ความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงใน ทฤษฎีความมุ่งมั่นในตนเอง (Self-determination theory) โดยทฤษฎีนี้ได้นำเสนอว่า ผู้คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่กระตือรือร้น มีความต้องการเติบโตและพัฒนาทางจิตใจ เป็นการค้นหาความท้าทาย ความแปลกใหม่ และโอกาสในการเรียนรู้ ดังนั้นจึงอธิบายถึงแนวโน้มการเติบโตโดยธรรมชาติของผู้คนและความต้องการทางจิตวิทยาโดยพื้นฐาน (Innate psychological needs) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับแรงจูงใจในตนเองและบุคลิกภาพของบุคคล อันได้แก่ ความต้องการด้านการมีอิสระในตนเอง (Autonomy) ความต้องการด้านความสามารถ (Competence) และความต้องการด้านความสัมพันธ์ (Relatedness) ซึ่งจำเป็นต่อการเติบโตและการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์และความเป็นอยู่ที่ดีส่วนบุคคล
ทฤษฎีความมุ่งมั่นในตนเอง ประกอบด้วย 3 แรงจูงใจ และ 6 การกำกับตนเอง ดังนี้
ไม่มีแรงจูงใจ |
แรงจูงใจจากภายนอก |
แรงจูงใจจากภายใน |
|||
ไม่มีการกำกับตนเอง |
การกำกับจาก
|
การกำกับด้วย
|
กำกับด้วยการ
|
การกำกับที่
|
การกำกับตนเอง
|
ไม่แสดงพฤติกรรมใดเพื่อ ไปสู่เป้าหมายหรือหาก มีการแสดงพฤติกรรม ก็เป็นลักษณะกระทำ โดยไม่มีเจตนา |
แสดงพฤติกรรมที่คาด ว่าจะได้รับรางวัลหรือ หลีกเลี่ยงการลงโทษ |
แสดงพฤติกรรมเพื่อ หลีกเลี่ยงความรู้สึกผิด หรือวิตกกังวล หรือ เพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจ หรือคุณค่าในตนเอง |
แรงกดดันจาก ภายนอกทำให้แสดง พฤติกรรมโดยเป้าหมาย ที่มีประโยชน์ มากกว่า สิ่งที่เป็นความต้องการ แท้จริง |
ค่านิยมและเป้าหมาย ภายนอกสอดคล้องกับ เป้าหมายภายใน ซึ่ง กลายเป็นส่วนหนึ่ง ของตัวตนและแรงบันดาลใจ |
เป็นแรงจูงใจที่เกิดจาก ความสนใจส่วนตัว ความอยากรู้ หรือ ความเพลิดเพลินใน การทำงานตามเป้าหมาย |
ทั้งนี้การกำกับตนเองนั้นเป็นไปเพื่อเติมเต็มหรือลดทอนความต้องการทางจิตวิทยาขั้นพื้นฐาน 3 ประการที่กล่าวข้างต้น
ทฤษฎีความมุ่งมั่นในตนเองมีการอธิบายทั้งหมด 6 ทฤษฎีย่อย ดังนี้
1. ทฤษฎีการประเมินการรู้คิด (Cognitive evaluation theory)
ทฤษฎีนี้ได้อธิบายถึงบริบททางสังคมที่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยในการส่งเสริมหรือยับยั้งการเกิดแรงจูงใจภายในที่ทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรม โดยลักษณะของบริบททางสังคมที่มาส่งเสริมหรือยับยั้งการเกิดแรงจูงใจคือ บริบททางสังคมที่สนับสนุนการมีอิสระในการทำพฤติกรรมด้วยตนเอง และบริบททางสังคมที่ส่งเสริมการรับรู้ถึงความสามารถของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ บริบททางสังคมที่แสดงให้รับรู้ว่าสาเหตุที่ทำพฤติกรรมมาจากตนเอง ไม่ใช่เพราะสาเหตุจากภายนอก ก็สามารถส่งผลเพิ่มแรงจูงใจภายในได้
2. ทฤษฎีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของสิ่งมีชีวิต (Organismic integration theory)
ทฤษฎีนี้เน้นความสำคัญของแรงจูงใจภายนอก กล่าวคือ บุคคลเลือกทำหรือกำหนดพฤติกรรมด้วยตนเองเป็นผลมาจากแรงจูงใจภายนอก เช่น การทำกิจกรรมที่ไม่ตรงกับความสนใจของตน แต่ถ้าบุคคลได้รับแรงจูงใจภายนอก เช่น รางวัลหรือคำชม ผลที่ตามมาคือบุคคลนำแรงจูงใจภายนอกมายึดเป็นพฤติกรรมที่ตนเลือกทำกิจกรรมเอง
3. ทฤษฎีการหล่อหลอมพฤติกรรมจากสิ่งแวดล้อมและเหตุผลภายในตนเอง (Causality orientations theory)
ทฤษฎีนี้กล่าวถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพหรือลักษณะนิสัย ที่นำไปสู่การกำหนดแรงจูงใจและความมุ่งมั่นในตนเอง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ ลักษณะของการมีอิสระในตนเอง (Autonomous orientation) เป็นบุคคลที่แสดงพฤติกรรมตามความชื่นชอบและสนใจของตนเอง โดยจะพบความสัมพันธ์ทางบวกกับบุคลิกภาพที่นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี เช่น การเห็นคุณค่าในตนเอง ต่อมาคือลักษณะที่ถูกควบคุมโดยปฏิบัติตนตามความต้องการของบุคคลอื่น (Controlled orientation) บุคคลลักษณะนี้มักพบว่าเห็นคุณค่าในตนเองต่ำและพบอารมณ์ซึมเศร้าอีกด้วย และลักษณะสุดท้ายคือ ลักษณะของบุคคลที่ไม่มีตัวตน (Impersonal orientation) คือบุคคลที่รู้สึกถึงความไร้ความสามารถส่งผลให้บุคคลไม่มีแรงจูงใจ (Amotivation)
4. ทฤษฎีความต้องการพื้นฐาน (Basic needs theory)
ทฤษฎีนี้กำหนดว่าบุคคลมีความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบดังนี้
(1) ความต้องการมีอิสระในตนเอง (Autonomy) หมายถึง ความต้องการมีอิสระในการกำหนดชีวิตของตนเอง มีอำนาจในการตัดสินใจทำสิ่งใดด้วยตนเอง และมีความรับผิดชอบในการกระทำของตน อีกทั้งความต้องการเป็นอิสระมาจากการที่บุคคลต้องการทำพฤติกรรมหรือตัดสินใจตามสิ่งที่ตนเองชื่นชอบและสนใจ ถึงแม้ว่าเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกที่ทำให้ทำพฤติกรรม แต่บุคคลก็มีความสนใจที่มาจากภายในของตนเองด้วย
(2) ความต้องการด้านสามารถ (Competence) หมายถึง ความสามารถในการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวของตน โดยความต้องการด้านความสามารถนำบุคคลไปแสวงหาความท้าทายในชีวิต และความท้าทายมักอยู่ในขอบเขตตามความสามารถที่แต่ละบุคคลพึงมี นอกจากนี้ การเติมเต็มความต้องการด้านความสามารถยังส่งผลให้บุคคลรู้สึกมีความมั่นใจในการกระทำหรือพฤติกรรมของตนอีกด้วย
(3) ความต้องการด้านความสัมพันธ์ (Relatedness) หมายถึง ความสัมพันธ์อันดีต่อบุคคลอื่น โดยเกิดความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่ง เป็นที่ยอมรับ และมีความผูกพันต่อบุคคลอื่นในสังคม
เมื่อความต้องการด้านจิตใจได้รับการสนับสนุน หรือเมื่อความต้องการทั้ง 3 ด้านได้รับการเติมเต็ม บุคคลจะรู้สึกว่าตนมีแรงจูงใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยตนเอง และสามารถทำให้บุคคลมีอารมณ์เชิงบวกและมีสุขภาวะทางจิต (Psychological well-being) ที่ดีด้วย
Autonomy |
Competence |
Relatedness |
ปัจจัยสนับสนุน |
||
|
|
|
ปัจจัยลดทอน |
||
|
|
|
5. ทฤษฎีการตั้งเป้าหมาย (Goal content theory)
ทฤษฎีนี้เสนอว่าเป้าหมายจากภายนอก (Extrinsic goals) เช่น ความมั่งคั่งทางการเงิน ภาพลักษณ์ และชื่อเสียง จะตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ 3 ประการ ได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเป้าหมายภายใน (Intrinsic goals) เช่น การเติบโตจากภายใน การมีส่วน ร่วมกับสังคม และความใกล้ชิดทางอารมณ์ นอกจากนี้ การมีเป้าหมายจากภายนอกนำไปสู่สุขภาวะที่แย่ลงและการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่เป้าหมายภายในนำไปสู่สุขภาวะที่ดีเนื่องจากเป็นการตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานด้านจิตใจ 3 ประการ
6. ทฤษฎีแรงจูงใจในความสัมพันธ์ (Relationship motivation theory)
ทฤษฎีนี้เสนอว่าความพึงพอในใจความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับ การได้รับความเคารพและการดูแล นอกจากนี้ความรู้สึกปลอดภัยที่มาจากความผูกพัน (Attachment) กับผู้เลี้ยงดูจะส่งเสริมการมีอิสระ (Autonomy) อย่างไรก็ตามลักษณะการเลี้ยงดูบางรูปแบบอาจขัดขวางการมีแรงจูงใจและสุขภาวะทางอารมณ์ได้เช่นกัน
อ้างอิง
ณฐวรรณ อรรณพไกรสร. (2563). อิทธิพลของการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างต่อความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงวัย โดยมีความต้องการพื้นฐาน ด้านจิตใจเป็นตัวแปรส่งผ่าน และเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมยามว่างเป็นตัวแปรกำกับ [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2020.678
จุฑามาศ มงคลอำนาจ. (2565). ความสัมพันธ์ของการกำหนดตนเอง การคลั่งไคล้ศิลปิน และ การฟื้นคืนพลัง ในผู้ใหญ่วัยเริ่มที่เข้าร่วมกลุ่มชื่นชอบศิลปิน [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://doi.org/10.58837/CHULA.THE.2022.541
Cook, D. A., & Artino, A. R., Jr (2016). Motivation to learn: an overview of contemporary theories. Medical education, 50(10), 997–1014. https://doi.org/10.1111/medu.13074