News & Events

Social So Chill – Monthly Live Talk 2024

 

Social So Chill – Monthly Live Talk

 

 

2567


 

 

Ep.01 – เปลี่ยนไปบริโภคแบบลดเค็มอย่างไรดี?

วิทยากร: ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ และคุณกรองกานต์ เสวตเวช ศิษย์เก่าระดับปริญญาโท

 

Ep.02 – Emotions: What they are, why we have them, and what we should do about them.

วิทยากร: Dr. Adi Shaked

 

Ep.03 – การสื่อสารกับผู้สูงอายุให้มีความสุข

วิทยากร: ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ และ นักจิตวิทยา คุณรวิตา ระย้านิล

 

Ep.04 – Theory of Mind: ฉันคิดว่าคนอื่นคิด…อย่างไร

วิทยากร: อ. ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

 

Ep.05 – การสื่อสารด้วยความเข้าอกเข้าใจในการทำงาน

วิทยากร: ผศ. ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล และ คุณพิมพ์ภัทร ชูตระกูล ศิษย์เก่าระดับปริญญาโท

 

Ep.06 – การเมืองไทย ต่างวัยคิดต่างกัน (จริงหรือ?)

วิทยากร: ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา และคุณธนกฤต สำราญกมล นิสิตใหม่ระดับปริญญาเอก

 

Ep.07 – ความสัมพันธ์จากการแต่งงาน (IN-LAWS)

วิทยากร: อ. ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม และ ผศ. ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

 

Ep.08 – ความพึงพอใจในชีวิต ความก้าวร้าว และความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย ในยุคโควิด 19

วิทยากร: ผศ.ดร. อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

 

 

 

Seminar Talk: Self-bias across cultures

 

We would like to invite everyone to a seminar talk by Dr. Heather Winskel, Associate Professor in Psychology at James Cook University, Singapore and Research Fellow of the Cairns Institute.

 

Dr. Winskel will present her research about self-bias with collectivist Vietnamese and bilingual Chinese-English participants in Singapore, using the perceptual associative matching task (Sui, He, and Humphreys, 2012). Moreover, she also compares the results from Vietnamese and Singaporean participants with prior studies, and discuss ideas for future research.

 

 

 

 

Date and Time:
  • Tuesday, July 9th, 2024, from 11AM to 12PM

 

Venue:
  • Room 613, the 6th Floor, Faculty of Psychology (Borommaratchachonnani Srisattaphat Building), Chulalongkorn University

 

Registration Link:
  • https://forms.gle/LMtKWtJGRPcapHfx7

 

 


 

 

On Tuesday, July 9th, 2024, Dr. Heather Winskel, an associate professor of Psychology at James Cook University, Singapore, presented her research at the Faculty of Psychology, Chulalongkorn University. Her research was on investigating self-bias in Vietnamese and Chinese-English Singaporean individuals using perceptual associative matching. Additionally, she proposed possible explanations for how culture and language might influence the processing of self-related information.

 

We would like to express our appreciation to Dr. Heather Winskel for sharing her meaningful research, ‘Self-Bias across Cultures,’ and to all the participants who joined this seminar.

 

 

 

เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารด้วยการเพิ่มทักษะการฟัง (Listening skill)

 

เมื่อกล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร บ่อยครั้งเราจะคิดถึงการพัฒนาทักษะการส่งสาร (Sending skill) หรือการปรับวิธีการพูด การส่งข้อความ ให้น่าฟัง น่าเชื่อถือ และน่าดึงดูดใจ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ส่งสาร ตัวสาร และช่องทางการสื่อสาร ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่จะส่งผลให้สื่อสารมีคุณภาพ เพิ่มโอกาสที่การสื่อสารจะประสบความสำเร็จได้สูง

 

อย่างไรก็ดี การสื่อสารนั้นมีด้วยกันสองฝ่าย คือฝ่ายผู้ส่งสารและผู้รับสาร ดังสำนวนไทยที่ว่า ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ต่อให้การส่งสารเป็นไปด้วยดีประณีตบรรจงเพียงใด หากผู้รับสารไม่รับและไม่รู้ด้วย ก็มีโอกาสที่การสื่อสารนั้นจะล้มเหลวได้

 

 

Diagram of the SMCR model

https://en.wikipedia.org/wiki/Source–message–channel–receiver_model_of_communication

 

 

 

ดังนั้นหากท่านมีโอกาสเข้าเรียนหรือเข้าอบรมเรื่องการเพิ่มทักษะการสื่อสารหรือการสื่อสารทางบวก นอกจากจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพูด การใช้ข้อความ อย่างไรให้เข้าหูและตรงใจผู้ฟัง/ผู้อ่านแล้ว ย่อมจะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการรับสาร (Receiving skills) การฟัง การจับใจความ ตลอดจนการสังเกตถึงอวัจนภาษาหรือนัยระหว่างบรรทัด (between the lines) ของผู้ส่งสารด้วย ซึ่งแม้บางครั้งเนื้อหาอาจจะเป็นสัดส่วนที่ไม่มากเท่าการส่งสาร แต่การจะนำไปปฏิบัติจริงให้เกิดประสิทธิภาพได้นั้นก็ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างตั้งใจเช่นกัน

 

สำหรับในบทความนี้จะเน้นเรื่องการฟัง เนื่องจากการอ่านนั้นเรายังพอจะอ่านซ้ำไปซ้ำมาได้ และอาจไม่ได้มีการตอบสนองกันภายในทันที (แต่จริง ๆ การอ่านก็ไม่ใช่เรื่องง่าย) ขณะที่การฟังในการสนทนากันมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ผ่านไปครั้งเดียว แต่สามารถส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกระหว่างกันได้มากเพราะมักรับรู้ถึงปฏิกิริยาของคู่สนทนาได้เดี๋ยวนั้น จึงมีความจำเป็นที่เราควรจะพัฒนาทักษะการฟัง หากประสงค์ให้การสื่อสารมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และเกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกันด้วย

 

 

ก่อนที่จะเสนอว่าการฟังที่ดีเป็นอย่างไร เรามาตรวจสอบระดับการฟังที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันเสียก่อน

 

 

ระดับการฟัง
ลักษณะการฟัง
1. ไม่สนใจ
ทำเหมือนผู้พูดกำลังพูดกับกำแพง
2. แกล้งฟัง
รับคำ พยักหน้า ไม่ได้ตั้งใจฟังจริง
3. เลือกฟัง
เลือกฟังเฉพาะสิ่งที่อยากฟัง
4. ตั้งใจฟัง
ฟังด้วยหู อยู่กับปัจจุบัน ได้ข้อมูลครบตามที่ฟัง
5. ฟังด้วยใจ
ฟังด้วยหู ตา ใจ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกผู้พูด คิดตามอย่างมีสติ ไม่ตัดสิน อยู่กับปัจจุบัน

 

(ที่มา – https://www.schoolofchangemakers.com/all-blogs/active-listening)

 

 

ปกติแล้วท่านฟังผู้อื่นในระดับใด…

 

ผู้เขียนเองขอสารภาพว่าบ่อยครั้งก็จะอยู่ที่ระดับ 2-3 บางครั้งจึงจะตั้งใจฟังเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนเพื่อนำไปทำงานหรือตัดสินใจต่อไป และมีเพียงไม่กี่ครั้งที่จะฟังด้วยใจ ซึ่งก็จะเป็นการพูดคุยที่สำคัญมาก ๆ เช่น การรับฟังเพื่อปรับทุกข์หรือการฟังเพื่อให้คำปรึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตและความรู้สึกของคู่สนทนาจริง ๆ

 

หากท่านมีคำตอบคล้ายกับผู้เขียนก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด เพราะการตั้งใจฟัง และการฟังด้วยใจ หรือบางที่เรียกว่า การฟังเชิงรุก (Active listening) นั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานอย่างมากทีเดียว ขณะที่ธรรมชาติของคนเรานั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบการประหยัดพลังงาน

 

 

จากตารางด้านบนในรายละเอียดของการฟังในระดับที่ 4-5 จะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบของสติ หรือการกำกับตนให้อยู่กับปัจจุบันเป็นพื้นฐาน จิตของคนเรานั้นไม่นิ่ง ไม่คิดไปนอกเรื่อง ก็ไหลไปในอดีต หรือคิดล่วงหน้าไปอนาคต การจะควบคุมให้อยู่กับปัจจุบันขณะจึงต้องอาศัยการมีสติรู้ตัวและความอดทน อดทนที่จะรับฟังจนจบ ไม่คิดไปเองล่วงหน้าด้วยความเข้าใจของตัวเอง หรือตัดสินไปก่อนด้วยอคติที่มี บ่อยครั้งในการสนทนาเราจะพบเห็นการพูดขัดทั้งที่อีกฝ่ายยังพูดไม่จบ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบันนั่นเอง เราคิดไปก่อนว่าอีกฝ่ายจะพูดอะไร หรือตัดสินไปแล้วว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร ทั้งที่ความจริงสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่ตรงหรือไม่ใช่ทั้งหมดก็ได้ ดังนั้นเมื่อเรามีบทบาทเป็นผู้ฟัง (และอยากเป็นผู้ฟังที่ดี) ก็ต้องเตือนตัวเองว่าขณะนี้เรามีหน้าที่ฟัง ทำความเข้าใจว่าผู้พูดแต่ละคนมีภูมิหลังและมีวิธีการสื่อสาร ตลอดจนใช้เวลาในการเรียบเรียงความคิดและคำพูดออกมาไม่เหมือนกัน จึงควรที่จะให้เวลาอีกฝ่ายได้เรียบเรียงและพูดออกมาจนจบครบความ

 

ทั้งนี้การทำหน้าที่ฟังนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าฟังอย่างเดียว ไม่พูดอะไรเลย การตอบสนองเป็นครั้งคราวเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรากำลังฟังอยู่อย่างตั้งใจก็เป็นเรื่องที่จำเป็น รวมถึงการสอบถามเพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาด นอกจากนี้ การถามทวนหรือพูดย้ำในสิ่งที่ได้ยิน ก็เป็นเทคนิคที่จะช่วยตรวจสอบว่าสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะสื่อสาร กับสิ่งที่เราได้ยินและเข้าใจ มีความถูกต้องตรงกันหรือไม่

 

ประโยคที่ใช้ถามทวน เช่น “ที่คุณพูดมา หมายความว่าอย่างนี้ใช่หรือไม่…” “คุณต้องการที่จะบอกว่า… ฉันเข้าใจถูกต้องหรือไม่” “ที่คุณเล่ามา ลำดับเรื่องราวเป็นเช่นนี้ … ใช่ไหม”

 

การเปิดใจรับฟังอย่างไม่มีอคตินั้นเป็นอีกเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก ไม่ว่าเราจะรู้จักหรือไม่รู้จักคู่สนทนาก็ดี เราก็จะมีความคิดความเชื่อต่อผู้พูดและเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตอยู่แล้ว และสิ่งเหล่านั้นก็ย่อมมีอิทธิพลในการสื่อสารกันไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี การฝึกฝนให้อยู่กับปัจจุบันก็จะช่วยให้เราใช้อคติในการตัดสินสิ่งต่าง ๆ ไปก่อนน้อยลง นอกจากนี้สิ่งที่จะช่วยลดอคติได้อีกทางหนึ่งคือการตอบด้วยคำถาม หรือการกระตุ้นให้อีกฝ่ายอธิบายและขยายความเพิ่มเติม เช่น “ทำไมคุณจึงคิด/รู้สึกเช่นนั้น” “คุณบอกได้ไหมว่าก่อนหน้านี้เกิดอะไรขึ้น”

 

การจับประเด็นให้ได้ และการคงอยู่ในประเด็น ก็เป็นเรื่องสำคัญ บ่อยครั้งที่การสื่อสารไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะผู้พูดอาจจะพูดวกไปวนมา หรือออกนอกประเด็นไปเอง และผู้ฟังก็หลงประเด็น หรือเผลอตอบสนองแล้วพากันเปลี่ยนไปประเด็นอื่น หากไม่แน่ใจว่าบทสนทนายังอยู่ในประเด็นเดิมหรือไม่ หรือไม่แน่ใจว่าแท้จริงแล้วจุดประสงค์ของการสนทนาครั้งนี้ของผู้พูดคืออะไร เราสามารถสอบถามถึงเจตนาของผู้พูดได้ว่าตกลงแล้วสิ่งที่ต้องการจะสื่อหรือจะโฟกัสในครั้งนี้คือเรื่องอะไรกันแน่ แล้วพากันกลับมาที่ประเด็นหลักของการสนทนากันก่อนที่จะเบี่ยงไปเรื่องอื่น ๆ

 

ในการสนทนาเชิงปรับทุกข์หรือขอคำปรึกษา ผู้เขียนคาดว่าหลายท่านคงจะเคยได้ยินมาว่า “คนพูดเขาแค่อยากมาระบาย ไม่ได้ต้องการคำแนะนำจริง ๆ เราแค่รับฟังเขาก็พอ” คำกล่าวนี้ก็มีทั้งจริงและไม่จริงปน ๆ กัน คือบางคนก็ต้องการมาระบายอย่างเดียวจริง ๆ บางคนต้องการให้มีใครสักคนที่เข้าใจ และบางคนก็ต้องการคำแนะนำหรือมุมมองของผู้อื่นจริง ๆ ในกรณีหลังก่อนที่เราจะให้คำแนะนำใดไปหรือเสนอมุมมองของเรา ให้อย่าลืมว่าคนเราแต่ละคนมีลักษณะนิสัยไม่เหมือนกัน มีเรื่องที่กล้า/กลัว มั่นใจ/กังวล ทำได้/ทำไม่ได้ และมีเงื่อนไขชีวิตหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน เราสามารถนำเสนอมุมมองของเราได้ แต่เราไม่สามารถเอามุมของเราเป็นที่ตั้ง หรือร่วมรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับเขาจากทางที่เสนอไปได้ ดังนั้น เราอาจไม่จำเป็นต้องคิดคำตอบให้หรือเสนอทางที่เราคิดว่าดี แต่ให้ช่วยทำให้อีกฝ่ายกระจ่างชัดในปัญหาที่กำลังเผชิญ ว่าปัญหาที่แท้จริงของเรื่องที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร อะไรที่เคยทำไปแล้ว ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร มีอะไรที่ทำได้หรืออยู่ในความควบคุมของเราบ้าง และมีสิ่งใดที่ไม่สามารถทำได้หรือไม่อยู่ในความควบคุมของเรา

 

การพูดคุยถามตอบอย่างเดียวอาจทำให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นไม่ชัดเจน หรือตกหล่นหลงลืมอะไรไป ผู้ฟังอาจจะเสนอให้ใช้การเขียนหรือการตีตารางว่าด้วย “ปัญหา/เป้าหมาย” “ทางแก้ที่เป็นไปได้ (สำหรับเจ้าของปัญหา)” และ “ข้อดี-ข้อเสีย” ของแต่ละทางเลือก ให้ทั้งสองฝ่ายเห็นข้อมูลชัดเจนมากขึ้น เมื่อได้ข้อมูลเพียงพอแล้ว อาจไม่จำเป็นที่จะต้องรีบหาข้อสรุป แต่ให้ผู้พูดนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาให้รอบคอบ และตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง

 

 

ท้ายที่สุดนี้ การเป็นผู้ฟังที่ดี ความจริงใจต่อคู่สนทนาเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือคล้อยตามในสิ่งที่เราคิดว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงความเป็นจริง เพียงแต่ให้รอจังหวะในการแสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสม หรือเสนอข้อมูลอีกด้านอย่างเคารพต่อจุดยืนหรือความรู้สึกของกันและกัน สิ่งที่จะช่วยได้คือการวางตนและคู่สนทนาให้อยู่ฝ่ายเดียวกัน ไม่ใช่อยู่ตรงข้ามกัน หลักยึดเช่นนี้จะทำให้เราไม่รีบร้อนที่จะคัดค้านหรือหักล้างอีกฝ่ายจนลืมที่จะรับฟังและพยายามทำความเข้าใจมุมมองของผู้พูดไป ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการฟังด้วยใจนั่นเอง

 

 


 

 

บทความโดย

รวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

Townhall 4/2567 : การสื่อสารข้อมูลยุทธศาสตร์ ปีงบประมาณ 2568 และการอบรมปฏิบัติการช่วยชีวิตเบื้องต้น

 

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 คณะจิตวิทยามีการจัดประชุม Townhall ครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 เพื่อสื่อสารข้อมูลยุทธศาสตร์ปีงบประมาณ 2568 และการจัดทำแผนดำเนินเขิงกลยุทธ์ ณ ห้อง 614 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ

 

 

 

หลังจากนั้นมีการอบรมเขิงปฏิบัติการ “การช่วยชีวิตเบื้องต้น” โดยคณะวิทยากรจากศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้ในเรื่อง การช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น (CPR) การใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) และการแก้ทางเดินหายใจถูกอุดกั้น (Choking) เพื่อให้บุคลากรและนิสิตคณะจิตวิทยาสามารถช่วยเหลือฉุกเฉินแก่บุคคลทุกช่วงวัยได้ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

 

 

 

ภูมิหลังการจัดตั้งคณะจิตวิทยา

 

ภูมิหลังการจัดตั้งคณะจิตวิทยาที่เผยแพร่สู่สาธารณะได้

๗ ก.ค. ๒๕๖๗


 

ถึงวาระที่คณะจิตวิทยาครบรอบการจัดตั้ง ๒๘ ปี ในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ จึงสมควรทำบันทึกประวัติศาสตร์ไว้สำหรับการจัดตั้งคณะจิตวิทยาขึ้นในจุฬา ฯ ดูได้จากเอกสาร ๘ แผ่นนี้ นอกจาก ๘ แผ่นนี้ยังหาเอกสารไม่ได้

 

รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณทิพย์ เภกะนันทน์ ศิริวรรณบุศย์ เป็นคณบดีเป็นคนแรกของคณะจิตวิทยา และเป็นคณบดีติดต่อกัน ๒ วาระ รวม ๘ ปี ระหว่างปี ๒๕๓๙ ถึง ๒๕๔๗

 

 

 

 

ขอบันทึกไว้ด้วยว่าคณาจารย์และบุคคลต่อไปนี้ได้ให้การสนับสนุนในการจัดตั้งคณะจิตวิทยาในบทบาทที่แตกต่างกัน

 

๑.๑ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธินานุวัฒน์ ซึ่งเป็นคณบดีคณะครุศาสตร์ในช่วงการทำแผนก่อตั้งคณะ มอบให้รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ ซึ่งเป็นรองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะครุศาสตร์ได้ยกร่างแผนจัดตั้งคณะจิตวิทยา ส่งให้ฝ่ายวางแผนของจุฬา ฯ

 

๑.๒ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยในช่วงเวลานั้นได้ให้การสนับสนุนตั้งแต่การบรรจุในแผน ๕ ปีของจุฬา ฯ

 

๒. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีในช่วงเวลานั้นได้ให้การสนับสนุนและผลักดันให้มีการก่อตั้งขึ้น และได้ริเริ่มทำแผนให้จุฬา ฯ จัดงบประมาณสนับสนุนคณะเล็กที่เกิดใหม่เป็นเงินทุนคงยอดเงินต้น (Endowment fund) คณะละ ๕ ล้านบาทเป็นเวลา ๕ ปี คณะเล็กที่เกิดใหม่ในเวลานั้นมี ๔ คณะ คือ คณะจิตวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่เมื่ออธิการบดีคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง มีการจัดสรรเงินแบบนั้นให้ ๑ ปี ปีต่อ ๆ ไปก็เปลี่ยนนโยบายเป็นจัดสรรให้เท่ากับที่คณะจะสามารถเก็บเงินของคณะได้เอง (Matched fund) ในวงเงินไม่เกินปีละ ๕ ล้านบาท ครบตามที่จุฬา ฯ ได้วางแผนไว้แต่แรก

 

๓. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการในช่วงเวลานั้น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนคณบดีคณะจิตวิทยา จนกระทั่งรองศาสตราจารย์ ดร. พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งคณบดีเป็นคนแรกของคณะจิตวิทยา

 

 

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย จากการเลือกตั้งได้สนับสนุนในการประชุมสภามหาวิทยาลัยในวาระการจัดตั้งคณะจิตวิทยา

 

ที่ทบวงมหาวิทยาลัย ท่านอมเรศ ศิลาอ่อน ประธานกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้ผู้แทนคณะผู้ก่อตั้งคณะจิตวิทยาจำนวน ๕ คน ธีระพรเป็นคนหนึ่งในนั้น เข้าไปพูดชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยและเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้พูดสนับสนุนการจัดตั้ง ฯ ในคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย, ดูแลการนำวาระเสนอคณะรัฐมนตรี (เพราะท่านเป็นเลขาธิการกคณะรัฐมนตรีในเวลานั้น) จนได้รับการอนุมัติจัดตั้ง และดูแลการนำให้ผู้รับผิดชอบลงนามสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นการตั้งหน่วยงานราชการใหม่เป็นหน่วยงานสุดท้าย ในช่วงเวลานั้น ก่อนที่ไอเอ็มเอฟจะมาให้ไทยกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ เป็นผู้กราบบังคมทูลเกล้าฯให้ลงพระปรมาภิไธยก่อตั้งคณะจิตวิทยา แต่ผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือ คุณบรรหาร ศิลปอาชา

 

 

 

 

คณะกรรมการของมหาวิทยาลัยที่รองศาสตราจารย์ ดร. ปราณี กุลลวณิชย์ (ตำแหน่งทางวิชาการในเวลานั้น) เป็นประธานยังได้จัดสรรทุนให้อาจารย์ของคณะจิตวิทยาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ National University of Singapore

 

ช่วงเวลาที่ รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณทิพย์ เภกะนันทน์ ศิริวรรณบุศย์ เป็นคณบดีเป็นคนแรกของคณะจิตวิทยาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ได้ทำคุณประโยชน์ให้คณะมากมาย ตั้งแต่ติดต่อกัน

 

พลอากาศโท นายแพทย์อภิชาติ โกยสุโข ในนามแพทยสมาคมให้บริจาครถตู้ให้คณะจิตวิทยา ๑ คัน ได้จัดหาคอมพิวเตอร์ ๒๐ เครื่องสำหรับการเรียนการสอนของคณะฯ และมีเงินบริจาคให้คณะอีกจำนวนหนึ่ง

 

รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณทิพย์ เภกะนันทน์ ศิริวรรณบุศย์ นำคณะไปร่วมจัดงานส่งเสริมการส่งออก กับกรมส่งเสริมการส่งออก (ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมพาณิชยสัมพันธ์) ได้เงินมาสมทบคณะปีละระหว่าง ๒ ถึง ๓ แสนบาท อีกหลายปีติดต่อกัน

 

ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา และ ศาสตราจารย์ ดร.สุรางค์ โค้วตระกูล ได้บริจาคเงินทุนท่านละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทในการดำเนินเนินงานของคณะ

 

 

ทีมบริหารชุดแรกได้แก่

  • รองคณบดีฝ่ายวิชาการ รศ. ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์
  • รองคณบดีฝ่ายบริหาร รศ.สุภาพรรณ โคตรจรัส
  • รองคณบดีฝ่ายวางแผนฯ รศ. ดร.ธีระพร อุวรรณโณ
  • รองคณบดีฝ่ายวิจัย รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต
  • รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต รศ.วัชรี ทรัพย์มี

 

 

 


 

 

ปี ๒๕๔๖ ธีระพรเจรจากับ รองศาสตราจารย์ ดร. ทพ.จิรศักดิ์ นพคุณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการขณะนั้น ขอรับการสนับสนุนในการบอกรับฐานข้อมูล PsycARITCLE ซึ่งมีวารสารทั้งหมดของ American Psychological Association ๔๓ ชื่อ รวมทั้งวารสารของแคนาดาอีกหลายฉบับ ซึ่งท่านก็ให้การสนับสนุน โดย เวลานั้น Science Direct คิดเงินมา ๑๔,๔๘๒ ดอลลาร์ ซึ่งถ้าเทียบเป็นเงินไทย ที่ดอลลาร์ละ ๓๑ บาท (ในเวลานั้น) ก็เป็นเงินประมาณ ๔๔๘,๙๘๒ บาท โดยจุฬาฯ ขอให้คณะจิตวิทยาจ่ายสมทบ ๒ แสน + ๑ แสนบาท (ที่ขอเพิ่มมาในบันทึกที่แสดงให้ดู) (จุฬาฯ

จ่าย ๑๔๘,๘๙๒ บาท)

 

ปี ๒๕๖๕ ถามจนท.จากหอสมุดกลาง ได้รับแจ้งว่าบอกรับจาก Epsco ในราคา ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท ถามจากจนท.คณะจิตวิทยา ได้คำตอบว่าคณะจิตวิทยาจ่ายสมทบ ๕๐% ที่เก้าแสนบาท

 

จาก พ.ศ. ๒๕๔๖ ถึง ๒๕๖๖ (๒๖ ปี) “จุฬา ฯ เป็นเพียงสถาบันเดียวที่มีการบอกรับฐานข้อมูล PsycARTICLE” ซึ่งไม่ได้ใช้เฉพาะชาวจิตวิทยาเท่านั้น แต่ชาวการศึกษา สังคมวิทยา นิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ ฯลฯ ได้ใช้ประโยชน์ด้วย

 

 

 

 

ปี ๒๕๖๗ ห้องสมุดม.เกษตรศาสตร์ บอกรับฐานข้อมูล PsycARTICLE เป็นปีแรก

 

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะจิตวิทยาก็ได้รับการสนับสนุนจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มรว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการขณะนั้น โดยคณะกรรมการที่ท่านกำกับดูแล ได้อนุมัติทุนการศึกษาให้อาจารย์ของคณะจิตวิทยาไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ Clairmont Graduate University, USA.

 

ธีระพรในฐานเป็นผู้มีชื่อในคณะกรรมการทั้ง ๓ ชุดที่จุฬา ฯ ตั้งขึ้น (เป็นผู้แทนอาจารย์ในชุดที่ไม่ได้เอ่ยชื่อด้วย) ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่เอ่ยนามมาที่มีส่วนสำคัญในการทำให้คณะจิตวิทยาเติบโต เป็นคณะเดียวในมหาวิทยาลัยของรัฐ จนถึงอย่างน้อย เดือน พฤษภาคม ๒๕๖๗

 

 

จินตนาการและประสบการณ์(ดีๆ)สำคัญกว่าความรู้: การลดอคติเกี่ยวกับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

 

ถ้าผู้เขียนขอให้ผู้อ่านนึกถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะนึกถึงอะไรบ้างคะ?

 

หากสิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวเป็นภาพหรือคำทางลบก็เข้าใจได้นะคะ เพราะเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุอ้างว่าภาวะทางจิตเวชของตนเป็นสาเหตุ เมื่อเรารับรู้ข้อมูลเหล่านี้ผ่านสื่อที่นำเสนอเนื้อหาแบบสั้น ๆ เน้นการกระตุ้นเร้าเลยอาจทำให้เรามีภาพเหมารวม (stereotype) ทางลบต่อกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและ/หรือกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชได้ นอกจากการมีภาพเหมารวมทางลบแล้ว การได้รับข้อมูลทางลบเกี่ยวกับกลุ่มผู้ป่วยยังส่งผลทางอารมณ์ คือทำให้เกิดความหวั่นวิตกที่จะปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ (intergroup anxiety) และผลทางพฤติกรรมคือการหลีกเลี่ยงคนกลุ่มนี้ ซึ่งทำให้เกิดระยะห่างทางสังคม (social distance) ระหว่างกลุ่มคนที่ไม่ใช่ผู้ป่วยและกลุ่มผู้ป่วย เมื่อขาดการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่ม โอกาสที่จะรู้จักผู้ป่วยในฐานะปัจเจกจึงไม่มีโดยปริยาย ภาพเหมารวมทางลบเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ได้รับการปรับแก้ ความหวั่นวิตกในการผูกสัมพันธ์กับผู้ป่วยคงอยู่ สุดท้ายแล้วบรรยากาศของสังคมก็จะเต็มไปด้วยความห่างเหิน อึมครึม ซึ่งไม่ใช่สภาพสังคมที่ส่งผลดีต่อมนุษย์ นักจิตวิทยาสังคมจึงพยายามจะลดสภาวะนั้น โดยใช้แนวคิด intergroup contact หรือการปฏิสัมพันธ์ของคนสองกลุ่มซึ่งเป็นวิธีทางจิตวิทยาสังคมในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/clubhouse/)

