ข่าวและกิจกรรม
ภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรง – Post-traumatic stress disorders
ความสะเทือนใจ (trauma) คือ ความรู้สึกตกใจหรือสั่นสะเทือนขวัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจเป็นเวลานาน
ภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรง (Post-traumatic stress disorders) คือ ภาวะกระทบกระเทือนใจอันเนื่องมาจากความกลัว ความตกใจ ความฝังใจจากเหตุการณ์วิกฤตที่รุนแรง หรือความสูญเสียอย่างกะทันหัน ผลอันเกิดจากความสะเทือนใจซึ่งอาจสังเกตได้ไม่เด่นชัด แต่มีผลเรื้อรังในระยะยาวทั้งต่อสภาวะจิตใจ ทัศนคติ การมองโลก รวมถึงการปรับตัวและการมีสุขภาวะที่เหมาะสมในสังคม
ภายหลังเหตุการณ์วิกฤตหรือเหตุการณ์ความสูญเสียที่รุนแรงต่าง ๆ บุคคลจะมีความรู้สึกสะเทือนใจนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งใน คู่มือวินิจฉัยทางจิตเวช 4 (DSM-IV) กำหนดว่าเป็นภาวะความสะเทือนใจอย่างรุนแรงเฉียบพลัน แต่ในฉบับปรับปรุง (DSM-IV-TR) ได้เปลี่ยนแปลงและเรียกอาการในระยะ 3 เดือนแรกว่า trauma หรือความสะเทือนใจ ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าวจะฟื้นตัวได้ภายในช่วง 3 เดือนแรก และเรียกอาการความสะเทือนใจที่คงอยู่นานหลัง 3 เดือนว่าเป็น Post-traumatic stress disorders (PTSD) ซึ่งใน DSM-IV ฉบับก่อนหน้านี้กำหนดว่าเป็นภาวะความสะเทือนใจเรื้อรัง
อาการ
เกณฑ์การวินิจฉัยอาการทางจิตเวชในคู่มือการวินิจฉัยได้จำแนกอาการของภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรงไว้ 3 กลุ่มอาการคือ
- การย้อนเห็นภาพเหตุการณ์ (Intrusion) การคิดถึง ย้อนระลึกถึงซ้ำ ๆ ฝันร้ายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกทุกข์ใจอย่างยิ่งเมื่อพบสิ่งที่สะกิดใจหรือทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ
- การหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์และหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ (Dissociation) บางทีก็เรียกลักษณะนี้ว่าการตัดความรู้สึกหรือการหลีกเลี่ยงความรู้สึก มีการหลีกหนี ไม่เผชิญหรือพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน มีการระงับไม่รับรู้และแสดงความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการผ่านเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ พยายามหลีกเลี่ยงผู้คนหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกัน
- มีปฏิกิริยาไวในการระแวดระวังและตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เกินระดับปกติ (Hyperarousal) โดยแสดงอาการตื่นตัว สะดุ้งบ่อยกว่าปกติ นอนหลับยาก ตั้งสมาธิลำบาก และมีอารมณ์หงุดหงิดแปรปรวนง่าย
สาเหตุของอาการ
1. ปัจจัยภายนอกตัวบุคคล
คือลักษณะเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่อยู่นอกวิสัยที่พบได้ตามปกติ เช่น สงคราม ที่มีทหารผ่านศึกหลายนายที่ทนทุกข์จากภาวะสะเทือนใจรุนแรง (แต่ทหารส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอาการนี้) รวมถึงเหตุวิกฤตซึ่งเกิดเป็นปกติในช่วงชีวิต เช่น การหย่าร้าง การตายของคู่ชีวิต ความล้มเหลวในงาน การแท้งบุตร ความเจ็บป่วย และเหตุการณ์วิกฤตรุนแรงอื่น ๆ เช่น ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ไฟไหม้ วินาศกรรม อุบัติเหตุ อาชญากรรม เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า ภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรงเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์หลากหลายเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง ไม่คาดฝัน และก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินในระดับต่าง ๆ ต่อผู้ประสบเหตุการณ์
2. ปัจจัยภายในตัวบุคคล
คือ ปฏิกิรยาตอบสนองส่วนตัวของผู้ประสบเหตุการณ์ หากผู้ประสบเหตุการณ์มีความรู้สึกโดยส่วนตัวอย่างเข้มข้นว่าเหตุการณ์นั้นคุกคามต่อชีวิตและร่างกาย อาจทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บได้ รู้สึกหวาดกลัวและตกใจอย่างที่สุด ประจวบกับความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ ไร้ทางออก การรับรู้เช่นนี้มีความสัมพันธ์กับภาวะสะเทือนใจอย่างรุนแรงในระดับสูง
ทั้งนี้ มีงานวิจัยจำนวนมากที่พยายามศึกษาถึงปัจจัยเสี่ยงและตัวแปรต่าง ๆ ที่ส่งผลให้บุคคลได้รับผลจากเหตุการณ์วิกฤตและความสูญเสียลักษณะเดียวกันแตกต่างกัน พบว่า ตัวแปรที่ทำให้บุคคลมีความเสี่ยงต่ออาการดังกล่าว คือ ตัวแปรด้านบุคลิกภาพ และการคิด โดยปัจจัยด้านการคิดอย่างหนึ่งคือ ลักษณะการอนุมานสาเหตุ หรือลักษณะที่บุคคลมักใช้ในการหาเหตุผลเมื่อพบเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต อาทิ แนวโน้มคิดโทษตนเอง การมองว่าเหตุการณ์เลวร้ายจะคงอยู่เช่นนั้นต่อไป และคิดแผ่ขยายประสบการณ์ที่ไม่ดีไปสู่เหตุการณ์อื่น ๆ และด้านอื่น ๆ ในชีวิต แทนที่จะมองว่าเป็นความบังเอิญหรือเป็นเหตุการณ์เฉพาะ
ข้อมูลจาก
“ประสบการณ์ความสะเทือนใจของผู้ประสบเหตุการณ์ไฟไหม้ : กรณีศึกษาชุมชนในเขตบางยี่ขัน” โดย ธีร์จุฑา จรัสโยธินนุวัฒน์ (2547) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/78
Cognitive reserve: การป้องกันและชะลอผลกระทบที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อม
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว ประชากรในประเทศไทยประกอบไปด้วยผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เกิน 10% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 28% ภายใน 10 ปีข้างหน้า (WHO, 2023)
หนึ่งในโรคอันดับต้น ๆ ที่มักพบในผู้สูงวัยทั่วโลกคือโรคภาวะสมองเสื่อม (dementia) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมถอยของสมองในส่วนของการทำงานขั้นสูง ที่มีความรุนแรงมากจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะสมองเสื่อมอาจเกิดจากหลายสาเหตุ รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดการทำลายเซลล์สมอง ภาวะสมองเสื่อมส่งผลต่อกระบวนการรู้คิด (cognitive functions) ขั้นสูงในหลาย ๆ ด้านที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ความจำ (memory) การพูดและการเข้าใจภาษา (language processing) การรับรู้ระยะและทิศทาง (visuospatial processing) และการแสดงออกทางพฤติกรรม (behavior) และอารมณ์ (mood)
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีทางการแพทย์ที่สามารถรักษาโรคภาวะสมองเสื่อมให้หายขาด สิ่งที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบของโรคนี้จึงเป็นการค้นหาวิธีที่จะเลื่อนเวลาของการดำเนินโรคภาวะสมองเสื่อม เพื่อขยายระยะเวลาที่บุคคลยังสามารถใช้กระบวนการรู้คิดของตนอย่างสมบูรณ์ให้นานที่สุดในช่วงระยะแรก ๆ ของการเสื่อมถอยของสมอง แม้ว่าสุดท้ายแล้วยังต้องเผชิญกับโรคนี้อยู่ดี
Cognitive reserve
งานวิจัยที่ศึกษาการการทำงานของสมองที่เปลี่ยนแปลงจากความชราหรือโรคทางระบบประสาทพบผลวิจัยที่น่าสนใจ คือ ผู้สูงวัยสองคนอาจมีภาวะเสื่อมถอยในสมองในระดับคล้าย ๆ กัน แต่ผู้สูงวัยสองคนนี้อาจมีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น ผู้สูงวัย ก. อาจมีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่เปลี่ยนไปอย่างมากหลังจากการเสื่อมถอยของสมอง ในขณะที่ผู้สูงวัย ข. อาจมีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสมองของแต่ละบุคคลมีสมรรถภาพในการรับมือกับการเสื่อมถอยของสมองในระดับที่แตกต่างกัน
การที่ผู้สูงวัยบางคนสามารถต้านผลกระทบของภาวะสมองเสื่อมได้ดีกว่าผู้สูงวัยคนอื่น ๆ อาจเป็นเพราะผู้สูงวัยเหล่านั้นมีสมรรถภาพสำรองของกระบวนการรู้คิด (cognitive reserve) ในปริมาณที่มากกว่าผู้อื่น (Stern, 2009, 2012) บุคคลที่มี cognitive reserve สูงจะมีลักษณะแตกต่างเมื่อเทียบกับบุคคลที่มี cognitive reserve ต่ำ ในสองประการหลักดังนี้ (ดังที่แสดงในภาพที่ 1)
- จุดเปลี่ยนของความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่ลดลงจากการเสื่อมถอยของสมอง จะเกิดขึ้นช้ากว่า ในบุคคลที่มี cognitive reserve สูง
- บุคคลที่มี cognitive reserve สูงจะได้รับการวินิจฉัยโรคภาวะสมองเสื่อมในเวลาที่ช้ากว่า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดความเสื่อมถอยของสมองที่ค่อนข้างรุนแรงแล้ว
ภาพที่ 1. ระดับ cognitive reserve มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างความเสื่อมถอยของสมองและความสามารถทางกระบวนการรู้คิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลา
เนื่องจาก cognitive reserve ไม่สามารถวัดได้โดยตรง และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามประสบการณ์ตลอดช่วงชีวิต งานวิจัยส่วนมากศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลที่ได้รับการวินิจฉัยโรคภาวะสมองเสื่อมแล้ว และรวบรวมข้อมูลเชิงประชากรเพื่อวิเคราะห์หาตัวแปรที่สามารถทำนายการดำเนินโรคภาวะสมองเสื่อมและคะแนนความสามารถทางกระบวนการรู้คิดของบุคคลเหล่านี้ ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ ศึกษาผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีเป็นกลุ่มตัวอย่าง และวิเคราะห์ตัวแปรที่สามารถทำนายคะแนนความสามารถทางกระบวนการรู้คิด งานวิจัยเหล่านี้ทางระบาดวิทยาพบว่าปัจจัยทางวิถีการใช้ชีวิตในหลาย ๆ ด้านมีความสัมพันธ์กับปริมาณ cognitive reserve ของแต่ละบุคคล ปัจจัยเหล่านี้ร่วมช่วยชะลอผลกระทบต่อกระบวนการรู้คิดที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อม และอาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ด้วย
- ความสามารถทางสติปัญญา (IQ)
ก่อนเกิดความเสื่อมถอยของสมอง บุคคลที่มีคะแนน IQ สูงมีความเสี่ยงน้อยกว่าต่อการเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีคะแนนน้อยกว่า งานวิจัยโดย Whalley และคณะ (2000) พบว่าคะแนน IQ ที่วัดเมื่ออายุ 11 ขวบ (ในปี 1932) สามารถทำนายโอกาสที่บุคคลเหล่านี้จะได้รับการวินิจฉัยโรคภาวะสมองเสื่อมในวัยชรา และบุคคลเหล่านี้มีความสามารถทางกระบวนการรู้คิดในระดับที่ดีกว่าคาดคิดเมื่อเปรียบเทียบกับความเสื่อมถอยของสมอง ซึ่งชี้ว่าสมองของบุคคลที่มี IQ สูงสามารถต้านทานผลเสียของการเสื่อมถอยของสมองได้ดีกว่า - ระดับการศึกษาและความสำเร็จด้านอาชีพ
การศึกษาเป็นประสบการณ์ที่เสริมสร้างการเชื่อมโยงในเครือข่ายเซลล์สมอง และอีกหนึ่งประสบการณ์ชีวิตที่ท้าทายความสามารถของกระบวนการรู้คิดก็คือความสำเร็จด้านอาชีพ เช่น การทำอาชีพที่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษานอกเหนือจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนว่าทั้งสองปัจจัยนี้สามารถชะลอการดำเนินโรคภาวะสมองเสื่อม และมีงานวิจัยที่พบว่าผลประโยชน์นี้ไม่ได้จำกัดแค่ในผู้ที่มีการศึกษาระดับสูง แต่การศึกษาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถเพิ่มปริมาณ cognitive reserve ได้ (Farfel et al., 2013) การที่คุณสามารถอ่านบทความนี้ได้หมายความว่าคุณมีทักษะการอ่านเขียนที่ได้ฝึกฝนมาจากการศึกษาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งทักษะนี้มีส่วนช่วยส่งเสริม cognitive reserve ให้มีปริมาณที่สูงกว่าบุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถนี้ (Manly et al., 2003) - การทำกิจกรรมนันทนาการในช่วงสูงวัย
ก็มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณ cognitive reserve ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ท้าทายกระบวนการรู้คิด เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ การเล่นบอร์ดเกมส์ การเล่นเครื่องดนตรี และการเรียนหลักสูตรที่ส่งเสริมความรู้ในด้านต่าง ๆ และกิจกรรมทางสังคม เช่น การนัดเจอสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง โดยผู้สูงวัยที่ทำกิจกรรมเหล่านี้มากกว่าจะมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อม ประมาณ 38% เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยที่ทำกิจกรรมเหล่านี้น้อยกว่า (Scarmeas et al., 2001) และงานวิจัยนี้ก็พบว่าสิ่งที่สำคัญคือจำนวนและความถี่โดยรวมในการทำกิจกรรมทั้งสองหมวดนี้ การมุ่งทำเพียงกิจกรรมประเภทใดประเภทหนึ่งไม่ได้ส่งผลต่อโอกาสที่จะเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมในเวลาต่อมา - การออกกำลังกาย
โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เน้นการหายใจเข้าออกเพื่อให้หัวใจและหลอดเลือดเกิดการสูบฉีดอาจช่วยเพิ่มปริมาณ cognitive reserve ได้เช่นกัน ผู้สูงวัยที่ออกกำลังกายตามเกณฑ์ที่แพทย์แนะนำมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อม ประมาณ 20% เมื่อเทียบกับผู้สูงวัยที่ออกกำลังกายน้อยกว่า (Cheng, 2016; Klil-Drori et al., 2022) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ที่อเมริกาแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่ออาทิตย์ เช่น การเดินเร็ว 30 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลา 5 วันต่ออาทิตย์
ข้อสรุป
สุขภาพของสมองและการทำงานของสมองของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ซึ่งรวมถึงปัจจัยที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น การมีพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อโรคภาวะสมองเสื่อม และ ความสามารถทางสติปัญญา อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือเราสามารถควบคุมวิธีการดำเนินชีวิตของเราที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพสมองของเราให้ดีที่สุด โดยการทำกิจกรรมที่กระตุ้นความสนใจ ความท้าทายทางสมอง การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งการกระตุ้นในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนจะช่วยสั่งสมปริมาณ cognitive reserve ที่เรามี
- ทำกิจกรรมนันทนาการที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน อย่างต่อเนื่อง
- ทำกิจกรรมที่ท้าทายสมอง รวมถึงการลงมือทำกิจกรรมใหม่ ๆ ที่คุณไม่เคยทำ
- สานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับครอบครัวและเพื่อนฝูง หมั่นติดต่อกันและนัดพบกันอยู่เรื่อย ๆ
- ออกกำลังกายในระดับปานกลางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพหัวใจและสุขภาพสมองไปในตัว
ไม่มีคำว่า ‘เร็วเกินไป’ หรือ ‘สายเกินไป’ ที่จะดูแลสุขภาพสมองของเราตามคำแนะนำเหล่านี้ และการทำกิจกรรมหลากหลายอย่างจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสมองเมื่อเทียบกับการทำกิจกรรมในด้านใดด้านเดียว สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุก ๆ คนในการดูแลสุขภาพสมองของตนเอง เพื่อการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพและห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ
รายการอ้างอิง
Barulli, D., & Stern, Y. (2013). Efficiency, capacity, compensation, maintenance, plasticity: emerging concepts in cognitive reserve. Trends in Cognitive Sciences, 17(10), 502-509.
Cheng, S. T. (2016). Cognitive reserve and the prevention of dementia: the role of physical and cognitive activities. Current Psychiatry Reports, 18, 1-12.
Farfel, J. M., Nitrini, R., Suemoto, C. K., Grinberg, L. T., Ferretti, R. E. L., Leite, R. E. P., … & Brazilian Aging Brain Study Group. (2013). Very low levels of education and cognitive reserve: a clinicopathologic study. Neurology, 81(7), 650-657.
Klil-Drori, S., Cinalioglu, K., & Rej, S. (2022). Brain health and the role of exercise in maintaining late-life cognitive reserve: a narrative review providing the neuroprotective mechanisms of exercise. The American Journal of Geriatric Psychiatry, 30(4), S72.
Manly, J. J., Touradji, P., Tang, M. X., & Stern, Y. (2003). Literacy and memory decline among ethnically diverse elders. Journal of Clinical and Experimental Neuropsychology, 25(5), 680-690.
Scarmeas, N., Levy, G., Tang, M. X., Manly, J., & Stern, Y. (2001). Influence of leisure activity on the incidence of Alzheimer’s disease. Neurology, 57, 2236–2242.
Stern, Y. (2009). Cognitive reserve. Neuropsychologia, 47(10), 2015-2028.
Stern, Y., (2012). Cognitive reserve in ageing and Alzheimer’s disease. The Lancet Neurology, 11(11), 1006-1012.
Whalley, L.J., Starr, J.M., Athawes, R., Hunter, D., Pattie, A., & Deary, I.J. (2000). Childhood mental ability and dementia. Neurology, 55, 1455–1459.
World Health Organization. (2023, February 9). Thailand’s leadership and innovations towards healthy ageing. https://www.who.int/southeastasia/news/feature-stories/detail/thailands-leadership-and-innovation-towards-healthy-ageing
บทความโดย
อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์
ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Chula Care 2566-2567 : สำหรับบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Chula Care : ทุกปัญหานักจิตวิทยายินดีรับฟัง
*** ประชาสัมพันธ์สำหรับบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ***
ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการจัดโครงการบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับอาจารย์และบุคลากรจุฬาฯ (Chula Care) เพื่อดูแลสุขภาพภาวะทางจิตของบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการ ภายใต้โครงการ CU Sustainable Well-Being: เสริมสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน โดยมีนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแก่บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถรับบริการฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
มีระยะเวลาในการรับบริการตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนขอนัดหมายรับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาของศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทาง http://wellness.psy.chula.ac.th
สอบถามข้อมูลการรับบริการเพิ่มเติมได้ที่
“ศูนย์สุขภาวะทางจิต”
ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.
เบอร์โทรศัพท์ 082–329-8001
Line OA : @266wares (สแกน qr code ในรูป)
e-mail: contactchulacare@gmail.com
Chula Care News
การอบรมสำหรับบุคลากรจุฬาฯ (ฟรี) ในโครงการ Chula care
ความคิดสร้างสรรค์ – Creativity
ความคิดสร้างสรรค์ คือ ความสามารถในการคิดริเริ่มสิ่งแปลกใหม่ คิดอย่างกว้างไกล คิดได้หลายทิศทาง มีความคิดที่หลุดออกจากกรอบเดิม ๆ และมองเห็นความเชื่อมโยงกันของวัตถุรอบตัว ทำให้สามารถแก้ปัญหายุ่งยากที่พบเจอในชีวิตประจำวันให้หมดไป
องค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการของความคิดสร้างสรรค์ (Guilford, 1967)
1. ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency)
ความสามารถในการคิดได้อย่างรวดเร็วคล่องแคล่ว และมีจำนวนความคิดเป็นปริมาณมากในระยะเวลาจำกัด แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ
- 1.1 ความคิดคล่องแคล่วด้านถ้อยคำ (Word Fluency) – ความสามารถของบุคคลในการใช้ถ้อยคำได้อย่างคล่องแคล่ว
- 1.2 ความคิดคล่องแคล่วด้านการเชื่อมโยงสัมพันธ์ (Associational Fluency) – ความสามารถในการคิดหาคำที่เหมือนกันหรือคล้ายกันให้ได้มากที่สุดในระยะเวลาที่กำหนด
- 1.3 ความคิดคล่องแคล่วด้านการแสดงออก (Expressional Fluency) – ความสามารถด้านการนำคำมาเรียงกันอย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้ประโยคที่ต้องการ เรียกว่าเป็นความสามารถด้านการใช้วลีหรือการใช้ประโยค
- 1.4 ความคิดคล่องแคล่วในการคิด (Ideational Fluency) – ความสามารถที่จะคิดสิ่งที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด เช่น การบอกประโยชน์ของถ้วยกาแฟมาให้ได้มากที่สุดใน 1 นาที
2. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility)
ความสามารถในการคิดหาคำตอบได้หลายประเภทและหลายทิศทาง แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ
- 2.1 ความคิดยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นทันที (Spontaneous Flexibility) – ความสามารถที่จะพยายามคิดสิ่งต่างๆ อย่างเป็นอิสระ เช่น คิดหาประโยชน์ของก้อนหินได้หลายทิศทาง
- 2.2 ความยืดหยุ่นด้านการดัดแปลง (Adaptive Flexibility) – ความสามารถในการคิดดัดแปลงจากสิ่งหนึ่งเป็นอีกหลายสิ่ง ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการติดซ้ำซ้อน และสามารถนำความคิดทั้งหมดที่ได้มาจัดเป็นประเภทต่างๆ
3. ความริเริ่ม (Originality)
ความสามารถในการคิดสิ่งที่มีลักษณะแปลกใหม่และแตกต่างไปจากธรรมดา เป็นความคิดที่หาได้ยาก ไม่มีใครนึกถึง และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เนื่องจากเป็นความคิดที่ยังไม่มีใครเคยคิดมาก่อน ผู้มีความคิดริเริ่มจึงต้องมีความกล้าที่จะคิด กล้าที่จะลอง เพื่อทดสอบความคิดใหม่ของตน ความริเริ่มบางครั้งมีพื้นฐานมาจากจินตนาการ แต่ต้องเป็นจินตนาการประยุกต์ คือ คิดริเริ่มและหาคิดหาทางสร้างผลงานจากความริเริ่มนั้นให้เป็นจริงให้ได้
4. ความละเอียดลออ (Elaboration)
ความสามารถในการพัฒนา แต่งเติม หรือขยายความคิดหลักให้ได้ความหมายที่สมบูรณ์และมีความแปลกใหม่ ความคิดที่แสดงออกมานั้นเป็นความคิดที่ละเอียด สามารถนำมาทำให้สมบูรณ์และประณีตต่อไปได้อย่างเต็มที่
แนวคิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ของนักจิตวิทยากลุ่มต่าง ๆ
1. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงจิตวิเคราะห์ กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นผลมาจากความขัดแย้งภายใต้จิตสำนึกระหว่างแรงขับทางเพศและความรู้สึกรับผิดชอบทางสังคม และนักจิตวิเคราะห์แนวใหม่ได้นิยามว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่ในส่วนที่เรียกว่า จิตก่อนสำนึก
2. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงพฤติกรรมนิยม กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ โดยเน้นความสำคัญของการเสริมแรงกับสิ่งเร้า และยังเน้นความสัมพันธ์ทางปัญญา คือการโยงสัมพันธ์จากสิ่งเร้าหนึ่งไปยังสิ่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดความคิดใหม่
3. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์เชิงมนุษยนิยม กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด และผู้ที่สามารถดึงความสามารถส่วนนี้มาใช้ได้คือผู้ที่รู้จักตนเอง พอใจตนเอง และสามารถทำตนเองให้ปฏิบัติตนได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ มนุษย์จะสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ขึ้นอยู่กับสภาวะที่เอื้ออำนวยและมีบรรยากาศที่สำคัญในการสร้างสรรค์ ได้แก่ ความปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา ความมั่นคงของจิตใจ ความมุ่งมั่นต้องการที่จะเล่นกับความคิด และการเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ๆ
4. ทฤษฎี AUTA กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในตัวทุกคน และพัฒนาขึ้นไปได้อีก การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ตามทฤษฎีนี้ประกอบด้วย
- 4.1 การตระหนัก (Awareness) ถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และตระหนักถึงความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตนเอง
- 4.2 ความเข้าใจ (Understanding) อย่างถ่องแก้ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
- 4.3 การรู้เทคนิควิธี (Techniques) ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ทั้งวิธีที่เป็นมาตรฐานทั่วไป หรือวิธีที่เป็นเทคนิคส่วนตน
- 4.4 การตระหนักในความจริงของสิ่งต่างๆ (Actualization) อาทิ ตระหนักในตนเอง พอใจในตนเอง ใช้ตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับตัวได้เหมาะสม มีความคิดที่ยืนหยุด และตระหนักถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
“ผลของอารมณ์ที่มีต่อความคิดสร้างสรรค์” โดย ดวงรักษ์ พิสิฐศรัณยู และ ธนพร บัวขำ (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th.chula.idm.oclc.org/handle/123456789/44182
ภาพประกอบ https://www.maxpixel.net/
การเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยทั่วไปลักษณะการเจรจาแบ่งได้กว้าง ๆ 2 ลักษณะ คือแบบได้-เสีย และแบบได้-ได้
แบบได้-เสีย ก็คือการเจรจาที่อยู่บนมุมมองว่าจะต้องมีฝ่ายหนึ่งได้ฝ่ายหนึ่งเสีย หรือการได้ประโยชน์ของฝ่ายหนึ่ง หมายถึงการที่อีกฝ่ายจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป ตัวอย่างเช่น การต่อรองกับแม่ค้าเพื่อซื้อเสื้อสักตัว ถ้าเราผู้ซื้อต่อได้ราคายิ่งต่ำมากเท่าไหร่ก็จะได้ประโยชน์ แต่ว่าแม่ค้าก็ยิ่งเสียประโยชน์ เพราะเขาจะได้เงินค่าเสื้อน้อยลง
ส่วนอีกแบบหนึ่งคือแบบได้-ได้หมายถึงการต่อรองจากมุมมองว่าทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมกันหาทางออกที่ต่างก็ได้ประโยชน์ตามต้องการ โดยไม่มีใครต้องเสียประโยชน์ให้ใคร
ถ้าเป็นไปได้ พวกเราก็คงจะเลือกอย่างหลังกันมากกว่า เพราะเป็นการต่อรองที่ลงเอยด้วยความพอใจของทุกๆ ฝ่าย งานวิจัยทางจิตวิทยาก็พบเช่นกันว่าการเจรจาแบบได้-ได้ ให้ผลดีทั้งในด้านข้อสรุปที่ได้ และการรักษาความรู้สึกความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคู่เจรจา
อย่างไรก็ดี ในการดำเนินชีวิตของเรานั้น หลีกเลี่ยงไม่พ้นการเจรจาทั้งสอบแบบ
เทคนิคการเจรจาต่อรองแบบได้-เสีย
การต่อรองแบบได้-เสีย คู่ต่อรองมักจะคิดว่าเรื่องราคาหรือผลประโยชน์ฝ่ายตนสำคัญที่สุด และต้องการตักตวงไปให้ได้มากที่สุด แล้วเราจะทำอย่างไรดีหากต้องต่อรองแบบได้-เสีย?
กฏข้อแรก คือ การต่อรองจะต้องมีการยอมลดเป็นครั้ง ๆ จากทั้งสองฝ่าย ดังนั้น หากเราเป็นผู้ขาย เราก็จะต้องตั้งราคาเผื่อการลดเมื่อผู้ซื้อยื่นข้อเสนอขอลดราคา
กฏข้อที่สอง คือ การได้เสนอราคาก่อนจะได้เปรียบ หมายความว่าหากเราเป็นผู้ขายให้เรากำหนดราคาสินค้าไว้เลยตั้งแต่แรก หากเราต่อรองเงินเดือนก็ต้องชิงจังหวะเป็นฝ่ายที่เรียกเงินเดือนก่อน
การได้เสนอราคาหรือตั้งตัวเลขก่อนอีกฝ่ายหนึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะราคาแรกที่เราเสนอนั้นจะเป็นตัวกำหนดว่าการต่อรองจะคุยกันที่ราคาสูงหรือต่ำเพียงใด หากเราปล่อยให้อีกฝ่ายเรียกราคามาก่อน เขาก็ย่อมเรียกราคาในแบบที่เขาต้องจ่ายน้อยที่สุด และหากเราหลวมตัวไปเจรจากับเขาที่ราคาต่ำๆ แล้วละก็ โอกาสก็คือเราจะกลายเป็นผู้เสียประโยชน์ ดังนั้นการตั้งราคาหรือเรียกราคาแรกให้ได้ประโยชน์ที่สุด คือการตั้งไว้สูงหรือต่ำในแบบที่จะให้ประโยชน์สูงสุดแก่ฝ่ายเรา
เคล็ดลับสุดท้าย คือ การหาตัวเลือกสำรอง หมายถึงการเตรียมตัวเลือกอื่น ๆ ไว้เพื่อเป็นทางออก หากเราตกลงกับคู่เจรจาคนนี้ไม่ได้ เช่น หากบริษัทนี้ไม่ยอมให้เงินเดือนสูงเท่าที่เราต้องการ เราจะมีบริษัทอื่นให้ไปสมัครงาน ที่ให้ประโยชน์แก่เราได้พอ ๆ กับบริษัทนี้หรือไม่ ตรงนี้สำคัญมากเพราะจะทำให้เรามีอำนาจการต่อรอง หรือเรียกง่ายๆ ว่าไม่ยอมอ่อนข้อง้อคู่เจรจาปัจจุบันมากเกินไป เพราะเรายังมีตัวเลือกอื่นรออยู่นั่นเอง
สรุปได้ว่าการต่อรองให้ได้ผลประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุดจะต้องมีการเตรียมตัวหาข้อมูลดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชิงเสนอราคาที่จะทำให้เราได้ประโยชน์สูงสุด และการหาทางเลือกอื่นสำรองไว้
เทคนิคการเจรจาต่อรองแบบได้-ได้
การต่อรองส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยผู้ชนะและผู้แพ้เสมอไป ทั้งสองฝ่ายสามารถช่วยกันหาทางออกให้เป็นผู้ชนะทั้งคู่ได้ ดังนั้นจุดสำคัญของการต่อรองลักษณะนี้คือการที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน จะต้องพูดคุยกันว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร เพราะอะไร ต้องพยายามเข้าใจความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าเขาก็มีสิทธิที่จะอยากได้ผลประโยชน์ที่เขาต้องการ และช่วยกันคิดว่าจะหาทางออกอย่างไรจึงจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งฝ่ายเขาและฝ่ายเรา
ตัวอย่างเช่น หากหน่วยงาน ก. ต้องการส่วนแบ่งงบประมาณมาก แต่หน่วยงาน ข. ก็ต้องการเช่นกัน เมื่องบประมาณแต่ละปีมีจำกัดก็ทำให้ต้องมีฝ่ายที่ผิดหวัง การต่อรองแบบได้-ได้ ก็คือเมื่อหน่วยงาน ก. และ ข. มานั่งคุยกันว่าต่างจะเอางบประมาณไปทำอะไร อาจจะพบว่า ต่างต้องการจะเอาไปลงทุนในสิ่งเดียวกัน ก็อาจจะสามารถร่วมมือกันและปรับข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายให้ลงตัวได้โดยไม่มีใครต้องยอมเสียผลประโยชน์
หรืออาจจะช่วยกันคิดหางบประมาณมาเพิ่ม เพื่อจะทั้งสองหน่วยงานจะได้ส่วนแบ่งตามต้องการ 100%
หรือหากสามีอยากไปเที่ยวภูเก็ตแต่ภรรยาอยากไปเที่ยวเชียงใหม่ ก็อาจลงเอยด้วยการหางบมาเพิ่มเพื่อให้สามารถไปเที่ยวได้ทั้งสองที่ เป็นต้น
การต่อรองแบบได้-ได้นั้น จุดสำคัญคือทั้งสองฝ่ายจะต้องเต็มใจและเปิดใจหารือกัน โดยมีเป้าหมายที่จะหาทางออกร่วมกัน หากเราต่อรองโดยคิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้าฝ่ายเราให้มากที่สุดโดยไม่นึกถึงฝ่ายเขา ก็จะไม่สามารถต่อรองแบบได้-ได้ให้ประสบความสำเร็จได้
เคล็ดลับต่อมาคือต้องให้เวลาพูดคุยกันอย่างเพียงพอไม่รีบร้อนหาข้อสรุป เพราะการหาทางออกที่ดีต่อทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ได้หากันเจอง่าย ๆ
เคล็ดลับสุดท้าย คือการเลียนแบบท่าทางของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก็คือการจัดท่านั่งท่ายืนของเราให้คล้ายกับคนที่เรากำลังต่อรองด้วยให้มากที่สุดโดยไม่ให้เขารู้ตัวว่าเรากำลังเลียนแบบเขา การเลียนแบบนี้มักทำให้บุคคลเป้าหมายรู้สึกชอบเรา เชื่อใจเรามากขึ้น เพราะเราแสดงความเหมือนกันกับเขา และเมื่อเขาชอบพอเรา ก็มักจะร่วมมือหารือกับเราอย่างดีในการเจรจา เทคนิคนี้จึงทั้งง่ายและได้ผลดี
ในประเด็นเรื่องการต่อรองแบบได้ประโยชน์ทั้งคู่ว่าทำอย่างไรให้ได้ผลดี นอกจากคู่เจรจาต้องใจเย็น ๆ และนั่งลงเปิดใจคุยกันแล้ว งานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมยังค้นพบเทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยให้การต่อรองแบบนี้ได้ผลดี
นั่นคือการคิดถึงเป้าหมายที่เราอยากจะได้หรือไปให้ถึงในการต่อรองแต่ละครั้งให้ชัดเจน
คำว่าเป้าหมายในที่นี้ นักจิตวิทยาเสนอว่าควรจะเป็นเป้าหมายในเชิงสร้างเสริม ซึ่งหมายถึงการนึกถึงสิ่งที่เราต้องการจะได้มา ต้องการจะให้เกิดขึ้น หรือต้องการจะให้ดีขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะคิดในทางระมัดระวังไม่ให้เกิดอะไรที่ไม่ดี หรือระวังไม่ให้การเจรจาล้มเหลว การคิดวางเป้าหมายแบบสร้างเสริมจึงเป็นการคิดในเชิงพัฒนาไปยังสิ่งที่ดีกว่านั่นเอง
งานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมพบว่าการคิดถึงเป้าหมายแบบสร้างเสริมก่อนการเข้าพบพูดคุยกับคู่เจรจาว่าเราต้องการได้อะไรจากการเจรจาครั้งนี้ จะช่วยให้เราเจรจาต่อรองได้โดยไม่หลุดจากเป้าหมาย ซึ่งในที่นี้ก็คือการต่อรองแบบได้ประโยชน์ทั้งคู่ หรือการหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่ายนั่นเอง การนึกถึงเป้าหมายแบบสร้างเสริมก่อนเจรจา จะทำให้เป้าหมายนั้นอยู่ในใจเราเสมอในระหว่างการพูดคุย และเพิ่มความมุ่งมั่นที่จะคุยกันให้ลงตัวมากขึ้น
วิธีการปฏิบัติง่ายๆ ในการใช้เทคนิคเป้าหมายแบบสร้างเสริมก็คือ ใช้เวลาสั้น ๆ สัก 1 นาทีก่อนการเริ่มเจรจา นึกให้ชัดเจนว่าเราต้องการให้ผลการเจรจาออกมาแบบพึงพอใจทั้งสองฝ่าย และเราอยากจะทำอะไร พูดอะไรบ้างในระหว่างการเจรจา เพียงแค่นี้เองเราก็น่าจะเข้าสู่การเจรจาได้ด้วยความมุ่งมั่นและมีโอกาสจะเจรจาได้สำเร็จมากขึ้น
นอกจากนี้นักจิตวิทยายังพบเทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยให้การเจรจาเป็นแบบได้ประโยชน์ทั้งคู่ นั่นคือการพยายามมองจากมุมของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก็คือการที่เราพยายามนึกให้ออกว่าคู่เจรจาของเราน่าจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรในสถานการณ์นี้ คิดว่าเขาน่าจะอยากได้หรือต้องการอะไรในการเจรจานี้ การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเรานี้จะช่วยให้เราเข้าใจเห็นใจอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น และทำให้เรารู้สึกอยากจะร่วมมือเพื่อทำให้เขาได้รับผลประโยชน์ที่เขาอยากได้มากขึ้น
ผู้หญิงเสียปรียบผู้ชายในเรื่องการเจรจาต่อรองจริงหรือไม่
ปิดท้ายบทความนี้ด้วยประเด็นความเชื่อเกี่ยวกับการเจรจาที่ว่าผู้ชายเป็นนักเจรจาต่อรองที่ดีกว่าผู้หญิง
ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าหากหน่วยงานของท่านจะเลือกตัวแทนไปเจรจาธุรกิจหรือผลประโยชน์กับฝ่ายตรงกันข้าม ท่านจะเลือกส่งผู้หญิงหรือผู้ชายไป
การวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่เลือกผู้ชายไปเป็นตัวแทนการเจรจา เพราะมองว่าการเจรจาต่อรองเป็นเรื่องของผู้ชาย เนื่องจากจะต้องมีการใช้เล่ห์เหลี่ยมชิงไหวชิงพริบ มีการใช้ความแข็งกร้าวไม่อ่อนข้อเพื่อรักษาผลประโยชน์ ซึ่งผู้ชายน่าจะทำได้ดีกว่าผู้หญิง
นอกจากนี้สังคมยังคาดหวังให้ผู้หญิงมีลักษณะเป็นช้างเท้าหลัง อ่อนหวานเป็นมิตร ใจดีชอบช่วยเหลือและทำเพื่อผู้อื่น มากกว่าที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องผลประโยชน์ให้ตัวเอง ผู้หญิงเมื่อต้องเจอกับความคาดหวังแบบนี้ก็มักจะทำตัวลำบาก
งานวิจัยพบว่าผู้หญิงมักหลีกเลี่ยงการต่อรองทางธุรกิจ เช่น การต่อรองเงินเดือนของตนเองต่อหัวหน้า เพราะรู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองควรจะทำไหม หรือจะทำได้ประสบความสำเร็จได้หรือ และยังเป็นการฝืนความคาดหวังของคนรอบข้างว่าผู้หญิงควรจะอ่อนโยนใจดี
การวิจัยในต่างประเทศพบว่าเมื่อผู้หญิงใช้เทคนิคในการต่อรองแบบแข็งกร้าว เช่น การยื่นเรียกร้องขอเงินเดือนเพิ่มสูงๆ ในระหว่างที่ได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง เช่น พูดชัดๆ ว่าชั้นขอเพิ่มอย่างน้อย 30% ของเงินเดือนเดิม ก็มักจะถูกมองจากเจ้านายผู้ชายในทางลบว่าเป็นคนที่ไม่อ่อนโยนน่ารักและยังเป็นคนชอบเรียกร้องอีกด้วย ที่สำคัญคือเจ้านายชายยังบอกว่าไม่อยากร่วมงานกับผู้หญิงคนนี้ในอนาคต ซึ่งหมายถึงโอกาสได้เลื่อนตำแหน่งจริง ๆ อาจจะริบหรี่เสียแล้ว
แหม…เป็นผู้หญิงนี่จะเรียกร้องอะไรก็ออกจะลำบากสักหน่อย แต่นักจิตวิทยาช่วยในประเด็นนี้ได้
เทคนิคการต่องรองที่ได้ผลดีสำหรับนักธุรกิจหญิงหรือผู้หญิงโดยทั่วไปก็คือการใช้จุดแข็งด้านความอดทนและการเป็นผู้ฟังที่ดีนั่นเอง ดังนั้นก่อนคุณผู้หญิงจะเริ่มต้นเจรจาต่อรองกับใคร ให้ลองนึกถึงจุดแข็งเหล่านี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง นอกจากนี้การนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เราสามารถเจรจาหรือโน้มน้าวใจคนอื่นได้สำเร็จ ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักต่อรองหญิงได้เช่นกัน
บทสารคดีวิทยุรายการ “จิตวิทยาเพื่อคุณ” (พ.ศ 2557)
ออกอากาศทางสถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
ประกาศรับสมัครทุนยกเว้นค่าเล่าเรียนคณะ เทอมปลาย ปี 2566 (ขยายเวลารับสมัครถึงวันที่ 10 ม.ค. 67)
ประกาศรับสมัครทุนยกเว้นค่าเล่าเรียน เทอมปลาย ปีการศึกษา 2566
นิสิตคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ระดับปริญญาตรีทุกชั้นปี ที่มีความจำเป็น เดือดร้อนด้านทุนการศึกษา สนใจสมัครและขอรับใบสมัครทุนยกเว้นค่าเล่าเรียนเทอมปลาย ปีการศึกษา 2566 ได้ที่ฝ่ายกิจการนิสิต
- ใบสมัครจะต้องมีลายเซ็นใบรับรองการขอทุนการศึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษา
- ขอให้ใช้หลักฐานรับรองฐานะการเงินที่เป็นปัจจุบัน ไม่นำไฟล์เก่าของเดิมมาส่งเด็ดขาด
- ส่งใบสมัครเอกสารฉบับจริงเท่านั้น ไม่รับเป็นไฟล์หรือส่งทางอีเมล
สามารถส่งใบสมัครได้ที่ฝ่ายกิจการนิสิต ห้อง 104/1 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 มกราคม 2567 ในเวลารายการ
>> ใบสมัครทุนยกเว้นค่าเล่าเรียน 2566 <<
** หากมีข้อสงสัยติดต่อพี่โต้ง 02-218- 1170 เวลาราชการ หรือสอบถามทางอีเมล Sangdern.C@chula.ac.th
ประกาศ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566
ฝ่ายกิจการนิสิตคณะจิตวิทยา
ประกาศขยายเวลารับสมัครทุนยกเว้นค่าเล่าเรียนเทอมปลาย 2566
ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566
ฝ่ายกิจการนิสิตคณะจิตวิทยา
โครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับประชาชนทั่วไป ประจำปี 2566
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับประชาชนทั่วไป ประจำปี 2566 ซึ่งจะจัดอบรมแบบออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. – 25 ธ.ค. 2566 (เฉพาะวันจันทร์ พุธ ศุกร์) เวลา 18.00 – 21.00 น. รวมใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมและสอบวัดผลทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง โดย คณาจารย์ประจำแขนงวิชาต่าง ๆ ของ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร
โครงการอบรมมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจศาสตร์ด้านจิตวิทยา เนื้อหาการอบรมจะเป็นการปูพื้นฐานให้ผู้ที่ไม่เคยศึกษาศาสตร์ทางด้านจิตวิทยามาก่อนได้เรียนรู้และเข้าใจกับคำว่า “จิตวิทยา” โดยมุ่งเน้นไปที่พื้นฐานในการศึกษากระบวนการแห่งการรู้สึก การรับรู้ การเรียนรู้ การจำ การคิด การจูงใจ บุคลิกภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยคาดหวังว่าผู้ที่ผ่านการอบรมไปนั้น จะสามารถนำศาสตร์ทางจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านจิตวิทยาให้แก่ผู้สนใจเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีพื้นฐานทางจิตวิทยาที่จำเป็น และสามารถนำไปต่อยอดในการศึกษารายวิชาที่กำหนดในหลักสูตรในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์การวัดผลของโครงการจะได้รับวุฒิบัตรเพื่อใช้ประกอบการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของคณะจิตวิทยาได้
เกณฑ์การวัดผล
- ต้องเข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาการอบรม (21 ชั่วโมง)
- สอบวัดผลข้อเขียน โดยผ่านเกณฑ์การประเมิน 70% ขึ้นไป
- วันสอบเป็นวันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 – 21.00 น. เท่านั้น (สอบออนไลน์) ไม่มีวันเวลาอื่น สามารถเข้าสอบสายได้ แต่จะเสร็จสิ้นการสอบที่เวลา 21.00 น.
หัวข้อการฝึกอบรม
หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมแต่ละครั้ง ทางผู้จัดโครงการจะอัพโหลดไฟล์วิดีโอการอบรมให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเข้ามาดูย้อนหลังได้จนถึง
วันที่ 31 ธันวาคม 2566 (หากชมคลิปวิดีโอภายหลังช่วงเวลาสอบจะไม่นับเป็นเวลาเรียน)
อัตราค่าลงทะเบียน
บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วมีสิทธิเปิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
เงื่อนไขการลงทะเบียน
- กรุณาชำระค่าลงทะเบียนเข้าร่วมงานก่อนกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียน
- การส่งแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องแนบหลักฐานการชำระเงินค่าลงทะเบียนมาด้วย จึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์
- เมื่อผู้จัดงานได้ตรวจสอบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียนให้ทราบภายใน 3 วัน
- บุคลากรของรัฐและหน่วยงานราชการที่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้ว สามารถเข้าร่วมการอบรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และมีสิทธิเบิกค่าลงทะเบียนได้ตามระเบียบของทางราชการ
- ใบเสร็จรับเงินจะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์
- เมื่อชำระเงินค่าลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถขอรับเงินคืนได้ทุกกรณี
โทร 02-218-1307
กลไกการป้องกันตนเอง – Defense Mechanisms
ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรานั้น ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาหรือความขัดแย้งได้ และเพื่อที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ทางลบและความเครียดที่เกิดขึ้น หลายคนก็ได้ใช้วิธีจัดการกับปัญหาที่เรียกว่า “กลไกการป้องกันตนเอง”
Sigmund Freud ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาวิเคราะห์ได้กล่าวถึงกลไกการป้องกันตนเองว่าเป็นวิธีที่จะช่วยบรรเทาปัญหาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่จะไม่ได้ช่วยให้เราแก้ปัญหาที่สาเหตุ เปรียบเสมือนการใช้ยาแก้ปวดที่อาจจะทำให้เราหายปวดหลังได้ชั่วคราว แต่ยาที่ใช้นั้นก็ไม่ได้ไปรักษาที่สาเหตุของการปวดหลัง
ดังนั้นแม้ว่าการใช้กลไกการป้องกันตนเองจะมีประโยชน์อยู่บ้าง และเป็นพฤติกรรมปกติที่ผู้คนมักใช้กันอยู่ทั่วไปเราก็ไม่ควรจะใช้มากจนเกินไป เพราะจะทำให้เราเป็นคนที่ต้องป้องกันตนเองอยู่ตลอดเวลา และเริ่มหลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริงไป เพราะเราไม่ได้มองและแก้ปัญหาที่สาเหตุแต่กลับมีพฤติกรรมที่ทำให้เราหลีกหนีปัญหาเพื่อให้เกิดความสบายใจเพียงชั่วคราวเท่านั้น
“กลไกการป้องกันตนเอง” ที่ว่านี้คืออะไร และเราได้ใช้มันบ่อยแค่ไหน มาทำความรู้จักกับกลไกการป้องกันตนเองว่ามีอะไรบ้าง และแต่ละวิธีนั้นช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างไร
1. การอ้างเหตุผลเข้าข้างตนเอง หรือ Rationalization
เป็นวิธีที่เราจะใช้บ่อยที่สุดเพื่อพยายามให้เหตุผลหรืออธิบายความล้มเหลวบกพร่องของตนเอง ยกตัวอย่างเช่นผู้ที่ไม่สามารถผ่านการทดสอบคัดเลือกเพื่อทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง อาจให้เหตุผลปลอบใจตนเองว่าบริษัทนั้นให้เงินเดือนน้อยและงานที่ให้ทำก็น่าเบื่อ หรือเด็กที่ทำจานแตกก็จะอธิบายกับแม่ว่าเขาจะไม่ทำจานแตกเลยถ้าแม่ไม่เก็บไว้สูงอย่างนี้ จะเห็นได้ว่ากลไกการป้องกันตนเองวิธีนี้ก็คือวิธีที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “การแก้ตัว” นั่นเอง เราคงจะไม่ปฏิเสธว่าเคยใช้วิธีนี้มาบ้างแล้ว และมันก็ช่วยทำให้เรารอดจากการถูกตำหนิไปได้ แต่ Freud ได้เตือนว่าอย่าใช้มากเกินไป เพราะจะทำให้ผู้อื่นมองว่าเราเป็นนักแก้ตัวตัวยง ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนัก
2. การฉายสะท้อน หรือ Projection
เป็นการนำเอาความยุ่งยากหรือความล้มเหลวของตนไปไว้กับผู้อื่น เปรียบเสมือนการสะท้อนลักษณะอันไม่พึงประสงค์ของตนไปให้ผู้อื่น เช่น นักเรียนที่โกงการสอบโดยนำโพยข้อสอบเข้าไปในห้องและถูกจับได้ก็จะบอกกับครูว่านักเรียนคนอื่นในห้องก็โกงเหมือนกันหรือไม่ก็จะกล่าวโทษครูว่าไม่มีมาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบที่ได้ผล เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผู้ที่ใช้กลไกการป้องกันตนเองแบบนี้จะเบี่ยงเบนประเด็นความผิดหรือข้อบกพร่องของตนโดยการชี้ให้เห็นว่าคนอื่นก็มีความผิดแบบเดียวกัน เพื่อช่วยให้ตนเองรู้สึกผิดน้อยลงและมีความรู้สึกที่ดีขึ้น
3. การย้ายที่ หรือ Displacement
ซึ่งเป็นการถ่ายโอนความรู้สึกโกรธเคืองก้าวร้าวที่มีต่อผู้คนหรือสิ่งของไปยังบุคคลหรือสิ่งของที่มีอันตรายน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ถูกแม่ตีเพราะรังแกน้อง อาจจะมีความรู้สึกโกรธแม่ แต่ไม่สามารถตอบโต้แม่ได้ด้วยการตีกลับเด็กก็จะระบายความโกรธและความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นด้วยการเตะลูกบอลหรือขว้างปาหนังสือ ในการโต้เถียงกัน ฝ่ายที่ต้องยอมจำนนก็มักจะแสดงความไม่พอใจด้วยการกระแทกข้าวของ หรือปิดประตูเสียงดังซึ่งก็จะช่วยผ่อนคลายความรู้สึกเดือดดาลที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง คนที่ได้แสดงความไม่พอใจจะรู้สึกดีขึ้น เพราะไม่ต้องเก็บกดอารมณ์ทางลบไว้ แต่ก็อาจทำให้เกิดความไม่พอใจกับคู่กรณีหรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ได้ ดังเช่นกรณีของเด็กที่ถูกทำโทษแล้ว ขว้างปาสิ่งของก็อาจจะถูกคุณแม่ตีซ้ำอีก ดังนั้นเด็กอาจจะแอบระบายความก้าวร้าวโดยไม่ให้ผู้ใหญ่เห็นด้วยการรังแกเพื่อนหรือสัตว์ที่อ่อนแอกว่า ถ้าผู้ใหญ่เป็นคนช่างสังเกตก็จะสามารถเข้าใจถึงสาเหตุของความก้าวร้าวนั้น และสามารถช่วยแก้ความก้าวร้าวของเด็กได้
4. การปฏิเสธความจริง หรือ Denial of reality
เป็นวิธีการที่หลายคนได้ใช้เมื่อความจริงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดอับอายให้แก่ตนเอง เช่น เด็กเล็ก ๆ บางคนจะปฏิเสธความจริงที่ว่าพ่อหรือแม่ที่รักของเขาได้จากโลกนี้ไปแล้ว หรือเด็กโตบางคนจะไม่ยอมรับว่าตนมีผลการเรียนที่ไม่ดี แม้จะสอบตกถึง 4 วิชาก็ตาม การปฏิเสธความจริงเป็นเหมือนหมอนกันความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เพื่อให้เรามีเวลาในการปรับตัวเพื่อยอมรับความจริงในที่สุด แต่คนที่ใช้กลไกการป้องกันตนเองด้วยการปฏิเสธความจริงอย่างพร่ำเพรื่อ ก็จะกลายเป็นที่คนที่หลอกตนเองและไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องได้
5. การชดเชย หรือ Compensation
เป็นวิธีการที่เราใช้เพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดตกบกพร่องของตนเอง เช่น คนที่เล่นกีฬาไม่เก่งก็อาจจะชดเชยด้วยการทำกิจกรรมด้านศิลปะหรือการแสดง หรือคนที่หน้าตาไม่สวยก็อาจจะชดเชยด้วยการแต่งตัวอย่างพิถีพิถัน มีพ่อแม่หลายคนได้ใช้กลไกการป้องกันตนเองวิธีนี้เพื่อตอบสนองความใฝ่ฝันหรือความทะเยอทะยานในวัยเด็กของตนเอง เช่น แม่ที่มีชีวิตขัดสนในวัยเด็กก็จะชดเชยความขาดแคลนของตนด้วยการซื้อข้าวของต่าง ๆ ให้กับลูกมากจนเกินจำเป็น หรือพ่อที่ขาดโอกาสในการศึกษาในระดับสูงก็จะพยายามส่งเสริมให้ลูกได้เรียนจนถึงระดับสูงสุด จะเห็นได้ว่าแม้การชดเชยจะมีประโยชน์อยู่บ้างที่สามารถตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ได้ แต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการนั้นอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของลูกเสมอไป การที่พ่อแม่เข้าไปบงการชีวิตของลูกมากเกินไป แม้ว่าจะมีความตั้งใจที่ดีเพียงใด ก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีแก่ลูกได้
6. การถดถอยกลับไปสู่วัยที่เล็กกว่า หรือ Regression
วิธีนี้จะพบได้บ่อยมากในกรณีที่เด็กมีน้องใหม่ คุณพ่อคุณแม่จะพบพฤติกรรมที่ถดถอยกลับไปสู่วัยที่เล็กกว่าในลูกที่เป็นพี่ เช่นเด็กที่เลิกใส่ผ้าอ้อมแล้วจะกลับปัสสาวะรดกางเกงอีก เคยดื่มนมจากถ้วยได้แล้วก็ขอกลับมาดูดนมจากขวดอีก หรือเคยเดินได้แล้วแต่กลับไปคลานอีกเป็นต้น พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้เด็กทำไปพราะรู้สึกอิจฉาน้องและต้องการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ ส่วนในคนที่โตแล้วแต่ชอบแสดงพฤติกรรมแบบเด็กโดยการแสดงว่าเป็นคนที่ช่วยตนเองไม่ได้ ตัดสินใจเองไม่ได้ ไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนคอยปกป้องดูแลอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นการใช้กลไกการป้องกันตนเองแบบหนึ่งเพื่อลดความรู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิตของตนเองลง
7. การแสดงปฏิกิริยาตรงกันข้าม หรือ Reaction Formation
วิธีนี้จะถูกใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ความปรารถนาที่ไม่เป็นที่ยอมรับได้ถูกแสดงออกโดยการแสดงปฏิกิริยาที่ตรงกันข้าม เช่น เด็กวัยรุ่นที่รู้สึกว่าตนต้องพึ่งพาพ่อแม่จะแสดงปฏิกิริยาก้าวร้าว โต้เถียงหรือขัดแย้งกับพ่อแม่โดยเฉพาะเวลาที่มีเพื่อนอยู่ด้วย หรือชายหนุ่มที่แอบรักหญิงสาวแต่ไม่มั่นใจว่าจะได้รับความรักตอบก็จะแสดงทีท่าที่ตรงกันข้ามกับความรักด้วยการว่ากล่าวติเตียนหรือพูดยั่วให้อีกฝ่ายหนึ่งโกรธ เพื่อกลบเกลื่อนหรือปิดปังความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง
8. การหลีกหนีและการถอนตัว หรือ Escape and withdrawal
เป็นกลไกการป้องกันตนเองที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถหลีกหนีจากสภาพการณ์ที่คุกคามหรือไม่เป็นที่พึงปรารถนาได้ชั่วขณะ ยกตัวอย่างเช่น การที่ลูกน้องผลัดวันประกันพรุ่งที่จะไปรายงานกับเจ้านายถึงความผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานของตน หรือการที่ลูกเขยขอเลื่อนวันนัดไปกินข้าวกับแม่ยายออกไปโดยไม่มีกำหนด เป็นต้น
9.การทดเทิด หรือ Sublimation
เป็นกลไกการป้องกันตนเองซึ่งเบี่ยงเบนแรงจูงใจที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไปสู่การมีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ เช่น ผู้ที่มีความก้าวร้าวสูงก็จะหาทางออกโดยการมีอาชีพเป็นนักมวยซึ่งอนุญาตให้แสดงความก้าวร้าวต่อคู่ต่อสู้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หรือผู้ที่มีแรงจูงใจทางเพศสูงก็จะแสดงออกโดยการแต่งบทประพันธ์ ดนตรี หรือการสร้างสรรค์งานศิลปะ เป็นต้น จะเห็นได้ว่ากลไกการป้องกันตนเองวิธีนี้จะมีประโยชน์มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเลือกวิธีแสดงออกอย่างเหมาะสมซึ่งการแนะนำจากบุคคลใกล้ชิดที่มีความเข้าใจก็จะสามารถทำให้ดึงพลังที่มีอยู่ออกมาใช้ในทางที่สร้างสรรค์ได้
10. การไถ่โทษ หรือ Undoing
เป็นวิธีที่เราใช้เมื่อเรารู้สึกว่าได้ทำผิดต่อใครบางคน และหาทางทำดีเพื่อไถ่โทษ เช่น เมื่อเราผิดนัดกับเพื่อนก็รีบขอโทษด้วยการส่งช่อดอกไม้ไปให้ หรือสามีที่ออกไปรับประทานอาหารกลางวันกับหญิงอื่นสองต่อสองรู้สึกว่าได้ทำผิดต่อภรรยาก็จะเอาอกเอาใจภรรยาเป็นพิเศษ เพื่อทำให้ความรู้สึกผิดของตนลดลง เป็นต้น
กลไกการป้องกันตนเองที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นวิธีการที่ใช้เพื่อบรรเทาความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นจากปัญหาเท่านั้น แต่ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่สาเหตุได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้อย่างพร่ำเพรื่อ
การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ – Cyberbullying
การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เป็นพฤติกรรมการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการคุกคาม ล่อลวง และรังแกผู้อื่นโดยเจตนา โดยมีการกระทำซ้ำ ๆ และผู้ถูกกระทำไม่สามารถแก้ตัวหรือปกป้องได้ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมักสื่อสารด้วยความรุนแรงหรือก้าวร้าว โดยตั้งใจที่จะทำร้ายหรือสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้อื่น
ช่องทางการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์สามารถเกิดขึ้นได้จาก 7 ช่องทางดังนี้
- instant message,
- email,
- SMS,
- social media,
- chat room,
- blog,
- internet gaming
งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่า Cyberbullying โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงมัธยมต้นซึ่งเป็นช่วงวัยรุ่น และมีวัยรุ่นประมาณร้อยละ 20-40 เคยเป็นเหยื่อการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เด็กที่ถูกข่มเหงรังแกมักมีปัญหาความวิตกกังวล ซึมเศร้า ความเหงา การไร้ความสุข และมีปัญหาด้านการนอน
การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์เป็นการข่มเหงที่ไม่ค่อยมีผู้สังเกตเห็น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กต่างเก็บซ่อนการข่มเหงรังแกจากคนที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ เช่น ผู้ปกครอง เพราะมองว่าผู้ใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้พวกเขาได้ และยังอาจถูกระงับการใช้งานโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต
ด้วยเหตุนี้ การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ทำให้เด็กเหล่านี้ค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างช้า ๆ พวกเขากลายเป็นคนเงียบ ๆ เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่เข้าสังคมเหมือนก่อน แต่ไม่มีใครสังเกตเห็นเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ยากหากไม่ได้รับการใส่ใจเพียงพอ
แรงจูงใจในการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
ผู้รังแกมีแรงจูงใจในการก่อการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์โดยส่วนใหญ่เกิดจากความสะดวกและรวดเร็วในการข่มเหงรังแก ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านความมีอำนาจ ศักดิ์ศรี การได้แสดงออกถึงความก้าวร้าว การแก้แค้น ความอิจฉา การได้รับความสนใจ ดูเจ๋ง ดูแข็งกร้าว เป็นที่เกรงกลัวจากผู้จนโดยทั้งหมดนี้สามารถทำได้สำเร็จและไม่ค่อยถูกจับได้
นอกจากนี้ แรงจูงใจอื่นๆ อาจประกอบไปด้วย ความสนุกสนาน และการกระทำเพื่อลดความเบื่อหน่าย ทำเพื่อความรู้สึกตลกขบขัน โด่งดัง และมีอำนาจ หรือทำเพียงเพราะรู้สึกดีเฉย ๆ
มีงานวิจัยในนักเรียนมัธยมปลาย พบว่า การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์มักเกิดจากแรงจูงใจภายใน (เช่น เพื่อความสนุกส่วนตน) มากกว่าเป็นแรงจูงใจภายนอก เพราะการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ผู้รังแกมักไม่ได้รับผลกระทบอะไร เช่น ไม่ต้องเผชิญหน้ากับเหยื่อ นอกจากนี้ยังพบว่า วัยรุ่นตอนปลายมักใช้การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ให้ไปในทางที่ตนต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความสัมพันธ์นั้นมีความเกี่ยวข้องกับความนิยม การมีชื่อเสียง และเรื่องทางเพศ
มีงานวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เคยมีประสบการณ์ในการเป็นผู้ถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อมาก่อน บางงานพบว่าการแก้แค้นหรือการเอาคืนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ทวีความรุนแรง
รูปแบบการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
(Willard, 2007; Kowalski et al., 2014)
- การปะทะคารม (Flaming) คือ การโต้เถียงไปมาระหว่างบุคคล จนก่อเกิดความรุนแรง มีการใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าว และมีการดูถูกเหยียดหยาม มักเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ (เช่น ตามกระทู้บอร์ดสนทนา) มากกว่าพื้นที่ส่วนตัว (เช่น อีเมล)
- การก่อกวน (Harassment) คือ การใช้ถ้อยคำหรือการกระทำใดๆ ที่สร้างความรำคาญใจและความทุกข์ใจต่อบุคคลหนึ่งโดยเจตนา โดยกระทำซ้ำๆ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ช่องสนทนาทาง Facebook
- การใส่ร้ายป้ายสี (Denigration) คือ การส่งต่อข้อมูลของบุคคลที่ไม่เป็นความจริง ผู้ส่งอาจนำข้อมูลไปเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะตามเว็บไซต์ต่างๆ รวมไปถึงพื้นที่ส่วนตัว
- การปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น (Impersonation) คือ การแอบอ้างเป็นบุคคลหนึ่งและกระทำสิ่งที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับบุคคลนั้น เช่น ใช้ถ้อยคำหยาบคายด่าว่ากล่าวผู้อื่น เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมให้กับผู้อื่น ข่มเหงรังแกบุคคลอื่น เป็นต้น การปลอมตัวเป็นบุคคลอื่นสามารถทำโดยการสร้างตัวตนเลี่ยนแบบบุคคลนั้นขึ้นมาใหม่ หรือขโมยรหัสผ่านของบุคคลนั้นเพื่อใช้ตัวตนบนโลกออนไลน์ของบุคคลนั้นทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม
- การเผยแพร่รูปภาพหรือข้อมูลส่วนตัว (Outing and trickery) คือ การเผยแพร่รูปภาพหรือข้อมูลส่วนตัวที่โดยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ก่อให้เกิดความอับอายของบุคคลหนึ่งแก่ผู้อื่น
- การขับออกจากกลุ่มหรือการคว่ำบาตร (Exclusion / ostracism) คือ การขับบุคคลหนึ่งออกจากกลุ่มในโลกออนไลน์ เช่น การไม่ตอบสนองข้อความใดๆ ก็ตามที่บุคคลส่ง หรือลบบุคคลออกจากกลุ่มใน Facebook หรือ Line และกีดกันไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม หรือการพูดคุยต่าง ๆ ในโลกออนไลน์
- การเฝ้าติดตามทางอินเทอร์เน็ต (Cyberstalking) คือ การกระทำที่มุ่งร้าย ก่อกวน สร้างความรำคาญให้กับบุคคลหนึ่งอย่างมาก ผ่านทางไซเบอร์ทั้งทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต จนทำให้เหยื่อรู้สึกกลัวว่าจะถูกทำร้ายหรือถูกทำอะไรที่ผิดกฎหมายทั้งต่อตัวเองและครอบครัว
- การถ่ายคลิปวิดีโอและนำไปเผยแพร่ลงบนอินเทอร์เน็ต (Video recording of assaults) คือ การนำคลิปวิดีโอไปเผยแพร่ตามที่ต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความอับอายให้บุคคลนั้น
- การส่งสิ่งที่มีความล่อแหลมทางเพศ (Sexting) คือ การส่งข้อความ รูปเปลือยหรือรูปกึ่งเปลือยที่มีความล่อแหลมทางเพศให้กับผู้อื่น
การข่มเหงรังแกแบบดั้งเดิม Vs การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
-
ผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจ
เหยื่อมักประสบปัญหาเรื่องความวิตกกังวลในการเข้าสังคม ซึ่งมีผลจากความหวาดระแวงที่ไม่รู้ว่าใครคือผู้ก่อการข่มเหงรังแก และมีใครบ้างมีพบเห็นหลักฐานการรังแกบนอินเทอร์เน็ต เช่น รูปตัดต่อที่สร้างความอับอาย เหยื่อจะเกิดความโกรธ ความหงุดหงิด ความเศร้า ไร้พลังอำนาจ เนื่องจากรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดหรือยุติการข่มเหงรังแกได้ เห็นคุณค่าในตนเองลดลงจากความรู้สึกอับอายหรือการถูกเกลียดชัง ส่งผลให้เกิดความกลัว ความสิ้นหวัง และเกิดภาวะซึมเศร้าได้
- ผลกระทบทางพฤติกรรม
การข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ส่งผลให้เหยื่อขาดความสามารถในการจดจ่อหรือตั้งสมาธิ เพราะมีความหมกมุ่นและวิตกกังวลกับการถูกรังแก จนอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน หรืออาจรู้สึกอับอายหวาดกลัวจนไม่กล้ามาโรงเรียน ส่งผลต่ออัตราการใช้ยาเสพติด การโกงข้อสอบ เพิ่มอัตราการเข้าสถานพินิจ การถูกพักการเรียน และการพกอาวุธเข้ามาในโรงเรียน และมีความคิดหรือพฤติกรรมเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในที่สุด
ลักษณะของเหยื่อที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
- บุคคลที่ปรับตัวเข้ากับคนอื่นไม่ได้ โดยเด็กที่มีความพยายามอย่างมากในการปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มเพื่อน ๆ ทางช่องทางสื่อสารในอินเทอร์เน็ตมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกข่มเหงรังแก
- บุคคลที่ชอบเล่นในเครือข่ายสังคมสังคมออนไลน์ นักเรียนที่เล่นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ 40% ขณะที่นักเรียนที่ไม่ได้เล่นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ 20% นอกจากนี้ วัยรุ่นที่ใช้ระบบการส่งข้อมูลทันทีหรือช่องสนทนาทางอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ซ้ำ ๆ มากกว่าบุคคลที่ไม่ใช้
- กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน อาทิ ชายรักชาย หญิงรักหญิง และ Bisexual มีแนวโน้มที่จะเป็นเป้าหมายของการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์เช่นเดียวกับการข่มเหงรังแกแบบดั้งเดิม มีงานวิจัยพบว่าคนกลุ่มนี้จะต้องเผชิญกับการเฝ้าติดตามทางอินเทอร์เน็ตและการส่งข้อความข่มขู่คุกคามจากคนแปลกหน้า
แนวทางการช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
- การให้ความช่วยเหลือผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยการให้ความรู้ และข้อมูลต่าง ๆ ในการจัดการและรับมือเมื่อถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
- การให้ความช่วยเหลือผ่านทางโรงเรียน มีการสร้างนโยบายสำหรับการรับมือ มีการวางระบบการรายงานเมื่อเกิดเหตุ ออกแบบโปรแกรมที่สอนนักเรียนเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย สอนวิธีการหลีกเลี่ยงและการใช้เทคโนโลยีเป็นแนวทางในการป้องกันและลดแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์
- การให้ความช่วยเหลือผ่านทางคุณครูและนักจิตวิทยาในโรงเรียน ครูต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับการข่มเหงรังแกและการช่วยเหลือนักเรียนในห้องเรียน ส่วนนักจิตวิทยาโรงเรียนอาจมีการจัดกิจกรรมหรือการอบรมให้เด็กนักเรียนทั้งตัวเหยื่อและผู้ก่อการข่มเหงรังแก และสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาดังกล่าวต่อตัวเด็กและผู้ปกครอง
- การให้ความช่วยเหลือผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ เช่น www.isafe.org http://www.sticksnstones.co.nz/ http://www.childnet.com/resources/lets-fight-it-together ซึ่งประกอบด้วยวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ และมีชุดบทเรียนที่ช่วยให้นักเรียนได้อภิปรายร่วมกัน
- การให้ความช่วยเหลือผ่านนักจิตวิทยาการปรึกษา สำหรับเหยื่อ นักจิตวิทยาการปรึกษาจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับความชอกช้ำทางจิตใจและการฟื้นฟูทางจิตใจ สำหรับผู้ก่อการข่มเหงรังแก นักจิตวิทยาการปรึกษาจะมุ่งเน้นให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจากการข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์ จากนั้นจึงมุ่งเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเองและทักษะการเข้าสังคม รวมถึงทักษะการควบคุมอารมณ์ การจัดการอารมณ์โกรธ และวิธีการแสดงความรู้สึกที่เหมาะสม
ข้อมูลจาก
“ผลของกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่ถูกข่มเหงรังแกทางโลกไซเบอร์” โดย พิมพ์พลอย รุ่งแสง (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/58264
“อิทธิพลของอารมณ์ขันทางลบ การละเลยคุณธรรม และการรับรู้ความนิรนาม ต่อพฤติกรรมการข่มเหงรังแกทางเฟซบุ๊ก” โดย อภิญญา หิรัญญะเวช (2561) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/63018