วิธีการรับมือเมื่อคุณวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพมากเกินพอดี

22 Apr 2019

ผศ. ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

 

ในปัจจุบันนี้ ความก้าวหน้าทางวิทยาการทางการแพทย์ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้เราดูจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพมากขึ้น เราทราบว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้มีสุขภาพดี และทราบด้วยว่าหากละเลยไม่ใส่ใจไม่ดูแลตัวเองจะทำให้เรามีความเสี่ยงอาจต้องประสบปัญหาสุขภาพหรือโรคภัยต่าง ๆ นอกจากนี้ เรายังทราบถึงวิธีต่าง ๆ ที่จะดูแลตรวจสอบสุขภาพร่างกายตนเอง เพื่อป้องกันโรคภัยเหล่านี้

 

วิทยาการและข่าวสารที่ก้าวหน้า ทำให้หลายคนเกิดการรับรู้ว่าตนเองสามารถที่จะดูแลควบคุมสุขภาพของตนเองให้ดี จนบางครั้งเกิดความรู้สึกผิด หากจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ดูแลสุขภาพอย่างที่ควร

 

แม้วิทยาการและข่าวสารในข้างต้น จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดูแลสุขภาพ แต่หลายครั้งอาจส่งผลให้หลายคนรู้สึกวิตกกังวล หมกมุ่นใส่ใจกับสุขภาพของตัวเองมากเกินไป จากความห่วงใยดูแลตัวเองซึ่งเป็นประโยชน์ กลายเป็นการเฝ้าตรวจตราค้นหาความผิดปกติในร่างกายของตนเอง และน่าแปลกนะคะ ว่าหลายครั้งในเรื่องสุขภาพ ยิ่งกลัวยิ่งค้นหา เรากลับยิ่งเจอความผิดปกติ และอาจทำให้หลายท่านเกิดความห่วงใยเกี่ยวกับสุขภาพจนเกินพอดี กลายเป็นความวิตกกังวลได้

 

ความต้องการที่จะดูรักษาสุขภาพของให้ดี มีชีวิตยืนยาวนั้นนับเป็นเรื่องปกติ และเป็นหนึ่งในแรงจูงใจพื้นฐานของมนุษย์เรา ส่วนเมื่อไรที่ความต้องการนี้มีมากเกินกว่าปกตินั้น โดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีเกณฑ์การนิยามอย่างชัดเจน หากแต่อาจสังเกตได้ง่าย ๆ เมื่อความห่วงใยต่อสุขภาพนั้น ส่งผลให้คุณรู้สึกเป็นทุกข์ร้อนใจ เกิดความวิตกกังวล จิตใจจดจ่ออยู่กับเรื่องสุขภาพที่มี หมั่นเฝ้าสำรวจตรวจตราว่ามีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกันตัวเองบ้าง หรือมีการตั้งกฎกติกาอย่างเคร่งครัด ถึงขั้นตอนในการดูแลสุขภาพร่างกาย และเกิดความรู้สึกหวาดหวั่นถึงผลร้ายที่ตามมา เมื่อไม่สามารถทำตามกฏกติกาเหล่านั้นได้ หรือมุ่งทำตามกฏเหล่านั้นจนการใช้ชีวิตประจำวันด้านอื่น ๆ ไม่ราบรื่น เช่น ต้องเสียเงินทองเป็นจำนวนมากหรือทำให้ต้องละเลยงานหรือความรับผิดชอบที่มี เพื่อไปตรวจสุขภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้จะไม่พบความเจ็บป่วยใด ๆ หรือการสูญเสียความสัมพันธ์ทางสังคม เนื่องจากความหวาดกลัวว่าจะไม่เอื้อให้ทำตามกฏกติกาในการดูแลสุขภาพที่มีได้ เช่น ปฎิเสธที่จะพบปะสังสรรค์กับเพื่อนเพราะเกรงกลัวว่าจะต้องรับประทานอาหารผิดเวลาหรือรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์

 

สัญญาณเตือนภัยที่สำคัญที่สุดว่าคุณอาจวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพมากเกินพอดี คือการที่ยังคงห่วงใยกับความผิดปกติทางร่างกาย แม้เมื่อจะได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ว่าสุขภาพร่างกายปกติดี หากแต่ยังคงเฝ้าหมั่นตรวจสอบสุขภาพที่มี หรือพยายามหาคำวินิจฉัยว่าเกิดความผิดปกติกับสุขภาพตนเอง จนดูเผินๆ เสมือนกับว่าบุคคลมีความต้องการที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเจ็บป่วย ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วหวาดกลัวว่าจะเป็นเช่นนั้น

 

เมื่อเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ กลัวหรือห่วงใยอะไร ร่างกายของเราจะทำงานต่างไปจากปกติ ลองสังเกตดูนะคะ บางคนอาจจะหายใจแรงหรือเร็วขึ้น บางคนใจสั่นรัว มือไม้เย็น บางคนรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ วูบวาบ บางคน รู้สึกหายใจติดขัดไม่เต็มปอด เมื่อเราสำรวจตรวจตราสัญญาณจากร่างกายในเวลาที่กำลังรู้สึกวิตกกังวลห่วงใยสุขภาพ ก็เหมือนกับเรากำลังเสียแต้มต่อประเมินตัวเองเวลาที่ร่างกายไม่เข้าที่เข้าทาง ผลการประเมินจึงได้รับอิทธิพลของความวิตกกังวลดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น พลอยทำให้ทวีความรู้สึกว่าเกิดความไม่ชอบมาพากลเข้ากับร่างกายตัวเอง เพิ่มความวิตกกังวลว่าจะต้องประเมินร่างกายมากขึ้น ซึ่งผลการประเมินก็จะนำมาซึ่งความห่วงใย เพราะได้รับอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมา กลายเป็นวงจรของความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพที่แสนจะน่าหนักใจ และยากที่จะหลุดพ้นออกไปได้ และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยอธิบายว่า ยิ่งเราวิตกกังวลเรื่องสุขภาพมากขึ้นเพียงไร ก็ดูจะรับรู้ถึงปัญหาสุขภาพที่มีมากขึ้นเพียงนั้น

 

นอกจากความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นระหว่างที่เรารู้สึกวิตกกังวลนั้น การเฝ้าสำรวจร่างกายของตนเอง ทำให้เราสังเกตเห็นความผิดปกติที่มีเพิ่มขึ้น การทำงานของร่างกายของคนเรานี้น่าสนใจตรงที่ แม้เมื่อร่างกายทำงานตามปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการทำงานนั้นต้องราบรื่นเรียบร้อยตลอดเวลา อาจมีติดติดๆ ขัดๆ บ้างแต่นั่นก็ไม่ได้จำเป็นต้องหมายความว่า เกิดความผิดปกติแต่อย่างไร บางครั้งเราอาจไอจาม ฝุ่นผงเข้าตาทำให้ตากระตุกพร่ามัว คันนู่นคันนี่ ใจเต้นไม่เป็นจังหวะ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ห่วงใยสุขภาพจนถึงขั้นวิตกกังวล ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คงดูเป็นปกติ แต่สำหรับผู้ที่มีความวิตกกังวล การเฝ้าจดจ้องระแวดระวัง การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ปรากฏขึ้นเด่นชัด จนทำให้ทวีความวิตกกังวล ซ้ำร้ายพฤติกรรมระแวดระวังคอยตรวจสอบของเราเอง ยิ่งทำให้ความผิดปกติเหล่านี้ทวีความรุนแรง จากความเปลี่ยนแปลงที่เดิมทีไม่ได้มีปัญหาใด ๆ กลับกลายเป็นความผิดปกติหรือเป็นปัญหาขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ห่วงใยว่าจะเกิดความผิดปกติขึ้นกับผิวหนังของตนเองอาจพยายามลูบคลำตรวจสอบบริเวณที่ห่วงใยจะหลายครั้ง ก่อให้เกิดอาการบวมช้ำ หรือบางท่านใช้ไม้กดลิ้นเพื่อสำรวจว่ามีอะไรผิดปกติในลำคอ อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองหรือถลอกในช่องปากหรือลำคอ พลอยยืนยันและทวีความรุนแรงของความเชื่อถึงความผิดปกติ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยิ่งกลัวยิ่งเจอดังที่กล่าวไป

 

ประเด็นหนึ่งที่อยากเน้นก็คือ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายนี้ เกิดขึ้นจริง ๆ กับหลาย ๆ ท่านนะคะ และไม่ได้เป็นไปเพราะเสแสร้งที่จะทำ หากเป็นไปเพราะมีความวิตกกังวลและห่วงใยสุขภาพร่างกายอย่างแท้จริง แต่เราคงพอได้เห็นแล้วนะคะ ว่าความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่หลายท่านห่วงใยนั้น แท้จริงแล้วก็มีที่มาจากความวิตกกังวลที่มีนั่นเอง ดังตัวอย่างของการพยายามตรวจสอบร่างกายระหว่างที่รู้สึกวิตกกังวล แต่ในขณะนั้น ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปเพราะความวิตกกังวลที่กล่าวถึง หรือจากพฤติกรรมที่เราทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งการเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหรือการทำพฤติกรรมตรวจเช็คป้องกัน ทำให้ความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ถูกรับรู้หรือกลับกลายเป็นความผิดปกติขึ้นมาได้ โดยทั้งสิ้นทั้งปวงนี้เป็นผลมาจากความวิตกกังวล ที่ทำให้ประเด็นสุขภาพที่ห่วงกลายเป็นปัญหาขึ้นจริง ๆ

 

ในการลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายนั้นสามารถทำได้ผ่านการปรึกษาทางจิตวิทยาค่ะ นักจิตวิทยาการปรึกษาสามารถช่วยให้คุณจำแนกความแตกต่างระหว่างความห่วงใยอย่างสมเหตุสมผลและความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายที่นำมาซึ่งผลเสียต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น นอกจากนี้ นักจิตวิทยาการปรึกษายังสามารถใช้กลวิธีการปรึกษาทางจิตวิทยาและจิตบำบัดต่าง ๆ มาใช้ให้คุณค่อย ๆ ลดความหวาดกลัวและความวิตกกังวลที่มี พร้อมทั้งเรียนรู้ที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นตามปกติของร่างกาย โดยไม่ตื่นตระหนก หรือละเลยที่จะได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ในโอกาสที่เหมาะสมค่ะ

 

 

 

ภาพจาก https://www.freepik.com/

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้