Flower

 

วิสัยทัศน์


 

  • สถาบันการศึกษาทางชั้นนำด้านองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านจิตวิทยาเพื่อการพัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืน

 

พันธกิจ


 

  1. จัดการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานระดับสากล
  2. สร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเพื่อชี้นำสุขภาวะ
  3. ให้บริการเชิงวิชาการและวิชาชีพทางจิตวิทยาเพื่อส่งเสริมสุขภาวะแก่บุคคลและสังคม

 

ค่านิยมองค์กร : PSYCHE


 

  • Performance excellence

ทำงานอย่างมุ่งเป้า มุ่งมั่นให้ได้ผลงานที่เป็นเลิศ ตัดสินใจโดยอาศัยเหตุผลและข้อมูล มีความยืดหยุ่นในการทำงาน มีจิตสำนึกในการบริการ

  • SYnergy

มีความไว้วางใจต่อกัน ให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกองค์กร

  • Continuous learning & innovation

พัฒนาตนเอง ยอมรับวิธีการ แนวคิด หรือเทคโนโลยีใหม่ที่ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน แบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม

  • Honesty system

ซื่อสัตย์สุจริต มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีจรรยาบรรณในการทำงาน เคารพความเห็นที่แตกต่าง ให้เกียรติและปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม

  • social Engagement

คำนึงถึงการสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความเต็มใจในการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม

 

 

สมรรถนะหลัก :


 

ความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ทางจิตวิทยา โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสุขภาวะ (well-being) ทั้งในด้าน Promotion, Prevention และ Intervention

 

 

คติพจน์


 

 

“สร้างวิชาการให้กล้าแกร่ง สืบสานศาสตร์ให้งอกงาม
มุ่งรับผิดชอบต่อสังคม ดำเนินงานในวิถีแห่งธรรม”

 

ประวัติคณะ

 

คณะจิตวิทยา ได้จัดตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะจิตวิทยา เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๙ และประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๙ นับเป็นคณะที่ ๑๘ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาค้นคว้า และสร้างองค์ความรู้ทางจิตวิทยาในลักษณะศาสตร์บริสุทธิ์ และศาสตร์ประยุกต์โดยเน้น การวิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาทางตะวันออก ตะวันตก และการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม

 

การศึกษาวิชาจิตวิทยาได้เริ่มขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหลักสูตรครุศาสตร์ ตั้งแต่ครั้งเป็นแผนกครุศาสตร์ สังกัดคณะอักษรศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คณะครุศาสตร์ได้รับการสถาปนาเป็นคณะ ซึ่งในขณะนั้นการเรียนการสอนจิตวิทยาอยู่ในความรับผิดชอบของแผนกวิจัยการศึกษา และในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เริ่มมีการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและแนะแนว การเรียนการสอนและการวิจัยทางจิตวิทยาได้พัฒนาขึ้นมา อย่างรวดเร็วโดยมีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ จึงได้มีการจัดตั้งแผนกวิชาจิตวิทยาขึ้นเพื่อรับผิดชอบการสอนในสาขาวิชา จิตวิทยาแขนงต่างๆ สำหรับนิสิตปริญญาตรี โท และเอกซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของคณะครุศาสตร์ ตลอดจนรับผิดชอบการให้บริการวิชาจิตวิทยา ในหมวดการศึกษาทั่วไป และหมวดวิชาเลือกเสรี สำหรับนิสิตคณะต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จากความต้องการให้มีการศึกษาค้นคว้า วิจัย และผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาต่าง ๆ ทางจิตวิทยาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงได้มีการเปิดสอน หลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา และเปิดสอนเพิ่มอีก ๒ สาขาวิชาในปี ๒๕๒๙ คือ สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม และสาขาวิชา จิตวิทยาพัฒนาการ เพื่อให้มีการศึกษาค้นคว้า วิจัย และผลิตบัณฑิต ครอบคลุมวิชาต่างๆ ทางจิตวิทยาอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น อันเป็นการสนองตอบต่อความต้องการในการพัฒนาศาสตร์ทางจิตวิทยาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

นับตั้งแต่คณะจิตวิทยาได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ คณะได้ดำเนินการเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษา ๓ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา สาขาวิชาจิตวิทยาสังคมและสาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ ส่วนในระดับปริญญาบัณฑิต คณะจิตวิทยาได้เปิดสอน วิชาในระดับปริญญาตรี จำนวน ๔๕ วิชา เพื่อบริการให้แก่นิสิตคณะต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งเปิดโปรแกรมวิชาโทสำหรับนิสิต ต่างคณะ ๔ โปรแกรม ได้แก่ โปรแกรมวิชาโททางจิตวิทยา จิตวิทยาการทำงาน จิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาการปรึกษา

 

จวบจนกระทั่งปี ๒๕๔๔ คณะจิตวิทยาได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาจิตวิทยา อุตสาหกรรมและองค์การ และหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาวิชาจิตวิทยา ในปี ๒๕๔๕ คณะได้เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาบัณฑิต รับนิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาจิตวิทยา เป็นรุ่นแรก เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคมที่เล็งเห็นความสำคัญของนักจิตวิทยามากขึ้น ในปี ๒๕๓๗ คณะจิตวิทยาได้เปิดให้มีการสอนหลักสูตรนอกเวลา สำหรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาขึ้น ในสาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ นอกจากนี้ในปี ๒๕๔๘ ได้เปิดหลักสูตรนอกเวลาสาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรม และองค์การ ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ต้องการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา

 

ในปี ๒๕๕๓ คณะจิตวิทยาได้ดำเนินปรับหลักสูตรและเปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต และ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาประยุกต์ รวมทั้งเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา และเปิดรับนิสิตรุ่นแรกในปีการศึกษา ๒๕๕๓ เช่นกัน เพื่อให้สอดรับต่อวิสัยทัศน์ที่ว่า จุฬามหาวิทยาลัยจะเป็นเสาหลัก ของแผ่นดิน ด้วยยุทธศาสตร์ “ยอมรับ” การเป็นปัญญาแห่งแผ่นดิน รับผิดชอบและนำความรู้สู่สังคม ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยบูรณาการ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การวิจัยและกิจการนิสิตเพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ตลอดจนสร้างและนำเสนอ ผลงานวิชาการที่สามารถชี้นำการพัฒนาและการแก้ปัญหาของสังคมไทย และ ยุทธศาสตร์ “ก้าวหน้า” เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลก มีมาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยการผลิตบัณฑิต ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการที่เป็นที่ยอมรับ ในระดับนานาชาติ