ข่าวและกิจกรรม

Mindful Eating – การรับประทานอาหารอย่างมีสติ

 

 

การรับประทานอาหารอย่างมีสติ คือ การตระหนักรู้อย่างไม่ตัดสิน ทั้งทางกายและอารมณ์ความรู้สึก ที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร

 

ตรงกันข้ามกับการรับประทานอาหารอย่างไม่มีสติ (Mindless Eating) ซึ่งหมายถึงการรับประทานอาหารอันไม่ได้เป็นผลมาจากความต้องการหรือความหิว แต่เป็นเพราะการถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น ครอบครัว เพื่อน ลักษณะบรรจุภัณฑ์ ขนาดของภาชนะ ชื่อเรียก จำนวน ฉลาก แสง สี ลักษณะ กลิ่น การถูกรบกวน ระยะทางจากตัวเราไปยังอาหาร แผงสินค้า ชั้นวางอาหาร

 

 

การวัดการรับประทานอาหารอย่างมีสติ


 

แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ดังนี้

 

  • การยับยั้งชั่งใจ (Disinhibition) – การรู้ว่าตนควรหยุดรับประทานเมื่อใด
  • การตระหนักรู้ในรสชาติ (Awareness) – การชื่นชมรส กลิ่น รูปร่างหน้าตาของอาหาร
  • สิ่งยั่วยวนภายนอก (External cues) – การรับประทานอาหารเพราะถูกสิ่งเร้าภายนอกกระตุ้น รู้ว่าสิ่งเร้าภายนอกส่งผลต่อความอยากอาหาร หรือการรับประทานอาหารของตน เช่น รับประทานอาหารเพราะอาหารนั้นน่ารับประทาน หรือเพราะมีโปรโมชั่นลดราคา
  • การตอบสนองทางอารมณ์ (Emotional response) – การรับประทานอาหารที่เกี่ยวข้องกับสภาวะอารมณ์ ไม่ได้เป็นผลมาจากความหิวหรือความต้องการทางร่างกาย เช่น รับประทานขนมเพราะเครียด
  • การไม่ไขว้เขว (Distraction) – การถูกเบนความสนใจไปยังสิ่งอื่นนอกเหนือจากอาหาร เช่น รับประทานขนมระหว่างทำงานหรือดูโทรทัศน์

 

งานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเพิ่มการมีสติในการรับประทานอาหาร อาทิ การนั่งสมาธิฝึกสติ การเข้ากลุ่มสำรวจสัญญาณความหิวและความอิ่มของตน การอภิปรายกลุ่มเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การเพิ่มความรู้ทางโภชนาการ และการเรียนรู้แรงกดดันในการรับประทานอาหารจากสังคม พบว่า ช่วยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองมีระดับสติและยับยั้งชั่งใจได้มากขึ้น น้ำหนักตัวของกลุ่มตัวอย่างลดลง ค่าดัชนีมวลกายดีขึ้น

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

“ความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานอาหารอย่างมีสติกับพฤติกรรมรับประทานอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยมีดุลยทัศนกาลเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย ญาณิศา จักรกลม ณัฐธนัญ ศิริทรงกล และณัฐวีร์ ว่องวิทย์โอฬาร (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/57932

 

บุคลิกภาพกับสุขภาพ

 

เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า บุคลิกภาพ เจตคติ แนวทางการดำรงชีวิต มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของบุคคล

 

คำถามที่ว่า

  • ความเครียดทำให้คนเจ็บป่วยจริงหรือ?
  • คนมีความสุขมีความรัก เจ็บป่วยน้อยกว่าคนที่ไม่มีจริงหรือไม่?
  • ความคิดเชิงบวกช่วยในการรักษาโรคจริงหรือ?

 

คำถามเหล่านี้ นักจิตวิทยาได้เสนอหลักฐานจากการค้นคว้าวิจัยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพกับสุขภาพ และได้คำตอบชัดเจนในหลายประเด็น ภาวะทางจิตใจซึ่งเป็นผลมาจากบุคลิกภาพ มีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ นับตั้งแต่การเป็นโรคหัวใจไปจนถึงโรคหวัด ล้วนมีความสัมพันธ์กับภาวะทางจิตใจทั้งสิ้น

 

สุขภาพของคนขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน การทำกิจกรรมประจำวันทั้งกิจกรรมที่เป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องการงาน เรารวมเรียกว่าแนวทางดำเนินชีวิต ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อสุขภาพของคนทั้งสิ้น ซึ่งการเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตแบบใดนั้นย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากลักษณะบุคลิกภาพของแต่ละคนเป็นแกนหลัก นักจิตวิทยาสนใจศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบว่า บุคลิกภาพกับสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกันมากน้อยเพียงใด

 

เราทราบกันดีว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งมีผลโดยตรงต่อสุขภาพ ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยเน้นการรักษาคนมากกว่ารักษาโรค แพทย์พูดกับคนไข้มากขึ้น เน้นการวิเคราะห์แบบองค์รวม ใส่ใจสุขภาพแบบรอบด้าน ครอบคลุมการดำเนินชีวิตและภาวะจิตใจ ดังพุทธวจนะที่ว่า “จิตใจคือทุกสิ่งทุกอย่าง คิดอะไรก็ได้อย่างนั้น”

 

โดยข้อสรุปจากการวิจัยที่ทำต่อเนื่องกันมาหลายปีของนักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อโรเบิรต์ โคลนิงเกอร์ อธิบายว่าบุคลิกภาพแบบที่เรียกว่า “ชอบแสวงหาความตื่นเต้น” มีผลต่อสุขภาพ คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มาก จะชอบทำอะไรที่ตื่นเต้นเร้าใจ ไม่ชอบความจำเจ ชอบทำสิ่งที่เสี่ยงภัย เช่นการขับรถเร็วหวือหวา การใช้ยาเสพติด ชอบกีฬาที่เสี่ยงภัย เช่น ปีนเขา กระโดดร่ม สำหรับคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้อยู่ไม่มากนัก จะเป็นคนที่ชอบทำงานที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันอยู่ทุกวัน คบเพื่อนกลุ่มเดิม ๆ มีกิจกรรมประจำวันเหมือน ๆ เดิมเกือบทุกวัน วิถีชีวิตของบุคคลซึ่งถูกกำหนดด้วยบุคลิกภาพแบบใดก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดโรคต่างกัน ดังนั้น เราพอจะบอกได้ว่าลักษณะบุคลิกภาพเฉพาะแบบใดที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคได้ เพราะบุคลิกภาพเป็นตัวกำหนดวิธีการที่บุคคลจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นกับตน

 

นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงความเครียด ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าความเครียดส่งผลกระทบต่อร่างกาย ส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่อคนเราเกิดความเครียดร่างกายจะขับถ่ายฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “คอร์ติโซล” (cortisol) ออกมา ถ้าฮอร์โมนนี้อยู่ในร่างกายนานเกินไป จะไปกระตุ้นให้มีไขมันสะสมบริเวณผนังด้านในของหลอดเลือดซึ่งจะสะสมมากขึ้นทุกที นำไปสู่การเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

 

บุคลิกภาพของคนเรามีความซับซ้อนหลายแง่มุม เป็นคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละคนที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกันด้านรูปแบบพฤติกรรม ปฏิกิริยาที่มีต่อผู้อื่นและต่อสถานการณ์รอบข้าง ศาสตราจารย์ ดร.ฮันส์ ไอเซนต์ นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ได้ใช้เวลาหลายสิบปีศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแบบแผนบุคลิกภาพของบุคคล ได้เสนอบุคลิกภาพแบบสามมิติไว้คือ เปิดเผยหรือปิดตัว เจ้าอารมณ์หรือมั่นคง เข้มแข็งหรืออ่อนโยน

 

เปิดเผย VS ปิดตัว คนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผย มีลักษณะเด่นคือ ชอบเข้าสังคม ชอบใช้ชีวิตนอกบ้าน มีความกระตือรือร้น มีพฤติกรรมชอบเสี่ยง หุนหันพลันแล่น ขาดความรอบคอบ และมีความรับผิดชอบน้อย คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มว่าจะพักผ่อนน้อย ดื่มเหล้ามากเกินควรโดยเฉพาะในงานสังสรรค์ ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาพของตน ควรพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ดำเนินชีวิตให้สมดุลมีระเบียบในชีวิตมากขึ้น คนที่มีบุคลิกภาพแบบปิดตัว จะเป็นคนที่มีความสนใจแน่วแน่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ระมัดระวัง รอบคอบ ขยันหมั่นเพียร เชื่อถือได้ รักพวกพ้องของตน ขี้อาย มีทักษะทางด้านสังคมน้อยกว่าคนเปิดเผย คนกลุ่มนี้ถ้าเพิ่มทักษะการเข้าสังคมจะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น จิตใจเบิกบานขึ้น รู้จักการเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของตนมากขึ้น และติดต่อสังสรรค์กับเพื่อนสนิทมากขึ้น ซึ่งการมีพฤติกรรมดังกล่าวนี้จะช่วยเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตนให้เข้มแข็งกว่าเดิมได้

 

เจ้าอารมณ์ VS อารมณ์มั่นคง คนเจ้าอารมณ์ มีแนวโน้มจะเป็นคนช่างกังวล ระแวง ขลาดกลัว ขาดความมั่นใจตนเอง ซึมเศร้าง่าย คิดวกวน ไม่เป็นตัวของตัวเองและชอบโทษตนเอง ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเจ็บป่วยทั้งทางกายและใจได้ง่าย คนอารมณ์มั่นคง มีอารมณ์หนักแน่นไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ไม่มีปฏิกิริยารุนแรงต่อสิ่งที่มารบกวนใจ คนทั่วไปมักมองว่าคนกลุ่มนี้มีความสันโดษและไว้ใจได้ โดยการเปรียบเทียบสุขภาพจะดีกว่าคนเจ้าอารมณ์ อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ควรใส่ใจกับคนอื่นรอบข้างและทำใจรับความแตกต่าง

 

คนเข้มแข็ง VS คนอ่อนโยน คนเข้มแข็งมักมีความเป็นผู้นำและทำงานสำเร็จได้ด้วยดี แต่มักจะเป็นคนก้าวร้าว รักษาประโยชน์ของตน ฟันฝ่าอุปสรรค ทะเยอทะยาน ดื้อดึง ชอบโต้แย้ง ดังนั้น คนกลุ่มนี้ควรรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการความโกรธของตน การควบคุมพฤติกรรมชอบเสี่ยงและรับฟังคนอื่นด้วย คนอ่อนโยน เป็นคนใจดี ชอบดูแลและบริการผู้อื่น มีความพิถีพิถันและเข้าใจผู้อื่น บางครั้งจะถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอ มักถูกคนเอาเปรียบ ถ้าอ่อนโยนเกินไป อาจซึมเศร้าได้ง่ายเมื่อผิดหวังในชีวิต คนกลุ่มนี้ควรคิดถึงตนให้มากขึ้น ไม่ควรเอาใจคนอื่นมากเกินไป จะทำให้เสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต

 

แบบแผนหรือบุคลิกภาพแต่ละแบบมีแนวโน้มว่าส่งผลบางประการต่อสุขภาพของเรา เพราะเป็นตัวกำหนดแบบแผนการดำเนินชีวิตของคนซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งคนส่วนมากมักมีบุคลิกภาพหลายแบบผสมผสานกัน และถึงแม้ว่าการเปลี่ยนบุคลิกภาพของตนเองจะเป็นเรื่องยาก แต่มีหลายวิธีการที่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของเราได้

 

จะเห็นได้ว่า บุคลิกภาพเป็นตัวกำหนดแนวทางดำเนินชีวิตของคน จึงส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพได้ อย่างไรก็ตามแม้จะมีงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องบุคลิกภาพกับสุขภาพ แต่เราก็ยังไม่สามารถสรุปผลได้แน่ชัดว่าบุคลิกภาพแบบใดมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดโรคใดโดยจำเพาะ การเน้นอิทธิพลของบุคลิกภาพที่มีต่อโรคมากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้ เช่น รู้สึกว่าตนเองถูกตำหนิ เป็นต้น

 

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชุมพร ยงกิตติกุล

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทักษะชีวิต

 

ในชีวิตการทำงานของคนเราจะต้องมีความสามารถประกอบกันอยู่ 2 ส่วน คือ ความสามารถที่จะใช้กับการทำงาน (work ability) และความสามารถทางสังคม (social ability) ซึ่งต้องใช้ควบคู่กันจึงจะทำให้ชีวิตการทำงานประสบความสำเร็จและมีความสุข เพราะถ้าเราใช้ความสามารถเพียงอันหนึ่งอันใด การทำงานก็จะประสบปัญหา เช่น คนที่เอาแต่งานไม่สนใจชีวิตสังคมรอบข้าง ก็จะทำให้การทำงานเป็นไปในระดับหนึ่งโดยจะขาดความร่วมมือช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ในทางตรงข้ามถ้าเราเอาแต่สังคม โดยไม่สนใจฝึกปรือในเรื่องของความสามารถในการทำงานก็จะทำให้การทำงานมีปัญหาเช่นกัน ดังนั้นความสามารถทั้ง 2 อย่างจึงจำเป็นต้องใช้ควบคู่กันไปเพื่อให้ชีวิตของบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ในเรื่องของทักษะชีวิต โดยเฉพาะทักษะในการใช้ชีวิตโดยทั่วไปที่เป็นทักษะที่ใช้ประกอบคู่ไปกับการทำงาน หรือใช้ในชีวิตประจำเพื่อให้บุคคลสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข มักจะถูกละเลย เพราะบุคคลคิดว่าเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ต้องรู้กันทั้งนั้น หรือที่เรียกว่า Common sense หากแท้จริงแล้วเราไม่รู้หรือไม่มีทักษะเหล่านี้ ก็ทำให้การใช้ชีวิตเกิดปัญหาได้ ทักษะเหล่านี้ ได้แก่ ทักษะของการแก้ปัญหาทักษะในการระงับอารมณ์โกรธ ทักษะในการสร้างสัมพันธ์ และทักษะของการพูดและการฟัง

 

 

ทักษะในการแก้ปัญหา


 

ปัญหาเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังแสวงหาวิธีการที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม มนุษย์จะต้องผ่านการแก้ปัญหามาก่อนทั้งสิ้น โดยปัญหาจะเกิดขึ้นตลอดเวลา และจะเกิดขึ้นเมื่อมีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่บุคคลคาดว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาจะเป็นวิธีการกระทำเพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ตนคาดไว้ให้ได้มากที่สุด

 

นักจิตวิทยาได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ดีว่า ต้องมีการคิดผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้

 

ขั้นที่ 1 คือ เมื่อเกิดปัญหาให้พยายามองให้ถ้วนถี่ว่าปัญหานั้นคืออะไร อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหา ซึ่งควรมองในแง่แห่งความเป็นจริงเพื่อจะดูจุดปัญหาที่ถูกต้องในการวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งเทคนิคที่มักใช้ก็คือพยายามเขียนสาเหตุต่าง ๆ ที่คาดว่าจะทำให้เกิดปัญหาทั้งหมดใส่กระดาษแล้วค่อย ๆ ตัดสาเหตุที่ ไม่ใช่ ออกไปทีละข้อจนเหลือโอกาสที่จะเป็นไปได้ไม่กี่ข้อและเมื่อได้สาเหตุที่แน่ชัดแล้วให้ก้าวไปสู่ขั้นที่ 2

 

ขั้นที่ 2 คือ เมื่อเราทราบสาเหตุ ให้ขจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโดยการหาหนทางที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหา ซึ่งการจะหาหนทางใดควรพิจารณาควบคู่ไปกับการลงทุนลงแรงและความสามารถในการกระทำของตัวเองในการแก้ปัญหานั้น ๆ และเมื่อได้วิธีการแก้ปัญหาแล้ว

 

ขั้นที่ 3 คือ ให้ลงมือทำ ซึ่งในขั้นนี้มีสิ่งสำคัญก็คือ การวางแผนเพื่อให้เกิดการกระทำตามตารางที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้จริง ๆ ตลอดจนมีการควบคุมเพื่อบอกให้รู้ว่า เราแก้ปัญหาได้ถูกต้องหรือยัง ถ้าไม่เป็นไป ตามแผนที่วางไว้ ควรจะต้องแก้ไขใหม่ และไม่ควรยึดว่าต้องแก้ปัญหาแบบเดิม ถ้าไม่ได้ผลก็ควรต้องยอมรับและหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ โดยกลับไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกใหม่ ถ้าเราคิดแก้ปัญหาเป็นขั้นตอนดังที่กล่าวมา การแก้ปัญหาก็จะประสบความสำเร็จ หากสิ่งสำคัญคือ เมื่อการแก้ปัญหาเดิมล้มเหลว จงอย่าเสียความตั้งใจ

 

 

ทักษะชีวิตเรื่องการพูดและฟังที่ดี


 

ทักษะที่สำคัญทักษะหนึ่งในชีวิตของคนเรานั้นก็คือทักษะของการพูดและการฟัง การพูดและการฟังเป็นทักษะที่ต้องใช้ควบคู่กัน โดยจะใช้อย่างหนึ่งอย่างใดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโอกาส ซึ่งเราควรจะรู้ว่าเมื่อไร เราต้องพูด และเมื่อไรเราควรฟัง โดยทั่วไป หากไม่นับเรื่องการพูดคุยในชีวิตประจำวันแล้ว เราควรจะพูดเมื่อมีอะไรมากระทบต่อสิทธิหรือความต้องการของเรา ซึ่งการพูดนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะถ้าเราไม่พูดจะรู้สึกอึดอัดหรือยอมในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพจิตของเราอีกต่อหนึ่ง โดยสิ่งที่สำคัญคือจะพูดอย่างไรให้เป็นการยืนยันสิทธิของเราโดยไม่มีการขัดแย้ง

 

นักจิตวิทยาได้เสนอวิธีการพูดแบบนี้ไว้หลายวิธี เช่น พูดในทิศทางบวกสำหรับคนที่เราพูดคุยด้วยไปก่อนแล้วจึงตามสิ่งที่เราต้องการ เช่น ยกย่องในความสามารถหรือความดีของผู้ที่เราพูดด้วยก่อนแล้วจึงพูดว่าเราต้องการอะไร เป็นต้น ซึ่งการพูดแบบนี้จะนุ่มนวล ผู้ฟังฟังโดยไม่รู้สึกขัดแย้ง

 

นอกจากนี้ การพูดที่จะสื่อถึงความต้องการของเราส่วนใหญ่ ให้ใช้คำว่า “ฉัน” เช่น “ฉันรู้สึกว่าทำงานไม่ได้เลย ถ้าเราเงียบเสียงลงกว่านี้ ฉันคงทำงานได้เสร็จในวันนี้” เป็นต้น การใช้ความรู้สึกของเราบอกกับคนอื่นโดยใช้คำว่า “ฉัน” จะนุ่มนวลกว่า คำว่า “เธอ” เช่น “เธอเงียบหน่อย ฉันทำงานไม่ได้” เป็นต้น ซึ่งจะมีความนุ่มนวลที่แตกต่างกันในประโยคแรก ดังนั้นการพูดที่ดีจำเป็นต้องมีการฝึก และมีเทคนิคที่ดีเพื่อให้มีการพูดอย่างมีประสิทธิภาพได้

 

นอกจากนี้ ทักษะหนึ่งที่จำเป็นก็คือทักษะของการฟัง การฟังเป็นทักษะที่ง่ายกว่าการพูด การเป็นผู้ฟังที่ดี สามารถทำได้ง่าย ๆ คือตั้งใจฟัง จับประเด็นเข้าใจและพูดย้อนกลับในความหมายของผู้พูดแค่ใส่ใจคำพูดของเรา ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ผู้พูดรู้สึกว่า เราเข้าใจเขาและเขาจะพูดต่อ และจะมีทัศนคติที่ดีต่อเราอีกด้วย

 

การรู้จักพูดและฟังที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ รู้ว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด เมื่อไรควรพูด หรือเมื่อไรควรฟัง ในเรื่องของการพูดให้ยึดว่า “ถ้าเราพูดไปแล้วเราเป็นคนฟัง เราจะรู้สึกอย่างไร” ซึ่งถ้าคิดได้ในลักษณะเช่นนี้จะทำให้ความขัดแย้งลดน้อยลง นอกจากเป็นผู้พูดที่ดีแล้ว เราควรเป็นผู้ฟังที่ดีอีกด้วย

 

ทักษะทั้งการพูดและการฟังเป็นทักษะที่สำคัญในชีวิตเพราะมนุษย์เราจำเป็นต้องมีการสื่อสารกันตลอดเวลา ถ้าเรามีการพูดหรือการฟังที่ดีก็เปรียบเหมือนเป็นกำไรชีวิต และเพื่อให้เกิดชีวิตการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

 

 

ทักษะชีวิตเรื่องการระงับอารมณ์โกรธ


 

การโกรธเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนอย่างหนีไม่พ้น โดยการโกรธมีผลเสียต่อบุคคลมากมาย เช่น สุขภาพของตนเอง และส่งผลต่อบุคคลใกล้เคียงหรือคนอื่น เป็นต้น ซึ่งบางครั้ง เมื่อมีอารมณ์โกรธแล้วเราแสดงการโกรธออกไปยังเป้าหมายโดยขาดความยั้งคิด อาจเป็นการทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนนั้นไปอย่างน่าเสียดาย หลาย ๆ คนมักจะคิดว่า “ฉันไม่น่าทำอย่างนั้นเลย ทำให้เรามองหน้ากันไม่ติดจนถึงทุกวันนี้” หรือ “ถ้าฉันคิดสักนิดก่อนทำ อะไร ๆ มันคงจะดีกว่านี้” ดังนั้นเราจึงสามารถจะสรุปได้ว่า การโกรธไม่ได้มีผลดีแต่อย่างใด ดังนั้นเราควรมาพัฒนาทักษะที่ทำให้เราสามารถรับกับอารมณ์โกรธ

 

การโกรธเป็นผลมาจากการรับรู้ซึ่งเกิดจากความคิดของเราเอง เช่น ถ้าเรารับรู้ว่า “คนอื่นแกล้งเรา” เราจะโกรธในขณะเดียวกันถ้าคนอื่นทำพฤติกรรมแบบเดียวกัน แต่เรารับรู้ว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ เราก็จะไม่โกรธ ดังนั้นเราสรุปได้ว่า การโกรธขึ้นอยู่กับการคิดของตัวเราเอง เพราะฉะนั้น เทคนิคที่ดีของการทำให้เราไม่โกรธก็คือให้เราหัดคิดในทางบวกกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวก็จะทำให้เราโกรธน้อยลง

 

นอกจากนั้นการโกรธมักจะเกิดจากความไม่เข้าใจ เช่น ความไม่เข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ ความไม่เข้าใจในสิ่งที่แตกต่างว่าทุกคนมีความต่างจะให้ใครคิดเหมือนเราคงเป็นไปไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล ความแตกต่างทางด้านความคิด ก็จะทำให้เราโกรธคนอื่นน้อยลง

 

หากเราพยายามหาทางออกในการระงับความโกรธ แต่ความโกรธก็ไม่เบาบางลง สิ่งที่เป็นไปได้คือ เราก็ควรจะหาทางออกเพื่อที่จะระบายความโกรธนั้นโดยไม่ควรให้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อใคร เช่น การไปเล่นกีฬา หรือแม้แต่การทำสมาธิทำจิตใจให้สงบ ซึ่งก็เป็นวิธีที่ดีในการทำให้เราหายโกรธได้บ้าง และเมื่อเราหายโกรธ สติของเราก็จะกลับคืนมา ทำให้เราคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มาจากสาเหตุที่ทำให้เราโกรธได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เหนือสิ่งใด เมื่อโกรธขอให้เราคิดให้ได้ว่า ถ้าแสดงความโกรธออกไป ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่ตามมาหลังจากเราแสดงความโกรธออกไปจะสะท้อนกลับมาที่ตัวเราอย่างไร ซึ่งหากตนเองตระหนักได้ เราจะสามารถควบคุมความโกรธได้ อีกทั้งสิ่งต่าง ๆ ในด้านลบที่ตามมากับการโกรธก็จะไม่เกิดขึ้น

 

 

ทักษะชีวิตเรื่องการสร้างมิตรภาพ


 

ปัจจุบัน เราจะต้องอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย ซึ่งมีทั้งเพื่อน คนรู้จักคนที่เราต้องทำงานด้วย หรือแม้แต่คนในครอบครัว ทุกคนที่อยู่รอบข้างของเราล้วนมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการคิดและการกระทำ ซึ่งความแตกต่างนี่เองที่ทำให้คนเรามีความขัดแย้งกัน หรือไม่สามารถมีมิตรภาพที่ดีต่อกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็มีความต้องการอะไร ๆ ที่เหมือน ๆ กันอยู่บ้างที่จะทำให้คนเรามีความสุขจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น นักจิตวิทยาได้พยายามศึกษารวบรวมความต้องการของมนุษย์เหล่านี้ และได้ให้ข้อคิดถึงวิธีการต่าง ๆ ที่สามารถจะสร้างมิตรภาพที่ดีระหว่างบุคคลไว้ โดยสรุปได้ดังนี้คือ

 

จงให้ความสำคัญกับคนอื่น กล่าวคือ ทุกคนต้องการเป็นคนที่มีความสำคัญทั้งนั้น ดังจะเห็นได้จากความพยายามจะประสบความสำเร็จเพื่อให้คนอื่นได้ชื่นชม ยอมรับ และยกย่องในด้านหนึ่งด้านใด และในทางกลับกันเพื่อให้คนอื่นได้ชื่นชม ยอมรับ และยกย่องในด้านหนึ่งด้านใด และในทางกลับกันถ้าเราให้ความสำคัญกับคนอื่น ยกย่องคนอื่นก็ย่อมนำมาซึ่งการสร้างมิตรภาพที่ดีได้

 

จงสนใจในสิ่งที่คนอื่นสนใจ กล่าวคือ การให้ความสนใจไปยังสิ่งที่ผู้อื่นสนใจจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกดีๆ กับเราเพราะการที่เราสนใจแต่กับเรื่องของตัวเอง จะทำให้คนที่เราปฎิสัมพันธ์ด้วยเกิดความเบื่อหน่าย นอกจากนั้นการที่เราสนใจในเรื่องที่ผู้อื่นสนใจยังทำให้เราสามารถมีเรื่องที่สามารถพูดคุยกันได้ซึ่งจะนำมาซึ่งการสร้างมิตรภาพที่ดีอีกวิธีหนึ่ง

 

สนใจในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนอื่น ดังเช่น การจำชื่อ จำวันเกิดจำอาหารที่ชอบหรือไม่ชอบ เป็นต้นโดยเหล่านี้จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยและสามารถสร้างมิตรภาพที่ดีไว้

 

ซึ่งทักษะชีวิตนี้เป็นทักษะที่จำเป็นที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน จะทำอะไร เราอาจจะต้องดึงทักษะเหล่านี้มาใช้โดยไม่ได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนั้นเราจึงควรรู้เทคนิคต่างๆที่เสริมสร้างให้เราเกิดทักษะเหล่านี้ เพื่อให้การดำรงชีวิตของเราไม่มีปัญหา และใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

 


 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย รองศาสตราจารย์ ประไพพรรณ ภูมิวุฒิสาร

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

Learned helplessness – การยอมจำนนอันเกิดจากการเรียนรู้

 

 

 

 

การยอมจำนนอันเกิดจากการเรียนรู้ หรือ การช่วยตัวเองไม่ได้ที่เกิดจากการเรียนรู้ หมายถึง ปฏิกิริยาตอบสนองอย่างเฉื่อยชาอันเป็นผลจากเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นโดยควบคุมไม่ได้ เป็นภาวะของมนุษย์และสัตว์ที่เรียนรู้ที่จะประพฤติตนอย่างสิ้นหวัง ยอมจำนน แม้ว่ามีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาหรือเป็นอันตรายได้ก็ตาม

 

Learned helplessness เป็นมโนทัศน์ที่พัฒนาขึ้นมาโดยนักจิตวิทยาคลินิกและจิตวิทยาการทดลอง ชื่อ Seligman จากการทดลองความซึมเศร้าของสัตว์และมนุษย์ ในสัตว์เป็นการทดลองกับสุนัขโดยให้ฟังเสียง 5 วินาที แล้วตามด้วยการช็อตกระแสไฟฟ้า 5 วินาที สุนัขไม่สามารถที่จะหนีได้เนื่องจากถูกผูกด้วยสายรัดตัวอยู่ ในวันต่อมาเมื่อนำมาทดลองโดยไม่มีสายรัดตัว ปรากฏว่าสุนัขก็ไม่หนี ทั้ง ๆ ที่สามารถหนีได้ เป็นเพราะมันเรียนรู้ว่ามันไม่มีทางที่จะหนีจากการถูกช็อต

 

ในมนุษย์ มีการทดลองโดยให้ผู้ร่วมการทดลองบางคนแก้ปัญหาบางอย่างที่แก้ได้ แต่ให้ผู้ร่วมการทดลองบางคนแก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้ จากนั้นก็ให้แต่ละคนสร้างคำจากอักษรที่กำหนดให้ (anagram) ผลปรากฏว่า ผู้ร่วมการทดลองในกลุ่มที่เคยทำงานแก้ปัญหาไม่ได้มาก่อน สร้างคำจากตัวอักษรได้น้อยกว่าผู้ร่วมการทดลองในกลุ่มที่เคยทำงานแก้ปัญหาได้มาก่อน และมีงานวิจัยต่อมาพบอีกด้วยว่า ถ้าผู้ร่วมการทดลองต้องทำงานที่แก้ปัญหาไม่ได้นานขึ้น learned helplessness ก็จะยิ่งมีมากขึ้น

 

ในสังคมและชีวิตประจำวัน สภาพการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้มากมายในรูปแบบพฤติกรรมต่าง ๆ กัน เช่น การประสบภาวะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและการถูกกดขี่จากพ่อค้าคนกลางของประชาชน ที่ไม่ว่าพวกเขาต้องอดทนและพยายามเท่าไรก็ไม่สามารถปลูกพืชพันธุ์และได้ผลผลิตที่คุ้มค่าเพียงพอจะลืมตาอ้าปากได้ สภาพเช่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชนที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวเกิดการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จากการเรียนรู้ สิ้นหวัง หมดความมานะพยายาม และรอแต่ความช่วยเหลือจากภายนอก หรือกรณีที่เด็กบางคนถูกพ่อแม่บังคับให้พัฒนาทักษะบางอย่าง ซึ่งตามพัฒนาการของเด็กอาจจะยังไม่พร้อมและไม่สามารถทำได้ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ ต่อมาภายหลังเด็กเหล่านี้ก็มักจะไม่ยอมทำพฤติกรรมเหล่านั้น แม้ว่าพัฒนาการของเด็กจะเอื้ออำนวยแล้วก็ตาม

 

ซิลิกแมนได้สรุปว่า learned helplessness เกิดจากภาวะที่บุคคลรับรู้ว่า ผลที่เกิดขึ้นไม่สัมพันธ์กับการตอบสนองของตน โดยสภาวะนี้จะส่งผลให้เกิดความด้อยต่าง ๆ คือ

 

  • ความด้อยทางปัญญา – ด้วยความสามารถในการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ในอนาคต
  • ความด้อยทางแรงจูงใจ – บุคคลลดแรงจูงใจในกิจกรรมการตอบสนองในเวลาต่อมา
  • ความด้อยทางอารมณ์ – บุคคลเกิดความรู้สึกซึมเศร้า

 

นอกจากการรับรู้ความล้มเหลวในอดีตของตนแล้ว ยังมีตัวแปรอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเกิด learned helplessness ด้วยเช่น

  • การถูกชี้แนะว่ามีผู้อื่นเป็นผู้ควบคุมการเกิดหรือไม่เกิดสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่ใช่อยู่ที่การตอบสนองของตนเอง
  • ความสำคัญของงาน งานที่มีความสำคัญมากจะทำให้เกิด learned helplessness มากขึ้น
  • การระบุสาเหตุของความล้มเหลว หากระบุว่าความล้มเหลวเกิดจากการด้อยความสามารถของตน จะเกิด learned helplessness มากกว่าการที่บุคคลระบุความล้มเหลวนั้นว่าเป็นเพราะสถานการณ์หรือความยากของงาน
  • ความเชื่อในอำนาจการควบคุมของตน (internal Vs. External locus of control) บุคคลที่เชื่อว่าไม่สามารถควบคุมหรือจัดการสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ หรือเชื่อในอำนาจภายนอกตน จะเกิด learned helplessness ได้ง่ายกว่า
  • เพศ การวิจัยพบว่าเพศหญิงเกิด learned helplessness มากกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศหญิงมักระบุเหตุของความล้มเหลวว่าเป็นเพราะตนเองไม่มีความสามารถ ขณะที่เพศชายมักระบุไปที่การขาดความพยายาม

 

 

**************************************

 

 

รายการอ้างอิง

 

“การทดลองกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับผลของการช่วยตนเองไม่ได้ ที่เกิดจากการเรียนรู้ที่มีต่อความมั่นใจในการทำงานและผลงานในภายหลัง” โดย นภาพร จึงพัฒนาปรีชา (2527) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18461

Social exclusion – การถูกกีดกันทางสังคม

 

 

 

การถูกกีดกันทางสังคม หมายถึง การที่บุคคลไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น การถูกแยกออกไปจากกลุ่ม หรือถูกให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยที่บุคคลที่ถูกกีดกันทางสังคมนั้นอาจจะทราบหรือไม่ทราบสาเหตุก็ได้ ทั้งนี้ การมีสังคมหรือการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในการใช้ชีวิต มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการเข้ากลุ่มเพื่อความอยู่รอด ในการได้มาซึ่งทรัพยากร การดำรงเผ่าพันธุ์ และการรักษาความปลอดภัยจากอันตรายภายนอก ดังนั้น การที่บุคคลไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม ถูกปฏิเสธ หรือถูกขับออกจากกลุ่ม จึงเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับบุคคล

 

กล่าวได้ว่า การกีดกันทางสังคมหรือการปฏิเสธจากกลุ่มจัดเป็นวิธีการลงโทษทางสังคมวิธีหนึ่ง โดยคนถูกกีดกันทางสังคมจะรับรู้ว่าโอกาสที่ตนจะใช้ชีวิตหรืออยู่รอดในสังคมลดน้อยลง ในบางวัฒนธรรม การกีดกันทางสังคมเปรียบได้กับเป็นความตายทางสังคม เพราะการไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มหรือสังคม ก็จะทำให้บุคคลไม่มีคุณค่าทางสังคม เสมือนว่าไม่มีตัวตนอยู่ในสังคมอีกต่อไป

 

 

การทำงานของระบบสมองเมื่อต้องตอบสนองต่อการถูกกีดกันทางสังคม


 

การที่บุคคลต้องเผชิญสถานการณ์ถูกกีดกันทางสังคม บุคคลจะแสดงออกถึงความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดทางกายหรือทางจิตใจ จากการทดลองด้วยเครื่อง fMRI พบว่า ระบบประสาทของคนที่ต้องเผชิญการถูกกีดกันทางสังคม ทำงานในบริเวณเดียวกันคนที่กำลังเผชิญความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่ ระบบประสาทส่วนที่ทำงานเหมือนกัน คือเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าที่เชื่อมระบบประสาทของสมองซีกซ้ายและซีกขวา

ผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจเมื่อถูกปฏิเสธจากกลุ่ม

 

การถูกกีดกันทางสังคมเป็นการคุกคาม หรือทำลายความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (need for belonging) การเห็นคุณค่าแห่งตน การควบคุม การดำรงชีวิตอย่างมีความหมาย และเป็นการเพิ่มความเศร้าและความโกรธ เมื่อบุคคลถูกปฏิเสธจากกลุ่มหรือถูกกีดกันทางสังคม ให้ผลได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

 

ผลเชิงบวกบุคคลจะสนใจสิ่งชี้แนะทางสังคมมากขึ้น เพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น

 

ผลเชิงลบบุคคลอาจเกิดปฏิกิริยาทางจิต (reactance) ในการรู้สึกว่าถูกคุกคามด้านการควบคุม ส่งผลให้บุคคลพยายามที่จะนำความสามารถในการควบคุมหรือความเป็นอิสระกลับมา ด้วยการแสดงออกที่ก้าวร้าว ทั้งก้าวร้าวโดยตรงต่อผู้ที่ปฏิเสธหรือกีดกันตน และก้าวร้าวแทนที่ต่อผู้ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ อีกทั้งยังมีการประเมินผู้อื่นในทางลบ และให้ความร่วมมือน้อยกว่าอีกด้วย

 

ยิ่งไปกว่านั้น มีงานวิจัยพบว่า หากบุคคลถูกกีดกันหรือถูกปฏิเสธจากกลุ่มเป็นประจำหรือในระยะเวลานาน บุคคลจะเกิดความสิ้นหวังจากการเรียนรู้ หรือ learned helplessness อีกด้วย (การประพฤติตนอย่างสิ้นหวัง แม้มีโอกาสหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาหรือเป็นอันตรายได้ก็ตาม)

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของการถูกกีดกันทางสังคม และความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธต่อพฤติกรรมก้าวร้าวโดยตรง และพฤติกรรมก้าวร้าวแทนที่” โดย สุชาดา ชูสาเหาะ (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21027

ภาพจาก http://www.shutterstock.com/

ทำไมคนเราถึงประมาท?

ท่านเคยทำอะไรลงไปทั้งที่รู้ว่ามันเสี่ยง รู้ว่ามันอันตรายบ้างหรือไม่

 

– ไปทะเลหน้ามรสุม
– ไปน้ำตกช่วงน้ำหลาก
– ใช้มือถือขณะขับรถ
– ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
– ไม่สวมหมวกกันน็อก
– เดินข้ามถนนไม่ตรงทางม้าลาย
– ออกไปอยู่ที่โล่งขณะฝนตก
– มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
– เล่นพนัน
– ซื้อหวย
– บริโภคน้ำตาลและไขมันเกินความต้องการของร่างกาย

 

ถ้าท่านเคย ท่านก็อาจเป็นคนหนึ่งที่มีความประมาท

 

 

จากเหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ หลายคนก็เกิดคำถามว่า ทำไมคนเราถึงประมาท ทำไมเราจึงทำทั้งที่น่าจะรู้ว่ามันอันตราย มันมีความเสี่ยง…?

 

โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นเรามีความคิดเข้าข้างตัวเองเสมอ (ในทางจิตวิทยาเรียกว่า มี bias) ในกรณีนี้คือการคิดเข้าข้างตัวเองว่า “เรื่องร้าย ๆ จะไม่เกิดขึ้นกับเรา” ไม่มีใครคิดว่าวันนี้ออกจากบ้านไป (หรือแม้แต่อยู่ในบ้าน) เราจะตาย จะเกิดอุบัติเหตุกับเรา จะมีมาทำร้ายเรา มีโรคร้ายค่อย ๆ ก่อตัวสะสมในตัวเรา

 

เราคิดแต่ว่าวันนี้เราจะได้รับอะไร เราไม่ค่อยคิดว่าเราจะสูญเสียอะไร

 

เพราะเรื่องร้าย ๆ ทำให้เราหดหู่ เรื่องน่ากลัวทำให้เราเครียด เราจึงปัดสิ่งเหล่านั้นออกไป มองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่มันเกิดขึ้นรอบตัวเราตลอดเวลา และหากมนุษย์ไม่คิดเข้าข้างตัวเองเสียบ้าง หากมนุษย์ใช้เวลาอยู่กับอารมณ์เครียดและหดหู่ เราอาจนั่งอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร

เราจะไม่ประดิษฐ์เครื่องบิน เราจะไม่ขับรถ เราจะไม่ลงทุน บรรพบุรุษของเราจะไม่จุดไฟ ไม่ไปล่าสัตว์ ไม่โยกย้ายถิ่น และจะไม่จีบสาว

หากเราไม่คาดหวังว่าจะเกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นกับเรา หรือเราเอาแต่คิดว่าจะเกิดเรื่องแย่ ๆ กับเรา การมีชีวิตก็คงมีความหมายที่แตกต่างไปจากเดิม

 

นอกจากนี้ การกระทำและการตัดสินใจเลือกของเรานั้นขับเคลื่อนด้วยอารมณ์และเหตุผล การใช้เหตุผลเปลืองพลังงานและเวลากว่าการใช้อารมณ์มาก อีกทั้งส่วนใหญ่ยังขัดกับความสะดวกสบาย ความต้องการที่จะได้มาซึ่งสิ่งของหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เราวาดฝัน

เมื่อเหตุผลและอารมณ์ขัดแย้งกัน หลายครั้งอารมณ์ก็เป็นฝ่ายชนะ ด้วยว่าถ้าพูดกับตามหลักวิวัฒนาการแล้ว สมองส่วนอารมณ์เราได้รับการส่งทอดจากบรรพบุรุษมาตั้งแต่สมัยสัตว์เลื้อยคลาน ขณะที่สมองส่วนเหตุผลเพิ่งถูกสร้างมาในสมัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ของที่มาก่อนย่อมแข็งแกร่งกว่า อัพเกรดมามากกว่า ด้วยการประมวลผลอย่างรวดเร็วจนบ่อยครั้งเรา “คิด” ตามไม่ทัน เราจึงทำอะไรลงไปก่อนที่เราจะใคร่ครวญให้ดี

 

 

อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างบางประการอยู่ระหว่าง การใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง กับ ความประมาท

 

การมีความหวังหรือการมองโลกในแง่ดีนั้น คือ การมองไปที่ความสำเร็จ หรือทางออกของปัญหา โดยเราจะมีแรงจูงใจที่จะพยายามไปให้ถึงเป้าหมายนั้น และเพื่อความสำเร็จ เราจะตัดตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ออกไปหรือจำกัดให้มันเหลือน้อยที่สุด และให้ความสำคัญกับส่วนที่เราควบคุมได้ให้มากขึ้น เช่น เราไม่อาจควบคุมการใช้รถใช้ถนนของคนอื่นได้ แต่เราสามารถควบคุมการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายของเราได้

 

ความประมาท คือ การที่เราไม่ตระหนักในอำนาจควบคุมของสิ่งอื่นนอกตัวเรา หรือเราไม่ตระหนักว่าอำนาจควบคุมนั้นแท้จริงอยู่ในมือของผู้อื่น เช่น การที่นักท่องเที่ยวตระหนักในอำนาจของธรรมชาติน้อยเกินไป และนักพนันไม่ตระหนักว่าอำนาจคุมเกมที่แท้จริงอยู่ที่เจ้ามือ นอกจากนี้ เรายังไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราควบคุมได้มากพอ เช่น การหาความรู้ในการลงทุน หนทางป้องกันที่เราสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงหาแผนสำรองสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้้น

 

การที่เราจะลดความประมาทได้นั้น เราต้องฝึกฝนให้เราสามารถใช้เหตุผลได้อย่างรวดเร็ว ประเมินสถานการณ์ด้วยข้อมูลทั้งหมดตรงหน้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเปิดรับข้อมูลที่เราไม่อยากจะรับ (ใช้เวลากับความหดหู่ ความเครียดบ้าง) เพื่อลด bias “เรื่องร้าย ๆ จะไม่เกิดขึ้นกับฉัน” ออกไปให้มากที่สุด

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ “ปัจจัยทางสังคม” หากเป็นสังคมมีคติ “Safety First” คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ความคิดและพฤติกรรมประมาทของบุคคลก็มีแนวโน้มลดลง ตรงกันข้าม หากเป็นสังคมที่ความปลอดภัยเป็นรองความสะดวกสบาย ความต้องการส่วนตนแล้ว บรรทัดฐานและค่านิยมดังกล่าวก็ส่งผลให้บุคคลมีความคิดเข้าข้างตัวเองและมีพฤติกรรมประมาทมากขึ้น

 

แน่นอนว่าเรื่องร้าย ๆ อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้เช่นที่เกิดขึ้นกับทุกคน ความล้มเหลว ความสูญเสีย แก่ เจ็บ และตาย พร้อมมาหาเราอย่างไม่เลือกเวลา เรายังสามารถคิดเข้าข้างตัวเองต่อไปได้ตามวิถีของปุถุชน เพียงแต่เราต้องคิดควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อม ฝึกฝนการใช้เหตุผล รวมถึงฝึกฝนวิธีทำใจ (กรณีที่เราไม่สามารถทำอะไรกับเรื่องสุดวิสัยได้)

 

และอย่าลืมเตือนตัวเองว่า เมื่อไรที่เราคิดว่าเราไม่ได้ประมาท แสดงว่าเรากำลังประมาทอยู่นั่นเอง

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์

 

โลกมนุษย์นี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งรูปพรรณสัณฐาน เผ่าพันธุ์ ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม และอีกมากมาย ในมุมมองของจิตวิทยามีหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือ คนทุกคนมีความแตกต่างกัน (individual differences) จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนจะมีความแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ในทุกหนแห่งในทุกสังคม เมื่อมีความแตกต่าง ความขัดแย้งก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะสาเหตุของความขัดแย้งมาจากความแตกต่างในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่านิยม ความคิดเห็น การรับรู้ วิธีคิดและวิธีแก้ปัญหา หรืออาจจะมาจากเป้าหมาย ความต้องการขัดแย้งกัน บทบาทและอำนาจหน้าที่ขัดกัน เป็นต้น

 

หากเราพิจารณาความขัดแย้งจากเรื่องเล็กระดับบุคคล ไปถึงเรื่องใหญ่ระดับสังคมโลก เราจะเข้าใจสาเหตุที่มาของความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งเป็นเสมือนมีดคมที่มีสองด้าน ด้านที่ทำให้เกิดผลดีและผลเสีย

 

สำหรับข้อดีของความขัดแย้ง กล่าวคือ ความขัดแย้งกระตุ้นให้คนแสวงหาวิธีการที่ดีขึ้นในการทำงานและการดำเนินชีวิต เมื่อมีความขัดแย้งปรากฏขึ้น ก็เป็นการเปิดเผยปัญหาที่ซ่อนเร้น และเมื่อสามารถจัดการกับความขัดแย้งไปได้ คนในหน่วยงานนั้น ๆ หรือสังคมนั้น ๆ จะเกิดความเข้าใจกันยิ่งขึ้น

 

ในส่วนข้อเสียของความขัดแย้งก็คือ ทำให้ความร่วมมือและการทำงานเป็นทีมลดลง ความสัมพันธ์ของคนมีความห่างเหิน ไม่ไว้วางใจกัน ผู้ที่รู้สึกว่าตนพ่ายแพ้ จะรู้สึกไร้ค่า หมดกำลังใจ สูญเสียแรงจูงใจ นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งอาจจะเกิดปัญหาทางอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ขุ่นเคืองใจ โกรธ แค้น หวาดกลัว คับข้องใจ คับแค้นใจ อึดอัด วิตกกังวล เครียด เป็นต้น

 

นอกเหนือจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล เรายังมีความขัดแย้งในตนเอง ซึ่งเป็นภาวะที่คนคนหนึ่งรู้สึกลำบากใจ ไม่สบายใจในการตัดสินใจเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

 

ความขัดแย้งในตนเอง มี 3 รูปแบบ


 

ดังนี้

 

รูปแบบที่ 1 คือ การรักพี่เสียดายน้อง

เป็นความรู้สึกต้องการสองอย่างจนยากแก่การเลือกหรือตัดสินใจ เช่น ในช่วงวันพุธบ่ายมีเวลาที่จะลงเรียนวิชาเลือกได้ และนิสิตพบว่ามีสองรายวิชาที่อยากเรียนมาก ซึ่งในความเป็นจริงต้องเลือกเพียงรายวิชาเดียว เป็นต้น

 

รูปแบบที่ 2 คือ การหนีเสือปะจระเข้

เมื่อบุคคลไม่ชอบทั้งสองอย่าง แต่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กำลังจองตั๋วเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ตั้งใจว่าจะเดินทางโดยเครื่องบิน แต่พบว่าตั๋วเครื่องบินถูกจองหมด มีทางเลือกเพียงการเดินทางโดยรถประจำทางซึ่งใช้เวลามากและทำให้เหนื่อย กับมีทางเลือกที่จะต้องเลื่อนการเดินทางออกไปอีกหนึ่งวัน ซึ่งจะทำให้ถึงบ้านช้าไป และมีเวลาอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านน้อยลง ทั้งสองทางเลือกนั้นบุคคลไม่ชอบทั้งสองทางหากแต่จำเป็นต้องเลือก เป็นต้น

 

รูปแบบที่ 3 คือ การเกลียดตัวกินไข่

เป็นสถานการณ์เดียวกันที่มีทั้งสิ่งที่บุคคลชอบและไม่ชอบอยู่ในสถานการณ์นั้น เช่น มีข้อเสนอการทำงานที่ให้ค่าตอบแทนดี เป็นที่ถูกใจ แต่ว่าบุคคลต้องไปทำงานในสถานที่ไกลมากและไม่มีความสะดวกในการดำเนินชีวิต ทำให้เกิดความลังเลในการเลือก เป็นต้น

 

 

การจัดการความขัดแย้งในตนเอง


การจัดการความขัดแย้งในใจตนสามารถทำได้โดย เริ่มจากการทำความเข้าใจว่า ทุกอย่างที่เรารับรู้ มักมาจากค่านิยม หรือประสบการณ์เฉพาะตนของผู้รับรู้ทั้งนั้น เราจะต้องรู้จักและเข้าใจตนอย่างชัดเจนถ่องแท้ ถึงความต้องการ ค่านิยม และจุดยืนของตนเอง การหมั่นสำรวจค่านิยมของตนเองเสมอ จะช่วยให้รู้จักค่านิยมที่แท้จริงของตน เมื่อรู้ค่านิยมของตนชัดเจน เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตนต้องเลือก ย่อมไม่อยู่ในสภาพว้าวุ่นใจ คับข้องใจนานนัก ไม่ต้องขัดแย้งในตนเองเหมือนกับการทะเลาะกับตนเอง เราจะสามารถตัดสินปัญหาประจำวันได้รวดเร็ว ชัดเจน และถูกต้อง

 

ตัวอย่างเช่น เรารู้จักตนเองว่ามีค่านิยมความเรียบง่าย ประหยัด เราเป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ เมื่อมีผู้เสนอชักชวนให้ไปเดินชมกระเป๋าถือที่มีแบรนด์ดังจากต่างประเทศ ก็อาจจะคิดได้ไม่นานนักว่าจะไปหรือไม่ หรือหากจะหาซื้อของใช้ส่วนตัว ก็คงมุ่งจะซื้อของที่ราคาพอประมาณ ไม่มุ่งหาซื้อของแบรนด์เนม และมีความรู้สึกดี สบายใจ ภูมิใจในการเลือกและการตัดสินใจของตน ไม่มีความกังวลหรือมีปมด้อยเมื่อมีคนกล่าวดูถูกที่ไม่ใช้ของมีราคาสูง และก็สามารถจะชื่นชมผู้อื่นได้อย่างจริงใจโดยไม่รู้สึกว่าตนจะต้องทำตามอย่างผู้ที่ใช้ของมีราคาแพง เป็นต้น

 

 

การจัดการความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม


เมื่อเราต้องเผชิญความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม มีหลักคิดที่เป็นวิธีการพื้นฐานในการจัดการกับความขัดแย้งผ่านการพิจารณาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง 2 ประการ ดังนี้

 

  1. เป้าหมายอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้น เป้าหมายนั้นมีความสำคัญสำหรับเรามากน้อยเพียงใด
  2. ความสัมพันธ์กับคู่ความขัดแย้ง มีความหมาย มีความสำคัญมากน้อยเพียงใดกับเรา

 

กล่าวคือ หากทั้งเป้าหมายและความสัมพันธ์ มีความสำคัญสำหรับเราไม่มากนัก คนเรามักจัดการกับความขัดแย้งในลักษณะหลีกเลี่ยง โดยหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมอภิปรายถึงความขัดแย้ง และมักจะมีความกังวลเล็กน้อยที่จะบรรลุความต้องการของตนและผู้อื่น

 

ทว่าหากเป้าหมายมีความสำคัญสำหรับเราไม่มาก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคู่ขัดแย้งมีความสำคัญสำหรับเราค่อนข้างมาก เราจะมีความห่วงใยผู้อื่นสูง ห่วงใยตนเองต่ำ จึงมีแนวโน้มที่จะทำตามความต้องการของผู้อื่น นั่นคือการเก็บกด หรือกลบเกลื่อนได้

 

นอกจากนี้ หากพบว่าเป้าหมายมีความสำคัญกับเรามาก ส่วนความสัมพันธ์กับคู่ขัดแย้งมีความสำคัญกับเราไม่มากนัก เรามักยึดความต้องการของตนเหนือความต้องการของผู้อื่น และใช้วิธีการใช้อำนาจหรือการบังคับ

 

หากทั้งเป้าหมายและความสัมพันธ์มีความสำคัญสำหรับเราปานกลาง เราจะอยู่ตรงกลางระหว่างความสนใจความห่วงใยตนเอง กับความสนใจห่วงใยผู้อื่น และเราจะเลือกใช้วิธีการประนีประนอมหรือเจรจาต่อรอง

 

และสุดท้าย หากทั้งเป้าหมายและความสัมพันธ์มีความสำคัญสำหรับเรามากทั้งคู่ เรามักแก้ปัญหาโดยบรรลุความต้องการสูงสุดของสองฝ่าย โดยใช้วิธีการร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหา

 

โดยประเด็นสำคัญก็คือ การแก้ไขความขัดแย้ง หากมีฝ่ายใดรู้สึกว่าตนแพ้ อีกฝ่ายเป็นผู้ชนะ ก็ยังมีความรู้สึกไม่ดี ค้างอยู่ในใจ หรือถ้าหากการแก้ไขความขัดแย้งที่ไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์เลย เพราะคู่ขัดแย้งไม่ยอมลดราความต้องการของตน หรือมุ่งทำลายคู่ขัดแย้ง ผลก็จะเป็นความพ่ายแพ้ทั้งสองฝ่าย การแก้ไขความขัดแย้งที่น่าปรารถนาที่สุดคือ Win-Win เนื่องจาก ทั้งสองฝ่ายต่างพอใจผล เป็นการแก้ปัญหาที่ร่วมมือร่วมใจกันแสวงหาวิธีที่จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายต่างบรรลุผลที่ตนต้องการ

 

 

การจัดการความขัดแย้งแบบ วิน-วิน หรือแบบที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย


 

สามารถเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขต่อไปนี้

 

  • ทุกคนมีโอกาสพูดความคิดของตน โดยไม่นำอารมณ์มาเกี่ยวข้อง
  • บอกความรู้สึก โดยระมัดระวังไม่กล่าวโทษกัน
  • นำข้อมูลทั้งหมดมาอธิบายแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นที่ยอมรับโดยทุกฝ่ายเห็นพ้องกันในความขัดแย้งนั้น และแต่ละฝ่ายต่างเข้าใจความรู้สึกของกัน และคู่ขัดแย้งเห็นพ้องกันว่าสถานการณ์ควรเป็นอย่างไร
  • ตกลงร่วมกันถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีเพื่อบรรลุเป้าหมาย อาจทำได้โดยการให้เขียนรายการการเปลี่ยนแปลงที่ตนเต็มใจ และพยายามเข้าใจว่าผู้อื่นจะทำอะไร
  • สร้างข้อตกลงต่าง ๆ การติดตามผล ระบุวันเดือนปีที่ชัดเจน เพื่อบรรลุกิจกรรมที่ต้องการ และที่สำคัญคือ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมกันหาข้อสรุปร่วม ที่คำนึงถึงความต้องการของตนเองและของผู้อื่น

 

คนเราทุกคนล้วนต้องการความสุข ความสงบ ความเป็นมิตร แต่เมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง และตั้งรับไม่ทัน อาจจะทำให้จิตใจขุ่นมัว ฟุ้งซ่าน ยุ่งยากใจและเป็นทุกข์ หากเราจัดความคิดความเข้าใจให้มองเห็นความขัดแย้งในทางสร้างสรรค์ ก็จะมีความหวังว่าสังคมเราอยู่ร่วมกันได้แม้คิดไม่เหมือนกัน แม้คิดแตกต่างจนเกิดความขัดแย้ง เราก็สามารถหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อก้าวไปข้างหน้าได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ เมื่อเราหาทางจัดการกับความขัดแย้งนั้น ทุกฝ่ายต้องตระหนักว่าสังคมเป็นพื้นที่ของคนทุกคน มิใช่ของคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นในการแก้ไขจัดการความขัดแย้งใด ๆ จะต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้อื่นด้วย มิใช่คำนึงแต่ความต้องการของตนเพียงฝ่ายเดียว หากตระหนักเช่นนี้ได้ ก็ไม่น่าจะมีความกังวลเมื่อมีความขัดแย้ง เพราะทางออกย่อมมีเสมอเมื่อคนไม่คิดเห็นแก่ความต้องการของตนแต่ฝ่ายเดียว

 

นอกจากนี้ ในอนาคตข้างหน้า เราคงต้องมุ่งสร้างคนที่มีค่านิยมของความไม่เห็นแก่ตัว คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม คำนึงถึงสังคมมากกว่าตนเองให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อจะเป็นหลักประกันในอนาคตว่าเมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันแล้ว คนในสังคมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่คิดถึงส่วนรวมมากกว่า และสามารถแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เหตุการณ์เดียวกัน ทำไมเราจึงมีชุดความจริง (ชุดความจำ) ที่แตกต่างกัน

 

คาดว่าทุกคนคงเคยเล่นเกมส่งต่อข้อความกันมาบ้างนะคะ เกมที่ให้ผู้เล่นยืนหรือนั่งเรียงเป็นแถวตอน โจทย์ถูกมอบให้แก่คนหัวแถว จากนั้นก็ส่งข้อความต่อให้คนข้างหลังทีละคน ๆ จนถึงผู้เล่นคนสุดท้ายปลายแถว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักปรากฏผลว่า ข้อความของคนท้ายสุดต้องมีอันผิดเพี้ยนไปจากคนแรกสุด ผิดนิดหน่อยบ้าง เพี้ยนไปไกลสุดกู่บ้าง นาน ๆ ทีจึงจะมีปรากฏการณ์ที่คนสุดท้ายสามารถขานข้อความตรงกับโจทย์ได้โดย “บังเอิญ”

 

เหล่าผู้เล่นและผู้ชมก็จะขำขันให้ความความผิดเพี้ยนนี้ แต่ใต้ความสนุกสนานของเกมนี้บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเราบ้าง

 

ในเกมส่งต่อข้อความ ผู้เล่นมีหน้าที่เพียง 2 อย่างเท่านั้น คือรับสารและส่งสาร โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเรากล่าวถึงความผิดพลาดในการเก็บจำและส่งต่อข้อมูล อุปสรรคที่เรานึกถึงมักจะเป็น ปริมาณของข้อมูลที่มีมากเกินไปจนเรารับไว้ไม่หมด หรือช่วงเวลาที่ได้รับจนถึงส่งต่อข้อมูลทิ้งระยะนานเกินไปจนเราจำไม่ได้ แต่กับเกมที่ปริมาณข้อมูลไม่ได้มาก เวลาที่ใช้จากคนหนึ่งถึงอีกคนหนึ่งก็แค่ชั่วพริบตาเท่านั้น เหตุใดการตกหล่นหรือผิดเพี้ยนของข้อมูลจึงยังเกิดขึ้น

 

นั่นเพราะแท้ที่จริงแล้ว ความผิดพลาดเช่นนี้ของมนุษย์เกิดขึ้นโดยง่ายแสนง่ายและเกิดขึ้นแทบตลอดเวลา สิ่งนี้สามารถยืนยันได้ด้วยการทดลองทางจิตวิทยาหลายต่อหลายงาน ในที่นี้จะยกตัวอย่างการทดลองหนึ่งจากคาบเรียนวิชาจิตวิทยาทั่วไป ที่ให้ผู้เรียนได้ตรวจสอบความสามารถในการจำของตัวเองและทำความเข้าใจกระบวนการประมวลผลข้อมูล การทดลองนี้เรียกว่า การทดลองความจำที่ผิดพลาด หรือ False Memory experiment

 

ในการทดลอง ผู้เรียนจะได้รับฟังคำศัพท์ครั้งละ 12 คำ เป็นคำศัพท์ที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป คำละไม่กี่พยางค์ (เช่น พยาบาล เข็มฉีดยา ผ่าตัด รักษา) เมื่อฟังคำศัพท์เสร็จแล้ว ก็จะมีเวลา 1 นาที ในการเขียนคำศัพท์ที่เพิ่งได้ยินลงไปในกระดาษ ได้ยินอย่างไรให้เขียนอย่างนั้น ห้ามแปลงคำหรือย่อคำ เขียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อหมดเวลา 1 นาที ก็จะต้องรับฟังคำศัพท์อีก 12 คำ (เช่น เพลง ไพเราะ ทำนอง นักร้อง) และมีเวลาเขียนลงกระดาษอีก 1 นาที ทำเช่นนี้ทั้งสิ้น 6 ครั้ง จึงนับว่าเสร็จสิ้นการทดลอง

 

เกิดอะไรขึ้นกับผลการทดลองของผู้เรียนบ้าง

 

ผลการทดลอง ไม่มีผู้เรียนคนใดสามารถเขียนคำศัพท์ได้ครบทั้ง 72 คำ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย และสอดคล้องกับทฤษฎีเกี่ยวกับความจุของความจำปฏิบัติการ (Working memory) ที่ระบุว่าความจุของความจำปฏิบัติการมีน้อยมาก เพียง 7 ±2 หน่วย หรือราว 5-9 หน่วยเท่านั้น ในการทดลองนี้ ผู้เรียนที่สมาธิดีและมีขีดความสามารถในการจำสูง อาจเขียนคำศัพท์ได้ประมาณ 80% ของทั้งหมด (ครั้งละ 8-12 คำ) ส่วนผู้เรียนที่สมาธิไม่ค่อยดีและมีขีดความสามารถในการจำไม่สูงนัก เขียนคำศัพท์ได้ประมาณ 40-60% (ครั้งละ 5-7 คำ) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจไม่ได้อยู่ที่จำนวนหรือปริมาณในการเก็บจำข้อมูล แต่อยู่ที่ในบรรดาคำศัพท์ที่ผู้เรียนระลึกได้และเขียนลงไปนั้น มีคำศัพท์ที่เขียนได้ถูกต้องและมีคำศัพท์ที่ผิดแปลกปรากฏอยู่ด้วย โดยความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นทั้งกับคนที่เขียนคำศัพท์ได้มากและเขียนคำศัพท์ได้น้อย

 

คำศัพท์ผิดแปลกแบบไหนที่ปรากฏขึ้น

 

มีผู้เรียนจำนวนมาก (จากการทดลองในหลายๆ ภาคการศึกษา) เขียนคำว่า “นางพยาบาล” แทนคำว่า “พยาบาล” เขียนคำว่า “พระอาทิตย์” แทนคำว่า “ดวงอาทิตย์” และเขียนคำว่า “พื้นไม้” แทนคำ 2 คำคือ “พื้น” และ “ไม้”

 

จะเห็นได้ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ซึ่งในสถานการณ์ทั่วไปอาจไม่นับเป็นความผิดพลาดด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้ทำให้ความเข้าใจเปลี่ยนไป ไม่ได้กระทบกับเนื้อหาของสารในภาพรวม แต่ในการทดลองที่มีกติกาชัดเจนให้ผู้เรียน ฟัง จำ และเขียนคำศัพท์ แบบคำไหนคำนั้น อีกทั้งการแบ่งข้อมูลเป็นครั้งย่อย ๆ ครั้งละ 12 คำ ก็ไม่ใช่ปริมาณและการทิ้งเวลาที่มากเกินไป ดังนั้นความผิดพลาดนี้จึงสามารถนับว่าเป็นความผิดพลาด และเป็นความผิดพลาดที่ต้องหาคำอธิบาย

 

ทั้งที่เสียงที่เข้าหูคือคำว่า “ดวงอาทิตย์” แต่ทำไมผู้เรียนหลายคนจึงเขียนว่า “พระอาทิตย์”

 

ปรากฏการณ์นี้ต้องมาวิเคราะห์ถึงกระบวนการประมวลผลข้อมูลของมนุษย์ นักจิตวิทยาได้เปรียบเทียบการทำงานของสมองมนุษย์กับระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ไว้ว่า กระบวนการประมวลผลเริ่มต้นตั้งแต่การทำงานของอวัยวะรับสัมผัสทั้ง 5 ของเรา ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรสชาติ และการรับสัมผัสที่ผิวหนัง เมื่ออวัยวะรับสัมผัสทำงานแล้ว สมองของเราจะเข้ารหัส (encoding) ข้อมูลที่ได้จากประสาทสัมผัส มาเป็นข้อมูลที่เราจะบรรจุไว้ในระบบความจำ — การเข้ารหัสคือการแปลผลข้อมูลว่าสิ่งเร้าที่มากระทบประสาทสัมผัสของเรานั้นมีภาพ (visual) เสียง (acoustic) หรือ ความหมาย (semantic) ว่าอย่างไร โดยเราอาจอ้างอิงจากความรู้และประสบการณ์เดิมที่มี — จากนั้นสมองของเราก็จะเก็บรักษา (storing) ข้อมูลนั้นไว้ จนกว่าเราจะค้นคืน (retrieval) หรือดึงข้อมูลความจำออกมาใช้งาน

 

ความแตกต่างระหว่างระบบความจำของมนุษย์และการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ก็คือ สำหรับคอมพิวเตอร์ เรา input ข้อมูลไปอย่างไร ก็ output ออกมาอย่างนั้น ตราบใดที่ใส่คำค้นถูกต้อง แต่สำหรับมนุษย์ ในทุกกระบวนการตั้งแต่ input ถึง output นั้น ความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มีปัจจัยมากมายที่มีผลกระทบต่อความแม่นยำของความจำ ตั้งแต่ “ความใส่ใจ” ต่อสิ่งเร้าที่กระทบประสาทสัมผัส (เช่น เสียงครูเลคเชอร์กับเสียงชวนคุยของเพื่อนดังขึ้นพร้อมกัน เราใส่ใจฟังเสียงใดมากกว่ากัน) การเข้ารหัส เราเข้ารหัสด้วยวิธีใด ข้อมูลถูกเก็บรักษาไว้นานเพียงใด และตอนค้นคืน เราใช้ตัวชี้แนะใดในการดึงข้อมูลออกมา

 

กลับมาที่การทดลองข้างต้น ในการฟังคำศัพท์ครั้งละ 12 คำของผู้เรียน ผู้เรียนเข้ารหัสเสียงที่ได้ยินด้วยความตั้งใจ (อาจจะมีสมาธิหลุดได้บ้าง) แม้ว่าผู้เรียนรับสิ่งเร้าด้วยเสียง แต่เนื่องจากคำศัพท์ที่ได้ยินเป็นคำศัพท์ภาษาไทย เป็นคำคุ้นเคยที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ผู้เรียนจะเข้ารหัสด้วยการนึกภาพตามและทำความเข้าใจความหมายของสิ่งที่ได้ยินไปโดยอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการค้นคืนข้อมูลเพื่อเขียนคำศัพท์ที่เพิ่งได้ยินนั้น มีโอกาสสูงที่ผู้เรียนจะใช้ตัวชี้แนะที่เป็นภาพหรือเป็นความหมายของคำ มากกว่าเสียงของคำคำนั้นที่ได้ยินจริง ๆ ด้วยเหตุนี้ คนใดที่คุ้นเคยกับการใช้คำว่า “พระอาทิตย์” มากกว่า “ดวงอาทิตย์” ก็อาจระลึกถึงคำที่ต่างกันเล็กน้อยแต่มีความหมายเดียวกันขึ้นมาแทน ยิ่งไปกว่านั้นการถูกกระตุ้นด้วยชุดคำอย่างเช่น “เตียง หมอน ผ้าห่ม” ก็สามารถทำให้ระลึกถึงคำที่ไม่มีอยู่ในการทดลอง เช่น “นอน” แล้วตอบลงไปในกระดาษได้

 

อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจจะคิดว่าความจำที่คลาดเคลื่อนเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายก็จริง แต่จะมาอธิบายความความจำที่ผิดพลาดประเภทเปลี่ยนสาระของเรื่องราวไปเลยได้อย่างไรกัน

 

ท่านเคยเผชิญหรือพบเห็นเหตุการณ์ลักษณะนี้บ้างหรือไม่

 

  • เดินออกมาจากร้านค้าสักพักแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่ารับเงินทอนมาแล้วหรือยัง หรือเมื่อสักครู่จ่ายด้วยแบงค์อะไรไป เงินทอนที่ได้มานั้น พอดี หรือเกิน หรือขาด
  • เพื่อนนำเงินที่ยืมไปมาคืนโดยที่เราไม่ได้ทวง เพราะเราคิดว่าเพื่อนคืนเงินจำนวนนี้มาแล้ว (หรือกลับกันคือเราไปทวง แต่เพื่อนบอกว่าได้คืนเงินมาให้เราตั้งนานแล้ว)
  • จำได้ว่าวางของไว้ที่เดิม แต่ของกลับหายไปไหนก็ไม่รู้ (โดยไม่มีใครหยิบไปแน่นอน เพราะเราใช้อยู่คนเดียว) มาพบของอีกทีก็พร้อมกับที่นึกขึ้นได้ว่าเราเองที่ถือติดมือมาแล้ววางมันไว้ตรงนี้

 

นี่คือตัวอย่างความจำที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่าถึงแม้ไม่ใช่ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ แต่ความจริงกับความจำก็มีสาระที่เปลี่ยนไปเป็นคนละเรื่อง — ทอนแล้วหรือยังไม่ทอน คืนแล้วหรือยังไม่คืน วางไว้ตรงนี้หรือวางไว้ตรงไหน

 

นั่นเป็นเพราะคนเราไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยสติหรือให้ความใส่ใจกับทุกสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบ ทั้งยังเข้ารหัสข้อมูลด้วยวิธีการที่ประหยัดแรม (อิงข้อมูลใหม่กับความจำเดิม แทนที่จะบรรจุข้อมูลทีละหน่วยอย่างปราณีตและเป็นอิสระจากข้อมูลอื่น)

 

สิ่งใดที่เรามองว่าไม่สำคัญ เราก็ไม่ได้หยิบมาคิดทบทวนซ้ำ ๆ ไม่ได้ย้ายมันเข้ามาอยู่ในความจำระยะยาว (long-term memory) ดังนั้นเมื่อเราค้นคืนข้อมูลออกมาใช้ สิ่งที่เราได้มา ก็สามารถหล่น ๆ หาย ๆ หรือไปสลับสับมั่วกับเหตุการณ์อื่นที่คล้าย ๆ กันได้ เราสามารถสับสนระหว่างความจริงหนึ่งกับอีกความจริงหนึ่งได้ หรือกระทั่งสับสนระหว่างความจริงกับจินตนาการหรือเรื่องที่คิดไว้ (แต่ไม่ได้ทำ) ก็ได้

 

ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราพบว่าความจำของเราไม่ตรงกันกับความจำของคนอื่นที่เผชิญเหตุการณ์เดียวกันมา เราจึงไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่าอีกฝ่ายโกหก และไม่อาจตัดสินได้ว่าความจำของคนไหนที่ถูกต้องแม่นยำและของคนไหนมั่ว เพราะคนที่มั่วอาจจะเป็นเราเอง หรืออาจจะมั่วกันทั้งหมดและความจริงเป็นอีกอย่างหนึ่งเลยก็ได้

 

สิ่งที่อยากจะฝากไว้สำหรับบทความนี้ก็คือ คนเรานั้นมักเชื่อถือตัวเองที่สุด คิดเข้าข้างตัวเองเป็นธรรมชาติ เมื่อพบอะไรก็ตามที่ไม่ตรงกับความคิดความเชื่อหรือความจำของเรา เราก็มักจะปฏิเสธและโทษสิ่งรอบข้าง แต่หากเรารู้จัก เข้าใจ และยอมรับในข้อบกพร่องอันเป็นธรรมดาของคนทุกคนได้ เราจะถกเถียงยันถูกยันผิดกันน้อยลง แล้วเอาเวลาไปย้อนรอยหาความจริงกันแบบไม่โทษใครได้มากขึ้น

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สรุปประเด็นการเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยา เหตุกราดยิงฯ – ตอนที่ 4 การดูแลเด็กเล็กเมื่อประสบเหตุการณ์ความรุนแรง

สรุปสาระ คำถาม-คำตอบ
การเสวนาทางวิชาการ ถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน”

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์


 

 

ผู้ร่วมการเสวนา

1. ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์

2. รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

3. ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

4. ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

ดำเนินรายการโดย

ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ – นักจิตวิทยาพัฒนาการ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

 

ตอนที่ 4 – การดูแลเด็กเล็กเมื่อประสบเหตุการณ์ความรุนแรง

 

 

 

 

กรณีที่มีเด็กในความดูแล เมื่อประสบเหตุจะควบคุมเด็กอย่างไร

 

เด็กนั้นเอาจริง ๆ แล้วเราไม่สามารถควบคุมเขาได้ เพราะเขามีวิธีคิดของเขาเอง แต่เราจะจัดการอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเป็นเด็กวัยใด

 

เด็กทารก ถือได้ว่าไม่ค่อยเป็นกังวล เนื่องจาก ผู้ปกครองจะรู้วิธีการปลอบ รู้ใจกัน และสามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้ ก็คือ หากเด็กหิว ผู้เป็นแม่ก็สามารถให้นมได้ ทั้งจากเต้าและนมที่มีเตรียมมา อีกทั้ง หากเกิดความง่วง ก็สามารถกล่อมให้นอนให้เพียงพอได้ และหากไม่สบายตัวจากผ้าอ้อม ก็สามารถเปลี่ยนได้ทันที โดยสิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องอุ้มเด็กให้แนบตัว และอยู่ใกล้ตัวอีกด้วย

 

เด็กอายุ 1 ขวบถึง 2 ขวบกว่า นั้นมีการควบคุมได้ยาก เนื่องจากยังไม่สามารถใช้เหตุผลอธิบายกับเด็กวัยนี้ได้ อีกทั้งเด็กวัยนี้พร้อมจะส่งเสียงได้ตลอด โดยสิ่งที่สำคัญคือ ผู้ปกครองต้องหาสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจ ยกตัวอย่างเช่น กอดเด็กไว้ เล่านิทาน หรือกล่อมให้หลับ เป็นต้น

 

เด็กอายุ 3 ถึง 4 ขวบ นั้นผู้ปกครองสามารถพูดคุยได้ หากแต่อย่าอธิบายด้วยภาษา หรือคำศัพท์ที่ยาก เพียงใช้คำสั้นๆ อธิบาย เช่น ข้างนอกมีคนไม่ดี และจะมีคนดีมาช่วยเรา เป็นต้น โดยที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงคำว่าผู้ร้าย เนื่องจาก เด็กวัยนี้จะมีการเล่นบทบาทสมมติ เช่น ตำรวจ-ผู้ร้าย ดังนั้น คำว่า “ผู้ร้าย” ของเด็กวัยนี้อาจจะเป็นเพียงการเล่นที่ไม่จริงจัง โดยผู้ปกครองอาจเปลี่ยนเป็นคำว่า คนไม่ดี หรือคนใจร้ายได้ อีกทั้งใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น การเล่นด้วยกัน หรือเล่านิทาน เป็นต้น

 

และสุดท้าย เด็กในวัยที่เข้าโรงเรียนแล้วนั้น จะสามารถเห็นข่าวจากสื่อต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เด็กวัยนี้อาจเกิดความสงสัย หากพ่อแม่เล่าให้ฟัง และอธิบายให้ฟังอย่างเข้าใจง่าย เด็กวัยนี้จะมีความเข้าใจและมั่นใจมากขึ้น เห็นได้จากงานวิจัยพบว่า ผู้ปกครองที่อธิบายถึงเหตุการณ์และเล่าให้เด็กที่ได้รับข่าวสารและเกิดข้อสงสัยฟังเพียงสั้น ๆ และเข้าใจง่าย จะทำให้เด็กรู้สึกดี หายเศร้าและสงสัย มากกว่าเด็กที่ได้รับฟังข่าวสารและไม่มีใครอธิบายให้ฟัง

 

นอกจากนี้ เราพบว่าเด็กไทย มักจะเป็นตัวของตัวเองมากกับพ่อแม่ เขาอยากร้องก้ร้อง อยากกรี๊ดก็กรี๊ด ขณะที่จะเกรงใจหรือกำกับตัวเองได้มากกว่าเวลาอยู่กับคนอื่น โดยเฉพาะคุณครู ถ้าเราอยู่กับเด็กที่ไม่ใช่ลูกหลานของเราอยู่ใกล้ๆ เราก็ช่วยปลอบประโลมเขาได้ เข้าไปอุ้ม ไปกอด เมื่อเขาเริ่มรู้สึกคุ้นเคยกับเรา และใช้คำพูดง่ายๆ สื่อสารกับเขา

 

 

 

 

บทบาทของสถาบันครอบครัวต่อการป้องกันอาชญากรรม

 

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องการกับเกิดเหตุอาชญากรรมหรือการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ข้อหนึ่งคือการที่บุคคลเป็นผู้ที่ไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีตัวตน ซึ่งการไม่ได้รับความสนใจนั้นเริ่มขึ้นจากในบ้าน เขาจึงไปหาที่นอกบ้าน เราอาจเคยพบเจอเด็กที่ยอมให้ตัวเองก่อปัญหาที่โรงเรียน ไม่สนใจเรียน แกล้งเพื่อน หรือแม้แต่ทำให้ตัวเองโดนจับขึ้นโรงพัก เพราะนั่นเป็นเวลาเดียวที่เด็กจะได้เจอพ่อแม่พร้อมหน้าพร้อมตา แสดงให้เห็นว่าเด็กต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่เสมอ ไม่ได้ทางบวก ทางลบก็เอา เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเข้ามาหาเรา เราต้องละวางอุปกรณ์สื่อสารและเรื่องอื่น ๆ และหันไปรับฟังเขา ไม่ใช่ให้ความสนใจเมื่อเฉพาะเวลาที่เขาร้องไห้ หกล้ม หรือถูกเรียกพบที่โรงเรียน

 

ทุกคนมีความกดดัน ความเครียด หากเพียงหาวิธี เรียนรู้ การรับมือในรูปแบบที่เหมาะสม โดยสามารถเริ่มเรียนรู้ได้จาก ครอบครัว หรือ Family Functioning ซึ่งผู้เป็นพ่อแม่ต้องหาวิธีเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีการควบคุมตนเองหรือ Self-control โดยมีการฝึกควบคุมอารมณ์ คุมตนเอง และสามารถที่จะรับมือกับวิธีแก้ปัญหาได้อีกด้วย

 

 

 

 

อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม มันเกิดจาก 3 อย่าง คือ ตัวเรา คนอื่น และสถานการณ์

 

การควบคุมคนอื่นและสถานการณ์นั้นทำได้ยาก การคุมตัวเอง แม้จะทำได้ยากก็ก็ยังทำได้ง่ายกว่าอีกสองอย่าง ดังนั้นเราต้องเริ่มจากการทบทวนและควบคุมตัวเอง จากนั้นก็ดูแลคนในครอบครัวของเรา ดูแลคนอื่น ๆ เพราะเราและคนที่เรารักก็ต้องอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ๆ ในสังคม

 

 

สรุปประเด็นการเสวนาถอดบทเรียนทางจิตวิทยา เหตุกราดยิงฯ – ตอนที่ 3 แนวทางการเยียวยาจิตใจ

สรุปสาระ คำถาม-คำตอบ
การเสวนาทางวิชาการ ถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง : ที่มา ทางแก้ และป้องกัน”

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์


 

ผู้ร่วมการเสวนา

1. ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์

2. รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

3. ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ นักจิตวิทยาสังคม รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

4. ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

ดำเนินรายการโดย

ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ – นักจิตวิทยาพัฒนาการ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

 

ตอนที่ 3 – แนวทางการเยียวยาจิตใจ

 

 

 

การเยียวยาจิตใจผู้ที่ประสบเหตุหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทำได้อย่างไร

 

  1. การให้ข้อมูลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้แล้วเราจะมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร เช่น ความกลัว ความรู้สึกผิด เพื่อที่เราจะตอบสนองต่อกันได้อย่างเหมาะสม เช่น ไม่ซ้ำเติมผู้ประสบเหตุด้วยการถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในเวลาที่เขาไม่พร้อม
    แนวทางการเยียวยาจิตใจตัวเอง ต้องเริ่มจากการตระหนักและยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้ได้ หาให้ได้ว่า ตอนที่เกิดเหตุแล้วเราไม่หลับไม่นอนหาข่าว ตามดูข่าวในทีวี ในออนไลน์ นั่นเป็นเพราะเรามีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร เรากลัว เราตระหนกใช่ไหม เราต้องตระหนักอย่าปล่อยให้มันฟุ้ง
  2. ขั้นต่อมาคือสื่อสาร ระบายออกมา เพื่อบรรเทาความรู้สึกให้จางลง เมื่อพร้อม กับคนที่เราไว้วางใจ มันจะช่วยให้เราตระหนักและเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้นจากการพูดคุยกับคนอื่น
  3. จากนั้นเปลี่ยนการมองว่าโลกนี้น่ากลัว สถานการณ์น่ากลัว ก็เปลี่ยนเป็นพลังในการออกมาทำอะไรที่ดี ๆ ที่เกิดประโยชน์ ให้เราเกิดความรู้สึกว่าเราสามารถทำอะไรได้ บริหารจัดการชีวิต ควบคุมสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

 

 

 

 

การช่วยดูแลผู้ที่ยังรู้สึกแย่อยู่ ยังไม่สามารถดึงอารมณ์ตัวเองกลับมาได้ ทำได้อย่างไร

 

  1. การดูแลคนใกล้ชิดสามารถทำได้ด้วยการแสดงความเข้าใจ เพื่อสื่อว่ายังอยู่ข้าง ๆ และพร้อมที่จะรับฟัง เมื่อเขาพร้อมที่จะสื่อสาร
  2. ถอยความอยากรู้ของเรา และมองเขาอย่างที่เขากำลังรู้สึกและมองโลก

ผลกระทบทางจิตใจต่อเหตุการณ์ร้าย ๆ สามารถติดอยู่ในใจเราได้ยาวนาน 3-6 เดือน ถ้าใครผ่าน 6 เดือนไปแล้ว ยังคงรู้สึกกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ยังกลัวว่าจะมีใครมาทำร้าย ก็อาจจะต้องรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

สำหรับเด็กที่ยังสื่อสารไม่ได้ดีนัก พ่อแม่ต้องคอยสังเกตว่าเขามีพฤติกรรมถดถอยหรือไม่ เช่น จากที่ไม่ฉี่รดที่นอนแล้ว กลับมาฉี่รดที่นอน ที่เคยรักดูแลน้องกลับมาแกล้งน้องกัดน้อง ถ้าพบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรพาไปพบจิตแพทย์เด็กหรือนักจิตวิทยาเด็ก

 

 

 

 

การที่มีคอมเมนต์ในลักษณะที่มองผู้ก่อเหตุว่าเป็นฮีโร่ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เราควรตอบสนองต่อบุคคลที่คอมเมนต์แบบนี้อย่างไร

 

เราไม่ควรตอบโต้ให้เชื้อไฟมันลุกลาม จากนั้นเราควรมาทบทวนว่าเรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราเห็น ถ้าเรารู้สึกเป็นห่วง เราก็ควรสื่อสารความรู้สึกออกมา โดยไม่ใช้คำพูดต่อต้าน หรือไปตัดสินเขาว่าเขาคิดหรือพูดไม่เหมาะสม ทำไมคิดอะไรแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ เพราะถ้าไปตัดสินเขาเช่นนั้นก็จะยิ่งผลักให้เขาเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว

 

ไม่ว่าเขาจะโพสต์ลงไปเพราะคิดเช่นนั้นจริง หรือโพสต์เพื่อเรียกร้องความสนใจ ถ้าต้องการเข้าไปพูดคุย อาจไม่ต้องพุ่งเป้าไปที่ประเด็นนั้น ที่อาจจะทำให้ทะเลาะกันไปก่อนเสียเปล่า ๆ แต่ให้ซักถามพูดคุยกันในเรื่องทั่ว ๆ ไป เพื่อที่จะรับฟังให้รู้ว่าเขาคิดอะไร หรือเกิดอะไรขึ้นกับเขา เพื่อที่จะได้เข้าใจและรู้ว่าเราควรที่จะวางตัวกับเขาอย่างไร

 

เราอาจจะพิจารณาว่าเขาแสดงความคิดเห็นเช่นนั้นแล้วเป็นคนที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุได้หรือไม่ คือมีโปรโฟล์ใกล้เคียงกับผู้ก่อเหตุหรือไม่ ถ้าเขามีแนวโน้มจะทำและทำได้ ก็อาจจะพาเขาไปรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

 

 

 

ความรู้สึกสงสารที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับรู้ถึงสาเหตุที่ผู้ก่อเหตุถูกกระทำ เราสามารถรู้สึกสงสารได้หรือไม่

 

เราสามารถรู้สึกสงสารต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ก่อเหตุได้ ความรู้สึกสงสารไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเพียงความรู้สึกที่เรามีต่อมนุษยชาติด้วยกัน แต่เราต้องรู้ว่าเมื่อบุคคลเมื่อถูกกระทำแล้ว มีสิทธิ์ที่จะตอบโต้ แต่วิธีการตอบโต้ต้องอยู่ในความเหมาะสม ไม่เกินเลยไปสู่ความรุนแรง เราควรตอบโต้หรือปกป้องตัวเองอย่างมีสติ

 

อันที่จริงแล้ว เราไม่ควรจะสงสารใคร แต่เราควรเข้าใจและให้โอกาส