การเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน – Coming out

16 Jun 2022

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

การเปิดเผยตนเองหรือการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน จัดเป็นกระบวนการหนึ่งในพัฒนาการของบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลรักต่างเพศ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น โดย APA (2011) ให้ความหมายไว้ว่า เป็นกระบวนการที่บุคคลได้ตระหนักและยอมรับความโน้มเอียงทางเพศของตน และนำไปสู่กระบวนการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศของตนต่อผู้อื่น

 


 

 

แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศ

 

1. รูปแบบกระบวนการการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันตามการสร้างอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual identity formation: SIF) 6 ขั้น ของ Vivienne Cass (1979)

 

ขั้นที่ 1 ความสับสนทางอัตลักษณ์ (Identity confusion)

บุคคลเริ่มตระหนักถึงความรู้สึกและพฤติกรรมรักเพศเดียวกันที่ตนมี ทำให้เกิดความสับสน นำมาซึ่งความอาย ความกังวล การปฏิเสธความจริง บุคคลที่อยู่ในขั้นนี้มักปกปิดสถานภาพของตนต่อบุคคลอื่น

ขั้น 2 การเปรียบเทียบทางอัตลักษณ์ (Identity comparison)

บุคคลยังคงสับสนเนื่องจากพบความแตกต่างด้านความสนใจทางเพศของตนกับคนอื่น ดังนั้นอาจแสดงออกโดยการตีตัวออกห่างจากบุคคลในครอบครัว เพื่อน หรือสังคมคนรักต่างเพศ โดยยังไม่สามารถรวมกลุ่มกับผู้ที่มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันได้ พฤติกรรมที่พบในขั้นนี้จะเป็นลักษณะการหลอกตนเอง เช่น มองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเพียงพฤติกรรมชั่วคราว หรือปรับพฤติกรรมตัวเองให้เป็นพฤติกรรมรักต่างเพศ

ขั้นที่ 3 ความอดทนต่ออัตลักษณ์ (Identity tolerance)

บุคคลสามารถยอมรับความโน้มเอียงทางเพศเดียวกันของตนได้มากขึ้น แต่ยังไม่ทั้งหมด เพียงแต่รับรู้ว่าความรู้สึกและพฤติกรรมทางเพศที่ตนมีไม่ใช่ความรู้สึกหรือพฤติกรรมของบุคคลรักต่างเพศ จากนั้นจึงเริ่มติดต่อกับผู้มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันอื่น ๆ มากขึ้น

ขั้นที่ 4 การยอมรับในอัตลักษณ์ (Identity acceptance)

จากการได้ติดต่อกับบุคคลรักเพศเดียวกันคนอื่น ๆ มากขึ้นทำให้มีมุมมองหรือเจตคติต่อความโน้มเอียงทางเพศของตนในทางที่ดีขึ้น สามารถยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของตนได้ อย่างไรก็ตามยังคงไม่เปิดเผยตนเองต่อผู้อื่นในวงกว้าง จะเปิดเผยเพียงกับเพื่อนหรือครอบครัวที่ตนวางใจและมีความสำคัญกับตนมากเท่านั้น

ขั้นที่ 5 ความภูมิใจในอัตลักษณ์ (Identity pride)

แนวคิดและมุมมองเกี่ยวกับพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นไปในทิศทางบวก และตระหนักถึงการไม่ได้รับการยอมรับหรือถูกปฏิเสธจากบุคคลอื่นในสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีความโกรธ ต่อต้าน และมองกิจกรรมของบุคคลรักต่างเพศในทางลบ เช่น การแต่งงาน การแบ่งบทบาททางเพศ

ขั้นที่ 6 การสังเคราะห์อัตลักษณ์ (Identity synthesis)

การแบ่งแยกระหว่างกลุ่มผู้ที่โน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันและบุคคลรักต่างเพศจะลดน้อยลง เนื่องจากบุคคลรับรู้ถึงการสนับสนุนการเป็นผู้ที่มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันจากสังคม และตนสามารถให้ความเชื่อถือและไว้วางใจได้

 

2. รูปแบบกระบวนการการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันตามลักษณะความสัมพันธ์ในรูปแบบความรักใคร่ (Romantic Attachments) 5 ขั้น ของ Eli Coleman (1982)

 

ขั้นที่ 1 ขั้นก่อนการเปิดเผย (Pre-coming out)

บุคคลเริ่มสงสัยในอัตลักษณ์ทางเพศและความสนใจทางเพศของตนที่แกต่างไปจากคนอื่น จึงเริ่มทำการค้นหาตนเองโดยเปิดรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการรักเพศเดียวกัน ขั้นนี้มีโอกาสที่บุคคลจะไม่ยอมรับตนเองและพยายามปฏิเสธสิ่งต่าง ๆ ได้ตนรับรู้ได้

ขั้นที่ 2 การเปิดเผย (Coming out)

บุคคลสามารถยอมรับในสถานภาพทางเพศของตน คือรับรู้ เข้าใจ และยอมรับว่าตนเป็นผู้มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันและมีความชอบในบุคคลที่มีเพศเดียวกับตน ดังนั้นจึงเริ่มมีความต้องการที่จะบอกกับคนอื่น ๆ ถึงตัวตนของตนเอง เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่ต้องเผชิญคือการถูกปฏิเสธหรือได้รับปฏิกิริยาในทางลบกลับมา จึงมีแนวโน้มจะเปิดเผยกับเพื่อนสนิทที่ตนไว้ใจ

ขั้นที่ 3 การค้นหาและทดลอง (Exploration / Experimentation)

บุคคลเริ่มค้นหาทดลองในสิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง เมื่อมีโอกาสได้รู้จักกับผู้ที่มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันด้วยกันมากขึ้น ทำให้เข้าใจตนเองและเกิดอัตลักษณ์ทางเพศของตน และหากมีผลตอบรับจากสังคมในทางบวกก็มักจะพัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศของตนไปในทางที่ดี

ขั้นที่ 4 การสร้างความสัมพันธ์ครั้งแรก (First Relationships)

บุคคลเริ่มต้นมีความรักความสัมพันธ์กับคู่ของตนที่เป็นเพศเดียวกัน ซึ่งมีการคาดหวังถึงความมั่นคง มีคำมั่นสัญญาเป็นข้อตกลงในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (แต่ไม่จำเป็นว่าความสัมพันธ์กับคู่รักในครั้งนี้จะเป็นความรักและความสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย)

ขั้นที่ 5 การบูรณาการ (Integration)

เป็นขั้นการประสานกันของอัตลัษณ์ทั้งภายนอกที่บุคคลในสังคมรับรู้และอัตลักษณ์ภายในที่เป็นตัวเองของบุคคลนั้น ๆ ในขั้นนี้บุคคลจะสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคง ซึ่อสัตย์และจริงใจต่อกันมากกว่าในขั้นการสร้างความสัมพันธ์ครั้งแรก

 

3. รูปแบบกระบวนการการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันตามลัษณะอัตลักษณ์ทางเพศโดยการรับรู้ของตนเอง (Perceptions of Self) 4 ขั้น ของ Richard R. Troiden (1989)

 

ขั้นที่ 1 เริ่มตระหนักรู้ในอัตลักษณ์ทางเพศของตน (Sensitization)

บุคคลเริ่มรับรู้ถึงความแตกต่างในความสนใจทางเพศของตนกับบุคคลอื่นในวัยเดียวกัน รับรู้ว่าตนมีความสนใจในบุคคลเพศเดียวกันและสับสนกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น

ขั้นที่ 2 การสับสนทางอัตลักษณ์ (Identity Confusion)

บุคคลเริ่มเข้าใจและไม่แน่ใจแล้วว่าตนอาจจะเป็นผู้ที่มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันหรือไม่ และเกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ กับตนเอง เช่น การปฏิเสธในสิ่งที่ตนเป็น หลีกเลี่ยงหรือหยุดพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของตน แยกตนออกจากสังคมหรือปฏิเสธที่จะรับรู้เรื่องราวของบุคคลเพศเดียวกัน และอาจหาทางออกโดยการคบหาบุคคลต่างเพศ ในบางรายอาจถึงขั้นแสดงอาการรังเกียจหรือกลัวบุคคลรักเพศเดียวกัน (homophobia)

ขั้นที่ 3 การรวบรวมอัตลักษณ์ (Identity Assumption)

บุคคลยอมรับในสถานภาพของตนได้มากขึ้น เริ่มเปิดเผยตนเองกับผู้ที่ตนสนิทสนมด้วย แต่เนื่องจากสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น เจตคติ อคติจากคนในสังคม ขนมธรรมเนียมประเพณี ทำให้บุคคลไม่สามารถแสดงสถานภาพที่แท้จริงสู่สังคม และอาจพยายามหลีกเลี่ยงสังคมของบุคคลรักต่างเพศอยู่

ขั้นที่ 4 การยอมรับตกลงในอัตลักษณ์ (Commitment)

บุคคลยอมรับและกล้าเผชิญกับสถานภาพการเป็นผู้ที่มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันของตนได้เต็มที่ จนสามารถปรับสิ่งเหล่านั้นให้เข้ากับการดำรงชีวิตของตนในแต่ละวันได้ ทั้งนี้การตกลงใจยอมรับในอัตลักษณ์ของตนเอง บุคคลต้องยอมรับในตนเองโดยมีความสุขในสิ่งที่ตนเป็น ควบคู่กับการที่ตนสามารถมีความรักกับบุคคลเพศเดียวกันได้อย่างมีความสุขและไม่จำเป็นต้องปิดบังผู้อื่น

 


 

 

บทบาทของครอบครัวกับการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน

 

งานวิจัยของ Perrin และคณะ (2004) แบ่งลักษณะการตอบกลับของครอบครัวที่มีต่อการเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันไว้ 3 ลักษณะ ได้แก่

 

1. ครอบครัวที่ยอมรับ (Accepting families)

พ่อแม่ยอมรับได้ในทันทีที่ลูกเปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่คาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่าลูกมีแนวโน้มเช่นนั้น แต่อาจมีความลังเลอยู่บ้างว่าจะถามตรง ๆ หรือควรรอให้ลูกมาบอกด้วยตนเอง

2. ครอบครัวที่ลังเล (Ambivalent families)

พ่อแม่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าลูกจะเป็นผู้มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน จึงไม่มีการเตรียมพร้อมมาก่อน การตอบกลับของพ่อแม่มีลักษณะผสมเช่น ปิดบังความจริงที่ลูกเป็นผู้มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท กังวลเกี่ยวกับศาสนา สุขภาวะ และโกรธหรือผิดหวัง โดยมากมักแสดงปฏิกิริยาด้านลบต่อลูก แต่ยังมีการปรับตัวและประนีประนอม ยอมที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับการรักเพศเดียวกัน

3. ครอบครัวที่ปฏิเสธ (Rejecting families)

พ่อแม่ปฏิเสธลูกตนเองทันทีที่รู้ว่าลูกเป็นผู้มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน ปฏิบัติต่อลูกด้วยความรุนแรง บังคับให้ลูกออกจากบ้าน อาจเป็นครอบครัวที่ยึดมั่นในศาสนาอย่างเคร่งครัดจึงไม่สามารถยอมรับได้ ครอบครัวลักษณะนี้นอกจากไม่มีความยืดหยุ่นทางความคิดหรือทักษะการเผชิญปัญหาเพื่อปรับระบบความเชื่อของตนเอง ยังพยายาแยกตัวและเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศน้อยมาก

 

ลักษณะที่ไม่พบว่าเป็นปัญหาต่อกระบวนการเปิดเผยตนเองคือครอบครัวที่ยอมรับ การยอมรับจากครอบครัวด้วยการแสดงออกทางพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การบอกรัก การแสดงออกถึงความห่วงใย การพูดจาไถ่ถามให้รับรู้ถึงการสนับสนุน จะช่วยนำไปสู่พัฒนาการทางเพศในทางบวก เพราะนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ หรือผลของสุขภาพทางลบ อาทิ ความซึมเศร้า การใช้สารเสพติด และความคิดฆ่าตัวตาย ที่อาจเกิดขึ้น การยอมรับจากครอบครัวยังสัมพันธ์กับผลของสุขภาพทางบวก เช่น การเห็นคุณค่าในตนเอง การสนับสนุนทางสังคม และสุขภาพทั่วไปอีกด้วย

 

ส่วนครอบครัวที่ปฏิเสธจะมีระดับปัญหาที่รุนแรง อารมณ์ความรู้สึกของสมาชิกครอบครัวมักเป็นไปในทางลบ ลักษณะอารมณ์คล้ายกับผู้ที่มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันที่ได้รับผลตอบกลับทางลบจากการเปิดเผยตนเอง เช่น โกรธ ปฏิเสธความจริง เสียใจ เจ็บปวด อับอาย ผิดหวัง ตกใจ ผลที่ตามมาจากอารมณ์ทางลบคือ พฤติกรรมที่แสดงออกไปในทิศทางเดียวกับอารมณ์ เช่น การพาลูกหรือแนะนำให้ลูกไปรักษาความโน้มเอียงทางเพศ พูดจาส่อเสียดประชดประชัน ไล่ออกจากบ้าน เพิกเฉยเย็นชา

 

Ryan (2009) ได้รวบรวมพฤติกรรมทางลบที่พ่อแม่ของผู้ที่มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันควร “หลีกเลี่ยง” เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นกับลูก ดังนี้

    1. การทำร้ายร่างกาย
    2. พูดจาส่อเสียดหรือตั้งสมญานาม
    3. แยกผู้ที่มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกันออกจากกิจกรรมของครอบครัว
    4. ปิดกั้นการเข้าถึงเพื่อน เหตุการณ์ และแหล่งข้อมูลของผู้ที่มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน
    5. ต่อว่าลูกเมื่อเกิดความแตกต่างเพราะความเป็นผู้มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน
    6. กดดันลูกให้มีความเป็นชายหรือเป็นหญิงมากขึ้นหรือน้อยลง
    7. บอกลูกว่าพระเจ้าจะลงโทษเขา
    8. บอกลูกว่าท่านอับอายหรือผู้อื่นดูถูกครอบครัวท่านอย่างไร
    9. ทำให้ลูกต้องปิดบังความโน้มเอียงทางเพศ ไม่บอกกับคนอื่นนอกจากครอบครัว

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ประสบการณ์ด้านจิตใจของสมาชิกในครอบครัวภายหลังการเปิดเผยตนเองของผู้ที่มีความโน้มเอียงทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน” โดย อรุณี ศุทธิชัยนิมิต (2558) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/50900

 

แชร์คอนเท็นต์นี้