ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นคลื่นลูกหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่กระทบต่อการดำรงชีวิต การทำงานของคนเราในยุคปัจจุบัน และความก้าวหน้านี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเสียด้วย แน่นอนว่าความก้าวหน้านี้ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในหลาย ๆ แง่มุม รวมถึงการทำงานภายในองค์การของเราด้วยเช่นกัน
คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตไร้สาย สมาร์ทโฟน ตัวอย่างเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวมนุษย์เงินเดือนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว และการแก้ไขงานได้ทันกำหนดส่ง อีกทั้งยังส่งผลให้รูปแบบการทำงานของมนุษย์เงินเดือนบางกลุ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ต้องทำงานที่ออฟฟิศก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน
Work from Home ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลยในยุคนี้เลย หลาย ๆ องค์การทั้งในไทยและต่างประเทศเริ่มใช้นโยบายนี้ในการทำงานมาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้และได้เปลี่ยนวิถีการทำงานของเราได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายองค์การไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐและเอกชนมีนโยบายให้พนักงานของตนสามารถทำงานจากที่บ้าน ซึ่งสอดคล้องกับประกาศของทางรัฐเพื่อลดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของโรค COVID-19 จากมนุษย์เงินเดือนที่เวลาทำงานต้องเข้าออฟฟิศทุกวันต้องเปลี่ยนไปทำงานจากที่บ้านทุกวันแทน แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่องค์การมีนโยบายทำงานจากที่บ้านได้ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย แค่เปลี่ยนจากทำงานที่บ้านไม่กี่วัน เป็นทำงานจากที่บ้านทุกวันก็เพียงเท่านั้น
เช่นนี้ ดูเหมือนจะลำบากเฉพาะกับคนกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มที่สองสบายกว่า แต่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเมื่อต้องทำงานจากที่บ้านเป็นระยะเวลานาน ทุกวัน และต้องกักตัว (Self-isolation) ไปด้วย อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อตัวเราได้ นั่นคือ ความขัดแข้งในบทบาทระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัว (Work-life / family conflict) จากแนวคิด Role of Boundary ที่พนักงานโดยปกติแล้วจะแยกบทบาทของตนออกเป็น 2 บทบาท คือ บทบาทในงานและบทบาทของชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัว ซึ่งพนักงานจะพยายามที่จะรักษาสมดุลทั้ง 2 บทบาทนี้ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของกายภาพหรือจิตใจ หากทั้ง 2 บทบาทนี้สมดุล ก็จะเกิดการรับรู้ที่เราได้ยินบ่อย ๆ มาก คือ “Work-Life balance” นั่นเอง แต่หากทั้ง 2 บทบาทนี้ไม่สมดุล พนักงานก็จะรับรู้ว่ามีการขัดแย้งกันของ 2 บทบาท คือ “Work-Life conflict” โดยความขัดแย้งสามารถเกิดได้ 2 ลักษณะคือ
- บทบาทในงานไปขัดแย้งบทบาทชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัว และ
- บทบาทชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัวไปขัดแย้งกับหน้าที่การงานของเรา
ความขัดแย้งดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการ Work from Home ในช่วงนี้อย่างไร ?
ปัจจัยแรกคือสถานที่ทำงานของมนุษย์เงินเดือน หรือออฟฟิศ สถานที่ทำงานเป็นสิ่งที่จะพอให้พนักงานรับรู้และแยกแยะบทบาททั้ง 2 บทบาทได้ในทั้งเชิงกายภาพและจิตใจ แม้ว่าอาจจะ conflict บ้างในกรณีที่มีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสำหรับการทำงานหลังเวลาเลิกงานด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง แต่เมื่อพนักงานต้องเปลี่ยนจากการทำงานที่ออฟฟิศมาเป็นในรูปแบบของการทำงานที่บ้านทุกวันเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานและไม่สามารถคาดเดาได้ถึงสถานการณ์และจุดจบของการแพร่ระบาด COVID-19 รวมทั้งเทคโนโลยีสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า สามารถโทร อีเมล พิมพ์ข้อความที่เกี่ยวกับงานของเราได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ความสามารถการรับรู้และแยกแยะ 2 บทบาทของพนักงานนั้นลดลงและไม่ชัดเจนมากขึ้น (Blurring the role of boundary) สิ่งนี้เมื่อเกิดเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ ความรู้สึก ความเครียดที่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการเวลาที่มีประสิทธิภาพลดลง ความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน (Burnout) รวมถึงความขัดแย้งระหว่างความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะมีอารมณ์หรือความรู้สึกขัดแย้งได้ในเวลาที่ทำงานจากที่บ้าน การจัดการเวลาในการทำงานผิดเพี้ยนไป การพักผ่อนลดน้อยลง เวลาการเข้านอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าความสะดวกรวดเร็วของการติดต่อสื่อสารผ่านเทคโนโลยีและการทำงานที่บ้านแบบ 100% เป็นช่วงระยะเวลานาน ๆ ทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราต้องรับหน้าที่ 2 บทบาทไปพร้อม ๆ กัน คือ
- รับผิดชอบภาระงาน ประชุมต่าง ๆ ในฐานะพนักงานออฟฟิศ และ
- รับผิดชอบงานบ้านต่าง ๆ และ/หรือ ธุรกิจครอบครัวที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามแต่ละบทบาทของตนที่มีในแต่ละครอบครัว (แน่นอนว่ายังไม่นับรวมบทบาททางสังคมในสถาบันครอบครัวด้วย)
สองบทบาทนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันและสถานที่เดียวกันอาจจะก่อให้เกิดความคลุมเครือของ 2 บทบาท และนำไปสู่การรับรู้ความขัดแย้งได้ ผลเสียของการรับรู้ความขัดแย้งก็ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็สะท้อนให้เราได้เห็นว่า Work from Home อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์หรือดีสำหรับทุกคนเสมอไป เผลอ ๆ อาจจะให้ผลเสียสำหรับมนุษย์เงินเดือนบางท่านเสียด้วยซ้ำ
รายการอ้างอิง
Adkins, C. L., & Premeaux, S. A. (2014). The use of communication technology to manage work-home boundaries. Journal of Behavioral and Applied Management, 15(2), 82- 100.
บทความวิชาการ
โดย คุณสหรัฐ วงศ์ชมภู
นักจิตวิทยาประจำศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย