ข่าวและกิจกรรม

แสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี แห่งการสถาปนาศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ

 

วันที่ 13 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี แห่งการสถาปนาศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ชั้น 12 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

 

“ขอบคุณ” ที่ทำให้มีความสุข

 

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า มนุษย์เราทุกคนต้องการมีชิวิตที่มีความสุข หากเมื่อใดประสบกับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ เราก็อยากให้ความรู้สึกทุกข์ใจนั้นผ่านพ้นไปโดยเร็ว

 

จิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive psychology เป็นศาสตร์ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะต่าง ๆ ที่จะทำให้บุคคลมีความสุข
Robert Emmons นักจิตวิทยาทางบวกท่านหนึ่งที่สนใจศึกษาการแสดงความรู้สึกขอบคุณ หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Gratitude ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจของบุคคล การแสดงความรู้สึกขอบคุณจะช่วยสร้างอารมณ์ความรู้สึกทางบวก (Emmons & McCullough, 2003; Seligman, Steen, Park, & Peterson, 2005) ทำให้บุคคลมีความพึงพอใจในสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ส่งผลให้มีสุขภาพจิตดี เมื่อมีอารมณ์ดี ก็สามารถส่งพลังบวกให้กับบุคคลอื่น ๆ ได้ นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่อยู่รอบข้างได้ดี ส่งผลให้บุคคลมีความสุข คนที่มีความสุขมักจะมีอายุที่ยืนยาวด้วย

 

Robert Emmons (2008) กล่าวว่า พลังบวกของการแสดงความขอบคุณ หรือ ARC of gratitude มีรายละเอียดดังนี้

 

A (Amplifies) การแสดงความรู้สึกขอบคุณ เป็นการขยายมุมมองของการมองสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต เมื่อบุคคลมองสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตผ่านแว่นตาการรู้สึกขอบคุณจะทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ในทิศทางบวกมากขึ้น สว่างมากขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น

 

R (Rescues) ความรู้สึกขอบคุณ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ (Mental immunity) เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์ร้าย หรือ เหตุการณ์เครียด หากเรารู้สึกขอบคุณเหตุการณ์ร้าย ๆ นั้น ทำให้เรามองเห็นสิ่งดี ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ร้ายนั้นได้ แม้เพียงเป็นสิ่งเล็ก ๆ ความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ สามารถเยียวยาจิตใจให้เรารู้สึกทุกข์น้อยลงได้

 

C (Connect) ความรู้สึกขอบคุณเป็นการคอยย้ำเตือนว่าเราไม่โดดเดี่ยว มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่กันเป็นกลุ่ม การแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อกันเป็นแก่นสำคัญในการเชื่อมโยงให้สมาชิกแต่ละคนยังเกาะกลุ่มและยังคงเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่ม การแสดงความขอบคุณผู้อื่นสำหรับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้อื่นทำให้เรานั้น ยังเป็นการช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองนั้นก็มีคุณค่าได้เช่นกัน การกล่าวคำขอบคุณหรือการแสดงออกให้อีกฝ่ายได้รับรู้ว่า เรารู้สึกขอบคุณ รู้สึกซาบซึ้งกับสิ่งที่สมาชิกในกลุ่มทำให้เรา เท่ากับเป็นการส่งความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกัน พลังทางบวกนี้ทำให้สมาชิกกลุ่มมีความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น

 

 

Emmons (2013) เสนอเทคนิควิธีการที่ช่วยทำให้บุคคลมีความสุขได้ง่ายขึ้นด้วยวิธีการดังนี้คือ การเขียนบันทึกขอบคุณ (Gratitude journal) เป็นการจดบันทึกขอบคุณสิ่งต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นบุคคล เหตุการณ์ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน วันละสัก 5 สิ่ง เช่น ขอบคุณต้นไม้สีเขียว ที่ทำให้ฉันมีอากาศบริสุทธ์หายใจ หรือ ขอบคุณเพื่อนโทรมาตอนเช้า ทำให้ตื่นมาเรียนทัน

 

การเขียนบันทึกทุกวัน พร้อมเหตุผลดี ๆ ที่สิ่งนั้นเกิดขึ้น ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันความทุกข์ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีเข้ามาในชีวิต หรือประสบกับความยากลำบากแค่ไหน เราก็ยังมีสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกขอบคุณได้เสมอ ความรู้สึกขอบคุณจะทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง จากการมองเหตุการณ์ในแง่ลบเป็นบวกได้

 

การหาช่วงเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน เช่น ก่อนนอน หรือ ช่วงพักกลางวัน ทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่คุณรู้สึกขอบคุณมากที่สุด คุณอาจจะพบว่าคุณมีเรื่องที่อยากบันทึกมากกว่า 5 อย่างก็ได้

 

มนุษย์มีแนวโน้มมองสิ่งรอบตัวทางลบโดยอัตโนมัติ อาจเป็นเรื่องของสัญชาติญาณของความอยู่รอด ดังนั้นการเปลี่ยนตัวเองจากมุมมองที่เคยชินมาเป็นการมองสิ่งต่างๆ ทางบวก เช่น ความรู้สึกขอบคุณเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว จึงต้องมีการฝึกฝนบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย ข้อดีของลงมือการเขียนบันทึกลงในกระดาษ หรือ โทรศัพท์คือ เราสามารถย้อนกลับไปอ่านบันทึกขอบคุณได้เสมอ เมื่อใดก็ตามที่เราเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก การกลับไปอ่านสิ่งที่คุณเคยเขียน “ขอบคุณ” ความสุขก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น

 

 

ลองฝึกเขียนบันทึกขอบคุณทุกวันนะคะ “ขอบคุณ” ค่ะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Emmons, R. A., & McCullough, M. E. (2003). Counting blessings versus burdens: an experimental investigation of gratitude and subjective well-being in daily life. Journal of personality and social psychology, 84(2), 377.

 

Emmons, R. A. (2008). Thanks!: How practicing gratitude can make you happier. Houghton Mifflin Company.

 

Seligman, M. E., Steen, T. A., Park, N., & Peterson, C. (2005). Positive psychology progress: empirical validation of interventions. American psychologist, 60(5), 410.

 

Emmons, R. A. (2013). Gratitude works!: A 21-day program for creating emotional prosperity. John Wiley & Sons.

 

 


 

 

บทความโดย

รศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

Seminar Talk: Loneliness between Cultures

 

The East-west psychological research center invites you to join us as we explore the complexities of loneliness across different cultures in our upcoming seminar.

 

  • Are people in individualistic societies truly lonelier than those in collectivistic ones?
  • What drives feelings of loneliness, and how do people across the globe cope with it?

 

Let’s delve into the diverse meanings and experiences of loneliness worldwide. Don’t miss this insightful discussion!

 

Speaker:

Dr. Luzia Heu, Assistant Professor in Interdisciplinary Social Science at Utrecht University (the Netherlands). She is a cross-cultural psychologist and mixed-methods researcher.

 

The event would be held on Thursday, August 15th, 2024

1:30 – 2:30 at Room 613, Borommaratchachonnani Srisattaphat Building (Faculty of Psychology), Chulalongkorn University

 

Register to join our talk here: https://forms.gle/FNoGG4BdpJ2vaEfM9

 

 

 

 


 

 

The East-West Psychological Science Research Center would like to extend our gratitude to Dr. Luzia Heu, from Utrech University, for leading the seminar on “Loneliness between Cultures.”

 

Dr. Heu offered a comprehensive exploration of the similarities and differences in meanings of loneliness, potential risk factors of loneliness across cultures, and outcomes of loneliness, shedding light on the profound impact this issue has on individuals in many parts of the world, both WEIRD and non-WEIRD countries.

 

The seminar also discussed remedies for loneliness, equipping attendees with ways to study and address this growing concern. Thank you, Dr. Heu, for sharing your expertise with us.

 

 

 

 

การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด (cognitive reappraisal) กับการกีฬา

 

การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด (cognitive reappraisal) กับการกีฬา:

เมื่อโค้ช คือ นักจิตวิทยาที่ใกล้ตัวที่สุดของนักกีฬา

 

 

ในระหว่างการแข่งขันที่สำคัญที่สุดของการเป็นนักกีฬาอย่าง Olympic Games ซึ่งการแข่งขันเกิดขึ้นเพียง 4 ปีต่อครั้ง ในสถานการณ์ที่คับขัน เมื่อแต้มการแข่งขันยังไล่ตามผู้ต่อสู้ หรือเมื่อแต้มของผู้แข่งขันไล่กระชั้นตามมา เหล่านักกีฬาอาจเต็มไปด้วยความคิดด้านลบที่บันทอนกำลังใจ หรือความกังวลใจ ซึ่งผลที่ตามมาอาจทำให้นักกีฬาไม่สามารถใช้ศักยภาพทางกายและทักษะการกีฬาที่ฝึกซ้อมมายาวนานได้อย่างเต็มที่ ทักษะการจัดการกับความคิดด้านลบจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักกีฬา ตัวอย่างเช่น

 

การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด (cognitive reappraisal) คือ การมองสถานการณ์ที่คับขันให้เป็นเป็นโอกาส มองสถานการณ์นั้นให้เป็นความท้าทายและเป็นการพัฒนาตนเอง โดยการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดเป็นทักษะที่นักกีฬาหรือโค้ชมักใช้ เพื่อปรับมุมมองความคิดของนักกีฬาที่อยู่ในยามคับขัน ให้กลับมาเป็นปกติ เกิดเป็นอารมณ์ทางบวก เพื่อให้นักกีฬาสามารถกลับมาใช้ศักยภาพทางกายและทักษะทางการกีฬาของตนได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาจำนวนมาก พบว่า การปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด เป็นทักษะที่ลดความเครียด และความวิตกกังวลในนักกีฬาที่มีประสิทธิภาพ เฉกเช่น “โค้ชเป้” ภัททพล เงินศรีสุข ที่ได้สื่อสารกับ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักแบดมินตันทีมชาติไทย ในแมตช์ชิงเหรียญทอง ในกีฬา Olympic Games ณ กรุง Paris

 

“พี่บอกแล้วไง เอ็งจะหาประสบการณ์อย่างนี้ไม่ได้แล้ว เอ็งจะแพ้ชนะไม่เป็นไร เอ็งเอาความรู้ ความรู้สึก วิธีคิดวิธีเล่นเอาไปใช้ เรียนรู้จากเขา เขาคือสุดยอด”

 

 

คลิปจาก https://x.com/i/status/1820466243759153503

 

 

ผู้เขียน

 

 

ผศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี

แสดงความยินดีครบรอบ 54 ปี แห่งการสถาปนาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา

 

วันที่ 8 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยคุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และคุณกษิดินทร์ บุญขำ บุคลากรคณะจิตวิทยา ร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาส ครบรอบ 54 ปี แห่งการสถาปนาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องบรรณสารสนเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

 

 

Relationships between mindfulness, self-compassion, and grit among Thai national athletes: the mediating role of selfregulation

 

มหกรรมกีฬา Olympic Games 2024 ณ กรุง Paris ได้เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว…นักจิตวิทยาเกี่ยวข้องกับการกีฬาอย่างไรบ้าง

 

ตัวอย่างงานวิจัยของคณาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมบุญ จารุเกษมทวี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ พร้อมคณะวิจัย เรื่อง Relationships between Mindfulness, Self-Compassion, and Grit among Thai National Athletes: The Mediating Role of Self-Regulation ซึ่งได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารนานาชาติ International Journal of Sport and Exercise Psychology ปี 2021

 

 

 

งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาปัจจัยทางจิตวิทยาที่สัมพันธ์กับความมั่นหมาย (Grit) อันเป็นคุณลักษณะที่แสดงออกในสิ่งที่ตนสนใจและมีความเพียรพยายามที่จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายระยะยาว ซึ่งความมั่นหมายเป็นคุณลักษณะพบในนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก โดยการศึกษาครั้งนี้เก็บข้อมูลกับนักกีฬาทีมชาติไทยจากกีฬาประเภทต่าง ๆ จำนวน 320 คน

 

ผลการศึกษาพบว่า 1) การมีสติ (mindfulness) คือ การตระหนักรู้ในความคิด ความรู้สึกและการกระทำของตน 2) ความเมตตากรุณาต่อตนเอง (Self-Compassion) คือ การปลอบโยนตนเองและการไม่ตำหนิตนเองเมื่อเผชิญความทุกข์ยาก และ 3) การกำกับตนเอง (Self-Regulation) คือ การกำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตนเอง เพื่อเอื้อให้บรรลุเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ ทั้งสามคุณลักษณะนั้นสัมพันธ์ทางบวกกับความมั่นหมายของนักกีฬา

 

 

 

 

ผลวิจัยนี้ยังระบุว่า ภาวะสติร่วมกับความเมตตากรุณาต่อตนเอง ส่งผลต่อการกำกับตนเองอันเป็นตัวแปรส่งผ่านไปสู่การมีความมั่นหมายของนักกีฬา โดยสติยังส่งผลโดยตรงกับความมั่นหมายของนักกีฬาอีกด้วย

 

นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้เสนอแนะว่าโปรแกรมทางจิตวิทยา อาทิ เช่น Mindfulness-Acceptance-Commitment (MAC) Programสามารถพัฒนาและบ่มเพาะความมั่นหมายของนักกีฬาให้เกิดขึ้นได้

 

 

 

 

ผู้เขียน

ผศ. ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี

ผศ. ดร.กุลยา พิสิษฐสังฆการ

 

 

 


 

 

งานวิจัย
Jarukasemthawee, S., Pisitsungkagarn, K., O’Brien, W., Manley, H., & Pattanamontri, C. (2021). Relationships between mindfulness, self-compassion, and grit among Thai national athletes: the mediating role of self-regulation. International Journal of Sport and Exercise Psychology, 1-21. https://doi.org/10.1080/1612197X.2021.2010230

 

เทคนิค Door-in-the-face หรือ เธอปฏิเสธฉัน ในการโน้มน้าวใจแบบตัวต่อตัว

 

การโน้มน้าวใจแบบตัวต่อตัว เช่นการขอร้องให้คนอื่นทำตามความต้องการของเราจัดเป็นอิทธิพลจากคนสู่คนที่สำคัญอย่างมาก เพราะในชีวิตประจำวันหรือในการทำงาน เราอาจจำเป็นต้องให้ผู้อื่นทำตามความต้องการต่าง ๆ ของเรา เช่น ขอให้เขาช่วยทำงานแทน ขอให้เขายอมแลกวันหยุดกับเรา ขอยืมเงิน หรือแม้แต่การโน้มน้าวใจลูกค้า การทำความเข้าใจเทคนิคการโน้มน้าวใจระหว่างบุคคลจึงน่าจะเป็นประโยชน์ ไม่รวมถึงความจำเป็นที่เราควรรู้เท่าทันกลวิธีของผู้ไม่ปรารถนาดีที่อาจให้เทคนิคเหล่านี้เพื่อให้เรายินยอมทำตามเพื่อเอาประโยชน์จากเรา

 

ในการขอให้คนอื่นทำอะไรสักอย่างให้เรา ถ้าผู้ขอมีอำนาจหรือสถานภาพเหนือกว่าบุคคลเป้าหมายก็อาจใช้การกดดันหรือออกคำสั่งให้ทำก็ได้ แต่ถ้าผู้ขอมีอำนาจน้อยกว่าหรือพอ ๆ กับบุคคลเป้าหมาย จะมีวิธีขอร้องอย่างไรให้ได้ผล?

 

จิตวิทยาสังคมศึกษาเทคนิคต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้อื่นทำตามความต้องการของเรา เช่น เทคนิคได้คืบจะเอาศอก (Foot-in-the-door technique) เทคนิคเธอปฏิเสธฉันหรือ door in the face นี้กลับด้านกันกับเทคนิคได้คืบจะเอาศอกที่เริ่มจากขอน้อย-เขายอม-แล้วจึงขอมาก โดยเทคนิคเธอปฏิเสธฉันเริ่มจากการขอมาก-เขาปฎิเสธ-แล้วจึงขอน้อยลง ซึ่งมักจะทำให้ได้รับการยอมให้มากกว่าการขอน้อยไปเลยโดยไม่มีการขอมากนำไปก่อน จะเห็นว่าเทคนิคเธอปฏิเสธฉันมีกระบวนการ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขออะไรบางอย่างจากบุคคลเป้าหมายที่มากเกินไปจนเขาต้องปฏิเสธ เช่น ขอให้เขาทำอะไรให้ ขอสิ่งของ ขอให้ยอมให้เรื่องใหญ่ๆ ที่เรารู้อยู่แล้วว่าเขาไม่อาจยอมได้ เมื่อเขาปฏิเสธแล้วจึงขอขั้นที่ 2 คือการขออีกครั้งแบบขอน้อยลงกว่าครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ขอต้องการจริง ๆ ตั้งแต่แรก แต่ใช้การขอขั้นที่ 1 เป็นตัวทำให้การขอขั้นที่ 2 ประสบความสำเร็จง่ายขึ้นนั่นเอง

 

เช่น หากเรามีแผนจะใช้เทคนิคเธอปฏิเสธฉัน เพื่อขอยืมเงินเพื่อนจำนวน 2,000 บาท เราอาจทำได้โดย ขั้นที่ 1 – เอ่ยขอยืมเงินเพื่อน 10,000 บาท (โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นจำนวนที่มากเกินกว่าที่เขาจะยอมให้ได้ เขาจึงน่าจะปฏิเสธ) เมื่อเพื่อนบอกว่าให้ไม่ได้ เราจึงขอขั้นที่ 2 – ถ้าเช่นนั้นขอยืมแค่ 2,000 บาทก็ได้ ซึ่งมักจะได้ข่าวดีว่าเขาตกลง! คุ้นๆ ไหมคะ? หลายท่านเคยใช้วิธีนี้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ แต่ถ้าจะเรียกว่าใช้เทคนิคเธอปฏิเสธฉันหรือ door in the face แล้วละก็…ผู้ใช้จะต้องตั้งใจวางแผนไว้ทั้ง 2 ขั้นตั้งแต่แรก

 

งานวิจัยตั้งต้นของเทคนิคนี้ นำโดย ดร. รอเบิร์ต ชาลดินี (Dr. Robert Cialdini) นักจิตวิทยาสังคมผู้เชี่ยวชาญด้านการโน้มน้าวใจจาก Arizona State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1975 ผู้วิจัยได้ขอให้ผู้ร่วมการทดลองมาเป็นอาสาสมัครไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กจากสถานพินิจ สัก 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยระยะเวลานานขนาดนั้นก็ทำให้คนส่วนใหญ่ปฏิเสธคำขอทันที ผู้วิจัยจึงเสนอคำขอที่ 2 ที่เล็กลงโดยการขอให้ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กขณะพาไปเที่ยวสวนสัตว์เพียง 1 วันแทน ผลปรากฏว่า มีมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบตกลง เมื่อเทียบกับผู้ร่วมการทดลองอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกขอให้ช่วยไปเป็นอาสาสมัครพี่เลี้ยงเด็กที่สวนสัตว์ 1 วันเป็นเวลา 2 ชั่วโมงเพียงคำขอเดียว ที่มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบตกลง หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกลุ่มแรกที่ถูกขอร้องด้วยเทคนิคเธอปฏิเสธฉันทั้ง 2 ขั้นตอน

 

 

ทำไมเทคนิคเธอปฏิเสธฉันจึงได้ผลดีกว่าการขอไปเลยในขั้นตอนเดียว?

 

เหตุผลก็อยู่ในชื่อเทคนิคเลยค่ะ การปฏิเสธใครสักคนเมื่อเขาขออะไรเราโดยเฉพาะเมื่อการขอนั้นมีเหตุผลที่ดีรองรับ (เช่น ขอให้เป็นอาสาสมัครช่วยเด็กในสถานพินิจ) ทำให้บุคคลเป้าหมาย:

 

  • ก. รู้สึกกดดันว่าต้องตอบแทนที่ผู้ขอลดความต้องการลงในขั้นที่ 2 นั่นคือเขายอมลดความต้องการลงแล้วนะ (เช่น ลดจากที่อยากยืมเงิน 10,000 บาท เหลือขอแค่ 2,000 บาท) ทำให้ตนควรจะยอมถอยบ้างเป็นการตอบแทน กลไกนี้งานวิจัยพบว่าเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เทคนิคนี้ประสบความสำเร็จ
  • ข. พยายามเลี่ยงจากการเป็นคนที่ไม่ช่วยเหลือ เพราะบรรทัดฐานโดยทั่วไปคือคนเราควรช่วยเหลือเมื่อมีคนขอ และการ (ถูกวางแผนให้ต้อง) ปฏิเสธคำขอร้องให้ช่วยในขั้นที่ 1 ทำให้บุคคลกลายเป็นคนที่ไม่ช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นเรื่องที่ระคายเคืองทั้งจากการมองตัวเอง และการถูกมองจากผู้อื่น จึงทำให้ยินยอมตกลงกับคำขอขั้นที่ 2 ได้ง่ายขึ้นเพราะเป็นโอกาสให้บุคคลได้แก้ตัวและคืนการรับรู้ว่าตนเองได้ทำสิ่งที่เหมาะสมตามบรรทัดฐานของสังคม คือให้ความช่วยเหลือผู้อื่น (ดู Feeley, Anker, & Aloe, 2012) ที่น่าสนใจคือการมองว่าตนผิดจากบรรทัดฐานสังคมโดยไม่ช่วยเหลือ อาจทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกผิดหรือรู้สึกไม่ดีซึ่งอาจเป็นตัวช่วยผลักให้ตกลงกับคำขอขั้นที่ 2 ได้ง่ายขึ้นด้วย แต่หลักฐานการวิจัยเรื่องปัจจัยความรู้สึกนี้ยังไม่หนักแน่นนัก (เช่น Martinie, Bordas, & Gil, 2024)

 

 

ควรใช้เทคนิคเธอปฏิเสธฉันเมื่อไรดี?

 

เทคนิคนี้น่าได้ผลดีกับการขอให้บุคคลทำสิ่งที่ดี เพราะมักทำให้เกิดการรับรู้ว่า “ฉันควรให้ความช่วยเหลือ เพียงแต่ฉันไม่สามารถทำได้”จากการขอร้องขั้นที่ 1 ได้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ยอมตกลงในขั้นที่ 2 ได้ง่ายขึ้นเมื่อการร้องขอนั้นน้อยลงและบุคคลสามารถทำให้ได้ และเนื่องจากเทคนิคนี้อาศัย “การติดหนี้” จากข้อ ก. ข้างต้น ผู้ขอในขั้นที่ 2 จึงควรเป็นคนเดียวกันกับขั้นที่ 1 นอกจากนี้ “การถูกปฏิเสธ” ในขั้นที่ 1 นั้นเป็นกลไกสำคัญของเทคนิคนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ ส่วนเรื่องระยะเวลานั้น สามารถขอขั้นที่ 2 หลังจากขั้นที่ 1 ได้เลยเพื่อจะได้อาศัยประโยชน์จากความรู้สึกผิดจากขั้นที่ 1 ช่วยให้บุคคลยอมรับคำขอขั้นที่ 2 ได้ง่ายขึ้น แต่ข้อควรระวังก็คือเทคนิคนี้มีความเจ้าเล่ห์อยู่ เนื่องจากคำขอขั้นที่ 1 เป็นการขอเพื่อสร้างแรงกดดัน จึงควรระมัดระวังการใช้ เช่นในการเจรจาต่อรอง หากคู่เจรจาจับได้ว่าใช้เทคนิคนี้เพื่อเอาประโยชน์ อาจทำให้เกิดความไม่พอใจ เสียความไว้วางใจและไม่อยากร่วมงานด้วยอีกในอนาคต (Wong & Howard, 2018) เทคนิคนี้จึงอาจไม่เหมาะจะใช้กับคนใกล้ชิดที่เราต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ในระยะยาว

 

กว่า 45 ปีหลังจากเทคนิคนี้ได้ถูกนำเสนอ เป็นที่น่ายินดีว่าการวิจัยตั้งต้นของเทคนิคเธอปฏิเสธฉัน ของ Cialdini และคณะ (1975) ได้รับการทดสอบซ้ำ (replication) และพบประสิทธิภาพของเทคนิคนี้ตามที่รายงานไว้ (Genschow et. al., 2021) จึงทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่าเทคนิคนี้มีประสิทธิภาพ และไม่ขึ้นกับบริบททางเวลาหรือกลุ่มคน
อย่าลืมนำไปใช้เพื่อสร้างสิ่งที่ดีในสังคมกันนะคะ

 

 

รายการอ้างอิง

 

Cialdini, R. B., Vincent, J. E., Lewis, S. K., Catalan, J., Wheeler, D., & Darby, B. L. (1975). Reciprocal concessions procedure for inducing compliance: The door-in-the-face technique. Journal of Personality and Social Psychology, 31(2), 206-215.

 

Feeley, T. H., Anker, A. E., & Aloe, A. M. (2012). The door-in-the-face persuasive message strategy: A meta-analysis of the first 35 years. Communication Monographs, 79(3), 316-343. https://doi.org/10.1080/03637751.2012.697631

 

Genschow, O., Westfal, M., Crusius, J., Bartosch, L., Feikes, K. I., Pallasch, N., & Wozniak, M. (2021). Does social psychology persist over half a century? A direct replication of Cialdini et al.’s (1975) classic door-in-the-face technique. Journal of Personality and Social Psychology, 120(2), e1–e7. https://doi.org/10.1037/pspa0000261

 

Martinie, M.-A., Bordas, B. & Gil, S. (2024). Negative affect related to door-in-the-face strategy. Scandinavian Journal of Psychology, 65, 490–500.

 

Wong, R. S., & Howard, S. (2018). Think twice before using door-in-the-face tactics in repeated negotiation. International Journal of Conflict Management, 29(2), 167–188. https://doi.org/10.1108/ijcma-05-2017-0043

 

 


 

 

บทความโดย
ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

 

เปิดรับสมัคร 50 องค์กร เพื่อเฟ้นหา 5 “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards 2024

 

เปิดรับสมัคร 50 องค์กร เพื่อเฟ้นหา 5 “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards 2024

เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางให้แก่องค์กรอื่นๆ ในด้านการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน

 

 

 

 

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญชวนองค์กรในประเทศไทยทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมสมัครเพื่อรับการคัดเลือกเป็น “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards 2024 ชิงถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตรในมิติที่โดดเด่น จำนวน 5 รางวัล พร้อมได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ ขององค์กร ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เพื่อเป็นแบบอย่างและแนวทางให้องค์กรอื่น ๆ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงานต่อไป

 

หากองค์กรของคุณ มีโปรแกรมที่ส่งเสริมพนักงานในทุกมิติ หรือมิติใดมิติหนึ่งของ GRACE ได้แก่

 

  • G = Growth & Development – สนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการของพนักงาน
  • R = Recognition – สนับสนุนด้านการแสดงออกและการรับรู้ถึงความสามารถและความสำเร็จของพนักงาน
  • A = All for inclusion – สนับสนุนด้านการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน
  • C = Care for health & safety – สนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน
  • E = work-life Enrichment – สนับสนุนความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

 

 

องค์กรที่สนใจ สามารถสนใจส่งข้อมูลเบื้องต้น มาเข้าร่วมโครงการ (Pre-registration) ได้ที่

https://chulapsychology.qualtrics.com/jfe/form/SV_4ScwSlhUJ8gXWp8

 

หรือ สมัครเข้าร่วมโครงการและส่งผลงานได้ที่

https://chulapsychology.qualtrics.com/jfe/form/SV_eDKHjhhzzZV1I2i

 

ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 กันยายน 2567

 

 

ประกาศผลองค์กรผู้ชนะวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม E-mail : thaimindawards@chula.ac.th

 

 

งานแถลงข่าว การเปิดรับสมัครองค์กรเพื่อร่วมเข้าคัดเลือก “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards

 

ภาพบรรยากาศงานแถลงข่าว การเปิดรับสมัครองค์กรเพื่อร่วมเข้าคัดเลือก “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” Thai Mind Awards โดยคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.30 – 12.00 น. ณ CU Social Innovation Hub อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ร่วมเสวนา
  • ศาสตราจารย์ ดร.คณพล จันทน์หอม ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ดร. นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข และผู้ร่วมก่อตั้ง TIMS : สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต
  • ดร. ตฤณ ทิวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  • อาจารย์ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และผู้ร่วมก่อตั้ง TIMS : สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และผู้รับผิดชอบโครงการ
ดำเนินรายการโดย
  • คุณนรินทร ชฎาภัทรวรโชติ Miss Thailand World 2019 และนักวิชาการด้านสุขภาพจิต TIMS

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม

 

https://www.chula.ac.th/news/175806/

 

กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

 

วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา พร้อมด้วยบุคลากรสายปฏิบัติการ เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (28 กรกฎาคม 2567) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น
เริ่มจากพิธีถวายชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ณ บริเวณเสาธง หน้าหอประชุมจุฬาฯ โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในพิธี ต่อมาเป็นพิธีตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 73 รูป ถวายเป็นพระราชกุศล ณ บริเวณรอบเสาธง หน้าหอประชุมจุฬาฯ