พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช: The King RAMA-IX, The Great man from Jungian Perspective of Archetypes

20 Oct 2017

ผศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี

 

นับจากวันนี้อีกเพียงไม่กี่วัน จะเป็นวาระสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของคนไทย เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเราต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 

เหตุการณ์ในครั้งนี้ นำมาซึ่งความโศกเศร้าอาดูรอย่างแสนสาหัสให้กับคนไทยทั้งชาติ หากแต่ท่ามกลางความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่นี้ หากเราได้มีโอกาสพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่าพระจริยวัตรหรือบุคลิกลักษณะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ตลอดช่วงระยะเวลาที่พระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น เป็นแบบอย่างแห่งความเป็นมหาบุรุษอย่างแท้จริง สะท้อนถึงความเป็นสุภาพบุรุษหรือมหาบุรุษตามแนวคิดภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำ (Archetypes) ของ Carl Jung จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังจะขออธิบายในบทความนี้

 

กลุ่มนักจิตวิทยาผู้ศึกษาและสืบสานต่อแนวคิดบุคลิกภาพของ Carl Jung ได้อธิบายว่า ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำ (Archetypes) เป็นโครงสร้างทางจิตใจที่มีในทุกคน โดยภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำนี้จะส่งผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล โดยนักจิตวิทยากลุ่ม Jungian พยายามอธิบายภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำของบุคคลที่สมควรยกย่องแห่งการเป็นสุภาพบุรุษไว้ดังนี้

 

กลุ่มนักจิตวิทยาผู้ศึกษาและสืบสานต่อแนวคิดบุคลิกภาพของ Carl Jung เชื่อว่าทุกคนมีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำ (Archetypes) ที่สำคัญ 4 แบบได้แก่

 

  1. ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งกษัตริย์ (King)
  2. ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักรบ (Warrior)
  3. ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักมายากล-นักปราชญ์ (Magician-Philosopher)
  4. ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งผู้เข้าถึงสุนทรียะ (Lover)

 

โดยนักจิตวิทยากลุ่ม Jungian เชื่อว่า หากบุคคลมีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำทั้ง 4 สมบูรณ์และสมดุล บุคคลจะพัฒนาบุคลิกภาพแห่งการเป็นมหาบุรุษ

 

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำกษัตริย์ (King)

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งกษัตริย์ (King) เป็นภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการดูแล อุปถัมภ์ ค้ำชูและเกื้อกูลให้บุคคลในอาณาจักรของตนนั้นดำเนินชีวิตด้วยความผาสุก เมื่อภาพสัญลักษณ์แห่งกษัตริย์ถ่ายทอดสู่บุคคล บุคคลที่มีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งกษัตริย์ (King) ที่สมบูรณ์จะกระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อผู้อื่น เช่น บุคคลจะดูแลคนในครอบครัว คนรอบข้าง ด้วยความรักและความเมตตา โดยมีเป้าหมายให้บุคคลรอบข้างมีความสุข หากบุคคลเป็นหัวหน้าองค์กร บุคคลก็จะดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยการใช้อำนาจผ่านเมตตาธรรม ไม่ใช้อำนาจแห่งตนทำร้ายผู้อื่น ไม่ละเลยที่จะดูผู้คนรอบข้าง

 

หากจะพิจารณาพระจริยวัตรและพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา-ภูมิพลอดุลยตลอดช่วงระยะเวลาการครองราชย์ ๗๐ ปีนั้น สะท้อนให้เห็นภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งกษัตริย์ของพระองค์นั้น สมบูรณ์อย่างแท้จริงด้วยโครงการตามแนวพระราชดำริน้อยใหญ่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการให้พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ได้ดำรงชีวิตอย่างผาสุก รวมถึงการปกครองประเทศไทย ด้วยหลักธรรมในการทรงงานอย่างหลักทศพิธราชธรรม เพื่อประโยชน์สุขของเหล่าอาณาประชาราษฎร ตลอดจนการดูแลพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ด้วยความรักเมตตา ทั้งหมดสะท้อนถึงการที่พระองค์ มีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งกษัตริย์ที่สมบูรณ์

 

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักรบ (Warrior)

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักรบ (Warrior) เป็นภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การมีวินัยในการฝึกฝนความแข็งแกร่งแห่งตนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การยึดมั่นในคุณธรรม การอดทนต่อสิ่งยั่วยุที่เกิดจากสิ่งรอบตัว ไม่รังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า บุคคลที่มีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักรบที่สมบูรณ์จะแสดงออกถึงการฝึกฝนพัฒนาตนเองทั้งร่างกายและจิตใจให้เข็มแข็ง การยืนหยัดในการกระทำแห่งตนตามอุดมการณ์และความถูกต้องเพื่อความยุติธรรม

 

หากพิจารณาพระจริยวัตรและการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสำคัญกับการดูแลพระวรกายรอบด้านทั้งภายนอกและภายใน ตั้งแต่การออกกำลังพระวรกาย ไปถึงทรงฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ผลแห่งการฝึกฝนตนเองให้เข้มแข็งทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลทำให้พระองค์สามารถตั้งอยู่ในความเพียร การมีวิริยะอุตสาหะด้วยพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ที่จะเผยแพร่หลักการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่ย่อท้อ

 

ที่กล่าวมานี้เป็นพียงตัวอย่างที่สะท้อนภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักรบที่สมบูรณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักมายากล – นักปราชญ์ (Magician-Philosopher)

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักมายากล-นักปราชญ์ (Magician-Philosopher) เป็นภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงปัญญาและแสงสว่างแห่งปัญญา-ความรู้ จนเกิดความเข้าใจธรรมชาติและสิ่งรอบตัว เมื่อภาพสัญลักษณ์แห่งนักมายากล-นักปราชญ์ ถ่ายทอดสู่บุคคลอย่างเหมาะสม บุคคลจะแสดงออกถึงลักษณะการใฝ่หาความรู้ การศึกษาสิ่งต่าง ๆ จนแตกฉาน การมีจิตใจที่เปิดกว้างกับองค์ความรู้ที่มีอยู่รอบตัวอย่างไม่จำกัดเสมอ ๆ พร้อมนำปัญญา-ความรู้นั้นมาสร้างสรรค์เพื่อผู้อื่นและไม่ใช้ความรู้ของตนนั้นบิดเบือนผู้อื่นหรือหาประโยชน์เข้าตน

 

ที่ผ่านมาสังคมไทยและสังคมโลกได้เห็นถึงพระอัจริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา-ภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะปราชญ์ของโลก โครงการตามแนวพระราชดำริทุกโครงการ พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยในการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและชาญฉลาดด้วยหลักการทางวิชาการชั้นสูง ตกผลึกองค์ความรู้-ปัญญาแห่งปราชญ์ของพระองค์ จนเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริต่าง ๆ เช่น โครงการพระราชดำริฝนหลวง โครงการพระราชดำริแกล้งดิน และโครงการพระราชดำริไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์จากพืชของไทย เป็นต้น โครงการพระราชดำริทั้งหมดล้วนเป็นไปเพื่อคนไทยเป็นที่ตั้ง ซึ่งพระอัจริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโลกนี้ สะท้อนถึงบุคคลที่มีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งนักมายากล-นักปราชญ์ที่สมบูรณ์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งแห่งผู้เข้าถึงสุนทรียะ (Lover)

 

เป็นภาพสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความสามารถของบุคคลที่เข้าถึงความงามตามธรรมชาติและสุนทรียศาสตร์อย่างสมดุล บุคคลที่มีภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งผู้เข้าถึงสุนทรียะ (Lover) จะเข้าถึงความงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และน้อมนอบต่อธรรมชาติ เนื่องด้วยตนไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นเองได้ บุคคลจะมีความสุขที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และดื่มด่ำความสุขจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้อย่างเหมาะสม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นเลิศทางด้านงานศิลปะในหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านดนตรี ด้านการถ่ายภาพ ด้านจิตรกรรม ด้านวรรณกรรม และหัตถกรรม ทรงได้รับการถวายการยกย่องสดุดีพระเกียรติคุณ ในฐานะ “อัครศิลปิน” จนเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลกในพระปรีชาสามารถ และสะท้อนถึงความละเอียดอ่อนแห่งพระองค์ที่เข้าถึงสุนทรียศาสตร์อย่างสมดุล อันสะท้อนถึงภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำแห่งผู้เข้าถึงสุนทรียะที่สมบูรณ์

 

 

กลุ่มนักจิตวิทยาผู้ศึกษาและสืบสานต่อแนวคิดบุคลิกภาพของ Carl Jung เชื่อว่าหากบุคคลสามารถบูรณาการภาพต้นแบบทางความคิด-ความรู้สึก-การกระทำ (Archetypes) ทั้ง 4 ได้อย่างสมบูรณ์ บุคลิกภาพของบุคคลจะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษ จากที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีคุณลักษณะแห่งมหาบุรุษครบทุกประการตามแนวคิดบุคลิกภาพของ Carl Jung อย่างแท้จริง

 

นับจากวันที่ 26 ตุลาคม 2560 นี้ไป พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพก็คงเสร็จสิ้น หากสิ่งที่ประจักษ์ในใจพสกนิกรชาวไทยคงเป็นภาพจริยวัตรอันงดงาม หลักการทรงงานและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริน้อยใหญ่ เปรียบเสมือนรอยทางแห่งการเป็นมหาบุรุษที่ให้ไว้กับปวงชนชาวไทยได้เรียนรู้และน้อมนำคำสอนมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อความสุขที่ยิ่งยืนต่อไป

 

 

รายการอ้างอิง

 

Tallman, B. (2003). The organization leader as king, warrior, magician and lover: How Jungian archetypes affect the way men lead organizations. Organization Development Journal, 21(3), 19-30.

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ โดย

อาจารย์ ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี และ นางสาววรกัญ รัตนพันธ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้