Gaslighting…ผิดจริงหรือแค่ทริคทางจิตใจ?

23 Mar 2022

คุณบุณยาพร อนะมาน

‘Gaslighting’ อาจเป็นคำศัพท์ที่ฟังดูคุ้นหูสำหรับใครหลาย ๆ คนที่เคยได้รับชมภาพยนต์เรื่อง Gaslight ในปี ค.ศ. 1944 ซึ่งเป็นเรื่องราวของสามีที่ต้องการครอบครองสมบัติของภรรยาโดยการหลอกลวงให้เธอเชื่อว่าเธอมีอาการทางจิตด้วยทริคทางจิตใจที่แยบยล การหลอกลวงด้วยการโกหกโดยทั่วไปอาจไม่ส่งผลกับจิตใจของคนเราได้เท่ากับการหลอกให้สงสัยในความคิดของตนเอง

 

 

ผู้เป็นสามีใช้วิธีการหรี่ไฟในตะเกียงลง และเมื่อภรรยาของเขาถามถึงแสงไฟที่มืดลงนั้นเขากลับตอบเพียงว่าเธอคิดไปเอง การนำข้าวของไปซ่อนตามที่ต่าง ๆ และบอกกล่าวให้ภรรยาของเขาเชื่อว่าเธอเป็นคนที่ทำด้วยตัวเอง สารพัดคำลวงที่ทำให้เธอเข้าใจว่าเธอคือคนผิด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนปกติยกเว้นตัวเธอ

 

หลายต่อหลายครั้งที่ถูกหลอกอย่างแนบเนียน หลายต่อหลายครั้งที่ถูกชี้นำให้สงสัยว่าความคิดของตนนั้นยังปกติอยู่หรือไม่ ผลลัพธ์สุดท้ายคือการที่เธอสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและถูกควบคุมอย่างสมบูรณ์ ตกเป็นเหยื่อของทริคทางจิตใจนั้นอย่างไม่สามารถหลีกหนีได้พ้น

Gaslighting จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจ (psychological manipulation) ในความสัมพันธ์ด้วยการปลูกฝังเมล็ดพันธ์ของความแคลงใจ ความสงสัย และความไม่เชื่อมั่นในตนเองซึ่งพบได้ในทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ไม่เพียงแต่เชิงโรแมนติกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงครอบครัว เพื่อน สังคมการศึกษา และสังคมการทำงานอีกด้วย (Petric, 2018) 

 

 

“คิดมากไปหรือเปล่า?”

“คิดไปเองหรือเปล่า?”

“เพราะคุณทำแบบนั้น ฉันเลยเป็นแบบนี้”

“ที่ทำแบบนี้เพราะเป็นห่วงนะ”

“ไม่เชื่อใจกันเลยใช่ไหม?”

“ทำไมไม่อดทนเลย คนอื่นเขายังทนได้”

 

 

ประโยคเหล่านี้อาจเป็นประโยคธรรมดาที่ได้ยินกันจนชินหู และแม้จะสร้างความรู้สึกขัดแย้งในใจได้บ้างแต่หลายต่อหลายคนมักเลือกที่จะเชื่อว่าตนเป็นฝ่ายผิด กับดักทางจิตวิทยาของการใช้ถ้อยคำเหล่านี้นั้นฟังดูไม่เหมือนคำโกหกหลอกลวง แต่เป็นการปลูกฝังความคิด ความรู้สึกผิด และความไม่เชื่อมั่นในตัวบุคคล…และนั่นคือสิ่งที่อันตรายยิ่งกว่า

 

 

สัญญาณเตือนว่า Gaslighting กำลังเกิดขึ้นกับคุณ

  1. เป็นฝ่ายที่ต้องเอ่ยคำขอโทษตลอดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของคุณ
  2. เชื่อว่าตนเองไม่สามารถทำสิ่งที่ถูกได้ ทำอะไรก็ผิดเสมอ
  3. รู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา หวาดกลัวว่าจะทำผิดหรือไม่ถูกใจใคร
  4. สูญเสียความมั่นใจในตนเอง
  5. สูญเสียความเป็นตัวตน
  6. ตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิดและการตัดสินใจของตนเองตลอดเวลา ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ
  7. รู้สึกโดดเดี่ยวและไร้กำลัง รู้สึกว่าตนไม่เหมือนใคร แตกต่างและแปลกแยก
  8. ผิดหวังในตนเอง และกลัวผู้อื่นจะผิดหวังในตัวคุณ

 

จะเห็นได้ว่าคำพูดที่ดูธรรมดา กลับสร้างผลลัพธ์ทางจิตใจที่รุนแรงและส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นในตนเอง (self-esteem) ได้เป็นอย่างมาก การต้องเผชิญกับ gaslighting นั้นอาจมาถึงโดยที่ไม่ทันได้รู้ตัว แต่เมื่อเราลองคิดทบทวนในสิ่งที่ได้ฟังและสิ่งที่ตนคิดนั้นเราจะพบว่ากับดักทางจิตวิทยาชนิดนี้อยู่รอบตัวเราในทุกความสัมพันธ์ เมล็ดพันธ์แห่งความแคลงใจยังพร้อมจะเติบโตในตัวคุณได้ทุกสถานการณ์

 

แล้วจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับ Gaslighting?

การปกป้องตนเองและระมัดระวังไม่ให้ถูกทำลายความมั่นใจในตนเองด้วยหลุมกับดักทางจิตใจนี้อาจมีได้หลายหนทาง เช่น

  1. เว้นระยะห่าง ถอยห่างจากความรู้สึกสงสัยในตนเองที่ถูกทิ้งเอาไว้ให้ การเดินออกจากสถานการณ์เหล่านั้นหรือให้เวลาตนเองได้หายใจลึกๆเพื่อผ่อนคลายและมีเวลาใช้ความคิด อาจช่วยให้เราสามารถทบทวนได้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับสิ่งใด
  2. เก็บหลักฐาน เพราะ gaslighting มักทำให้คุณต้องสงสัยในตัวคุณเอง การเก็บหลักฐานของเรื่องราวต่าง ๆ ไว้นั้นจะช่วยให้คุณสามารถยืนยันกับตนเองและสถานการณ์ตรงหน้าได้ว่าความคิดของคุณไม่ใช่เพียงแค่ความคิดเห็นของคุณฝ่ายเดียว
  3. ใช้มุมมองที่ 3 มุมมองของคนที่อยู่ภายนอกสถานการณ์อาจช่วยให้คุณมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นในเรื่องราวเหล่านั้น การอยู่ในสถานการณ์ที่มีการบีบคั้นทางอารมณ์ ย่อมทำให้มุมมองต่าง ๆ ของคุณแคบลงและไม่สามารถประมวลผลสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
  4. ถอยห่างจากความสัมพันธ์ แม้จะเป็นหนทางที่ยากในการกระทำได้จริง แต่การเผชิญกับ gaslight ซ้ำ ๆ จนทำให้สูญเสียความเป็นตัวตนไปนั้นย่อมส่งผลเสียที่มากกว่า หากพบสัญญาณของการกระทำเหล่านั้นและพบว่าไม่มีหนทางอื่นใดที่จะแก้ไขได้ การจบความสัมพันธ์นั้นอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการหลีกให้พ้นและจบการทำร้ายทางจิตใจลง

 

ความเชื่อมั่นในตนเองและความเป็นตัวตนนั้นคือสิ่งสำคัญที่ไม่ควรปล่อยให้ถูกทำลายลงไป การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและยืนยันความคิดของตนเองเมื่อพิจารณาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อาจช่วยให้พ้นจากจากทริคทางจิตใจเหล่านี้ได้ เพราะคนทุกคนมีความแตกต่างกันและมีความคิดเป็นของตนเอง การเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อนนั้นจึงไม่ใช่ความผิดใด ๆ

 

อย่าให้คำพูดของใคร ทำลายคุณค่าในตัวของคุณเอง

 

References: 

 

Gordon, S. (2022, January 5). What Is Gaslighting? Verywell Mind. https://www.verywellmind.com/is-someone-gaslighting-you-4147470

 

Morris, S. Y., & Raypole, C. (2021, November 24). How to Recognize Gaslighting and Get Help. Healthline. https://www.healthline.com/health/gaslighting

 

Petric, D. (2018). Gaslighting and the knot theory of mind. https://www.juliedawndennis.co.uk/wp-content/uploads/2020/03/Gaslightingandtheknottheoryofmind.pdf

 


 

บทความวิชาการ โดย

คุณบุณยาพร อนะมาน

นักจิตวิทยาประจำศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


 

แชร์คอนเท็นต์นี้