ความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค (Adversity quotient: AQ) เป็นแนวคิดที่ถูกเผยแพร่ในปี 1997 โดย Paul Gordon Stoltz ผู้เขียนหนังสือ “Adversity Quotient: Turning Obstacles into Opportunities”
Stoltz ได้นิยาม AQ ไว้ว่า เป็นความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรคและความยากลำบาก หรือความฉลาดในการฝ่าวิกฤต สามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทายในชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำนายการประสบความสำเร็จในชีวิต นอกเหนือจากความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)
Stoltz (2000) พัฒนามาตรวัดความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค (Adversity Response Profile; ARP) แบ่งการวัดออกเป็น 4 มิติ (CO2RE) ดังนี้
1. ด้านการควบคุมสถานการณ์ (C: Control)
หมายถึงความสามารถในการตระหนักรู้ว่าตนสามารถจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บุคคลที่มีลักษณะด้านนี้สูงเป็นบุคคลที่จะคิดเสมอว่าตนสามารถควบคุมสถานการณ์ในชีวิตได้ เชื่อว่าทุกปัญหามีทางแก้ไข มีความคิดเชิงรุกต่อปัญหา ไม่ย่อท้อ มีความหนักแน่น ไม่ลดละความตั้งใจ มีความกระฉับกระเฉงในการเผชิญปัญหาและพยายามหาทางออกอยู่เสมอ ส่วนบุคคลที่มีลักษณะด้านนี้ต่ำเป็นผู้รับรู้ว่าปัญหาอุปสรรคแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำลายความรู้สึกที่มีพลังอำนาจให้หมดไป เพิกเฉยและเย็นชาต่อปัญหา ไม่ดิ้นรน ไม่กระตือรือร้น
2. ด้านการรับรู้สาเหตุและความรับผิดชอบต่อปัญหา (O2: Origin and Ownership)
หมายถึง การวิเคราะห์ค้นหาสาเหตุของปัญหาว่าใครหรืออะไรคือสาเหตุ และตระหนักว่าเป็นความรับผิดชอบของตนมากน้อยเพียงใด เมื่อเป็นปัญหาของตนก็จะต้องหาทางแก้ไขให้ได้ ไม่ผลักภาระรับผิดชอบไปให้คนอื่น พิจารณาปัญหาจากตนเองและปัจจัยภายนอก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาด ตำหนิหรือโทษตนเองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การเสียใจและสำนึก ซึ่งถือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพลังหากนำมาใช้อย่างเหมาะสม เพราะจะนำมาซึ่งการปรับปรุงแก้ไข (แต่หากตำหนิตนเองมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดการเสียขวัญและทำลายพลังงาน ความหวัง และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย)
3. ด้านการรับรู้การแผ่ขยาย (R: Reach)
หมายถึงการรับรู้ของบุคคลว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นส่งผลหรือแผ่ขยายไปสู่ด้านอื่นของชีวิตมากน้อยเพียงใด ผู้ที่มีความสามารถด้านนี้สูงจะรับรู้ว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นส่งผลจำเพาะและจำกัด บุคคลจะแยกเรื่องเลวร้ายออกไปจากส่วนอื่นของชีวิต ทำให้สามารถจัดการกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ มองว่าเรื่องร้ายๆ ไม่ใช่ความล้มเหลว ส่วนผู้ที่มีความสามารถด้านนี้ต่ำจะรับรู้ว่าอุปสรรคจะส่งผลแผ่ขยายไปครอบคลุมเรื่องต่างๆ ในชีวิต ขณะที่มองว่าสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่จำกัดและมีความจำเพาะ ไม่แผ่ขยายไปด้านอื่น
4. ด้านการรับรู้ความคงทนของอุปสรรค (E: Endurance)
หมายถึง การรับรู้ว่าอุปสรรคและสาเหตุของอุปสรรคนั้นจะคงอยู่นานเพียงใด ผู้ที่มีด้านนี้สูงจะมองว่าความสำเร็จเป็นสิ่งที่คงอยู่นาน และมองว่าอุปสรรคและสาเหตุของอุปสรรคเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่คิดว่าเกิดซ้ำอีก ส่งผลให้บุคคลมองโลกในแง่ดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาโดยไม่ย่อท้อ ส่วนผู้ที่มีด้านนี้ต่ำจะรุ้สึกว่าอุปสรรคและสาเหตุของมันคงอยู่เป็นเวลานาน ส่วนเหตุการณ์ที่ดีนั้นก็มองว่าเป็นเรื่องชั่วคราว ทำให้บุคคลมีแนวโน้มที่จะไม่กระทำการใดๆ เพื่อแก้ปัญหาที่ตนมองว่าไม่มีทางแก้ไขได้
การแบ่งประเภทของอุปสรรคและความยากลำบากในชีวิต
Stoltz เสนอว่าอุปสรรค ความยากลำบากและความทุกข์ในชีวิตของคนเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ
- อุปสรรคความยากลำบากระดับสังคม คือ ความทุกที่เกิดขึ้นภายในสังคมที่เราอาศัยอยู่ เช่น กลัวความไม่ปลอดภัยจากอาชญากรรม ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย ความอบอุ่นในครอบครัว ความเสื่อมทางศีลธรรมของคนในสังคม และการขาดศรัทธาในขนบธรรมเนียม รวมถึงระบบการศึกษา
- อุปสรรคและความไม่มั่นคงในงาน คือ ความไม่มั่นคงด้านอาชีพการงาน คนส่วนใหญ่มักไม่ทุ่มเทในงานเพราะในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อผู้ปฏิบัติงานมาก ไม่ว่าจะเป็นการรื้อระบบ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน การลดขนาดจำนวนคน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีสมมติฐานว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพขององค์การ แต่กระทบกับการจ้างงานซึ่งถือเป็นความไม่มั่นคงสำหรับคนทำงาน
- อุปสรรคในระดับบุคคล บุคคลจะได้รับความทุกข์ยากเป็นลำดับขั้น เริ่มมาจากสังคม ที่ทำงาน และระดับบุคคลตามลำดับ บุคคลจะสะสมความเครียดเอาไว้ จากสถิติพบว่าเด็กอายุ 6 ขวบจะหัวเราะเฉลี่ยวันละ 300 ครั้ง แต่ผู้หญิงจะหัวเราะเฉลี่ยวันละ 17 ครั้งเท่านั้น บ่งชี้ว่าเราต้องพบกับอุปสรรคและต้องฝ่าฟันความยากลำบากเพิ่มขึ้นตามวัยและความรับผิดชอบ
เทคนิคการพัฒนาความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรค
หนทางในการพัฒนาความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าอุปสรรค ในลักษณะที่เรียกว่า the LEAD Sequence คือ
L = listen to your adversity response
บอกให้ตนเองรู้ว่าขณะนี้เกิดปัญหาหรืออุปสรรคใดขึ้นกับตนเอง และต้องตอบสนองต่ออุปสรรคนั้นอย่างไร
E = Explore all origins and ownership of the result
สำรวจว่าสิ่งใดคือต้นตอและสาเหตุของอุปสรรคที่เกิดขึ้น ระบุให้ชัดเจนว่าตนเองต้องทำสิ่งใดที่เฉพาะเจาะจงลงไปเพื่อให้สามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ตัดสินลงไปว่าสิ่งใดอยู่ในความรับผิดชอบ และสิ่งใดที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบหรือการตัดสินใจของเรา
A = Analyze the evidence
วิเคราะห์ให้เกิดความชัดเจน โดยการค้นหาหลักฐานหรือภาวะแวดล้อมมาสนับสนุนว่า สิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมีอะไรบ้าง อุปสรรคจะเข้ามาสู่ชีวิตอีกนานเท่าใด ทำอย่างไรจึงจะไม่ทำให้อุปสรรคหรือปัญหาอยู่ในชีวิตนานจนเกิดไป พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาด้วยศักยภาพของตนเอง
D = Do something
เลือกวิธีการและลงมือดำเนินการเพื่อให้อุปสรรคอยู่กับเราให้น้อยที่สุด ด้วยการหาข้อมูลที่จำเป็นและวิธีที่จะสามารถควบคุมไม่ให้อุปสรรคเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตเราเพิ่มเติม
ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์
“ความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค การมองโลกในแง่ดีกับความเครียดของนิสิตนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และ 4” โดย ชลธิชา ศรีรุ่งเรือง, ณัฐเสฐ คมวงศ์วิวัฒน์ และ พันธุ์ทิพย์ เปาทอง (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47186
“ความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการเผชิญปัญหาและฟันฝ่าอุปสรรค การสนับสนุนทางสังคม กับความเครียดในนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6” โดย รัชนู วรรณา, สกุลรัตน์ แสงจันทร์ และ สิรินาถ ชวาลตันติพิพัทธ์ (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47274
ภาพประกอบจาก http://www.josito.de/