ข่าวและกิจกรรม

การรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2566

 

รายละเอียดการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย

ภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2566

หลักสูตรจิตวิทยา
  • แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
  • แขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
  • แขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์
ตั้งแต่วันนี้ – 30 ก.ย. 66
สอบถามเพิ่มเติม
E-Mail: psy.grad@chula.ac.th

 

รับสมัครและประกาศรายชื่อทุกขั้นตอนผ่านทาง https://www.grad.chula.ac.th

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดต่อเพื่อรับเอกสารแบบฟอร์มชำระค่าธรรมเนียมรับสมัครและส่งหลักฐานการสมัครเข้าศึกษา
โทร: 02-218-1316
อีเมล: psy.grad@chula.ac.th

การเสวนาวิชาการออนไลน์ เรื่อง รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying

 

ขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาวิชาการออนไลน์ (ฟรี) เรื่อง

รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying

 

โดย โครงการ “Smarter Life by Psychology รู้จักเข้าใจ Cyberbullying” คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในวันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลา 17.00-19.00 น. ทาง Zoom

ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาจนจบจะได้รับ e-certificate ทางอีเมล

 

 

วิทยากร
  • คุณคณาธิป สุนทรรักษ์ (ลูกกอล์ฟ) Founder of ANGKRIZ
  • คุณนรินทร ชฎาภัทรวรโชติ (เกรซ) Miss Thailand World ประจำปี 2562 และ Brand Ambassador of Mental Health Department of Thailand
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ (อ.เติ้น) คณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ (อ.หยก) อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และอาจารย์ประจำแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

 

ประเด็นการเสวนา
  • Cyberbullying (การข่มเหงรังแกในโลกออนไลน์) คืออะไร
  • ประเภทต่าง ๆ ของ Cyberbullying
  • ผลกระทบและความรุนแรงของ Cyberbullying ต่อปัจเจกบุคคลและสังคม
  • วิธีการรับมือเหตุการณ์ Cyberbullying หากเป็นผู้ถูกกระทำหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์
  • สิ่งที่ควรตระหนักเพื่อไม่ให้ตนเองเป็นผู้กระทำ

 

สมัครเข้าร่วมได้ทาง https://forms.gle/mX5HiUMi77A5Kgv98

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่ คุณวาทินี 02-218-1307 อีเมล wathinee.s@chula.ac.th

 

 

เพราะไม่สมบูรณ์แบบ…จึงไม่สมควรเป็นผู้ถูกกระทำ : รู้จักมายาคติ “Perfect Victim” หรือ “เหยื่อในอุดมคติ”

 

“เป็นผู้หญิงแต่เมาจนไม่รู้เรื่อง ก็สมควรแล้วที่จะเกิดเรื่องแบบนี้”
“ขายบริการไม่ใช่เหรอ? ได้เงินจะเรียกว่าถูกข่มขืนได้ยังไง?”
“ไม่แปลกหรอกที่จะถูกต่อย ก็ดูสิปากแบบนี้”

 

แม้จะฟังดูโหดร้ายจนไม่น่าเกิดขึ้นได้ แต่คำพูดที่ทิ่มแทงเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน ซ้ำร้ายยังเป็นคำพูดที่ส่งถึงผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อของความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศโดยตรงเพียงเพราะผู้ถูกกระทำเหล่านั้น “ไม่ใช่เหยื่อสมบูรณ์แบบ”

 

Perfect Victim (เหยื่อสมบูรณ์แบบ) หรือ Ideal Victim (เหยื่ออุดมคติ) เป็นภาพจำทางสังคมที่กำหนดกรอบของ “ผู้ถูกกระทำ” หรือ “ผู้ตกเป็นเหยื่อ” ด้วยลักษณะต่าง ๆ ที่ผู้คนให้การตัดสินว่าเป็นลักษณะของผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ โดย นิลส์ คริสตี (Nills Christie) นักสังคมวิทยาชาวนอร์เวย์ ได้เคยเขียนถึงความคาดหวังต่อ “ผู้ถูกกระทำ” ว่ามีลักษณะตามเงื่อนไข 5 ประการด้วยกัน ที่ทำให้เหยื่อคนหนึ่งได้รับความเชื่อถือว่าพวกเขาเป็นผู้ถูกกระทำในความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นั่นคือ

 

  1. ผู้ถูกกระทำจะต้องมีลักษณะอ่อนแอ อาจเป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย ผู้สูงอายุ หรือเยาวชน
  2. ผู้ถูกกระทำจะต้องมีประวัติ หรือหน้าที่การงานที่ดี
  3. ผู้ถูกกระทำจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้อย่างแท้จริง
  4. ผู้ถูกกระทำจะต้องไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวใด ๆ หรือมีความรู้จัก สนิทสนมกับผู้กระทำ
  5. ผู้กระทำจะต้องเป็นคนไม่ดี ที่มีอำนาจมากกว่าผู้ถูกกระทำ

 

โดยคำจำกัดความที่ถูกตัดสินโดยสังคมเหล่านี้ ได้ทำให้ผู้ถูกกระทำจำนวนมากถูกจัดให้อยู่นอกเหนือความเป็นเหยื่อ หรือไม่ได้รับความเชื่อถือในกรณีความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้น ส่งผลเสียอย่างรุนแรงในการได้รับความช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเหมาะสม เพียงเพราะกรอบทางสังคมที่มีความเชื่อมั่นต่อสมมติฐานโลกยุติธรรม (Just-World fallacy) หรืออิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของอคติทางความคิด (Cognitive Bias) อันตั้งบนพื้นฐานที่เชื่อว่าการกระทำของบุคคลหนึ่ง ๆ นั้นมีแนวโน้มที่จะนำผลที่ยุติธรรมโดยศีลธรรมและเหมาะสมมายังบุคคลนั้น และมีอิทธิพลอย่างมากในการตัดสินด้านจริยธรรมของสังคม

 

ตรรกะวิบัติ (Fallacy) ที่ส่งผลทางลบต่อผู้ถูกกระทำนี้ถูกส่งต่อในสังคมเป็นระยะเวลานานหลายชั่วอายุคน ด้วยบรรทัดฐานทางสังคมที่กำหนดกรอบคำจำกัดความของ “คนดีมีศีลธรรม” เอาไว้เพื่อเป็นแบบอย่างความประพฤติของผู้คน และถูกทำให้แพร่หลายมากขึ้นด้วยสื่อต่าง ๆ ที่เข้าถึงความรู้สึกและความคิดของผู้คนได้ง่าย อาทิ บทประพันธ์ งานเขียน นวนิยาย หรือแม้กระทั่งละครโทรทัศน์ที่เสนอภาพลักษณ์ของตัวละครเอกหรือตัวละครฝ่ายธรรมะที่จะได้รับความสุขในชีวิตก็ต่อเมื่อดำเนินชีวิตบนบรรทัดฐานอันดีงามของสังคม

 

แม้ว่าแบบอย่างนั้นจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการประพฤติตน แต่ก็คล้ายจะเป็นดาบสองคมต่อผู้คนด้วยเช่นกันเมื่อภาพจำเหล่านั้นได้สร้างการตัดสินให้ผู้ที่ไม่ประพฤติตามแบบอย่างนั้นกลายเป็น “คนไม่ดี” ที่สมควรได้รับ “บทลงโทษจากการกระทำของตน”

 

 

 

มายาคติเหยื่อสมบูรณ์แบบ….ส่งผลเสียมากมายกว่าที่ทุกคนคิด


 

 

ความเลวร้ายของทัศนคติหรือกรอบแนวคิดที่กำหนดความเป็น “ผู้ถูกกระทำ” ของสังคมนั้น ส่งผลเสียต่อผู้ได้รับความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างมากมาย ในกระบวนการทางกฎหมายของคดีความต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือการล่วงละเมิดทางเพศนั้น เรื่องราวของเหยื่อจะถูกเปิดเผยต่อสังคมและหยิบยกขึ้นมาทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเหยื่อกลายเป็นโมฆะจากกรอบความคิดของ “ความเป็นเหยื่อ” นั้น เพื่อกล่าวโทษว่าพฤติกรรม ความสัมพันธ์ และการใช้ชีวิตของผู้เผชิญกับความรุนแรงดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากตัวผู้ถูกกระทำเอง อาทิ

 

  • การตัดสินคดีความการกระทำชำเราในประเทศอิตาลี ผู้พิพากษายกเลิกข้อกล่าวหาของชายวัย 46 ปีที่กระทำต่อเพื่อนร่วมงานหญิง เพราะฝ่ายหญิงไม่ได้กรีดร้องขอความช่วยเหลือในระหว่างที่ถูกกระทำ
  • ข้อแก้ต่างของนักบินในประเทศมาเลเซียที่กระทำการข่มขืนแอร์โฮสเตสสาว ให้การว่าเธอทำตัวปกติและยังมีความสุขดีหลังจากเกิดเหตุการณ์ จึงไม่ถือเป็นการข่มขืน เพราะเธอไม่ได้แสดงออกถึงบาดแผลทางจิตใจหรือความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
  • ซามูเอล ลิตเติ้ล (Samuel Little) ฆาตกรต่อเนื่องอันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา ก่อเหตุฆาตกรรมเหยื่อไปกว่า 93 ราย โดยรอดพ้นจากการจับกุมจนกระทั่งอายุ 79 ปี ด้วยการก่อเหตุฆาตกรรม “กลุ่มเหยื่อที่ตำรวจไม่ให้ความสนใจ” เช่น โสเภณี คนติดยา คนผิวดำ และคนไร้บ้าน ในขณะที่ตัวผู้กระทำเองมีภาพลักษณ์เป็นชายแก่ใจดีที่มีทรัพย์สินพร้อมสมบูรณ์
  • คดีความทำร้ายร่างกายอดีตแฟนสาวของนักแสดงชาย ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงฝ่ายหญิงในการกระทำนี้ว่าสมควรถูกกระทำ มีคำพูดและความประพฤติไม่เหมาะสมให้เห็นใจ และใช้อำนาจผลักดันอดีตแฟนหนุ่มในทางหน้าที่การงานอย่างไม่สมควร

 

โดยจะเห็นได้ว่าความเป็น “เหยื่อในอุดมคติ” นั้นส่งผลให้ผู้ถูกกระทำในหลายต่อหลายครั้งถูกปฏิเสธการช่วยเหลือ การได้รับความเห็นใจ หรือแม้แต่การเยียวยาทางจิตใจอย่างที่สมควรได้รับ นอกเหนือไปจากนั้นแม้แต่การเปิดเผยเรื่องราวภายหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นในอดีตนั้น ในบางครั้งยังถูกมองว่าเป็นการใช้กระแสสังคมเพื่อเป็นการหาผลประโยชน์ส่วนตนเช่นที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางลบของ #metoo ที่เปิดเผยเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดทางเพศของผู้คนจำนวนมากในโลกอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

 

การตัดสินคนคนหนึ่งด้วยกรอบความคิดที่สร้างจากภาพเหมารวม อาจสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลทางใจให้กับผู้ถูกกระทำไปชั่วชีวิต ซ้ำร้ายยังเป็นการตอกย้ำบาดแผลจากความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น และตราบาปทางจิตใจให้เกิดการโทษความไม่สมบูรณ์แบบของตนเอง

 

 

 

เพียงเพราะไม่ตรงตามอุดมคติ ไม่ได้แปลว่าไม่ได้รับความเจ็บปวด

เหยื่อสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง แต่ความเลวร้ายจากการถูกกระทำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของผู้เผชิญ

 

เพราะในโลกใบนี้ “ไม่มีใครไร้ที่ติ” จึงไม่ควรที่จะมีใครถูกเพิกเฉยต่อความรุนแรงเพราะความด่างพร้อยในชีวิต…ความเห็นใจและความเข้าอกเข้าใจ อาจเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างให้โลกอันแสนโหดร้ายของคน ๆ หนึ่งน่าอยู่มากขึ้นได้นะคะ 🙂

 

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ไตรภพ จตุรพาณิชย์. (2557). อิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมต่อการตัดสินด้านจริยธรรม [วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/45922

 

Nuttkamol Chaisuwan. (2019). เพราะเหยื่อคือกลุ่มคนที่ตำรวจไม่สนใจ : เหตุผลและคำรับสารภาพจากฆาตกรต่อเนื่อง 93 ศพ. https://thematter.co/thinkers/samuel-little-serial-killer/87403

 

ศิรอักษร จอมใบหยก. (2023). หรือเป็นเพราะฉันไม่ดี ถึงไม่มีใครเชื่อว่าเป็นเหยื่อความรุนแรง. https://themomentum.co/wisdom-perfect-victim/

 

Nudchanard k.. (2021). ในโลกนี้ไม่มี “เหยื่อในอุดมคติ”. https://www.sherothailand.org/post/th_there-is-no-perfect-victim

 

Wesley Lowery. (2020). Indifferent Justice Part 1 “The Perfect Victim”

 

รวิตา ระย้านิล. (2022). การโทษเหยื่อในกรณีล่วงละเมิดทางเพศ. https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/article-victimblame

 

 


 

 

 

บทความโดย

คุณบุณยาพร อนะมาน

นักจิตวิทยาประจำศูนย์จิตวิทยาเพื่อประสิทธิภาพองค์กร (PSYCH-CEO)

 

 

Belief in a just world – ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม

 

 

 

 

 

ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม คือ ความต้องการของบุคคลที่จะเชื่อว่าโลกนี้มีกฎเกณฑ์ที่ผู้กระทำดีจะได้รับผลที่ดีเป็นรางวัล ส่วนผู้ที่กระทำไม่ดีจะได้รับผลที่ไม่ดีเป็นการลงโทษ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับใคร ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ย่อมมีความคู่ควรแก่คนคนนั้น

 

ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม คือแรงขับทางด้านความยุติธรรม ที่เป็นแรงจูงใจขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้น และผู้คนส่วนใหญ่มีความเชื่อนี้อยู่ในใจ ในระดับและรูปแบบที่แตกต่างกันไป ความเชื่อนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพัฒนาการภายในของตัวบุคคล ประกอบไปด้วย ความต้องการที่จะเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรม ประสบการณ์ตรงในชีวิต และการขัดเกลาทางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มคนหัวก้าวหน้า (liberal) ที่ต้องการความรู้สึกว่าเท่าเทียมกันในสังคม

 

ในมุมมองของนักจิตวิทยาสังคม ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมถูกอธิบายว่าเป็นความลำเอียงทางปัญญา แต่ความเชื่อนี้เป็นกลไกสำคัญที่บุคคลใช้ในการรับมือกับความเครียด เสมือนภาพลวงตาทางบวกที่ช่วยให้บุคคลรู้สึกดีและนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี เพราะในชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยการกีดกัน การกดขี่ และความไม่ยุติธรรมในสังคม การที่บุคคลพยายามจะหาคำอธิบายเพื่อรักษาความยุติธรรมไว้จะต้องลงแรงมาก บุคคลที่เชื่อว่าโลกยุติธรรมจึงใช้วิธีที่ง่ายกว่า โดยให้ความชอบธรรมกับเหตุการณ์ที่ไม่ยุติธรรมโดยละทิ้งความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น และตีความเหตุการณ์นั้นใหม่ ด้วยการมองว่าใครก็ตามที่ต้องประสบเคราะห์ร้ายหรือพบความไม่ยุติธรรมนั้นก็สมเหตุสมผลดีแล้ว

 

ดังนั้น ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมจึงไม่ได้เป็นเรื่องความยุติธรรมโดยแท้จริง แต่เป็นลักษณะความเชื่อที่จัดว่าเป็นภาพลวงตาขั้นพื้นฐานที่บุคคลใช้แก้ต่างความไม่ยุติธรรม มากกว่าเป็นแรงจูงใจที่จะกระทำการอย่างยุติธรรมจริงๆ

 

 

ผลทางบวก


 

1. สุขภาวะ

ผู้ที่มีความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมสูงมีแนวโน้มจะครุ่นคิดต่อเหตุการณ์ด้านลบน้อยกว่าเพราะความเชื่อนี้ทำให้บุคคลลดความสำคัญของสิ่งร้ายๆ ที่ตนต้องเผชิญลง ความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมจึงส่งผลให้บุคคลเป็นปกติสุขได้ เมื่อบุคคลมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกว่าทุกอย่างมีความหมายและสามารถคาดการณ์ได้ บุคคลจะมีทัศนคติทางบวกต่ออนาคต ซึ่งอาจทำให้เห็นคุณค่าในตนเองสูงขึ้น ทำให้บุคคลแน่ใจว่าเขาจะได้รับสิ่งที่สมควรแก่ตนถ้าเขาปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม

 

2. การไปสู่เป้าหมายระยะยาว

บุคคลที่เชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมย่อมหวังว่าการกระทำดีในปัจจุบันจะให้ผลที่ควรค่าในอนาคต การกระทำใดๆ ที่อาจได้ผลในระยะสั้นอาจไม่น่าพึงพอใจเท่ากับการอดทนรอผลที่คุ้มค่ากว่าในระยะยาว นั่นคือบุคคลจะสร้างพันธะส่วนบุคคลเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่รอคอย (อดเปรี้ยวไว้กินหวาน)

 

3. พฤติกรรมทางบวก

จากการวิจัยพบว่า ผู้ที่เชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมสูงจะสามารถยอมรับต่อเหตุการณ์ที่ไม่ยุติธรรมกับตนได้มากกว่า มีแนวโน้มจะช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อตนเองต้องการมากกว่า รับรู้ถึงความเอื้อเฟื้ออย่างจริงใจของผู้อื่นได้มากกว่า และมีคะแนนความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่เชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมจะตอบสนองต่อผู้กระทำไม่ดีในทางสร้างสรรค์ (เช่น การเจรจา การให้อภัย) มากกว่าที่จะแก้แค้นหรือใช้ความรุนแรง และช่วยให้ผู้ถูกกระทำสามารถรับมือกับความทุกข์ด้วยวิธีต่างๆ

 

ผลทางลบ


 

1. การดูหมิ่นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

การศึกษาความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมกับผู้ตกเป็นเหยื่อรูปแบบต่างๆ พบสหสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมกับการโยนความผิดผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือผู้ที่ต้องประสบกับเคราะห์ร้ายประเภทต่างๆ คือเมื่อบุคคลพบเหตุการณ์ที่ผู้ถูกกระทำตกเป็นเหยื่อของความไม่ยุติธรรมหรือความไม่สมเหตุสมผล บุคคลจะกล่าวหาว่าผู้เคราะห์ร้ายนั้นต้องเคยกระทำสิ่งที่ไม่ดีมาก่อนจึงต้องมารับผลเช่นนี้ เพื่อหาทางกู้ความรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ยังยุติธรรมดีอยู่ เป็นแรงจูงใจที่จะหาความยุติธรรมจากเหตุการณ์ในกรณีที่รู้สึกว่าไม่สามารถกระทำสิ่งใดๆ เป็นการชดเชยเหยื่อได้ การโยนความผิดนี้จะชัดเจนเมื่อเหตุร้ายเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นมากกว่าเกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นในระดับจิตก่อนสำนึก หรือเป็นกลไกที่เกิดขึ้นอัตโนมัติและเกี่ยวพับกับอารมณ์ความรู้สึก ทั้งนี้การดูหมิ่นเหยื่อของผู้ที่มีความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมสูงจะเกิดขึ้นน้อยลงหากบุคคลได้รับการเน้นย้ำถึงความบริสุทธิ์ของเหยื่อ หรือได้คำนึงถึงสถานการณ์แวดล้อมและบรรทัดฐานของสังคม

 

2. อคติและการกีดกันสถานภาพ

ความคิดที่ว่าผู้เคราะห์ร้ายสมควรได้รับผลเช่นนั้นแล้ว นำไปสู่การกีดกันและการกดขี่ เนื่องจากผู้ที่เชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมจะมองว่าทุกอย่างที่ทุกคนได้รับนั้นสมเหตุสมผลดีแล้ว จึงไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นคือมองว่าการที่มีใครต้องประสบเคราะห์น้อยหรือมีสถานภาพที่ด้อยกว่าในสังคม (เช่น ชนกลุ่มน้อย กลุ่มรักร่วมเพศ ผู้หญิง คนยากจน ฯลฯ) ไม่ใช่ปัญหา มองว่าคนเหล่านั้นไม่ได้ถูกกีดกันแต่อย่างใด และไม่เกิดแรงจูงใจที่จะแก้ปัญหา

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“อิทธิพลของความเชื่อว่าโลกมีความยุติธรรมต่อการตัดสินด้านจริยธรรม” โดย ไตรภพ จตุรพาณิชย์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/45922

 

ขอบคุณภาพจาก Getty Images

และภาพการ์ตูนจาก @มิติคู่ขนาน
http://www.ookbeecomics.com/authors-and-artists/Phongmanus-Nus/detail-page/14571

 

 

ทำไมพ่อแม่ที่ดีจึงเลี้ยงลูกได้ไม่ดี

 

ท่านเคยคิดไหมค่ะว่าการเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นเป็นภารกิจที่แสนยาก แม้เราจะมีความตั้งใจ และพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ทำไมลูกของเราจึงยังคงเป็นเด็กดื้อ ไม่เอาใจใส่ต่อการเรียน และมีพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา ซึ่งสร้างความหนักใจให้กับพ่อแม่และครูบาอาจารย์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในวันนี้ดิฉันมีคำตอบค่ะ คำตอบเหล่านี้ได้มาจากการรวบรวมผลการวิจัยของนักจิตวิทยาจากหลายมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Naney Shute ได้เขียนรวบรวมไว้ใน US. News World and Report ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดิฉันขอถือโอกาสนี้นำมาถ่ายทอดนะคะ ผลการวิจัยทางจิตวิทยาได้พบข้อผิดพลาด 8 ประการ ที่พ่อแม่มักทำอยู่บ่อย ๆ ในการอบรมเลี้ยงดูลูกดังนี้

1. พ่อแม่ไม่ได้กำหนดขอบเขตความประพฤติให้แก่ลูก

พ่อแม่หลายคนเห็นด้วยกับการตั้งกฎกติกา เพื่อให้ลูกปฏิบัติตาม แต่เมื่อพบกับเด็กที่กำลังร้องไห้หรืออาละวาด พ่อแม่ก็จะยอมแพ้ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากพ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูกจำกัด ดังนั้นจึงอยากให้เวลานั้นเป็นเวลาที่ลูกมีความสุขมากที่สุด เลยไม่อยากขัดใจลูก ผลที่ตามมาก็คือพ่อแม่ก็เลยต้องเลี้ยงลูกแบบตามใจ อย่างไรก็ตามงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ที่ตามใจลูกอย่างไม่มีขอบเขตนั้น ทำให้เด็กต่อต้านและท้าทายพ่อแม่ขึ้น เนื่องจากการที่พ่อแม่ไม่วางกรอบให้เด็กเดิน เด็กจะรู้สึกขาดความมั่นคง ปลอดภัย จึงพยายามทดสอบว่าพ่อแม่ จะยอมตามใจเขาไปถึงไหน เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบตามใจ ยังมีผลเสียอีกหลายอย่าง เช่น มีปัญหาเรื่องการเรียน ใช้ยาเสพติด และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเป็นวัยรุ่น และยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต มีอาการซึมเศร้า หรือวิตกกังวล มากกว่าเด็กที่พ่อแม่วางกรอบความประพฤติไว้อย่างชัดเจน และสนับสนุนลูกให้ปฎิบัติตาม

พ่อแม่สามารถกำหนดกฎกติกาง่าย ๆ และชัดเจนได้โดยการอธิบาย ให้เด็กเข้าใจถึงผลที่จะเกิดขึ้น ถ้าเด็กไม่ทำตามกติกา และถ้าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกรู้สึกว่าตนเป็นพ่อแม่ที่ใจร้าย พ่อแม่ก็สามารถให้เด็กเลือกจากทางเลือกสองสามอย่างที่พ่อแม่ยอมรับได้ เช่น เล่นเกมคอมพิวเตอร์ครึ่งชั่วโมงก่อนทำการบ้าน หรือจะทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงจะมีสิทธิ์เล่นเกม เป็นต้น เมื่อมีกฎแล้วพ่อแม่ก็จะต้องสนับสนุนให้เด็กทำตามกฎอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใจอ่อนหรือยอมให้เด็กทำผิดกฎโดยง่าย กล่าวชมเชย และให้กำลังใจแก่เด็กในการทำตามข้อตกลง ข้อสำคัญควรเริ่มสอนให้เด็กเคารพกติกาตั้งแต่อายุน้อย ๆ เมื่อเด็กเริ่มพูดเข้าใจแล้ว การตามใจเด็กไประยะหนึ่งแล้วจึงมาตั้งกฎ จะทำให้พ่อแม่เหนื่อยมากขึ้นในการทำให้เด็กยอมรับกติกา

 

2. พ่อแม่ปกป้องคุ้มครองมากเกินไป

ครู ผู้ฝึกสอน และนักจิตบำบัดได้ตั้งข้อสังเกตว่า พ่อแม่ในปัจจุบันไม่สามารถทนเห็นลูกล้มเหลว หรือประสบความยากลำบากได้ ดังนั้นพ่อแม่จะเข้ามาแทรกทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของลูก ตั้งแต่การทะเลาะกับเพื่อนที่สนามเด็กเล่น การได้เล่นตำแหน่งไหนในทีมฟุตบอลของโรงเรียน จนกระทั่งคะแนนผลการเรียนของลูก พ่อแม่บางคนยังตามปกป้องคุ้มครองลูก แม้ว่าลูกจะจบการศึกษาและเข้าทำงานแล้ว

 

มีเจ้าของบริษัทประชาสัมพันธ์แห่งหนึ่งในนครนิวยอร์คได้เล่าว่า เขาเคยได้รับอีเมลล์จากพ่อแม่ที่เขียนมาต่อว่าว่าบริษัทให้ลูกของเขาทำงานมากเกินไป การที่พ่อแม่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ว่าในบางครั้งเขาอาจจะต้องล้มเหลวหรือผิดพลาด หรือพบกับอุปสรรคบ้างจะทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีการเผชิญกับปัญหา และการที่พ่อแม่เข้ามาช่วยเหลืออย่างรวดเร็วนั้นเท่ากับเป็นการบอกเด็กว่าพ่อแม่ไม่มั่นใจ ว่าลูกจะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ทำให้เด็กกลัวปัญหา ขาดแรงจูงใจในการเรียน เด็กบางคนไม่ได้เป็นเด็กที่เกียจคร้าน แต่ไม่อยากล้มเหลวเลยไม่พยายาม

3. พ่อแม่บ่น พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ และตะโกนใส่เด็ก

ถ้าพ่อแม่บอกเด็กหนึ่งครั้งให้มาทานอาหาร แล้วเด็กไม่มา ถ้าพูดซ้ำอีก 20 ครั้ง เด็กจะมาไหมคะ งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ มักจะไม่รับฟังคำสั่งที่ซ้ำ ๆ กัน พ่อแม่หลายคนคิดว่าจะต้องใช้อารมณ์ พูดเสียงดัง ขู่ หรือพูดประชดประชัน เพื่อให้ลูกทำตาม ผลที่ตามมาคือ เด็กจะเลียนแบบวิธีการของพ่อแม่ ในเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ การบ่นของพ่อแม่ถือเป็นการเสริมแรงทางลบอย่างหนึ่ง เพราะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนได้รับความสนใจ จึงยังคงทำพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาต่อไป พ่อแม่หลายคนไม่รู้ตัวว่าได้เสริมแรงพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของลูกโดยการไม่สนใจเวลาลูกทำดี แต่ทันทีที่ลูกทำผิด พ่อแม่ก็จะหันมาให้ความสนใจ ซึ่งเท่ากับเป็นการเสริมแรงให้ลูกทำผิดบ่อยขึ้น เพื่อจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ ทางที่ดีพ่อแม่ควรจะใช้การสริมแรงทางบวกแทน โดยการชมเชยทุกครั้งที่ลูกทำในสิ่งที่ดีหรือถูกต้อง และไม่ให้ความสนใจในข้อผิดพลาดของลูก นอกจากนั้นพ่อแม่ยังสามารถสร้างระบบการให้รางวัลแก่ลูก เมื่อลูกทำตามข้อตกลง รวมทั้งการทำโทษเมื่อลูกทำผิดกติกาได้ด้วย เช่น ถ้าลูกเก็บของเล่นทุกครั้งที่เล่นเสร็จครบหนึ่งสัปดาห์ ลูกจะได้ของเล่นที่ลูกอยากได้ แต่ถ้าลูกไม่เก็บของเล่นเกินสองครั้งต่อสัปดาห์ ลูกจะไม่ได้ของเล่น เป็นต้น

 

4. พ่อแม่ชมเชยเด็กมากเกินไปและชมเชยไม่ถูกจุด

เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าการชมเชยเด็กทำให้เด็กรู้สึกดีและมีแรงจูงใจที่จะทำในสิ่งที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือพ่อแม่พูดคำชมเชยไม่เป็น ส่วนมากจะใช้คำกว้าง ๆ เช่น “ดีมาก” หรือเป็นคำที่เกี่ยวกับตัวเด็กแทนที่จะเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กทำ เช่น “ลูกเป็นคนเก่งจริงๆ” นักจิตวิทยาพบว่า คำชมเชยเหล่านี้ทำให้เด็กเกิดแรงจูงใจน้อยลงและมีความเชื่อมั่นน้อยลง จากผลการทดลองของนักจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่า เด็กระดับป.5 ที่ได้รับคำชมเชยว่า “ฉลาด” แทนที่จะได้รับคำชมเชยว่า “มีความพยายามดี” ได้ใช้ความพยายามในการทำแบบทดสอบน้อยลงและมีความยากลำบากในการจัดการกับความล้มเหลวมากกว่า การที่พ่อแม่พยายามบอกลูกว่า เขาเป็นคนพิเศษอาจทำให้เด็กหลงตนเอง แทนที่จะเห็นคุณค่าในตนเอง ดังนั้นแทนที่จะบอกกับลูกว่า “ลูกเป็นคนพิเศษของพ่อ แม่” การบอกลูกว่า “พ่อแม่รักลูก” จะดีกว่าในทุกกรณี

5. พ่อแม่ลงโทษเด็กรุนแรงเกินไป

ถึงแม้ว่านักจิตวิทยาพัฒนาการจะไม่เห็นด้วยกับการเฆี่ยนตีเด็ก แต่งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ยังคงลงโทษเด็กรุนแรงเกินไป และถ้าเด็กยังทำผิดซ้ำอีก พ่อแม่ก็จะเฆี่ยนตีด้วยไม้เรียวที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้นพ่อแม่จึงควรจะทำความเข้าใจใหม่ว่าเป้าหมายของการลงวินัยเด็กนั้นคือ การสอน ไม่ใช่ทำให้เด็กเจ็บหรือหลาบจำเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การลงโทษเด็กโดยไม่ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทุกคนกำลังทำอยู่โดย แยกเด็กให้อยู่ตามลำพังเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ที่เรียกว่า “timeout” นั้น นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาได้พบว่า “timeout” จะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อพ่อแม่ลงโทษเด็กทันทีที่ทำผิด และเป็นการลงโทษที่ใช้เวลาเพียงสั้น ๆ เพราะเด็กจะสามารถเชื่อมโยงกับความผิดที่ได้ทำไป และการลงโทษนั้นต้องไม่รุนแรง จนทำให้เด็กโกรธเคืองพ่อแม่ นักจิตวิทยาแนะนำว่า การแยกเด็กออกตามลำพังควรจะใช้เวลาเพียง 2-3 นาที โดยทั่วไปแล้วจะเป็นเวลา 1 นาทีต่ออายุ 1 ปีของเด็ก ส่วนวัยรุ่นซึ่งโตเกินกว่าที่จะใช้การลงโทษด้วย “timeout” แล้ว พ่อแม่อาจจะตัดสิทธิพิเศษ บางอย่างออกแต่ไม่ควรเกินหนึ่งวัน เพราะถ้านานกว่านั้น แทนที่เด็กจะรู้สึกสำนึกในความผิดที่ได้ทำลงไปเด็กจะรู้สึกโกรธเคืองพ่อแม่ ทำให้เกิดความห่างเหินในความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามีการลงโทษนานเกินไป ในที่สุดพ่อแม่ก็จะต้องยอมผ่อนผันอยู่ดี ดังนั้น พ่อแม่ควรจะสอนเด็กให้รู้จักทำความดี เช่น ให้ซ่อมแซมสิ่งที่เขาได้ทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อแลกกับการได้สิทธิพิเศษคืน เป็นต้น

 

6. พ่อแม่บอกลูกว่าควรจะรู้สึกอย่างไร

หนังสือเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูส่วนใหญ่จะเป็นวิธีกำจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของเด็ก แต่งานวิจัยจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการร่วมรู้สึกกับผู้อื่นเป็นคุณสมบัติสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้เราสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือความสัมพันธ์ภายในครอบครัว การที่เด็กได้มีโอกาสคิดถึงความรู้สึกของตนเองว่ามันเกิดจากสาเหตุอะไร บางครั้งก็อาจจะเกิดจากการกระทำของเขาเอง บางครั้งก็อาจเกิดจากการกระทำของคนอื่น การเข้าใจความรู้สึกของตนเองจะนำไปสู่ความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นด้วย ทำให้เด็กรู้จักยับยั้งที่จะไม่ทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น ไม่ว่าจะโดยการพูด หรือการกระทำ

 

ในเวลาที่เด็กรู้สึกเสียใจ พ่อแม่มักจะบอกกับเด็กว่า “ไม่เป็นไรหรอก” หรือ “อย่าร้องไห้” การทำเช่นนี้ทำให้เด็กไม่มีโอกาสเรียนรู้จากความรู้สึกของตนเอง แทนที่พ่อแม่จะห้ามไม่ให้เด็กเสียใจ พ่อแม่ควรจะบอกกับลูกว่า “พ่อแม่ก็เสียใจเช่นกัน พ่อแม่เข้าใจนะว่าลูกรู้สึกอย่างไร” ก็เพียงพอแล้ว อีกประการหนึ่งที่พ่อแม่ไม่ควรลืมก็คือ พ่อแม่เป็นตัวแบบที่สำคัญของลูก เด็กจะเรียนรู้การร่วมรู้สึกกับผู้อื่นจากการกระทำของพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่จะต้องเข้าใจว่าการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของลูกมีความสำคัญ มันเป็นการง่ายที่จะร่วมรู้สึกดีใจกับลูกเมื่อลูกสอบได้เกรด A ในทุกวิชา แต่ถ้าลูกสอบตกนั่นเป็นช่วงเวลาที่ลูกต้องการการสนับสนุนทางด้านจิตใจจากพ่อแม่ คำพูดและท่าทีของพ่อแม่ในเวลานั้น จะทำให้ลูกรู้สึกแย่หรือมีกำลังใจที่จะแก้ตัวใหม่ ซึ่งพ่อแม่จะต้องเตรียมคำพูดและการแสดงท่าทีที่เหมาะสมสำหรับเหตุการณ์ทางลบเหล่านั้นด้วย

 

7. พ่อแม่ให้ความสำคัญแก่คะแนนสอบมากกว่าความริเริ่มสร้างสรรค์

 

การที่พ่อแม่เน้นผลการเรียนหรือคะแนนมากเกินไป อาจทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าเขาควรจะเรียนรู้อะไร พ่อแม่อยากให้เด็กเรียนรู้กฎ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อยากให้เด็กอ่านหนังสือคล่อง คิดเลขได้เร็ว แต่พ่อแม่ไม่ค่อยได้สนับสนุนให้เด็กมีความริเริ่มสร้างสรรค์ เด็กที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์จะไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ เมื่อความคิดแรกของเขาไม่เกิดผล แต่เขาจะรู้ว่าการใช้เวลาและความอดทนจะทำให้ได้คำตอบ ดังนั้น เป้าหมายของการสอนจึงไม่ใช่เพียงแต่ทำให้เด็กตอบคำถามได้เท่านั้น แต่จะต้องสอนให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักถามคำถามที่สำคัญ ๆ ด้วย พ่อแม่สามารถช่วยให้เด็กเป็นนักคิดได้โดยการถามคำถามปลายเปิด เช่น “ลูกมีวิธีอื่นอีกไหมที่จะแก้ปัญหานี้” หรือถามลูกที่กำลังร้องไห้งอแงว่า “ลูกมีวิธีอื่นอีกไหมที่จะบอกแม่ว่า ลูกต้องการอะไร”

8. พ่อแม่ลืมที่จะเล่นสนุกกับลูก

นักจิตวิทยาพบว่าในครอบครัวที่มีปัญหานั้น พ่อแม่ลูกมักไม่ค่อยได้หัวเราะหรือเล่นสนุกร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวมักจะเป็นการแก้ไขความขัดแย้ง การว่ากล่าวสั่งสอน และการตำหนิติเตียน ดังนั้น พ่อแม่จึงควรจะถามตนเองว่า “เราได้หัวเราะและเล่นสนุกกับลูกครั้งสุดท้ายเมื่อไร” และถ้าหากพบว่าพ่อแม่ลูกไม่ได้หัวเราะร่วมกันร้องเพลงด้วยกัน หรือเล่นสนุกร่วมกันนานมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่พ่อแม่จะต้องหันกลับมาเตือนตนเองว่าได้มีความบกพร่องเหล่านี้ในครอบครัวแล้ว ยังคงไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นในวันนี้เพื่อทำให้บรรยากาศของครอบครัวมีความสุข สนุกสนาน และน่าจดจำตลอดไป

 

 


 

 

 

จากบทความสารคดีทางวิทยุ รายการจิตวิทยาเพื่อคุณ

ของ รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ออกอากาศวันที่ 15-19 กันยายน 2551

 

 

จิตวิทยาผู้บริโภค : หลักการทางจิตวิทยาที่มักนำมาใช้ในการโฆษณา

 

นักโฆษณาได้นำหลักการทางจิตวิทยาหลายเรื่องมาใช้ในการโฆษณา เรื่องแรกก็คือการชี้ว่าสินค้าที่โฆษณาใคร ๆ ก็ใช้กัน วิธีนี้ใช้หลักการเรื่องบรรทัดฐานของสังคมที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้สินค้าที่โฆษณาเป็นเหมือนบรรทัดฐานของสังคม วิธีการนี้ใช้ได้ผลดีกับผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่น เนื่องจากวัยรุ่นมักต้องการการยอมรับจากเพื่อน การทำตัวให้เหมือนเพื่อน ๆ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะได้รับการยอมรับจากเพื่อนได้

 

เรื่องที่สองคือการใช้การเปรียบเทียบกับสินค้าอื่นโดยภาพรวม เช่น การบอกว่าสินค้าของตนทนทานกว่าสินค้าอื่นในท้องตลาดทั้งหมด หรือสินค้าของตนมีคุณภาพดีกว่าสินค้าอื่น ๆ ในด้านนี้เนื่องจากในประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาเปรียบเทียบสินค้าที่เจาะจงตราหนึ่งกับอีกตราหนึ่งโดยตรง เหมือนที่มีการอนุญาตกันในต่างประเทศ ในประเทศไทยจึงหลีกเลี่ยงไปเปรียบเทียบกับสินค้าอื่นโดยภาพรวม

 

เรื่องที่สามคือการทำให้ผู้รับสารเกิดอารมณ์ดีเพื่อประโยชน์ในการโฆษณา โดยใช้หลักการที่ว่าถ้าทำให้ผู้รับสารมีอารมณ์ดี ผู้รับสารก็จะมีความรู้สึกที่ดีต่อสินค้าที่โฆษณาไปด้วย เช่นการใช้นักร้องยอดนิยมดาราภาพยนตร์ยอดนิยม สาวงามหรือหนุ่มหล่อมาเป็นผู้เสนอสินค้า การใช้ความตลกขำขันเข้ามาช่วยในการโฆษณา การเสนอภาพทิวทัศน์สวยงามมาช่วยในการโฆษณา และการใช้กลิ่นที่หอมยวนใจใส่ในนิตยสารหรือเผยแพร่ในห้างสรรพสินค้า

 

เรื่องที่สี่คือการใช้เทคนิคบอกว่าของที่เสนอขายมีจำนวนจำกัด วิธีนี้ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าของที่เสนอขายมีจำนวนจำกัด หมดแล้วหมดเลย หากผู้บริโภคมาซื้อช้าก็อาจซื้อสินค้านั้นไม่ได้

 

เรื่องที่ห้าเป็นการบอกว่ามีการลดราคาสินค้าในเวลาที่จำกัด เช่นลดราคาวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์เพียง 3 วัน หรือลดราคาระหว่างเวลา 4 ทุ่มถึงตีหนึ่ง แล้วเรียกชื่อให้จำง่ายว่า มิดไนท์เซลล์

 

เรื่องที่หกเป็นการกำหนดระยะเวลาที่ผู้บริโภคจะได้รับสิทธิพิเศษถ้ารีบซื้อในเวลาที่กำหนด เช่นที่มีการโฆษณาในโทรทัศน์ว่าถ้าโทรสั่งของภายในเวลา 15 นาที จะได้รับของแถมพิเศษ ได้ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ หรือได้รับสินค้า 2 ชิ้นในราคาของสินค้าชิ้นเดียว

 

 

 

เรื่อง 3 เรื่องหลังนี้ใช้หลักการที่คล้ายคลึงกัน คือทำให้ผู้บริโภคคิดไปว่ามีข้อจำกัดในด้านปริมาณของสินค้า เวลาที่ขายและสิทธิพิเศษที่ได้รับจากการซื้อสินค้า ผู้บริโภคที่รู้เท่าทันจึงต้องตระหนักว่าสิ่งและวิธีการที่นักโฆษณานำมาโฆษณานั้น เป็นสิ่งที่ตนกำลังต้องการอยู่พอดีหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ควรไปคล้อยตามโดยง่าย เพราะสินค้าหลายอย่างมีอายุในการเก็บไว้ใช้งาน หากซื้อเก็บไว้นานเกินไปจะไม่ดี

 

 

สีกับผู้บริโภค


 

บางส่วนนำมาจากงานเขียนของเบอร์นิส แคนนเนอร์ (Bernice Kanner) ในนิตยสารนิวยอร์ค นักโฆษณาได้นำสีต่าง ๆ ที่ได้มีการวิจัยกันโดยหลักการทางจิตวิทยามาใช้ในการโฆษณา และนักการตลาดก็นำมาใช้มากเช่นกัน

 

เริ่มจากสีฟ้า เป็นสีที่เชื่อมโยงกับบุคลิกภาพของผู้มีอำนาจหรือผู้ที่สมควรให้ผู้อื่นเคารพนับถือ เป็นสีที่ได้มีการศึกษากันมาแล้วว่าผู้คนทั่วโลกชอบมากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเป็นสีที่เหมือนกับท้องฟ้าที่ผู้คนสามารถมองเห็นได้จากทั่วโลก และเป็นสีที่ผู้คนคุ้นตามากที่สุด ผู้ชายมักมองหาสินค้าที่ใส่ในกล่องสีฟ้า ทางตะวันตกเช่นอเมริกามีการเชื่อมโยงสีฟ้ากับเพศชาย สินค้าหลายอย่างที่ทำสำหรับเด็กชายจึงมักใช้สีฟ้าประกอบ เช่นสีของจุกขวดนม สีผ้าเช็ดตัว สีเสื้อเด็ก สีของป้ายชื่อที่ผูกข้อมือเด็กหลังคลอด และสีของสินค้าหลายอย่างสำหรับเด็กอ่อนที่มีการจัดใส่ตะกร้าขาย ในประเทศไทยโรงพยาบาลหลายแห่งและผู้ขายสินค้าหลายรายก็รับเอาความนิยมนี้มาใช้ด้วย สินค้าที่ใส่ในกล่องสีฟ้าหลายอย่างถูกรับรู้ว่าเป็นสินค้าที่มีแคลอรีต่ำ เช่นน้ำตาลเทียม หรือนมพร่องไขมัน ถ้าเป็นกาแฟขวดสีฟ้าจะทำให้ผู้บริโภครับรู้ว่าเป็นกาแฟที่มีรสนุ่มนวลหรือไมลด์ แต่ก็น่าแปลกที่สีฟ้าเป็นสีที่ไม่พบในอาหารตามธรรมชาติเลย บริษัทข้ามชาติที่ใช้สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของตนโดยสม่ำเสมอคือบริษัท IBM

 

ต่อมาคือสีเขียว เป็นสีที่ใช้แทนความเป็นธรรมชาติที่ผ่อนคลาย ความมีชีวิตชีวา และความมั่นคง เป็นสีที่ใช้ทาห้องทำงานแล้วจะทำให้ผู้ทำงานมีความรู้สึกที่ดี เป็นสีที่เชื่อมโยงกับผักและหมากฝรั่ง เครื่องดื่ม Canada Dry ginger ale มียอดขายเพิ่มขึ้นหลังจากเปลี่ยนกล่องบรรจุจากสีแดงเป็นสีเขียวและขาว น้ำอัดลมที่ใช้สีเขียวมาเน้นการโฆษณา ทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความสดชื่นมาเชื่อมโยงกับน้ำอัดลมนั้น ๆ สินค้าต่าง ๆ และบุหรี่ที่มีรสเมนทอลนิยมใช้สีเขียวเป็นกล่องบรรจุจนทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเชื่อมโยงสีเขียวกับรสเมนทอล ถ้าเป็นสีเขียวอ่อนแล้วนำไปใช้ในการโฆษณาบ้าน จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าบ้านมีความร่มรื่นท่ามกลางแมกไม้

 

สีเหลือง เป็นสีที่เชื่อมโยงกับความระมัดระวัง ความแปลกใหม่ ความชั่วคราวและความอบอุ่น เป็นสีที่ตาคนมองเห็นได้อย่างรวดเร็ว เป็นสีบอกให้เตรียมหยุดของสัญญาณไฟจราจร เป็นสีที่นิยมในการใช้เขียนป้ายขายบ้านในอเมริกา กาแฟในขวดที่ใช้ฉลากสีเหลืองจะถูกรับรู้มีรสชาติอ่อน

 

สีแดง เป็นสีที่เชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ ความตื่นเต้น ความเร่าร้อนความหลงใหล และความเข้มแข็ง กาแฟที่ใช้ฉลากสีแดงทำให้ผู้บริโภครับรู้ว่าเป็นกาแฟที่มีรสเข้มข้น สีแดงที่ใช้ประกอบกับอาหาร เช่นเป็นกล่องของอาหาร มักทำให้ผู้บริโภครับรู้ว่าอาหาร “มีกลิ่นที่ดี” น้ำอัดลม “โคคาโคล่า” ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ตลอดกาล ผู้หญิงมักชอบไปทางสีแดงอมน้ำเงิน ขณะที่ผู้ชายมักชอบไปทางสีแดงอมเหลือง

สีขาว เป็นสีที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ ความดี ความสะอาด ความละเอียดอ่อน และความเป็นทางการ ถ้าใช้กับอาหารจะแสดงถึงความบริสุทธิ์และความมีประโยชน์ต่อร่างกาย แสดงถึงว่าเป็นอาหารที่มีแคลอรีต่ำ หากใช้กับผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ แสดงถึงความสะอาดและความเป็นหญิง โรงแรมต่าง ๆ มักจัดผ้าเช็ดตัวสีขาวไว้บริการแขกที่มาพัก เพื่อสื่อความหมายถึงความสะอาด และผลพลอยได้ก็คือความสะดวกในการซักให้สะอาดได้ง่ายกว่าการใช้ผ้าสี

 

สีดำ เป็นสีที่แสดงถึงพลังอำนาจ ความลึกลับ และความซับซ้อน ถ้าเป็นเรื่องเสื้อผ้าก็แสดงถึงความทรงพลังอำนาจและความลึกลับ แต่ถ้าเป็นเรื่องเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็แสดงถึงความมีเทคโนโลยีสูงของสินค้า คนไทยและคนในอีกหลายสังคมใช้สีดำเป็นสีในการไว้ทุกข์

 

สีเงิน สีทองและสีทองคำขาว เป็นสีที่แสดงถึงความสง่าผ่าเผย ความร่ำรวยและความเป็นทางการ ถ้าใช้กับสินค้าจะเป็นการชี้แนะว่าเป็นสินค้าที่มีราคาแพง บริษัทรถยนต์หลายบริษัทใช้สีทองหรือสีเงินเป็นสีแนะนำรถยนต์รุ่นหนึ่ง ๆ ทั้งที่พิมพ์ในแผ่นพับ ในการทำภาพยนตร์โฆษณา และในการนำไปแสดงจริง เป็นการแสดงถึงความสง่าผ่าเผยของผู้ที่จะใช้รถยนต์รุ่นนั้น ๆ

 

สีน้ำตาล เป็นสีที่แสดงถึงความไม่เป็นทางการ ความผ่อนคลาย เป็นธรรมชาติและแสดงถึงความเป็นชาย ถ้ากาแฟใช้ฉลากสีน้ำตาลเข้มมักทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นกาแฟที่มีรสเข้มข้นมาก ผู้ชายมักมองหาสินค้าที่บรรจุกล่องสีน้ำตาล

 

สีส้ม เป็นสีที่เชื่อมโยงกับความมีอำนาจ ความไม่เป็นทางการและราคาพอซื้อหาได้ เป็นสีที่สะดุดตาได้ง่าย ที่คนไทยเราคุ้นเคยกันในเวลานี้ก็คือโทรศัพท์สีส้ม

 

 


 

 

จากบทความสารคดีทางวิทยุ รายการจิตวิทยาเพื่อคุณ
ของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระพร อุวรรณโณ
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ออกอากาศวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2545

 

เทคนิคได้คืบจะเอาศอก (Foot-in-the-door) กับการโน้มน้าวใจแบบตัวต่อตัว

 

การโน้มน้าวใจเป็นหัวข้อสำคัญในการศึกษาทางจิตวิทยาสังคมมาช้านาน เพราะคนเราบ่อยครั้งที่ต้องการเปลี่ยนใจผู้อื่น เปลี่ยนพฤติกรรมผู้อื่น เพื่อจุดประสงค์หลากหลายทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น พนักงานขายต้องการขาย tablet รุ่นใหม่ล่าสุดให้แก่เรา ก็จะพยายามใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อทำให้เราตกลงซื้อ เช่น อาจจะบอกว่าเครื่องรุ่นนี้มีข้อดีต่าง ๆ นานา หรือมีโปรโมชั่นในช่วงเวลาจำกัด เป็นต้น ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า เทคนิคต่าง ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนใจคนนั้นมีประโยชน์ โดยเฉพาะการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น การขอรับบริจาคเงินเพื่อผู้เดือดร้อน หรือการขอความช่วยเหลือในเรื่องที่เป็นประโยชน์ เช่น ขอให้ช่วยประหยัดไฟ ขอให้ร่วมกันลงแรงช่วยเหลือผู้เดือดร้อน เป็นต้น

 

นักจิตวิทยาสังคมได้คิดค้นเทคนิคต่าง ๆ เพื่อการโน้มน้าวใจโดยเฉพาะแบบตัวต่อตัวค่ะ โดยในปี ค.ศ. 1966 Freedman และ Fraser ได้คิดค้นเทคนิคโน้มน้าวใจแบบไร้การกดดันแต่นำไปสู่การยอมทำตามได้ เรียกว่า foot-in-the-door ใกล้เคียงกับลักษณะได้คืบจะเอาศอกในสำนวนไทย หลายท่านอาจจะคิดว่า อ๋อ… คือการขออะไรน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ ขออีกภายหลัง ใช่เลยค่ะ เทคนิคนี้มีลักษณะเป็นกระบวนการ 2 ขั้นตอน เริ่มจากขั้นที่ 1 เป็นการขอให้เขาช่วยเหลือ/ทำอะไรให้/ยอมเราในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อน แล้วจึงมาถึงขั้นที่ 2 ซึ่งเป็นการขออีกครั้งในแบบขอมากขึ้นกว่าขั้นที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งที่ผู้ขอต้องการจริงๆ ตั้งแต่แรก แต่ใช้การขอในขั้นที่ 1 ทำให้การขอในขั้นที่ 2 ได้รับการตอบรับง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ รู้สึกคุ้น ๆ เหมือนจะเคยมีพนักงานขายหรือนักการตลาดใช้เทคนิคนี้กับเรามาแล้วกันบ้างไหมคะ?

 

งานวิจัยตั้งต้นของ Freedman และ Fraser โทรศัพท์ไปหาแม่บ้านในเมืองแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา เพื่อขอความร่วมมือในการสำรวจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน โดยขั้นที่ 1 เป็นการขอให้แม่บ้านช่วยตอบคำถามทางโทรศัพท์เกี่ยวกับน้ำยาล้างจานที่ตนใช้อยู่ จากนั้น 3 วันต่อมา ผู้วิจัยคนเดิมโทรศัพท์ไปหาอีกโดยขอความยินยอมให้เจ้าหน้าที่ทีมสำรวจ 6 คน เข้าไปในบ้านเพื่อสำรวจผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่แม่บ้านเหล่านั้นใช้ในบ้าน โดยจะขอเปิดดูลิ้นชักและตู้เก็บของต่าง ๆ ด้วย (ขอค้นบ้านกันเลย!) โดยพบว่า เทคนิคได้คืบจะเอาศอก ทำให้แม่บ้านตกลงกับคำขอมากในครั้งที่ 2 มากขึ้น (52.8%) กว่าเมื่อไม่ได้ขอขั้นที่ 1 ให้ได้การยินยอมก่อนแต่โทรศัพท์มาขอสำรวจบ้านในขั้นที่ 2 เลย (22.2%)

 

หลังจากเทคนิคได้คืบจะเอาศอก ได้รับการเผยแพร่ออกมาในฐานะบทความวิจัยว่าได้ผลอย่างมากโดย Freeman และ Fraser แล้ว ก็นำไปสู่การตื่นตัวในแวดวงนักจิตวิทยาสังคม บ้างก็ทดสอบดูว่าได้ผลจริงหรือไม่ บ้างก็พยายามค้นหาว่าประสิทธิภาพของเทคนิคดังกล่าวเกิดจากอะไร และทดสอบการปรับเปลี่ยน/ปรับเพิ่มการใช้เทคนิคในรูปแบบต่าง ๆ โดยงานวิจัยพบว่าสาเหตุที่เทคนิคได้คืบจะเอาศอก ได้ผลในการขอมากหากบุคคลได้เคยตกลงกับคำขอเล็กๆ น้อยๆ มาก่อนหน้าแล้ว เป็นเพราะกลไกหลัก 3 ประการคือ:

 

  1. จากการยอมช่วยเหลือในขั้นที่ 1 บุคคลเกิดการรับรู้ต่อตนเองว่า เป็นคนที่ชอบช่วยเหลือในเรื่องนี้ ดังนั้นเมื่อถูกขอร้องอีกในขั้นที่ 2 จึงยอมตามได้ง่ายขึ้น
  2. คนเราชอบความคงเส้นคงวาจึงอยากทำอะไรที่สอดคล้องกับสิ่งที่เคยทำมาในอดีต เช่น เคยช่วยเขามาแล้ว ทำไมวันนี้จึงจะไม่ช่วยล่ะ? ทำให้ยอมตามคำขอร้องในขั้นที่ 2 ได้มากขึ้น
  3. เกิดการตระหนักถึงแนวปฏิบัติของการช่วยเหลือกันของคนในสังคม การยินยอมต่อคำขอเล็ก ๆ น้อย ๆ ในขั้นที่ 1 อาจทำให้คนคนนั้นนึกขึ้นได้ว่าคนเราในสังคมควรจะช่วยเหลือกัน ทำให้ยอมตามคำขอในขั้นที่ 2 ได้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยระยะหลังที่มีการทำซ้ำการวิจัยตั้งต้นของ Freedman และ Fraser ก็ไม่ได้พบผลของเทคนิคระดับสูงมากเท่าที่พวกเขาได้พบไว้ (เช่น Beaman, Cole, Preston, Klentz, & Steblay, 1983) แต่ก็ถือว่าเป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการโน้มน้าวใจแบบตัวต่อตัว

 

งานวิจัยต่อมา ได้ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า การใช้เทคนิคได้คืบจะเอาศอกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจทำได้โดยใช้หลักการการสร้างความต่อเนื่องระหว่างการช่วยเรื่องเล็ก ๆ ในขั้นที่ 1 กับการสมควรช่วยอีกเมื่อถูกขอในขั้นที่ 2 และคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้

 

  1. การขอร้องควรเป็นเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคม เช่น ช่วยบริจาคเงินแก่ผู้เดือดร้อน เพราะจะทำให้ใช้ประโยชน์จากแนวปฏิบัติเรื่องการช่วยเหลือกันในสังคมได้เหมาะสม
  2. การขอร้องเล็ก ๆ ในขั้นที่ 1 ควรมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เขารู้สึกว่าได้ช่วยเหลือ ได้พยายามเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้สามารถเกิดการรับรู้ตนเองได้ว่าชอบช่วยเหลือในเรื่องนี้
  3. การขอในขั้นที่ 1 ควรเป็นสิ่งที่บุคคลสามารถทำได้และเต็มใจทำ เช่น การตอบแบบสอบถามสั้น ๆ การลงชื่อเห็นด้วยกับเรื่องนั้น ๆ เป็นต้น และเมื่อทำเสร็จแล้วควรระบุต่อเขาให้ชัดเจนว่า “เขาได้ช่วยแล้ว หรือเขาช่วยได้มาก” เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ตนเองว่า เขาชอบช่วยเหลือในเรื่องนี้
  4. เพิ่มประโยคที่เน้นย้ำการให้เสรีภาพในการเลือกว่าจะช่วยหรือไม่ช่วยในขั้นที่ 1 เช่นพูดต่อท้ายคำขอว่า “..แล้วแต่เธอเลยนะ จะช่วยหรือไม่ก็ได้นะ” ทำให้บุคคลตัดสินใจโดยนึกถึงแนวปฏิบัติว่า คนเราควรช่วยเหลือกัน
  5. การขอในขั้นที่ 2 ซึ่งเป็นขั้นที่ผู้ขอต้องการจริง ๆ แต่แรกนั้น ควรระบุว่าเป็นความต่อเนื่องหรือมีทิศทางเดียวกันจากการขอในขั้นที่ 1 เช่นเป็นเรื่องเดียวกัน หรือเป็นภาคต่อ เพื่อสร้างความต่อเนื่องของการช่วยเหลือจากขั้นที่ 1
  6. ควรมีการเว้นระยะเวลาการขอขั้นที่ 2 ให้ห่างจากครั้งแรกพอสมควร เช่นหลาย ๆ วันแต่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพราะการขอ 2 ครั้งติด ๆ กันอาจทำให้ผู้ถูกขอรู้สึกว่าถูกรบเร้ามากเกินไป และมองผู้ขอว่าขอไม่จบไม่สิ้น ทำให้เทคนิคไม่ได้ผล

 

นอกจากนี้ งานวิจัยต่อมายังพัฒนาต่อเติมเทคนิคได้คืบจะเอาศอกไปในหลายแนวทาง เช่น เพิ่มขั้นตอนการขอจาก 2 เป็น 3 ขั้น เช่น ขออะไรเล็ก ๆ ตามด้วยขอขนาดกลาง ๆ และลงท้ายด้วยการขอขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการขอให้ช่วย (เช่น Souchet & Girandola, 2013) เช่น ขอให้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับใช้ไฟฟ้า (ขั้นที่ 1) เมื่อยอมแล้วตามด้วยขอให้เขียนบทความสั้น ๆ เรื่องการประหยัดไฟ (ขั้นที่ 2) ก่อนจะขอให้ร่วมมือประหยัดไฟฟ้าเป็นเวลา 2 สัปดาห์ (ขั้นที่ 3) เป็นต้น ซึ่งพบผลว่าแบบมี 2 ขั้นก่อนหน้าก่อนการขอหลัก ทำให้เกิดการยอมตามคำขอหลักมากขึ้นกว่าเทคนิคแบบดั้งเดิม อันเป็นผลที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย เช่นในการขอความช่วยเหลือจากบุคคลในประเด็นต่าง ๆ (ที่เป็นเรื่องทางบวกหรือให้ผลดี) เป็นต้น

 

มาถึงตรงนี้แล้ว อย่าลืมทดลองนำเทคนิคได้คืบจะเอาศอกนี้ไปใช้ในการขอความช่วยเหลือในเรื่องดีๆ ให้คนเราหันมายอมทำสิ่งดีๆ ต่อกันให้มากขึ้นด้วยนะคะ

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Beaman, A. L., Cole, C. M., Preston, M., Klentz, B., & Steblay, N. M. (1983). Fifteen years of foot-in-the-door research: A meta analysis. Personality and Social Psychology Bulletin, 9(2), 181–196. doi:10.1177/0146167283092002

 

Freedman, J. L., & Fraser, S. C. (1966). Compliance without pressure: The foot-in-the-door technique. Journal of Personality and Social Psychology, 4(2), 195–202. doi:10.1037/h0023552

 

Souchet, L., & Girandola, F. (2013). Double foot-in-the-door, social representations, and environment: Application for energy savings. Journal of Applied Social Psychology, 43(2), 306–315. doi.10.1111/j.1559-1816.2012.01000.x

 

 

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

 

https://www.forbes.com/sites/neilpatel/2014/10/13/foot-in-the-door-technique-how-to-get-people-to-take-seamlessly-take-action/?sh=7bb176c7d9e9

 

 


 

 

บทความโดย

 

ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา

 

ถอดความ PSY Talk เรื่อง Pride Month กับมุมมองทางจิตวิทยา

 

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง

Pride Month กับมุมมองทางจิตวิทยา

 

โดยวิทยากร
  • พ.อุเทน บุญอรณะ (หมอแพท)
    อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา, นักเขียนนามปากกา “รังสิมันต์”, เจ้าของเพจ “หมอตุ๊ด”
  • อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์ (อ.แฮม)
    ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา
  • คุณภิรญา ธีระโชติกรกุล (คุณเฟิร์น)
    Co-Founder นฤมิตไพรด์ ผู้จัดงาน Bangkok Pride 2023

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ (อ.หยก)
    ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคมและการสื่อสาร

 

วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 13.30 – 14.30 น.

 

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/935451114415077/

 

 

 

 

การจัดงาน Pride month ส่งผลต่อการรับรู้ของคนในสังคมอย่างไรบ้าง


 

คุณภิรญา

แบ่งออกเป็น 2 มุม ด้านหนึ่งคือการรับรู้ในแง่ของการ celebrate การเป็นสีสัน เห็นภาพของ community ที่ไม่ได้เป็นส่วนน้อยในสังคมไทย ความแข็งแรงของ community ส่วนด้านที่สอง ด้วยตัว pride parade เอง ในทุก ๆ ขบวนมันมีพื้นฐานจาก community อยู่แล้ว มีองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะ NGO CSO ที่ทำงานขับเคลื่อน เรียกร้องประเด็นทางกฎหมายและสิทธิต่าง ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นมันก็ถูกสอดแทรกประเด็นต่าง ๆ อยู่เหมือนกัน

 

Pride parade ในประเทศไทยค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่กรุงเทพมหานครจัด ก่อนหน้านี้ก็มี pride parade เหมือนกัน แต่จะเป็น gay pride คือค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น Pride parade ที่เป็น LGBTQ+ เลย ปีที่แล้วเป็นปีแรก ซึ่งก็เกิดการรับรู้ตื่นตัวประมาณหนึ่ง ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองด้วย ปีที่แล้วเป็นปีที่เราได้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ มีการเปิดนโยบายต่าง ๆ ที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น คนก็รับรู้ไปแล้วส่วนหนึ่ง มาคราวนี้ รอบที่สองมันเชื่อมโยงกับการเมืองระดับประเทศ เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน ภาพมันก็เลยกว้างขึ้น คนรับรู้มากขึ้น ถามว่าแต่ละคนรับรู้มากน้อยขนาดไหน เข้าใจลึกซึ้งขนาดไหน ก็คงจะต่างกัน แต่ถามว่ารับรู้มากขึ้นมั้ย เฟิร์นมองว่ามันเป็นภาพที่ใหญ่มาก ๆ ว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้น

 

อ.หยกฟ้า

ปีนี้ออกข่าวแทบทุกช่องเลย สมัยก่อนยังรู้สึกว่าเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มเฉพาะ กลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนต้น วัยทำงาน ที่มีความสนใจการขับเคลื่อนทางสังคม แต่ปีนี้ ประเด็นเหล่านี้มันเข้าไปอยู่ในความคิดของคนในสังคม คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายก็ได้รับรู้ว่ามันมีอะไรแบบนี้ เด็กเล็ก ๆ ก็รับรู้ด้วย

 

หมอแพท

จากการสังเกต เรื่อง LGBTQIAN+ ก่อนหน้านี้เรารู้จัก ทุกคนรู้จัก แต่ด้วยตัว pride parade ที่ทำกิจกรรมในสองปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนจากการรู้จักเป็นการรับรู้ เรารับรู้มากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วเพื่อนของเรา มีใครบ้าง เป็นอย่างไร เขายังขาดมิติใด ๆ ในเรื่องความเท่าเทียมบ้าง ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ pride parade เป็นตัวที่ช่วยรณรงค์แคมเปญต่าง ๆ มันค่อย ๆ เปลี่ยนจากรู้จักเป็นรับรู้มากขึ้น คิดว่าปีถัด ๆ ไปก็จะรับรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ

 

เราพูดกันถึงในมุมใหญ่ ๆ ไปแล้ว มาลองดูในมุมเล็ก ๆ บ้าง แพทมองในมุมของความเหงา เด็กบางคนก็เกิดมารู้ตัวว่าตัวเองเป็น LGBTQ+ สิ่งแรกที่ทุกคนรู้สึกคือ รู้สึกเหงา มนุษย์เราไม่ได้ต้องการเพียงปัจจัยสี่ เรายังต้องการปัจจัยห้าด้วย คือการ connect การเชื่อมโยง คือตัว pride parade เป็นตัวที่ต่อให้เราไม่ได้ไปเข้าร่วม แต่พอเราได้เห็น เราได้รับรู้ว่ามันมีความหลากหลายอยู่ เราจะรู้สึก connect กับคอมมู เมื่อเรารู้สึกว่าเราเชื่อมโยง ความเหงาจะหายไป

 

ถ้ามองในแง่ของบุคคลเล็ก ๆ พูดถึงใจของแต่ละคน ตัวเด็กหรือคนทุกวัยก็ตาม พอได้เห็นอันนี้มันจะช่วยให้เขา connect กับคอมมูได้ และรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เหงา ไม่ได้ถูก disconnect ไป

 

อ.หยกฟ้า

ตรงนี้น่าสนใจมาก ว่าถึงแม้เราจะไม่ได้ไปเดินขบวน แต่การมีงาน มีการให้ความสำคัญกับตรงนี้ เราก็ได้เห็นว่ามีคนที่เหมือนเราอยู่เต็มไปหมดเลย ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ถูกกีดกันออกมา ไม่ได้โดดเดี่ยว โดยเฉพาะเด็กที่อาจจะเพิ่งรู้จักตนเอง เขายังอยู่ในวัยที่ต้องการคนมาซัพพอร์ต ให้กำลังใจ หรือวางรากฐานวิธีคิดว่าควรจะต้องทำอย่างไรต่อไป

 

หมอแพท

ใช่ครับ อย่างน้อยทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นตัวคนเดียวในโลกนี้ สำหรับเด็กที่เกิดมาแล้วรู้สึกว่า ฉันไม่ได้เป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็น straight อารมณ์แรกเลยคือจะรู้สึก disconnect แน่ ๆ ตรงนี้ก็จะช่วยเชื่อมโยงเขากับโลกของเขาที่เขาอาจจะไม่รู้มาก่อนว่ามี

 

คุณภิรญา

ขอเสริมว่านอกจากเด็กแล้ว ขอแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปีที่แล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นภาพชัดเลย คือกลุ่มผู้สูงวัย เรามีผู้สูงวัยในประเทศไทยที่เป็น LGBTQ+ เยอะมาก เขาค้นพบตัวเองแล้วว่าเขาเป็น แต่ว่าในยุคของเขามันไม่ได้มีการเปิดกว้าง ไม่มี community ที่มีการเห็นภาพชัดว่ามีการ connect กันได้ขนาดนี้

 

ตั้งแต่ปีที่แล้วที่จัดงานเราได้รับ inbox เข้ามาเยอะมาก เขาถ่ายรูปคู่กัน บอกว่า ป้าเป็นเลสเบียนนะ อยู่ด้วยกันมา 30 ปีแล้ว รู้สึกว่างานวันนี้ดีมากเลย ป้าไม่ได้โดดเดี่ยว มีเพื่อน

 

เหมือนว่าเมื่อได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นแล้วคนอื่น ๆ ก็เป็นเหมือนฉันเหมือนกัน ฉันไม่ได้โดดเดี่ยวใน 60 ปีที่ฉันใช้ชีวิตมา มีอะไรแบบนี้เยอะมาก จึงเห็นด้วยกับหมอแพทในเรื่องการ connect ซึ่งนอกจากเด็กที่กำลังค้นหาตัวตน คนที่ค้นหาแล้ว เป็นอีก generation หนึ่ง ที่เขาอาจจะโดดเดี่ยวมาสักพักหนึ่งแล้ว ก็ได้ connect กับ community เหมือนกัน

 

อ.ภาณุ

แฮมว่านอกจากการ connect ของคนที่มีลักษณะเหมือนกัน มันคือการ connect กับเครือข่าย คือมีองค์กรหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการซัพพอร์ตกลุ่ม LGBTQ+ การที่เราได้เข้าไปรู้จักภาคีเครือข่ายเหล่านี้ ก็เป็นการที่เราได้เชื่อมโยงกับองค์กรที่ให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา แฮมมองว่า LGBTQIAN+ ที่ชื่อยาวมากนี้ มันมีความหลากหลายอยู่แล้วในตัวเอง ดังนั้นงาน pride ที่นอกจากจะเป็นการเฉลิมเฉลองแล้ว การเป็น LGBTQ+ นั้นเรายังมีความรู้สึกกลัวการถูกประเมิน การถูกตัดสินจากสังคมหรือคนรอบข้าง หรือกระทั่งตัวเราเอง ดังนั้นงาน pride เป็นงานหนึ่งที่บางทีคนหลายคนใช้พื้นที่นี้ในการเสี่ยงหรือการทดลองดูว่า ถ้าเขามีรสนิยมความชอบแบบนี้ ตัวเขาเป็นแบบนี้ เขาจะสามารถได้รับการยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน

 

แฮมได้มีโอกาสสัมภาษณ์เพื่อนแฮมที่ไปร่วมงาน pride ปีที่แล้ว และขออนุญาตนำมาแชร์ให้ฟัง เขาบอกว่าเขาอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ แต่ก็มีความชอบบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง และเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาชอบแบบนี้นั้นจะถูกตัดสิน ประเมินแค่ไหน เมื่อมีงาน pride เขาก็คิดวางแผนเลยว่าจะแต่งตัวอย่างไร ไปเดินที่ไหน และถ้าแต่งตัวแล้วมันไม่โอเค เขาจะไปเปลี่ยนชุดกลับที่ไหน อย่างไร และเมื่อเขาไปเดิน เขาก็พบว่าการที่เขาได้เปิดเผยบางอย่างที่เป็นตัวตนของเขาที่เฉพาะเจาะจงนั้น เขาได้รับการยอมรับ ถูก respect เขารู้สึกว่าเขาเป็นแบบนี้ได้ มันไม่ผิด มันเปิดกว้าง มันเสรีมากขึ้น เขารู้สึกว่ามันเป็นการ unlock ตัวเขา เกิดการเปลี่ยนแปลงข้างในตัวเองของเขาเยอะมากเลย ดังนั้นงาน pride จึงเป็นพื้นที่ที่ผู้คนหลากหลายได้มีโอกาสมาสำรวจหรือรู้จักตัวเองมากขึ้น จิตวิทยาที่นี่มองว่า self หรือตัวเรา มีลักษณะเหมือนฟองน้ำพรุน ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนทุกอย่างตลอดเวลา คนที่มาเดินขบวน หรือคนที่มาแค่โบกธงเฉย ๆ การที่เขาได้เห็นงาน pride ได้เห็นคนที่เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ แม้ตัวเขาเองจะยังไม่พร้อม แต่เขาก็จะได้รับสาร รับสิ่งต่าง ๆ ไป ถึงจังหวะหนึ่งจุดหนึ่งเขาอาจจะกล้าเปิดเผยหรือยอมรับตัวเองได้มากขึ้น แต่ละคนมีกระบวนการในการยอมรับตนเองต่างกัน แต่งาน pride เป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถให้เราได้ลองมารู้จักและยอมรับตัวเองได้มากขึ้นได้

 

อ.หยกฟ้า

เวลาเราถามว่างาน pride ส่งผลต่อการรับรู้ของคนในสังคมอย่างไร เรามักจะมองในแง่ว่าคนนอก หรือ outsider จะมองอย่างไร แต่คนใน คนที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ มองตนเองอย่างไร หรือมีโอกาสได้สำรวจตัวเองอย่างไร ซึ่งงาน pride ก็ได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนที่จะกล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อสำรวจตัวเองโดยไม่กลัวคำตัดสินหรือการประเมิน เพราะวันนี้เป็นเหมือนวันที่ฉันสามารถทำอะไรบางอย่างได้ ไม่มีใครมาว่าฉัน

 

 

การเคลื่อนไหวที่จะมี สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ส่งผลต่อการยอมรับของคนในสังคมมากขึ้นด้วยหรือไม่


 

คุณภิรญา

ตอนนี้มันค้างอยู่ในสภาสองอัน แต่เสียงประชาชนส่วนใหญ่ก็คือเอาสมรสเท่าเทียม ไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะจริง ๆ ต้องชี้แจ้งอย่างนี้ว่า ในส่วนของพ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้นมันเป็นการกดทับอีกครั้งหนึ่งด้วยซ้ำ เป็นการกดขี่ในรูปแบบของกฎหมาย เพราะฉะนั้น 1. ยืนยันว่าเอาสมรสเท่าเทียม 2. ถ้าสมมติว่าสมรสเท่าเทียมไม่ผ่าน ต้องบอกก่อนว่าที่อยู่ในสภาตอนนี้เป็นร่างของพรรคก้าวไกล ซึ่งถ้าสมมติว่าไม่ผ่านก็มีอีกร่างหนึ่งที่เป็นร่างของภาคประชาชน ที่ก่อนหน้านี้มีการล่ารายชื่อ มีรายชื่อแล้วประมาณสามแสนหกหมื่นรายชื่อ ถ้าร่างนั้นไม่ผ่านหรือมีอะไรก็แล้วแต่ ร่างของภาคประชาชนที่ถ้าเทียบกันจริง ๆ แล้ว มีความก้าวหน้าของร่างของพรรคก้าวไกลอยู่เล็กน้อย ตัวนั้นจะถูกส่งเข้าสภาไปเช่นกัน ตอนนี้มีทีมที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่

 

ส่วนที่ว่ามันผ่านแล้ว การรับรู้ของสังคมมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร ต้องบอกว่าสำหรับคนที่ไม่เข้าใจหรือต่อต้าน เขาก็คงจะช็อค เฟิร์นมองว่าถ้ามันมีสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นมันก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ มันก็ไม่ได้ต่างกับชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสกัน ไม่ได้เป็นสิทธิพิเศษที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่ทำให้คู่รักที่ถูกลิดรอนสิทธิ มีสิทธิเท่ากับคู่รักชายหญิงเท่านั้นเอง ถ้าถามว่าจะทำให้มีการเปิดกว้างขึ้นมั้ย ก็คงทำให้สังคมมีความเข้าใจมากขึ้น พอมันมีตัวกฎหมายมายืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายนะ มันไม่ได้ผิด มันก็อาจจะยืนยันได้ว่าสิ่งนี้สามารถทำได้นะ และหากมองถึงในอนาคต เฟิร์นมองว่าถ้าเรามีสมรสเท่าเทียมแล้ว มันก็จะมีกฎหมายอื่น ๆ ที่ ณ ตอนนี้กำลังเรียกร้องอยู่เพิ่มเติมเข้าไปอีก ถ้าต้องการให้สังคมไทยก้าวหน้าจริง ๆ เทียบเท่าต่างประเทศ ไม่ว่าเป็นเรื่องการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ การเรียกคำนำหน้า การยกเลิกการปราบปรามการค้าประเวณี อะไรเหล่านี้ มันยังมีกฎหมายอีกเยอะมากที่จะต้องเรียกร้องกันต่อไป ก็คิดว่าถ้าสมรสเท่าเทียมผ่าน การรับรู้ของคนในสังคมก็คงจะเปิดกว้างมากขึ้น และเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ณ วันนี้ ความรักของฉันมันไม่ผิด ไม่เป็นสิ่งที่ใครมาตีตราได้ว่ามันผิดหรือแปลกประหลาด

 

หมอแพท

ขอแยกเป็น 2 ส่วน ตอนนี้มันมี พ.ร.บ.คู่ชีวิตกับสมรสเท่าเทียม ก็อย่างที่คุณเฟิร์นบอก พ.ร.บ.คู่ชีวิตจัดเป็นพ.ร.บ.แบบขอไปที อยากมีหรือ ฉันมีให้ก็ได้ แต่ฉันมีให้แค่นี้เท่านั้นนะ จึงเป็นการกดขี่อยู่ เนื่องจากว่าทำงานด้านนี้มาพอสมควร คือแพทเป็นคนที่ออกมาเรียกร้องว่า เลิกใช้คำว่า นายแพทย์ กับ แพทย์หญิง แต่ให้ใช้คำว่า พ. คือ แพทย์ คำเดียวก็พอ อย่างอเมริกาเขาก็ใช้คำว่า M.D. ต่อท้ายเฉย ๆ เลย ลองนึกภาพว่ามีคุณหมอที่เป็นทรานส์ เขายังต้องมีคำว่า นายแพทย์นำหน้าอยู่หรือ เวลาคนไข้จะมารักษากับเขา ไปเสิร์ชชื่อแล้วเห็นว่าเป็นนายแพทย์แต่พอมาเจอเป็นผู้หญิง เขาก็จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ดังนั้นนอกจากเรื่องสมรสเท่าเทียมมันยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมาก

 

ในระยะสั้น ถ้าเรื่องสมรสเท่าเทียมมันผ่านได้แล้วจริง ๆ แพทมองว่าการรับรู้ของสังคมในระยะสั้นจะไม่ได้เปิดกว้างมากขึ้น แต่มันจะชัดเจนขึ้น คนที่สนับสนุนก็จะสนับสนุนได้เยอะขึ้น ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เช่น บริษัทประกัน การสร้างอนาคตร่วมกัน การกู้ร่วมเพื่อที่จะมาซื้อบ้าน ทุกวันนี้ภาคเอกชนเขานำหน้าภาครัฐบาลไปเยอะมากเลยนะ สามารถซื้อประกันชีวิตให้คู่รักของตนเองได้แม้จะเป็นเพศเดียวกัน การกู้ร่วมในเพศเดียวกันเพื่อซื้อบ้าน ทำได้ อะไรแบบนี้ในระยะสั้นมันจะได้เห็นชัดเจนขึ้น แน่นอนว่าสำหรับคนที่แอนตี้ ก็จะแอนตี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คนที่เกลียดไม่ได้เกลียดด้วยเหตุผล ไม่ได้เกลียดด้วยกฎเกณฑ์ เขาเกลียดเพราะเขาเกลียด ดังนั้นต่อให้มีกฎหมายมาช่วย มีข้อมูลมาช่วย ให้เขาเข้าใจ แต่การเข้าใจใช้สมองอีกส่วนหนึ่ง คนละส่วนกับที่เกี่ยวกับความเกลียด ความชอบ การยอมรับ

 

ทีนี้ในระยะยาว แพทไม่ได้มองใน generation นี้ แพทมองถึงเด็กหนึ่งขวบสองขวบ เขาจะเกิดและเติบโตมาในโลกที่ทุกคนเท่ากัน ผมเคยเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมืองหนึ่ง และนักการเมืองใหญ่ในพรรคนั้นเขาพูดว่า ผมไม่เข้าใจเลยนะว่าจะมาเรียกร้องสิทธิพิเศษอะไรกันขนาดนี้ เราก็รู้สึกว่าแบบนี้เป็นนักการเมืองไม่ได้ เขามองว่าเป็นสิทธิพิเศษ ทั้งที่เรายังไม่เท่าเทียมกันเลย แต่สิทธิที่คนจะใช้ชีวิตคู่กันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายยังไม่มี แล้วพูดได้อย่างไรว่าคนมาเรียกร้องขอสิทธิพิเศษ คิดดูว่าขนาดเป็นพรรคการเมืองระดับหนึ่ง มีตำแหน่งในพรรคการเมืองระดับหนึ่ง เขายังเข้าใจแบบนี้อยู่เลย การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายส่วนหนึ่งอาจจะเพิ่มการตระหนักรู้ ความเข้าใจเข้าใจให้ได้ แต่ก็ยังยืนยันว่าในระยะสั้นความเปิดกว้างอาจจะยังไม่ได้เห็นชัดเจนมาก แต่ความชัดเจนคือ คนที่สนับสนุนก็สนับสนุนได้อย่างเต็มที่ คนที่เกลียดก็ยังคงเกลียดต่อไป

 

อ.หยกฟ้า

แสดงว่าถ้าร่างพ.ร.บ.นี้ผ่านจริง ๆ ก็จะได้เห็นวิธีคิดของคนมากยิ่งขึ้น คนจะแสดงจุดยืนของตัวเองมากยิ่งขึ้น เป็นสองขั้วไม้บรรทัด

 

หมอแพท

ต่อไปเราอาจจะได้เห็นคนที่มาแอนตี้ pride parade เลยก็ได้ ตอนนี้เ pride parade เรายังมีความสงบ สันติ สนุกสนาน แต่ต่อไปอาจจะเห็นภาพการปะทะกันมากขึ้นใน pride parade ก็ได้

 

ส่วนในระยะยาว ถ้ามันผ่านแล้ว ต่อไปในเด็กเล็ก ๆ เขาจะมีเพื่อนร่วมชั้นที่มาจากครอบครัวที่มีพ่อกับพ่อ หรือครอบครัวที่มีแม่กับแม่ หรือครอบครัวที่พ่อเพียงคนเดียว หรือมีแม่เพียงคนเดียว คือเด็กเขาจะเกิดมาในโลกแบบนี้

 

อ.หยกฟ้า

เด็กเขาก็จะยอมรับมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้ถูกสังคมที่มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่งมาหล่อหลอมว่าแบบนี้ใช้แบบนี้ไม่ใช่ แบบนี้ถูกหรือผิด

 

 

แล้วเราจะเปลี่ยนคนที่มีวิธีคิดแบบสุดขั้วอย่างไร ถ้าเราอยากให้เขายอมรับเร็วขึ้น


 

อ.ภาณุ

มันก็ตอบยากเหมือนกันครับ การที่เขามีความคิดอย่างนั้น การที่เราจะไปเปลี่ยนเขา เราก็ต้องใช้การโน้มน้าวหรือการที่ทำให้เขาเห็นว่ามันมีข้อดีอย่างไร แต่ทัศนคติมุมมองบางอย่าง เช่นเรื่องศาสนา หลักธรรม หรืออะไรเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่ fix มาก การจะไปขยับ มันทำได้ยาก การที่เปลี่ยนจากสุดขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง หรือจะขยับยังไงให้ผ่อนหรือเบาลงได้ แฮมก็ยังคิดไม่ตกเหมือนกัน

 

แต่จะขอเพิ่มอีกประเด็นหนึ่งคือ แฮมก็อยากให้กฎหมายมันผ่านเร็ว ๆ ให้คนแต่งงานกันได้ แต่ทั้งนี้ผลที่จะมีตามมามันก็จะเป็นสิ่งใหม่ของเมืองไทย ผลลัพธ์ที่ตามมาจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง ในมุมที่นักจิตวิทยาการปรึกษามองคือ การแต่งงานเกิดขึ้นได้ การหย่าร้างก็จะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าชายชายและหญิงหญิงแต่งงานกันได้ หรือไปจนถึงมีบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ เมื่อวันหนึ่งความสัมพันธ์ยุติลง ผลกระทบหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกบุญธรรมของคู่สมรสชายชายและหญิงหญิงจะเป็นอย่างไรบ้าง แฮมไปเจองานวิจัยงานหนึ่งที่ออสเตรเลีย เขาศึกษาคู่สมรสชายชายและหญิงหญิงที่เขามีลูกบุญธรรมด้วยกัน แล้วเขาหย่าร้างกัน มีผลกระทบทางใจอะไรเกิดขึ้นบ้าง เขาเจอสองประเด็นหลักคือ อันแรก ในสังคมออสเตรเลียเขาเปิดกว้างแล้วว่ารักกันได้ แต่งงานกันได้ แต่พอจะหย่าร้างปุ๊บ เขาก็ยังมีความรู้สึกกลัวว่า พอชายชายและหญิงหญิงเกิดการหย่าร้าง สังคมจะมองเขาว่าคู่รักแบบนี้ไม่ใช่คู่รักที่สมบูรณ์แบบ เป็นคู่ที่มีความผิดปกติ ไม่เท่าเทียม ไม่เหมือนกับคู่ชายหญิงปกติหรอก เขาเกิดความกลัวว่าเขาไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ได้ หรืออีกอย่างก็คือ ในตัวเขาเอง เขารู้สึกว่าคนรอบข้างในสังคม LGBTQ+ เอง มองว่านี่คือคู่สมรสหรือคือคู่ครอบครัวต้นแบบ เป็น pioneer เป็น role model เขาเกิดความกดดันหากจะต้องเลิกกัน เกิดความเครียด และรู้สึกว่าไม่สามารถเปิดเผย หรือปรึกษาหารือกับคนอื่นได้ว่าคู่ของฉันมีปัญหา จะเลิกรากัน ดังนั้นแฮมในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา ก็คิดว่าหากสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยผ่าน มันจะมีสิ่งเหล่านี้ตามมาหรือเปล่า และเราจะมีความรู้อย่างไรบ้างที่จะมาซัพพอร์ตดูแลหรือให้การช่วยเหลือ

 

หมอแพท

เรื่องการหย่าร้างและความกดดันว่าสังคมจะมองเราว่าเป็นความรักแบบฉาบฉวยหรือเปล่า คือคนที่แต่งงานกันไป มันมีโอกาสอยู่แล้วใช่มั้ยที่จะหย่ากัน ไม่ว่าจะเป็นชายชาย หญิงหญิง ชายหญิง ทุกคู่มีโอกาสที่จะเลิกกันได้ ความรักหรือความสัมพันธ์มันเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง มันมีโอกาสที่จะตายก่อนเราได้ มองในมุมของคนที่อายุ 40 อัพแล้วกัน ตอนที่เราอายุ 20 กว่า ๆ เราจะรู้สึกว่า คนจะมองเรา คนจะ validate เรา คนจะตัดสินเรา พออายุ 40 แล้วเราจะบอกได้ว่า ไม่มีใครสนใจที่จะมา validate เรา เราอาจจะกลัวสังคมจะมาตัดสินเราอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พออายุเริ่มเยอะขึ้นจะพบว่าทุกคนดิ้นรนต่อสู้ในชีวิตของตัวเองอยู่เสมอ เขาไม่ได้ใส่ใจมากนักที่จะมาตัดสินคนอื่น ดังนั้นพออายุเท่านี้แล้วเรารู้สึกสบายมากที่เราจะทำอะไรก็ได้ ก็เผื่อไว้สำหรับคนที่กังวลว่าจะมีใครมาตัดสินเราหรือเปล่า

 

จริง ๆ แล้วการรับรู้เรื่อง LGBTQIAN+ ปัจจุบันนี้ต่อให้เราคิดว่าเราเป็น gay friendly แต่ในเมืองไทยยังเป็นสังคมแบบ tolerance อยู่ การยอมรับมันมี 2 ระดับ หรือ acceptance กับ tolerance ตอนนี้เราจะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่าน อย่างน้อยคนที่ต่อต้านที่สุด มาถึงจุด ๆ หนึ่ง เขาต้อง tolerance กับตรงนี้ได้ และหวังว่าต่อ ๆ ไปมันจะเป็น acceptance

 

อ.หยกฟ้า

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เรามักคาดหวังทางบวกว่าถ้ามันผ่านจะทำให้เราเท่าเทียมกัน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้เข้าถึงสิทธิที่เขาควรจะได้รับมาตั้งนานแล้วแต่ไม่ได้รับ แต่ก็ยังมีความคาดหวังที่มันเป็นแรงกดดันด้วย ถ้าเป็นคู่สมรสกันแล้ว อาจจะมีแรงกดดันจากภายนอกว่าถ้าเป็นคู่สมรสกันแล้ว ต้องประคองไปให้สุดนะ ถ้าเกิดการเลิกราระหว่างทางคนก็จะมาชี้นิ้วว่า บอกแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ ก็จะมาฝืน ซึ่งมันก็เป็นการแบกรับความคาดหวัง แต่อย่างที่หมอแพทบอกว่าจริง ๆ แล้ว การที่เราจะดำเนินความสัมพันธ์มันก็ย่อมมีทั้งบวกและลบ และเป็นไปได้ว่ามาถึงจุดหนึ่งก็อาจจะหย่าร้างแตกหักเหมือนคู่ชายหญิง ดังนั้นก็ไม่ต้องกดดันกับตัวเองมากจนเกินไปนัก ถ้าพ.ร.บ.นี้มันผ่านจริง ๆ และเราอยากสมรสกับคู่รักของเรา ไม่ต้องแบกรับความคาดหวังของคนอื่น หรือของคอมมูด้วยกันว่าคุณจะต้องเป็น role model ต้องทำให้คนอื่นเห็นว่าคุณไปได้ด้วยดี ไปจนถึงสุดทาง เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วว่าอาจจะเกิดความไม่เข้าอกเข้าใจกัน เกิดความขัดแย้งกัน ภายในคู่ของตัวเอง

 

 

หากสมรสเท่าเทียมผ่าน จะส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติในสังคมไทยหรือไม่ หรือส่งผลต่อมูฟเมนต์อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมอย่างไร


 

คุณภิรญา

เฟิร์นมองว่าต่อให้กฎหมายมันผ่านหรือไม่ผ่าน มันก็มีการเลือกปฏิบัติในสังคมไทยอยู่แล้ว มีอยู่ในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ เรื่องหน้าตา beauty standard เรื่องชนชั้น ชาติกำเนิด ความรวยความจน การศึกษา สถาบันการศึกษา มันมีเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นมองว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับเรื่องนี้เลย

 

ถ้าระยะยาวอาจจะช่วย แต่ในระยะสั้นก็อาจจะเหมือนอย่างที่หมอแพทพูด ว่าถ้าคนเรามีอคติจริง ๆ มันก็เปลี่ยนยาก อาจจะรออีก generation หนึ่งถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบสังเกตได้

 

เพราะก่อนหน้านี้ที่ประเด็นไม่ได้แมสเท่านี้ ภาคเอกชน ธุรกิจบางธุรกิจ ก็มีสวัสดิการที่มันก้าวหน้าไปแล้ว เฟิร์นก็เลยมองว่ามันอยู่ที่บุคคล ทัศนคติของแต่ละคนแต่ละองค์กร ว่าจะยอมรับมากน้อยอย่างไร เพราะก่อนหน้าที่ประเด็นไม่เป็นที่พูดถึงกว้างขวาง บางบริษัทก็มีสวัสดิการลาผ่าตัดแปลงเพศ มีสวัสดิการให้ลาไปแต่งงานได้แม้คุณจะเป็นเพศเดียวกัน ดังนั้นจึงมองว่ามันอยู่ที่จิตสำนึกหรือทัศนคติของแต่ละคนมากกว่า ต่อให้กฎหมายนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน ในการเลือกปฏิบัติอาจจะไม่มีผลให้เห็นชัดมากขนาดนั้น มันอาจจะมีแต่คงไม่ทำให้ได้เห็นชัดเจนว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนขนาดนั้น

 

โอเคว่าถ้ากฎหมายมันผ่านมันอาจจะช่วยให้หลาย ๆ องค์กรลองที่จะปรับ คือในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าพูดถึงในแง่ของเศรษฐกิจ GDP มันมีมูลค่าที่สูงมาก เพราะฉะนั้นมันไม่แปลกที่ธุรกิจจะมาจับประเด็นนี้ และการที่ตัวธุรกิจเองจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มคนเพศหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการการทำงาน หรือเรื่องนโยบายต่าง ๆ การยกเว้นการเลือกปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งการทำห้องน้ำที่เป็น all gender เฟิร์นมองว่ามันเป็นการที่เขาจะต้องปรับตัวให้ทันโลกมากกว่า จะด้วยความยินดีหรือไม่ยินดีก็แล้วแต่ แต่มันก็อาจจะมีบางสิ่งที่ฉันต้องทำเพื่อให้ทันโลกทันสมัย เพราะเรื่องความหลากหลายทางเพศมันเป็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สูงมาก

 

หมอแพท

เรื่องของธุรกิจมันไม่เกี่ยวกับใจ แต่มันเกี่ยวกับนโยบายเกี่ยวกับกลยุทธของเขา บริษัทไหนที่จะมุ่งนโยบายไปทางด้านนี้ อาจจะเพราะเขาเห็นโอกาสทางธุรกิจหรืออะไรก็ตาม เขาไปอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องรอกฎหมาย เพราะฉะนั้นเรื่องการเลือกปฏิบัติหรือเลือกที่จะไม่ปฏิบัติมันเป็นเรื่องของแต่ละหน่วยแต่ละคนด้วยซ้ำไป แต่ถ้าสมมติในระยะยาวจริง ๆ เลย แพทมองว่าเจนถัดไปจะไม่มีคำว่า LGBTQIAN+ อีกต่อไป มันจะเป็น a person หรือทุกคนเป็น person เท่ากันหมดเลย เด็กรุ่นใหม่เขาจะไม่รู้จัก LGBTQ เขาจะมองว่านั่นก็ person นี่ก็ person และอาจจะไม่มีการเลือกปฏิบัติเลยก็ได้ เพราะจะมองว่าทุกคนเท่ากันเหมือนกัน เท่าเทียมกัน

 

แต่ว่า ณ ตอนนี้ ถ้าพูดถึงว่ากฎหมายถ้าออกมาแล้วจะช่วยให้เท่าเทียมขึ้นมั้ย ก็ยังมองอยู่ว่าการเลือกปฏิบัติมันไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมาย ใกล้ตัวที่สุด เพื่อน ๆ ผู้หญิงถ้าจะปรึกษาปัญหาหัวใจ ปรึกษาเรื่องการแต่งหน้า ยังปรึกษาเพื่อนกะเทยเลย นี่ก็เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่ไปปรึกษาเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน คิดว่าเขาจะมีอคติ ไปปรึกษาเพื่อกะเทยดีกว่าเพราะจะมีความเข้าใจทั้งผู้ชายและผู้หญิง เห็นไหมว่าเรื่องใกล้ตัวที่สุดเรายังเลือกปฏิบัติเลย ต้องมองก่อนว่าการเลือกปฏิบัติ กับการไม่เคารพสิทธิ หรือการที่กดให้สิทธิเขาไม่เท่าเทียมกับเรา มันเป็นคนละเรื่องกัน การเลือกปฏิบัติอาจไม่ใช่เรื่องทางลบหรือเป็นเรื่องที่แย่เสมอไป แต่ว่าการไปริดรอนสิทธิการที่ไปกดทับเอาไว้ไม่ให้เขาเท่ากับเรา อันนั้นต่างหากเป็นเรื่องที่ผิด

 

อ.ภาณุ

การเลือกปฏิบัติ ถ้าในแง่ของอาชีพ สมัยก่อนจะมีคำศัพท์อย่างเช่น glass ceiling effect คือการที่เพศหญิงหรือเพศทางเลือกไม่ได้สามารถที่จะก้าวหน้าทางอาชีพได้เพราะถูกปิดด้วยเรื่องเพศสภาพ แฮมเห็นด้วยกับคุณเฟิร์นว่าเรื่องนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมมันมีคอนเซปต์ของ power คือมันมีอำนาจเกิดขึ้นในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อำนาจสิ่งนี้มันไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการเลิกการกีดกันหรืออคติทางเพศ เพราะมันคือสิ่งที่อยู่ห่างกันประมาณหนึ่ง แต่แฮมคิดว่าในระยะยาว เมื่อเรามีอำนาจต่อรองมากขึ้น สังคมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้ามองกลับไปที่การกีดกันทางเพศ ในเรื่องอาชีพหรือเรื่องใดก็แล้วแต่ มันก็เกิดขึ้นจากการที่เรามีการรับรู้ว่าสังคมเราเป็นสังคมที่ชายหญิงเป็นใหญ่ เป็น majority สังคมโฮโมเซ็กชวลหรือสังคม LGBTQIAN+ เป็นสังคมที่เป็น minority การที่มันมีพวกมากพวกน้อยอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด power ต่างกัน เมื่อ power ต่างกัน การเหยียด การกีดกัน หรืออคติ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อไรก็ตามที่สองคำนี้ major-minor มันถูกสลายได้ หรือเป็นเพียง person กันจริง ๆ ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีอำนาจเท่ากัน การกีดกันทางเพศหรือด้วยลักษณะต่าง ๆ มันก็จะน้อยลงได้เหมือนกัน แต่นั่นก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะยาว ตอนนี้เป็นเพียงการค่อย ๆ เพิ่ม power ให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เขาได้มีโอกาสมาต่อรองหรือมีการขยับขับเคลื่อนความหลากหลายมากขึ้นมากกว่า

 

อ.หยกฟ้า

หมายความว่าการขับเคลื่อนเรื่องของความเท่าเทียมกันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมาย ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คนมองเห็นคนอื่นเป็นคน เป็นมนุษย์เหมือนกัน ไร้อคติ บางทีกฎหมายอาจจะไม่ต้องมีออกมาใหม่เลยด้วยซ้ำ ถ้าสมมติว่ามันเท่าเทียมกันจริง ๆ อยู่แล้ว เรามองอีกคนหนึ่งเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะมีรสนิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เพียงแต่ ณ ปัจจุบันมันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ซึ่งเราหวังว่าในอนาคตมันไม่มีการแบ่งแยกและตีตรา มองทุกคนเท่ากันหมดจริง ๆ

 

 

การเข้าร่วมใน pride parade ของบางองค์กร บ้างก็ถูกมองว่าฉาบฉวย บ้างก็มองว่าฉาบฉวยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย


 

คุณภีรญา

ความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อน GDP ของประเทศไทย ถ้าไปดูรายงานของ economic forum ต่าง ๆ ของ LGBTQ+ ที่เขาทำไว้ ประเทศไทยถ้าเทียบในเอเชียมีมูลค่าสูงมาก สูงที่สุดในเอเชีย และเราก็ติดท้อปพอ ๆ กับของฝรั่งเศส อเมริกา เลย คราวนี้พอค่าการตลาดมันสูง มันไม่แปลกที่ธุรกิจต้องการแย่งชิงพื้นที่ ต้องบอกว่ามันเป็นการจับจองพื้นที่ ใครจะได้ส่วนแบ่งการตลาดมากน้อยไปกว่ากัน ถ้าเริ่มเร็วก็ได้เร็ว
ประเด็นเรื่อง rainbow washing มันก็มีมานานแล้ว เฟิร์นมองว่าการที่แต่ละธุรกิจเข้ามาเปลี่ยนโลโก้สีรุ้ง เราในฐานะผู้บริโภคเราก็ตัดสินไม่ได้หรอก หรือตัดสินได้แค่ผิวเผิน คงไม่ได้รู้ไปทั้งหมด ว่าเขาเป็น rainbow washing มั้ย ในภาพที่เรามองเฉย ๆ มันก็เป็นภาพที่น่ารักดี พอเป็นเดือนของ pride month มองทางไหนก็เป็นสีรุ้งไปหมด แต่เราอาจจะต้องไปดูกันลึก ๆ มากกว่า ในตัวของแบรนด์นั้น ๆ บริษัทนั้น ๆ เองว่ามีการทำนโยบาย หรือมีสวัสดิการเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า หรือเขาเองมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศจริงหรือเปล่า ตอนนี้เมื่อกระแสมันแมสมันกว้างขึ้น ค่าของการขับเคลื่อน GDP มันสูง

 

เฟิร์นขอขยายความว่ามันมี 4 หัวใจหลัก ใน GDP การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในความหลากหลายทางเพศ

  1. บันเทิง ผับบาร์ คาบาเรต์ แดร๊ก ร้านเหล่า โชว์ ต่าง ๆ ขาดไม่ได้เลย ใคร ๆ ก็รู้ ต่างชาติที่เข้ามา
  2. อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์วาย คอนเทนต์วายคอนเทนต์ยูริต่าง ๆ ปีที่แล้วมูลค่าส่งออกซีรีส์วาย 1,500 ล้านบาท ส่งออกไปจีน ไปนู่นนี่นั่น ต่อให้เกาหลีมี KPOP ก็สู้เราไม่ได้ จีนเกาหลีเขาอนุรักษ์นิยมสุดๆ
  3. การท่องเที่ยว ทัวร์ ต่าง ๆ ประเทศไทยเฟรนด์ลี่มาก คู๋รักชายชายเดินจับมือกันก็ไม่มีใครเดินมาต่อย มาทำร้ายร่างกาย เขาสามารถเข้ามาเที่ยวเข้ามาพักผ่อนได้
  4. medical hub การผ่าตัดแปลงเพศ การศัลยกรรมเสริมความงาม หมอไทยเก่งมาก

ทุกอย่างมูลค่ามันสูงมาก และทำให้เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคไม่ว่าจะเปิดตัวหรือไม่เปิดตัวมันเยอะมาก เป็นเรื่องธรรมดาที่ภาคธุรกิจจะต้องมาแย่งส่วนแบ่งการตลาด เขาพยายามที่จะเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ให้ได้

 

ในการจัดงาน Bangkok Pride เราดูแลในส่วนของ partnership ทั้งหมด มันเห็นภาพชัดว่ามีบางองค์กรที่เขาเข้าใจจริง ๆ และพยายามที่จะปรับนโยบายในองค์กรของตนเอง ในการสร้างสวัสดิการให้พนักงาน เวลาเรามองมันก็เห็นได้ว่าต่อให้คุณผลิตสินค้ามาแบรนด์หนึ่งต่อให้มีสโลแกนมาอันหนึ่ง ถ้าคุณไม่ได้มีความเข้าใจจริง ๆ มันก็จะมองดูแล้วตลก ผู้บริโภคเองก็แยกแยะได้ บางแบรนด์ก็อาจจะฉาบฉวยจริง ๆ ก็ต้องยอมรับว่ามีที่แค่มาเพื่อทำการตลาด เฟิร์นมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ เฟิร์นว่ามันสนุกมากเลยที่ภาคธุรกิจเขาเข้าใจทำอะไรกันแบบนี้ มองว่ามันเป็นการแข่งขัน ซึ่งไม่ได้แข่งขันกันแค่ส่วนแบ่งการตลาด แต่ผู้บริโภค ณ วันนี้ เขาตัดสินใจเองได้แล้ว เขามีสิทธิที่จะเลือกว่าเขาจะใช้บริการเจ้าไหน ซื้อประกันเจ้าไหน กินอาหารร้านไหน แต่ละองค์กรแต่ละบริษัทมันต้องมาแข่งกันที่จะซื้อใจผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แล้วเขาจะทำอย่างไร มันก็เป็นการเรียนรู้ที่ภาคธุรกิจเองที่ต้องทำความเข้าใจว่าฉันจะต้องทำอย่างไร สิทธิมันมีอะไรบ้าง ความต้องการจริง ๆ ของผู้บริโภคกลุ่มนี้คืออะไร สินค้าแบบไหนที่จะเจาะตลาดได้ เฟิร์นมองว่าเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของภาคธุรกิจที่เฟิร์นมองเห็น และมันทำให้เห็นว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มี power มาก ๆ ถ้าไม่มี power มากคนจะไม่เข้ามาแย่งกันขนาดนี้

 

หมอแพท

ปกติเราก็รักแม่ทุกวัน แต่พอวันแม่เราก็ให้ดอกมะลิ เราก็มีสัญลักษณ์ของวันแม่ ของสัปดาห์วันแม่ ของเดือนแห่งวันแม่ มันก็เหมือนกัน บริษัทแต่ละบริษัทก็สนับสนุนอยู่แล้ว สนับสนุนในทุก ๆ วัน แล้วทำไมเราจะเอนจอยในช่วงที่มันเป็น pride month ไม่ได้

 

เรื่อง pride parade ได้ติดตามดูก็เห็นเหมือนกันว่าอันนี้นะปกติไม่ได้ทำสักหน่อยนึง มาฉกฉวยเอาสัญลักษณ์สีรุ้งมาใช้ อันนี้ก็ไม่ว่าจะเป็นทางการตลาดหรือทางนโยบายก็ตาม ทุกอย่างเริ่มต้นที่ awareness เราต้องการการตระหนักรู้ pride parade ที่อเมริกาเขาเกิดมาจากการต่อสู้ พอได้ชัยชนะเขาก็เฉลิมฉลอง พอมันเป็นวัฒนธรรมที่เรารับมา เรามาใช้มันเป็นอุปกรณ์หนึ่งเพื่อใช้ในการสร้าง awareness ดังนั้นเมื่อภาคเอกชนเข้ามาร่วม ไม่รู้ล่ะว่าก่อนหน้านี้เขาสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน แต่เขาก็มาเข้าร่วม มันเหมือนเป็น KPI ให้เราดูได้เลยว่าเราต้องการ awareness เราก็ได้ awareness อย่างที่อ.แฮมพูดว่า pride parade มันคือรูปธรรมของการเปิดโอกาส เรามีโอกาสที่จะเป็นตัวเราเอง ออกไปลองดูซิว่าเมื่อเป็นตัวเราสังคมเขายอมรับมั้ย มันคือการเปิดโอกาส ทุกคนควรจะเข้าถึงโอกาสนั้นไม่ว่าคุณจะปากว่าตาขยิบมั้ยคุณก็มีโอกาสเข้าถึงตรงนั้นได้หมด อย่างที่คุณเฟิร์นพูด ผู้บริโภคเขาฉลาด ใครที่ผักชีโรยหน้า ผู้บริโภคเขารู้ เพราะฉะนั้น pride parade ทำหน้าที่ของตัวเองเป๊ะเลย คือฉันเปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะจริงใจหรือไม่ เชิญมาร่วมในพาเหรดของฉันได้อย่างเต็มที่ คนดูจะเป็นคนตัดสินเอง ถ้าเธอเล่นสมบทบาทมาตั้งแต่ต้นคนดูจะปรบมือให้ ถ้าเล่นไม่สมบทบาทเขาก็ตัดสินได้

 

ส่วนแต่ละบริษัทที่เขามาร่วม แพทมองตามกลไกทางจิตวิทยา ถ้าตอนแรกเราต่อต้าน เราก็ต้อง tolerance ต้องทนอยู่กับมันให้ได้ ภาคเอกชนที่ต่อต้าน สุดท้ายเขาต้อง tolerance อยู่ดี จากนั้นเขาก็จำเป็นต้อง participant เมื่อเข้าร่วมไปสักพักหนึ่งเขาจะ acceptance เวลาเราสั่งสเต็กมาสักชิ้นหนึ่งเราไม่สามารถตักทั้งชิ้นเข้าปากได้ เราต้องค่อย ๆ สไลด์มันเป็นชิ้นเล็ก ๆ เราต้องเคี้ยวแล้วเราค่อย ๆ กลืนจนสเต็กหมดชิ้น เช่นเดียวกันสังคมหรือกระทั่งพ่อแม่ที่บ้านก็ตาม ตอนที่เรา come out บางคนบอกว่าเนี่ยหนู come out แล้วว่าหนูเป็นเกย์ ทำไมพ่อแม่ไม่ยอมรับหนู สังคมยอมรับแล้วนะ ก็จะอธิบายให้เขาเข้าใจว่านี่มันคือสเต็กชิ้นหนึ่ง เราต้องตัดเป็นชิ้น ค่อย ๆ กิน ถ้าเรากินทีเดียวเราจะติดคอตาย เช่นเดียวกัน แต่ละบริษัทเขาก็จะมีสเตปของเขา เป็นไปได้ที่เขาจะก้าวสเตปพลาด แทนที่จะค่อย ๆ ทำ กลับรีบกระโดดเข้ามาสีรุ้งไปหมด แต่ให้มองด้วยจิตเมตตาว่าเขาก็พยายาม เขาอาจจะก้าวแย่หน่อยหนึ่ง แต่เขาก็พยายามจะเปลี่ยนจาก tolerance ไปสู่ acceptance ณ เวลาหนึ่งจนได้

 

อ.หยกฟ้า

ดังนั้นการจะเปลี่ยนจากคนที่แอนตี้สุด ๆ มายอมรับก็คงต้องใช้ระยะเวลา ๆ กว่าจะค่อย ๆ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนเจตคติเขาได้ คงไม่ใช่ชั่วข้ามคืน

 

หมอแพท

ใช่ครับ และในขณะที่เขามีใจ กำลังจะเปลี่ยนมา เราก็ควรจะ appreciate ความพยายามของเขา เขาอาจจะพยายามแล้วพลาดไปบ้าง แต่สิ่งที่จะทำให้เขาแน่วแน่จนเปลี่ยนมา acceptance ได้ คือ positive reinforcement (การเสริมแรงทางบวก) คือการ appreciate จากคนรอบช้าง ฉันเข้าใจนะว่าอย่างน้อยเธอก็พยายาม

 

อ.หยกฟ้า

ให้คำชื่นชม สนับสนุนในสิ่งที่เขาทำ ก็จะช่วยให้สังคมเกิดการยอมรับในภาพกว้างได้ในที่สุด

 

อ.ภาณุ

แฮมรู้สึกว่าไม่ว่าเขาจะทำผิดพลาดหรือยังไง สุดท้ายมันคือการ win-win อย่างแบรนด์ Apple มีการเปลี่ยนสายนาฬิกาให้เป็นสีรุ้ง ในช่วงเดือน pride month และเขาทำอย่างต่อเนื่อง แฮมรู้สึกว่าในแง่ของผู้บริโภค หรือในแง่ของบุคคลคนหนึ่งที่เห็น มันคือการ normalize ว่า กุมภามีวาเลนไทน์ ธันวามีคริสต์มาส ตุลามีฮัลโลวีน การที่เดือนมิถุนาเรามี pride month มีการเฉลิมฉลอง ไม่ว่าจะฉาบฉวยหรือไม่ฉาบฉวยแค่ไหน มันให้เห็นว่าในหนึ่งปี หนึ่ง cycle นี้ เดือนมิถุนาจะเป็นหนึ่งเดือนที่เฉลิมฉลองการเป็น pride มันคือการยอมรับหรือการเพิ่มเติมเพศทางเลือกมากขึ้น จริง ๆ มันไม่ได้หยุดที่เดือนมิถุนา ที่อังกฤษมีการขยายถึงกรกฎาถึงสิงหาด้วย เพียงแต่เดือนที่พีคคือเดือนมิถุนา แฮมมองว่าในแง่ของบุคคลมันคือการ normalize คนว่า ถึงเดือนมิถุนาแล้ว ถึง pride month แล้ว ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการขยับเพื่อเฉลิมฉลองเดือนนี้

 

อ.หยก

การที่หน่วยงานธุรกิจ องค์การต่าง ๆ นานา มาร่วมขับเคลื่อน มาจอยกับ pride month ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นสีรุ้งหรือกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ฉาบฉวยหรือเปล่าไม่รู้ แต่พอทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แน่นอนการยอมรับในสังคมมันจะค่อย ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันจะทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อคนมองเป็นเรื่องปกติ การยอมรับจะเกิดขึ้นในที่สุด

 

 

การสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอคติ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ควรเริ่มจากไหน


 

คุณภีรญา

เริ่มจากครอบครัว ถ้าเราจะสร้างสังคมที่ไม่ตีตรา ไม่กีดกัน สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญสุด เพราะมันเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ พ่อแม่สามารถที่จะดูแลได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กคนหนึ่งเกิดมา ไปโรงเรียนและออกไปเจอโลกภายนอกจะเป็นอย่างไร บางอย่างมันเหมือนอยู่นอกเหนือการควบคุมไปแล้ว เราไม่รู้ว่าจะไปเจอครูแบบไหน เพื่อนแบบไหน สังคมการทำงานเป็นแบบไหน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือครอบครัว ต่อให้เราออกไปเจอสังคมข้างนอก ถูกตีตรา ถูกตัดสิน เจ็บช้ำน้ำใจ เรากลับมาบ้านเรายังมีพ่อแม่พี่น้องที่เข้าใจ รับฟัง มีความเห็นอกเห็นใจกัน มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เราสามารถจะเป็นตัวเองได้ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ถึงความรู้สึกและสิ่งที่เกิดขึ้นได้ อันนี้เป็นรากฐานที่สำคัญมาก และสมมติว่าหลาย ๆ ครอบครัวสามารถที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้านของตัวเองได้ เชื่อว่าเรื่องอื่น ๆ มันก็ลดลงได้เอง

 

หมอแพท

สังคมคือคนที่มาอยู่รวมกัน สังคมจะปลอดภัยเมื่อบุคคลเป็นบุคคลปลอดภัย พอบุคคลทุกคนในครอบครัวเป็นบุคคลที่ปลอดภัย ครอบครัวจะเป็นครอบครัวที่ปลอดภัย และเมื่อครอบครัวในชุมชนนั้นแทบทุกครอบครัวเป็นครอบครัวปลอดภัยจะกลายเป็นชุมชนที่ปลอดภัย และเมื่อหลาย ๆ ชุมชนเป็นชุมชนที่ปลอดภัยก็จะกลายเป็นสังคมที่ปลอดภัย และเมื่อสังคมทั้งประเทศเป็นสังคมที่ปลอดภัยจะกลายเป็นประเทศที่ปลอดภัย และสุดท้ายจะกลายเป็นโลกที่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นมันเริ่มต้นจากจุดที่เป็นบุคคล แล้วอะไรล่ะที่จะเป็นตัวปลูกฝังบุคคล ก็คือสถาบันครอบครัวอยู่ดี
แพทเจอเยอะมากเพื่อน ๆ ที่มีลูก แล้วแพทถามว่าถ้าลูกเป็นเกย์เป็นเลสเบียนล่ะ ทุกคนจะพูดคล้าย ๆ กันหมดเลยว่าให้เขาเป็นอะไรก็ได้ขอให้เขาเป็นคนดีก็พอ แพทรู้สึกว่า No ไม่ใช่ เรายังคงมา validate ยังสร้างเงื่อนไขอยู่เลยว่า “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดีก็พอ” เราควรจะเปลี่ยนความคิดเป็นว่า “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้มีความสุข และไม่ทำให้คนอื่นเดือนร้อน” นี่ต่างหากคือ attitude ที่ปลูกฝังลงไปแล้วจะทำให้กลายเป็นบุคคลที่ปลอดภัย หนึ่งตัวเองมีความสุขปลอดภัยต่อตัวเอง สองไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนคือปลอดภัยต่อคนอื่น แค่นี้พอแล้ว ไม่ต้อง validate ว่าต้องเป็นคนดี เพราะเป็นคนดีมันดูยากเหลือเกิน ด้วยกฎเกณฑ์ไหนล่ะมันมีหลายกฎเกณฑ์หลายศาสนา เราเป็นอะไรก็ได้แต่เป็นตัวเองที่มีความสุขและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน attitude แบบนี้ถ้าปลูกฝังในตัวเด็กหรือในตัวเราเองก็ได้ ตอนนี้เราขอเป็นตัวเราเอง เป็นอะไรก็ได้ที่เรามีความสุขและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน มันทีที่เราผ่านความคิดนี้เราจะกลายเป็นบุคคลที่ปลอดภัย และเราจะสามารถส่งต่อ attitude แบบนี้ออกไป แพทเชื่อว่า attitude ที่ดีมันจะมีกลิ่นหอม พอคนได้กลิ่นแล้วเขาก็อยากจะใช้ attitude แบบนั้น และเราก็จะแพร่กระจาย attitude แห่งความปลอดภัยนี้ ทำให้สังคมปลอดภัยได้

 

อ.ภาณุ

ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา ใช่ สถาบันที่สำคัญคือสถาบันครอบครัว แต่แฮมรู้สึกว่า ถ้ามองในแง่ครอบครัว บางคนที่เกิดมาครอบครัวเขาอาจจะไม่ได้ยอมรับ ในการที่มาอยู่โรงเรียนเขาอาจเจอเพื่อนที่ยอมรับเขา หรืออาจเจอคุณครูที่ยอมรับ หรือเจอกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยอมรับเขา ถ้าในแง่ตัวบุคคล การที่เรามีใครสักคนที่เขายอมรับตัวเราได้อย่างที่เป็นเรา ยอมรับในเพศสภาพ ยอมรับในการเป็นตัวเราโดยที่ไม่ถูกตัดสิน การที่เราเจอคนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเราเห็นว่าเขารับเราได้ รักเราได้ นี่คือการสร้างเกราะป้องกันอันหนึ่งที่ดีที่สุด ถ้าเราสามารถเอาสิ่งนี้กลับเข้ามาที่ตนเองได้ การสร้างเกราะหรือสร้างความรู้สึกว่านี่คือตัวเรา นี่คือตัวฉัน นี่คือเพศสภาพของฉัน นี่คือตัวตนของฉันแล้ว เรารับมันได้ เรารักมันได้ เรามีความภูมิใจหรือ pride กับมันได้ เราหวังว่าสังคมอื่นจะดี แต่ถ้าเราเจอคนที่เขาอาจจะไม่ได้หวังดีหรือคนที่มีความเลวร้ายบางอย่างกับตัวเรา ถ้าเรามีเกราะที่ดีสุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะถูกกระเทือนแค่ไหน เราก็จะแข็งแรงต่อได้ นี่คือภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดซึ่งมันเกิดขึ้นจากตัวเราและจากคนรอบข้างที่เป็นคนซัพพอร์ตเรา

 

ส่วนในเรื่องของสังคม อคติ ทุกอย่าง มันอยู่ในอากาศ มันคือสิ่งที่เราสูดเข้าไปตลอดเวลา ถ้าจะแก้ที่บุคคลแล้ว สังคมก็ต้องขยับหรือแก้ไปด้วยกันเพื่อให้อากาศมันดีขึ้น อากาศดีขึ้นเราก็หายใจได้โล่งขึ้น

 

อ.หยกฟ้า

สรุปแล้วก็คือเราก็ต้องเริ่มจากตัวเราเองด้วย ถ้าเรามีแรงซัพพอร์ตที่ดี ถ้าหาจากครอบครัวไม่ได้ ก้ไปหาแรงซัพพอร์ตจากคนที่เรารู้สึกว่าเขาจะสามารถอยู่ข้าง ๆ เรา และมั่นใจเชื่อมั่นในตัวเรา และเคารพในความเป็นตัวเรา มันก็จะทำให้เราเกิดความเคารพตัวเองในที่สุด นี่คือในส่วนของบุคคล

 

ในส่วนของสังคม หยกเชื่อว่าในการจัดให้มี pride parade หรือ pride month ขึ้นมาทำให้คนเกิดความตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราควรจะขยับมาให้ความสำคัญ กับกลุ่มคนที่โดยลิดรอนสิทธิอะไรบางอย่างในสังคม มันก็จะทำให้สังคมโดยถ้วนหน้ารู้สึกว่าเราสามารถทำได้ ตรงนี้ยังเป็นช่องโหว่อยู่ ยังเป็นช่องว่างอยู่ เรามาช่วยกัน เพื่อให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเองเคารพในตัวเองแล้ว ยังรู้สึกว่ามีคนอื่นที่เคารพในตัวฉัน และวันหนึ่งเราก็เคารพซึ่งกันและกัน และในอนาคตไม่ต้องมีตีตรา ไม่ต้อง label ว่า LGBTQIAN+ แต่เป็น person กับ person คุยกัน หยกอยากอยู่ในเห็นถึงวันนั้น อยากเห็นสังคมที่มันเท่าเทียมกันจริง ๆ

 

หนึ่งมันก็ต้องเริ่มจากใจเราด้วย เราก็ต้องเปิดกว้างเพียงพอ คนที่เขายังแอนตี้อยู่เราก็อาจจะต้องเปิดใจให้เขานิดนึง เขาอาจจะต้องกล้ำกลืนนิดนึงกับสิ่งที่เขายึดถือมาเป็นเวลานาน ต้องให้โอกาสเขาสักพักหนึ่งให้เขาค่อยซึมซับ ค่อย ๆ เข้าใจตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้และมันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากชายหญิงทั่วไป ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ มันเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นได้ในสังคมเพียงแต่มันถูกกดทับ และถูกคนอื่นมองว่ามันไม่ปกติและเกิดการแบ่งแยกกันขึ้นมา

 

ถอดความ PSY Talk เรื่อง จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง
จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

โดยวิทยากร
  • ผศ. ดร.ฐนันดรศักดิ์ บวรนันทกุล
    อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผศ. ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช
    อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อาจารย์ ดร.ปิยกฤตา แก้วพิกุล
    อาจารย์ประจำคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์
    รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 16.00 – 17.00 น.

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/1787613661449021

 

 

 

 

 

มีการใช้หลักการทางจิตวิทยาในกระบวนการสอบสวนหรือไม่


 

อ.ฐนันดรศักดิ์

ในแง่ทฤษฎีการเรียนการสอน จิตวิทยาถูกนำมาใช้เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในสาขา โดยเฉพาะในวิชาทฤษฎีอาชญวิทยา (Criminology) มีพูดถึงพื้นฐานทางจิตวิทยาต่าง ๆ (เช่น เรื่องความจำที่ผิดพลาด การโกหก การสารภาพเท็จ) และมีวิชา Personality and crime คือเรื่องบุคลิกภาพกับการประกอบอาชญากรรม ในทางวิชาการนำไปใช้ได้ค่อนข้างเยอะ

 

อีกส่วนหนึ่งใช้ในวงการปฏิบัติ ในกระบวนการยุติธรรมจริง ๆ ในยุคแรกก็มีวิชา Forensic Psychology แปลว่า นิติวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยา หรือ นิติจิตเวช เป็นวิชาที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก มีทั้งการศึกษาและการฝึกอบรม ตอนหลังมีการเพิ่มนักจิตวิทยามาในคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เรียกว่าสหวิชาชีพ เนื่องจากมองว่าเด็กเป็นกลุ่มคนที่มีจิตใจเปราะบาง นักจิตวิทยาก็จะช่วยในกระบวนการสอบสวนไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำสองในเด็กและผู้หญิง ไม่ให้ระลึกถึงความบอบช้ำทางจิตใจที่มีอยู่ (Psychic trauma) ในประเทศไทยก็นำมาใช้แล้ว

 

เรื่องที่สามคือการศึกษาที่ FBI ที่ได้ประมวลไว้และนำองค์ความรู้มาเผยแพร่ เผยแพร่ในทางภาพยนตร์ก็มี อาทิ criminal mind คือการศึกษาเรื่องแรงจูงใจของอาชญากรที่ประกอบอาชญากรรม มักเกี่ยวข้องกับการตามล่าเหล่าฆาตกรต่อเนื่อง (Serial killing) และล่าสุดในช่วง 10 กว่าปีนี้ มีการทำ Criminal profiling ประวัติอาชญากรรมทางจิต เป็นการนำข้อมูลมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีของศาล ในอเมริกามีศาลที่เรียกว่า Mental health court เป็นศาลที่พิจารณาความผิดของผู้ที่มีปัญหาโรคจิต หรือติดเสพสารเสพติดจนเสียสภาพจิตไป ในอังกฤษก็มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่โด่งดังเรื่องนี้ อยู่ที่ลิเวอร์พูลและฮัดเดอส์ฟีลด์ ตัวท่านและลูกศิษย์ก็ได้เผยแพร่เรื่อง criminal profiling จนเป็นที่แพร่หลาย

 

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของบทบาทของการใช้จิตวิทยาในกระบวนการสอบสวน

 

ในการพิจารณาคดีของศาลเอง ผมได้ไปบรรยายหลักสูตรผู้พิพากษาเรื่องจิตวิทยาในการสืบสวนสอบสวน ก็พบว่าเขานำเอาเรื่อง จิตวิทยาในการโกหก และจิตวิทยาในเรื่องการ recall ความทรงจำของคนที่นำตัวมาเป็นพยาน มาใช้ค่อนข้างเยอะ รวมถึงเรื่องจิตวิทยาในการรับสารภาพ เหล่านี้เป็นมิติที่พยายามดึงเอาจิตวิทยามามีบทบาทในทางอาชญวิทยาและกระบวนการยุติธรรม

 

 

คนที่เรียนหลักสูตรการใช้จิตวิทยาในการสืบสวนสอบสวนมีใครบ้าง


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

คนที่เรียนศาสตร์เหล่านี้ก็มีบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยตรง เราได้ไปทำ MOU กับมหาวิทยาลัยฮัดเดอส์ฟีลด์ แล้วได้เอาพวกวิชา Investigative Psychology เข้ามา มีการทำคอร์สอบรมให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ ศาล ตำรวจ ราชทัณฑ์ จนถึงผู้คุมประพฤติเยาวชน

 

อ.อภิชญา

ลูกศิษย์ของเราที่จบจิตวิทยาไป (แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม) บางคนก็ไปทำงานในกระทรวงยุติธรรม บางคนก็ได้ทุนของกพ.ไปเรียนทางด้าน Forensic Psychology และด้าน Applied Psychology ตนเองก็เลยเปิดรายวิชา Psychology and Crime เพื่อให้นิสิตที่สนใจทางด้านนี้จะได้นำความรู้ทางจิตวิทยาไปต่อยอดหรือใช้ในชีวิตประจำวันหรือชีวิตการทำงาน เราสอนเกี่ยวกับเรื่อง false memory ความจำผิดที่พลาด ให้ได้รู้ว่าเรามักมั่นใจในความจำของเรามากเกินจริง เราจะคิดว่าเราเห็นเหตุการณ์แบบนั้นแบบนี้ แต่ทุกครั้งที่เราพูดออกมาใหม่ เราจะ encode ข้อมูล ใส่สี ตกแต่งข้อมูล และใส่กลับเข้าไปในสมองอีกทีหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่ความจำผิดที่พลาด และ false confession การสารภาพเท็จ ทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุก ในต่างประเทศพบเคสเหล่านี้หลังจากพิสูจน์ด้วย DNA แล้วได้พบว่าการให้ปากคำของพยานและผู้ต้องสงสัยนั้นไม่สามารถเชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนก็ตั้งใจโกหก เพราะมี hidden agenda แต่บางคนก็ไม่ได้ตั้งใจโกหก แต่มีความจำที่ผิดพลาด และมีบุคลิกที่คล้อยตามสิ่งชี้แนะในบริบทแวดล้อมได้โดยง่าย

 

สำหรับการนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ในชีวิตประจำวัน ก็อย่างเช่นการเสพข่าว เราจะสามารถติดตามข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ พิจารณาได้ว่าข่าวไหนน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

 

อ.ปิยกฤตา

ที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีเปิดรายวิชาจิตวิทยากับกระบวนการยุติธรรม สำหรับคนที่จะทำงานในกระบวนการยุติธรรม การมีองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงาน เพราะอาชญากรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับคน คือระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ จิตวิทยาสามารถเข้ามาช่วยได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตอนเกิดอาชญากรรมจนถึงการขึ้นศาล การพิจารณาคดี การตัดสินโทษ และการบังคับคดี โดยจิตวิทยาจะเข้ามาช่วยปิดจุด Human error ที่มนุษย์นั้นสามารถมีได้ตลอดเวลา

 

ตัวอย่างการใช้จิตวิทยาในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตั้งแต่ยังจับคนร้ายไม่ได้ ก็จะมีการทำ criminal profiling ที่ดูความสอดคล้องของพฤติกรรมเพื่อวิเคราะห์หาตัวคนร้าย และเมื่อได้ตัวผู้ต้องสงสัยและพยาน การสอบปากคำก็สามารถนำจิตวิทยาเข้ามาช่วยได้ในการดูว่าความทรงจำของผู้ให้ปากคำที่อาจจะมีข้อผิดพลาดหรือยังไม่สมบูรณ์นั้น จิตวิทยาจะช่วยเติมให้มันละเอียดขึ้นหรือแม่นยำขึ้นได้อย่างไร หรือตอนชี้ตัวผู้ต้องสงสัย ศาสตร์จิตวิทยารู้ว่าความจำของมนุษย์นั้นจดจำเป็นภาพรวมมากกว่าที่รายละเอียด ดังนั้นควรให้ดูในองค์รวมก่อนไปดูรายละเอียดที่ตาหรือจมูก

ดังนั้นการมีองค์ความรู้ทางจิตวิทยา นอกจากช่วยในการทำงานของผู้เกี่ยวข้องแล้ว กับคนทั่วไปยังช่วยให้เรามีวิจารณญาณในการเสพข่าว และการวิเคราะห์วิจารณ์ข่าวอาชญากรรมมากขึ้นด้วย

 

 

กระแสสังคมที่ช่วยกันตั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ในคดี มีอิทธิพลต่อกระบวนการสอบสวนเพียงใด


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

การจับพิรุธของสื่อสังคมก็อาจมีส่วนช่วยพนักงานสอบสวนในแง่ของการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานหรือกวาดข้อคิดข้อสงสัยต่าง ๆ เข้ามาเพื่อหาข้อพิสูจน์หาความจริงให้มากที่สุด ไม่ให้ตกหล่นประเด็นใดไป นอกเหนือจากที่ใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งการสอบสวนของเจ้าหน้าที่เขาก็มีเทคนิคของเขาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน โรงเรียนนายร้อยเขามีวิชาชื่อว่า จิตวิทยาตำรวจ ที่สอนให้พนักงานสอบสวนนำหลักการต่าง ๆ มาใช้ประกอบในการสอบปากคำ มันก็เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือมีหลักการความรู้ กระบวนการ และเจ้าหน้าที่เขาก็มีประสบการณ์ของเขาที่อาจจะเป็นเรื่องจิตวิทยาในชีวิตประจำวันมาประยุกต์ร่วมด้วย

 

ส่วนในแง่การทำสำนวนคดี กระแสสังคมไม่ได้กระทบมากนัก เพราะการรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ ทั้งพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ การสอบปากคำ พยานแวดล้อม หรือพยานในที่เกิดเหตุ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกกลั่นกรองโดยอัยการอีกชั้นหนึ่ง และพิสูจน์ในศาล ดังนั้นกระแสสังคมก็ไม่ได้มีอิทธิพลมากนักเพราะจะพิจารณาไปตามพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานเป็นหลัก

 

ประเด็นของสังคมน่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมมากกว่า ประชาชนจึงมีการพยายามจับข้อพิรุธต่าง ๆ ดังนั้นนอกเหนือจากการที่ตำรวจทำตามหลักวิชาการที่เรียนมา ทำงานไปตามข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนิติวิทยาศาสตร์ การสอบปากคำ พยานแวดล้อม และนำข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จากนั้นก็เป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในวงการตำรวจเอง ซึ่งในปัจจุบันก็มีการตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความชื่อมั่นในการเก็บพยานหลักฐาน แต่ถามว่ากระแสสังคมเหล่านี้มีผลต่อคดีมากหรือไม่ คิดว่ามีผลในการทำงานแค่ระดับหนึ่ง เพราะข้อมูลหลักฐานที่จะนำไปพิสูจน์ก็จะต้องอิงจากหลักการที่มีอยู่ในกระบวนยุติธรรม

 

 

การวิเคราะห์บุคลิกภาพของอาชญากรมีส่วนในการพิจารณาคดีเพียงใด


 

อ.อภิชญา

ในการพิจารณาคดีอาชญากรรมจะให้น้ำหนักกับพยานหลักฐานที่เป็นรูปธรรมทางนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า ส่วนเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับบุคลิกภาพก็มีการให้ความสนใจ แต่ยังไม่ได้ให้น้ำหนักมากนัก

 

ในต่างประเทศ เช่นในประเทศอังกฤษ มีการวิเคราะห์บุคลิกภาพและสืบประวัติของคนเวลาให้ปากคำ ว่าพยานหลักฐานที่มาจากพยานหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีคนนี้มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์ทางจิตวิทยานั้นยังไม่ได้นับเป็นหลักฐานสำคัญเท่ากับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ให้ทางศาลไว้พิจารณา

 

 

จิตวิทยาการโกหก จับพิรุธ มีจริงหรือไม่


 

อ.ปิยกฤตา

ทางจิตวิทยาก็มีความพยายามอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนเราเวลาที่เราโกหก ถ้าเราโกหกจะมีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง

 

จิตวิทยามีกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการโกหกอยู่ 3 แนวทาง คือ

  1. Emotional approach เสนอว่า คนโกหกจะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น อันเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกผิด รู้สึกกลัว รู้สึกตื่นเต้น
  2. Cognitive approach เสนอว่า คนโกหกจะใช้ทรัพยากรทางสมองมาก เนื่องจากการโกหกเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ทำให้การตอบสนองทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวโดยรวมจะช้าลง พูดช้าลง หรือมีจังหวะหยุดพูดค่อนข้างบ่อย
  3. Attempted-control approach เสนอว่า คนโกหกมักพยายามควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งการควบคุมนี้ไม่ใช่สิ่งที่คนเราฝึกฝนอยู่ทุกวัน ดังนั้นยิ่งพยายามควบคุมยิ่งทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ

 

จะเห็นว่าแต่ละแนวคิดให้ข้อเสนอแนะที่ขัดแย้งกันในบางจุด เช่น แนวคิดแรกบอกว่าคนโกหกจะตื่นเต้น ทำให้ขยับร่างกายมากขึ้น ดูยุกยิก ขณะที่แนวคิดที่สามกลับบอกว่าคนโกหกจะทำให้คนมีท่าทีแข็ง ๆ คอยยั้งตัวเอง หรือการที่แนวคิดที่สองเสนอว่าคนโกหกจะพูดช้าลงและตะกุกตะกักเพราะต้องคิดมากขึ้น แต่ก็มีงานวิจัยหลายงานพบว่าคนโกหกจะพูดเร็ว พูดรัวจนแทบไม่มีจังหวะหยุดเลย ต่อมางานวิจัยที่รวบรวมสังเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัยต่าง ๆ และได้ข้อสรุปว่าคนโกหกจะพูดเร็วหรือช้า รัวหรือตะกุกตะกัก ขึ้นอยู่กับประเภทของการโกหก เช่น หากเป็นการโกหกด้วยการสร้างข้อมูลเท็จ ไม่ใช่แค่ปกปิดหรือไม่พูด การโกหกลักษณะนี้จะทำได้ยากกว่า ทำให้คนโกหกพูดตะกุกตะกัก เพราะคิดไปพูดไป แต่ถ้าเป็นการโกหกที่แค่ปกปิดความจริงหรือพูดไม่หมด คนโกหกจะพูดเร็ว เพราะเรื่องราวจะมีอยู่ในความคิดแล้ว

 

ส่วนเรื่องภาษากาย ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่พอจะได้ผลวิจัยที่สอดคล้องกันว่าคนโกหกจะมีการเคลื่อนไหวมือ แขน เท้า ที่ช้าลง และมีการใช้เสียงสูงกว่าปกติ ส่วนการหลบตา การมองไปทางอื่น การยิ้ม ยังไม่ใช่ภาษากายที่จะระบุได้ถึงการโกหก รวมถึงที่คนเชื่อกันว่า คนโกหกจะมองบนซ้ายนั้น งานวิจัยปัจจุบันก็ยังไม่สนับสนุนไปในทางเดียวกัน

ดังนั้นการที่จะระบุว่าคนโกหกมีภาษากายหรือมีการใช้คำพูดเช่นไร ยังไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถสรุปตายตัวได้

 

 

เครื่องจับเท็จใช้ได้จริงหรือไม่


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

เครื่องจับเท็จยังมีประเด็นในแง่กฎหมาย คือยังไม่ได้เป็นสภาพบังคับ แม้ตำรวจจะใช้เครื่องจับเท็จในการสอบสวน แต่ในกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่ยอมรับ ศาลยังไม่ได้ยอมรับ เป็นได้เพียงข้อมูลประกอบ ถ้ามี

 

ส่วนในแง่จิตวิทยา เครื่องจับเท็จยังมีข้อผิดพลาดในระดับหนึ่ง เช่น การดื่มเบียร์เพียง 1 กระป๋อง ก็สามารถทำให้เข็มไหวได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยในเรื่องสภาวะอารมณ์ของมนุษย์ หรือความอ่อนไหวของผู้ถูกซักถาม ที่จะทำให้เกิดผลลวง หรือในทางตรงกันข้าม หากมีการฝึกฝนและเข้าใจการทำงานของเครื่องมือ เช่นคนที่ทำงานด้านข่าวกรอง ก็สามารถโกหกได้เป็นตุเป็นตะโดยที่เครื่องไม่สามารถจับได้

 

ด้วยเหตุนี้หากผู้ถูกสอบสวนยินยอมเข้าเครื่องจับเท็จ ข้อมูลที่ได้ก็จะเป็นเพียงพยานประกอบในการรับฟังเท่านั้น ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะใช้ในการตัดสินคดีได้แบบข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์

 

 

ทำไมจึงมีคนรับสารภาพเท็จ


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ก่อนการให้ปากคำในศาลก็มีการให้สาบานตน ถึงขนาดมีการพูดกันว่าการพิจารณาคดีในศาล ชนะหรือแพ้ขึ้นอยู่กับว่าใครโกหกเก่งกว่ากัน คนไปสาบานตัวก็มีทั้งคนที่กลัวและไม่กลัว ยืนขาไขว้กันหรืออะไรต่าง ๆ ผู้พิพากษาบางคนก็เชิญพระพุทธรูปมาตั้งในศาลเลย ต้องยอมรับว่าบ้านเราบางครั้งมันมีการเสี้ยมพยาน คือก่อนที่จะขึ้นให้ปากคำ บางครั้งเองทนายก็เอาพยานมาแล้วคุยว่าถ้าเขาถามแบบนี้ต้องตอบแบบนี้นะ เคยมีถึงขนาดกลับคำให้การในศาลเลย เพราะฉะนั้นการให้การเท็จหรือไม่เท็จในแง่หนึ่งก็มาจากการเตรียมกัน

 

และมีกรณีไม่น้อยที่ทนายความบอกลูกความให้รับสารภาพ เนื่องจากมีเรื่องของบัญชีอัตราโทษ ภาษาบ้านเราเรียกว่า “ยี่ต๊อก” บางครั้งทนายความเองก็ไปเดาเอาว่าถึงลูกความไม่ผิดแต่ถ้ารับสารภาพ ศาลก็จะตัดสินด้วยการรอลงอาญาหรือได้รับการลดโทษ ดังนั้นทนายจึงให้คำแนะนำแก่ลูกความว่า ต่อให้ไม่ผิดก็ให้สารภาพ ดีกว่าสู้คดีแล้วแพ้

 

อีกประเภทหนึ่งคือ ฝั่งจำเลยไม่มีข้อพิสูจน์ที่จะหักล้างได้ ไม่มีความสามารถในการเอาพยานหลักฐานอย่างอื่นมาโตแย้งได้ เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไร คนที่ไม่มีหนทางในการสู้คดีบางคนจึงมองว่าการสารภาพเป็นทางออกของตน เพราะอย่างน้อยศาลก็จะลดโทษและตนก็จะติดคุกไม่กี่ปีเป็นต้น
การรับสารภาพทั้งที่ตนเองไม่ได้ทำผิดก็มีเยอะเหมือนกัน

 

อ.อภิชญา

การสารภาพเท็จมีหลายแบบ มีเคสหนึ่งในต่างประเทศที่สารภาพเท็จโดยการที่เจ้าตัวเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ก่อเหตุจริง ๆ เนื่องจากขณะเกิดเหตุผู้ต้องสงสัยได้กินยากล่อมประสาทเข้าไป ทำให้ตกอยู่ในภาวะมึนงง และเมื่อนำตัวมาไต่สวน การไต่สวนเป็นระบบปิด คือไม่ให้ติดต่อสื่อสารกับคนภายนอก ไม่มีทนาย ด้วยสภาวะแวดล้อมและวิธีการซักถามบางอย่าง ทำให้ผู้ถูกไต่สวนเกิดความจำผิดพลาดและเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ก่อเหตุ เรียกว่า Internalize false confession

 

ในประเทศไทย ก็มีคดีล่วงละเมินทางเพศคดีหนึ่งที่ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ แต่เมื่อตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์แล้วพบว่าไม่ใช่คนร้าย ส่วนที่รับสารภาพไปนั้นเพราะขณะถูกจับกุมถูกเจ้าหน้าที่โน้มน้าวให้รับสารภาพ เพราะอย่างไรก็ไม่มีทางสู้พยานหลักฐานได้ ไม่มีทางหนีพ้น และผู้ต้องสงสัยก็เชื่อตามนั้น

 

กรณีที่สารภาพเท็จโดยคล้อยตามว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิดนั้นมีจริง แต่มีไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสารภาพเท็จโดยรู้ตัว เนื่องจากอยากให้ตนหลุดพ้น เหนื่อยจากการสอบสวน จึงตัดสินใจรับสารภาพเพราะคิดว่าติดคุกไม่นาน นอกจากนี้ก็มีคนที่รับผลประโยชน์จากการสารภาพ หรือต้องการช่วยเหลือคนอื่นจึงรับผิดแทน

 

 

มีปัจจัยอื่นหรือแรงจูงใจอะไรที่ทำให้คนรับสารภาพเท็จ


 

อ.ปิยกฤตา

ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหา การรับสารภาพเท็จนั้นเกิดขึ้นบ่อยมาก ไม่ว่าจะในกรณีที่คล้อยตามและเชื่อจริง ๆ ว่าตัวเองกระทำ หรือบางคนเต็มใจรับสารภาพเท็จเพื่อรับผิดแทนลูกแทนคนในครอบครัว หรือบางคนมีภาวะทางจิต หรือเป็น psychopath ต้องการให้ตนได้รับความสนใจ จึงรับสารภาพเท็จเพื่อให้ตัวเองตกอยู่ใน spotlight

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจคือ การรับสารภาพผิดในสิ่งที่ตนไม่ได้กระทำอันเนื่องจากสถานการณ์พาไป กรณีเช่นนี้คือสิ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งมาจากกระบวนการสอบสวน กล่าวคือ กระบวนการสอบสวนได้กระตุ้นให้ผู้ต้องสงสัยเกิดความรู้สึกเครียด กดดัน เหนื่อยล้า แล้วจึงรับสารภาพเพื่อที่จะหนีจากสภาวะที่กำลังเผชิญ อาจเพราะบางคนยังเป็นเด็กอยู่ หรือมีประสบการณ์ชีวิตน้อย แม้แต่การอดนอน หรือมีบางคนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีทักษะการคิดที่ไม่มากพอ หากเขาโดนชี้นำ โดนชักชวน โดนกดดันมาก ๆ ก็อาจทำให้เขารับสารภาพผิดได้โดยที่เขาก็ไม่ได้ทำด้วยซ้ำ ดังนั้นกระบวนการสอบปากคำหากไม่ระมัดระวังก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการสารภาพเท็จหรือการจับแพะได้

 

ส่วนเรื่องพยาน ก็มีเช่นกันที่เขาเกิดคิดว่ามีความทรงจำนี้ทั้งที่ไม่มีจริง แบบที่เรียกว่า reconstructive memory เพราะมนุษย์เราชอบมีสคริปต์อยู่ในหัว ความจำของเราไม่ไช่การอัดวิดีโอ ฉายภาพซ้ำได้เป๊ะ ๆ มันมีความไม่สมบูรณ์แบบของมัน เมื่อมันไม่สมบูรณ์แบบ เราก็อาจเอาเรื่องอื่น ๆ มาปะต่อ ๆ กันให้มันกลายเป็นความจำที่สมบูรณ์ แล้วเราก็เชื่อว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งที่ความจริงมันไม่ได้เกิดขึ้นแบบนั้น

 

จะเห็นว่า human error ของเรามันส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมในหลายกระบวนการมาก ๆ

 

 

สิ่งแวดล้อมที่ควรให้เป็นไปในการสอบสวนเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดคืออะไร


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ปัจจุบันโลกเปิดกว้างมากขึ้น การสอบสวนในรูปแบบที่สร้างความกดดันเกิดขึ้นได้ยาก เพราะมีโอกาสพนักงานสอบสวนจะถูกร้องเรียน อย่างที่ทราบกันเรื่องหลัก Miranda warning คือเมื่อถูกจับคุณมีสิทธิที่จะไม่พูด ตำรวจของไทยก็ต้องแจ้งสิทธิแบบนั้นแก่ผู้ถูกจับกุมเช่นกัน

 

ในการสอบปากคำ เด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ก็ต้องกระทำแบบโปร่งใส การสอบปากคำติดต่อกัน 4-5 ชม. อาจจะทำได้กับคนที่ไม่รู้เงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิตนเอง แต่กับคนที่เขารู้ในสิทธิของเขา การสอบโดยไม่พักเลย สอบโดยไม่มีทนาย หรือมีการใช้กำลังข่มขู่ ก็ถูกนำมาใช้อ้างในชั้นศาลได้ว่าเขาถูกสอบติดต่อกัน 5 ชม. ดังนั้นคำให้การของเขาในชั้นพนักงานสอบสวนนั้นเชื่อถือไม่ได้ ศาลก็ให้สอบสวนใหม่ในชั้นศาลเลยก็มี

 

ดังนั้นพวกการสอบในห้องมืด สอบแบบไม่มีใครอยู่เลย หรือมีแนวโน้มการใช้กำลังทำร้าย ถ้าเป็นต่างจังหวัดไกล ๆ ก็อาจมีเจอได้ แต่ในพื้นที่ที่มีความเจริญขึ้นมา พนักงานสอบสวนเขาก็ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เพราะการคุ้มครองสิทธิในปัจจุบันมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก เช่น มีการสอบปากคำโดยการบันทึกเทป เด็กไม่ต้องขึ้นให้การ การมีสหวิชาชีพหรือนักจิตวิทยาคอยดูแล พนักงานสอบสวนไม่สามารถสอบถามเด็กได้โดยตรง ต้องถามผ่านนักจิตวิทยา กระบวนการตรงนี้มันถูกกำหนดโดยกฎหมายค่อนข้างเยอะ ดังนั้นวิธีการสอบสวนแบบดั้งเดิม ที่กดดันให้เกิดความหวาดกลัวความเครียดสูงเกินเหตุนั้นทำได้ไม่ง่ายเหมือนสมัยก่อน มันไม่ค่อยได้ผลในปัจจุบัน เขาก็จะไปใช้เทคนิคจิตวิทยาอย่างอื่น พนักงานสอบสวนที่มีประสบการณ์สูงเมื่อเห็นว่าพยานหลักฐานใดน่าจะมีน้ำหนักที่รับฟังได้ในคดี ก็จะมุ่งเป้าไปทางนั้นมากกว่าที่จะใช้การกดดัน

 

 

เทคนิคการสอบสวนแบบ Good cop-Bad cop มีจริงหรือไม่


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

มีครับ ถุงดำ แต่ก่อนภาษาตำรวจเขาเรียกว่าพาไปเที่ยว Big-C เป็นคำศัพท์เฉพาะ ปกติแล้วถ้าไปใช้กำลังเตะ ถีบ แบบ bad cop เต็มที่ มันจะเจอร่องรอย ความเสี่ยงของพนักงานสอบสวยมันมีเยอะ และอย่างยิ่งในปัจจุบันมันมีกล้องวงจรปิดทั้งในโรงพักและรอบ ๆ วิธีอื่น ๆ ที่เขาใช้ก็จะมีน้ำแข็ง คือใส่กุญแจมือแล้วเอาน้ำแข็งเป็นก้อน ๆ วางทับอวัยวะ แต่ก่อนมี เดี๋ยวนี้บางแห่งก็มี มันจะไม่ทิ้งร่องรอยบอบช้ำไว้บนร่างกาย ที่ใช้ถุงรัดแล้วคลายก็มี แต่ในปัจจุบันตำรวจเขาก็ไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เพราะก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เกิดไปทำแล้วมีคนวางยาก็แย่

 

ส่วนใหญ่เขาก็จะใช้ประสบการณ์ ว่าสำนวนคดีนี้ศาลรับฟังตรงนี้เป็นหลัก เอาพยานหลักฐานตรงนี้เป็นหลัก เขาก็จะมุ่งเป้าไปให้น้ำหนักตรงนั้นมากที่สุด ให้หลักฐานตรงนั้นไปปรากฏมากที่สุด มากกว่า

 

 

การวางตัวที่เหมาะสมในกระบวนการสอบสวนเป็นอย่างไร เช่นที่เคยได้ยินว่าให้สันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอนด์ได้เคยพูดไว้ว่า Paradigm ในกระบวนการยุติธรรมมี 2 รูปแบบ แบบแรก Crime control คือให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างมาก อย่างในอเมริกา อีกแบบคือ Due process คือให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหา ของประเทศไทยเรากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูฐว่ากรอบที่เราใช้เป็นแบบ Due process คือหลักที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาคือผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ความผิดได้ และในกฎหมายของเราก็ใช้หลักการกล่าวหา คือผู้ที่กล่าวอ้างต้องเป็นผู้พิสูจน์ และถ้าพิสูจน์ไม่สมต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ต้องปล่อยตัวไป ใบกระบวนการเหล่านี้จะเห็นว่ามีการให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหาค่อนข้างเยอะ

 

ทีนี้ปัญหาของรูปแบบนี้คือ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนที่มีเงินมาก ก็มีโอกาสมากกว่าที่จะจ้างทนายความหรือใคร ๆ เป็นที่ปรึกษาหรือออกหน้าให้ ดังนั้นในรูปแบบที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ถูกกล่าวหามากเช่นนี้ ก็จะเป็นจุดอ่อนให้รัฐใช้อำนาจในการพิสูจน์และเอาผิดได้น้อยกว่า

 

 

คำแนะนำถึงคนทั่วไปในการรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อย่างละอคติ ไม่ไปตัดสินและชี้นำสังคม


 

อ.อภิชญา

มีตำรวจท่านหนึ่งเคยออกมาพูดว่า โซเชียลมีเดียก็กดดันตำรวจเหมือนกัน ตำรวจยังไม่กล้าปิดคดีบางคดีเลย แสดงว่าอิทธิพลทางสังคมมันมีจริง ถึงแม้ว่าตำรวจจะทำหน้าที่ไปตามพยานหลักฐานก็ตาม

 

ข้อดีมันก็มี คือตำรวจเขาก็ได้เก็บประเด็นต่าง ๆ ที่สังคมตั้งข้อสงสัยให้ทำคดีอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น แต่ก็มีข้อเสียตรงที่บางครั้งก็เป็นการปะติดปะต่อจนกลายเป็นการสร้างเรื่องราวขึ้นเอง (confabulation) ดังนั้นเราควรต้องหาสมดุลให้ดีระหว่างที่จะช่วยตำรวจสืบสวนกับการให้ความยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้อง หากเราไปกล่าวหาใครมาก ๆ และสุดท้ายแล้วเขาได้รับการตัดสินว่าไม่ผิด ก็เหมือนกับเป็นการไปทำร้ายเขา เป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจ (trauma) คนบางคนที่ถูกตราหน้า (label) และได้รับอิทธิพลทางสังคมมาก ๆ ถึงขนาดไม่อยากมีชีวิตอยู่เลยก็มี

 

อ.ปิยกฤตา

เวลาเราเสพข่าวคดีต่าง ๆ เราอาจจะชอบจับผิดว่าคนนั้นคนนี้โกหก แต่ทั้งนี้การโกหกหรือการมีพิรุธ ปฏิกิริยาที่มันออกมาจากร่างกายของคน หลาย ๆ ครั้งมันไม่ใช่ universal sign ไม่ใช่ universal expression ที่จะบอกว่าทุกคนที่โกหกจะต้องมีลักษณะแบบนี้ 1-2-3-4 มันยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจจะทำให้การแสดงออก คำพูด ท่าทางของเขา อาจจะดูเหมือนคนโกหก ทั้งที่เขาอาจจะไม่ได้เป็นคนทำ เช่นคนบางคนเป็นคนตื่นเต้นง่ายแม้จะกำลังพูดความจริงอยู่ อีกข้อหนึ่งคือเรามักจะคิดว่า มีแค่คนที่ทำผิดเท่านั้นที่จะดูกลัว ดูประหม่า เพราะถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องปิดบัง ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้น ความตื่นเต้นมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน นึกถึงตัวเราถ้าอยู่วันหนึ่งเราต้องไปนั่งคุยกับผู้บังคับใช้กฎหมายที่เราอาจจะถูกปลูกฝังมาว่าเขาอาจจะทำอะไรก็ได้ เราก็อาจจะรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน

 

ดังนั้นความเชื่อของเราว่าคนนั้นคนนี้มีพิรุธ คำพูดของเราอาจไปกระทบกับเขา หรือไปกระทบกับคนทำคดี แล้วส่งผลชี้นำอะไรบางอย่าง หรือแม้กระทั่งหากเป็นคนที่กระทำความผิดจริง ๆ การบอกว่าคนโกหกจะมีพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ เขาก็อาจจะไปฝึกและเลี่ยงไม่ทำทุกอย่างที่ชี้กันมา

อยากให้ทำความเข้าใจในมนุษย์ว่าทุกอย่างไม่มีอะไร 100% ไม่มีอะไรเป็นแพทเทิร์น และมีช่องว่างมากมายให้เกิดความผิดพลาดในสิ่งต่าง ๆ ที่เราเชื่อกันมา เพราะฉะนั้นให้เราฟังไว้ ดูไว้ พอเป็นแนวทาง แต่อย่าไปฟันธงและแสดงความคิดตัดสินอะไรแบบมั่นใจเกินไป

 

 

ฝากถึงคนที่สนใจในเรื่องอาชญวิทยา หรือจิตวิทยาอาชญากรรม


 

อ.ฐนันดร์ศักดิ์

ปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้สร้างอิทธิพลในแง่ mass social psychology ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเราน่าจะวางแผนหรือออกแบบให้โซเชียลมีเดียเป็นตัวกล่อมเกลา สร้างประโยชน์ นำเอาความรู้ทั้งทางจิตวิทยาสังคมมาสร้างสรรค์สังคม อีกอันหนึ่งที่มีผลมาก ๆ คือจิตวิทยาพัฒนาการ ที่สามารถส่งผลกับเราตั้งแต่ในวัยเด็ก การปรับตัว การสร้างบุคลิกภาพ อะไรต่าง ๆ ที่จะหล่อหลอมคนว่าจะเติบโตไปเป็นคนปกติในสังคมหรือเดินเข้า juvie (สถานพินิจ) นอกจากนี้ข้อมูลที่ FBI ประมวลไว้ในแง่อาชญากรรม สามารถนำมาตกผลึกทางความคิด และนำมาเป็นองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาวางแผนอะไรต่าง ๆ ได้ ทั้งสามด้านสามารถนำมาร่วมกันเพื่อใช้สร้างคนหรือปรับพฤติกรรมของ next generation ได้

 

อ.อภิชญา

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เราจะต้องดูแลคือคนที่อยู่ในคุก ถ้าเรามีความเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้ จะทำอย่างไรให้คนที่เข้าไปอยู่ในคุกได้กลับมาเป็นคนดีของสังคม ดังที่ เนลสัน แมนเดอลา ได้กล่าวไว้ว่า “จะดูว่าชาติไหนเป็นอย่างไร ให้ดูว่าเราปฏิบัติต่อคนที่เล็กน้อยที่สุดในสังคมอย่างไร”

 

อ.ปิยกฤตา

การมีความรู้ทางจิตวิทยาจะช่วยให้เราเข้าใจในพฤติกรรม เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะใช้ในกระบวนการยุติธรรม ใช้ในการฟื้นฟูคนที่กระทำความผิด หรือใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดก็ดี จิตวิทยามั่นไปได้หลายทาง อีกประการคือการวิจัยเชิงจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้แพร่หลายมาก ใครที่สนใจเรียนทางนี้ ผลิตงานวิจัยทางนี้ ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่กระบวนการยุติธรรมไทยได้

 

 

 

Resilience – การฟื้นพลัง

 

 

 

 

การฟื้นพลัง หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์และจิตใจในการปรับตัวและฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ ภายหลังที่พบเหตุการณ์วิกฤตหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบากในชีวิต อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลผ่านพ้นอุปสรรคและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข

การฟื้นพลังสำหรับแต่ละชาตินั้น อาจมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป เพราะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างครอบครัว วัฒนธรรม รวมทั้งศาสนาและความเชื่อของแต่ละเชื้อชาติ สำหรับบริบทไทย มีการศึกษาของกรมสุขภาพจิตที่ได้ระบุถึงองค์ประกอบของการฟื้นพลังไว้ ดังนี้

 

  1. ด้านความมั่นคงทางอารมณ์หรือการทนต่อแรงกดดัน คือ ความสามารถในการดูแลจิตใจให้คงอยู่ได้ในภาวะกดดัน รู้เท่านั้นอารมณ์ความรู้สึกของตนและผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกทางลบของตัวเองได้ในสถานการณ์กดดัน
  2. ด้านความหวังและกำลังใจ คือ มีความหวังและแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน ซึ่งความหวังและกำลังใจนี้อาจมาจากการสร้างด้วยตนเองหรือคนรอบข้างก็ได้
  3. ด้านการต่อสู้เอาชนะอุปสรรค คือ ความมั่นใจและพร้อมที่จะเอาชนะปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤต ซึ่งความมั่นใจนี้เกิดจากการตระหนักในความสามารถหรือทักษะของตนเอง คิดว่าตนเองทำได้ แก้ปัญหาที่เผชิญได้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้และเข้าถึงความช่วยเหลือหรือปรึกษา

 

การฟื้นพลังด้านความมั่นคงทางอารมณ์มีความจำเป็นมากในระยะแรกที่เผชิญสถานการณ์วิกฤต ช่วงเวลาต่อมาที่ปัญหาคงอยู่ก็ยังต้องใช้ความสามารถในความมั่นคงทางอารมณ์อยู่ เช่นเดียวกับกำลังใจที่ต้องมีอยู่ทุก ๆ ระยะ

ในระยะแรกที่จิตใจอ่อนแอ กำลังใจอาจจะมาจากคนรอบข้าง เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง แต่พอเวลาผ่านไป จิตใจมีความทนทานมากขึ้น ก็อาจสร้างกำลังใจด้วยตัวเองได้ ส่วนการแก้ปัญหานั้น จำเป็นต้องอาศัยทั้งความมั่นคงทางอารมณ์และกำลังใจประกอบกันไปด้วย (กรมสุขภาพจิต, 2555)

 

Grotberg (1995) กล่าวว่าการส่งเสริมการฟื้นพลังเป็นการช่วยเสริมสร้างให้บุคคลมีการพัฒนาทางความคิด มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์และรับรู้ในสิ่งที่ตนเองเป็นอย่างเหมาะสมด้วยความเชื่อที่ว่า

 

  1. ตนเป็นคนมีความสามารถ มีความรู้สึกมั่นคงทางใจ เชื่อในคุณค่าและความสามารถของตน ในการควบคุมจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
  2. ตนมีความสำคัญ มีค่า มีความหมายเป็นที่ยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว กลุ่ม หรือสังคมสิ่งแวดล้อม
  3. ตนมีพลังอำนาจ มีความสามารถในการควบคุม หรือแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่อาจเข้ามาส่งผลกระทบต่อชีวิตของตนเองได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้บุคคลมีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตและทักษะในการเผชิญปัญหารูปแบบต่างๆ ได้แก่
    • ความสามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักประเมินสถานการณ์และควบคุมการแสดงออกของตนเองในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
    • ความสามารถใช้ทักษะทางการสื่อสารที่เหมาะสมในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
    • สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตอย่างเข้มแข็ง แต่ยืดหยุ่นได้ มีความเข้าใจถึงข้อจำกัดตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ หรือลงมือทำในเรื่องบางอย่าง และพร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถนำแนวความคิดของการฟื้นพลังมาประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เหมาะสมถูกต้องตามหลักเหตุผลและจริยธรรม

 

 

ดังนั้น สิ่งสำคัญต่อการสร้างเสริมการฟื้นพลัง คือต้องสร้างความรู้สึกต่อไปนี้ให้เกิดขึ้น (Gilligen , 2000)

 

  1. ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน – ด้วยการให้ความรัก คอยสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา ทำให้เกิดความไว้วางใจ มีความเป็นตัวของตัวเองและมีความคิดริเริ่ม ซึ่งต้องมาจากการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่บุคคลอาศัยอยู่
  2. ความสำนึกในคุณค่าแห่งตน – เริ่มมาจากการให้ความรัก เมื่อบุคคลรับรู้ถึงความรู้สึกว่าถูกรักก็จะคิดว่าตนเองยังมีคุณค่า มีคนรักและห่วงใยอยู่ นำไปสู่การคิดถึงคุณค่าของตนเองที่มีอยู่
  3. สมรรถนะแห่งตน ว่าบุคคลสามารถจัดการเรื่องราวต่างๆ ได้ด้วยตนเอง – ด้วยการคอยสนับสนุน ช่วยเหลือ เพื่อให้โอกาสบุคคลได้จัดการปัญหาของตนเองและเล็งเห็นถึงความสามารถของตน

 

 

 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของการพัฒนาการฟื้นพลังต่อปัจจัยทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง” โดย นลพรรณ ส่งเสริม, วรัญญา ศิลาหม่อม และ สรสิช โภคทรัพย์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46900