ในชั่ววูบของการฆ่าตัวตาย
: ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่ผ่านประสบการณ์การพยายามฆ่าตัวตาย ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี เพศหญิง จำนวน 8 คน
ความคิด ความรู้สึก ในขณะกระทำการใดๆ เพื่อยุติการมีชีวิตอยู่
1. การจมอยู่ในความทุกข์ใจ
- ความเจ็บปวดและเสียใจ
- ความโกรธ ความโมโห
- ความผิดหวัง และคับแค้นใจ
- ความหวาดกลัว
- ความตึงเครียด
- ความเหงา และว้าเหว่
- ความหวาดระแวง
2. ความรู้สึกอับจนหนทาง
- การมองไม่เห็นทางออกของปัญหา
- ความรู้สึกเดียวดาย ไร้ที่พึ่ง
3. การสิ้นพลังในการมีชีวิต
- ความรู้สึกไร้ค่า หมดความหมาย
- ความรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้
- ความรู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจ
- การมองว่าชีวิตไม่น่าอยู่อีกต่อไป
- การทนรับความทุกข์ใจไม่ไหว
4. การขาดสติ
- เชื่อว่าความตายคือทางออกสุดท้าย
– ยุติปัญหาและความทุกข์ใจ
– การได้แก้แค้น
- การคิดหาวิธีการทำลายตัวเอง
แม้ในชั่ววูบของการทำลายตัวเองจะเป็นช่วงระยะเวลาไม่นาน แต่ภายในจิตใจของผู้ผ่านประสบการณ์การพยายามฆ่าตัวตายล้วนเต็มไปด้วยความคิดในด้านลบ และอารมณ์ความรู้สึกของการทำลายล้างโดยสิ้นเชิง
เริ่มต้นจากการที่ทุกคนเผชิญกับปัญหาสำคัญในชีวิตที่สร้างความรู้สึกทุกข์ใจอย่างยิ่ง จนกระทั่งนำไปสู่การดิ้นรนคิดหาวิธีจัดการกับปัญหาเพื่อคลี่คลายความทุกข์ใจ แต่ความทุกข์ใจกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ล่วงเลยไป เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และรู้สึกปราศจากบุคคลที่เป็นที่พึ่ง ซึ่งตอกย้ำความรู้สึกหมดหนทางออก ประกอบกับพลังในการมีชีวิตอยู่เริ่มลดน้อยลงและขาดสติ จึงเลือกความตายเป็นทางออกสุดท้าย เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากปัญหาและความทุกข์ใจ
การผ่านพ้นช่วงวิกฤติของผู้ที่ผ่านประสบการณ์การพยายามฆ่าตัวตาย
1. การรับรู้เหตุการณ์ตามความเป็นจริง
- การฆ่าตัวตายไม่ใช่การแก้ปัญหา
– ไม่ทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น
– ส่งผลกระทบต่อครอบครัว
- คนฆ่าตัวตายคือคนคิดผิด
- บุคคลใกล้ชิดสามารถยับยั้งการฆ่าตัวตาย
- สติช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย
- เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเวรกรรมเก่า
2. กระบวนการเยียวยาจิตใจ
- การคิดได้ด้วยตัวเอง
– เจ็บปวดทรมานร่างกาย
– รับรู้ว่าครอบครัวเดือดร้อน
– เปรียบเทียบชีวิตกับผู้อื่น
– การยอมรับความเป็นจริง
– การอยู่กับปัจจุบัน
- ได้รับกำลังใจจากครอบครัว
- ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
- ปัญหาคลี่คลายไปในทางที่ดี
- การใช้หลักธรรมเยียวยาจิตใจ
3. การมองเห็นคุณค่าเหตุการณ์
- การมองเห็นคุณค่าของตนเอง
- เปลี่ยนตนเองไปในทางที่ดีขึ้น
- ตระหนักถึงความรักในครอบครัว
- การได้รับบทเรียนชีวิต
- ปรารถนาให้ประสบการณ์ของตนเป็นบทเรียนกับคนอื่น
ภายหลังวิกฤติการณ์การทำลายตัวเอง เป็นช่วงเวลาที่ผู้ผ่านประสบการณ์การพยายามฆ่าตัวตายมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก ทั้งในด้านการรับรู้เกี่ยวกับการทำลายตัวเอง และการรับรู้เกี่ยวกับตนเองในช่วงเหตุการณ์วิกฤติ ส่งผลให้ทุกคนพยายามใช้กระบวนการเยียวยาจิตใจให้ตนเองอยู่รอด โดยแต่ละคนเลือกใช้วิธีการเยียวยาจิตใจที่เหมาะสมกับตนเองแตกต่างกันไป เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข หรือกลับคืนสู่ภาวะสมดุลทางจิตใจดังเดิม
นอกจากนี้ วิกฤติการณ์ที่ผ่านมายังทำให้ผู้ผ่านประสบการณ์การพยายามฆ่าตัวตายมองเห็นคุณค่าของเหตุการณ์หลายประการ จึงอาจกล่าวได้ว่าวิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้และเติบโตอย่างแท้จริง
ข้อเสนอแนะของผู้วิจัยเพื่อลดปัญหาการฆ่าตัวตาย
- บุคคลในครอบครัวควรตระหนักถึงสภาพอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกทุกข์ใจ ของสมาชิกในครอบครัวที่อาจนำไปสู่การพยายามฆ่าตัวตาย รวมทั้งไม่ควรใช้คำพูดท้าทายสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย
- สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งผู้ให้การดูแลผู้พยายามฆ่าตัวตายควรมีบทบาทสำคัญในการเยียวยาจิตใจผู้พยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้พยายามฆ่าตัวตายสามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤติไปได้
- ผู้พยายามฆ่าตัวตายทุกคนควรได้รับบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาจากนักจิตวิทยาการปรึกษาของโรงพยาบาล ก่อนที่แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน
- โรงพยาบาลควรจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือและป้องกันการฆ่าตัวตาย รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในสังคม และควรมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในการให้ความช่วยเหลือให้บริการตลอดเวลา
- บุคคลในครอบครัวควรเตรียมพร้อมสมาชิกในครอบครัวให้พร้อมรับกับเหตุการณ์วิกฤติในชีวิต โดยการปลูกฝังหลักธรรม คำสอนทางศาสนาที่ช่วยให้บุคคลเกิดความเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริงให้แก่สมาชิก
ข้อมูลจาก
“ในชั่ววูบของการฆ่าตัวตาย : การศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยาในผู้ที่ผ่านประสบการณ์การพยายามฆ่าตัวตาย”
“The moment of suicide: a phenomenological study of the suicide attempters”
วิทยานิพนธ์ (ศศ.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา (2552)
โดย : นางสาวขนิษฐา แสนใจรักษ์
ที่ปรึกษา : ร.ศ. ดร.โสรีช์ โพธิ์แก้ว และ ร.ศ. ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/15897