เนื่องจากศาสตร์จิตวิทยามีความเกี่ยวเนื่องกับศาสตร์อื่น ๆ ค่อนข้างมาก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ในหลากหลายกรณี ซึ่งที่ผ่านมา ศาสตร์จิตวิทยาได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องจากผู้ที่ทำงานในศาสตร์อื่น ๆ เพื่อที่จะสร้างสรรค์งานที่ใช้องค์ความรู้ระหว่างศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การผลิตผลงานระหว่างศาสตร์อาจมีอุปสรรคหากผู้ที่ทำงานในศาสตร์อื่น ๆ ขาดมุมมองเชิงกว้างของศาสตร์จิตวิทยาและยังไม่สามารถระบุความต้องการของตนและบทบาทของศาสตร์จิตวิทยาได้อย่างชัดเจน เพื่อให้การบูรณาการระหว่างจิตวิทยาและศาสตร์ต่าง ๆ ได้รับผลลัพธ์ที่น่าสนใจและมีประโยชน์ การอบรมความรู้ที่เปิดมุมมองเชิงกว้างที่สะท้อน “ความร่วมกัน” จากความหลากหลายของศาสตร์จิตวิทยา จะช่วยให้ผู้ที่ทำงานในศาสตร์อื่น ๆ ระบุความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยระยะเวลาที่จำกัด (6 ชั่วโมง) โครงการอบรมจึงตีกรอบให้แคบขึ้น โดยเนื้อหาจะตั้งอยู่บนความพยายามของนักจิตวิทยาและนักวิชาการที่จะ “รวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่ง” (unification of psychology) และได้นำเสนอมุมมองต่าง ๆ ที่ทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาในมุมกว้าง และสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น ๆ ได้อย่างน่าสนใจ
ชื่อโครงการ
โครงการอบรมทางจิตวิทยา “พื้นฐานและมุมมองทางจิตวิทยาสำหรับการร่วมมือข้ามศาสตร์ (Bridging Disciplines: Incorporate Psychology into Your Endeavor)”
วิทยากร
รองศาสตราจารย์สักกพัฒน์ งามเอก
อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รูปแบบการจัดกิจกรรม
บรรยายความรู้ ระยะเวลา 6 ชั่วโมง
ในวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 เวลา 09.00 – 16.00 น. ในรูปแบบไฮบริด
-
- On-site: ณ ห้อง 614 ชั้น 6 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ Faculty of Psychology, Chulalongkorn University
- Online: ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting
โครงการอบรมนี้เหมาะสำหรับ
- ผู้ที่มีความต้องการที่จะบูรณาการศาสตร์จิตวิทยาเพื่อการทํางาน/การเรียน/การดําเนินกิจกรรมต่าง ๆ
- ผู้ที่ทํางานร่วมกับบุคคลในอาชีพด้านจิตวิทยา และ
- ผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการเห็นภาพรวมของศาสตร์จิตวิทยาด้วยมุมมองที่กระชับ
ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเกียรติบัตรการเข้าร่วมโครงการจากคณะจิตวิทยา
โดยผู้เข้าร่วมแบบ on-site จะได้รับเกียรติบัตรแบบ Hard copy และผู้เข้าร่วมแบบ online จะได้รับเกียรติบัตรแบบ e-certificate ทางอีเมล
สําหรับผู้ที่เข้าร่วมแบบ On-Site ราคานี้รวมอาหารกลางวัน อาหารว่าง เอกสารประกอบการอบรม และเกียรติบัตรเข้าร่วมโครงการ
เงื่อนไขการลงทะเบียน
- กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
- การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
- เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ
- บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
- ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางอีเมลที่กรอกมาในแบบฟอร์มลงทะเบียน (กรุณาตรวจสอบอีเมลของท่านให้ถูกต้อง)
- เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณวาทินี โทร. 02-218-1307 E-mail: wathinee.s@chula.ac.th
คำอธิบายเกี่ยวกับโครงการอบรมฯ
จิตวิทยาสำหรับสหวิทยาการ
โครงการอบรม “พื้นฐานและมุมมองทางจิตวิทยาสำหรับการร่วมมือข้ามศาสตร์ (Bridging Disciplines: Incorporate Psychology into Your Endeavor)” เหมาะสำหรับ
-
- ผู้ที่ศึกษา/ทำงานอยู่นอกศาสตร์จิตวิทยา แต่ต้องการที่จะสร้างสรรค์งานระหว่างศาสตร์ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบการประยุกต์ใช้จิตวิทยาด้วยตัวเอง หรืออยู่ในรูปแบบการร่วมมือกับบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา
- ผู้ที่ศึกษา/ทำงานด้านจิตวิทยา และอาจมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอบทบาทของจิตวิทยาในการสร้างสรรค์งานระหว่างศาสตร์ และ
- บุคคลทั่วไปที่สนใจจิตวิทยา และต้องการที่จะเห็น “ภาพรวม” ของศาสตร์ด้วยมุมมองที่กระชับ
อุปสรรคสำคัญที่หลายคนสัมผัสได้เมื่อผนวกจิตวิทยาเข้ากับศาสตร์ของตนเองอาจอยู่ที่ความหลากหลายของจิตวิทยา ที่มีสาขา/แขนงจำนวนมาก มีทฤษฎี/แนวคิดจำนวนมาก มีลักษณะทางจิตวิทยาจำนวนมาก และ/หรือ มีเครื่องมือจำนวนมาก จนยากที่จะมั่นใจได้ว่า เมื่อตัดสินใจเลือก “จิตวิทยา” มาใช้แล้ว อย่างน้อยเราไม่ได้ตกหล่น (สิ่งที่จิตวิทยามีอยู่ แต่เราไม่รู้) หรือไม่ได้พิจารณาลักษณะสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ข้างต้น (สิ่งที่จิตวิทยาให้ความสำคัญ แต่เราคิดว่าไม่สำคัญ) อย่างที่ควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้ โครงการอบรมนี้จึงประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
-
- ไวยากรณ์ (บางส่วน) ของจิตวิทยา (a [partial] grammar of psychology)
- การใช้งานจิตวิทยาผ่านมุมมอง “การรวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่ง” (unification of psychology) และ
- จิตวิทยาและการบูรณาการระหว่างศาสตร์
โดยเนื้อหาส่วนแรกจะเป็นการนำเสนอ “โครงสร้างพื้นฐาน” ของจิตวิทยาที่เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่กระจัดกระจาย ซึ่งจะถูกนำมารวมกันในเนื้อหาส่วนที่สอง และเนื้อหาส่วนสุดท้ายจะพูดถึงบทบาทของโครงสร้างพื้นฐานและภาพรวม เพื่อใช้งานจิตวิทยาอย่างเหมาะสมสำหรับการทำงานระหว่างศาสตร์
ไวยากรณ์บางส่วนของจิตวิทยาจะพูดถึง “หน่วยโครงสร้าง” (building block) และ “ฟังก์ชั่น” (psychological function) ของลักษณะทางจิตวิทยา ที่จะประกอบไปเป็นลักษณะทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนมากขึ้น เปรียบได้กับไวยากรณ์ทางภาษา ที่อาจมีคำนาม คำกริยา คำคุณศัพท์ ฯลฯ ซึ่งเราจะนำคำเหล่านี้มาร้อยเรียงกันเป็นประโยค ลักษณะทางจิตวิทยาก็เช่นเดียวกัน ที่จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา เช่น อารมณ์เป็นหน่วยโครงสร้างทางจิตวิทยา และความฉลาดทางอารมณ์เป็นลักษณะทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอาจมีอารมณ์เป็นหน่วยโครงสร้างหลัก (แน่นอนว่าจะประกอบเข้ากับหน่วยโครงสร้างอื่น ๆ) นอกจากนั้น นักจิตวิทยาบางกลุ่มได้พยายามที่จะจัดหมวดหมู่ฟังก์ชั่นของลักษณะทางจิตวิทยาต่าง ๆ (เพื่อตอบคำถามที่ว่า “เรามีสิ่งนี้ไว้เพื่ออะไร”) เป็น 4 ฟังก์ชั่นใหญ่ ๆ ซึ่งลักษณะทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนอาจมีฟังก์ชั่นมากกว่า 1 ฟังก์ชั่น เช่น อารมณ์อาจมีฟังก์ชั่นหนึ่ง ๆ และความฉลาดทางอารมณ์อาจมีฟังก์ชั่นหลากหลายมากกว่า ในบางครั้ง เราอาจพบว่า ลักษณะทางจิตวิทยาที่มีชื่อเหมือนกัน กลับมีรายละเอียด (นิยาม) ที่ต่างกัน และลักษณะทางจิตวิทยาที่มีชื่อต่างกัน กลับมีรายละเอียดเหมือนกัน (ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า jingle-jangle fallacies [Lawson & Robins, 2021]) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ในศาสตร์จิตวิทยาเนื่องจากนักจิตวิทยาและนักวิชาการอาจมีมุมมองทางทฤษฎีที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจลักษณะทางจิตวิทยาจากหน่วยโครงสร้างและฟังก์ชั่นจึงมีความสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา
เนื่องจากศาสตร์จิตวิทยามีความหลากหลาย ในปัจจุบัน สมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริการะบุไว้ 56 สาขา/แขนง เช่น จิตวิทยาทั่วไป [Division 1] จิตวิทยาสุนทรียภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และศิลปะ [Division 10] จิตวิทยาการฟื้นฟูสภาพ [Division 22] ฯลฯ การทำงานร่วมกันภายในศาสตร์และระหว่างศาสตร์จะติดขัดหากมุ่งเป้าไปที่ความเชี่ยวชาญที่อาจไม่ตรงกับความต้องการของงาน การพยายามทำความเข้าใจความเหมือนและความต่างของศาสตร์จิตวิทยา เพื่อก่อให้เกิดการใช้งานจิตวิทยาอย่างตรงเป้า จึงเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการอบรมนี้ และภายในระยะเวลาสั้น ๆ (6 ชั่วโมง) เราจะใช้เนื้อหาจากนักจิตวิทยาและนักวิชาการที่พยายามจะ “รวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่ง” (unification of psychology) ถึงแม้ว่าการรวมจิตวิทยาให้เป็นหนึ่งอาจเป็น “ความท้าทายที่เป็นไปไม่ได้” จากมุมมองของนักจิตวิทยาบางกลุ่ม (เนื่องจากจิตวิทยาสาขา/แขนงต่าง ๆ อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในหลายประเด็น ตั้งแต่มุมมองทางปรัชญา ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ความรู้) และในตอนนี้ก็ยังไม่มีผู้ที่ทำได้สำเร็จ (ความท้าทายนี้มีวารสารทางวิชาการที่เฉพาะเจาะจง เช่น Integrative Psychological and Behavioral Science หรือแม้แต่ Review of General Psychology และ New Ideas of Psychology) แต่ในระหว่างที่นักจิตวิทยาและนักวิชาการร่วมกันเดินทางเพื่อวาดแผนที่ของศาสตร์จิตวิทยา เราก็พอที่จะได้เห็นภาพของศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาพนี้อาจยังไม่สามารถพูดได้ว่า “ถูกต้อง” แต่จะมีประโยชน์อย่างแน่นอน โครงการอบรมนี้จะคัดสรรภาพที่เข้าใจง่ายและมีประโยชน์สำหรับการเริ่มต้นที่จะผนวกจิตวิทยาให้ตรงกับความต้องการระหว่างศาสตร์ที่หลากหลาย
สำหรับผู้ที่รู้จักทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาอยู่แล้ว อาจสังเกตได้ว่า ลักษณะทางจิตวิทยาบางลักษณะอาจ ดูเหมือน มีความใกล้เคียงกัน เช่น ความเชื่อในความสามารถของตน (self-efficacy) และมโนทัศน์แห่งตน (self-concept) หรือทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาอาจ ดูเหมือน มีความใกล้เคียงกัน เช่น ความคลาดเคลื่อนในการอนุมานสาเหตุ (fundamental attribution error) และความลำเอียงเข้าข้างตนเอง (self-serving bias) ซึ่งหลัก ๆ ก็เป็นการอนุมานสาเหตุเหมือนกัน เราอาจเห็นความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นเมื่อพิจารณาทฤษฎี/แนวคิดเหล่านี้พร้อมกัน แต่ถ้าเราสามารถวิเคราะห์ลักษณะทางจิตวิทยาและทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาด้วยความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ก็น่าจะช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ก็น่าจะช่วยให้การทำงานระหว่างศาสตร์เป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้นเช่นกัน โครงการอบรมนี้จึงไม่ได้นำเสนอทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยา (สิ่งเหล่านี้หาได้จากโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยาฯ และโครงการอบรมความรู้จากสาขา/แขนงต่าง ๆ) แต่โครงการอบรมนี้จะนำเสนอ “โครงสร้างพื้นฐาน” ทางจิตวิทยา ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของลักษณะทางจิตวิทยาและทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาที่มีอยู่ หากเปรียบได้กับการปรุงอาหาร ทฤษฎี/แนวคิดทางจิตวิทยาก็อาจเหมือนสูตรอาหาร ส่วนโครงสร้างพื้นฐานทางจิตวิทยาก็อาจเหมือนวัตถุดิบและกระบวนการปรุงอาหาร ถ้ารู้แต่สูตรอาหาร การดัดแปลงให้เข้ากับวัตถุประสงค์และบริบทต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้ารู้วัตถุดิบและกระบวนการปรุงอาหารด้วย การดัดแปลงก็อาจทำได้ง่ายกว่า
และสุดท้าย เราจะขมวดเนื้อหาทั้งหมดเข้าด้วยกันในส่วนของ “จิตวิทยาและการบูรณาการณ์ระหว่างศาสตร์” โดยจะนำเสนอบทบาทของจิตวิทยาที่อาจแตกต่างกันระหว่างการประยุกต์ใช้ การร่วมมือ และการอำนวยความสะดวก ซึ่งน่าจะทำให้การทำงานระหว่างศาสตร์ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะเน้นที่การใช้งานจิตวิทยาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals) ที่จิตวิทยาอาจมีส่วนร่วมในหลากหลายเป้าหมาย แต่ก็ยากที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ได้หากปราศจากความร่วมมือระหว่างศาสตร์ โครงการอบรมจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 เวลา 9:00-16:00 ที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มีระบบออนไลน์)
รายการอ้างอิง
Lawson, K. M., & Robins, R. W. (2021). Sibling constructs: What are they, why do they matter, and how should you handle them? Personality and Social Psychology Review, 25, 344-366.