News & Events

อยู่กับปัญหาให้เป็น

 

ผู้เขียน :

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เราไม่ได้พบกันคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น คุณคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เหตุการณ์เหล่านั้นออกมาในทางที่ดีได้ครับ

 

ผู้เข้ารับการปรึกษา :

เข้าใจและชัดเจนกับความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น ความชัดเจนตรงนี้ทำให้เลือกและตัดสินใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น รู้เลยว่าที่ผ่านมาตัวเองเป็นคนที่คิดเยอะมาก คิดถึงคนอื่นว่าจะรู้สึกอย่างไรถ้าเราทำแบบนี้ ถ้าเราไม่ทำล่ะจะเป็นอย่างไร ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน ต้องรอจนนาทีสุดท้ายถึงจะตัดสินใจได้ หรือไม่ก็ปล่อยไปเลยตามเลย โดยที่ไม่ฟังความรู้สึกของตัวเอง ตอนนี้รู้สึกว่าก็ทำไปตามความรู้สึกของตัวเองนี่แหละ ผลจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากัน

 

ผู้เขียน :

แสดงว่าตอนนี้ก็ตัดสินใจกับเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น ตัดสินใจไปตามความรู้สึกของตัวเอง

 

ผู้เข้ารับการปรึกษา :

ก็ไม่ได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ตอนนั้นที่มาคุยรู้สึกว่าจะไปทางนั้นก็ไม่ได้ทางนี้ก็ไม่ดี เหมือนกับไม่มีทางออก ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ถ้าทำแบบนี้ลงไปจะเกิดอะไรก็ไม่รู้ ตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิมนะ ไม่ได้ตัดสินใจง่ายขึ้นหรอก แต่แค่ทำตามความรู้สึกตามความชัดเจนของตัวเองที่มีตอนนี้ ส่วนมันจะเกิดอะไรขึ้นนั้นก็ยอมรับผลที่จะเกิด ถ้าผลออกมาดีก็ดีไป แต่ถ้ามันยังมีปัญหาก็แก้ไปตามที่มันเกิด คาดเดาไปก็ไม่ถูกหรอก

 

 

นี่เป็นบทสนทนาการปรึกษาเชิงจิตวิทยาช่วงหนึ่งระหว่างผมกับผู้รับบริการคนหนึ่ง เขากลับมาเพียงแค่อัพเดตและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ว่าเกิดอะไรบ้างในช่วงเวลาที่ไม่ได้พบกันเป็นเวลาเกือบปี ทั้งที่เขาไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร

 

หลายครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เป็นสิ่งที่เราหยิบยืมจากอนาคตและสร้างมันขึ้นมาให้รบกวนจิตใจจนไม่สามารถลงมือทำอะไรต่อไป และหลงลืมไปว่าตอนนี้ ตัวตนของเราเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร

 

การกลับมาทบทวนและสังเกตตัวเอง จึงเป็นการกลับมาทำความเข้าใจตนเองให้ชัดแจ้งว่า “ตอนนี้” ตัวตนของเรากำลังรู้สึกอะไร กำลังคิดอะไร กำลังต้องการอะไร และเราทำได้แค่ไหนกับเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ส่วนเรื่องไหนที่เป็นเรื่องของ “ตอนหน้า” ให้หงายการ์ดอันเก่าแก่ที่ว่า “อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด” มาใช้แทน เพราะยิ่งคิดยิ่งทบทวนก็ยิ่งเป็นเงื่อนไขให้ชีวิต ยิ่งเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้นจนก้าวเดินต่อไปได้ยากลำบากและอาจจะเดินต่อไปไม่ได้ในที่สุด ดังนั้น รอให้มันเกิดก่อนแล้วค่อยจัดการมันไปตามความเหมาะสมจะดีที่สุด

 

…ตอนหน้าก็คือเรื่องของตอนหน้า ตอนนี้ก็คือเรื่องของตอนนี้…

 

การคิดทบทวนและสังเกตตนเองจึงต้องมาพร้อม ๆ กับคำว่า “ยอมรับ” ด้วยเสมอ ยอมรับกับตัวตนเองที่เป็นที่รู้สึกอยู่ในตอนนี้ และยอมรับกับผลที่จะเกิดขึ้นในตอนหน้าด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายอมรับแล้ว แม้มีปัญหาเกิดขึ้นเราก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาต่อไป เหมือนกับคำพูดของผู้รับบริการคนนี้ที่ว่า

 

“ปัญหาก็ยังอยู่แหละ แต่มันไม่เหมือนเดิม ผมคิดว่าตอนนี้อยู่กับมันได้แล้ว”

 

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.วรัญญู กองชัยมงคล

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

 

สีในแง่จิตวิทยา – Psychological aspects of color

 

 

 

จากการที่เรามองเห็นสีต่างๆ นั้น ทางจิตวิทยาถือว่าสีเป็นสิ่งเร้าทำให้เกิดการตอบสนอง กระบวนการของสิ่งเร้านี้มีอิทธิพลต่อระบบประสาทของมนุษย์มาก สามารถเปลี่ยนอารมณ์ นิสัยใจคอ ตลอดจนพฤติกรรมของมนุษย์ได้

 

สีเป็นสิ่งเร้าภายนอกที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ทางตาและก่อให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ กัน การศึกษาเรื่องสีในแง่จิตวิทยานี้มีนักจิตวิทยาหลายคนได้ศึกษาและทดลอง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ (Graves, 1951)

 

  1. สีร้อน เช่น สีเหลือง สีส้ม สีแดง มีคุณสมบัติเป็นบวก สามารถทำให้เกิดความรู้สึกที่ก้าวร้าว กระสับกระส่าย ตื่นเต้นเร้าใจ เมื่อเปรียบเทียบกับสีเย็น เช่น สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นลบ สามารถเร้าให้เกิดความรู้สึกเยือกเย็น สันโดษ และเงียบสงบ
  2. สีที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบ ได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว สีส้ม และสีเหลือง ตามลำดับ
  3. สีแดงเป็นสีที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ชื่นชอบ และสีน้ำเงินเป็นสีที่ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบ
  4. โดยทั่วไป ผู้หญิงจะมีความรู้สึกต่อสีไวกว่าผู้ชาย และลักษณะการบอดสีจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  5. สีบริสุทธิ์ (pure color) มักได้รับการเลือกมากกว่าพวกสีค่าแก่ (shades) และสีค่าอ่อน (tints) ในพื้นที่แคบๆ ขณะที่ในพื้นที่กว้างๆ พวกสีค่าแก่และสีค่าอ่อนจะได้รับเลือกมากกว่า
  6. การใช้สีร่วมกันนิยมใช้ในแง่ต่อไปนี้ คือ ใช้สีที่ตัดกัน (contrasted or complementary) ใช้สีที่กลมกลืนกัน (harmonic or analogous) และใช้สีสีเดียว (monochromatic)

 

 

ลักษณะและสัญลักษณ์ของสี (Characteristics and Symbolism of Color)


 

 

สีแต่ละสีได้ก่อให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ กัน มนุษย์จึงได้ให้ลักษณะของสีแต่ละสี และความหมายหรือสัญลักษณ์ไว้ต่างๆ กัน ดังนี้

 

สีเหลือง – เป็นสีที่มีค่าความสว่างมากที่สุด แต่เป็นสีที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดโดยเฉพาะเฉดสีเข้ม สีเหลืองเป็นสีแห่งความสว่างสดใส เป็นสัญลักษณ์ของแสงอาทิตย์ ความหนุ่มสาว ความฉลาด ความยินดีปรีดา ความรื่นเริงเบิกบาน และความมั่งคั่งสมบูรณ์ ในด้านบวกสีเหลืองทองเป็นสีที่นำมาซึ่งความเมตตากรุณาและความคิดสร้างสรรค์ ส่วนสีเหลืองหม่นกลับเป็นทางตรงกันข้าม แสดงถึงความอิจฉาริษยา การทรยศหักหลัง การไร้สัจจะ และความขี้ขลาด นอกจากนี้ยังพบว่าสีเหลืองเป็นสีที่โปรดปรานของคนขี้สงสัยที่พูดคุยกับคนอื่นๆ และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยง่าย สีเหลืองช่วยทำให้ระบบประสาทเข้มแข็งและปลุกฝังการมองโลกในแง่ดี

 

สีแดง – เป็นสีที่มีค่าสีสูงที่สุด และมีอำนาจดึงดูดความสนใจมากที่สุด เป็นสีที่แสดงถึงความก้าวร้าว ความตื่นเต้นเร้าใจ สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความกระปรี้กระเปร่าและการกระทำ เชื่อมโยงถึงพลังอำนาจ ความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ความเกรียงไกร การต่อสู้ และภยันตราย สีแดงเป็นสีที่ทำให้เมื่อยตาได้ง่าย และกระตุ้นประสาทได้มากที่สุด สะดุดตาคนได้ในทันทีที่เห็น และจะเบื่อได้เร็วเช่นกัน

 

สีน้ำเงิน – เป็นสีที่แสดงถึงความสุภาพเรียบร้อย สง่าผ่าเผย ความสงบเยือกเย็น ความซื่อสัตย์ และเกียรติยศ สีน้ำเงินเข้มทำให้รู้สึกเงียบสงบ วังเวง และเศร้า ในทางศาสนาสีน้ำเงินแสดงถึงความหวัง ส่วนสีฟ้าอ่อนช่วยให้จิตใจกระชุ่มกระชวย บรรเทาความเศร้าและช่วยกล่อมจิตใจให้เบิกบาน ทั้งอาจยังช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายและความดันโลหิตได้เล็กน้อย ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและทำให้รู้สึกเย็นสบาย สีฟ้าอ่อนเป็นสีของความอดทน

 

สีเขียว – มีลักษณะคล้ายสีน้ำเงิน คือเป็นที่ให้ความรู้สึกค่อนข้างจะเป็นกลาง ให้ความรู้สึกสงบมากกว่ากระตือรือร้น เป็นสีแห่งธรรมชาติ แสดงถึงความสดชื่น ร่มเย็น มีชีวิตชีวา และความศรัทธา สีเขียวมะกอกเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ความสงบ เป็นสีที่ช่วยให้ปลายประสาทสายตาและกล้ามเนื้อผ่อนคลายจากความตึงเครียด มีงานวิจัยพบว่า คนที่ชอบสีเขียวจะพยายามแสดงความสามารถ สำหรับคนที่ไม่ชอบมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าเป็นคนกลัวปัญหาในชีวิตประจำวัน

 

สีม่วง – เป็นสีแห่งเกียรติยศ เมื่อใช้ในปริมาณมากจะเป็นสีที่แสดงถึงความรู้สึกสงบ เยือกเย็น ภาคภูมิ ส่วนสีม่วงอ่อนทำให้รู้สึกซึมเศร้า เหงา เวิ้งว้าง และลึกลับน่ากลัว คนที่ชอบสีม่วงมักเป็นคนที่มีลักษณะเจ้าอารมณ์และอ่อนไหว และพบว่าสีนี้ชักจูงให้เด็กๆเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ได้

 

สีชมพู – คล้ายกับธรรมชาติที่อ่อนนุ่มและค่อนข้างจะดูเป็นทารก มีงานวิจัยพบว่าคนที่ถือหลักประโยชน์จะไม่ชอบสีนี้

สีน้ำตาล – เป็นสัญลักษณ์ของความกระวนกระวายและความไม่พอใจ

 

สีขาว สีเทา และสีดำ เรียกว่า “achromatic” หมายถึง การไม่มีสี ในทางทฤษฎีไม่จัดว่าเป็นสี แต่ก็มีอิทธิพลต่อสภาวะอารมณ์เช่นกัน

 

สีขาว – เป็นสีที่สว่าง นุ่มนวล ให้ความรู้สึกในทางบวกมากกว่าสีดำและสีเทา สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาด ความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา และสันติภาพ บางครั้งหมายถึงการยอมแพ้หรือการสงบศึก ดูจะเป็นสีในอุดมคติที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญและข้อโต้แย้งใด ๆ ในประเทศจีนใช้สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียและการไว้ทุกข์ ส่วนชาวตะวันตกหมายถึงสีของเครื่องแต่งกายเจ้าสาวในวันแต่งงาน

 

สีเทา – แสดงถึงการเกษียณอายุ ความสุขุม รอบคอบ ความสงบเสงี่ยมถ่อมตัว เคร่งขรึม และความแก่ชรา เป็นสีของการประนีประนอม บ้างก็ว่าเป็นสีของคนที่มีลักษณะของใช้เหตุผลและไม่ค่อยไว้ใจอะไรง่าย ๆ

 

สีดำ – เป็นสีที่แสดงถึงความเคร่งขรึม ความมืด ความลึกลับ น่าเกรงกลัว ให้ความรู้สึกเศร้าหมอง สีดำเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย ความโศกเศร้า และความตาย เคยถูกมองว่าเป็นสีของคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง มองชีวิตอย่างหดหู่ และไม่สู้จะมีความสุข

 

 

 

 

 

 

สีกับบุคลิกภาพ (Color and Personality)


 

 

ในปี 1921 Rorschach ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการตอบสนองต่อสีและลักษณะบุคลิกภาพ โดยเขาสังเกตว่า บุคคลที่ซึมเศร้าจะมองทุกอย่างเป็นสีดำ และคนไม่สามารถจินตนาการงานปาร์ตี้ที่สนุกสนานโดยปราศจากสีได้ นอกจากนี้สียังดึงบุคคลออกจากความตึงเครียดได้

 

ต่อมา ในปี 1947 Luscher ได้ทำแบบทดสอบสีเพื่อประเมินบุคลิกภาพ แบบทดสอบนี้กล่าวถึงลำดับการชอบสีของบุคคล โดยสีที่ใช้มี 8 สี ได้แก่ แดง น้ำเงิน เขียว เหลือง น้ำตาล ม่วง เทา และดำ วิธีการเลือกสีให้ผู้เลือกดูสีแล้วบอกลำดับการเลือกโดยไม่ต้องนำไปเชื่อมโยงว่าเป็นสีของอะไร เป็นการเลือกสีที่ตัวสีเอง จากนั้นจึงนำลำดับการเลือกสีนั้นๆ มาทำนายบุคลิกภาพ

 

การทำนายบุคลิกภาพขึ้นอยู่กับลำดับ 8 ลำดับของสีทั้งแปด และคำทำนายจะปรับเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ของลำดับเหล่านี้ เช่น ผู้ที่เลือกสีใดเป็นอันดับแรกจะมีบุคลิกอย่างไร

 

  • สีเขียว เป็นผู้มีความนับถือในตนเอง โดยแสดงออกทางการวางอุดมคติสำหรับตนเอง หรือโดยการแสวงหาชื่อเสียง ต้องการชีวิตที่ยืนยาว และมีคุณภาพสำหรับตนเองและผู้อื่น
  • สีแดง เป็นผู้คำนึงถึงความสำเร็จ ปรารถนาในความตื่นเต้นที่จะเพิ่มรสชาติในชีวิตและประสบการณ์ ต้องการชัยชนะ โดยจะแสดงออกมาในรูปของการประชันแข่งขัน และการเสี่ยงโชค
  • สีน้ำตาล เป็นผู้คำนึงถึงความปลอดภัยของครอบครัว ความอบอุ่นภายในบ้าน จะคบเพื่อนที่เหมือน ๆ กับตน มีความต้องการทางวัตถุ รักความสะดวกสบาย และในขณะเดียวกันก็รักสันโดษ
  • สีเทา เป็นผู้ที่ชอบกันตนเองออกจากอิทธิพลภายนอก ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับผู้ใด ชอบที่จะเป็นผู้เฝ้าดูอยู่เบื้องหลัง เป็นคนระมัดระวังตน และมักจะสร้างเกราะป้องกันตน
  • สีน้ำเงิน เป็นผู้เคร่งครัดเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี ต้องการความสงบและสภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ต้องการให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ดำเนินอย่างนุ่มนวลไม่ติดขัด มีความกลมกลืนทางร่างกายและจิตใจ จิตวิญญาณที่สงบสันโดษ เป็นผู้มีธรรมะและจรรยาที่สมบูรณ์แบบ
  • สีเหลือง เป็นผู้ที่ชอบการเปลี่ยนแปลง ปรารถนาสูงสุดถึงความสุขสมบูรณ์ในชีวิต มีความหวังในอนาคต รักความก้าวหน้า ชอบสิ่งใหม่ๆ ทันสมัย เป็นนักพัฒนา
  • สีม่วง เป็นผู้มีเสน่ห์ น่าสนใจต่อผู้คนทั้งหลาย และพยายามทำให้ผู้อื่นติดใจหลงใหล
  • สีดำ เป็นผู้ที่รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ผิดที่ผิดทาง เป็นคนดื้อรั้น ต่อต้านทิศทางของโชคชะตา

 

นอกจากนี้ Schaie ปี 1957 เสนอว่า สีมีอิทธิพลต่อระบบชีวภาพ โดยร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อความสว่างและความมืดของสี สีจึงมีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพของมนุษย์ เขาได้คิดค้นแบบทดสอบบุคลิกภาพปิรามิดของสี ใช้สีทั้งหมด 9 สี คือ แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน ม่วง ดำ ขาว และน้ำตาล โดยมีเฉดสีต่างๆ กันออกไปอีกถึง 24 สี เขากล่าวว่า ผู้ที่จัดเรียงปิรามิดของสีโดยใช้สีหลาย ๆ สี และจัดไม่เป็นระเบียบ มักมีบุคลิกภาพแบบไม่แน่นอน ส่วนคนที่ใช้สีเพียง 2 สี และสลับกันแถวละสีอย่างเป็นระเบียบ แสดงถึงเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบเข้มงวด และสำหรับผู้ที่ใช้สีหลายสี แต่มีการจัดเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ แสดงว่าเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบมีโครงสร้างที่ดี

 

นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีปฏิบัติการสูง มุ่งสู่เป้าหมาย และมีการควบคุมการแสดงออกที่ดีจะชอบสีเหลือง ส่วนพวกที่ชอบสีแดงเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมการแสดงออกของพฤติกรรม พวกที่ชอบสีม่วงเป็นกลุ่มที่มีความวิตกกังวลและมีความตึงเครียด

Chougourian (1968) เชื่อว่า การที่มนุษย์ชอบสีใดสีหนึ่งนั้น ตัวตัดสินไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางอารมณ์อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมด้วย

 

เมื่อเขาทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัย 4 ชาติ คือ อเมริกัน เลบานอน คูเวต และอิหร่าน เพศชายและหญิงเท่า ๆ กัน สีที่ใช้มี 8 สี คือ แดง ส้ม เหลือง เขียวใบไม้ เขียวน้ำทะเล คราม น้ำเงิน และม่วง โดยเสนอสีให้ดูเป็นคู่ ๆ ผลปรากฏว่า สีแดงและสีน้ำเงินเป็นสีที่นักศึกษาอเมริกันชอบมากที่สุด ในทางกลับกันเป็นสีที่นักศึกษาคูเวตชอบน้อยที่สุด สีเขียวครามเป็นสีที่นักศึกษาอเมริกันชอบน้อยที่สุด แต่เป็นสีที่นักศึกษาอิหร่านและคูเวตชอบมากที่สุด ส่วนสีที่อยู่ในลำดับกลาง ๆ ของทั้ง 4 ชาติ ได้แก่ สีส้ม และสีเขียวใบไม้ สำหรับความแตกต่างระหว่างเพศในการชอบสีนั้นไม่เด่นชัดนัก มีเพียงสีเดียวคือ สีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีที่ชื่นชอบของเพศชายในขณะที่เพศหญิงไม่ชอบ

 

 

งานวิจัยไทย : สีกับสภาวะอารมณ์


 

 

งานวิจัยของซูฟียา เจะอารง ปี 2547 ที่ทดสอบเรื่องการเชื่อมโยงสีกับสภาวะอารมณ์ของวัยรุ่นตอนปลายและผู้ใหญ่ตอนต้นหญิงและชาย พบว่า
กลุ่มตัวอย่างเชื่อมโยงสีแดงกับสภาวะอารมณ์ตื่นเต้น สีเขียวและสีเหลืองกับสภาวะอารมณ์สบายใจ สีเขียว สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีน้ำตาลกับสภาวะอารมณ์อบอุ่น สีน้ำเงินและสีน้ำตาลกับสภาวะอารมณ์ปลอดภัย สีส้มและสีเหลืองกับสภาวะอารมณ์สนุกสนาน สีแดง สีเทา และสีดำกับสภาวะอารมณ์ต่อต้าน สีแดงกับสภาวะอารมณ์มีพลัง และสีดำกับสภาวะอารมณ์โศกเศร้า โดยไม่พบความแตกต่างทางเพศและกลุ่มอายุในการเชื่อมโยงสีกับอารมณ์

 

