ความสะอาดของร่างกาย จริยธรรม และพฤติกรรมการช่วยเหลือ

23 Mar 2021

คุณชญานิษย์ ตระกูลพิพัฒน์ และ อาจารย์ ดร. จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์

 

ท่านผู้อ่านเคยนึกถึงหรือไม่ว่า ความสะอาดของร่างกายของเรานั้น ส่งผลต่อความนึกคิดด้านจริยธรรมในใจเราอย่างไร หากท่านเป็นแฟนตัวยงของวรรณกรรมเรื่อง โศกนาฎกรรมของแมคแบธ (The Tragedy of Macbeth) วรรณกรรมสุดคลาสสิกของ วิลเลียม เชคสเปียร์ (ค.ศ. 1606-1607) คำพูดของตัวละครเอก เลดี้แมคเบธ “Out, damned spot! Out” เป็นคำพูดที่พระนางเปล่งออกมาพร้อมกับล้างมืออย่างบ้าคลั่งหลังจากที่ได้โน้มน้าวให้สามีก่อการกบฏได้สำเร็จ สะท้อนความเชื่อที่ว่าเมื่อเกิดความรู้สึกผิดอย่างลึกซึ้ง บุคคลจะรับรู้ว่าร่างกายเกิดความสกปรก นำไปสู่การชำระล้าง เพื่อลดทอนความรู้สึกผิดบาปในจิตใจ

 

Chen-Bo Zhong ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรและการบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยToronto ร่วมกับ Katie A. Liljenquist จากมหาวิทยาลัย Brigham Young University ได้ทำการทดลองทั้งหมด 4 ครั้งเพื่อทดสอบและได้ข้อสรุปว่า “ความรู้สึกผิดในใจมีความเชื่อมโยงเข้ากับการเรียกร้องหาความสะอาดของร่างกายได้” และได้ตั้งชื่อปรากฎการณ์นี้ว่า “ปรากฎการณ์แมคแบธ (Macbeth)” การค้นพบนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในบทความชื่อ “Washing Away Your Sins: Threatened Morality and Physical Cleansing” ปี ค.ศ. 2006 วารสาร “Science” ที่เป็นวารสารที่ทรงอิทธิพลสูงที่สุด 1 ใน 3 ของวงการวิทยาศาสตร์ บทความนี้ยังถูกอ้างอิงในบทความวิชาการอื่น ๆ เป็นจำนวน 1,318 ครั้ง (ข้อมูลจากฐาน Google Scholar ณ วันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 2021)

 

การทดลองหนึ่งในนั้น ผู้วิจัยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองย้อนระลึกถึงความผิดที่ได้ทำลงไปแล้วในอดีตก่อนเล่นเกมเติมคำลงในช่องว่าง โดยคำที่ใช้จะสามารถเติมได้ทั้งคำที่มีความหมายสื่อถึงความสะอาด และความหมายอื่นๆ อย่างเช่น “W_ _ H” (WASH/WISH), “S H _ _ E R” (SHOWER/SHEKER) และ “S _ _ P”(SOAP/SLIP) ผลการทดลองพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองที่ถูกขอให้ย้อนระลึกถึงความผิดในอดีต เติมคำด้วยคำศัพท์ที่สื่อความหมายด้านความสะอาดมากกว่าคำศัพท์ที่มีความหมายอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งสัดส่วนการเลือกคำตอบที่สื่อถึงความสะอาดในพวกเขายังมากกว่ากลุ่มควบคุมที่มิได้ถูกขอให้ย้อนระลึกถึงความผิดในอดีตด้วยเช่นกัน

 

ความสะอาดบริสุทธิ์เปรียบเสมือนดั่งจริยธรรมขั้นพื้นฐาน (Moral foundation) ที่เอาไว้ใช้แบ่งแยกความดีความชั่วของมนุษย์ (Haidt, 2012) เมื่อภาพลักษณ์แห่งศีลธรรมของตน (Moral self-image ยกตัวอย่างเช่นความคิดที่ว่า ฉันไม่ใช่คนโกหก) กับการรับรู้ตัวตนที่แท้จริง (Moral self-perception เช่น ฉันไม่น่าพูดโกหกไปเลย) เกิดช่องว่างทางจริยธรรมขึ้นระหว่างตัวตนทั้งสองแบบ จึงทำให้เกิดการเรียกร้องเพื่อกู้คืนตัวตนที่ยึดมั่นในหลักคุณธรรม (Moral integrity) นำไปสู่การเรียกร้องหาการชำระล้างนั่นเอง

 

พิธีศีลล้างบาปในศาสนาคริสต์ (Baptism) การล้างบาปแบบพุทธชินโต (Tsukubai) ในประเทศญี่ปุ่น การชำระล้างก่อนวันล้างบาปของศาสนายูดาห์ (Mikven) หรือแม้แต่การสรงน้ำทางศาสนาอิสลาม (Wudu) เหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic) ของการชำระล้าง และความสะอาดบริสุทธิ์ (Purity) ยังเป็นสัญชาตญาณขั้นพื้นฐาน มาจากความต้องการที่จะปกป้องตนเองจากสิ่งอันตราย (Haidt & Joseph, 2007) และจะร้องเตือนหากมีการกระทำใดที่ขัดต่อจริยธรรม (Moral intuition) เกิดขึ้น

 

ถึงตรงนี้หากท่านผู้อ่านเกิดคำถามว่า การชำระล้างร่างกายนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดทางจริยธรรมและพฤติกรรมหลังจากนั้นหรือไม่ Xu, Bègue และ Bushman (2014) ได้ประเมินความรู้สึกผิดของผู้เข้าร่วมการทดลองก่อนและหลังการล้างมือด้วยตนเอง หรือดูวิดีโอสาธิตวิธีการล้างมือ และพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีความรู้สึกผิดจากการระลึกถึงการกระทำที่ผิดในอดีต มีการประเมินความรู้สึกผิดที่ลดลง หลังการล้างมือด้วยตนเอง หรือดูวิดีโอสาธิตวิธีการล้างมือ หลังเสร็จสิ้นการทดลองนี้ ผู้วิจัยได้ทำการทดลองถัดไปทันที โดยให้ผู้ช่วยวิจัยที่ไม่เปิดเผยตัวตน เข้ามาขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมการทดลองให้เข้าร่วมการวิจัยอีกหนึ่งชิ้นโดยไม่มีค่าตอบแทน ผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่ผ่านการล้างมือหรือดูวิดีโอสาธิตวิธีการล้างมือแล้วมีแนวโน้มที่จะไม่ช่วยเหลือบุคคลอื่นเมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมการทดลองที่ไม่ได้ผ่านการชำระล้างดังกล่าว

 

เพราะฉะนั้นหากย้อนไปตอนต้นของบทความแล้วถาม Lady Macbeth ว่าหลังจากการล้างมือเสร็จแล้วความรู้สึกผิดที่อัดอั้นอยู่ภายในจิตใจของเธอได้ลดน้อยลงไปหรือไม่ จากการศึกษาค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์คงให้คำตอบได้แล้วว่าพฤติกรรมการล้างมือของเธอนั้นช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดลงไปได้ไม่มากก็น้อย แต่ปรากฎการณ์นี้จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยได้หรือไม่คงต้องหาคำตอบกันต่อไป เนื่องจากการศึกษาวิจัยและอิทธิพลของความเชื่อนั้นมาจากทางฝั่งประเทศตะวันตกเสียเป็นส่วนมาก

 

 

รายการอ้างอิง

 

Cui, Y., Errmann, A., Kim, J., Seo, Y., Xu, Y., & Zhao, F. (2020). Moral effects of physical cleansing and pro-environmental hotel choices. Journal of Travel Research, 59(6), 1105-1118. https://doi.org/10.1177/0047287519872821

 

Haidt, J., & Joseph, C. (2007). The moral mind: How five sets of innate intuitions guide the development of many culture-specific virtues, and perhaps even modules. The innate mind, 3, 367-391. http://dx.doi.org/10.1093/acprof:oso/9780195332834.003.0019

 

Haidt, J. (2012). The righteous mind: Why good people are divided by politics and religion. Vintage.

 

Xu, H., Bègue, L., & Bushman, B. (2014). Washing the guilt away: effects of personal versus vicarious cleansing on guilty feelings and prosocial behavior. Frontiers in human neuroscience, 8, 97. https://doi.org/10.3389/fnhum.2014.00097

 

Zhong, C. B., & Liljenquist, K. (2006). Washing away your sins: Threatened morality and physical cleansing. Science, 313(5792), 1451-1452. https://doi.org/10.1126/science.aaa2510

 

 


 

 

บทความโดย

 

คุณชญานิษย์ ตระกูลพิพัฒน์

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

และ อาจารย์ ดร. จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์

อาจารย์ประจำแขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้