ปรับทุกข์กับใครดี

13 Dec 2021

ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

 

ในการดำเนินชีวิตของเรา หากเป็นการดำเนินชีวิตที่ราบรื่น โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดก็คงดี แต่อย่างที่ทราบกันว่า การดำเนินชีวิตของเรานั้น มีทั้งสุขและทุกข์ปนเปกันไป จังหวะที่ชีวิตมีความสุข สมหวังดังปรารถนา ก็คงเป็นจังหวะที่หลาย ๆ คนรู้สึกเต็มอิ่ม สมบูรณ์ แต่จังหวะที่ชีวิตต้องเผชิญกับความทุกข์ เราก็ต้องก้าวผ่านชีวิตช่วงนั้นไปให้ได้ ซึ่งการจะก้าวผ่านความทุกข์ที่เผชิญไป หลาย ๆ ครั้งเราก็สามารถก้าวผ่านไปได้ด้วยความเข้มแข็ง และพลังที่เรามีภายในตน แต่ทว่า ในบางครั้งที่เราต้องเผชิญกับความทุกข์ที่ถาโถม เราอาจจะต้องมีใครสักคนที่ช่วยเราในภาวะเช่นนั้น

 

ก่อนอื่นอยากจะลองชวนให้ทุกท่านนึกถึงว่า หากเราจะต้องแบ่งปันเรื่องราวความทุกข์ของเรากับใครสักคน เราจะมีความรู้สึกอย่างไร บางท่านอาจจะตอบว่าสบายมาก ฉันพร้อมอยู่แล้วที่จะพูดเรื่องราวต่าง ๆ ของฉันออกมา แต่บางท่านอาจจะตอบว่า ไม่แน่ใจเลยว่าจะพูดดีหรือเปล่า หรือบางท่านอาจจะตอบว่า ไม่มีทาง ฉันไม่อยากจะบอกใครทั้งสิ้นว่าฉันทุกข์ขนาดไหน

 

หากคำตอบของท่านเป็นคำตอบที่ 2 หรือ 3 ดิฉันอยากชวนคุณผู้ฟังมองในมุมใหม่ว่า การแบ่งปันความรู้สึกในยามทุกข์ของเรากับใครสักคน ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย หรือจะทำให้ตัวเราดูอ่อนแอค่ะ ทว่าการแบ่งปันความรู้สึกของเราออกไปนั้น กลับเป็นความเข้มแข็งอีกประการหนึ่งเสียอีก เป็นความเข้มแข็งที่จะยอมรับในเรื่องที่เรากำลังเผชิญอย่างเต็มที่ จนพร้อมที่จะแบ่งปันมันออกมากับใครสักคน ซึ่งก็แปลว่าเราพร้อมเต็มที่ที่จะเผชิญกับความทุกข์นั้น และจะฝ่าฟันมันไปได้โดยมีเพื่อนผู้ที่เราแบ่งปันด้วยอยู่ข้าง ๆ ค่ะ

 

การแสวงหาความช่วยเหลือจากแหล่งสนับสนุนทางสังคม เป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เป็นแนวทางในการช่วยหาคำตอบในปัญหา หรือความทุกข์ที่กำลังเผชิญอยู่ หลายท่านคงบอกว่า การแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์นั้น ดูพูดง่ายแต่ทำจริงยาก ซึ่งนักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่านก็ไม่ปฏิเสธประเด็นนี้ และได้พยายามทำการศึกษาเพื่อเข้าใจความยากที่บุคคลต้องเผชิญ เมื่อจะแสวงหาความช่วยเหลือ โดยมีข้อค้นพบที่น่าสนใจมากมาย เช่น การพบว่าผู้หญิงมักจะมีมุมมองต่อการแสวงหาความช่วยเหลือมากกว่าผู้ชาย ซึ่งผลการค้นพบดังกล่าวก็ค่อนข้างสอดคล้องกับสถานการณ์ในชีวิตจริง เช่น เวลาที่ขับรถหลงทาง ผู้ชายมักจะไม่ชอบถามทางคนอื่น ขณะที่ผู้หญิงมักจะยินดีอย่างยิ่งที่จะถาม การที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากการรับรู้บทบาททางเพศแบบดั้งเดิม ที่มองว่าผู้ชายเป็นผู้ที่พึ่งพาตนเองได้ และสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ การที่ผู้ชายจะแสวงหาความช่วยเหลือ ย่อมจะส่งผลทางลบต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ดังนั้นผู้ชายจึงมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือน้อยกว่าผู้หญิง

 

นอกจากความแตกต่างระหว่างเพศแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ช่วงวัย กลุ่มคนที่มีอายุต่าง ๆ กันก็มีแนวโน้มที่จะมีการแสวงหาความช่วยเหลือแตกต่างกัน โดยกลุ่มคนในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์มากกว่ากลุ่มวัยอื่น ๆ ซึ่งก็อาจเป็นเพราะหนึ่งในแหล่งของการแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์นั้นก็คือ เพื่อน ซึ่งบุคคลในช่วงมหาวิทยาลัย เป็นช่วงวัยที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเพื่อน เมื่อมีความทุกข์จึงพร้อมที่จะการแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์กับเพื่อนได้

 

ความยากง่ายในการแสวงหาความช่วยเหลือ หรือปรับทุกข์ของแต่ละคน นอกจากจะมีความแตกต่างกันจากปัจจัยภายในตัวบุคคล เช่น เพศ อายุ ยังมีความแตกต่างกันจากปัจจัยภายนอกตัวบุคคล คือ ปัจจัยด้านสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอีกด้วย

 

ก่อนที่เราจะสรุปได้ว่าเรากำลังประสบปัญหาหรือเผชิญกับความทุกข์ เราต้องมีการประเมินสถานการณ์ที่เราเจอก่อน ว่าสิ่งที่เราเจอนั้นมันเป็นอย่างไร ทั้งนี้ในสถานการณ์เดียวกัน คนแต่ละคนอาจจะประเมินไม่เหมือนกันก็เป็นได้ โดยจะแตกต่างไปตามทรัพยากรที่เรามีอยู่ เช่น นักเรียนคนแรก ได้เกรด D 1 วิชา หากมีเกรดเฉลี่ยสะสมเดิมอยู่ที่ 3.5 เขาย่อมรับรู้ว่าสถานการณ์ที่ตนเผชิญเป็นปัญหา แตกต่างจากนักเรียนคนที่สอง ที่ได้เกรด D 1 วิชา หากมีเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 2.0 เด็กสองคนนี้ก็จะมองสถานการณ์นี้ไม่เหมือนกันค่ะ ดังนั้นความแตกต่างในการประเมินทรัพยากรที่มีเพื่อใช้จัดการกับปัญหา จะส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะแสวงหาความช่วยเหลือ หรือ ปรับทุกข์กับผู้อื่น

 

ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจด้านสถานการณ์ก็คือ ระดับของการเปิดเผยตัวเอง เมื่อเราต้องแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์กับผู้อื่น สำหรับบางคน การเปิดเผยตัวเองอาจทำให้คนรู้สึกว่าด้อยค่า ไม่ดีพอ เมื่อต้องพึ่งพาผู้อื่น ดังนั้นจะรู้สึกสบายใจมากกว่า ถ้าการแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์นั้น เป็นการแสวงหาจากแหล่ง หรือบุคคลที่ไม่ต้องเผชิญหน้า เช่น การหาข้อมูลจากหนังสือพวก how to ต่าง ๆ หรือ สายด่วนดูแลจิตใจต่าง ๆ

 

ปัจจัยด้านสถานการณ์อีกปัจจัยที่สำคัญ ที่จะช่วยให้เราพัฒนาการแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์ของเรา คือ ความสามารถของผู้ช่วยเหลือ ลองนึกถึงตัวเรานะคะ ว่าหากเรามีปัญหามีความทุกข์ คนที่เราจะนึกถึงว่าเราอยากปรับทุกข์ด้วยย่อมจะเป็นคนที่เราประเมินว่า เขามีความสามารถเพียงพอที่จะช่วยเหลือเราได้ หากเรารู้สึกว่าคนที่อยู่รอบข้างเรามีความสามารถเพียงพอที่จะช่วยเหลือเราได้ เราย่อมไม่ลังเลใจที่จะแสวงหาความช่วยเหลือหรือปรับทุกข์กับเขาแน่นอนค่ะ ดังนั้นระหว่างที่เรายังไม่รู้สึกว่าอยู่ในสภาพที่มีปัญหา สิ่งหนึ่งที่เราอาจเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า ก็คือลองนึกรายชื่อของผู้ที่เราเองรู้สึกว่าวางใจ เชื่อใจ และมั่นใจในความสามารถของเขา ว่าจะสามารถช่วยคลายทุกข์ให้เราได้ หากมีรายชื่อสัก 3 – 5 รายชื่อในใจก็น่าจะดีนะคะ ทั้งนี้รายชื่อที่มีอาจจะเป็นบุคคลรอบข้าง เช่น เพื่อนสนิท หรือผู้ปกครอง หรืออาจจะเป็นแหล่งความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการที่มีความชำนาญเฉพาะ เช่น ศูนย์สุขภาวะทางจิต ของคณะจิตวิทยา นั่นเองค่ะ

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มปัจจัยหนึ่ง คือ ปัจจัยทางบุคลิกภาพ ซึ่งจะขอยกมาเพียง 1 ประเด็น นั่นคือ ความสามารถด้านอารมณ์ของตัวเอง โดยคนที่มีความสามารถทางด้านอารมณ์ คือ คนที่สามารถตระหนักถึงสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถอธิบายถึงสภาวะอารมณ์นั้นได้ ตลอดจนสามารถเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ใช้การปกป้องตนเอง

 

ลองทายกันเล่น ๆ ว่า คนที่มีความสามารถทางอารมณ์ในระดับสูง ซึ่งคือคนที่สามารถรู้ เข้าใจ และสื่อสารถึงอารมณ์ของตนเองได้ดี น่าจะมีความสามารถที่จะขอความช่วยเหลือ หรือปรับทุกข์ได้มากหรือน้อยคะ คำตอบที่ถูกต้องอาจจะน่าประหลาดใจสักเล็กน้อย เพราะความสามารถทางอารมณ์ในระดับสูง เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้บุคคลตัดสินใจแสวงหาความช่วยเหลือ หรือปรับทุกข์กับผู้อื่นค่ะ อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า การปรับทุกข์ไม่ใช่เรื่องของความอ่อนแอ แต่เป็นความเข้มแข็งที่สุดต่างหาก ที่จะยอมรับในสิ่งที่ตนเผชิญอย่างเข้มแข็ง ดังนั้นคนที่มีความสามารถทางอารมณ์ก็จะสามารถตระหนักได้ถึงอารมณ์ของตนเอง และสามารถแสดงออกถึงความรู้สึก หรือสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งความสามารถดังกล่าว เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้เราเข้าไปหาแหล่งช่วยเหลือของเรา ไม่ว่าจะเป็นแหล่งช่วยเหลือแบบมืออาชีพ เช่น ศูนย์บริการทางจิตวิทยา หรือแหล่งช่วยเหลือแบบมือสมัครเล่น เช่น เพื่อนหรือว่าญาติพี่น้องของเรานั่นเอง

 

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

 

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์สุขภาวะทางจิต

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้