Favoritism – การเลือกที่รักมักที่ชัง

28 Jun 2021

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

การเลือกที่รักมักที่ชัง หมายถึง การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลบางคนหรือบางกลุ่ม ในทางที่โปรดปรานเหนือบุคคลอื่นหรือกลุ่มอื่นภายใต้บริบทเดียวกัน อันเนื่องมาจากการมีอคติจากการใช้ปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบท เช่น เป้าหมายมีหน้าตาดึงดูดใจ มีเชื้อชาติเดียวกัน หรือตัวบุคคลมีการชื่นชอบเป้าหมายเป็นการส่วนตัว ซึ่งเป็นลักษณะอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่บุคคลนั้นทำ ถือเป็นรูปแบบของพฤติกรรมที่ไม่มีความยุติธรรม

 

ในแง่มุมมองของวิวัฒนาการ พฤติกรรมการเลือกที่รักมักที่ชังอาจเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอด (survivability) เช่น การประจบสอพลอ และเห็นด้วยกับผู้มีอำนาจ ทำให้มีโอกาสอยู่รอดสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกที่รักมักที่ชังภายในกลุ่มมีอิทธิพลอย่างมากและสามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งสมาชิกภายในกลุ่มไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันมาก่อนก็ตาม

 

นักจิตวิทยาพบว่าการเลือกที่รักมักที่ชังไม่เพียงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ง่าย ยังเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงอีกด้วย การเลือกที่รักมักที่ชังภายในกลุ่มสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่สภาพแวดล้อมธรรมชาติซึ่งใช้ลักษณะของกลุ่มที่มีอยู่แล้ว เช่น เพศ เชื้อชาติ ไปจนสภาพแวดล้อมที่จัดกระทำอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ พบถึงผลของปรากฏการณ์นี้ในการวัดหลายแบบ เช่น การให้คะแนน การประเมินคุณลักษณะ ความชื่นชอบ การอนุมานการตัดสินใจ ตลอดจนการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงการให้รางวัล

 

 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกที่รักมักที่ชัง

 

ปัจจัยภายในบุคคล

 

บุคลิกภาพแมคคิเวลเลียน ผู้มีบุคลิกภาพแมคคิเวลเลียนสูงมีแนวโน้มสูงที่จะใช้พฤติกรรมแข่งขันเพื่อผลประโยชน์ของตนและของกลุ่ม เอาเปรียบผู้อื่นหรือกลุ่มอื่น พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรม อีกทั้งไม่สนับสนุนหรือรับคำแนะนำจากผู้ที่ตนมีอคติทางลบด้วย

 

บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง ผู้มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเองสูงมักเห็นแก่ภาพลักษณ์ของกลุ่มตนเป็นหลัก เพราะภาพลักษณ์ของกลุ่มนั้นเกี่ยวโยงต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง จึงมักรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของกลุ่มไว้ โดยเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มตนมากกว่า และมักมีอคติต่อกลุ่มอื่นๆ และรับรู้แรงคุกคามจากกลุ่มอื่นได้รวดเร็ว พร้อมที่จะตอบสนองกลับด้วยความก้าวร้าว

 

– บุคคลที่ได้รับการเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) และภาพลักษณ์แห่งตน (self-image) ทางบวก จากจากกลุ่มที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ บุคคลมีแรงจูงใจที่จะรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางบวกของกลุ่มตนเอง จึงนำไปสู่การเกิดอคติในการโปรดปรานกลุ่มตน

 

ปัจจัยด้านสังคม

 

การเรียนรู้พฤติกรรมจากตัวแบบ กล่าวคือ การได้พบเห็นพฤติกรรมจากสังคมและสื่อต่างๆ แล้วพบว่าผู้กระทำไม่ได้รับโทษ แต่ได้รับผลประโยชน์เป็นสิ่งสอบแทน เช่น การใช้เส้นสายฝากบุคคลเข้าเรียน เข้าทำงาน การเติบโตจากการเป็นที่โปรดปรานของผู้มีอำนาจ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้และมีแนวโน้มยอมรับพฤติกรรมดังกล่าวมากขึ้น

 

 

อ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพแมคคิเวลเลียน บุคลิกภาพหลงตนเอง และการเลือกที่รักมักที่ชัง” โดย นิเซ็ง นิเงาะ ประกาศิต ถาวรศิริ และ พิเชฐพัชร ประทีปะวณิช (2564) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47864

แชร์คอนเท็นต์นี้