ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ หมายถึง อาการความอ่อนล้า เหนื่อยล้า ทั้งทางกายและใจ เมื่อต้องดูแลช่วยเหลือและรับฟังเรื่องราวเจ็บปวด เป็นทุกข์ ที่เป็นบาดแผลทางจิตใจของผู้อื่น เนื่องจากเป็นคนที่มีความใส่ใจ ความร่วมรู้สึก อยากจะช่วยเหลืออย่างแท้จริง ซึ่งส่งผลให้สมรรถภาพในการทำงานลดลง รวมถึงความใส่ใจที่จะเข้าอกเข้าใจอยากช่วยเหลือก็ลดลงด้วย จนเกิดความชินชาต่อความเจ็บปวดของผู้คน
สัญญาณเตือนถึงการมีความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ
ด้านจิตใจและจิตวิญญาณ เช่น การมีความอ่อนล้าทางอารมณ์ ถอยห่างจากความสัมพันธ์ มีความสามารถในการเข้าอกเข้าใจเห็นใจผู้อื่นลดน้อยลง อคติต่อโลกและสังคมมนุษย์ รู้สึกแย่ต่อการช่วยเหลือผู้อื่น ไม่รู้สึกพึงพอใจหรือรื่นเริง หวาดกลัวอย่างไม่สมเหตุสมผล วิตกกังวลสูง มีการตัดสินใจที่แย่ ไม่สามารถแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวได้ ไม่สนใจทบทวนความคิดความรู้สึกของตน
ด้านร่างกาย เช่น มีความเหนื่อยล้าหมดแรง ปวดศีรษะ ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้มีปัญหา อิดโรย ระบบการนอนมีปัญหา และอาจหมกมุ่นกับความเจ็บป่วยทางร่างกาย
ด้านพฤติกรรม เช่น ดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้น มีปัญหาทางสัมพันธภาพกับผู้คน การตัดสินใจระหว่างให้บริการบกพร่อง รวมถึงมีการตอบสนองที่เฉยชา
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ
ได้แก่ ปริมาณงานที่มากเกินไป ตนเองมีประวัติบาดแผลทางจิตใจ การเข้าถึงการนิเทศ (supervision) ที่น้อย สิ่งแวดล้อมในการทำงานไม่เอื้ออำนวย มีทัศนคติการมองโลกในเชิงลบ การไม่ใส่ใจดูแลตนเอง
นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์การให้คำปรึกษา ถ้าเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่มีวัยวุฒิและประสบการณ์มาก จะรู้ถึงขอบเขตความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ของตน รู้สึกพึงพอใจหรือประสบความสำเร็จในการได้พยายามช่วยเหลือได้มากกว่า และสามารถสร้างระยะห่างหรือสร้างสมดุลในการแยกตนเองออกจากการซึมซับความทุกข์ของผู้อื่นได้ดีกว่า อันเป็นปัจจัยที่ช่วยบรรเทาความเครียดจากการช่วยเหลือผู้อื่นให้ลดลงได้
รายการอ้างอิง
“ความเครียด ความเหนื่อยล้าในการเห็นอกเห็นใจ ความพึงพอใจในการเห็นอกเห็นใจ และสุขภาวะของนักวิชาชีพผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต” โดย นางสาวศิริลักษณ์ เตชะธนอิทธิกุล (2561) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/61248
ภาพประกอบจาก https://thriveglobal.com