ข่าวและกิจกรรม

จิตวิทยาวิวัฒนาการ – Evolutionary Psychology

 

จิตวิทยาวิวัฒนาการ เป็นแขนงของจิตวิทยาที่ค่อนข้างใหม่และเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นสาขาวิชาที่มีเป้าหมายที่จะศึกษาธรรมชาติของมนุษย์เราด้วยมุมมองของทฤษฎีวิวัฒนาการ

 

แน่นอนว่าจากแง่วิวัฒนาการนี้ ธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึก หรือบุคลิกภาพ ล้วนมีสาเหตุมาจากกระบวนการวิวัฒนาการเป็นหลัก

 

 

กระบวนการวิวัฒนาการจะอธิบายพฤติกรรมของเราได้อย่างไร


 

ความจริงเราก็คุ้นเคยกันดีกับทฤษฏีวิวัฒนาการว่า ลักษณะใดที่เอื้อต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต ลักษณะนั้นก็จะได้รับการถ่ายทอดมายังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อ ๆ ไป ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “การคัดสรรโดยธรรมชาติ” หรือ “การปรับตัวเพื่อการอยู่รอด”

 

นักชีววิทยาศึกษาวิวัฒนาการการปรับตัวของกลไกทางสรีระ หรืออวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ปอด และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำนองเดียวกัน นักจิตวิทยาก็ศึกษาการปรับตัวของกลไกทางจิต เช่น พวกเราส่วนใหญ่กลัวงู กลัวแมงมุม กลัวความสูง กลัวความมืด หรือแม้กระทั่งกลัวคนแปลกหน้า ความกลัวเหล่านี้ช่วยให้เราพ้นภยันตรายต่าง ๆ เป็นคุณลักษณะที่วิวัฒนาการจนกลายมาเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งต้นตอก็มาจากการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของบรรพบุรุษของเรานั่นเอง

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเสนอว่า กลไกการปรับตัวทางจิตของเรามีความเฉพาะด้าน คือ ถูกออกแบบมาโดยกระบวนการวิวัฒนาการ เพื่อแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจงในการปรับตัว ตัวอย่างเช่น ด้านการเลือกรับประทานอาหาร

 

มนุษย์เรานิยมชมชอบอาหารที่มีรสหวาน เพราะในยุคแรกเริ่ม กลไกนี้นำคนเราไปหาสิ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น พืชผักผลไม้ที่สุกแล้ว และเราก็ติดใจในรสชาติของอาหารที่มีไขมันเพราะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญแต่หาได้ยากมาก และบรรพบุรุษของเราอยู่รอดได้ด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์ที่นาน ๆ ทีจะล่ามาได้ด้วยความลำบาก กลไกทางจิตสำหรับความพึงใจในอาหารนี้จึงตกทอดมาสู่เราโดยไม่รู้ตัว

 

 

 

แม้ว่ากลไกทางจิตเหล่านี้จะมีคุณค่าเพื่อการอยู่รอดและสืบทอดเผ่าพันธุ์ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าต้นตอ คือคุณค่าสำหรับยุคดึกดำบรรพ์ของมนุษย์หลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว ดังนั้นหมายความว่าเราอาจมีแนวโน้มทางจิตใจที่วิวัฒนาการมาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเราในขณะนี้อีกต่อไปแล้ว

 

ตัวอย่างเช่น ความชอบในรสชาติอาหารที่มีไขมันที่เอื้อต่อการอยู่รอดในอดีต แต่ปัจจุบันไขมันไม่ได้เป็นอาหารที่หายากอีกต่อไปแล้ว หมูปิ้ง เนื้อทอด มันทอด มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง หากเราไม่ตระหนักและระมัดระวังตัวให้ดี กลไกทางจิตที่วิวัฒนาการมาอาจเป็นอุปสรรคต่อการอยู่รอดของเราก็ได้

 

มนุษย์วิวัฒนาการกลไกทางจิตที่แก้ปัญหาและช่วยให้อยู่รอดและแพร่เผ่าพันธุ์มาจนทุกวันนี้ กลไกทางจิตเหล่านี้กลายมาเป็นธรรมชาติของมนุษย์ หรือองค์ประกอบของบุคลิกภาพ

 

ที่น่าสนใจประการหนึ่งได้แก่ กลไกที่วิวัฒนาการมาเพื่อแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคม

 

เราคงไม่ปฏิเสธนะคะว่า เราต่างต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้คนรอบข้าง เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม อยากมีพวกพ้อง แน่นอนทีเดียว เพราะในสภาพแวดล้อมที่บรรพบุรุษของเราเผชิญเมื่อหลายพันปีมาแล้วนั้น การถูกโดดเดี่ยวมักทำให้มีอันตรายถึงชีวิต เพราะลำพังคนเดียวก็อาจตกเป็นเหยื่อของสิงห์สาราสัตว์ต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ ไม่มีพวกพ้องที่คอยปกป้องดูแลหรือแบ่งปันทรัพยากรซึ่งกันและกัน

 

ดังนั้นจึงทำนายได้ว่า มนุษย์เราได้วิวัฒนาการกลไกทางจิต เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกีดกัน หรือการต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ที่มักจะทำให้เอาชีวิตไม่รอด

 

 

 

กลไกนี้คืออะไร…

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเสนอว่า การปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นนี้ เป็นต้นตอและบทบาทของ “ความวิตกกังวลทางสังคม” ค่ะ

ความวิตกกังวลทางสังคมหมายถึง ความรู้สึกไม่สบายใจ หรือวิตกกังวลว่าจะถูกประเมินในแง่ลบ หรือถูกมองในทางไม่ดีในสถานการณ์ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

 

นักจิตวิทยาแขนงวิวัฒนาการนี้เสนอว่า ความวิตกกังวลทางสังคมเป็นการปรับตัวที่มีเฉพาะในมนุษย์เราเท่านั้น ไม่มีในสัตว์อื่น เป็นกลไกทางจิตหรือธรรมชาติของมนุษย์ หรือบุคลิกภาพของเรา ที่มีบทบาทหรือทำหน้าที่ป้องกันมิให้เราถูกขับไล่หรือเนรเทศออกจากกลุ่ม

 

การที่เราเป็นห่วงว่าผู้อื่นจะมองเราในทางไม่ดี หรือหวาดหวั่นการประณามจากผู้อื่น หรือหวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิติเตียน ล้วนเป็นกลไกที่วิวัฒนาการมาเพื่อให้เราอยู่รอด เพราะจะทำให้เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และพยายามไม่ทำสิ่งที่สร้างความระคายเคืองแก่ผู้อื่น

ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผู้ที่ไม่สนใจใยดีกลุ่มมักถูกตัดออกจากกลุ่ม และไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง หรือไม่มีโอกาสหาคู่ และไม่มีโอกาสสืบทอดเชื้อสาย มากเท่าผู้ที่ “แคร์” ความคิดเห็นของกลุ่ม ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของกลุ่ม หรือผู้ที่มีความวิตกกังวลทางสังคมนั่นเอง ดังนั้นเราส่วนใหญ่จึงมีคุณลักษณะนี้ ซึ่งเป็นกลไกทางจิตที่เป็นผลของวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด

 

ธรรมชาติของมนุษย์ที่วิวัฒนาการมาให้มีความวิตกกังวลทางสังคม หรือความเป็นห่วงว่าจะได้รับการประเมินทางลบจากผู้อื่น

 

ตัวอย่างเช่น ในวัยรุ่น เยาวชนบางคนคล้อยตามกลุ่มเพื่อนเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ให้ได้เข้าเป็นพวก บางครั้งอาจถึงขนาดต้องทำในสิ่งที่โดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบ เช่น ดื่มสุรา เสพสารเสพติด หนีเรียน ผู้ที่ไม่คล้อยตามมักถูกขับไล่ออกจากกลุ่ม

การ “เนรเทศ” เป็นกลไกการควบคุมทางสังคมที่ผู้คนทุกระดับอายุนำมาใช้

 

นักวิจัยพยายามศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสมองของบุคคลที่ถูกกีดกันทางสังคม โดยใช้การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า fMRI ภาพที่ได้ บ่งบอกว่าในระบบประสาทของเรานั้น ความเจ็บปวดทางสังคมที่บุคคลประสบภายหลังการถูกปฏิเสธ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเมื่อเกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย คือมีการทำงานของสมองปรากฏขึ้นที่บริเวณเดียวกัน

 

นักจิตวิทยาได้อธิบายถึงเหตุผลที่ความเจ็บปวดทางความรู้สึกและทางร่างกายมีต้นตอทางประสาทคล้ายคลึงกัน ว่าอาจเป็นเพราะความจริงที่ว่า ความผูกพันทางสังคมส่งเสริมการอยู่รอด ดังนั้นธรรมชาติจึงวิวัฒนาการ “ระบบการเตือนภัยทางสังคม” ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสมองบริเวณเดียวกันกับที่ควบคุมระบบความเจ็บปวดทางกายภาพอยู่แล้ว เพราะความเจ็บปวดเป็นสัญญาณพื้นฐานที่สุดที่บ่งบอกว่ามี “สิ่งผิดปกติ”
ดังนั้นระบบความผูกพันทางสังคมที่อยู่กับระบบความเจ็บปวด ก็จะเพิ่มโอกาสการอยู่รอด

 

นอกจากความวิตกกังวลทางสังคม นักจิตวิทยาวิวัฒนาการยังเสนอกลไกทางจิตอื่น ๆ อีก เช่น พฤติกรรมช่วยเหลือผู้อื่นของเรา โดยอ้างว่าการช่วยเหลือจะเกิดหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความใกล้เคียงทางพันธุกรรมระหว่างผู้ให้และผู้รับความช่วยเหลือ ยิ่งผู้รับไม่มีความคาบเกี่ยวทางพันธุกรรมกับผู้ให้ การช่วยเหลือก็จะยิ่งลดน้อยลง

 

ฉะนั้นตามข้อเสนอนี้หมายถึง เราก็มักจะช่วยพี่ ๆ น้อง ๆ ซึ่งมี “ยีน” หรือลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมกับเรามาก มากกว่าช่วยหลาน ๆ ซึ่งมี “ยีน” ร่วมกับเราน้อย และการช่วยเหลือก็คาดว่าจะลดลงไปอีกสำหรับลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งมี “ยีน” ร่วมกับเราเพียงนิดเดียว

 

นอกจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์คับขัน หรือสถานการณ์วิกฤต คนเรามักจะช่วยญาติพี่น้องที่อายุน้อยมากกว่าช่วยญาติพี่น้องที่อายุมาก หรือก็คือญาติพี่น้องที่มีศักยภาพในการเจริญพันธุ์สูงกว่าจะได้รับความช่วยเหลือมากกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสที่ลักษณะทางพันธุกรรมของเราจะได้ถูกถ่ายทอดต่อไปนั่นเอง

 

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการกล่าวว่า ผู้หญิงและผู้ชายได้ปรับตัวมาเหมือนกันในหลาย ๆ ด้าน เช่น ทั้งหญิงและชายมีต่อมเหงื่อเพราะต้องกำกับอุณหภูมิร่างกายภายใต้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ชอบในรสชาติของอาหารคล้ายกัน

 

แต่ก็มีอีกหลายด้านที่ผู้หญิงและผู้ชายต้องเผชิญกับปัญหาในการปรับตัวที่แตกต่างกันมาตลอดประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ คือ “ผู้หญิงต้องตั้งครรภ์และให้กำเนิดทายาท ส่วนผู้ชายไม่ต้อง”

 

เพราะว่าความแตกต่างนี้คงเส้นคงวาตลอดเส้นทางวิวัฒนาการ จึงเป็นเหตุให้น่าคิดว่า จิตใจมนุษย์น่าจะวิวัฒนาการกลไกทางจิตใจที่เฉพาะด้านของเพศหญิงและเพศชาย ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายมีสมองที่แตกต่างกันในรูปแบบการคิด ความรู้สึกและการกระทำ

 

 

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเสนอว่าในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย บทบาทที่แตกต่างกันในการทำหน้าที่สืบทอดเผ่าพันธุ์ คือผู้หญิงมีการลงทุนสูง ต้องอุ้มท้อง ประมาณ 38-40 สัปดาห์ กว่าจะได้ทายาทหนึ่งคน อีกทั้งตลอดชั่วชีวิตก็สามารถมีทายาทได้จำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย ซึ่งทั้งไม่ต้องทุ่มเทอะไรเลยในเชิงสุขภาพส่วนตัวในการสร้างผู้สืบทอดพันธุกรรม และในทางทฤษฎีก็มีได้ไม่จำกัดจำนวนด้วย ขึ้นอยู่กับโอกาสที่มี

ดังนั้นจึงทำให้ชายหญิงมีกลไกทางจิตที่แตกต่างกัน ที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ ความแตกต่างในลักษณะของคู่ครองที่ชอบ หรือที่เลือก

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการอ้างว่าเพราะความเป็นจริงที่ผู้หญิงและผู้ชายมีสภาวะกดดันหรือข้อจำกัด หรือเงื่อนไขที่แตกต่างกัน หากต้องการประสบความสำเร็จในการสืบทอดเผ่าพันธุ์ หรือสร้างทายาท ผู้หญิงผู้ชายจึงมีกลไกทางจิตที่แตกต่างกันในการเลือกคู่ครอง ตามข้อเสนอดังนี้ค่ะ

 

  • ผู้หญิงต้องลงทุนมากกว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งทายาท ดังนั้นผู้หญิงจึง “พิถีพิถัน” ในการเลือกคู่ครองมากกว่าผู้ชาย เป็นต้นว่าผู้หญิงต้องการใช้เวลาทำความรู้จัก ศึกษารายละเอียด และพิจารณาความเหมาะสมของผู้ชายที่เข้ามาในชีวิต มากกว่าผู้ชายพิจารณาผู้หญิง
  • นอกจากนี้ผู้หญิงและผู้ชายก็จะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันในการคัดเลือกคู่ครองด้วย ผู้ชายเพ่งเล็งที่ศักยภาพในการเจริญพันธุ์มากกว่า เช่น ความเยาว์วัย สุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ลักษณะที่บ่งบอกถึงพลานามัย ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณที่สดใสเต่งตึง ดวงตาที่เป็นประกาย หรือความสวยงามนั่นเอง ส่วนผู้หญิงจะเพ่งเล็งที่ศักยภาพของคู่ครอง ในการหาทรัพยากรมาให้และการคุ้มครองปกป้องดูแลมากกว่า ซึ่งคือความสามารถ ความเก่ง ความขยันนั่นเอง

 

ผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกันในธรรมชาติของการปรับตัว ที่มีต้นตอมาจากความจริงที่ว่า การปฏิสนธิของทารกเกิดขึ้นภายในร่างกายของฝ่ายหญิง นั่นก็หมายความว่าตลอดประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ ผู้ชายเสี่ยงต่อการลงทุนให้กับผู้ที่ไม่ใช่ทายาททางพันธุกรรมของตน ในขณะที่ผู้หญิงมั่นใจได้เสมอว่าทารกที่คลอดออกมานั้นคือทายาทของตนเอง

 

เมื่อมองในแง่นี้จากสายตาของบรรพบุรุษในยุคหลายพันปีก่อน จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้ชายจะมีความโกรธแค้นหึงหวงอย่างยิ่ง หากคู่ครองไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น เพราะส่งผลร้ายต่อความชัดเจนในการสืบทอดเชื้อสายของเขา

แต่ในกรณีของผู้หญิง ถ้าฝ่ายชายเพียงแค่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่น ความชัดเจนว่าใครคือทายาทของฝ่ายหญิงก็ไม่ถูกกระทบกระเทือนแต่อย่างใด แต่อันตรายต่อความสำเร็จในการสืบทอดเชื้อสายของฝ่ายหญิงอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าฝ่ายชายไปรักใคร่ผูกพันปกป้องดูแลและปันทรัพยากรไปให้หญิงอื่น

 

ด้วยเหตุนี้นักจิตวิทยาวิวัฒนาการจึงทำนายว่า ผู้หญิงและผู้ชายให้น้ำหนักสาเหตุที่ทำให้หึงหวงแตกต่างกัน

 

  • คือผู้ชายจะรู้สึกหึงหวงมากกว่าผู้หญิง ในกรณีที่คู่ครองไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น
  • ส่วนผู้หญิงจะรู้สึกหึงหวงมากกว่าผู้ชาย ในกรณีที่คู่ครองไปมีพันธะผูกพันระยะยาวหรือไปรักหญิงอื่น

 

การทดลองในหลาย ๆ ประเทศโดยให้หญิงชายจินตนาการเหตุการณ์ที่ทำให้หึงหวง ได้ผลสนับสนุนข้อเสนอนี้ คือพบว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีความทุกข์เพราะหึงหวง แต่ถ้าให้เลือกระหว่างสองเหตุการณ์ ผู้ร่วมการทดลองชายรายงานว่าระทมทุกข์มากกว่าและมีปฏิกิริยาทางสรีระเช่น ใจเต้นแรง หน้านิ่วคิ้วขมวดมากกว่า เมื่อจินตนาการคู่ครองไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น ส่วนผู้หญิงนั้นตรงกันข้าม คือเป็นทุกข์มากกว่าเมื่อจินตนาการว่าคู่ครองมีความรู้สึกผูกพันกับหญิงอื่น

 

นักจิตวิทยาวิวัฒนาการยังทำนายความแตกต่างระหว่างผู้หญิงผู้ชายในเรื่องพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ด้วยค่ะ ผู้ชายซึ่งลงทุนน้อยในการมีทายาท จะเพิ่มความสำเร็จในการสืบพันธุ์ ด้วยการแสวงหาผู้หญิงจำนวนมาก โดยไม่เลือกมากค่ะ

 

การวิจัยในหลาย ๆ ประเทศได้ข้อมูลสอดคล้องกับการทำนายนี้ คือเมื่อถามถึงภายในช่วงเวลา 30 ปีจากนี้ไป โดยเฉลี่ยแล้วผู้ชายทั่วโลกปรารถนาจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงประมาณ 13 คน ส่วนผู้หญิงปรารถนาประมาณ 2.5 คน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่รายงานว่า ผู้ชายคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศบ่อยกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า และอย่างน้อย ๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายยินดีมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ในขณะที่แทบจะไม่พบผู้หญิงที่ยินดีเลย แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยก็ตาม

 

 

จิตวิทยาวิวัฒนาการเป็นแขนงวิชาใหม่ ซึ่งยังต้องการการศึกษาวิจัยเพื่อความชัดเจนต่อไปอีกหลายประเด็น แต่อย่างน้อยที่สุดก็คงพอจะพูดได้ว่าความจริงแล้วมนุษย์เราอาศัยอยู่ในโลกยุคใหม่โดยมีสมองบรรพบุรุษในยุคหินของเราค่ะ

 

 


 

 

 

จากบทสารคดีวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์จรุงกูล บูรพวงศ์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ภาพจาก www.picsart.com

 

 

 

ความคิดแวบแรกตามสัญชาตญาณถูกต้องเสมอ…จริงไหม?

 

เวลาทำข้อสอบ ตอบคำถามในการเล่นเกม เคยมีคนแนะนำคุณแบบนี้ไหมคะว่า “ตัวเลือกแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดนั้นคือคำตอบที่ถูกต้องแล้ว ให้เชื่อสัญชาตญาณแรก อย่าลังเล อย่าเปลี่ยนคำตอบ ถ้าเปลี่ยนแล้วจะผิด”

 

คนส่วนใหญ่เชื่อในคำแนะนำนี้ค่ะ จากผลการสำรวจหลาย ๆ งานในต่างประเทศ นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ 3 ใน 4 เชื่อว่าการเปลี่ยนคำตอบในการสอบมักจะทำให้เสียคะแนน เพราะมักเป็นการเปลี่ยนจากคำตอบที่ถูกเป็นผิด ผลการสำรวจความเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาก็พบว่า อาจารย์ส่วนใหญ่ (55%) ก็เชื่อเช่นเดียวกัน หนังสือเตรียมสอบของสถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่งของอเมริกาก็ให้คำแนะนำไว้ว่า “ถ้าคิดจะเปลี่ยนคำตอบ ให้ระวังให้ดี ประสบการณ์สอนให้เรารู้ว่า นักเรียนที่เปลี่ยนคำตอบมักจะเปลี่ยนจากผิดเป็นถูก”

 

แล้วในความเป็นจริง เราควรเชื่อสัญชาตญาณแรก หรือเปลี่ยนคำตอบหากทบทวนแล้วมีตัวเลือกที่น่าจะถูกต้องเพิ่มขึ้นมา?

