ข่าวและกิจกรรม

Self-fulfilling prophecy – ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง

 

 

ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง

 

คือ การให้คำนิยามที่ผิดพลาดในตอนเริ่มต้นของสถานการณ์ นำไปสู่การกระทำใหม่ ซึ่งทำให้ความคาดหวังในตอนเริ่มต้นนั้นกลายเป็นจริงขึ้นมา นั่นแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมีอิทธิพลต่อแนวทางของเหตุการณ์ ชึ่งทำให้ความคาดหวังที่ผิดพลาดกลายเป็นความจริง

 

[ตัวอย่าง]

ถ้าฉันคิดว่าเธอมีธรรมชาติเป็นคนเป็นมิตรและชอบการสังสรรค์ ฉันจะแสดงเสน่ห์และความน่าชื่นชมของตัวฉันเองออกมาเมื่อฉันกับเธอมีโอกาสใช้เวลาด้วยกันโดยไม่ต้องสงสัย เธอคงจะตอบสนองในทิศทางเดียวกับที่ฉันแสดงออกมา และในบางทีฉันจะสรุปว่าเธอมีความเป็นมิตรและชอบการสังสรรค์ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่ามุมมองของฉันต่อบุคลิกภาพของเธอในตอนแรกที่พบกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

 

ในทางกลับกัน หากฉันเชื่อว่าเธอเป็นคนเย็นชาและทำตัวห่างเหิน เป็นไปได้ที่ฉันจะค่อนข้างรักษาระยะห่างและสงวนท่าทีเมื่อฉันมีปฏิสัมพันธ์กับเธอ และเป็นไปได้เช่นกันว่าเธอก็จะมีปฏิกิริยาตอบฉันด้วยการแสดงความเย็นชาและห่างเหินกับฉัน ซึ่งฉันคงตีความว่าที่ฉันคิดในตอนแรกนั้นถูกต้องแล้ว

 

ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ฉันไม่เคยรู้สึกตัวเลยว่าการแสดงออกของฉันต่อเธอจะเป็นสาเหตุให้เกิดหลักฐานที่จะเติมเต็มความคาดหวังก่อนหน้านี้ของฉัน

 

 

กล่าวโดยสรุป ปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง เป็นกระบวนการที่

 

  1. บุคคลมีความคาดหวังเกี่ยวกับบุคคลอื่นหรือเหตุการณ์บางอย่าง
  2. เป็นสาเหตุให้บุคคลแสดงออกในทางที่จะยืนยันหรือสอดคล้องกับความคาดหวังนั้น

 

ปรากฏการณ์นี้เป็นที่สนใจอย่างมากในวงการการศึกษา ซึ่งมีงานวิจัยที่ทำการทดลองเรื่องผลจากความคาดหวังของครูที่มีต่อนักเรียน และพบว่ามีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เช่น การให้ครูได้รับรายชื่อพร้อมคะแนนจากแบบวัดความฉลาดทางปัญญา โดยมีนักเรียนจำนวนหนึ่งในชั้นเรียนมีคะแนนสูงมาก ทั้งที่ตามจริงแล้วคะแนน IQ ดังกล่าวเป็นเพียงการสุ่มของผู้วิจัย แต่หลังจากนั้นอีกแปดเดือน เมื่อให้นักเรียนทำการทดสอบจริง ๆ นักเรียนที่ถูกบอกในตอนต้นว่าเป็นนักเรียนที่ฉลาด ก็มีคะแนนในการทดสอบสูงกว่านักเรียนคนอื่น ๆ ขึ้นมาจริง ๆ

 

เมื่อตรวจสอบในรายละเอียดแล้วพบว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะครูได้ให้ความสนใจกับเด็กที่ถูกสร้างความคาดหวังมากกว่า ให้งานที่ท้าท้ายความสามารถมากกว่า ให้ผลป้อนกลับที่มากกว่าและมีคุณภาพมากกว่า รวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กกลุ่มทดลองก็มีคุณภาพมากกว่าด้วย กล่าวคือ ครูแสดงออกในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อนักเรียนที่ครูคาดว่าจะเป็นเด็กฉลาด ท้ายที่สุดเด็กเหล่านี้ก็หลายเป็นเด็กที่ฉลาดขึ้นมาจริง ๆ ทั้งยังสนุกสนานกับการมาโรงเรียนมากกว่าอีกด้วย

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความดึงดูดใจทางกายภาพและปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงในคู่สนทนาต่างเพศผ่านอินเทอร์เน็ต” โดย คเณศ ศิรินภากุล (2546) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/6198

 

ภาพประกอบโดย เพจมิติคู่ขนาน
http://www.ookbeecomics.com/authors-and-artists/Phongmanus-Nus/detail-page/14571

 

ทำไมเราจึงกักตุนอาหาร

 

ในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. ที่ COVID-19 เริ่มระบาดในประเทศไทย ผู้คนตื่นตัวกับข่าวสาร ทำให้สินค้าหลายตัวเป็นที่ต้องการอย่างมากจนขาดตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดและป้องกันเชื้อโรค หรืออุปกรณ์วัดไข้ ต่อมาเมื่อมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็ทำนายกันว่าจะมีการล๊อคดาวน์หรือเคอร์ฟิวในไม่ช้า ผู้คนจึงเริ่มกักตุนอาหาร เกิดเป็นภาพชั้นวางของกินในซุปเปอร์มาเก็ตตลอดจนร้านสะดวกซื้อว่างโล่งเพราะพนักงานเติมสินค้าไม่ทัน

 

บทความนี้จะมาชวนดูกันว่าความคิด ความรู้สึกแบบไหน ที่ทำให้คนตื่นตัวที่จะกักตุนสินค้า ในช่วงที่ผ่านมาบ้าง

 

กักตุน (hoard) นอกจากความหมายในพจนานุกรมที่แปลว่า เก็บไว้ในที่ที่กำหนด (กัก) เพื่อไว้ใช้ในอนาคตหรือเวลาขาดแคลน (ตุน) ยังมีความหมายทางกฎหมาย คือ การกักเก็บสินค้าไว้ไม่นำออกมาขายตามปกติเพื่อเก็งกำไรไว้ขายเมื่อสินค้าขาดตลาด ในขณะที่ภาษาอังกฤษ hoard หมายถึง การสะสมจำนวน มาก ๆ ซึ่งมักจะไม่ใช่การสะสมแบบเปิดเผย ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น อยู่ในภาวะสงคราม มีโรคระบาด หรือแค่ไม่ยอมทำความสะอาด หรืออาจมีสาเหตุมาจากอาการทางจิตอื่น ๆ ก็ได้

 

โดยสำหรับสถานการณ์ COVID-19 ก็จะขอให้ ความไม่แน่นอน (uncertainty) เป็นตัวแทนหลักของสถานการณ์นี้ จากการที่เราไม่แน่ใจในข้อมูลเกี่ยวกับโรคและวิถีชีวิตที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการอยู่ การกิน การเรียน การเดินทาง และการทำมาหาเลี้ยงชีพ ไหนจะมีข่าวจริงข่าวปลอมที่คอยสร้างความกังวลอีกแรงหนึ่ง ในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดและความกังวลนี้ แต่ละบุคคลได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน และมีวิธีการและความสามารถในการจัดการกับความเครียดแตกต่างกันออกไป ด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์ ทำให้เราเหลือตัวเลือกในการจัดการความเครียดได้ไม่มากนัก เช่น เราไม่สามารถไปออกกำลังกาย หรือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงได้เหมือนปกติ เป็นเหตุบังคับให้เราต้องอยู่กับปัญหา และจัดการความเครียดที่ตัวปัญหา ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ ติดตามข่าวสาร และสำรองอาหารของใช้ เมื่อเราเตรียมตัวสำหรับความไม่แน่นอนในอนาคตส่วนหนึ่งแล้ว เราจึงเริ่มหาวิธีผ่อนคลายความเครียดอื่น ๆ เช่น เล่นเกม ฟังเพลง ดูหนังภายในบ้าน เป็นต้น

 

ที่จริงแล้วนักจิตวิทยามองว่า การสำรองอาหารและเครื่องใช้ เป็นวิธีการหนึ่งในการรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตที่เหมาะสม แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาวะอารมณ์ จากความกดดันของสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการซื้อ อาจทำให้เรายอมซื้อของแพงกว่าปกติ หรือซื้อมากกว่าที่เราจำเป็น นักจิตวิทยาเรียกการจับจ่ายภายใต้ความกดดันนี้ว่า panic buying ซึ่งเป็นคำที่ทางนักจิตวิทยายืมมาจากกลุ่มนักลงทุน โดย panic buying ของนักจิตวิทยาจะอธิบายถึงการซื้อที่อยู่ภายใต้แรงกดดัน ยกตัวอย่างความกดดันในสถานการณ์ทั่วไป เช่น การที่เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้ แต่เราชื้อมาเพราะว่ามันมีโปรโมชั่น Flash sale 1 แถม 1 สินค้าจำนวนจำกัด ฯลฯ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าไม่ซื้อตอนนี้จะเสียโอกาส เมื่อเกิดความคิดอย่างนั้นแล้วก็อาจทำให้เสียการไตร่ตรองส่วนอื่น ๆ ไปจนตัดสินใจซื้อสินค้ามา

 

สำหรับความกดดันในสถานการณ์ COVID-19 เราก็จะกดดันเพราะจำเป็นต้องมีมาสก์ เจล และอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยด่วน ไม่เช่นนั้นจะติด COVID-19 ได้ หรือเราจำเป็นจะต้องออกไปซื้ออาหารมาตุนไว้เพราะไม่รู้ว่าห้างจะถูกปิดไหม หรือจะออกจากบ้านไม่ได้ไปอีกนาน เป็นต้น โดยนักจิตวิทยาได้อธิบาย panic buying ในสถานการณ์ COVID–19 ไว้ 3 ลักษณะ

 

  1. เป็นความขัดแย้งระหว่าง ความปรารถนาที่จะรักษากิจวัตรประจำวันปกติไว้ กับ ความไม่แน่นอนของมาตรการต่าง ๆ ที่อาจจำกัดการเข้าถึงเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ว่าจะมีระยะเวลา ถึงเมื่อใด ทำให้เกิดความกังวล จึงซื้อโดยปรารถนาเพื่อรักษากิจวัตรประจำวันไว้ให้ได้นานที่สุด
  2. ความเครียดจากการติดตามข่าวสารรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกในแต่ละวัน ยิ่งมีรายงานติดเชื้ออยู่ในจังหวัดเดียวกับเราหรือใกล้เคียงก็ยิ่งให้ความสำคัญกับการ lock-down มากและยาวนานขึ้น ทำให้ต้องสำรองอาหารและของใช้จำเป็นสำหรับตนเองและคนในครอบครัวให้สอดคล้องกับความเครียดที่มี
  3. เป็นความรู้สึกสูญเสียความควบคุมสถานการณ์ในอนาคต (loss of control about the future) เมื่อไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรจะต้องทำอย่างไรเราก็จะสังเกตว่าคนอื่นทำอย่างไร ทำให้มีพฤติกรรมคล้อยตามไปในทิศทางเดียวกันได้ง่าย โดยเฉพาะปัจจุบันเรารับข้อมูลจากสื่อออนไลน์ได้รวดเร็วและกว้างขวางกว่าสมัยโรคระบาดอื่น ๆ เมื่อเราเห็นภาพผู้คนแออัดตามห้างเพื่อซื้อของใช้ต่าง ๆ เราก็อดตื่นตระหนกไปด้วยไม่ได้

หากจะจับจ่ายในช่วงนี้ก็อยากให้ทุกคนสำรวจความคิด ความรู้สึกตัวเอง ว่าเรามักจะหวั่นไหวตื่นตระหนก จากสื่อต่าง ๆ ที่เรารับเข้ามาหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ต้องใช้ความพยายามในการแยกแยะข่าวจริงข่าวเท็จ ก็ขอให้เรามีความตระหนักรู้ตัวว่าเราเกิดความตระหนกเมื่อใด จากสิ่งใด นอกจากนี้ก็อาจจะลองสำรวจตัวเองว่าของที่ซื้อมาแล้วและวางไว้ยังไม่ได้ใช้ ใครซื้อมา ซื้อมาด้วยความรู้สึกอย่างไร ลำดับความสำคัญของของใช้ประจำวันใหม่ แล้วค่อยใส่หน้ากากพกเจลออกไปจับจ่าย ยิ่งมีคนไปด้วยก็จะช่วยลดความตระหนกได้ระดับหนึ่ง เพราะเราไม่ต้องคิดคนเดียวซื้อคนเดียว มีคนช่วยกันกระตุกช่วยพิจารณา ก็หวังว่าจะจับจ่ายกันอย่างมีสติยิ่งขึ้น ไม่ใช่ช่วยกันตระหนกเป็นสองสามเท่านะครับ

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Sim, K., Chua, H. C., Vieta, E., & Fernandez, G. (2020). The anatomy of panic buying related to the current COVID-19 pandemic. Psychiatry Research, 288, 113015. https://doi.org/10.1016/j.psychres.2020.113015

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณณัฐนันท์ มั่นคง

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชมลูกน้อยอย่างไรให้เหมาะสม

 

การชมเชยบุตรหลานไม่ใช่เรื่องยาก และมีประโยชน์หลายประการ คุ้มค่ากับการใส่ใจแสดงออกถึงการชื่นชมอย่างเหมาะสม โดยประโยชน์ของการชมบุตรหลาน มีดังนี้

 

ประการที่ 1 การชมเชยนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้ปกครองได้บ่มเพาะสัมพันธภาพที่ดีกับบุตรหลาน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด เราคงไม่รังเกียจที่จะได้รับเสียงตอบรับทางบวกจากบุคคลใกล้ชิด สำหรับเด็กน้อย การได้รับคำชมเชยจากผู้ปกครองเปรียบเสมือนการหยอดกระปุกเติมสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น และการชมเชยก็ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ตระหนักถึงพฤติกรรมทางบวกที่บุตรหลานมี เป็นการเพิ่มความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อบุตรหลานของตนเองจากการตระหนักรู้นี้

 

ประการที่ 2 การชมเชยช่วยส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของเด็ก และช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ปกครองจะพูดคุยใส่ใจกับเด็กเฉพาะเมื่อเด็กทำผิดหรือมีปัญหา ซึ่งหากผู้ปกครองใส่ใจเด็กเฉพาะเมื่อเด็กทำผิดหรือมีปัญหา จะทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครองเป็นไปในทางลบ เป็นไม้เบื่อไม้เมา จนบางครั้งเด็กบางคนต้องเลือกแสดงพฤติกรรมทางลบ เพื่อที่จะได้มาซึ่งความสนใจจากผู้ปกครอง ทั้งที่โดยง่ายแล้ว ผู้ปกครองสามารถกันไว้ก่อนแก้ โดยการให้ความสนใจและส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของเด็กผ่านการชมตั้งแต่ต้น

 

ทว่า ประเด็นหนึ่งที่พึงระวังก็คือ การชื่นชมนี้จำเป็นต้องเป็นไปอย่างจริงใจ มิได้เป็นการเสแสร้ง หากแต่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมดี ๆ ที่เด็กมี ซึ่งในประเด็นนี้ เราจะต้องมีความเข้าใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย เนื่องจากเป็นการยากที่จะนำมาตรฐานของผู้ใหญ่ไปคาดหวังกับเด็กเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวน้อย หากแต่มีความแตกต่างไปในแง่ของความรู้ ความเข้าใจโลก ความพร้อมทางร่างกาย อารมณ์หรือสังคม

 

ดังนั้น ในการเลือกหาโอกาสชมเชยเด็กนั้น เราควรที่จะลองพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่า บุตรหลานของเราอยู่ในช่วงวัยใด มีศักยภาพด้านต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด เช่น หากรอจะให้คำชมกับบุตรหลานวัย 3-4 ขวบ ที่นั่งนิ่ง ๆ ตามลำพังด้วยตนเองโดยไม่มีของเล่นเป็นตัวช่วยได้นานถึง 15-20 นาที คงจะเป็นความคาดหวังที่สูงเกินไป เพราะเด็กในวัยนี้ยังมีการควบคุมตนเองและรวบรวมความสนใจจำกัด และเช่นเดียวกัน การจะรอเก็บคำชมไว้ให้เด็กในวัยนี้ที่รับประทานอาหารได้อย่างถูกระเบียบไม่หกเลอะเทอะเลยก็คงเป็นเรื่องยาก เมื่อคำนึงว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กและความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือของเด็ก วัย 3-4 ขวบยังพัฒนาไม่เต็มที่ เป็นต้น

 

ประการที่ 3 การแสดงออกถึงการชื่นชมต่อเด็กจะมีส่วนช่วยในการบ่มเพาะให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมทางบวกด้วย ตามหลักจิตวิทยานั้น เรามีความเชื่อว่าการที่คนเราจะเลือกทำพฤติกรรมใด ๆ จำเป็นต้องมีการลงทุนลงแรง หากการลงทุนนั้นนำมาซึ่งผลลัทธ์ที่น่าพอใจ อาทิ ได้รางวัลหรือคำชม เราก็มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมนั้นเพิ่มขึ้น เพราะคุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไป แต่หากลงทุนลงแรงไปแล้ว ไม่ได้มีสิ่งตอบแทนใดตามมา เราก็อาจจะอ่อนล้าหมดกำลังใจที่จะทำพฤติกรรมนั้นต่อไป

 

ในประเด็นของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็กนั้น หากเด็กแสดงพฤติกรรมดี ๆ ออกมา แต่ผู้ปกครองไม่ได้แสดงออกถึงความชื่นชมยินดี ไม่มีผลลัพธ์รางวัลใด ๆ ตามมา มีความเป็นไปได้ว่าเด็กจะสับสนไม่แน่ใจว่าสมควรทำพฤติกรรมนั้นต่อไปหรือไม่ อาทิ เด็กบางคนแสดงพฤติกรรมช่วยเหลือ หากแต่ผู้ปกครองเหนื่อยล้าจนไม่ได้สังเกตเห็น หรือคุ้นชินจนมองข้ามไป ก็อาจจะลังเลที่จะแสดงพฤติกรรมดังกล่าวต่อ นับว่าน่าเสียดายที่ผู้ปกครองไม่ได้มีโอกาสสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสนับสนุนพฤติกรรมที่พึงประสงค์นี้ของเด็ก

 

 

นอกจากนั้น ยังมีแนวทางในการชมเด็ก ซึ่งเริ่มต้นด้วย เมื่อเราสังเกตเห็นพฤติกรรมที่สมควรได้รับการชมเชยของเด็ก เราควรพยายามชมโดยทันที ผ่านการระบุพฤติกรรมนั้นอย่างเฉพาะเจาะจง เช่น หากเราเห็นบุตรหลานแสดงความช่วยเหลือช่วย ยกข้าวของที่เราหอบหิ้วอยู่ ก็อาจชมเชยโดยกล่าวว่า “ดีมากเลยค่ะที่ช่วยแม่ยกของ” หรือการชมว่า “ทานข้าวเรียบร้อยจริง ใช้ช้อนส้อมสองมือ ข้าวไม่หกด้วย” การชมแบบนี้ จะช่วยระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า พฤติกรรมที่ได้รับความชื่นชมนั้นคือพฤติกรรมใด อันจะเอื้อต่อการที่เด็กเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมนั้นอีกในอนาคต และชัดเจนกว่าการชมลอย ๆ เช่น “หนูเป็นเด็กดีจริง” ซึ่งเด็กอาจจะไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมใดของตนนำมาซึ่งคำชมเชยนี้

 

หากผู้ปกครองมีการชมเชยพฤติกรรมทางบวกของเด็กบ่อยครั้งจนเกิดความชัดเจนกับเด็กแล้ว สามารถย่นย่อหรือแสดงออกในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ การยิ้ม หรือการสัมผัส ผู้ปกครองจะลงรายละเอียดมากเป็นพิเศษเฉพาะในช่วงต้นเท่านั้น และการชมเชยจะพิจารณาช่วงวัยและพัฒนาการของเด็กประกอบ การชมเรื่องการรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนส้อมอาจเป็นประเด็นในเด็กประถมต้น แต่เราคงไม่จำเป็นมุ่งเน้นให้คำชมนี้ในเด็กมัธยมแล้ว

 

กล่าวโดยสรุปคือ ในการแสดงออกถึงความชื่นชมที่เหมาะสมนั้น เราต้องระมัดระวังให้การชมเชยเป็นไปอย่างจริงใจ ไม่เสแสร้ง หากแต่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมดี ๆ หรือคุณลักษณะที่เด็กมีอยู่จริง ในประเด็นนี้ จำเป็นที่เราจะต้องมีตัวช่วย คือความเข้าใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย ทั้งในประเด็นของความคิดความเชื่อ อารมณ์ความรู้สึก พฤติกรรม และความพร้อมทางร่างกาย เพื่อที่จะได้ตั้งความคาดหวัง และเห็นแนวทางถึงประเด็นที่จะสามารถชมเชยเด็กได้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

 

 

ภาพประกอบจาก : Freepik

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การใช้อารมณ์ขันรับมืออารมณ์ลบ

คนไทยรวยอารมณ์ขัน

 

ผู้เขียนมีความคิดเช่นนี้ เพราะสังเกตเห็นว่าในทุกวิกฤตหนัก ๆ ที่คนไทยเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันนี้ สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2554 หรือสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา (และยังไม่ผ่านไป หลายต่อหลายระลอก) ท่ามกลางความตึงเครียด ความโศกเศร้า ความวิตกกังวล ความโกรธ การโต้เถียง และคำวิพากษ์วิจารณ์ ก็มักจะมีมุกตลกมาแบ่งปันกันในสังคมเสมอ

 

มุกตลกนั้นมีทั้งในรูปคำคม การ์ตูน 4 ช่อง ภาพประกอบเรื่อง ภาพประกอบเพลง ภาพประกอบเนื้อเพลงคาราโอเกะ คลิปล้อเลียน เพลงแปลง รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้แล้วยังตลกด้วย

 

การศึกษาทางจิตวิทยานั้นพบว่า การใช้ความตลกขบขัน (humor) เป็นหนึ่งในวิธีการจัดการอารมณ์ทางลบที่มนุษย์เราใช้กัน โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด หรือมุมมองที่เรามีต่อปัญหาและมีต่อความสามารถในการแก้ปัญหา ให้สถานการณ์ที่คุกคามความรู้สึกของเรา (threat) กลายเป็นสถานการณ์ที่เป็นความท้าทาย (challenge) และเมื่อเรามีมุมมองต่อปัญหาเปลี่ยนไป อารมณ์ทางลบที่ทำให้เรารู้สึกตึงเครียด (หัวร้อน) ก็จะบรรเทาลงไปด้วย

 

นักจิตวิทยาอธิบายว่า การใช้ความตลกขบขันนั้นมีลักษณะคล้ายกับการเบี่ยงเบนความสนใจ (distraction) โดยเมื่อเราได้ผ่อนคลายอารมณ์จากการคิดถึงปัญหาในมุมอื่น หรือจากการพยายามสร้างสรรค์มุกต่าง ๆ ขึ้นมา อารมณ์ที่ผ่อนคลายลงนั้น จะช่วยให้เราสามารถโฟกัสกับปัญหาได้มากขึ้น และนำไปสู่การจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้นด้วย

 

นอกจากนี้ นักจิตวิทยาพบว่า การใช้ความตลกขบขันนั้นมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถป้องกันได้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือจัดการได้ในทันที ต้องรอเวลา อย่างเช่นในสถานการณ์ COVID-19 ที่เราไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ ไม่สามารถยุติมาตรการเคอร์ฟิวได้ ไม่สามารถเปิดกิจการหรือเปลี่ยนใจนายจ้างให้ไม่ลดเงินเดือนได้ อย่างไรก็ดี ความตลกขบขันจะใช้ได้ผลเมื่อเราไม่ได้อยู่ในสภาวะอารมณ์ที่เข้มข้นมาก (เพราะถ้าเราอารมณ์เข้มข้นมากก็คงจะตลกไม่ออก) กล่าวคือ ในระหว่างที่เราไม่สามารถจัดการปัญหาได้ทั้งหมด เราก็จัดการกับอารมณ์ของเรา ซึ่งจะส่งผลทางบวกให้เราอยู่ในสภาวะที่พร้อมต่อการแก้ปัญหาเมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง

 

นักจิตวิทยายังเสนออีกว่า การใช้ความตลกขบขันมีความสัมพันธ์กับระดับความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ด้วย เพราะผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง คือผู้ที่มีความสามารถด้านการปรับตัวสูง โดยสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง ยอมรับและตระหนักในสิ่งที่เกิดขึ้น และรู้จักยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อการปรับอารมณ์โดยไม่ปฏิเสธปัญหา แต่ทั้งนี้ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะใช้ความตลกขบขันในทางบวก (adaptive humor) หรือตลกในทางสร้างสรรค์ (ตลกแบบที่คนอื่นตลกด้วย) ขณะที่ผู้ที่มีความฉลาดอารมณ์ต่ำจะใช้ความตลกขบขันในทางลบ (maladaptive humor) หรือตลกไม่สร้างสรรค์ (ตลกดูถูกตนเอง ตลกทำร้ายคนอื่น ตลกแบบที่คนอื่นไม่ตลกด้วย)

 

สรุปแล้ว การสร้างความตลกขบขันในสถานการณ์ที่เลวร้าย ก็เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการรับมือกับปัญหา แต่มีข้อพึงระวังว่าการใช้มุกตลกของเรานั้นควรให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ มิเช่นนั้นแล้วอาจจะนำพาปัญหาอื่นเข้ามาแทรกได้
และถ้าเราเป็นผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหานั้น ก็อย่ามามัวแต่ตลกอย่างเดียว เพราะจะเป็นการเพิกเฉยต่อปัญหา ต้องลงมือทำด้วย แล้วจะตลกด้วยก็ไม่มีใครว่าอะไรค่ะ

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Peña-Sarrionandia, A., Mikolajczak, M., & Gross, J. J. (2015). Integrating emotion regulation and emotional intelligence traditions: a meta-analysis. Frontiers in psychology, 6, 160.

 

Greven, C., Chamorro-Premuzic, T., Arteche, A., & Furnham, A. (2008). A hierarchical integration of dispositional determinants of general health in students: The Big Five, trait emotional intelligence and humour styles. Personality and Individual differences, 44(7), 1562-1573.

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความสมดุลระหว่างชีวิต (ที่บ้าน) และการทำงาน

 

ในช่วงนี้ บางคนที่ต้อง work from home อาจประสบปัญหาความไม่สมดุลหลายอย่าง เช่น เรื่องต่าง ๆ ภายในบ้านรบกวนการทำงาน หรือการเผชิญกับความคาดหวังที่จะต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ครั้งนี้เราจะมาคุยกันว่า เราจะทำอะไรได้บ้างในสภาวะเช่นนี้

 

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่า “ความสมดุล” นี้ เป็นเรื่องของใครของมัน บางคนอาจทำงานตลอดเวลาแต่ก็ยังรู้สึกว่าชีวิตตนเองสมดุลอยู่ หรือบางคนอาจชอบที่จะ “รวม” ชีวิตการทำงานเข้ากับชีวิตด้านอื่น ๆ อยู่แล้ว คนกลุ่มนี้เมื่อต้องทำงานที่บ้านก็อาจไม่ต้องปรับตัวอะไรมากนัก ในทางกลับกัน คนที่ชอบ “แยก” ชีวิตการทำงานออกจากชีวิตด้านอื่น ๆ เมื่อต้องทำงานที่บ้านก็อาจต้องปรับตัวมาก ดังนั้นประเด็นของบทความนี้คือ “คนที่เคยมีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน” แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้านแล้วรู้สึกว่า “ความสมดุลนั้นเสียไป” ซึ่งคนที่ประสบปัญหามากที่สุดน่าจะเป็นคนที่มีสไตล์การทำงานที่ค่อนข้างแยกเรื่องงานออกจากเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต

 

แนวทางสำคัญของการส่งเสริมความสมดุลระหว่างชีวิต (ที่บ้าน) และการทำงาน คือ การพยายามทำให้การทำงานที่บ้าน ไม่แตกต่างจากการทำงานที่ทำงาน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ทำให้ทุกอย่างคล้ายกับการทำงานที่ทำงานมากที่สุด ตั้งแต่สภาพแวดล้อม การใช้เวลา ไปจนถึงการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากเวลาเราทำงานที่ทำงาน เราจะมี “ขอบเขต” ที่ค่อนข้างชัดเจน อย่างน้อยที่สุดก็คือระยะห่างระหว่างบ้านและที่ทำงาน ที่จะคอยช่วยกำหนดว่า สิ่งใดหรือใคร ที่จะผ่านขอบเขตนี้มาได้ แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้าน ขอบเขตที่เราเคยมีก็อาจเลือน ๆ ไป จนทำให้บางคนเผลอล้ำขอบเขตของเรา หรือแม้แต่ตัวเราเองที่ยังอาจสับสนกับการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงทำให้เราไม่สามารถบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้อย่างสมดุลเหมือนแต่ก่อน สิ่งที่เราจะต้องทำ คือ พยายามทำให้ขอบเขตเดิมที่จริง ๆ มีอยู่แล้ว ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง

 

 

งานวิจัยของ Kreiner และคณะ (2009) พบเทคนิคที่น่าสนใจ 4 กลุ่ม ที่เราน่าจะนำมาปรับใช้ในกรณีนี้ได้

 

 

1. เทคนิคด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

 

ถ้าเรารู้สึกว่า เรื่องต่าง ๆ ของบ้านดึงความสนใจของเราในขณะที่กำลังทำงานอยู่มากเกินไป การจัดกระทำให้มีพื้นที่ “ที่ทำงาน” เป็นสัดเป็นส่วนและแยกออกจากพื้นที่ที่เราใช้พักผ่อน ก็จะช่วยให้เราแยกกิจกรรมการทำงานออกจากกิจกรรมอื่น ๆ ที่บ้านได้ระดับหนึ่ง พื้นที่เป็นสัดเป็นส่วนนี้อาจทำได้จากการเพิ่มระยะห่าง (ระหว่างโต๊ะทำงานและมุมพักผ่อน) การสร้างฉากกั้น หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น เครื่องเขียน) แยกกัน

 

2. เทคนิคด้านเวลา

 

ถ้าเราสามารถจัดตารางเวลาการทำงานแยกออกจากตารางเวลาที่เราทำกิจกรรมอื่น ๆ กับครอบครัว (หรือที่ทำคนเดียว) ได้ ก็จะช่วยให้เราทำงานที่บ้านได้อย่างสบายใจมากขึ้น ตารางเวลานี้อาจล้อไปกับตารางเวลาเดิมในช่วงที่เราทำงานที่ทำงาน แต่ถ้างานของใครไม่สามารถกำหนดหรือกะเกณฑ์ตารางเวลาได้อย่างชัดเจน เรายังสามารถใช้เทคนิค การออมเวลา (banking) ได้ สมมติว่า เราจำเป็นต้องทำงานช่วงกลางคืนทั้ง ๆ ที่เราน่าจะได้ใช้เวลาช่วงนี้กับครอบครัว เราสามารถ “เก็บออม” ช่วงเวลานี้ไว้แล้วไปหักลบกับเวลาทำงานช่วงอื่น ๆ ได้ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เรารู้สึกสมดุลในการใช้เวลามากขึ้น ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถทำงานยึดตามตารางเวลาที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกก็ตาม

 

นอกจากนี้ เราอาจจัดเวลาบางช่วงที่ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องงานและเรื่องในบ้านเลย สำหรับบางคนที่จะต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัว อยู่ที่ทำงานก็ต้องทำงานเต็มที่ อยู่ที่บ้านก็ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวเต็มที่เช่นกัน เมื่อก่อนเราอาจใช้เวลาระหว่างการเดินทางหรือการรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นช่วงเวลา “พักผ่อน” เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้านแล้ว ช่วงเวลาเหล่านี้หายไป กลายเป็นว่าเมื่อหันไปทางหนึ่งก็เป็นเรื่องงาน พอหันกลับมาอีกทางหนึ่งก็เป็นเรื่องในบ้าน ไม่มีเวลาพักหายใจเลย ดังนั้น การจัดเวลาบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องงานและเรื่องในบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน

 

3. เทคนิคเชิงพฤติกรรม

 

ประกอบไปด้วย (a) การกำหนดขอบเขตของ “การรวมกัน” ระหว่างกิจกรรมการทำงานและกิจกรรมอื่น ๆ อย่างยืดหยุ่นแต่ชัดเจน (b) การจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ (c) การใช้เทคโนโลยี และ (d) การหาตัวช่วย

 

โดยทั่วไป แต่ละคนชอบที่จะรวมหรือแยกกิจกรรมการทำงานและกิจกรรมอื่น ๆ ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่น้อยคนนักที่จะชอบแบบสุดโต่ง (ต้องแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด หรือสามารถรวมกันได้ทุกเรื่อง) ส่วนใหญ่แล้วจะมีความชอบอยู่ตรงกลาง คือ รวมกันบางเรื่องและแยกกันบางเรื่อง ดังนั้น เราควรจะกำหนดขอบเขตตั้งแต่แรกเลยว่า เมื่อต้องทำงานที่บ้าน เรื่องใดบ้างในการทำงานที่เราขอให้แยกออกจากการใช้เวลากับครอบครัวอย่างชัดเจน และเรื่องใดบ้างที่เรายอมให้มากินเวลาส่วนตัวได้ หรือใครบ้างที่สามารถติดต่อเราได้ทุกเวลา และใครบ้างที่ติดต่อเราได้เฉพาะเวลางานเท่านั้น และการกำหนดขอบเขตนี้ควรทำทั้ง 2 ทิศทาง คือ จากการทำงานมา (รบกวน) ที่บ้าน และจากที่บ้านไป (รบกวน) การทำงานด้วย

 

เทคนิคต่อไป คือ การจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ ในการทำงานที่บ้าน บางครั้งเราเผชิญกับปัญหาเรื่องงานและปัญหาเรื่องบ้านพร้อม ๆ กัน เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า เมื่อปัญหาเกิดขึ้น เราจะได้ลงมือจัดการตามลำดับความสำคัญที่เราได้กำหนดไว้แล้ว

 

เราสามารถดัดแปลงการใช้เทคโนโลยีให้ชีวิตที่บ้านและการทำงานมีความสมดุลมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่บ้านทำงาน เราอาจสร้าง user สำหรับการทำงานแยกออกมาเพื่อไม่ให้ไฟล์หรือโปรแกรมต่าง ๆ ผสมปนเปกัน หรือแม้แต่เราอาจใช้อีเมลสำหรับการทำงานและอีเมลส่วนตัวแยกกัน

 

เทคนิคสุดท้าย คือ การหาตัวช่วย ในที่นี้ก็คือ gatekeeper หรือบุคคลที่จะมาช่วยเรารับมือกับความต้องการต่าง ๆ ที่บางครั้งอาจถาโถมเข้ามาเกินพอดี ในกรณีที่เราทำงานที่บ้านและมีเพื่อนร่วมงานติดต่อมานอกตารางเวลางานที่ตกลงกันไว้ เราอาจให้ “คนอื่น” เป็นคนรับเรื่องและพิจารณาว่า เรื่องที่ติดต่อมานั้นมีความสำคัญและมีความเร่งด่วนมากพอที่จะสละเวลาส่วนตัวไปทำหรือไม่

 

4. เทคนิคด้านการสื่อสาร

 

เทคนิคสามกลุ่มแรกอาจไม่ประสบความสำเร็จถ้าเราไม่มีการสื่อสารที่ดีพอ ทั้งกับเพื่อนร่วมงานและกับสมาชิกในครอบครัว หัวใจของการสื่อสาร คือ การกำหนดความคาดหวังในเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของเราให้ชัดเจน เนื้อหาของการสื่อสารที่สำคัญ เช่น เราอาจต้องการลักษณะการทำงานที่เหมือนเดิมหรือคล้ายเดิม ทั้งเรื่องตารางเวลาและเรื่องการติดต่องาน สมมติว่า แต่เดิมเราตกลงกันไว้อย่างชัดเจนทั้งตารางเวลาทำงานและลักษณะการติดต่องาน เมื่อต้องทำงานที่บ้าน เราก็ควรจะสื่อสารให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจว่า เราต้องการคงตารางเวลาทำงานเดิมไว้และต้องการใช้การติดต่องานวิธีเดิม ซึ่งแน่นอนว่า ความคาดหวังนี้จะต้องสื่อสารกับทั้งเพื่อนร่วมงานที่ทำงาน และสมาชิกในครอบครัวที่บ้านด้วย ถ้าเราต้องการสมาธิในการทำงานอย่างเต็มที่ การสื่อสารความต้องการนี้กับสมาชิกในครอบครัวให้พวกเขาเข้าใจก็จะทำให้การทำงานที่บ้านราบรื่นมากขึ้น

 

เทคนิค 4 กลุ่มนี้ เป็นเทคนิคเบื้องต้นที่เราน่าจะนำไปใช้ได้ สำหรับบุคคลที่ต้องทำงานที่บ้านและรู้สึกว่า การทำงานที่บ้านทำให้สมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเสียไป เมื่อเทียบกับสภาวะก่อนหน้าที่เราทำงานที่ทำงาน สำหรับบางคนที่ชีวิตไม่สมดุลอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะทำงานที่ทำงานหรือทำงานที่บ้านก็ตาม เทคนิคเหล่านี้ก็อาจพอช่วยได้บ้าง แต่อาจต้องมีการทำความเข้าใจอย่างหนักหน่วงและการสื่อสารที่ชัดเจนกับสมาชิกในทีม ทั้งทีมทำงานและทีมที่บ้าน เนื่องจากบางเทคนิคอาจได้ผลกับบางคนและในบางสถานการณ์ การทดลองใช้เทคนิคต่าง ๆ แล้วสังเกตดูว่า เทคนิคใดบ้างที่เหมาะสมกับเรา หรือลองปรับเทคนิคเหล่านี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะหน้าของแต่ละคน น่าจะทำให้ชีวิตที่บ้านและการทำงานกลับมามีความสมดุลเหมือนเดิมไม่มากก็น้อย

 

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สักกพัฒน์ งามเอก

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถสู่ความเป็นเลิศ

ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life-Di Center)

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาของตนเอง

 

ในชีวิตคนเราย่อมประสบพบเจอปัญหาต่าง ๆ มากมายและหลากหลาย ซึ่งบางคนสามารถปรับตัวและผ่านปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตได้ดี ตรงกันข้ามบางคนก็สามารถผ่านปัญหาต่าง ๆ ไปได้อย่างทุลักทุเล หรือไม่สามารถผ่านไปได้ งานวิจัยจำนวนมากทางจิตวิทยาพบว่า บุคคลที่รับรู้หรือคิดว่าตนเองมีความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าบุคคลที่คิดว่าตนเองไม่สามารถจะแก้ปัญหาในชีวิตได้

 

การประเมินความสามารถในการแก้ปัญหา อีกนัยหนึ่งก็คือ ความมั่นใจว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตหรือการรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งสัมพันธ์กับตัวแปรต่าง ๆ ที่สำคัญทางจิตวิทยาได้แก่ การปรับตัว บุคคลที่มีความมั่นใจว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีจะสามารถปรับตัวได้ดี มีความสิ้นหวัง ซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายต่ำกว่าบุคคลที่ไม่มั่นใจว่าตนเองจะสามารถแก้ปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า บุคคลที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาจะบริโภคแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่น้อยกว่าบุคคลที่ไม่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้

 

สำหรับตัวแปรทางด้านบุคลิกภาพ มีงานวิจัยพบว่า บุคคลที่มั่นใจว่าสามารถแก้ปัญหาได้ จะมีความวิตกกังวลและความโกรธต่ำ แต่จะมีความอยากรู้อยากเห็นสูง มีรายงานพบว่า พ่อแม่ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะใช้การลงโทษลูกน้อยกว่าพ่อแม่ที่ไม่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหา และลูกของพ่อแม่ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาจะมีการพัฒนาทางอารมณ์และสังคมที่ดีกว่าลูกของพ่อแม่ที่ไม่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหา

 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ หรือรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จะบ่นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนน้อยกว่าผู้ที่ไม่มั่นใจว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาได้ อีกทั้ง ผู้ที่มีความมั่นใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ มักใช้วิธีเผชิญปัญหา ไม่หนีปัญหา และพยายามแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาหรืออุปสรรคนั้น ๆ โดยผู้ที่แก้ปัญหาได้ดีจะรู้จักประเมินสิ่งแวดล้อมและรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

 

วิธีที่จะทำให้เรามีความมั่นใจว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีหรือรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้นั้น มี 3 ประการ ได้แก่

 

ประการที่ 1 รู้จักยืดหยุ่น ถ้าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่สามารถไปถึงได้ให้หาเป้าหมายสำรองที่สามารถไปถึงได้และทำให้เราพึงพอใจ วิธีนี้ทำให้เรารู้สึกว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีและมีความมั่นใจในการแก้ปัญหา

 

ประการที่ 2 หาวิธีหรือแนวทางใหม่ ๆ ในการควบคุมสถานการณ์ เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอาจแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่ตนเองป่วย ลดความเครียด ดูแลอาหารการกินและออกกำลังกายตามความเหมาะสม การที่สามารถรู้อาการของโรคหรือการที่สามารถทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมหรือแก้ปัญหาได้ดี นอกจากนี้ การกระทำใดๆ ก็ตามของบุคคลที่ส่งผลในทางบวกต่อบุคคลก็จะทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ เช่น บุคคลที่ควบคุมอาหารแล้วน้ำหนักลดก็จะมีกำลังใจในการควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก เป็นต้น

 

ประการที่ 3 การยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใด ๆ โดยพยายามหาข้อบวกในปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบ หลายคนพบสิ่งที่มีความหมายในการสูญเสีย หลายคนสามารถพัฒนาตนเองจากการสูญเสีย การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บุคคลพัฒนาความรู้สึกของการควบคุมสถานการณ์ รู้สึกว่าตนเองไม่โชคร้ายจนเกินไป

 

การที่เรารับรู้หรือรู้สึกว่าเราสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดี หรือการที่เรามีความรู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีจะทำให้เรามีความสุข อย่างไรก็ตาม การรับรู้นี้ก็ควรอยู่ในโลกของความเป็นจริง กล่าวคือ เราควรมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้จริงตามที่เรารับรู้ เนื่องจาก การรับรู้ที่บิดเบือนอาจทำให้เราประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดได้ นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องของการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถในการแก้ปัญหาหรือการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ไม่ดีเท่ากับคนที่สุขภาพแข็งแรง บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีจะรับรู้ว่าตนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่บุคคลที่ซึมเศร้าจะรับรู้ว่าตนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลผู้ป่วยต้องเข้าใจ และรู้ว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ต้องการกำลังใจมากกว่าปกติและผู้ป่วยอาจมีอาการหงุดหงิดเนื่องจากรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีเท่าเดิม ผู้ดูแลหรือผู้ใกล้ชิดจึงควรรับฟังผู้ป่วยด้วยความเห็นใจและอดทน

 

การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ และความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ที่รู้สึกว่าตนเองยังไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีก็สามารถใช้ปัญหาหรืออุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นแบบทดสอบที่ทำให้เราเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อในที่สุดเราก็จะมีความสามารถในการเผชิญกับปัญหาและมีความมั่นใจในการแก้ปัญหา ไม่ต้องกลัวหรือหนีปัญหา และยังสามารถช่วยแก้ปัญหาให้ผู้อื่นได้ถ้าผู้อื่นต้องการให้ช่วยเหลือ ทำให้เราสามารถปรับตัวบนโลกของเราได้อย่างมีความสุข

 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลกระทบของ COVID-19 และ Work from Home กับมนุษย์เงินเดือน

 

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นคลื่นลูกหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่กระทบต่อการดำรงชีวิต การทำงานของคนเราในยุคปัจจุบัน และความก้าวหน้านี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเสียด้วย แน่นอนว่าความก้าวหน้านี้ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ในหลาย ๆ แง่มุม รวมถึงการทำงานภายในองค์การของเราด้วยเช่นกัน

 

คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตไร้สาย สมาร์ทโฟน ตัวอย่างเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวมนุษย์เงินเดือนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว และการแก้ไขงานได้ทันกำหนดส่ง อีกทั้งยังส่งผลให้รูปแบบการทำงานของมนุษย์เงินเดือนบางกลุ่มเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ต้องทำงานที่ออฟฟิศก็สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน

 

 

Work from Home ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลยในยุคนี้เลย หลาย ๆ องค์การทั้งในไทยและต่างประเทศเริ่มใช้นโยบายนี้ในการทำงานมาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้และได้เปลี่ยนวิถีการทำงานของเราได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายองค์การไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐและเอกชนมีนโยบายให้พนักงานของตนสามารถทำงานจากที่บ้าน ซึ่งสอดคล้องกับประกาศของทางรัฐเพื่อลดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของโรค COVID-19 จากมนุษย์เงินเดือนที่เวลาทำงานต้องเข้าออฟฟิศทุกวันต้องเปลี่ยนไปทำงานจากที่บ้านทุกวันแทน แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่องค์การมีนโยบายทำงานจากที่บ้านได้ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย แค่เปลี่ยนจากทำงานที่บ้านไม่กี่วัน เป็นทำงานจากที่บ้านทุกวันก็เพียงเท่านั้น

 

เช่นนี้ ดูเหมือนจะลำบากเฉพาะกับคนกลุ่มแรก ส่วนกลุ่มที่สองสบายกว่า แต่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะเมื่อต้องทำงานจากที่บ้านเป็นระยะเวลานาน ทุกวัน และต้องกักตัว (Self-isolation) ไปด้วย อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อตัวเราได้ นั่นคือ ความขัดแข้งในบทบาทระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัว (Work-life / family conflict) จากแนวคิด Role of Boundary ที่พนักงานโดยปกติแล้วจะแยกบทบาทของตนออกเป็น 2 บทบาท คือ บทบาทในงานและบทบาทของชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัว ซึ่งพนักงานจะพยายามที่จะรักษาสมดุลทั้ง 2 บทบาทนี้ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของกายภาพหรือจิตใจ หากทั้ง 2 บทบาทนี้สมดุล ก็จะเกิดการรับรู้ที่เราได้ยินบ่อย ๆ มาก คือ “Work-Life balance” นั่นเอง แต่หากทั้ง 2 บทบาทนี้ไม่สมดุล พนักงานก็จะรับรู้ว่ามีการขัดแย้งกันของ 2 บทบาท คือ “Work-Life conflict” โดยความขัดแย้งสามารถเกิดได้ 2 ลักษณะคือ

 

  1. บทบาทในงานไปขัดแย้งบทบาทชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัว และ
  2. บทบาทชีวิตส่วนตัวหรือครอบครัวไปขัดแย้งกับหน้าที่การงานของเรา

 

 

ความขัดแย้งดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการ Work from Home ในช่วงนี้อย่างไร ?

 

ปัจจัยแรกคือสถานที่ทำงานของมนุษย์เงินเดือน หรือออฟฟิศ สถานที่ทำงานเป็นสิ่งที่จะพอให้พนักงานรับรู้และแยกแยะบทบาททั้ง 2 บทบาทได้ในทั้งเชิงกายภาพและจิตใจ แม้ว่าอาจจะ conflict บ้างในกรณีที่มีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสำหรับการทำงานหลังเวลาเลิกงานด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง แต่เมื่อพนักงานต้องเปลี่ยนจากการทำงานที่ออฟฟิศมาเป็นในรูปแบบของการทำงานที่บ้านทุกวันเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานและไม่สามารถคาดเดาได้ถึงสถานการณ์และจุดจบของการแพร่ระบาด COVID-19 รวมทั้งเทคโนโลยีสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า สามารถโทร อีเมล พิมพ์ข้อความที่เกี่ยวกับงานของเราได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ความสามารถการรับรู้และแยกแยะ 2 บทบาทของพนักงานนั้นลดลงและไม่ชัดเจนมากขึ้น (Blurring the role of boundary) สิ่งนี้เมื่อเกิดเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ ความรู้สึก ความเครียดที่เพิ่มขึ้น การบริหารจัดการเวลาที่มีประสิทธิภาพลดลง ความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน (Burnout) รวมถึงความขัดแย้งระหว่างความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

 

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะมีอารมณ์หรือความรู้สึกขัดแย้งได้ในเวลาที่ทำงานจากที่บ้าน การจัดการเวลาในการทำงานผิดเพี้ยนไป การพักผ่อนลดน้อยลง เวลาการเข้านอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าความสะดวกรวดเร็วของการติดต่อสื่อสารผ่านเทคโนโลยีและการทำงานที่บ้านแบบ 100% เป็นช่วงระยะเวลานาน ๆ ทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราต้องรับหน้าที่ 2 บทบาทไปพร้อม ๆ กัน คือ

 

  1. รับผิดชอบภาระงาน ประชุมต่าง ๆ ในฐานะพนักงานออฟฟิศ และ
  2. รับผิดชอบงานบ้านต่าง ๆ และ/หรือ ธุรกิจครอบครัวที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามแต่ละบทบาทของตนที่มีในแต่ละครอบครัว (แน่นอนว่ายังไม่นับรวมบทบาททางสังคมในสถาบันครอบครัวด้วย)

 

สองบทบาทนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันและสถานที่เดียวกันอาจจะก่อให้เกิดความคลุมเครือของ 2 บทบาท และนำไปสู่การรับรู้ความขัดแย้งได้ ผลเสียของการรับรู้ความขัดแย้งก็ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็สะท้อนให้เราได้เห็นว่า Work from Home อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์หรือดีสำหรับทุกคนเสมอไป เผลอ ๆ อาจจะให้ผลเสียสำหรับมนุษย์เงินเดือนบางท่านเสียด้วยซ้ำ

 

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Adkins, C. L., & Premeaux, S. A. (2014). The use of communication technology to manage work-home boundaries. Journal of Behavioral and Applied Management, 15(2), 82- 100.

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย คุณสหรัฐ วงศ์ชมภู

นักจิตวิทยาประจำศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนูยังไม่อยากไปเรียน…เตรียมตัวเตรียมใจลูกน้อยให้กลับไปเรียนหลังโควิด

 

สถานการณ์การระบาดของโควิดในช่วงนี้ ทำให้โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอมออกไปถึงเดือนกรกฎาคมเลยนะคะ โชคดีที่จังหวะการหยุดอยู่บ้านในช่วงนี้พอดีกับช่วงเวลาปิดเทอมใหญ่ ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเหมือนปิดเทอมตามปกติ แต่ผู้ปกครองหลายท่านที่ลูกยังเล็กอยู่ โดยเฉพาะช่วงวัยอนุบาลและประถมต้น ๆ ที่ยังติดคุณพ่อคุณแม่มากอาจจะเริ่มกังวลว่าการปิดเทอมไวกว่าปกติ และการเปิดเทอมช้าออกไปอาจจะทำให้ลูก ๆ ติดใจกับการอยู่บ้านจนไม่อยากไปโรงเรียนเมื่อถึงเวลาเปิดเทอมได้ อันที่จริงแล้ว เมื่อใกล้ถึงเวลาเปิดเทอม ผู้ปกครองสามารถจัดตารางกิจกรรมเพิ่มเติมเพื่อให้เด็ก ๆ ปรับตัวได้ดีขึ้นดังนี้ค่ะ

 

1. วอร์มอัพ…เตรียมใจกันก่อน

 

ก่อนเปิดเทอมจริงสัก 2-3 สัปดาห์ ผู้ปกครองสามารถเกริ่นว่ามีเวลาอีกกี่วันก่อนที่โรงเรียนจะเปิดเพื่อเตรียมใจของเขาก่อนได้ค่ะ แต่ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า เด็ก ๆ ในวัยอนุบาลและประถมช่วงต้น ยังเข้าใจเรื่องเวลาไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ดังนั้นการบอกเด็ก ๆ ด้วยคำพูดว่า “เดี๋ยววันที่ 1 จะเปิดเรียนแล้วนะ” เด็ก ๆ จะไม่เห็นภาพว่ากว่าจะถึงวันที่ 1 ที่ว่านี้มันยาวนานแค่ไหน เทคนิคง่าย ๆ คือการช่วยทำตาราง หรือนำปฏิทินมาวงวันที่ แล้วชวนเขามาขีดวันออกทุกวัน พร้อมกับนับวันที่เหลือไปด้วย เพื่อให้เขาได้เห็นภาพระยะเวลาที่เหลืออย่างเป็นรูปธรรมค่ะ แถมยังได้ฝึกนับเลขไปด้วยในตัวนะคะ อยากจะชวนกันนับเป็นภาษาอะไรก็ได้ค่ะ

 

2. อย่าให้คำว่า “ไปโรงเรียน” กลายเป็นผู้ร้าย

 

บางทีผู้ใหญ่ก็สนุกกับการหยอกเด็ก ๆ เรื่องไปโรงเรียนนะคะ การพูดว่า “โรงเรียนจะเปิดแล้วนะ” เพื่อหยอกเพราะรู้ว่าเขาไม่ชอบไปโรงเรียนอาจจะยิ่งย้ำให้เด็ก ๆ คิดถึงการไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ และทำให้เกิดความรู้สึกแย่เกินจริงกับการไปเรียนได้ค่ะ หากรู้ว่าเด็ก ๆ ของเรายังไม่สบายใจกับการต้องกลับไปเรียน ขอให้พูดพร้อมกับการสังเกตอารมณ์และชวนคุยเรื่องอารมณ์ของเขาเสมอ เช่น “หนูยังไม่อยากไปเรียนหรือลูก” “โรงเรียนมันเป็นยังไงหรือคะ” และร่วมกันหาทางออก เช่น “พอเลิกเรียนปุ๊บหนูลงมาจะเห็นคุณแม่เลยนะ” เพื่อให้เขารู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าคุณพ่อคุณแม่จะมารับแน่นอนค่ะ และขอให้ทำตามที่ตกลงกันไว้เมื่อถึงเวลา

 

3. ซ้อมแบ่งเวลาทำหน้าที่-เวลาเล่น

 

เมื่อเด็ก ๆ เข้าโรงเรียน สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมคือ การต้องทำตามตารางที่โรงเรียนกำหนด จะเล่นหรือนอนพักตามใจไม่ได้เหมือนเดิมแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องปรับตัวให้ได้ เพื่อให้สามารถทำตามกฎเกณฑ์อื่นๆ ในสังคมที่ซับซ้อนกว่านี้ได้ค่ะ แต่การปรับตัวจะผ่านไปได้อย่างราบรื่นขึ้นหากมีผู้ปกครองคอยช่วยเหลือนะคะ ก่อนที่เด็ก ๆ จะเปิดเรียน ขอให้ผู้ปกครองลองซ้อมจัดตารางทำหน้าที่และเวลาเล่นของเขาให้เป็นเวลาตามที่โรงเรียนกำหนด เช่น ให้ตื่นและทำกิจวัตรประจำวันตอนเช้าเหมือนกับต้องไปโรงเรียน ใส่ชุดนักเรียน อาจจะขึ้นรถจริง ๆ แล้วสมมติกันว่าถึงโรงเรียนแล้วแต่ไม่ต้องออกไปข้างนอกก็ได้นะคะ หาบทเรียนสนุก ๆ มาเล่นไปพร้อมกับเขาในช่วงเช้า นอนกลางวัน (กรณีอนุบาล) และตื่นมาเล่น หรือเรียนต่อในช่วงบ่าย ค่ะ ที่สำคัญคือ ขอให้ดูความพร้อมของเด็ก ๆ ด้วยนะคะ หากเขายังไม่พร้อมอาจจะเริ่มแค่บางอย่างก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มเติมทีหลังค่ะ

 

 

 

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย อาจารย์อาภาพร อุษณรัศมี
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการใช้ศิลปะและการเล่นเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการในเด็ก
ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life-Di Center)
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การรับมือปัญหาด้านสุขภาพจิตในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่เพียงแต่กระทบโดยตรงกับสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิต ทั้งของคนที่ได้รับเชื้อ คนที่กลัวว่าว่าจะได้รับเชื้อ บุคลากรที่ทำงานโดยตรง รวมถึงคนที่ติดตามข่าวสารตลอดเวลา เราต่างอยู่ในภาวะของความกังวล ความกลัวและความเหนื่อยล้า และตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลต่อการใช้ชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะเรื่องปากท้องที่ทำให้แต่ละคนมีความเครียดและความกังวลเพิ่มสูงขึ้น

 

หลายกิจการต้องให้พนักงานพักงานชั่วคราว บางอาชีพไม่สามารถหารายได้จุนเจือตนเองและครอบครัวได้เพียงพอ มิหนำซ้ำยังต้องมีภาระหนี้สินที่เกิดจากการพยายามหาเลี้ยงครอบครัวให้สามารถอยู่รอดได้ในแต่ละวัน นอกจากนี้ ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักจิตวิทยายังพบว่าการระบาดของ COVID-19 มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ที่ใช้บริการด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก่อนหน้านี้ เช่น รายงานว่าไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมอย่างเดิมที่ทำได้ รู้สึกหดหู่กับชีวิตมากขึ้น หรือบางรายที่มีปัญหาความสัมพันธ์ภายในบ้านและต้องกลับมาอยู่ด้วยตลอดเวลา ก็ก่อให้เกิดความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น

 

การระบาดของไวรัสในครั้งนี้จึงมีแนวโน้มส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น การดูแลจิตใจจึงเป็นพื้นฐาน ที่ช่วยจัดการความเครียดและความกังวลใจของเรา โดยเราสามารถใช้โอกาสนี้ในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกและ ความคิดของตนเอง ลองฝึกการยืดหยุ่นกับตนเองมากขึ้น โดยเริ่มจากการสังเกตและยอมรับความรู้สึกในขณะนี้

 

“ใช่ ฉันรู้สึกกังวลใจอย่างมาก”

“ฉันรู้สึกกลัวจริง ๆ ว่ามันจะแย่”

“ฉันรู้สึกกลัวและสับสนไม่รู้ว่าจะหาเงินจากไหนให้พอใช้ถึงเดือนหน้า”

 

อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถยอมรับว่าเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ ไม่ต้องเร่งรัดหรือปฏิเสธความรู้สึกนั้น

 

หลังจากการยอมรับความรู้สึกของตนเองแล้ว ลองหันกลับมามองปัญหาที่เราแต่ละคนเผชิญอยู่ มองหาแนวทางการแก้ปัญหารูปแบบที่หลากหลาย จากเดิมที่เคยคิดไว้ว่าชีวิตเราจะเป็น 1 2 3 4 อาจลองเปลี่ยน สลับมุมมองให้มีความยืดหยุ่นกับชีวิตมากขึ้น

 

ความยืดหยุ่นเป็นกระบวนการของการปรับตัวและการเติบโตที่อาศัย ระยะเวลา การจะยืดหยุ่นกับความคิดตนเองได้นั้น สิ่งที่มาควบคู่กันคือความเห็นอกเห็นใจและมีเมตตาต่อตนเอง ให้โอกาสตนเองได้ค่อย ๆ เรียนรู้ ปรับตัวในสภาวะที่เปลี่ยนแปลง จริงอยู่ที่การปรับมุมมองอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์ตอนนี้ แต่หากเราสามารถยืดหยุ่นกับตนเองได้บ้างแล้ว เราก็จะสามารถให้โอกาสตัวเราเองอยู่ในจุดที่ผิดพลาด ไม่สมหวัง และบอกกับตัวเองได้ว่า เรากำลังค่อย ๆ ก้าวผ่านปัญหานี้ไปทีละเล็กทีละน้อย

 

การดูแลชีวิตตัวเองทีละเล็กทีละน้อย เป็นการลดทอนความคาดหวังในใจเรา บางครั้งการคิดภาพใหญ่ ก็ทำให้เรารู้สึกท้อใจ หดหู่ เมื่อภาพนั้นยังมาไม่ถึง การผ่อนเบากิจกรรมหรืองานที่ต้องทำให้เป็นรายละเอียดย่อย ๆ ก็ช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าเราสามารถควบคุมหรือทำสิ่งใดได้บ้าง เช่น การจัดสรรเวลาในการทำงานที่บ้าน สามารถแบ่งเวลาทำงาน ออกกำลังกาย สื่อสารพูดคุยกับคนที่รู้สึกสบายใจและไว้วางใจ การจัดช่วงเวลานอนที่เหมาะสม เป็นต้น

 

สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้หวือหวา แต่ก็เป็นวิธีการที่ทำให้เราเรียนรู้จะอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น จนบางครั้งเราอาจจะพบว่าทำให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

หากยังไม่สามารถหาแนวทางการจัดการปัญหาได้ ลองสื่อสารกับคนรอบตัวถึงอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของเรา บางครั้งมันเป็นเรื่องยากที่เราจะจัดการอารมณ์ความรู้สึกเพียงลำพัง การได้สื่อสารให้คนที่เราไว้วางใจหรือ สบายใจก็ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย เพราะเป้าหมายของการสื่อสารไม่ใช่การหาแนวทางแก้ปัญหา แต่ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจที่มีคนที่ฉันไว้ใจรับฟังความรู้สึกของฉันโดยไม่ตัดสิน

 

และสุดท้ายรักษาร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงไปพร้อม ๆ กัน แม้วันนี้อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ แต่เราก็ยังสามารถดูแลตัวเราเองให้แข็งแรง มีแรงลุกขึ้นมานั่งคิดไตร่ตรองอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบันเพื่อจัดการ ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า มีเวลาให้ตัวเองรู้สึกผ่อนคลาย พักจากความเครียดหรือข้อมูลมากมายที่ทำให้จิตใจว้าวุ่น การฝึกความแข็งแรงทั้งทางกายและทางใจจะช่วยให้เราไม่จมอยู่กับปัญหาหรือความรู้สึกทางลบนานเกินไป

 

 


 

 

ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com

 

บทความวิชาการ

โดย คุณวรกัญ รัตนพันธ์

นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำศูนย์สุขภาวะทางจิต

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

COVID-19 และการกักตัวของนักศึกษาต่างแดน

 

การกักตัวอยู่ในที่พัก ในห้องทรงสี่เหลี่ยมกับหน้าต่างที่เห็นวิวได้เล็กน้อย และการแทบไม่ได้ออกไปที่ใดในหลายสิบวันเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด มองดูเผิน ๆ อาจไม่ใช่เรื่องที่รุนแรง แต่มันอาจท้าทายและมีผลกระทบต่อสุขภาวะสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ต่างประเทศ และตัดสินใจไม่กลับไปยังมาตุภูมิอันเป็นที่รัก

 

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา บทความหนึ่งวารสารเดอะแลนเซต (The Lancet) ได้รวบรวมเหตุกระตุ้นที่อาจมีส่วนทำให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตในช่วงของการกักตัวมาพอสังเขป อาทิ

 

ก. ความกลัวการติดโรค กลัวว่าอาการที่ตนเองประสบอยู่ เช่น การมีไข้ ไอจามหรือปวดตามร่างกายนั้นเข้าข่ายอาการของเชื้อไวรัสโควิดหรือไม่ หรือตนเองจะมีส่วนแพร่เชื้อแก่บุคคลใกล้ชิดหรือไม่ (ดังโพสต์ในโลกออนไลน์กันว่า “แกว่าฉันติดยัง?”) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ต่างแดน ความสงสัยในการเข้าสู่ระบบการรับการรักษาหรือการดูแลผู้ป่วยจะมีคุณภาพดีหรือไม่เมื่อเทียบกับที่ไทย อาจยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับนักศึกษาต่างแดนได้ไม่มากก็น้อย

 

ข. ความไม่เพียงพอของปัจจัย 4 และข้อมูล หากเรารับรู้ว่าปัจจัย 4 (อาหาร น้ำ เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย) อาจมีไม่เพียงพอต่อในแต่ละวัน ย่อมกระตุ้นให้เกิดความกังวลและเครียดได้ง่าย ตัวอย่างประเทศที่ผมกำลังศึกษาอยู่ ในบางช่วงนั้นไข่ไก่ กระดาษชำระ ปรอทวัดไข้ และหน้ากากอนามัย กลายเป็นสิ่งที่ขาดแคลน รวมทั้งการขาดแนวทางในการปฏิบัติตัวในช่วงการกักตัว ย่อมมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความความกังวลใจในการใช้ชีวิต

 

ค. ความหงุดหงิดและความเบื่อหน่าย เนื่องจากมหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นการสอนออนไลน์ การพบเจอเพื่อนร่วมชั้นบบปกติ กิจกรรมสังสรรค์หรือการท่องเที่ยว ย่อมถูกยุติหรือจำกัดลง และสำหรับนักศึกษาต่างประเทศที่ทุกคนมาใช้ชีวิตอยู่ไกลบ้าน ไกลจากครอบครัวและคนใกล้ชิด มาเจอวัฒนธรรมใหม่ สังคมใหม่ แม้จะสามารถปรับตัวและเริ่มใช้ชีวิตอยู่ได้ แต่เมื่อกลับมาถูกจำกัดให้อยู่ในห้องก็อาจมีส่วนชักนำให้เกิดความเหงาและความโดดเดี่ยวที่มากยิ่งขึ้น

 

ผลกระทบของการกักตัวสำหรับนักศึกษาแต่ละคนย่อมแตกต่างกันตามแต่ละประเทศหรือคุณลักษณะนิสัยที่นักศึกษาเป็น แต่วิธีการหนึ่งที่อาจารย์นิเทศก์ของผมแนะนำให้ทำในช่วงเวลาดังกล่าวคือ การจัดโครงสร้างหรือกิจวัตรประจำวันให้กับตนเองในแต่ละวัน ซึ่งพบว่ามีส่วนช่วยลดความเศร้าซึมและเพิ่มแรงจูงใจได้

 

นักจิตวิทยา Mariana Plata ได้แนะนำถึงการแบ่งกิจวัตรประจำวันโดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน ซึ่งสามารถเลือกจัดสรรเวลาได้ตามแต่ความเหมาะสมในรูปแบบของตนเอง ดังนี้

 

  1. ในระดับของงานหรืออาชีพ หมายถึง การใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือหรือบทความในสายงานอาชีพของคุณ รวมทั้งการสนทนากับเพื่อนร่วมงาน เกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพของตนเอง หากมองให้สอดคล้องกับนักศึกษาในต่างประเทศ การจดจ่อกับการทำวิทยานิพนธ์ (Thesis) หรือการทำการบ้านจากวิชาเรียนต่าง ๆ ก็อาจเป็นหนึ่งในส่วนที่ช่วยให้นักศึกษามีสิ่งให้สนใจ จดจ่อและใช้เวลาในแต่วันอย่างคุ้มค่าได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีแพลตฟอร์มในการเรียนคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Coursera, MOOC และอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
  2. ในระดับของความสัมพันธ์ คือการแบ่งเวลาให้กับการเชื่อมต่อกับผู้คนใกล้ชิดของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรักหรือครอบครัว ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ แต่สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่อยู่ไกลบ้าน กิจกรรมที่ทำได้อาจเป็นการพูดคุยผ่านแอพลิเคชันต่าง ๆ ที่เอื้อให้โลกของเราอยู่ใกล้กันมากขึ้น เมื่อนักศึกษามีเครือข่ายหรือการสนับสนุนทางสังคมที่แข็งแรงนั้นย่อมสำคัญต่อสุขภาวะทางกายและทางใจ เป็นเหมือนหลักค้ำจุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีความเครียดสูงอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในครั้งนี้*
  3. ในระดับของตัวบุคคล มีคำพูดหนึ่งที่ว่า “ความสัมพันธ์ที่น่าตื่นเต้น ท้าทายและสำคัญที่สุดอันหนึ่งคือความสัมพันธ์ที่เรามีต่อตัวเราเอง” จากซีรีส์ดังเรื่อง Sex and the city สะท้อนถึงความจริงในแง่มุมหนึ่งว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งด้วยเขตเวลาที่ต่างกัน ที่ผู้คนที่เมืองไทยต่างหลับใหล ในขณะที่ประเทศที่เราอยู่ยังคงสว่างไสว เราคงต้องมีช่วงเวลาที่เราต้องอยู่คนเดียว ดังนั้นการใช้และให้เวลากับตนเองจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อทั้งสุขภาพกาย ใจและอารมณ์ กิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการนั่งดื่มชากาแฟยามเช้า การดูภาพยนตร์หรือซีรีส์โปรด การออกกำลังกายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการกลับมาทำกิจกรรมที่เคยไม่มีโอกาสได้ลองทำ อาทิ การทำอาหาร อบขนมเป็นต้น

 

การแบ่งเวลาให้กับทั้งสามระดับนั้น มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกันอย่างมาก หากนักศึกษาที่รู้สึกเหงาหรือเครียด อาจขาดแรงจูงใจที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ หรือทำงานที่ได้รับมอบหมาย และเมื่อไม่สามารถทำได้ตามเป้าที่วางไว้ ก็ย่อมกระทบต่ออารมณ์ ความเครียดและอาจถอนตัวจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

 

ดังนั้นแล้วสำหรับคนที่อยู่เมืองไทย และมีคนใกล้ตัวไม่ว่าจะกำลังศึกษาเล่าเรียนหรือทำงานอยู่ต่างประเทศ ล้วนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนและดูแลจิตใจให้กับบุคคลเหล่านี้ การได้เชื่อมต่อสายใยกันไม่ว่าจะด้วยช่องทางไหนหรือรูปแบบใด จึงเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมากสำหรับนักศึกษาที่อยู่ต่างแดน

 

ผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มีโอกาสมาศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าว จึงอยากเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง และขอเป็นแรงใจให้เพื่อน ๆ นักศึกษาที่ยังอยู่ต่างประเทศได้ดูแลทั้งสุขภาพกายใจ และผ่านช่วงเวลาท้าทายนี้ไปได้นะครับ

 

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Brooks, S. K., Webster, R. K., Smith, L. E., Woodland, L., Wessely, S., Greenberg, N., & Rubin, G. J. (2020). The psychological impact of quarantine and how to reduce it: Rapid review of the evidence. The Lancet, 395(10227), 912-920. https://doi.org/10.1016/S0140-6736(20)30460-8

 

Plata, M. (2018, October 4). The power of routines in your mental health. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-gen-y-psy/201810/the-power-routines-in-your-mental-health

 

Sawir, E., Marginson, S., Deumert, A., Nyland, C., & Ramia, G. (2008). Loneliness and international students: An Australian study. Journal of Studies in International Education, 12(2), 148-180. http://dx.doi.org/10.1177/1028315307299699

 


 

 

บทความวิชาการ

 

โดย อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย