แค่เชื่อว่า “ทำได้” คุณก็จะ “ทำได้” (ตอนที่ 4)

16 Mar 2022

คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน และ ผศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

แค่เชื่อว่า “ทำได้” คุณก็จะ “ทำได้”

“Efficacy” ทุนทางจิตวิทยา ตอนที่ 4

 

คำว่า “Hero” เป็นคำโบราณที่มีรากฐานศัพท์มาจากภาษากรีกและถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษในราวช่วงศตวรรษที่ 16 ในอดีตคำว่า Hero นั้นใช้แทนความหมายของนักรบ (Warrior) ผู้กล้าหาญและเสียสละซึ่งย่อมเป็นบุคคลพิเศษและแตกต่างไปจากคนธรรมดาทั่วไป แต่เดิมคำนี้ยังรวมไปถึงนักรบผู้กล้าในเทพนิยายกรีกโบราณที่มีความเป็นมนุษย์ครึ่งเทพ (Semidivine being) ที่สามารถติดต่อสื่อสารและมีชีวิตได้ทั้งในโลกของมนุษย์และเหนือมนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน ต่อมาคำเดียวกันนี้ได้กลายเป็นคำที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นเมื่อถูกนำมาใช้เรียก “ยอดมนุษย์” หรือตัวละครเอกในการ์ตูนของมาร์เวลคอมิกส์ซึ่งเป็นค่ายการ์ตูนยอดนิยมของสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1939 ทำให้ Hero หรือยอดมนุษย์ต่าง ๆ มีชื่อเสียงก้องโลกกลายเป็น Super Hero ในเวลาต่อมา การ์ตูนแทบทุกเรื่องเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักอ่านทุกเพศทุกวัยที่ได้เสพอรรถรสความบันเทิงของการ์ตูนในยุคแรก ๆ พร้อมกับการเรียนรู้ด้านคุณธรรม ความดี ความกล้าหาญที่สอดแทรกมาในเนื้อเรื่องอย่างแยบยล จนคำว่า HERO กลายเป็นคำติดปากที่ทุกคนคุ้นเคยด้วยพลังบวกจากจินตนาการที่เพียงแค่ได้ยิน หรือสัมผัสของหัวใจที่พองโตขึ้นทันทีหากได้เป็น HERO ในใจของใครคนใดคนหนึ่ง จนถึงปัจจุบันในสถานการณ์ของโรคระบาด HERO ได้ถูกใช้เป็นคำยกย่องต่อบุคลากรในแวดวงการรักษาพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง Ruth Marcus ผู้หญิงเก่งผู้เป็นทั้งนักวิจารณ์และนักข่าวทางการเมืองชาวอเมริกันและยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง The Washington Post เคยกล่าวสรรเสริญบุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และพยาบาลรวมถึงหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดที่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งต่อตัวเองและครอบครัวว่าทุกคนคือ HERO ผู้เสียสละ อุทิศตนเองอย่างใหญ่หลวงเพื่อภารกิจการให้ความช่วยเหลือทุกคนให้ได้มีชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัย (Marcus, 2020)

 

องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่าสถานการณ์การระบาดใหญ่ของ Covid-19 เป็นวิกฤตที่โลกของเราไม่เคยเผชิญมาก่อน (WHO, 2020) และส่งผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชน ทั้งต่อวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน สุขภาพจิต ความเครียดตลอดจนความเป็นอยู่ของผู้คน (Holmes et al., 2020, Rajkumar, 2020) จากผลการวิจัยพบว่า ประชากรมากถึงร้อยละ 30 อาจได้รับผลกระทบจากความเครียด ความซึมเศร้า และความวิตกกังวล หลังจากการกักตัว (Odriozola- González et al., 2020) ในช่วงเวลาแห่งความกลัวและความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แม้เราจะหันหา HERO ผู้กล้าที่จะมาช่วยเหลือเราไม่พบเหมือนในการ์ตูนได้ แต่เราทุกคนสามารถสร้าง HERO ขึ้นได้ในใจของเราเองเพราะคนเรามักต้องการทรัพยากรทางจิตใจเพื่อมาช่วยลดความเครียด และทุนทางจิตวิทยา (PsyCap) คือ HERO ที่สามารถช่วยให้ผู้คนรักษาไว้ซึ่งสุขภาพจิตที่มีคุณภาพได้สำเร็จโดยการช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีและลดระดับความวิตกกังวลและอาการภาวะซึมเศร้าที่รุกเร้าเข้ามาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ท้าทายที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บุคคลที่มีทรัพยากรทางจิตใจที่มากกว่าจะได้รับผลกระทบทางลบน้อยกว่าจากสถานการณ์ชีวิตที่ตึงเครียดมากมายที่แวดล้อมอยู่รอบตัว

