News & Events

ฉันผิดปกติมั้ย?

 

“ภรรยาของผมเสียเมื่อสามอาทิตย์ที่แล้ว ผมกลับมาทำงานเมื่อสามวันที่แล้ว แต่ผมไม่สามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานได้ บางครั้งผมก็จะเผลอรอข้อความทางโทรศัพท์จากภรรยา และเมื่อนึกขึ้นมาได้ว่าเขาไม่อยู่แล้ว ผมก็อยากจะร้องไห้ทุกครั้ง ทุกวันนี้ผมยังร้องไห้อยู่ทุกคืน ผมผิดปกติรึเปล่าครับ?”

 

“ดิฉันเลิกกับแฟนมาได้ 4 เดือนแล้ว แต่ยังคงคิดถึง อยากรู้เรื่องของเขา ยังเสียใจและร้องไห้เวลาอยู่คนเดียว เพื่อนๆ ถามว่าทำไมยังเสียใจอยู่เพราะก็ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ควรทำใจได้แล้ว ดิฉันผิดปกติรึเปล่าคะที่ยังทำใจไม่ได้ซะที?”

 

“งานของผมเครียดและมีความกดดันมากครับ ผมต้องทำงานเกือบทุกวันเพราะมีผมคนเดียวที่รับผิดชอบงานในส่วนนี้ หัวหน้าจะใช้วิธีกดดันเพื่อให้พนักงานสร้างยอดขายได้ตามเป้ามากกว่าจะใช้วิธีการช่วยสนับสนุน ที่ผมนอนไม่หลับและตื่นกลางดึกทุกคืนเพราะกังวลว่างานไม่เสร็จนี่ ผมผิดปกติรึเปล่าครับ?”

 

จากประสบการณ์ในการให้บริการทางจิตวิทยาการปรึกษา ดิฉันสังเกตว่าผู้มารับบริการบางคนมาหานักจิตวิทยาการปรึกษาด้วยคำถามที่ว่า

 

“ฉันผิดปกติรึเปล่า…ที่ฉันรู้สึกแบบนี้ หรือมีอาการแบบนี้เรียกว่าผิดปกติรึเปล่าคะ/ครับ”

 

“แบบนี้เรียกว่าบ้ารึเปล่าคะ/ครับ”

 

ทุกครั้งที่ดิฉันได้ยินคำถามลักษณะนี้หรือได้ยินผู้รับบริการแจ้งว่าวัตถุประสงค์ของการมารับบริการการปรึกษาคือต้องการจะรู้ว่าตนเองผิดปกติรึเปล่า ดิฉันมักจะประหลาดใจว่า การรับรู้ว่าตนเอง “ผิดปกติหรือไม่ผิดปกติ” นี่ ดูเหมือนจะสำคัญมากสำหรับผู้มารับบริการ ซึ่งหากมองโดยผิวเผินแล้วก็ฟังดูไม่น่าจะมีอะไรที่น่าแปลกใจ เพราะคนเราหากมีอาการอะไรที่ผิดแปลกไปจากเดิม ก็คงอยากหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง สิ่งที่ตนเองเป็นอยู่นั้นผิดปกติไปจากคนทั่วไปหรือไม่

 

แต่เมื่อพิจารณามองให้ลึกซึ้งไปกว่านั้น ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ความคาดหวังของสังคมและระบบสังคมมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความรู้สึกของบุคคลว่าตนเองมีความผิดปกติ

 

ดังเช่นในตัวอย่างแรกนั้น ภรรยาของพนักงานบริษัทคนนั้นเพิ่งเสียชีวิตไป แต่เขากลับถูกคาดหวังจากบริษัทให้กลับไปทำงานตามปกติภายในเวลาไม่กี่วัน ข้อบังคับเรื่องจำนวนวันลาเมื่อเหตุการณ์สูญเสียเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นเสมือนสารที่สื่อให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าบุคคลควรจะสามารถฟื้นตนเองจากความสูญเสีย แล้วกลับมาทำงานเพื่อสร้างผลงานให้ได้ตามเดิมภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

กระบวนการทางจิตใจเพื่อจัดการอารมณ์กับความสูญเสียของแต่ละคนที่ต้องใช้ระยะเวลาแตกต่างกันถูกแทรกแซงและถูกกดโดยระบบและกฎเกณฑ์ของบริษัท ของระบบทางสังคมที่สร้างกรอบทางความคิดแก่บุคคลว่าเขาควรจะฟื้นตนเองให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด

 

หรือคำพูดที่ว่า “เลิกกับแฟนมาตั้งนานแล้ว ทำไมยังทำใจไม่ได้ซะที” เสมือนกับเป็นการบอกเป็นนัยว่าการที่เธอกำลังเสียใจอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ผิดแปลกไปจากคนทั่วไป หรือเป็นเรื่องที่ “ผิดปกติ”

 

หรือในตัวอย่างที่ 3 นั้น ไม่ว่าใครหากอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นคงรู้สึกเครียดและกดดันเป็นอย่างมาก ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเรานั่งอยู่ใกล้กองไฟ มันคงจะยากหากเราจะไม่รู้สึกร้อน และก็อาจจะไม่ดีต่อสุขภาพของเราด้วยหากเราจะพยายามบังคับใจไม่ให้ร้อนแล้วปล่อยให้ผิวเราไหม้เพราะอยู่ใกล้กองไฟมากเกินไปต่อไป

 

ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา ดิฉันเห็นว่า คำว่า “ปกติ” หรือ “ผิดปกติ” ไม่สำคัญมากเท่ากับการที่บุคคลให้ความสำคัญกับความรู้สึก ความทุกข์และผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นต่อตนเอง เพื่อหาทางยอมรับและจัดการกับความรู้สึกนั้น ๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลาแตกต่างจากคนทั่วไป หรืออาจจะไม่สามารถที่จะขจัดความทุกข์ออกไปได้หมด ทำได้เพียงแค่อยู่กับมันให้ได้ในแต่ละวัน

 

ดังนั้นการใช้เวลาเยียวยาจิตใจมากกว่าคนอื่นไม่ได้แปลว่าคุณผิดปกติ และการที่มีใครมาบอกว่าคุณปกติ ก็ “ไม่ได้” แปลว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่สำคัญและไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับความรู้สึกเหล่านั้น

 

ดิฉันจึงอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่อาจหล่อหลอมให้พวกเรามองตนเองว่าผิดปกติและต้องได้รับการ “แก้ไข” หรือ “รักษา” จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญมาบอกว่าเราผิดปกติก่อนที่เราจะเริ่มดูแลจิตใจของตัวเอง

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

“คำขอบคุณ” ให้คุณกว่าที่คิด

 

การใช้ชีวิตในทุกวันนี้ของเราดูจะเป็นการมุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มองไปยังเป้าหมายอนาคต ใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จนบางครั้งเราเองก็มองแต่ข้างหน้า มองแต่เพียง “ตัวเอง”จนลืมที่จะมองข้างหลัง มองสิ่งที่อยู่ข้าง ๆ มองที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น

 

นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้นึกขอบคุณใครสักคนอย่างล้นใจ ขอบคุณอย่างซาบซึ้ง ขอบคุณแบบที่ไม่ใช่เพียงแค่การเอ่ยว่าขอบคุณตามมารยาทสังคม

 

หากเป็นการเอ่ยคำว่าขอบคุณที่มาจากใจที่น้อมระลึกขึ้นมาได้ว่าคน ๆ นั้น หรือสิ่งนั้นช่างมีส่วนที่ทำคุณต่อเรา ซาบซึ้งในใจว่าการที่มีตัวเราในทุกวันนี้ เพราะมีคนที่เกื้อกูลเรา มีธรรมชาติที่เกื้อหนุน มีประสบการณ์ที่ผ่านมาที่เราได้เรียนรู้และเติบโต

ความรู้สึกขอบคุณอย่างลึกซึ้งดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ (Gratitude) เป็นความรู้สึกที่ยินดี ซาบซึ้ง เป็นความรู้สึกที่งดงามที่เรามีต่อผู้อื่น หรือแม้ต่อสิ่งที่ไม่ใช่บุคคล เช่น ธรรมชาติ ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของเรา

 

นักจิตวิทยาในกลุ่มจิตวิทยาเชิงบวกได้มีการศึกษาเรื่องความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณนี้ไว้มากมาย จนสามารถกล่าวได้ว่าการขอบคุณอย่างลึกซึ้งเช่นนี้มีผลทางบวกต่อตัวเรามากกว่าที่เราอาจจะเคยนึกถึง โดยผู้นำในการศึกษาเรื่องความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณคือนักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Robert Emmons ได้กล่าวว่า ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณว่ามีสองสิ่งร่วมอยู่

 

สิ่งแรก คือ ความรู้สึกว่าความดีงามในโลกนี้มีอยู่จริง ๆ และเรามั่นใจได้จากสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้รับ

 

สิ่งที่สอง คือ การที่เราเห็นได้ว่าความดีงามที่มันเกิดขึ้นนั้น เกิดมาจากแหล่งนอกตัวเรา เรามองเห็นการมีส่วนของผู้อื่นที่เข้ามามีต่อเรา

 

ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณนี้มีผลทางบวกไม่ใช่เพียงแต่กับคนที่เราเอ่ยคำว่าขอบคุณต่อเขา แล้วเขาจะรู้สึกว่าเราเห็นค่าเขาเท่านั้น หากนักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ และพบถึงผลทางบวกของความความบุคคล และต่อสัมพันธภาพ เช่น งานวิจัยของ Emmons และ McCullough ในปี ค.ศ. 2003 ได้พบว่าความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณมีส่วนช่วยเพิ่มสุขภาวะ

 

งานวิจัยของ Gordon, Impett, Kogan, Oveis, และ Keltner ในปี ค.ศ. 2012 พบว่าความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณเป็นความรู้สึกที่ช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพที่มีดีขึ้น เนื่องจากเราได้ตระหนักว่าเราได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจจากคนเหล่านั้นอย่างไรบ้าง และยังส่งผลสืบเนื่องถึงการรับรู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปได้รับการเห็นถึงคุณค่าอีกด้วย

 

เมื่อเรารู้ถึง “คุณ”ของการขอบคุณว่ามีทั้งต่อเรา และต่อผู้อื่นแล้ว ดังนั้น วันนี้เราน่าจะเริ่มมองสิ่งต่าง ๆ ผู้คนรอบตัวเราอย่างเห็นใน “คุณ” ที่เขามีต่อเรา ใน “ค่า” ที่เขามีสำหรับเรากันเถิดนะคะ

 

ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีง่าย ๆ 2 วิธีที่สามารถนำมาใช้ได้กับตัวเองหรือจะใช้ฝึกให้ลูกหลานของเราก็ได้

 

วิธีแรกเป็นวิธีในการพัฒนาความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ ที่นักวิจัยมักใช้ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ คือ การเขียนบันทึกถึงความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ โดยเป็นการเขียนถึง 5 สิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณในแต่ละสัปดาห์ การทำเช่นนี้จะทำให้เราพัฒนาการคิดที่มองสิ่งต่างๆ อย่างยินดี และลดความคิดที่มองสิ่งต่างๆอย่างไม่ยินดีค่ะ

 

อีกวิธีที่อยากจะนำเสนอคือวิธีที่ผู้เขียนเองเห็นว่าง่ายและใช้ได้เป็นประจำ คือ การทบทวนก่อนนอนว่าวันที่กำลังจะผ่านไปวันนี้ เรามีอะไรที่เรารู้สึกขอบคุณบ้าง ลองนึกทบทวนนะคะ ถ้าเราทำเช่นนี้สม่ำเสมอทุกคืนก็จะเป็นการค่อย ๆ ฝึกตัวเราเองให้มองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณได้ค่ะ

 

…ขอบคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูฟูมฟักจนเติบโต

 

…ขอบคุณสามีที่เอื้ออาทรเปิดโอกาสให้ทำในสิ่งที่รัก

 

…ขอบคุณลูกที่เกิดมาเป็นลูกแม่ให้แม่รู้จักกับความรักที่แสนยิ่งใหญ่

 

…ขอบคุณครูที่สั่งสอนจนมีวิชา

 

…ขอบคุณเพื่อนที่อยู่เคียงข้างฝ่าฟันอุปสรรค

 

…ขอบคุณโอกาสในการเขียนบทความทำให้ผู้เขียนมีโอกาสทบทวนถึงความรู้สึกดี ๆ เช่นนี้

 

…ขอบคุณผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ค่ะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bono, G., Emmons, R. A., & McCullough, M. E. (2004). Gratitude in practice and the practice of gratitude. Positive psychology in practice, 464-481.

 

Emmons, R. A., & McCullough, M. E. (2003). Counting blessings versus burdens: an experimental investigation of gratitude and subjective well-being in daily life. Journal of personality and social psychology, 84(2), 377.

 

Froh, J. J., Sefick, W. J., & Emmons, R. A. (2008). Counting blessings in early adolescents: An experimental study of gratitude and subjective well-being. Journal of school psychology, 46(2), 213-233.

 

Gordon, A. M., Impett, E. A., Kogan, A., Oveis, C., & Keltner, D. (2012). To have and to hold: gratitude promotes relationship maintenance in intimate bonds. Journal of personality and social psychology, 103(2), 257.

 

ภาพจาก https://www.pexels.com/search/gratitude/

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

อคติรังเกียจกลุ่มคนที่ต่างจากเรา

 

“พวกผู้หญิงชอบขี้งอน โวยวายไม่เข้าเรื่อง ทำงานด้วยแล้วปวดหัว”

 

“พวกตุ๊ดแต๋วก็แบบนี้ อารมณ์รุนแรง ถึงไม่อยากทำงานด้วยไง”

 

“ไม่อยากยุ่งกับพวกชั้น 18 พวกนั้นพูดยาก ความคิดแคบ”

 

ฯลฯ

 

ตัวอย่างเหล่านี้คืออคติที่เรามีต่อคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะแบ่งกลุ่มอย่างไร กลุ่มเล็กๆ เช่นทีมงานในที่ทำงาน ไปจนถึงกลุ่มใหญ่เช่นกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา หรือการเมือง

 

อคติก็คือการมองว่าคนในกลุ่มนั้น “ทั้งกลุ่ม” ก็ไม่ดีเหมือนๆ กันหมด ซึ่งเป็นการเหมารวมยกเข่งแบบไม่ยุติธรรมเลย จริงไหมคะ

 

 

นักจิตวิทยาสังคมมองอคติเหล่านี้ว่าประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่


 

  • ความเชื่อว่า ‘เขาไม่ดี’ ยกกลุ่ม หรือ ความเชื่อเหมารวม (stereotype) เช่น “พวกผู้หญิงขี้งอน ขี้โวยวาย” “พวกตุ๊ดแต๋ว มักจะมีอารมณ์รุนแรง” ก็คือคิดว่าคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เป็นการเหมาเอาว่าทุกคนในกลุ่มเป็นแบบนั้นแบบนี้เหมือนๆ กัน
  • ความรู้สึกรังเกียจยกกลุ่ม (prejudice) เช่น “ไม่ชอบ” “รู้สึกไม่ดี” “ไม่อยากทำงานด้วย” “เกลียด” คนในกลุ่มนั้นรวมๆ
  • การกีดกันยกกลุ่ม (discrimination) เป็นการกระทำ เช่น “ไม่อยากยุ่งกับพวกนั้น” หรือบางทีเป็นการเลือกปฏิบัติหรือ สองมาตรฐานเสียเลย เช่น คนพม่ามาสมัครงานก็ไม่รับเพียงเพราะเขาเป็นคนพม่า (ไม่ใช่ว่าเขามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม)

 

ผลเสียจากอคตินั้นก็เดาได้ไม่ยากค่ะ คือ เกิดความแตกแยกไม่เป็นมิตร ไม่สามารถร่วมมือกันได้ ทำให้งานออกมาไม่ดี เกิดบรรยากาศของความขัดแย้งเกิดการทำร้ายจิตใจหรือแม้แต่ร่างกายกัน (ดูอย่างเด็กนักเรียนคนละสถาบันสิคะ) ถ้าเป็นการดูถูกความสามารถก็อาจทำให้คนในกลุ่มนั้นด้อยความสามารถขึ้นมาจริง ๆ ได้ (Stereotype Threat) และสุดท้ายคือมันไม่ยุติธรรมต่อคนในกลุ่มนั้นเพราะโดนเหมารวมยกเข่งว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้

ถ้าอย่างนั้นก็อย่าอคติแบบเหมารวมกลุ่มสิ มารักกันดีกว่า

 

ถ้าทำได้ก็ดีอย่างยิ่ง แต่ความคิดความรู้สึกของคนเรามันสั่งไม่ได้ง่ายแบบนั้นน่ะสิคะ นักจิตวิทยาสังคมถึงต้องทำงานหนักเพื่อลดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก ลองดูกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ที่ปลุกกระแสต่อต้านชาวมุสลิม เอเชียน และชนกลุ่มน้อยในอเมริกานั่นไง

 

 

ลองมาดูว่าเจ้าความรังเกียจ 3 ส่วนข้างบนนั้นมาจากไหน


 

  • การเลี้ยงดู : ถ้าเราโตขึ้นมาในครอบครัวหรือสังคมที่สอนให้เป็นมิตรกับคนที่ต่างจากเรา เราก็มักจะปฏิบัติดีต่อคนกลุ่มอื่น แต่ถ้าตัวแบบในครอบครัวเราชอบแสดงความรังเกียจล้อเลียนคนที่ต่างจากเรา เราก็มักจะรับเอาความรังเกียจนั้นมาด้วย งานวิจัยในประเทศไทย (สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาฯ) พบว่าถ้าเราคิดว่าเพื่อนนักศึกษาที่เราสนิทด้วย รังเกียจนักศึกษาชาวลาว เราก็มักจะรังเกียจชาวลาวตามไปด้วย ถ้าเพื่อนสนิทเราชอบเขา เราก็มักจะชอบเขาตามไปด้วย คือเราได้รับอิทธิพลจากคนสนิทรอบตัวนั่นเอง
  • การเห็นคุณค่าในตัวเองของเรา : งานวิจัยในต่างประเทศพบว่าคนที่เห็นคุณค่าของตัวเองต่ำ มักแสดงความรังเกียจคนกลุ่มอื่นเพื่อกดให้เขาต่ำลง ตัวเองจะได้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น
  • ธรรมชาติการชอบแบ่งคนเป็นกลุ่ม : เรามีธรรมชาติชอบจัดคนเป็นกลุ่มๆ ใครเหมือนๆ กันเราก็จัดเป็นกลุ่มเดียว เพื่อจะได้ง่ายต่อการทำความเข้าใจโลกที่ยุ่งเหยิงนี้ ทีนี้พอจัดกลุ่มแล้ว ก็อดจะคิดไม่ได้ว่าพวกเราดีกว่าเจ๋งกว่า และพวกเขาก็ (แย่) เหมือนๆ กันหมดแหละ
  • การแย่งทรัพยากร : คนไทยอาจจะไม่ชอบสมาชิกประเทศเพื่อนบ้าน เพราะว่าพอเกิดสมาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว คนเหล่านั้นจะเข้ามาแย่งตำแหน่งงานของคนไทย แย่งเรากินแย่งเราใช้ การรังเกียจจึงเกิดขึ้นได้เพราะการแย่งทรัพยากรที่มีจำกัด

 

 

ซับซ้อนแบบนี้เอง (มิน่า การสร้างความปรองดองทางการเมืองระหว่างสีต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย) แต่อย่าเพิ่งถอดใจไปนะคะ นักจิตวิทยาสังคมช่วยได้ ติดตามกันเรื่อยๆ นะคะเอาไว้วันหน้าจะมาคุยให้ฟัง

 

 

ภาพจาก http://simplebooklet.com/

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การให้อภัย (Forgiving) การไม่ให้อภัย (Unforgiving) และการแก้แค้น (Revenge)

 

 

 

 

การให้อภัยมักถูกศึกษาควบคู่กับการไม่ให้อภัยและการแก้แค้น โดยมองว่าเป็นการแสดงออกที่อยู่ในทางตรงข้ามกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า การให้อภัยคือการปราศจากความขุ่นเคืองใจ การประณาม และการแก้แค้น ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว การให้อภัยและการแก้แค้นเป็นกลไกที่ใช้ในการปรับตัวและปกป้องตนเอง ซึ่งบ่อยครั้งไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ขึ้นอยู่ศักยภาพด้านการรู้คิด อารมณ์ และแรงจูงใจของบุคคลว่าจะแสดงออกในด้านใด ในสถานการณ์หนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการของการให้อภัยและการแก้แค้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน การแก้แค้นมักจะมีบทบาทในการทำให้เกิดความเป็นธรรม และป้องกันการคุกคามที่จะเกิดในอนาคต ส่วนการให้อภัยมักมีบทบาทในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และการรวมตัวกันของบุคคลและกลุ่ม

 

Tripp, Bies, และ Aquino (2002) ได้นิยาม การแก้แค้นไว้ว่าเป็นการกระทำของบุคคลที่ตอบสนองต่อสิ่งที่เป็นอันตราย หรือตอบสนองต่อผู้อื่นที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือความรู้สึกไม่สบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้บุคคลเกิดแรงจูงใจ และตัดสินใจว่าจะต้องกระทำพฤติกรรมแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านทางวาจาหรือการกระทำทางกายก็ได้ เพื่อเป็นการตอบโต้กลับไป เพื่อให้ลดความเสียหายหรือความรู้สึกทางลบ

 

Fox, Spector, และ Miles (2001) กล่าวว่าการไม่ให้อภัยและการแก้แค้นนั้นเป็นแรงจูงใจหรือพลังภายในบุคคล ซึ่งเกิดจากการที่บุคคลถูกละเมินความเชื่อ ละเมิดต่อสิ่งที่เป็นอุดมคติที่บุคคลยึดถือ หรือรู้สึกว่าตนเองกำลังไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มั่นคงปลอดภัย โดยอาจเกิดขึ้นจริงหรือเป็นการคาดการณ์ในอนาคตของบุคคลก็ได้ ส่งผลให้บุคคลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวไม่ที่เจาะจงรูปแบบที่แน่นอน โดยอาจเป็นการกระทำโดยตรงทางกาย หรือทางอ้อมทางวัจนภาษาและอวัจนภาษาก็ได้ เพื่อเป็นการตอบโต้หรือป้องปรามไม่ให้สิ่งที่ตนไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ในบางสถานการณ์ การที่บุคคลนิ่งเฉยไม่ยอมทำพฤติกรรมใด ๆ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้แค้น ตราบใดที่การนิ่งเฉยนั้นก่อให้เกิดผลทางลบต่อผู้อื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น เนื่องจากในบางกรณีบุคคลอาจรับทราบข้อมูลหรือรับรู้ว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อผู้อื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น แต่กลับไม่แสดงท่าทีในการช่วยเหลือ ห้ามปรามหรือตักเตือนให้ระมัดระวัง จนทำให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น ซึ่งการแก้แค้นดังกล่าวถือเป็นการแสดงความก้าวร้าวแบบวางเฉย (passive aggressive)

 

Bies และ Tripp (2002) กล่าวว่าบางกรณีการแก้แค้นหรือการไม่ยอมยกโทษให้ ก็เป็นความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นจากแรงจูงใจบางอย่าง ที่อาจก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้แก้แค้นเอง และอาจก่อให้เกิดผลทางบวกต่อผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายหรือเป็นเหยื่อของการแก้แค้นด้วย เนื่องจากการแก้แค้นเป็นช่องทางหนึ่งของการเรียกร้องความยุติธรรม เป็นการสั่งสอนหรือปรับปรุงผู้ที่คอยเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นให้เกิดความตระหนักรู้ตัว และแก้ไขพฤติกรรมทางลบของตน เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านจริยธรรมและคุณธรรมด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการแก้แค้นเป็นมุมมองมุมกลับของการให้อภัยซุ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งในแง่ของกระบวนการคิด อารมณ์ และการแสดงออก

 

 

ให้อภัยหรือแก้แค้น


 

Bradfield และ Aquino (1999) ศึกษากลไกของการให้อภัยหรือแก้แค้นของบุคคล โดยเสนอว่า บุคคลจะทำการแก้แค้นหรือให้อภัยนั้น เริ่มต้นจากกระบวนการรับรู้ความรุนแรงของการคุกคามหรือละเมิดจากผู้ที่เป็นเป้าหมายเสียก่อน จากนั้นจะผ่านกระบวนการกล่าวโทษของบุคคล ว่าการมาคุกคามหรือละเมิดนั้นเป็นผู้ผิดหรือสมควรต้องได้รับการตอบโต้หรือไม่ และบุคคลจะประเมินถึงความรู้สึกชื่นชอบที่ตนมีต่อผู้ที่มีคุกคามหรือละเมิดว่าอยู่ในระดับใด เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เกิดการให้อภัยหรือไม่ทำการตอบโต้ล้างแค้น ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการรู้คิดและแรงจูงใจที่จะแก้แค้นหรือให้อภัย นำไปสู่พฤติกรรมแก้แค้นหรือให้อภัยในที่สุด

 

หากบุคคลรับรู้ว่าการคุกคามมีระดับรุนแรงมาก ก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบสูง จำเป็นที่จะต้องให้ผู้ที่มาคุกคามรับผิดชอบ และบุคคลก็ไม่ได้รู้สึกชื่นชอบผู้ที่มาคุกคามเท่าใดนัก และเมื่อผ่านกระบวนการรู้คิดของบุคคลแล้ว บุคคลเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องตอบโต้หรือแสดงออกเพื่อเป็นการเรียกร้องสิ่งที่ตนสมควรได้รับ หรือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแล้ว บุคคลก็อาจแสดงพฤติกรรมแก้แค้น หรือหากบุคคลเห็นว่าผู้ที่มีคุกคามอาจมีเหตุจำเป็น และตนเองไม่อยากจะมีความรู้สึกทางลบอีก ต่อไปก็อาจแสดงพฤติกรรมให้อภัยได้

 

ต่อมา Zourrig (2010) ได้เพิ่มเติมการประเมินขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิและเสนอเป็นโมเดลของกลยุทธ์ในการเผชิญปัญหาไว้ว่า เมื่อบุคคลถูกคุกคามหรือละเมิด บุคคลจะมีการประเมินขั้นปฐมภูมิ โดยพิจารณาความรุนแรงของการเป็นภัยหรือการสูญเสีย หากรับรู้ว่าการคุกคามหรือละเมิดนั้นเป็นภัยหรือทำให้เกิดการสูญเสียมาก จะเกิดกลไกการประเมินขั้นทุติยภูมิขึ้น ว่าการคุกคามหรือการละเมิดนั้นมีสาเหตุมาจากภายนอกหรือภายในตัวบุคคล

 

ถ้าสาเหตุที่มีผู้มาคุกคามนั้นมีส่วนมาจากการด้อยความสามารถหรือขาดศักยภาพในการรับมือกับปัญหาของตัวบุคคลเอง บุคคลก็อาจโทษตนเองว่าเป็นต้นเหตุในการทำให้ผู้อื่นสูญเสียผลประโยชน์ จนจำเป็นที่จะต้องมาทำการคุกคามเพื่อทวงสิทธิ์ ดังนั้นตนเองก็มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบ จึงมีโอกาสที่จะให้อภัยได้มากกว่า

 

แต่ถ้าหากบุคคลประเมินการคุกคามหรือละเมิดว่ามีสาเหตุมาจากภายนอกตัวบุคคล คือบุคคลมีศักยภาพเพียงพอและรู้วิธีจัดการกับปัญหานั้น แต่ยังมีผู้คุกคาม แสดงว่าการละเมิดนั้นอาจขาดความชอบธรรม มีการเบียดเบียนผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นบุคคลจึงมีการกล่าวโทษผู้อื่น และไม่เห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดการตอบโต้หรือแก้แค้นมากกว่า

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งอย่างทีควรคำนึงถึง คือ คนที่มาสร้างความไม่พึงพอใจหรือคุกคามเรานั้น เราถือว่าเขาเป็นสมาชิกภายในกลุ่มเดียวกัน (ingroup) หรือ เป็นคนนอกกลุ่ม (outgroup) ซึ่งโดยปกติแล้วเรามีแนวโน้มจะให้อภัยคนที่อยู่ภายในกลุ่มเดียวกันมากกว่า ยกเว้นในบางกรณีที่เรารู้สึกว่าการคุกคามนั้นมีความรุนแรง การให้อภัยจะน้อยลง และอาจมีการตอบโต้กลับไปเพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจไม่สามารถยอมได้ตลอด

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการให้อภัย


 

Fehr, Gelfand, และ Nag (2010) ได้รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับพื้นนิสัยการให้อภัยและการให้อภัยเฉพาะเหตุการณ์ และสรุปได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการให้อภัยมี 3 ประการ คือ

 

1. ปัจจัยด้านการรู้คิด

ในสถานการณ์หนึ่งๆ บุคคลจะให้อภัยมากขึ้นเมื่อรับรู้ว่าผู้ที่มาคุกคามตนนั้นไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดต่อตัวบุคคล มีการแสดงความรับผิดชอบต่อผลของการคุกคาม มีการสำนึกผิดและขอโทษต่อผู้เสียหาย และผู้ถูกละเมิดรับรู้ว่าการคุกคามนั้นไม่มีความรุนแรงมากนัก นอกจากนี้หากบุคคลมีบุคลิกภาพแบบเปิดใจกว้าง (openness) เข้าใจมุมของผู้อื่น (empathy) สูง บุคคลก็จะมีแนวโน้มให้อภัยสูงเป็นพื้นนิสัย

 

2. ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึก

ในสถานการณ์หนึ่งๆ บุคคลจะให้อภัยมากขึ้นเมื่อมีอารมณ์เห็นอกเห็นใจ และมีอารมณ์ทางบวก แต่หากบุคคลมีอารมณ์ทางลบ โกรธ บุคคลจะให้อภัยน้อยลง นอกจากนี้หากบุคคลมีการเห็นคุณค่าแห่งตนสูง (high self-esteem) ชอบเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่อ่อนไหวง่ายหรือไม่มีพื้นฐานฉุนเฉียว โกรธ หรือเศร้าง่าย บุคคลก็จะมีแนวโน้มให้อภัยสูงเป็นพื้นนิสัย

 

3. ปัจจัยด้านการระงับยับยั้งใจ

ในสถานการณ์หนึ่งๆ บุคคลจะให้อภัยมากขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีความผูกพัน และมีความพึงพอใจในความสัมพันธ์กับบุคคลที่มาคุกคาม นอกจากนี้หากบุคคลมีความเคร่งครัดยึดมั่นตามหลักศาสนา และคำนึงถึงความน่าพึงปรารถนาทางสังคมสูง (social desirability) บุคคลก็จะมีแนวโน้มให้อภัยสูงเป็นพื้นนิสัย

 

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เช่น เพศ ไม่มีความสัมพันธ์กับการให้อภัยของบุคคล ส่วนอายุหรือช่วงเวลาที่ใช้ในการถอยห่างจากการคุกคามนั้น สัมพันธ์กับการให้อภัยในระดับต่ำมาก

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

“อิทธิพลของการเห็นคุณค่าแห่งตนโดยชัดแจ้งและโดยนัย ต่อการให้อภัยโดยชัดแจ้งและโดยนัยโดยมีอคติโดยชัดแจ้งและโดยนัยเป็นตัวแปรส่งผ่าน : การวิเคราะห์กลุ่มพหุ เปรียบเทียบระหว่างการคุกคามจากภายในกลุ่มและภายนอกกลุ่ม” โดย ชาญ รัตนะพิสิฐ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/52133

 

ภาพจาก https://www.readersdigest.ca/health/relationships/how-forgive-four-step-plan/

 

 

การคุกคามโดยภาพเหมารวม

 

“ผู้หญิงคิดเลขไม่เก่ง”

 

“ผู้ชายรับฟังคนอื่นไม่เป็น”

 

“ผู้หญิงช่างคุยกว่าผู้ชาย”

 

เราคงเคยได้ยินความเชื่อเหมารวม หรือ stereotype เหล่านี้มาจนชินหูและเชื่อว่านี่เป็นความจริงของโลก แต่ภาพเหมารวมเหล่านี้เป็นความเชื่อ และความเชื่ออาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือความเชื่อนี้มันสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมที่สำคัญในชีวิตของคนได้

 

ภาพเหมารวม (stereotype) คือ ความเชื่อว่าสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มทางสังคมหนึ่ง ๆ นั้นมีลักษณะ นิสัยใจคอ พฤติกรรมเป็นอย่างไร โดยความเชื่อนั้นอาจจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะระบบการรู้คิด (cognition) ของมนุษย์นั้นได้สร้างทางลัดเพื่อช่วยให้เราประหยัดสมองเวลาที่ต้องพบเจอกับคนในกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ

 

เช่น ถ้าเราเชื่อว่าคนในประเทศหนึ่ง ๆ มาสายเป็นประจำ เราก็จะไม่คาดหวังที่จะเจออีกฝ่ายตรงตามนัด

 

หรือ เราอาจจะเลือกที่จะปรึกษาปัญหาหัวใจกับพี่สาวที่เป็นพยาบาลแทนพี่ชายที่เป็นวิศวกร เพราะคิดว่าคนนึงน่าจะรับฟังเราดีกว่าอีกคน

 

บางครั้งภาพเหมารวมนี้อาจจะสะท้อนความจริงบางส่วนหรือตรงกับประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ภาพเหมารวมนี้จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราประมวลข้อมูลในสังคมที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น

 

ด้วยความที่ภาพเหมารวมไม่ได้เป็นแค่ความเชื่อของคนเพียงคนเดียว แต่คนจำนวนในสังคมเห็นตรงกัน มันจึงแทรกตัวอยู่กับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในทุก ๆ เวลา ราวกับว่ามันอยู่ในทุกอณูของอากาศที่เราหายใจ และความเชื่อเหมารวมนี้สามารถคุกคามจิตใจและพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน (Steele & Aronson, 1997) ที่บัญญัติคำว่า การคุกคามโดยภาพเหมารวม (stereotype threat) จึงเปรียบว่าการคุกคามนี้มันซ่อนตัวอยู่ในอากาศ (A threat in the air)

 

 

ภาพเหมารวมนี้มันคุกคามคนเราได้อย่างไร?


 

นักจิตวิทยาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กข้อหนึ่ง นั่นคือ คะแนนคณิตศาสตร์ของเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงในช่วงประถมนั้นไม่ได้แตกต่างกัน แต่ความแตกต่างของคะแนนสอบเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในวัยมัธยมและมหาวิทยาลัย แถมยังจำกัดอยู่เฉพาะในด้านคณิตศาสตร์เท่านั้น ในขณะที่คะแนนสอบวิชาอื่นของเด็กผู้ชายและผู้หญิงนั้นไม่แตกต่างกัน (บางทีเด็กผู้หญิงได้คะแนนดีกว่าด้วยซ้ำ)

 

จึงเกิดคำถามว่า…ความแตกต่างของคะแนนเลขนี้เป็นความแตกต่างของความสามารถทางความคิดจริง ๆ หรือเป็นผลมาจากความคิด ความเชื่อ ความคาดหวังทางสังคม

 

นักจิตวิทยาจึงทดลองให้นักศึกษาชายหญิงมาลองทำข้อสอบเลข โดยนักจิตวิทยาบอกกลุ่มนักศึกษาชายหญิงกลุ่มหนึ่งว่า โดยทั่วไปผู้ชายผู้หญิงจะทำคะแนนในข้อสอบนี้ได้ไม่เท่ากัน แต่นักจิตวิทยาบอกนักศึกษาชายหญิงอีกกลุ่มหนึ่งว่า โดยทั่วไปผู้ชายผู้หญิงได้คะแนนในข้อสอบนี้ไม่ต่างกัน ในความเป็นจริงแล้วข้อสอบเลขทั้งสองชุดนั้น เป็นข้อสอบชุดเดียวกัน แต่ปรากฏว่านักศึกษาหญิงที่ในกลุ่มแรกถูกคุกคามจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่เก่งเลข จนทำคะแนนได้น้อยกว่าเด็กผู้หญิงในกลุ่มที่สองตามความเชื่อนั้นจริง ๆ ในขณะที่นักศึกษาหญิงในกลุ่มที่สองไม่รู้สึกถูกคุกคามและได้คะแนนไม่แตกต่างจากนักศึกษาชาย แสดงให้เห็นว่าความแตกต่างของคะแนนชายหญิงไม่ได้เป็นเพราะความแตกต่างของความสามารถ แต่เป็นเพราะผู้หญิงต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันและคุกคามมากกว่าเมื่อต้องลงมือทำข้อสอบในวิชาที่สังคมมองว่าผู้หญิงไม่เก่งหรือไม่มีความสามารถ

 

ในทางตรงกันข้ามผู้ชายก็สามารถประสบปัญหาแบบเดียวกันได้เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีภาพเหมารวมว่าผู้ชายทำได้ไม่ดี เช่น เมื่อต้องรับฟังและทำความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ดังนั้น ขอให้คิดไว้เสมอว่า ก่อนที่เราจะพูด แซว หรือแม้แต่ชมใคร (แม้กระทั่งแซวหรือชมตัวเอง) เกี่ยวกับความเชื่อของภาพเหมารวมเหล่านี้ เช่น “ปล่อยให้พวกผู้ชายเขาคิดเลขกันไปเถอะ” หรือ “เป็นผู้หญิงที่คิดเลขเก่งจังนะ” เรากำลังอาจจะเผยแพร่ภาพเหมารวมผิด ๆ เกี่ยวกับคนกลุ่มต่าง ๆ จนกลายเป็นสถานการณ์ที่คุกคามให้เกิดความกดดัน จนคนกลุ่มนั้นไม่สามารถที่จะแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่

 

ถ้าจะให้ดีขอให้ชื่มชมกันที่พฤติกรรมโดยไม่ต้องเอาเรื่องเพศ เชื้อชาติ หรือกลุ่มสังคมของคน ๆ นั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

จิตวิทยากับเทคนิคการจูงใจ

 

การที่เราอยู่ในสังคม คงไม่มีใครปฏิเสธว่าบุคคลรอบข้างเรามีผลต่อการแสดงออกหรือพฤติกรรมของเรา ในขณะเดียวกันตัวของเราก็มีผลต่อการแสดงออกหรือพฤติกรรมของผู้อื่น

 

เทคนิคหนึ่งที่นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเกี่ยวกับการมีอิทธิพลทางสังคม คือ “เทคนิคการขอน้อยก่อนแล้วขอมากทีหลัง” (foot-in-the-door technique, Freedman & Fraser, 1966) ตามพจนานุกรมศัพท์จิตวิทยาของราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “กลวิธีทางจิตวิทยาสังคม ในการเริ่มต้นการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพียงเล็กน้อยก่อน แล้วภายหลังจึงขอมากขึ้นกว่าเก่าพอประมาณ การขอครั้งหลังนี้มีโอกาสจะได้รับการช่วยเหลือมากกว่าการขอมากครั้งแรกเพียงครั้งเดียว”

 

เมื่อพิจารณาจากความหมายของเทคนิคการขอน้อยก่อนแล้วขอมากทีหลัง จะเห็นได้ว่า มีผู้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งที่รู้ตัวหรืออาจไม่รู้ตัวก็ตาม เช่น ตามบูธแนะนำสินค้าตามห้างทั่วๆ ไป มักมีผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะประเภทอาหารมานำเสนอให้ลองชิม เมื่อผู้บริโภคชิมอาหารไปแล้ว เปรียบเหมือนการขอน้อย ต่อมาก็ไม่ยากนักที่ผู้บริโภคจะซื้อผลิตภัณฑ์อาหารนั้นตามมา

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ การที่มีผู้เสนอขายสินค้าให้เรา เช่น เสื้อพยุงหลัง โดยให้เราสามารถทดลองใช้ก่อนสัก 30 นาที และในระหว่างลองถ้าผู้ขายสามารถรู้ความต้องการของลูกค้า ก็จะสามารถพูดในสิ่งที่ลูกค้าขาดหรือต้องการได้ยิน ยิ่งเป็นการง่ายที่ลูกค้าผู้นั้นจะตกหลุมเทคนิคการขอน้อยก่อนแล้วขอมากทีหลัง นั่นคือ ตกลงซื้อผลิตภัณฑ์ในที่สุด

 

หากจะถามว่าแล้วมีวิธีเอาตัวรอดจากเทคนิคนี้อย่างไร คำแนะนำก็คือ เราต้องรู้จักปฏิเสธหรือกล้ายืนหยัดในสิทธิของตนเอง เช่น บอกว่าขอคิดดูก่อน หรือรู้จักเจรจาต่อรอง เช่น บอกว่า ราคาไม่ใช่น้อย ๆ ขอเวลาคิดและตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภค หรือบางท่านแนะนำให้ปฏิเสธการขอตั้งแต่ครั้งแรกเลย

 

อีกเทคนิคหนึ่งที่มีผู้ใช้กันมากทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม คือ “เทคนิคการขอมากก่อนแล้วขอน้อยทีหลัง” (door-in-the-face technique; Cialdini et al., 1975) ตามพจนานุกรมศัพท์จิตวิทยาของราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “กลวิธีทางจิตวิทยาสังคม ในการเริ่มต้นด้วยการขอความช่วยเหลือจำนวนมากจากผู้อื่นก่อน ก็จะถูกปฏิเสธ จากนั้นผู้ขอจึงขอน้อยลงกว่าเก่าพอประมาณตามหลังทันที การขอครั้งหลังมีโอกาสจะได้รับการช่วยเหลือมากกว่าการขอครั้งหลังเพียงครั้งเดียว”

 

เทคนิคการขอมากก่อนแล้วขอน้อยทีหลังนี้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ขายเสนอราคาของที่จะขายในราคาที่สูง ผู้บริโภคไม่ตกลง ทันใดนั้นผู้ขายก็ลดราคาของลงซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อจะตกลงที่จะซื้อ หรือในทางกลับกันเมื่อผู้ซื้อต่อรองราคากับผู้ขายโดยต่อราคาลดลงมาก ในเบื้องต้นผู้ขายอาจไม่ตกลง ทันใดนั้นผู้ซื้อจึงเสนอราคาใหม่ที่ไม่ลดลงมากเท่ากับราคาที่เสนอซื้อในครั้งแรก ผู้ขายอาจตกลงขายให้ในราคาที่ขอลดน้อยลงกว่าครั้งแรก

 

เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะสำหรับเทคนิคทั้งสองประการที่อาจมีอิทธิพลต่อเราบ้างไม่มากก็น้อย ท่านผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือถ้าท่านผู้อ่านมีตัวอย่างอื่นๆ ก็ช่วยแบ่งปันความรู้กันได้ค่ะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Cialdini, R. B., Vincent, J. E., Lewis, S. K., Catalan, J., Wheeler, D., & Darby, B. L. (1975). Reciprocal concessions procedure for inducing compliance: The door-in-the-face technique. Journal of Personality and Social Psychology, 31, 206-215.

 

Freedman, J. L., & Fraser, S. C. (1966). Compliance without pressure: The foot-in-the-door technique. Journal of Personality and Social Psychology, 4(2), 195-202.

 

ภาพจาก https://pixabay.com/

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

รักษารักทางไกลให้หวานชื่น

 

มีหลายคนบอกว่า “รักแท้แพ้ระยะทาง” ยิ่งห่างไกลกันยิ่งทำให้ชีวิตคู่มีความเสี่ยงที่จะเลิกราและสิ้นสุดได้โดยง่าย หลาย ๆ คนจึงวิตกกังวลว่า หากมีคู่แล้วต้องอยู่ห่างกัน เราจะต้องเลิกรากันในที่สุด ความเสียใจก็ต้องเกิด และเป็นที่แน่นอนว่าทุกคนไม่อยากพบเจอกับความเสียใจ ความเศร้าและความทุกข์

 

ความไม่อยากนี้อาจนำไปสู่ความวิตกกังวลในคนที่อาจต้องมี “ความรักระยะไกล” หรือที่เรียกว่า “Long Distance Relationship (LDR)” และเมื่อคนเราวิตกกังวล ก็จะนำมาสู่การตั้งคำถามที่วกวนในหัวของเราเองว่า “เราหรือเขาที่จะเป็นฝ่ายเจอคนใหม่?” “แฟนของเราจะไปเจอคนใหม่ไหม?” หรือ “จะมีผู้หญิงหรือผู้ชายคนใหม่เข้ามาหรือเปล่า?”

 

เพียงแค่คิดความทุกข์ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

 

คำถามที่น่าสนใจ คือ คนที่มีความรักระยะไกลนั้นแท้จริงแล้วจะต้องประสบปัญหาทุกคู่หรือไม่? และทุกคู่จะต้องเลิกรากันไปในที่สุดหรือไม่?

 

ในความเป็นจริงเรายังไม่สามารถสรุปได้เลยว่า การมีความรักระยะไกลจะทำให้ทุกคู่ที่มีความรักแบบนี้ต้องจบความสัมพันธ์ด้วยการเลิกรากัน แม้กระทั่งในงานวิจัยเองก็พบว่า การมีความรักระยะไกลอาจทำให้คู่รักเกิดความเหงาและความว้าเหว่ ทว่าการมีรักระยะไกลไม่ได้เป็นการประกันว่า คู่รักระยะไกลนั้นจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีและจบลงด้วยความเศร้า ในทางกลับกันคู่รักเหล่านี้กลับรู้สึกว่า ต่างคนต่างมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นไม่ต่างจากคู่รักที่อยู่ด้วยกันเลย พวกเขากลับรู้สึกยิ่งมีความคิดถึงและผูกพัน อยากที่จะมีการสื่อสารที่มากขึ้นกับคู่รัก และมีความพึงพอใจในชีวิตคู่เช่นกัน

 

อาจเป็นไปได้ที่ว่าการที่คนเรามีรักระยะไกล ทำให้เรามีความรู้สึกอยากใกล้ชิดคนรักของเรามากยิ่งขึ้น เราจึงพยายามหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามที่จะติดต่อสื่อสารและพูดคุยกัน การไปมาหาสู่กันให้บ่อยครั้งมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมไปถึงการแสดงความเอาใจใส่ต่อกัน ซึ่งหากจะพูดถึงวิธีการรักษาความสัมพันธ์ของรักระยะไกลให้หวานชื่นแล้วมีวิธีการหลายวิธีด้วยกัน

 

สิ่งแรกที่คู่รักระยะไกลควรทำ ก็คือการพยายามติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ

 

อย่าให้ระยะทางเป็นอุปสรรคในการที่เราจะติดต่อและพูดคุยกับคนรัก การพูดคุยกันถามสารทุกข์สุกดิบช่วยให้คู่รักไม่รู้สึกห่างเหินกันจนเกินไป สิ่งสำคัญของการสื่อสารคือ พยายามพูดคุยเรื่องทางบวก เรื่องที่สบายใจ จะช่วยให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกสบายใจและมีความสุข ความสัมพันธ์จะราบรื่น อาจมีการแลกเปลี่ยนปัญหากันบ้าง เล่าเรื่องราวที่แย่บ้างก็จะช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้นไปอีก

 

ซึ่งวิธีการที่จะช่วยให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น นอกจากจะพูดคุยกัน ต่างฝ่ายควรจะเป็นผู้ฟังที่ดี

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่คนรักมีปัญหาและทุกข์ใจ การฟังถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนรักรู้สึกมีที่พึ่งทางใจ มีคนที่รับฟังไม่ว่าเขาจะทุกข์ใจ ดีใจ หรือเสียใจ คนรักสามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงของเขาได้ เหล่านี้จะยิ่งช่วยให้ความสัมพันธ์นั้นแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

 

ต่อจากการเป็นผู้รับฟังที่ดี ต้องเป็นคนที่คอยให้กำลังใจคนรักเวลาที่คนรักมีปัญหา

 

สิ่งที่พึงระลึกไว้เสมอคือ คู่รักของเราก็คือมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งที่มีรัก โลภ โกรธ หลง มีความสุขและมีความทุกข์ได้เช่นเดียวกับตัวเราเอง ตัวเราก็มีสุขและทุกข์ มีรัก โลภ โกรธ และหลง และมีความคาดหวังจากคนรักว่า คนรักจะเข้าใจ ปลอบโยนและให้กำลังใจเวลาที่เรามีปัญหา สิ่งนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่คนรักของเราคาดหวัง เขาเองก็คาดหวังที่จะมีคนที่คอยให้กำลังใจและพร้อมที่จะเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเป็น ไม่ต่างกัน

 

ประการต่อมาคือ หากคนรักของเรามีความจำเป็นที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ เราควรเป็นบุคคลแรกที่เขานึกถึง

 

ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่เราคอยให้กำลังใจ เข้าอกเข้าใจและให้ความช่วยเหลือเขาทุกครั้งในเวลาที่เขาต้องการ

 

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การแสดงออกซึ่งความรักที่มีต่อคนรักด้วยการพูดและการกระทำ

 

การบอกรักคนรักเป็นประจำก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระยะไกลยังคงอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้พบเจอกันทุกวัน

 

ประการที่หกคือ การไปมาหาสู่คนรักอย่างสม่ำเสมอหรือเมื่อมีเวลา เช่น ไปมาหาสู่กันทุกเดือน หรือทุกครั้งเมื่อมีโอกาส

 

สิ่งสำคัญต่อมาคือ ควรหากิจกรรมทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการใช้เวลาอย่างมีคุณค่าร่วมกันให้มากที่สุด ทำให้บรรยากาศของความสัมพันธ์เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความทรงจำต่าง ๆ ที่ดี การที่ทำให้ความสัมพันธ์เต็มไปด้วยบรรยากาศที่มีความสุขจะทำให้คู่รักของเราชื่นชอบและรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เจอกับเรา

 

ประการสำคัญที่สุดคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้แก่คนรักและแสดงความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนรักของเราเอง

 

ความหวาดระแวงอาจมีอยู่ในทุกคน แต่สิ่งที่สำคัญคือ อย่าให้ความหวาดระแวงมาทำร้ายและทำลายความสัมพันธ์ของเรา เพราะหากหวาดระแวงมากเกินไปจะทำให้เราเริ่มทำตัวเป็นพนักงานสอบสวนที่คอยสอบสวนคู่รักของเราตลอดเวลาว่า เขาไปไหน ทำอะไร อยู่กับใคร กลับเมื่อไหร่หรืองานเสร็จเมื่อไหร่ คำถามเหล่านี้หากใช้บ่อยเกินไปนอกจากจะสร้างความรำคาญแก่คนรักแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งที่ค่อย ๆ เป็นตัวบั่นทอนความสัมพันธ์ของเราเอง

 

ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ การสอบสวนและการสอบถามเป็นการสื่อถึง ความไม่เชื่อใจของเราที่มีต่อคนรัก สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่จุดชนวนความสัมพันธ์ในทางลบให้เพิ่มมากขึ้น และหากคนรักของเรารำคาญมากขึ้นเนื่องจากการสอบสวนของเรามากเกินไป ก็อาจทำให้เขาเลือกวิธีที่จะหลีกเลี่ยงการโดนสอบสวนและต่อว่าโดยการโกหก และเมื่อโกหกเพราะต้องการหลีกเลี่ยงเกิดขึ้นบ่อยเข้า ก็จะทำให้เกิดความเคยชิน และจากความเคยชินจะทำให้โกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งจับได้ว่าฝ่ายหนึ่งโกหก คงไม่ต้องบอกเลยว่าวงจรการทะเลาะเบาะแว้ง การหึงหวง และบรรยากาศทางลบในความสัมพันธ์จะเพิ่มขึ้นทวีคูณ และสุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจและการเลิกราในที่สุด

 

อาจไม่ง่ายสำหรับคนที่มีรักระยะไกล แต่ก็ไม่ยากจนทำไม่ได้ หากเราคิดว่าคุ้มค่าพอกับการที่เราจะรักษาคนที่เรารักและคนที่รักเราด้วยความจริงใจ ก็คงไม่เสียหายจริงไหมคะ…

 

 

ภาพจาก https://www.pexels.com/

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

 

หลักการทรงงานสู่การบริหารอย่างมีความสุข

 

แนวพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานไว้ให้ปวงชนชาวไทย ในเรื่องต่าง ๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นที่ประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ จนประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ให้การยอมรับ และได้น้อมนำไปปรับใช้ในการพัฒนาจนเห็นผลและเกิดประโยชน์ขึ้นมากมาย

 

นอกเหนือจากการที่คนทั่วไปได้นำหลักการทรงงานที่ทรงพระราชทานไปใช้ในเรื่องของการพัฒนาชนบทหรือเกษตรกรรมแล้ว ในฐานะที่เกิดมาเป็นคนไทยคนหนึ่งในรัชกาลของพระองค์ จึงขอมีส่วนในการน้อมนำแนวทางที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ไว้ มาปรับใช้และขยายความโดยศาสตร์ทางจิตวิทยา ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในการพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ ให้ได้มากยิ่งขึ้น

 

จากหนังสือ “หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประชาชน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร., 2552) เราสามารถนำแนวทางที่พระองค์ทรงพระราชทานไว้มาประยุกต์หรือปรับใช้ในการบริหารให้มีทุกคนที่มีส่วนร่วม มีความสุขได้ตามลำดับดังนี้

 

 

ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ

 

ก่อนที่เราจะเริ่มบริหารงาน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข กำหนดนโยบายหรือทำอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ ครบถ้วน เช่น ในเรื่องที่กำลังสนใจอยู่นี้ มีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง มีข้อมูลอะไรที่จำเป็นต้องรู้บ้าง และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อมูลที่มีนั้นเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้

 

ในเรื่องนี้พระองค์ท่านได้ลงมือทำให้เห็นด้วยการออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทั้งยังสอบถามทั้งจากข้าราชการ นักวิชาการ ราษฎรในพื้นที่ ตลอดจนข้อมูลจากแผนที่ต่างๆ เพื่อให้รายละเอียดอย่างครบถ้วนก่อนที่จะพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและตรงความต้องการ

 

ดังนั้นการที่ผู้นำจะกำหนดนโยบายอะไร ย่อมจะต้องลงพื้นที่หาข้อมูลความต้องการจำเป็นที่แท้จริง ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อย่างครบถ้วน ฟังให้มาก เพื่อที่จะวางแผนการทำงานได้รัดกุมและรอบคอบมากยิ่งขึ้น หากผู้นำมองเฉพาะความต้องการของตนหรือเฉพาะเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึงเป็นสำคัญแต่เพียงอย่างเดียว ย่อมจะพัฒนาไปได้อย่างยากลำบากและทำให้ทั้งผู้นำและผู้ตามมีความสุขในการทำงานน้อยลง

 

 

ระเบิดจากข้างใน

 

พระองค์ทรงตรัสว่า เรื่องการพัฒนาคน ต้องระเบิดจากข้างใน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่เราจะไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำความเจริญจากบุคคลภายนอกเข้าไปหาชุมชนที่ยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว

 

จากหลักการนี้ เราสามารถนำไปประยุกต์ในการบริหารหรือพัฒนาองค์การ โดยการให้ความสนใจกับคนในองค์การ ต้องพัฒนาให้เขามีความรู้ความเข้าใจ มีความพร้อม สร้างให้เขามีความสามารถและกระตุ้นให้เขาเกิดความอยากที่จะเปลี่ยนและพัฒนาด้วยตนเอง ด้วยให้เขาระเบิดจากข้างใน ศัพท์ทางจิตวิทยาเราจะใช้คำว่า แรงจูงใจภายใน หรือแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง ซึ่งกระบวนการนี้อาจจะต้องใช้เวลาบ้างสักหน่อย แต่หากผู้นำสามารถทำได้ ย่อมจะทำให้การบริหารงานในองค์การนั้นมีความสุขมากยิ่งขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจากสมาชิกทุกคนในองค์การ

 

แก้ปัญหาที่จุดเล็ก

 

จากแนวคิดที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ไว้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ นั้น พระองค์ทรงมองในภาพรวม (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ (Micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออก เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน (Micro) มันไม่ได้เป็นการแก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้ (Macro)”

 

จากหลักการนี้สามารถนำไปประยุกตในการทำงานของผู้นำได้ โดยการมองปัญหาของผู้นำนั้น โดยทั่วไปแล้วผู้นำมักจะจับที่เป็นปัญหาที่สำคัญ ถือเป็นประเด็นเร่งด่วน ต้องทำให้ได้ จนบางครั้งทำให้ละเลยปัญหาที่ดูเหมือนเล็กน้อยของคนในองค์การ แล้วปล่อยให้คนองค์การนั้นๆ แก้ปัญหาของตัวกันเอง ซึ่งส่งผลให้ปัญหาที่สำคัญก็แก้ไม่ได้ เพราะปัญหาเล็กๆ เฉพาะหน้าของคนในองค์การนั้นไม่ได้รับการแก้ไข แต่ก็พูดอะไรไม่ได้ เนื่องจากเกรงจะได้รับผลกระทบ

 

ดังนั้นหากเราจะประยุกต์หลักการทรงงานข้อนี้มาใช้ ผู้นำควรต้องทำตัวให้เป็นที่เข้าถึงได้ง่าย ลงไปหาคนในองค์การ ฟังสิ่งที่เป็นปัญหาเล็กๆ ของเขาเหล่านั้นแล้วช่วยกันประคับประคองแก้ไข เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถจะลุกขึ้นยืนและก้าวไปกับผู้นำเพื่อจะแก้ปัญหาใหญ่ๆ ขององค์การให้ได้

 

 

ทำตามลำดับขั้น

 

พระองค์จะทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน ใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด”

 

จากหลักการนี้ เราสามารถนำไปประยุกต์ในการบริหารหรือพัฒนาองค์การได้ โดยเริ่มการพัฒนาในสิ่งที่จำเป็นที่สุดของคนในองค์การเสียก่อน ด้วยวิธีการเติมเต็มสิ่งที่ขาดอย่างเหมาะสม ถูกวิธีและถูกหลักวิชาการ ให้เขามีศักยภาพที่จะทำงานในส่วนที่เขารับผิดชอบเพิ่มขึ้น ทำให้เขามองเห็นเป้าหมายในการที่จะก้าวไปพร้อมกับองค์การ และก้าวไปยังเป้าหมายที่สูงขึ้นอย่างเป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน การพัฒนาอย่างเป็นลำดับขั้นที่กล่าวมานี้ย่อมจะทำให้องค์การค่อยๆ พัฒนา เจริญขึ้นอย่างเป็นลำดับและมั่นคง ไม่ใช่เจริญอย่างรวดเร็ว แต่พอหมดคนที่จะกระตุ้นหรือกำกับดูแล องค์การที่คิดว่าพัฒนาไปแล้วนั้นก็อาจจะล้มลงอย่างน่าเสียดาย

 

 

ต้องคำนึงถึงภูมิสังคม

 

คำว่า “ภูมิสังคม” เป็นคำใหม่ที่พระองค์ทรงพระราชทานให้กับพวกเราชาวไทย และพระองค์ทรงใช้หลักการทรงงานที่เน้นภูมิสังคมนี้เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ การคำนึงถึงภูมิสังคม หมายถึง การคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไรและสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน

 

การนำหลักการทรงงานข้อนี้มาใช้ สามารถทำได้โดยการที่ผู้นำต้องรู้ถึงลักษณะของคนในองค์การว่ามีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านความคิด จิตใจ นิสัยใจคอ ตลอดจนมุมมองและทัศนคติ ความเชื่อ วัฒนธรรมในการใช้ชีวิต ดังนั้นในการที่เราจะบริหารคนที่แตกต่างกันแต่อยู่ในองค์การเดียวกัน ให้มีเป้าหมายตรงกันคือพัฒนาองค์การให้ก้าวไปข้างหน้า จึงต้องอาศัยความเข้าใจในการใช้คน การกระตุ้น การจูงใจ การสร้างศรัทธาและรวมใจคนที่ต่างกันให้หันมาร่วมใจกันเพื่อพัฒนาองค์การ เป็นการยากที่ผู้นำจะไปเปลี่ยนนิสัยคนที่ต่างกันให้เหมือนกันเพื่อที่จะทำงานด้วยกัน แต่จะง่ายกว่าหากผู้นำจะเข้าใจเขาหล่านั้น ด้วยความรัก เชื่อใจ ให้คุณค่ากับความแตกต่างของคนที่ต่างกัน และพาเขาเหล่านั้นให้พัฒนาเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชูพงศ์ ปัจมะวัต

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

การกล้าแสดงออกในวัฒนธรรม (องค์การ) ไทย

 

“การไม่กล้าคิด กล้าทำ และกล้าแสดงออก” เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้คนเราไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน อีกทั้งยังอาจทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้อื่นได้ง่ายอีกด้วย

 

ดังนั้นการฝึกให้พนักงานแสดงพฤติกรรม Assertive หรือกล้ายืนหยัดในความคิดของตน จึงได้รับความสนใจจากองค์การจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันตก เพราะเป็นคุณลักษณะส่วนบุคคลที่จะช่วยป้องกันบุคคลจากความเครียด หรือความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงาน

 

อย่างไรก็ตาม การกล้ายืนหยัดในความคิดและกล้าทำนั้นอาจดูเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนไทย แต่สำหรับคนในตะวันตกส่วนใหญ่จัดเป็นเรื่องปกติที่ทำกัน เช่น หากมีคนเดินเข้ามาลัดคิวเราขณะเรากำลังยืนเข้าคิวซื้ออาหาร และเราบอกว่า “คุณคะ ช่วยไปต่อคิวตามลำดับนะคะ” พฤติกรรมนี้จัดเป็น Assertiveness แต่ถ้าเราชักสีหน้าใส่เขาพร้อมทั้งต่อว่าเขาว่า “นี่คุณไม่เห็นหรือไงว่ามีคนยืนเข้าคิวกันอยู่ ไปต่อคิวข้างหลังสิ” พฤติกรรมนี้จัดเป็น Aggressiveness บางคนอาจสับสนคิดว่าการทำตัวกร่าง ก้าวร้าว เป็นการแสดงความ Assertiveness พฤติกรรมใดก็แล้วแต่หากเป็นการมุ่งโจมตี ทำร้ายอีกฝ่าย จนส่งผลกระทบทางจิตใจหรือร่างกายของอีกฝ่าย จัดเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว

 

สรุปได้ว่า “Assertiveness คือ การที่บุคคลกล้าที่จะยืดหยัดในความคิด ความต้องการของตนเพื่อที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงรุกรานของอีกฝ่าย หรือกล้าที่จะปฏิเสธคำขอร้องที่ไม่สมเหตุสมผลจากผู้อื่น ด้วยวิธีที่ไม่ก้าวร้าว” (Newstrom, 2015)

 

อย่างไรก็ตาม การกล้าแสดงออกเพื่อรักษาสิทธิของตนอาจจะเป็นเรื่องยากหรือง่ายนั้นขึ้นอยู่กับบริบท หากเป็นตามตัวอย่างที่กล่าวถึงการถูกคนแปลกหน้าลัดคิวนั้น แม้ในสังคมไทย คนส่วนใหญ่อาจจะกล้าพูดออกมากับคนแปลกหน้าได้ไม่ยากเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่ทว่าหากเป็นบริบทในการทำงานกับคนที่เรารู้จักหรือมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดพอสมควร เราอาจเกรงใจจนไม่กล้าพูดอะไรออกไป

 

เช่น เกิดการโต้เถียงกันเกี่ยวกับกระบวนการทำงานในแผนกที่คุณทำงานอยู่ ลึก ๆ แล้วคุณอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของอีกฝ่าย แต่ก็เลือกที่จะเก็บอาการไม่พูดอะไรออกไป จนคุณต้องยอมเสียเปรียบอีกฝ่ายเพื่อพยายามรักษาสัมพันธภาพเอาไว้เพราะเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ซึ่งการกระทำเช่นนี้อาจดูเหมือนจะดีเพราะเป็นการพยายามหลีกเหลี่ยงความขัดแย้ง แต่ในระยะยาวอาจไม่ส่งผลดีเท่าไรนัก

 

มีงานวิจัยมากมาย (Rabin & Zelner, 1992) ที่พบว่า คนขาด Assertiveness มักประสบปัญหากับการสื่อสารที่ขาดความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ในการทำงาน เนื่องจากอาจไม่กล้าที่จะถามหัวหน้าที่มอบหมายงานให้กระจ่างว่าขอบเขตการทำงานของตนคืออะไร จึงอาจส่งผลให้มีความพึงพอใจในการทำงานที่ต่ำ และกระทบต่อสุขภาวะทางจิตใจอีกด้วย

นอกจากนี้งานวิจัยของ Moreno-Jiménez, Rodríguez-Muñoz, Moreno และ Autónoma (2007) ยังพบว่า Assertiveness นั้นยังเป็นคุณลักษณะส่วนบุคคลที่ช่วยป้องกันเราจากการถูกรังแก หรือถูกปฎิบัติอย่างไม่ยุติธรรมในที่ทำงานอีกด้วย เนื่องจากคนที่ไม่กล้ายืนหยัดในความคิดตนเองมักจะไม่ค่อยกล้าเผชิญกับปัญหาเพื่อปกป้องสิทธิของตน และมักจะหลีกเหลี่ยงปัญหาด้วยเลือกที่จะทำพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อตนเอง เช่น การขาดงาน การลาออกจากงาน เป็นต้น

 

แน่นอนอาจะเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลาย ๆ คนที่จะฝึกตนเองให้กล้ายืนหยัดในสิทธิของตนมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่มีวัฒนธรรมที่อ่อนน้อม มีความปรองดอง เอื้ออารี และเป็นมิตรต่อกัน จึงทำให้ใครหลายคนกลัวว่าหากพูดตรงไปตรงอาจไปกระทบความรู้สึกของผู้อื่นได้ จนอาจนำไปสู่ปัญหาในการทำงานมากมาย เช่น เจ้านายบอกว่าให้ทำรายงานการประชุมให้เสร็จภายในเวลาเพียงสองวัน แต่ทว่าเนื้อหาที่ต้องสรุปเป็นรายงานส่งนั้นต้องใช้เวลามากกว่านั้นเป็นอาทิตย์ อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงที่พนักงานในแผนกลาหยุดพักร้อนกันหลายคน จึงมีคุณกับเพื่อนร่วมงานอีกคนที่ต้องช่วยกันทำให้เสร็จ ด้วยความที่ไม่กล้าต่อรองกับเจ้านายจึงทำให้รับปากไปทั้ง ๆ ที่ทำไม่เสร็จแน่นอน ดังนั้นเราควรเรียนรู้ที่จะฝึกการกล้ายืนหยัดในความคิด ซึ่งวิธีที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพคือเน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสาร

 

ขั้นแรก เราต้องอธิบายให้เจ้านายฟังว่าเขาทำพฤติกรรมอะไร เช่น เขามักเร่งรีบให้ทำงานที่มีเนื้องานในปริมาณมากโดยให้กำหนดเวลาส่งงานที่กระชั้นชิดเกินไป และทำสำเร็จได้โดยยาก

 

ขั้นที่ 2 แสดงออกให้เขารู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับพฤติกรรมของเขา เช่น คุณรู้สึกเครียดและไม่เป็นธรรมที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อที่จะรีบทำงานให้เสร็จตามกำหนดการที่มอบหมาย จนหลายครั้งที่คุณรู้สึกท้อแท้

 

ขั้นที่ 3 แสดงความเข้าอกเข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำพฤติกรรมนั้น เช่น เข้าใจว่าที่เขาต้องการให้งานเสร็จลุล่วงโดยเร็วเพื่อที่จะไม่ค้างคาจนส่งผลกระทบงานอื่น ๆ

 

ขั้นที่ 4 เสนอทางเลือกในการแก้ปัญหา เช่น บอกเจ้านายว่าคุณต้องการให้เขาทบทวนความเหมาะสมของกำหนดการส่งงานที่ดูเป็นไปได้มากกว่านี้กับปริมาณและความยากของงาน

 

ขั้นที่ 5 ระบุผลลัพธ์ที่จะตามมาว่าหากเขาไม่ทำพฤติกรรมนั้นคุณจะรู้สึกหรือเป็นอย่างไร จะนำไปสู่ผลลัพธ์ทางบวกอะไรบ้าง เช่น “หากได้เวลาทำรายงานมากกว่านี้ จะทำให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดครบถ้วนและลดความผิดพลาดในการทำงาน”

 

อย่างไรก็ตาม เราควรพิจารณาว่าเรื่องใดบ้างที่เราจำเป็นต้องยืนหยัดในความคิด และความต้องการของเรา ซึ่งทำได้ไม่ยาก อาจจะถามตัวเองก่อนว่า หากเรารับปากหรือทำตามคำขอร้องของอีกฝ่ายไปจะเกิดผลที่ตามมาอย่างไรบ้าง ลองประเมินผลที่จะเกิดตามมาดูว่าส่งผลกระทบต่อตัวเราและผู้อื่นอย่างไรบ้าง

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Moreno-Jiménez, B., Rodríguez-Muñoz, A., Moreno, Y.,& Autónoma, E. G. (2007). The moderating role of assertiveness and social anxiety in workplace bullying: Two empirical studies. Psychology in Spain, 11(1) 85-94.

 

Newstrom, J.W. (2015). Organizational Behavior: Human Behavior at Work (14th Ed), New York, N. Y.: McGraw-Hill Education.

 

Rabin, C. & Zelner, D. (1992). The Role of Assertiveness in Clarifying Roles and Strengthening Job Satisfaction of Social Workers in Multidisciplinary Mental Health Settings. British association of Social Workers, 22(1), 17-32.

 

ภาพจาก http://mentalhealthresource.blogspot.com/2012/09/assertiveness-what-is-it-barriers-to.html

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

สังคมก้มหน้า : Am I addicted to social media?

 

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่มักรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือวิตกกังวล ทุกครั้งที่ไม่สามารถเข้าไปใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ได้ตามปกติ? แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน บอกว่าคุณกำลังเสพติดสื่อออนไลน์หรือไม่?

 

จากสถิติการใช้งานสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียในบ้านเรา อาจพูดได้ว่า คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

โดยสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด นั่นก็คือ Facebook ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 41 ล้านคน คิดเป็น 60% ของประชากรในประเทศ และมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก

 

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ใช้กับคุณภาพของการใช้ อาจไม่ได้สอดคล้องกันเสมอไป เพราะหลายๆ ครั้งที่เรามักพบเห็นรูปแบบการใช้งานที่ไม่เหมาะสม เช่น การแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหยาบคาย การโพสต์รูปภาพยั่วยวนอนาจาร เป็นต้น ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคม เริ่มแสดงความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปริมาณและความถี่ในการใช้งาน เพราะเราเองก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน เราก็มักพบแต่คนก้มหน้าหยิบโทรศัพท์มือถือออกมา แชท โพสต์ภาพ เช็คอินในโลกโซเชียล หรือแม้แต่ตามสอดส่องข้อมูลว่าใครกำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไร!

งานวิจัยในต่างประเทศที่ศึกษาพฤติกรรมการเสพติดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดโดยตรง พบว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมการเสพติดสิ่งหนึ่งสิ่งใด มักจะมีความหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น จนเกิดปัญหาตามมา โดยสามารถจำแนกออกเป็นอาการย่อยๆ ได้แก่

 

  1. มักจะมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น หรือสิ่ง ๆ นั้นอยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้ทำพฤติกรรมนั้น ๆ อยู่ก็ตาม ถ้าหากมองถึงการใช้โซเชียลมีเดีย คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ ที่ในช่วงระหว่างวัน มักคิดวนเวียนอยู่ตลอดว่า มีใครติดต่อคุณผ่านโซเชียลมีเดีย มีใครโพสต์อะไรอื่นๆ ที่คุณยังไม่ทราบในโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่คุณมีความต้องการที่จะเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ หรือแชร์ข้อมูลส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา
  2. มักมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างฉับพลัน เมื่อได้ทำพฤติกรรมนั้น ๆ เช่น เมื่อได้ใช้โซเชียลมีเดียแล้ว รู้สึกผ่อนคลายทันที กระปรี้กระเปร่าทันที หรือพูดง่าย ๆ คือ คุณพึ่งพาโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างอารมณ์ที่ดีบางอย่างให้เกิดขึ้นหรือไม่
  3. ความรู้สึกหงุดหงิดเมื่อไม่ได้ทำพฤติกรรมนั้น ๆ คุณเคยมีประสบการณ์ที่ไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียได้ แล้วเกิดความรู้สึกเศร้า หงุดหงิด อารมณ์เสีย หรือโมโหหรือไม่ หรือหากพ่อแม่ ผู้ปกครองของคุณห้ามไม่ให้คุณใช้โซเชียลมีเดีย คุณมีอาการโกรธโมโหเป็นฟืนเป็นไฟหรือเปล่า
  4. มีความขัดแย้ง ทะเลาะกับผู้อื่น หรือมีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต อันเกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น ปัญหาด้านการเรียน ปัญหาด้านการทำงาน หรือปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
  5. ไม่สามารถเลิกทำพฤติกรรมนั้น ๆ ได้ แม้จะใช้ความพยายามอย่างมากก็ตาม และแม้จะเลิกทำพฤติกรรมดังกล่าวได้ ก็มักเป็นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น หลังจากนั้น จะมีโอกาสสูงที่กลับมาทำพฤติกรรมเดิมซ้ำอีกครั้ง โดยมีแนวโน้มที่วงจรของการเสพติดจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่เคยพยายามเลิกเล่นโซเชียลมีเดีย แต่สุดท้ายก็กลับมาเล่นอีก และในบางกรณีอาจจะใช้งานในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

 

หากคุณมีอาการเข้าข่ายในทุกข้อที่กล่าวมาทั้งหมด คุณอาจกำลังตกเป็นเหยื่อจากการใช้โซเชียลมีเดียอยู่ก็เป็นได้

 

 

คำถามตามมาที่น่าสนใจ คือ ทำไมคนเราจึงเสพติดโซเชียลมีเดีย?


 

ผลการวิจัยในต่างประเทศพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะที่คนเราใช้งานโซเชียลมีเดียอยู่นั้น สมองของเราจะหลั่งสารเคมีที่ชื่อว่า โดพามีน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจ ความปิติยินดี เมื่อโดพามีนถูกหลั่งออกมาจากสมอง จะทำให้เกิดความสุข รู้สึกผ่อนคลาย เรียกว่า reward circuit (วงจรแห่งรางวัล) แต่หากไม่ได้รับการกระตุ้นจากการทำพฤติกรรมนั้นๆ โดพามีนก็จะหยุดทำงาน ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด โมโหหรือเซื่องซึมได้ ซึ่งโดพามีนนี้เองเป็นสารตัวเดียวกันกับที่พบในผู้ที่กำลังใช้สารเสพติด

 

สำหรับโซเชียลมีเดีย รางวัลที่ผู้ใช้จะได้รับจากการใช้งาน สามารถมองได้ในแง่ของการได้รับความสนใจ คำชื่นชมจากผู้อื่น ซึ่งสัญญาณที่จะทำให้เรารู้ว่า มีคนพูดถึงเราอยู่ หรือพูดง่ายๆว่า “รางวัลกำลังจะมาแล้ว” นั่นก็คือระบบการแจ้งเตือน หรือ notification ที่ทำหน้าที่เสมือนโทรโข่งที่คอยบอกให้เรารู้ว่า กำลังมีคนพูดถึงเราอยู่ และเขาเหล่านั้นอาจจะกดไลค์ แสดงความคิดเห็น หรือแชร์ข้อความของเราก็ได้

 

แต่สิ่งสำคัญอีกประการของวงจรรางวัลที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย นั่นคือ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า รางวัลนั้นจะมาเมื่อไหร่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางหลักจิตวิทยาที่เรียกว่า การเสริมแรงแบบไม่แน่นอน กล่าวคือ เมื่อมีการวางเงื่อนไขต่างๆ เช่น การให้รางวัล พฤติกรรมใดที่เราทำแล้วได้รับรางวัล เรามีแนวโน้มจะทำพฤติกรรมนั้นมากขึ้นกว่าเดิม แต่รูปแบบการให้รางวัลที่จะทำให้เรามีแนวโน้มทำพฤติกรรมนั้นๆ มากที่สุด คือการเสริมแรงแบบไม่แน่นอนนั่นคือ เมื่อไม่รู้ว่ารางวัลนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ และรางวัลนั้นจะมีปริมาณมากแค่ไหน คล้ายๆ กับการซื้อลอตเตอรี่ ที่เราไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่จะถูกล็อตเตอรี่ และจะถูกเท่าไหร่

 

เปรียบเทียบกับกรณีการใช้โซเชียลมีเดีย เราไม่สามารถทราบได้เลยว่า เมื่อไหร่ที่จะมีการแจ้งเตือนมาถึงเรา และในการแจ้งเตือนนั้น ๆ จะมีปริมาณกี่ครั้ง จะมีคนกดไลค์หรือชื่นชอบสถานะของเรา หรือรูปของเรากี่คน ทำให้ผู้ใช้งานมีแนวโน้มที่จะคอยตรวจสอบอยู่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ ด้วยความสะดวกในการเข้าถึงโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต ยิ่งเพิ่มโอกาสในการใช้โซเชียลมีเดียของคนเราได้มากขึ้น ดังนั้น โอกาสที่คนเราจะเสพติดสื่อออนไลน์ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ดังนั้น หากระบบแจ้งเตือนคือปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่เพิ่มความถี่ในการใช้โซเชียลมีเดีย หนทางในการลดปริมาณการใช้งาน จึงอาจเริ่มจากการจัดการระบบการแจ้งเตือน เช่น ลดการแจ้งเตือนเรื่องที่สำคัญน้อยๆ ออกไป หรือยกเลิกการแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ

 

ต่อมาคือ การจำกัดเวลาของการใช้งานในแต่ละวันให้พอเหมาะ เช่น หากคุณมีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อสื่อสารผู้คนผ่านโซเชียลมีเดีย ก็อาจตั้งเวลาไว้ว่า วันหนึ่งจะเช็คโซเชียลมีเดีย 3 ครั้ง เช่น ก่อนเรียน/ก่อนทำงาน ช่วงกลางวันพักเที่ยง และช่วงเย็นหลังเลิกเรียน/เลิกทำงาน โดยอาจค่อย ๆ จำกัดระยะเวลาการใช้งาน ครั้งหนึ่งไม่เกิน 10-20 นาที ก็อาจช่วยลดสภาวะการเสพติดโซเชียลมีเดียลงได้

 

ท้ายที่สุด ทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนมีสองด้านเสมอ เช่นเดียวกันกับการใช้โซเชียลมีเดีย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การมีสติรู้เท่าทันตนเองว่า กำลังทำอะไร พิมพ์หรือโพสต์อะไรลงไปในโซเชียลมีเดีย เพราะความรวดเร็วในการสื่อสารและแบ่งปันข้อมูลบนโลกออนไลน์ อาจแลกมาด้วยความเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Kuss, D. J., & Griffiths, M. D. (2011). Online social networking and addiction—a review of the psychological literature. International journal of environmental research and public health, 8(9), 3528-3552.

 

Griffiths, M. D. (2013). Social networking addiction: Emerging themes and issues. Journal of Addiction Research & Therapy, 4(5), e118.

 

Griths, M. D., Kuss, D. J., & Demetrovics, Z. (2014). Social networking addiction: An overview of preliminary findings. Behavioral addictions: Criteria, evidence and treatment, 119-141.

 

ภาพจาก https://pixabay.com/

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University