ข่าวและกิจกรรม

Empathy – การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น

 

 

การรู้สึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น หรือ Empathy ได้รับการศึกษามานานนับร้อยปีตลอดช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 แต่การให้คำจำกัดความยังเต็มไปด้วยความสับสน เนื่องจากนักจิตวิทยาแต่ละคนได้ให้คำนิยามแตกต่างกันไปตามแนวคิดของตน

 

ส่วนหนึ่งให้คำนิยามในเชิง “ความสามารถทางปัญญา” และอีกส่วนหนึ่งพูดถึงว่าเป็น “การตอบสนองทางอารมณ์”

 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางมุมมองที่แตกต่างกันนี้ก็มีจุดร่วมในใจความสำคัญของการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นว่าเป็นคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเอื้อสังคม และเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในตัวมนุษย์

 

Goleman นักจิตวิทยาและนักสื่อสารมวลชน ยกย่องการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ นักจิตวิทยาพัฒนาการเห็นว่าการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งในแรงจูงใจทางจริยธรรม นักจิตวิทยาการปรึกษาก็ระบุว่าการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเป็นคุณลักษณะที่นักจิตวิทยาการปรึกษาพึงมี

 

เมื่อแรกเริ่ม Empathy ได้รับคำนิยามว่าเป็น “ความเข้าใจในความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น” เคียงคู่กับ “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ Sympathy ซึ่งหมายถึง การตระหนักถึงความรู้สึกความทุกข์ทนของผู้อื่นอย่างรุนแรง จนเกิดแรงจูงใจที่จะเข้าใจช่วยบรรเทาความทุกข์ทนนั้น

ในขณะที่การศึกษาเรื่องการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเติบโตขึ้น การศึกษาเรื่องความเห็นอกเห็นใจกลับลดลง และดูเหมือนว่า การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้มีนิยามครอบคลุมถึงความเห็นอกเห็นใจด้วย จากการให้ความหมายในการศึกษาของนักวิจัยที่มุ่งเน้นถึงมุมมองด้านอารมณ์ความรู้สึก

 

 

คำจำกัดความในมุมมองทางปัญญา

 

นักวิจัยในมุมมองนี้ระบุว่าการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเกี่ยวข้องกับ “การเข้าใจมุมมอง” หรือความเข้าใจในตัวผู้อื่น ด้วยการใช้ความคิดและเหตุผล หรือด้วยจินตนาการถึงเงื่อนไขหรือสภาพจิตใจของผู้อื่น โดยไม่จำเป็นต้องประสพกับความรู้สึกเหล่านั้นเองจริงๆ (Hogan, 1969)
คำจำกัดความในมุมมองทางปัญญาได้เน้นย้ำถึงการเปลี่ยนบทบาทหรือมุมมองจากแง่มุมของตนเอง ไปสนใจหรือใส่ใจในแง่มุมของคนอื่น Piaget (1932) นักจิตวิทยาพัฒนาการ เรียกว่าเป็นการตอบสนองแบบ “ไม่รับรู้เพียงด้านเดียว” หรือ “ไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง” และในยุคหนึ่ง การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นถูกจัดเป็นความเฉลียวฉลาดทางสังคม

 

 

คำจำกัดความในมุมมองทางอารมณ์ความรู้สึก

 

มุมมองนี้อธิบายว่าการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเกี่ยวข้องถึงความตื่นตัวทางอารมณ์ หรือการตอบสนองในเชิงเห็นอกเห็นใจต่อความรู้สึกหรือสิ่งที่ผู้อื่นพบ ไม่ว่าจะเป็น

  1. รู้สึกตรงกันกับความรู้สึกของผู้อื่น เช่น รู้สึกหวาดกลัวเมื่อเห็นผู้อื่นกำลังกลัว
  2. รู้สึกอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความรู้สึกของผู้อื่น เช่น รู้สึกสงสารเมื่อเห็นผู้อื่นกำลังเศร้า หรือ
  3. รู้สึกเป็นกังวลหรือเกิดความเมตตาต่อความทุกข์ของผู้อื่น (Baron-Cohen & Wheelright, 2004)

 

ทั้งนี้ การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นต้องเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นผลจากอารมณ์ของผู้อื่นเท่านั้น เช่น หากเราได้ยินข่าวการเสียชีวิตของเพื่อนภายหลังทุกข์ทรมานจากโรคร้าย ความเจ็บป่วยถึงตายนั้นอาจสร้างความรู้สึกผ่อนคลายที่ความทรมานได้จบสิ้นลง หรือความเศร้าที่เสียดายในอายุขัยอันสั้น ความรู้สึกสองแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น แต่ทว่า ความรู้สึกเศร้าเสียใจจากการที่เราสูญเสียเพื่อนไป ความรู้สึกนี้ไม่นับเป็นการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเพราะเป็นความรู้สึกของเราเอง แม้จะเป็นความรู้สึกที่เหมาะควรก็ตาม

 

คำนิยามที่ผสานมโนทัศน์ทางปัญญาและอารมณ์

 

Davis (1980) ได้ให้คำนิยามการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น ว่าเป็นการนำตนเองเข้าไปในสถานการณ์ที่ผู้อื่นประสพ (หยั่งรู้ในสิ่งที่ผู้อื่นรู้สึก) ด้วยความสอดคล้องทางอารมณ์ (รู้สึกในสิ่งที่ผู้อื่นรู้สึก) และการตระหนักถึงอย่างเห็นอกเห็นใจ (เอาใจใส่และตอบสนองต่อสิ่งที่ผู้อื่นรู้สึก)

 

Davis เชื่อว่าเป็นการดีที่สุดหากพิจารณาว่าการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเป็นการตอบสนองทั้งด้านปัญญาและอารมณ์ ซึ่งสามารถจำแนกออกจากกันได้ชัดเจน ขณะที่ Baron-Cohen และ Wheelright (2004) ซึ่งเห็นด้วยกับคำนิยามนี้แต่ระบุว่าเป็นการยากและไม่มีความจำเป็นต้องแยกส่วนประกอบทั้งสองออกจากกัน

 

ทั้งนี้ งานวิจัยในประเทศไทยที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น กับบุคลิกภาพด้านอื่นๆ และพฤติกรรมทางบวกและทางลบ พบว่า บุคคลที่มีลักษณะรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นสูง มีแนวโน้มให้อภัยสูงกว่า มีลักษณะแสดงอำนาจเหนือผู้อื่นน้อยกว่า มีพฤติกรรมช่วยเหลือมากกว่า ก้าวร้าวน้อยกว่า และแสดงการเหยียดเพศแบบปฏิปักษ์น้อยกว่าอีกด้วย

 

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“อิทธิพลของรูปแบบความผูกพันต่อลักษณะนิสัยการให้อภัย : ทวิโมเดลแข่งขันโดยมีตัวแปรการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นและการหมกมุ่นครุ่นคิดเป็นตัวแปรส่งผ่าน” รวิตา ระย้านิล (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30697

 

“อิทธิพลตัวแปรส่งผ่านของการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น และอิทธิพลตัวแปรกำกับของเพศต่ออิทธิพลการสนับสนุนจากครอบครัวและสภาพการแข่งขันทางการเรียนต่อความก้าวร้าวและการช่วยเหลือ” สรียา โชติธรรม (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20706

 

“อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบแสดงอำนาจเหนือผู้อื่น และบุคลิกภาพแบบใช้อำนาจฝ่ายขวาต่อการเหยียดเพศโดยมีการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น และความรู้สึกแปลกแยกจากสังคมเป็นตัวแปรส่งผ่าน” นัทธมน อินทร, ประภาศรี กระจ่างวุฒิชัย และ อารียา การุณกร (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44147

 

ภาพจาก https://www.rewireme.com/happiness/empathy-need/

การสร้างความสุขให้ผู้สูงวัย

 

เมื่อพูดถึงความสุข ไม่ว่าใครก็อยากมีความสุข ในชีวิตกันทั้งนั้น เพราะความสุขเป็นพลังงานทางบวก ช่วยขับเคลื่อนให้เรามีกำลังใจในการดำเนินชีวิต และ เมื่อต้องพบเจอกับอุปสรรค ผู้ที่มีความสุขในชีวิตก็จะ สามารถรับมือกับปัญญาได้อย่างใจเย็น ที่สำคัญเวลาเรามีความสุข คลื่นความสุขภายใน ตัวเรายังสามารถแผ่กระจายไปสู่คนรอบข้าง เหมือนที่เวลาเรายิ้มกว้าง ผู้คนรอบข้างก็พลอยรู้สึกดีไปด้วย ดังนั้นจะดีแค่ไหน ที่เราร่วมกันสร้างความสุขให้ผู้สูงวัยในบ้านหรือในสังคมของเรา เพราะเมื่อท่านมีความสุข ยิ้มได้ เราลูกหลานก็พลอยสบายใจไปด้วย

 

 

 

เราจะสร้างความสุขให้ผู้สูงวัยได้อย่างไรกันบ้าง ?


 

สิ่งที่สำคัญสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง คือ การทำให้ท่านรู้สึกว่ามีคุณค่าและมีความสามารถ หลายคนมักคิดว่าผู้สูงวัยเป็นผู้ไร้ความสามารถ บางคนจึงปฏิบัติต่อผู้สูงวัยราวกับว่าท่านเป็นเด็กเล็ก ๆ เช่น พูดช้า ๆ ยืด ๆ หรือพูดเสียงดัง เพราะคิดว่าท่านจะฟังไม่ได้ยิน การเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงวัยเช่นนี้ ทำให้ท่านเสียความรู้สึกพอสมควร โดยท่านจะรู้สึกดีกว่าหากเราปฏิบัติต่อท่านเหมือนที่เราทำกับคนอื่น ๆ ทั่วไป ลองคิดในมุมของผู้สูงวัย คงไม่มีใครชอบใจที่ทุกวันมีคนปฏิบัติต่อเราแบบที่เตือนให้เรารู้สึกว่า เราเป็นคนแก่ หรือคนด้อยความสามารถ

 

อีกสถานการณ์หนึ่งที่การกระทำของเราอาจไปบั่นทอนพลังในการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย คือ การที่ท่านกำลังเดินตามปกติ แล้วมีคนเข้าไปประคองหรืออุ้มท่าน เพื่อให้ท่านไปถึงที่หมายเร็วขึ้น เราผู้ซึ่งเข้าไปอุ้มหรือประคองผู้สูงวัยนั้น อาจรู้สึกว่าตนกำลังทำหน้าที่พลเมืองดีหรือลูกหลานที่ดี แต่การกระทำแบบนั้นอาจทำให้ท่านรู้สึกเหมือนว่าตนเป็นคนไร้สมรรถภาพก็เป็นได้ อย่าลืมว่า คนเราทุกคนมีบุคลิกภาพเฉพาะตัวที่ค่อนข้างคงทนถาวรไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีอายุที่มากขึ้น เช่น ความหยิ่งในศักดิ์ศรี การชอบทำอะไรด้วยตนเอง เป็นต้น ถ้าเราเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้เช่นกัน คงเข้าใจดีว่าการทำอะไรได้ด้วยตนเองนั้นเป็นความภาคภูมิใจ ทำให้รู้สึกว่าชีวิตตนมีคุณค่า ดังนั้นผู้สูงวัยที่ชอบพึ่งพาตนเอง ก็คงไม่ชอบใจนักหากมีใครเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของท่านโดยไม่จำเป็น

 

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ต่อไปนี้เวลาเห็นผู้สูงวัยเดินอยู่แล้วให้อยู่เฉย ๆ ไม่เข้าไปยุ่ง เราสามารถเดินข้าง ๆ ร่วมไปกับท่านได้ หากเห็นท่านมีอาการเหนื่อยหอบเหมือนต้องการความช่วยเหลือ ก็ถามท่านไปตรง ๆ ว่ามีอะไรให้เราช่วยหรือไม่ ผู้สูงวัยบางท่านอาจจะให้เราช่วยถือของให้ หรือบางท่านอาจให้เราเป็นราวเกาะพาท่านเดิน อย่างนี้ผู้สูงวัยก็รู้สึกดีว่ามีคนห่วงใยท่าน โดยไม่เป็นการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของท่านจนเกินไป ส่วนตัวเราเองก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ลูกหลานหรือพลเมืองที่ดี

 

 

ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่ชอบรู้สึกว่าตนเป็นภาระต่อลูกหลาน หรือเป็นภาระต่อสังคม การเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงวัยที่เป็นพิเศษหรือแตกต่างจากผู้อื่น ไม่ได้ทำให้ท่านรู้สึกดีขึ้น แต่อาจทำให้ท่านรู้สึกไม่ดีกับความสูงวัยของตนเอง อาจทำให้ท่านรู้สึกทุกข์มากกว่าสุข ดังนั้นเราลูกหลานต้องนึกถึงใจท่านให้มาก ๆ

 

หัวใจสำคัญของการปฏิบัติตัวที่ถนอมความรู้สึกของผู้สูงวัยก็คือ การนึกถึงใจเขาใจเรา นึกถึงว่าอะไรที่ ผู้อื่นทำกับเราแล้วเราไม่ชอบ เช่น การใช้คำพูด การแสดงกิริยาท่าทางที่ทำให้เรารู้สึกด้อยคุณค่า รู้สึกเหมือนไร้ความสามารถ หรือการแสดงความเวทนาสงสาร การกระทำเหล่านี้ไม่มีใครชอบ ผู้สูงวัยก็เช่นกัน

 

สำหรับการสร้างความสุขใจให้แก่ผู้สูงอายุ ได้แก่ การได้รับการสนับสนุนทางสังคม โดยมีสถาบันครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ลูก หลาน ญาติพี่น้อง เป็นแหล่งสนับสนุนที่สำคัญ หน้าที่ของเราลูกหลานก็คือแสดงให้ผู้สูงวัยรับรู้ ว่าท่านได้รับการสนับนุนทางสังคม ไม่ทำตัวห่างเหิน พูดคุยกับท่าน ถามไถ่ทุกข์สุขของท่าน หลายคนมีผู้สูงวัยอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน แต่กลับอยู่กันคนละห้อง รับประทานอาหารกันคนละที่ คนละเวลา ยังไม่สายเกินไป ที่เราจะปรับเปลี่ยนวิถี ชีวิตในครอบครัวเสียใหม่ เพื่อให้เราได้ใกล้กับผู้สูงวัยในบ้านมากขึ้น หากหน้าที่การเรียนการงานไม่เอื้อที่จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทุกวัน อย่างน้อยแต่ละสัปดาห์ ให้มีสักหนึ่งวันที่ได้พูดคุยทำกิจกรรมร่วมกัน ก็จะทำให้ผู้สูงวัยในบ้านมีความสุขไม่น้อยเลย

 

ผู้สูงวัยหลายท่านรู้สึกว่าตนเป็นภาระ เพราะเวลาที่ท่านเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาลทีไร ก็ต้องขอให้ลูกหลานพาไป เพื่อให้ท่านรู้สึกสบายใจ เราก็ไม่ควรไปแสดงท่าทางว่าไปเพราะจำเป็นต้องไปหรือเป็นการเสียเวลา หากมองในแง่ดีก็คือ การได้พาท่านไปไหนมาไหนนั้น เป็นการที่เราได้ใช้เวลาร่วมกับท่าน ทำให้ท่านไม่รู้สึกเหงาหรือถูกทอดทิ้ง ให้ท่านรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจว่ามีลูกหลานคอยดูแล

 

แหล่งสนับสนุนทางสังคมที่สำคัญต่อผู้สูงวัยอีกแหล่งหนึ่งคือ เพื่อน กลุ่มเพื่อนที่ผู้สูงวัยคบหา อาจเป็นในรูปแบบของชมรมหรือสมาคม ผู้ซึ่งแชร์ความสนใจ ร่วมกัน หรือมีกิจกรรมที่สนใจทำร่วมกัน เช่น การไปวัด ทำบุญ การปลูกผักปลูกต้นไม้ การทำงานฝีมือ หรือการ นัดพบปะพูดคุย รับประทานอาหารร่วมกันฉันเพื่อน จะเห็นได้ว่าผู้สูงวัยก็มีความต้องการมีความสัมพันธ์ทางสังคมไม่ต่างจากคนวัยหนุ่มสาว ต่างกันตรงที่ว่าผู้สูงวัยเน้นรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้มั่นคง แน่นแฟ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในขณะที่คนหนุ่มสาวมักมองหาเพื่อนหรือกลุ่มสังคมใหม่ ๆ ขยายกลุ่มสังคม เพื่อเพิ่ม โอกาสทางการทำงานหรือทางธุรกิจ

 

ทุกวันนี้เราใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร ระหว่างกัน หากผู้สูงวัยต้องการติดต่อพูดคุยกับเพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนผ่านทางไลน์ หรือเฟซบุค ซึ่งต้องพึ่งพาอุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ผู้เป็นลูกหลานก็มีหน้าที่สนับสนุนท่าน โดยการสอนการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ท่าน ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าท่านอาจจะเรียนรู้ได้ไม่รวดเร็วทันใจ เพราะท่านไม่ได้เติบโตมากับเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ถ้าสอนท่านอย่างใจเย็น ท่านก็จะสามารถเรียนรู้ ได้ไม่ยาก

 

ผู้สูงวัยไม่อยากเป็นภาระของลูกหลานหรือของสังคม ในทางกลับกันท่านอยากรู้สึกว่า แม้จะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมีคุณค่ามีประโยชน์ต่อลูกหลานและสังคม ความสุขของท่านจะเกิดขึ้นได้ ก็เมื่อลูกหลาน หรือคนในสังคมเห็นคุณค่าของท่าน

 

สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมอายุที่เพิ่มขึ้น ก็คือ ประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ความสูงวัยไม่ทำให้ทักษะหรือความเชี่ยวชาญหายไป โดยเฉพาะกับผู้สูงวัยที่ยังมีสุขภาพในเกณฑ์ที่ดี ดังนั้นผู้สูงวัยจึงเป็นแหล่งความรู้ชั้นเลิศใน ครอบครัว ลูกหลานบางคนลืมในจุดนี้ไป เพราะคิดเพียงว่าความชราวัยทำให้คนเสื่อมลง แย่ลง หากเป็นเรื่องการคิดคำนวณ เรื่องการเรียนรู้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ท่านไม่เคยรู้จักมาก่อน ผู้สูงวัยคงคิดได้และเรียนรู้ได้ช้ากว่าคนวัยหนุ่มสาว แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ท่านมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ความรู้ความสามารถของท่านอาจช่วยเราได้มาก

 

 

ผู้สูงวัยมักสุขใจที่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ หากวันใดที่เรามีปัญหาในชีวิต รู้สึกเครียด ตีบตัน หาทางออกไม่เจอ ลองเข้าไปคุยกับผู้สูงวัยดู บางทีเราอาจจะได้ข้อคิดอะไรดี ๆ กลับไปปรับใช้และช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ ผู้สูงวัยใช้ชีวิตมานาน ผ่านประสบการณ์ทุกข์สุขมามากมาย ท่านจึงมักเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการกับปัญหาที่ทำให้เรื่องเครียดกลายเป็นเรื่องง่ายได้ บางทีเวลาที่เราเผชิญกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว การงาน การเงิน หรือความรัก เรามักรู้สึกว่าเราเผชิญกับปัญหาเรื่องนี้คนเดียว ไม่มีใครเข้าใจ และคงไม่มีใครเคยเจอเรื่องแบบนี้ แท้จริงแล้ว ผู้สูงวัยท่านเคยผ่านเรื่องเหล่านี้ มาแล้ว บางทีท่านเจอปัญหาที่หนักหนายิ่งกว่าเราเสียด้วยซ้ำ หากเรานึกไปถึงยุคที่ผู้สูงวัยเติบโตมา ซึ่งเป็นยุคฟื้นฟูภายหลังจากสงคราม เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และเทคโนโลยี เครื่องทุ่นแรงและเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ยังไม่มีถึงพร้อมเท่าในยุคปัจจุบันนี้ ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวมาจากศูนย์ ผ่านความลำบากมามากกว่าเรากว่าจะมาถึงวันนี้ ดังนั้น ปัญหาที่เราเจออาจเทียบไม่ได้เลยกับที่ผู้สูงวัยได้เคยประสบมา ผู้สูงวัยจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีภูมิปัญญา เป็นปราชญ์ประจำท้องถิ่น ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องปัญหาชีวิตเท่านั้นที่ผู้สูงวัยอาจช่วยเราได้ แต่ผู้สูงวัยยังมีความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของท่านที่เราไม่ควรละเลยที่จะขอความรู้ และคำแนะนำจากท่าน

 

อาหารบางอย่างที่ผู้สูงวัยในบ้านของเราทำให้รับประทาน บางทีเป็นสูตรพิเศษที่หาที่ไหนไม่ได้ เราลูกหลานควรเข้าไปช่วยท่านในครัวบ้าง จะได้มีเคล็ดลับในครัวติดตัวไปใช้ ผู้สูงวัยบางท่าน ปลูกผักปลูกต้นไม้อะไรก็ให้ดอกผลงดงาม เรื่องความรู้เช่นนี้ หากเราไม่ไปขอเรียนรู้จากท่าน ต่อไปเราอาจจะนึกเสียดายภายหลัง หากท่านมีอายุมากจนไม่อาจสอนเราได้

 

จะเห็นได้ว่าความสุขของผู้สูงวัย เริ่มมาจากการที่ท่านได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ ได้รับรู้ว่าท่านมีคุณประโยชน์ต่อลูกหลาน หรือต่อชุมชนและสังคม ท่านมีความรู้มีประสบการณ์ และภูมิปัญญาที่พร้อมจะมอบให้ ขอเพียงเราเข้าไปพูดคุยกับท่านให้มาก ๆ

 

 

อิริคสัน นักจิตวิทยาพัฒนาการชื่อดัง ได้กล่าวไว้ว่ามนุษย์เราในวัยกลางคน ซึ่งเป็นวัยที่มีหน้าที่การงานในระดับหัวหน้างาน มีลูกในวัยเรียน หรือลูกในวัยที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ มักจะเริ่มมีความคิดที่จะถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ที่ตนมีให้แก่คนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นลูกน้องที่ทำงาน หรือลูกหลานในครอบครัว เพราะการถ่ายทอดความรู้ ถือเป็นการฝากรอยประทับประจำตนไว้ให้กับสังคม เหมือนว่าเรามีเคล็ดลับอะไรที่ดี ๆ ก็ไม่อยากเก็บไว้คนเดียว ต้องบอกต่อ

 

อายุที่เพิ่มขึ้น เป็นเหมือนนาฬิกาที่คอยเตือนคนวัยกลางคนและผู้สูงวัยว่า เวลาในชีวิตของเรานั้นเหลืออีกไม่มาก หากมีสิ่งใดที่จะฝากไว้ให้เป็นประโยชน์แด่คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ก็ควรทำ เพราะตามแนวคิดของอิริคสัน เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นจนถึงจุดที่เป็นบั้นปลายของชีวิต คนเรามักจะทบทวนและประเมินชีวิตโดยภาพรวมของตนเอง หากเราได้เคยฝากรอยประทับดี ๆ ไว้ให้กับครอบครัว ผู้ร่วมงานและสังคมแล้ว เราก็จะรู้สึกอิ่มใจที่ชีวิตนี้ได้ทำประโยชน์ และได้ส่งต่อความรู้และประสบการณ์ของตนให้แก่คนรุ่นต่อไป หากต้องลาโลกนี้ไปก็คงไม่เสียดายอะไร การได้ถ่ายทอดความรู้ ได้สั่งสอน ได้ให้คำแนะนำแก่ลูกน้อง ลูกหลาน จึงเป็นแหล่งความสุขของผู้สูงวัย เราเองผู้ที่เป็นลูกหลานหรือเป็นคนในสังคม ควรน้อมรับคำสั่งสอน คำตักเตือน และการถ่ายทอดความรู้ ด้วยความเข้าใจและเต็มใจ แน่นอนว่า บางครั้งเราอาจจะคิดว่าคำสอนของ ผู้สูงวัยนั้น เชยและล้าสมัย และคำพูดของผู้สูงวัยบางเรื่องไม่ตรงกับความคิดของเรา แต่เพื่อให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นการถนอมน้ำใจของผู้สูงวัย ขอให้คิดเสมอว่าท่านสั่งสอนเราด้วยความหวังดี รับฟังผู้ใหญ่เอาไว้ก็ไม่เสียหาย และในบางเรื่องที่เราคิดค้านคำสอนของผู้สูงวัย แต่พอนานไปก็กลับพบว่า ที่ท่านตักเตือนไว้ก็มักเป็นจริง ผู้สูงวัยเป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าเรา จึงมักจะมองเห็นภาพที่กว้างกว่า และเกินกว่าที่เราเองจะคาดคิดได้ ดังนั้น เพื่อความสุขของผู้สูงวัย ขอให้คุณผู้ฟังเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ในบ้านได้ถ่ายทอดความรู้ คำสั่งสอน หรือคำตักเตือน และเปิดใจรับฟังท่าน

 

 

การกระทำที่หลายคนอาจไม่ทันคาดคิดว่า ความหวังดีของลูกหลาน ที่มีต่อผู้สูงวัยในบ้าน จะกลับกลายเป็นทำให้ท่านรู้สึกเสียใจไปได้ ยกตัวอย่างเช่น คุณยายท่านหนึ่งอายุเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว แต่ยังเดินไปไหนมาไหนได้อย่างคล่องแคล่ว คุณยายอาศัยอยู่ ในบ้านหลังนี้ ที่ตนเองกับสามีที่เสียชีวิตไปแล้วได้ ร่วมกันทำงานหาเงิน เก็บเงินซื้อบ้านหลังนี้ ลูก ๆ ของคุณยายทุกคนเติบโตที่บ้านหลังนี้ บ้านหลังนี้จึงไม่ใช่เป็นแค่บ้านหลังหนึ่งของคุณยาย แต่เป็นที่พักพิงทางใจ ที่เต็มไปด้วยความทรงจำในชีวิตของคุณยายและครอบครัว

 

เมื่อลูก ๆ เป็นผู้ใหญ่ ก็ต่างแยกย้ายกันออกไป แต่งงานมีครอบครัวเป็นของตนเอง และด้วยหน้าที่การงานที่อยู่ไกลออกไปจากบ้านหลังนี้ จึงทำให้ลูก ๆ ไม่สามารถอยู่บ้านหลังนี้ได้ จึงไป ๆ มา ๆ ไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่ร่วมกับคุณยายมากนัก ด้วยความเป็นห่วง ไม่อยากให้คุณยายอยู่บ้าน คนเดียวลูกสาวคนโตจึงคุยกับน้องชายว่า จะร่วมกันลงขันให้คุณยายย้ายไปอยู่ในหมู่บ้านสำหรับผู้สูงวัย ที่มีทีมแพทย์และพยาบาลคอยดูแลหากมีเหตุฉุกเฉิน หมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยระดับเกรดเอ ราคาค่าที่พักต่อเดือนก็เป็นจำนวนเงิน หลายหมื่นบาท แต่ลูกชายและลูกสาวเห็นว่าเพื่อแม่ จึงยินดีจ่ายเพื่อสิ่งที่ดีสุดสำหรับคุณแม่ของตน และอีกอย่างหมู่บ้านนี้ก็อยู่ในแหล่งที่ลูก ๆ สามารถ เดินทางไปหาแม่ได้โดยง่าย

 

จากเหตุการณ์สมมตินี้ ก็ดูเหมือนน่าจะดี ลูกไม่อยากให้แม่อยู่คนเดียว ก็พาแม่ไปอยู่หมู่บ้านใหม่ จะได้มีเพื่อนรุ่นเดียวกันเยอะ ๆ แต่จริง ๆ แล้วจะเห็นว่ามีข้อผิดพลาดอยู่ข้อเดียว คือ ลูก ๆ เลือกทางเลือกที่เชื่อว่าดีที่สุดให้แม่ แต่ไม่เคยถามแม่ซักคำว่าท่านต้องการอะไร ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่เราลูกหลานอาจละเลยและคาดไม่ถึง

 

ผู้สูงวัยบางท่านเห็นดีด้วย และเต็มใจที่จะย้าย เพราะเห็นว่ามีสังคมเพื่อน ก็ดีกว่าอยู่คนเดียว แถมอยู่ ใกล้หมออีกด้วย ผู้สูงวัยบางท่านยอมจำใจย้ายออกไป เพราะเห็นแก่ลูก ทั้ง ๆ ที่ตนเองรู้ว่าจะมีความสุขมากกว่า หากได้อยู่บ้านหลังเดิมของตน ผู้สูงวัยบางท่านย้ายไปแล้วสุขภาพแข็งแรงมี ความสุขดี บางท่านย้ายไปแล้วสุขภาพทรุดโทรมกว่าตอนที่อยู่บ้านหลังเดิมของตน

 

ไม่ว่าท่านจะต้องการใช้ชีวิตบั้นปลายของท่านอย่างไร ขอให้ท่านได้เลือกด้วยตัวท่านเอง เหล่าลูกหลานมีหน้าที่เป็นกำลังสนับสนุน แต่ไม่ใช่ผู้ชี้นำชีวิตท่าน

 

วิธีที่ดีที่สุด และเรียบง่ายที่สุด ก็คือการเข้าไปถามท่าน คุยกับท่านตรง ๆ ว่าเรามีความห่วงใย ไม่อยากให้ท่านอยู่บ้านคนเดียว และนำทางเลือกหลาย ๆ ทางไปนำเสนอให้ท่านลองเลือกดู หากท่านเลือกที่จะอยู่บ้านท่าน เราก็ต้อง ยอมรับการตัดสินใจของท่าน แล้วก็ค่อยมาคิดกันต่อว่าจะดูแลท่านอย่างไรต่อไป

 

หลักสำคัญก็คือไม่ควรทึกทักว่า เราได้เลือกทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงวัยในบ้าน หากท่านเป็นผู้สูงวัยที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ให้ท่านเลือกเองจึงจะดีที่สุด เพราะชีวิตเรา เราก็คงอยากกำหนดเองเช่นกัน

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ความสุขคืออะไร?

 

นักจิตวิทยาชื่อ วีนโฮเฟ่น (1997) ให้นิยาม “ความสุข” ว่าหมายถึงการประเมินของแต่ละคนว่าชื่นชอบชีวิตโดยรวมของตนเองมากแค่ไหน การที่เราบอกว่าเรามีความสุข จึงหมายถึงเรารู้สึกชอบหรือพึงพอใจกับชีวิตเรานั่นเอง คนที่มีความสุขนั้น เป็นคนที่แทบจะไม่รู้สึกวิตกกังวลกับชีวิตนเอง ชอบสนุกสนานอยู่กับเพื่อนฝูง และชอบประสบการณ์ใหม่ ๆ มีอารมณ์มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงง่าย และมักจะหวังว่าตนจะพบเจอสิ่งดี ๆ ในอนาคต ส่วนคนที่ไม่มีความสุขนั้น มักจะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองย่ำแย่ ไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น หรือถึงขนาดคิดฆ่าตัวตายก็มี เพราะฉะนั้นความสุขจึงเหมือนสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตเรา

 

เมื่อรู้แล้วว่าความสุขคืออะไร คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับความสุขต่อมา ก็คือ “เงินซื้อความสุขได้หรือไม่” หลายคนเชื่อว่า ความรวยและการอยู่ดีกินดีทำให้เรามีความสุขได้ จึงทำงานหนักเก็บเงินสร้างฐานะ แต่นักจิตวิทยาได้ศึกษาพบว่า เมื่อเรามีสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว ความร่ำรวยหรือเงินเดือนที่สูงเกินจำเป็น ไม่ได้ทำให้คนเรามีความสุขมากตามไปด้วย ถึงแม้ว่าคุณจะรวยติดอันดับมหาเศรษฐีร้อยคนแรกของอเมริกา การศึกษาก็พบว่าคนเหล่านี้มีความสุขมากกว่าคนทั่วไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือในคนที่ได้ขึ้นเงินเดือน เทียบกับคนที่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนเลย คน 2 กลุ่มนี้ก็มีความสุขไม่ต่างกัน ดังนั้น ความร่ำรวยก็เหมือนการมีสุขภาพดี นั่นคือถ้าบกพร่องหรือยากจนแล้ว จะทำให้เราเกิดทุกข์ได้ แต่การรวยมากหรือสุขภาพดีมาก ก็ไม่ได้รับประกันว่าเราจะมีความสุขมากเสมอไป

 

 

แล้วอะไรบ้างถึงจะทำให้เรามีความสุขได้ และถ้าอยากจะทำตัวให้มีความสุขมากขึ้นจะต้องทำอย่างไร?

 

บุคลิกลักษณะแรกของคนที่มีความสุข คือ เป็นคนที่นับถือตนเองสูง ซึ่งหมายถึงว่าเป็นคนที่ชอบตัวเอง มองตัวเองในแง่บวก เช่น มองว่าตัวเองมีเสน่ห์ ฉลาดกว่าคนอื่น เข้ากับผู้อื่นได้ดี สุขภาพร่างกายแข็งแรงกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งบางครั้งเป็นการคิดเข้าข้างตัวเองฝ่ายเดียว

 

ลักษณะสำคัญลักษณะที่ 2 ของคนที่มีความสุข คือ การรู้สึกว่าตัวเองควบคุมชีวิตของตัวเอง เป็นคนที่เชื่อว่าชีวิตเป็นของเรา จะดีจะร้ายจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ตัวเราเอง ไม่รอโชคชะตา เชื่อว่าเราควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตเราเองได้ นักจิตวิทยาพบว่า คนที่เชื่อแบบนี้จะเรียนได้ดี ทำงานก็ประสบความสำเร็จ และแก้ปัญหาความเครียดของตัวเองได้ดีกว่า จึงเป็นคนที่มีความสุข

 

ลักษณะที่ 3 ของคนที่มีความสุข คือ การเป็นคนมองโลกในแง่ดี ไม่ว่าจะทำอะไรก็มองหาแง่มุมที่ทำให้ตนเองมีกำลังใจ ทำงานสำเร็จก็มองว่าเป็นเพราะตัวเองเก่ง ไม่ใช่เพราะโชคช่วย ถ้าต้องเจอกับงานใหม่ ที่เรียนใหม่ ก็มองว่าตัวเองจะทำได้ดี จะไปได้สวยแน่ ๆ เพียงแค่คิดในแง่ดีเช่นนี้ คุณก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ มีสุขภาพดี และมีความสุขกว่าคนอื่น ๆ

 

ลักษณะที่ 4 ของบุคลิกภาพของคนที่มีความสุข คือ การเป็นคนเปิดเผย ชอบแสดงออกทางความรู้สึก เช่น ยิ้มหน้าบานเมื่อรู้สึกดีใจ เป็นคนชอบเข้าสังคมสังสรรค์เฮฮา มีเพื่อนฝูงมากมายให้พูดคุย ไม่ใช่คนเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียว

 

ลักษณะเหล่านี้ก็ฝึกฝนเพิ่มพูนกันได้ เพราะฉะนั้น ลองมาเริ่มนับถือตนเอง มองโลกในแง่ดี เปิดเผยตัวเอง และควบคุมชีวิตของเราเอง แล้วคุณก็จะพบว่าความสุขอยู่ไม่ไกลเราเลย

 

เคล็ดลับที่จะทำให้เรามีความสุขอย่างหนึ่งก็คือการหัวเราะ นักวิจัยทั้งทางด้านจิตวิทยาและด้านการแพทย์ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการหัวเราะมีประโยชน์ต่อทุก ๆ คนหลายอย่าง การหัวเราะทำให้ร่างกายหลั่งสารที่ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และรักษาความเจ็บป่วยบางอย่างได้ และที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมด คือเมื่อหัวเราะ เราจะรู้สึกดี ไม่ว่าจะเป็นการหัวเราะคิกคักหรือหัวเราะอย่างเต็มที่ก็ตาม แต่หลายคนอาจเกิดคำถามว่า จะทำอย่างไรให้หัวเราะ? ในเมื่อเราจะหัวเราะก็เฉพาะเมื่อมีเรื่องตลกขบขัน เราไม่สามารถบังคับตัวเองให้หัวเราะเวลาที่เราไม่รู้สึกขำได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นความจริง แต่แค่บางส่วนเท่านั้น เพราะเราสามารถจี้เส้นตัวเองได้หลายวิธี และตักตวงประโยชน์ที่จะได้รับจากการหัวเราะ อารมณ์ขันไม่ได้สงวนไว้เฉพาะเรื่องขำขัน ภาพยนตร์หรือดาวตลกเท่านั้น แต่ให้เรามองอารมณ์ขันว่าเป็นเรื่องของทัศนคติ การเปิดใจกับเรื่องไม่เป็นสาระ ไม่เพียงแค่ป้อนเรื่องขำ ๆ ให้กับตนเองเท่านั้น แต่ต้องเปิดใจกับความพิลึกพิลั่นของทุก ๆ สถานการณ์ ไม่ว่าเรากำลังเผชิญกับความเครียดที่ทำงาน หรือกำลังเลิกกับแฟน หากท่านมองเห็นในแง่ขำขัน ก็จะช่วยให้เรามองประเด็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น และอาจช่วยปลดปล่อยความโกรธ ความช้ำใจ ผิดหวัง หรือเสียใจได้ด้วย แต่ต้องระวังอย่าไปหัวเราะผิดที่ผิดทางเข้า แทนที่เรื่องร้ายจะกลายเป็นดี อาจจะกลายเป็นความเดือดร้อนให้กับตนเองได้ เตือนตัวเองไว้เสมอว่า อย่าจริงจังกับชีวิตจนเกินไป ให้หัวเราะกับสิ่งรอบ ๆ ตัว แล้วความสุขจะอยู่ในกำมือของเรา

 

 

เทคนิคการเพิ่มความสุข

 

  1. นักจิตวิทยาแนะให้ตระหนักว่า ความสุขที่ยั่งยืนไม่มีสูตรสำเร็จที่จะสร้างขึ้นมาได้ แต่มนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองได้ ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน เราก็สามารถมีความสุขได้ จริงอยู่ว่าความยากจนไม่มีจะกินทำให้เกิดทุกข์ แต่คนที่รวยล้นฟ้า ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะมีความสุขเสมอไป
  2. การควบคุมตารางเวลาของตัวเอง คนที่มีความสุขจะรู้สึกว่าชีวิตอยู่ในกำมือตัวเอง แบ่งเวลาออกเป็นส่วน ๆ ตามเป้าหมายว่า วันนี้จะทำอะไรบ้าง เช้าทำอะไร เย็นทำอะไร แล้วก็ทำตามที่วางแผนไว้ แล้วก็จะรู้สึกว่า เราทำอะไร ๆ ได้มากมาย
  3. ทำตัวให้มีความสุข ซึ่งก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการยิ้ม นักจิตวิทยาพบว่า เมื่อเรายิ้ม เราจะรู้สึกมีความสุขขึ้น ถ้าเราหน้าบึ้งก็จะรู้สึกว่าโลกนี้ไม่น่าอยู่เลย เพราะฉะนั้นอยากมีความสุขก็ให้ยิ้มเข้าไว้
  4. หางานหรือกิจกรรมที่ชอบทำในเวลาว่างที่ได้ใช้ทักษะของเราเอง เช่น ทำงานฝีมือหรือจัดแต่งสวนหน้าบ้าน กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้มีสมาธิ เพลิดเพลิน รู้สึกอยากทำงานให้สำเร็จ ลืมสนใจอย่างอื่นจนรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว สามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้มีเวลาว่าง ในการทำงานทุก ๆ วัน ก็สามารถทำได้ โดยการเปลี่ยนงานน่าเบื่อให้มีเป้าหมายว่าแต่ละชั่วโมงจะทำอะไรให้เสร็จบ้าง แล้วก็มุ่งมั่นทำให้ได้ จะช่วยให้เราทำงานอย่างมีความสุข
  5. ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เล่นกีฬา หรือเต้นแอโรบิคอยู่กับบ้านก็ได้ ซึ่งการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายนั้น นอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังสามารถบำบัดอาการซึมเศร้าทางจิตและความวิตกกังวลได้ด้วย เพราะจิตใจที่แจ่มใสย่อมอยู่คู่กับร่างกายที่แข็งแรง
  6. นักจิตวิทยาแนะว่าการพักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญ คนที่มีความสุขนั้นนอกจากจะเป็นคนสดชื่นกระปรี่กระเปร่าแล้ว ถึงเวลาพักก็ต้องพักเต็มที่เพื่อเติมพลัง ถ้าเราพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะรู้สึกอ่อนเพลีย เฉื่อยชาและอารมณ์เสียง่ายอีกด้วย
  7. การให้ความสำคัญกับคนใกล้ชิด ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ เวลาเราเหงาหรือทุกข์ใจ ยาขนานเอกก็คือการมีใครสักคนมาใกล้ชิดและห่วงใยเราอย่างแท้จริง ดังนั้นอย่าลืมทะนุถนอมความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดด้วยการแสดงความรักให้อีกฝ่ายรับรู้ อย่าคิดว่าอยู่กันมานานรู้ใจกันอยู่แล้ว หมั่นแสดงน้ำใจต่อคนใกล้ชิดเหมือนที่แสดงความมีน้ำใจกับผู้อื่น ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันและเติมความรักอยู่เสมอ
  8. นักจิตวิทยาแนะว่า ให้เราใส่ใจผู้อื่นให้มากกว่าตัวเอง มองข้ามความต้องการของตัวเองไปบ้าง แล้วดูว่าผู้อื่นต้องการอะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรจากเราหรือไม่ เพราะการทำความดีโดยการช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นมีความสุข ก็จะทำให้เรารู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ และมีความสุขตามไปด้วย
  9. หันมามองและตระหนักถึงสิ่งดี ๆ ในชีวิตที่มีอยู่และมักจะมองข้ามไป เช่น สุขภาพที่แข็งแรง เพื่อน ๆ ที่หวังดี ครอบครัวที่อบอุ่น คนที่จดจำและซาบซึ้งกับสิ่งดี ๆ ในชีวิต จะมีความสุขมากขึ้นได้
  10. วิธีการเพิ่มความสุขในชีวิตของเรา คือสร้างศรัทธาในศาสนาเอาไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ผลจากการวิจัยพบว่าผู้ที่ศรัทธาในศาสนาใดก็ตามจะปรับตัวกับเรื่องร้าย ๆ ในชีวิตได้ดีกว่า รู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมาย ชอบช่วยเหลือผู้อื่น และแน่นอนว่ามีความสุขในชีวิตมากกว่า

 

และนี่ก็คือวิธีง่าย ๆ 10 ข้อ ในการเพิ่มความสุข ลองนำไปปฏิบัติดู แล้วจะเห็นว่าความสุขอยู่ใกล้มือเราเอง

 

 

 


 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คัคนางค์ มณีศรี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ฉันผิดปกติมั้ย?

 

“ภรรยาของผมเสียเมื่อสามอาทิตย์ที่แล้ว ผมกลับมาทำงานเมื่อสามวันที่แล้ว แต่ผมไม่สามารถมีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานได้ บางครั้งผมก็จะเผลอรอข้อความทางโทรศัพท์จากภรรยา และเมื่อนึกขึ้นมาได้ว่าเขาไม่อยู่แล้ว ผมก็อยากจะร้องไห้ทุกครั้ง ทุกวันนี้ผมยังร้องไห้อยู่ทุกคืน ผมผิดปกติรึเปล่าครับ?”

 

“ดิฉันเลิกกับแฟนมาได้ 4 เดือนแล้ว แต่ยังคงคิดถึง อยากรู้เรื่องของเขา ยังเสียใจและร้องไห้เวลาอยู่คนเดียว เพื่อนๆ ถามว่าทำไมยังเสียใจอยู่เพราะก็ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ควรทำใจได้แล้ว ดิฉันผิดปกติรึเปล่าคะที่ยังทำใจไม่ได้ซะที?”

 

“งานของผมเครียดและมีความกดดันมากครับ ผมต้องทำงานเกือบทุกวันเพราะมีผมคนเดียวที่รับผิดชอบงานในส่วนนี้ หัวหน้าจะใช้วิธีกดดันเพื่อให้พนักงานสร้างยอดขายได้ตามเป้ามากกว่าจะใช้วิธีการช่วยสนับสนุน ที่ผมนอนไม่หลับและตื่นกลางดึกทุกคืนเพราะกังวลว่างานไม่เสร็จนี่ ผมผิดปกติรึเปล่าครับ?”

 

จากประสบการณ์ในการให้บริการทางจิตวิทยาการปรึกษา ดิฉันสังเกตว่าผู้มารับบริการบางคนมาหานักจิตวิทยาการปรึกษาด้วยคำถามที่ว่า

 

“ฉันผิดปกติรึเปล่า…ที่ฉันรู้สึกแบบนี้ หรือมีอาการแบบนี้เรียกว่าผิดปกติรึเปล่าคะ/ครับ”

 

“แบบนี้เรียกว่าบ้ารึเปล่าคะ/ครับ”

 

ทุกครั้งที่ดิฉันได้ยินคำถามลักษณะนี้หรือได้ยินผู้รับบริการแจ้งว่าวัตถุประสงค์ของการมารับบริการการปรึกษาคือต้องการจะรู้ว่าตนเองผิดปกติรึเปล่า ดิฉันมักจะประหลาดใจว่า การรับรู้ว่าตนเอง “ผิดปกติหรือไม่ผิดปกติ” นี่ ดูเหมือนจะสำคัญมากสำหรับผู้มารับบริการ ซึ่งหากมองโดยผิวเผินแล้วก็ฟังดูไม่น่าจะมีอะไรที่น่าแปลกใจ เพราะคนเราหากมีอาการอะไรที่ผิดแปลกไปจากเดิม ก็คงอยากหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง สิ่งที่ตนเองเป็นอยู่นั้นผิดปกติไปจากคนทั่วไปหรือไม่

 

แต่เมื่อพิจารณามองให้ลึกซึ้งไปกว่านั้น ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ความคาดหวังของสังคมและระบบสังคมมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความรู้สึกของบุคคลว่าตนเองมีความผิดปกติ

 

ดังเช่นในตัวอย่างแรกนั้น ภรรยาของพนักงานบริษัทคนนั้นเพิ่งเสียชีวิตไป แต่เขากลับถูกคาดหวังจากบริษัทให้กลับไปทำงานตามปกติภายในเวลาไม่กี่วัน ข้อบังคับเรื่องจำนวนวันลาเมื่อเหตุการณ์สูญเสียเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นเสมือนสารที่สื่อให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าบุคคลควรจะสามารถฟื้นตนเองจากความสูญเสีย แล้วกลับมาทำงานเพื่อสร้างผลงานให้ได้ตามเดิมภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

กระบวนการทางจิตใจเพื่อจัดการอารมณ์กับความสูญเสียของแต่ละคนที่ต้องใช้ระยะเวลาแตกต่างกันถูกแทรกแซงและถูกกดโดยระบบและกฎเกณฑ์ของบริษัท ของระบบทางสังคมที่สร้างกรอบทางความคิดแก่บุคคลว่าเขาควรจะฟื้นตนเองให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด

 

หรือคำพูดที่ว่า “เลิกกับแฟนมาตั้งนานแล้ว ทำไมยังทำใจไม่ได้ซะที” เสมือนกับเป็นการบอกเป็นนัยว่าการที่เธอกำลังเสียใจอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ผิดแปลกไปจากคนทั่วไป หรือเป็นเรื่องที่ “ผิดปกติ”

 

หรือในตัวอย่างที่ 3 นั้น ไม่ว่าใครหากอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นคงรู้สึกเครียดและกดดันเป็นอย่างมาก ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเรานั่งอยู่ใกล้กองไฟ มันคงจะยากหากเราจะไม่รู้สึกร้อน และก็อาจจะไม่ดีต่อสุขภาพของเราด้วยหากเราจะพยายามบังคับใจไม่ให้ร้อนแล้วปล่อยให้ผิวเราไหม้เพราะอยู่ใกล้กองไฟมากเกินไปต่อไป

 

ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา ดิฉันเห็นว่า คำว่า “ปกติ” หรือ “ผิดปกติ” ไม่สำคัญมากเท่ากับการที่บุคคลให้ความสำคัญกับความรู้สึก ความทุกข์และผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นต่อตนเอง เพื่อหาทางยอมรับและจัดการกับความรู้สึกนั้น ๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลาแตกต่างจากคนทั่วไป หรืออาจจะไม่สามารถที่จะขจัดความทุกข์ออกไปได้หมด ทำได้เพียงแค่อยู่กับมันให้ได้ในแต่ละวัน

 

ดังนั้นการใช้เวลาเยียวยาจิตใจมากกว่าคนอื่นไม่ได้แปลว่าคุณผิดปกติ และการที่มีใครมาบอกว่าคุณปกติ ก็ “ไม่ได้” แปลว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่สำคัญและไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับความรู้สึกเหล่านั้น

 

ดิฉันจึงอยากชวนให้ทุกคนลองพิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่อาจหล่อหลอมให้พวกเรามองตนเองว่าผิดปกติและต้องได้รับการ “แก้ไข” หรือ “รักษา” จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญมาบอกว่าเราผิดปกติก่อนที่เราจะเริ่มดูแลจิตใจของตัวเอง

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“คำขอบคุณ” ให้คุณกว่าที่คิด

 

การใช้ชีวิตในทุกวันนี้ของเราดูจะเป็นการมุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มองไปยังเป้าหมายอนาคต ใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จนบางครั้งเราเองก็มองแต่ข้างหน้า มองแต่เพียง “ตัวเอง”จนลืมที่จะมองข้างหลัง มองสิ่งที่อยู่ข้าง ๆ มองที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น

 

นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้นึกขอบคุณใครสักคนอย่างล้นใจ ขอบคุณอย่างซาบซึ้ง ขอบคุณแบบที่ไม่ใช่เพียงแค่การเอ่ยว่าขอบคุณตามมารยาทสังคม

 

หากเป็นการเอ่ยคำว่าขอบคุณที่มาจากใจที่น้อมระลึกขึ้นมาได้ว่าคน ๆ นั้น หรือสิ่งนั้นช่างมีส่วนที่ทำคุณต่อเรา ซาบซึ้งในใจว่าการที่มีตัวเราในทุกวันนี้ เพราะมีคนที่เกื้อกูลเรา มีธรรมชาติที่เกื้อหนุน มีประสบการณ์ที่ผ่านมาที่เราได้เรียนรู้และเติบโต

ความรู้สึกขอบคุณอย่างลึกซึ้งดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ (Gratitude) เป็นความรู้สึกที่ยินดี ซาบซึ้ง เป็นความรู้สึกที่งดงามที่เรามีต่อผู้อื่น หรือแม้ต่อสิ่งที่ไม่ใช่บุคคล เช่น ธรรมชาติ ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของเรา

 

นักจิตวิทยาในกลุ่มจิตวิทยาเชิงบวกได้มีการศึกษาเรื่องความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณนี้ไว้มากมาย จนสามารถกล่าวได้ว่าการขอบคุณอย่างลึกซึ้งเช่นนี้มีผลทางบวกต่อตัวเรามากกว่าที่เราอาจจะเคยนึกถึง โดยผู้นำในการศึกษาเรื่องความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณคือนักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Robert Emmons ได้กล่าวว่า ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณว่ามีสองสิ่งร่วมอยู่

 

สิ่งแรก คือ ความรู้สึกว่าความดีงามในโลกนี้มีอยู่จริง ๆ และเรามั่นใจได้จากสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้รับ

 

สิ่งที่สอง คือ การที่เราเห็นได้ว่าความดีงามที่มันเกิดขึ้นนั้น เกิดมาจากแหล่งนอกตัวเรา เรามองเห็นการมีส่วนของผู้อื่นที่เข้ามามีต่อเรา

 

ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณนี้มีผลทางบวกไม่ใช่เพียงแต่กับคนที่เราเอ่ยคำว่าขอบคุณต่อเขา แล้วเขาจะรู้สึกว่าเราเห็นค่าเขาเท่านั้น หากนักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ และพบถึงผลทางบวกของความความบุคคล และต่อสัมพันธภาพ เช่น งานวิจัยของ Emmons และ McCullough ในปี ค.ศ. 2003 ได้พบว่าความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณมีส่วนช่วยเพิ่มสุขภาวะ

 

งานวิจัยของ Gordon, Impett, Kogan, Oveis, และ Keltner ในปี ค.ศ. 2012 พบว่าความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณเป็นความรู้สึกที่ช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพที่มีดีขึ้น เนื่องจากเราได้ตระหนักว่าเราได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจจากคนเหล่านั้นอย่างไรบ้าง และยังส่งผลสืบเนื่องถึงการรับรู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปได้รับการเห็นถึงคุณค่าอีกด้วย

 

เมื่อเรารู้ถึง “คุณ”ของการขอบคุณว่ามีทั้งต่อเรา และต่อผู้อื่นแล้ว ดังนั้น วันนี้เราน่าจะเริ่มมองสิ่งต่าง ๆ ผู้คนรอบตัวเราอย่างเห็นใน “คุณ” ที่เขามีต่อเรา ใน “ค่า” ที่เขามีสำหรับเรากันเถิดนะคะ

 

ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีง่าย ๆ 2 วิธีที่สามารถนำมาใช้ได้กับตัวเองหรือจะใช้ฝึกให้ลูกหลานของเราก็ได้

 

วิธีแรกเป็นวิธีในการพัฒนาความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ ที่นักวิจัยมักใช้ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ คือ การเขียนบันทึกถึงความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ โดยเป็นการเขียนถึง 5 สิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณในแต่ละสัปดาห์ การทำเช่นนี้จะทำให้เราพัฒนาการคิดที่มองสิ่งต่างๆ อย่างยินดี และลดความคิดที่มองสิ่งต่างๆอย่างไม่ยินดีค่ะ

 

อีกวิธีที่อยากจะนำเสนอคือวิธีที่ผู้เขียนเองเห็นว่าง่ายและใช้ได้เป็นประจำ คือ การทบทวนก่อนนอนว่าวันที่กำลังจะผ่านไปวันนี้ เรามีอะไรที่เรารู้สึกขอบคุณบ้าง ลองนึกทบทวนนะคะ ถ้าเราทำเช่นนี้สม่ำเสมอทุกคืนก็จะเป็นการค่อย ๆ ฝึกตัวเราเองให้มองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณได้ค่ะ

 

…ขอบคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูฟูมฟักจนเติบโต

 

…ขอบคุณสามีที่เอื้ออาทรเปิดโอกาสให้ทำในสิ่งที่รัก

 

…ขอบคุณลูกที่เกิดมาเป็นลูกแม่ให้แม่รู้จักกับความรักที่แสนยิ่งใหญ่

 

…ขอบคุณครูที่สั่งสอนจนมีวิชา

 

…ขอบคุณเพื่อนที่อยู่เคียงข้างฝ่าฟันอุปสรรค

 

…ขอบคุณโอกาสในการเขียนบทความทำให้ผู้เขียนมีโอกาสทบทวนถึงความรู้สึกดี ๆ เช่นนี้

 

…ขอบคุณผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ค่ะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bono, G., Emmons, R. A., & McCullough, M. E. (2004). Gratitude in practice and the practice of gratitude. Positive psychology in practice, 464-481.

 

Emmons, R. A., & McCullough, M. E. (2003). Counting blessings versus burdens: an experimental investigation of gratitude and subjective well-being in daily life. Journal of personality and social psychology, 84(2), 377.

 

Froh, J. J., Sefick, W. J., & Emmons, R. A. (2008). Counting blessings in early adolescents: An experimental study of gratitude and subjective well-being. Journal of school psychology, 46(2), 213-233.

 

Gordon, A. M., Impett, E. A., Kogan, A., Oveis, C., & Keltner, D. (2012). To have and to hold: gratitude promotes relationship maintenance in intimate bonds. Journal of personality and social psychology, 103(2), 257.

 

ภาพจาก https://www.pexels.com/search/gratitude/

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

อคติรังเกียจกลุ่มคนที่ต่างจากเรา

 

“พวกผู้หญิงชอบขี้งอน โวยวายไม่เข้าเรื่อง ทำงานด้วยแล้วปวดหัว”

 

“พวกตุ๊ดแต๋วก็แบบนี้ อารมณ์รุนแรง ถึงไม่อยากทำงานด้วยไง”

 

“ไม่อยากยุ่งกับพวกชั้น 18 พวกนั้นพูดยาก ความคิดแคบ”

 

ฯลฯ

 

ตัวอย่างเหล่านี้คืออคติที่เรามีต่อคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะแบ่งกลุ่มอย่างไร กลุ่มเล็กๆ เช่นทีมงานในที่ทำงาน ไปจนถึงกลุ่มใหญ่เช่นกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา หรือการเมือง

 

อคติก็คือการมองว่าคนในกลุ่มนั้น “ทั้งกลุ่ม” ก็ไม่ดีเหมือนๆ กันหมด ซึ่งเป็นการเหมารวมยกเข่งแบบไม่ยุติธรรมเลย จริงไหมคะ

 

 

นักจิตวิทยาสังคมมองอคติเหล่านี้ว่าประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่


 

  • ความเชื่อว่า ‘เขาไม่ดี’ ยกกลุ่ม หรือ ความเชื่อเหมารวม (stereotype) เช่น “พวกผู้หญิงขี้งอน ขี้โวยวาย” “พวกตุ๊ดแต๋ว มักจะมีอารมณ์รุนแรง” ก็คือคิดว่าคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เป็นการเหมาเอาว่าทุกคนในกลุ่มเป็นแบบนั้นแบบนี้เหมือนๆ กัน
  • ความรู้สึกรังเกียจยกกลุ่ม (prejudice) เช่น “ไม่ชอบ” “รู้สึกไม่ดี” “ไม่อยากทำงานด้วย” “เกลียด” คนในกลุ่มนั้นรวมๆ
  • การกีดกันยกกลุ่ม (discrimination) เป็นการกระทำ เช่น “ไม่อยากยุ่งกับพวกนั้น” หรือบางทีเป็นการเลือกปฏิบัติหรือ สองมาตรฐานเสียเลย เช่น คนพม่ามาสมัครงานก็ไม่รับเพียงเพราะเขาเป็นคนพม่า (ไม่ใช่ว่าเขามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม)

 

ผลเสียจากอคตินั้นก็เดาได้ไม่ยากค่ะ คือ เกิดความแตกแยกไม่เป็นมิตร ไม่สามารถร่วมมือกันได้ ทำให้งานออกมาไม่ดี เกิดบรรยากาศของความขัดแย้งเกิดการทำร้ายจิตใจหรือแม้แต่ร่างกายกัน (ดูอย่างเด็กนักเรียนคนละสถาบันสิคะ) ถ้าเป็นการดูถูกความสามารถก็อาจทำให้คนในกลุ่มนั้นด้อยความสามารถขึ้นมาจริง ๆ ได้ (Stereotype Threat) และสุดท้ายคือมันไม่ยุติธรรมต่อคนในกลุ่มนั้นเพราะโดนเหมารวมยกเข่งว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้

ถ้าอย่างนั้นก็อย่าอคติแบบเหมารวมกลุ่มสิ มารักกันดีกว่า

 

ถ้าทำได้ก็ดีอย่างยิ่ง แต่ความคิดความรู้สึกของคนเรามันสั่งไม่ได้ง่ายแบบนั้นน่ะสิคะ นักจิตวิทยาสังคมถึงต้องทำงานหนักเพื่อลดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก ลองดูกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ที่ปลุกกระแสต่อต้านชาวมุสลิม เอเชียน และชนกลุ่มน้อยในอเมริกานั่นไง

 

 

ลองมาดูว่าเจ้าความรังเกียจ 3 ส่วนข้างบนนั้นมาจากไหน


 

  • การเลี้ยงดู : ถ้าเราโตขึ้นมาในครอบครัวหรือสังคมที่สอนให้เป็นมิตรกับคนที่ต่างจากเรา เราก็มักจะปฏิบัติดีต่อคนกลุ่มอื่น แต่ถ้าตัวแบบในครอบครัวเราชอบแสดงความรังเกียจล้อเลียนคนที่ต่างจากเรา เราก็มักจะรับเอาความรังเกียจนั้นมาด้วย งานวิจัยในประเทศไทย (สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาฯ) พบว่าถ้าเราคิดว่าเพื่อนนักศึกษาที่เราสนิทด้วย รังเกียจนักศึกษาชาวลาว เราก็มักจะรังเกียจชาวลาวตามไปด้วย ถ้าเพื่อนสนิทเราชอบเขา เราก็มักจะชอบเขาตามไปด้วย คือเราได้รับอิทธิพลจากคนสนิทรอบตัวนั่นเอง
  • การเห็นคุณค่าในตัวเองของเรา : งานวิจัยในต่างประเทศพบว่าคนที่เห็นคุณค่าของตัวเองต่ำ มักแสดงความรังเกียจคนกลุ่มอื่นเพื่อกดให้เขาต่ำลง ตัวเองจะได้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น
  • ธรรมชาติการชอบแบ่งคนเป็นกลุ่ม : เรามีธรรมชาติชอบจัดคนเป็นกลุ่มๆ ใครเหมือนๆ กันเราก็จัดเป็นกลุ่มเดียว เพื่อจะได้ง่ายต่อการทำความเข้าใจโลกที่ยุ่งเหยิงนี้ ทีนี้พอจัดกลุ่มแล้ว ก็อดจะคิดไม่ได้ว่าพวกเราดีกว่าเจ๋งกว่า และพวกเขาก็ (แย่) เหมือนๆ กันหมดแหละ
  • การแย่งทรัพยากร : คนไทยอาจจะไม่ชอบสมาชิกประเทศเพื่อนบ้าน เพราะว่าพอเกิดสมาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว คนเหล่านั้นจะเข้ามาแย่งตำแหน่งงานของคนไทย แย่งเรากินแย่งเราใช้ การรังเกียจจึงเกิดขึ้นได้เพราะการแย่งทรัพยากรที่มีจำกัด

 

 

ซับซ้อนแบบนี้เอง (มิน่า การสร้างความปรองดองทางการเมืองระหว่างสีต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย) แต่อย่าเพิ่งถอดใจไปนะคะ นักจิตวิทยาสังคมช่วยได้ ติดตามกันเรื่อยๆ นะคะเอาไว้วันหน้าจะมาคุยให้ฟัง

 

 

ภาพจาก http://simplebooklet.com/

 

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การให้อภัย (Forgiving) การไม่ให้อภัย (Unforgiving) และการแก้แค้น (Revenge)

 

 

 

 

การให้อภัยมักถูกศึกษาควบคู่กับการไม่ให้อภัยและการแก้แค้น โดยมองว่าเป็นการแสดงออกที่อยู่ในทางตรงข้ามกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า การให้อภัยคือการปราศจากความขุ่นเคืองใจ การประณาม และการแก้แค้น ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว การให้อภัยและการแก้แค้นเป็นกลไกที่ใช้ในการปรับตัวและปกป้องตนเอง ซึ่งบ่อยครั้งไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ขึ้นอยู่ศักยภาพด้านการรู้คิด อารมณ์ และแรงจูงใจของบุคคลว่าจะแสดงออกในด้านใด ในสถานการณ์หนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการของการให้อภัยและการแก้แค้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน การแก้แค้นมักจะมีบทบาทในการทำให้เกิดความเป็นธรรม และป้องกันการคุกคามที่จะเกิดในอนาคต ส่วนการให้อภัยมักมีบทบาทในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และการรวมตัวกันของบุคคลและกลุ่ม

 

Tripp, Bies, และ Aquino (2002) ได้นิยาม การแก้แค้นไว้ว่าเป็นการกระทำของบุคคลที่ตอบสนองต่อสิ่งที่เป็นอันตราย หรือตอบสนองต่อผู้อื่นที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือความรู้สึกไม่สบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้บุคคลเกิดแรงจูงใจ และตัดสินใจว่าจะต้องกระทำพฤติกรรมแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านทางวาจาหรือการกระทำทางกายก็ได้ เพื่อเป็นการตอบโต้กลับไป เพื่อให้ลดความเสียหายหรือความรู้สึกทางลบ

 

Fox, Spector, และ Miles (2001) กล่าวว่าการไม่ให้อภัยและการแก้แค้นนั้นเป็นแรงจูงใจหรือพลังภายในบุคคล ซึ่งเกิดจากการที่บุคคลถูกละเมินความเชื่อ ละเมิดต่อสิ่งที่เป็นอุดมคติที่บุคคลยึดถือ หรือรู้สึกว่าตนเองกำลังไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มั่นคงปลอดภัย โดยอาจเกิดขึ้นจริงหรือเป็นการคาดการณ์ในอนาคตของบุคคลก็ได้ ส่งผลให้บุคคลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวไม่ที่เจาะจงรูปแบบที่แน่นอน โดยอาจเป็นการกระทำโดยตรงทางกาย หรือทางอ้อมทางวัจนภาษาและอวัจนภาษาก็ได้ เพื่อเป็นการตอบโต้หรือป้องปรามไม่ให้สิ่งที่ตนไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ในบางสถานการณ์ การที่บุคคลนิ่งเฉยไม่ยอมทำพฤติกรรมใด ๆ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้แค้น ตราบใดที่การนิ่งเฉยนั้นก่อให้เกิดผลทางลบต่อผู้อื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น เนื่องจากในบางกรณีบุคคลอาจรับทราบข้อมูลหรือรับรู้ว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อผู้อื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น แต่กลับไม่แสดงท่าทีในการช่วยเหลือ ห้ามปรามหรือตักเตือนให้ระมัดระวัง จนทำให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น ซึ่งการแก้แค้นดังกล่าวถือเป็นการแสดงความก้าวร้าวแบบวางเฉย (passive aggressive)

 

Bies และ Tripp (2002) กล่าวว่าบางกรณีการแก้แค้นหรือการไม่ยอมยกโทษให้ ก็เป็นความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นจากแรงจูงใจบางอย่าง ที่อาจก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้แก้แค้นเอง และอาจก่อให้เกิดผลทางบวกต่อผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายหรือเป็นเหยื่อของการแก้แค้นด้วย เนื่องจากการแก้แค้นเป็นช่องทางหนึ่งของการเรียกร้องความยุติธรรม เป็นการสั่งสอนหรือปรับปรุงผู้ที่คอยเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นให้เกิดความตระหนักรู้ตัว และแก้ไขพฤติกรรมทางลบของตน เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านจริยธรรมและคุณธรรมด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการแก้แค้นเป็นมุมมองมุมกลับของการให้อภัยซุ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งในแง่ของกระบวนการคิด อารมณ์ และการแสดงออก

 

 

ให้อภัยหรือแก้แค้น


 

Bradfield และ Aquino (1999) ศึกษากลไกของการให้อภัยหรือแก้แค้นของบุคคล โดยเสนอว่า บุคคลจะทำการแก้แค้นหรือให้อภัยนั้น เริ่มต้นจากกระบวนการรับรู้ความรุนแรงของการคุกคามหรือละเมิดจากผู้ที่เป็นเป้าหมายเสียก่อน จากนั้นจะผ่านกระบวนการกล่าวโทษของบุคคล ว่าการมาคุกคามหรือละเมิดนั้นเป็นผู้ผิดหรือสมควรต้องได้รับการตอบโต้หรือไม่ และบุคคลจะประเมินถึงความรู้สึกชื่นชอบที่ตนมีต่อผู้ที่มีคุกคามหรือละเมิดว่าอยู่ในระดับใด เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เกิดการให้อภัยหรือไม่ทำการตอบโต้ล้างแค้น ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการรู้คิดและแรงจูงใจที่จะแก้แค้นหรือให้อภัย นำไปสู่พฤติกรรมแก้แค้นหรือให้อภัยในที่สุด

 

หากบุคคลรับรู้ว่าการคุกคามมีระดับรุนแรงมาก ก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบสูง จำเป็นที่จะต้องให้ผู้ที่มาคุกคามรับผิดชอบ และบุคคลก็ไม่ได้รู้สึกชื่นชอบผู้ที่มาคุกคามเท่าใดนัก และเมื่อผ่านกระบวนการรู้คิดของบุคคลแล้ว บุคคลเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องตอบโต้หรือแสดงออกเพื่อเป็นการเรียกร้องสิ่งที่ตนสมควรได้รับ หรือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแล้ว บุคคลก็อาจแสดงพฤติกรรมแก้แค้น หรือหากบุคคลเห็นว่าผู้ที่มีคุกคามอาจมีเหตุจำเป็น และตนเองไม่อยากจะมีความรู้สึกทางลบอีก ต่อไปก็อาจแสดงพฤติกรรมให้อภัยได้

 

ต่อมา Zourrig (2010) ได้เพิ่มเติมการประเมินขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิและเสนอเป็นโมเดลของกลยุทธ์ในการเผชิญปัญหาไว้ว่า เมื่อบุคคลถูกคุกคามหรือละเมิด บุคคลจะมีการประเมินขั้นปฐมภูมิ โดยพิจารณาความรุนแรงของการเป็นภัยหรือการสูญเสีย หากรับรู้ว่าการคุกคามหรือละเมิดนั้นเป็นภัยหรือทำให้เกิดการสูญเสียมาก จะเกิดกลไกการประเมินขั้นทุติยภูมิขึ้น ว่าการคุกคามหรือการละเมิดนั้นมีสาเหตุมาจากภายนอกหรือภายในตัวบุคคล

 

ถ้าสาเหตุที่มีผู้มาคุกคามนั้นมีส่วนมาจากการด้อยความสามารถหรือขาดศักยภาพในการรับมือกับปัญหาของตัวบุคคลเอง บุคคลก็อาจโทษตนเองว่าเป็นต้นเหตุในการทำให้ผู้อื่นสูญเสียผลประโยชน์ จนจำเป็นที่จะต้องมาทำการคุกคามเพื่อทวงสิทธิ์ ดังนั้นตนเองก็มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบ จึงมีโอกาสที่จะให้อภัยได้มากกว่า

 

แต่ถ้าหากบุคคลประเมินการคุกคามหรือละเมิดว่ามีสาเหตุมาจากภายนอกตัวบุคคล คือบุคคลมีศักยภาพเพียงพอและรู้วิธีจัดการกับปัญหานั้น แต่ยังมีผู้คุกคาม แสดงว่าการละเมิดนั้นอาจขาดความชอบธรรม มีการเบียดเบียนผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นบุคคลจึงมีการกล่าวโทษผู้อื่น และไม่เห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดการตอบโต้หรือแก้แค้นมากกว่า

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งอย่างทีควรคำนึงถึง คือ คนที่มาสร้างความไม่พึงพอใจหรือคุกคามเรานั้น เราถือว่าเขาเป็นสมาชิกภายในกลุ่มเดียวกัน (ingroup) หรือ เป็นคนนอกกลุ่ม (outgroup) ซึ่งโดยปกติแล้วเรามีแนวโน้มจะให้อภัยคนที่อยู่ภายในกลุ่มเดียวกันมากกว่า ยกเว้นในบางกรณีที่เรารู้สึกว่าการคุกคามนั้นมีความรุนแรง การให้อภัยจะน้อยลง และอาจมีการตอบโต้กลับไปเพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจไม่สามารถยอมได้ตลอด

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการให้อภัย


 

Fehr, Gelfand, และ Nag (2010) ได้รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับพื้นนิสัยการให้อภัยและการให้อภัยเฉพาะเหตุการณ์ และสรุปได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการให้อภัยมี 3 ประการ คือ

 

1. ปัจจัยด้านการรู้คิด

ในสถานการณ์หนึ่งๆ บุคคลจะให้อภัยมากขึ้นเมื่อรับรู้ว่าผู้ที่มาคุกคามตนนั้นไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดต่อตัวบุคคล มีการแสดงความรับผิดชอบต่อผลของการคุกคาม มีการสำนึกผิดและขอโทษต่อผู้เสียหาย และผู้ถูกละเมิดรับรู้ว่าการคุกคามนั้นไม่มีความรุนแรงมากนัก นอกจากนี้หากบุคคลมีบุคลิกภาพแบบเปิดใจกว้าง (openness) เข้าใจมุมของผู้อื่น (empathy) สูง บุคคลก็จะมีแนวโน้มให้อภัยสูงเป็นพื้นนิสัย

 

2. ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึก

ในสถานการณ์หนึ่งๆ บุคคลจะให้อภัยมากขึ้นเมื่อมีอารมณ์เห็นอกเห็นใจ และมีอารมณ์ทางบวก แต่หากบุคคลมีอารมณ์ทางลบ โกรธ บุคคลจะให้อภัยน้อยลง นอกจากนี้หากบุคคลมีการเห็นคุณค่าแห่งตนสูง (high self-esteem) ชอบเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่อ่อนไหวง่ายหรือไม่มีพื้นฐานฉุนเฉียว โกรธ หรือเศร้าง่าย บุคคลก็จะมีแนวโน้มให้อภัยสูงเป็นพื้นนิสัย

 

3. ปัจจัยด้านการระงับยับยั้งใจ

ในสถานการณ์หนึ่งๆ บุคคลจะให้อภัยมากขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีความผูกพัน และมีความพึงพอใจในความสัมพันธ์กับบุคคลที่มาคุกคาม นอกจากนี้หากบุคคลมีความเคร่งครัดยึดมั่นตามหลักศาสนา และคำนึงถึงความน่าพึงปรารถนาทางสังคมสูง (social desirability) บุคคลก็จะมีแนวโน้มให้อภัยสูงเป็นพื้นนิสัย

 

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เช่น เพศ ไม่มีความสัมพันธ์กับการให้อภัยของบุคคล ส่วนอายุหรือช่วงเวลาที่ใช้ในการถอยห่างจากการคุกคามนั้น สัมพันธ์กับการให้อภัยในระดับต่ำมาก

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

“อิทธิพลของการเห็นคุณค่าแห่งตนโดยชัดแจ้งและโดยนัย ต่อการให้อภัยโดยชัดแจ้งและโดยนัยโดยมีอคติโดยชัดแจ้งและโดยนัยเป็นตัวแปรส่งผ่าน : การวิเคราะห์กลุ่มพหุ เปรียบเทียบระหว่างการคุกคามจากภายในกลุ่มและภายนอกกลุ่ม” โดย ชาญ รัตนะพิสิฐ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/52133

 

ภาพจาก https://www.readersdigest.ca/health/relationships/how-forgive-four-step-plan/

 

 

การคุกคามโดยภาพเหมารวม

 

“ผู้หญิงคิดเลขไม่เก่ง”

 

“ผู้ชายรับฟังคนอื่นไม่เป็น”

 

“ผู้หญิงช่างคุยกว่าผู้ชาย”

 

เราคงเคยได้ยินความเชื่อเหมารวม หรือ stereotype เหล่านี้มาจนชินหูและเชื่อว่านี่เป็นความจริงของโลก แต่ภาพเหมารวมเหล่านี้เป็นความเชื่อ และความเชื่ออาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือความเชื่อนี้มันสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมที่สำคัญในชีวิตของคนได้

 

ภาพเหมารวม (stereotype) คือ ความเชื่อว่าสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มทางสังคมหนึ่ง ๆ นั้นมีลักษณะ นิสัยใจคอ พฤติกรรมเป็นอย่างไร โดยความเชื่อนั้นอาจจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะระบบการรู้คิด (cognition) ของมนุษย์นั้นได้สร้างทางลัดเพื่อช่วยให้เราประหยัดสมองเวลาที่ต้องพบเจอกับคนในกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ

 

เช่น ถ้าเราเชื่อว่าคนในประเทศหนึ่ง ๆ มาสายเป็นประจำ เราก็จะไม่คาดหวังที่จะเจออีกฝ่ายตรงตามนัด

 

หรือ เราอาจจะเลือกที่จะปรึกษาปัญหาหัวใจกับพี่สาวที่เป็นพยาบาลแทนพี่ชายที่เป็นวิศวกร เพราะคิดว่าคนนึงน่าจะรับฟังเราดีกว่าอีกคน

 

บางครั้งภาพเหมารวมนี้อาจจะสะท้อนความจริงบางส่วนหรือตรงกับประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ภาพเหมารวมนี้จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราประมวลข้อมูลในสังคมที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น

 

ด้วยความที่ภาพเหมารวมไม่ได้เป็นแค่ความเชื่อของคนเพียงคนเดียว แต่คนจำนวนในสังคมเห็นตรงกัน มันจึงแทรกตัวอยู่กับปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในทุก ๆ เวลา ราวกับว่ามันอยู่ในทุกอณูของอากาศที่เราหายใจ และความเชื่อเหมารวมนี้สามารถคุกคามจิตใจและพฤติกรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน (Steele & Aronson, 1997) ที่บัญญัติคำว่า การคุกคามโดยภาพเหมารวม (stereotype threat) จึงเปรียบว่าการคุกคามนี้มันซ่อนตัวอยู่ในอากาศ (A threat in the air)

 

 

ภาพเหมารวมนี้มันคุกคามคนเราได้อย่างไร?


 

นักจิตวิทยาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กข้อหนึ่ง นั่นคือ คะแนนคณิตศาสตร์ของเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงในช่วงประถมนั้นไม่ได้แตกต่างกัน แต่ความแตกต่างของคะแนนสอบเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในวัยมัธยมและมหาวิทยาลัย แถมยังจำกัดอยู่เฉพาะในด้านคณิตศาสตร์เท่านั้น ในขณะที่คะแนนสอบวิชาอื่นของเด็กผู้ชายและผู้หญิงนั้นไม่แตกต่างกัน (บางทีเด็กผู้หญิงได้คะแนนดีกว่าด้วยซ้ำ)

 

จึงเกิดคำถามว่า…ความแตกต่างของคะแนนเลขนี้เป็นความแตกต่างของความสามารถทางความคิดจริง ๆ หรือเป็นผลมาจากความคิด ความเชื่อ ความคาดหวังทางสังคม

 

นักจิตวิทยาจึงทดลองให้นักศึกษาชายหญิงมาลองทำข้อสอบเลข โดยนักจิตวิทยาบอกกลุ่มนักศึกษาชายหญิงกลุ่มหนึ่งว่า โดยทั่วไปผู้ชายผู้หญิงจะทำคะแนนในข้อสอบนี้ได้ไม่เท่ากัน แต่นักจิตวิทยาบอกนักศึกษาชายหญิงอีกกลุ่มหนึ่งว่า โดยทั่วไปผู้ชายผู้หญิงได้คะแนนในข้อสอบนี้ไม่ต่างกัน ในความเป็นจริงแล้วข้อสอบเลขทั้งสองชุดนั้น เป็นข้อสอบชุดเดียวกัน แต่ปรากฏว่านักศึกษาหญิงที่ในกลุ่มแรกถูกคุกคามจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่เก่งเลข จนทำคะแนนได้น้อยกว่าเด็กผู้หญิงในกลุ่มที่สองตามความเชื่อนั้นจริง ๆ ในขณะที่นักศึกษาหญิงในกลุ่มที่สองไม่รู้สึกถูกคุกคามและได้คะแนนไม่แตกต่างจากนักศึกษาชาย แสดงให้เห็นว่าความแตกต่างของคะแนนชายหญิงไม่ได้เป็นเพราะความแตกต่างของความสามารถ แต่เป็นเพราะผู้หญิงต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันและคุกคามมากกว่าเมื่อต้องลงมือทำข้อสอบในวิชาที่สังคมมองว่าผู้หญิงไม่เก่งหรือไม่มีความสามารถ

 

ในทางตรงกันข้ามผู้ชายก็สามารถประสบปัญหาแบบเดียวกันได้เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีภาพเหมารวมว่าผู้ชายทำได้ไม่ดี เช่น เมื่อต้องรับฟังและทำความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ดังนั้น ขอให้คิดไว้เสมอว่า ก่อนที่เราจะพูด แซว หรือแม้แต่ชมใคร (แม้กระทั่งแซวหรือชมตัวเอง) เกี่ยวกับความเชื่อของภาพเหมารวมเหล่านี้ เช่น “ปล่อยให้พวกผู้ชายเขาคิดเลขกันไปเถอะ” หรือ “เป็นผู้หญิงที่คิดเลขเก่งจังนะ” เรากำลังอาจจะเผยแพร่ภาพเหมารวมผิด ๆ เกี่ยวกับคนกลุ่มต่าง ๆ จนกลายเป็นสถานการณ์ที่คุกคามให้เกิดความกดดัน จนคนกลุ่มนั้นไม่สามารถที่จะแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่

 

ถ้าจะให้ดีขอให้ชื่มชมกันที่พฤติกรรมโดยไม่ต้องเอาเรื่องเพศ เชื้อชาติ หรือกลุ่มสังคมของคน ๆ นั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จิตวิทยากับเทคนิคการจูงใจ

 

การที่เราอยู่ในสังคม คงไม่มีใครปฏิเสธว่าบุคคลรอบข้างเรามีผลต่อการแสดงออกหรือพฤติกรรมของเรา ในขณะเดียวกันตัวของเราก็มีผลต่อการแสดงออกหรือพฤติกรรมของผู้อื่น

 

เทคนิคหนึ่งที่นักจิตวิทยาสังคมศึกษาเกี่ยวกับการมีอิทธิพลทางสังคม คือ “เทคนิคการขอน้อยก่อนแล้วขอมากทีหลัง” (foot-in-the-door technique, Freedman & Fraser, 1966) ตามพจนานุกรมศัพท์จิตวิทยาของราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “กลวิธีทางจิตวิทยาสังคม ในการเริ่มต้นการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพียงเล็กน้อยก่อน แล้วภายหลังจึงขอมากขึ้นกว่าเก่าพอประมาณ การขอครั้งหลังนี้มีโอกาสจะได้รับการช่วยเหลือมากกว่าการขอมากครั้งแรกเพียงครั้งเดียว”

 

เมื่อพิจารณาจากความหมายของเทคนิคการขอน้อยก่อนแล้วขอมากทีหลัง จะเห็นได้ว่า มีผู้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งที่รู้ตัวหรืออาจไม่รู้ตัวก็ตาม เช่น ตามบูธแนะนำสินค้าตามห้างทั่วๆ ไป มักมีผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะประเภทอาหารมานำเสนอให้ลองชิม เมื่อผู้บริโภคชิมอาหารไปแล้ว เปรียบเหมือนการขอน้อย ต่อมาก็ไม่ยากนักที่ผู้บริโภคจะซื้อผลิตภัณฑ์อาหารนั้นตามมา

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ การที่มีผู้เสนอขายสินค้าให้เรา เช่น เสื้อพยุงหลัง โดยให้เราสามารถทดลองใช้ก่อนสัก 30 นาที และในระหว่างลองถ้าผู้ขายสามารถรู้ความต้องการของลูกค้า ก็จะสามารถพูดในสิ่งที่ลูกค้าขาดหรือต้องการได้ยิน ยิ่งเป็นการง่ายที่ลูกค้าผู้นั้นจะตกหลุมเทคนิคการขอน้อยก่อนแล้วขอมากทีหลัง นั่นคือ ตกลงซื้อผลิตภัณฑ์ในที่สุด

 

หากจะถามว่าแล้วมีวิธีเอาตัวรอดจากเทคนิคนี้อย่างไร คำแนะนำก็คือ เราต้องรู้จักปฏิเสธหรือกล้ายืนหยัดในสิทธิของตนเอง เช่น บอกว่าขอคิดดูก่อน หรือรู้จักเจรจาต่อรอง เช่น บอกว่า ราคาไม่ใช่น้อย ๆ ขอเวลาคิดและตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภค หรือบางท่านแนะนำให้ปฏิเสธการขอตั้งแต่ครั้งแรกเลย

 

อีกเทคนิคหนึ่งที่มีผู้ใช้กันมากทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม คือ “เทคนิคการขอมากก่อนแล้วขอน้อยทีหลัง” (door-in-the-face technique; Cialdini et al., 1975) ตามพจนานุกรมศัพท์จิตวิทยาของราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “กลวิธีทางจิตวิทยาสังคม ในการเริ่มต้นด้วยการขอความช่วยเหลือจำนวนมากจากผู้อื่นก่อน ก็จะถูกปฏิเสธ จากนั้นผู้ขอจึงขอน้อยลงกว่าเก่าพอประมาณตามหลังทันที การขอครั้งหลังมีโอกาสจะได้รับการช่วยเหลือมากกว่าการขอครั้งหลังเพียงครั้งเดียว”

 

เทคนิคการขอมากก่อนแล้วขอน้อยทีหลังนี้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ขายเสนอราคาของที่จะขายในราคาที่สูง ผู้บริโภคไม่ตกลง ทันใดนั้นผู้ขายก็ลดราคาของลงซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อจะตกลงที่จะซื้อ หรือในทางกลับกันเมื่อผู้ซื้อต่อรองราคากับผู้ขายโดยต่อราคาลดลงมาก ในเบื้องต้นผู้ขายอาจไม่ตกลง ทันใดนั้นผู้ซื้อจึงเสนอราคาใหม่ที่ไม่ลดลงมากเท่ากับราคาที่เสนอซื้อในครั้งแรก ผู้ขายอาจตกลงขายให้ในราคาที่ขอลดน้อยลงกว่าครั้งแรก

 

เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะสำหรับเทคนิคทั้งสองประการที่อาจมีอิทธิพลต่อเราบ้างไม่มากก็น้อย ท่านผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือถ้าท่านผู้อ่านมีตัวอย่างอื่นๆ ก็ช่วยแบ่งปันความรู้กันได้ค่ะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Cialdini, R. B., Vincent, J. E., Lewis, S. K., Catalan, J., Wheeler, D., & Darby, B. L. (1975). Reciprocal concessions procedure for inducing compliance: The door-in-the-face technique. Journal of Personality and Social Psychology, 31, 206-215.

 

Freedman, J. L., & Fraser, S. C. (1966). Compliance without pressure: The foot-in-the-door technique. Journal of Personality and Social Psychology, 4(2), 195-202.

 

ภาพจาก https://pixabay.com/

 

 


 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รักษารักทางไกลให้หวานชื่น

 

มีหลายคนบอกว่า “รักแท้แพ้ระยะทาง” ยิ่งห่างไกลกันยิ่งทำให้ชีวิตคู่มีความเสี่ยงที่จะเลิกราและสิ้นสุดได้โดยง่าย หลาย ๆ คนจึงวิตกกังวลว่า หากมีคู่แล้วต้องอยู่ห่างกัน เราจะต้องเลิกรากันในที่สุด ความเสียใจก็ต้องเกิด และเป็นที่แน่นอนว่าทุกคนไม่อยากพบเจอกับความเสียใจ ความเศร้าและความทุกข์

 

ความไม่อยากนี้อาจนำไปสู่ความวิตกกังวลในคนที่อาจต้องมี “ความรักระยะไกล” หรือที่เรียกว่า “Long Distance Relationship (LDR)” และเมื่อคนเราวิตกกังวล ก็จะนำมาสู่การตั้งคำถามที่วกวนในหัวของเราเองว่า “เราหรือเขาที่จะเป็นฝ่ายเจอคนใหม่?” “แฟนของเราจะไปเจอคนใหม่ไหม?” หรือ “จะมีผู้หญิงหรือผู้ชายคนใหม่เข้ามาหรือเปล่า?”

 

เพียงแค่คิดความทุกข์ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

 

คำถามที่น่าสนใจ คือ คนที่มีความรักระยะไกลนั้นแท้จริงแล้วจะต้องประสบปัญหาทุกคู่หรือไม่? และทุกคู่จะต้องเลิกรากันไปในที่สุดหรือไม่?

 

ในความเป็นจริงเรายังไม่สามารถสรุปได้เลยว่า การมีความรักระยะไกลจะทำให้ทุกคู่ที่มีความรักแบบนี้ต้องจบความสัมพันธ์ด้วยการเลิกรากัน แม้กระทั่งในงานวิจัยเองก็พบว่า การมีความรักระยะไกลอาจทำให้คู่รักเกิดความเหงาและความว้าเหว่ ทว่าการมีรักระยะไกลไม่ได้เป็นการประกันว่า คู่รักระยะไกลนั้นจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีและจบลงด้วยความเศร้า ในทางกลับกันคู่รักเหล่านี้กลับรู้สึกว่า ต่างคนต่างมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นไม่ต่างจากคู่รักที่อยู่ด้วยกันเลย พวกเขากลับรู้สึกยิ่งมีความคิดถึงและผูกพัน อยากที่จะมีการสื่อสารที่มากขึ้นกับคู่รัก และมีความพึงพอใจในชีวิตคู่เช่นกัน

 

อาจเป็นไปได้ที่ว่าการที่คนเรามีรักระยะไกล ทำให้เรามีความรู้สึกอยากใกล้ชิดคนรักของเรามากยิ่งขึ้น เราจึงพยายามหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามที่จะติดต่อสื่อสารและพูดคุยกัน การไปมาหาสู่กันให้บ่อยครั้งมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมไปถึงการแสดงความเอาใจใส่ต่อกัน ซึ่งหากจะพูดถึงวิธีการรักษาความสัมพันธ์ของรักระยะไกลให้หวานชื่นแล้วมีวิธีการหลายวิธีด้วยกัน

 

สิ่งแรกที่คู่รักระยะไกลควรทำ ก็คือการพยายามติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ

 

อย่าให้ระยะทางเป็นอุปสรรคในการที่เราจะติดต่อและพูดคุยกับคนรัก การพูดคุยกันถามสารทุกข์สุกดิบช่วยให้คู่รักไม่รู้สึกห่างเหินกันจนเกินไป สิ่งสำคัญของการสื่อสารคือ พยายามพูดคุยเรื่องทางบวก เรื่องที่สบายใจ จะช่วยให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกสบายใจและมีความสุข ความสัมพันธ์จะราบรื่น อาจมีการแลกเปลี่ยนปัญหากันบ้าง เล่าเรื่องราวที่แย่บ้างก็จะช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้นไปอีก

 

ซึ่งวิธีการที่จะช่วยให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น นอกจากจะพูดคุยกัน ต่างฝ่ายควรจะเป็นผู้ฟังที่ดี

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่คนรักมีปัญหาและทุกข์ใจ การฟังถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนรักรู้สึกมีที่พึ่งทางใจ มีคนที่รับฟังไม่ว่าเขาจะทุกข์ใจ ดีใจ หรือเสียใจ คนรักสามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงของเขาได้ เหล่านี้จะยิ่งช่วยให้ความสัมพันธ์นั้นแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

 

ต่อจากการเป็นผู้รับฟังที่ดี ต้องเป็นคนที่คอยให้กำลังใจคนรักเวลาที่คนรักมีปัญหา

 

สิ่งที่พึงระลึกไว้เสมอคือ คู่รักของเราก็คือมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งที่มีรัก โลภ โกรธ หลง มีความสุขและมีความทุกข์ได้เช่นเดียวกับตัวเราเอง ตัวเราก็มีสุขและทุกข์ มีรัก โลภ โกรธ และหลง และมีความคาดหวังจากคนรักว่า คนรักจะเข้าใจ ปลอบโยนและให้กำลังใจเวลาที่เรามีปัญหา สิ่งนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่คนรักของเราคาดหวัง เขาเองก็คาดหวังที่จะมีคนที่คอยให้กำลังใจและพร้อมที่จะเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเป็น ไม่ต่างกัน

 

ประการต่อมาคือ หากคนรักของเรามีความจำเป็นที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ เราควรเป็นบุคคลแรกที่เขานึกถึง

 

ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่เราคอยให้กำลังใจ เข้าอกเข้าใจและให้ความช่วยเหลือเขาทุกครั้งในเวลาที่เขาต้องการ

 

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การแสดงออกซึ่งความรักที่มีต่อคนรักด้วยการพูดและการกระทำ

 

การบอกรักคนรักเป็นประจำก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระยะไกลยังคงอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้พบเจอกันทุกวัน

 

ประการที่หกคือ การไปมาหาสู่คนรักอย่างสม่ำเสมอหรือเมื่อมีเวลา เช่น ไปมาหาสู่กันทุกเดือน หรือทุกครั้งเมื่อมีโอกาส

 

สิ่งสำคัญต่อมาคือ ควรหากิจกรรมทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการใช้เวลาอย่างมีคุณค่าร่วมกันให้มากที่สุด ทำให้บรรยากาศของความสัมพันธ์เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความทรงจำต่าง ๆ ที่ดี การที่ทำให้ความสัมพันธ์เต็มไปด้วยบรรยากาศที่มีความสุขจะทำให้คู่รักของเราชื่นชอบและรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เจอกับเรา

 

ประการสำคัญที่สุดคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้แก่คนรักและแสดงความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนรักของเราเอง

 

ความหวาดระแวงอาจมีอยู่ในทุกคน แต่สิ่งที่สำคัญคือ อย่าให้ความหวาดระแวงมาทำร้ายและทำลายความสัมพันธ์ของเรา เพราะหากหวาดระแวงมากเกินไปจะทำให้เราเริ่มทำตัวเป็นพนักงานสอบสวนที่คอยสอบสวนคู่รักของเราตลอดเวลาว่า เขาไปไหน ทำอะไร อยู่กับใคร กลับเมื่อไหร่หรืองานเสร็จเมื่อไหร่ คำถามเหล่านี้หากใช้บ่อยเกินไปนอกจากจะสร้างความรำคาญแก่คนรักแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งที่ค่อย ๆ เป็นตัวบั่นทอนความสัมพันธ์ของเราเอง

 

ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ การสอบสวนและการสอบถามเป็นการสื่อถึง ความไม่เชื่อใจของเราที่มีต่อคนรัก สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่จุดชนวนความสัมพันธ์ในทางลบให้เพิ่มมากขึ้น และหากคนรักของเรารำคาญมากขึ้นเนื่องจากการสอบสวนของเรามากเกินไป ก็อาจทำให้เขาเลือกวิธีที่จะหลีกเลี่ยงการโดนสอบสวนและต่อว่าโดยการโกหก และเมื่อโกหกเพราะต้องการหลีกเลี่ยงเกิดขึ้นบ่อยเข้า ก็จะทำให้เกิดความเคยชิน และจากความเคยชินจะทำให้โกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งจับได้ว่าฝ่ายหนึ่งโกหก คงไม่ต้องบอกเลยว่าวงจรการทะเลาะเบาะแว้ง การหึงหวง และบรรยากาศทางลบในความสัมพันธ์จะเพิ่มขึ้นทวีคูณ และสุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจและการเลิกราในที่สุด

 

อาจไม่ง่ายสำหรับคนที่มีรักระยะไกล แต่ก็ไม่ยากจนทำไม่ได้ หากเราคิดว่าคุ้มค่าพอกับการที่เราจะรักษาคนที่เรารักและคนที่รักเราด้วยความจริงใจ ก็คงไม่เสียหายจริงไหมคะ…

 

 

ภาพจาก https://www.pexels.com/

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย