ข่าวและกิจกรรม

บุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง (Highly Sensitive Person) และความแตกต่างในการเลี้ยงดูผ่านกรณีศึกษาของคริสเตนและชาร์ล

(สำหรับท่านที่ยังไม่รู้จักบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง ขอให้ย้อนกลับไปทำความเข้าใจในบทความเรื่อง ทำความรู้จักคนที่มีบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูง และความจำเป็นต่อวิวัฒนาการมนุษย์)

 

 

โดยธรรมชาติของมนุษย์ การหยิบเอาบรรทัดฐานของคนส่วนใหญ่ (majority) มาตัดสินความเป็นปกติเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในทุกยุคทุกสมัย สำหรับบุคคลที่มีความละเอียดอ่อนสูง (HSP) การถูกตีตราว่า “ดราม่า” “ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่” “เรื่องมาก” หรือ “แปลก” เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย ๆ และผู้ที่เป็น HSP ส่วนใหญ่ซึ่งอาจไม่เข้าใจในบุคลิกภาพของตนเอง มักจะต้องทนแบกรับความรู้สึกว่าตนเองแปลกแยก หรือพยายามที่จะเลี่ยงการถูกตีตราด้วยการใช้ชีวิตตามมาตรฐานของคนส่วนมาก ซึ่งนั่นกลับทำให้พวกเขายิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง และเกิดความเครียดในที่สุด

 

ในระหว่างการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างของ ดร. เอเลน แอรอน ซึ่งเป็นนักจิตบำบัดและผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องบุคลิกภาพแบบ HSP ดร. แอรอนได้พบว่า การทำความเข้าใจบุคลิกภาพของตนเอง และการสนับสนุนจากคนรอบข้าง มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เด็กที่เป็น HSP เติบโตขึ้นมาอย่างรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง สามารถยินดีกับข้อดีและมีความสามารถในการรับมือกับข้อด้อยของการเป็น HSP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

คริสเตน เป็นผู้เข้าร่วมการวิจัยคนหนึ่งที่สงสัยว่าตัวเอง “บ้า” เธอกล่าวว่าตั้งแต่เล็ก ๆ เธอมักจะรู้สึกกลัวเวลาต้องเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน เธอรู้สึกว่าเสียงหม้อและกระทะของเล่นที่เพื่อเคาะในห้องนั้นดังเกินไปจนเธอต้องปิดหูร้องไห้ ในวัยเด็กครูมักจะลงความเห็นว่าเธอ “ชอบเหม่อ” แต่เมื่อประเมินพัฒนาการแล้วกลับไม่พบความผิดปกติใด ๆ แถมเธอยังถูกส่งไปในชั้นเรียนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ (gifted) อีกด้วย สุดท้ายจิตแพทย์ลงความเห็นว่าเธอน่าจะไม่สามารถ “กรองสิ่งเร้า” รอบตัวออกได้แบบเด็กคนอื่น คริสเตน ผ่านวัยเด็กมาได้ด้วยการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย เธอเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันต่ำและอยู่แถวบ้าน จนเมื่อถึงวัยในวัยรุ่น คริสเตนตกหลุมรักและติดตามแฟนของเธอไปพบพ่อแม่ของเขาที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่แม้จะชั่วคราวก็ทำให้คริสเตนเกิดความเครียด จนพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า คริสเตนแสดงอาการกังวลออกมาบ่อยครั้งจนทำให้แฟนของคริสเตนขอตัดความสัมพันธ์ เมื่อคริสเตนกลับมาเรียนเธอก็กังวลกับการเรียน คริสเตนกำลังอยู่ในจุดที่อันตรายต่อสุขภาวะทางจิตเป็นอย่างยิ่ง

 

ในขณะที่ ชาร์ล ผู้ให้สัมภาษณ์อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีความละเอียดอ่อนสูงและเกิดในครอบครัวศิลปินซึ่งเข้าใจความละเอียดอ่อนได้ดี ครอบครัวของชาร์ลสนับสนุนความเป็นตัวเองของเขาอย่างเต็มที่ โดยการเปิดโอกาสให้ชาร์ลแสดงอารมณ์ที่ล้นเอ่อทั้งทางบวกและลบออกมาได้ ชาร์ลรับรู้ถึงลักษณะบุคลิกภาพของตนเองมาตลอดและรับรู้ว่าบุคลิกภาพของตนเองเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจ ชาร์ลเห็นข้อดีของการเป็นคนที่มีความละเอียดอ่อนสูงมากมาย เขามองว่าแม้เขาจะเป็นคนส่วนน้อยของสังคม แต่เขามีอะไรที่เหนือกว่าคนส่วนใหญ่ เช่น การมีรสนิยมที่ดีในด้านดนตรี ความรู้สึกดีกับตนเองนี้ทำให้ชาร์ลสามารถปรับตัวได้ดีเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ใหม่ ๆ แม้ว่าจะเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันสูงระดับ Ivy League และขณะเดียวกัน ชาร์ลก็สามารถยอมรับข้อด้อยของบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูงและหาวิธีจัดการตนเองได้อย่างเหมาะสม เขาเลือกซื้อบ้านที่อยู่ในละแวกเงียบสงบ และเขาทราบว่าตนเองมีแนวโน้มที่จะคิดมากและเกิดอาการซึมเศร้าในบางครั้ง แต่ก็สามารถจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ชาร์ลมีชีวิตที่มีความสุข และนับถือตนเอง

 

แม้บุคคลจะถือกำเนิดด้วยพื้นฐานบุคลิกภาพที่คล้ายกัน แต่พื้นฐานบุคลิกภาพนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินอนาคตของแต่ละคน จากกรณีตัวอย่างของคริสเตนและชาร์ล เราจะเห็นได้ว่าการเลี้ยงดูและการสนับสนุนทางสังคม มีผลต่อพัฒนาการและสุขภาพจิตของเด็กไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพื้นฐานที่ติดตัวพวกเขามาแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เลี้ยงดูพึงระวังคือ แม้เด็กแต่ละคนจะมีพื้นฐานบุคลิกภาพแบบละเอียดอ่อนสูงเหมือนกัน แต่ HSP แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างเฉพาะตัวกันออกไป

 

คุณลักษณะสำคัญ 3 ด้านที่ HSP แต่ละคนมีต่างกันมากน้อย ซึ่งก่อให้เกิดความเฉพาะตัว ได้แก่

1. ความยากง่ายในการถูกกระตุ้นทางจิตใจ (Ease of Excitation) เช่น เหนื่อยง่ายเมื่อต้องทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน หรืออารมณ์เสียง่ายเมื่อหิว หรือง่วง

2.ความอ่อนไหวกับความงาม (Aesthetic Sensitivity) เช่น การรู้สึกประทับใจกับศิลปะและดนตรี และ

3.การมีขีดความอดทนต่อการกระตุ้นทางผัสสะที่ต่ำ (Low Sensory Threshold) เช่น รู้สึกไม่ดีได้ง่ายเมื่อต้องอยู่ในที่แสงจ้า หรือมีกลิ่นแรง

 

การทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะตัวของผู้ที่เป็น HSP จึงต้องอาศัยการสังเกต ซักถามจากผู้เลี้ยงดูหรือบุคคลใกล้ชิดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เจาะจง และนำไปสู่การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโต

 

 


 

บทความวิชาการโดย
อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา

กลุ่มงานบริการวิชาการ คณะจิตวิทยา ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรสายปฏิบัติการ “คนดีศรีจุฬาฯ” 2565

ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีการให้รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรสายปฏิบัติการ “คนดี ศรีจุฬาฯ” เพื่อเป็นการยกย่อง เป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรสายปฏิบัติการ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทำคุณประโยชน์ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในการนี้ คณะกรรมการสรรหาบุคลากรดีเด่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ได้พิจารณาและมีมติให้รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรสายปฏิบัติการ “คนดี ศรีจุฬาฯ” กองทุนเพื่อการพัฒนาบุคลากรประจำปี พ.ศ. 2565 ทั้งในประเภทบุคคล และประเภทกลุ่มบุคลากรยอดเยี่ยม จำนวนหลายรางวัล (NewsHRM)

 

โดย “บุคลากรกลุ่มงานบริการวิชาการ คณะจิตวิทยา” ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรสายปฏิบัติการ “คนดี ศรีจุฬาฯ” ประเภทกลุ่มบุคลากรยอดเยี่ยมขนาดเล็ก และได้รับเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาท พร้อมประกาศเกียรติคุณ

 

บุคลากรกลุ่มงานบริการวิชาการ คณะจิตวิทยา ที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ประกอบด้วย

  1. คุณเวณิกา บวรสิน
  2. คุณกรรณิกา ชูชาติ
  3. คุณรวิตา ระย้านิล
  4. คุณณัฐนันท์ มั่นคง
  5. คุณวาทินี สนลอย
  6. คุณจิรีรัตน์ สิทธิวงศ์
  7. คุณวรกัญ รัตนพันธ์
  8. คุณณัฏฐภรณ์ ขุนไชย
  9. คุณบุณยาพร อนะมาน
  10. คุณรัตนาพร โพธิ์งาม

 

สื่อสารอย่างไรให้เข้าใจกันและไม่เกิดการโต้เถียงหรือขัดแย้งกัน

 

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เราแต่ละคนล้วนต้องมีการปรับตัวไม่มากก็น้อย บ้างก็ต้องเรียนจากที่บ้าน บ้างก็ต้องทำงานจากที่บ้าน บ้านจึงกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ไว้สำหรับการพักผ่อนหลังจากการทำกิจกรรมในแต่ละวันอีกต่อไป การได้ใช้เวลาอยู่ในบ้านร่วมกันมากขึ้นก็อาจยิ่งทำให้แต่ละคนจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหากันมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรามีความเครียดหรือความคับข้องใจ บทสนทนาธรรมดาทั่ว ๆ ไปก็สามารถสร้างความขัดแย้งขึ้นได้โดยง่าย การพยายามรักษาบทสนทนาต่อจึงอาจแปรเปลี่ยนไปเป็นการยื้อให้เกิดการโต้เถียงแทน และในหลายครั้งการโต้เถียงก็นำไปสู่การเกิดความรุนแรงในความสัมพันธ์ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การใช้ความรุนแรงทางคำพูด การใช้ความรุนแรงทางอารมณ์ การใช้ความรุนแรงทางกาย ฯลฯ

 

 

ความแตกต่างระหว่างบทสนทนาที่สร้างสรรค์และการโต้เถียงที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง

 

บทสนทนาที่สร้างสรรค์ คือ

  • การแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของความเข้าใจและประนีประนอมต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล
  • มีการเห็นคุณค่าของความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น
  • เกิดการขยายมุมมองด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

การโต้เถียงที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง คือ

  • ความพยายามเชิงบีบบังคับให้คู่สนทนารับรู้ว่าเราเป็นฝ่ายที่ถูกต้องด้วยการหักล้างข้อมูล
  • การลดทอนคุณค่าของความรู้สึกของอีกฝ่าย
  • การพยายามทำลายมุมมองของอีกฝ่าย

 

 

อะไรทำให้บทสนทนากลายไปเป็นการโต้เถียง?

 

การโต้เถียงเกิดขึ้นเมื่อความขัดแย้งในบทสนทนานั้นไปคุกคามตัวตนและสถานะ หรือไปลดทอนอำนาจในความสัมพันธ์ของคู่สนทนา จึงทำให้เป้าหมายของการโต้เถียงนั้นเป็นไปเพื่อการพิสูจน์ว่าตนเองมีความเหนือกว่า ไม่ใช่การค้นหาความจริง ซึ่งอำนาจในความสัมพันธ์นั้นเกี่ยวข้องกับการรับรู้คุณค่าของตนเองด้วย เมื่อการรับรู้คุณค่าของตนเองถูกกระทบและบุคคลนั้นรับรู้ได้ว่าตนมีคุณค่าต่ำ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการแสดงออกว่าตนเปราะบาง จึงนำไปสู่ความพยายามที่จะแสดงออกถึงอำนาจเหนืออีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจน เช่น การใช้ภาษาที่ลดทอนคุณค่าของอีกฝ่าย หรือการแสดงออกอย่างแอบแฝงซ่อนเร้น เช่น การพูดเสียดสี การใช้น้ำเสียง ภาษากาย และการแสดงออกทางสีหน้า

 

 

วิธีที่ช่วยลดโอกาสไม่ให้บทสนทนากลายเป็นการโต้เถียง

 

(1) พูดคุยกันใหม่เมื่อพร้อม ความรู้สึกไม่สบายอย่างฉับพลันเป็นสัญญาณเตือนว่าเราไม่พร้อมที่จะใช้เหตุผลในการพูดคุย ณ ตอนนี้ และเนื่องจากบทสนทนาที่ดีควรมีพื้นฐานจากความพร้อมของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น เราจึงควรหาวิธียุติบทสนทนาเมื่อรับรู้ว่าเกิดอารมณ์เข้มข้นในบทสนทนานั้น และมีการตกลงกันเพื่อพูดคุยประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในเวลาที่พร้อมทั้งสองฝ่าย (เช่น อาจเป็นการพูดว่า “เอาไว้ค่อยมาคุยกันใหม่ในประเด็นนี้ตอนที่เราทั้ง 2 คนใจเย็นลงกว่านี้นะ”)

 

(2) หาสถานที่ที่สงบเพื่อใช้เวลาในการปรับสภาพจิตใจหรือสร้างกิจวัตรประจำวันในการผ่อนคลายตัวเอง เช่น การออกไปเดินเล่น ชื่นชมธรรมชาติ การฟังเพลงบรรเลง การเล่นกับสัตว์เลี้ยง

 

(3) ตระหนักเสมอว่าการกล่าวโทษไปที่ตัวตนของใครคนหนึ่งนั้นเกิดขึ้นเมื่อเราไม่รู้ว่าจะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร หลายครั้งบทสนทนาจะหลุดไปที่ประเด็นอื่น กลายเป็นการกล่าวโทษไปที่ตัวตนของใครคนหนึ่งว่าเป็นสาเหตุของปัญหา ซึ่งในความเป็นจริง แนวทางการแก้ปัญหาจะเกิดจากการที่ต่างฝ่ายต่างตระหนักว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากความขัดแย้ง แต่เกิดจากความหมายที่แต่ละฝ่ายเข้าใจที่ไม่เหมือนกันต่อประเด็นปัญหานั้น ๆ ดังนั้น การที่แต่ละฝ่ายสามารถสื่อสารถึงความคิดของตนเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายและปรับมุมมองของแต่ละฝ่ายเข้าหากันด้วยเหตุและผล ซึ่งนำไปสู่การพยายามปรับความคิดเข้าหากันและนำไปสู่ความขัดแย้งที่ลดลง

 

(4) เป็นผู้ฟังที่ดี การโต้เถียงเป็นการที่ทั้งสองฝ่ายพยายามพูดในเวลาเดียวกันจึงทำให้ไม่มีผู้ฟัง ดังนั้น จึงควรมีการตั้งเงื่อนไขในการแสดงออกถึงความรู้สึกของแต่ละคนโดยที่มีการเลือกให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้พูดก่อน เมื่อพูดจบก็จะให้อีกฝ่ายได้พูด ความรู้สึกขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการตีความของแต่ละบุคคลต่อสถานการณ์นั้น ๆ และหลายครั้งก็ยากที่จะทำความเข้าใจต่อมุมมองของบุคคลอื่น ซึ่งหากเราสามารถทำความเข้าใจบนมุมมองของบุคคลอื่น ความรู้สึกของบุคคลนั้นก็จะสมเหตุสมผลขึ้นมา ดังนั้น เป้าหมายของการเป็นผู้ฟังคือการพยายามเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายโดยไม่ได้มีความรู้สึกว่าตนเองถูกลดทอนคุณค่า

 

(5) เข้าอกเข้าใจ ในความเป็นจริง เราทุกคนอยากรับรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังฟังและเข้าใจว่าเรารู้สึกอย่างไรอยู่ มากกว่าการพยายามพิสูจน์ว่าเราเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง

 

 

โดยสรุป การโต้เถียงที่ไม่สร้างสรรค์ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ในทางบวก เพราะการโต้เถียงที่ไม่สร้างสรรค์ย่อมทำให้มีฝ่ายหนึ่งกลายเป็นผู้ชนะและอีกฝ่ายหนึ่งกลายเป็นผู้แพ้ ซึ่งในความสัมพันธ์ที่ดีนั้นควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย หรือพูดในอีกทางหนึ่ง คือ ทั้งสองฝ่ายชนะปัญหาในความสัมพันธ์ไปด้วยกันและไม่มีใครถูกทิ้งไว้ให้เป็นผู้แพ้ในการรับผิดชอบปัญหาเพียงฝ่ายเดียวนั่นเอง

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

https://www.psychologytoday.com/au/blog/anger-in-the-age-entitlement/202204/how-discuss-and-disagree-without-arguing
https://psychcentral.com/lib/shifting-from-conversation-to-argument-and-what-to-do-about-it#1
https://www.thecouplescenter.org/how-to-turn-arguments-into-conversations/

 

 

บทความโดย

 

กาญจนณัฐ คุณากรโอภาส และ ผศ.ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม

จิตวิทยาของการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ (Victim of scams)

 

ปัจจุบันมีข่าวต่อเนื่องเกี่ยวกับกรณีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงฉ้อโกงทรัพย์ทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ (scam) เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกให้โอนเงิน การหลอกให้โอนเงินซื้อสินค้าในราคาถูกผ่านเฟสบุ๊ค และการหลอกให้ลงทุนทรัพย์สิน

 

การฉ้อโกงทรัพย์ในทุกรูปแบบล้วนมีเจตนาหลอกลวงโดยการให้สัญญาว่าเหยื่อจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินทอง สินค้า หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุน แต่จริง ๆ แล้วผู้หลอกลวงไม่มีเจตนาที่จะให้ผลตอบแทนเหล่านี้ การฉ้อโกงเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในโลกและก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 5 ล้านล้านบาทต่อปี (Gee & Button, 2019) อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้เสียหายรู้สึกเจ็บช้ำใจและมีความเครียดมากอีกด้วย

 

การฉ้อโกงทางโทรศัพท์และทางอินเทอร์เน็ตเป็นอาชญากรรมชนิดพิเศษ เพราะว่าผู้กระทำผิดมักอยู่ห่างใกลจากผู้เสียหายโดยทั้งสองฝ่ายอาจไม่เคยพบเจอหรือรู้จักกันด้วยซ้ำ แต่เหยื่อก็ยังตัดสินใจเลือกที่จะส่งข้อมูลส่วนตัวหรือโอนเงินไปให้อีกฝ่าย และถึงแม้ว่าปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลเตือนภัยรูปแบบต่าง ๆ ของมิจฉาชีพ แต่ก็ยังมีข่าวต่อเนื่องเรื่องการถูกโกง เราจึงควรทำความเข้าใจกระบวนการทางจิตวิทยาในเทคนิคกลโกงและการโน้มน้าวที่มิจฉาชีพมักใช้ รวมถึงการเข้าใจลักษณะส่วนบุคคลที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงฉ้อโกง

 

 

มิจฉาชีพมักใช้เทคนิคหลอกลวงทางจิตวิทยาอย่างไรบ้าง?


 

มิจฉาชีพมีกลยุทธ์การหลอกลวงหลากหลายรูปแบบเพื่อหลอกล่อเหยื่อ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางจิตวิทยาที่วิเคราะห์การหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมากกว่า 580 ประเภท ชี้ว่ามิจฉาชีพมักใช้เทคนิคจิตวิทยาการโน้มน้าว 2 ประเภทหลัก ๆ คือ การอ้างอำนาจ (authority) และการกดดันโดยการจำกัดเวลาหรือจำนวนรางวัลตอบแทน (scarcity) มิจฉาชีพอาจสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจโดยการแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอที่นำมาล่อลวงนั้นมีความถูกต้องตามกฎหมายและมีหน่วยงานหรือบริษัทที่น่าเชื่อถือรองรับ หรือแม้กระทั่งการอ้างอิงว่าตนเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำให้เหยื่อรู้สึกเชื่อใจและไว้ใจ อีกทั้ง ผู้หลอกลวงมักใช้การโน้มน้าวทางอารมณ์มากกว่าการโน้มน้าวด้วยเหตุผล เช่น จงใจจำกัดระยะเวลาในการส่งข้อมูลหรือโอนเงิน จำกัดจำนวนสินค้าที่จำหน่าย หรือจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมการลงทุน ซึ่งทำให้เหยื่อรู้สึกว่าต้องรีบส่งข้อมูลหรือโอนเงินเพื่อจะได้รับผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจ และหลงเชื่อว่าตนจะได้รับผลตอบแทนตามที่ผู้หลอกลวงสัญญาไว้

 

 

ใครเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ?


 

คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นกลุ่มเป้าหมายของการหลอกลวงฉ้อโกง ทั้งนี้ เพศหญิงมักตกเป็นเหยื่อเป้าหมายของการหลอกล่อให้รักเพื่อหลอกลวงโกงทรัพย์สิน ส่วนผู้สูงวัยมักเป็นเหยื่อของการโกงทรัพย์หรือหลอกล่อเอาข้อมูลส่วนตัวออนไลน์ และบุคคลที่มีการศึกษาและมีรายได้ค่อนข้างสูงมักเป็นเหยื่อของการล่อลวงให้ลงทุน อีกทั้ง งานวิจัยทางจิตวิทยาชี้ว่ามี 3 ลักษณะนิสัยที่เพิ่มความเสี่ยงการถูกโกงทรัพย์สินโดยมิจฉาชีพ ดังนี้

 

1. นิสัยและพฤติกรรมเสี่ยง (risk-taking) – เล่ห์การหลอกลวงเปรียบเสมือนการซื้อล็อตเตอรี่หรือการพนันแบบไม่เป็นทางการ เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีนิสัยกล้าลองทำสิ่งใหม่ ๆ และรับความเสี่ยงนั้นมีแนวโน้มตอบรับข้อเสนอของผู้หลอกลวงมากถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับบุคคลที่ไม่ชอบความเสี่ยง ลักษณะชอบความเสี่ยงจึงเป็นตัวชี้วัดว่าบุคคลนั้นมีแนวโน้มจะทำตามข้อเสนอผู้หลอกลวงและเชื่อใจผู้หลอกลวง เพราะไม่ได้ใส่ใจกับการประเมินระดับความสุ่มเสี่ยงของข้อเสนอแต่กลับมุ่งความสนใจไปที่รางวัลผลตอบแทนที่อาจได้รับจากการลองเสี่ยง

 

2. ความสามารถในการควบคุมตนเอง (self-control) – การกำกับตนเองเป็นทักษะสำคัญที่รวมถึงการควบคุมอารมณ์ชั่วขณะ การควบคุมพฤติกรรม และการควบคุมความต้องการของตนเอง บุคคลที่ชอบตัดสินใจเสี่ยงมักมีความสามารถในการกำกับตนเองต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ชี้ว่าคนที่เคยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมักมีทักษะในการควบคุมตนเองค่อนข้างต่ำ เช่น มีนิสัยชอบซื้อของโดยไม่ทันยั้งคิด บุคคลที่มีความบกพร่องในการควบคุมตนเองจึงไม่สามารถยับยั้งการตัดสินใจลงทุนหรือโอนเงินแบบหุนหันพลันแล่น โดยเฉพาะกรณีที่ผู้หลอกลวงใช้กลยุทธ์การจำกัดเวลาหรือจำกัดจำนวนรางวัลตอบแทนเพื่อโน้มน้าวและชักใยทางอารมณ์

 

3. ความสามารถในการจัดการอารมณ์ (emotional competence) – ความฉลาดทางอารมณ์คือความสามารถในการรับรู้และการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจทางการธุรกิจการเงินที่มีความเสี่ยงสูง บุคคลที่มีทักษะจัดการและควบคุมอารมณ์ตนเองต่ำจะมีความสามารถในการไตร่ตรองข้อมูลลดลง และอาจตัดสินใจทางการเงินโดยใช้อารมณ์ชั่วขณะ (เช่น กลัวพลาดโอกาสทองในการทำกำไร หรือรู้สึกคล้อยตามแนวคิดโน้มน้าวของผู้หลอกลวง) จึงมีแนวโน้มตอบรับขอเสนอการล่อลวงทรัพย์สินมากกว่าบุคคลที่กำกับอารมณ์ตนเองได้ดี

 

 

ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อการโกงได้ง่ายขึ้น เช่น การมีความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศไม่มากพอ และการไว้ใจและเชื่อคนง่าย การรู้เท่าทันปัจจัยความเสี่ยงที่ตนเองมีและการรู้เท่าทันกลหลอกลวงทางจิตวิทยาของมิจฉาชีพอาจช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงฉ้อโกง และถึงแม้ว่าลักษณะนิสัยและพฤติกรรมส่วนตัวของตนเองอาจเปลี่ยนแปลงได้ยาก เราสามารถลดความเสี่ยงโดยการใช้เวลาค่อย ๆ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลาย ๆ แหล่งและปรึกษาคนรอบตัวที่ไว้ใจก่อนที่จะตัดสินใจโอนเงินหรือลงทุนอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นเงินจำนวนไม่น้อย และถึงแม้ว่าข้อเสนออาจจะดูน่าเชื่อถือเพราะมีการอ้างอิงความชอบธรรมทางกฎหมาย เราก็ยังควรนำข้อมูลทั้งหมดมาไตร่ตรองพิจารณาให้ดี และเตือนตัวเองว่าโอกาสการได้รับผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจมักมาพร้อมกับความเสี่ยงไม่น้อย

 

สุดท้ายแล้ว เราคงต้องหาความสมดุลโดยที่ไม่มองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป แต่ก็ต้องมีสติในการควบคุมอารมณ์ชั่วขณะและพฤติกรรมตนเองในการตัดสินใจเรื่องสำคัญทางธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะกับบุคคลที่เราเพียงสื่อสารด้วยผ่านโทรศัพท์หรือออนไลน์แต่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Fischer, P., Lea, S. E. G., & Evans, K. M. (2013). Why do individuals respond to fraudulent scam communications and lose money? The psychological determinants of scam compliance. Journal of Applied Social Psychology, 43(10), 2060–2072. https://psycnet.apa.org/doi/10.1111/jasp.12158

 

Gee, J., & Button, M. (2019). The financial cost of fraud 2019. http://www.crowe.ie/wp-content/uploads/2019/08/The-Financial-Cost-of-Fraud-2019.pdf

 

Hanoch, Y., & Wood, S. (2021). The scams among us: Who falls prey and why. Current Directions in Psychological Science, 30(3), 260-266. https://doi.org/10.1177/0963721421995489

 

Jones, H. S., Towse, J. N., Race, N., & Harrison, T. (2019). Email fraud: The search for psychological predictors of susceptibility. PLOS ONE, 14(1), Article e0209684. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0209684

 

Wood, S., Liu, P.-J., Hanoch, Y., Xi, P. M., & Klapatch, L. (2018). Call to claim your prize: Perceived benefits and risk drive intention to comply in a mass marketing scam. Journal of Experimental Psychology: Applied, 24(2), 196–206. https://doi.org/10.1093/geroni/igy023.2302

 

 


 

 

บทความโดย

 

อาจารย์ ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาปริชาน

Japan-Thailand Roundtable 2022

Japan-Thailand Roundtable

August 25th, 2022  l  14.00-17.00

At Hotel New Mitoya Akiu Hotspring Sendai


 

Purpose

Japan-Thailand Network on Chemosensory and Eating Researchers

 

Toward

Toward launching first scientific chemosensory research association

 

Chairman

  • Professor Nobuyuki Sakai, Tohoku University

Co-Chairman

  • Professor Suwimon Keeratipibul, Chulalongkorn University

Supporter

  • Hisayuki Uneyama, Executive Specialist, Ajinomoto Group

 

 

 

 

คณะจิตวิทยาลงนามความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ (MOU) กับ Tohoku University (2565)

 

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565 เวลา 9.30 น. (เวลาประเทศญี่ปุ่น) ตัวแทนคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา ได้เข้าร่วมการประชุม กับตัวแทน Graduate School of Arts and Letters, The Faculty of Arts and Letters, Tohoku University ศ. ดร.โทชิอะกิ ยะนะกิฮะระ คณบดี และได้ร่วมลงนามในบันทึกการตกลง (MOU) ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ ในการแลกเปลี่ยนนิสิตและนักวิจัย และการจัดการประชุมวิชาการทางจิตวิทยาร่วมกัน

 

แขกผู้มีเกียรติที่ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ ได้แก่ ศ. ดร.สึเนะยุกิ อาเบะ รองคณบดี และหัวหน้าภาควิชา​จิตวิทยา​ ศ. ดร.ซะไก โนบุยุกิ ศ. ดร.สึจิโมโตะ มาซาฮิโระ รศ. ดร.ทาคาชิ อะระอิ รศ. ดร.คาวาจิ ยูซุเกะ​ จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโทโฮกุ ผศ. ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ รองคณบดี และผศ. ดร.จุฑาทิพย์ วิวัฒนาพันธุวงศ์ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

More pictures

 

The Joint International Symposium on “Health and Well-Being” 2022

 

On August 23-24, 2022, faculty members and graduate students, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University participated in the poster presentation and oral presentation at the Joint International Symposium on “Health and Well-Being” at the Sendai International Center in Sendai, Miyagi, Japan.

 

The event was held during 22-25 August 2022 with cooperation between the​ Department of Psychology, ​Graduate school of Arts and Letters, ​Tohoku University​ and the Faculty of Psychology, Chulalongkorn University.

 

https://jasts-sendai56.com/tucujis.html

 

The Master of Ceremony:

  • Prof. Tsuneyuki Abe. Vice Dean, School of Arts and Letters, TU
  • Asst. Prof. Nattasuda Taephant. Dean, Faculty of Psychology, CU

Supported by the 56th Annual Meeting of the Japan Association Studying Taste and Smell (JASTS), ans Ajinimoto Co. LTD.

 

 


Research Presentation


 

23rd Aug 2022, 15:00 ~ 16:00 at Main Hall

Symposium in JASTS Meeting (Eating Behavior in Humans)

  • Food consumption of the Bangkok residents: Preliminary findings from WELL Thailand project (Nipat Pichayayothin)
  • Emotional Eating and Weight Loss Self-efficacy: The Effects of Cognitive Behavioral Group Therapy (Kullaya Pisitsungkagarn)

 

อาจเป็นรูปภาพของ 5 คน, ผู้คนกำลังยืน และ สถานที่ในร่ม อาจเป็นรูปภาพของ กลางแจ้ง
อาจเป็นรูปภาพของ 4 คน อาจเป็นรูปภาพของ 3 คน
อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความพูดว่า อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, กำลังยืน และ ข้อความพูดว่า

 

 

24th Aug 2022, 11:15 – 17:00

Poster session at Tachibana Conference Hall

  • Exploring physiological needs for comfort food preference across gender among Thai university students (Chayanit Trakulpipat)
  • Development of psychological capital questionnaire among flight attendants of the Thai Airways Public Company Ltd. (Punpong Suwanvatin)
  • Qualitative Study of Mental Well-being in Thai Older Adults with Active Music Participation (Panicha Ponprasit)
  • Psychometric Properties of the Highly Sensitive Person Scale in Thai Culture: The Preliminary Study in Undergraduate Students (Arpapond Ussanarassamee)

Main Symposium at Main Hall

  • Stress, Post-Traumatic Growth, Coping Strategies of Cyber-bullying victims during the COVID-19 pandemic in Thailand. (Nattasuda Taephant)
  • Understanding Buddhist Teachings about the Three Characteristics of Existence: The Development and Validation of the Mindfulness Insight Scale. (Somboon Jarukasemthawee)
  • A Casual Relationship Model of Mental Well-being of Thai Older Adults Aging in Place (Juthatip Wiwattanapantuwong)

 

อาจเป็นรูปภาพของ 7 คน และ ผู้คนกำลังยืน อาจเป็นรูปภาพของ 3 คน และ ผู้คนกำลังยืน
อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน และ ผู้คนกำลังยืน อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน
อาจเป็นรูปภาพของ 3 คน และ ผู้คนกำลังยืน อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน
อาจเป็นรูปภาพของ 5 คน และ ผู้คนกำลังยืน อาจเป็นรูปภาพของ 5 คน และ ผู้คนกำลังยืน

แบบสำรวจสุขภาวะทางใจของบุคลากร จุฬาฯ

ประชาสัมพันธ์สำหรับบุคลากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

** แบบสำรวจสุขภาวะทางใจของบุคลากร จุฬาฯ **

 

ขอเชิญบุคลากร จุฬาฯ ร่วมเป็นส่วนในโครงการ CU Sustainable Well-Being: เสริมสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาแนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะกายและใจในสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการตอบแบบสอบถามสุขภาวะทางใจ

 

แบบสอบถามฉบับนี้จัดทำขึ้นโดย ศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะที่ 5 ปีงบประมาณ 2565 ภายใต้โครงการ “CU Sustainable Well-Being: เสริมสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน” โดยความร่วมมือจากศูนย์สุขภาวะทางจิต ศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา คณะจิตวิทยา และศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แบบสอบถามประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ

  1. แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป
  2. แบบสำรวจความคิดและความรู้สึกในการใช้ชีวิต

 

สามารถทำแบบสอบถามผ่านการสแกน QR code หรือผ่าน LINK

 

 

 

แบบสอบถามใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที

 

ทั้งนี้ข้อมูลและคำตอบทั้งหมดของท่านจะถูกปกปิดเป็นความลับ โดยข้อมูลส่วนตัวของท่านจะไม่ปรากฏในรายงานและไม่ถูกเผยแพร่ด้วยวิธีใดๆ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

Email: psyassesscu@gmail.com

Here to Heal Online Workshop : บริหารใจให้มีสุข

Mind management: Stress & Happiness
บริหารใจให้มีสุข

 

Here to Heal ชวนกันมาฝึกทักษะบริหารความเครียดอย่างไรให้ได้งาน เรียนรู้การดูแลตนเองแบบใช้ได้ทันที ใน Online Workshop ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ในหัวข้อเรื่อง “บริหารใจให้มีสุข”

 

โดยวิทยากร ดร.สหรัฐ เจตมโนรมย์

นักจิตวิทยาการปรึกษาจากสถาบันวันที่ฉันตื่น

 

วันอาทิตย์ที่ 21 ส.ค. 2565 เวลา 13.30-15.30 น.

 

สามารถลงทะเบียนได้ ที่นี่  หรือสามารถสแกน QR Code ในภาพ

 

 

 

โดยทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านในวันเสาร์ที่ 20 เวลา 15.00 น. ผ่านทาง Email ที่ใช้ลงทะเบียนเข้าร่วม หรือหากไม่ได้รับอีเมลสามารถทักสอบถามข้อมูลที่ Line official Account

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW
ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 

 


 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Here to Heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.
เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทาง Facebook Page: Here to Heal เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุยได้เลยค่ะ

Here to Heal: “When movie calls the heart” เมื่อหนังสื่อสารกับหัวใจ

“When movie calls the heart”

เมื่อหนังสื่อสารกับหัวใจ

 

Here to Heal ชวนกันมาพูดคุย เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเชื่อมโยงจากหนังสู่ใจ และร่วมสัมผัสการเข้าใจตนและฟื้นฟูใจไปพร้อมกับหนังเรื่องโปรดของคุณ ใน Online Workshop (Zoom) ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ในหัวข้อเรื่อง “เมื่อหนังสื่อสารกับหัวใจ”

 

โดยวิทยากร คุณชิดชนก จินตนาวุฒิ

ผู้พัฒนากลุ่มพัฒนาตนโดยมีภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง

 

วันเสาร์ที่ 20 ส.ค. 2565 เวลา 10.00-12.00 รับจำนวนจำกัด 30 คน

 

สามารถลงทะเบียนได้ที่ Registration

หรือสามารถสแกน QR Code ในภาพ

 

 

 

โดยทางทีมงานจะจัดส่งลิงก์ Zoom ให้ผู้ลงทะเบียนทุกท่านในวันศุกร์ที่ 19 ส.ค. 2565 เวลา 15.00 น. ผ่านทาง Email ที่ใช้ลงทะเบียนเข้าร่วม หรือหากไม่ได้รับอีเมลสามารถทักสอบถามข้อมูลที่ Line official Account

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://lin.ee/P77s2bW
ในเวลาทำการ 10.00-22.00 น.

 


 

Workshop นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Here to Heal โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.
เป็นโครงการให้บริการแชทพูดคุยกับนักจิตวิทยา ฟรี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผ่าน Line official หรือทางเพจเฟซบุ๊ก Here to Heal เพื่อนัดหมายเวลาพูดคุยได้เลยค่ะ