เล่าให้กันฟัง EP.12

11 May 2022

วรกัญ รัตนพันธ์

กิจกรรมยามว่างที่ทำแล้วสบายใจ คืออะไรกันคะ?

“ดูหนัง” คงเป็นหนึ่งในคำตอบต้น ๆ ที่เรามักจะได้ยินเป็นแน่
วันนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้วิจัยที่มีความสนใจในภาพยนตร์และยังมีโอกาสนำภาพยนตร์มาเป็นสื่อในการดูแลจิตใจผ่านงานวิจัยด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ อยากให้แนะนำตัวสำหรับผู้อ่านค่ะ
– สวัสดีค่ะ ชื่อนก ชิดชนก จินตนาวุฒิค่ะ จบปริญญาโทจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ปัจจุบันทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาอิสระ

เท่าที่ทราบ นกสนใจด้านภาพยนตร์
– ต้องบอกว่า ส่วนตัวการดูหนังเป็นกิจกรรมที่ใช้บ่อยเพื่อให้ความบันเทิง ผ่อนคลาย เราชอบแนว Thriller สืบสวน ฆาตกรรม สยองขวัญ หรือ แนวAnimation ก็ชอบนะคะ มักจะให้ความสำคัญที่ plot, production การตัดต่อ การถ่ายทำ หนังแต่ละแบบให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น Animation เราชอบภาพน่ารัก ลายเส้นสวย ส่วน Thriller ให้ความรู้สึกตื่นเต้น ลุ้นระทึก ได้สัมผัสอารมณ์ที่มักไม่ค่อยเจอในชีวิตประจำวัน คาดเดาไม่ได้ ได้ติดตามต่อ เพราะหนังประเภทนี้จะมีจุดหักมุม ชวนให้เราหลุดเข้าไปในนั้นได้ การวางเรื่องมีความสมเหตุสมผล ถึงจะรู้ว่าในโลกจริงไม่มีแต่มีที่มาที่ไป

อยากให้นกเล่าจุดเริ่มต้นที่สนใจงานภาพยนตร์กับการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
– ตอนช่วงม.ปลายเรียนสายคอมพิวเตอร์ และช่วงเรียนป.ตรี ได้มีโอกาสทำหนังสั้นส่งประกวดกับเพื่อน ๆ เป็นช่วงแรกของการเข้าไปรู้จักโลกของหนังมากขึ้น ทำให้การดูหนังกลายเป็นกิจกรรมที่ชอบ ที่ผ่านมาเราได้ยินดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด พอมาเรียนจิตวิทยาการปรึกษาเราอยากรู้ว่าแล้วภาพยนตร์บำบัดมีไหม เลยมีโอกาสได้ศึกษางานด้านนี้ต่อยอด

งานวิจัยกลุ่มบำบัดโดยใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อเป็นอย่างไร
– เป็นความตั้งใจเดิมอยู่แล้วค่ะ เราเรียนจิตวิทยาการปรึกษาและทำกลุ่มการปรึกษามาอยู่แล้ว พอดีได้มีโอกาสเจออาจารย์ด้าน Media psychology เลยยิ่งสนใจศึกษางานในต่างประเทศมากขึ้น พบว่า งานในต่างประเทศมักใช้เครื่องมือนี้กับผู้ที่ได้รับ การวินิจฉัยแล้ว เช่น มีความบกพร่องทางด้านอารมณ์ ใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อในการทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา จิตแพทย์ ให้ผู้รับบริการได้มีโอกาสพูดคุยถึงตัวละคร ลดการต่อต้านหรือการป้องกันตัวเองของผู้รับบริการ ค่อยๆ เชื่อมโยงสู่ตัวเขาและเป็น role model ที่ผ่านการคัดเลือกวิธีการแก้ปัญหาของตัวละครด้วยเช่นกัน

งานวิจัยครั้งนี้ ทำเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) เราใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อในกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีพื้นที่ปลอดภัย ได้รับการ support ค่อย ๆ สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง มีมุมมองต่อโลกที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น บางเรื่องทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของช่วงวัยรุ่น การก้าวพ้นช่วงวัย ตัวละครจะต้องเจอกับประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้เขาโตขึ้น ในกลุ่มจะค่อย ๆ เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละคร แล้วนำสิ่งที่ได้มาแลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่มต่อ

สิ่งที่น่าสนใจในงานนี้คืออะไร
– จากผลการวิจัย ทำให้เห็นว่า การทำกลุ่มการปรึกษาเป็นสิ่งที่น่าสนใจทั้งในรูปแบบออนไลน์และแบบเจอตัว เป็นโอกาสในการสำรวจตนเอง การนำภาพยนตร์มาใช้ช่วยสร้างพื้นที่เยียวยาอีกช่องทางหนึ่ง ในอนาคตหากมี guidline งานด้านนี้มากขึ้น จะเป็นเครื่อมือที่เป็นประโยชน์ในการสำรวจและสะท้อนตนเองได้ดีด้วยค่ะ

มีอะไรอยากฝากถึงผู้อ่าน
– ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องเป็นมากกว่าสื่อที่ให้ความเพลิดเพลิน สามารถสะท้อนมุมมองประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับตัวเราเรียนรู้ได้ แต่การดูภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงก็ยังเป็นพื้นที่ที่ช่วยเยียวยาใจเราได้เหมือนกันนะ
บางคนอาจจะเลือกดูหนังเป็นเพื่อนแก้เหงา
บางคนเลือกดูหนังเพราะชื่นชอบตัวละคร
บางคนเลือกดูหนังเพราะเป็นตัวแทนชีวิต
หรือบางคนดูหนังเพียงแค่อยากดู
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราเชื่อว่าการที่ได้ตัดสินใจใช้เวลาทำในสิ่งที่ชอบและดีต่อใจก็มีคุณค่ามากเพียงพอแล้ว

 


ผู้สัมภาษณ์: วรกัญ 
ภาพประกอบ: ชิดชนก

 


 

แชร์คอนเท็นต์นี้