ซูฟียา เจะอารง เสนอว่าข้อค้นพบนี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวคิดเชิงพาณิชย์ ในการออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ก็สามารถกระตุ้นสภาวะอารมณ์ของผู้บริโภคให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิตได้

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“การเชื่อมโยงสีกับสภาวอารมณ์ของวัยรุ่นตอนปลายและผู้ใหญ่ตอนต้น” โดย ซูฟียา เจะอารง (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/75

 

ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/

 

 

เศร้าแค่ไหนถึงเรียกว่าซึมเศร้า

 

ชีวิตคนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้กับบางเวลาที่ฟ้าหม่น มีบางครั้งต้องพบเจอกับความโศกเศร้าเสียใจ ไม่ว่าจะเป็นจากการสูญเสียหรือความผิดหวัง แต่ในบางครั้ง ความเศร้าเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายไปเป็นความซึมเศร้า เราลองมาดูกันนะคะว่า “เศร้าแค่ไหนถึงเรียกว่าซึมเศร้า”

 

ประเด็นหลักที่ควรพิจารณา คือ ระยะเวลาและความต่อเนื่องของความเศร้า โดยส่วนใหญ่แล้ว หากความเศร้านี้เกิดขึ้นติดต่อกันถึงสองสัปดาห์ มองไปทางไหนก็เหมือนใส่แว่นดำ ทุกอย่างดูมืดมนหดหู่ใจไปหมด อันนี้น่าระวังค่ะ สำหรับเรื่องความเศร้าต่อเนื่องนี้ ยากที่จะมีอะไรมาเปลี่ยนใจให้สดใสได้ ต่อให้เป็นงานอดิเรก ดนตรี หรือกีฬาที่เคยชื่นชอบก็ไม่ช่วย เรียกว่าเอาช้างมาฉุด ก็หยุดเศร้าไม่ได้ค่ะ

 

ประเด็นอื่น ๆ ที่มักเป็นสัญญาณความซึมเศร้า คือ มีการเปลี่ยนแปลงของการกินหรือการนอน ไม่ว่าจะกินมากหรือนอนมากผิดปกติ หรือกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไป รู้สึกเหนื่อยล้าหมดพลัง หยิบจับอะไรก็ไม่เข้าที่เข้าทาง ติดๆ ขัดๆ หรือลุก ๆ ลน ๆ เกินเหตุ นึกคิดไม่คล่องตัว ใช้ชีวิตประจำวันทำงานทำการด้อยลง พลอยทำให้รู้สึกผิด รู้สึกแย่ ไม่พอใจตัวเอง จนบางครั้งอาจคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือจบชีวิตลงก็เป็นได้ค่ะ

 

ความซึมเศร้านั้นมาจากสาเหตุหลายอย่างร่วมกัน อาจเป็นเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต สารเคมีในสมองที่ผิดปกติ มุมมองความคิดที่ไม่ช่วยให้แจ่มใสนัก ในปัจจุบันมีแนวทางที่ช่วยลดความซึมเศร้าได้ค่ะ ทั้งจากยา การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด แต่ก่อนที่จะใช้บริการเหล่านี้ จำเป็นที่ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองซึมเศร้าอยู่จะต้องได้รับการประเมินและวินิจฉัยอย่างละเอียดจากบุคลากรทางการแพทย์ ว่าความเศร้าที่มีจัดเป็นความซึมเศร้าควรได้รับการดูแลเร่งด่วนแล้วหรือยังนะคะ

 

สำหรับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็มีบริการในส่วนนี้ ผ่านWellness Center

ท่านสามารถติดต่อมาได้ที่ 02-218-1171

และติดตามรับทราบข่าวสารและเรื่องราวดี ๆ ที่ศูนย์สุขภาวะทางจิตนำมาแบ่งปันได้ทางเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/WellnessPsyCU/ ค่ะ

 

 

 

ภาพจาก https://www.bustle.com/articles/121550-7-ways-to-differentiate-depression-from-sadness

 

 

 


 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

 

ความทรงจำปลอม

 

ในปี ค.ศ. 1983 หลังจากที่ Nancy Anneatra ได้รับการบำบัดจาก Celia Luasted ผู้ซึ่งยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจิตบำบัดในขณะนั้น Nancy ได้กล่าวหาว่า เธอถูกพ่อกระทำชำเราเมื่อสมัยเธอเป็นเด็ก แม้ว่าสุดท้ายแล้วศาลจะยกฟ้องคดีนี้ แต่ Nancy ได้เปลี่ยนชื่อและตัดขาดกับพ่อแม่ของเธอ จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1995

 

หลังจากที่ Nancy เสียชีวิต แม่ของเธอได้รับเอกสารประวัติการรักษาและพบว่านักจิตบำบัดเป็นผู้มีบทบาทในการทำให้ Nancy ระลึกความทรงจำปลอมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ในปี 1996 พ่อแม่ของเธอฟ้องจิตแพทย์และนักจิตบำบัดว่าหละหลวมในการรักษาและตรวจวินิจฉัย ใช้วิธีสะกดจิตจนส่งผลให้ Nancy สร้างความทรงจำปลอมเกี่ยวกับการถูกข่มขืนโดยพ่อของเธอ

 

พ่อแม่ของเธอชนะคดีนี้ในปี 2001 และได้รับค่าชดเชย 5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากความทรงจำปลอมของลูกสาวที่ถูกสร้างขึ้นผ่านการเข้ารับจิตบำบัด

 

(สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถหาอ่านจากกรณี Sawyer v. Midelfort, No. 97-1969)

 

นักจิตวิทยามีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความทรงจำของมนุษย์ บ้างก็เสนอว่าความทรงจำของคนเป็นเหมือนหน่วยความจำบนฮาร์ดไดรฟ์ ไม่มีวันสูญหาย การลืมเป็นเพียงเพราะไม่สามารถเรียกคืนข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้ แต่นักจิตวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่า ความทรงจำของมนุษย์นั้นเปราะบางและถูกปั้นแต่งได้โดยง่าย ทุกครั้งที่เราระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เราไม่ได้เรียกคืนข้อมูลแต่ทว่ากำลังสร้างความทรงจำนั้นขึ้นมาใหม่ และบางครั้งเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าความทรงจำที่เราแน่ใจหนักหนานั้น แท้จริงแล้วเป็นความทรงจำปลอม

 

Elizabeth Loftus นักจิตวิทยาปริชาน (cognitive psychologist) ชั้นแนวหน้าผู้ศึกษาเรื่องความทรงจำปลอม ได้แสดงให้เห็นในงานวิจัยของเธอหลายชิ้นว่า บุคคลสามารถสร้างความทรงจำของสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงได้และเชื่อมั่นในความทรงจำนั้นอีกด้วย ในการทดลองชิ้นหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองได้ดูเหตุการณ์อุบัติเหตทางรถยนต์และถูกขอให้จำรายละเอียดให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นพวกเขาได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ารถในภาพนั้น “ประสานงา” หรือ “ชน” กัน เมื่อผู้วิจัยถามผู้ร่วมการทดลองว่าจำได้หรือไม่ว่ามีเศษกระจกแตกกระจายอยู่บนพื้นถนน ผู้ร่วมการทดลองที่ได้รับข้อมูลว่ารถ “ประสานงา” ตอบว่าจำได้เป็นจำนวนมากกว่าสองเท่าของผู้ที่ได้รับข้อมูลว่ารถ “ชน” กัน ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่มีกระจกรถแตกแม้แต่บานเดียว

 

ถ้าคุณคิดว่าแค่ ‘จำผิด’ คงไม่มีผลอะไรต่อการใช้ชีวิตสักเท่าไหร่ ขอให้คุณลองคิดดูอีกที เพราะความทรงจำปลอมนั้นมีผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของเรา แถมยังคงอยู่ยาวนานอีกด้วย ในอีกการทดลองหนึ่ง ผู้ร่วมการวิจัยได้รับการชี้นำจากผู้วิจัยว่าพวกเขาเคยป่วยเพราะกินสลัดไข่เมื่อสมัยเป็นเด็ก (สลัดไข่เป็นอาหารที่ชาวอเมริกันรับประทานทั่วไป จึงง่ายต่อการสร้างความทรงจำปลอม) และให้ตอบคำถามอีกหลายอย่าง หลังจากนั้นผู้วิจัยทำทีว่าการทดลองนั้นเสร็จสิ้นแล้ว และให้ผู้ร่วมการวิจัยได้ออกไปพักทานของว่าง โดยมีแซนวิชสลัดไข่เป็นหนึ่งในเมนู ผลปรากฏว่าผู้ร่วมการทดลองที่เชื่อว่าตัวเองเคยป่วยเพราะสลัดไข่ หลีกเลี่ยงที่จะรับประทานแซนวิชสลัดไข่ที่เป็นของว่าง และในอีกสี่เดือนให้หลังเมื่อคนกลุ่มนี้ถูกเชิญมาร่วมงานวิจัยอีกครั้งโดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับงานวิจัยแรก ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มนี้ยังคงหลีกเลี่ยงการรับประทานสลัดไข่อยู่

 

ความทรงจำของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกปั้นแต่งขึ้นทุกครั้งที่มีการระลึกถึงมัน ความรู้ทางจิตวิทยานี้ถูกนำไปใช้ในการสอบพยานบุคคล โดยต้องกระทำด้วยความรัดกุม ปราศจากการชี้นำจากผู้สอบสวน มีวิธีขั้นตอนสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ส่วนในชีวิตประจำวัน เราเองก็ต้องพึงระวังว่าแม้ความทรงจำของเราจะดูแจ่มชัดมากแค่ไหน แต่สิ่งที่เราจำได้ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอไป เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ตัวเราก็จำไม่ประมาทหลงมั่นใจในตัวเองเกินไป ในขณะเดียวกันก็อาจจะช่วยให้เราให้อภัยและเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นเช่นกัน

 

 

ภาพจาก http://www.thebvnewspaper.com/2018/02/15/memory-workshop-draws-educators-to-campus/

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

สองวันในโลซาน…เมืองที่เคยขึ้นชื่อว่าการศึกษาดีเป็นอันดับต้นของโลก

 

เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศออสเตรีย แถมได้อยู่เมืองกราซ (Graz) เมื่องที่อยู่ทางตอนใต้ของออสเตรียก็เลยถือโอกาสไปเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสียเลย เพราะไม่ห่างจากกันมาก ในความคิดแรกการมาโลซานคือมาตามรอยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใจอยากเห็นแฟลตเลขที่ 16 ที่องค์พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์เคยใช้ชีวิตอยู่หลายปีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดูจากแผนที่ก็ดูไม่ห่างจากสถานีรถไฟโลซาน ระหว่างเดินหาแฟลตก็สำรวจเมืองไปด้วย และที่เมืองโลซานนี้เองทำให้ได้รู้จักน้องคนไทย “น้องไอซ์” เป็นคนอุดรธานีโดยกำเนิดแต่ตามครอบครัวมาอยู่โลซานตั้งแต่ 3 ขวบ

 

การมาที่โลซานทำให้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตของนักเรียนที่นี่ จากการพูดคุยกับน้องไอซ์และศาสตราจารย์ทางวิศวกรรมศาสตร์ที่โรงเรียนโปลีเทคนิคกลางแห่งเมืองโลซาน (École Polytechnique Federale de Lausanne (EPFL)) ทำให้ผู้เขียนได้ทราบว่า เด็กที่นี่พัฒนาความเข้าใจมโนทัศน์ของตนเอง (Self-Concept) หรืออัตลักษณ์ของตนเอง (Self-Identity) ได้เร็ว ตั้งแต่ช่วงเรียนมัธยมปลายหรือมัธยมต้นเลยทีเดียว จริง ๆ แล้วเรารู้ว่าเราเป็นใครมาตั้งแต่เด็ก แต่หลายคนคงเคยประสบปัญหา ไม่แน่ใจว่าแท้ที่จริงแล้วเราจะเป็นอะไร เราจะทำงานอะไร เราจะเป็นคนแบบไหน เราจะพบเจอสิ่งที่เราอยากเป็นจริง ๆ ได้เมื่อไหร่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่วัยรุ่นหลายคนอยากรู้และต้องหาคำตอบ ซึ่งคำตอบที่จะได้ต้องหาด้วยตัวเอง ส่วนที่ว่าทำไมเด็ก ๆ ที่โลซานจึงหาอัตลักษณ์ของตนเองได้เร็ว นั่นเพราะเด็ก ๆ ที่นี่ นอกจากจะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองแล้ว ยังต้องพยายามอย่างมากในการหาความชอบและความต้องการของตน เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตนเองอีกทั้งต้องลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนต้องมีอาชีพและทางชีวิตของตน เพราะค่าครองชีพของคนในประเทศนี้สูงมาก หากเทียบกับประเทศออสเตรียแล้วถือว่าสูงกว่าถึงเกือบสองเท่า

 

เด็กที่เมืองโลซานไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนอนุบาลเพราะไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ อาจจะเข้าเรียนเพียง 1 ปี หรือ 2 ปีก็ได้ การเรียนในชั้นอนุบาลเน้นเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ การเล่น การออกกำลังกายเป็นหลัก พอเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาเด็กต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ และเมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมต้นเด็กจะสามารถเลือกเรียนในโปรแกรมที่ตนถนัดได้ เด็กอาจถูกแบ่งตามความถนัดของตนเอง เกรดที่ได้ หรือเรียนคละกัน ซึ่งก็แล้วแต่ระบบของแต่ละมลฑล พอถึงเวลานี้เด็กส่วนใหญ่เริ่มมองหาลู่ทางชีวิตของตัวเองแล้ว เด็กหลายคนสมัครไปทำงานหลังเลิกเรียนหรือเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่มัธยมต้น เพราะต้องการทดลองดูว่าเขาน่าจะชอบอาชีพรูปแบบไหนมากกว่า เขาถนัดแบบไหนและยังเป็นการประเมินความสามารถที่แท้จริงของตนเองอีกด้วย เด็ก ๆ ที่นี่ไม่ได้เรียนพิเศษ เพราะพ่อแม่ไม่ได้บังคับ เขาเลือกเรียนตามที่เขาถนัด พอจะเข้ามัธยมปลายเด็กก็ต้องคิดและตัดสินใจแล้วว่าตนเองจะเลือกเรียนสายอาชีพหรือสายสามัญ นอกจากวิชาบังคับที่พวกเขาต้องเรียนเด็กสามารถเลือกวิชาเลือก เช่น ช่างไม้ ภาวะผู้นำ การโรงแรม ร้องเพลง ดนตรี การเป็นจิตอาสา เป็นต้น หากเลือกสายสามัญก็จะเรียนตามระบบและเข้ามหาวิทยาลัย หากเลือกสายอาชีพพวกเขาต้องเตรียมตัวฝึกงานไปด้วยเรียนไปด้วย เด็ก ๆ จะได้เงินเดือนจากการฝึกงานและได้เรียนเพื่อพัฒนาตนเองไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญรัฐบาลช่วยค่าเล่าเรียนให้อีกครึ่งหนึ่ง

 

เราคงไม่มาพูดเพื่อเปรียบเทียบว่ารัฐบาลประเทศนั้นประเทศนี้ดีอย่างไร แต่สิ่งที่จะพูดถึงคือ การวางระบบเช่นนี้เป็นการช่วยเด็กให้เข้าใจและตระหนักถึงความชอบ ความถนัดและความสามารถของตนเองได้เร็ว และยังช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกได้ดีมากยิ่งขึ้น ทุ่นเวลาไปได้มากเลยทีเดียว

 

ดังนั้นการศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์ในแต่ละระดับชั้นจึงช่วยให้เด็กเกิดอัตลักษณ์ของตนเองได้เร็ว เมื่อเด็กเข้าเรียนในระดับมัธยมปลาย เด็ก ๆ ก็ต้องเลือกแล้วว่าจะไปในสายสามัญหรือสายอาชีพ หากเป็นสายสามัญก็สามารถเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต่อได้ด้วยการสอบเข้า การศึกษาในระดับปริญญาตรีของที่นี่ใช้เวลา 3 ปี แล้วสามารถเรียนต่ออีก 1 ปีครึ่งเพื่อจบปริญญาโท คนส่วนใหญ่ที่นี่จึงจบปริญญาโท

 

ส่วนการศึกษาสายอาชีพ (ซึ่งผู้เขียนสนใจมากเป็นพิเศษ) นักเรียนเข้าเรียนในระดับสูงเช่นกัน โดยเลือกตามความถนัดของตนเอง เด็กที่เลือกสายอาชีพต้องฝึกงานตามองค์กรเอกชนไปด้วยและเรียนไปด้วย เด็กเลือกจำนวนวิชาและจำนวนวันที่ต้องเรียนต่อสัปดาห์ ส่วนวันที่เหลือก็ไปทำงานและฝึกงาน การที่เด็ก ๆ ได้ทำงานและฝึกงานเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ในโลกแห่งความจริงของการทำงาน ในขณะเดียวกันก็สามารถนำเอาประสบการณ์ที่ทำงานมาแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนเพื่อเพิ่มพูนความเข้มแข็งทั้งในทางทฤษฎี ทางปฏิบัติ และการดำเนินชีวิต เมื่อเลือกเรียนจบสายอาชีพหนึ่ง แต่หากทำงานไปแล้วรู้สึกว่ายังไม่สามาถตอบโจทย์ตัวเองได้ ก็สามารถกลับมาเรียนในระดับเดิมแต่เปลี่ยนสายอาชีพได้เช่นกัน อย่างเช่น น้องไอซ์ก็เลือกเรียนสายอาชีพในตอนแรก เธอเลือกเรียนถ่ายภาพ แต่เมื่อคิดว่าอาชีพช่างภาพยังไม่น่าจะตอบโจทย์ น้องไอซ์จึงกลับมาเรียนสาขาการทำอาหารเมื่ออายุ 26 ปีและตอนนี้ก็กำลังฝึกงานในคลีนิคคนชรา อีกสองปีก็จะจบไปเป็นเชฟ

 

สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการพูดคุยกันกับน้องไอซ์ในวันที่สองของการอยู่โลซาน ทำให้คิดถึงพัฒนาการด้านตัวตนของเด็ก ๆ ที่โลซาน และทำให้เข้าใจเลยว่า การเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งจากการประเมินความถนัดและความชอบของตน การได้เลือกจากความชอบ และการได้ลงมือทำลองผิดลองถูกนั้นสำคัญอย่างมากต่อการสร้างเสริมอัตลักษณ์ของตนเอง การที่ได้เรียนในระบบที่เอื้อต่อการพัฒนาตัวตนจะช่วยให้เด็กสร้างเสริมตัวตนและบุคลิกภาพของตนเองได้อย่างชัดเจน แต่การผลักภาระให้แต่โรงเรียนหรือสถานศึกษาเพียงอย่างเดียวคงไม่เกิดประโยชน์ เพราะบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือพ่อแม่ การช่วยเหลือและสนับสนุนโดยไม่ขีดเส้นทางชีวิตของลูกโดยพ่อแม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเด็กได้อย่างมาก หากพ่อแม่ลองปล่อยให้เด็กได้เลือกทำกิจกรรมต่าง ๆ ทดลองพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ได้ประสบกับความสมหวังและความผิดหวัง น่าจะช่วยให้เด็กประเมินและรับรู้ความสามารถ รวมไปถึงความต้องการของตนเองได้ดียิ่งขึ้น การที่เด็กพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองได้ดีจะช่วยให้เขาเป็นบุคคลที่มีความมั่นคงทางบุคลิกภาพ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความมั่นใจในตนเอง นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงพฤติกรรมทางสังคมต่าง ๆ ในแง่ดีอีกด้วย ในขณะที่เด็กบางคนไม่สามารถพัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมก็อาจทำให้กลายเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกแปลกแยกและมีความซึมเศร้า ในที่สุดเด็กเหล่านี้อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ปัญหาทางอารมณ์และบุคลิกภาพได้

 

หลายท่านอาจยังมองว่าการพัฒนาตัวตนไม่สำคัญ เพราะเดี๋ยวพอโตขึ้นเด็กก็จะเรียนรู้และพัฒนาความเข้าใจตนเองได้เอง จริง ๆ แล้วโลกคงไม่สวยขนาดนั้น เพราะคนที่เป็นทุกข์จากเรื่องนี้ก็คือเด็กที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่นั่นเอง และเราก็เห็นตัวอย่างของปัญหาเหล่านี้จากกลุ่มเด็กแว้น เด็กที่อยู่ตามแก๊งอาชญากรรม หรือแม้แต่เด็กที่แปลกแยกจากสังคม จากการศึกษาก็พบว่าเรื่องพัฒนาการด้านตัวตนของเด็กกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว บางทีอาจจะถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่อย่างเราควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนมากกว่าฝ่ายชี้นำ แล้วให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนจากการได้ลองผิดลองถูก การลงมือทำและการมีประสบการณ์ด้วยตัวของเขาเอง เขาจะได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข เพราะแน่ใจได้เลยว่าหากคนเป็นพ่อเป็นแม่เห็นเขามีความสุข เราก็จะยิ่งมีความสุขยิ่งกว่า

 

 

ภาพจาก https://highereducationdevelopment.wordpress.com/

 

 


 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤติ

 

เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นที่สนใจหรือเกิดวิกฤติในสังคม หลายคนต่างติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจากสังคมออนไลน์ ทั้งเฟสบุค และทวิตเตอร์ ที่มีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารแบบนาทีต่อนาที แต่ก็มีหลายครั้งที่ข้อมูลจากสังคมออนไลน์ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้รับสาร อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังเลือกที่จะเชื่อข้อมูลข่าวสารจากสังคมออนไลน์อยู่เช่นเดิม คำถามที่น่าสนใจคือเพราะเหตุใด?

 

นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเรื่องการเปิดรับข้อมูลข่าวสารและพบว่า การส่งต่อข้อมูลข่าวสารแบบ Word-of-mouth หรือ “ปากต่อปาก” จากเพื่อน ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิดนั้น เป็นกลวิธีในการเผยแพร่ข้อมูลที่ทรงอิทธิพลและก่อให้เกิดความไว้วางใจต่อผู้รับสารเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้รับสารจะเกิดความรู้สึกว่า ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารไม่ได้รับประโยชน์จากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ

 

ตัวอย่างเช่น นาย A เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ขององค์กรหนึ่ง ออกมาให้ข้อมูลในขณะเกิดภาวะน้ำท่วมว่า ระดับน้ำยังคงทรงตัว อันเป็นผลมาจากการวางแผนขององค์กรของตนเอง เปรียบเทียบกับ นางสาว B ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และเป็นเพื่อนสนิทกับผู้รับสาร ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ระดับน้ำยังไม่แน่นอน ในกรณีนี้ผู้รับสารมักเชื่อถือข้อมูลของนางสาว B มากกว่านาย A เพราะนางสาว B ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการนำเสนอข้อมูลเหมือนกับ นาย A

 

ไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะให้น้ำหนักกับข้อมูลจากบุคคลในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ตนเองรู้จัก สนิทสนม คุ้นเคย มากกกว่า อย่างไรก็ดี ผู้รับสารก็ยังควรพิจารณาข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์อย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ เพราะการส่งต่อข้อมูลแบบ “ปากต่อปาก” นั้นกว่าจะมาถึงเรา ก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้เช่นกัน

 

 

คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่า ที่เมื่อมีความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในแง่ใดแล้ว ก็มักชอบค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนความคิดเห็นของตนเพียงอย่างเดียว และเลือกที่จะไม่เปิดรับฟังข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเอง

 

นักจิตวิทยาสังคมเรียกลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี่ว่า “อคติในการยืนยันความเชื่อของตน” หรือ Confirmation bias ซึ่งหมายถึง การที่บุคคลพยายามค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนสมมติฐานของตนเอง ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นอันตรายต่อการตัดสินใจ และการแสดงพฤติกรรมของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวะที่ไม่ปกติ เช่น การเกิดภัยธรรมชาติ หรือการเกิดภาวะน้ำท่วม

 

ลองคิดดูว่า หากเรามีอคติในการยืนยันความเชื่อของตน และปักใจเชื่อแล้วว่า น้ำจะไม่ท่วมที่พักอาศัยของเราอย่างแน่นอน จึงค้นหาข้อมูลที่สนับสนุนความคิดที่ว่าน้ำจะไม่ท่วมที่พักอาศัยของเราเพียงอย่างเดียว แม้จะมีข้อมูลจากหน่วยงานหนึ่งที่ระบุว่า ย่านที่เราอาศัยอยู่ มีความเสี่ยงต้องเฝ้าระวังภัย แต่เราเลือกที่จะไม่เปิดรับหรือเชื่อถือข้อมูลดังกล่าวเลย ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะมีมากน้อยเพียงใด หรือในทางตรงกันข้าม หากเราปักใจเชื่อแล้วว่า น้ำจะท่วมที่พักอาศัยของเราแน่นอน จึงค้นหาแต่ข้อมูลที่ระบุว่าน้ำจะท่วมจนทรัพย์สินจะเสียหายทั้งหมด ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอาจมากเกินเหตุ จนอาจเกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า และมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนได้

 

ดังนั้นแล้ว การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในยามที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ทางที่ดีที่สุด คือการเปิดรับข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน พยายามลดอคติที่เกิดขึ้นในใจ และรับฟังข้อมูลข่าวสารด้วยสติ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป

 

 

การแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมต่อประเด็นหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ หรือสังคมออนไลน์

 

หลายๆ คน อาจเคยพบเจอการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ และอาจเคยพบเห็นข้อความหรือการแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงมากกว่าปกติ ยิ่งกว่านั้น หากคุณเคยแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุค ทวิตเตอร์ หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ คุณเคยรู้สึกว่า หลังจากที่แสดงความคิดเห็นบางอย่างไปแล้ว คุณยิ่งรู้สึกว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่แสดงความคิดเห็นลงไปมากขึ้นกว่าเดิม

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีคำอธิบาย….

 

คุณสมบัติสำคัญของการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์คือ Deindividuation หรือการลดอัตลักษณ์ของตนเอง ความหมายก็คือ เราไม่รู้สึกถึงความเป็นตัวเรานั่นเอง ซึ่งเกิดจากการสนทนา การแสดงความคิดเห็นผ่านทางสื่อออนไลน์นั้น เป็นการสนทนา และแสดงความคิดเห็นผ่านคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เห็นหน้ากันจริง ๆ ดังนั้น เราจึงมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงมากกว่าปกติ

 

นอกจากนี้ การที่เราแสดงความคิดเห็นในสภาวะนิรนามเช่นนี้ เท่ากับว่าเราไม่ถูกกดดันจากสังคม หรือบรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่ เราจึงกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่มาจากความรู้สึกนึกคิดของเราจริง ๆ ทำให้เมื่อแสดงความคิดเห็นไปแล้ว เรามักจะเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เราคิดจริง ๆ ทำให้ยึดถือในความคิดเห็นของเรามากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ อยากให้เป็นไปในทิศทางสร้างสรรค์ หรือให้กำลังใจกันดีกว่า เพราะการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงเพื่อวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับตนเอง นอกจากจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดอารมณ์ทางลบอีกด้วย

 

ในช่วงเวลาที่บ้านเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์หลายอย่าง เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงอยากจะติดตามรับทราบข้อมูลข่าวสารกันอย่างใกล้ชิด นาทีต่อนาที โดยเฉพาะการเลือกรับข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อออนไลน์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ของท่าน แต่การใช้เวลาติดตามเฝ้าสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา อาจส่งผลเสียทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และที่สำคัญ ท่านอาจจะกลายเป็นคนที่ติดอินเทอร์เน็ต หรือสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “Internet addiction” ไปเลยก็ได้

 

ผลการสำรวจพฤติกรรมการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเผยแพร่ในบทความออนไลน์ Psychologytoday.com รายงานว่า จากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ผลพบว่ากลุ่มตัวอย่างรายงานว่า ตนเองใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์มากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ขณะที่ 40% ของกลุ่มตัวอย่างรายงานว่า ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะขับรถ ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การที่บุคคลจดจ่ออยู่กับการใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จนเกิดความเคยชินในการรับส่งข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วจากสื่อออนไลน์นี้ ทำให้บุคคลขาดความระมัดระวัง และความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และบุคคลรอบตัวจริง ๆ นอกจากนี้ ข่าวที่ปรากฏให้เห็นหลายครั้งก็พบว่า พ่อแม่บางคนให้ความสนใจต่อสังคมออนไลน์มากกว่าการดูแลลูกของตน จนละเลยและทำให้ลูกของตนเองถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว

 

ดังนั้น หากคุณเลือกที่จะรับข้อมูลข่าวสารจากเครือข่ายสังคมออนไลน์แล้วล่ะก็ ควรระมัดระวังถึงระยะเวลาและความถี่ในการใช้งานด้วย เพื่อจะไม่ตกเป็นทาสของสื่อออนไลน์ การใจจดใจจ่อติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา จนละเลยที่จะทำภารกิจอื่นๆ ที่สำคัญ ก็อาจส่งผลเสียได้

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

 

ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกเป็นเกย์?

 

ครั้งแรกที่ได้ยินคำถามนี้ ดิฉันเกิดคำตอบขึ้นมาทันทีว่า ทำตัวตามสบาย ตามปกติสิ ไม่เห็นจะต้องมี “How to” เพื่อมารับมือหรือจัดการกับ “ปัญหา” นี้เลย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาวิเคราะห์อีกที การที่ครอบครัวในสังคมของเรายังมีคำถามนี้อยู่ อาจหมายความว่า เรายังมีความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจอยู่ และอาจจะยังไม่พร้อมที่จะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาปกติทั่วไป คาดว่าคงไม่มีใครเคยถามว่า ทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าลูกไม่ใช่เกย์?

 

ดังนั้นเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นในการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติของคนในครอบครัวและสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่ และผู้ปกครอง ซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญในชีวิตของลูก ๆ บทความนี้จึงอยากเชิญชวนให้พ่อแม่ และผู้ปกครองลองอ่านเพื่อเกิดความเข้าใจ และประเมินการกระทำ คำพูดที่เรามีต่อลูกที่มีความรักที่หลากหลาย

 

เรื่องทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเกย์นี้ เราอาจจะมองได้ 2 ประเด็นคือ ลูกมาบอกเราว่าเขาเป็นเกย์ หรือ เราสงสัยว่าลูกเป็นเกย์ แต่ลูกไม่กล้าหรือยังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยกับเรา

 

ในประเด็นแรก หากลูกมาบอกเราว่าเขาเป็นเกย์ ขอให้คุณพ่อคุณแม่จงชื่นชมที่เขากล้าที่จะมาเปิดเผยกับเรา เพราะนั่นแปลว่าลูกเราไว้ใจและสนิทใจกับเรามากเพียงพอที่จะเปิดเผยตัวตนของเขาแก่เราได้ จงรักเขาให้มากกว่าเดิม และบอกเขาว่า เราดีใจที่เขาสามารถบอกเราเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าลูกเป็นอย่างไรพ่อกับแม่ก็ยังรักลูกเหมือนเดิม อย่าทำให้เขาผิดหวังหรือทำให้เขากังวลว่าเขาอาจจะทำให้เราผิดหวัง พ่อแม่บางคนจะพูดกับลูกว่า “ตอนนี้จะเป็นอะไรก็ได้ เดี๋ยวต่อไปก็เปลี่ยนเอง” ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเรายอมรับในตัวลูกนะคะ แต่จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าเราไม่ได้ยอมรับเขาอย่างเต็มที่และเรายังอยากให้เขาเปลี่ยนเป็นลูกในแบบที่เราต้องการ (กมลรัตน์ ทวีรัตน์, ไกรวิน นรรัตน์, และ พลวัฒน์ ตู้จินดา, 2559)

 

ลูกทุกคนจะมีความกลัวว่าตนเองจะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง กลัวว่าพ่อแม่จะไม่รักถ้าเราไม่เป็นหรือทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ อย่าสร้างความกลัวหรือความกังวลให้ลูกเลยค่ะ เพราะมันจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมา พ่อแม่บางคนจะเข้าใจผิดว่าลูกเลือกที่จะเป็นเกย์ หรือการเป็นเกย์นั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติ หรือพ่อแม่บางคนจะโทษตนเองที่ทำให้ลูกเป็นเกย์ อย่าคิดหรือพูดเช่นนั้นกับลูกเด็ดขาดค่ะ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกผิดและเสียใจ ความชอบในเพศใดนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเลือกกันได้นะคะ เราลองถามตัวเองดูสิคะว่า เราเลือกที่จะชอบคนต่างเพศรึเปล่า หากพ่อแม่ยอมรับไม่ได้เมื่อรู้ว่าลูกเป็นเกย์นั้น คนที่ต้องปรับตัวและปรับทัศนคติจะไม่ใช่ลูก แต่เป็นพ่อแม่นั่นเองค่ะ

 

อีกประเด็นที่ว่าถ้าเราสงสัยว่าลูกอาจจะเป็นเกย์ แต่ไม่กล้ามาบอกเรา เราควรจะทำอย่างไรดี

 

ขอให้พ่อกับแม่ค่อย ๆ ชื่นชมบุคคลที่เป็นเกย์ในสังคมและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ให้ลูกเห็นว่า ไม่ว่าลูกจะมีเพศอะไร หากลูกเป็นคนดี ทำประโยชน์ให้สังคม ลูกก็จะเป็นที่รักและน่าชื่นชมในสายตาพ่อแม่และคนในสังคม พ่อแม่บางคนไม่มีสติ ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตนเองพูดนี่เองที่ทำให้ลูกไม่กล้าเข้ามาเปิดใจคุยกัน พ่อแม่บางคนเผลอพูดจาล้อเลียนหรือดูถูก กดขี่บุคคลรักเพศเดียวกัน หารู้ไม่ว่าลูกของเรากำลังสังเกตและจดจำว่าพ่อแม่ของเขามีทัศนคติอย่างไรต่อบุคคลเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเข้าไปคุยกับพ่อแม่ หากเราต้องการให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและไว้ใจเรา เราต้องปรับทัศนคติ การกระทำ และคำพูดของเราให้ได้ก่อนนะคะ จากนั้นหาโอกาสบอกลูกไปตรง ๆ ว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นอะไร พ่อแม่ก็รักลูกเหมือนเดิม ประโยคนี้เป็นประโยคที่ลูก ๆ หลายคนอยากได้ยินที่สุดจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

 

 

 

อ้างอิง

 

กมลรัตน์ ทวีรัตน์, ไกรวิน นรรัตน์, และ พลวัฒน์ ตู้จินดา. (2559). ประสบการณ์ชีวิตของเลสเบี้ยน เกย์และไบเซ็กชวลภายหลังการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศของตนเองต่อบิดาและมารดา. โครงการทางจิตวิทยา ปริญญาบัณฑิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

“ช่างมัน” เสียบ้างก็ดี แต่จะให้ดีอย่าเผลอ “ช่างมัน” ไปซะทุกเรื่อง

 

Giving a damn for something you want to live for…

 

คุณเคยพูดกับตัวเองไหมว่า “ช่างมันเถอะ” กับหลาย ๆ เรื่องในชีวิต ลองนึกย้อนดูว่าคุณพูดอย่างนั้นในเรื่องอะไรบ้าง หากเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลืมหยิบสินค้าที่ราคาไม่แพงของจากร้านค้าหลังชำระเงินแล้ว โดนคนแซงคิวซื้ออาหารตอนพักรับประทานอาหารกลางวัน ได้ยินคนในที่ทำงานนินทาว่าร้ายเราเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือรถยนต์ถูกมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวกระจกข้างเป็นแผลนิด ๆ หน่อย ๆ

 

“ช่างมันเถอะ” ดูจะเป็นวิธีคิดต่อสถานการณ์ที่ดี เพราะหากคุณปล่อยวางกับเรื่องหยุมหยิมเหล่านี้ได้ก็จะทำให้ชีวิตของคุณน่าอยู่ขึ้น ไม่ทำให้คุณคิดหมกมุ่นวุ่นวายใจ หัวเสียเจียนบ้า เสียเวลาคิดกับเรื่องไม่เป็นเรื่องจนทำให้หมดพลังงานที่จะสามารถไปทำอย่างอื่นที่จำเป็น การ “ช่างมัน” ในเรื่องเล็กน้อย ไม่สลักสำคัญ คุณอาจจะต้องใช้ทักษะในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดและสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน หรือ การมีสติ (mindfulness) ซึ่งเป็นทักษะที่ฝึกฝนกันได้ และช่วยให้เราเข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้ปล่อยวางและหยุดคิดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ถ้าทำได้แล้วอาจทำให้เราเห็นโลกในมุมที่รื่นรมย์ยิ่งขึ้น ความคิดและความรู้สึกโปร่งเบา ไม่ต้องแบกไปเสียทุกเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิต ถ้าสังเกตให้ดี สิ่งที่เราเลือกจะ “ช่างมัน” เพื่อช่วยให้จิตใจเราดีขึ้น มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และเมื่อพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง ก็มักเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้หรืออยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา การเก็บเรื่องเหล่านี้มานั่งเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันหรือกลุ้มใจจนหน้าดำคร่ำเครียดนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร รังแต่จะทำให้เสียสุขภาพจิต เราจึงเลือกใช้วิธีคิดแบบปล่อยวาง หรือปลง เพื่อให้จิตใจเป็นสุข

 

อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องแยกแยะเรื่องที่จะ “ช่างมัน” ด้วยเหมือนกัน มิฉะนั้นจากเรื่องที่ควร “ปล่อยวาง” จะกลายเป็น “ละเลย” สิ่งที่สิ่งที่สำคัญไปเสีย

 

หากเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือแม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว แต่พิจารณาแล้วว่าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียขึ้นได้อีกในอนาคตหรือสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ การเลือกที่จะ “ช่างมัน” อย่างนี้จะกลายเป็น “ละเลย” และประมาทกับอนาคตจนเกินไป แม้การใช้วิธีคิดแบบ “ช่างมัน” จะช่วยให้เราเป็นสุข เมื่อเผชิญเรื่องแก้ไขไม่ได้หรือเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย แต่ก็ควรระวังตัวเองไม่ให้ใช้วิธีคิดแบบ “ช่างมัน” จนเคยชินเป็นนิสัย จากแค่ “ปล่อยวาง” ให้ใจสบาย อาจจะเลยเถิดไปถึง “ละเลย” เรื่องสำคัญของชีวิตไปได้

 

อย่าปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวพัดพาให้เรารู้สึกว่า ช่างมัน กับทุก ๆ เรื่องไปเสียหมดจนสุดท้ายเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ก็แค่ทำสิ่งที่ควรจะทำเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ พาให้เรารู้สึกเหมือนกับจะใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยขาดซึ่งความหมายหรือแก่นสารในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งขับเคลื่อนสำคัญของการมีชีวิตอย่างมีคุณค่าและสุขภาวะที่ดี

 

ทฤษฎี Self-Determination Theory/SDT หรือการกำหนดตนเอง กล่าวถึงความต้องการทางจิตใจพื้นฐานของมนุษย์ (psychological needs) 3 อย่าง ได้แก่ ความสามารถ (competence) การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น (relatedness) และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ (autonomy) ล้วนเป็นสิ่งที่หากเราได้ตอบสนองความต้องการทั้ง 3 ด้านนั้นจะจูงใจให้เราลุกขึ้นมา ริเริ่ม ทำสิ่งต่าง ๆ และพร้อมที่จะทำตามหน้าที่และยอมรับบรรทัดฐานของสังคมที่เรายึดถือ อีกนัยหนึ่งก็คือ จะก่อให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มาจากแรงจูงใจภายใจตัวเรา

 

จริง ๆ แล้วความต้องการทางจิตใจพื้นฐานดังกล่าว ก็เปรียบเสมือนกับความต้องการทางกายภาพ สิ่งมีชีวิตบนโลกนี้นั้น ทั้งมนุษย์ ต้นไม้ใบหญ้า และสัตว์โลกนั้น ต่างมีความต้องการทางกายภาพ เช่น ออกซิเจน น้ำ และสารอาหาร ซึ่งเราต้องตอบสนองความต้องการเหล่านี้เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี แต่หากเราขาดแคลนสิ่งเหล่านี้เราก็จะทุกข์ทรมาน ดังนั้นการสร้างปัจจัยที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจภายในตัวเอง อย่างบรรยากาศ หรือสถานการณ์ที่ทำให้ตัวเองมีโอกาสเข้าถึงความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถทำสิ่งต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องที่ยากก็ตาม (ให้ตัวเรารู้สึกถึงว่ามีความชำนาญหรือความถนัดในบางอย่างที่ท้าทาย) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น (เช่น ได้รับการสนับสนุน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคมหรือกลุ่มนั้นๆ) และมีอิสระในการตัดสินใจหรือรู้สึกถึงว่าตนสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ (ไม่ใช่แค่ให้นายสั่งเท่านั้น หรือทำเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อื่น) ก็จะทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกมีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ ที่ตนเองมุ่งหวังหรือมุ่งมั่นให้สำเร็จจนได้

 

หากเราละเลยการรักษาระดับแรงจูงใจภายในที่จะผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญกับตัวเรา นอกจากความต้องการทางจิตใจพื้นฐานของเราจะพร่องหรือถูกละเลยแล้ว ก็จะทำให้ตัวเราจมอยู่กับสิ่งที่เราไม่ต้องการจะทำ แต่ทำสิ่งนั้นให้ผ่านไปวันหนึ่งอย่างแกนๆ เท่านั้น แรงจูงใจภายในนั้นสำคัญมากเพราะจะเป็นพลังผลักดันให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จในระยะยาว รวมถึงนำไปสู่ความรู้สึกภูมิใจต่อคุณค่าและความหมายของสิ่งที่ตัวเองได้ลงมือกระทำอย่างแท้จริง ต่างจากแรงจูงใจที่เกิดจากภายนอกตัวเรา เช่น รางวัล คำชม หรือกำหนดเวลา deadline ต่าง ๆ ที่แม้จะกระตุ้นให้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนกัน แต่ก็เป็นเพียงสภาวะชั่วคราว ไม่ยั่งยืน หากขาดรางวัลหรือปัจจัยกระตุ้น อีกทั้งไม่ได้สร้างความรู้สึกภาคภูมิหรือความหมายลึกซึ้งต่อผลงานที่ได้รับ

 

อย่างนี้แล้ว การสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งตนเองและคนอื่นรอบตัวเรา เช่น บุตรหลาน พนักงาน นักเรียน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่สามีหรือภรรยา พึงระวังว่าการสร้างแรงจูงใจให้คนทำสิ่งต่าง ๆ ต้องแยกแยะระหว่างความต้องการที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจอย่างแท้จริง หรือเพียงแค่ต้องการควบคุมพฤติกรรมด้วยการใช้สิ่งจูงใจภายนอก (เงิน หรือ รางวัล ต่าง ๆ)

 

หากเราต้องการสร้างแรงจูงใจที่ยั่งยืนและช่วยสร้างคุณค่าและความหมายของการกระทำสิ่งต่าง ๆ ก็ควรสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจจากภายในตัวบุคคล – – สื่อสารกับตนเองหรือเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน – – เรียนรู้ความต้องการของตนเองหรือเป้าหมาย แทนที่จะควบคุมกำกับให้ทำตาม – – และเปิดโอกาสให้ตนเอง/เป้าหมายได้ลงมือทำ เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ไม่ท้าทายมาก เพื่อลิ้มรสความสำเร็จ สร้างความรู้สึกถึงความสามารถ ความชำนาญ ที่ทำให้วงจรแรงจูงใจจากภายในหมุนล้อขับเคลื่อน การทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีคุณค่า มีความหมาย และยั่งยืน

 

 

 

ภาพจาก http://sourcesofinsight.com/find-your-drive-the-keys-to-motivation/

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

 

มารักตัวเองกันเถอะ

 

ในวิชาทางจิตวิทยาสังคมที่ดิฉันสอนในเทอมที่เพิ่งผ่านพ้นไป ได้มอบหมายให้นิสิตหาบทความทางจิตวิทยาในหัวข้อที่ตนสนใจมาอ่าน แล้วอภิปรายเชื่อมโยงกับเรื่องราวในชีวิตของตนเอง เพื่อให้นิสิตได้หัดค้นคว้าและเห็นว่า “จิตวิทยาสังคมมีประโยชน์นะจ๊ะ”

 

ปรากฏว่า นิสิตหลายคนส่งงานมาในหัวข้อ การเห็นคุณค่าของตนเอง หรือ self-esteem ค่ะ ส่วนใหญ่ทำมาในแนว “ทำอย่างไรดี รู้สึกไม่ภูมิใจในตัวเองเท่าไร” “อยากเพิ่ม self-esteem”

 

หนึ่งในบทความที่นิสิตอ่านแล้วส่งมาก็คือหน้าเว็บไซต์ในบรรณานุกรมค่ะ ได้บอกวิธีง่าย ๆ ในการเพิ่มความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองของคนเรา เมื่อนำมาผนวกกับงานวิจัยสมัยใหม่อื่นๆ สรุปเป็นไอเดียจำง่าย ๆ และทำก็ง่าย ได้ดังนี้ค่ะ

 

“ถ้าอยากภูมิใจ ต้องใช้ความสามารถก่อน” และ “รักตัวเองให้หมดใจ ต้องรับได้ทั้งร้ายทั้งดี”

 

 

1. ถ้าอยากภูมิใจ ต้องใช้ความสามารถก่อน

 

หลักการง่าย ๆ ก็คือ ถ้าอยากให้ตัวเองเก่งขึ้น ดีขึ้น น่าคบมากขึ้น มีอะไรดี ๆ ให้ภูมิใจ ก็ต้องลุกขึ้นมาลงมือทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จค่ะ เราไม่สามารถจะนั่งคิดและมั่นใจไปผิด ๆ ว่าตัวเองเจ๋งอย่างนั้นอย่างนี้ทั้งที่ไม่จริงได้ เสียเวลาเปล่า ๆ ถ้าอยากพัฒนาตัวเองให้มีอะไรดีเด่นมากขึ้นก็ต้องฝึกฝนลงมือทำ เริ่มต้นง่าย ๆ ค่ะ

 

ถามตัวเองว่า เรามีจุดแข็งอะไร เราถนัดอะไร มันต้องมีสักอย่างสองอย่างสิน่า เจียวไข่ก็ได้ เล่นเกมออนไลน์ก็ได้ อะไรก็ได้ แค่ต้องเอาดีให้ได้

ลุกขึ้นมาลงมือทำสิ่งนั้น ความสำเร็จมักจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ก็มันเป็นงานที่เราถนัดนี่นา จริงมั้ยคะ

 

“ผมชอบเล่นเกม เอาดีทางนี้ก็ได้ใช่มั้ยครับอาจารย์” เอ้า… เอาเลยค่ะ ให้เป็นแชมป์ไปเลย ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่การประสบความสำเร็จค่ะ สิ่งนี้แหละจะทำให้เราภูมิใจในตัวเองมากขึ้นและเห็นว่าเราก็มีดีเหมือนกันนะ การเห็นคุณค่าของตัวเองนั้นมีโครงสร้างที่ง่ายมาก ๆ ก็คือ เมื่อใดที่นึกถึงตัวเองขึ้นมา เราก็ควรจะรู้สึกดี เช่น มั่นใจ ภูมิใจ ดีใจที่เราเป็นตัวเองแบบนี้ รู้สึกยอมรับและไม่รังเกียจ เป็นต้น เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเชื่อมโยงตัวเราเองเข้ากับสิ่งดี ๆ เช่น การประสบความสำเร็จในอะไรสักอย่าง เมื่อทำได้แล้วเมื่อใดก็ตามที่เรานึกถึงตัวเอง ความรู้สึกภูมิใจก็จะเกิดตามมา คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรปกป้องประคบประหงมลูกจนเกินไปไม่ยอมให้หยิบจับทำอะไรที่ลำบากเลย เพราะเขาจะไม่เคยได้พบว่าตัวเองทำได้ และไม่เคยได้เกิดความภูมิใจในตัวเองค่ะ

 

 

2. รักตัวเองให้หมดใจ ต้องรับได้ทั้งร้ายทั้งดี

 

“อาจารย์ครับ แต่กว่าจะได้เป็นแชมป์เกม ก็แพ้อยู่ตลอด ๆ แล้วเมื่อไรจะภูมิใจในตัวเองได้สักทีล่ะครับ” หนทางสู่ความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่มักจะไม่ง่าย เราน่าจะต้องแพ้ ผิดพลาด ต้องอด หรือทำไม่ได้ดีมาก่อน หรือเราอาจจะพบว่าตัวเองมีจุดอ่อนหรือไม่ได้เรื่องในบางเรื่อง

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาสมัยใหม่เสนอว่า การเห็นคุณค่าของตนเองที่แท้จริง คือ การยอมรับและให้ความเมตตาแก่ตัวเอง โดยเฉพาะในจุดอ่อนหรือข้อด้อยของเรา ไม่มีใครดีไปหมดทุกอย่าง แล้วทำไมเราจึงจะคาดหวังให้ตัวเองไม่มีข้อด้อยอะไรเลย? ดิฉันเองเป็นคนขี้ลืมอย่างร้ายกาจจนทำให้เสียการเสียงานมาแล้ว นึกถึงทีไรก็เจ็บแปล๊บที่หัวใจ และกังวล เบื่อตัวเองและรู้สึกว่าเราไม่ได้เรื่อง แต่หากเรามองตัวเองด้วยความเมตตาและให้อภัย เราจะเห็นได้ไม่ยากว่า เราก็เป็นมนุษย์เดินดินคนหนึ่ง ย่อมจะมีข้อด้อยข้อผิดพลาดได้ การตระหนักดังนี้น่าจะช่วยให้เรายอมรับตัวเองทั้งร้ายและดีอย่างที่เราเป็น ได้ไม่ยากค่ะ แหม… เวลามีแฟน เราทุกคนก็มักจะหวังให้เขารักเราในแบบที่เราเป็น แล้วตัวเราเองละคะ ทำไมถึงรับตัวเองไม่ได้

 

เมื่อเราสามารถยอมรับตนเองทั้งร้ายและดีได้แล้ว ความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในชีวิตก็จะไม่สามารถทำอะไรเราได้มาก เพราะแม้ประสบความสำเร็จเราก็รักตัวเอง แม้ล้มเหลวเราก็ยังรักตัวเองในแบบที่เป็น แบบนี้จึงจะเป็นการเห็นคุณค่าในตัวเองที่คงทนยืนยาวค่ะ

อ่านจบแล้วอย่าลืมให้กำลังใจคนในกระจกด้วยนะคะ ^v^

 

รายการอ้างอิง

 

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-squeaky-wheel/201604/5-ways-boost-your-self-esteem-and-make-it-stick

 

 


 

 

บทความวิชาการ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University

 

พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้านความงามของวัยรุ่น

 

พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพด้านความงามของวัยรุ่น

ความเชื่อและค่านิยมของการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม

 

 

ปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงามมากขึ้น เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาด ที่ผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าวัยรุ่น เช่น ครีมทาผิวขาว ครีมรักษาสิว รอยแผลเป็น น้ำผักผลไม้ผสมคอลลาเจน อาหารเสริมลดน้ำหนัก เป็นต้น

 

จากงานวิจัยในประเทศแคนาดาของ เบลล์ และคณะ เมื่อปี 2547 ได้ทำการสำรวจวัยรุ่นแคนาดาเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเสริมของวัยรุ่น ผลการวิจัยพบว่าวัยรุ่นกลุ่มนี้มีการบริโภคอาหารเสริม โดยวัยรุ่นเพศหญิงบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อความงามมากกว่าวัยรุ่นเพศชาย โดยเฉพาะสมุนไพรควบคุมน้ำหนัก ทั้งนี้กลุ่มผู้วิจัยตระหนักถึงแรงจูงใจในการบริโภคอาหารเสริมของวัยรุ่นว่า อาจมาจากความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารเสริม เช่น เชื่อว่าช่วยเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายหรือช่วยให้มีรูปร่างที่ดีขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การบริโภคเกินความจำเป็นได้

 

สำหรับในประเทศไทยมีการศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเช่นกัน โดย ลักขณา อังอธิภัทร และคณะ ได้ศึกษาในปี พ.ศ. 2551 ถึงพฤติกรรมการบริโภค และความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของคนไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศึกษาใน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.2 บริโภคอาหารเสริมและยังคงบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนร้อยละ 20.3 นอกจากนี้ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้และการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในระดับต่ำ โดยเข้าใจและเชื่อตามโฆษณา ว่าสามารถช่วยรักษาโรค บำรุงร่างกาย ลดความอ้วน และเสริมความงามได้ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าหากผู้บริโภครับประทานแต่อาหารเสริมเพียงอย่างเดียว โดยมุ่งวัตถุประสงค์ตามการโฆษณา อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้

 

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรเข้ามาดูแลควบคุมการโฆษณา และทำการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเสริมความงาม ที่ถูกต้องแก่ประชาชน

 

 

พฤติกรรมการลดน้ำหนักของวัยรุ่นและผลกระทบด้านลบจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก


 

จากผลการวิจัยเกี่ยวกับการลดความอ้วนของวัยรุ่นไทย ของ ศิวรักษ์ กิจชนะไพบูลย์ ที่ศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่ผ่านมาในรอบ 5 ปี (ตั้งแต่ระหว่างปี พ.ศ. 2549 ถึง ปี พ.ศ. 2554) พบว่าวัยรุ่นไทยให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ภายนอก ไม่พึงพอใจในรูปร่างของตนเอง รับรู้ว่าตนเองอ้วน ในขณะที่เกณฑ์น้ำหนักอยู่ในระดับสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งค่านิยมเช่นนี้ส่งผลให้วัยรุ่นกลุ่มนี้เกิดพฤติกรรมการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น มีการใช้ยาลดน้ำหนัก การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการดื่มกาแฟลดน้ำหนัก

 

นอกจากนี้สื่อโฆษณาต่าง ๆ ในปัจจุบันเน้นการนำเสนอนางแบบที่รูปร่างหน้าตาภายนอก การมีหุ่นที่ผอมเพรียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งส่งผลตอกย้ำให้วัยรุ่นไทยมีพฤติกรรมการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้อง เพียงเพื่อต้องการให้ตนมีรูปร่างผอมหุ่นดีเหมือนนางแบบในโฆษณา

 

การที่วัยรุ่นมีแนวโน้มลดน้ำหนักเพื่อให้รูปร่างตนเองผอมเพรียวเหมือนดาราในโฆษณา อาจนำไปสู่พฤติกรรมการลดน้ำหนักแบบผิดวิธี ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ นายสง่า ดามาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและที่ปรึกษาสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เตือนมายังวัยรุ่นถึงการบริโภคอาหารเสริมว่า วัยรุ่นทั้งเพศชายและเพศหญิง บริโภคอาหารเสริมประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดเม็ด แคปซูล ชงดื่ม หรือในรูปแบบของวิตามินต่างๆ เพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งการบริโภคอาหารเสริมเพียงอย่างเดียวนี้ ส่งผลทางลบอย่างมากต่อร่างกาย ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย และมีภูมิต้านทานโรคต่ำได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการที่วัยรุ่นมีให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกมากเกินไป อาจส่งผลให้วัยรุ่นกลุ่มนั้น มีพฤติกรรรมการลดน้ำหนักที่ผิดวิธี และทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

 

 

พฤติกรรมเสี่ยงของการศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่น


 

วัยรุ่นปัจจุบันมีต้นแบบความงามจากดาราหรือศิลปินที่ตนชื่นชอบ ซึ่งต้นแบบเหล่านี้มีหน้าตาที่สวยหล่อทั้งจากธรรมชาติ หรือจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม จากการสำรวจของสำนักเด็กดีโพล ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าเยาวชนไทยในปัจจุบัน มีค่านิยมในการทำศัลยกรรมเสริมความงามเพื่อให้ตนเองดูดี ช่วยเพิ่มความมั่นใจ โดยมีดาราหรือศิลปินที่ตนชื่นชอบเป็นต้นแบบด้านความงาม

 

สำหรับวงการวิชาการมีนักวิจัยหลายท่านให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมของวัยรุ่น เช่น งานวิจัยของ Lunde (ลุนเด้) ศึกษาทัศนคติของวัยรุ่นชาวสวีเดนต่อการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ในปี 2556 ผลการศึกษาพบว่าวัยรุ่นที่มีอายุน้อย มีแนวโน้มที่จะยอมรับการศัลยกรรมเสริมความงามมากกว่าวัยรุ่นที่มีอายุมากกว่า โดยวัยรุ่นหญิงที่อยากมีรูปร่างผอมบาง มักมีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรมเสริมความงามมากกว่าวัยรุ่นกลุ่มอื่น ๆ นอกจากนี้วัยรุ่นหญิงที่ชอบอ่านบล็อกความงามแฟชั่น ก็มีความสัมพันธ์กับการอยากมีรูปร่างที่ผอมบางมาก และมักมีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรมเสริมความงาม นอกจากนี้ ผลการวิจัยวัยรุ่นอังกฤษของ Swami ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าสื่อมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่น

 

จะเห็นได้ว่าทั้งต้นแบบ ซึ่งเป็นดาราหรือศิลปินที่มีหน้าตาและรูปร่างที่วัยรุ่นชื่นชอบ รวมทั้งสื่อ ที่มีการนำเสนอต้นแบบกลุ่มนี้ ล้วนส่งอิทธิพลต่อวัยรุ่นในการเลียนแบบ เพื่อให้ตนเองมีรูปร่างหน้าตาที่ดีเหมือนต้นแบบ และนำไปสู่การทำศัลยกรรมเสริมความได้ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ และดูแลพฤติกรรมสุขภาพความงามของวัยรุ่นให้หมาะสมและปลอดภัย

 

Markey และ Markey ได้ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสนใจในการเข้ารับบริการทำศัลยกรรมเสริมความงาม กับนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2552 ผลการวิจัยพบว่าความสนใจในการเข้ารับบริการศัลยกรรมเสริมความงาม มีความสัมพันธ์กับน้ำหนัก ความไม่พึงพอใจในรูปร่าง สื่อ และความน่าดึงดูดใจทางร่างกาย งานวิจัยสรุปว่าผู้หญิงที่ไม่พึงพอใจในรูปร่างของตน มีแนวโน้มที่จะทำศัลยกรรม เช่นเดียวกับ งานวิจัยของ Farshidfar และคณะ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการยอมรับการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ในปี 2556 ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอิหร่าน อายุ18 ถึง 20 ปี มีการทำศัลยกรรมเสริมความงามมากที่สุด โดยปัจจัยด้านภาพลักษณ์ทางร่างกายและการเห็นด้วยกับการทำศัลยกรรม มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทำศัลยกรรมเสริมความงาม

 

สำหรับในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2552 สำนักเด็กดีโพล สำรวจค่านิยมการทำศัลยกรรมเสริมความงามของวัยรุ่นไทย จำนวน 5,074 คน พบว่า วัยรุ่นสนใจการทำศัลยกรรมเสริมความงาม โดยกลุ่มนักศึกษา สนใจทำศัลยกรรมเสริมความงามมากที่สุด นอกจากนี้วัยรุ่นส่วนใหญ่รับรู้ว่า การทำศัลยกรรมความงามในปัจจุบันมีความปลอดภัย โดยพบว่าการเสริมจมูกเป็นที่นิยมอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการทำหน้าใส กรีดตาสองชั้น การฉีดปากให้อวบอิ่มหรือผ่าตัดปากให้บาง การเสริมคาง การตัดกรามทำหน้าเรียว และการเสริมหน้าอก ทั้งนี้เหตุผลหลักที่ทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ตัดสินใจทำศัลยกรรม คือ ต้องการให้ตัวเองดูดี เพื่อผลประโยชน์ในหน้าที่การงาน และทำเพราะพ่อแม่สั่งให้ทำ

 

 

ปัญหาที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามไม่ถูกวิธีหรือเข้ารับบริการสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน


 

ปัจจุบันพบปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากมีส่วนผสมจากสารต้องห้าม เช่น สารปรอท สารไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ เป็นต้น

 

ตัวอย่างผลกระทบด้านลบ เช่น เครื่องสําอางทาสิวหรือทำให้หน้าขาวที่ผสมสารปรอท ส่งผลให้เกิดการแพ้ มีผื่นแดง ผิวหน้าดำ เครื่องสำอางที่ผสมกรดวิตามินเอ ส่งผลให้เกิดอาการหน้าแดง ระคายเคือง อาการแสบร้อนรุนแรง ผิวหนังอักเสบ ผิวลอกอย่างรุนแรง และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

 

นอกจากนี้ ปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ผิดวิธี นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมฉีดผิวให้ขาวด้วยสารกลูต้าไธโอน โดยฉีดเป็นประจำทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อเร่งให้ได้ผิวขาวเร็วขึ้น โดยการฉีดอย่างต่อเนื่องและเกินขนาด 2-3 เท่าตัว ทำให้เม็ดสีผิวลดลง ภูมิต้านทานของผิวลดลง เกิดอาการระคายเคือง แพ้แสงแดดได้ง่าย เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง และอาจส่งผลกระทบให้จอประสาทตาอักเสบ จนอาจนำไปสู่การตาบอดได้

 

เช่นเดียวกันสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจสอบพบว่า สถานเสริมความงามหลายแห่งไม่ได้มาตรฐาน มีการนำยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือยาปลอมมาใช้ เช่น คอลลาเจน โบท็อกซ์ กลูตาไธโอน วิตามินซี รกแกะ นอกจากนี้ยังนำเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดกับอย.มาให้บริการ ซึ่งการเข้ารับบริการกับสถานเสริมความงามที่ขาดมาตรฐาน อาจทำให้วัยรุ่นตกเป็นเหยื่อและได้รับอันตรายจากเข้ารับบริการเพิ่อเสริมความงามได้

 

ดังนั้น การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการบริโภคผลิตภัณฑ์เพื่อความงามหรือการทำศัลยกรรรมเสริมความงามกับกลุ่มวัยรุ่น ก็จะช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลือกบริโภคได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล
Faculty of Psychology, Chulalongkorn University