 

อันที่จริงมีคนตั้งคำถามนี้มาตั้ง 80 กว่าปีแล้วค่ะ นักจิตวิทยาช่างสงสัยหลายคนทำวิจัยโดยลงมือนับกันเลยว่า การเปลี่ยนคำตอบจากถูกเป็นผิด เทียบกับการเปลี่ยนคำตอบจากผิดเป็นถูก อะไรเกิดบ่อยกว่ากัน

 

ผลการวิจัยจำนวนมากตลอด 80 ปีที่ผ่านมายืนยันว่า การเปลี่ยนคำตอบจากผิดเป็นถูกเกิดขึ้นบ่อยกว่า และนักเรียนที่เปลี่ยนคำตอบก็ได้คะแนนสอบดีขึ้น ไม่ว่ารูปแบบการสอบจะเป็นแบบหลายตัวเลือกหรือถูกผิด จับเวลาหรือไม่จับเวลา บนกระดาษหรือในคอมพิวเตอร์ ข้อสอบวัดผลหรือวัดความสามารถ เช่น งานวิจัยของ Kruger, Wertz, & Miller (2005) นำกระดาษคำตอบแบบใช้ดินสอระบายของนักเรียนหนึ่งพันกว่าคนที่เรียนวิชาจิตวิทยาทั่วไป มานับรอยยางลบที่แสดงว่ามีการเปลี่ยนคำตอบ พบว่าจากจำนวนข้อที่มีการเปลี่ยนคำตอบทั้งหมด เป็นการเปลี่ยนคำตอบจากผิดเป็นถูก 51% เปลี่ยนจากถูกเป็นผิด 25% และจากข้อผิดไปเป็นอีกข้อที่ผิดเช่นกัน 23%

 

แต่เมื่อถามนักศึกษากลุ่มเดียวกัน ว่าการเปลี่ยนคำตอบลักษณะไหนเกิดบ่อยกว่า 75% ก็ยังเชื่อว่าการเปลี่ยนจากถูกเป็นผิดเกิดขึ้นมากกว่า ดังนั้นจึงไม่ควรเปลี่ยนคำตอบไปจากคำตอบแรกตามสัญชาตญาณ ทั้ง ๆ ที่ในความจริงแล้ว ส่วนใหญ่จะได้คะแนนดีขึ้นจากการเปลี่ยนคำตอบ

 

 

ทำไมคนส่วนใหญ่ยังเชื่อกันอยู่ว่าเราควรยึดมั่นในคำตอบตามสัญชาตญาณแรก?


 

Kruger และคณะ (2005) อธิบายว่า ความเชื่อที่ผิดว่าสัญชาตญาณแรกถูกเสมอ (first instinct fallacy) นี้ เกิดจากการที่เวลาเปลี่ยนคำตอบจากผิดเป็นถูก เราก็แค่ดีใจแล้วก็มักลืมไปอย่างรวดเร็ว แต่การเปลี่ยนคำตอบจากถูกเป็นผิดนั้นทำให้เรา “เจ็บใจ” มากกว่า ทำให้เราเกิดความคิดสวนทางกับความจริงที่เกิดขึ้น (counterfactual thinking) ว่า “รู้งี้ไม่เปลี่ยนก็ดี ถ้าไม่เปลี่ยนก็ตอบถูกได้คะแนนไปแล้ว” ซึ่งยิ่งคิดก็จะยิ่งเจ็บใจ ยิ่งเจ็บใจก็ยิ่งทำให้จำแม่น หรือเรียกว่า “เข็ด” จนเราเก็บเป็นบทเรียนฝังใจ บอกตัวเองและใคร ๆ ว่า ให้เชื่อในสัญชาตญาณแรก อย่าเปลี่ยนใจ

 

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรเปลี่ยนคำตอบหรือยึดมั่นกับคำตอบแรก? เพราะแม้ข้อมูลจะบอกว่าสัญชาตญาณแรกมักจะผิด แต่ก็มีบางครั้งที่การยึดมั่นคำตอบแรกก็เป็นคำตอบที่ถูกเหมือนกันนะคะ

 

Couchman, Miller, Zmuda, Feather, & Schwartzmeyer (2016) เสนอว่า เราจะเลือกใช้แนวทางไหน น่าจะขึ้นอยู่กับระดับความมั่นใจหรือความเชี่ยวชาญของเราในเรื่องนั้น ๆ นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่า นักศึกษาที่รู้สึกมั่นใจว่ารู้คำตอบที่ถูกต้อง เช่น ได้อ่านหนังสือเรื่องนั้นมาละเอียด ตัวเลือกที่ผุดขึ้นมาในความคิดแวบแรกมักเป็นคำตอบที่ถูกมากกว่าตัวเลือกที่นึกถึงเป็นอันดับรองลงมา ส่วนนักศึกษาที่ไม่ค่อยมั่นใจว่าตัวเองรู้คำตอบที่ถูกต้อง คำตอบแรกที่ผุดขึ้นมาอาจจะไม่ถูกต้อง การคิดพิจารณาแล้วเปลี่ยนเป็นทางเลือกที่สองมักทำให้ตอบถูกและได้คะแนนดีกว่า

 

ดังนั้น นอกจากในห้องสอบ หรือการตอบคำถามเล่นเกมแล้ว หลักการนี้ก็น่าจะใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานที่ต้องมีการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้เช่นกัน สัญชาตญาณแรกจะให้คำตอบที่ถูกต้องได้ ต้องเกิดจากการสั่งสมความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เมื่อเจอโจทย์ปัญหาที่ต้องตัดสินใจ คำตอบ หรือความคิดความรู้สึกแวบแรกที่ผุดขึ้นมาก็จะมีโอกาสถูกต้องสูง

 

แต่ถ้าเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเรียนรู้เรื่องนั้น ยังไม่เชี่ยวชาญ ไม่มีประสบการณ์ หรือไม่ได้ศึกษาค้นคว้ามามากพอ ก็ไม่ควรเชื่อในสัญชาตญาณแรก หรือคำตอบแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดของตัวเองมากเกินไป การตรวจสอบ ทบทวน ปรึกษากับผู้มีประสบการณ์ และปรับเปลี่ยนความคิดแวบแรกไปตามข้อมูลที่ศึกษาและคิดไตร่ตรองเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้ได้ผลที่ดีกว่าค่ะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Couchman, J. J., Miller, N. E., Zmuda, S. J., Feather, K., & Schwartzmeyer, T. (2016). The instinct fallacy: The metacognition of answering and revising during college exams. Metacognition and Learning, 11(2), 171-185. doi:10.1007/s11409-015-9140-8

 

Kruger, J., Wirtz, D., & Miller, D. T. (2005). Counterfactual thinking and the first instinct fallacy. Journal of Personality and Social Psychology, 88(5), 725–35.

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ปัญหาทางสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในวัยรุ่น

 

ปัญหาทางสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในวัยรุ่น

 

 

1. ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น

ภาวะซึมเศร้าเป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ ส่งผลทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกเศร้า เสียใจ ไม่อยากทำอะไร แม้กระทั่งกิจกรรมที่ตนเคยชอบ เคยสนใจ มีความคิดด้านลบเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ อีกทั้งการรับประทานอาหาร ลักษณะการนอน เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาการเหล่านี้อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายของบุคคลได้

 

อาการเศร้าซึมในวัยรุ่นมักจะเกิดเป็นขั้นตอน โดยขั้นแรกเด็กวัยรุ่นมักจะบ่นว่าเหนื่อยหรือเบื่อและไม่สนใจ ไม่อยากทำงานของตน ขั้นต่อไปวัยรุ่นก็อาจจะมีการแอบร้องไห้ ไม่อยากพบปะกับคนอื่น ๆ และรู้สึกว่าตนเอง ว้าเหว่ และไม่มีคนสนใจ การเกิดอาการลักษณะนี้จะเชื่อมโยงไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

 

ภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นนี้ เป็นภาวะที่วัยรุ่นเกิดความรู้สึกเศร้า–เสียใจเป็นอย่างมาก ต่อเหตุการณ์ใด เหตุการณ์หนึ่ง โดยบุคคลไม่สามารถจัดการ ภาวะความไม่เป็นสุข ความรู้สึกสูญเสีย ความรู้สึกเศร้านั้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปภาวะซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่นมักแสดงออกในลักษณะของการหงุดหงิดง่าย มากกว่าการแสดงออกถึงความเศร้า

 

สาเหตุการเกิดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น พบว่าอาจเกิดจาก การสูญเสียบุคคล หรือสิ่งอันเป็นที่รัก หรือการมีความคิดทางด้านลบเกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม และอนาคตมากเกินไป รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตที่ตนคาดไม่ถึง

 

ส่วนสาเหตุทางร่างกาย อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ที่ส่งผลให้บุคคลอยู่ในอาการเศร้าซึมได้ นอกจากนี้ยังพบว่าภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมอีกด้วย

ตัวอย่างภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น

 

นางสาวพจมาน อายุ 17 ปี เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ได้เล่าว่า เธอมีความรู้สึกเหนื่อย เบื่อ บางครั้งเธอมักจะร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล เพื่อน ๆ ของเธอมักสงสัยว่าเธอเศร้าเสียใจเพราะอะไร ทั้ง ๆ ที่เธอทั้งเก่ง และสวย เธอบอกว่าแฟนหนุ่มของเธอต้องไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอเศร้าเสียใจ มาตลอด บ่อยครั้งเธอมักเขียนบันทึกว่าเธออยากตาย เธอไม่สามารถจัดการกับความเศร้านี้ได้เลย พจมานไม่มีความรู้สึกอยากอาหาร กินอาหารได้น้อย มักนอนไม่หลับ ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ทำให้ไม่มีความสามารถที่จะคิดสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแจ่มชัด ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจวัตรประจำวันที่ควรทำ

 

การบำบัดรักษาภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น

 

พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และเพื่อน ควรแสดงความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ และการให้กำลังใจ กับวัยรุ่น ที่มีภาวะซึมเศร้า แต่อย่างไรก็ตามหากภาวะซึมเศร้าคงทนอยู่นาน การได้รับการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะเป็นยาต้านเศร้า หรือการบำบัดโดยการพูดคุย หรือจิตบำบัด จากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เป็นสิ่งที่จำเป็น

 

 

2. ภาวะความวิตกกังวลหลาย ๆ ด้าน หรือ Generalized Anxiety

 

ภาวะความวิตกกังวลหลาย ๆ ด้าน เป็นความวิตกกังวล ความกลัวที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวัน หลาย ๆ ด้านพร้อม ๆ กัน เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการเรียน สุขภาพ ครอบครัว การเงิน สัมพันธภาพ เป็นต้น

 

ความวิตกกังวลนี้เป็นภาวะทางอารมณ์ทางลบที่ก่อให้เกิดความกดดัน โดยบุคคลกังวลถึงอันตราย หรือสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับตน โดยวัยรุ่นที่มีอาการความผิดปกตินี้ มักรู้สึกว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว นั้นไม่ปกติ และจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับตน

 

ผลที่ตามมาคือ วัยรุ่นมักจะแสดงออกโดยการ โมโหและหงุดหงิดง่าย โดยไม่รู้สาเหตุ อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เหนื่อยง่าย นอนตลอด หรือไม่ก็นอนหลับยาก ตื่นดึก ๆ ขาดสมาธิที่จะทำกิจกรรมที่ต้องทำ เช่น การบ้าน มักจะเล่นน้อยลง พบปะเพื่อนน้อยลง

 

หากสังเกตการพูด วัยรุ่นมักแสดงออกถึงการคิดถึงผลร้ายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ถ้ายางรถยนต์ระเบิดจะทำอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นหากฝนตกแล้วถูกฟ้าผ่า

 

อาการที่แสดงออกทางกายที่สำคัญได้แก่การปวดหัวโดยไม่มีสาตุ อัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติ เหงื่อแตก มือสั่น ปวดท้องโดยไม่มีสาเหตุ หลายรายมักมีอาการปวดกล้ามเนื้อปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย เป็นต้น

 

สาเหตุการเกิดภาวะความวิตกกังวลแบบหลาย ๆ ด้าน พบว่าอาจเกิดจากการมีความคิดทางด้านลบเกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อม มากเกินไป

 

สาเหตุทางร่างกาย อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองที่ส่งผลให้บุคคลมีอาการวิตกกังวลได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ภาวะความวิตกกังวัลหลาย ๆ ด้าน อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมอีกด้วย

ตัวอย่างภาวะความวิตกกังวลแบบหลาย ๆ ด้าน

 

แอมมี่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย อายุ 17 ปี แอมมี่ มีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความกังวลว่าจะเรียนไม่จบ กลัวจะมีอันตรายจะเกิดขึ้นกับครอบครัว และกลัวว่าเพื่อน ๆ จะไม่พอใจตน ถึงแม้ว่าแอมมี่จะพยายามไม่คิดมากกับสิ่งต่าง ๆ ที่เธอวิตกกังวล แต่เธอก็ไม่สามารถหยุดคิด หยุดกังวลกับสิ่งต่าง ๆ ได้ ตลอดเวลาเธอรู้สึกไม่สบายใจ เครียด และเมื่อเป็นมาก ๆ เธอจะมีอาการเหงื่อออก ตัวสั่น และมักนอนไม่ค่อยหลับ ตอนกลางวันก็ไม่สามารถผ่อนคลายกับสิ่งต่าง ๆ ได้ อาการดังกล่าวทำให้พ่อแม่ของแอมมี่เป็นทุกข์มาก ๆ

 

การบำบัดรักษาความวิตกกังวลแบบหลายด้าน ๆ ในวัยรุ่น

 

พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และเพื่อน ควรแสดงความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ และการให้กำลังใจกับวัยรุ่นที่มีภาวะความวิตกกังวลหลาย ๆ ด้านนี้ แต่อย่างไรก็ตาม หากความวิตกกังวลคงทนอยู่นาน การได้รับการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะเป็น ยา หรือการบำบัดโดยการพูดคุย หรือจิตบำบัด จากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นสิ่งที่จำเป็น

 

 

3. ภาวะความวิตกกังวัลเฉพาะอย่าง หรือ Specific Anxiety

 

ภาวะความวิตกกังวลเฉพาะอย่าง เป็นความวิตกกังวล ความกลัวที่เกิดขึ้น ต่อเหตุการณ์ หรือวัตถุใดวัตถุหนึ่งอย่างมาก โดยเป็นความกลัวอย่างไร้เหตุผล สำหรับวัยรุ่นมักพบความวิตกกังวัลเฉพาะอย่าง เช่น การกลัวสุนัข กลัวแมลง กลัวการว่ายน้ำ กลัวความสูง กลัวการฉีดยา เป็นต้น

 

ผลที่ตามมาวัยรุ่นมักจะแสดงออกถึงความกลัวอย่างรุนแรง เมื่อต้องเผชิญต่อเหตุการณ์ หรือวัตถุที่ตนกลัว เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ เร็วผิดปกติ เหงื่อแตก มือสั่น ปวดท้อง มีความคิดทางลบ ว่าตนจะต้องได้รับอันตรายจากเหตุการณ์ หรือวัตถุนั้น

 

ความกลัว หรือความวิตกกังลนี้ นำไปสู่การไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเป็นปกติได้ ตัวอย่าง เช่น การกลัววิชาคณิตศาสตร์ ทำให้ไม่ต้องการไปโรงเรียน หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าเรียนในวิชาที่ตนกลัวได้

 

ตัวอย่างภาวะความวิตกกังวลเฉพาะอย่าง

 

เป้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้น อายุ 16 ปี เป้มีอาการกลัวพายุฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นอาการความกลัวที่ไร้เหตุผล อาการกลัวนี้มีมาตั้งแต่เป้อายุ 4 ขวบ และมีมาจนปัจจุบัน โดยเป้มักจะฟังข่าวพยากรณ์อากาศเสมอ และเมื่อมีการพยากรณ์ว่าจะมีพายุ เป้จะหลีกเหลี่ยงการออกนอกบ้าน ไม่เพียงแต่การอยู่ในบ้านเท่านั้น เป้จะเข้าไปอยู่ในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง และไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าใด ๆ ทั้งสิ้น อาการดังกล่าวทำให้เป้ขาดเรียนบ่อย โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน แม้ว่าเป้รู้ว่าความกลัวดังกล่าวเป็นความกลัวที่ไร้เหตุผล

 

ส่วนสาเหตุการเกิดภาวะความวิตกกังวลเฉพาะอย่างนี้ พบว่าอาจเกิดจาก การมีความคิดทางด้านลบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือวัตถุที่ตนกลัวมากเกินไป

 

สาเหตุอีกประการได้แก่ การเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้องในอดีต เช่น ในอดีตบุคคลอาจได้รับความกลัวอย่างรุนแรงจาก สถานการณ์ หรือวัตถุ ทำให้บุคคลมีความกลัวแบบฝังใจ

 

การเลียนแบบจากพ่อ แม่ เพื่อน หรือบุคคลรอบข้าง อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ บุคคลเกิดความวิตกกังวลแบบเฉพาะอย่างได้

 

สาเหตุทางร่างกาย อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองที่มีผลทำให้บุคคลมีอาการวิตกกังวลนี้ได้

 

การบำบัดรักษาความวิตกกังวัลเฉพาะอย่าง หรือ Specific Anxiety

 

สำหรับวัยรุ่นที่มีความวิตกกังวลเฉพาะอย่าง อาจพิจารณาการรักษา เมื่อเหตุการณ์ หรือวัตถุที่ตนกลัวนั้น ทำให้บุคคลไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ การได้รับการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะเป็น ยา หรือการบำบัดโดยการพูดคุย หรือจิตบำบัด จากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นสิ่งที่จำเป็น

 

 

4. ภาวะความวิตกกังวลด้านสังคม หรือ Social Anxiety

 

วัยรุ่นที่มีภาวะความวิตกกังวลด้านสังคมจะมีความวิตกกังวล ความกลัวอย่างรุนแรง เมื่อตนต้องเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางสังคม เช่น การพูด หรือการนำเสนองานหน้าชั้นเรียน หรือการกลัวการที่จะพูดคุยโทรศัพท์ โดยผู้มีปัญหาความวิตกกังวลนี้ จะกลัวว่าตนจะถูกวิจารณ์ ถูกตำหนิ ทำให้ตนอับอายขายหน้า

 

โดยในวัยรุ่น พบว่า ความวิตกกังวลด้านสังคมนี้ พบในวัยรุ่นหญิงมากกว่าชายเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากวัยรุ่นหญิงให้คุณค่ากับการเข้าสังคมมากกว่าวัยรุ่นชาย

 

วัยรุ่นที่มีอาการความผิดปกติ ความวิตกกังวลด้านสังคมนี้ เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม จะแสดงออก โดยความกลัวอย่างรุนแรง จนเกิดอาการทางกาย และความคิด เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ เร็วผิดปกติ เหงื่อแตก มือสั่น ปวดท้อง มีความคิดทางลบ ว่าตนจะต้องอับอาย ต้องถูกวิพากษ์ วิจารณ์เชิงลบอย่างรุนแรง หรืออาจแสดงออกโดย อาการร้องไห้ กรีดร้อง กราดเกี้ยว ตัวแข็ง มือเย็น ตัวสั่น เมื่อต้องเจอสถานการณ์นั้น ๆ

 

ตัวอย่างกรณีศึกษา สำหรับวัยรุ่นที่มีความวิตกกังวลด้านสังคม

 

ลูกอมเป็นนิสิตอายุ 19 ปี มีอาการความวิตกกังวลอย่างมาก เมื่อนึกถึงสถานการณ์ที่ตนจะต้องออกไปรายงานหน้าชั้น ความวิตกกังวลดังกล่าวจะมีมากเป็นทวีคูณ เมื่อลูกอมจำเป็นที่จะต้องลงทะเบียนเรียนในวิชาที่มีคนเรียนเป็นจำนวนมาก โดยลูกอมจะไปนั่งที่หลังห้อง นั่งหลบหน้าหลบตาอาจารย์ผู้สอนเสมอ ๆ ในบางครั้งเมื่ออาจารย์ผู้สอนสุ่มถามคำถาม ลูกอมจะมีอาการตัวสั่น เหงื่อออก บางครั้งลูกอมก็จะวิ่งหนีออกไปนอกชั้นเรียน โดยที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ โดยจะวิ่งไปอยู่ที่หอพักของตนเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อควบคุมอารมณ์ของตนเอง

 

สาเหตุการเกิดภาวะความวิตกกังวลด้านสังคมอย่างนี้ พบว่าอาจเกิดจาก การมีความคิดทางด้านลบเกี่ยวกับตนเอง สิ่งแวดล้อม หรือสถานการณ์ทางสังคมมากเกินไป

 

สาเหตุอีกประการได้แก่ การขาดความภาคภูมิใจในตนเอง อีกทั้งการที่บุคคลมีความกลัวแบบฝังใจ ทำให้บุคคลเรียนรู้แบบไม่ถูกต้องต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ทางสังคม

 

สาเหตุทางร่างกาย อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองที่มีผลทำให้บุคคลมีอาการวิตกกังวลได้

 

การบำบัดรักษาความวิตกกังวลด้านสังคม หรือ Social Anxiety

 

สำหรับวัยรุ่นที่มีความวิตกกังวลด้านสังคมจนทำให้บุคคลไม่สามารถเข้าสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ การได้รับการบำบัดรักษา ไม่ว่าจะเป็น ยา หรือการบำบัดโดยการพูดคุย หรือจิตบำบัดจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นสิ่งที่จำเป็น

 

 

5. การเสพติด Internet

 

การเสพติด Internet พบได้บ่อยมากในสังคมยุคปัจจุบัน โดยจะเกิดขึ้นเมื่อ วัยรุ่นใช้เวลานานเกินไปบน internet หรือ computer โดยที่ตนไม่สามารถ หักห้ามใจที่จะไม่ใช้ internet หรือ computer ได้ จะรู้สึกหงุดหงิด โกรธ หรือก้าวร้าว เมื่อตนไม่ได้ใช้ Internet

 

วัยรุ่นที่มีปัญหาการเสพติด internet จะไม่มีสมาธิในการเรียน เนื่องจากมีความต้องการอยากใช้ internet เกือบตลอดเวลา ส่งผลทำให้ชีวิตประจำวันที่ตนเคยทำนั้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น รีบ ๆ รับประทานอาหารให้เสร็จ เพราะต้องการใช้ internet หรือบางครั้งพบว่าไม่ได้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ เพราะรู้สึกไม่อยากเลิกเล่น internet

 

สาเหตุการเสพติด Internet ในวัยรุ่น มักเริ่มจากการที่วัยรุ่นใช้ Internet เป็นเครื่องมือในการลดความรู้สึกไม่เป็นสุขต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด ความเหงา ภาวะซึมเศร้า ความเบื่อ และความวิตกกังวลต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อบุคคลเหงา หรือเบื่อ วัยรุ่นหลายคนจึงใช้ Internet เป็นเครื่องมือในการจัดการกับความเหงา ความเบื่อ ภาวะวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า

 

นอกจากนี้นักจิตวิทยา พบว่า การติด Internet ในวัยรุ่น มักสัมพันธ์กับ ปัญหาความวิตกกังวลเรื้อรัง ปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดอื่น ๆ ปัญหาการดูเว็บไซต์เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ปัญหาทางด้านสัมพันธภาพ และปัญหาความเครียดเรื้อรัง อีกด้วย

 

ตัวอย่างการเสพติด Internet ในวัยรุ่น

 

เอ เป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ติดเกมออนไลน์บนมือถือ โดยเอเล่นเกมเกือบตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลารับประทานอาหาร รวมทั้งระหว่างพูดคุยกับคนรอบข้าง เมื่อพ่อแม่เอ ห้ามเอไม่ให้เล่นเกม เอแสดงออกด้วยความโกรธอย่างรุนแรง เอใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นเกมมือถือ ทำให้พักผ่อนน้อย การเรียนตกต่ำ เป็นต้น

 

สำหรับการบำบัดรักษา หากบุตรหลานของท่าน มีปัญหาการเสพติด internet อย่างรุนแรง และท่านประเมินแล้วว่าท่านต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

การบำบัดรักษาการเสพติด Internet

 

การได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบ การปรึกษาเชิงจิตวิทยา หรือจิตบำบัดสามารถช่วยลดปัญหา และระดับความรุนแรงของการเสพติด internet ได้ กล่าวโดยคร่าว ๆ นักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาการปรึกษา จะช่วยปรับเปลี่ยนความคิดของบุคคล ที่สัมพันธ์กับการใช้ internet นักจิตวิทยายังสามารถช่วยประเมินปัจจัยทางด้านจิตใจ และพฤติกรรมของท่าน หรือบุตรหลานของท่านที่อาจส่งผลต่อการเสพติด internet อีกด้วย

 

การทำความรู้จักปัญหาทางสุขภาพจิตในวัยรุ่น เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ ต่อพ่อ แม่ และผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นวัยรุ่น ในการสังเกตอาการเบื้องต้น และนำไปสู่การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

 

 


 

 

จากบทสารคดีทางวิทยุ รายการ “จิตวิทยาเพื่อคุณ”

โดย อาจารย์ ดร.สมบุญ จารุเกษมทวี

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พื้นนิสัยทางบวกและความสุข

 

คนทั่วไปมองภาพของคนที่มีความสุขว่าเป็นคนที่…

 

  • “มีอารมณ์ดี”
  • “มีชีวิตที่ดี”
  • “มีอิสระและเป็นตัวของตัวเองที่จะทำในสิ่งที่อยากทำหรือชอบด้วยตนเอง”
  • “ได้รับการยอมรับไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน งาน งานอดิเรก”
  • “มีความพึงพอใจในชีวิต”ฯลฯ

 

นักคิดและวิชาการหลากหลายแขนง เช่น นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา และนักจิตวิทยา ได้ให้ภาพของคนที่มีความสุขว่าเป็นคนที่ดำเนินชีวิตได้ดี ลงตัว เป็นคนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นดี คิดถึงการฆ่าตัวตายน้อย และมีกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตที่เป็นสุข

 

 

ความสุขและจิตวิทยาเชิงบวก


 

นักจิตวิทยายุคใหม่ที่เรียกตนเองว่าเป็นกลุ่มจิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology ได้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้มีความสุข โดยมีพื้นฐานของความสุขจากการมีมุมมองต่อชีวิตและโลกในเชิงบวก เช่น

 

  • การมองโลกในแง่ดี
  • การมีความหวังและความหมายในชีวิต
  • การมีสติรู้ตื่นลื่นไหลในกิจกรรม หรือ ภาวะ flow

 

นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้มองว่า ความสุข คือ การที่บุคคลประเมินภาพรวมในขณะนั้นว่าเขามีความพึงพอใจในชีวิต มีอารมณ์ด้านบวก เช่น ความรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ความรู้สึกเบิกบาน รู้สึกดูแลห่วงใย ใส่ใจ ความรู้สึกดื่มด่ำลึกซึ้งกับคุณความดี และการไม่มีความรู้สึกทางลบ เช่น ความซึมเศร้า ความเสียใจ ความกลัว ความโกรธ ความวิตกกังวล เป็นต้น อารมณ์ด้านบวกในที่นี้ ได้แก่ ความรู้สึกสนุกสนาน ความซาบซึ้งใจ ความสนใจ และความพึงพอใจ

 

ทั้งนี้อารมณ์ด้านบวกจะเป็นตัวนำให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญต่อการมีชีวิตที่มีความสุข เช่น การพัฒนาความเป็นมิตร ความพึงพอใจในชีวิต ระดับรายได้ที่มากกว่า ประสบความสำเร็จ และการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รวมทั้งผู้มีประสบการณ์อารมณ์ด้านบวกสม่ำเสมอมักมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาว

 

 

วิธีสร้างสุขแบบยั่งยืน…ด้วยการพัฒนาพื้นนิสัยด้านบวก


 

การเติบโตของแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกทำให้นักจิตวิทยาหันมามองการพัฒนาความสุขด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งภายใน ที่เรียกว่าพื้นนิสัยด้านบวก หรือคุณลักษณะด้านบวกของบุคคล พื้นนิสัยด้านบวกนี้จะเป็นแหล่งของความกระตือรือร้นในชีวิต ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง การมีความรักแบบเมตตา ความสุขแบบเต็มตื้น ความพึงพอใจในชีวิต และการมีความหวัง ซึ่งทำให้คนเราเข้าถึงความดีงาม และการใช้ปัญญาในการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นไปเพื่อตนเองอย่างเดียว

 

ตัวอย่างการพัฒนาความสุขในแนวทางนี้ได้แก่ การสร้างสุขภาวะทางจิต และการเจริญเมตตาภาวนา

 

แนวทางแรก คือ “การสร้างสุขภาวะทางจิต หรือ Well-being Therapy” ซึ่งเน้นการพัฒนาคุณลักษณะด้านบวกของบุคคล 6 ด้าน ได้แก่

 

  • การเป็นนายเหนือสภาพแวดล้อมรอบตัว ด้วยการเลือกสภาพการณ์ที่เหมาะสมต่อความต้องการและคุณค่าที่ตนเองยึดถืออย่างกระตือรือร้น โดยไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา
  • การมุ่งพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดใจกว้างรับประสบการณ์ใหม่ๆ รวมทั้งมีการปรับปรุง และพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้นตลอดเวลา
  • การใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความมุ่งหมายที่ชัดเจน ด้วยการรับรู้ถึงพลังชีวิตหรือเสียงเรียกร้องจากภายในที่บอกให้ทำสิ่งทีเขารับรู้ว่ามีความหมายและคุณค่าต่อชีวิต
  • การมีอิสระที่จะเลือกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยพิจารณาใคร่ครวญด้วยเหตุและผล โดยยังคงรักษาความสมดุลทั้งจากภายในตนและคนรอบข้าง
  • การมีทัศนะเชิงบวกต่อตนเอง ด้วยการยอมรับทั้งด้านบวกและด้านลบของตนเอง มีความรู้สึกทางบวกกับช่วงชีวิตของตนเองที่ผ่านมา
  • การมีความสัมพันธ์แบบผูกพันใกล้ชิดกับคนรอบข้าง มีความไว้ใจ สามารถเปิดใจรับคนอื่น และให้ความรักความเมตตาต่อผู้อื่นได้

 

ในปัจจุบันได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะ 6 ด้าน ดังกล่าวในผู้ที่ไร้ความสุขแบบเรื้อรังและมีภาวะวิตกกังวล หรือซึมเศร้า ผลการศึกษาพบว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่เพิ่มความสุขและลดการกลับเป็นซ้ำของภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้ดีในระยะเวลา 2 ถึง 6 ปี ของการติดตามผล

 

อีกแนวทางหนึ่ง “การเจริญเมตตาภาวนา หรือ Loving Kindness Meditation” ที่เป็นการฝึกให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ณ ปัจจุบันขณะ ด้วยสภาพจิตใจที่เปิดกว้าง ไม่มีการตัดสิน จากนั้นจึงเพ่งความสนใจไปยังแก่นกลางใจของตนเอง จนเกิดความสุขสงบจากการเจริญสติเมื่อรักษาความสุขทางใจได้ ใจจึงจะเกิดความเมตตา ที่มีความรัก ความสุข และความฉ่ำชุ่มเย็นอยู่ในจิตใจ พลังเมตตานี้สามารถแผ่ออกมาสร้างอารมณ์บวกต่าง ๆ

 

ตัวอย่าง การสร้างโปรแกรมการฝึกการเจริญเมตตาภาวนา หรือ Loving Kindness Meditationง่าย ๆ ในโครงงานวิจัยของนิสิตจิตวิทยา (เช่น งานวิจัยของ กนกวรรณ สาธุอยู่ศิริกุล ธนิตา สถาพร และ เรณุกา ทองเนียม, 2555) ได้ให้ผู้เข้าร่วมวิจัย

 

  • นึกถึงความรัก ความรู้สึกดี ๆ ความปรารถนาดี
  • นึกถึงความรัก ความรู้สึกดี ๆ ความปรารถนาดี ที่ได้จากคนที่รัก และสัมผัสถึงความรักความปรารถนาดีนั้น
  • ต่อมา นึกถึงความปรารถนาดี 4 ประการ
  • ขอให้มีความสุข
  • ขอให้มีสุขภาพที่ดี
  • ขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิต
  • ขอให้คลาดแคล้วจากภัยอันตรายทั้งปวง
  • แล้วส่งความรู้สึกดังกล่าวไปยังคนที่รักเคารพ คนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และสุดท้าย ไปยังทุกคน ทุกสิ่งมีชีวิต รวมถึงผู้ที่ผู้ฝึกรู้สึกไม่พอใจ
  • ทบทวนในใจซ้ำ ๆ 10-15 นาทีต่อวัน

 

ผลการการเสริมสร้างความสุขแบบนี้ ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกรายงานตนว่าพวกเขามีการเพิ่มขึ้นของอารมณ์ทางบวกในชีวิตประจำวัน (เช่น ความรัก ความเพลิดเพลินใจ ความรู้สึกกตัญญูรู้คุณ ความพึงพอใจ ความหวัง) ในช่วงระยะเวลา 9 สัปดาห์นับตั้งแต่เริ่มฝึกการเสริมสร้างความสุข

นอกจากนี้ผลของความสุขดังกล่าวยังทำให้ผู้ฝึกรู้สึกพึงพอใจในชีวิต มีการยอมรับตนเองมากขึ้น และมีไร้อารมณ์เศร้า อีกด้วย

 

 

 


 

 

บทความโดย

รองศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

อิทธิพลของสื่อต่อการเพิ่มการช่วยเหลือ

 

สื่อช่วยเพิ่มการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่คนในสังคมได้อย่างไร?


 

การใช้สื่อเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลแก่คนในสังคม คือ การใช้สื่อต่าง ๆ เช่นรายการโทรทัศน์ หรือเพลงที่เราฟังกันอยู่ทุกวัน ให้เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการทำความดีของคนในสังคม ด้วยการเพิ่มการทำเพื่อผู้อื่น ซึ่งก็คือการทำอะไรก็ได้ที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้คนอื่น นอกเหนือจากตนเองได้รับประโยชน์

 

พูดง่าย ๆ ก็คือ การมีน้ำใจต่อผู้อื่น การช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์หรือกำลังประสบปัญหาเดือดร้อนโดยการใช้สื่อนั่นเอง แน่นอนว่าน้ำใจและการช่วยเหลือกันนั้น เป็นสิ่งที่ดี ที่เราอยากจะเห็นคนในสังคมเราแสดงออกให้มากขึ้น

 

ถ้าหากลองจินตนาการว่า มีเหตุการณ์ไม่ดีนี้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง ก็คงจะเข้าใจว่า การมีคนอื่นยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ในเหตุการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ใช่หรือไม่ แต่ถ้าเราลองแทนตัวเรา เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือบ้าง และต้องตัดสินใจว่า จะเข้าไปช่วยเขาดีหรือไม่ เราก็อาจต้องไตร่ตรองว่า การเข้าไปช่วยเขาหมายถึงการที่ตัวเราเองต้องเสียเวลา หรือต้องเสียสละอะไรบางอย่าง แต่ในขณะเดียวกัน หากเราตัดสินใจให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน เราก็จะอิ่มเอมใจว่าได้ทำความดี หรืออาจได้รับการยกย่องในความมีน้ำใจ

 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทำอย่างไร ที่คนในสังคมจะช่วยเหลือกันและกันมากขึ้น วิธีหนึ่งก็คือการใช้สื่อเข้ามาช่วยนั่นเอง เนื่องจากสื่อเป็นหนทางเข้าถึงคนจำนวนมากได้ในเวลาเดียวกัน

 

นักจิตวิทยาเสนอว่า แทนที่สื่อจะเสนอความก้าวร้าว การชกต่อย เข่นฆ่ากัน ซึ่งจะเพิ่มความก้าวร้าวในตัวผู้ชม แล้วหันมาเสนอเนื้อหาการช่วยเหลือ หรือการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ก็จะช่วยให้เกิดพฤติกรรมดี ๆ เหล่านี้ในผู้ชมมากขึ้นได้

 

การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า การนำเสนอบุคคลตัวอย่างที่เสียสละตน หรือให้ความช่วยเหลือผู้อื่น แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การช่วยเปลี่ยนยางรถยนต์ให้แก่เจ้าของรถสุภาพสตรี ที่อาจจะทำเองไม่ถนัด เป็นการเพิ่มแนวโน้มที่ผู้พบเห็นจะทำตาม ดังนั้นรายการโทรทัศน์ ที่เสนอเรื่องราวของคนใจบุญ ที่ช่วยเหลือคนอื่นในสถานการณ์ต่าง ๆ ก็สามารถทำให้ผู้ชมทำพฤติกรรมเช่นเดียวกันนี้เพิ่มขึ้น การได้เห็นตัวแบบที่ให้ความช่วยเหลือสัตว์หรือคนอื่น ๆ ทำให้ผู้ชมมีพฤติกรรมช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น

 

มีการศึกษาทางจิตวิทยางานหนึ่ง ให้เด็กอายุ 7 ถึง 8 ขวบ ชมละครตลกทางโทรทัศน์ ที่มีเนื้อหาให้ตัวละครได้เรียนรู้ผลของการลักขโมย การทะเลาะกับพี่น้อง การโกหก และผลของการทำความดี เช่น การแบ่งปันสิ่งของระหว่างพี่น้อง การให้อภัย และการทำเพื่อส่วนรวม จากการวิจัยนี้พบว่า ผู้ชมวัยเด็กบางคนก็ไม่เข้าใจคติสอนใจด้านคุณธรรมจากละครเหล่านี้ ส่วนเด็กที่เข้าใจว่าละครสอนให้ทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะแสดงพฤติกรรมช่วยเหลือผู้อื่นในชีวิตจริงมากขึ้น ดังนั้น เราควรจะเลือกรายการ หรือละครเพื่อสังคม ที่ผู้ชมแต่ละวัยเข้าใจได้ให้เขาดู รายการเหล่านี้สามารถช่วยสอนให้เด็กและคนในสังคมของเราเป็นคนดีและช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้นได้

 

“เพลง” สามารถทำให้ผู้ฟังกลายเป็นคนที่ช่วยเหลือคนอื่น ๆ มากขึ้นได้

 

การศึกษาทางจิตวิทยาในต่างประเทศ พบว่า คนที่ฟังเพลงที่มีเนื้อหาของการทำเพื่อสังคม เช่น เพลงฮีลเดอะเวิลด์ ของไมเคิล แจ็คสัน แสดงพฤติกรรมช่วยเหลือผู้อื่นได้หลายรูปแบบ เช่น ช่วยคนคนหนึ่งเก็บของที่ตกบนพื้น หรืออาสาช่วยเป็นผู้ร่วมการวิจัยในการศึกษาอื่น มากกว่าคนที่ฟังเพลงที่มีเนื้อหากลาง ๆ ไม่ได้พูดถึงการช่วยเหลือกัน

 

ทำไมเพลงที่มีเนื้อหาส่งเสริมให้คนเราช่วยเหลือกัน จึงทำให้ผู้ฟังมีพฤติกรรมช่วยเหลือคนอื่นขึ้นมาได้จริง ๆ?

 

นักจิตวิทยาสังคมพบว่า การฟังเพลงเนื้อหาดี ๆ แบบนี้ ช่วยทำให้ผู้ฟังเกิดความ “รู้สึก” รู้ซึ้งถึงความรู้สึกลำบากของผู้อื่นมากขึ้น และการเอาใจเขามาใส่ใจเรานี่เอง ทำให้เราอยากช่วยเหลือคนอื่น ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ เพลงที่มีเนื้อหาส่งเสริมการเอื้ออาทรกัน จะช่วยเพิ่ม “ความคิด” เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อื่นในผู้ฟัง เมื่อคิดวนเวียนเรื่องการช่วยเหลือ ก็ทำให้คนเรามักลงมือช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาส

 

สรุปง่าย ๆ ก็คือเนื้อหาของเพลงนั้นเป็นส่วนสำคัญ เพลงที่พูดถึงคุณงามความดีและการเอื้ออาทรของคนในสังคม สามารถเพิ่มความคิดดี ๆ และความรู้สึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้ผู้ฟังนั้นช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นได้ และงานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า นอกจากจะเพิ่มการเอื้ออาทรกันของคนเราได้แล้ว เพลงที่มีเนื้อหาดี ๆ เช่นนี้ ยังช่วยลดความคิดและพฤติกรรมแบบก้าวร้าวในผู้ฟังได้ด้วย ดังนั้นการฟังเพลงจึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระหรือเอาไว้ผ่อนคลายเท่านั้น แต่เพลงสามารถสอนให้เราทำความดีหรือทำเพื่อผู้อื่นได้

 

หากเราได้อ่านเรื่องราวของการทำความดี ผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นประจำ เราจะหันมาทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นกันมากขึ้นหรือไม่?

 

การศึกษาพบว่า หลังจากผู้ร่วมการทดลองได้อ่านเรื่องของการให้อภัย เช่น เรื่องครอบครัวของเหยื่อที่ให้อภัยฆาตรกรที่ฆ่าคนในครอบครัวของตน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่พบเจอได้ยาก แสดงถึงความมีความเมตตา และการปล่อยวางความเจ็บแค้นส่วนตนเพื่อคนอื่นอย่างน่านับถืออย่างยิ่ง เมื่ออ่านเรื่องเช่นนี้แล้ว ผู้ร่วมการทดลองรายงานว่าตนรู้สึกว่าได้รับแรงบันดาลใจให้กระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี หรือเกิดความใฝ่คุณธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะหากบุคคลเป็นคนที่ยึดถือคุณธรรมเป็นสิ่งชี้นำชีวิตด้วยแล้ว ก็จะยิ่งรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจมากขึ้น

 

ดังนั้น การที่เราแบ่งปันเรื่องราวของการช่วยเหลือกันลงในบล็อคหรือเฟสบุค นิตยสาร หรืองานเขียนผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ ก็จะมีส่วนช่วยสร้างให้คนในสังคมหันมาทำความดี รักษาคุณธรรมกันมากขึ้นได้ เพราะฉะนั้น เราทุกคน ในฐานะผู้ที่มีสื่ออยู่ในมือ เช่น เฟสบุ๊ก อินสตราแกรม หรือบล็อกต่าง ๆ ก็สามารถมีส่วนช่วยให้สังคมเราน่าอยู่ขึ้นได้

 

นอกจากนี้ เรายังสามารถอาศัยสื่อดังกล่าว ในการช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย แน่นอนว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้เข้ามาอ่านหรือมาพบเห็น เช่น การตั้งสังคมออนไลน์เพื่อช่วยเหลือ หรือให้กำลังใจผู้ติดโรคร้าย การโพสต์ลิงค์ขององค์กรการกุศลที่ต้องการรับบริจาคเงินหรือสิ่งของ การแบ่งปันความรู้ของตัวเราเองแก่ผู้อื่นโดยการเขียนบล็อค หรือการตอบกลับข้อความของเพื่อนออนไลน์ ในแบบที่ให้ข้อมูลความรู้อันเป็นประโยชน์แก่คนอ่าน

 

สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นการทำหน้าที่สื่อ เพียงแต่เป็นสื่อส่วนบุคคล ในการช่วยเหลือผู้อื่นนั่นเอง…

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การอู้งานในการทำงานเป็นทีม

 

เวลาที่เราทำงานเป็นทีม หลาย ๆ ครั้งเราจะพบว่าจะมีคนบางคนที่จะอู้งาน เรียกว่าคอยเอาเปรียบคนอื่น ๆ อยู่เสมอ การอู้งานที่เกิดขึ้นในทีมงาน คือ การที่สมาชิกในทีมบางคนไม่ยอมใช้ความพยายาม หรือความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นทีม เช่น เราทำรายงานกันเป็นกลุ่ม ในขณะที่บางคนอาจจะเป็นคนคิด เป็นคนวางแผน หรือบางคนเป็นหัวหน้าสั่งการประสานงาน บางคนคอยส่งข้าวส่งน้ำ และก็มีบางคนมาแค่ขออาศัยมีชื่อในรายงานเล่มนั้นแบบฟรี ๆ แล้วได้คะแนนไปแบบลอยนวล ซึ่งคนไทยเราส่วนใหญ่ก็มักจะยอมเสียด้วย หรือตัวอย่างเช่น เวลาเรายกของหนัก ๆ สังเกตหรือไม่ว่า คนบางคนก็จะออกแรงเสียจนหน้าบูดหน้าเบี้ยว เหงื่อท่วมตัว บางคนก็ออกแรงบ้างนิดหน่อย แต่ก็อาจมีบางคนแค่เอามือแตะเบา ๆ เท่านั้น แต่ทว่าแสดงอาการกิริยาออกมาว่าโอยหนักเหลือเกิน ออกแรงเยอะกว่าคนอื่น แถมบางทียังมาพูดทวงบุญคุณเสียอีก ซึ่งหลายคนที่เคยได้ประสบพบเจอในชีวิตจริง คงไม่รู้สึกชอบเท่าไหร่ และอาจจะเรียกคนพวกนี้ว่า ไอ้พวกคนกินแรง เอาเปรียบคนอื่น บางคนก็คงจะพอทนได้ แต่ถ้าเจอมาก ๆ บ่อยครั้งเข้าก็คงไม่ชอบ ท้ายที่สุดนี่ก็คงอาจจะขุ่นข้องหมองใจกันพอสมควร ซึ่งไม่ส่งผลดีเลยต่อความรู้สึกของสมาชิกในทีม บางคนถึงกับรู้สึกว่าไม่อยากทำงานร่วมกับคนแบบนี้อีก เช่นเดียวกันที่รู้สึกว่าหากมีการจัดทีมงานในอนาคตอีก คงไม่เอาคนเหล่านี้มาร่วมทีมต่อไป

 

สำหรับเรื่องการอู้งาน เป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาทั่ว ๆ ไปเรียกว่า Social Loafing นักจิตวิทยากลุ่มที่เริ่มต้นศึกษาเรื่องการอู้งานในกลุ่มเป็นพวกแรกคือนักจิตวิทยาสังคม และนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ โดยเฉพาะในเรื่องการทำงานเป็นทีมในองค์การ

 

จากการศึกษาของนักจิตวิทยาพบว่า งานที่มีลักษณะเป็นงานที่แบ่งแยกผลงานของสมาชิกในทีมงานแต่ละคนออกมาได้ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ จะทำให้เกิดการอู้งานของสมาชิกในทีมได้ง่าย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การเล่นชักเย่อ ซึ่งดูยากว่าใครออกแรงมากใครออกแรงน้อย รู้แต่ตอนสุดท้ายว่า ฝ่ายไหนแพ้ฝ่ายไหนชนะ การที่ไม่สามารถหาที่มาของผลงานได้ชัดเจนนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการอู้งานในการทำงานเป็นทีม

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกว่า การที่เราอยากได้สมาชิกมาร่วมในทีมงานเรามาก ๆ ก็อาจจะไม่ได้เป็นผลที่ดีเสมอไป นักจิตวิทยาได้ศึกษาโดยการทดลองให้ทีมงานทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถวัดผลงานโดยรวมออกมาได้ พบว่า ผลงานโดยรวมเมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้นหนึ่งคนก็จะทำให้ผลงานโดยรวมก็จะเพิ่มขึ้น สมมุติว่าทีมงานหนึ่งมีสมาชิก 3 คน ทำงานได้ 30 หน่วย ซึ่งก็เท่ากับว่าคนหนึ่งทำงานได้เฉลี่ย 10 หน่วย เมื่อทีมงานที่ต้องทำงานแบบเดียวกันนี้มีสมาชิกเพิ่มเป็น 4 คน จะทำงานได้ 36 หน่วย ซึ่งก็เท่ากับว่า คนหนึ่งทำงานได้เฉลี่ย 9 หน่วย พอมีสมาชิก 5 คน ผลงานโดยรวมกลับได้แค่ 40 หน่วย หรือทำได้เฉลี่ยคนละ 8 หน่วยเท่านั้นเอง จะเห็นว่าแต่ละคนทำงานได้ลดลง ซึ่งจากการที่นักจิตวิทยาได้ทำการทดลองในทำนองนี้ ทำให้พบว่ายิ่งมีจำนวนสมาชิกในทีมงานเพิ่มขึ้น ผลงานโดยรวมอาจจะเพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่าแต่ละคนมีผลงานลดลงไป ยิ่งมีสมาชิกมาก ผลงานโดยเฉลี่ยของสมาชิกยิ่งลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการอู้งานในการทำงานเป็นทีม

 

 

คนอู้งานมีกี่ประเภท?


 

พวกอู้งานในการทำงานเป็นทีมน่าจะพอแบ่งได้ออกเป็น 4 พวก ดังนี้

 

1. พวกขอเอี่ยวฟรี ภาษาอังกฤษเรียกว่า Free Riding พวกนี้เกิดขึ้นเสมอมีอยู่ในทุกทีม คนบางคนมีลักษณะนิสัยที่ไม่ละอายที่จะเอาเปรียบผู้อื่น ถ้ามีโอกาสก็จะขอเอาเปรียบ เอาผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อแรงกายของคนอื่นในการทำงานร่วมกันอยู่เนือง ๆ ไม่ต้องใช้แรงใช้ความสามารถหรือใช้ความพยายามก็ได้ผลงานไป บางคนตอนทำงานไม่ชอบทำ แต่พอจะเอาหน้าหาเจ้านายประจบประแจงเลียแข้งเลียขา บางทีคนที่ทำงานจริง ๆ ในทีมได้แต่มองตาปริบ ๆ ยิ่งคนไทยเรามีนิสัยอะลุ้มอล่วยพอสมควร ยอมเสียเปรียบนิดหน่อยดีกว่าขุ่นข้องหมองใจกัน บางทีก็รู้ว่ามีคนแบบนี้อยู่ในทีมงานของตน แต่ก็ได้แค่อึดอัด มัวแต่เกรงใจ ไม่กล้าที่จะแสดงออกมาถึงความรู้สึกจริง ๆ ของตน ไม่กล้าพูด ทางจิตวิทยาเรียกว่าไม่ assertive ก็น่าจะยิ่งทำให้คนพวกนี้มีมากขึ้น เพราะการที่เราปล่อยให้เขาเอาเปรียบกินแรงได้แต่กลับไม่ได้รับผลทางลบเลย ได้แต่ผลงาน เท่ากับเป็นการเสี้ยมสอนให้คนที่มีนิสัยอย่างที่ว่านี้ทำนิสัยแบบนี้ในทีมงานมากขึ้น เกิดการเรียนรู้ที่ผิด ๆ เรียกได้ว่าเป็นการเสริมแรง (reinforcement) เพราะยิ่งทำไม่ดี แต่กลับได้สิ่งดี ๆ ที่ต้องการ คนเหล่านี้ก็ยิ่งทำไม่ดีมากขึ้น ๆ บางคนพอทำได้อย่างที่ว่านี้กลับรู้สึกดีเสียอีกว่าตนเองฉลาดเหนือคนอื่นได้ ไม่ยอมโง่ให้ใครเอาเปรียบ กลายเป็นว่าเพิ่มความมั่นใจในตนอย่างไม่ถูกต้องให้มากขึ้นเสียด้วยซ้ำไป พวกนี้จะรู้สึกว่าในเมื่อแม้ฉันจะทำงานมากกว่าคนอื่น ๆ แต่ฉันก็ได้รับผลงานเฉลี่ย ๆ ถัว ๆ กันพอกับคนอื่น ๆ ฉันจะทำหนักกว่าคนอื่นไปทำไมให้เหนื่อยเปล่า ๆ สู้อยู่เฉย ๆ หรือทำงานออกแรงแค่พอรักษามารยาทหรืออาจถึงขึ้นเสแสร้งแกล้งละครก็มีว่าฉันเนี่ยทำงานแสนจะหนักก็พอ

 

2. พวกผลกระทบคนโง่ ภาษาอังกฤษเรียกว่าพวก Sucker effect คำว่า Sucker เป็นสแลงของอเมริกัน แปลว่าคนโง่ พวกนี้พอมาทำงานในทีมก็ตั้งข้อสังเกตว่า มีคนบางคนในทีมที่ไม่ได้ทำงานหนัก หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเห็นคนอื่นในทีมอู้งานนั่นแหละ พวกนี้พอเห็นอย่างนั้นเข้าก็เกิดความรู้สึกว่า เออ ในเมื่อคนอื่นเขาก็ไม่ได้ทุ่มเททำงานในกลุ่มอย่างเต็มที่ แล้วฉันจะโง่เหนื่อยมากกว่าคนอื่นไปคนเดียวไปเพื่ออะไร เราจะบ้างานไปมากกว่าคนอื่น ๆ เพื่ออะไร ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นจึงเกิดปัญญาวาบขึ้นมาว่า เออ ฉันทำแค่นี้พอนะ จะทำอะไรไปมากมาย ในเมื่อคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายนัก ฉันก็ทำเท่าที่คนอื่น ๆ ในทีมเขาคาดหวังกันประมาณนี้ก็น่าจะพอเพียง ทำให้ลดการใช้ความพยายาม ความรู้ ความสามารถในการทำงานในทีมงานนั้น ๆ ลงไป ทำมากกว่าคนอื่น ๆ ก็จะโง่ไปเปล่า พวกนี้เรียกได้ว่าไม่ได้อู้งานโดยนิสัยเพียงแต่เห็นตัวอย่างเห็นสิ่งแวดล้อมให้เอื้อที่จะอู้งาน ซึ่งอาจจะเจตนาดีกว่าพวกแรก

 

3. พวกกลัวเด่นกลัวล้ำหน้า พวกนี้อาจจะรู้สึกได้ว่า ในทีมมีบรรทัดฐาน (Norm) บางประการอยู่ เช่นพบว่า ไม่ได้เน้นผลงานอะไรมากมายนัก บรรทัดฐานที่มีในกลุ่มนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป อย่างไรก็ตามบรรทัดฐานเป็นความคาดหวังร่วมกันบางประการของสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งหากใครไม่ปฏิบัติตามก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรนั่นเอง หรืออาจได้รับการลงโทษโดยสมาชิกในกลุ่มนั้นก็เป็นได้ คนพวกนี้โดยเจตนารมณ์ความตั้งใจก็อาจจะอยากทำงานให้เต็มที่ ให้ได้ผลงานมากที่สุด แต่เมื่อเข้าไปในกลุ่มซึ่งอาจจะมีคนบางคนที่อู้งานอยู่ หรือมีผู้ใหญ่ที่ครอบงำ ไม่รับฟังใคร หรืออาจจะมีบรรทัดฐานในการทำงานที่อาจจะไม่สูงนัก ก็จะไม่กล้าที่จะทุ่มเททำงานมากอย่างที่ตนเองทำได้หรืออยากจะทำ เพราะกลัวว่าจะเด่น จะล้ำหน้าคนอื่น ๆ กลัวคนอื่น ๆ จะอิจฉา จะไม่ชอบหน้า ก็ต้องออมแรงออมฝีมือสงบเสงี่ยมไว้ก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าการที่ทำผลงานไปดี ทุ่มเท อาจจะทำให้คนอื่นอิจฉา หรือถึงทำให้คนอื่นเข้าขั้นเดือดร้อนได้ หากมีการนำผลงานของแต่ละคนมาเปรียบเทียบกันได้ แล้วมีใครดีกว่าใคร ยิ่งในสังคมไทยสอนให้เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ยิ่งแสดงให้เห็นว่ามีแรงจูงใจหรือแรงกดดันให้ทำตามบรรทัดฐานซึ่งได้แก่การอู้งาน บทกลอนบทหนึ่งของหลวงวิจิตรวาทการ ที่กล่าวไว้ว่า

 

“คนเขาอยากให้เราได้ดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้

จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน”

 

จากบทกลอนดังกล่าวคงทำให้คนทำงานหลาย ๆ คน พยายามเจียมเนื้อเจียมตัวออมแรง ออมความสามารถเอาไว้ จนดูเหมือนว่าจะอู้งานก็มีไม่ใช่น้อย แต่เจตนาต่างกัน พวกนี้กลัวเด่น กลัวคนหมั่นไส้ กลัวล้ำหน้าคนอื่น ล้ำหน้าผู้ใหญ่

 

4. พวกคนไม่สำคัญ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Felt Dispensable พวกนี้เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกในทีมก็เกิดความรู้สึกว่า เออ จริง ๆ แล้วฉันไม่มีความจำเป็นเลยในทีม เพราะมันมีสมาชิกคนอื่นในทีมตั้งมากมาย จริง ๆ แล้วไม่มีฉันก็ได้ คนอื่น ๆ ในทีมเขาก็เก่ง ๆ กันทั้งนั้น แล้วสิ่งที่ฉันทำได้นะ คนอื่น ๆ ในทีมงานเขาก็ทำได้กันทั้งนั้น ฉันก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับทีมงานมาก เพราะฉะนั้นฉันพยายามอยู่เฉย ๆ จะดีกว่าไหม ก็จะทำให้คนพวกนี้ลดการใช้ความพยายาม ความรู้ ความสามารถของตนเองลงไปในการทำงานในทีม เรียกว่ารู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนเกินของทีม หรือเรียกว่าเป็นติ่ง ไม่มีความสำคัญไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

 

การที่จะมีคนแบบนี้ในทีม อาจเกิดได้จากการที่คนแบบนี้ เดิมอาจจะไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตนเองอยู่แล้ว กล่าวคือโดยปกติค่อนข้างจะน้อยเนื้อต่ำใจในตนเองอยู่แล้ว พอมาทำงานในทีมก็จะรู้สึกแบบเดียวกัน นอกจากนี้ในทีมงานแต่ละคนก็มีงานต่างกันไป มีบทบาทหรือสิ่งที่คนอื่น ๆ ในทีมงานคาดหวังให้เราทำแตกต่างกัน แต่สำหรับบางคนมีบทบาทไม่ชัดเจน มีความคลุมเครือของบทบาท เรียกว่ามี role ambiguity ไม่รู้แน่ว่าตัวเองมีบทบาท มีหน้าที่อะไรบ้าง เมื่อไม่รู้ก็ไม่ทำ ยิ่งถ้าในทีมมีแต่คนที่เก่ง ๆ แล้วเราไม่มีความสามารถเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ไม่มีความจำเป็นเสียเท่าไหร่แล้ว เราก็ยิ่งต้องทำตัวเงียบ ๆ ไว้ เพราะฉะนั้นในการจัดทีมงาน คงต้องคำนึงถึงด้วยว่าใครจะมีหน้าที่อะไร มีบทบาทอะไร แล้วแต่ละคนมีความถนัด ความรู้ ความสามารถอะไรที่แตกต่างกัน และถ้าจะให้ดีการที่มีความถนัดความรู้ความสามารถแตกต่างกันนี้ จำเป็นต้องร่วมมือกันในบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่แก่กัน (interdependent) จึงจะทำงานได้ประสบความสำเร็จ จะขาดใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่แต่ละคนทำต่างก็มีคุณค่า นอกจากนี้ ในทีมงานแต่ละคนในทีมงานต้องมีบทบาทที่ชัดเจน เรียกว่ามี role clarity ก็จะช่วยลดการอู้งานเพราะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่สำคัญลงไปได้

 

 

การอู้งานมีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง?


 

 

1. การกระจายความรับผิดชอบของงาน

 

สำหรับสาเหตุหลัก ๆ ของการคนเราอู้งานเวลาทำงานเป็นทีม หรือว่าเหตุใดทำไมเราจึงอู้งานเวลาทำงานเป็นทีม นักจิตวิทยาได้พยายามอธิบายสาเหตุไว้น่าสนใจหลายประการ เหตุผลอย่างหนึ่งพบว่า ในการทำงานเป็นกลุ่มซึ่งผลงานมีลักษณะที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าผลงานที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นของใครกันแน่ จะทำให้เกิดความรู้สึกกระจายความรับผิดชอบที่มีต่องานนั้น ๆ ในภาษาไทยอาจจะเรียกง่าย ๆ ว่าเกิดการเกี่ยงงานกัน ในภาษาอังกฤษนักจิตวิทยาสังคม เรียกว่า Diffusion of responsibility เมื่อทำงานร่วมกันผลงานออกมาเป็นของรวม ๆ ไม่มีว่าชิ้นไหนของใครกันแน่ ก็จะทำให้คนที่อยู่ในทีม ไม่อยากมารับผิดชอบ เรียกว่าต่างคนต่างโยน ต่างโบ้ยงาน หาเจ้าภาพไม่เจอ

 

ทำไมคนเราถึงได้เกิดความรู้สึกกระจายความรับผิดชอบ?

 

นั่นก็เพราะเราต่างคนต่างก็คิดว่า คงไม่เป็นไรหรอก เราไม่ทำ คนอื่นเขาก็ทำ เลยไม่มีใครทำ ต่างคนต่างก็เลยลดความพยายามและความสามารถในการทำงานของตนในทีมลงไป

 

นอกจากนี้ เรื่องนี้มันสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างในด้านมืดของมนุษย์ เช่น พวก Free rider หรือพวกขอเอี่ยวฟรี จะรู้สึกว่าตนสามารถกินแรงคนอื่นได้สบาย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการเอาเปรียบของมนุษย์ รู้สึกว่ามันไม่ใช่ความรับผิดชอบของฉันก็เลยไม่ออกแรง ก็เลยเกี่ยงงาน

 

ในขณะที่อีกพวกอาจจะมองว่าในเมื่อคนอื่นก็ไม่ทำ ฉันจะไปโง่ทำมากกว่าคนอื่นทำไม ก็เกี่ยงไม่ยอมทำอีกเช่นกัน แต่เจตนาอาจจะดีกว่าพวกแรก

ในขณะที่อีกพวกรู้สึกว่า ในการทำงานเป็นทีมนั้น ผลงานของตนไม่ชัดเจนไม่มีความสำคัญ ฉันก็อยู่เฉย ๆ ดีกว่า ไม่รู้ว่าตนเองจะมีส่วนเสริม มีความสำคัญอะไร ก็รอ ๆ เกี่ยง ๆ ที่จะลงมือ ลงแรง หรือแม้แต่ที่จะออกความคิดเห็น

 

นักจิตวิทยายังพบอีกว่า ในทางกลับกัน หากว่างานที่เราต้องทำนั้นเป็นงานที่ไม่ได้ยากซับซ้อนเกินไป เรามีความถนัดในการทำงานนั้น ๆ พอสมควร และผลงานนั้นแยกออกมาได้ว่าอยู่ในความรับผิดชอบของใคร (ซึ่งต่างจากกรณีที่มีการกระจายความรับผิดชอบ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน) พบว่าการมีผู้อื่นอยู่ด้วย หรือมีผู้ชม หรือมีผู้แข่งขัน หรือแม้แต่มีเพื่อนร่วมงาน ก็ทำให้เราตื่นตัวและทำงานนั้น ๆ ได้ผลงานที่ดีมากขึ้น เช่น นักถีบจักรยานจะถีบได้เร็วขึ้นเมื่อมีผู้ชมอยู่ด้วย หรือถีบเป็นทีม (ถีบเป็นทีมแต่ก็สามารถรู้ได้ว่าใครถีบได้ช้า ถีบได้เร็ว) นักจิตวิทยาสังคมเรียกว่าเกิดการเอื้ออำนวยทางสังคม (Social Facilitation)

 

การอู้งานจะเกิดขึ้นมากหรือเกิดขึ้นน้อย พบว่า มีวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในวัฒนธรรมที่มีลักษณะการรวมกลุ่ม การรวมพวกกันสูง เรียกว่ามีความเป็นกลุ่มสูง หรือมี Collectivism culture เช่น วัฒนธรรมของญี่ปุ่น วัฒนธรรมของเอเชียบางชาติ ซึ่งเน้นการอยู่ร่วมกัน เน้นความสำเร็จของกลุ่มมากกว่าของบุคคล ความรู้สึกกระจายความรับผิดชอบนี้จะมีไม่มาก เมื่อทำงานเป็นกลุ่มก็พบว่ามีการอู้งานน้อยกว่าในประเทศที่มีลักษณะวัฒนธรรมที่มีความเป็นปัจเจกชนสูง หรือ Individualistic Culture ซึ่งมีลักษณะต่างคนต่างทำงาน เน้นความสำเร็จของแต่ละบุคคล เช่น อเมริกา ชาติตะวันตกทั้งหลาย ซึ่งหากทำงานเป็นกลุ่มแล้วและผลงานแบ่งแยกไม่ได้ว่าเป็นของใครจะพบว่ามีการอู้งานสูงกว่ามาก คราวนี้ก็มีคำถามที่น่าสนใจคือสังคมไทยในปัจจุบันมีลักษณะวัฒนธรรมเป็นแบบใด สังคมตะวันออกแบบไทยโดยรวมน่าจะมีความเป็นกลุ่ม (Collectivism) สูง แต่สำหรับประเทศไทยในสังคมเมืองปัจจุบันมีความเป็นปัจเจกชนสูง จึงทำให้เกิดการอู้งานได้มาก

 

 

2. อู้งานเกิดจากความคาดหวัง

 

อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นผลต่อมาจากความรู้สึกว่าเกิดการกระจายความรับผิดชอบในสังคมนั่นแหละ ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า ความคาดหวังที่ว่านี้ นักจิตวิทยาสังคมเอาทฤษฎีที่เกี่ยวกับความคาดหวังซึ่งเป็นทฤษฎีเรื่องแรงจูงใจอย่างหนึ่งมาใช้อธิบายว่าทำไมคนเราจึงเกิดการอู้งาน โดยเอามาเกี่ยวข้องกับความรู้สึกกระจายความรับผิดชอบ ทฤษฎีความคาดหวังจะมองว่า คนเราจะทำสิ่งต่าง ๆ ก็ต่อเมื่อ

 

  • เราทำแล้วเราคาดหวังว่าจะได้ผลงานเป็นเนื้อเป็นหนังออกมา เรียกว่าคาดหวังในผลงาน
  • เมื่อเราคาดหวังว่าได้ผลงานแล้ว เราจะคาดหวังต่อว่าการที่เราทำงานได้ผลงานนั้น ๆ ต้องทำให้เราได้รับรางวัล เรียกว่าเราคาดหวังในรางวัลนั่นเอง
  • เมื่อเราได้รับรางวัลแล้วนั้น รางวัลที่ได้รับนั้น ๆ ต้องเป็นสิ่งที่เราปรารถนา เป็นสิ่งที่เราอยากได้

 

เราต้องมีความคาดหวังอยู่ 3 อย่างนี้ จึงจะเกิดแรงจูงใจที่เพียงพอที่จะทำให้เราพยายามใช้ความรู้ความสามารถลงไปในการทำงาน ทีนี้พอมาทำงานรวมกันเป็นทีมงาน เราก็พบว่าความคาดหวังต่าง ๆ มันจะเปลี่ยนไปจากเมื่อเราทำงานเดี่ยว ๆ เช่น หากเราทำงานเดี่ยว ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างผลงานที่เราคาดหวังกับสิ่งที่เราทำลงไปจะได้ผลตามที่เราคาดหวังจะสูงกว่าในขณะที่เราทำงานเป็นกลุ่ม เพราะผลงานกลุ่มไม่ใช่ของ ๆ เราคนเดียว และเมื่อมันไม่ใช่ของเราคนเดียว ต่อให้เราทำไปได้ดีมากแค่ไหนก็ใช่ว่าผลงานนั้นมันจะเกิดขึ้นมาได้ดีแน่นอน เพราะคนอื่น ๆ ก็มีผลกระทบเช่นกัน คนอื่น ๆ อาจจะมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ คนอื่น ๆ อาจจะปัดแข้งปัดขา คนอื่นอาจไม่ให้ความร่วมมือ คนอื่นอาจจะไม่ทำ ที่บอกว่าเกี่ยวข้องกับการกระจายความรับผิดชอบก็ตรงนี้แหละ คือเราไม่ได้รับผิดชอบผลของงานชิ้นนั้น ๆ แต่เพียงคนเดียว เช่นเดียวกันกับความคาดหวังที่ว่าเมื่อเราได้ผลงานออกมาดี เราก็ควรจะได้รางวัล แต่ในการทำงานเป็นกลุ่มที่การให้รางวัลเป็นการให้เป็นภาพรวม คนเราก็จะทำรู้สึกว่าการที่ว่าได้ผลงานของตนออกมาดีก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้รางวัลที่มากตามไปด้วย ในเมื่อการให้รางวัลจะเป็นการให้แบบเฉลี่ย คือแบ่งเฉลี่ยกันไปในกลุ่ม ดังนั้นมันก็อาจจะไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นัก ในขณะที่เปรียบเทียบกับการทำงานเดี่ยว เมื่อเราทำงานได้ผลงานออกมาได้ดีมากเราก็มีแนวโน้มได้รางวัลมาก ความสัมพันธ์ในความเชื่อหรือคุณค่าที่ว่าทำสิ่งใดได้สิ่งนั้นก็จะชัดเจนมากขึ้น

 

นอกจากนี้ รางวัลที่เราได้ก็อาจจะไม่ตรงใจเราก็ได้ และเมื่อความคาดหวัง 3 อย่างนี้มันไม่ชัดเจน ไม่เข้มแข็งพอ ผลก็คือว่าเราก็จะไม่เกิดแรงจูงใจในการทำงานเป็นกลุ่ม เมื่อไม่มีแรงจูงใจก็ไม่พยายาม ไม่ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการทำงานเป็นกลุ่ม

 

 

การจัดการปัญหาการอู้งานของสมาชิกในทีม


 

การออกแบบงานสำหรับงานที่ต้องทำเป็นทีมถ้าออกแบบให้ดีจะช่วยป้องกันการอู้งานได้

 

  1. งานที่ทำเป็นทีมก็ควรที่จะเป็นงานที่จำเป็นต้องทำเป็นทีมจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างยานอวกาศ ทำอย่างไรคนๆ เดียวก็ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ในชาตินี้ เป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถจากสารพัดศาสตร์มาเสริมสร้างกันและกัน จึงจะทำยานอวกาศได้สำเร็จ ซึ่งไม่มีคน ๆ เดียวมีความรู้หมดทุกศาสตร์สาขาที่กล่าวมานี้
  2. งานที่ต้องทำเป็นทีมเป็นงานที่ต้องอาศัยการพึ่งพิงระหว่างทีมอย่างแท้จริง (Interdependent) จะขาดใครคนใดไปไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเช่นในการผ่าตัด ในทีมผ่าตัด ศัลยแพทย์ก็รับผิดชอบเรื่องการผ่าตัดไปซึ่งการผ่าตัดบางอย่างบางทีก็ต้องมีศัลยแพทย์หลายสาขา หลายคน ช่วยเหลือกัน
  3. ในการออกแบบงานควรออกแบบงานให้เกิดแรงจูงใจภายในหมายความว่างานที่จะให้ทีมนั้น ๆ ทำควรเป็นงานที่มีความสำคัญ มีความรับผิดชอบตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง มีผลย้อนกลับให้ทราบได้โดยตนเองว่างานนั้น ๆ ได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน ใช้ความรู้ใช้ทักษะที่หลากหลาย งานที่ทำควรจะสนุกโดยเนื้องาน มีความท้าทาย ถ้างานที่เอาให้ทีมทำ มีลักษณะดังที่ว่านี้ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่เกิดการอู้งาน เพราะทำงานแล้วได้ผลทันที อย่างน้อยก็เกิดความสุขใจที่ได้ทำงานนั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องมารอแบ่งรางวัลจากภายนอก แต่เกิดจากตัวงานเอง เกิดจากตัวผู้ลงมือทำงานหรือสมาชิกในทีมเอง
  4. การฟอร์มทีมที่ดี ไม่ควรมีขนาดใหญ่โตจนเกินไป สมาชิกในทีมที่มากเกินไป มักจะทำให้เกิดการกระจายความรับผิดชอบได้ง่าย เกิดการหลงหายในฝูงชน เกี่ยงงานกัน ยิ่งทีมมีขนาดใหญ่มากขึ้นไปเท่าใด ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้คนที่เป็นสมาชิกในทีมคิดว่า ฉันไม่มาสักคนก็คงไม่เป็นไร ฉันไม่ทำสักคนก็คงไม่เป็นไร ฉันไม่ช่วยคิดสักคนก็คงไม่เป็นไรหรอกมั้ง คราวนี้หลายคนก็ถามว่าแล้วขนาดทีมขนาดไหนหละที่น่าจะดี หรือกี่คน น่าจะกำลังดี คำตอบนี้ไม่ตายตัว แต่ก็มีข้อสังเกตว่าทีมมากกว่า 7 คนมีแนวโน้มที่จะสูญเสียความพยายามในการทำงานไปเนื่องจากกระบวนการกลุ่ม คราวนี้บางทีทีมมันก็จะจำเป็นต้องใหญ่อยู่บ้างในบางงาน อันนั้นก็ต้องตั้งให้ใหญ่ตามความจำเป็น ทางราชการนิยมตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ เป็นจำนวนมากมายแล้วก็ไม่ค่อยเกิดผลงานก็โดยเหตุนี้ แต่ถ้าจำเป็นก็อาจจะลดขนาดลง หรืออาจจะเป็นการตั้ง Working group หรือทีมขนาดย่อย หรืออนุกรรมการซึ่งน่าจะช่วยได้และมีความสะดวกคล่องตัวมากกว่าในการประสานงาน ในการจัดการอีกด้วย
  5. การคัดเลือกสมาชิกในทีม ควรเลือกสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถที่ชัดเจนเหมาะสมและจำเป็นสำหรับการทำงานที่ทีมนั้น ๆ ต้องรับผิดชอบ การเลือกสมาชิกไม่ควรเลือกเพียงเพราะเป็นการเกลี่ยให้มีตัวแทนจากทุกฝ่าย แต่ทว่าแต่ละคนต้องมีความรู้ความสามารถที่เป็นส่วนสำคัญของทีมนั้น ๆ อย่างแท้จริง ยิ่งหากแต่ละคนมีความรู้ความสามารถในส่วนที่แตกต่างกันไปหากแต่เสริมเติมเต็มกันและกัน และหากขาดใครคนใดคนหนึ่งในทีมไปเสียแล้ว ผลงานก็จะไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
  6. ควรเลือกสมาชิกในทีมที่มีนิสัยเข้ากันได้ มีความเชื่อมือ เชื่อใจกัน เลือกสมาชิกในทีมที่มีนิสัยรับผิดชอบในการทำงาน ไม่เอาเปรียบใคร การที่แต่ละคนมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันนี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากในการทำงานเป็นทีม แม้จะไม่ได้สนใจเรื่องการอู้งานเลยก็ตามที การที่คนไว้เนื้อเชื่อใจกันมาทำงานร่วมกัน ก็จะเชื่อว่าเมื่อมอบหมายงานใดให้คนใดไปทำแล้วจะไม่เกิดปัญหา สบายใจได้ ไม่มาทะเลาะกัน เชื่อว่าแต่ละคนหรือคนอื่น ๆ ในทีมงานจะไม่เอาเปรียบเรา
  7. การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการทำงานเป็นทีมต้องมีความชัดเจน ยิ่งเป้าหมายมีความชัดเจนเฉพาะเจาะจง มากเท่าใด ก็ยิ่งน่าจะเป็นผลดี ภาษาอังกฤษเรียกว่ามี Goal Specificity การมีเป้าหมายชัดเจนจะช่วยให้เห็นแผนการหรือวิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายของทีมได้ชัดเจนมากขึ้น การแบ่งงานก็จะง่ายมากขึ้น และการแบ่งงานชัดเจนก็ช่วยลดการอู้งานได้
  8. หัวหน้าทีมต้องสามารถสร้างแรงดลใจให้กับสมาชิกในทีมได้เกิดความผูกพันในเป้าหมาย เรียกว่าเกิด Goal Commitment โดยให้ทุกคนมีความรู้สึกร่วม มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันที่จะได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากหัวหน้างานสามารถทำให้ลูกทีมเกิด ความผูกพันกับเป้าหมายได้มากเท่าใด การที่จะเกิดการอู้งานก็จะน้อยลง เพราะทุกคนต่างก็จะมีใจที่จะทำงานให้บรรลุผลงานตามที่มุ่งหวังผูกพันร่วมกัน
  9. การสร้างวัฒนธรรมในการทำงานเป็นทีม ซึ่งมักเกิดตั้งแต่ต้นในการฟอร์มทีมและเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกระยะ ทำอย่างไรให้ทีมมีความเหนียวแน่น มีความสามัคคี มีความเป็นกลุ่มก้อนสูง (Collectivism) เน้นความสำเร็จร่วมกัน ก็น่าจะช่วยลดการอู้งานลงไปได้
  10. การมีบทบาทที่ชัดเจนของแต่ละคน (Role clarity) การแบ่งงานในการทำงานเป็นทีมต้องมีความชัดเจน ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร กับใคร เพื่ออะไร โดยใช้อะไร คำถามเหล่านี้ต้องตอบให้ชัด ๆ เฉพาะเจาะจงลงไป จะได้ไม่มีใครในทีมรู้สึกว่าตนเป็นคนไม่สำคัญ (Felt dispensable) แล้วอยู่เฉยๆ ดูคนอื่นในทีมทำงานไปเรื่อย ๆ
  11. หัวหน้าทีมต้องมีการเสริมแรงให้ทีมงานเสมอ ๆ ในการทำงานเป็นทีม การเสริมแรงที่ว่านี้อาจจะไม่จำเป็นที่ต้องเป็นการให้เงินให้ทอง ซึ่งเป็น การสร้างแรงจูงใจจากภายนอก แต่หากสมาชิกท่านใดทำงานดี ทุ่มเท เสียสละ เราก็อาจจะแสดงความชื่นชม ให้การยอมรับ ยกย่อง อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งการให้ผลย้อนกลับหรือ Feedback นี้ควรแจ้งให้ทราบด้วยว่าสิ่งที่สมาชิกในทีมทำได้ดีหรือสิ่งที่ทำไม่ได้ดีคืออะไร
  12. ต้องมีการสร้างศรัทธาในกันทำงานร่วมกัน การสร้างศรัทธานี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราได้มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีการฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยกัน เรียกว่าได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน เมื่ออยู่ในยามยากก็ไม่หนีหายไป คำว่าในยามยากอาจจะหมายรวมถึงการที่มีงานต้องทำแล้วก็ช่วยเหลือกันเต็มที่เมื่อถึงคราวที่จะต้องช่วยกัน อย่างนี้ก็น่าจะช่วยสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่กัน หากสมาชิกในทีมมีกระบวนการแบบนี้ มีการเสริมสร้างศรัทธาระหว่างกัน ก็น่าจะช่วยลดการอู้งานในการทำงานเป็นทีมลงไปได้
  13. การสร้างสำนึกและความรู้สึกให้กับทุกคนในทีมว่าในทีมนี้จะขาดใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ทุกคนต่างมีคุณค่าหรือมีส่วนร่วมในส่วนที่แตกต่างกันออกไป ทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในการทำงานเป็นทีม เป็นส่วนเติมเต็มของกันและกันในส่วนที่แต่ละคนบกพร่อง
  14. การให้ผลย้อนกลับสมาชิกของทีมอย่างตรงไปตรงมา ผู้นำในทีมต้องกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม (Assertive) คือบอกให้สมาชิกที่มีพฤติกรรมอู้งานทราบโดยตรง อย่างตรงไปตรงมา ว่าเราต้องการให้เขาปรับตัวอย่างไร โดยปราศจากอารมณ์ ถ้ามัวแต่เฉย เกรงใจกันต่อไป การอู้งานในการทำงานเป็นทีมก็จะยังคงอยู่ไปได้เรื่อย ๆ นอกจากนี้อาจจะใช้การปรับพฤติกรรมร่วมด้วยได้

 

ในการทำงานเป็นทีมต้องมีการประเมินผลงานซึ่งมีความสำคัญมาก ถ้าเราประเมินผลงานได้แต่ผลงานของทีม โดยที่การประเมินผลงานของแต่ละบุคคลไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถหาหรือจำแนกที่มาได้ว่าผลงานนั้น ๆ ในผลงานของทีมได้รับมาจากใคร เป็นผลงานของใครกันแน่ ๆ อย่างนี้มีแนวโน้มจะเกิดการอู้งานได้ง่าย เพราะว่าจะเกิดการเกี่ยงงาน เกิดความรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ความรับผิดชอบของฉัน อย่างไรก็ตามหากมีแต่การประเมินผลงานเฉพาะในระดับบุคคล จะทำให้คนที่ทำงานในทีมไม่ค่อยให้ความร่วมมือกันเสียเท่าไหร่ เพราะจะต่างคนต่างทำ ซึ่งการทำงานเป็นทีมโดยที่ออกมาเป็นภาพรวมอาจจะไม่น่าดูเลยก็เป็นไปได้

 

การประเมินผลการทำงานหากเป็นไปได้น่าจะประเมินทั้งในระดับบุคคลของสมาชิกแต่ละคนในทีม และในระดับทีมโดยภาพรวม อย่างแรกประเมินเพื่อให้เห็นว่าแต่ละคนมีส่วนอย่างไรบ้างในทีมงาน ลดการเกี่ยงงานการอู้งานลงไปได้ เพราะไม่สามารถปัดความรับผิดชอบออกจากตัวเองไปได้ ส่วนในการประเมินผลงานของทั้งทีม ก็เพื่อให้เกิดการประสานงานการทำงานร่วมกันเป็นทีมที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังอาจจะให้ในทีมเป็นกระจกเงาสะท้อนการทำงานของกันและกันได้

 

การให้รางวัลก็เช่นเดียวกัน หากแบ่งออกมาเป็นการให้รางวัลแบบเป็นทีม และให้รางวัลตามแต่ผลงานของแต่ละคนได้ก็คงเป็นการดีไม่ใช่น้อย เพราะจะช่วยลดความรู้สึกที่ว่า ฉันทำมากแต่ก็ได้รางวัลเท่ากับคนอื่น ฉันทำน้อยแต่ฉลาดกว่าก็ได้รางวัลเท่ากันกับคนอื่น อย่างนี้เกิดการอู้งานแน่ ๆ เพราะคงไม่มีใครที่อยากเป็นคนโง่

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ระแวง vs ระวัง

 

คุณเคยมีความรู้สึกแบบนี้กันบ้างหรือเปล่า?

 

  • คิดว่าคนอื่นนินทาว่าร้ายตนเองลับหลัง
  • เฝ้าครุ่นคิดถึงเจตนาในคำพูดและการกระทำของผู้อื่นในทางลบบ่อยครั้ง
  • คิดว่าคนอื่น ๆ พยายามหลีกเลี่ยง หลบหน้า ไม่อยากคบค้าสมาคมกับเรา
  • มักคิดว่าคนอื่นหลอกใช้ตนเอง
  • ไม่เชื่อใจใครแม้แต่คนใกล้ชิด เพราะคิดว่าสักวันก็คงจะไม่ซื่อสัตย์ หรือมีความลับกับเรา

 

ความรู้สึกสงสัยหรือคลางแคลงใจไม่ใช่เรื่องแปลก หรือผิดปกติแต่อย่างใด ตามธรรมดาแล้วคนส่วนใหญ่ต่างก็เคยรู้สึกสงสัย ข้องใจต่อบุคคลหรือเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตกันมาบ้างทั้งนั้น บางครั้งตัวเราเองอาจจะรู้ตัวดีว่ากำลังมีความรู้สึกสงสัยอยู่ แต่ในอีกหลาย ๆ ครั้งเราก็อาจจะมีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นในใจ โดยที่เราไม่ตระหนักรู้ตัว

 

คนเราแต่ละคนมีความรู้สึกหวาดระแวงมากน้อยแตกต่างกัน สำหรับบางคนอาจจะไม่ค่อยเกิดความรู้สึกประเภทนี้บ่อย ต้องมีหลักฐานชัดเจนเสียก่อนจึงจะเกิดความรู้สึกคลางแคลง หรือไม่ไว้ใจใคร ในขณะที่บางคนกลับมีลักษณะแบบนี้มากกว่าผู้อื่น หวาดระแวงบุคคล และเหตุการณ์รอบตัวจนเป็นนิสัย โดยที่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงมาสนับสนุนความเชื่อเหล่านั้น

 

 

ความระแวงกับความระมัดระวังแตกต่างกันอย่างไร?


 

แบบไหนจึงจะเรียกว่าเป็นคนระมัดระวัง รอบคอบ และแบบไหนจึงจะเรียกว่าเป็นคนขี้ระแวง?

 

ความหวาดระแวง เป็นลักษณะซับซ้อนที่ผสมผสานระหว่างความคิดและความรู้สึก เป็นความรู้สึกไม่เชื่อใจ ไม่ไว้วางใจสิ่งรอบตัว คนรอบข้าง โดยที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อของตนเอง หรือขยายสิ่งที่เห็นในทางลบหรือทางร้าย ลังเล สงสัยเกินความจริง รู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน เงินทอง สุขภาพ ความปลอดภัย เป็นสิ่งไม่มั่นคง และเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ความเชื่อประเภทนี้หากมีมากและบ่อยครั้ง อาจนำมาซึ่งสุขภาวะทางจิตที่ไม่ค่อยดีนัก และรบกวนการใช้ชีวิต เพราะเป็นตัวก่อความเครียด ความวิตกกังวล และอาจนำมาซึ่งความหดหู่ ซึมเศร้า และปัญหาทางอารมณ์อื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง

 

นอกจากนี้ ความหวาดระแวงยังเป็นตัวบั่นทอนความสัมพันธ์ ระหว่างเรากับคนรอบข้างด้วย ตัวอย่างเช่น ไม่ไว้ใจว่าลูกน้องจะทำงานได้สำเร็จ ไม่เชื่อใจว่าคู่รักจะซื่อสัตย์กับเราเพียงคนเดียว ไม่มีเพื่อนคนไหนที่จริงใจกับเรา ทุกคนที่เข้ามาในชีวิต ล้วนหวังตักตวงผลประโยชน์จากเราทั้งนั้น หากเป็นแบบนี้แน่นอนว่าสัมพันธภาพระหว่างกันคงพัฒนาได้ยาก หรืออาจนำมาซึ่งปัญหา และการทะเลาะเบาะแว้งกันก็ได้

 

ในขณะที่ผู้มีความระมัดระวังในการชีวิต จะเป็นผู้ที่รู้จักป้องกันให้สิ่งไม่ดี หรือเรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น โดยใช้เหตุผลในการพิจารณาไตร่ตรองความเป็นไปได้ ในความเลวร้ายของเหตุการณ์ หรือเมื่อสังเกตเห็นสัญญาณความผิดปกติ แล้วลงมือป้องกันไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เรื่องที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นแล้วค่อยกลับมานั่งแก้ไข หรือหวาดระแวงว่าจะเกิดเหตุร้ายนั้นขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ลังเล สงสัยในการกระทำของผู้อื่นเสมอ จะทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นและเป็นสุข ลองจินตนาการดูว่าหากเราใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา สงสัยในเจตนาของผู้อื่นตลอดเวลา คิดว่าผู้อื่นไม่หวังดี ไม่ให้ความสำคัญ ไม่นับถือ หรือพร้อมที่จะทรยศหักหลังตนเองอยู่เสมอ ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร? ในแต่ละวันคงจะต้องจมอยู่กับความสงสัย ไม่แน่ใจ วนเวียนอยู่กับความกังวล กลัวไปแทบทุกเรื่อง และเราก็คงต้องพลาดหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งมิตรภาพ ความผูกพัน และโอกาสดีต่างๆ ในชีวิต เพราะมัวแต่นั่งสงสัย หวั่นกลัวทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา

 

 

สาเหตุของความหวาดระแวง


 

 

1. อิทธิพลจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก

สิ่งที่เราประสบพบเจอในวัยเด็ก มีส่วนอย่างยิ่งในการหล่อหลอม และส่งผลต่อเราเมื่อเติบโตขึ้น ผู้ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความเชื่อว่าโลกใบนี้เป็นสถานที่ไม่ปลอดภัย ผู้คนรอบกายล้วนไม่น่าเชื่อถือ พึ่งพิงไม่ได้ ความเชื่อแบบนี้อาจส่งผลต่อเจตคติ และวิธีการมองโลกเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ให้มีความหวาดระแวง ไม่เชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจในมนุษย์ เพื่อป้องกันให้ตนเองปลอดภัย ไม่ต้องประสบกับความผิดหวัง การทรยศ หักหลัง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ถูกทำร้าย หรือถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก ก็จะเติบโตขึ้นมา โดยมีแนวโน้มจะไม่ไว้วางใจ และลังเลสงสัยในตัวบุคคลอื่น หากไม่ได้รับการปรับวิธีคิด หรือมีประสบการณ์ที่ดี และความสัมพันธ์ที่มั่นคงอื่นเข้ามาช่วยลบล้างความเชื่อแบบเดิมออกไป

 

2. บาดแผลจากอดีต

หลายต่อหลายคนอาจเคยเผชิญประสบการณ์เลวร้ายมาในอดีต เช่น เคยถูกเอาเปรียบ ถูกโกง ถูกนอกใจ หรือถูกว่าร้ายลับหลังให้เสียชื่อ ทำให้รู้สึกไม่เชื่อใจในตัวบุคคลอื่น หรือสิ่งแวดล้อมรอบข้าง จึงใช้ความหวาดระแวงมาเป็นกลไลในการป้องกันตนเอง ไม่ให้ต้องเผชิญความเจ็บปวดจากความผิดหวังอีก เป็นกลไกที่เราใช้รับมือกับความกลัว โดยการโยนความผิด เพ่งโทษไปที่ผู้อื่นแทน แม้ว่าบาดแผลทางใจ จะไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เหมือนกับความบาดเจ็บที่ถูกทำร้ายทางกาย แต่บาดแผลทางใจกลับเป็นสิ่งที่ฝังลึก และเยียวยาได้ยากกว่าบาดแผลทางกาย แม้จะเกิดจากการกระทำของคนเพียงบางคน หรือบางกลุ่ม แต่ก็สามารถลุกลาม กลาย เป็นการไม่ไว้วางใจคนอื่น ๆ ต่อไปได้อีก เมื่อไม่มีความจริงใจ ไม่เชื่อใจผู้อื่นแล้ว แน่นอนว่าการผูกพันแบบยั่งยืนย่อมไม่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นได้ และบางครั้งบาดแผลเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดเป็นความไม่ไว้วางใจคนที่คิดเห็นต่างกับเรา กลายเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกในที่ทำงาน การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางขั้วความคิดอีกด้วย

 

3. สภาพแวดล้อมที่อาศัย

งานวิจัยจำนวนหนึ่ง พบว่า คนที่อาศัยอยู่ในเมือง อยู่ในชุมชมที่มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สังคมที่มีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสูง คนรวยก็รวยมาก คนจนก็จนมาก สภาพการดำเนินชีวิตในสังคมที่มีความเครียด แก่งแย่งและแข่งขันกันสูงอย่างในปัจจุบัน มีส่วนทำให้คนมีความรู้สึกหวาดระแวงมากขึ้น คนในสังคมเมืองจึงแนวโน้มจะรู้สึกหวาดระแวงในการใช้ชีวิตมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในสังคมแบบชนบท หรือชุมชนที่สมาชิกมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันนอกจากนี้ การที่สื่อจำนวนมากประโคมข่าวสารอาชญากรรม ความรุนแรง หรือข่าวก่อการร้าย และประเด็นปัญหาสังคม จำนวนมาก และครึกโครมซ้ำไปซ้ำมา ทั้งที่หากพิจารณาอัตราส่วนแล้ว อาจไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างที่ผู้รับสื่อถูกทำให้รับรู้ ก็มีส่วนทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าอันตรายต่าง ๆ อยู่ใกล้ตัว และมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยหรือง่ายกว่าที่เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้เกิดความระแวงในการใช้ชีวิต กลัวไปทุกสิ่งทุกอย่างจนเกินกว่าเหตุ เมื่อต้องประสบเหตุการณ์ที่คลุมเครือที่มีโอกาสเกิดเรื่องร้ายแรง อันตราย ก็มีแนวโน้มจะคิด ประเมินว่าจะเกิดเหตุร้าย ถูกหักหลัง ระบุสาเหตุไปในทางร้าย ๆ มากกว่าจะประเมินว่าในความเป็นจริงว่าเหตุการณ์อาจเป็นอย่างอื่นก็ได้

 

4. ความวิตกกังวลและความซึมเศร้า

ผู้ที่มีอาการของโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าบางคน มีแนวโน้มจะมีความคิดหวาดระแวง เพราะผู้วิตกกังวลจะมีความรู้สึกกลัวมากกว่าคนปกติ ส่วนความซึมเศร้านั้นทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ขาดความนับถือในตนเอง จึงมีแนวโน้มตีความเจตนาในการกระทำของผู้อื่นผิดไปจากความเป็นจริง เมื่อประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือรับรู้พฤติกรรมผู้อื่น จึงมักจะคาดการณ์ไปในทางเลวร้ายเอาไว้ก่อน แทนที่จะคาดการณ์ไปในทางบวก หรือตามโอกาสที่เป็นไปได้จริงขณะนั้น

 

5. การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

ผู้มีอาการนอนไม่หลับมักใช้เวลาในช่วงกลางคืนเพียงลำพัง ทำให้มีเวลามากมายที่คิดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หากไม่สามารถจัดการกับความคิดฟุ้งซ่าน และความคิดที่กระจัดกระจายได้ เมื่อนอนไม่หลับบ่อยครั้งเข้า ประกอบกับสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เพราะขาดการนอนพักผ่อนอย่างพอเพียง จึงอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล ไม่มั่นคง คลางแคงใจในเรื่องต่าง ๆ รอบตัวขึ้นได้ง่าย

 

 

วิธีการแก้ไขนิสัย “ขี้ระแวง”


 

 

1. ให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเราเสียใหม่

ฝึกตัวเองให้คิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ รวมถึงผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อย่างรอบคอบ เป็นเหตุเป็นผล เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์หรือการกระทำของคนอื่นที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ชวนให้สงสัย ฝึกให้คิดถึงความเป็นไปได้ของสาเหตุ ที่มาที่ไปของเหตุการณ์นั้นอย่างรอบด้านให้มากที่สุด เพราะในความเป็นจริง เหตุผลในการกระทำของคนคนหนึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การที่เพื่อนเราไม่รับโทรศัพท์ อาจไม่ได้เป็นสัญญาณว่าเพื่อนหลีกเลี่ยง ไม่อยากคุยกับเรา แต่เขาอาจกำลังทำธุระบางอย่างที่ไม่สามารถรับโทรศัพท์ขณะนั้น เช่น ติดประชุม ขับรถ หรือซื้อของอย่างเต็มไม้เต็มมืออยู่ก็ได้

 

2. เรียนรู้ที่จะเชื่อใจ ไว้ใจผู้อื่นบ้าง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมอาจมีโอกาสต้องเจอคนที่ไม่ดี ไม่ซื่อสัตย์บ้างเป็นปกติ แต่ก็ยังมีคนที่จริงใจ เชื่อถือได้ ตรงไปตรงมาอยู่ในสังคมนี้อีกมากมาย ดังนั้นควรให้โอกาสแก่คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ได้พิสูจน์ตัวตนว่าเขาเป็นคนอย่างไร จากพฤติกรรมที่เขาปฏิบัติต่อเรา แทนที่จะตัดสินคนอื่นเพียงแค่ความลังเลสงสัยจากการคาดเดาเพียงเล็กน้อย เช่น ท่าทางแบบนี้ บุคลิกอย่างนี้ น่าจะเป็นคนกะล่อน ลื่นเป็นปลาไหล ไม่มีความจริงใจ คบไม่ได้ อย่างนี้ก็ดูจะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกตัดสิน และยังอาจตัดโอกาสที่เราจะได้คนดี หรือความสัมพันธ์ที่ดี ๆ เข้ามาในชีวิต ก่อนที่จะเรียนรู้ที่จะเชื่อใจผู้อื่น เราเองก็ควรที่จะเชื่อใจตนเองเสียก่อน เพราะบ่อยครั้งที่คนเราจะให้เหตุผลกับการกระทำของคนอื่น โดยเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของตัวเราเอง หรือใช้พฤติกรรมของตัวเราเองเป็นตัวตัดสิน และความระแวงคนอื่นก็เป็นผลพวงมาจากการให้เหตุผลของเจ้าตัวไปก่อนสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงมากกว่าที่จะมีหลักฐาน/ข้อเท็จจริงในเรื่องนั้น ๆ

 

3. แบ่งปันความคิดเห็นของตนเองกับผู้อื่น

ลองเล่าความเห็น ความรู้สึกของตนเองให้คนอื่นฟัง เพราะความเห็นของผู้อื่นในเรื่องเดียวกันจะช่วยสะท้อนเราว่ามีมองมุมเดียวหรือไม่ ผู้อื่นอาจจะมองเรื่องต่าง ๆ ในมุมมองที่ต่างไป ความเห็นของคนอื่น อาจช่วยให้เรามองสิ่งต่างๆ ตามจริงและรอบด้านมากยิ่งขึ้น

 

4. เปลี่ยนความระแวงให้เป็นระวัง

เราไม่จำเป็นต้องมองโลกสวยงามโดยไม่มีเงื่อนไข ไว้วางใจคนทุกคน หรือประเมินเหตุการณ์ทุกอย่างในทางบวกอย่างหลับหูหลับตา บางครั้งการระวังเอาไว้บ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรระมัดระวังโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานและข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพียงความคิดหรือความรู้สึกลอยๆ เพราะหากเรารู้จักระแวดระวัง รอบคอบ เตรียมตัวมาดี ก็จะสามารถป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดได้ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กหรือใหญ่ หากเราสงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไร ทั้งเรื่องของคู่รัก เพื่อนสนิท หรือเพื่อนร่วมงาน อย่าเก็บความสงสัยไว้ในใจให้มาเพาะบ่มเป็นความคลางแคลงใจ ควรเลือกที่จะถามออกไปตรง ๆ และให้เขาตอบมาอย่างตรงไปตรงมาจะเป็นทางที่ดีกว่ามานั่งคิด หรืออนุมานหาสาเหตุของพฤติกรรมเอาเอง

 

5. อย่านำประสบการณ์ร้าย ในอดีตมาตัดสินปัจจุบัน หรืออนาคต

มนุษย์ทุกคนล้วนต้องผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตมาอย่างหลากหลาย ทั้งร้ายและดี บางคนก็อาจมีสัดส่วนของประสบการณ์ชีวิตที่ขมขื่น มากกว่าประสบการณ์ที่หวานชื่น อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรเอาเรื่องร้าย ๆ ที่เคยผ่านเข้ามาในอดีต มาเป็นตัวเปรียบเทียบ หรือมาเป็นเกณฑ์ว่าจะต้องประสบแต่เรื่องเลวร้าย ผู้คนไม่จริงใจ หรือทรยศหักหลังเสมอ โปรดระลึกไว้ว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่ด้านมืดมิด แต่ยังมีด้านที่สว่างสดใสอยู่ด้วยเป็นธรรมดา ดังนั้นผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดกับเราไม่จำเป็นต้องซ้ำรอยเดิมเสมอไป

 

6. พยายามไม่ตำหนิหรือโทษการกระทำของคนอื่น

บางครั้งการที่เราตำหนิ โต้เถียง พร่ำบ่นคนอื่นบ่อย ๆ อาจทำให้ติดเป็นนิสัยโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนิสัยแบบนี้จะทำให้เราไม่เห็นถึงความจริงที่ว่า ตัวเรานี่เอง ที่ไปโทษคนอื่นหรือเหตุการณ์ภายนอกแทบทุกเรื่อง จึงมีมุมมองเรื่องต่าง ๆ ไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นไปตามความจริง และเป็นการมองเพียงด้านเดียว เพราะหลายต่อหลายครั้งที่เราโทษคนอื่น คิดว่าเขาจะทำเรื่องไม่ดี โดยที่ไม่คิดอะไรมากมาย ระแวงสงสัยไว้ก่อน ก็ง่ายกว่าการที่จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในเรื่องนั้นอย่างรอบด้าน ซึ่งต้องอาศัยทั้งเวลาและความคิดที่มากกว่า

 

7. ปรับวิถีชีวิต

ดูแลสุขภาพร่างกาย การรับประทานอาหาร และการนอนหลับพักผ่อนให้เหมาะสม เพราะหากปล่อยให้ร่างกายเหนื่อยล้า อยู่ในสภาพย่ำแย่ ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างแน่นอน ผู้ที่อ่อนเพลีย เจ็บป่วย พักผ่อนไม่เพียงพอ ย่อมมีแนวโน้มเกิดอารมณ์หงุดหงิด เคร่งเครียด สับสน ซึ่งจะนำไปสู่การคิดแบบฟุ้งซ่าน และความคิดแบบหวาดระแวงได้

 

8. การทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง

หากความหวาดระแวงเกิดจากความวิตกกังวลหรือความเครียด การทำสมาธิ หรือการฝึกให้มีสติกับปัจจุบันขณะ โดยอาจใช้การฝึกสมาธิหรือฝึกสติตามแบบที่ถนัด หรือออกกำลังกายในรูปแบบที่ต้องอาศัยการฝึกสติร่วมด้วย เช่น โยคะ ชี่กง หรือไทเก็ก ก็จะช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความคิดฟุ้งซ่าน ความวิตกกังวล ความหวาดระแวงได้

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์กมลกานต์ จีนช้าง

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

Mindfulness – สติ

 

 

 

ในทางพุทธศาสนาได้ให้ความหมายของคำว่าสติไว้ว่า สติคือการระลึกได้ การไม่ลืม การไม่เผลอ การไม่เลินเล่อ การไม่ฝันเฟื่อง การไม่เลื่อนลอย การระมัดระวัง การตื่นตัวต่อหน้าที่ การมีสมาธิ การที่จิตอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้น สภาวะที่มีความตื่นตัวต่อการรับรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ และตระหนักรู้ได้ว่าควรโต้ตอบต่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้นอย่างเหมาะสมได้อย่างไร

 

โดยทำหน้าที่เหมือนกับผู้เฝ้าระวัง เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของจิตใจ ทำหน้าที่กำหนดรู้ต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 และรวมถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นในจิตใจ ทำให้สติเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากเป็นสิ่งที่คอยกำกับพฤติกรรมทั้งภายในและภายนอกให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต, 2555)

 

 

ในทางตะวันตกหรือในทางจิตวิทยาก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับสติเป็นจำนวนมากและได้นิยามความหมายไว้ว่า

 

สติ (mindfulness) คือ คุณลักษณะของบุคคลที่จะสามารถมุ่งใส่ใจต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันขณะ โดยส่งผ่านจากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่งในลักษณะที่ต่อเนื่องกัน โดยที่บุคคลยอมรับและเปิดรับต่อประสบการณ์โดยไม่ประเมิน วิเคราะห์ และตัดสิน ซึ่งเป็นการยอมรับต่อประสบการณ์หรือปรากฏการณ์นั้น ๆ อย่างสมบูรณ์

นักจิตวิทยามองว่าสติเป็นกลุ่มของทักษะที่บุคคลสามารถเรียบรู้และฝึกฝนได้ โดย Dimidjian และ Linehan (2003) ได้จำแนกทักษะที่เป็นองค์ประกอบของสติได้ 4 องค์ประกอบ ได้แก่

 

  1. การสังเกต – ความสามารถในการรับรู้และใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น เสียง สัมผัส และกลิ่นรอบตัว รวมทั้งการสังเกตปรากฏการณ์ภายในบุคคล เช่น การสังเกตการรับรู้ กระบวนการทางความคิดและอารมณ์
  2. การบรรยาย – ความสามารถในการระบุและวิเคราะห์อย่างไม่ตัดสินต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการรับรู้ของจิตและมุ่งให้ความสนใจต่อกระบวนการของจิต พร้อมทั้งเปลี่ยนทัศนคติให้ไม่มีการตัดสินและคาดเดาเกี่ยวกับสิ่งนั้น
  3. การแสดงออกด้วยความตระหนักรู้ – ความสามารถในการทำกิจกรรมหรือแสดงพฤติกรรมของบุคคลอย่างมีความตระหนักรู้ต่อตนเองผ่านการมุ่งความสนใจไปที่พฤติกรรมนั้นๆ โดยไม่มีการแบ่งสติไปกับสิ่งอื่น ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับการตอบสนองอัตโนมัติที่เป็นพฤติกรรมที่ทำไปโดยขาดความตระหนักรู้
  4. การยอมรับ – ความสามารถในการที่จะยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการตัดสินผ่านการหยุดการประเมินหรือการจำแนกที่มีต่อสิ่งต่างๆ เช่น ดี/ไม่ดี ถูก/ผิด หรือ มีค่า/ไม่มีค่า และอยู่กับความเป็นจริงโดยไม่หลีกหนี หลบหนี หรือพยายามเปลี่ยนแปลง

 

การฝึกสติถูกนำมาใช้ในการบำบัดโดยหลายแนวคิดและวิธีการตามการให้คำนิยามเกี่ยวกับโครงการและกระบวนการของสติ เช่น

 

1. แนวคิดการบำบัดแบบ Mindfulness-Based Stress Reduction (MBSR)

เป็นการบำบัดโดยมุ่งสนใจต่อการรับมือกับอาการเจ็บปวดเรื้อรัง และอาการที่เกี่ยวข้องกับการเครียด ในลักษณะที่สนับสนุนให้บุคคลเสริมสร้างและพัฒนาความตระหนักรู้ต่อตนเอง การยอมรับต่อประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่มีต่อสิ่งต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกบุคคล และลดพฤติกรรมที่กระทำอย่างเป็นอัตโนมัติ รวมถึงพฤติกรรมที่ขาดความยืดหยุ่นที่เป็นปัญหาต่างๆ อย่างบุคคล ผ่านกิจกรรมอย่างเช่น กำหนดจิตอยู่กับลูกเกด หัตถะโยคะ เดินจงกรม เป็นต้น

2. แนวคิดการบำบัดแบบ Mindfulness-Based Cognitive Theory (MBCT)

เป็นการบำบัดที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในกระบวนการป้องกันไม่ให้อาการทางจิตต่างๆ กลับมาใหม่ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก โรควิตกกังวล โดยให้บุคคลได้สำรวจความคิดที่เป็นอัตโนมัติ เพื่อให้เข้าใจต่อกระบวนการความคิดของตนเองมากยิ่งขึ้น และในตอนท้ายของกระบวนการบำบัดจะมีการออกแบบวางแผนเชิงพฤติกรรมเพื่อสนับสนุนให้บุคคลไม่กลับมาเป็นตามอาการเดิมอีก หรือช่วยให้สามารถรับมือกับอาการต่างๆ ได้ดีขึ้น ผ่านกิจกรรมในรูปแบบ MRSR ผสมผสานกับการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT)

3. แนวคิดการบำบัดแบบ Acceptance and Commitment Therapy (ACT)

เป็นการบำบัดที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยรับมือปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางความคิดและความรู้สึกที่ส่งผลในเกิดความทุกข์ทางจิตใจของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกผ่านภาษาและคำพูด โดยมีความเชื่อว่า พื้นฐานของปัญหามนุษย์เกิดจากการหลีกเลี่ยงในการเผชิญหน้าต่อประสบการณ์ การยึดติดต่อความคิดตนเอง และความไม่ยืดหยุ่นในกระบวนการทางจิตใจ นำไปสู่การละเลยในการลงมือปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหา แนวทางการบำบัดนี้จึงเอื้อให้บุคคลได้สำรวจตนเอง เข้าใจความคิดความรู้สึกและการกระทำของตนเอง เกิดความยืดหยุ่นทางความคิด และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง

4. แนวคิดการบำบัดแบบ Dialectical Behavioral Therapy (DBT)

เป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการของการยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงเข้าด้วยกัน ถูกนำไปใช้กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบ Borderline และบุคคลที่มีประวัติการฆ่าตัวตาย รวมถึงกลุ่มอาการอื่นๆ ด้วย DBT ออกแบบมาเพื่อช่วยให้บุคคลเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม รวมเข้ากับการฝึกทักษะต่างๆ ทางด้านเจริญสติ เพื่อให้บุคคลพัฒนาความสามารถในการควบคุมจิดใจของตนเอง รวมถึงปัญญาหรือความสามารถในการเห็นความจริงและการตอบสนองได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่การกระตุ้นให้บุคคลเกิดภาวะสมดุลทางจิต ระหว่างจิตที่เป็นตัวแทนของเหตุผลและจิตที่เป็นตัวแทนของอารมณ์

 

 


 

ข้อมูลจาก

“การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสติ การกำกับอารมณ์แบบปรับปลี่ยนความคิดการกำกับอารมณ์แบบเก็บกด และสุขภาวะทางจิต” โดย ฏาว แสงวัณณ์ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55534

 

ดูผู้ชายอย่างไร ว่าใครรักจริงหวังแต่ง

 

บทความนี้ขอเสนอจิตวิทยาเพื่อคุณผู้หญิงโดยเฉพาะสักนิดค่ะ แต่คุณผู้ชายถ้าเข้ามาแล้วอย่าเพิ่งปิดหน้าต่างไปไหน เพราะอ่านไว้ไม่เสียหลาย และสำหรับใครที่ยังไม่มีความคิดที่จะออกเรือนเร็วๆ นี้ ท่านก็อาจจะอ่านเผื่อเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรืออ่านดูว่าตรงกับประสบการณ์ของท่านเพียงใด หรืออ่านไว้เผื่ออนาคตก็ได้ค่ะ

 

ก่อนอื่นก็ขอมีข้อตกลงอย่างหนึ่งก่อนนะคะว่า เราจะพูดถึงการใช้เหตุใช้ผล ใช้ความคิดพิจารณาในเรื่องที่เราชอบเรียกกันว่าเป็นเรื่องของ “หัวใจ” คุณผู้อ่านคะ จะซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง รถยนต์สักคัน หรือบ้านสักหลัง เรายังคิดแล้วคิดอีก สืบค้น แสวงหาข้อมูล กลัวว่าจะเสียเงินเสียทอง เสียเวลาทุ่มเทไปเปล่า ๆ กับสิ่งที่ไม่คุ้มค่า ดังนั้นคุณผู้อ่านคงไม่รังเกียจการพิจารณาคู่รักของเราด้วยสมองด้วยเหตุด้วยผลนะคะ

 

 

การจะดูผู้ชายว่าคนไหนรักจริงหวังแต่งนั้น จะเริ่มดูที่สัญญาณอันตรายบางประการดังนี้ค่ะ

 

หลังจากที่คบกันมาระยะหนึ่งแล้ว เขายังเอ่ยถึงสิ่งต่าง ๆ ด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง “ผม” แทนที่จะเป็น “เรา” เขาพูดถึงอนาคต สิ่งที่ “ผม” จะทำ สถานที่ ๆ “ผม” อยากจะไป ข้าวของเครื่องเรื่อนเครื่องเสียงที่ “ผม” กะจะซื้อ และอาจจะรวมถึงผู้หญิงประเภทที่ “ผม” ชอบด้วย!

 

เมื่อคุณผู้หญิงเห็นสัญญาณการเอ่ยถึงสิ่งต่าง ๆ ด้วยคำว่า “ผม” แทนที่จะเป็น “เรา” เช่นนี้บ่อย ๆ แล้วละก็ เตรียมทำใจไว้นะคะ หรือคุณจะหาโอกาสปฏิเสธคำชวนให้ “ไปเป็นเพื่อนผม” อย่างนั้นอย่างนี้ ซะเลยก็ไม่เลวค่ะ

 

นอกจากนี้ ถ้าเวลาเขาอยู่กับคุณ เขาแสดงความสนใจผู้หญิงอื่นบ่อย ๆ หรือ “ขอ” ให้คุณเปลี่ยนแปลงรูปโฉมชนิดไม่ธรรมดาสำหรับคุณ เช่น เปลี่ยนสีผม ทำจมูก ดูดไขมัน ลดเอว เพิ่มอก เจาะสะดือ สักลวดลาย เป็นต้น ก็อาจส่งสัญญาณบ่งบอกว่าคุณน่าจะกำลังเป็นตุ๊กตาของเล่น เพราะฉะนั้น เปิดโอกาสให้กับคนอื่นที่จะรักโดยที่คุณเป็นตัวคุณเองดีกว่าค่ะ

 

ผ่านมาสองหัวข้อ จะเห็นแล้วว่าสัญญาณต่าง ๆ นั้นอาจเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ไม่ยาก ไม่ต้องให้ใครมาบอกก็ได้ แต่บางครั้ง เราไม่อยากรับรู้ เรามัวไปเชื่อว่า “เรื่องของหัวใจ คิดมากไปจะไม่โรแมนติก”แต่คุณผู้อ่านคะ การดำเนินชีวิตไปตามอำเภอใจอย่างไร้เหตุผล มักให้ความสุขระยะสั้น แต่นำไปสู่ทุกข์มหันต์ในระยะยาว เรามาเป็นคนหูตาสว่างกันดีกว่าค่ะ

คุณผู้หญิงคะ สัญญาณอันตรายที่สังเกตไม่ยากว่าเขาไม่หวังแต่งประการต่อมาคือ หากคุณคบหาคู่รักของคุณมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เขายังไม่เคยแนะนำให้คุณรู้จักญาติสนิทมิตรสหายของเขาเลย มีอาการอ้ำอึ้งบ่ายเบี่ยง หรือเปลี่ยนหัวข้อสนทนาเมื่อคุณถามถึงเพื่อนฝูง พ่อแม่พี่น้องของเขา หรือเขาอาจจะเล่าให้ฟัง แต่ไม่เคยชวนคุณไปทำความรู้จักเลย น่าสังเกตนะคะ

นอกจากนี้ สัญญาณที่น่าคิดอีกประการหนึ่งคือ คุณมักสงสัยเสมอว่า สุดสัปดาห์นี้ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์นี้ เขาและคุณจะมีรายการไปไหนทำอะไรด้วยกันหรือไม่ และคุณต้องเป็นฝ่ายคอยให้เขาติดต่อมา คุณตกอยู่ในความกำกวมนี้บ่อย ๆ หรือเขามักนัดคุณอย่างกะทันหัน กระชั้นชิด ติดต่อคุณในนาทีสุดท้าย และคุณต้องหลอกตัวเองบ่อย ๆ ว่า “เขางานยุ่ง” “เขาเรียนหนัก” “เขาญาติเยอะ” “เขาแคร์เพื่อน” หรือแม้กระทั่ง “เขาขี้ลืม” ลักษณะนี้เป็นไปได้ไหมคะว่า เขาไม่ได้จัดให้คุณมาก่อน หรือไม่ได้จัดให้คุณมีความสำคัญในลำดับต้น ๆ ในชีวิตของเขา

 

คุณผู้หญิงคะ ในความสัมพันธ์เมื่อคุณและคู่รักคบหากันมานานพอสมควรแล้ว หากทุกครั้งที่คุยโทรศัพท์กัน เขาจบท้ายด้วยประโยค “วันหลังผมจะโทร.มาใหม่นะ” หรือ “แล้วผมจะโทร.มาคุยนะ” เป็นปกติวิสัยเช่นนี้แล้ว ก็มักส่งสัญญาณว่าเขาคงปล่อยให้คุณคอยเคว้งคว้างไปเรื่อย ๆ เขาคงไม่หวังจะแต่งกับคุณ หรือเขาอาจจะไม่ใช่ผู้ชายประเภทที่หวังจะแต่งกับใครทั้งนั้น

 

เราได้ทราบกันแล้วถึงสัญญาณหรือพฤติกรรมของชายคู่รัก ที่ทำให้คิดได้ว่าถ้าคบกันต่อไปน่าจะเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและตัวเราไปเปล่า ๆ เพราะเขาคงไม่หวังแต่งกับเรา และอาจจะไม่ยอมแต่งกับใครทั้งนั้น ผู้ชายประเภทนี้เป็นอย่างไรบ้าง เราจะดู และจำแนกว่าแตกต่างจากผู้ที่รู้จักรอคอย ต้องการดูใจกันให้รอบคอบได้หรือไม่

 

 

ลักษณะทั่ว ๆ ไปของผู้ไม่มีวันรักจริง อาจสรุปได้เป็นประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

ประเภทแรก ผู้ชายชอบพิชิต เขาสนใจการเอาชนะใจสาว ๆ ไปเรื่อย ๆ เท่านั้น การอยู่กับผู้หญิงคนเดียวคนเดิมจะน่าเบื่อสำหรับเขา เขาจะใช้กลเม็ดเด็ดพราย เทคนิควิธี ต่าง ๆ นานา เพื่อพยายามให้คุณใจอ่อนแล้วยอมเขา แต่ขณะอยู่ด้วยกันคุณจะรู้สึกเหมือนเขาไม่ได้อยู่กับคุณ และไม่นานเขาก็จะไล่ล่าหาเป้าหมายใหม่ ๆ ต่อไป นอกจากนี้คุณอาจจะพบว่า เขาหว่านเสน่ห์ให้กับสาว ๆ หลาย ๆ คนในเวลาเดียวกันด้วย

 

ประเภทที่สอง ผู้ชายหลงตัวเอง เขาพูดเกี่ยวกับตัวเองตลอดเวลา แค่คุณทนฟังเขา คุณก็เป็นคู่สนทนาที่ดีในสายตาเขาแล้ว เขาไม่สนใจที่จะรู้จักคุณอย่างจริงจัง เขามองว่าตัวเองสำคัญมาก คุณจะพบว่าเขาเดินนำหน้าคุณอยู่สองสามก้าวเสมอ เขาจะพาคุณไปในที่ ๆ จะมีคนพบเห็นเขาหรือเขาจะได้พบปะคนมาก ๆ เขามักสั่งอาหารและเครื่องดื่มโดยไม่ถามความเห็นของคุณ เขาห่วงใยดูแลตัวเองเป็นอย่างดี พิถีพิถันในการเลือกเสื้อผ้าอาภรณ์ เขามักจะหวังแต่ง แต่เป็นแต่งเนื้อแต่งตัว แต่งผมแต่งเล็บ แต่ไม่ได้แต่งกับคุณค่ะ

 

ประเภทที่สาม ผู้ชายทุ่มเท เขาทุ่มเทให้กับงาน ชีวิตเขามีกำหนดการ ระบบระเบียบลงตัว ไม่มีที่ว่างสำหรับคุณหรือใคร ๆ เขามีเป้าหมายที่สูงส่ง และตั้งมาตรฐานไว้สูงลิบ เขามีความสุขแล้วที่จะอยู่กับงาน เขามักจะบอกผู้อื่นว่าเขาต้องการพบคนที่ถูกใจแต่ไม่มีเวลา และเขาก็ไม่มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับใครจริง ๆ เขาอาจสนใจผู้ที่จะสามารถมาดูแลคอยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตเขา แต่เขาก็จะรักและ “แต่งกับงาน” ของเขาต่อไป

 

ประเภทที่สี่ ผู้ชายอีกประเภทหนึ่งที่ไม่หวังแต่ง คือ ผู้ที่ติดสิ่งต่าง ๆ ค่ะ คุณผู้หญิงคะ ถ้าคู่รักของคุณ “ติดเหล้า” “ติดยา” “ติดพนัน” “ติดเกม” อนาคตเขาคงจะไม่ติดใจหวังแต่งกับคุณ มีแต่โอกาสจะติดคุกติดตะรางค่ะ เขาตกเป็นทาสของสิ่งที่เขาติด ยากที่คุณจะได้เข้าไปอยู่ในหัวใจเขา กรณีนี้รวมถึง “ติดแม่” ด้วยนะคะ

 

ประเภทที่ห้า ผู้ชายช้ำ ผู้ชายช้ำคือผู้ชายที่เลิกกับภรรยาหรือคู่รักเก่าแล้ว หรือหลอกคุณว่าเลิกแล้ว หรือยืนยันกับคุณว่ากำลังจะเลิก ในกรณีที่เขายังไม่ได้หย่าร้างอย่างเป็นทางการ แม้จะแยกกันอยู่มาเป็นเวลานานแล้ว คุณก็ไม่เห็นเขาริเริ่มดำเนินการตามกฎหมายแต่อย่างใด เขาพูดถึงคนรักและความรักในอดีตให้คุณฟังบ่อยมาก อาจจะเป็นเรื่องเดียวที่เขาพูดถึงด้วยซ้ำ คุณอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าเขายัง “ตัดไม่ขาด” และอาจกลับไปคืนดีกันใหม่ได้ทุกเมื่อ เขาพร่ำพรรณนาว่าเขาไม่ได้เป็นฝ่ายผิด เขาน่าสงสาร เขาต้องการคนที่จะเข้าใจเขา รู้ใจเขา เห็นอกเห็นใจเขา แต่เขายังไม่พร้อมที่จะ “แต่งใหม่” เขาขอให้คุณรอจนกว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย และ…ทุกอย่างก็ไม่เคยเรียบร้อย หรือระหว่างความพยายามเยียวยาแผลหัวใจให้กับคู่รักประเภทชายช้ำของคุณ ไม่ช้าไม่นานต่อมา คุณอาจจะเริ่มพบว่าเขามีพฤติกรรมแปลก ๆ ถี่ขึ้น ๆ เช่น ผิดเวลา ขอยกเลิกนัด หรือหายหน้าหายตาไปเป็นช่วงนาน ๆ เมื่อคุณพยายามซักไซ้ไล่เรียง เขากลับขอให้คุณระบุว่า คุณต้องการพบเขาเดือนละกี่ครั้ง วันอะไรบ้าง ตราบใดที่คุณไม่เรียกร้อง “เกินเหตุ” เขาก็จะยังคงไปมาหาสู่ แต่ขออย่ามาพูดเรื่อง “แต่ง ไม่แต่ง เลิก ไม่เลิก” ให้เขาได้ยิน ก็เขาไม่หวังแต่งซ้ำแต่งซ้อนจริง ๆ นี่คะ

 

 

ผู้ชายที่น่าคบหาใกล้ชิดสนิทสนมมีลักษณะอย่างไร?

 

ผู้ชายที่รักจริงหวังแต่ง จะมองว่าคุณเป็นส่วนที่เติมเต็มให้กับชีวิตเขา ทำให้เขารู้สึกครบถ้วน รู้สึกสมบูรณ์ขึ้น เขาจะเล่าความในใจลึก ๆ ของเขาให้คุณฟัง คุณจะเป็นผู้รับรู้ความหวัง ความฝัน และความกลัวของเขา และเขาจะมีคุณอยู่ในแผนชีวิตของเขาอย่างอัตโนมัติ คุณไม่ต้องกังวลสงสัยอีกต่อไปว่า สุดสัปดาห์นี้ วันหยุดนักขัตฤกษ์นี้ จะมีแผนการอะไรกับเขาหรือไม่ คุณจะไม่ต้องเฝ้าคอยว่าเมื่อใดโทรศัพท์จะดัง เพราะคุณจะรู้ และคุณมีความมั่นใจที่เกิดจากความรู้สึกดี ๆ ในน้ำเสียงของเขาเมื่อคุณเป็นฝ่ายโทรไป

 

ผู้ชายที่รักจริงหวังแต่ง เขาจะแนะนำคุณกับครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายของเขา สังคมก็นับเขาและคุณว่าเป็นคู่กัน คุณได้รับเชิญไปงานต่าง ๆ ของทางบ้านเขา คุณรู้สึกมั่นคงในการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา

 

ผู้ชายที่รักจริงหวังแต่ง จะปฏิบัติต่อคุณอย่างอบอุ่น ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น เขาไม่กลัวที่จะแสดงความรู้สึกที่เขามีต่อคุณ เขาพาคุณเข้าไปหาคนรู้จักที่บังเอิญพบกันในสถานที่ต่าง ๆ เขาให้เกียรติคุณ และแนะนำคุณอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำ คุณและเขาสนับสนุนประคับประคองซึ่งกันและกัน เขาจะอยู่เคียงข้างคุณ ร่วมทั้งทุกข์และสุข ไม่เป็นนินจาเดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่

 

ท้ายที่สุด หากทั้งคุณและคู่รักกำลังอยู่ในจังหวะของชีวิตที่เหมาะเจาะ พร้อมที่จะ “ออกเรือน” โอกาสที่รักแท้จะลงเอย สมหวัง ได้ “แต่งกัน” ก็สูงขึ้นค่ะ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เติมความสดใสให้กับความรัก

 

เราคงทราบกันดีว่า การจะมีความรักกับใครสักคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ยากกว่าการได้มาซึ่งความรักก็คือ การรักษาชีวิตรักให้สดใสยั่งยืน เรื่องของความรักเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ จะคิดว่าเป็นของตายอยู่ในมือแล้วจะทำเผลอไผล ลืมเลือนไปบ้างน่ะ… ไม่ได้นะคะ ไม่อย่างนั้นกว่าจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปเสียแล้ว

 

“ใส่ใจกับความรักเพียงวันละนิด แล้วชีวิตจะสดใสไปอีกนานแสนนาน”

 

เรื่องแรกที่เราควรใส่ใจ นั่นคือ เราต้องทำให้ความรักที่มีเป็นความรักที่แข็งแรง ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยคาถาบทนี้ ท่องไว้เลยนะคะ “เราจะเคารพและให้เกียรติกัน” อันนี้ไม่ถึงกับต้องกราบมือกราบเท้ากันทุกวี่ทุกวันนะคะ การเคารพและให้เกียรติกันในความรัก คือการเชื่อใจและให้อิสระต่อกัน ไม่พยายามบังคับจิตใจกันให้ต้องยอมทำตามเราทั้งที่เขาไม่ชอบหรือไม่สบายใจ ตรงนี้สำคัญมาก บางคนชอบทดสอบความรักด้วยการ “เรียกร้อง” ให้อีกฝ่ายทำตามที่เราต้องการ โดยไม่คำนึงว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร หรือกำลังติดงานอะไรอยู่ คิดแต่ว่า “ถ้ารักกันก็ต้องทำให้กันได้” หรือ “ถ้าไม่ทำให้แปลว่าไม่รัก” แรกรักกันใหม่ ๆ ก็คงยอมตามใจกัน แต่คนเรามีศักดิ์ศรี มีความเป็นตัวของตัวเองกันทั้งนั้น ถ้าเราคิดแต่ความสุข ความต้องการ ความสบายใจของเราเพียงฝ่ายเดียว นั่นก็หมายความว่าเรากำลังไม่ใส่ใจกับคนที่รักแล้วนะคะ แล้วเจ้าความไม่สบายใจ อึดอัดใจ หงุดหงิดใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ที่เราทยอยใส่ลงไปในหัวใจของคนรักวันละนิดวันละหน่อยนี่ล่ะค่ะที่จะสะสมเป็นพิษร้ายกัดกร่อนความรักอันแสนหวานของเรา ลบล้างความดีงาม ความสดใสของความรักลงไปทีละนิด กว่าจะรู้ตัวก็อาจจะแก้ไขอะไรได้ลำบาก

 

 

การ “เคารพและให้เกียรติกัน” ต้องทำอย่างไรบ้าง?

 

ขั้นแรกคือ ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยปกติแล้ว คนรักกันก็มักจะสนิทสนม รู้ใจกันดีอยู่แล้ว และเมื่อรู้ใจกัน รู้ว่าเขาชอบ-ไม่ชอบอะไร การเอาใจเขามาใส่ใจเราก็ไม่ใช่เรื่องยาก พูดง่าย ๆ ก็คือเราควรรู้ใจเขาและพยายามใส่ใจในความสุขความสบายใจของคนรัก โดยที่เราเองก็ต้องมีความสุขกับการเอาใจเขาด้วยนะคะ ไม่ใช่ต้องฝืนใจทุกข์ใจ โดยสรุปก็คือขอให้ “ทำในสิ่งที่เขาชอบ และไม่ทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบ โดยที่เราเองก็ยังรู้สึกสบาย ๆ ไม่กดดันตัวเองจนมากเกินไป” คือเราควรจะพยายามเข้าใจความรู้สึก ความต้องการของคนรัก สามารถพูดคุยสื่อสารกันได้อย่างเปิดใจ หากจะมีข้อขัดแย้งกันหรือเมื่อเราต้องทำอะไรที่อาจจะทำให้คนที่รักไม่สบายใจ ก็ต้องมีการพูดคุยกัน มีการระมัดระวังความรู้สึกของกันและกัน ต้องผ่อนหนักผ่อนเบาและถนอมน้ำใจกันให้มากเข้าไว้ ใคร ๆ ก็อยากรู้สึกสบายใจกันทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่กับคนที่รัก ถ้าเราอยู่ใกล้ใครแล้วมีแต่ความสบายใจ รับรองว่าไม่มีการหนีหายไปไหนหรอกค่ะ ถ้าคู่รักคู่ไหนทำสิ่งเหล่านี้ให้กันได้ การันตีเลยค่ะว่าคุณทั้งสองจะได้ช่วยกันเติมความสดใสให้กับความรักได้อย่างแน่นอน

 

เหมือนตัวอย่างที่ชายหนุ่มคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “แฟนผมเป็นคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ เธอเอาใจใส่ผมเป็นอย่างดี ที่น่ารักคือเธอรู้ใจว่าผมชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เธอจะคอยนึกหาอะไรสนุก ๆ มาทำร่วมกันในวันหยุดได้ตลอด บางทีก็ไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือไม่ก็ไปดูหนังดี ๆ ขับรถไปลองทานอาหารที่ร้านอาหารใหม่ ๆ หาอาหารอร่อยๆทานนอกบ้านกัน หรือบางครั้งที่ผมเหนื่อยกับงานเธอก็จะชวนผมนั่งเล่นนอนเล่น ดู TV อยู่บ้าน หรืออ่านหนังสือกันเงียบ ๆ ทำกับข้าวง่าย ๆ ทานกันเองที่บ้าน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ทะเลาะกันเลยนะครับ มันก็มีบ้างแต่ที่สำคัญคือเวลาขัดแย้งกัน เราจะคุยกันให้เข้าใจและพยายามถนอมน้ำใจกัน ผมว่าเธอช่วยเติมแต่งชีวิตรักของเราได้อย่างดีเลยครับ ผมมีความสุขมากที่มีเธอเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” น่าปลื้มใจนะคะ ถ้าคนรักของเราจะชื่นชมเราได้อย่างนี้ นี่ล่ะค่ะ คาถาของการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

 

นอกจากจะ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” คอยใส่ใจในความต้องการ ความสบายใจของกันและกันแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากไม่แพ้กัน คือ อย่าฉีกหน้า หรือทำให้คนรักเสียหน้า เสียฟอร์มต่อหน้าคนอื่น ยังไงก็รักษาหน้ากันไว้บ้าง อย่าทำให้เขารู้สึกอับอาย รู้สึกด้อยค่า รู้สึกเสียความมั่นใจต่อหน้าคนอื่น ถ้าจะมีข้อขัดแย้งกัน ก็ขอให้เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างเราสองคน มีอะไรก็ค่อยมาพูดจา มาตกลงกันที่บ้าน แต่อย่าสร้างความกดดันหรือแสดงอำนาจข่มคนรักในที่สาธารณะหรือต่อหน้าบุคคลอื่น โดยเฉพาะในที่ทำงานของแต่ละฝ่าย ที่ทำงานนี่ถือเป็นที่ต้องห้ามเลยนะคะ อย่าแสดงอำนาจข่มคนรัก หรือทำให้เขาต้องรู้สึกอาย หรือเสียหน้าในที่ทำงานโดยเด็ดขาด ขอบอกชัด ๆ เลยค่ะว่า การรู้สึกว่าคนรักดูถูก แสดงอำนาจข่ม หรือไม่ให้เกียรติเราต่อหน้าคนอื่นนั้น หากเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ จะมีผลร้ายต่อความรักอย่างมากขนาดที่คุณนึกไม่ถึงเลยล่ะค่ะ หลายคู่ถึงกับเลิกกันมาแล้วเพียงเพราะสาเหตุนี้นะคะ

 

นอกจากจะระวังไม่ทำอะไร ๆ ในด้านลบ คือ การไม่เคารพ ไม่ให้เกียรติกันแล้ว ก็ต้องเพิ่มการกระทำในด้านบวกควบคู่ไปด้วยคือ ต้องมีการกระทำที่แสดงถึงการยกย่องให้เกียรติกัน ทั้งเวลาที่อยู่ด้วยกันหรืออยู่ต่อหน้าคนอื่น มีการให้ความสำคัญต่อคนรัก และให้อิสระต่อกัน แล้วก็อย่าลืมคาถา “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นะคะ คือต้องพยายามรู้ใจกันให้มากขึ้น มีการเอาอกเอาใจกัน ทำในสิ่งที่เขาชอบ เช่น ชวนกันไปเที่ยว ไปทานอาหาร ไปทำอะไร ๆ ที่รู้ว่าเขาชอบบ้าง อยากให้ความรักสดใสต้องใส่ใจกับความสุข ความสบายใจของคนที่รักนะคะ อย่ามัวเอาแต่ใจตัวเอง เวลาที่เราเห็นคนรักมีความสุข สบายใจ เราก็จะพลอยมีความสุขและสบายใจไปด้วย จริงไหมคะ

 

“ความหึงหวง”

 

สาวคนหนึ่งเคยเล่าว่า “แฟนของหนูอะไรก็ดีหมดนะคะ เป็นคนมีการศึกษาดี การงานดี ฐานะดี น่ารัก ตามใจ เอาใจหนูทุกอย่าง พ่อแม่หนูก็ชอบพี่เค้ามาก แต่เค้าเป็นคนขี้หึงมากค่ะ หนูมองใครไม่ได้เลย เค้าจะอาละวาด ประชดประชัน หาว่าหนูไม่รักบ้างละ จะหนีไปหาผู้ชายอื่นบ้างละ ไปไหนกันหนูก็ต้องคอยระวังไม่มองใคร หนูอึดอัดมากค่ะ รู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง เกร็งไปหมด ไม่มีความสุขเลย ไม่รู้จะทนได้อีกนานแค่ไหน นี่ขนาดยังไม่ได้แต่งงานกันเค้ายังคุมหนูขนาดนี้ ถ้าแต่งกันไปแล้วชีวิตหนูจะเป็นยังไง ทำไมเค้าไม่เชื่อใจหนูบ้างเลย”

 

นี่ละค่ะ ฤทธิของความหึงหวง

 

เพราะฉะนั้น หากอยากให้ความรักสดใสต้องระมัดระวังเรื่องความหึงหวงให้มากค่ะ ความหึงหวงจะทำให้คนรักรู้สึกว่าเราไม่ให้เกียรติ ไม้ไว้ใจ ไม่ให้อิสระ และที่สำคัญคือ นานครั้งเข้ามันก็จะกลายเป็นเรื่องอึดอัดใจ น่าเบื่อ น่ารำคาญได้อย่างมาก ๆ จนถึงขั้นที่หลายคู่ต้องเลิกรากันเพราะทนไม่ได้เลยละค่ะ

 

ที่จริงแล้ว การแสดงความหวงกันบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ พองาม มันก็เป็นการดีนะคะ เป็นการช่วยทำให้อีกฝ่ายรู้สึกภูมิใจว่าตัวเองมีความสำคัญ เป็นที่รักใคร่ของคนรัก แต่ขอย้ำว่าต้องแค่ “เล็ก ๆ น้อย ๆ” เท่านั้นนะคะ ถึงจะทำให้เจ้าความหวงในระดับ “พองาม” นี้กลายเป็นเรื่องน่ารักน่าเอ็นดู กระจุ๋มกระจิ๋ม มีงอนกัน แหย่กัน … ชีวิตรักก็สดใสกระชุ่มกระช่วยขึ้นมาได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่การแสดงความหวง ความหึง มันชักจะมากขึ้น ผลลัพท์ที่ได้จะกลับตรงกันข้ามเลยนะคะ คือมันจะมีแต่ความอึดอัดใจ ความสดใสในความรักหายวับได้ในทันที่ที่ความหึงหวงเข้ามาแทรก ลองไปถามผู้หญิงและผู้ชายที่มีคนรักขี้หึงดูสิคะ…ไม่มีใครชอบ…. ไม่มีใครมีความสุขหรอกค่ะ… เวลาเจ้าพายุความหึงหวงมันพุ่งเข้ามาโจมตีความรักของคุณ ต่อให้กำลังนั่งคุยกันอย่างโรแมนติกแสนหวานใต้แสงเทียนกันอยู่ดี ๆ พูดจาผิดหูนิดเดียวไปสะกิดความรู้สึกหึงหวงของอีกฝ่ายเข้าละก็ เทียนกระเจิงเลยล่ะค่ะ เสียอารมณ์ เสียความรู้สึก ทะเลาะเบาะแว้งกันมานักต่อนักแล้วกับความหึงของคนรักนี่ล่ะค่ะ

 

ถ้าเราเป็นคนขี้หึง ลองถามตัวเองดี ๆ ว่า จริง ๆ แล้วเรากำลังกลัวอะไรกันแน่ เพราะคนขี้หึงมักจะเป็นเพราะเขากำลังกลัวหรือขาดความมั่นใจในเรื่องบางเรื่องอยู่ เช่น บางคนไม่มั่นใจในความสวยของตน บางคนกังวลเรื่องถ่านไฟเก่าของแฟน บางคนรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีไม่เก่ง เลยกลัวคนรักจะไม่รักและทิ้งเราไป…..อะไรแบบนี้ล่ะค่ะ เพราะฉะนั้น หาคำตอบให้ได้ว่าเรากำลังกลัวอะไรอยู่กันแน่ แล้วพอได้คำตอบแล้ว ก็ขอให้พยายามแก้ปัญหาให้ตรงจุด ต้องพยายามจัดการกับใจตัวเองให้ได้ปรับปรุงข้อด้อยของเรา สร้างความมั่นใจให้ตัวเองให้ได้ มองตัวเองในแง่บวก และที่สำคัญต้องรักและภูมิใจในตัวเอง สร้างความรู้สึกที่ดี ๆ ให้กับตัวเอง แล้วคุณจะกลับมารู้สึกดีและมั่นใจใจตัวเองอีกครั้ง พยายามขจัดความหึงหวงออกไปให้ได้แล้วเอาความมั่นใจในตัวเองเข้ามาแทนที่ เพราะไม่อย่างนั้น ความหึงหวงอย่างไม่มีเหตุผลของคุณนั่นแหละที่จะบั่นทอนความรักของคุณอย่างแน่นอน

 

อย่าลืมนะคะ ถ้าอยากให้ความรักสดใส ต้องหมั่นตรวจสอบดูว่า เราได้แสดงการให้เกียรติคนรักบ้างหรือเปล่า รู้ใจเขาบ้างมั๊ย ยังคงใส่ใจในความรักความสบายใจของเขาอยู่หรือเปล่า เรามักจะเอาแต่ใจตัวเอง ชอบข่ม ชอบแสดงอำนาจเหนือเขาต่อหน้าคนอื่นบ้างหรือเปล่า และที่สำคัญคือ ช่วงนี้เราไม่มั่นใจในตัวเองเลยไปคอยตามหึงตามหวงจนน่ารำคาญหรือเปล่า ถ้าพบว่าเรามีข้อบกพร่องอะไร ก็รีบปรับปรุงตัวเสียแต่เนิ่น ๆ นะคะ คนรักกันชอบกัน ทำผิดทำพลาดไปบ้างยังไงก็ให้อภัยกันได้อยู่แล้วล่ะค่ะ แต่อย่าปล่อยไว้จนสายเกินไปนะคะ แล้วก็อย่าลืมคาถา “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นะคะ ถ้าทำได้ละก้อ ความรักสดใสไปนานแสนนานเลยล่ะค่ะ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย