วงที

 

นอกจากนี้แล้วยังมีคำพูดต่าง ๆ ที่จะช่วยบอกคุณได้ คือ ใช้คำพูดที่บ่นว่าตนเอง ว่าตนเองเป็นคนไม่ดี ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย หรือ มักจะพูดถ้อยคำที่มีนัยแฝง เช่น

 

“ฉันคงไม่เป็นปัญหากับคุณอีกนานเท่าไรแล้วละ”

 

“มันไม่มีอะไรมากนักหรอก”

 

“ฉันคงไม่ได้เจอคุณอีกแล้วนะ”

 

ทั้งนี้สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด คงไม่สามารถระบุได้ว่า สิ่งใดจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่าบุคคลใดมีความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย เนื่องจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้เราสังเกตคนรอบข้าง ส่วนคนรอบข้างของคุณจะมีแนวโน้มมากหรือน้อยเพียงใดคงต้องอาศัยความใกล้ชิดกับคน ๆ นั้นประกอบด้วย

 

 

คนในช่วงอายุใดมีโอกาสที่จะตัดสินใจฆ่าตัวตายมากที่สุด?


 

ชีวิตของคนเราสามารถแบ่งช่วงวัยเป็นช่วงต่าง ๆ แบบง่าย ๆ คือ แบ่งวัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยชรา เมื่อเราแบ่งช่วงวัยเป็นแบบนี้แล้วเราจะพบว่า วัยรุ่นและวัยชราเป็นวัยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าวัยอื่น ๆ

 

ด้วยธรรมชาติของวัยรุ่นเป็นวัยที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ของวัยรุ่น โดยอารมณ์ของบุคคลที่อยู่ในวัยรุ่นจะมีความผันผวนได้ง่าย คือ เมื่อวัยรุ่นมีความรู้สึกเป็นสุข ก็จะมีความสุขแบบสุด ๆ ชนิดที่เราจะเห็นเขาตะโกน เย้ว ๆ ตามคอนเสิร์ต แต่เมื่อวัยรุ่นมีความทุกข์ เขาก็จะจมอยู่กับความทุกข์ได้อย่างสุด ๆ เช่นกัน ชนิดที่ไม่กินไม่นอน เหมือนโลกจะดับไปตรงหน้า ดังนั้นเมื่อวัยุร่นต้องเผชิญกับปัญหาที่เขารู้สึกว่าไม่สามารถแก้ไข หรือไม่สามารถจัดการได้ เขาก็รู้สึกทุกข์กับมันมาก จมอยู่กับความทุกข์นั้น เกิดความหดหู่ใจ อันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายได้

 

ส่วนในวัยชรา เมื่อบุคคลอยู่ในวัยชราต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเช่นเดียวกับวัยรุ่น หากเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมถอยลง ทั้งการลดลงของคนใกล้ชิด การลดลงของสมรรถภาพกาย โดยการลดลงของคนใกล้ชิดคือเปลี่ยนแปลงจากการที่คู่ชีวิตหรือเพื่อนสนิทต้องเสียชีวิตไป ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นคนที่มีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของบุคคล ส่วนการลดลงของสมรรถภาพกาย คือ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เสื่อมถอยลง ท่านจะไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เคยทำได้ จากที่เคยเดินอย่างคล่องแคล่วแข็งแรง ก็เดินไม่ได้ มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่าง ๆ และเมื่อประกอบกับอารมณ์ของบุคคลในวัยชราที่ท่านจะต้องการความสนใจจากลูกหลาน อยากให้ลูกหลานเอาใจใส่ห้อมล้อมใกล้ชิด แต่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่ท่านต้องการ ท่านก็อาจจะเกิดความน้อยใจ รู้สึกว่าตนไม่มีความหมาย หรือบางครั้งท่านอาจจะถูกลูกหลานทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ทำให้เกิดความหงอยเหงา ซึ่งแต่ละสาเหตุที่กล่าวมานั้นไม่ว่าจะเป็นปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง หรือ หลายปัจจัยร่วมกัน อาจจะทำให้ท่านตัดสินใจฆ่าตัวตายได้

 

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราก็ควรจะให้ความใส่ใจดูแลบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในวัยรุ่นและวัยชรา อาจต้องดูแลเป็นพิเศษ พยายามดูแลวัยรุ่นด้วยความเข้าใจถึงธรรมชาติของเขา ว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างายและจิตใจ ส่วนวัยชราก็ต้องให้ความใส่ใจดูแลใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ท่านรู้สึกว่าไม่มีใครให้ความสำคัญ

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ความสูงนั้นสำคัญไฉน?

 

หากจะพูดถึงลักษณะทางร่างกายที่พบเห็นแล้วสะดุดตาตั้งแต่แรกพบ หนึ่งในนั้นก็คงรวมถึง “ความสูง” ของคนเราด้วย ซึ่งความสูงนี่เองต่างก็เป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา จนถึงขั้นมีการคิดค้นอุปกรณ์เพิ่มความสูง รวมถึงการฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้คนเราสูงขึ้นอีกด้วย แต่คุณเคยสังเกตหรือถามตัวเองหรือไม่ว่า ทำไมคนเราจึงอยากสูง และความสูงส่งผลดีต่อชีวิตของเราได้อย่างไรบ้าง ?

 

Deaton และ Arora (2009) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสูงของคนเรากับความพึงพอใจในชีวิต ในกลุ่มผู้ใหญ่จำนวนกว่า 4 แสน 5 หมื่นคน ผลพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่สูงรายงานว่าตนเองมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่สูง รวมทั้งพบด้วยว่า ความสูงของร่างกายมีความสัมพันธ์กับรายได้ โดยพบว่าเมื่อความสูงของร่างกายเพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 นิ้ว จะเพิ่มรายได้ประมาณร้อยละ 3.8 สำหรับผู้หญิง และร้อยละ 4.4 สำหรับผู้ชาย

 

 

แล้วความสูงเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในชีวิตด้านใดบ้าง?


 

คุณเคยสังเกตหรือไม่ว่า คู่รักที่เราพบเจอมีความสูงแตกต่างกันอย่างไร ใครสูงกว่าใคร หรือแม้แต่คู่รักของตัวเราเอง มีความสูงมากกว่าหรือน้อยกว่าเรา และแท้จริงแล้ว เราชอบให้คู่รักของเราสูงมากกว่าหรือน้อยกว่าเรา

 

Salska, Frederick, Pawlowski, Reilly, Laird และ Rudd (2008) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสูงและความชื่นชอบในคู่ครอง ในกลุ่มตัวอย่างเพศชายจำนวน 1,000 คน และเพศหญิงจำนวน 1,000 คน โดยใช้การโฆษณาหาคู่เดตทางเว็บไซต์เป็นเครื่องมือในการศึกษา ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ต้องการจะหาคู่เดตของตนผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว จะต้องระบุเพศ ความสูงของตนเอง และความสูงของคู่เดตที่ต้องการ

 

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างปฏิเสธที่จะเลือกคู่เดตในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีส่วนสูงมากกว่าฝ่ายชาย โดยฝ่ายชายจะระบุความสูงของคู่เดตหญิงที่ต้องการให้มีส่วนสูงน้อยกว่าตนเอง ขณะที่ฝ่ายหญิงก็จะระบุความสูงของคู่เดตชายที่ต้องการให้มีส่วนสูงมากกว่าตนเองเช่นกัน สอดคล้องกับผลการศึกษาหนึ่งที่ศึกษาคู่รักชาวอเมริกันจำนวน 720 คู่ และพบว่ามีเพียงคู่รักคู่เดียวเท่านั้นที่ฝ่ายหญิงมีส่วนสูงมากกว่าฝ่ายชาย

 

 

แล้วเหตุใดผู้หญิงจึงเลือกคู่ครองฝ่ายชายที่สูงมากกว่าตน และทำไมฝ่ายชายจึงเลือกคู่ครองฝ่ายหญิงที่สูงน้อยกว่าตน ?


 

Salska และคณะ ยึดแนวคิดจิตวิทยาวิวัฒนาการมาอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ผู้หญิงต้องการให้คู่ครองฝ่ายชายของตนมีความเป็นชายชาตรี นับตั้งแต่หน้าตา รวมถึงความสูงของฝ่ายชายด้วย ทั้งนี้อาจเพราะความสูงของฝ่ายชายแสดงถึงความสามารถในการสืบทอดเผ่าพันธุ์ และถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดีส่งต่อไปยังลูกหลาน

 

ทั้งนี้ งานวิจัยของ Yancey และ Emerson (2014) ยังมองว่า ความสูงของฝ่ายชายนั้นไม่เพียงแค่แสดงถึงลักษณะทางพันธุกรรมเท่านั้น แต่ยังอาจสะท้อนถึงความสามารถในการจัดหาแหล่งทรัพยากรต่างๆ ให้กับฝ่ายหญิง โดยเฉพาะยังแสดงถึงสถานภาพทางสังคม และมีความเกี่ยวข้องกับอำนาจอีกด้วย ขณะที่ฝ่ายชายเองอาจมองว่าความสูงของเพศหญิงไม่ได้มีผลต่อการจัดหาทรัพยากรในการดำรงชีวิตมากเท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อมองในแง่ของบรรทัดฐานทางสังคมด้วยแล้ว ก็เป็นไปได้ว่า เรามักนิยมและยอมรับคู่รักที่ฝ่ายชายมีความสูงมากกว่าฝ่ายหญิงด้วย

 

 

ยิ่งสูง ยิ่งประสบความสำเร็จ?


 

นอกจากความสูงจะมีความเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในชีวิตด้านการเลือกคู่ครองแล้ว ความสูงของคนเรายังมีผลต่อการดำเนินชีวิตในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอาชีพการงานอีกด้วย

 

นักวิจัยจำนวนมากต่างพยายามศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสูงกับความก้าวหน้าในอาชีพ โดย Judge และ Cable (2004) ก็เป็นนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่ศึกษาถึงอิทธิพลของความสูงต่อความสำเร็จในองค์กร โดยอิงแนวคิด ที่ว่า “ตามกฎของธรรมชาติ สิ่งที่มีขนาดใหญ่มักอันตราย” ดังนั้น ความสูงจึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและการได้รับการเคารพนับถือจากผู้อื่น ผู้ที่มีความสูงมากกว่า จึงมักได้เปรียบในอาชีพการงานมากกว่า

 

ผลการวิจัยของเขาพบด้วยว่า ความสูงมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลงาน การเป็นผู้นำ รวมถึงรายได้ กล่าวคือ ผู้ที่มีส่วนสูงมากกว่าคนทั่ว ๆ ไปมักมีผลงานที่ดีมากกว่า มีโอกาสที่จะเป็นผู้นำในองค์กรมากกว่า รวมถึงมีแนวโน้มที่จะมีรายได้มากกว่าผู้ที่มีส่วนสูงต่ำกว่าคนทั่ว ๆ ไป หากมองในมุมกลับกัน ก็เป็นไปได้ว่าคนทั่วไปมักรับรู้และตีความเอาเองว่า ผู้ที่สูงมากกว่าคนอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะมีศักยภาพ และความสามารถเหนือกว่าของบุคคลอื่น ๆ

 

 

จะเห็นได้ว่า ความสูงนั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเราอย่างที่ใครหลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ทั้งการเลือกคู่ครองที่ฝ่ายชายมักชื่นชอบให้คู่ของตนมีความสูงน้อยกว่าตนเอง ขณะที่ฝ่ายหญิงก็ชื่นชอบให้คู่ของตนมีความสูงมากกว่าตนเองเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ที่มีความสูงมากกว่าคนทั่วไป ยังมีโอกาสในการเป็นผู้นำมากกว่าคนอื่นๆ สังเกตได้จาก CEO ในองค์กรขนาดใหญ่มักเป็นผู้ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการรับรู้ของคนเราว่า รูปร่างสูงใหญ่สะท้อนถึงการมีอำนาจและสถานภาพที่เหนือกว่านั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความสูงไม่มากนักก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะความสูงก็เป็นเพียงลักษณะร่างกายภายนอกเท่านั้น หากเรามีความสามารถในการทำงานอย่างแท้จริง มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ก็คงไม่เป็นการยากจนเกินไปที่ความสำเร็จในหน้าที่การงานจะมาถึงเรา ดูอย่างผู้นำองค์กรต่าง ๆ ในบ้านเรา หลายคนก็ไม่ได้มีรูปร่างสูงใหญ่แต่ประการใดเลย หากแต่ก็มีความสามารถและเป็นที่ยอมรับของสังคมได้เช่นกัน

 

ความสูงอาจเปรียบเสมือนปราการด่านแรกในการสร้างความประทับใจ ดึงดูดใจ และทำให้การดำเนินชีวิตง่ายขึ้น แต่หากเราไม่รู้จักขวยขวายหรือสร้างผลงานที่ดีให้ปรากฏต่อสายตาผู้อื่นแล้วล่ะก็ ต่อให้สูงเสียดฟ้าก็อาจช่วยอะไรไม่ได้

 

 

 

ภาพประกอบจาก https://www.rd.com/health/conditions/height-and-prostate-cancer/

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การเป็นพ่อ

 

จะเป็นพ่อเมื่อไรดีเอ่ย?


 

ประสบการณ์ครั้งแรกของการเป็นพ่อถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของผู้ชายทุกคน เพราะความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นบนบ่าของคุณดูจะหนักหนาอยู่ไม่เบา ถ้าอย่างนั้น เราลองมาดูกันซิว่า คนที่จะเป็นพ่อ เขาต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันอย่างไรบ้าง

 

ก่อนอื่น ก็ต้องมาคิดกันก่อนว่า “จะมีลูกเมื่อไรดี”

 

คนเราเมื่อแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก็อยากจะมีลูกเป็นพยานรักกันทั้งนั้น แต่ขอแนะนำว่า อย่ารีบมีลูกเร็วเกินไป คือ อย่าเพิ่งมีลูกในช่วงปีแรกของการแต่งงาน แต่ถ้ามีความจำเป็นในชีวิต เช่นในรายที่แต่งงานเมื่ออายุมาก หรือเกิดอุบัติเหตุทางความรักที่รอไม่ได้ ก็ไม่ว่ากัน เอาเป็นว่า ถ้าคู่สามีภรรยาสามารถเลือกได้ก็รอไปสักนิดจะดีกว่า

 

ที่พูดถึงปีแรกของการแต่งงาน เอาเป็นเวลาโดยประมาณก็แล้วกัน ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ที่สำคัญคืออย่ารีบมีลูกทันที ค่อย ๆ ก้าวตามขั้นตอนของพัฒนาการจะสบายใจกว่า เหตุผลที่ไม่อยากให้คุณ ๆ ทั้งหลายมีลูกเร็วนัก เป็นเพราะว่า จากประสบการณ์จริงของคู่สมรสและจากงานวิจัยทางจิตวิทยาได้ให้ข้อแนะนำว่า ช่วงเวลาที่แต่งงานใหม่ ๆ เป็นช่วงที่ระดับความรักความหวานชื่นของคู่สามีภรรยาขึ้นสูงที่สุด จากนั้นความรักจะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามพัฒนาการของชีวิตคู่ เราจึงควรนำข้อได้เปรียบตรงนี้มาใช้เพื่อการเตรียมความพร้อมแห่งชีวิต ปีแรกของการแต่งงานควรจะเป็นปีแห่งการเป็นสามีภรรยา ไม่ใช่การเป็นพ่อแม่ ถือเป็นปีแห่งการเรียนรู้สำหรับคนสองคนที่เริ่มใช้ชีวิตร่วมกัน เพื่อปรับตัวปรับใจ เตรียมพื้นฐานความรักและการใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อชีวิตครอบครัวที่เป็นสุขและมั่นคงต่อไปในอนาคต คู่สมรสควรใช้เวลาในช่วงนี้เพื่อสานความรักความผูกพันต่อกันและกันให้เต็มที่ เปิดโอกาสให้ตนเองได้มีความสุขกับช่วงเวลาแห่งความหวานชื่นของการเริ่มใช้ชีวิตร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นความขัดแย้งระหว่างกัน เกิดการปรับสมดุลย์ในชีวิตระหว่างความต้องการของตนกับการโอนอ่อนผ่อนปรนในการปรับตัวเพื่อคนที่รัก เกิดความเอื้ออาทรต่อกัน อดทน ให้อภัย ถนอมน้ำใจกัน ช่วยกันวางรากฐานครอบครัว ทั้งในเรื่องการงาน การเงิน บ้านช่อง และที่สำคัญคือให้แน่ใจว่าเราทั้งสองสามารถปรับตัวปรับใจร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันได้

 

พูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้ชีวิตความเป็นสามีภรรยาในช่วงแรกของการแต่งงานให้เต็มที่และให้มีความสุขที่สุด โดยอาศัยพลังความรักที่มีอยู่เป็นเครื่องช่วย ความรักและความเข้าใจในช่วงต้นของการใช้ชีวิตคู่ เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพัฒนาการของชีวิตครอบครัวที่มั่นคงในวันข้างหน้า ที่อยากจะฝากไว้นิดก็คือ คู่แต่งงานจำนวนมากพบว่าปรับตัวเข้าหากันไม่ได้และต้องลงเอยด้วยการหย่าร้าง สถิติของการหย่าร้างในช่วง 1-2 ปี ของการแต่งงานนั้นสูงไม่เบาทีเดียว ก่อนจะไปสูงอีกครั้งในช่วง 7 ปี ดังนั้น เราจึงควรใช้ชีวิตคู่อย่างไม่ประมาทและอย่าปล่อยให้เวลาทองในช่วงปีแรกของการแต่งงานนี้ผ่านไปอย่างเลื่อนลอยไม่รู้คุณค่า