 

โชคดีที่ผู้เขียนได้รับเกียรติในการร่วมงานกับคุณเบญญารัศม์ จันทร์เปล่ง นักจิตวิทยาคลินิก กรมสุขภาพจิตที่ตัดสินใจเข้าศึกษาในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมเพื่อนำความรู้ด้านจิตวิทยาสังคมไปบูรณาการในการทำงานด้านสาธารณสุขของตน โดยจัดทำวิทยานิพนธ์เพื่อทดสอบว่าการจินตนาการว่าได้มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (imagined contact) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม สามารถลดความวิตกกังวลในการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและเจตคติรังเกียจกลุ่ม (prejudice) ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้หรือไม่

 

การวิจัยเป็นการทดลองออนไลน์ คนไทยที่มีงานประจำและไม่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าจำนวน 141 คนถูกสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ทั้งสองกลุ่มอ่านบทความที่กระตุ้นให้จินตนาการว่าตนได้ทำงานกับคนที่ไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อนคนหนึ่ง และเป็นการร่วมงานที่ทำให้เกิดมิตรภาพกับเพื่อนร่วมงานคนนั้น ความแตกต่างเดียวของเนื้อหาในบทความที่ทั้งสองกลุ่มได้อ่านคือเพื่อนร่วมงานเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยกลุ่มหนึ่งได้รับข้อมูลว่าเพื่อนร่วมงานไม่ใช่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ส่วนอีกกลุ่มได้รับข้อมูลว่าเพื่อนร่วมงานเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ส่วนอื่นของการทดลองเหมือนกันหมด คือ คำถามทดสอบความตั้งใจอ่านบทความ แบบวัดความวิตกกังวลในการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แบบวัดเจตคติรังเกียจกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คำถามเกี่ยวกับประสบการณ์การปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและแบบวัดความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า จากนั้นผู้วิจัยวิเคราะห์ทางสถิติว่าตัวแปรเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง

 

ผลการวิจัยพบว่ามีตัวแปรเดียวที่มีผลต่อความวิตกกังวลในการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า นั่นคือการจินตนาการว่าได้ร่วมงานและพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน ดังนั้น สำหรับผู้ที่กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่แน่ใจว่าจะพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายังไงดี การฝึกจินตนาการว่าการติดต่อสัมพันธ์จะเป็นไปด้วยดี ไม่ยากลำบากและน่ากลัวจะช่วยคลายความกังวลในสถานการณ์นั้นได้ ส่วนตัวแปรที่มีผลต่อเจตคติรังเกียจกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคือประสบการณ์การปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยพบว่าความถี่ไม่มีผล แต่ปัจจัยที่ลดเจตคติรังเกียจกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคือประสบการณ์ที่ดี โดยพบว่าการเคยมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทำให้มีอคติต่อกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อย

 

ผลที่น่าสนใจอีกข้อคือ ไม่พบว่าการมีความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามีผลต่อความวิตกกังวลในการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือเจตคติรังเกียจกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ข้อค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดอคติต่อกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า การจะทำให้คนในสังคมมองกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในทางบวกต้องอาศัยกระบวนการทางจิตวิทยาสังคม ทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรม ซึ่งต้องอาศัยการริเริ่มและความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น ครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษา องค์กรต่างๆ ในการส่งเสริมให้คนต่างกลุ่มปฏิบัติต่อกันอย่างอบอุ่น เป็นมิตร เช่น การเตรียมความพร้อมและการให้กำลังใจให้ผู้ที่ไม่รู้ว่าจะเข้าหาผู้ป่วยยังไงดี การชื่นชมผู้ที่กล้าก้าวข้ามความหวั่นวิตกของตนเอง สามารถเข้าหาผู้ป่วยและปฏิบัติกับผู้ป่วยไม่ต่างจากคนอื่น เพราะบุคคลที่แสดงพฤติกรรมเหล่านี้มีบทบาทในการช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่รู้สึกว่าตนแปลกแยกจากคนอื่น เพื่อที่สุดท้ายแล้วทุกคนในสังคมจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและสบายใจ

 

 

 

หมายเหตุ

 

  1. ส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้เผยแพร่ในการประชุมวิชาการระดับชาติทางศิลปศาสตร์ประยุกต์ครั้งที่ 13 อ่านได้ที่หน้า 88 https://drive.google.com/file/d/1-hhT2BCsHrZy6lKk1uOCY8GlkpljZF8r/view?usp=drive_link
  2. ขออุทิศบทความนี้เพื่อเป็นการแสดงความยินดีกับคุณเบญญารัศม์ จันทร์เปล่ง นักจิตวิทยาคลินิก กรมสุขภาพจิต ว่าที่บัณฑิตแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม ผู้ที่เห็นความสำคัญของจิตวิทยาสังคมและมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชในทุกมิติ

 

 

 


 

 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม

 

แสดงความยินดีกับศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในโอกาสได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันที่ 17 มิถุนายน 2567 คณะจิตวิทยา เข้าแสดงความยินดีกับศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในโอกาสได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2567

 

 

 

กว่าจะเป็นผีเสื้อที่สวยงาม ประสบการณ์การแสดงออกซึ่งตัวตนของหญิงข้ามเพศ

 

ในเดือนมิถุนายนนี้ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกต่างร่วมกันเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจ หรือ Pride month เพื่อเฉลิมฉลองและแสดงออกซึ่งการเป็นตัวของตนเองด้วยความภาคภูมิใจ หลายคนอาจสงสัยว่าการเป็นตัวของตนเองนั้นสำคัญอย่างไร เหตุใดจึงต้องมีเทศกาลแห่งการแสดงออกซึ่งตัวตนที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ งานวิจัยของนิสิตปริญญาตรี คณะจิตวิทยา ในหัวข้อ “ตัวตนที่มากกว่าความสวยงาม : ประสบการณ์ของหญิงข้ามเพศต่อกระบวนการสร้างตัวตนผ่านการใช้ฮอร์โมน” ได้เสนอให้เห็นว่าการมีร่างกายที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง รวมถึงการได้แสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศที่ตนเป็นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพศึกษาในกลุ่มหญิงข้ามเพศ หรือ Transgender women ที่ผ่านการใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ โดยการให้นิยามของคำว่า หญิงข้ามเพศ ไม่ได้หมายถึงบุคคลที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศจากชายไปเป็นหญิงแล้วเท่านั้น ทว่ายังหมายถึง บุคคลที่มีเพศกำเนิดอยู่ในเพศสรีระของเพศชาย แม้จะยังไม่ได้ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่มีความคิดที่จะผ่าตัดแปลงเพศ แต่หากบุคคลนั้นรับรู้และพึงพอใจว่าตนเองคือเพศหญิง ก็สามารถนิยามตนเองว่าเป็นหญิงข้ามเพศได้เช่นกัน ทั้งนี้การให้นิยามคำเรียกต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามความสมัครใจของแต่ละบุคคล

 

หากลองจินตนาการว่าตัวเรามีจิตใจและรับรู้ตัวตนของตนว่าเป็นผู้หญิง ทว่าต้องมาอยู่ในร่างกายของผู้ชาย ร่างกายที่ขยับไปอย่างอิสระตามความนึกคิดของตน ร่างกายที่ควรจะเป็นของตน แต่ในบางครั้งกลับรู้สึกเหมือนไม่ใช่ร่างกายของเรา หรือที่แย่ไปกว่านั้น คือร่างกายเป็นเสมือนกรงขังไม่ให้เราได้แสดงออกถึงความเป็นตนเองอย่างแท้จริง ดังเช่นหญิงข้ามเพศที่ต้องประสบกับความรู้สึกขัดแย้งระหว่างร่ายกายที่มีกับตัวตนภายในที่เป็น เมื่อตัวตนภายในส่งเสียงร้องว่าพวกเธอคือผู้หญิง แต่พวกเธอกลับเกิดมาในร่างกายของเพศชายซึ่งทำให้พวกเธอรู้สึกคับข้องและทุกข์ทรมานใจ

 

 

เกิดมาผิดร่าง


 

“เพราะว่า…เราเหมือนคนที่ว่าเกิดผิดร่างอย่างนั้นใช่ไหม…ใจเป็นผู้หญิงแต่เรามาเกิดในร่างผู้ชายแล้วแบบมันก็เลยแบบรู้สึกว่ามัน…มัน มันไม่ใช่ตัวเรา” (คุณท., อายุ 46 ปี)

 

จากการศึกษาพบว่าหญิงข้ามเพศใช้ชีวิตอยู่ในร่างกายที่มีลักษณะเพศชายด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลใจ และไม่กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง หญิงข้ามเพศได้ให้สัมภาษณ์ว่า

 

“คือตอนนั้นที่มีรูปร่างเป็นผู้ชายเนอะ พี่อาจจะไม่สามารถพูดคะขาแล้วก็เป็นผู้หญิงได้มากเท่าที่พี่เป็นในปัจจุบัน […] มันอาจจะเป็นกาลเทศะหรืออะไรสักอย่างนึงที่มันเป็นกรอบ block พี่ไว้อยู่”

 

พวกเธอไม่กล้าพูดลงท้ายว่า ‘คะ/ค่ะ’ อย่างผู้หญิงด้วยความรู้สึกว่าตนยังอยู่ในร่างกายของเพศชายก็ควรจะแสดงออกตามบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดว่าผู้มีลักษณะเพศชายต้องปฏิบัติอย่างไร

 

พวกเธอยังไม่ชอบถ่ายรูปหรือโพสต์รูปตนเองลงบนโซเชียลมีเดียเพราะไม่อยากเห็นภาพตนเองที่เป็นผู้ชาย อีกทั้งยังไม่กล้าพูดคุยกับครอบครัวเพราะเกรงกลัวว่าคนในครอบครัวจะรู้ว่าเธอมีจิตใจเป็นหญิงอยู่ภายในร่างกายที่เป็นชาย อาจด้วยความเกรงกลัวการต่อต้านและการตัดสินจากสังคม ซึ่งเป็นเสมือนแรงกดดันให้พวกเธอไม่กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนเองเป็น ความอึดอัดและไม่อาจแสดงความเป็นตัวเองได้นี้สร้างความทุกข์ทรมานใจให้แก่หญิงข้ามเพศเป็นอย่างมาก หญิงข้ามเพศในงานวิจัยนี้จึงเลือกที่จะปรับเปลี่ยนลักษณะร่างกายเพื่อให้พวกเธอได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

 

 

การใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ


 

“สมมติว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่เราไม่พอใจเราก็ออกมาได้ แต่ว่าถ้าเราอยู่ในร่างกายที่เราไม่พอใจ เราออกมาไม่ได้ […] ดังนั้นการเทคฮอร์โมนเนี่ยมันก็เป็นสิ่งที่จะทำให้เราสามารถอยู่กับร่างกายของเราได้อย่างแฮปปี้” (คุณห., อายุ 18 ปี)

 

การใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศมีส่วนช่วยให้ภาพสะท้อนบนกระจกที่เคยขัดแย้งกับจิตใจ สะท้อนลักษณะของเพศหญิงที่ตรงกับตัวตนภายใน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าร่างกายนี้คือร่างกายของพวกเธอ และภาพสะท้อนนี้คือตัวเธอเอง ก่อเกิดเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจและมีความสุขที่ได้เห็นตนเองในร่างกายนี้ทุกวัน ต่างจากก่อนหน้านี้ที่พวกเธอรู้สึกว่าตนเอง เกิดมาผิดร่าง

 

นอกจากนี้หญิงข้ามเพศยังรายงานว่าพวกเธอมีความมั่นใจที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างผู้หญิงคนหนึ่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายอย่างเพศหญิง เช่น การใส่กระโปรง หรือการเข้าห้องน้ำหญิง นอกจากนี้ พวกเธอยังกล่าวว่าการมีร่างกายที่ตรงกับตัวตนที่แท้จริงทำให้พวกเธอมีแรงใจที่จะต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตต่อไป

 

การมีร่างกายที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองส่งผลให้หญิงข้ามเพศกล้าที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น เนื่องจากรู้สึกว่าร่างกายนี้คือร่างกายของตน นำมาซึ่งความมั่นใจที่จะใช้ชีวิต ที่จะแสดงตัวตนของตนเองผ่านการแต่งกาย การแสดงออกทางพฤติกรรม โดยปราศจากความกังวลและหวาดกลัวการตัดสินหรือการต่อต้านจากสังคม

 

 

ในเดือนแห่งความภาคภูมิใจนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการแสดงออกซึ่งตัวตน แต่สะท้อนถึงความกล้าและความมั่นใจที่จะเป็นตัวของตนเองหลังจากต่อสู้และฝ่าฟันกับอุปสรรคต่าง ๆ เหมือนผีเสื้อที่อดทนเฝ้าฟูมฟักร่างกายของตนเองจนได้ฟักออกจากดักแด้และมั่นใจที่จะออกโบยบินสู่โลกกว้างอย่างอิสระ

 

 

 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่

 

ฐิดาพร สุขเจริญ, ณัฐกิตติ์ ดวงกลาง, และสุกัลยา ลัมภเวส. (2566). ตัวตนที่มากกว่าความสวยงาม : ประสบการณ์ของหญิงข้ามเพศต่อกระบวนการสร้างตัวตนผ่านการใช้ฮอร์โมน. [วิทยานิพนธ์ปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา]. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 


 

 

ผู้เขียน

ฐิดาพร สุขเจริญ, ณัฐกิตติ์ ดวงกลาง, และสุกัลยา ลัมภเวส นิสิตชั้นปีที่ 4 ว่าที่บัณฑิตคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้ตรวจสอบบทความและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์ แขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

 

การออกเดท และวัฒนธรรมการ Hook up

 

ทุกคนเชื่อคำกล่าวอ้างจากโลกตะวันตกที่ว่า การออกเดท (Dating) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยมหาวิทยาลัยนั้นได้สาบสูญไปในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาหรือไม่ ทุกคนยังจำความรู้สึกของการออกเดทครั้งแรกกับคนที่เราชอบ หรือคนที่เราคุยด้วยได้หรือไม่ เราแต่งตัวอย่างไร เราไปนัดพบกันที่ไหน ความรู้สึกเต้น ประหม่า หรือเบื่อหน่าย และหลังจากเดทแล้วเราสานต่อความสัมพันธ์หรือไม่ หรือต่างคนต่างแยกย้ายกันไป

 

สำหรับความหมายของการออกเดทนั้น อ้างอิงจากพจนานุกรมเคมบริดจ์ (Cambridge Dictionary) ได้ให้ความหมายว่า คือการนัดพบ หรือใข้เวลาอย่างสม่ำเสมอ กับคนที่เรามีความรู้สึกโรแมนติกด้วย1 ส่วนในโลกออนไลน์ การเดทยังรวมถึงการศึกษาดูใจ เรียนรู้เพื่อรู้จัก เพื่อรู้ใจว่าความสัมพันธ์จะไปต่อหรือไม่

 

แล้วถ้าตามคำกล่าวอ้างว่าไม่มีการออกเดทแล้ว มันกลายเป็นอะไร ทุกคนคงเคยได้ยินคำภาษาอังกฤษว่า Hook up โดยคำว่า Hook up ซึ่งจากนักวิจัยต่างประเทศได้ให้นิยามว่ามันคือการที่บุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคนแปลกหน้าหรือคนรู้จักโดยความสัมพันธ์นั้นเป็นแบบไม่ผูกมัด และไม่จำเป็นต้องมีการพัฒนาไปเป็นรูปแบบอื่น ในไทยยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน ในโลกออนไลน์ของไทย มีคำเช่น ‘แอบแซ่บ’ อย่างไรก็ตามนักวิจัยระบุว่า Hook up นั้นไม่ได้มีนิยามที่ชัดเจน สำหรับบางคน Hook up อาจเป็นการนัดเจอโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย8

 

สรุปแล้ว วัฒนธรรมการ Hook up นั้นจะสามารถมาแทนที่ การออกเดท (Dating) ได้หรือไม่นั้น จากงานทบทวนวรรณกรรมของ Luff, Kristi และ Berntson (2016) ได้ออกมาให้แง่มุมว่าจริง ๆ แล้วการเดท และการ hookup นั้นดูเผิน ๆ เหมือนจะแตกต่างกัน แต่จริง ๆ แล้วคล้ายคลึงกันมาก โดยทั้งสองรูปแบบของการนัดเจอ นั้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนสองคนได้ทำความรู้จักกันมากยิ่งขึ้น ส่วนความแตกต่างคือ การมีเพศสัมพันธ์นั้นจากงานวิจัยพบว่า เกิดขึ้นกับ Hookup มากกว่า การออกเดทนั่นเอง

 

การ Hook up เหมือนจะเน้นความใกล้ชิดทางเพศ (Sexual intimacy) ในขณะที่การออกเดทนั้นจะเน้นความใกล้ชิดทางอารมณ์ (Emotional Intimacy) มากกว่า2 นักสังคมวิทยาเหล่านี้ยังมองว่าวัยหนุ่มสาวสามารถเลือกใช้วิธีการคบหาได้ทั้งสองรูปแบบ บางคนชอบความสัมพันธ์แบบ Hookup มากกว่าเพราะไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเวลา หรือความรู้สึกให้กับอีกฝ่ายเท่ากับการออกเดท หรือบางทีการออกเดทกลับให้ความรู้สึกอิ่มเอิบใจ และความสุขมากกว่าความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกมัดของ Hook up ทั้งสองรูปแบบจึงมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป3

 

ทั้งนี้ในปัจจุบันยังมีเทคโนโลยี หรือแอพลิเคชันต่าง ๆ ที่เป็นการเดทแบบออนไลน์หรือเรียกว่า Online Dating อีกด้วยโดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา การออกเดทโดยการพบปะเจอหน้าอาจเกิดได้ยากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่า การออกเดทนั้นไม่ได้สาบสูญไปจากสังคม แต่เพียงแต่มันมีคำนิยามอื่น ๆ โดยเฉพาะคำว่า Hook up ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในรูปแบบของการศึกษาดูใจ (และดูกาย) นั่นเอง

 

 

สำหรับงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นนั้นถูกเขียนขึ้นและศึกษาในบริบทของตะวันตก ซึ่งเมื่อเราหันกลับมามองในภูมิภาคเอเชีย หรือกระทั่งประเทศไทย เราคงต้องตั้งคำถามว่าวัฒนธรรม Hook up หรือการออกเดทนั้นเป็นอย่างไร ในเมื่อความแตกต่างระหว่างการออกเดท หรือการ Hook up ที่พอจะสังเกตได้คือการเน้นที่ความใกล้ชิดทางอารมณ์ หรือทางเพศ แล้วคนเราแต่ละคน เมื่อพบคนที่เราชอบ หรือสนใจ เราเลือกที่จะออกเดทแบบจริงจัง หรือไม่ผูกมัด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการออกเดทแบบจริงจังหรือไม่ผูกมัดก็ตาม มีทฤษฎีหนึ่งที่สำคัญคือทฤษฎี Sexual Script หรือ Dating script

 

ทฤษฎีสคริปท์ของความรักหรือสคริปท์การออดเดทมองว่า สคริปท์หรือตัวบทเป็นสิ่งที่กำกับว่า ในสถานการณ์ทางเพศ ความสัมพันธ์หรือกระทั่งการออกเดทนั้น คนเราจะมีบทบาทหรือพฤติกรรมอย่างไร โดยสคริปท์นั้นแบ่งออกเป็นสามระดับ4 คือ

  • สคริปท์ระดับวัฒนธรรม (Cultural script) เป็นสิ่งที่สังคมและวัฒนธรรมนั้นกำหนด อาจมาจากภาพจำจากหนังสือ ภาพยนตร์ หรือจากคำสอนของคนในครอบครัว
  • สคริปท์ระหว่างบุคคล (Interpersonal script) จะเป็นส่วนที่บุคคลนำสคริปท์ทางวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้กับตนเองในสถานการณ์ตรงหน้ากับผู้อื่น และ
  • สคริปท์ส่วนบุคคล (Intrapersonal script) จะเป็นความปรารถนา แรงขับหรือจินตนาการส่วนตัวที่ตนเองมีอยู่

 

ตัวอย่างสคริปท์การออกเดทแรกที่มาจากการวิจัยต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น เริ่มจากการเตรียมตัว – ไปรับคู่เดท – รู้สึกประหม่า – ดูภาพยนตร์ พูดคุย จับมือ หัวเราะ – ไปคาเฟ่/งานสังสรรค์ – พูดคุย – ประเมินความสัมพันธ์ – ริเริ่มการสัมผัสทางกาย – การคุยเชิงลึก – ออกจากงานเลี้ยงสังสรรค์ – ไปส่งคู่เดทที่บ้าน – จูบ – นัดหมายเดทครั้งต่อไป5 โดยสคริปท์นั้นจะมีทั้งบทสคริปท์ที่บุคคลนั้นคิด หรือมองว่าสังคมกำหนดหรือคาดหวัง กับสคริปท์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่าง ก็คงเหมือนกับนักแสดงเมื่อได้สคริปท์ภาพยนตร์ละครมา บางทีก็มีแสดงนอกบท และสคริปท์ก็สามารถปรับเปลี่ยนและแก้บทได้

 

Flat design valentines day couple collection

 

ตัวอย่างสคริปท์การออกเดทที่ผู้เขียนหยิบมานั้นอาจะไม่สามารถสะท้อนถึงสคริปท์การออกเดทของคนในสังคมไทยได้ และจากการสืบค้นก็ยังไม่พบงานวิจัยที่ศึกษาในไทย จุดที่น่าสนใจคือ การที่เราจะออกเดท หรือ Hook up แสดงว่า เราจะหยิบเอาบทของเพศสัมพันธ์มาไว้ตรงไหน ในการพบกันครั้งแรก ในเดทที่ 5 หรือจนกว่าจะแต่งงาน ตรงนี้ก็คงขึ้นอยู่กับบทสคริปท์ของแต่ละบุคคล

 

อีกทั้ง สคริปท์การออกเดทของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น สำหรับเกย์ เลสเบียน นั้นย่อมมีลักษณะที่อาจแตกต่างจากชายหญิงทั่วไป โดยสำหรับ Script ชายหญิงในประเทศไทย มีถูกพูดถึงในพอดแคสต์ Open Relationship ของศาสตราจารย์ ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ และอรัณย์ หนองพล เช่น ผู้ชายมักถูกกำหนดให้เป็นผู้ริเริ่มการชวนออกเดท หรือการไปรับส่งคู่เดท มากกว่าฝ่ายหญิง หรือฝ่ายหญิงมักมองเป็นฝ่ายตั้งรับการถูกเชิญชวนออกเดท6 ทั้งนี้สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ นั้นก็อาจมีการหยิบหรือประยุกต์สคริปท์การออกเดทของชายหญิงมาใช้7 ทั้งนี้งานวิจัยหลายชื้นก็พยายามจำแนกคุณลักษณะเฉพาะของการออกเดท ของเกย์และเลสเบียน อาทิ กลุ่มเกย์มักใส่สคริปท์เพศสัมพันธ์ในการออกเดท มากกว่ากลุ่มเลสเบียน หรือกลุ่มหญิงรักหญิงเองจะเน้นความใกล้ชิดทางอารมณ์มากกว่ากลุ่มเกย์ เป็นต้น

 

สำหรับสคริปท์นั้นเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับสังคมและวัฒนธรรมนั้น ๆ ปรับเปลี่ยนได้เสมอ เช่นเดียวกับตัวสังคมและวัฒนธรรมก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ปัจจุบันนี้ผู้หญิงเองก็สามารถที่จะเป็นผู้ริเริ่มการออกเดท ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบทของฝ่ายชายฝ่ายเดียว อีกทั้งตัวบทสคริปท์เองไม่ได้เป็นสากล ทุกคนอาจมีสคริปท์ที่ไม่เหมือนกันเสมอไป ดังนั้นไม่ได้แปลว่า กลุ่มชายรักชายหรือเกย์ต้องเอาการมีสัมพันธ์สวาทไว้ในการออกเดทครั้งแรกเสมอไป เราจึงไม่ควรเหมารวมว่าบทของทุกคนจะเหมือนกัน

 

 

สำหรับบทความนี้เจตจำนงค์ของผู้เขียน เพียงแค่ต้องการสังเกตว่า ในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ ความรักไม่ว่าจะเป็นชายหญิงเกย์เลสเบียนหรือกลุ่ม LGBTQ+ ในสังคมไทย ไม่ว่าเราจะกำลังเข้าสู่วัยรุ่น วัยนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยหรือทุกวัยที่หัวใจยังปรารถนาความรัก เราอาจมีและกำลังใช้สคริปท์ในการออกเดทหรือความสัมพันธ์ที่ทั้งรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว ทั้งนี้ผู้เขียนไม่มีความประสงค์ที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมรูปแบบการคบหา หรือสคริปท์อันใดอันหนึ่งมากกว่า เราเคยตระหนักถึงสคริปท์เหล่านี้หรือไม่ และหากสคริปท์ของเรากับคนตรงหน้าเราต่างกัน เราจะรับมือ สื่อสารอย่างไร หรือกระทั้งในวัยพ่อแม่ที่ลูกกำลังเป็นวัยรุ่นไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพใด เราหรือสังคมจะชี้แนะหรือส่งเสริมสคริปท์เหล่านี้ให้กับลูกหลานของเราอย่างไร เพราะสิ่งที่พ่อแม่ เพื่อน สังคม ภาพยนตร์หรือสังคมบอกกล่าว ย่อมอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อสคริปท์ของเราแต่ละคนได้นั้นเอง

 

 

สุดท้ายนี้ทั้งผู้อ่านและผู้เขียนอยู่ในโลกที่มีรูปแบบความรักความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายเพศ หรือหลายรูปแบบ อาทิ Situationship, Friend with Benefits, ความสัมพันธ์แบบเปิด (Open relationship) เป็นต้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการออกเดท หรือการ Hook up มันอาจไม่ใช่จุดสุดท้ายของความรักความสัมพันธ์ (ในทุกครั้ง) มันอาจเป็นเพียงเป็นจุดเริ่มต้นของความรักความสัมพันธ์ที่คงต้องหมั่นดูแล สื่อสารและเอาใจใส่ เพื่อให้ความรักของเราเติบโตครับ

 

ด้วยรักใน Pride Month

 

 

 

Reference

 

1. Cambridge Dictionaries, s.v. “Dating (n.),” accessed May 23, 2024, https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/dating.

 

2. Luff, Tracy, Kristi Hoffman, and Marit Berntson. 2016. “Hooking Up and Dating Are Two Sides of a Coin.” Contexts 15, no. 1: 76-77. https://doi.org/10.1177/1536504216628848

 

3. Bauermeister, José A., Matthew Leslie-Santana, Michelle Marie Johns, Emily Pingel, and Anna Eisenberg. 2011. “Mr. Right and Mr. Right Now: Romantic and Casual Partner-Seeking Online among Young Men Who Have Sex with Men.” AIDS and Behavior 15, no. 2: 261-272. https://doi.org/10.1007/s10461-010-9834-5

 

4. Simon, William, and John H. Gagnon. 1986. “Sexual scripts: Permanence and change.” Archives of Sexual Behavior 15, no. 2: 97-120.

 

5. Morr Serewicz, Mary Claire, and Elaine Gale. 2008. “First-Date Scripts: Gender Roles, Context, and Relationship.” Sex Roles: 149-164.

 

6. The Standard Podcast, “Heterosexual Script จากหยั่งเชิงที่อาจกลายเป็นคุกคาม | Open Relationship EP.54,” YouTube Video, 36:51, November 16, 2023, https://www.youtube.com/watch?v=obK8fzNEYtg.

 

7. Klinkenberg, Dean, and Suzanna Rose. 1994. “Dating Scripts of Gay Men and Lesbians.” Journal of Homosexuality 26, no. 4: 23-35.

 

8. Watson, Ryan J., Shannon Snapp, and Skyler Wang. 2017. “What We Know and Where We Go from Here: A Review of Lesbian, Gay, and Bisexual Youth Hookup Literature.” Sex Roles 77, no. 11: 801-811.

 

 


 

 

 

บทความโดย

อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

อาจารย์ประจำหลักสูตรจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

คณะจิตวิทยาเข้าร่วมในพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

 

คณะจิตวิทยาเข้าร่วมในพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8 อาคาร อปร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต “วันอานันทมหิดล” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2567