News & Events

สูงวัยที่ใจเป็นสุข

 

สังคมไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงวัย การเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุขคงเป็นที่พึงปรารถนาของคนทุกคน ต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ตรงทั้งด้านชีวิตและจิตใจของผู้สูงวัยที่มีความสุขรายหนึ่งที่สรุปเรียบเรียงมาจากการสัมภาษณ์

 

การเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุขนั้นย่อมมาจากการเป็นผู้ที่เตรียมตนมาดีตั้งแต่เยาว์วัย จนมาเป็นวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ ฯลฯ ตามลำดับ บทความนี้จึงมุ่งเสนอมุมมองสำหรับผู้อ่านทุกวัย ทั้งที่เป็นผู้สูงวัยในปัจจุบันและจะเป็นในอนาคต

 

Q: ท่านดูแลตนให้มีสุขภาพดีอย่างไร

 

A: สุขภาพแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ สุขภาพกายและสุขภาพใจ การดูแลสุขภาพกาย ทำได้โดยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่เป็นประโยชน์ตามเวลา คอยสังเกตตัวเองว่ามีอะไรที่ผิดปกติไปหรือเปล่า หากมีให้พบแพทย์โดยไม่รอช้า ส่วนการดูแลสุขภาพจิต ใช้การฝึกจิตอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เรารู้เท่าทันสิ่งที่กระทบ และไม่ถลำลงไปในอารมณ์ทางลบ

 

Q: เรื่องใดบ้างที่ทำให้ท่านยิ้มได้อย่างมีความสุข

 

A: การที่ได้ทำงานช่วยเหลือคนอื่นด้วยความรู้ความสามารถที่เรามี ด้วยตัวตนของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุข

 

Q: เมื่อมีปัญหาหรือความเครียดเกิดขึ้น ท่านมีวิธีการจัดการอย่างไรให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น

 

A: ความเครียดส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องคน ให้สังเกตใจของตัวเราเองว่าอะไรที่มากระทบและรับรู้ให้ทัน ไม่ไปเสริมแต่ง บางอย่างเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถจัดการได้ อาจใช้วิธีปรับเปลี่ยนสถานการณ์แทน เช่น คนที่พูดไม่ดี แสดงว่าเขามีจิตใจทางลบ เราต้องใช้สติและปัญญา ไม่แบกรับเอาความไม่ดีของคนอื่นมาเป็นอารมณ์ อาจหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปยุ่งด้วย หรือหาหนทางที่จะไม่กระตุ้นให้เขามีอารมณ์ทางลบเพิ่มขึ้นมา ตักเตือนหรือให้สติในกรณีที่เราสามารถเตือนได้และเมื่อใจของเขาเปิดรับ

 

หลักในการคิด เมื่ออยู่กับคน คือ เราต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ให้ร้ายใคร หรือแม้ใครให้ร้ายเรา เราก็ต้องนิ่งเฉย “เขากระทบแต่เราไม่กระเทือน”

ที่สำคัญ ทุกการกระทำต้องมาจากความปรารถนาดี และมีสติ

 

Q: ถ้าย้อนเวลาได้ ท่านอยากกลับไปมีชีวิตแบบตอนที่ท่านมีอายุเท่าใด เพราะเหตุใด

 

A: ไม่ขอย้อน เพราะรู้สึกพอใจกับการก้าวผ่านมาเรื่อยๆ และได้ก้าวอย่างมีสติมาตลอดแล้ว จึงพอใจกับทุกช่วงเวลาที่ตัวเองเป็น ตอนนี้ก็พอใจและมองว่าปีหน้าก็คงพอใจ

 

โดยปัจจุบันที่มีความสุขก็มาจากอดีตที่ได้สั่งสมมาดี ซึ่งชีวิตดีไม่ได้หมายความว่าโรยด้วยกลีบดอกไม้ แต่เป็นการ “อยู่ได้” ในทุกสถานการณ์ และมีเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจนว่าจะดำเนินชีวิตไปในทางไหนเพราะได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและเลือกแล้ว เข้าใจชัดเจนว่าสิ่งใดดี เราเลือกที่จะทำ สิ่งใดไม่ดี เราเลือกที่จะไม่ทำโดยเด็ดขาด จึงทำให้การดำเนินชีวิตและการตัดสินใจทุกย่างก้าวไม่สับสน แต่กลับมีความรู้สึกมั่นคง มีความสุข ไม่เดือดร้อน ไม่ดิ้นรน แต่ก็ไม่ได้หยุดทำงาน โดยงานที่ทำนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นงานทำให้มีชื่อเสียงหรือได้มาซึ่งเงินจำนวนมาก แต่เป็นงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางบวกให้แก่เพื่อนมนุษย์แม้เพียงน้อยนิดก็ยังดี

 

Q: มีเรื่องราวใดบ้างในอดีตที่ท่านรู้สึกประทับใจและยังคงจำได้จนถึงทุกวันนี้

 

A: สมัยเรียนตอนอายุประมาณ 18-19 ปี เคยไปเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือเด็กก่อนวัยเรียนที่ชุมชนคลองเตยทุกอาทิตย์ เป็นกิจกรรมของชมรม

ชุมชนคลองเตยในตอนนั้นยังไม่มีถนนต้องเดินข้ามสะพานไม้ผ่านแอ่งน้ำที่เน่าเสีย เด็กที่นั่นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีฐานะยากจน วันหนึ่งที่ชุมชนจัดงานปีใหม่ มีเด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 6 ขวบ ซึ่งได้รับรู้มาว่าเขามีพ่อติดเหล้า เลี้ยงลูกตามลำพัง โดยแม่ไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว วันนั้นเด็กคนนี้นำหมากฝรั่งในกล่องขนาดเล็กที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งของหัวแม่โป้ง และห่อด้วยกระดาษห่อของขวัญด้วยความประณีตตามความสามารถที่เด็กวัยเขาจะพึงทำได้ นำมายื่นให้พร้อมกับพูดว่า “ครู… ให้…” เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งใจอย่างยิ่งเป็นภาพที่สวยงามในชีวิตที่ยังจดจำได้จนถึงทุกวันนี้ ทำให้เห็นว่าความดีอยู่ในใจคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครที่ไหนอายุเท่าใด ถ้าเพียงแต่เราจะค้นและพบได้ แม้เด็กคนนี้จะดูเหมือนไม่สมบูรณ์แบบดังเช่นคนอื่น อยู่อย่างลำบากท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นสลัมหรือชุมชนแออัด แต่เขาก็ยังมีความกตัญญู เขาสามารถเป็นผู้ให้และซาบซึ้งในสิ่งที่คนอื่นทำให้เขาได้ และตั้งใจหาโอกาสตอบแทนตามกำลังที่ตนมี แม้มีอายุเพียง 6 ขวบ

 

สิ่งนี้จึงเป็นกำลังใจในการทำงานและทำให้ชื่นชมคนรอบๆ ตัวได้เสมอ โดยไม่ได้สนใจดูที่เปลือก แต่เป็นการมองให้เห็นคุณงามความดีที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจ

 

Q: ท่านทำอย่างไรให้คนในสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่เกิดความแตกแยก

 

A: ความเห็นแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา อาจมองเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำที่ทำให้เราได้เปิดความคิดและโลกประสบการณ์ของตัวเราเอง ดังนั้น ความหลากหลายเป็นสิ่งที่งดงาม แต่ปัญหาคือการอยู่กับความแตกต่างอย่างยอมรับต่างหาก บางคนรับคนที่คิดไม่เหมือนกับตัวเองไม่ได้ เราจึงต้องคอยถามตัวเองเสมอๆ ว่าเราเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า อย่างเช่น การเห็นภาพบนรถไฟฟ้าที่ผู้คนจำนวนมาก connect กับอุปกรณ์สื่อสารมากกว่ามนุษย์ที่อยู่รอบๆข้าง จนทำให้บางครั้งเขามองข้ามมนุษย์ที่ต้องการความช่วยเหลือ สำหรับตนเองแล้วภาพเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับได้ สิ่งที่พยายามจะทำคือการทำความเข้าใจและตั้งใจว่าจะไม่เป็นแบบนั้น ไม่เป็นทาสของเทคโนโลยีและความสะดวกสบาย ไม่ละเลยความเดือดร้อนของผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา

 

สรุปก็คือ มองว่าทุกคนมีความเป็นคน เป็นคนที่มีคุณค่าในมุมใดมุมหนึ่ง หรือหลายๆ มุม เรามีจุดยืนของเราได้แต่ต้องเคารพคนอื่นในฐานะมนุษย์ด้วย

หากเป็นกลุ่มเพื่อนเราก็แบ่งปันความคิดของเราโดยที่ไม่ต้องไปเปลี่ยนความคิดใคร หรือหากเป็นเรื่องความแตกต่างทางความคิดหลักของสังคม เราต้องคอยสังเกตตัวเองว่าเราเบียดเบียนสังคมหรือละเมิดคนอื่นหรือเปล่า ในความต่างของเรา ตัวเรามักต่อว่าคนที่ไม่เหมือนเรา หรือเรามักจะคิดว่าเขาต้องเหมือนเราหรือเปล่า ทุกครั้งที่คิดจะเปลี่ยนคนอื่น ต้องย้อนกลับมาต้องทบทวนตนเองและใคร่ครวญให้ดี

 

Q: สิ่งที่ท่านคิดว่าสำคัญที่สุดในชีวิตท่าน ณ ปัจจุบัน คืออะไร (สามารถตอบได้มากกว่าหนึ่ง)

 

A: การทำหน้าที่ให้บรรลุภารกิจตามที่มีอยู่ให้ครบถ้วนตามกำลังโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การดูแลครอบครัวซึ่งมีพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชราเรื่องความเป็นอยู่ สุขภาพทั้งกายและใจ

 

การทำหน้าที่ที่เป็นภารกิจการงานราชการ และงานจากภายนอกที่เป็นงานช่วยเหลือสังคม

 

Q: เหตุการณ์ใดหรืออะไรที่ทำให้ท่านรู้สึกภูมิใจที่สุดในชีวิต

 

A: การชนะใจตัวเองและให้อภัยคนที่คิดไม่ดีกับเรา คือสิ่งที่ภูมิใจที่สุด ไม่ว่ากับใครหรือกับเหตุการณ์อะไร การก้าวข้ามความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกเสียใจ โดยเฉพาะกับคนที่ทำร้ายเรา และสามารถเมตตาหรือปรารถนาดีกลับไปทั้งต่อหน้าและลับหลังได้ เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องอื่นๆ ที่เคยทำอะไรสำเร็จมาในชีวิตมากมายหลายอย่าง เช่น การได้รับทุน การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ การได้ติดบอร์ดเพราะสอบได้คะแนนดี หรือการเรียนจบเร็ว การได้ทำงานที่ถูกใจ กลายเป็นเรื่องที่น้อยนิด เมื่อเทียบกับการชนะใจตัวเองซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่า เพราะต้องฝึกจิตให้สงบ สังเกตใจตนเอง ฝึกมองจุดดีของคน

 

กับคนที่ทำร้ายเราถ้าเราเพ่งเล็งแต่สิ่งที่ไม่ดีที่เขาทำ จะทำให้เราเคลื่อนออกจากภาพลบนั้นยาก แต่ถ้าเรามองหาข้อดีของเขา เราจะเริ่มแยกแยะและเพ่งไปที่ส่วนดีที่เขามี แม้ไม่ได้ดีกับเรา แต่เป็นการที่เขาดีกับคนอื่นก็ได้ จะทำให้เราคลายใจได้ง่ายขึ้น และต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าพร้อมหรือเปล่า เรากำลังแบกรับสิ่งไม่ดีไว้ในใจหรือเปล่า ทำใจให้สมดุล ฝึกมองอะไรโดยแยกแยะตามความเป็นจริง ไม่มีใครดี 100 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวเราก็เหมือนกัน แต่ถ้าเราแบกแต่จุดดำที่เขาป้ายให้เรา เราก็จะเจ็บแค้น ไม่สามารถเคลื่อนภาพการมองไปเห็นข้อดีข้ออื่น แม้เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้ทำกับเรา แต่ทำกับอะไรก็ตาม

 

Q: ในความคิดของท่าน คำว่า “ผู้สูงวัยที่มีความสุขในชีวิตบั้นปลาย” คืออะไร

 

A: เป็นคนที่เต็มแล้ว คิดถึงสวัสดิภาพและความสุขของคนอื่นมากกว่าตัวเอง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เยินยอตัวเองหรือหวังลาภยศสรรเสริญอำนาจ แต่ยอมรับตัวเองตามสภาพที่เป็น เห็นคุณค่าในตนเองและขับเคลื่อนชีวิตตามจังหวะ ตามค่านิยมของเรา เห็นคุณค่าของทุกๆ ชีวิต และดำเนินชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แก่สังคม แก่โลก

 

Q: ท่านได้วางแผนหรือเตรียมการอย่างไร สำหรับการดำเนินชีวิตในวัยหลังเกษียณ

 

A: มีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น ทำกิจกรรมอื่นที่ทำอยู่แล้วแต่ทำให้มากขึ้น อย่างเช่น การช่วยมูลนิธิฯ การดูแลครอบครัว ดูแลทรัพย์สมบัติของครอบครัวให้เหมาะสม การทำงานเพื่อสังคม เป็นต้น

 

Q: ท่านมีโครงการหรือกิจกรรมใดบ้างที่ท่านคิดจะทำ (หรือได้ทำไปบ้างแล้ว) หลังเกษียณ

 

A: ช่วยเพื่อนร่วมวิชาชีพสานต่อโครงการ สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวจากเมื่อปีก่อน งานนี้เป็นงาน Intervention ที่มีผลการวิจัยรองรับ จึงหวังว่าจะมีโอกาสขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป เพราะการสร้างเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ความละเอียด ความรู้ความสามารถ และจังหวะที่เหมาะสม ถึงจะเปลี่ยนแปลงอย่างสวยงาม ไม่สามารถรวบรัดรีบร้อนได้

 

นอกจากนี้ ถ้ามีโอกาส ยังอยากทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาคน ด้วยความรู้ความสามารถที่มีอยู่ กับด้วยเครื่องมือหรือ Intervention ที่มีความชำนาญ

 

Q: ท่านคิดว่าตนมีความสามารถเชี่ยวชาญในเรื่องใด ท่านได้สอนหรือเผยแพร่ความรู้นั้นให้คนรุ่นหลังหรือไม่อย่างไร

 

A: เชี่ยวชาญด้าน Intervention เกี่ยวกับมนุษย์ อย่างเช่น Supervision in Counseling, Family Intervention ต่างๆ รวมทั้ง Career Development โดยนำความรู้ที่ได้เรียนและประสบการณ์ที่มีมาถ่ายทอดให้กับนิสิตในวิชาเรียน ซึ่งผลงานสำคัญของการเป็นครูอยู่ที่ตัวเด็ก บางคนกลายเป็นต้นกล้าที่ดีตามแบบที่คิดไว้ อย่างเช่น ลูกศิษย์ที่เรียนจบแล้วออกไปขับเคลื่อนสิ่งที่ดีงามให้กับสังคม ลูกศิษย์ที่ดีจึงทำให้คนเป็นครูภูมิใจและเป็นอีกหนึ่งที่มาของความสุข เป็นความสุขจากการได้เห็นสิ่งดีๆ เกิดกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านปัญญา ด้านความคิด หรือคุณธรรม ดังนั้น ผลงานจึงไม่ได้เกิดจากการโฆษณาตัวเองว่าทำอะไรไปบ้างแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวมนุษย์ที่เรามีส่วนขัดเกลาเขา ครูมีหน้าที่พัฒนาศิษย์ให้เป็นคนดี

 

Q: ท่านเรียนรู้อะไรจากการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของท่าน มีแนวทางการใช้ชีวิตอะไรบ้าง ที่อยากบอกคนรุ่นต่อไป

 

A:

  • จงเปิดรับประสบการณ์ เพื่อหาตัวตนที่แท้จริงให้พบ
  • จงเลือกอย่างฉลาด ด้วยการรู้ชัดในค่านิยมของตน และเลือกอย่างมีสติให้สอดคล้องกับค่านิยม ไม่ใช่ไม่เลือก ปล่อยไปตามกระแสสังคม
  • สิ่งสำคัญคือต้องมีศีลธรรม คิดว่าสิ่งที่เราทำต้องไม่ไปเบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น รวมถึงต้องไม่เบียดเบียนโลก บางครั้งเราอาจนึกไม่ถึง อย่างเช่น การใช้กระดาษเปลือง บางคนมองว่ามีเงินซื้อ โดยที่ไม่ได้มองไปถึงผลกระทบที่อาจตามมา ว่าหากเราใช้มากเกินจำเป็นก็อาจกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทำให้โลกร้อนขึ้นได้ ดังนั้น ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ประหยัด และมีความเหมาะสม อย่าหมกมุ่นครุ่นคิดแต่ผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับแต่ให้เปิดใจนึกถึงคนอื่น เพราะถ้าเราใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยก็อาจทำให้อายุการดำรงอยู่ของทรัพยากรลดลงและกระทบต่อคนรุ่นหลัง หรือแม้แต่การดำรงอยู่ของเราเองเช่นกัน

 

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

หัวหน้ากับการประเมิน 360 องศา

 

สำหรับ “คนทำงาน” โดยทั่วไป คงคุ้นเคยกับเรื่อง “การประเมิน” ต่าง ๆ ไม่มากก็น้อยนะครับ

 

เริ่มตั้งแต่การทดสอบความรู้ ทักษะ ความสามารถ หรือลักษณะต่าง ๆ ไปจนถึงการประเมินผลการทำงาน

 

และการประเมินก็ยิ่งจะซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าประเมินลูกน้อง ลูกน้องประเมินหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานประเมินกันและกัน

 

บทความนี้ก็จะพูดกันถึงเรื่องที่มันซับซ้อนนี่แหละครับ หรือจะว่าไปก็เป็นเรื่องเก่าเอามาเล่าใหม่

 

นั่นคือ การประเมิน “360 องศา” และเรื่องของ “หัวหน้า” หรือ “ผู้บังคับบัญชา” ในหน่วยงาน

 

 

การประเมิน 360 องศา

 

การประเมิน 360 องศานั้น มีแนวคิดที่ง่ายมาก นั่นคือ การให้ “คนทำงานรอบตัว” ให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงาน สมรรถนะ หรือลักษณะต่าง ๆ ของบุคคลเป้าหมาย ซึ่งคนทำงานรอบตัวในที่นี้จะหมายรวมถึง เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง และเจ้าตัวเองด้วย

 

เพราะฉะนั้นคำว่า “บุคคลเป้าหมาย” ในที่นี้ ถ้าจะให้เหมาะสม ก็ต้องเป็นหัวหน้างานระดับกลาง ๆ ที่มีทั้งลูกน้องและ “หัวหน้าใหญ่” ในระดับที่สูงกว่า การประเมินจะได้ครบ 360 องศา

 

ข้อมูลส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ “สมรรถนะทางการบริหารงาน” เช่น การวางแผน การตัดสินใจ หรือทักษะในการสื่อสาร และ “ประสิทธิภาพในการบริหารงาน”

เราจะไม่พูดถึงกระบวนการที่ดีสำหรับการประเมิน 360 องศา แต่เราจะขอตีกรอบมาพูดเกี่ยวกับ “ผลการวิจัย” ที่น่าสนใจ และพูดถึงเรื่อง “การรู้ตัว” (self-awareness) ของหัวหน้ากันครับ

 

 

 

ผลการวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประเมิน 360 องศา

 

ที่ผ่านมา นักจิตวิทยาพอจะเห็นภาพของการประเมิน 360 คร่าว ๆ จากผลการวิจัยต่อไปนี้

 

เรื่องแรก การประเมินตัวเองของหัวหน้ามักจะ “ไม่สอดคล้อง” กับการประเมินจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ แต่การประเมินจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ จะค่อนข้างสอดคล้องกัน เช่น การประเมินตัวเองของหัวหน้าจะไม่สอดคล้องกับการประเมินจากลูกน้อง แต่การประเมินจากลูกน้องจะค่อนข้างสอดคล้องกับการประเมินจากหัวหน้าใหญ่

 

เรื่องที่สอง เมื่อเปรียบเทียบกับ “ผลงานเชิงรูปธรรม” (objective criterion) เช่น ยอดขาย จำนวนลูกค้า หรือจำนวนโครงการที่ประสบความสำเร็จ การประเมินตัวเองของหัวหน้าจะแม่นยำน้อยกว่าการประเมินจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ

 

สองเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดามากครับ และมีหลายสาเหตุทีเดียว ที่ทำให้หัวหน้าประเมินตัวเองค่อนข้างที่จะเบี่ยงเบนไปจากการประเมินจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ และผิดเพี้ยนไปจากผลงานเชิงรูปธรรม

 

ตัวอย่างหนึ่งเช่น ปรากฏการณ์ความลำเอียงในการอนุมานสาเหตุ (fundamental attribution error) ที่ว่า เมื่อบุคคลทำอะไรแล้ว ถ้าได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดี เจ้าตัวมักจะอนุมานสาเหตุไปยังสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเอง แต่ถ้าได้ผลลัพธ์ที่ดี เจ้าตัวก็มักจะอนุมานสาเหตุมาที่ลักษณะต่าง ๆ ของตัวเอง ส่วนการอนุมานสาเหตุจาก “คนนอก” มักจะเป็นตรงกันข้าม

 

แต่ต้องบอกก่อนครับว่า ความลำเอียงนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะหัวหน้าเท่านั้น

 

คำถามต่อมาคือ ในเมื่อการประเมินจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ นั้น ดูเหมือนจะเป็นการประเมินที่ดีกว่า การประเมินตัวเองของหัวหน้า แล้วที่ว่า “แหล่งข้อมูลอื่น ๆ” นี้ แหล่งใดจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด

 

คำตอบคือ “การประเมินจากลูกน้อง” ครับ

 

มีงานวิจัยที่ทดสอบดูว่า การประเมินสมรรถนะทางการบริหารงานของหัวหน้าจากลูกน้อง หรือการประเมินสมรรถนะทางการบริหารงานของหัวหน้าโดยใช้ “ศูนย์ประเมิน” หรือ assessment center จะสามารถทำนายอนาคตได้ดีกว่ากัน โดยดูว่า การประเมินแบบใดจะสามารถทำนายประสิทธิภาพในการบริหารงานของหัวหน้าที่จะได้รับการประเมินจาก “หัวหน้าใหญ่” (เช่น CEO) ในอีก 2-4 ปีข้างหน้า

 

ผลปรากฏว่า การประเมินจากลูกน้อง สามารถทำนายประสิทธิภาพในการบริหารงาน ที่ประเมินจากหัวหน้าใหญ่ ได้ดีกว่าการประเมินจากศูนย์ประเมินเสียอีก

 

อนึ่ง การประเมินสมรรถนะ หรือลักษณะต่าง ๆ ของบุคคลด้วยศูนย์ประเมินนั้น ถ้ามีการออกแบบมาเป็นอย่างดี จะถือว่าเป็นการประเมินที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากเป็นการรวมเอาเทคนิคการประเมินและการวัดทางจิตวิทยาต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะประเมินพฤติกรรมการทำงาน หรือสมรรถนะต่าง ๆ ได้ตรงกับสภาพการณ์จริงในที่ทำงานมากที่สุด

 

 

หัวหน้าและ “การตระหนักรู้ตัว”

 

ในทางจิตวิทยา คำว่า การตระหนักรู้ตัว (self-awareness) อาจมีหลายความหมาย แต่สำหรับการประเมิน 360 องศา จะขอใช้ความหมายว่า “เป็นการเห็นตัวเองเหมือนกับที่คนอื่นเห็นเรา”

 

หัวหน้าที่ได้ดีจากการประเมิน 360 องศานั้น จะใช้ผลการประเมินให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการประเมินจากลูกน้อง สำหรับเป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนาตัวเอง โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ภาพของตัวเอง แล้วเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองต่อมา ให้สอดคล้องกับภาพของตัวเองที่ลูกน้องอยากจะให้เป็น

 

การประเมิน 360 องศา ก็เหมือนกับการหา “ภาพสะท้อน” จากมุมมองต่าง ๆ รอบตัว เพื่อเพิ่มระดับการตระหนักรู้ตัว และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานบางแห่งอาจรับเอาการประเมิน 360 องศาเข้ามาแบบ “ไม่ครบองศา” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขาดองศาเบื้องล่าง ลักษณะนี้ก็จะเป็นเพียงแค่การประเมิน 180 หรือ 270 องศาเท่านั้น

 

และหัวหน้าบางคนกลับหลีกเลี่ยงที่จะให้ลูกน้องประเมินตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายจาก 2 เหตุผลด้วยกัน เหตุผลแรกก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ข้อมูลที่ดีที่สุด ที่ทำนายสมรรถนะทางการบริหารงาน และประสิทธิภาพในการบริหารงานของหัวหน้า งานวิจัยพบว่ามาจากลูกน้อง ดังนั้นแล้วเท่ากับว่า หน่วยงานได้สูญเสียข้อมูลที่สำคัญที่สุดไป ถ้าระบบการประเมินไม่ครบ 360 องศา

 

ส่วนเหตุผลที่สองนั้นเกี่ยวกับลักษณะของหัวหน้าที่ดีครับ

 

ในทางจิตวิทยา “ทฤษฎีภาวะผู้นำ” มีมากมาย และทฤษฎีหนึ่งที่น่าจะได้รับการยอมรับค่อนข้างมาก คือ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ transformational leadership

 

ที่ได้รับการยอมรับนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ภาวะผู้นำลักษณะนี้ จะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลลัพธ์ดี ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลงานเชิงรูปธรรม หรือผลงานเชิงนามธรรม เช่น ความพึงพอใจในงานของลูกน้อง หรือการรับรู้บรรยากาศในการทำงานที่ดี

 

งานวิจัยพบว่า ยิ่งการประเมินตัวเองของหัวหน้า “ใกล้เคียงกับ” การประเมินจากลูกน้องมากเท่าใด ลูกน้องก็จะรับรู้ว่า หัวหน้าคนนั้นมีลักษณะเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” มากเท่านั้น

 

ประเด็นนี้สรุปรวมกับประเด็นก่อนหน้าได้ว่า ยิ่งหัวหน้ามีการตระหนักรู้ตัว และใช้ข้อมูลจากการประเมิน 360 องศา เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองมากเท่าใด ผลงานของหัวหน้าก็จะพัฒนามากเท่านั้น และพฤติกรรมของหัวหน้าก็จะโน้มเอียงไปทางการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นตามไป (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่เลื่อมใสของลูกน้อง)

 

 

ใครสมควรจะเป็นผู้ประเมินหัวหน้า

 

การประเมิน 360 องศามีเรื่องยุ่งยากเล็กน้อยครับ

 

เรื่องยุ่งยากที่ว่าคือ ใคร? สมควรจะเป็นผู้ประเมินหัวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมิติการประเมินจากลูกน้อง

 

เพราะในมิติอื่น ไม่ว่าจะเป็นการประเมินจากหัวหน้าใหญ่ หรือการประเมินจากเพื่อนร่วมงานระดับเดียวกัน ตัวเลือกจะมีไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นหัวหน้าที่ดูแลลูกน้องหลายสิบคน คำถามสำคัญคือ ลูกน้องคนใดจะเป็นผู้ประเมิน

ก่อนจะนำไปสู่คำตอบ จะขอพูดถึงผลการวิจัยเล็กน้อยครับ

 

งานวิจัยพบว่า ระยะเวลาที่ลูกน้องทำงานกับหัวหน้า ดูเหมือนจะไม่มีความสัมพันธ์กับความสอดคล้องระหว่างการประเมินจากลูกน้องและการประเมินตัวเองของหัวหน้า

 

นั่นหมายความว่า ระยะเวลาที่ลูกน้องกับหัวหน้าทำงานร่วมกัน ไม่น่าจะช่วยให้คน 2 คนนี้มีการรับรู้พฤติกรรมการทำงานของหัวหน้าใกล้เคียงกันเลย

ถ้าเป็นเช่นนี้ แล้วลูกน้องคนใดควรจะเป็น “แหล่งข้อมูล” ที่ดีเกี่ยวกับการทำงานของหัวหน้า ??

 

คำตอบนั้นง่ายมาก ก็คือลูกน้อง “ทุกคน” ที่อยู่ภายใต้การทำงานของหัวหน้าคนนั้น ซึ่งเมื่อก่อนอาจทำได้ยาก เพราะการรวบรวมคะแนนจากลูกน้องทุกคน คำนวณคะแนน และสรุปผลนั้น เป็นเรื่องใหญ่ แต่ตอนนี้เราสามารถใช้เทคโนโลยีในการจัดการข้อมูลได้ค่อนข้างง่าย ถ้ามีการวางระบบที่ดี โปรแกรมน่าจะคำนวณและสรุปทุกอย่างให้เสร็จสรรพ

 

คำตอบที่ง่ายนี้จะนำไปสู่คำถามที่ยากกว่านั้น คือ ถ้าการประเมินจากลูกน้องแต่ละคนนั้นแตกต่างกันมาก การประเมินส่วนนี้จะน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือถ้าน่าเชื่อถือเป็นบางส่วน เราควรจะเชื่อใคร (เพราะอย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่า ระยะเวลาที่ลูกน้องและหัวหน้าคลุกคลีกันมานั้น ไม่น่าจะเป็นคำตอบ)

 

คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับ “ลักษณะงานและประสบการณ์ของลูกน้อง” นั่นเอง

 

โดยทั่วไปลักษณะงานและประสบการณ์ของลูกน้องแต่ละคนที่ประเมินหัวหน้านั้นมีความแตกต่างกันอยู่บ้างครับ เช่น ลูกน้องบางคนมีโอกาสสังเกตพฤติกรรมของหัวหน้าเฉพาะในที่ประชุม ส่วนลูกน้องอีกกลุ่มหนึ่งมีโอกาสทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพราะอยู่ในโครงการเดียวกัน ฯลฯ ถ้าลักษณะงานและประสบการณ์ของลูกน้องมีความหลากหลายมาก เราก็ไม่ควรจะคาดหวังว่า ความเห็นของลูกน้องจะต้องมีความสอดคล้องกัน และการที่มันไม่สอดคล้องกันนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลของใครน่าเชื่อถือกว่ากัน แต่น่าจะเป็นเพราะว่า ลูกน้องแต่ละคนมีโอกาสที่จะสังเกตหัวหน้าของตัวเองในบริบทที่ต่างกันมากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะสรุปเช่นนั้นได้ เราจะต้องมั่นใจก่อนว่า เครื่องมือที่ใช้ประเมิน รวมไปถึงกระบวนการประเมินทั้งหมด เป็นการประเมินที่มีคุณภาพดีจากหลักฐานทางสถิติสนับสนุนหลาย ๆ อย่าง ซึ่งนี่ก็เป็นหน้าที่สำคัญของนักจิตวิทยาที่จะต้องออกแบบและตรวจสอบอยู่เสมอครับ

 

สมมติว่าการประเมินทั้งหมดมีคุณภาพดี ความแตกต่างของคะแนนจากลูกน้องแต่ละคน (หรือแต่ละกลุ่ม) นี้ จะเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของหัวหน้า

 

เพราะสุดท้ายแล้ว เราจะต้องมานั่งคิดกันว่า ข้อมูลที่แตกต่างกันนั้น “อะไร” กันแน่ที่ทำให้เกิดความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น เราอาจสังเกตว่า ลูกน้องในโครงการหนึ่งประเมินหัวหน้าว่าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ลูกน้องในอีกโครงการหนึ่งเห็นตรงกันข้าม สิ่งนี้น่าจะเป็นข้อมูลที่บอกว่า หัวหน้าอาจให้เวลาและทรัพยากรไม่เท่ากันระหว่างการบริหาร 2 โครงการ

 

ในกรณีนี้ ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกันถือเป็นประโยชน์

 

แต่ถ้าลักษณะงานหรือประสบการณ์ของลูกน้องแต่ละคนที่ประเมินหัวหน้ามีความคล้ายคลึงกันมาก เช่น ลูกน้องทำงานเหมือน ๆ กัน และมีโอกาสที่จะสังเกตพฤติกรรมของหัวหน้าในบริบทเดียวกัน แต่ข้อมูลมีความแตกต่างกันมาก เช่นนี้แล้วเราค่อยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูล (ถึงแม้ว่า “อคติ” ไม่ว่าของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้า หรือของหัวหน้าที่มีต่อลูกน้อง อาจอธิบายประเด็นนี้ได้ แต่สำหรับการอภิปรายกันตรงนี้ เราจะทำเป็นมองไม่เห็นสิ่งนั้นไปก่อนนะครับ)

 

จะขอทิ้งท้ายไว้ว่า ในการทำงานที่เน้น “ความหลากหลาย” ของบุคคลนั้น คงเป็นเรื่องยากที่เราจะคาดหวังว่า ข้อมูลการประเมินของลูกน้องแต่ละคนจะสอดคล้องกันมาก ประเด็นที่สำคัญกว่านั้น คือ หัวหน้า (และหัวหน้าใหญ่) จะใช้ข้อมูลส่วนนี้อย่างชาญฉลาดได้อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทีมงานมากที่สุด

 

 

สรุป

 

ข้อมูลที่แตกต่างกันของ ลูกน้อง ที่เป็นส่วนหนึ่งของการประเมิน 360 องศานั้น เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญและมีค่าอย่างยิ่ง ถ้าหน่วยงานคิดจะใช้การประเมิน 360 องศาแล้ว จะเป็นการดีที่สุด เมื่อการประเมินนั้น “ครบองศา” ครับ และถ้าผลการประเมินมีความแตกต่างกันมาก ให้พยายาม “ตั้งคำถาม” หาจนได้ว่า ความแตกต่างนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใด

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Alimo-Metcalfe, B. (1998). 360 degree feedback and leadership development. International Journal of Selection and Assessment, 6, 35-44.

 

Carless, S., Mann, L., & Wearing, A. (1998). Leadership, managerial performance and 360-degree feedback. Applied Psychology: An International Review, 47, 481-496.

 

Reyes, A. D., Thomas, S. A., Goodman, K. L., & Kundey, S. M. (2013). Principles underlying the use of multiple informants’ reports. Annual Review of Clinical Psychology, 9, 123-149.

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ยางลบที่หายไป กับปัญหาในชีวิต

 

“ยางลบโดเรม่อนหาย” เด็กน้อยร้องห่มร้องไห้พูดกับแม่ด้วยเสียงสะอื้น ทันทีที่แม่ได้ยินก็ตอบกลับว่าเดี๋ยวแม่ซื้อก้อนใหม่ให้นะ เด็กน้อยคนนี้ก็ยังคงรู้สึกไม่พอใจอยากได้ก้อนเดิม ไม่อยากได้ก้อนใหม่เพราะไม่เหมือนกับยางลบก้อนเดิม คนเป็นแม่ก็รู้สึกว่าก็แค่ยางลบเรื่องนิดเดียวเองจะก้อนใหม่หรือก้อนเดิมก็เหมือนกันนั่นแหละลูก และเด็กน้อยยังคงร้องไห้ต่อไป

 

คุณเคยทำยางลบหายบ้างหรือไม่?

 

หากพิจารณาจากมุมมองของเราในตอนนี้ ยางลบหายเป็นปัญหาที่เล็กมากจนถึงมากที่สุดเพียงแค่เดินออกไปซื้อใหม่ปัญหาก็จบทันทีมียางลบใช้ ขณะที่เด็กคนนี้รับรู้ว่ายางลบหายเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับเขา เขาคงรักยางลบก้อนนี้มาก และมันคงสำคัญกับเขามากจนกระทั่งไม่อยากสูญเสียมันไป ถึงแม้จะได้ก้อนใหม่ที่สวยกว่าก็ไม่อยากได้ ยังคงอยากได้ก้อนเดิมที่หายไป

 

อันที่จริงแล้วปัญหาของเด็กน้อยคนนี้ไม่ได้แตกต่างจากปัญหาของผู้ใหญ่เลยสักนิด เมื่อเติบโตขึ้นมา เจ้ายางลบก้อนนั้นก็กลายสภาพเป็นเรื่องอื่น ๆ ตั้งแต่ สอบตก สุนัขที่เลี้ยงไว้มานานก็ตายจากไป แฟนที่รักมากทิ้งเราไปมีคนใหม่ ทำธุรกิจแล้วขาดทุนติดหนี้ ป่วยเจ็บไข้เป็นโรคต่าง ๆ

 

ปัญหาเหล่านี้ทุกคนไม่ว่าใครก็ต้องพบเจอกับมัน ไม่มีใครที่หลีกหนีไปได้อย่างแน่นอน แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงหนีไม่พ้นจากปัญหาตรงนี้เช่นเดียวกัน พระองค์ทรงตรัสเปรียบเปรยถึงปัญหาเหล่านี้ว่า ทุกคนมีธนูสองดอก ดอกแรกทุกคนต้องโดนปักไม่มีใครรอดจากธนูดอกนี้ได้ ส่วนดอกที่สองบางคนก็โดนปักบางคนก็รอด ธนูดอกแรกคือปัญหาภายนอกที่ไม่ว่าใครก็ต้องเจอ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยจะเอื้ออำนวย ส่วนธนูดอกที่สองคือปัญหาที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างความเป็นจริงกับความปรารถนาที่เราต้องการ เป็นปัญหาภายในจิตใจของเราล้วน ๆ ไม่มีสิ่งใดมาเจือปน

 

ยางลบที่หายไปเป็นเพียงแค่ธนูดอกที่หนึ่งเท่านั้น เราอาจตอบตัวเองแค่เผลอทำหายไป ลืมทิ้งไว้ที่โต๊ะ หรือคนอื่นยืมไปใช้แล้วไม่ได้คืน การตอบตัวเองง่าย ๆ เหล่านี้สะท้อนถึงความเข้าใจที่ว่า “ยางลบไม่ได้อยู่กับเราตลอด” ความเข้าใจนี้เองที่ทำให้เราไม่โดนธนูดอกที่สองปักกลางอก และดำเนินชีวิตต่อไปด้วยการออกไปซื้อก้อนใหม่ก็สิ้นเรื่อง ธนูดอกที่หนึ่งถูกถอนออกอย่างง่ายดาย

แต่ทว่าปัญหาแฟนทิ้ง ปัญหาล้มละลาย ปัญหาสูญเสียคนในครอบครัว กลับเป็นปัญหาที่เราโดนธนูทั้งสองดอกปักคาอกจนไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เช่น อกหักเสียใจมากจนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นสัปดาห์ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการเรียนหรือการทำงาน แทนที่จะถอนธนูดอกที่หนึ่งออกด้วยความเข้าใจเช่นเดียวกับยางลบหายที่ว่า “แฟนก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอด” กลับโดนธนูดอกที่หนึ่งในเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำงานปักใส่เราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อโดนธนูยิงเข้าใส่เพิ่มมากขึ้น ๆ เราก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

 

ในทางตรงกันข้ามหากเราเอาธนูดอกที่สองออกไปได้ เราก็กลับมามีสติจัดการกับธนูดอกที่หนึ่งได้อย่างง่ายดาย เช่น เปิดใจรับคนใหม่เข้ามาในชีวิต หรือรักเธอแล้วแย่รักแม่ดีกว่า เป็นต้น และเราก็จะไม่โดนธนูดอกที่หนึ่งในเรื่องอื่น ๆ ด้วย

 

เมื่อเติบโตขึ้น “ไม่ได้อยู่กับเราตลอด” ค่อย ๆ ปรากฏออกมาให้เราเห็นผ่านทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรา ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาเท่านั้น แม้แต่ความสุขเองก็ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดเช่นกัน การฝึกมองเห็นปรากฏการณ์ “ไม่ได้อยู่กับตลอด” ผ่านชีวิตของเรา จึงเป็นทางลัดที่สุดในการทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมถึงให้เรารอดจากการปักของธนูดดอกที่สอง

 

ปัญหาในชีวิตก็เป็นเพียงแค่ยางลบที่หายไป

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

เด็กกับสื่อ

 

วันนี้เป็นวันที่น่าตื่นเต้นและสนุกสนานอีกครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะเป็นวันที่จะได้ลงไปสนทนากลุ่ม (Focus group) กับเด็กๆ ณ โรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร การสนทนากลุ่มเต็มไปด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร เด็กๆ ที่มาพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเด็กๆ รับทราบว่าพวกเขาถือเป็นตัวแทนของเด็กไทยในช่วงอายุ 10-12 ปีที่จะมาให้ข้อมูลว่าในวัยของพวกเขานั้น เขาเสพสื่ออะไรบ้าง? สื่อมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง? และถ้าเป็นรายการสำหรับคนในวัยของพวกเขาแล้ว เขาอยากได้รายการแบบใด?

 

คำตอบที่ได้หลายเรื่องน่าสนใจ เช่น เด็กวัยนี้ชอบรายการที่เป็นรายการเสมือนจริง (Reality Shows) มากกว่ารายการแบบเด็กเล็กที่เป็นการ์ตูนและดำเนินเรื่องราวช้าๆ ซ้ำๆ เพราะเด็กเรียนรู้แล้วว่าอะไรคือโลกแห่งความจริง และอะไรคือโลกสมมติ เด็กอยากได้เนื้อหาสาระที่สามารถไปช่วยพวกเขาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน สิ่งที่พวกเขาสนใจยังเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวของกับพัฒนาการตามวัยของพวกเขา การแก้ปัญหาเวลาอยู่กับเพื่อน การมีสัมพันธภาพในครอบครัว พวกเขาบอกว่า “พวกผมก็เครียดเรื่องเรียน เรื่องครอบครัวและเรื่องเพื่อนได้นะครับ” วัยนี้เป็นวัยที่จะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นในไม่ช้า ฉะนั้นเรื่องเครียดก็คงมากขึ้นจริง ๆ

 

พวกเด็กๆ ยังชอบหาความบันเทิงใส่ชีวิต ดังนั้นการดูละคร รายการที่มีเนื้อหาสนุกสนาน และภาพยนตร์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทว่าพวกเขายังสนใจเกมโชว์ เกมตอบปัญหา และสารคดีด้วย เพราะพวกเขาอยากได้สาระและความรู้เช่นกัน แม้ว่าจะสนใจน้อยกว่าละครและภาพยนตร์ก็ตามเถอะ

 

ที่น่าสนใจมากคือ เด็กๆ เหล่านี้เสพสื่อแทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย (เช่น Facebook, Youtube, Instragram เป็นต้น) เด็กส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขาชอบดูรายการต่างๆ ละคร หนัง และสารคดี ผ่านช่องทาง Youtube ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต้องการความต่อเนื่องและเบื่อโฆษณา” (สิ่งนี้คงไม่ต่างจากผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เช่นกัน) เด็ก ๆ ยังใช้เวลาในการเล่นเกมทางอินเทอร์เน็ต และที่หลายคนชอบมากคือ ดู Cast Game จาก Youtube

 

เมื่อถามว่าพวกเขาใช้เวลาโดยเฉลี่ยกี่ชั่วโมงต่อวันในการเสพสื่อ แน่นอนว่าไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ใช้สมาร์ทโฟน รอรถ อยู่ใน BTS นั่งรถเมล์ รอพ่อแม่มารับกลับจากโรงเรียนก็ดูได้ กลับมาถึงบ้านก็ดูได้ ผู้ปกครองบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะทางบ้านมีการกำหนดเวลาในการดูสื่อและเล่นอินเทอร์เน็ต คำถามคือ ท่านทำได้จริงหรือ? เพราะเด็กๆ บอกว่า พวกเขาแอบดูและส่วนใหญ่แอบดูหนัง ละคร และรายการที่มีเนื้อหาที่ไม่อยู่ในขอบเขตที่ผู้ปกครองกำหนดทั้งสิ้น!

 

การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า การปล่อยให้เด็กเสพสื่อต่างๆ ตามลำพังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การถูกชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เช่น การมีแฟน (ที่ไม่ดี) การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการถูกล่อลวงให้กระทำพฤติกรรมใดๆ ก็ตามที่เป็นอันตรายต่อตัวเด็ก การเสพสื่อที่มีเนื้อหาก้าวร้าวรุนแรง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างเสริมพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของเด็กด้วย ในเด็กบางคนอาจมีภาวะซึมเศร้าจากการเสพสื่อได้เช่นกัน

 

 

คงต้องมาตั้งคำถามกันว่า เราในฐานะผู้ปกครองและเป็นบุคคลใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดควรทำอย่างไร?

 

แน่นอนว่าเราไม่สามารถควบคุมและป้องกันเด็กได้ตลอดเวลา หน้าที่ของเราที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็น การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก และเป็นแบบอย่างของการเสพสื่อแก่เด็ก

 

การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ คือ การที่เราพยายามอยู่กับเด็กอย่างเข้าใจ ทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าการเป็นพ่อแม่ไม่ได้มีช่องว่างที่ห่างจนเกินไปกับลูก พ่อแม่ไม่ได้มีหน้าที่เลี้ยงดู ให้เงิน หรือบังคับให้เรียนพิเศษเพียงเท่านี้ แต่พ่อแม่ยังสามารถเป็นเพื่อนที่คอยให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาและเติบโตไปพร้อมกับพวกเขาได้ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นก้าวแรกที่จะช่วยให้เด็กๆ เปิดใจบอกเล่าและสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของพวกเขาสู่ผู้ใหญ่อย่างเราได้รับฟัง สิ่งที่จำเป็นต่อจากนั้นคงเป็นการใช้เวลาเสพสื่อบางอย่างร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสที่จะสอนและแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้มีประสบการณ์มากกว่า ตรงนี้เองจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กได้

 

นอกจากนี้ผู้ใหญ่อย่างเราคงต้องเป็นแบบอย่างในการเสพสื่อและเลือกสรรกิจกรรมที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิต ผู้ใหญ่อย่างเราเองก็น่าจะใช้สมาร์ทโฟนลดลง หากิจกรรมสนุกๆ ทำร่วมกับครอบครัวมากขึ้น แน่นอนสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและความเอาใจใส่จากผู้ปกครองเป็นอย่างมาก หลายท่านอาจคิดว่าไม่มีเวลามากพอที่จะทำได้ เพราะภาระหน้าที่ของเราต่างกัน ใช่…ทุกคนมีภาระต่างกันมากมาย คนมีเวลามากก็พูดได้ แต่สิ่งที่น่าคิดและอยากถามต่อมาคือ ท่านอยากให้ลูกๆ ของท่านเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน? อยากให้เขามีชีวิตอย่างไร? สังคมต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร? เพราะลูกของเราก็คือส่วนหนึ่งของสังคมและเขาก็จะเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสังคมด้วยเช่นกัน ดังนั้นมันถึงเวลาแล้วใช่หรือไม่ที่เราควรใส่ใจเรื่องเหล่านี้?

 

 

รายการอ้างอิง

 

O’Keeffe, G.S., &Clarke-Pearson, K. (2011). Clinical report: The impact of Social Media on children, adolescents, and families. Pediatrics, 799-805. DOI:10.1542/peds.2011-0054.

 

Strasburger, V. C., & Hogan, M. J. (2013). Children, adolescents, and the media. Pediatrics, 958-953. DOI: 10.1542/peds.2013-2656.

 

Winpenny, E. M., Marteau, T. M., & Nolte, E. (2014). Exposure of children and adolescents to alcohol marketing on social media websites. Alcohol and Alcoholism, 49(2), 154-159.

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ทำใจรับการจากลา

 

เช้าวันนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นวันทำงานวันธรรมดาวันหนึ่ง ที่เราตื่นแต่เช้า อาบน้ำ แต่งตัว ออกจากบ้าน เพื่อรีบฝ่าการจราจรในเมืองหลวงเพื่อไปทำงานให้ทันเวลา

 

แต่พอขับรถได้ไม่ถึงครึ่งทาง โทรศัพท์ดังขึ้น มาพร้อมกับข่าวเศร้าที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้ยิน “แม่เสียแล้ว!”

 

การพรากจากคนที่เรารัก โดยเฉพาะเมื่อคนรักหมดลมหายใจ จากเราไปอย่างไม่มีวันกลับคืน เป็นอุบัติการณ์หนึ่งที่เรียกได้ว่าพลิกเปลี่ยนชีวิตของเราไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ชีวิตประจำวันที่ได้รู้ว่าเรามีคนสำคัญมีชีวิตอยู่กับเรานั้นช่างสมบูรณ์ วันนี้ไม่มีอีกแล้ว

 

เมื่อคนรักได้จากไป เราก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าชีวิตเราได้ขาดอะไรไป รู้สึกคิดถึง รู้สึกติดค้าง อยากจะมีโอกาสอีกสักครั้งที่จะได้บอกรัก ได้พูดคุยกับคนผู้นั้นอีกสักครั้ง

 

แต่ความตาย เป็นความจริงที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเราไม่มีวันล่วงรู้ว่าการสูญเสียจะเกิดขึ้นเมื่อใด ความตายจึงเป็นเรื่องที่เร้นลับ น่าหวาดกลัว และไม่มีใครอยากให้คนที่เรารักตายจากไป เพราะนั่นหมายถึงว่า เราจะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนผู้นั้นอีกต่อไปแล้ว

 

ฉันรู้สึกชา หูอื้อ ชีวิตหลังจากนั้นดำเนินไปได้อย่างไรฉันยังไม่แน่ใจ เป็นเวลาเกือบปี กว่าจะตั้งสติได้ ยังเสียใจ ยังคิดถึง แต่เมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องอยู่ให้ได้

 

ช่วงเวลานั้น ฉันเต็มไปด้วยคำถามมากมาย ฉันเรียนจบมาทางจิตวิทยา ฉันศึกษาและพยายามเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับการทำใจรับกับการจากไปของคนที่รักนั้น มันช่างยากเย็น

 

มีคนบอกว่า วิญญาณของแม่ยังอยู่ นี่ไงได้กลิ่นธูป ฉันก็ไม่ได้กลิ่นอะไร

 

มีคนบอกว่าได้ฝันถึงแม่ แม่มาหาในฝัน ฉันมีฝันถึงการไปเที่ยวกับแม่ แต่ไม่ใช่ แม่ไม่ได้บอกอะไรกับฉันในฝัน

 

มีคนบอกให้ทำบุญใส่บาตรให้แม่ ฉันไม่รู้หรอกว่าไปถึงแม่จริงไหม แต่ก็สบายใจที่ได้ทำ

 

และก็มีนักจิตวิทยาจำนวนไม่น้อย ที่ทำงานวิจัยเพื่อทำความเข้าใจการรับมือกับการสูญเสีย ตามแนวคิดของนักจิตวิทยา มีวารสารเฉพาะทาง อย่าง Journal of Death and Dying ที่เสนองานวิจัยทางจิตวิทยาว่าด้วยเรื่องความตาย ความโศกเศร้า และ การสูญเสียคนที่รักโดยเฉพาะ อ่านแล้วได้ความรู้ ได้แนวทางไปปรับใช้ และเข้าใจตนเองได้ด้วย

 

 

ว่าด้วยระยะเวลาของความโศกเศร้า


 

แต่ละบุคคลมีระยะเวลาเยียวยาแผลใจช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน แต่ส่วนใหญ่มักจะก้าวผ่านภาวะนี้ไปได้ (Howarth, 2011) เริ่มเข้าใจความเป็นจริงที่ว่า เราต้องอยู่ต่อไปให้ได้ แม้ว่าคนที่เรารักจะไม่อยู่แล้ว และต้องกลับไปเข้าสังคม มีเพื่อน มีกิจกรรมอีกครั้ง (reconciliation)

 

กว่าจะทำใจได้นั้น เราต้องผ่านกระบวนการคิดทบทวนเกี่ยวกับความตายซ้ำ ๆ ผ่านการทบทวนเรื่องราว ประสบการณ์ความสัมพันธ์ที่มีกับผู้ที่จากไป ผ่านความคิดวนเวียน รู้สึกผิดกับเรื่องที่ยังไม่มีโอกาสได้พูดหรือได้ทำกับคนที่เรารัก

 

ถ้ายังสลัดความคิดความหลังที่ฝังใจเหล่านี้ไปไม่ได้ ปล่อยให้ยาวนานเรื้อรังเกิน 6 เดือนขึ้นไป จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็จะกลายเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ (Cohen, Mannarino, Greenberg, Padlo, & Shipley, 2002)

 

 

เราจะจัดการกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียนี้ได้อย่างไร


 

วิธีการจัดการกับความเศร้านั้น มีทั้งที่แบบทำแล้วได้ผลดี กับแบบที่ทำแล้วแย่ลง ซึ่งมักเกี่ยวกับวิธีคิดของเรานี่เอง

 

วิธีคิดที่ได้ผล คือ การพยายามทำความเข้าใจความเศร้า การสูญเสียของตนเอง (adaptive rumination)

 

ในทางพระพุทธศาสนา ก็น่าจะเปรียบได้กับการมีสติรับรู้เท่ากันอารมณ์ความรู้สึกของเรา เศร้าก็รู้ว่าเศร้า เจ็บก็รู้ว่าเจ็บ ไม่พยายามไปปิดกั้นหรือปฏิเสธความจริงที่เป็น แต่ให้ยอมรับตามความเป็นจริง ฝึกคิดเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ความทุกข์จากการสูญเสียค่อย ๆ ผ่อนคลาย

 

วิธีคิดที่ทำให้ยิ่งแย่ลง คือ ความคิดว่าโลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมกับเราเอาเสียเลย ทำไมถึงเป็นเราที่ต้องมาเผชิญกับการสูญเสียเช่นนี้ และมักคิดซ้ำ ๆ ว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้น ถ้าคนที่รักไม่มาจากไป ชีวิตเราน่าจะดีกว่านี้ (maladaptive rumination) ความคิดเช่นนี้ เป็นความคิดที่พยายามหลีกหนีจากความเป็นจริง ไม่ได้ช่วยให้เราหายจากความโศกเศร้าได้ ยิ่งคิดเช่นนี้ก็ยิ่งเป็นเหมือนการขุดหลุมให้จิตใจเรายิ่งจม หาทางออกได้ยาก (Eisma, Schut, Stroebe, Boelen, van den Bout, & Stroebe, 2014)

 

กลับมารัก ดูแลตัวเองและครอบครัว

 

การจมจ่อมอยู่กับความทุกข์ และการสูญเสีย ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น อย่าลืมว่า เรามีผู้ร่วมแชร์ความสูญเสียเดียวกัน ก็คือ คนในครอบครัว พี่น้องของเรานั่นเอง ถ้าเราต่างช่วยกันเสริมพลังใจของกันและกันให้เข้มแข็ง ดูแลกันและกันทั้งทางกายและทางใจ ก็จะช่วยให้เราร่วมกันก้าวผ่านกระบวนการนี้ไปได้

 

ดูให้ดี ๆ มีกำลังใจอยู่เยอะ

 

การสนับสนุนทางสังคม เช่น กำลังใจจากเพื่อนและคนรอบข้าง ช่วยให้เราก้าวผ่านความโศกเศร้าจากการสูญเสียคนรักได้ แค่มีเพื่อนซักคน เดินมาบอกกับเราว่า เขาเข้าใจเรา เพราะเขาก็เพิ่งสูญเสียคนที่รักเมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน เพียงเท่านี้ ก็ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้เผชิญกับเรื่องร้ายนี้เพียงลำพัง การมีเพื่อน มีสังคม จะช่วยให้เราฟื้นจากความโศกเศร้าได้ง่ายขึ้น ง่ายกว่าการเก็บตัวเงียบคนเดียว (Breen & O’ Connor, 2011)

 

ทำใจได้ ไม่ได้แปลว่าลืม

 

หลายคนรู้สึกผิดที่ตนทำใจได้ กลัวว่าการเริ่มชีวิตใหม่ทำให้หลงลืมคนรักที่จากไป แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ความทรงจำที่สวยงามระหว่างเรากับคนที่รักไม่มีวันจางหายไป ยังคิดถึงได้ทุกวันทุกเวลา แถมยังจะมีช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้เราระลึกถึงคนที่รักของเรามากเป็นพิเศษอีกด้วย เช่น วันเกิด วันครบรอบของการจากไป

 

ข้อคิดเมื่อได้ใกล้ชิดกับการสูญเสีย

 

การสูญเสียคนที่เรารัก ทำให้เราได้ข้อคิดในการใช้ชีวิตมากมายเลยทีเดียว ทำให้เราเข้าใจความหมายของชีวิต ว่าชีวิตนี้นั้นช่างเปราะบาง ไม่มีใครรู้ว่าความตายจะเกิดขึ้นกับเราหรือคนที่รักวันไหน ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาในชีวิตของเรานี้มีจำกัด ไม่ควรประมาทกับชีวิต และชีวิตให้คุ้มค่า ณ วันนี้ ตอนนี้ กับคนที่เรารัก (Lang & Carstensen, 2002) และที่สำคัญ ใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้คนที่อยู่บนฟ้าได้ภาคภูมิใจในตัวเรา

 

 

จึงมักมีคำสอนเตือนใจเสมอว่า เมื่อต่างคนยังต่างมีลมหายใจอยู่ ก็ขอให้ทำดีต่อกันไว้ หากมีเหตุที่ทำให้เราต้องจากกันไป อย่างน้อยก็ได้ถือว่าเราจากกันโดยไม่มีอะไรค้างคาต่อกัน ขอให้ผู้อ่านทุกท่านก้าวผ่านช่วงเวลาร้าย ๆ ไปได้ และก้าวเดินต่อไปอย่างมีความสุขนะคะ

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Breen, L. J., & O’ Connor, M. (2011). Family and social networks after bereavement: Experiences of support, change, and isolation. Journal of Family Therapy, 33, 98-120.

 

Cohen, J. A., Mannarino, A. P., Greenberg, T., Padlo, S., & Shipley, C. (2002). Childhood traumatic grief: Concepts and controversies. Trauma, Violence, & Abuse, 3(4), 307-327.

 

Eisma, M. C., Schut, H. A. W., Stroebe, M. S., Boelen, P. A., van den Bout, J., & Stroebe, W. (2014). Adaptive and maladaptive rumination after loss: A three-wave longitudinal study. British Journal of Clinical Psychology, 54, 163-180.

 

Howarth, R. A. (2011). Concepts and controversies in grief and loss. Journal of Mental Health Counseling, 33(1), 4-10.

 

Lang F. R., & Carstensen, L. L. (2002). Time counts: Future time perspective, goals, and social relationships. Psychology and Aging, 17(1), 125-139.

 

ภาพจาก http://www.publicdomainpictures.net/view-image.php?image=14475

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

Sensation seeking – การแสวงหาการสัมผัส

 

 

การแสวงหาการสัมผัส เป็นลักษณะของความต้องการได้รับการสัมผัสที่มีความแปลกใหม่ (novelty) และเข้มข้น (intensity) ซึ่งบุคคลที่มีลักษณะการแสวงหาการสัมผัสสูงจะปรารถนาที่จะรับความเสี่ยง ทั้งทางร่างกายและสังคม เพื่อรักษาระดับความพึงพอใจตามความต้องการของตน

 

โดยที่ระดับพฤติกรรมความเสี่ยงเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับ

 

  • ปัจจัยต่าง ๆ ทางสิ่งแวดล้อม/การขัดเกลาทางสังคม – ระดับการแสวงหาสิ่งตื่นเต้นเร้าใจของพ่อแม่ การปลูกฝังเรื่องศาสนาจากครอบครัว การเป็นลูกคนโตหรือลูกคนเดียว วัฒนธรรมในแต่ละสังคมที่จะยอมรับการแสดงออกในบางเรื่องแตกต่างกัน
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม/ปัจจัยทางชีววิทยา เช่น ระดับ threshold ระดับเอนดอร์ฟิน ระดับเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส

 

ทั้งนี้การแสวงหาการสัมผัสจะมีระดับสูงมากที่สุดในวัยรุ่นและลดลงเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามระดับสารเคมีในระบบประสาทส่วนกลาง

 

ผู้ที่มีการแสวงหาการสัมผัสสูง (high-sensation seeker) จะมีปฏิกิริยาและความรู้สึกทางบวกต่อสถานการณ์ที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น เช่น ชอบความรู้สึกตื่นเต้นขณะขับรถเร็ว การกระโดดร่ม หรือการดูภาพยนตร์ระทึกขวัญ ดังนั้นเขาจะเลือกสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เพิ่มการกระตุ้นความรู้สึกเหล่านี้เพื่อตอบสนองความต้องการความแปลกใหม่และความตื่นเต้นของตน

 

ผู้ที่มีการแสวงหาการสัมผัสต่ำ (low-sensation seeker) จะไม่ต้องการแสวงหาสิ่งเร้าใด ๆ เพื่อมากระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นแปลกใหม่ คือไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน ไม่ชอบความรุนแรงหรือความเสี่ยง แต่จะชอบละครเพลง ละครเวทึแนวชีวิตและแนวตลก ชอบนิยายแนวชีวิตและโรแมนติก

 

คนแสวงหาการสัมผัสสูงมักชอบทำในสิ่งที่คนแสวงหาการสัมผัสต่ำเห็นว่าเป็นการกระทำที่มีความเสี่ยงมาก ทั้งความเสี่ยงทางร่างกายและทางสังคม เช่น การชอบขับรถเร็ว การแต่งตัวแบบแปลกๆ ตามที่วัยรุ่นนิยม

 

 

การแสวงหาการสัมผัสกับความก้าวร้าว

 

มีงานวิจัยพบว่าการแสวงหาการสัมผัสสามารถทำนายพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ได้ เช่น การขับรถแบบเสี่ยงอันตราย การมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือติดเชื้อ การใช้ยาเสพติดและการเล่นพนัน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม การเสี่ยงไม่ใช่ประเด็กหลักของการแสวงหาการสัมผัส แต่เป็นเพียงสิ่งที่คนใช้เพื่อให้ได้ทำกิจกรรมที่ตอบสนองความพึงพอใจด้านความแปลกใหม่ การเปลี่ยนแปลง และความตื่นเต้น เช่น การขับรถเร็วและพยายามขับรถแซงคันหน้า บุคคลอาจทำเพื่อความสนุก โดยไม่ได้คิดว่าอาจเกิดอุบัติเหตุรถชนที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นบาดเจ็บได้ จะเห็นได้ว่าการขับรถเร็วเป็นพฤติกรรมเสี่ยง และความต้องการความสนุกเป็นความต้องการแสวงหาการสัมผัส ส่วนการตั้งใจขับรถแซงหน้าผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บเป็นความก้าวร้าว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการแสวงหาการสัมผัสมีความเกี่ยวข้องกับความก้าวร้าวได้

 

ทั้งนี้ผู้ที่มีการแสวงหาการสัมผัสสูงอาจไม่ได้ทำพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหมด เช่น พวกเขารู้สึกสนุกถ้าได้ฟังเพลงร็อครุนแรง ดูภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์หรือภาพยนตร์สยองขวัญ ท่องเที่ยวสถานที่แปลกใหม่ ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์

 

 

การแสวงหาการสัมผัสกับสื่อเพื่อความบันเทิง

 

การแสวงหาการสัมผัสมีลักษณะพื้นฐานทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับความต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ การเสี่ยง และการกระตุ้นทางร่างกาย ซึ่งบุคลิกภาพการแสวงหาการสัมผัสไม่ได้มีศักยภาพสำหรับแค่การเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพในการค้นหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่และเข้มข้นในด้านอื่น ๆ ของชีวิตด้วย

 

งานวิจัยบางส่วนพบว่า การแสวงหาการสัมผัสมีความสัมพันธ์กับความชอบการกระตุ้นจากสื่อเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ที่รุนแรง ดนตรีที่มีความรุนแรง ซับซ้อน แปลกใหม่และก้องกังวาน อย่างเพลงร็อค เพลงพั้งค์ สิ่งพิมพ์และข่าวหรือเอกสารที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ นอกจากนี้ยังพบว่า บุคคลที่มีการแสวงหาการสัมผัสสูงจะใช้เวลาในการดูภาพยนตร์แอคชั่น ผจญภัย และเปลี่ยนช่องโทรทัศน์บ่อยอีกด้วย

 

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการแสวงหาการสัมผัส ความก้าวร้าวและความปรารถนาในการใช้สื่อที่รุนแรงเพื่อความบันเทิงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย” โดย อัจฉริยา เลิศอนันต์วรกุล (2548) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6746

 

“การศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของความรู้สึกแสวงหาสิ่งตื่นเต้นเร้าใจกับพฤติกรรมการเล่นเกมออนไลน์ของวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร” โดย ขวัญหทัย เมืองสุวรรณ (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47588

 

ภาพจาก wiki

Reverse culture shock

“ฉันนึกภาพไม่ออกเลยว่าฉันจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อย่างมีความสุขได้อย่างไร ฉันรู้สึกว่าฉันไม่เหมาะกับวิถีการใช้ชีวิตที่ประเทศนี้ ฉันไม่เหมาะกับที่นี่ ฉันเคยมีความสุขมากกว่านี้ รู้สึกดีต่อตัวเอง และรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายมากกว่านี้เมื่อครั้งที่ฉันอยู่ต่างประเทศ

 

ฉันรู้สึกหงุดหงิด สิ้นหวัง เศร้า โหยหาความรู้สึกสุข สนุกสนานที่เคยมี กลัวว่าจะไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นอีก ตอนนี้ฉันไม่รู้จะคุยกับใคร คงไม่มีใครที่จะเข้าใจและช่วยฉันได้ ฉันกลัวว่าหากฉันเล่าให้ใครฟัง เขาจะรำคาญหรือตัดสินไปว่าฉันอวดตัว หัวสูง เป็นเด็กนอก มากกว่าที่จะพยายามเข้าใจว่าฉันรู้สึกอย่างไร

 

แม้ว่าฉันจะรับรู้ว่าฉันยังโชคดีที่มีครอบครัว มีเพื่อน มีสังคมเดิมที่ต้อนรับฉันกลับมา แต่ความรู้สึกเชื่อมโยง ผูกพันที่ฉันเคยมีต่อคนเหล่านี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว อาจเปรียบเหมือนกับภาพต่อจิ๊กซอ ที่ชิ้นส่วนของฉันไม่สามารถที่จะต่อลงไปในช่องว่างแล้วเชื่อมกับจิ๊กซออื่นๆ ได้สนิทเหมือนเดิม ชิ้นส่วนจิ๊กซอของฉันได้เปลี่ยนรูปร่างไปแล้ว ฉันเปลี่ยนไปแล้ว”

 

ข้อความนี้เป็นข้อความที่อธิบายความคิด ความรู้สึกหนึ่งในหลาย ๆ ความรู้สึกของบุคคลที่อยู่ในภาวะ “Reverse culture shock” คุณผู้อ่านบางท่านอาจมีความรู้สึกร่วมไปกับข้อความนี้เช่นกัน หรืออาจจะคิดและรู้สึกต่างออกไป จึงอยากขอให้คุณผู้อ่านได้บอกเล่าประสบการณ์ ความรู้สึกของตนเองลงในความคิดเห็นได้เลยนะคะ บทความนี้จะเล่าถึงภาวะ Reverse culture shock และแนวทางที่จะช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในภาวะนี้อย่างคร่าว ๆ ค่ะ

 

ก่อนที่จะเล่าถึงภาวะ Reverse culture shock เราคงต้องมาคุยกันถึงภาวะ Culture shock กันก่อนค่ะ ภาวะ Culture shock อาจเป็นภาวะที่พวกเราคุ้นหูกันมากกว่า Reverse culture shock จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากปัญหาของภาวะ Reverse culture shock จะไม่ถูกพูดถึงหรือไม่ได้รับความสำคัญมากนัก

 

ภาวะ Culture shock คือ ภาวะที่บุคคลไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมใหม่แล้วรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก ในขณะที่ Reverse culture shock คือ ภาวะที่บุคคลกลับมาสู่สภาพแวดล้อมเดิมที่เคยอยู่ แต่ตนเองกลับรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก (Stowe, 2003)

 

เราอาจจะคุ้นกับคำว่า คิดถึงบ้าน หรือ Homesickness ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนซึ่งมีวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นเคยและยังไม่รู้สึกผูกพัน เราอาจจะเกิดภาวะ Culture shock ว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านของเรา ทำให้รู้สึกคิดถึงบ้าน อยากกลับบ้าน อยากกลับไปอยู่ในที่ที่เราคุ้นเคยกับคนที่เรารู้สึกผูกพันด้วย ในทำนองเดียวกัน บุคคลที่อยู่ในภาวะ Reverse culture shock ก็มีความรู้สึกคิดถึงบ้าน มีอาการ Homesickness แต่ “บ้าน” ที่เขาคิดถึงกลับไม่ใช่บ้านที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ แต่ “บ้าน” ของเขากลับเป็นประเทศที่สองที่เขาได้ลองเข้าใช้ชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ภาวะ Reverse culture shock คือ ภาวะ Culture shock ที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้นย้ายกลับเข้าสู่ถิ่นฐานวัฒนธรรมเดิมของตนเอง อย่างไรก็ตามการกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่าภาวะทั้งสองมีอาการและความรุนแรงของอาการเหมือนกันทุกอย่าง

 

Welsh (2015) ศึกษาอาการของบุคคลที่อยู่ในภาวะ Reverse culture shock ในสหรัฐอเมริกาที่เคยไปใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาในประเทศอื่น พบว่า บางคนรู้สึกว่าตนเองไม่รู้สึกผูกพันหรือเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของความเป็นคนอเมริกันหลังจากกลับมาจากการศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งความรู้สึกนี้มีมากในกลุ่มบุคคลที่เพิ่งกลับมาจากการศึกษาต่อเทียบกับกลุ่มที่กลับมาแล้วเกิน 5 ปี อีกประเด็นที่น่าสนใจในการศึกษานี้คือ ด้านความสัมพันธ์ จำนวนมากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดรู้สึกว่า มีแค่คนที่เคยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเท่านั้นจึงจะเข้าใจความรู้สึกของตนเอง

 

กลุ่มตัวอย่างบางคนอธิบายว่า คนรอบข้างของเขาแสดงความเข้าใจและเห็นใจในอาการ Reverse culture shock ของตนในช่วงแรก แต่ต่อมาก็เหลือแต่เขาคนเดียวที่ยังคงวนเวียนและเผชิญอยู่ในภาวะนี้ “…and they move on, but you don’t” (Welsh, 2015:56) การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยวของผู้ที่อยู่ในภาวะดังกล่าว

 

Young (2014) เสริมว่า ภาวะ Reverse culture shock อาจรุนแรงกว่าภาวะ Culture shock เนื่องจากบุคคลที่เดินทางไปต่างประเทศอาจจะเตรียมใจกับความแตกต่างที่ตนเองกำลังจะเผชิญ ในขณะที่บุคคลที่กลับมาจากต่างประเทศอาจไม่ได้คาดการณ์ว่าตนเองจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบ้านเมืองเดิมของตนได้ ซึ่งหากเราพิจารณาข้อสังเกตนี้จะพบว่า ในกลุ่มนักเรียนไทยที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศจะได้เข้าโปรแกรมที่ช่วยเหลือให้นักเรียนไทยได้รู้จักกันและสามารถปรับตัวเมื่อไปอยู่ต่างประเทศได้ แต่กลับไม่มีโปรแกรมที่คอยช่วยเหลือนักเรียนไทยที่เรียนจบจากต่างประเทศแล้วกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย

 

เมื่อพูดถึงแนวทางการช่วยเหลือและวิธีการดูแลตนเองของบุคคลที่อยู่ในภาวะ Reverse culture shock สิ่งสำคัญที่สุดคือ บุคคลนั้นสามารถบอกเล่าและสะท้อนประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึกที่เกิดจากภาวะดังกล่าวได้ ดังนั้นบุคคลรอบข้างจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยรับฟังบุคคลนั้นอย่างเข้าใจ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างมากโดยเฉพาะพ่อแม่หรือบุคคลสำคัญที่มาคอยรับฟังคือ อย่าคิดว่าบุคคลที่อยู่ในภาวะนั้นไม่รักเรา หรือว่าเราไม่สำคัญเขาจึงไม่อยากอยู่ที่นี่ “อยู่กับเรา” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่เขาพูดว่าเขาไม่อยากอยู่ที่นี่ อยากกลับไปสู่ที่ที่จากมา ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รักเรา หรือไม่ได้แปลว่าเราไม่สำคัญพอที่จะทำให้เขาอยากอยู่ที่นี่ได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญมากนะคะที่คนรอบข้างต้องแยกแยะให้ได้ เพราะหากไม่สามารถทำได้ บุคคลนั้นอาจรู้สึกผิดและไม่สามารถเปิดเผยความรู้สึกของเขาแก่เราได้อีก เพราะไม่อยากทำให้เราเสียใจ

 

นอกจากนี้ Young (2014) ได้ให้แนวทางในการดูแลตนเองของบุคคลที่อยู่ในภาวะ Reverse culture shock เช่น อย่าละทิ้งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ในต่างประเทศ แต่ให้พยายามมองสภาพแวดล้อมที่ตนกลับเข้ามาอยู่เป็นเรื่องท้าทายใหม่ที่น่าสนใจ มากกว่าที่จะมองว่าเป็นปัญหา ให้เวลากับตนเองในการปรับตัว และหาคนที่เข้าใจหรือมีประสบการณ์ร่วมกันเพื่อพูดคุยปรับมุมมอง

 

ท้ายที่สุดนี้จะขอฝากให้ทุกคนลองสังเกตตนเองและคนรอบข้างที่เพิ่งกลับมาหลังจากไปใช้ชีวิตศึกษาหรือทำงานในต่างประเทศว่ามีอาการของภาวะ Reverse culture shock หรือไม่ หากมีอาการ อย่าคิดว่าตนเองผิดปกติหรือบ้านะคะ เพราะภาวะนี้เป็นภาวะธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ สิ่งที่พึงกระทำคือ ลองสังเกตตนเอง พูดคุยกับคนรอบข้าง หรือนักจิตวิทยาที่จะสามารถช่วยรับฟัง และสะท้อนประสบการณ์ความคิด ความรู้สึกของเราได้ค่ะ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Stowe, G. P. (2003). The impact of meaningful roles and role partners on the experiences of culture shock and reverse culture shock (Doctoral dissertation, Fielding Graduate Institute).  https://www.proquest.com/openview/beb15ce80fcc344358554f319c9990c3/1?pq-origsite=gscholar&cbl=18750&diss=y

 

Welsh, A. E. (2015). Long term effects of reverse culture shock in study abroad (Doctoral dissertation, University of the Pacific). https://www.proquest.com/openview/856a4ff0c5c719b45e6ab47d32c0c9fd/1?pq-origsite=gscholar&cbl=18750

 

Young, G. E. (2014). Reentry: Supporting students in the final stage of study abroad. New Directions for Student Services, 2014: 59–67. https://doi.org/10.1002/ss.20091

 

ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/26781577@N07/15539992071

 

 

ปณิธานปีใหม่ แรงจูงใจที่เหนือกว่าตัวตน

 

เริ่มต้นปีใหม่แล้ว มีใครตั้งปณิธานปีใหม่ว่าอยากจะทำงานหนักและยอมเหนื่อยมากกว่าเดิมไหมคะ?

 

ถ้ามี…เหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้คุณอยากทำงานหนักขึ้นคืออะไร?

 

เหตุผลของแต่ละคนคงต่างกันไป บางคนก็อยากลืมตาอ้าปาก พ้นจากความยากจน บ้างก็เพื่อให้มีทัดเทียมเพื่อนบ้าน เข้าสังคมได้ไม่อายใคร บางคนอาจตั้งใจจะทำงานหนักเพื่อจะได้มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก นับหน้าถือตามากขึ้น แต่บางคนก็ทำงานหนักเพื่อพัฒนาตนเอง อยากเก่ง อยากเรียนรู้มากกว่าเดิม

หากมองผ่านมุมของทฤษฎีทางจิตวิทยา ก็อาจเทียบเคียงได้กับทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow, 1943) ที่กล่าวว่า แรงจูงใจที่ผลักดันให้มนุษย์เราแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมานั้น แบ่งได้เป็นห้าลำดับขั้น จากพื้นฐานที่สุด คือ ความต้องการทางชีวภาพที่จำเป็นต่อการอยู่รอด (น้ำ อาหาร อากาศ) ความต้องการความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ไปจนถึงความต้องการทางสังคม ได้แก่ ความต้องการเป็นที่รัก ความต้องการการยอมรับนับถือ ไปจนถึงขั้นสูงสุดที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อความต้องการพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ (self-actualization)

 

แต่นักจิตวิทยาและคนทั่วไปล้วนได้เห็นตัวอย่างพฤติกรรมของบุคคลที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยทฤษฎีลำดับขั้นของมาสโลว์ (1943) เช่น มหาตมะ คานธี ผู้นำต่อต้านการกดขี่ของรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดีย เนลสัน เมนเดลา ผู้นำต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ หากลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ต้องได้รับการเติมเต็มในขั้นพื้นฐานก่อนจึงจะก้าวผ่านไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นได้ และจบลงที่การพัฒนาตัวตนของตนเองในขั้นที่ห้าเป็นขั้นสูงที่สุด ก็ยากที่จะอธิบายว่าทำไมจึงมีบุคคลที่ยอมละทิ้งความต้องการขั้นพื้นฐานที่สุด คือ อาหาร เสรีภาพ และความปลอดภัยของตัวเอง โดยยอมติดคุก ถูกทำร้าย และอดอาหาร เพื่อประโยชน์และชีวิตที่ดีกว่าของผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นญาติมิตรของตนเอง

 

อันที่จริง มาสโลว์เองก็เห็นข้อจำกัดนี้ของทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ และได้เสนอแนวคิดเพิ่มเติมไว้แล้ว โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อตั้งคำถามกับบุคคลที่อยู่ในขั้นการพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ (self-actualizing) ว่าอะไรเป็นแรงกระตุ้น ผลักดัน บันดาลใจเขาในการทำสิ่งที่เขาทำอยู่ คำตอบที่ได้มักเป็นสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า เหนือกว่าตัวตนของบุคคล เช่น ความดี ความงาม ความจริง ความยุติธรรม ซึ่งมาสโลว์มองว่าเป็นความต้องการที่ก้าวข้ามขอบเขตของตัวตน (self-transcend) และน่าจะเป็นขั้นที่เหนือกว่า self-actualization (Maslow, 1969)

 

แต่มาสโลว์ป่วยและเสียชีวิตก่อนที่จะได้พัฒนาส่วนต่อขยายของทฤษฎีนี้ให้สมบูรณ์ นักจิตวิทยารุ่นต่อมา (Koltko-Rivera, 2006) ประมวลแนวคิดของมาสโลว์และสรุปนิยามของความต้องการที่เหนือตัวตน (self-transcendence) ไว้ว่า เป็นความต้องการที่จะส่งเสริม สนับสนุนประเด็นสำคัญบางอย่างที่เหนือกว่าตัวตนหรือผลประโยชน์ของบุคคล และได้เป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าขอบเขตของตัวตน

 

แนวคิดดังกล่าวของมาสโลว์นั้นเป็นต้นกำเนิดของจิตวิทยากลุ่มที่เรียกว่าจิตวิทยาเหนือตน (Transpersonal Psychology) ซึ่งปัจจุบันยังไม่ใช่กระแสหลักในวงการจิตวิทยา แต่ก็มีงานวิจัยที่นำแนวคิดแรงจูงใจที่เหนือกว่าตัวตน (self-transcendent motive) ไปทดสอบเชิงประจักษ์ เช่น งานวิจัยล่าสุดของทีมนักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกางานหนึ่ง ตั้งคำถามว่า ระหว่างแรงจูงใจอยากทำเพื่อประโยชน์ของตัวเอง (self-interest) กับแรงจูงใจที่เหนือกว่าตัวตน (Self-transcendence) แรงจูงใจแบบใดที่ทำให้คนเรามีความเพียรพยายาม กำกับควบคุมการกระทำของเราเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ดีกว่ากัน

 

ผลสำรวจเบื้องต้นพบว่านักเรียนนักศึกษาที่มีแรงจูงใจที่เหนือตัวตนสูง ซึ่งได้แก่ คนที่ตอบว่าเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า “ฉันอยากเรียนสิ่งที่จะช่วยให้ฉันสร้างผลกระทบทางบวกแก่โลกนี้ได้” “ฉันอยากได้ทักษะที่ฉันสามารถนำไปใช้ทำงานที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น” และ “ฉันอยากเป็นคนที่มีการศึกษาที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้” มักมีความอดทน เพียรพยายามในการทำงานที่ยากและน่าเบื่อได้มากกว่า และมีอัตราการลาออกกลางคันน้อยกว่าคนที่มีคะแนนแรงจูงใจที่เหนือตัวตนต่ำ (Yeager et al, 2014)

 

นอกจากนี้ ในการทดลองซึ่งผู้วิจัยกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดแรงจูงใจที่เหนือกว่าตัวตน อยากทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ด้วยชุดกิจกรรมที่ประกอบด้วยการเชิญชวนให้คิดถึงโลกที่ดีกว่าเดิม และคิดว่าตนเองจะมีส่วนช่วยให้โลกในอุดมคตินั้นเป็นจริงได้อย่างไรบ้าง ให้อ่านตัวอย่างข้อความที่ระบุว่านักเรียนรุ่นก่อนๆ ได้เขียนไว้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการมองว่าการเรียนจะช่วยให้เขาออกไปช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร และสุดท้ายให้เขียนข้อความฝากถึงรุ่นน้องที่จะมาเรียนวิชาเดียวกันในปีหน้า

 

ผลการทดลองพบว่า นักศึกษาที่ได้ทำกิจกรรมกระตุ้นแรงจูงใจที่เหนือกว่าตัวตนเหล่านี้ ตั้งใจเรียนมากกว่า ศึกษาเนื้อหาที่เรียนอย่างลึกซึ้งกว่า และอดทนอดกลั้นแม้งานที่ต้องทำจะยากและน่าเบื่อ ไม่วอกแวกไปทำอย่างอื่นที่สนุกกว่า และในเวลาต่อมาก็มีผลการเรียนดีกว่านักศึกษากลุ่มที่ให้คิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวที่จะได้รับจากการตั้งใจเรียน (Yeager et al., 2014)

ผลการวิจัยเชิงประจักษ์นี้ สอดคล้องกับความคิดของฟริดริก นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมัน และวิคเตอร์ แฟรงเคิล (Victor Frankle) นักจิตวิทยาชาวออสเตรียที่กล่าวไว้ว่า เมื่อชีวิตของบุคคลมีเป้าหมายที่มีความหมายแล้ว เขาจะสามารถอดทนและทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง และดูเหมือนเป้าหมายที่เหนือกว่าตัวตน (self-transcendence) นั้น จะมีความหมายและมีพลังมากยิ่งกว่าเป้าหมายที่มีขอบเขตอยู่เพียงแค่ผลประโยชน์หรือความสุขของตนเอง ทำให้คนเราสามารถทำสิ่งที่ยาก เหน็ดเหนื่อย และน่าเบื่อได้โดยไม่ท้อถอย ข้อค้นพบนี้อาจช่วยอธิบายส่วนที่ทฤษฎีลำดับ

 

ขั้นความต้องการห้าขั้นของมาสโลว์ยังอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมจึงมีคนบางคนที่ทำอะไรเพื่อคนอื่นโดยไม่สนใจผลประโยชน์ ความสุขสบาย หรือความปลอดภัยส่วนตัวเลย เพราะเมื่อบุคคลไปพ้นจากความต้องการที่จะทำเพื่อตัวเองแล้ว ก็เป็นไปได้ที่เขาจะยอมทำพฤติกรรมที่อาจทำให้ตนเองลำบาก หากการกระทำนั้นตอบโจทย์ที่ยิ่งใหญ่กว่า เช่น สังคม ประเทศ มนุษยชาติ

มาถึงตรงนี้แล้ว ทำให้นึกถึงพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชได้ทรงตรากตรำพระวรกาย เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ทุรกันดาร เสี่ยงภัย เพื่อช่วยให้ประชาชนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถลุกขึ้นยืนได้ด้วยตนเอง และทำให้ประเทศไทยของเราแข็งแรง สำหรับคนไทยทั้งประเทศ นี่คงเป็นแบบอย่างที่สะท้อนแนวคิดเรื่องการทำเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าตัวตนได้อย่างชัดเจนที่สุด

 

เหมือนตอนหนึ่งในบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” ที่ว่า

 

“นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส

ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน

โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน

คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย”

 

 

ปณิธานปีใหม่ของคุณคืออะไรนะคะ?

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Koltko-Rivera, M.E. (2006) Rediscovering the later version of Maslow’s hierarchy of needs: Self-transcendence and opportunities for theory, research, and unification. Review of General Psychology, 10(4), 302–317. https://doi.org/10.1037/1089-2680.10.4.302

 

Maslow, A. H. (1943). A theory of human motivation. Psychological Review, 50, 370 –396. https://doi.org/10.1037/h0054346

 

Maslow, A. H. (1969). The farther reaches of human nature. Journal of Transpersonal Psychology, 1, 1–9. http://www.humanpotentialcenter.org/Articles/FartherReaches.pdf

 

Yeager, D. S., Henderson, M., Paunesku, D., Walton, G., Spitzer, B., D’Mello, S., & Duckworth, A. L,. (2014). Boring but important: A self-transcendent purpose for learning fosters academic self-regulation. Journal of Personality and Social Psychology, 107, 559–580. https://doi.org/10.1037/a0037637

 

 

 


 

 

บทความวิโดย

อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

ปรากฏการณ์ ผล และการอนุมานสาเหตุของการทำร้ายความรู้สึก

 

ปรากฏการณ์ ผล และการอนุมานสาเหตุของการทำร้ายความรู้สึก

 

: งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ โดยผู้ร่วมการวิจัยคือบุคคลทั่วไปที่กำลังมีสัมพันธภาพแบบคู่รัก (คบกันมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน) และบุคคลที่กำลังมีสัมพันธภาพแบบคู่สมรส ที่มีอายุ 18-50 ปี จำนวน 1,200 คน เป็นเพศชาย 600 คน และเพศหญิง 600 คน

 

ดำเนินการวิจัยโดยการเหนี่ยวนำให้ผู้ร่วมการวิจัยนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำร้ายความรู้สึกระหว่างคู่รักในเรื่องต่าง ๆ เขียนอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ จากนั้นจึงตอบมาตรวัด ดังนี้ มาตรวัดอารมณ์ มาตรวัดความรู้สึกเมื่อเกิดการทำร้ายความรู้สึก มาตรวัดการประเมินตนเอง มาตรวัดการอนุมานสาเหตุของการทำร้ายความรู้สึก มาตรวัดปฏิกิริยาเมื่อมีการทำร้ายความรู้สึก และมาตรวัดผลที่เกิดจากการทำร้ายความรู้สึก

 

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า

 

เหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึกระหว่างคู่รักที่ผู้ร่วมการวิจัยรายงานถึงมากที่สุดคือ คู่รักโกหก รองลงมาคือ คู่รักพูดทำร้ายความรู้สึก ส่อเสียด หรือประชดประชัน คู่รักนอกใจ คู่รักไม่สนใจ และคู่รักไม่ตรงเวลา ตามลำดับ

 

ในด้านอารมณ์ความรู้สึก ผู้ร่วมการวิจัยรายงานว่าเหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึกก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบ (เป็นทุกข์ ขุ่นเคืองใจ เจ็บปวด รู้สึกผิด ฯลฯ) มากกว่าอารมณ์ทางบวก (สนใจ ตื่นตัว อยากทำอะไรสักอย่าง ฯลฯ) ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด และรู้สึกว่าคู่รักไม่ชอบตนในระดับปานกลาง

 

ในด้านการประเมินตนเอง เหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึกส่งผลให้ผู้ร่วมการวิจัยประเมินตนเองในทางลบในระดับปานกลาง และประเมินตนเองทางบวกในระดับต่ำ ทั้งนี้ยิ่งผู้ร่วมการวิจัยประเมินว่าตนเองเจ็บปวดมากก็ยิ่งประเมินตนเองในทางลบมาก

 

เมื่อให้พิจารณาถึงการอนุมานสาเหตุ พบว่าผู้ร่วมการวิจัยอนุมานสาเหตุว่าคู่รักทำร้ายความรู้สึกเพราะไม่ได้ตั้งใจสูงที่สุด รองลงมาคือ คู่รักไม่มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของตน ผู้กระทำไม่เห็นความสำคัญของตน คู่รักมีเจตนาที่จะทำร้ายความรู้สึก คู่รักคิดว่าเป็นการช่วยตน คู่รักพยายามแก้แค้นตน และเพราะตนสมควรถูกทำร้ายความรู้สึก ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ การอนุมานสาเหตุถึงเจตนาของคู่รักส่งผลถึงความรู้สึกทุกข์ใจด้วย คือหากอนุมานว่าคู่รักทำร้ายความรู้สึกโดยไม่ได้เจตนาความรู้สึกทุกข์ใจจะน้อยลง

 

สำหรับปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อถูกทำร้ายความรู้สึก ผู้ร่วมการวิจัยรายงานว่า ร้องไห้คนเดียว มากที่สุด รองลงมาคือ โต้กลับแบบรุนแรงและไม่มีเหตุผล บอกกับคนอื่นว่าถูกทำร้ายความรู้สึก แสดงอารมณ์โกรธให้ผู้อื่นเห็น และร้องไห้ต่อหน้าผู้อื่น ตามลำดับ ทั้งนี้ ปฏิกิริยาทางลบจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอารมณ์ทางลบของแต่ละบุคคล

 

เรื่องผลที่ตามมาจากการทำร้ายความรู้สึก ผู้ร่วมการวิจัยประเมินว่าเหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึกทำให้สัมพันธ์จืดจางลงแบบชั่วคราวมากกว่าแบบถาวร (ยกเว้นแต่ในกรณีที่อนุมานว่าคู่รักทำร้ายความรู้สึกของตนโดยเจตนา) และเมื่อเปรียบเที่ยบระหว่างก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์ พบว่า ภายหลังเหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึก ผู้ร่วมการวิจัยไม่ได้ไว้วางใจคู่รักน้อยลง รวมถึงไม่ได้ชอบคู่รักน้อยลงด้วย (อาจเป็นเพราะผู้ร่วมการวิจัยประเมินว่าเหตุการณ์ทำร้ายความรู้สึกไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก หรืออาจเป็นเพราะวัฒนธรรมกรให้อภัยและการประนีประนอมกันของคนไทย)

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมการวิจัยที่รู้สึกเจ็บปวดจากการถูกทำร้ายความรู้สึกมากจะรู้สึกนับถือตนเองและมั่นใจในตนเองลดลง

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ปรากฏการณ์ ผล และการอนุมานสาเหตุของการทำร้ายความรู้สึก”
“Phenomenology, consequences, and attributions of hurt feelings”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2548)
โดย ร้อยเอกหญิงสุดาจันทร์ สุภาวกุล
ที่ปรึกษา ผศ. ดร.คัคนางค์ มณีศรี
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6450

 

ความสุขของผู้หญิงโสด

 

ความสุขของผู้หญิงโสด

 

: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงโสดอายุ 35 ปี ขึ้นไป ที่ยังไม่เคยแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีความสัมพันธ์ฉันคู่รักับใคร และ/หรือไม่ได้อยู่กินกับใครโดยพฤตินัยในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่า ในเขตกรุงเทพมหานคร 12 ราย เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมกับการสังเกตและบันทึกส่วนตัวของผู้วิจัย

 

“ความสุขของผู้หญิงโสด” มีอยู่ด้วยกัน 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้

 

1. มีความพึงพอใจในชีวิต

เป็นความพึงพอใจเชิงอัตวิสัย มาจากการประเมินโดยรวมถึงคุณภาพชีวิตทั้งหมดของบุคคลตามเกณฑ์ที่บุคคลนั้นเลือกเอง

 

2. มีอิสระ

สามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ ไม่มีห่วงไม่มีกังวล

 

3. มีพลังในตนเอง

สามารถควบคุมชีวิตตนเองให้เป็นได้อย่างที่ตั้งใจไว้ เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ มีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือการใช้ชีวิต และมีเวลาให้กับตนเองในการทำสิ่งที่ต้องการ

 

4. มีความมั่นคงในใจ

รู้จักและเข้าใจตนเองมากขึ้น เชื่อมั่นมากขึ้น มีความต้องการทางวัตถุน้อยลง ใจเย็นขึ้น มุมมองต่อปัญหาและสิ่งรอบตัวเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มองทุกอย่างด้วยความเข้าใจมากขึ้น มีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น

 

สิ่งที่มากระทบความสุข

  • รับรู้ข้อจำกัดของคนโสดว่ายามแก่ตัวหรือเจ็บป่วยอาจทำให้ต้องเป็นภาระของผู้อื่น
  • รับรู้ว่าขาดโอกาสการเป็นแม่
  • เป็นห่วงเรื่องเงินว่าอาจไม่พอใช้ในอนาคต เนื่องจากต้องพึ่งพารายได้ของคนคนเดียว ซ้ำรายได้ของผู้หญิงมักน้อยกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของผู้ชาย
  • คำพูดของคนรอบข้าง

 

วิธีจัดการสิ่งที่มากระทบความสุข

  • ปล่อยวาง
  • วางแผนอนาคต
  • คิดในทางบวก
  • อยู่กับปัจจุบัน
  • ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์
  • ใช้เหตุและผลในการแก้ไขปัญหา

 

 

ปัจจัยที่สนับสนุนให้ผู้หญิงอยู่ในภาวะโสดอย่างมีความสุข


 

ได้แก่

1. ประสบความสำเร็จในการทำงาน

มีหน้าที่การงานที่ดี ได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ มีความเจริญก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับ

 

2. มีครอบครัวเป็นแหล่งสนับสนุน

มีคนในครอบครัวอยู่เคียงข้าง คอยดูแล ช่วยเหลือ ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน รวมถึงไม่ถูกกดดันเรื่องแต่งงาน

 

3. มีเพื่อนที่ดี

มีเพื่อนที่คอยรับฟังและเป็นที่ปรึกษา บางรายกล่าวว่าการมีเพื่อนที่เป็นสาวโสดเหมือนกันทำให้ไม่รู้สึกกดดันกับการเป็นโสดต่อไป

 

4. มีกิจกรรมที่ตนสนใจทำ

เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ท่องเที่ยว เล่นกีฬา และการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม ล้วนเป็นสิ่งช่วยให้ไม่รู้สึกเหงา และมีความสุขกับการใช้ชีวิต

 

 

 

นอกจากนี้ผู้ให้ข้อมูลยังกล่าวถึงทัศนคติบางอย่างที่ส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจ ทำให้ผู้ให้ข้อมูลเลือกที่จะครองตนเป็นโสดมากกว่าที่จะแต่งงานมีคู่ครอง นั่นคือ

 

1. ทัศนคติทางลบต่อชีวิตคู่

ผู้ให้ช้อมูลบางรายกล่าวถึงความไม่มั่นใจในตัวคู่ครอง หรือแม้กระทั่งบุตรหลายว่าจะดูแลตน รับรู้ต่อผู้ชายในทางลบ และมีความรู้สึกต่อการแต่งงานที่ไม่ดีนัก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการได้เห็นหรือได้ฟังเรื่องราวชีวิตครอบครัวที่มีปัญหาของผู้อื่น มิใช่ประสบการณ์ตรง

 

2. ทัศนคติทางบวกต่อการเป็นโสด

ในระหว่างการใช้ชีวิตเป็นโสดทำให้รับรู้ข้อดีของการอยู่เป็นโสด ส่งผลให้มีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นโสดของตน และมองว่าการเป็นโสดนั้นไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ และดีตรงที่ไม่ต้องมีภาระเพิ่มเหมือนคนมีคู่

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความสุขของผู้หญิงโสด อายุ 35 ปีขึ้นไป”
“Happiness of single women age 35 and above”

วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2553)
โดย นางสาวธันยุดา บูรณวุฒิ
ที่ปรึกษา อ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
วิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30422