 

 

บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วในชุดของบทความสี่ตอนจบเกี่ยวกับต้นทุนทางจิตวิทยาของคนเราที่นำเอาพยัญชนะหลักในแต่ละองค์ประกอบของตัวแปรทางจิตวิทยาทั้ง 4 ด้านร่วมกันสร้างเป็นตัวแปรใหม่อันทรงพลังที่เรียกว่า ทุนทางจิตวิทยา หรือ HERO หากท่านผู้อ่านได้ติดตามมาตั้งแต่ต้นและทำความเข้าใจกับตัวแปรทางจิตวิทยาทั้ง 3 ด้านที่ผ่านมาแล้ว ได้แก่

 

ความหวัง (Hope)

ความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience) และ

การมองโลกในแง่ดี (Optimism)

 

ซึ่งทั้งหมดล้วนเปี่ยมไปด้วยพลังทางบวกในการช่วยป้องกันและยกระดับของอารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติของบุคคลต่อสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการทำงานหรือในด้านของสุขภาพ และในตอนสุดท้ายนี้ ขอกล่าวถึงองค์ประกอบด้านสุดท้ายคือการรับรู้ความสามารถของตนเอง หรือ Self Efficacy โดยนำพยัญชนะตัวอักษร E ในคำว่า Efficacy มาประกอบจนเป็นคำว่า HERO ที่สมบูรณ์และเป็นที่รู้จักกันดี

 

 

ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเองนั้น พัฒนามาจาก ทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Learning Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเทคนิคที่นำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเรา ทฤษฎีนี้พัฒนาโดยนักจิตวิทยาชาวแคนาดาคือ Albert Bandura โดย Bandura ได้ศึกษาความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง (Self Efficacy) ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือการมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งความเชื่อนี้มีอิทธิพลช่วยให้บุคคลเกิดความมั่นใจในตนเอง สามารถปฏิบัติตนหรือมีพฤติกรรมเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการได้ หลังจากบทความของ Bandura เรื่อง Self-Efficacy: Toward a Unifying Theory of Behavioral Change ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Psychological Review ในปี 1977 Self Efficacy ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ถูกนำไปค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องมากที่สุด ที่ช่วยพัฒนามุมมองและความรู้ความเข้าใจในคุณประโยชน์ของตัวแปรให้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น เช่น Stajkovic และคณะ (1998) พบว่าการรับรู้ความสามารถของตนเองมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและเป็นไปในทางบวกกับผลการปฏิบัติงาน และพบว่าความพึงพอใจในงานกับผลการปฏิบัติงานนั้นมีความสัมพันธ์ต่อกัน จึงเป็นไปได้มากว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองกับความพึงพอใจในงานนั้นย่อมมีความเกี่ยวข้องกัน ต่อมา  Özkalp (2009) เคยกล่าวไว้ว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้น ไม่ใช่ความสามารถของแต่ละบุคคลที่มี แต่เป็น “ความเชื่อ” (Belief) ของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับความสามารถที่ตนมีอยู่ บุคคลที่เชื่อว่าตนเองมีความสามารถก็จะสามารถพัฒนาตนเองให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างประสบความสำเร็จได้ Caprara และคณะ (2003) ให้คำนิยามไว้ว่า การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นเป็นพลังในการไปสู่เป้าหมายของงานที่หลากหลาย และการประสบความสำเร็จในบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย

 

เมื่อคนเรามีความเชื่อว่าตนเองนั้นมีความสามารถ บุคคลนั้นจะบริหารจัดการกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ทักษะที่ตนมีอยู่ ในการจัดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นจึงไม่ได้หมายถึงเพียงสิ่งที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะทำ แต่หมายถึงสิ่งที่บุคคลนั้นมีความเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ ซึ่งความเชื่อมั่นนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้นักจิตวิทยาเข้าใจ และทำนายว่าบุคคลจะทำหรือไม่ทำพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างในบริบทของสุขภาพ เช่น หากบุคคลเชื่อว่าตนเองไม่มีความสามารถ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ความเชื่อนี้ส่งผลให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าการควบคุมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายหรือการเลิกสูบบุหรี่เป็นเรื่องยากที่เกินไป ทำไม่ได้แน่ ๆ และส่งผลให้ไม่ลงมือทำพฤติกรรม ๆ

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลสามารถพัฒนาความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถของตนเองนั้น มีอยู่ 4 ปัจจัย ดังต่อไปนี้  (Bandura ,1994)

 

 

การเรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จของตนเอง (Mastery experiences)

 

เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเสริมสร้างและพัฒนาความรู้สึกเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองโดยผ่านทางการรับรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จของตนเองซึ่งความสำเร็จต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้น จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งในความสามารถส่วนตัวของแต่ละบุคคล ในทางกลับกันความล้มเหลวจะคอยบั่นทอนความเชื่อมั่นนั้นให้พังทลายลงได้ โดยเฉพาะในเวลาที่ความล้มเหลวเกิดขึ้นก่อนที่ความเชื่อมั่นของแต่ละคนจะก่อกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างที่มั่นคงแข็งแรง

 

การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้อื่นโดยการพบเห็น การรับฟังหรือรับรู้มา (Vicarious experiences)

 

เป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาคุณลักษณะทางจิตวิทยานี้ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยผ่านการรับรู้จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสหรือผ่านตามาจากคนอื่นหรือรียกว่า “ตัวแบบ” (Modelling)  ซึ่งในช่วงหลายปีนี้ มักเกิดขึ้นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพราะเป็นช่องทางที่ผู้เรียนรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีการผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจ การได้มองเห็นผู้อื่นที่ดูคล้ายกับตนเองทำพฤติกรรมบางอย่างและประสบความสำเร็จทำให้ผู้เฝ้ามองรู้สึกได้ว่าตนเองน่าจะมีความสามารถในการลงมือทำกิจกรรมนั้น ๆ ให้สัมฤทธิ์ผลได้เช่นเดียวกัน การรับรู้ถึงความสามารถของตนเองจากการสังเกตตัวแบบนั้นจึงขึ้นอยู่กับการรับรู้ถึงความใกล้เคียงของตนเองกับตัวแบบนั้น ๆ ด้วย ยิ่งถ้าหากมีความใกล้เคียงกันมาก ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามมากขี้นและมีการเลียนแบบจนประสบความความสำเร็จและถึงแม้อาจจะเกิดความล้มเหลวบ้างแต่ก็ไม่ล้มเลิกพฤติกรรมง่าย ๆ ถ้าคนเรามองเห็นตัวแบบที่มีความแตกต่างไปจากตนเองมาก ตัวแบบที่แตกต่างนี้ก็จะไม่ค่อยส่งผลต่อการพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเอง

 

การถูกชักนำหรือจูงใจจากสิ่งต่าง ๆ ในสังคม (Social persuasion)

 

การจูงใจทางสังคมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คนเรานั้นมีความเชื่อว่าตนเองมีคุณสมบัติบางอย่างที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ บุคคลที่ได้รับคำชมเชย คำชื่นชมในความสำเร็จ หรือ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีเยี่ยม บุคคลมักมีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนความพยายามของตนเองได้มากขึ้นและรักษาระดับของรู้สึกนั้นไว้ได้ดีกว่าบุคลลที่จะเริ่มต้นทำงานด้วยความไม่แน่ใจในความสามารถของตัวเอง ผู้ที่ขาดความมั่นใจในตนเองมักจะจมอยู่กับความบกพร่องของตนเมื่อต้องจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นการได้รับการสนับสนุนหรือคำชื่นชมทำให้บุคคลได้รับรู้ถึงความสามารถของตนเอง ส่งผลให้บุคคลเกิดความพยายามที่จะก้าวไปสู่การประสบความสำเร็จ การได้รับคำชมหรือการแนะนำจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านทักษะ กระตุ้นความมานะพยายามเพื่อฝึกฝนจนเกิดความชำนาญและรู้สึกได้ถึงความสามารถของตนเองในแต่ละบุคคลด้วย

 

สภาวะที่เกิดขึ้นภายในร่างกายและอารมณ์ของตนเอง (Physiological and emotional states)

 

สภาวะทางร่างกายและอารมณ์ในทางลบส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับความสามารถของตนเองได้ กล่าวคือ บุคคลที่มีความเหนื่อยล้า มีความเครียด และอารมณ์ด้านลบ เช่น สับสนหรือวิตกกังกล มักจะขาดความสามารถในการบริหารจัดการงานต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้ และเมื่อทำงานนั้นแล้วก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ยิ่งจะทำให้การรับรู้ความสามารถของตนเองในตัวบุคคลนั้นยิ่งลดต่ำลง ทำให้ขาดความเชื่อมั่น คิดว่าตนเองมีความสามารถไม่เพียงพอ เกิดความลังเลใจจนทำให้การตัดสินใจขาดประสิทธิภาพ หากบุคคลมีการจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสมรวมทั้งการปรับอารมณ์เชิงลบให้เป็นบวก จะช่วยให้บุคคลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและประสบความสำเร็จในการทำงานนั้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้บุคคลเกิดการรับรู้ความสามารถของตนเองได้

 

 

 

นอกจากนั้นแล้ว การรับรู้ความสามารถของตนเองมีบทบาทสำคัญอย่างมากในงานด้านจิตวิทยาสุขภาพ (Health psychology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและความใส่ใจต่อโภชนาการของคนเรารวมถึงอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ด้วย ปัจจุบันผู้ป่วยมักป่วยและเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases) เช่น มะเร็ง เบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตและทำพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า งานวิจัยจำนวนมากพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จคือการรับรู้ความสามารถของตนเอง ดังนั้นการส่งเสริมให้บุคคลที่มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองในการทำพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การเลิกพฤติกรรมสูบบุหรี่ การเลิกพฤติกรรมดื่มสุรา การออกกำลังกาย การควบคุมหรือลดน้ำหนักของตัวเอง การวางแผนการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จะส่งผลให้บุคคลสุขภาพดีห่างไกลจากโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อได้

 

 

ในย่อหน้าสุดท้ายของบทความเรื่อง การมองโลกในแง่ดี ที่ได้เผยแพร่ไปแล้วนั้น ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายเอาไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมองโลกในแง่ดีกับการรับรู้ความสามารถของตนเองว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร กล่าวคือในปี 2011 มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มพยาบาลในประเทศไต้หวันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะซึมเศร้า การรับรู้ความสามารถของตนเอง และการมองโลกในแง่ดี (Chang et al., 2011) ผลการวิจัยพบว่าการมองโลกในแง่ดีและการรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นสามารถช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้อย่างมีนัยสำคัญ ในบริบทของการทำงาน มีงานวิจัยที่ศึกษาถึงการรับรู้ความสามารถของตนเองและการมองโลกในแง่ดีในฐานะตัวแปรทำนายความผูกพันต่อองค์กร (Organizational commitment) ของพนักงานธนาคาร (Akhter et al., 2012) พบว่าการรับรู้ความสามารถในตนเองและการมองโลกในแง่ดีมีความสัมพันธ์กันทางบวก นั่นคือเมื่อพนักงานมีการรับรู้ความสามารถของตนเองที่เพิ่มมากขึ้น การมองโลกในแง่ดีจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยหรืออีกนัยหนึ่งคือเมื่อพนักงานมองโลกในแง่ดีมากขึ้นย่อมรับรู้ถึงความสามารถในตนเองที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น งานวิจัยศึกษาการรับรู้ความสามารถของตนเองในกลุ่มครู (Teacher self-efficacy ) และการมองโลกในแง่ดีในเชิงวิชาการเฉพาะบุคคล (Individual academic optimism) ในฐานะตัวแปรทำนายของการเรียนรู้อย่างมืออาชีพของครู (Teacher professional learning) กลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 คนในจังหวัดคาราบัก (Karabuk) ประเทศตุรกี (Kılınç et al., 2021) ผลการศึกษานี้พบว่าตัวแปรทุกตัวมีความสัมพันธ์ต่อกันในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ และการรับรู้ความสามารถของครูสามารถทำนายการมองโลกในแง่ดีเชิงวิชาการและการเรียนรู้อย่างมืออาชีพได้ในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน ผลการศึกษาช่วยสนับสนุนโมเดลเชิงโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่นำมาศึกษาเพื่อแสวงหาแนวทางที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอาชีพครูต่อไป

 

 

ในสถานการณ์ของโรคระบาด COVID-19 ที่คนทั้งโลกกำลังรับมืออยู่ มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาบทบาทของการรับรู้ความสามารถของตนเองในการรับมือวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ดังกล่าว งานวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความสามารถของตนเอง ความวิตกกังวล (Anxiety) และการนอนที่ผิดปกติ (Sleep disorder) ของพยาบาลในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 (Simonetti et al., 2021) ศึกษากับกลุ่มพยาบาล 1,005 คนจากหลายโรงพยาบาลในประเทศอิตาลี พบว่าพยาบาลมีปัญหาในการนอนหลับสูงมากถึงร้อยละ 71.40  มีความวิตกกังวลในระดับปานกลางร้อยละ 33.23 และมีความเชื่อในความสามารถของตนเองอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 50.65 ผลการวิจัยพบสหสัมพันธ์ในทางบวกระหว่างความวิตกกังวลกับปัญหาคุณภาพการนอนหลับ และสหสัมพันธ์ในทางลบระหว่างการรับรู้ความเชื่อมั่นของตนเองกับความวิตกกังวลและความผิดปรกติของการนอนหลับด้วย ส่วนในประเทศจีนมีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากบุคลากรผู้ให้บริการสาธารณสุขในชุมชน (Community mental health care workers) ในช่วงเดือนมีนาคมปี 2020 เพื่อศึกษาถึงความเครียดในการทำงาน (Occupational stress) สุขภาพจิต (Mental health) และการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Sun et al., 2021) ผลการศึกษาพบว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนที่เป็นกลุ่มเฝ้าระวังในช่วงกักตัว จะมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลที่สูงกว่าบุคลากรโดยทั่วไป และการได้รับการฝึกอบรมทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอารมณ์ทางบวกและการรับรู้ความสามารถของตนเองจะช่วยทำให้บุคคลมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากยิ่งขึ้น ผลกระทบที่เกิดจากความเครียดในงานที่สะสมเพิ่มมากขึ้นนั้นสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดที่ช่วยสนับสนุนการกำหนดหน้าที่ในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ได้อย่างสมเหตุสมผลและช่วยป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตของพนักงานได้

 

 

บทความเกี่ยวกับ HERO ที่ผ่านมาทั้ง 3 ตอนรวมทั้งบทความในตอนนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า องค์ประกอบทั้ง 4 ด้านของทุนทางจิตวิทยา ได้แก่ ความสามารถในการฟื้นพลัง (Resilience) ความหวัง (Hope) การมองโลกในแง่ดี (Optimism) และ การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) แต่ละองค์ประกอบล้วนมีความสำคัญ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและยังเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลช่วยส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกอื่น ๆ ทั้งในบริบทของการทำงานหรือการดูแลสุขภาพ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า คุณลักษณะทางจิตวิทยาทั้ง 4 ประการนี้ เมื่อนำมารวมกันเป็นทุนทางจิตวิทยาจะเป็นตัวแปรที่มีโครงสร้างในระดับที่สูงขึ้น (Higher order construct) มีความแม่นยำในการทำนายพฤติกรรมการทำงานหรือความพึงพอใจในการทำงานมากกว่าการวิเคราะห์โดยแยกองค์ประกอบทุนทางจิตวิทยาเป็นด้านย่อย ๆ (Avey et al. 2011)

 

อย่างไรก็ตาม ารดำรงรักษาไว้ซึ่งคุณลักษณะที่ดีทั้ง 4 ด้าน ทำให้เรามีต้นทุนจิตวิทยาที่ช่วยเราเตรียมความพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคหรือความทุกข์ร้อนใจที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละวัน การหมั่นพัฒนาและเสริมสร้างทุนทางจิตวิทยาในตนเองให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้มากที่สุดย่อมจะช่วยให้ชีวิตที่ถูกกระทบจากสถานการณ์แวดล้อมที่หลากหลายและไม่คาดฝันหรือเกิดขึ้นได้ในทุกระดับของความรุนแรง จะยังคงประคองชีวิตและจิตใจของตนเองให้ก้าวเดินต่อไปได้ แม้อาจจะซวนเซบ้างในช่วงเวลาหนึ่ง คงไม่นานจะกลับมาหยัดยืนและเป็น HERO ให้กับสมาชิกอันเป็นที่รักในครอบครัว ลูกน้องในสถานที่ทำงาน และหลายคนที่ยังอ่อนแอและอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ต่อไป

 

 


 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Akhter, S., Ghayas, S., & Adil, A. (2012). Self-efficacy and optimism as predictors of organizational commitment among bank employees. International Journal of Research Studies in Psychology, 2(2).

 

Avey, J.B., Reichard, R.J., Luthans, F., Mhatre, K.H. (2011) Meta-analysis of the impact of positive psychological capital on employee attitudes, behaviors, and performance. Hum Resour Dev Q 22(2):127–152

 

Bandura, A. (1994). Self-efficacy. In V. S. Ramachaudran (Ed.), Encyclopedia of human behavior (Vol. 4, pp. 71–81). New York: Academic Press. (Reprinted in Encyclopedia of mental health, by H. Friedman, Ed., 1998, San Diego: Academic Press.)

 

Caprara, G. V., & Cervone, D. (2003). A conception of personality for a psychology of human strengths: Personality as an agentic, self-regulating system. In L. G. Aspinwall & U. M. Staudinger (Eds.), A psychology of human strengths: Fundamental questions and future directions for a positive psychology (pp. 61–74). American Psychological Association.

 

Chang, Y., Wang, P. C., Li, H. H., & Liu, Y. C. (2011). Relations among depression, self-efficacy and optimism in a sample of nurses in Taiwan. Journal of Nursing Management, 19(6), 769–776.

 

Holmes EA, O’Connor RC, Perry VH, et al. (2020) Multidisciplinary research priorities for the COVID-19 pandemic: A call for action for men- tal health science. The Lancet Psychiatry 7(6): 547–560.

 

Kılınç, A. Ç., Polatcan, M., Atmaca, T., & Koşar, M. (2021). Teacher Self-Efficacy and Individual Academic Optimism as Predictors of Teacher Professional Learning: A Structural Equation Modeling. Egitim ve Bilim, 46(205), 373–394.

 

Odriozola-González P, Planchuelo-Gómez Á, Irurtia MJ, et al. (2020) Psychological symptoms of the outbreak of the COVID-19 confine- ment in Spain. Journal of Health Psychology. Epub ahead of print 30 October 2020.

 

Özkalp E. A New Dimension in organizational behavior: A positive (positive) approach and organizational behavior issues. Proceedings of 17th National Management and Organization Congress. 2009;491-498. Turkish.

 

Marcus, R. (2020, March 27). Opinion: These are the heroes of the coronavirus pandemic. The Washington Post. https://www.washingtonpost.com/opinions/2020/03/27/nurses-doctors-are-heroes-this-moment/

 

Rajkumar RP (2020) COVID-19 and mental health: A review of the existing literature. Asian Journal of Psychiatry 52: 102066.

 

Simonetti, V., Durante, A., Ambrosca, R., Arcadi, P., Graziano, G., Pucciarelli, G., Simeone, S., Vellone, E., Alvaro, R., & Cicolini, G. (2021). Anxiety, sleep disorders and self-efficacy among nurses during COVID-19 pandemic: A large cross-sectional study. Journal of Clinical Nursing, 30(9–10), 1360–1371.

 

Stajkovic, A. D., & Luthans, F. (1998). Self-Efficacy and Work-Related Performance: A Meta-Analysis. Psychological Bulletin, 124(2), 240–261.

 

Sun, Y., Song, H., Liu, H., Mao, F., Sun, X., & Cao, F. (2021). Occupational stress, mental health, and self-efficacy among community mental health workers: A cross-sectional study during COVID-19 pandemic. International Journal of Social Psychiatry, 67(6), 737–746.

 

World Health Organization (2020) Coronavirus disease 2019 (COVID-19) – Situation report 91.

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณพัลพงศ์ สุวรรณวาทิน

นิสิตดุษฎีบัณฑิต แขนงการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เรวดี วัฒฑกโกศล

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้