 

อย่าลืมว่า รู้เขารู้เราให้แน่ใจเสียก่อน วางรากฐานชีวิตคู่ให้มั่นคงอีกสักนิด แล้วค่อยช่วยกันผลิตเจ้าตัวน้อยที่น่ารักจะดีกว่า

 

 

“ผมอยากมีลูก”

 

เมื่อใช้ชีวิตคู่อย่างราบรื่นด้วยความสุขความเข้าใจกันไปได้สักระยะหนึ่ง พัฒนาการของชีวิตคู่จะเริ่มเปลี่ยนความรักความสนใจที่มีต่อกันของคู่สามีภรรยา ไปสู่ความต้องการใหม่ในชีวิต คือ ความอยากมีลูก รายงานจากการวิจัยพบว่า ในปัจจุบัน ผู้หญิงส่วนหนึ่งตัดสินใจที่จะมีลูกช้า ซึ่งก็คือผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง มีงานดี และมีฐานะที่ดี นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ชายที่มีลูกหลังอายุ 30 ปี มักจะมีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูก และมีบทบาทสำคัญในการดูแลลูกเป็นอย่างมาก

 

สังคมมองว่า คนแต่งงานแล้วก็ต้องเปลี่ยนฐานะตนเองไปเป็นพ่อแม่ในวันหนึ่ง สำหรับในรายที่แต่งงานไปสักระยะหนึ่งแล้วยังไม่มีลูก คุณจะพบว่าคุณต้องเผชิญกับความกดดันทางสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ คำทักทายที่คุณได้รับมักจะเป็นในรูปแบบซ้ำๆ เช่น “มีลูกหรือยัง มีลูกกี่คนแล้ว ทำไมไม่มีลูก เป็นต้น” และถ้าคุณเป็นประเภท “อยากมีลูกเหลือเกิน แต่ยังมีไม่ได้เสียที” คุณก็จะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากสังคมรอบข้าง ได้รับคำแนะนำสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ วิธีทางการแพทย์สมัยใหม่ ไปจนถึงไสยศาสตร์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งแผ่นดินที่จะช่วยให้มีลูกได้สมใจ แต่ในทางตรงข้าม ถ้าคุณยืดอกเชิดหน้าตอบอย่างมั่นใจว่า “ตั้งใจจะไม่มีลูก” ขอให้เตรียมใจไว้เลยว่า คุณต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งมาก เพราะแรงกดดันจากสังคมรอบข้างจะสาหัสกว่าในกรณีแรก คุณจะได้รับการตำหนิทั้งต่อหน้าและลับหลังว่า เห็นแก่ตัว อยากใช้ชีวิตคู่หวานชื่นโดยไม่มีลูกมากวน ฯลฯ หรืออาจจะมาในมุมมองแปลก ๆ ตั้งแต่ว่า คุณทั้งคู่ต้องมีปัญหาระหว่างกันแน่นอนจึงยังไม่กล้ามีลูก.. ไปจนถึง..คุณสามีคงจะเป็นเกย์ที่มาหลอกลวงฝ่ายหญิงเพื่อแต่งงานให้สังคมยอมรับ

 

แต่ถ้าคุณประสบความสำเร็จ คุณภรรยาตั้งท้องได้สมใจ ว่าที่คุณพ่อมือใหม่ก็มักจะยืดได้เต็มที่ว่า เรานี่ก็เก่งไม่เบา กลายเป็นว่าเครดิตการตั้งท้องของภรรยาเป็นเพราะความเก่งกาจของฝ่ายชายไปเสียแล้ว

 

ขณะที่ภรรยาท้อง ขอให้คุณสามีทั้งหลายเตรียมตัวเตรียมใจให้ดี หาหนังสือเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของผู้หญิงมาอ่านดูบ้างจะได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของภรรยาทั้งทางด้านร่างการและจิตใจ โดยเฉพาะจิตใจนั้นสำคัญมาก คุณต้องช่วยประคับประคองความรู้สึกของภรรยาให้ดี เป็นกำลังใจและอดทนต่อความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของฝ่ายหญิง ที่สำคัญคือแสดงให้ภรรยาเห็นว่าคุณรักและภูมิใจในตัวเธอแค่ไหน คุณพร้อมจะอยู่เคียงข้างเธอเสมอถึงแม้ว่าเธอจะเปลี่ยนจากสาวสวยหุ่นงาม ไปเป็นผู้หญิงหัวยุ่ง หน้าซีด ปากแห้ง เพราะเอาแต่แพ้ท้อง พอหายแพ้ท้องก็เป็นหมูน้อย หิวทั้งวัน และในที่สุด สาวในฝันของคุณก็กลายเป็นสาวพุงกลม ที่กลมขึ้น กลมขึ้น และกลมขึ้น และยังอารมณ์ปรวนแปรอีกต่างหาก

แกล้งเล่าให้เห็นภาพพจน์เท่านั้นแหละ ที่จริงแล้วผู้หญิงท้องน่ะน่ารักน่าเอ็นดูจะตาย มีอะไรขำ ๆ ให้คุณอมยิ้มได้ทั้งวัน ขอแค่ว่าคุณสามีอย่าอารมณ์แกว่งไกวตามไปด้วย ตั้งหลักให้ดีให้มั่นคงเพื่อภรรยาและ.. “เจ้าตัวน้อยของพ่อ” …ดีกว่า

 

 

การเปลี่ยนแปลงในชีวิต


 

โดยทั่วไปแล้ว การมีลูกโดยเฉพาะลูกคนแรก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชีวิตไม่น้อยทีเดียว คุณพ่อมือใหม่ถ้าไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน อาจจะหัวหมุนหมดเรี่ยวหมดแรงได้ง่าย ๆ

 

สิ่งแรกที่ต้องเจอ คือ ความวุ่นวายเหน็ดเหนื่อยอย่างแสนสาหัส คุณพ่อควรลางานสัก 1 อาทิตย์ เพื่อช่วยดูแลตั้งแต่คุณแม่ไปคลอดที่โรงพยาบาลจนกลับบ้านเลี้ยงลูก และหากยังไม่มีญาติผู้ใหญ่หรือคนช่วยเลี้ยงลูก อาจจะต้องลางานถึง 2 อาทิตย์ ความไม่มีประสบการณ์ บวกกับความห่วงกังวลต่อลูกน้อยจะยิ่งเพิ่มความเหนื่อยล้าให้กับบรรดาคุณพ่อมือใหม่ สิ่งที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือการอดหลับอดนอนในตอนกลางคืน เพื่อเลี้ยงลูกแถมถ้าคุณต้องกลับไปทำงานแล้วละก้อ คุณจะพบว่าคุณนอนไม่เคยพอเลยสักวัน คุณพ่อหลายคนพบว่านอกจากลูกจะร้องไห้งอแงให้ต้องอุ้มปลอบโยนกันแล้ว คุณแม่มือใหม่ก็ร้องไห้เป็นพัก ๆ ให้ต้องปลอบเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหลังการคลอด รวมถึงความเครียด ความวุ่นวายต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาทำให้คุณแม่ทั้งหลายระทดท้อกันไปตามกัน ก็ต้องได้ความเข้มแข็งจากคุณพ่อมาช่วยประคับประคองปลอบโยน ไหนจะภาระการทำงานนอกบ้าน การช่วยดูแลงานในบ้าน การช่วยดูแลลูกน้อย และการเป็นกำลังใจให้ภรรยา สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังกายและพลังใจของคุณพ่อไม่น้อยเลย

 

ข้อที่สอง คือ ความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาที่ต้องกระทบกระเทือนไปบ้าง การมีลูกจะทำให้การใช้เวลาส่วนตัวร่วมกันของสามีภรรยาลดลงอย่างมาก และทำให้การแสดงความรักความใกล้ชิดในรูปแบบของสามีภรรยาลดลง คุณพ่อมือใหม่หลายคนน้อยอกน้อยใจว่าคุณแม่เอาแต่ให้เวลากับลูก หรือในทางกลับกัน คุณพ่อนั่นแหละที่ทุ่มเทให้กับลูกจนลืมภรรยาไปเลย

 

ข้อที่สาม คือ ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล คุณพ่อมือใหม่มักจะหนักใจต่อความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ เนื่องจากยังขาดประสบการณ์และความมั่นใจใจการเลี้ยงดูและการจัดการต่างๆ ในครอบครัวที่มีเจ้าตัวน้อยเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่

 

ข้อสุดท้าย คือ ค่าใช้จ่าย การมีลูกและการเลี้ยงดูลูกจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวอย่างมาก

 

สี่ข้อนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นกับคุณพ่อมือใหม่ทุกคน ถ้าได้รู้ล่วงหน้าก็จะได้เตรียมตัวเตรียมใจพอจะรับมือได้ แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นปัญหาอยู่บ้างในช่วงแรก หลังจากได้ช่วยกันเลี้ยงดูลูกร่วมกันสักระยะหนึ่ง คุณจะพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การมีลูกจะช่วยให้พ่อแม่มีพลังในชีวิตเพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยามีความเข้มแข็ง มีการปรับตัวกับโครงสร้างใหม่ของครอบครัวที่เปลี่ยนไปในลักษณะของการเผชิญความท้าทายใหม่ๆในชีวิตร่วมกัน มีความเคารพต่อกันสูงขึ้น และมีความผูกพันในครอบครัวที่เข้มแข็งมากขึ้น ที่น่ารักกว่านั้นคือ ความน่ารักไร้เดียงสาในการแสดงออกของความรักที่เด็กมีต่อพ่อแม่ จะย้อนกลับมาสะท้อนให้เห็นถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อกันและคุณจะพบว่าคุณทั้งสองมีการแสดงความรักต่อกันอย่างเปิดเผยมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

 

 

คำถามยอดฮิตอันดับหนึ่งของคุณพ่อมือใหม่ คือ “จะเลี้ยงลูกแบบไหนดี”


 

การเลี้ยงดูมีผลมากต่อพัฒนาการของเด็ก รวมถึงบุคลิกภาพ นิสัยใจคอ และการเข้าสังคม นักจิตวิทยาได้แบ่งการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ออกเป็น 4 แบบ โดยพิจารณาจาก 2 มิติ คือ 1) การเรียกร้องที่พ่อแม่มีต่อลูก และ 2) การตอบสนองที่พ่อแม่ให้กับลูก และแบ่งได้ดังนี้ คือ

 

  1. การเลี้ยงดูแบบควบคุม คือการที่พ่อแม่ใช้อำนาจเป็นใหญ่ หรือพูดง่าย ๆ คือเผด็จการ พ่อแม่พวกนี้จะมีการเรียกร้องจากลูกสูง ตั้งกฎเกณฑ์ให้ลูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ใช้อำนาจควบคุมด้วยการบังคับและลงโทษ โดยไม่ใส่ใจที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกหรือรับฟังว่าลูกต้องการอะไร เพราะหน้าที่ของลูกคือเชื่อฟังและปฏิบัติตามเท่านั้น
  2. การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ หรือแบบประชาธิปไตย พ่อแม่ตั้งกฎเกณฑ์ให้ลูกปฏิบัติ แต่ในขณะเดียวกันก็รับฟังและตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม พ่อแม่ประเภทนี้จะใช้เหตุผลและมีความยืดหยุ่นในการวางกรอบหรือแนวทางการดำเนินชีวิตให้กับลูก ส่งเสริมให้ลูกกล้าเปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่ หัดให้ลูกมีความมั่นใจ มีเหตุผล และรู้จักคิดด้วยตนเอง กรอบที่พ่อแม่ตั้งไว้ก็เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหลงทาง หรือก้าวออกนอกลู่นอกทางก่อนที่จะมีความพร้อมตามวัยอันสมควร
  3. การเลี้ยงลูกแบบตามใจ พ่อแม่มักเข้าไปวุ่นวายในชีวิตของลูก แต่ไม่ตั้งกฎเกณฑ์ ไม่มีการวางระเบียบให้กับลูก มีแต่การตอบสนองความต้องการของลูกอย่างตามใจไร้ขอบเขต ในกรณีนี้ ลูกจะเป็นผู้ตั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องจากพ่อแม่
  4. การเลี้ยงลูกแบบทอดทิ้ง ไม่มีทั้งข้อเรียกร้องและการตอบสนองจากพ่อแม่ พ่อแม่ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจในการดูแลลูก ไม่รู้ความเป็นไปในชีวิตลูก การเลี้ยงดูอาจจะเป็นในลักษณะทอดทิ้งไม่เลี้ยงดู หรือให้แต่วัตถุเงินทองมากมายแต่ไม่มีเวลาสนใจในความเป็นไปของลูก เราจะพบว่า ลูกของนักธุรกิจหรือมหาเศรษฐีจำนวนมากก็ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ในลักษณะหลังนี้

 

เราจะเห็นได้ว่า รูปแบบการเลี้ยงดูทั้ง 4 แบบนี้เป็นที่พบเห็นได้ทั่วไป

 

เลี้ยงลูกแบบไหน และจะได้ลูกลักษณะอย่างไร?

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบควบคุม คุณจะได้ลูกที่เติบโตขึ้นอย่างมีความคับข้องใจสูง เพราะต้องถูกบังคับ ถูกนำไปเปรียบเทียบว่าตนแย่กว่าคนอื่นอยู่ตลอด เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความสุข ไม่มั่นใจในตนเอง ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นลำบาก เป็นคนหลีกหนีสังคม มีความกังวลต่อการถูกเปรียบเทียบ กลัวการแข่งขัน และมักจะมีความก้าวร้าวอย่างชัดเจน หรืออาจจะแฝงอยู่ในลักษณะเก็บกด

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่ หรือแบบประชาธิปไตย เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นใจ พึ่งพาตนเองได้ เป็นผู้ที่รู้จักการให้ เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเองในขณะที่เคารพสิทธิของผู้อื่น มีการปรับตัวได้ดีในการดำเนินชีวิต และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบตามใจ คุณก็จะได้ลูกที่เป็นเด็กเอาแต่ใจตนเอง และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในการเข้าสังคมเนื่องจากจะเอาอะไรก็จะให้ได้ดังใจ มีวุฒิภาวะต่ำกว่าวัย มีการพึ่งพาผู้อื่นสูง มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ไม่รู้จักการควบคุมความต้องการของตนเอง และมีปัญหากับเพื่อนและคนรอบข้างเนื่องจากไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ในการดูแลลูก เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างไม่มั่นใจในตนเอง มีความเหงาและว้าเหว่ในใจ และคอยคิดแต่ว่าตนเองไม่มีความสำคัญ เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างคลางแคลง ไม่แน่ใจ ไม่เชื่อในความรักและความอบอุ่นของระบบครอบครัว หรือในทางตรงกันข้ามคือ โหยหาความรักและพยายามหาหลักยึดเหนี่ยวให้กับตนเองจนอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ในชีวิต

 

คุณพ่อคงจะเห็นแล้วว่า “การเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่” เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก หลักการสำคัญ ๆ สำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกแบบนี้ คือ การมีข้อเรียกร้อง มีกฎเกณฑ์สำหรับลูก และมีการควบคุมให้ลูกปฏิบัติตามกรอบที่วางไว้ มีการให้รางวัลและลงโทษอย่างเหมาะสม ให้ความรักความอบอุ่นกับลูก มีการสื่อสารที่ดีระหว่างกันในครอบครัว ส่งเสริมให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาตนเอง และส่งเสริมให้ทั้งพ่อแม่และลูกเคารพในสิทธิของกันและกัน

 

คราวนี้คุณพ่อก็ต้องหารือกับคุณแม่ เพื่อวางแนวทางในการดูแลลูกให้ไปในทิศทางเดียวกัน ความขัดแย้งกันของแนวทางการเลี้ยงลูกจะทำให้เกิดความสับสนกับเด็ก ทั้งยังทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ได้ นอกจากนี้ คุณพ่อยังต้องคอยปรับแนวการเลี้ยงดูให้เหมาะสมตามอายุของลูกด้วย ตั้งหลักให้มั่น ทำใจให้ผ่อนคลาย อย่าเครียด และผนึกกำลังกับคุณแม่ให้ดี ใช้ความรักเป็นหลัก ระเบียบเป็นรอง เลี้ยงลูกอย่างสบาย ๆ และยืดหยุ่น แค่นี้ก็ไปได้สวยแล้ว

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

เลือกของขวัญอย่างไรให้ถูกใจคนรับ

 

คุณเคยประสบปัญหาในการเลือกซื้อของขวัญให้กับคนพิเศษ ในโอกาสต่าง ๆ หรือไม่?

 

โดยเฉพาะหากผู้รับมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคุณ เช่น คู่รัก หลายคนอาจใช้เวลานานนับเดือน กว่าจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกซื้อของขวัญชิ้นใด ปัญหาเหล่านี้อาจทุเลาลงได้ด้วยแนวคิดทางจิตวิทยาในการเลือกซื้อของขวัญเพื่อให้เกิดความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับค่ะ

 

 

ของขวัญนั้น สำคัญไฉน?


 

การให้ของขวัญแก่กันและกันนั้น ถือเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งอาจเป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนกันทางพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ และเป็นลักษณะของการต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เช่น การให้ของบรรณาการในสมัยโบราณ หรือการให้ของขวัญในปัจจุบัน ที่มุ่งแสดงถึงความมั่งคั่ง ความเคารพ หรือความสำคัญระหว่างคนสองกลุ่มที่พยายามสร้างความสัมพันธ์กัน

 

นอกจากนี้ การให้ของขวัญยังถือเป็นการแสดงถึงการรับรู้ของผู้ที่รับของนั้น ๆ ด้วยว่ามีความต้องการและรสนิยมอย่างไร อีกทั้งยังสามารถบ่งบอกถึงระยะความสัมพันธ์ การสัญญาในอนาคต การเป็นตัวแทนของความรัก หรือความห่วงใย

 

อย่างไรก็ตาม ในความสัมพันธ์แบบคู่รัก การให้ของขวัญมีความสำคัญและมีความพิเศษกว่าความสัมพันธ์อื่น ๆ อยู่ค่อนข้างมาก เพราะถือเป็นเครื่องมือในการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ ช่วยให้ผู้ให้มั่นใจในความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นใจได้ หรือทำให้ตนเองเป็นที่ชื่นชอบของคนรับได้ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายเพื่อบอกให้ผู้รับรู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกอย่างไร การให้ของขวัญ การรับของขวัญ และการให้ของขวัญกลับคืนนั้นจึงถือเป็นการทำให้ความสัมพันธ์นั้นแข็งแรงขึ้น ผ่านการสร้างความไว้ใจและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันที่มีในชีวิตประจำวันนั่นเอง

 

 

แล้วของขวัญแบบใดที่จะถูกใจผู้รับมากที่สุด ใช่ของขวัญที่มีราคาแพงหรือเปล่า?


 

เมื่อต้องซื้อของขวัญให้กับคนรู้ใจ หลายคนวิตกกังวลมากกับการเลือกซื้อของที่จะให้ ราคาของขวัญ จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากคนเรามักมีความเชื่อว่า หากให้ของขวัญราคาแพง ผู้รับน่าจะเกิดความซาบซึ้งใจและประทับใจมากที่สุด

 

งานวิจัยของ Schiffman และ Cohn (2008) พบว่า ของขวัญคริสต์มาสระหว่างคู่สามีภรรยานั้น มีความคาดหวังว่าจะต้องแพง และมีลักษณะเฉพาะมากกว่าลักษณะความสัมพันธ์อื่นที่มีการให้ของขวัญกัน นอกจากความคาดหวังของผู้รับแล้ว ผู้ให้เองก็มีความคาดหวังเกี่ยวกับท่าทีของผู้รับเมื่อได้รับของขวัญชิ้นนั้นเช่นกัน กล่าวคือคาดหวังว่าของนั้นจะทำให้ผู้รับซาบซึ้งใจหรือประหลาดใจ ผู้ให้ส่วนใหญ่จึงมักจะรับรู้การให้ของขวัญที่แพงแก่คนรักน่าจะเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกได้ดีที่สุด คำถามที่น่าสนใจคือ ของขวัญที่ดีต้องมีราคาแพงเท่านั้นจริงหรือ ผู้รับจึงจะประทับใจ

 

จากงานวิจัยของ Adams และ Flynn (2009) เปิดเผยผลการวิจัยที่น่าสนใจว่า ผู้รับของขวัญไม่ได้รู้สึกประทับใจมากขึ้น เมื่อได้รับของขวัญที่มีราคาแพง สาเหตุก็เพราะผู้รับไม่ต้องลงทุนลงแรงทางความคิดมากนัก หมายถึงผู้รับจะเผชิญทางเลือกอยู่เพียงแค่ 2 ทาง คือ ได้รับของขวัญหรือไม่ได้รับของขวัญเท่านั้น ตรงกันข้ามกับผู้ให้ที่ต้องเผชิญกับตัวเลือกมากมายว่าตนจะให้อะไรกับอีกฝ่าย จึงต้องลงทุนลงแรงทั้งกำลังกายและกำลังสมองในการคิด นำไปสู่ความคาดหวังต่อท่าทีของผู้รับ ดังนั้น การให้ของขวัญนั้น ไม่ว่าจะของขวัญราคาแพง หรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เราได้ให้ของขวัญแก่คนที่เรารักหรือเปล่า

 

 

ของขวัญให้เพื่อน VS. ให้คนรัก


 

หลายคนมักให้ความสำคัญกับคนรักมากกว่าเพื่อน หลายคนให้ความสำคัญกับเพื่อนมากกว่าคนรัก ขณะที่บางคนให้ความสำคัญกับเพื่อนและคนรักมากเท่า ๆ กัน แล้วคุณล่ะเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่ประสบปัญหาต้องมอบขวัญให้กับทั้งเพื่อนและคนรักในโอกาสพิเศษ เช่น เทศกาลต่าง ๆ แล้วตัดสินใจไม่ได้ว่า จะเลือกของขวัญแบบใดให้ผู้รับซาบซึ้งใจมากที่สุด

 

วิมลรัตน์ ตั้งมั่นวิทยศักดิ์, อติชาต ตันติโสภณวนิช, และ อัญญพร วงศ์วุฒิอนันต์ จัดทำโครงงานวิจัยทางจิตวิทยาระดับปริญญาตรี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความซาบซึ้งใจเมื่อได้รับของขวัญ และความคาดหวังความซาบซึ้งใจเมื่อมอบของขวัญ: เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างรูปแบบความสัมพันธ์แบบเพื่อน กับรูปแบบความสัมพันธ์แบบโรแมนติก

 

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ บุคคลที่มีคนรัก ในวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยมีช่วงอายุระหว่าง 18-25 ปี แบ่งเป็นเพศชาย 100 คน และเพศหญิง 100 คน โดยกลุ่มตัวอย่างจะต้องตอบแบบสอบถามที่ใช้วัดแนวโน้มในการเลือกซื้อของขวัญให้กับเพื่อนและคนรัก โดยให้จินตนาการว่า หากตนเองให้ของขวัญที่มีราคาถูกหรือแพง แก่เพื่อนหรือคนรัก ตนเองจะคาดหวังความซาบซึ้งใจจากผู้รับมากน้อยเพียงใด และหากตนเองได้รับของขวัญที่มีราคาถูกหรือแพง จากเพื่อนหรือคนรัก ตนเองจะมีความซาบซึ้งใจมากน้อยเพียงใด

 

ผลการวิจัยพบว่า ในฐานะผู้ให้ หากบุคคลให้ของขวัญราคาแพงแก่คนรัก แต่ให้ของขวัญราคาถูกแก่เพื่อน บุคคลจะคาดการณ์ว่าเพื่อนจะซาบซึ้งใจน้อยกว่า กับการได้รับของขวัญราคาถูกนั้น ในทางกลับกัน หากบุคคลให้ของขวัญราคาแพงกับเพื่อน แต่ให้ของขวัญราคาถูกกับคนรัก บุคคลกลับประเมินว่า คนรักจะรู้สึกซาบซึ้งใจมากพอ ๆ กับที่เพื่อนน่าจะรู้สึก

 

ส่วนในฐานะผู้รับ เมื่อได้รับของขวัญจากคนรัก ไม่ว่าของขวัญชิ้นนั้นจะมีราคาถูกหรือแพง บุคคลเกิดความซาบซึ้งใจมากกว่าได้รับของขวัญจากเพื่อน ไม่ว่าของขวัญจากเพื่อนจะมีราคาถูกหรือแพงก็ตาม กล่าวคือ หากได้รับของขวัญราคาแพงจากเพื่อน แต่ได้รับของขวัญราคาถูกจากคนรัก บุคคลก็ยังรู้สึกซาบซึ้งใจ และประทับใจกับของขวัญจากคนรัก มากกว่าของขวัญจากเพื่อนอยู่ดี

 

สรุปผลจากการศึกษาอาจกล่าวได้ว่า ในฐานะผู้รับ รูปแบบความสัมพันธ์ส่งผลต่อความซาบซึ้งใจมากกว่าราคาของของขวัญ นั่นคือ ไม่ว่าคนรักจะให้ของอะไรเรามาก็ตาม เราก็จะยังรู้สึกประทับใจ ดีใจ และซาบซึ้งใจ มากกว่าได้รับของขวัญจากเพื่อนนั่นเอง

 

 


 

 

คราวนี้คุณคงพอจะเห็นช่องทางในการให้ของขวัญแก่คนรัก เพื่อให้เกิดความประทับใจแล้วว่า แม้เราซึ่งอยู่ในฐานะผู้ให้ของขวัญจะคาดหวังความรู้สึกซาบซึ้งใจจากผู้รับ เมื่อของขวัญที่ให้มีราคาแพง เพราะคิดว่าของขวัญราคาแพงแสดงถึงความไตร่ตรองในการซื้อ แต่ผู้ที่อยู่ในฐานะผู้รับ ไม่ว่าจะได้รับของขวัญราคาแพงหรือถูกก็จะประเมินระดับความซาบซึ้งใจไม่แตกต่างกัน ในทางกลับกันผู้ที่อยู่ในฐานะผู้รับอาจรู้สึกติดหนี้เมื่อได้รับของขวัญราคาแพงด้วยซ้ำ

 

สิ่งที่สำคัญกว่าจึงอาจไม่ใช่เรื่องของราคาของขวัญ ดังงานวิจัยของ Rodden และ Verhallen (1994) ที่พบว่าผู้รับของขวัญคิดว่า การลงทุนทางกาย, การลงทุนทางใจ, และเวลาที่เสียไปจากการเลือกซื้อของขวัญต่างหาก ที่มีผลต่อความพึงพอใจในของขวัญมากกว่า กล่าวคือการรับรู้ถึงความตั้งใจของผู้ให้ในการเลือกของขวัญที่พิเศษส่งผลต่อความพึงพอใจมากกว่า ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการรับรู้ว่า ผู้ให้นั้นใช้เวลามากในการเลือกด้วย กล่าวได้ว่า การลงทุนทางกำลังทรัพย์เพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้สร้างความรู้สึกประทับใจ มากเท่ากับการลงทุนลงแรงทางจิตใจ และการวางแผนในการเลือกซื้อของขวัญ

 

ดังนั้นแล้ว หากในโอกาสอันใกล้นี้ คุณต้องเลือกซื้อของขวัญให้กับคนพิเศษ ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งถือเอาราคาสินค้าเป็นเกณฑ์ในการเลือกเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้คำนึงถึงการลงทุนลงแรงในการเลือกซื้อ ความพิถีพิถัน และการวางแผนในการเลือกซื้อของขวัญด้วย เพราะของราคาไม่แพง แต่เป็นงานแฮนด์เมด หรือประดิษฐ์ขึ้นเองด้วยความตั้งใจ อาจจะทำให้ผู้รับเกิดความประทับใจมากกว่าของขวัญราคาแพงที่หาซื้อได้ทั่วไปในซูปเปอร์มาร์เก็ตด้วยซ้ำไปค่ะ

 

…..Happy Giving Gifts!…..

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การสารภาพเท็จ: จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

มีข่าวการจับแพะในคดีใหญ่คดีหนึ่งของประเทศไทยที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และค่อนข้างได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก คือ ข่าวการจับแพะในคดีฆาตกรรมนางสาวเชอรี่ แอน ดันแคน ในคดีนี้มีผู้บริสุทธิ์ 4 คนได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องหา และถูกคุมขังเป็นเวลาถึง 6 ปี บางรายถึงขั้นเสียชีวิตในคุก กระทั่งภายหลังมีการรื้อฟื้นคดีและตามจับอาชญากรตัวจริงได้ ผู้ต้องหาที่ยังมีชีวิตอยู่จึงได้รับการปล่อยตัว คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างมาก แต่แม้ว่าในปัจจุบันนี้ การพิสูจน์หลักฐานในกระบวนการสอบสวนของไทยจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่คดีจับแพะก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ได้ เช่น คดีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือคดีที่ นายวินัย นวลจีน ถูกจับกุมตัวในฐานะผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม และตำรวจได้แถลงข่าวผลการสอบสวนว่านายวินัย นวลจีน ได้ให้การสารภาพว่าเขากระทำความผิดแต่เพียงผู้เดียว แต่หลังจากนั้นไม่นานกลับมีการจับอาชญากรตัวจริงได้ กอปรกับผลการพิสูจน์หลักฐานออกมายืนยันว่านายวินัย นวลจีน มิได้เป็นผู้กระทำผิดอย่างที่ถูกตั้งข้อหาไว้ในตอนแรก นายวินัย จึงได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

 

ภายหลังการปล่อยตัว นายวินัยได้ออกมาให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่าสาเหตุที่เขายอมรับสารภาพไปในตอนแรกที่ถูกจับ เป็นเพราะในช่วงระหว่างกระบวนการสอบสวนนั้น เขาถูกกักตัวเป็นเวลานานจนเกิดความเครียดและกดดันมาก ประกอบกับไม่เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อนในชีวิต และตำรวจยังให้เขาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพทั้งที่ตัวเขามิใช่ผู้กระทำผิด เขาจึงเกิดความคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว นอกจากต้องยอมรับสารภาพไป

 

สำหรับสองข่าวที่กล่าวถึง จะเห็นได้ว่าการยอมรับสารภาพทั้งที่ตนเองไม่ได้ผิด หรือที่เราเรียกว่า “การรับสารภาพเท็จ” นั้นเกิดขึ้นได้จริง และสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ “การรับสารภาพเท็จ” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า false confession หมายถึง การยอมรับว่าตนเองได้เป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาชญากรรม ทั้งที่ตัวผู้รับสารภาพไม่ได้กระทำพฤติกรรมเหล่านั้น หรือไม่มีส่วนร่วมเกี่ยวกับการกระทำผิดเลย ซึ่งการรับสารภาพเท็จนี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ถูกสอบสวนถูกกดดันหรือถูกถามคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดของการกระทำผิดว่ากระทำอะไร กระทำที่ไหน และกระทำอย่างไรจนกระทั่งผู้ถูกสอบสวน ยอมรับสารภาพออกมาในที่สุด

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลเกิดการรับสารภาพเท็จนี้มีปัจจัยใดบ้าง?


 

ต้องบอกก่อนว่าพฤติกรรมการยอมรับสารภาพเท็จนั้นเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นในสังคม และการรับสารภาพเท็จจะเกิดเพิ่มขึ้นภายใต้การปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในสังคม ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกบุคคลหรือภายในบุคคลก็ได้ โดยตัวอย่างของประวัติภายนอกก็ได้แก่วิธีการรสอบสวนและวิธีการให้หลักฐานเท็จ

 

สำหรับปัจจัยภายในคือปัจจัยส่วนบุคคล เช่น บุคคลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (low self-esteem) บุคคลที่มีแนวโน้มที่จะเกิดการยอมตาม (compliance) หรือคล้อยตามการชี้นำจากผู้อื่น เช่น ผู้สอบสวน เป็นต้น ซึ่งสองปัจจัยหลังนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นปัจจัยทางบุคลิกภาพที่ส่งผลให้คนเกิดการรับสารภาพเท็จได้ค่อนข้างมาก

 

การเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบยอมตาม หรือคล้อยตามการชี้นำได้ง่ายนั้นก็จะส่งผลให้เกิดการรับสารภาพเท็จในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น บางคนยอมรับสารภาพเพราะรู้สึกว่าถูกกดดันให้ต้องสารภาพก็จะยอมสารภาพ แต่บางคนก็ยอมรับสารภาพโดยมีความเชื่อจากภายในจิตใจว่าตนเองได้กระทำความผิดลงไปจริง ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาไม่ได้กระทำผิด แต่การสารภาพเท็จแบบที่สองนี้ก็จะเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย

 

เมื่อพูดถึงการยอมตามและการคล้อยตามแล้ว หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกันคือการยอมทำตามสิ่งที่ผู้อื่นบอกหรือเชื่อตามสิ่งที่ผู้อื่นบอก แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีความแตกต่างอยู่ โดยการยอมตามหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า compliance นั้น จะหมายถึงการที่บุคคลมีแนวโน้มที่จะยอมรับการชี้นำจากบุคคลอื่นซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการที่บุคคลถูกเรียกร้องให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการที่บุคคลต้องเคารพเชื่อฟังในคำสั่งของบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลอาจยอมตามคำสั่งหรือข้อเรียกร้องของคนอื่นเพื่อต้องการให้ผู้อื่นยอมรับตนเอง หรืออาจจะเพื่อลดความขัดแย้งก็ได้ ส่วนการคล้อยตามนั้นหรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า conformity นั้นหมายถึงการที่บุคคลได้รับอิทธิพลทางจิตใจจากผู้อื่น และอิทธิพลนั้นก่อให้เกิดความคิดหรือความรู้สึกที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้อื่นต้องการให้เกิดขึ้น ทั้งนี้การคล้อยตามนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดการถูกชี้นำจากผู้อื่น ความแตกต่างระหว่าง 2 ลักษณะนี้ ได้แก่ ความรู้สึกส่วนตัวที่ยอมรับสิ่งที่ตนเองถูกชี้นำ โดยการยอมตามนั้นจะเป็นการตอบสนองทางพฤติกรรมภายนอกเป็นหลัก แต่ในความคิดตนเอง บุคคลอาจจะไม่ได้เชื่อว่าสิ่งที่ตนเองยอมตามไปนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ เช่น การยอมทำตามคำสั่งของหัวหน้าเพื่อที่จะไม่โดนหัวหน้าต่อว่า หรือถ้าในบริบทของการสอบสวนก็จะเป็นการที่บุคคลยอมรับสารภาพเท็จเพื่อให้บุคคลไม่ต้องรับแรงกดดันจากการสอบสวนอีกต่อไป แต่สำหรับการคล้อยตามจะเป็นการทำพฤติกรรมตามที่ถูกชี้นำ โดยที่ตนเองก็มีการยอมรับสิ่งที่ถูกชี้นำด้วยว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรจะทำ และบุคคลก็จะเชื่อสิ่งเหล่านั้นไปด้วย เช่น การยอมรับสารภาพเท็จโดยที่บุคคลเองก็เชื่อว่าตนเองน่าจะกระทำผิด ซึ่งกรณีนี้มักจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความกำกวมหรือไม่ชัดเจน

 

สำหรับปัจจัยภายนอกบุคคลหรือปัจจัยด้านสถานการณ์ที่ส่งผลให้เกิดการสารภาพเท็จได้นั้นมีอยู่ 2 สิ่งหลัก ๆ ได้แก่

 

ปัจจัยที่หนึ่ง คือ ปัจจัยด้านการมีหลักฐานทางวัตถุหรือพยานบุคคล ที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลเป็นผู้กระทำผิดจริง เช่น การพบรอยนิ้วมือของผู้ต้องหาอยู่บนอาวุธสังหาร การพบยาเสพติดในกระเป๋าของผู้ต้องหา หรือมีพยานบอกว่าเห็นผู้ต้องหากำลังกระทำผิดอยู่เป็นต้น ซึ่งหากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในความเป็นจริง ผู้ต้องหาจะรู้สึกว่าตนเองถูกมัดตัวโดยไม่มีหนทางใดแล้วที่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาได้ ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ไม่ได้กระทำผิด เพราะบุคคลจะรับรู้ว่าการมีหลักฐานหรือพยานบุคคลถือเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักมากในชั้นศาลว่าตนเองได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา

 

ปัจจัยที่สอง คือ การใช้เทคนิคการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งก็มีมากมายหลายเทคนิค ในที่นี้จะเลือกนำมาพูดถึงเฉพาะเทคนิคที่น่าสนใจ คือ เทคนิคการสอบสวนแบบลดความรุนแรง หมายถึง การสอบสวนที่ผู้สอบสวนอาจกล่าวในเชิงลดโทษให้ผู้ต้องหา หรือลดความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดลง ผู้สอบสวนจะทำเหมือนตนยืนอยู่ข้างเดียวกับผู้ต้องหา เพื่อสร้างความรู้สึกไว้วางใจแก่ผู้ต้องหา หรืออีกเทคนิคหนึ่งคือ เทคนิคการสอบสวนแบบเพิ่มความรุนแรง คือ ผู้สอบสวนต้องการให้ผู้ต้องหารับสารภาพจึงกดดันเพิ่มความรุนแรง เช่น ทำให้เรื่องราวดูใหญ่โต หรือเพิ่มโทษให้ดูรุนแรงกว่าที่ควรเป็น และอาจมีการคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ผู้ต้องหาเกิดความเครียดและวิตกกังวล ซึ่งบางครั้งผู้สอบสวนก็อาจโกหก หรือสร้างเรื่องราวการกระทำความผิดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นการรับสารภาพผิด

 

 

ในบริบทของสังคมไทย ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการยอมรับสารภาพเท็จมากที่สุด?


 

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการสารภาพเท็จมากที่สุดในบริบทของคนไทย คุณภัทรา พิทักษานนท์ นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยในการวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยเชิงทดลองที่ศึกษาอิทธิพลของปัจจัยภายในและภายนอกของบุคคล ที่ส่งผลต่อการรับสารภาพเท็จ ปัจจัยภายใน ได้แก่ ลักษณะทางบุคลิกภาพคือการยอมตาม และการคล้อยตาม และปัจจัยภายนอกของบุคคล ได้แก่ เทคนิคการสอบสวนแบบเพิ่มความรุนแรงและลดความรุนแรง และการได้รับหลักฐานเท็จ ผลการวิจัยพบว่า ในสถานการณ์จำลองที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นนั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นนิสิตนักศึกษายอมรับสารภาพเท็จทั้งหมดถึงร้อยละ 64.8 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเกิดการรับสารภาพเท็จนั้นได้แก่ เทคนิคการสอบสวน การได้รับหลักฐานเท็จ และการมีบุคลิกภาพแบบยอมตาม

 

สำหรับเทคนิคการสอบสวนนั้นพบว่า เทคนิคลดความรุนแรง หรือการทำเรื่องผิดให้เล็กลงนั้น ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการทดลองยอมรับสารภาพเท็จมากกว่าเทคนิคเพิ่มความรุนแรง และเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกแล้ว ผลการวิจัยพบว่า สำหรับการสารภาพเท็จนั้น ปัจจัยภายนอกบุคคลเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อบุคคลมากกว่าปัจจัยภายในบุคคล ทั้งนี้เนื่องจากในสถานการณ์ของการสอบสวนมีการจัดกระทำสภาพแวดล้อมให้มีความกดดันค่อนข้างมาก และการได้รับหลักฐานว่าตนเองทำผิดนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่หนักแน่นมาก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจยอมรับผิดอย่างมาก

 

เนื่องการวิจัยครั้งนี้ เป็นเพียงแค่สถานการณ์จำลองขึ้น ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากสถานการณ์จริงอยู่บ้าง โดยเฉพาะสิ่งที่กระทำผิด ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่าในสถานการณ์จริงอาจจะมีผลแตกต่างกันไปได้ อย่างไรก็ตามก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าการได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนยอมรับสารภาพเท็จกันอยู่ในปัจจุบัน

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ธนวัต ปุณยกนก

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

จิตวิทยาการกีฬา

“จิตวิทยาการกีฬา” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Sport Psychology” เป็นสาขาวิชาที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการกีฬาของชาติเป็นอย่างมาก ยิ่งในช่วงเวลานี้คนไทยเราสนใจกีฬาและการออกกำลังกายมากขึ้น เรามีนักกีฬาที่เป็นแชมป์ระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น น้องเมย์ (รัชนก อินทนนท์) โปรเมย์ (เอรียา จุฑานุกาล) และ น้องณี (สุธิยา จิวเฉลิมมิตร) รวมถึงกีฬาประเภททีมที่ไทยเราติดอันดับโลกหลายประเภท เช่น วอลเลย์บอลหญิง ฟุตซอลชาย ลีกกีฬาในประเทศหลายประเภทก็กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ จึงน่าที่จะถึงเวลาที่เราจะหันมาสนใจในเรื่องของจิตวิทยาการกีฬาอย่างจริงจังเสียที

 

เมื่อก่อนนี้ เรามักจะคิดกันว่านักกีฬาที่มีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์จะเป็นผู้ชนะเสมอ เราจึงไปเน้นที่การฝึกฝนทางร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว นักกีฬาในยุคนั้นจึงถูกมองว่ามีแต่ความแข็งแรง ในส่วนของความฉลาดหรือความสามารถด้านอื่น ๆ ได้ถูกมองข้ามไป แต่หลังจากที่สาขาวิชาทางจิตวิทยาการกีฬาเกิดขึ้น ทำให้มุมมองเรื่องการฝึกนักกีฬาเปลี่ยนไป นักกีฬาที่มีแต่ความแข็งแรงของร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว อาจไม่มีโอกาสที่จะชนะในการแข่งขันได้เลย ถ้าไม่รู้จักใช้ปัญญาในการวางแผนในการแข่งขัน จะเห็นจากตัวอย่าง เช่น โมฮัมมัท อาลี อดีตแชมป์นักมวยรุ่น เฮฟวีเวท ที่ใช้ปัญญาในการวางแผนชกกับคู่ต่อสู้ที่ตัวใหญ่กว่า โดยการพูดยั่วยุให้คู่ต่อสู้สูญเสียสมาธิ เมื่อคู่ต่อสู้สูญเสียสมาธิ โอกาสที่อาลีจะชนะก็มากขึ้น หรืออย่างเช่นถ้าเราดูการแข่งขันเทนนิสระดับโลก เราจะสังเกตเห็นว่านักเทนนิสที่ควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่า มักตีได้ดีกว่าผิดพลาดน้อยกว่า จึงมีโอกาสชนะได้มากกว่า ในกรณีที่มีฝีมือไม่ต่างกันมากนัก

 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นักกีฬาก็คือคน คนก็จะต้องมีทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งร่างกายและจิตใจย่อมมีผลต่อกันและกัน ร่างกายที่อ่อนแอย่อมทำให้จิตหดหู่ ขณะเดียวกัน จิตใจที่เบิกบานย่อมทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าเช่นกัน และถ้าจะถามว่า ร่างกายที่แข็งแรงแต่มีจิตใจที่หดหู่ มีโอกาสเป็นไปได้ไหม แล้วคนที่มีร่างกายที่อ่อนแอจะมีจิตใจที่เข้มแข็งเป็นไปได้ไหม คำตอบคือเป็นไปได้ ถ้าเป็นไปได้คำถามที่ตามมาคือ คนที่อ่อนแอกว่าแต่มีจิตใจที่เข้มแข็งก็จะมีโอกาสที่จะชนะคนที่แข็งแรงกว่าแต่มีจิตใจที่หดหู่ ได้หรือไม่ คำตอบคือเป็นไปได้ ถ้าอย่างนั้นสภาพจิตใจของนักกีฬาก็สำคัญกว่าสภาพของร่างกายอย่างนั้นสิ ก็ไม่เชิง ความจริงแล้วทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของนักกีฬาควรจะต้องสอดคล้องกัน โอกาสที่จะชนะในการแข่งขันจึงจะเกิดขึ้นได้

 

Coaches concept illustration

 

ในประเทศไทยเรานั้น มีโรงเรียนกีฬา มีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และสาขาวิชาพลศึกษาที่ดีมากมาย ดังนั้นถ้าพูดในด้านการพัฒนาทางด้านร่างกายก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะเรามีองค์ความรู้ และเราทำได้ดี แต่ถ้ามองในแง่ของการพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านจิตใจแล้ว เรายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากวงการกีฬาในบ้าน เรายังให้ความใส่ใจในเรื่องทางด้านจิตวิทยาน้อยไป แต่ก็น่าเป็นที่ยินดีได้ในระดับหนึ่งที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้พยายามหานักจิตวิทยาไว้ประจำทีมนักกีฬาไทยในช่วงการเตรียมความพร้อมเพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติ ถึงแม้ว่างบประมาณในด้านนี้ยังค่อนข้างน้อย ประกอบกับการที่เรามีนักจิตวิทยาที่สนใจทางด้านการกีฬาไม่มากนัก จึงทำให้นักจิตวิทยาหนึ่งคนต้องดูแลนักกีฬาจำนวนมากและดูแลหลายประเภทของกีฬา แต่ก็หวังว่าวันหนึ่งเราจะมีนักจิตวิทยาหนึ่งคนต่อหนึ่งทีมเป็นอย่างน้อย เมื่อถึงเวลานั้นนักกีฬาของเราก็คงจะมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่จะแข่งขันและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศของเราเป็นอย่างมาก

 

 

ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาการกีฬาพัฒนามาได้ราว ๆ 50 กว่าปีแล้ว โดยเริ่มจากทั้งทางยุโรปและอเมริกา โดยที่ศาสตร์นี้ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ที่มีผลต่อการเข้าร่วมและการแสดงออกในการแข่งขันกีฬา และการออกกำลังกาย รวมถึงผลทางจิตวิทยาที่เกิดจากการแข่งขันกีฬาและการออกกำลังกายที่มีต่อนักกีฬาและผู้ที่ออกกำลังกาย ในช่วงต้น (ทศวรรษที่ 1960) ได้มีการตั้งสมาคมระดับนานาชาติขึ้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เรียกสมาคมนั้นว่า ISSP (International Society of Sport Psychology) โดยมี Dr. Ferruccio Antonelli จิตแพทย์ชาวอิตาลีเป็นนายกสมาคมคนแรก และในปี 1968 ได้มีการจัดประชุมของสมาคมขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และในปีนั้นเองนักจิตวิทยาการกีฬาของประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งสมาคมของตนเองขึ้นเรียกชื่อสมาคมว่า North America Society for the Psychology of Sport and Physical Activity จากวันนั้นเองจิตวิทยาการกีฬาก็เริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้น ได้มีการวิจัยเกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งในระยะแรกของการวิจัยนั้นนักจิตวิทยาการกีฬาจะให้ความสนใจปัจจัยทางด้านบุคคลิกภาพที่มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา แต่ต่อมาความสนใจเรื่องดังกล่าวเริ่มลดหายไป มาสนใจในประเด็นของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น โดยมีความเชื่อว่า ปัจจัยทางด้านปัญญาหรือความคิดของบุคคลที่มีต่อสภาพแวดล้อมนั้น น่าจะมีผลต่อการแสดงออกในการเล่นกีฬา

 

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึงต้นทศวรรษที่ 1980 จึงมีการให้ความสนใจศึกษาถึงปัจจัยทางด้านความคิดและจินตภาคของนักกีฬาที่มีผลต่อการแข่งขันของนักกีฬา โดยตั้งคำถามว่า นักกีฬาควรคิดอย่างไร ที่จะส่งผลต่อการแสดงออกในการแข่งขันกีฬาได้เป็นอย่างดี จากการวิจัยในระยะนั้นพบว่านักกีฬาที่มีความคิดว่า “ฉันทำไม่ได้” มีผลทำให้นักกีฬาเหล่านั้นประสบความล้มแหลวในการแสดงออกในการแข่งขัน ในทางกลับกันว่านักกีฬาที่มีความคิดว่าเขาสามารถทำได้ ก็มักจะมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันกีฬาเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลนี้เองจึงมีความเชื่อว่าความคิดทางบวกน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญประเด็นหนึ่ง ที่จะทำให้นักกีฬาสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผลจากการที่นักกีฬาเหล่านี้มีความคิดทางบวกต่อตนเองและประสบชัยชนะในการแข่งขัน ก็ทำให้นักกีฬาเหล่านี้มีการรับรู้ความสามารถของตนเองมากขึ้น และนักกีฬาที่มีการรับรู้ความสามารถของตนเองเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลทำให้นักกีฬาเหล่านั้นสามารถที่จะแสดงออกถึงความสามารถของตนเองได้เต็มศักยภาพที่ตนมีอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่นักกีฬาเหล่านี้เริ่มสงสัยในความสามารถของตน นักกีฬาเหล่านี้ก็จะแสดงออกในการแข่งขันกีฬาได้ไม่เต็มศักยภาพ อย่างที่เราจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า นักกีฬาก็มีวันที่ฟอร์มดีและฟอร์มตกนั่นเอง

 

 

ปัจจุบันนี้นักจิตวิทยาการกีฬาให้ความสำคัญถึงปัจจัยทางปัญญา ที่จะส่งผลต่อการแสดงออกในการซ้อมและการแข่งขัน ปัจจัยทางปัญญาที่พวกนักจิตวิทยาการกีฬาให้ความสนใจคือความคิดและความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดทางบวก ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก ไม่เฉพาะกับนักกีฬาเท่านั้น หากแต่จะเป็นประโยชน์แก่การใช้ชีวิตของบุคคลทั่วไปอีกด้วย

 

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้นักกีฬามีการแสดงออกในการแข่งขันได้สม่ำเสมอนั้น คือการที่พวกเขาประสบความสำเร็จ หรืออีกนัยหนึ่งคือชัยชนะในการแข่งขันนั่นเอง และด้วยปัจจัยนี้ การศึกษาวิจัยทางจิตวิทยาทำให้เราสามารถนำมาประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้ นั่นคือถ้าเราเกิดความล้มเหลวในชีวิตหรือในการกระทำสิ่งต่าง ๆ เราควรหยุดคิดและหยุดทำสักพัก มาตั้งหลักใหม่ โดยการทำกิจกรรมที่เราสามารถทำได้และจะต้องสำเร็จแน่นอน การทำเช่นนี้จะทำให้ความเชื่อในความสามารถของเราเพิ่มมากขึ้น และเราค่อย ๆ ขยับระดับความยากของงานให้สูงขึ้นอย่างไม่รีบร้อน ก็จะทำให้เราทำงานได้เต็มความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความเชื่อในความสามารถของตนเองในเรื่องนั้น ๆ ก็จะสูงขึ้นตามมาเช่นกัน

 

Junior football team stacking hands before a match

 

นอกจากปัจจัยทางด้านความสำเร็จในการกระทำจะส่งผลต่อการเพิ่มความเชื่อในความสามารถของตนเองในเรื่องนั้น ๆ แล้วยังมีอีกอย่างน้อย 3 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อความเชื่อในความสามารถของตนเอง ได้แก่ การพูดของโค้ชที่บอกแก่นักกีฬาว่าพวกเขาสามารถทำได้ก็จะทำให้นักกีฬาเหล่านั้นทำได้ดีในช่วงเวลาการแข่งขันเช่นกัน อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะส่งผลคือ การเห็นต้นแบบ นั่นคือถ้าเราได้เห็นบุคคลอื่นทำได้หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลอื่นว่าเขาทำได้ ก็จะทำให้เราเชื่อว่าเราทำได้เช่นกัน ดังนั้นการอ่านหนังสือเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของผู้มีชื่อเสียง ก็จะทำให้เกิดเป็นแรงผลักดันให้เราสามารถเกิดความเชื่อว่าเราทำได้ นอกจากนี้ความไม่วิตกกังวลในการแข่งขันก็จะช่วยให้ความเชื่อในความสามารถของตนเองสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นนักกีฬาน่าจะได้มีการฝึกสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้นักกีฬาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี

 

 

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าจิตวิทยาการกีฬามิได้มุ่งไปที่นักกีฬาแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ให้ความสนใจในบุคคลทั่วไปที่ออกกำลังกายอีกด้วย ดังนั้นพวกฟิตเนสทั้งหลายที่เปิดกันอย่างมากมาย น่าจะมีนักจิตวิทยาการกีฬาประจำศูนย์ด้วยก็จะเป็นการดี

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/