Friends with benefits หรือเรียกสั้นๆ ว่า F.W.B. คือ ความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่เพื่อนทำหน้าที่ร่วมหลับนอนกับเพื่อน
ในสังคมยุคปัจจุบันรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกพูดถึงและนำมาโลดแล่นในบทภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง เช่น No string attached และภาพยนตร์ซึ่งมีชื่อเดียวกับรูปแบบความสัมพันธ์นั้นเอง
ความสัมพันธ์ของเพื่อนรูปแบบนี้จึงกระตุ้นให้ศาสตร์จิตวิทยาพยายามศึกษาเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าว รวมถึงผลที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์นี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หากเปรียบเทียบรูปแบบความสัมพันธ์แบบคนรักเป็น 2 ขั้ว ด้านหนึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบ one night stand หรือการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ส่วนอีกสุดขั้วด้านหนึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบโรแมนติก (Romantic Relationship) หรือการมีความสัมพันธ์แบบคู่รักที่คบหาดูใจกันระยะยาว
ความสัมพันธ์แบบ friends with benefits คงอยู่กึ่งกลางของความสัมพันธ์ทั้ง 2 ขั้ว
เนื่องจากคนที่เรามีเพศสัมพันธ์ด้วยนั้นเป็นคนที่เรารู้จักคุ้นเคย มีความใกล้ชิด หรือสนิทกันพอสมควร แต่ F.W.B. ก็ไม่ได้ถึงขั้นพัฒนาเป็นคู่รักที่มีความผูกมัดหรือคิดสร้างอนาคตร่วมกัน
ในสังคมไทยยังไม่ค่อยมีงานวิจัยใดที่ศึกษาความชุกของรูปแบบความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเกินของเพื่อน แต่ในสังคมชาวอเมริกัน Bisson และ Levine ในปี 2009 ได้ทำการศึกษาในนักศึกษามหาวิทยาลัย ผลพบว่า 60% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดรายงานว่า ในช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิตเคยมีความสัมพันธ์แบบ F.W.B. และเกือบ 40% กำลังอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าวอีกด้วย
จึงไม่แปลกที่จะระบุว่ารูปแบบความสัมพันธ์เพื่อนเกินเพื่อนเกิดขึ้นได้ในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในช่วงชีวิตของวัยมหาลัยและหลังจากเรียนจบ
แล้วเหตุใดรูปแบบความสัมพันธ์นี้จึงเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
จากการสำรวจพบว่าความสัมพันธ์แบบ F.W.B. ทำหน้าที่สำคัญคือ เป็นความสัมพันธ์แบบชั่วคราวจนกว่าบุคคลนั้นจะพบความสัมพันธ์ที่ดีกว่า หรือทำหน้าที่เป็นการทดลองดูว่าคนทั้งสองจะเข้ากันได้หรือไม่ก่อนที่จะคิดจริงจัง รวมทั้งยังเป็นการระบายความรู้สึกของตนเองกับคน (เพื่อน) ที่เราไว้ใจได้โดยไม่มีการผูกมัด
หลายคนคงตั้งคำถามว่า
- ผลที่จะตามมาจากความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าวจะเป็นอย่างไร?
- จะมีโอกาสลงเอยในฐานะคู่รัก หรือจะยังสามารถกลับมาเป็นเพื่อนกันได้หรือไม่?
คำตอบคือได้!
จากการศึกษาของ Owen, Fincham และ Manthos ในปี 2013 พบว่า 1 ใน 3 ของนักศึกษาชาวอเมริกันสามารถกลับมาเป็นเพื่อนกับเพื่อนที่เคยมีสถานะเป็น friends with benefits ได้ และ 15% ระบุว่าตนเองมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นจนอาจนำไปสู่การพัฒนาเป็นคู่รักในระยะยาวได้
แต่!
ผลการวิจัยยังสะท้อนในแง่ที่ว่า 30% ของผู้ที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับเพื่อน แม้จะยังคงสถานะเพื่อนได้ แต่มีความห่างเหินและไม่สนิทใจกันเหมือนก่อน อีกทั้ง 20% ยุติความสัมพันธ์กับเพื่อนที่เคยเป็น F.W.B. รวมถึงรับรู้ว่าตนเองถูกเพื่อนหลอกและมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรู้สึกเหงาและซึมเศร้ามากกว่าอีกด้วย
ดังนั้นผลกระทบที่ตามมาจากการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเพื่อน อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนเกิดความพัวพันและซับซ้อนยิ่งขึ้น หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มหวั่นไหวหรือตกหลุมรัก ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ได้รู้สึกทำนองเดียวกัน ย่อมก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบทั้งความรู้สึกผิดหวัง เจ็บปวดหรือหึงหวงตามมาอีกด้วย
การมี Friends with benefits จึงมีทั้งผลดีและผลเสีย
สำหรับในเมืองไทย แม้การศึกษาวิจัยเรื่องทางเพศและความสัมพันธ์ยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำกัดและละเอียดอ่อน แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คนในวัยหนุ่มสาวเริ่มมีรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่ทุกคนจำต้องพิจารณาถึงผลดี และผลเสียให้ถี่ถ้วน
เพราะในช่วงวัยมหาลัยและผู้ใหญ่ตอนต้นที่ทุกคนมีอิสระในการเลือกใช้ชีวิต หรือเลือกรูปแบบความสัมพันธ์ แต่ “ทุกทางเลือกย่อมมีผลตามมาเสมอ”
ดังนั้นการเลือกรูปแบบความสัมพันธ์ที่เพื่อนทำหน้าที่เกินเพื่อน จึงอาจทำให้บุคคลนั้น ‘ได้’ หรืออาจจะ ‘เสีย’ เพื่อนก็เป็นได้
จึงอยากฝากไว้ให้คิดกันนะครับ
บทความโดย
อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย