หลายคนคงเคยได้ยินเพลงสุดฮิต Unconditionally ของศิลปินสาว Katy Perry ในปี ค.ศ. 2013 หรือคำกล่าวสุดโรแมนติกที่ว่า I will love you unconditionally หรือความรักที่ดีควรเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข เวลาฟังเพลงนี้ผมมักเกิดคำถามว่าเราสามารถรักคนอื่นอย่างไม่มีเงื่อนไขได้จริงหรือ? นำมาสู่คำถามหลักของบทความนี้คือ
แท้จริงแล้วมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เราต้องทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก?
ใครที่อยู่วงการจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัดในแนวคิด Person-Centred ของ Rogers อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Condition of worth หรือภาวะของการมีคุณค่า ความหมายจริง ๆ ของคำนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนและซับซ้อน แต่ถ้าจะแปลตรงตัว ก็คือ เงื่อนไข ของ การมีค่า เราจะมีค่าเมื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ ตัวอย่างที่มักถูกยกในบทความจิตวิทยาการปรึกษาคือ “เด็กผู้ชายถูกสอนว่าไม่ควรร้องไห้ หรือแสดงความอ่อนแอ หรือเด็กหญิงควรเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ นักเรียนที่ดีต้องไม่เถียงผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ เป็นต้น”
ในประโยคเหล่านี้ มันมีเงื่อนไขซุกซ่อนอยู่เสมอ กับคำถามที่ว่าถ้าเราทำสิ่งที่ตรงข้ามกับเงื่อนไขเหล่านี้ เราจะยังได้รับความรัก ได้รับคุณค่า การดูแลเอาใจใส่หรือไม่ เงื่อนไขเหล่านี้มักติดตัวกับเรามาตั้งแต่เด็ก เมื่อครั้งเรายังเป็นเด็กเล็กๆ เราจำต้องอาศัยผู้อื่นในการอยู่รอดเพราะยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ มนุษย์ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความรักและความสัมพันธ์ เป็นที่ถูกรักและได้รักผู้อื่น3 สำหรับเด็กแล้ว พ่อแม่ก็เหมือนโลกทั้งใบของพวกเขา หากเด็ก ๆ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของพ่อแม่ ชีวิตก็คงลำบากไม่น้อยเลย ซึ่งผู้ให้ข้อมูลเงื่อนไขนี้ก็คือคนสำคัญในชีวิต อาทิ พ่อแม่ ครอบครัว หรือแม้กระทั่งสังคมและวัฒนธรรมที่โอบล้อมชีวิตของเราไว้นั่นเอง
เงื่อนไขเหล่านี้สำคัญกับตัวเราอย่างไร
ศัพท์จิตวิทยาจะใช้คำว่า Introjection หมายถึง ข้อมูลจากประโยคและเงื่อนไขเหล่านี้จะผนวก ซึมซับเข้าไปภายในตัวเรา บ่มเพาะและสร้างเป็นตัวตนของเราขึ้นมาว่า เราคือใคร เราเป็นคนอย่างไร อะไรคือสิ่งที่เราควรทำ (should) หรือต้องทำ (ought) เช่น ฉันเป็นผู้ชายต้องไม่แสดงความอ่อนแอ ฉันไม่ควรโกรธและทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น ฉันต้องสุภาพเรียบร้อย ผู้หญิงเอเชียต้องอดทนและไม่โต้ตอบ (Passive) ฉันต้องดูแลคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ หรือฉันเป็นเด็กเรียนต้องได้เกรดดี ๆ เป็นต้น1
เมื่อมีควร ก็ต้องมีไม่ควร ดังนั้นผลที่ตามมาของเงื่อนไขคือ คนเรามักจะปฏิเสธ ละเลย (neglect) หรือเลือกที่จะเงียบเสียง (silence) สิ่งที่เรารู้ว่าคนรอบข้างของเราไม่ยอมรับ ตัวอย่างเช่น ผู้ชายเมื่อรู้สึกกลัว เสียใจอาจเลือกปฏิเสธความรู้สึกที่มี ปฏิเสธความโกรธของตัวเองเมื่อมีคนอื่นมาเอาเปรียบ2 ซึ่งสิ่งที่ปฏิเสธเหล่านี้ แท้จริงแล้วมันก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเช่นกัน ทั้งความโกรธ กลัว โมโห อิจฉา หรือขี้เกียจ
อย่างไรก็ตามบทความนี้ ไม่ได้มุ่งหวังให้เราต้องขจัดเงื่อนไขทั้งหมดในตัวเรา เพราะทุกคนต่างมีเงื่อนไข เงื่อนไขคือส่วนหนึ่งของตัวเราเสมอ แต่เป้าประสงค์หลักคือการกลับมาลองสำรวจตัวเราเองว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างกับพ่อแม่ เพื่อนหรือคนรัก หรือกระทั่งกับสังคมที่อยู่ เรามีเงื่อนไขอะไรบ้างในตัวของเราเอง แล้วลองพิจารณาว่าเงื่อนไขต่าง ๆ นั้น อันไหนสำคัญและจำเป็น หรือเงื่อนไขไหนที่มันบั่นทอนจิตใจตัวเรา ตึงเกินไป จนเป็นโทษมากกว่าคุณ หรือทำให้เรารู้สึกทุกข์ และไม่มีความสุขในชีวิต
ทั้งนี้ เมื่อเศร้าหรือทุกข์ใจ นอกจากปรึกษาเพื่อหรือคนใกล้ตัวแล้ว การได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาและจิตบำบัดก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเยียวยาจิตใจ และอาจช่วยสำรวจเงื่อนไขในชีวิตของเราด้วยเช่นกัน
บทความนี้อยากฝากผู้อ่านได้คิดอีกแง่ว่า คนเราเป็นผู้ได้รับเงื่อนไขจากคนสำคัญในชีวิตเราตั้งแต่เด็ก แต่เราก็อย่าลืมว่าเราเองก็อาจเป็นผู้วางเงื่อนไขคุณค่ากับผู้อื่น ทั้งเพื่อน คนรัก หรือกับลูกหลานของเราเองด้วยไม่มากก็น้อยเช่นกัน
เราอาจรัก ถูกรัก ให้ค่าและถูกให้ค่า อย่างมีเงื่อนไข แต่หวังว่าบทความนี้จะสะกิดให้เราเห็นกลไกเล็ก ๆ ของเงื่อนไขที่เรามีให้กันอยู่เสมอ เห็นมัน เข้าใจมันอย่างเท่าทันมากขึ้นครับ
รายการอ้างอิง
1. Chandler, Khatidja. 2005. “From Disconnection to Connection: ‘Race’, Gender and the Politics of Therapy.” British Journal of Guidance and Counselling 33(2), 239-56.
2. Stephenson, Margaret. 2012. “Finding Fairbairn-Discovery and Exploration of the Work of Ronald Fairbairn.” Psychodynamic Practice 18(4), 465-70.
3. Watson, Jeanne C. 2011. “The Process of Growth and Transformation: Extending the Process Model.” Person-Centered & Experiential Psychotherapies 10(1), 11-27. https://doi.org/10.1080/14779757.2011.564760
ภาพประกอบ https://www.annelauremaison.com/
บทความวิชาการ
โดย อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย