ข่าวและกิจกรรม

Mindfulness – สติ

 

 

 

ในทางพุทธศาสนาได้ให้ความหมายของคำว่าสติไว้ว่า สติคือการระลึกได้ การไม่ลืม การไม่เผลอ การไม่เลินเล่อ การไม่ฝันเฟื่อง การไม่เลื่อนลอย การระมัดระวัง การตื่นตัวต่อหน้าที่ การมีสมาธิ การที่จิตอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนั้น สภาวะที่มีความตื่นตัวต่อการรับรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ และตระหนักรู้ได้ว่าควรโต้ตอบต่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้นอย่างเหมาะสมได้อย่างไร

 

โดยทำหน้าที่เหมือนกับผู้เฝ้าระวัง เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของจิตใจ ทำหน้าที่กำหนดรู้ต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 และรวมถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นในจิตใจ ทำให้สติเป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากเป็นสิ่งที่คอยกำกับพฤติกรรมทั้งภายในและภายนอกให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม (พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ. ปยุตฺโต, 2555)

 

 

ในทางตะวันตกหรือในทางจิตวิทยาก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับสติเป็นจำนวนมากและได้นิยามความหมายไว้ว่า

 

สติ (mindfulness) คือ คุณลักษณะของบุคคลที่จะสามารถมุ่งใส่ใจต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันขณะ โดยส่งผ่านจากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่งในลักษณะที่ต่อเนื่องกัน โดยที่บุคคลยอมรับและเปิดรับต่อประสบการณ์โดยไม่ประเมิน วิเคราะห์ และตัดสิน ซึ่งเป็นการยอมรับต่อประสบการณ์หรือปรากฏการณ์นั้น ๆ อย่างสมบูรณ์

นักจิตวิทยามองว่าสติเป็นกลุ่มของทักษะที่บุคคลสามารถเรียบรู้และฝึกฝนได้ โดย Dimidjian และ Linehan (2003) ได้จำแนกทักษะที่เป็นองค์ประกอบของสติได้ 4 องค์ประกอบ ได้แก่

 

  1. การสังเกต – ความสามารถในการรับรู้และใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น เสียง สัมผัส และกลิ่นรอบตัว รวมทั้งการสังเกตปรากฏการณ์ภายในบุคคล เช่น การสังเกตการรับรู้ กระบวนการทางความคิดและอารมณ์
  2. การบรรยาย – ความสามารถในการระบุและวิเคราะห์อย่างไม่ตัดสินต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการรับรู้ของจิตและมุ่งให้ความสนใจต่อกระบวนการของจิต พร้อมทั้งเปลี่ยนทัศนคติให้ไม่มีการตัดสินและคาดเดาเกี่ยวกับสิ่งนั้น
  3. การแสดงออกด้วยความตระหนักรู้ – ความสามารถในการทำกิจกรรมหรือแสดงพฤติกรรมของบุคคลอย่างมีความตระหนักรู้ต่อตนเองผ่านการมุ่งความสนใจไปที่พฤติกรรมนั้นๆ โดยไม่มีการแบ่งสติไปกับสิ่งอื่น ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับการตอบสนองอัตโนมัติที่เป็นพฤติกรรมที่ทำไปโดยขาดความตระหนักรู้
  4. การยอมรับ – ความสามารถในการที่จะยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการตัดสินผ่านการหยุดการประเมินหรือการจำแนกที่มีต่อสิ่งต่างๆ เช่น ดี/ไม่ดี ถูก/ผิด หรือ มีค่า/ไม่มีค่า และอยู่กับความเป็นจริงโดยไม่หลีกหนี หลบหนี หรือพยายามเปลี่ยนแปลง

 

การฝึกสติถูกนำมาใช้ในการบำบัดโดยหลายแนวคิดและวิธีการตามการให้คำนิยามเกี่ยวกับโครงการและกระบวนการของสติ เช่น

 

1. แนวคิดการบำบัดแบบ Mindfulness-Based Stress Reduction (MBSR)

เป็นการบำบัดโดยมุ่งสนใจต่อการรับมือกับอาการเจ็บปวดเรื้อรัง และอาการที่เกี่ยวข้องกับการเครียด ในลักษณะที่สนับสนุนให้บุคคลเสริมสร้างและพัฒนาความตระหนักรู้ต่อตนเอง การยอมรับต่อประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่มีต่อสิ่งต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกบุคคล และลดพฤติกรรมที่กระทำอย่างเป็นอัตโนมัติ รวมถึงพฤติกรรมที่ขาดความยืดหยุ่นที่เป็นปัญหาต่างๆ อย่างบุคคล ผ่านกิจกรรมอย่างเช่น กำหนดจิตอยู่กับลูกเกด หัตถะโยคะ เดินจงกรม เป็นต้น

2. แนวคิดการบำบัดแบบ Mindfulness-Based Cognitive Theory (MBCT)

เป็นการบำบัดที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในกระบวนการป้องกันไม่ให้อาการทางจิตต่างๆ กลับมาใหม่ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก โรควิตกกังวล โดยให้บุคคลได้สำรวจความคิดที่เป็นอัตโนมัติ เพื่อให้เข้าใจต่อกระบวนการความคิดของตนเองมากยิ่งขึ้น และในตอนท้ายของกระบวนการบำบัดจะมีการออกแบบวางแผนเชิงพฤติกรรมเพื่อสนับสนุนให้บุคคลไม่กลับมาเป็นตามอาการเดิมอีก หรือช่วยให้สามารถรับมือกับอาการต่างๆ ได้ดีขึ้น ผ่านกิจกรรมในรูปแบบ MRSR ผสมผสานกับการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT)

3. แนวคิดการบำบัดแบบ Acceptance and Commitment Therapy (ACT)

เป็นการบำบัดที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยรับมือปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางความคิดและความรู้สึกที่ส่งผลในเกิดความทุกข์ทางจิตใจของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกผ่านภาษาและคำพูด โดยมีความเชื่อว่า พื้นฐานของปัญหามนุษย์เกิดจากการหลีกเลี่ยงในการเผชิญหน้าต่อประสบการณ์ การยึดติดต่อความคิดตนเอง และความไม่ยืดหยุ่นในกระบวนการทางจิตใจ นำไปสู่การละเลยในการลงมือปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหา แนวทางการบำบัดนี้จึงเอื้อให้บุคคลได้สำรวจตนเอง เข้าใจความคิดความรู้สึกและการกระทำของตนเอง เกิดความยืดหยุ่นทางความคิด และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง

4. แนวคิดการบำบัดแบบ Dialectical Behavioral Therapy (DBT)

เป็นการผสมผสานระหว่างกระบวนการของการยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงเข้าด้วยกัน ถูกนำไปใช้กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบ Borderline และบุคคลที่มีประวัติการฆ่าตัวตาย รวมถึงกลุ่มอาการอื่นๆ ด้วย DBT ออกแบบมาเพื่อช่วยให้บุคคลเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม รวมเข้ากับการฝึกทักษะต่างๆ ทางด้านเจริญสติ เพื่อให้บุคคลพัฒนาความสามารถในการควบคุมจิดใจของตนเอง รวมถึงปัญญาหรือความสามารถในการเห็นความจริงและการตอบสนองได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่การกระตุ้นให้บุคคลเกิดภาวะสมดุลทางจิต ระหว่างจิตที่เป็นตัวแทนของเหตุผลและจิตที่เป็นตัวแทนของอารมณ์

 

 


 

ข้อมูลจาก

“การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสติ การกำกับอารมณ์แบบปรับปลี่ยนความคิดการกำกับอารมณ์แบบเก็บกด และสุขภาวะทางจิต” โดย ฏาว แสงวัณณ์ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/55534

 

ดูผู้ชายอย่างไร ว่าใครรักจริงหวังแต่ง

 

บทความนี้ขอเสนอจิตวิทยาเพื่อคุณผู้หญิงโดยเฉพาะสักนิดค่ะ แต่คุณผู้ชายถ้าเข้ามาแล้วอย่าเพิ่งปิดหน้าต่างไปไหน เพราะอ่านไว้ไม่เสียหลาย และสำหรับใครที่ยังไม่มีความคิดที่จะออกเรือนเร็วๆ นี้ ท่านก็อาจจะอ่านเผื่อเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรืออ่านดูว่าตรงกับประสบการณ์ของท่านเพียงใด หรืออ่านไว้เผื่ออนาคตก็ได้ค่ะ

 

ก่อนอื่นก็ขอมีข้อตกลงอย่างหนึ่งก่อนนะคะว่า เราจะพูดถึงการใช้เหตุใช้ผล ใช้ความคิดพิจารณาในเรื่องที่เราชอบเรียกกันว่าเป็นเรื่องของ “หัวใจ” คุณผู้อ่านคะ จะซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง รถยนต์สักคัน หรือบ้านสักหลัง เรายังคิดแล้วคิดอีก สืบค้น แสวงหาข้อมูล กลัวว่าจะเสียเงินเสียทอง เสียเวลาทุ่มเทไปเปล่า ๆ กับสิ่งที่ไม่คุ้มค่า ดังนั้นคุณผู้อ่านคงไม่รังเกียจการพิจารณาคู่รักของเราด้วยสมองด้วยเหตุด้วยผลนะคะ

 

 

การจะดูผู้ชายว่าคนไหนรักจริงหวังแต่งนั้น จะเริ่มดูที่สัญญาณอันตรายบางประการดังนี้ค่ะ

 

หลังจากที่คบกันมาระยะหนึ่งแล้ว เขายังเอ่ยถึงสิ่งต่าง ๆ ด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง “ผม” แทนที่จะเป็น “เรา” เขาพูดถึงอนาคต สิ่งที่ “ผม” จะทำ สถานที่ ๆ “ผม” อยากจะไป ข้าวของเครื่องเรื่อนเครื่องเสียงที่ “ผม” กะจะซื้อ และอาจจะรวมถึงผู้หญิงประเภทที่ “ผม” ชอบด้วย!

 

เมื่อคุณผู้หญิงเห็นสัญญาณการเอ่ยถึงสิ่งต่าง ๆ ด้วยคำว่า “ผม” แทนที่จะเป็น “เรา” เช่นนี้บ่อย ๆ แล้วละก็ เตรียมทำใจไว้นะคะ หรือคุณจะหาโอกาสปฏิเสธคำชวนให้ “ไปเป็นเพื่อนผม” อย่างนั้นอย่างนี้ ซะเลยก็ไม่เลวค่ะ

 

นอกจากนี้ ถ้าเวลาเขาอยู่กับคุณ เขาแสดงความสนใจผู้หญิงอื่นบ่อย ๆ หรือ “ขอ” ให้คุณเปลี่ยนแปลงรูปโฉมชนิดไม่ธรรมดาสำหรับคุณ เช่น เปลี่ยนสีผม ทำจมูก ดูดไขมัน ลดเอว เพิ่มอก เจาะสะดือ สักลวดลาย เป็นต้น ก็อาจส่งสัญญาณบ่งบอกว่าคุณน่าจะกำลังเป็นตุ๊กตาของเล่น เพราะฉะนั้น เปิดโอกาสให้กับคนอื่นที่จะรักโดยที่คุณเป็นตัวคุณเองดีกว่าค่ะ

 

ผ่านมาสองหัวข้อ จะเห็นแล้วว่าสัญญาณต่าง ๆ นั้นอาจเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ไม่ยาก ไม่ต้องให้ใครมาบอกก็ได้ แต่บางครั้ง เราไม่อยากรับรู้ เรามัวไปเชื่อว่า “เรื่องของหัวใจ คิดมากไปจะไม่โรแมนติก”แต่คุณผู้อ่านคะ การดำเนินชีวิตไปตามอำเภอใจอย่างไร้เหตุผล มักให้ความสุขระยะสั้น แต่นำไปสู่ทุกข์มหันต์ในระยะยาว เรามาเป็นคนหูตาสว่างกันดีกว่าค่ะ

คุณผู้หญิงคะ สัญญาณอันตรายที่สังเกตไม่ยากว่าเขาไม่หวังแต่งประการต่อมาคือ หากคุณคบหาคู่รักของคุณมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เขายังไม่เคยแนะนำให้คุณรู้จักญาติสนิทมิตรสหายของเขาเลย มีอาการอ้ำอึ้งบ่ายเบี่ยง หรือเปลี่ยนหัวข้อสนทนาเมื่อคุณถามถึงเพื่อนฝูง พ่อแม่พี่น้องของเขา หรือเขาอาจจะเล่าให้ฟัง แต่ไม่เคยชวนคุณไปทำความรู้จักเลย น่าสังเกตนะคะ

นอกจากนี้ สัญญาณที่น่าคิดอีกประการหนึ่งคือ คุณมักสงสัยเสมอว่า สุดสัปดาห์นี้ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์นี้ เขาและคุณจะมีรายการไปไหนทำอะไรด้วยกันหรือไม่ และคุณต้องเป็นฝ่ายคอยให้เขาติดต่อมา คุณตกอยู่ในความกำกวมนี้บ่อย ๆ หรือเขามักนัดคุณอย่างกะทันหัน กระชั้นชิด ติดต่อคุณในนาทีสุดท้าย และคุณต้องหลอกตัวเองบ่อย ๆ ว่า “เขางานยุ่ง” “เขาเรียนหนัก” “เขาญาติเยอะ” “เขาแคร์เพื่อน” หรือแม้กระทั่ง “เขาขี้ลืม” ลักษณะนี้เป็นไปได้ไหมคะว่า เขาไม่ได้จัดให้คุณมาก่อน หรือไม่ได้จัดให้คุณมีความสำคัญในลำดับต้น ๆ ในชีวิตของเขา

 

คุณผู้หญิงคะ ในความสัมพันธ์เมื่อคุณและคู่รักคบหากันมานานพอสมควรแล้ว หากทุกครั้งที่คุยโทรศัพท์กัน เขาจบท้ายด้วยประโยค “วันหลังผมจะโทร.มาใหม่นะ” หรือ “แล้วผมจะโทร.มาคุยนะ” เป็นปกติวิสัยเช่นนี้แล้ว ก็มักส่งสัญญาณว่าเขาคงปล่อยให้คุณคอยเคว้งคว้างไปเรื่อย ๆ เขาคงไม่หวังจะแต่งกับคุณ หรือเขาอาจจะไม่ใช่ผู้ชายประเภทที่หวังจะแต่งกับใครทั้งนั้น

 

เราได้ทราบกันแล้วถึงสัญญาณหรือพฤติกรรมของชายคู่รัก ที่ทำให้คิดได้ว่าถ้าคบกันต่อไปน่าจะเป็นการสิ้นเปลืองเวลาและตัวเราไปเปล่า ๆ เพราะเขาคงไม่หวังแต่งกับเรา และอาจจะไม่ยอมแต่งกับใครทั้งนั้น ผู้ชายประเภทนี้เป็นอย่างไรบ้าง เราจะดู และจำแนกว่าแตกต่างจากผู้ที่รู้จักรอคอย ต้องการดูใจกันให้รอบคอบได้หรือไม่

 

 

ลักษณะทั่ว ๆ ไปของผู้ไม่มีวันรักจริง อาจสรุปได้เป็นประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

ประเภทแรก ผู้ชายชอบพิชิต เขาสนใจการเอาชนะใจสาว ๆ ไปเรื่อย ๆ เท่านั้น การอยู่กับผู้หญิงคนเดียวคนเดิมจะน่าเบื่อสำหรับเขา เขาจะใช้กลเม็ดเด็ดพราย เทคนิควิธี ต่าง ๆ นานา เพื่อพยายามให้คุณใจอ่อนแล้วยอมเขา แต่ขณะอยู่ด้วยกันคุณจะรู้สึกเหมือนเขาไม่ได้อยู่กับคุณ และไม่นานเขาก็จะไล่ล่าหาเป้าหมายใหม่ ๆ ต่อไป นอกจากนี้คุณอาจจะพบว่า เขาหว่านเสน่ห์ให้กับสาว ๆ หลาย ๆ คนในเวลาเดียวกันด้วย

 

ประเภทที่สอง ผู้ชายหลงตัวเอง เขาพูดเกี่ยวกับตัวเองตลอดเวลา แค่คุณทนฟังเขา คุณก็เป็นคู่สนทนาที่ดีในสายตาเขาแล้ว เขาไม่สนใจที่จะรู้จักคุณอย่างจริงจัง เขามองว่าตัวเองสำคัญมาก คุณจะพบว่าเขาเดินนำหน้าคุณอยู่สองสามก้าวเสมอ เขาจะพาคุณไปในที่ ๆ จะมีคนพบเห็นเขาหรือเขาจะได้พบปะคนมาก ๆ เขามักสั่งอาหารและเครื่องดื่มโดยไม่ถามความเห็นของคุณ เขาห่วงใยดูแลตัวเองเป็นอย่างดี พิถีพิถันในการเลือกเสื้อผ้าอาภรณ์ เขามักจะหวังแต่ง แต่เป็นแต่งเนื้อแต่งตัว แต่งผมแต่งเล็บ แต่ไม่ได้แต่งกับคุณค่ะ

 

ประเภทที่สาม ผู้ชายทุ่มเท เขาทุ่มเทให้กับงาน ชีวิตเขามีกำหนดการ ระบบระเบียบลงตัว ไม่มีที่ว่างสำหรับคุณหรือใคร ๆ เขามีเป้าหมายที่สูงส่ง และตั้งมาตรฐานไว้สูงลิบ เขามีความสุขแล้วที่จะอยู่กับงาน เขามักจะบอกผู้อื่นว่าเขาต้องการพบคนที่ถูกใจแต่ไม่มีเวลา และเขาก็ไม่มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับใครจริง ๆ เขาอาจสนใจผู้ที่จะสามารถมาดูแลคอยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตเขา แต่เขาก็จะรักและ “แต่งกับงาน” ของเขาต่อไป

 

ประเภทที่สี่ ผู้ชายอีกประเภทหนึ่งที่ไม่หวังแต่ง คือ ผู้ที่ติดสิ่งต่าง ๆ ค่ะ คุณผู้หญิงคะ ถ้าคู่รักของคุณ “ติดเหล้า” “ติดยา” “ติดพนัน” “ติดเกม” อนาคตเขาคงจะไม่ติดใจหวังแต่งกับคุณ มีแต่โอกาสจะติดคุกติดตะรางค่ะ เขาตกเป็นทาสของสิ่งที่เขาติด ยากที่คุณจะได้เข้าไปอยู่ในหัวใจเขา กรณีนี้รวมถึง “ติดแม่” ด้วยนะคะ

 

ประเภทที่ห้า ผู้ชายช้ำ ผู้ชายช้ำคือผู้ชายที่เลิกกับภรรยาหรือคู่รักเก่าแล้ว หรือหลอกคุณว่าเลิกแล้ว หรือยืนยันกับคุณว่ากำลังจะเลิก ในกรณีที่เขายังไม่ได้หย่าร้างอย่างเป็นทางการ แม้จะแยกกันอยู่มาเป็นเวลานานแล้ว คุณก็ไม่เห็นเขาริเริ่มดำเนินการตามกฎหมายแต่อย่างใด เขาพูดถึงคนรักและความรักในอดีตให้คุณฟังบ่อยมาก อาจจะเป็นเรื่องเดียวที่เขาพูดถึงด้วยซ้ำ คุณอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าเขายัง “ตัดไม่ขาด” และอาจกลับไปคืนดีกันใหม่ได้ทุกเมื่อ เขาพร่ำพรรณนาว่าเขาไม่ได้เป็นฝ่ายผิด เขาน่าสงสาร เขาต้องการคนที่จะเข้าใจเขา รู้ใจเขา เห็นอกเห็นใจเขา แต่เขายังไม่พร้อมที่จะ “แต่งใหม่” เขาขอให้คุณรอจนกว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย และ…ทุกอย่างก็ไม่เคยเรียบร้อย หรือระหว่างความพยายามเยียวยาแผลหัวใจให้กับคู่รักประเภทชายช้ำของคุณ ไม่ช้าไม่นานต่อมา คุณอาจจะเริ่มพบว่าเขามีพฤติกรรมแปลก ๆ ถี่ขึ้น ๆ เช่น ผิดเวลา ขอยกเลิกนัด หรือหายหน้าหายตาไปเป็นช่วงนาน ๆ เมื่อคุณพยายามซักไซ้ไล่เรียง เขากลับขอให้คุณระบุว่า คุณต้องการพบเขาเดือนละกี่ครั้ง วันอะไรบ้าง ตราบใดที่คุณไม่เรียกร้อง “เกินเหตุ” เขาก็จะยังคงไปมาหาสู่ แต่ขออย่ามาพูดเรื่อง “แต่ง ไม่แต่ง เลิก ไม่เลิก” ให้เขาได้ยิน ก็เขาไม่หวังแต่งซ้ำแต่งซ้อนจริง ๆ นี่คะ

 

 

ผู้ชายที่น่าคบหาใกล้ชิดสนิทสนมมีลักษณะอย่างไร?

 

ผู้ชายที่รักจริงหวังแต่ง จะมองว่าคุณเป็นส่วนที่เติมเต็มให้กับชีวิตเขา ทำให้เขารู้สึกครบถ้วน รู้สึกสมบูรณ์ขึ้น เขาจะเล่าความในใจลึก ๆ ของเขาให้คุณฟัง คุณจะเป็นผู้รับรู้ความหวัง ความฝัน และความกลัวของเขา และเขาจะมีคุณอยู่ในแผนชีวิตของเขาอย่างอัตโนมัติ คุณไม่ต้องกังวลสงสัยอีกต่อไปว่า สุดสัปดาห์นี้ วันหยุดนักขัตฤกษ์นี้ จะมีแผนการอะไรกับเขาหรือไม่ คุณจะไม่ต้องเฝ้าคอยว่าเมื่อใดโทรศัพท์จะดัง เพราะคุณจะรู้ และคุณมีความมั่นใจที่เกิดจากความรู้สึกดี ๆ ในน้ำเสียงของเขาเมื่อคุณเป็นฝ่ายโทรไป

 

ผู้ชายที่รักจริงหวังแต่ง เขาจะแนะนำคุณกับครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายของเขา สังคมก็นับเขาและคุณว่าเป็นคู่กัน คุณได้รับเชิญไปงานต่าง ๆ ของทางบ้านเขา คุณรู้สึกมั่นคงในการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา

 

ผู้ชายที่รักจริงหวังแต่ง จะปฏิบัติต่อคุณอย่างอบอุ่น ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น เขาไม่กลัวที่จะแสดงความรู้สึกที่เขามีต่อคุณ เขาพาคุณเข้าไปหาคนรู้จักที่บังเอิญพบกันในสถานที่ต่าง ๆ เขาให้เกียรติคุณ และแนะนำคุณอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำ คุณและเขาสนับสนุนประคับประคองซึ่งกันและกัน เขาจะอยู่เคียงข้างคุณ ร่วมทั้งทุกข์และสุข ไม่เป็นนินจาเดี๋ยวผลุบเดี๋ยวโผล่

 

ท้ายที่สุด หากทั้งคุณและคู่รักกำลังอยู่ในจังหวะของชีวิตที่เหมาะเจาะ พร้อมที่จะ “ออกเรือน” โอกาสที่รักแท้จะลงเอย สมหวัง ได้ “แต่งกัน” ก็สูงขึ้นค่ะ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เติมความสดใสให้กับความรัก

 

เราคงทราบกันดีว่า การจะมีความรักกับใครสักคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ที่ยากกว่าการได้มาซึ่งความรักก็คือ การรักษาชีวิตรักให้สดใสยั่งยืน เรื่องของความรักเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ จะคิดว่าเป็นของตายอยู่ในมือแล้วจะทำเผลอไผล ลืมเลือนไปบ้างน่ะ… ไม่ได้นะคะ ไม่อย่างนั้นกว่าจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปเสียแล้ว

 

“ใส่ใจกับความรักเพียงวันละนิด แล้วชีวิตจะสดใสไปอีกนานแสนนาน”

 

เรื่องแรกที่เราควรใส่ใจ นั่นคือ เราต้องทำให้ความรักที่มีเป็นความรักที่แข็งแรง ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยคาถาบทนี้ ท่องไว้เลยนะคะ “เราจะเคารพและให้เกียรติกัน” อันนี้ไม่ถึงกับต้องกราบมือกราบเท้ากันทุกวี่ทุกวันนะคะ การเคารพและให้เกียรติกันในความรัก คือการเชื่อใจและให้อิสระต่อกัน ไม่พยายามบังคับจิตใจกันให้ต้องยอมทำตามเราทั้งที่เขาไม่ชอบหรือไม่สบายใจ ตรงนี้สำคัญมาก บางคนชอบทดสอบความรักด้วยการ “เรียกร้อง” ให้อีกฝ่ายทำตามที่เราต้องการ โดยไม่คำนึงว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร หรือกำลังติดงานอะไรอยู่ คิดแต่ว่า “ถ้ารักกันก็ต้องทำให้กันได้” หรือ “ถ้าไม่ทำให้แปลว่าไม่รัก” แรกรักกันใหม่ ๆ ก็คงยอมตามใจกัน แต่คนเรามีศักดิ์ศรี มีความเป็นตัวของตัวเองกันทั้งนั้น ถ้าเราคิดแต่ความสุข ความต้องการ ความสบายใจของเราเพียงฝ่ายเดียว นั่นก็หมายความว่าเรากำลังไม่ใส่ใจกับคนที่รักแล้วนะคะ แล้วเจ้าความไม่สบายใจ อึดอัดใจ หงุดหงิดใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ที่เราทยอยใส่ลงไปในหัวใจของคนรักวันละนิดวันละหน่อยนี่ล่ะค่ะที่จะสะสมเป็นพิษร้ายกัดกร่อนความรักอันแสนหวานของเรา ลบล้างความดีงาม ความสดใสของความรักลงไปทีละนิด กว่าจะรู้ตัวก็อาจจะแก้ไขอะไรได้ลำบาก

 

 

การ “เคารพและให้เกียรติกัน” ต้องทำอย่างไรบ้าง?

 

ขั้นแรกคือ ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยปกติแล้ว คนรักกันก็มักจะสนิทสนม รู้ใจกันดีอยู่แล้ว และเมื่อรู้ใจกัน รู้ว่าเขาชอบ-ไม่ชอบอะไร การเอาใจเขามาใส่ใจเราก็ไม่ใช่เรื่องยาก พูดง่าย ๆ ก็คือเราควรรู้ใจเขาและพยายามใส่ใจในความสุขความสบายใจของคนรัก โดยที่เราเองก็ต้องมีความสุขกับการเอาใจเขาด้วยนะคะ ไม่ใช่ต้องฝืนใจทุกข์ใจ โดยสรุปก็คือขอให้ “ทำในสิ่งที่เขาชอบ และไม่ทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบ โดยที่เราเองก็ยังรู้สึกสบาย ๆ ไม่กดดันตัวเองจนมากเกินไป” คือเราควรจะพยายามเข้าใจความรู้สึก ความต้องการของคนรัก สามารถพูดคุยสื่อสารกันได้อย่างเปิดใจ หากจะมีข้อขัดแย้งกันหรือเมื่อเราต้องทำอะไรที่อาจจะทำให้คนที่รักไม่สบายใจ ก็ต้องมีการพูดคุยกัน มีการระมัดระวังความรู้สึกของกันและกัน ต้องผ่อนหนักผ่อนเบาและถนอมน้ำใจกันให้มากเข้าไว้ ใคร ๆ ก็อยากรู้สึกสบายใจกันทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่กับคนที่รัก ถ้าเราอยู่ใกล้ใครแล้วมีแต่ความสบายใจ รับรองว่าไม่มีการหนีหายไปไหนหรอกค่ะ ถ้าคู่รักคู่ไหนทำสิ่งเหล่านี้ให้กันได้ การันตีเลยค่ะว่าคุณทั้งสองจะได้ช่วยกันเติมความสดใสให้กับความรักได้อย่างแน่นอน

 

เหมือนตัวอย่างที่ชายหนุ่มคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “แฟนผมเป็นคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ เธอเอาใจใส่ผมเป็นอย่างดี ที่น่ารักคือเธอรู้ใจว่าผมชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เธอจะคอยนึกหาอะไรสนุก ๆ มาทำร่วมกันในวันหยุดได้ตลอด บางทีก็ไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือไม่ก็ไปดูหนังดี ๆ ขับรถไปลองทานอาหารที่ร้านอาหารใหม่ ๆ หาอาหารอร่อยๆทานนอกบ้านกัน หรือบางครั้งที่ผมเหนื่อยกับงานเธอก็จะชวนผมนั่งเล่นนอนเล่น ดู TV อยู่บ้าน หรืออ่านหนังสือกันเงียบ ๆ ทำกับข้าวง่าย ๆ ทานกันเองที่บ้าน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ทะเลาะกันเลยนะครับ มันก็มีบ้างแต่ที่สำคัญคือเวลาขัดแย้งกัน เราจะคุยกันให้เข้าใจและพยายามถนอมน้ำใจกัน ผมว่าเธอช่วยเติมแต่งชีวิตรักของเราได้อย่างดีเลยครับ ผมมีความสุขมากที่มีเธอเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” น่าปลื้มใจนะคะ ถ้าคนรักของเราจะชื่นชมเราได้อย่างนี้ นี่ล่ะค่ะ คาถาของการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

 

นอกจากจะ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” คอยใส่ใจในความต้องการ ความสบายใจของกันและกันแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากไม่แพ้กัน คือ อย่าฉีกหน้า หรือทำให้คนรักเสียหน้า เสียฟอร์มต่อหน้าคนอื่น ยังไงก็รักษาหน้ากันไว้บ้าง อย่าทำให้เขารู้สึกอับอาย รู้สึกด้อยค่า รู้สึกเสียความมั่นใจต่อหน้าคนอื่น ถ้าจะมีข้อขัดแย้งกัน ก็ขอให้เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างเราสองคน มีอะไรก็ค่อยมาพูดจา มาตกลงกันที่บ้าน แต่อย่าสร้างความกดดันหรือแสดงอำนาจข่มคนรักในที่สาธารณะหรือต่อหน้าบุคคลอื่น โดยเฉพาะในที่ทำงานของแต่ละฝ่าย ที่ทำงานนี่ถือเป็นที่ต้องห้ามเลยนะคะ อย่าแสดงอำนาจข่มคนรัก หรือทำให้เขาต้องรู้สึกอาย หรือเสียหน้าในที่ทำงานโดยเด็ดขาด ขอบอกชัด ๆ เลยค่ะว่า การรู้สึกว่าคนรักดูถูก แสดงอำนาจข่ม หรือไม่ให้เกียรติเราต่อหน้าคนอื่นนั้น หากเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ จะมีผลร้ายต่อความรักอย่างมากขนาดที่คุณนึกไม่ถึงเลยล่ะค่ะ หลายคู่ถึงกับเลิกกันมาแล้วเพียงเพราะสาเหตุนี้นะคะ

 

นอกจากจะระวังไม่ทำอะไร ๆ ในด้านลบ คือ การไม่เคารพ ไม่ให้เกียรติกันแล้ว ก็ต้องเพิ่มการกระทำในด้านบวกควบคู่ไปด้วยคือ ต้องมีการกระทำที่แสดงถึงการยกย่องให้เกียรติกัน ทั้งเวลาที่อยู่ด้วยกันหรืออยู่ต่อหน้าคนอื่น มีการให้ความสำคัญต่อคนรัก และให้อิสระต่อกัน แล้วก็อย่าลืมคาถา “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นะคะ คือต้องพยายามรู้ใจกันให้มากขึ้น มีการเอาอกเอาใจกัน ทำในสิ่งที่เขาชอบ เช่น ชวนกันไปเที่ยว ไปทานอาหาร ไปทำอะไร ๆ ที่รู้ว่าเขาชอบบ้าง อยากให้ความรักสดใสต้องใส่ใจกับความสุข ความสบายใจของคนที่รักนะคะ อย่ามัวเอาแต่ใจตัวเอง เวลาที่เราเห็นคนรักมีความสุข สบายใจ เราก็จะพลอยมีความสุขและสบายใจไปด้วย จริงไหมคะ

 

“ความหึงหวง”

 

สาวคนหนึ่งเคยเล่าว่า “แฟนของหนูอะไรก็ดีหมดนะคะ เป็นคนมีการศึกษาดี การงานดี ฐานะดี น่ารัก ตามใจ เอาใจหนูทุกอย่าง พ่อแม่หนูก็ชอบพี่เค้ามาก แต่เค้าเป็นคนขี้หึงมากค่ะ หนูมองใครไม่ได้เลย เค้าจะอาละวาด ประชดประชัน หาว่าหนูไม่รักบ้างละ จะหนีไปหาผู้ชายอื่นบ้างละ ไปไหนกันหนูก็ต้องคอยระวังไม่มองใคร หนูอึดอัดมากค่ะ รู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง เกร็งไปหมด ไม่มีความสุขเลย ไม่รู้จะทนได้อีกนานแค่ไหน นี่ขนาดยังไม่ได้แต่งงานกันเค้ายังคุมหนูขนาดนี้ ถ้าแต่งกันไปแล้วชีวิตหนูจะเป็นยังไง ทำไมเค้าไม่เชื่อใจหนูบ้างเลย”

 

นี่ละค่ะ ฤทธิของความหึงหวง

 

เพราะฉะนั้น หากอยากให้ความรักสดใสต้องระมัดระวังเรื่องความหึงหวงให้มากค่ะ ความหึงหวงจะทำให้คนรักรู้สึกว่าเราไม่ให้เกียรติ ไม้ไว้ใจ ไม่ให้อิสระ และที่สำคัญคือ นานครั้งเข้ามันก็จะกลายเป็นเรื่องอึดอัดใจ น่าเบื่อ น่ารำคาญได้อย่างมาก ๆ จนถึงขั้นที่หลายคู่ต้องเลิกรากันเพราะทนไม่ได้เลยละค่ะ

 

ที่จริงแล้ว การแสดงความหวงกันบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ พองาม มันก็เป็นการดีนะคะ เป็นการช่วยทำให้อีกฝ่ายรู้สึกภูมิใจว่าตัวเองมีความสำคัญ เป็นที่รักใคร่ของคนรัก แต่ขอย้ำว่าต้องแค่ “เล็ก ๆ น้อย ๆ” เท่านั้นนะคะ ถึงจะทำให้เจ้าความหวงในระดับ “พองาม” นี้กลายเป็นเรื่องน่ารักน่าเอ็นดู กระจุ๋มกระจิ๋ม มีงอนกัน แหย่กัน … ชีวิตรักก็สดใสกระชุ่มกระช่วยขึ้นมาได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่การแสดงความหวง ความหึง มันชักจะมากขึ้น ผลลัพท์ที่ได้จะกลับตรงกันข้ามเลยนะคะ คือมันจะมีแต่ความอึดอัดใจ ความสดใสในความรักหายวับได้ในทันที่ที่ความหึงหวงเข้ามาแทรก ลองไปถามผู้หญิงและผู้ชายที่มีคนรักขี้หึงดูสิคะ…ไม่มีใครชอบ…. ไม่มีใครมีความสุขหรอกค่ะ… เวลาเจ้าพายุความหึงหวงมันพุ่งเข้ามาโจมตีความรักของคุณ ต่อให้กำลังนั่งคุยกันอย่างโรแมนติกแสนหวานใต้แสงเทียนกันอยู่ดี ๆ พูดจาผิดหูนิดเดียวไปสะกิดความรู้สึกหึงหวงของอีกฝ่ายเข้าละก็ เทียนกระเจิงเลยล่ะค่ะ เสียอารมณ์ เสียความรู้สึก ทะเลาะเบาะแว้งกันมานักต่อนักแล้วกับความหึงของคนรักนี่ล่ะค่ะ

 

ถ้าเราเป็นคนขี้หึง ลองถามตัวเองดี ๆ ว่า จริง ๆ แล้วเรากำลังกลัวอะไรกันแน่ เพราะคนขี้หึงมักจะเป็นเพราะเขากำลังกลัวหรือขาดความมั่นใจในเรื่องบางเรื่องอยู่ เช่น บางคนไม่มั่นใจในความสวยของตน บางคนกังวลเรื่องถ่านไฟเก่าของแฟน บางคนรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีไม่เก่ง เลยกลัวคนรักจะไม่รักและทิ้งเราไป…..อะไรแบบนี้ล่ะค่ะ เพราะฉะนั้น หาคำตอบให้ได้ว่าเรากำลังกลัวอะไรอยู่กันแน่ แล้วพอได้คำตอบแล้ว ก็ขอให้พยายามแก้ปัญหาให้ตรงจุด ต้องพยายามจัดการกับใจตัวเองให้ได้ปรับปรุงข้อด้อยของเรา สร้างความมั่นใจให้ตัวเองให้ได้ มองตัวเองในแง่บวก และที่สำคัญต้องรักและภูมิใจในตัวเอง สร้างความรู้สึกที่ดี ๆ ให้กับตัวเอง แล้วคุณจะกลับมารู้สึกดีและมั่นใจใจตัวเองอีกครั้ง พยายามขจัดความหึงหวงออกไปให้ได้แล้วเอาความมั่นใจในตัวเองเข้ามาแทนที่ เพราะไม่อย่างนั้น ความหึงหวงอย่างไม่มีเหตุผลของคุณนั่นแหละที่จะบั่นทอนความรักของคุณอย่างแน่นอน

 

อย่าลืมนะคะ ถ้าอยากให้ความรักสดใส ต้องหมั่นตรวจสอบดูว่า เราได้แสดงการให้เกียรติคนรักบ้างหรือเปล่า รู้ใจเขาบ้างมั๊ย ยังคงใส่ใจในความรักความสบายใจของเขาอยู่หรือเปล่า เรามักจะเอาแต่ใจตัวเอง ชอบข่ม ชอบแสดงอำนาจเหนือเขาต่อหน้าคนอื่นบ้างหรือเปล่า และที่สำคัญคือ ช่วงนี้เราไม่มั่นใจในตัวเองเลยไปคอยตามหึงตามหวงจนน่ารำคาญหรือเปล่า ถ้าพบว่าเรามีข้อบกพร่องอะไร ก็รีบปรับปรุงตัวเสียแต่เนิ่น ๆ นะคะ คนรักกันชอบกัน ทำผิดทำพลาดไปบ้างยังไงก็ให้อภัยกันได้อยู่แล้วล่ะค่ะ แต่อย่าปล่อยไว้จนสายเกินไปนะคะ แล้วก็อย่าลืมคาถา “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นะคะ ถ้าทำได้ละก้อ ความรักสดใสไปนานแสนนานเลยล่ะค่ะ

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ทักษะทางจิตวิทยาสำหรับนักกีฬา

 

ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนจะยอมรับว่า “จิตวิทยา” มีความสำคัญต่อนักกีฬาและการแข่งขันกีฬา แต่ก็อาจไม่เข้าใจว่า ที่ว่าสำคัญนั้นมันสำคัญอย่างไร และแท้จริงแล้วจิตวิทยามีอะไรบ้างที่จะช่วยให้นักกีฬาประสบความสำเร็จและมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วยกัน

 

ครั้งนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง “ทักษะทางจิตวิทยา” (mental skill) สำหรับนักกีฬาครับ

 

เมื่อพูดถึงกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาแล้ว การเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะทางกีฬา (sport skill) และความเข้าใจในเกมการแข่งขัน รวมทั้งการพัฒนาหรือรักษาสภาพร่างกายของตัวเอง ถือเป็นเรื่องปกติที่นักกีฬาทำอยู่ตลอดเวลาเพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน

 

ถึงแม้ว่านักกีฬาและโค้ชจะยอมรับว่า “จิตใจ” มีผลต่อการแข่งขันก็ตาม แต่มีเพียงบางคนที่จะรู้จักทักษะทางจิตวิทยา และอาจมีน้อยคนที่จะ “เรียนรู้และฝึกซ้อม” ทักษะทางจิตวิทยา ควบคู่กับทักษะทางกีฬา

 

ทักษะทางจิตวิทยาสำหรับนักกีฬามีหลากหลายครับ ไม่ได้เป็นแค่ทักษะสำหรับการแข่งขันเท่านั้น แต่เป็นทักษะสำหรับหลาย ๆ มิติของชีวิตนักกีฬาทีเดียว ตั้งแต่การฝึกซ้อม การแข่งขัน การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการปรับตัวเมื่อถึงเวลาเลิกอาชีพนักกีฬา

 

นักจิตวิทยาได้จัดกลุ่มทักษะทางจิตวิทยาเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. ทักษะพื้นฐาน
  2. ทักษะที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางกีฬา
  3. ทักษะที่จะช่วยให้นักกีฬาได้พัฒนาตัวเอง และ
  4. ทักษะการทำงานเป็นทีม

 

งานของนักจิตวิทยาในเรื่องนี้ คือ การช่วยให้นักกีฬาได้เรียนรู้ พัฒนา และฝึกฝน ทักษะทางจิตวิทยาเหล่านี้ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขัน พร้อมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น นักกีฬาหลาย ๆ คนเมื่อพัฒนาทักษะทางจิตวิทยาในกิจกรรมกีฬาแล้ว ยังสามารถนำทักษะเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ได้ เช่น การเรียน การทำงาน ฯลฯ

 

มาดูกันครับว่า ทักษะทางจิตวิทยาแต่ละกลุ่มนั้น มีอะไรบ้าง และจะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

 

 

ทักษะพื้นฐาน

 

ทักษะพื้นฐาน (foundation skill) เป็นทักษะทางจิตวิทยาที่นักกีฬาและโค้ชทุกคนพึงมี ไม่ว่าจะเล่นกีฬาอะไร หรือลงแข่งขันในระดับอะไร ตัวอย่างของทักษะพื้นฐาน เช่น การสร้างแรงจูงใจมุ่งความเป็นเลิศ (achievement drive) ที่จะช่วยให้นักกีฬาทุ่มเทฝึกซ้อมทำงานหนัก และสามารถบริหารชีวิตของตัวเองให้จดจ่ออยู่กับการพัฒนาทักษะทางกีฬาของตัวเอง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง นักกีฬาอาจต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการตั้งเป้าหมาย การบริหารเวลาและการจัดลำดับความสำคัญ การวางแผน การวางกลยุทธ์ (สำหรับชีวิตประจำวัน) เพื่อพัฒนาทักษะการสร้างแรงจูงใจมุ่งความเป็นเลิศ ทักษะพื้นฐานอื่น ๆ เช่น การตระหนักรู้ตัว (self-awareness) การคิดให้เป็นประโยชน์ (productive thinking) การสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง (self-confidence) เป็นต้น

 

 

ทักษะที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางกีฬา

 

ทักษะกลุ่มที่จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาทักษะทางกีฬา (performance skill) นี้ เป็นทักษะที่เมื่อนักกีฬาเรียนรู้และฝึกฝนแล้ว จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาทักษะทางกีฬาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสามารถรีดเค้นผลงานในการแข่งขันได้ถึงระดับสูงสุด ทักษะกลุ่มนี้ เช่น ทักษะที่เกี่ยวกับกระบวนการทางปัญญาและการรับรู้ (perceptual-cognitive skill) ที่จะช่วยให้นักกีฬาสามารถ “เลือก” ประมวลข้อมูลที่สำคัญในการแข่งขัน และ “ตัด” ข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป อีกทักษะหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน คือ การจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า (attentional focus) หรือการสร้างสมาธิ นอกจากนั้น การกำกับอารมณ์และการบริหารพลังงาน (energy management) ยังเป็นอีกทักษะที่จำเป็นมากสำหรับการแข่งขัน เพราะการแข่งขันเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์รุนแรง ทั้งอารมณ์ทางบวกและอารมณ์ทางลบ นักกีฬาที่มีทักษะการกำกับอารมณ์และการบริหารพลังงานที่ดีนั้น จะสามารถกำหนดอารมณ์ของตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการแข่งขันได้อย่างสม่ำเสมอ

 

 

ทักษะที่จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาตัวเอง

 

ทักษะที่จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาตัวเอง (personal development skill) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักกีฬาจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมและการแข่งขันโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น สำหรับนักกีฬาที่อยู่ในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังหา “อัตลักษณ์” ของตัวเอง การเล่นกีฬาอาจช่วยพัฒนาทักษะที่เด็ก ๆ และวัยรุ่นจะแสวงหาและพัฒนาอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของพวกเขาได้ (identity achievement) นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระดับใด การจัดการกับความคาดหวังของทั้งตนเองและผู้คนรอบข้าง รวมทั้งความสามารถที่จะรู้ว่าเมื่อประสบปัญหาหรือความยากลำบากแล้วจะหันหน้าไปขอความช่วยเหลือจากใครก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่านักกีฬาคนนั้นมีทักษะที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal competence) หรือไม่

 

 

ทักษะการทำงานเป็นทีม

 

ทักษะทางจิตวิทยาที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ทักษะการทำงานเป็นทีม (team skill) ไม่ว่าจะเล่นกีฬาที่ต้องแข่งขันเป็นทีมหรือไม่ นักกีฬาทุกคนอาจต้องทำงานร่วมกับโค้ช เพื่อนร่วมทีม นักกายภาพบำบัด หรือบุคคลอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น ทักษะการทำงานเป็นทีม เช่น การสื่อสาร (communication) ภาวะผู้นำ (leadership) การสร้างความมั่นใจให้กับทีม (team confidence) รวมถึงการสร้างความกลมเกลียวภายในทีม (cohesion) ย่อมเป็นทักษะที่สำคัญ ถ้านักกีฬาขาดทักษะเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะเล่นกีฬาที่แข่งขันคนเดียวก็ตาม ก็จะไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น (รวมทั้งนักจิตวิทยาด้วยในบางกรณี) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้นักกีฬาคนนั้นทำผลงานที่ยอดเยี่ยมได้

 

 

ท้ายสุดแล้ว อย่าลืมว่าทักษะทางจิตวิทยาเหล่านี้ คือ “ทักษะ” ที่นักกีฬาจะต้องเรียนรู้และฝึกฝน ไม่ต่างอะไรกับทักษะทางกีฬา บางทักษะอาจเรียนรู้ได้จากการฝึกซ้อมทักษะทางกีฬาทั่ว ๆ ไป แต่บางทักษะก็จำเป็นต้องมีการจัดสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ รวมทั้งการให้ผลป้อนกลับ (feedback) อย่างเหมาะสม การเรียนรู้จึงจะเกิดขึ้นได้ดี

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แบบวัดทางจิตวิทยา

 

หลาย ๆ คนคงจะเคยเห็นหรือเคยได้ลองตอบคำถามตามนิตยสารหรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เมื่อคุณตอบคำถามเสร็จแล้ว คำตอบที่คุณได้จากคำถามเหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่คุณอยากรู้ เช่น

 

  • คุณจะได้รู้ว่าคุณมีความเครียดหรือไม่
  • คุณมีบุคลิกภาพอย่างไร
  • มุมมองที่คุณมีต่อความรักเป็นอย่างไร

 

ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น และในบางครั้งคุณอาจจะสังเกตเห็นว่าชุดคำถามบางชุดมีการใช้คำว่า “แบบวัดทางจิตวิทยา”

 

 

แบบวัดทางจิตวิทยาคืออะไร?


 

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า แท้จริงแล้วแบบวัดทางจิตวิทยาคืออะไร ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร และการสร้างแบบวัดทางจิตวิทยานั้นทำอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแบบวัดที่เราตอบกันอยู่นั้นบอกสิ่งที่เราต้องการจะรู้ได้อย่างแท้จริง แบบวัดทางจิตวิทยานั้นมีประโยชน์ต่อคุณอย่างไร และแบบวัดทางจิตวิทยาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยวิธีการวิจัยนั้นมีความแตกต่างอย่างไรจากแบบวัดที่เราเห็นกันทั่วไปตามนิตยสารหรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ

 

แบบวัดทางจิตวิทยาเริ่มมีการใช้เมื่อประมาณสงครามโลกครั้งที่ 2 วัตถุประสงค์ของแบบวัดทางจิตวิทยาในสมัยนั้นคือ ความต้องการที่จะประเมินความสามารถและศักยภาพของทหารที่เข้าร่วมรบในสงครามว่ามีมากน้อยแค่ไหน ต้องมีการฝึกเพิ่มหรือลดอะไรหรือไม่ เพื่อให้การรบของทหารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับในปัจจุบัน นักจิตวิทยาใช้แบบวัดทางจิตวิทยาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งเพื่อช่วยในการประเมินสภาวะต่าง ๆ ของผู้เข้ารับการบริการ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินพัฒนาการในเด็ก การประเมินสภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งความสุข เป็นต้น

 

นอกจากนี้แบบวัดทางจิตวิทยายังถูกนำมาใช้ในบริษัทหรือในวงการธุรกิจ เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการประเมินความสามารถเพื่อคัดคนเข้าทำงาน หรือแม้แต่เพื่อเลื่อนขั้นให้กับพนักงานด้วยเช่นกัน หรือแม้กระทั่งการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาเพื่อศึกษาความคิดเห็นของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน หรือความคิดเห็นที่มีต่อบุคคลข้ามเพศ รวมไปถึงความคิดเห็นที่บุคคลมีต่อพฤติกรรมของตนที่เกิดขึ้น และการวางแผนต่อสิ่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น พฤติกรรมการดื่มเหล้าของตนเองในปัจจุบัน และการวางแผนที่จะเลิกดื่มเหล้าในอนาคต เป็นต้น เหล่านี้คือตัวอย่างที่ นักจิตวิทยาใช้แบบวัดทางจิตวิทยาช่วยในการทำงาน

 

 

กว่าจะได้แบบวัดทางจิตวิทยามาหนึ่งชุด นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยผู้พัฒนาแบบวัดนั้นต้องทำอะไรกันบ้าง?


ก่อนที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยจะพัฒนาหรือสร้างแบบวัดทางจิตวิทยา เพื่อประเมินอะไรสักอย่างขึ้นมาได้นั้น นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยคนนั้น จะต้องมีการระบุความหมาย หรือพฤติกรรมที่เขาต้องการที่จะประเมินอย่างชัดเจนก่อน ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการที่จะพัฒนาหรือสร้างแบบวัดทางจิตวิทยาเพื่อประเมินสภาวะความเครียด นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยคนนั้นจะต้องระบุให้ได้ก่อน ความเครียดในแบบวัดที่เขากำลังจะพัฒนาขึ้นนั้นคืออะไร ลักษณะอาการแบบไหนที่ฟ้องว่าคนกำลังเครียด และอะไรที่ไม่ใช่

 

การระบุความหมายหรือหาพฤติกรรมที่จะสื่อได้ถึงความเครียดนั้น ทำได้หลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทฤษฎีทางวิจัย งานวิจัยในอดีตที่ผ่านมา หรือแม้แต่การสัมภาษณ์ จากนั้น เมื่อนักจิตวิทยาหรือนักวิจัย สามารถระบุความหมายหรือคำอธิบายที่ชัดเจน สำหรับสิ่งที่เขาต้องการประเมินแล้ว ความหมายหรือคำอธิบายที่สร้างขึ้นจะถูกนำมาพัฒนาเป็นคำถามที่ใช้ในแบบวัด

 

คำถามที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้น ๆ บางคำถามอาจถามความถี่ของพฤติกรรมหรืออาการทางกายที่เกิดขึ้น เพื่อดูความเข้มข้นของสิ่งที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยต้องการจะศึกษา บางครั้งคำถามที่สร้างขึ้นอาจจะขอให้ผู้ตอบแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพื่อดูมุมมองของผู้ตอบ เช่น แบบวัดความเครียดจะมีทั้งลักษณะคำถามที่ประเมินอาการทางกายที่อาจจะบ่งบอกถึงความเครียดที่เกิดขึ้น ว่ามีบ่อยมากน้อยแค่ไหน เพื่อดูความเข้มข้นของความเครียดที่ผู้ตอบมี และยังมีคำถามที่ขอให้ผู้ตอบแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อว่า ตนมีความคิดหรือความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเครียดหรือไม่ เพื่อดูว่าผู้ตอบรู้สึกถึงระดับความเครียดของตัวเองหรือไม่

 

เมื่อนักจิตวิทยาหรือนักวิจัยได้คำถามที่จะนำมาใช้ในแบบวัดทางจิตวิทยาแล้ว แบบวัดชุดนั้นจะถูกนำมาทดสอบด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทางสถิติ หรือแม้กระทั่งการพิจารณาอย่างเป็นระบบ ว่าคำถามและคำตอบที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นเหมาะสมกับผู้ตอบหรือไม่ เพื่อพัฒนาให้แบบวัดชุดนั้นมีคุณภาพ สามารถประเมินสิ่งที่ต้องการจะรู้ได้อย่างถูกต้อง ไม่มีความผิดพลาด ขั้นตอนเหล่านี้เป็นขั้นตอนคร่าว ๆ ที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยมักจะต้องทำเพื่อพัฒนาแบบวัดทางจิตวิทยาขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าแบบวัดชุดนั้นมีคุณภาพอย่างแท้จริง

 

 

คุณภาพของแบบวัดทางจิตวิทยา


 

ในการสร้างหรือการพัฒนาแบบวัดทางจิตวิทยาขึ้นมาชุดหนึ่งนั้น การทดสอบคุณภาพของแบบวัดเป็นกระบวนการหนึ่งเพื่อให้แน่ใจได้ว่าคำตอบที่ได้จากแบบวัดนั้นเป็นอย่างที่ผู้ตอบเป็นอยู่หรือคิดอยู่จริง ซึ่งการทดสอบนั้นอาจจะถูกทดสอบด้วยวิธีการทางสถิติ และรวมไปถึงการวิเคราะห์ว่าคำถามและคำตอบที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นเหมาะสมกับผู้ตอบหรือไม่ คุณภาพของแบบวัดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าแบบวัดชุดนั้นมีคุณภาพหรือไม่ ผลที่นักจิตวิทยาหรือนักวิจัยได้ หรือแม้แต่คำตอบที่คุณได้จากแบบวัดชุดนั้น จะไม่อาจทำให้เราแน่ใจได้เลยว่า ผลที่ได้นั้นสะท้อนตัวผู้ตอบจริง ๆ ในทางจิตวิทยาหรือการวิจัยนั้น นักจิตวิทยาและนักวิจัยมักจะดูเรื่องใหญ่ ๆ อยู่ 2 เรื่องด้วยกัน เราเรียกกันว่า “ความตรงและความเที่ยง”

 

ความตรง หรือ validity ก็คือ แบบวัดนั้นสามารถวัดในสิ่งที่เราอยากรู้ได้จริง ๆ ถ้าจะให้เปรียบเทียบกันง่าย ๆ ก็อย่างเช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก คือเครื่องมือที่เราแน่ใจได้อย่างแน่นอนว่า มันจะบอกน้ำหนักของสิ่งที่วางอยู่บนเครื่องชั่งนั้นจริง ๆ ไม่รวน หรือว่ากลายไปวัดอย่างอื่นแทน ก็เหมือนกันกับแบบวัดทางจิตวิทยานั่นแหละ เราต้องการที่จะแน่ใจว่า แบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นประเมินในสิ่งที่เราต้องการจะรู้จริง ๆ แบบวัดความเครียดก็สามารถประเมินความเครียดของผู้ตอบได้จริง

 

ความเที่ยง หรือ reliability ความเที่ยงจะบอกเราว่าผลที่ได้ออกมาจากแบบวัดชุดนั้น ถ้าเราตอบแบบวัดชุดนั้นซ้ำอีกครั้งจะได้ผลเท่าเดิมหรือไม่ ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ สมมติว่าถ้าน้ำหนักของเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าเราจะขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนักเครื่องนั้นสักกี่ครั้ง ตัวเลขที่แสดงถึงน้ำหนักของเราก็ยังคงเป็นตัวเลขเดิมอยู่ตลอดนั่นเอง ไม่ใช่ว่าชั่งตอนเช้าได้ 60 กก. พอมาตอนบ่ายกลายเป็น 50 กก. แบบนี้แสดงว่าเครื่องชั่งหรือแบบวัดของเรามีปัญหาแน่นอน

 

ในทางการวิจัยและการพัฒนาแบบวัดเรามีวิธีการมากมายที่จะทดสอบเพื่อให้รู้ว่าแบบวัดชุดนั้นมีความตรงจริงหรือไม่ และมีความเที่ยงหรือไม่ แล้วเราที่เป็นผู้ใช้จะรู้ได้อย่างไร?

 

โดยส่วนมากถ้าแบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นผ่านการพัฒนาขึ้นมาด้วยการวิจัย ผู้พัฒนาจะมีการรายงานขั้นตอนในการสร้างแบบวัดพร้อมทั้งคุณภาพของแบบวัดด้วย ซึ่งถ้าแบบวัดชุดนั้นมีการเผยแพร่สู่สาธารณะชนหรือเป็นแบบวัดที่คุณสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย รายงานการสร้างแบบวัดก็ควรจะต้องมีอยู่คู่กับแบบวัดชุดนั้น หรือไม่ผู้พัฒนาก็ควรจะต้องรายงานคุณภาพของแบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นไว้ด้วย

 

 

ประโยชน์ของแบบวัดทางจิตวิทยา


 

นักจิตวิทยาใช้แบบวัดทางจิตวิทยาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำงาน โดยใช้แบบวัดทางจิตวิทยาช่วยในการประเมินสภาวะต่าง ๆ ในผู้รับบริการ ไม่ว่าจะเป็นในเด็กหรือในผู้ใหญ่ และใช้แบบวัดทางจิตวิทยาในการศึกษาความคิดเห็นต่าง ๆ หรือแม้แต่พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

นอกเหนือจากในหมู่นักจิตวิทยา ในบริษัทต่าง ๆ หรือองค์การต่าง ๆ ก็มีการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาอยู่เช่นกัน เป้าหมายของการใช้แบบวัดทางจิตวิทยาในองค์การนั้นก็มีหลากหลายกันออกไป อาจจะเพื่อการคัดเข้าทำงาน หรือเพื่อนำผลที่ได้จากแบบวัดทางจิตวิทยามาใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลื่อนขั้น หรือย้ายตำแหน่งงาน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ สามารถนำแบบวัดทางจิตวิทยาไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปได้ด้วย เช่น แบบวัดทางจิตวิทยาที่ใช้ในการประเมินความเครียด หรือความสุข แบบวัดเหล่านี้มักจะเป็นแบบวัดที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก ผู้ใช้สามารถตอบและคำนวณคะแนนที่ได้จากแบบวัดชุดนั้น และนำคะแนนที่ได้ไปเทียบกับผลเพื่อแปลความหมายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งผู้ใช้อาจจะใช้คะแนนที่ได้จากแบบวัดเหล่านี้ มาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่ช่วยให้ตระหนักและเข้าใจสภาพทางจิตใจของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมตัว หรือเตรียมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากสภาพทางจิตใจที่เป็นอยู่ได้

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำแบบประเมินความเครียด ที่มีคำถามเกี่ยวกับความคิด หรือมุมมองต่าง ๆ ที่คุณมีต่อตัวของคุณเอง โดยคำถามเหล่านี้เป็นความคิดที่นำไปสู่สภาวะความเครียด และพบว่า คะแนนที่คุณได้นั้นแสดงถึง สภาวะความเครียดในระดับสูง สิ่งนี้สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณตระหนักกับตนเองได้ว่า ถึงแม้ว่าบางครั้งคุณอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าคุณเครียด แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมรอบตัวของคุณนั้น อาจจะกำลังส่งผลกระทบต่อระบบความคิดและความรู้สึกของคุณอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นคุณอาจจะต้องคอยสังเกตตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เพื่อคอยผ่อนคลายตัวเองจากความเครียดลงบ้าง หรือเตรียมเข้าพบนักจิตวิทยาการปรึกษา หากพบว่าความเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตและจิตใจของคุณ เป็นต้น

 

 

แบบวัดทางจิตวิทยาในนิตยสารหรือในเว็บไซต์ต่าง ๆ แตกต่างอย่างไรกับแบบวัดทางจิตวิทยาที่ถูกพัฒนาตามแนวทางการวิจัย?


 

แบบวัดที่เราเห็นกันอยู่โดยทั่วไปตามนิตยสารหรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ นั้น เคยมั้ยที่รู้สึกว่า เวลาอ่านคำถามและคำตอบแล้วเราไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำว่า คำถามนี้เกี่ยวข้องอะไรกับความเครียด หรือการถามแบบนี้จะช่วยบอกอะไรเกี่ยวกับรูปแบบความรักของเราได้ นั่นเป็นเพราะว่าคำถามนั้นอาจยังไม่มีความชัดเจนพอ แต่สำหรับแบบวัดทางจิตวิทยาที่พัฒนาขึ้นมานั้นประโยคที่ใช้เป็นคำถามจะมีความชัดเจน ไม่มีความกำกวม หรือพาให้เคลือบแคลงว่า ข้อคำถามเหล่านี้จะสามารถวัดในสิ่งที่ต้องการจะรู้ได้จริง ๆ หรือไม่

 

นอกจากนี้แบบวัดที่เราเห็นกันอยู่โดยทั่วไปนั้น บางครั้งอาจจะไม่ได้มีการบอกถึงคุณภาพของแบบวัดชุดนั้น นั่นก็คือความตรงและความเที่ยงที่ได้เคยพูดถึงไปแล้ว รวมไปถึงการอธิบายขั้นตอนในการพัฒนาแบบวัดชุดนั้นว่าทำมาอย่างไร ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างใด ซึ่งส่วนนี้อาจจะทำให้เราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า คำตอบหรือผลที่ได้จากการแปลผลแบบวัดนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้ตอบหรือไม่ ซึ่งในขณะที่แบบวัดทางจิตวิทยาที่ผ่านการสร้างหรือการพัฒนาด้วยวิธีดำเนินการวิจัย มักจะต้องมีการรายงานขั้นตอนการสร้างและคุณภาพของแบบวัดทางจิตวิทยาชุดนั้นด้วย ดังนั้นผู้ใช้ก็จะสามารถมั่นใจได้ว่าผลหรือคำตอบที่ผู้ตอบได้จากการทำแบบวัดชุดนั้น สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้ตอบได้

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ปรับวิธีคิดการเลี้ยงลูกให้ทันกับโลกยุคดิจิตอล

 

ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ดิฉันมักได้อ่านผ่านตาบทความจำนวนหนึ่งที่พูดถึงอาชีพต่าง ๆ ที่กำลังจะแทนที่แรงงานคนด้วยเครื่องกลอัจฉริยะ ในยุคที่เทคโนโลยีมีความรุดหน้ารวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน ไอเดียธุรกิจ หรือกิจกรรมอะไรก็ตามที่เราคิดได้วันนี้ พรุ่งนี้เราอาจจะพบว่ามีคนที่คิดเหมือนเราและทำผลงานออกมาก่อนเราเสียแล้ว

 

ในยุค internet of things มีผู้ที่ใช้นามว่า Dr.PsY แห่งเว็บ Propertytoday ได้แปลไว้อย่างเหมาะเจาะว่า “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” นั้น เราสามารถสื่อสาร ค้าขาย โพส ไลค์ เมนท์ แชร์ หรือทำธุรกรรมใดๆ ได้รวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส

 

ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่หนึ่งคือการผลิตบุคลากรทางจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ที่ศึกษาพัฒนาการมนุษย์ตั้งแต่แรกปฏิสนธิไปจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เพื่อออกไปปรับใช้ในชีวิตและรับใช้สังคม ดิฉันเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วอาชีพเรา วิชาการในศาสตร์ของเราที่เราถ่ายทอดไปให้นิสิตนั้น จะไปต่อไปในทิศทางใดในยุคนี้ จึงเริ่มสนใจอยากจะค้นและหาคำตอบ

กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ฉันได้ตระหนักถึงประเด็นนี้คือ ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็น นักอนาคตศาสตร์ (Futurist) ในปัจจุบันมีการรวมกลุ่มคนที่ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ ประมวลข้อมูล อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อทำนายความเป็นไปของโลก ไม่ว่าจะในภาพกว้างอย่างสิ่งแวดล้อม การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงภาพที่แคบลงมาในระดับองค์การและชุมชน คนกลุ่มนี้มักได้เชิญไปพูดในเวทีต่าง ๆ ซึ่งถ้าค้นใน TED.com ก็จะพบการพูดที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นเลยทีเดียว

 

นักอนาคตศาสตร์ที่สนใจประเด็นทางการศึกษา จึงเริ่มออกมาพูดถึง การที่เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนมีทักษะแห่งอนาคตใหม่ (21st Century Skills; Rotherham & Willingham, 2010) ที่ต้องสามารถเรียนรู้ด้วยกันนำตนเองได้ อยากรู้เรื่องใดต้องค้นได้ วิเคราะห์ได้ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ต้องมีความสามารถในการทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม และมีใจเปิดกว้าง เปิดรับความต่าง เพราะเราสื่อสารกันทั้งโลก ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนในชาติในภาษาเดียวกับเราเท่านั้น

 

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าจะอยู่รอดในยุคใหม่ได้ ความเก่งที่ทำข้อสอบได้เกรด A อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ การมีทักษะปรับตัว มีความคล่องตัวในการทำงาน ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ รู้เท่าทัน คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น และที่สำคัญคือทำงานเป็น คนที่เก่งแบบท่องจำ เรียนรู้แบบผิวเผิน (surface learning; Hay, 2007) แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญของตนเอง ในอนาคตอาจจะอยู่ยากขึ้น เพราะงานแบบที่ใช้ทักษะเบื้องต้น หรืองานที่ทำตามรูปแบบซ้ำๆ เครื่องจักรอัจฉริยะสามารถทำแทนเราได้ แต่ความเป็นมนุษย์มีการเรียนรู้ เติบโต และมีชีวิตจิตใจ เป็นเรื่องที่เราต้องผลักดันศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้เหนือกว่าสมองกลให้ได้

 

ดิฉันจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองคิดให้ได้แบบ Futurist วิเคราะห์งานอาชีพ ความชอบ ตัวตน และความสามารถของเราที่มีอยู่ ลองคิดวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ (เอาที่ไม่บิดเบือนเข้าข้างตนเองนะคะ) อย่างเป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์ และถามตัวเองว่า เรามีทักษะและมีการปรับตัวเพื่อให้ทันกับยุคใหม่นี้แล้วหรือยัง

 

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่กำลังมีบุตรหลาน ถ้าคุณคิดตามแบบ Futurist คุณจะรู้เลยว่า วิธีการเลี้ยงดูแบบที่เราเคยได้รับมา เติบโตมานั้น อาจจะใช้ไม่ได้แล้วกับการเลี้ยงเด็กยุคนี้ เนื่องจากเด็กยุคใหม่เกิดมาพร้อมกับยุคอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง มีสิ่งยั่วยุที่ควบคุมได้ยากจากออนไลน์ พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูยุคใหม่ ต้องปูพื้นฐานให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขาตั้งแต่แรกเริ่ม (trust) ตามแนวคิดของ Erikson (1950) และต้องสร้างสายใยความผูกพันธ์ (attachment) ที่ทำให้ลูกรู้ว่าเราเป็นที่พึ่งให้เขาได้ ให้เขาได้รู้จัก ได้รับ และได้ให้ความรัก และรักคนอื่นเป็นตั้งแต่ในบ้าน ตามแนวคิดของ Bowlby (1979) เหล่านี้จะเป็นปัจจัยตั้งต้นที่ดีที่จะทำให้บุตรหลานของเราออกไปรับมือกับโลกยุคใหม่ได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีจากที่บ้าน

 

ลองนึกถึงว่าหากลูกของเราโพสข้อความออนไลน์ หรือได้ออกสื่อออนไลน์ แล้วมีผู้คนมากมายที่ไม่ได้รู้จักกันมาพิมพ์ในเชิงต่อว่า ใช้คำพูดรุนแรงให้เสียหาย เด็กที่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีจากที่บ้านจะรับรู้ว่าตนมีครอบครัวที่รัก เข้าใจ และพร้อมจะเป็นที่พักใจ เป็นที่ปรึกษาได้ ผิดกับเด็กที่เติบโตมาโดยได้รับความรักไม่สม่ำเสมอ จึงไม่แน่ใจนักถึงความอบอุ่นจากคนในครอบครัว เมื่อมีความทุกข์ ก็อาจจะไม่เข้าหาครอบครัว อาจโกหก ปิดบัง และอาจเข้าหาเพื่อนหรือเด็กที่โตกว่ายามมีปัญหา

 

นอกจากนี้ เราจึงควรต้องมาคิดต่อว่าการเรียนหรือรูปแบบการศึกษาแบบที่เราเติบโตมา จะยังใช้ได้กับการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 นี้อยู่หรือไม่ ที่เป็นห่วงอย่างมากคือ การจัดการเรียนการสอนทางวิชาการที่เร็วเกินกว่าพัฒนาการและความพร้อมของเด็กเล็ก (Gallant, 2009) เด็กวัยนี้ควรได้เรียนรู้ผ่านการเล่นมากกว่าการนั่งเรียนนะคะ

 

พ่อแม่ปู่ย่าตายายเติบโตมากับชุดความคิดที่ว่าเรียนดี เรียนเก่ง เรียนจบ ได้งานที่ดีที่มั่นคง จึงเน้นเรื่องการเรียนและผลการเรียน จนอาจลืมพัฒนาองค์ประกอบด้านอื่นของชีวิตที่บุคคลในยุคใหม่จำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง ซึ่งก็คือ การรู้จักตัวเอง การพัฒนาทักษะในกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบหลงใหล เพราะต้องไม่ลืมว่า ต่อไปจะมีอาชีพที่เกิดใหม่ที่คนยุคก่อนไม่คาดคิดมาก่อน เช่น การเป็นนักประกอบโมเดลหุ่นยนต์ที่มีกลุ่มผู้ติดตามออนไลน์ เป็นต้น และอาชีพที่มีอยู่บางอาชีพจะลดความสำคัญลงไป ที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันคือ อาชีพทางด้านสิ่งพิมพ์ที่เห็นได้ว่ามีนิตยสารหลายฉบับปิดตัวไป เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทางสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องรอเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์

 

ดังนั้น แนวทางของคนยุคใหม่คือ การเป็นตัวจริง และรู้จริง ในเรื่องที่ตนสนใจ ถ้าขายสินค้าก็ต้องรู้จักคิดให้สินค้าและบริการมีความน่าสนใจ สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้ จึงต้องเป็นผู้ที่ใฝ่รู้ ค้นหาความรู้อย่างลึกซึ้ง (deep learning) และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีร่วมมือทำงานกับผู้อื่นได้ ไม่ใช่เพื่อเกรด หรือเพื่อใบปริญญา แต่เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตนเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพให้แข่งขันกับคนทั้งโลกได้

 

สิ่งหนึ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างดิฉันพอจะมีส่วนร่วมในยุคของการเปลี่ยนผ่านนี้ คือการปรับวิธีการสอนที่ส่งเสริมให้นิสิตได้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ให้มากขึ้น ให้นิสิตได้ฝึกการค้นคว้าด้วยตนเอง และในฐานะของนักจิตวิทยาพัฒนาการ ดิฉันขอเชิญชวนให้คุณมาลองมองในเลนส์ของนัก Futurist และต้องกล้าที่จะออกจากกรอบ และปรับตัวให้ทัน ในทุก ๆ มุมมองของการใช้ชีวิต

 

บางคนอาจมองว่าสิ่งที่ดิฉันคิดเป็นเพียงนิยายเพ้อฝัน คิดว่ายังอีกนานกว่าโลกจะเปลี่ยนไปถึงจุดนั้น ถ้าเช่นนั้น ดิฉันขอเดินนำทางไปก่อนนะคะ เพราะมีอีกหลายคนที่เดินล่วงหน้าไปก่อนเร็วกว่าดิฉันอีกค่ะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bowlby, J. (2002). The making & breaking of affectional bonds. New York: Brunner-Routledge.

 

Erikson, E. H. (1950). Childhood and Society. New York: Norton.

 

Gallant, P. A. (2009). Kindergarten teachers speak out: “Too much, too soon, too fast!”. Reading Horizons, 49(3), 201-220.

 

Hay, D. B. (2007). Using concept maps to measure deep, surface, and non-learning outcomes. Studies in Higher Education, 32(1), 39-57.

 

Rotherham, A. J., & Willingham, D. T. (2010). “21st century” skills: Not new, but a worthy challenge. American Educator, Spring 2010, 17-20.

 

ภาพประกอบจาก https://anmysite.com/top/looking-through-telescope.html

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ความฉลาดทางอารมณ์ในโลกออนไลน์

 

ชีวิตคนเราเดี๋ยวนี้ต้องอยู่ในโลกไซเบอร์หรืออินเทอร์เน็ตอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ผ่านมา คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ซึ่งมีเกือบ 63 ล้านคน มีผู้ที่ท่องโลกไซเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ตทั้งสิ้นกว่า 16 ล้านคน หรือคิดคร่าว ๆ ก็คือ 1 ใน 4 ของประชากรกลุ่มเป้าหมาย และถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีแหล่งข่าวอ้างว่าจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 18 ล้านคน และกว่าร้อยละ 80 ของคนเหล่านี้มีบัญชีเฟสบุ๊ค อีกทั้งกรุงเทพกลายเป็นเมืองที่มีจำนวนผู้ใช้เฟสบุ๊คมากที่สุดในโลก หรือกว่า 8 ล้านคนทีเดียว แสดงให้เห็นว่าคนไทยให้ความสนใจเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน และใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในระดับสูง และมีทีท่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ควรถามว่าโลกไซเบอร์ดีหรือไม่ดี อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์หรือมีโทษอีกต่อไปแล้ว เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าเราจัดการหรือใช้งานสิ่งนั้นอย่างไร

 

นักจิตวิทยาได้พยายามติดตามศึกษาพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ และมีประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เราท่องอินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน หรือมีความฉลาดทางอารมณ์ในโลกออนไลน์

 

ประการแรก โปรดระวังการขาดการยับยั้งใจ (disinhibition) การโพสต์ข้อความหรือเขียนความคิดความรู้สึกของเราอย่างเมามันไม่ยั้งมือเมื่อออนไลน์ เป็นปรากฏการณ์ที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ บางคนคงจะเคยรู้สึกเสียใจ รู้สึก “ไม่น่าเลย” ที่ได้เขียนอะไรลงไป หรือกรณีของผู้ที่ต้องติดคุกติดตะราง ถูกให้ออกจากงานหรือต้องเสียเพื่อนฝูงเสียคนรักที่คบกันมานานปีเพราะความลืมตัวบนโลกอินเทอร์เน็ต ก็มีให้ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ การขาดการยับยั้งใจในโลกไซเบอร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเมื่อเราพบกันตัวจริงเสียงจริงเสียอีก

 

นักจิตวิทยาอธิบายว่า “สภาวะนิรนาม” (anonymity) หรือการไม่ปรากฏเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของเรา มักทำให้เราหลุดพ้นออกจากกฎ-กติกา-มารยาท ตามเกณฑ์มาตรฐานของสังคมโดยไม่รู้ตัว เรารู้สึกมีเสรีภาพ เป็นอิสระกว่าที่ควรจะเป็น ปลอดจากความเป็นตัวตนและพันธะความรับผิดชอบที่ผูกติดอยู่กับตัวตนนั้น (deindividuation) ขาดการระงับยับยั้งชั่งใจ และกระทำสิ่งที่ ถ้าอยู่ด้วยกันตัวต่อตัวโดยปกติวิสัยแล้วจะไม่กล้าทำ ทำนองเดียวกับการกล้าแสดงความก้าวร้าวรุนแรงของ กลุ่มม๊อบ หรือเล่นอะไรแผลง ๆ เมื่อแต่งแฟนซีใส่หน้ากาก หรือแม้กระทั่งการกล้าลุกขึ้นเต้นสุดเหวี่ยงในแสงสลัวของคอนเสิร์ต สภาวะนิรนามตัดเราออกจากบุคลิกภาพปกติ ทำให้เราขาดการเชื่อมโยงกับความเป็นจริง จึงเอื้อให้เกิดการกระทำหรือแสดงออกแบบแปลก ๆ ใหม่ ๆ อย่างไม่รู้ตัวได้โดยง่าย

 

เราควรเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์โดยระมัดระวังถ้อยคำของเรา ตระหนักถึงการขาดการยับยั้งใจบนอินเทอร์เน็ตกันให้มาก ๆ สุภาษิตที่ว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก” อาจจะเปลี่ยนไปให้เข้ากับยุคสมัยนี้ กลายเป็น “ปลาหมอตายเพราะปาก และเราอาจลำบากเพราะปลายนิ้วมือ”

 

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องแปลกที่ว่ามีปรากฏการณ์ในแง่ตรงกันข้ามก็เกิดขึ้นด้วย จากผลของการปราศจากการยับยั้งใจในโลกออนไลน์ พบว่าคนบางคนกลับกลายเป็นนิรนามน้อยกว่าในชีวิตนอกอินเทอร์เน็ต คือเปิดเผยตนเองในเครือข่ายออนไลน์มากเกินไป บางทีถึงขนาดยอมรับในสิ่งที่แม้กับเพื่อนสนิทก็ยังไม่บอกให้รู้ เผลอหลุดปลายนิ้วเผยเรื่องราวส่วนตัวออกไป สุดท้ายก็มักจะเสียใจในภายหลังว่าไม่น่าลืมตัวเลย และนอกจากเสียใจแล้วก็เป็นไปได้ที่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ จะเกิดขึ้นตามมาด้วย สภาวะนิรนามมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมออนไลน์ของเราเป็นอย่างยิ่ง ควรตั้งสติและปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราให้ดี

 

อย่างไรก็ตาม การไม่ต้องปรากฏตัวให้ใครเห็นในโลกไซเบอร์ก็มีข้อดี คือเราไม่ต้องเป็นกังวลว่าเสื้อผ้าหน้าผมของเราดูดีแล้วหรือยัง และก็ไม่ต้องเป็นห่วงสีหน้าท่าทางของเราด้วย เราสามารถมีสมาธิและอยู่กับความคิดความรู้สึกหรือสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไปได้อย่างเต็มที่ ลองนึกถึงการปฏิสัมพันธ์จริง ๆ ในชีวิต ไหนจะตื่นเต้น ประหม่าเขินอาย ไหนจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจโดยรูปลักษณ์การปรากฏกาย แววตาสีหน้าของคู่สนทนา ไหนจะพยายามอ่านสีหน้าท่าทาง ตีความน้ำเสียงของอีกฝ่าย เพราะฉะนั้นในบางสถานการณ์ การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตจึงอาจชัดเจน ตรงประเด็น เฉียบแหลม และมีประสิทธิภาพมากกว่า

 

ยิ่งไปกว่านี้ ในการสนทนาแบบตัวต่อตัวกับผู้อื่น มีเรื่องบางเรื่องที่เรากลัวว่า เราจะสะเทือนใจและแสดงออกทางอารมณ์เกินไปถ้าพูดออกมา จนทำให้เราไม่กล้าพูดถึง แต่ในโลกออนไลน์เราสามารถเรียบเรียงและเล่าเรื่องที่ลำบากใจไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องหวั่นว่าเราจะเสียสมดุลในสายตาผู้อื่น มิหนำซ้ำขณะที่เราพิมพ์ข้อความ เราเองก็มักจะใช้เหตุผลและเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งใจเย็นขึ้นด้วย ส่วนฝ่ายผู้รับหรือผู้อ่านข้อความของเรานั้น การวิจัยพบว่ามักเกิดความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม เป็นกันเองขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ประมาณว่าข้อความที่อ่านไปจะกลายเป็นเสียงดังอยู่ในโสตประสาท และผนวกเข้ากับการสนทนากับตัวเองของคนเรา

 

การสื่อสารออนไลน์สร้างความใกล้ชิดสนิทสนมแบบจดหมายให้เรา แต่ด้วยข้อความเรื่องราวปกติในชีวิตประจำวันที่ไม่ต้องเป็นทางการหรือมีพิธีรีตองอะไรเลย ประโยชน์ข้อนี้ในระดับกลุ่มพบว่า เครือข่ายออนไลน์สามารถสร้างกลุ่มในการบำบัดทางจิต หรือกลุ่มสนับสนุนทางจิตใจต่าง ๆ ให้สมาชิกกล้าเปิดใจ กล้าแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกที่เก็บกลั้นไว้ในใจ ตลอดจนกล้าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความหวัง ความฝันและความกลัวได้ โดยอาศัยผลทางบวกของการปราศจากการระงับยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์ เพื่อความงอกงามและการปรับตัวต่าง ๆ ตราบใดที่สมาชิกสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวและปกปิดเอกลักษณ์ตัวบุคคลไว้ได้

 

เมื่อสื่อสารออนไลน์เราสามารถแม้กระทั่งออกจากบุคลิกภาพปกติ ไปสู่บุคลิกภาพใหม่ หรือตัวตนใหม่ด้วยก็ยังได้ และหลายคนเป็นเช่นนี้ ซึ่งอาจเป็นกรณีในทิศทางบวก เช่นปกติไม่ค่อยกล้าเสนอแนะ ไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น ก็สามารถมีส่วนร่วม แสดงออกอย่างฉะฉานน่าประทับใจในโลกออนไลน์ได้ และเมื่อมีโอกาสฝึกฝนทักษะในสถานการณ์ที่วิตกกังวลน้อยคุกคามน้อยบนโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็มักแผ่ขยายไปยังพฤติกรรมเมื่อปฏิสัมพันธ์ซึ่ง ๆ หน้ากับผู้อื่น จนเกิดการพัฒนาก้าวหน้าดีขึ้นตามไปได้ด้วย

 

แต่อิทธิพลจากการขาดการระงับยับยั้งใจและสภาวะนิรนาม ประกอบกับการปราศจากเอกลักษณ์ตัวบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ตที่เอื้อให้ผู้คนนำเสนอตัวตนได้ต่าง ๆ นานา อาจเป็นไปในทิศทางลบที่มุ่งร้าย เป็นภัยอันตรายหรือสร้างความทุกข์ใจแก่ผู้อื่นได้เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นขอให้ระลึกไว้เสมอว่าตัวตนของชาวไซเบอร์ที่เรารู้จักอาจไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขาก็ได้ เราต้องช่วยกันเตือนลูกหลานญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงให้ระมัดระวัง อย่าไปหลงเชื่อคนไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต และทำนองเดียวกัน เราเองก็ต้องระงับยับยั้งใจอย่าเคลิบเคลิ้มไปกับสภาวะนิรนามและสำแดงตัวตนที่แตกต่างไปจากความเป็นจริงอย่างสนุกสนาน จนอาจทำร้ายจิตใจผู้อื่น หรือเข้าข่ายหลอกลวงสังคม และถือเป็นความผิดทางกฎหมายได้

 

ข้อคิดประการต่อไป การมีความฉลาดทางอารมณ์ในโลกไซเบอร์ ยังหมายถึงการเข้าใจในความไม่ปะติดปะต่อของการสื่อสารออนไลน์บางครั้งเราต้องรอเป็นเวลานานกว่าสิ่งที่เรากล่าวไปจะได้รับการตอบสนอง หรืออาจจะไม่ได้รับเลยก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหลาย ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะปล่อยวาง และอยู่ในสังคมอินเทอร์เน็ตด้วยจิตว่าง ไม่หวั่นไหวกระทบกระเทือน และไม่ถือเป็นเรื่องที่ต้องเก็บมากังวล โดยลดละการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งไปซะ

 

สำหรับพวกเราบางคนที่มีลักษณะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธเป็นพื้นนิสัยอยู่แล้ว คือเป็นห่วงเป็นกังวลมากเกินไปว่าผู้อื่นจะปฏิเสธ จะไม่ยอมรับ จะไม่ตอบสนอง เช่นนี้ก็ต้องฝึกฝนใจให้ดี เรียกว่าต้องเสริมภูมิต้านทานให้ใจคอหนักแน่น อย่าไประบุว่าปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์นั้นเกี่ยวข้องกับตนเป็นการส่วนตัว อย่ามัวแต่ตีความว่าการตอบสนองหรือไม่ตอบสนองของสมาชิกอื่น ๆ มีสาเหตุมาจากตัวเราเอง แต่ควรทำใจให้สบาย ๆ คิดซะว่าการสื่อสารบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน เดี๋ยวคนนี้มาคนนั้นไป เดี๋ยว like เดี๋ยวไม่ like เป็นเรื่องธรรมดา เราต้องรู้เท่าทัน และพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่ออยู่กับเทคโนโลยีนี้และตักตวงประโยชน์สุขจากความก้าวหน้าของมนุษยชาติให้ได้เท่าที่ทรัพยากรและสติปัญญาความสามารถส่วนบุคคลจะอำนวย และมีความสุขสนุกสนานเพลิดเพลินในโลกออนไลน์ด้วยความฉลาดทางอารมณ์

ความจริงหลักการสำคัญในการดำรงชีวิตบนโลกออนไลน์ ก็คือหลักการเดียวกันกับการใช้ชีวิตโดยทั่วไป นั่นก็คือทางสายกลาง ไม่น้อยไป ไม่มากไป ไม่แรงไป ไม่จืดไป ไม่บ่อยไป ไม่ถี่ไป

 

ยกตัวอย่างเช่น การที่ใครสักคนหนึ่งขยันโพสข้อความหรือสิ่งที่น่าสนใจขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เราก็จะได้พบได้เห็นเขาคนนั้นและเรื่องราวของเขาบ่อย ๆ จริงอยู่ที่เรามักชอบสิ่งที่เราคุ้นเคย หรือเห็นบ่อย ๆ ยิ่งคุ้นเคยก็ยิ่งชอบมากขึ้น นักจิตวิทยายืนยัน แต่เมื่อบ่อยเกินไป หรือเนื้อหาทำนองเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ถึงจุด ๆ หนึ่งเราก็มักจะเริ่มเบื่อ เริ่มเอือมระอา ที่เคยชื่นชม ที่เคยประทับใจ ที่เคยเห็นคุณค่า ก็อาจจะกลายเป็นเฉย ๆ หรือเซ็ง ๆ หรือแม้กระทั่งรู้สึกรำคาญขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นความน่าดึงดูดใจสร้างได้ด้วยทางสายกลาง อย่าใช้เวลาป้อนทุกสิ่งทุกอย่างที่รู้สึกหรือประสบพบเจอขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ต และอย่าคอยเฝ้าตอบสนองทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้อื่นส่งมา ซึ่งก็แน่นอนว่า ถ้าหากเรามัวแต่คอยจะใช้ชีวิตออนไลน์ แล้วเราจะมีเวลาไปหาประสบการณ์ดี ๆ ในชีวิตจริงมาเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวเราได้อย่างไร ผู้มีอีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ในโลกไซเบอร์ จะตระหนักดีในประเด็นเหล่านี้

 

ผลเสียที่ชัดเจนของการอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากเกินไปก็พอจะเป็นที่ทราบกันดี ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียเวลาสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ กับคนใกล้ชิด การขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา และการอดนอนที่ส่งผลกระทบไปยังด้านอื่น ๆ ของชีวิตอีกมากมาย เช่น สุขภาพ การทำงาน และความปลอดภัยเมื่อใช้ยวดยานพาหนะ ส่วนผลอื่น ๆ ที่ไม่ชัดเจนที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต ก็เริ่มปรากฏออกมาให้ทราบจากผลการศึกษาวิจัยทางจิตวิทยา เช่น เรื่องความหึงหวง

 

นักจิตวิทยาพบว่าผู้ที่ใช้เวลาบนเฟซบุ๊กมาก จะหึงหวงคู่รักของตนมากขึ้นด้วย สาเหตุอาจเป็นเพราะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคู่รักมากขึ้น รู้ว่ารู้จักใครและไปไหนทำอะไรมามากขึ้น ซึ่งในยุคก่อนเครือข่ายสังคมข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ได้รับการเปิดเผย

 

พูดถึงการเปิดเผยตนเอง คงไม่แปลกใจว่าผู้ที่ไม่ค่อยจะปฏิบัติตามทางสายกลางในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้แก่ คนโสด คนโสดจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่ละเอียดลึกซึ้งมากกว่าผู้ที่มีคู่รักแล้ว หรือผู้ที่ไม่ระบุสถานะความสัมพันธ์ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่ว่า คู่นัดพบทางออนไลน์เปิดเผยตนเองให้กันและกันรวดเร็วกว่าคู่นัดพบที่พบกันจริง ๆ ดูเหมือนว่าการขาดการระงับยับยั้งใจเมื่อออนไลน์จะสามารถทั้งเร่งและเพิ่มการเปิดเผยตนเองของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนโสดและคนที่อายุไม่มาก การเปิดเผยตนเองมากเกินไป และ/หรือเร็วเกินไปอาจทำให้เราลำบากและเสียใจในภายหลังได้

 

อินเทอร์เน็ตกับการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกต่อไป การจะมีชีวิตที่ราบรื่นจำเป็นต้องอาศัยความฉลาดทางอารมณ์ รู้เท่าทันธรรมชาติของพฤติกรรมการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต มีสติ ไม่เผลอทำสิ่งที่จะทำให้ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง และพิจารณายึดถือทางสายกลางเป็นแนวปฏิบัติบนโลกไซเบอร์ เช่นเดียวกับในโลกแห่งการพบหน้าสบตาพูดจากัน

 

บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะต้านทานสิ่งล่อใจจากโลกออนไลน์ พฤติกรรมส่วนหนึ่งของเรามักตกอยู่ภายใต้กลไกที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “การเสริมแรงแบบกำหนดเวลาไม่แน่นอน” และ “การเสริมแรงแบบกำหนดอัตราไม่แน่นอน” ซึ่งล้วนเป็นกลไกที่มีอานุภาพมาก

 

ตัวอย่างเช่นการเช็คอีเมล์ ส่วนใหญ่เราก็มักจะได้รับอีเมล์ธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรสนุกสนาน ไม่มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ แต่แล้วจู่ ๆ เราได้รับเมล์ที่ถูกใจ มีอะไรดี ๆ เข้ามาให้เราอ่าน เราชอบมาก พฤติกรรมการเช็คอีเมล์ของเราก็จะได้รับการเสริมแรงจากอีเมล์เด็ด ๆ ที่เข้ามานี้ คือเราก็จะคอยเช็คเมล์อยู่เรื่อย ๆ และไม่เลิกง่าย ๆ แม้นาน ๆ ทีเมล์ที่ถูกใจถึงจะโผล่เข้ามา ภายใต้กลไกการเสริมแรงแบบกำหนดเวลาไม่แน่นอนนี้ นิสัยการเช็คอีเมล์จึงเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และคนส่วนใหญ่ก็ประเมินความถี่ที่ตนเข้าอีเมล์น้อยกว่าความเป็นจริงด้วย

 

หรือถ้าจะวิเคราะห์การเข้าเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหลาย บางครั้งเราโพสรูปหรือข้อความขึ้นไปโดยไม่ค่อยได้รับการตอบสนอง แต่ทว่าบางทีเราก็บังเอิญได้รับการกด like อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ได้รับ comment ชื่นใจ ๆ เข้ามาอย่างคาดไม่ถึง เช่นนี้หมายความว่าพฤติกรรมการโพสของเราได้รับการเสริมแรงแบบกำหนดอัตราไม่แน่นอน ซึ่งจะทำให้เราคงกระทำพฤติกรรมต่อไปในความถี่สูง และไม่เลิกราง่าย ๆ ทำนองเดียวกับนักพนันที่โยกคาน slot machine ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่นาน ๆ ทีจึงจะมีเหรียญหล่นออกมา

 

กลไกการเรียนรู้ส่วนหนึ่งของคนเราเป็นอย่างนี้ แต่เราไม่จำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขในสภาพแวดล้อมที่ล่อใจเราเพียงฝ่ายเดียว เราสามารถตั้งใจกำหนดเป้าหมาย ทิศทาง และกำกับการกระทำความคิดความรู้สึกของเราได้

 

ตัวอย่างเช่นผลการวิจัยพบความแตกต่างระหว่างผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ไร้บทบาท คือใช้เวลาเข้าไปเลื่อนดูรูปและอ่าน updates ของผู้อื่นเฉย ๆ กับผู้ใช้เฟสบุ๊คที่มีบทบาท คือลง status ขึ้นรูป หรือความคิดเห็นต่าง ๆ ไม่น่าแปลกใจใช่ไหมที่การมีบทบาทเป็นหนทางไปสู่การเพิ่มความผูกพันเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี เรียกว่าได้ประโยชน์จากเวลาที่ใช้ไป นอกจากนี้ยังพบว่าการ updates เรื่องราวของเราบนเครือข่าย หรือ share ในกลุ่มสังคมออนไลน์ทำให้เราเหงาน้อยลงด้วย เพราะเกิดความรู้สึกเชื่อมต่อชนิดรายวันกับเพื่อนฝูง และที่น่าแปลกใจก็คือผลที่เกิด คือความเหงาลดลงนี้ไม่ขึ้นอยู่กับว่าเพื่อนฝูงตอบหรือไม่ตอบ หรือตอบอย่างไร เพียงแค่การเข้าหา เชื่อมต่อกับพวกพ้องก็มีผลลดความเหงาได้แล้ว

 

แม้โลกไซเบอร์จะมีคุณค่าและให้ความสะดวกสบายมหาศาลแก่เรา แต่ก็ไม่อาจแทนที่การพบหน้าสบตาพูดจากันได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องการสื่ออารมณ์ โน้มน้าวใจ หรือต้องการจับอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของอีกฝ่าย นอกจากนี้การสื่อสารออนไลน์ให้ความรู้สึกมีอิสระเสรี ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดีอาจเป็นที่มาของความขัดแย้งความทุกข์ใจในรูปแบบต่าง ๆ ที่นักจิตวิทยากำลังพยายามศึกษาทำความเข้าใจกันอยู่ การดำเนินชีวิตให้ราบรื่นในโลกปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจนี้ เพราะความฉลาดทางอารมณ์เมื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่สร้างและฝึกฝนกันได้

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การฆ่าตัวตาย

 

เราอาจมีข้อสงสัยเกิดขึ้นในใจเสมอเวลาที่เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ว่า “มีคนฆ่าตัวตาย” ซึ่งก็มีทั้งเพศชาย เพศหญิง มีทั้งเด็กวัยรุ่นและคนชรา ทำไมพวกเขาถึงต้องฆ่าตัวตาย มันเกิดอะไรขึ้นถึงต้องตัดสินใจเช่นนี้

 

ความจริงแล้วในชีวิตประจำวันของเราทุกคนก็จะต้องเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ กันไป บางเรื่องดี บางเรื่องร้าย เรื่องที่ดีก็นำมาซึ่งความสุขใจ เรื่องร้ายก็นำมาซึ่งความทุกข์ใจ เมื่อเราต้องเจอกับเรื่องที่ทุกข์ใจบ่อยครั้ง เราก็ต้องจะหาวิธีจัดการกับความทุกข์นั้น ซึ่งก็มีทั้งวิธีที่การจัดการกับเหตุแห่งทุกข์ วิธีการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือวิธีการเลี่ยงจากความทุกข์ อยู่ที่ว่าคนแต่ละคนจะเลือกใช้วิธีไหน ซึ่ง “การฆ่าตัวตาย” ก็เป็นวิธีหนึ่งที่คนเราเลือกขึ้นมาใช้ในเลี่ยงจากความทุกข์นั้น หรือเลี่ยงจากความเป็นจริงที่ตนเองต้องเผชิญอยู่ แต่แน่นอนว่า ในชีวิตเราย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้นมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อกหักรักคุด แฟนทิ้ง ตกงาน ไปจนถึงการสูญเสียคนที่มีความสำคัญในชีวิต เช่น บิดามารดา ซึ่งความทุกข์แต่ละอย่างที่เราต้องเผชิญนั้นย่อมมีน้ำหนักแตกต่างกันที่จะส่งให้คนเราตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย

 

มีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า คนที่ต้องเผชิญความทุกข์จากการสูญเสียคนที่ตนเองรักและผูกพันด้วย เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนคิดจะฆ่าตัวตาย ซึ่งคำว่าสูญเสียนี้ หมายถึงการไม่มีคนคนนั้นอยู่ด้วยอีกแล้ว ซึ่งเป็นได้ทั้งการตายจากกัน หรือการเลิกร้างจากกัน

 

อยากให้เรามองการสูญเสียคนที่ตนเองรักและผูกพันในมุมที่กว้างว่า คนแต่ละช่วงวัยก็จะมีคนที่คนรักและผูกพันด้วยต่างกันไป เช่น เมื่อเราเป็นวัยรุ่น เพื่อนอาจจะเป็นคนที่เรารู้สึกรักและผูกพันที่สุด การที่เราต้องสูญเสียเพื่อนอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในขณะเมื่อเราอยู่ในวัยกลางคน ลูกจะเป็นคนที่เรารู้สึกรักและผูกพันที่สุด การที่เราต้องสูญเสียลูกก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นเมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เวลาที่ทราบว่าคนใกล้ชิดรอบตัวเราต้องเจอกับความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสียดังกล่าว เราควรจะดูแลเอาใจใส่เขาด้วยความใกล้ชิดเป็นพิเศษ รวมทั้งยังต้องมีความเข้าใจตัวเขาด้วย พยายามเลี่ยงความคิดที่ว่า เรื่องแค่นี้จะอะไรกันนักหนา ไร้สาระ เพราะอย่างที่กล่าวมาตอนต้นแล้วว่า คนแต่ละช่วงวัยก็จะมีความแตกต่างกันไป อย่างน้อยถ้าเราดูแลใกล้ชิดเมื่อเขามีความทุกข์ดังกล่าวก็จะเป็นการพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องราวที่น่าเสียใจขึ้นได้

 

 

ทำไมจึงมีข่าวการฆ่าตัวตายของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง?


 

ข้อมูลจากงานวิจัยที่พบว่า การที่ผู้ชายฆ่าตัวตายมากว่าผู้หญิง มีปัจจัยสองประการ คือ

 

  1. การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้หญิงจะมีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในลักษณะของการพูดคุยแบ่งปันความรู้สึกต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน ผู้หญิงจะพร้อมที่จะพูดคุยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของเธอกับเพื่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ดีหรือร้ายก็ตาม ในขณะที่ผู้ชายมักจะไม่ค่อยชอบพูดคุยถึงเรื่องราวที่เป็นความรู้สึกลึก ๆ ของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ดีหรือร้าย และมักจะเก็บความรู้สึกต่าง ๆ ไว้กับตนเอง ซึ่งความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นว่า การสนทนาที่ผู้หญิงมีต่อกันและกันนั้น เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยระบายและลดความโน้มเอียงที่เธอจะฆ่าตัวตายได้ พอทราบเช่นนี้แล้วเราอาจจะเห็นถึงประโยชน์ของการที่ผู้หญิงพูดได้ทั้งวัน
  2. วิธีการในการเผชิญปัญหา แน่นอนที่สุดว่า คนเราเมื่อมีปัญหาที่ต้องเผชิญมาก ๆ และไม่สามารถจัดการกับปัญหานั้นได้สำเร็จ ก็อาจจะนำไปสู่การมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจในการเผชิญปัญหาของผู้หญิงก็คือ เมื่อผู้หญิงมีปัญหาต่าง ๆ ผู้หญิงจะมีความพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา โดยเลือกใช้วิธีการแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าผู้ชาย ตัวอย่างเช่น หากผู้หญิงมีความเครียดในการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานใหม่ ผู้หญิงก็พร้อมที่จะไปแสวงหาความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาทางจิตใจของบุคคล ดังนั้นปัญหาความเครียดของเธอก็จะลดลงจนหายไปในที่สุด ซึ่งเท่ากับเป็นการลดปัจจัยสาเหตุที่จะนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายได้

 

จากปัจจัยทั้งสองประการที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ต้องการที่จะบอกเพียงว่าผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย หรือ ผู้ชายดีกว่าผู้หญิงแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการอยากให้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ว่า เวลาที่เรามีความรู้สึก มีอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบ เราควรหาโอกาสที่จะแบ่งปันความรู้สึกนั้นกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรักหรือคนในครอบครัวก็ได้ และหากคุณรู้สึกว่าตนเองมีปัญหาที่ไม่สบายใจมาก ๆ ก็ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ อาจจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยคุณได้

 

 

การสังเกตบุคคลรอบข้าง


 

ก่อนที่จะกล่าวถึงสัญญาณต่าง ๆ นั้น อยากให้ทำความเข้าใจก่อนว่า สัญญาณที่จะกล่าวถึงแต่ละสัญญาณ ไม่ได้หมายความว่า การที่เพื่อนของคุณหรือญาติของคุณมีสัญญาณใดสัญญาณหนึ่งแล้วจะแปลว่าเขาพยายามที่จะฆ่าตัวตาย หรือ ต้องมีกี่สัญญาณประกอบกันจึงจะแสดงว่าเขามีความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย เพราะความจริงแล้วสัญญาณต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงก็เป็นเพียงสิ่งที่บอกความเป็นไปได้เท่านั้น ส่วนความเป็นไปได้จะเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร คงต้องอาศัยความใกล้ชิดของคุณที่มีต่อบุคคลนั้น มาช่วยตัดสินประกอบ จึงจะเป็นสิ่งที่บอกได้อย่างแน่นอนกว่า

ลักษณะของบุคคลที่มีความเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะพยายามฆ่าตัวตายนั้นมีหลายประการด้วยกัน ดังนี้

 

  1. บุคคลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนและพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างผิดปกติหรือไม่ เช่น ไม่นอนตามเวลาปกติที่เคยนอน หรือ นอนน้อยกว่าปกติที่เคยนอน จากนอนวันละ 8 ชั่วโมง มาเป็นนอนวันละ 2 ชั่วโมง เป็นต้น หรือในส่วนพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น ไม่ยอมทานอาหารเลย บอกปฏิเสธทุกครั้งที่มีคนชวนทานอาหาร
  2. บุคคลนั้นพยายามที่จะแยกตัวออกห่างจากเพื่อนสนิท แยกตัวออกห่างจากครอบครัว จากผู้ใกล้ชิด โดยจะพยายามเลี่ยงการทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันร่วมกันกับผู้อื่น เช่น บุคคลที่พยายามจะเก็บตัวอยู่ตามลำพังในห้องส่วนตัวโดยไม่ยอมติดต่อกับผู้อื่นเลย
  3. บุคคลนั้นที่มีพฤติกรรมที่รุนแรง หรือ มีพฤติกรรมที่ขัดขืน เช่น บุคคลแสดงอารมณ์โกรธอย่างรุนแรงด้วยการทำลายข้าวของหรือทำร้ายตนเอง หรือบุคคลที่แสดงพฤติกรรมขวางโลก
  4. บุคคลที่ต้องพึ่งพาสารเสพติด ไม่ว่าจะเป็นสารเสพติดชนิดใดก็ตาม เช่น บุคคลที่ติดยาบ้า ยานอนหลับ เป็นต้น
  5. บุคคลที่ปล่อยปละละเลยไม่ให้ความสนใจกับลักษณะภายนอกของตนเอง เช่น บุคคลที่ปล่อยให้ผมยาวรุงรัง สวมใส่เสื้อผ้าที่สกปรก ไม่ทำความสะอาดร่างกายตนเอง
  6. บุคคลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของตนเอง ชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น จากเคยเป็นบุคคลที่ชอบเข้าสังคม สังสรรค์ พบปะกับเพื่อน ก็กลายเป็นคนเก็บตัวเงียบอยู่กับบ้าน ไม่ยอมพบปะพูดคุยกับใครเลย หรือ จากคนที่ร่าเริงแจ่มใส กล้าแสดงความคิดเห็น เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ กลายเป็นคนที่เศร้าซึม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความเป็นตัวเองออกมา
  7. บุคคลนั้นจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งทำอยู่เป็นประจำ ลองใช้วิธีง่าย ๆ สังเกตดู คือ ดูจากคุณภาพงานที่เขาทำว่าคุณภาพของงานนั้นลดลงหรือไม่ เนื่องจากบุคคลที่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะทำสิ่งใด จะไม่สามารถบังคับให้ใจจดจ่อต่องานชิ้นหนึ่งชิ้นใดได้ งานนั้นก็จะมีคุณภาพไม่ดี หากงานใดก็ตามที่บุคคลนั้นทำมีผลออกมาไม่ดีเสมอ ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่ทำอยู่
  8. บุคคลนั้นมักจะบ่นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยทางกายของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งอาการเจ็บป่วยทางกายที่มักบ่นถึง จะเป็นอาการเจ็บป่วยทางกายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับทางอารมณ์ เช่น บุคคลที่มักบ่นว่าตนรู้สึกปวดท้อง หรือ ปวดหัว อยู่เป็นประจำ
  9. บุคคลที่ไม่ให้ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้ความพึงพอใจ เช่น การดูโทรทัศน์ การชมภาพยนตร์ อ่านออกกำลังกาย หรือแม้แต่การนั่งสมาธิ ซึ่งกิจกรรมที่ให้ความพึงพอใจของแต่ละบุคคลก็จะมีความแตกต่างกันไป หากคุณเป็นคนที่ใกล้ชิดก็ลองสังเกตดูว่า คนรอบข้างคุณมีกิจกรรมอะไรที่เขาพึงพอใจ เมื่อเขามีการเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะได้สามารถสังเกตเห็นได้ทันท่วงที

 

นอกจากนี้แล้วยังมีคำพูดต่าง ๆ ที่จะช่วยบอกคุณได้ คือ ใช้คำพูดที่บ่นว่าตนเอง ว่าตนเองเป็นคนไม่ดี ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย หรือ มักจะพูดถ้อยคำที่มีนัยแฝง เช่น

 

“ฉันคงไม่เป็นปัญหากับคุณอีกนานเท่าไรแล้วละ”

 

“มันไม่มีอะไรมากนักหรอก”

 

“ฉันคงไม่ได้เจอคุณอีกแล้วนะ”

 

ทั้งนี้สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด คงไม่สามารถระบุได้ว่า สิ่งใดจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดว่าบุคคลใดมีความพยายามที่จะฆ่าตัวตาย เนื่องจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยให้เราสังเกตคนรอบข้าง ส่วนคนรอบข้างของคุณจะมีแนวโน้มมากหรือน้อยเพียงใดคงต้องอาศัยความใกล้ชิดกับคน ๆ นั้นประกอบด้วย

 

 

คนในช่วงอายุใดมีโอกาสที่จะตัดสินใจฆ่าตัวตายมากที่สุด?


 

ชีวิตของคนเราสามารถแบ่งช่วงวัยเป็นช่วงต่าง ๆ แบบง่าย ๆ คือ แบ่งวัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยชรา เมื่อเราแบ่งช่วงวัยเป็นแบบนี้แล้วเราจะพบว่า วัยรุ่นและวัยชราเป็นวัยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าวัยอื่น ๆ

 

ด้วยธรรมชาติของวัยรุ่นเป็นวัยที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ของวัยรุ่น โดยอารมณ์ของบุคคลที่อยู่ในวัยรุ่นจะมีความผันผวนได้ง่าย คือ เมื่อวัยรุ่นมีความรู้สึกเป็นสุข ก็จะมีความสุขแบบสุด ๆ ชนิดที่เราจะเห็นเขาตะโกน เย้ว ๆ ตามคอนเสิร์ต แต่เมื่อวัยรุ่นมีความทุกข์ เขาก็จะจมอยู่กับความทุกข์ได้อย่างสุด ๆ เช่นกัน ชนิดที่ไม่กินไม่นอน เหมือนโลกจะดับไปตรงหน้า ดังนั้นเมื่อวัยุร่นต้องเผชิญกับปัญหาที่เขารู้สึกว่าไม่สามารถแก้ไข หรือไม่สามารถจัดการได้ เขาก็รู้สึกทุกข์กับมันมาก จมอยู่กับความทุกข์นั้น เกิดความหดหู่ใจ อันเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายได้

 

ส่วนในวัยชรา เมื่อบุคคลอยู่ในวัยชราต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเช่นเดียวกับวัยรุ่น หากเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมถอยลง ทั้งการลดลงของคนใกล้ชิด การลดลงของสมรรถภาพกาย โดยการลดลงของคนใกล้ชิดคือเปลี่ยนแปลงจากการที่คู่ชีวิตหรือเพื่อนสนิทต้องเสียชีวิตไป ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นคนที่มีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของบุคคล ส่วนการลดลงของสมรรถภาพกาย คือ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เสื่อมถอยลง ท่านจะไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ อย่างที่เคยทำได้ จากที่เคยเดินอย่างคล่องแคล่วแข็งแรง ก็เดินไม่ได้ มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่าง ๆ และเมื่อประกอบกับอารมณ์ของบุคคลในวัยชราที่ท่านจะต้องการความสนใจจากลูกหลาน อยากให้ลูกหลานเอาใจใส่ห้อมล้อมใกล้ชิด แต่ความจริงอาจไม่เป็นอย่างที่ท่านต้องการ ท่านก็อาจจะเกิดความน้อยใจ รู้สึกว่าตนไม่มีความหมาย หรือบางครั้งท่านอาจจะถูกลูกหลานทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ทำให้เกิดความหงอยเหงา ซึ่งแต่ละสาเหตุที่กล่าวมานั้นไม่ว่าจะเป็นปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง หรือ หลายปัจจัยร่วมกัน อาจจะทำให้ท่านตัดสินใจฆ่าตัวตายได้

 

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เราก็ควรจะให้ความใส่ใจดูแลบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในวัยรุ่นและวัยชรา อาจต้องดูแลเป็นพิเศษ พยายามดูแลวัยรุ่นด้วยความเข้าใจถึงธรรมชาติของเขา ว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างายและจิตใจ ส่วนวัยชราก็ต้องให้ความใส่ใจดูแลใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ท่านรู้สึกว่าไม่มีใครให้ความสำคัญ

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ความสูงนั้นสำคัญไฉน?

 

หากจะพูดถึงลักษณะทางร่างกายที่พบเห็นแล้วสะดุดตาตั้งแต่แรกพบ หนึ่งในนั้นก็คงรวมถึง “ความสูง” ของคนเราด้วย ซึ่งความสูงนี่เองต่างก็เป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา จนถึงขั้นมีการคิดค้นอุปกรณ์เพิ่มความสูง รวมถึงการฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้คนเราสูงขึ้นอีกด้วย แต่คุณเคยสังเกตหรือถามตัวเองหรือไม่ว่า ทำไมคนเราจึงอยากสูง และความสูงส่งผลดีต่อชีวิตของเราได้อย่างไรบ้าง ?

 

Deaton และ Arora (2009) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสูงของคนเรากับความพึงพอใจในชีวิต ในกลุ่มผู้ใหญ่จำนวนกว่า 4 แสน 5 หมื่นคน ผลพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่สูงรายงานว่าตนเองมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่สูง รวมทั้งพบด้วยว่า ความสูงของร่างกายมีความสัมพันธ์กับรายได้ โดยพบว่าเมื่อความสูงของร่างกายเพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 นิ้ว จะเพิ่มรายได้ประมาณร้อยละ 3.8 สำหรับผู้หญิง และร้อยละ 4.4 สำหรับผู้ชาย

 

 

แล้วความสูงเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในชีวิตด้านใดบ้าง?


 

คุณเคยสังเกตหรือไม่ว่า คู่รักที่เราพบเจอมีความสูงแตกต่างกันอย่างไร ใครสูงกว่าใคร หรือแม้แต่คู่รักของตัวเราเอง มีความสูงมากกว่าหรือน้อยกว่าเรา และแท้จริงแล้ว เราชอบให้คู่รักของเราสูงมากกว่าหรือน้อยกว่าเรา

 

Salska, Frederick, Pawlowski, Reilly, Laird และ Rudd (2008) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสูงและความชื่นชอบในคู่ครอง ในกลุ่มตัวอย่างเพศชายจำนวน 1,000 คน และเพศหญิงจำนวน 1,000 คน โดยใช้การโฆษณาหาคู่เดตทางเว็บไซต์เป็นเครื่องมือในการศึกษา ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ต้องการจะหาคู่เดตของตนผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว จะต้องระบุเพศ ความสูงของตนเอง และความสูงของคู่เดตที่ต้องการ

 

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างปฏิเสธที่จะเลือกคู่เดตในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีส่วนสูงมากกว่าฝ่ายชาย โดยฝ่ายชายจะระบุความสูงของคู่เดตหญิงที่ต้องการให้มีส่วนสูงน้อยกว่าตนเอง ขณะที่ฝ่ายหญิงก็จะระบุความสูงของคู่เดตชายที่ต้องการให้มีส่วนสูงมากกว่าตนเองเช่นกัน สอดคล้องกับผลการศึกษาหนึ่งที่ศึกษาคู่รักชาวอเมริกันจำนวน 720 คู่ และพบว่ามีเพียงคู่รักคู่เดียวเท่านั้นที่ฝ่ายหญิงมีส่วนสูงมากกว่าฝ่ายชาย

 

 

แล้วเหตุใดผู้หญิงจึงเลือกคู่ครองฝ่ายชายที่สูงมากกว่าตน และทำไมฝ่ายชายจึงเลือกคู่ครองฝ่ายหญิงที่สูงน้อยกว่าตน ?


 

Salska และคณะ ยึดแนวคิดจิตวิทยาวิวัฒนาการมาอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ผู้หญิงต้องการให้คู่ครองฝ่ายชายของตนมีความเป็นชายชาตรี นับตั้งแต่หน้าตา รวมถึงความสูงของฝ่ายชายด้วย ทั้งนี้อาจเพราะความสูงของฝ่ายชายแสดงถึงความสามารถในการสืบทอดเผ่าพันธุ์ และถ่ายทอดพันธุกรรมที่ดีส่งต่อไปยังลูกหลาน

 

ทั้งนี้ งานวิจัยของ Yancey และ Emerson (2014) ยังมองว่า ความสูงของฝ่ายชายนั้นไม่เพียงแค่แสดงถึงลักษณะทางพันธุกรรมเท่านั้น แต่ยังอาจสะท้อนถึงความสามารถในการจัดหาแหล่งทรัพยากรต่างๆ ให้กับฝ่ายหญิง โดยเฉพาะยังแสดงถึงสถานภาพทางสังคม และมีความเกี่ยวข้องกับอำนาจอีกด้วย ขณะที่ฝ่ายชายเองอาจมองว่าความสูงของเพศหญิงไม่ได้มีผลต่อการจัดหาทรัพยากรในการดำรงชีวิตมากเท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อมองในแง่ของบรรทัดฐานทางสังคมด้วยแล้ว ก็เป็นไปได้ว่า เรามักนิยมและยอมรับคู่รักที่ฝ่ายชายมีความสูงมากกว่าฝ่ายหญิงด้วย

 

 

ยิ่งสูง ยิ่งประสบความสำเร็จ?


 

นอกจากความสูงจะมีความเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในชีวิตด้านการเลือกคู่ครองแล้ว ความสูงของคนเรายังมีผลต่อการดำเนินชีวิตในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอาชีพการงานอีกด้วย

 

นักวิจัยจำนวนมากต่างพยายามศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสูงกับความก้าวหน้าในอาชีพ โดย Judge และ Cable (2004) ก็เป็นนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่ศึกษาถึงอิทธิพลของความสูงต่อความสำเร็จในองค์กร โดยอิงแนวคิด ที่ว่า “ตามกฎของธรรมชาติ สิ่งที่มีขนาดใหญ่มักอันตราย” ดังนั้น ความสูงจึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและการได้รับการเคารพนับถือจากผู้อื่น ผู้ที่มีความสูงมากกว่า จึงมักได้เปรียบในอาชีพการงานมากกว่า

 

ผลการวิจัยของเขาพบด้วยว่า ความสูงมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลงาน การเป็นผู้นำ รวมถึงรายได้ กล่าวคือ ผู้ที่มีส่วนสูงมากกว่าคนทั่ว ๆ ไปมักมีผลงานที่ดีมากกว่า มีโอกาสที่จะเป็นผู้นำในองค์กรมากกว่า รวมถึงมีแนวโน้มที่จะมีรายได้มากกว่าผู้ที่มีส่วนสูงต่ำกว่าคนทั่ว ๆ ไป หากมองในมุมกลับกัน ก็เป็นไปได้ว่าคนทั่วไปมักรับรู้และตีความเอาเองว่า ผู้ที่สูงมากกว่าคนอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะมีศักยภาพ และความสามารถเหนือกว่าของบุคคลอื่น ๆ

 

 

จะเห็นได้ว่า ความสูงนั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเราอย่างที่ใครหลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ทั้งการเลือกคู่ครองที่ฝ่ายชายมักชื่นชอบให้คู่ของตนมีความสูงน้อยกว่าตนเอง ขณะที่ฝ่ายหญิงก็ชื่นชอบให้คู่ของตนมีความสูงมากกว่าตนเองเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ที่มีความสูงมากกว่าคนทั่วไป ยังมีโอกาสในการเป็นผู้นำมากกว่าคนอื่นๆ สังเกตได้จาก CEO ในองค์กรขนาดใหญ่มักเป็นผู้ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการรับรู้ของคนเราว่า รูปร่างสูงใหญ่สะท้อนถึงการมีอำนาจและสถานภาพที่เหนือกว่านั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความสูงไม่มากนักก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะความสูงก็เป็นเพียงลักษณะร่างกายภายนอกเท่านั้น หากเรามีความสามารถในการทำงานอย่างแท้จริง มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ก็คงไม่เป็นการยากจนเกินไปที่ความสำเร็จในหน้าที่การงานจะมาถึงเรา ดูอย่างผู้นำองค์กรต่าง ๆ ในบ้านเรา หลายคนก็ไม่ได้มีรูปร่างสูงใหญ่แต่ประการใดเลย หากแต่ก็มีความสามารถและเป็นที่ยอมรับของสังคมได้เช่นกัน

 

ความสูงอาจเปรียบเสมือนปราการด่านแรกในการสร้างความประทับใจ ดึงดูดใจ และทำให้การดำเนินชีวิตง่ายขึ้น แต่หากเราไม่รู้จักขวยขวายหรือสร้างผลงานที่ดีให้ปรากฏต่อสายตาผู้อื่นแล้วล่ะก็ ต่อให้สูงเสียดฟ้าก็อาจช่วยอะไรไม่ได้

 

 

 

ภาพประกอบจาก https://www.rd.com/health/conditions/height-and-prostate-cancer/

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การเป็นพ่อ

 

จะเป็นพ่อเมื่อไรดีเอ่ย?


 

ประสบการณ์ครั้งแรกของการเป็นพ่อถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของผู้ชายทุกคน เพราะความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นบนบ่าของคุณดูจะหนักหนาอยู่ไม่เบา ถ้าอย่างนั้น เราลองมาดูกันซิว่า คนที่จะเป็นพ่อ เขาต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันอย่างไรบ้าง

 

ก่อนอื่น ก็ต้องมาคิดกันก่อนว่า “จะมีลูกเมื่อไรดี”

 

คนเราเมื่อแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก็อยากจะมีลูกเป็นพยานรักกันทั้งนั้น แต่ขอแนะนำว่า อย่ารีบมีลูกเร็วเกินไป คือ อย่าเพิ่งมีลูกในช่วงปีแรกของการแต่งงาน แต่ถ้ามีความจำเป็นในชีวิต เช่นในรายที่แต่งงานเมื่ออายุมาก หรือเกิดอุบัติเหตุทางความรักที่รอไม่ได้ ก็ไม่ว่ากัน เอาเป็นว่า ถ้าคู่สามีภรรยาสามารถเลือกได้ก็รอไปสักนิดจะดีกว่า

 

ที่พูดถึงปีแรกของการแต่งงาน เอาเป็นเวลาโดยประมาณก็แล้วกัน ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ที่สำคัญคืออย่ารีบมีลูกทันที ค่อย ๆ ก้าวตามขั้นตอนของพัฒนาการจะสบายใจกว่า เหตุผลที่ไม่อยากให้คุณ ๆ ทั้งหลายมีลูกเร็วนัก เป็นเพราะว่า จากประสบการณ์จริงของคู่สมรสและจากงานวิจัยทางจิตวิทยาได้ให้ข้อแนะนำว่า ช่วงเวลาที่แต่งงานใหม่ ๆ เป็นช่วงที่ระดับความรักความหวานชื่นของคู่สามีภรรยาขึ้นสูงที่สุด จากนั้นความรักจะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามพัฒนาการของชีวิตคู่ เราจึงควรนำข้อได้เปรียบตรงนี้มาใช้เพื่อการเตรียมความพร้อมแห่งชีวิต ปีแรกของการแต่งงานควรจะเป็นปีแห่งการเป็นสามีภรรยา ไม่ใช่การเป็นพ่อแม่ ถือเป็นปีแห่งการเรียนรู้สำหรับคนสองคนที่เริ่มใช้ชีวิตร่วมกัน เพื่อปรับตัวปรับใจ เตรียมพื้นฐานความรักและการใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อชีวิตครอบครัวที่เป็นสุขและมั่นคงต่อไปในอนาคต คู่สมรสควรใช้เวลาในช่วงนี้เพื่อสานความรักความผูกพันต่อกันและกันให้เต็มที่ เปิดโอกาสให้ตนเองได้มีความสุขกับช่วงเวลาแห่งความหวานชื่นของการเริ่มใช้ชีวิตร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นความขัดแย้งระหว่างกัน เกิดการปรับสมดุลย์ในชีวิตระหว่างความต้องการของตนกับการโอนอ่อนผ่อนปรนในการปรับตัวเพื่อคนที่รัก เกิดความเอื้ออาทรต่อกัน อดทน ให้อภัย ถนอมน้ำใจกัน ช่วยกันวางรากฐานครอบครัว ทั้งในเรื่องการงาน การเงิน บ้านช่อง และที่สำคัญคือให้แน่ใจว่าเราทั้งสองสามารถปรับตัวปรับใจร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันได้

 

พูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้ชีวิตความเป็นสามีภรรยาในช่วงแรกของการแต่งงานให้เต็มที่และให้มีความสุขที่สุด โดยอาศัยพลังความรักที่มีอยู่เป็นเครื่องช่วย ความรักและความเข้าใจในช่วงต้นของการใช้ชีวิตคู่ เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพัฒนาการของชีวิตครอบครัวที่มั่นคงในวันข้างหน้า ที่อยากจะฝากไว้นิดก็คือ คู่แต่งงานจำนวนมากพบว่าปรับตัวเข้าหากันไม่ได้และต้องลงเอยด้วยการหย่าร้าง สถิติของการหย่าร้างในช่วง 1-2 ปี ของการแต่งงานนั้นสูงไม่เบาทีเดียว ก่อนจะไปสูงอีกครั้งในช่วง 7 ปี ดังนั้น เราจึงควรใช้ชีวิตคู่อย่างไม่ประมาทและอย่าปล่อยให้เวลาทองในช่วงปีแรกของการแต่งงานนี้ผ่านไปอย่างเลื่อนลอยไม่รู้คุณค่า

 

อย่าลืมว่า รู้เขารู้เราให้แน่ใจเสียก่อน วางรากฐานชีวิตคู่ให้มั่นคงอีกสักนิด แล้วค่อยช่วยกันผลิตเจ้าตัวน้อยที่น่ารักจะดีกว่า

 

 

“ผมอยากมีลูก”

 

เมื่อใช้ชีวิตคู่อย่างราบรื่นด้วยความสุขความเข้าใจกันไปได้สักระยะหนึ่ง พัฒนาการของชีวิตคู่จะเริ่มเปลี่ยนความรักความสนใจที่มีต่อกันของคู่สามีภรรยา ไปสู่ความต้องการใหม่ในชีวิต คือ ความอยากมีลูก รายงานจากการวิจัยพบว่า ในปัจจุบัน ผู้หญิงส่วนหนึ่งตัดสินใจที่จะมีลูกช้า ซึ่งก็คือผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง มีงานดี และมีฐานะที่ดี นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ชายที่มีลูกหลังอายุ 30 ปี มักจะมีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูก และมีบทบาทสำคัญในการดูแลลูกเป็นอย่างมาก

 

สังคมมองว่า คนแต่งงานแล้วก็ต้องเปลี่ยนฐานะตนเองไปเป็นพ่อแม่ในวันหนึ่ง สำหรับในรายที่แต่งงานไปสักระยะหนึ่งแล้วยังไม่มีลูก คุณจะพบว่าคุณต้องเผชิญกับความกดดันทางสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ คำทักทายที่คุณได้รับมักจะเป็นในรูปแบบซ้ำๆ เช่น “มีลูกหรือยัง มีลูกกี่คนแล้ว ทำไมไม่มีลูก เป็นต้น” และถ้าคุณเป็นประเภท “อยากมีลูกเหลือเกิน แต่ยังมีไม่ได้เสียที” คุณก็จะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากสังคมรอบข้าง ได้รับคำแนะนำสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ วิธีทางการแพทย์สมัยใหม่ ไปจนถึงไสยศาสตร์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วทั้งแผ่นดินที่จะช่วยให้มีลูกได้สมใจ แต่ในทางตรงข้าม ถ้าคุณยืดอกเชิดหน้าตอบอย่างมั่นใจว่า “ตั้งใจจะไม่มีลูก” ขอให้เตรียมใจไว้เลยว่า คุณต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งมาก เพราะแรงกดดันจากสังคมรอบข้างจะสาหัสกว่าในกรณีแรก คุณจะได้รับการตำหนิทั้งต่อหน้าและลับหลังว่า เห็นแก่ตัว อยากใช้ชีวิตคู่หวานชื่นโดยไม่มีลูกมากวน ฯลฯ หรืออาจจะมาในมุมมองแปลก ๆ ตั้งแต่ว่า คุณทั้งคู่ต้องมีปัญหาระหว่างกันแน่นอนจึงยังไม่กล้ามีลูก.. ไปจนถึง..คุณสามีคงจะเป็นเกย์ที่มาหลอกลวงฝ่ายหญิงเพื่อแต่งงานให้สังคมยอมรับ

 

แต่ถ้าคุณประสบความสำเร็จ คุณภรรยาตั้งท้องได้สมใจ ว่าที่คุณพ่อมือใหม่ก็มักจะยืดได้เต็มที่ว่า เรานี่ก็เก่งไม่เบา กลายเป็นว่าเครดิตการตั้งท้องของภรรยาเป็นเพราะความเก่งกาจของฝ่ายชายไปเสียแล้ว

 

ขณะที่ภรรยาท้อง ขอให้คุณสามีทั้งหลายเตรียมตัวเตรียมใจให้ดี หาหนังสือเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของผู้หญิงมาอ่านดูบ้างจะได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของภรรยาทั้งทางด้านร่างการและจิตใจ โดยเฉพาะจิตใจนั้นสำคัญมาก คุณต้องช่วยประคับประคองความรู้สึกของภรรยาให้ดี เป็นกำลังใจและอดทนต่อความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของฝ่ายหญิง ที่สำคัญคือแสดงให้ภรรยาเห็นว่าคุณรักและภูมิใจในตัวเธอแค่ไหน คุณพร้อมจะอยู่เคียงข้างเธอเสมอถึงแม้ว่าเธอจะเปลี่ยนจากสาวสวยหุ่นงาม ไปเป็นผู้หญิงหัวยุ่ง หน้าซีด ปากแห้ง เพราะเอาแต่แพ้ท้อง พอหายแพ้ท้องก็เป็นหมูน้อย หิวทั้งวัน และในที่สุด สาวในฝันของคุณก็กลายเป็นสาวพุงกลม ที่กลมขึ้น กลมขึ้น และกลมขึ้น และยังอารมณ์ปรวนแปรอีกต่างหาก

แกล้งเล่าให้เห็นภาพพจน์เท่านั้นแหละ ที่จริงแล้วผู้หญิงท้องน่ะน่ารักน่าเอ็นดูจะตาย มีอะไรขำ ๆ ให้คุณอมยิ้มได้ทั้งวัน ขอแค่ว่าคุณสามีอย่าอารมณ์แกว่งไกวตามไปด้วย ตั้งหลักให้ดีให้มั่นคงเพื่อภรรยาและ.. “เจ้าตัวน้อยของพ่อ” …ดีกว่า

 

 

การเปลี่ยนแปลงในชีวิต


 

โดยทั่วไปแล้ว การมีลูกโดยเฉพาะลูกคนแรก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชีวิตไม่น้อยทีเดียว คุณพ่อมือใหม่ถ้าไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน อาจจะหัวหมุนหมดเรี่ยวหมดแรงได้ง่าย ๆ

 

สิ่งแรกที่ต้องเจอ คือ ความวุ่นวายเหน็ดเหนื่อยอย่างแสนสาหัส คุณพ่อควรลางานสัก 1 อาทิตย์ เพื่อช่วยดูแลตั้งแต่คุณแม่ไปคลอดที่โรงพยาบาลจนกลับบ้านเลี้ยงลูก และหากยังไม่มีญาติผู้ใหญ่หรือคนช่วยเลี้ยงลูก อาจจะต้องลางานถึง 2 อาทิตย์ ความไม่มีประสบการณ์ บวกกับความห่วงกังวลต่อลูกน้อยจะยิ่งเพิ่มความเหนื่อยล้าให้กับบรรดาคุณพ่อมือใหม่ สิ่งที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือการอดหลับอดนอนในตอนกลางคืน เพื่อเลี้ยงลูกแถมถ้าคุณต้องกลับไปทำงานแล้วละก้อ คุณจะพบว่าคุณนอนไม่เคยพอเลยสักวัน คุณพ่อหลายคนพบว่านอกจากลูกจะร้องไห้งอแงให้ต้องอุ้มปลอบโยนกันแล้ว คุณแม่มือใหม่ก็ร้องไห้เป็นพัก ๆ ให้ต้องปลอบเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหลังการคลอด รวมถึงความเครียด ความวุ่นวายต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาทำให้คุณแม่ทั้งหลายระทดท้อกันไปตามกัน ก็ต้องได้ความเข้มแข็งจากคุณพ่อมาช่วยประคับประคองปลอบโยน ไหนจะภาระการทำงานนอกบ้าน การช่วยดูแลงานในบ้าน การช่วยดูแลลูกน้อย และการเป็นกำลังใจให้ภรรยา สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังกายและพลังใจของคุณพ่อไม่น้อยเลย

 

ข้อที่สอง คือ ความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาที่ต้องกระทบกระเทือนไปบ้าง การมีลูกจะทำให้การใช้เวลาส่วนตัวร่วมกันของสามีภรรยาลดลงอย่างมาก และทำให้การแสดงความรักความใกล้ชิดในรูปแบบของสามีภรรยาลดลง คุณพ่อมือใหม่หลายคนน้อยอกน้อยใจว่าคุณแม่เอาแต่ให้เวลากับลูก หรือในทางกลับกัน คุณพ่อนั่นแหละที่ทุ่มเทให้กับลูกจนลืมภรรยาไปเลย

 

ข้อที่สาม คือ ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล คุณพ่อมือใหม่มักจะหนักใจต่อความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ เนื่องจากยังขาดประสบการณ์และความมั่นใจใจการเลี้ยงดูและการจัดการต่างๆ ในครอบครัวที่มีเจ้าตัวน้อยเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่

 

ข้อสุดท้าย คือ ค่าใช้จ่าย การมีลูกและการเลี้ยงดูลูกจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวอย่างมาก

 

สี่ข้อนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นกับคุณพ่อมือใหม่ทุกคน ถ้าได้รู้ล่วงหน้าก็จะได้เตรียมตัวเตรียมใจพอจะรับมือได้ แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นปัญหาอยู่บ้างในช่วงแรก หลังจากได้ช่วยกันเลี้ยงดูลูกร่วมกันสักระยะหนึ่ง คุณจะพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การมีลูกจะช่วยให้พ่อแม่มีพลังในชีวิตเพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยามีความเข้มแข็ง มีการปรับตัวกับโครงสร้างใหม่ของครอบครัวที่เปลี่ยนไปในลักษณะของการเผชิญความท้าทายใหม่ๆในชีวิตร่วมกัน มีความเคารพต่อกันสูงขึ้น และมีความผูกพันในครอบครัวที่เข้มแข็งมากขึ้น ที่น่ารักกว่านั้นคือ ความน่ารักไร้เดียงสาในการแสดงออกของความรักที่เด็กมีต่อพ่อแม่ จะย้อนกลับมาสะท้อนให้เห็นถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อกันและคุณจะพบว่าคุณทั้งสองมีการแสดงความรักต่อกันอย่างเปิดเผยมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

 

 

คำถามยอดฮิตอันดับหนึ่งของคุณพ่อมือใหม่ คือ “จะเลี้ยงลูกแบบไหนดี”


 

การเลี้ยงดูมีผลมากต่อพัฒนาการของเด็ก รวมถึงบุคลิกภาพ นิสัยใจคอ และการเข้าสังคม นักจิตวิทยาได้แบ่งการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ออกเป็น 4 แบบ โดยพิจารณาจาก 2 มิติ คือ 1) การเรียกร้องที่พ่อแม่มีต่อลูก และ 2) การตอบสนองที่พ่อแม่ให้กับลูก และแบ่งได้ดังนี้ คือ

 

  1. การเลี้ยงดูแบบควบคุม คือการที่พ่อแม่ใช้อำนาจเป็นใหญ่ หรือพูดง่าย ๆ คือเผด็จการ พ่อแม่พวกนี้จะมีการเรียกร้องจากลูกสูง ตั้งกฎเกณฑ์ให้ลูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ใช้อำนาจควบคุมด้วยการบังคับและลงโทษ โดยไม่ใส่ใจที่จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกหรือรับฟังว่าลูกต้องการอะไร เพราะหน้าที่ของลูกคือเชื่อฟังและปฏิบัติตามเท่านั้น
  2. การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ หรือแบบประชาธิปไตย พ่อแม่ตั้งกฎเกณฑ์ให้ลูกปฏิบัติ แต่ในขณะเดียวกันก็รับฟังและตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม พ่อแม่ประเภทนี้จะใช้เหตุผลและมีความยืดหยุ่นในการวางกรอบหรือแนวทางการดำเนินชีวิตให้กับลูก ส่งเสริมให้ลูกกล้าเปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่ หัดให้ลูกมีความมั่นใจ มีเหตุผล และรู้จักคิดด้วยตนเอง กรอบที่พ่อแม่ตั้งไว้ก็เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหลงทาง หรือก้าวออกนอกลู่นอกทางก่อนที่จะมีความพร้อมตามวัยอันสมควร
  3. การเลี้ยงลูกแบบตามใจ พ่อแม่มักเข้าไปวุ่นวายในชีวิตของลูก แต่ไม่ตั้งกฎเกณฑ์ ไม่มีการวางระเบียบให้กับลูก มีแต่การตอบสนองความต้องการของลูกอย่างตามใจไร้ขอบเขต ในกรณีนี้ ลูกจะเป็นผู้ตั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องจากพ่อแม่
  4. การเลี้ยงลูกแบบทอดทิ้ง ไม่มีทั้งข้อเรียกร้องและการตอบสนองจากพ่อแม่ พ่อแม่ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจในการดูแลลูก ไม่รู้ความเป็นไปในชีวิตลูก การเลี้ยงดูอาจจะเป็นในลักษณะทอดทิ้งไม่เลี้ยงดู หรือให้แต่วัตถุเงินทองมากมายแต่ไม่มีเวลาสนใจในความเป็นไปของลูก เราจะพบว่า ลูกของนักธุรกิจหรือมหาเศรษฐีจำนวนมากก็ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ในลักษณะหลังนี้

 

เราจะเห็นได้ว่า รูปแบบการเลี้ยงดูทั้ง 4 แบบนี้เป็นที่พบเห็นได้ทั่วไป

 

เลี้ยงลูกแบบไหน และจะได้ลูกลักษณะอย่างไร?

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบควบคุม คุณจะได้ลูกที่เติบโตขึ้นอย่างมีความคับข้องใจสูง เพราะต้องถูกบังคับ ถูกนำไปเปรียบเทียบว่าตนแย่กว่าคนอื่นอยู่ตลอด เด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความสุข ไม่มั่นใจในตนเอง ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นลำบาก เป็นคนหลีกหนีสังคม มีความกังวลต่อการถูกเปรียบเทียบ กลัวการแข่งขัน และมักจะมีความก้าวร้าวอย่างชัดเจน หรืออาจจะแฝงอยู่ในลักษณะเก็บกด

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่ หรือแบบประชาธิปไตย เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นใจ พึ่งพาตนเองได้ เป็นผู้ที่รู้จักการให้ เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเองในขณะที่เคารพสิทธิของผู้อื่น มีการปรับตัวได้ดีในการดำเนินชีวิต และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบตามใจ คุณก็จะได้ลูกที่เป็นเด็กเอาแต่ใจตนเอง และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในการเข้าสังคมเนื่องจากจะเอาอะไรก็จะให้ได้ดังใจ มีวุฒิภาวะต่ำกว่าวัย มีการพึ่งพาผู้อื่นสูง มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ไม่รู้จักการควบคุมความต้องการของตนเอง และมีปัญหากับเพื่อนและคนรอบข้างเนื่องจากไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น

 

ถ้าคุณพ่อเลือกเลี้ยงลูกแบบทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ในการดูแลลูก เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างไม่มั่นใจในตนเอง มีความเหงาและว้าเหว่ในใจ และคอยคิดแต่ว่าตนเองไม่มีความสำคัญ เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างคลางแคลง ไม่แน่ใจ ไม่เชื่อในความรักและความอบอุ่นของระบบครอบครัว หรือในทางตรงกันข้ามคือ โหยหาความรักและพยายามหาหลักยึดเหนี่ยวให้กับตนเองจนอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ในชีวิต

 

คุณพ่อคงจะเห็นแล้วว่า “การเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่” เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก หลักการสำคัญ ๆ สำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกแบบนี้ คือ การมีข้อเรียกร้อง มีกฎเกณฑ์สำหรับลูก และมีการควบคุมให้ลูกปฏิบัติตามกรอบที่วางไว้ มีการให้รางวัลและลงโทษอย่างเหมาะสม ให้ความรักความอบอุ่นกับลูก มีการสื่อสารที่ดีระหว่างกันในครอบครัว ส่งเสริมให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง พึ่งพาตนเอง และส่งเสริมให้ทั้งพ่อแม่และลูกเคารพในสิทธิของกันและกัน

 

คราวนี้คุณพ่อก็ต้องหารือกับคุณแม่ เพื่อวางแนวทางในการดูแลลูกให้ไปในทิศทางเดียวกัน ความขัดแย้งกันของแนวทางการเลี้ยงลูกจะทำให้เกิดความสับสนกับเด็ก ทั้งยังทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ได้ นอกจากนี้ คุณพ่อยังต้องคอยปรับแนวการเลี้ยงดูให้เหมาะสมตามอายุของลูกด้วย ตั้งหลักให้มั่น ทำใจให้ผ่อนคลาย อย่าเครียด และผนึกกำลังกับคุณแม่ให้ดี ใช้ความรักเป็นหลัก ระเบียบเป็นรอง เลี้ยงลูกอย่างสบาย ๆ และยืดหยุ่น แค่นี้ก็ไปได้สวยแล้ว

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย