Social comparison – การเปรียบเทียบทางสังคม

19 Jan 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

การเปรียบเทียบทางสังคม หมายถึง การที่บุคคลเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่นเพราะต้องการข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง สภาพแวดล้อม เพื่อประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพของตนเอง และเป็นการตั้งเป้าหมายส่วนตัว

 

โดย Festinger (1954) ได้สรุปแนวคิดการเปรียบเทียบทางสังคมไว้ว่า เมื่อบุคคลเผชิญสถานการณ์ที่กำกวม สับสน บุคคลจะเกิดปฏิกิริยาทางจิตอันได้แก่ เกิดความรู้สึกทางลบ ความไม่แน่ใจ ความต้องการข้อมูลข่าวสาร บุคคลจึงพยายามเข้าร่วมและเปรียบเทียบทางสังคมกับบุคคลอื่น ซึ่งนำไปสู่กระบวนการคิด กระบวนการรับรู้ที่ชัดเจน

 

การเลือกบุคคลที่จะเปรียบเทียบด้วยนั้น บุคคลมักจะเลือกเปรียบเทียบกับบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะคนที่มีทัศนะและความสามารถที่ใกล้เคียงกัน บุคคลจะไม่ชอบสถานการณ์ที่บุคคลอื่นๆ มีทัศนะและความสามารถแตกต่างกันกับตน หรือก็คือ บุคคลจะถูกดึงดูดไปยังกลุ่มหรือบุคคลที่มีทัศนะเหมือนกับตน และมีแนวโน้มที่จะหลบออกจากกลุ่มที่มีทัศนะและความสามารถต่างกัน

 

 

Forsyth (2006) ได้ระบุประเภทของการเปรียบเทียบทางสังคมออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

 

1. Misery loves company – คนที่มีความทุกข์ต้องได้รับการรับรู้หรือปลอบโยนจากบุคคลอื่น

บุคคลที่ไม่มีความสุขอาจจะเข้าร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อขอหรือหาข้อมูลโดยการเปรียบเทียบมุมมอง ของตนเองกับมุมมองของผู้อื่นที่ไม่มีความสุขเหมือนกับตนเอง เพื่อกำหนดมุมมองของตนเองที่ถูกต้อง เที่ยงตรง หรือเหมาะสม

 

2. Misery loves miserable company – คนที่มีความทุกข์จะหาเพื่อนหรือกลุ่มที่มีความทุกข์เหมือนกันตนเอง

บุคคลจะให้ความสนใจในข้อมูลที่ช่วยให้เกิดความกระจ่างและร่วมประสบการณ์กับบุคคลที่มีประสบการณ์เหมือนกับตนเอง หรือการที่บุคคลนั้นมีปัญหาเหมือนกับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างอันตราย ทำให้บุคคลผู้นั้นพูดคุยอย่าเงปิดเผยกับผู้ร่วมประสบการณ์เดียวกันมากกว่าบุคคลอื่นที่ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกัน เพราะดีกว่าการที่ต้องอยู่คนเดียวโดยไม่ทราบข้อมูล

 

3. Embarrassed misery avoids company – คนที่มีความทุกข์จากความละอายจะหลีกเลี่ยงการพบเพื่อนหรือกลุ่มตน

บุคคลที่มีความอายจะหลีกเลี่ยงการพบเพื่อนหรือไม่อยากเข้าร่วมกลุ่ม เพราะกลัวความอาย มากกว่ากลัวอันตราย คนที่อายจะสับสน กระวนกระวายใจ กลัว ไม่มั่นใจ ไม่กล้าที่จะไปพูดคุยกับบุคคลอื่น ทำให้ไม่อยากอยู่กับผู้อื่น จึงเลือกการแยกตัวออกจากกลุ่ม โดยอาจเลือกทำกิจกรรมที่สามารถทำได้คนเดียว

 

4. Misery loves more miserable company sometimes – คนที่มีความทุกข์ ในบางครั้งอาจจะคบกับเพื่อนหรือกลุ่มคนที่มีความทุกข์มากกว่าตนเอง

การเปรียบเทียบทางสังคมในด้านนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

  • Downward social comparison การเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่นที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่า
  • Upward social comparison การเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่นที่ประสบความสำเร็จมากกว่า

บุคคลจะเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง หรือเรื่องที่ตนเองให้ความสำคัญ ในหลายๆ กรณีบุคคลชอบที่จะเปรียบเทียบกับคนที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าตนเอง เพราะทำให้บุคคลที่เปรียบเทียบนั้นรู้สึกดีกว่าบุคคลอื่นที่ตนไปเปรียบเทียบด้วย ในทางตรงกันข้าม การเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่นที่ประสบความสำเร็จมากกว่าตนเอง จะทำให้รู้สึกล้มเหลวหรือด้อยกว่าบุคคลอื่น แต่ในบางครั้งการเปรียบเทียบกับคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและความหวัง เมื่อบุคคลนั้นอยู่ในกลุ่มเดียวกับตนเอง เป็นพวกเดียวกับตนเอง

 

 


 

ข้อมูลจาก

 

“อิทธิพลของการเปรียบเทียบทางสังคมและรายได้ต่อความสุขเชิงอัตวิสัย” โดย พัชรี ศุภดิษฐ์ (2551) –  http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21590

 

แชร์คอนเท็นต์นี้