ถึงแม้ว่าหลาย ๆ คนจะยอมรับว่า “จิตวิทยา” มีความสำคัญต่อนักกีฬาและการแข่งขันกีฬา แต่ก็อาจไม่เข้าใจว่า ที่ว่าสำคัญนั้นมันสำคัญอย่างไร และแท้จริงแล้วจิตวิทยามีอะไรบ้างที่จะช่วยให้นักกีฬาประสบความสำเร็จและมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วยกัน
ครั้งนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง “ทักษะทางจิตวิทยา” (mental skill) สำหรับนักกีฬาครับ
เมื่อพูดถึงกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาแล้ว การเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะทางกีฬา (sport skill) และความเข้าใจในเกมการแข่งขัน รวมทั้งการพัฒนาหรือรักษาสภาพร่างกายของตัวเอง ถือเป็นเรื่องปกติที่นักกีฬาทำอยู่ตลอดเวลาเพื่อเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน
ถึงแม้ว่านักกีฬาและโค้ชจะยอมรับว่า “จิตใจ” มีผลต่อการแข่งขันก็ตาม แต่มีเพียงบางคนที่จะรู้จักทักษะทางจิตวิทยา และอาจมีน้อยคนที่จะ “เรียนรู้และฝึกซ้อม” ทักษะทางจิตวิทยา ควบคู่กับทักษะทางกีฬา
ทักษะทางจิตวิทยาสำหรับนักกีฬามีหลากหลายครับ ไม่ได้เป็นแค่ทักษะสำหรับการแข่งขันเท่านั้น แต่เป็นทักษะสำหรับหลาย ๆ มิติของชีวิตนักกีฬาทีเดียว ตั้งแต่การฝึกซ้อม การแข่งขัน การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการปรับตัวเมื่อถึงเวลาเลิกอาชีพนักกีฬา
นักจิตวิทยาได้จัดกลุ่มทักษะทางจิตวิทยาเป็น 4 กลุ่ม คือ
- ทักษะพื้นฐาน
- ทักษะที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางกีฬา
- ทักษะที่จะช่วยให้นักกีฬาได้พัฒนาตัวเอง และ
- ทักษะการทำงานเป็นทีม
งานของนักจิตวิทยาในเรื่องนี้ คือ การช่วยให้นักกีฬาได้เรียนรู้ พัฒนา และฝึกฝน ทักษะทางจิตวิทยาเหล่านี้ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งขัน พร้อมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น นักกีฬาหลาย ๆ คนเมื่อพัฒนาทักษะทางจิตวิทยาในกิจกรรมกีฬาแล้ว ยังสามารถนำทักษะเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ได้ เช่น การเรียน การทำงาน ฯลฯ
มาดูกันครับว่า ทักษะทางจิตวิทยาแต่ละกลุ่มนั้น มีอะไรบ้าง และจะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
ทักษะพื้นฐาน
ทักษะพื้นฐาน (foundation skill) เป็นทักษะทางจิตวิทยาที่นักกีฬาและโค้ชทุกคนพึงมี ไม่ว่าจะเล่นกีฬาอะไร หรือลงแข่งขันในระดับอะไร ตัวอย่างของทักษะพื้นฐาน เช่น การสร้างแรงจูงใจมุ่งความเป็นเลิศ (achievement drive) ที่จะช่วยให้นักกีฬาทุ่มเทฝึกซ้อมทำงานหนัก และสามารถบริหารชีวิตของตัวเองให้จดจ่ออยู่กับการพัฒนาทักษะทางกีฬาของตัวเอง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง นักกีฬาอาจต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการตั้งเป้าหมาย การบริหารเวลาและการจัดลำดับความสำคัญ การวางแผน การวางกลยุทธ์ (สำหรับชีวิตประจำวัน) เพื่อพัฒนาทักษะการสร้างแรงจูงใจมุ่งความเป็นเลิศ ทักษะพื้นฐานอื่น ๆ เช่น การตระหนักรู้ตัว (self-awareness) การคิดให้เป็นประโยชน์ (productive thinking) การสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง (self-confidence) เป็นต้น
ทักษะที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางกีฬา
ทักษะกลุ่มที่จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาทักษะทางกีฬา (performance skill) นี้ เป็นทักษะที่เมื่อนักกีฬาเรียนรู้และฝึกฝนแล้ว จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาทักษะทางกีฬาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสามารถรีดเค้นผลงานในการแข่งขันได้ถึงระดับสูงสุด ทักษะกลุ่มนี้ เช่น ทักษะที่เกี่ยวกับกระบวนการทางปัญญาและการรับรู้ (perceptual-cognitive skill) ที่จะช่วยให้นักกีฬาสามารถ “เลือก” ประมวลข้อมูลที่สำคัญในการแข่งขัน และ “ตัด” ข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป อีกทักษะหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน คือ การจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า (attentional focus) หรือการสร้างสมาธิ นอกจากนั้น การกำกับอารมณ์และการบริหารพลังงาน (energy management) ยังเป็นอีกทักษะที่จำเป็นมากสำหรับการแข่งขัน เพราะการแข่งขันเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์รุนแรง ทั้งอารมณ์ทางบวกและอารมณ์ทางลบ นักกีฬาที่มีทักษะการกำกับอารมณ์และการบริหารพลังงานที่ดีนั้น จะสามารถกำหนดอารมณ์ของตัวเองให้อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการแข่งขันได้อย่างสม่ำเสมอ
ทักษะที่จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาตัวเอง
ทักษะที่จะช่วยให้นักกีฬาพัฒนาตัวเอง (personal development skill) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักกีฬาจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมและการแข่งขันโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น สำหรับนักกีฬาที่อยู่ในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กำลังหา “อัตลักษณ์” ของตัวเอง การเล่นกีฬาอาจช่วยพัฒนาทักษะที่เด็ก ๆ และวัยรุ่นจะแสวงหาและพัฒนาอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนของพวกเขาได้ (identity achievement) นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระดับใด การจัดการกับความคาดหวังของทั้งตนเองและผู้คนรอบข้าง รวมทั้งความสามารถที่จะรู้ว่าเมื่อประสบปัญหาหรือความยากลำบากแล้วจะหันหน้าไปขอความช่วยเหลือจากใครก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่านักกีฬาคนนั้นมีทักษะที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal competence) หรือไม่
ทักษะการทำงานเป็นทีม
ทักษะทางจิตวิทยาที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ทักษะการทำงานเป็นทีม (team skill) ไม่ว่าจะเล่นกีฬาที่ต้องแข่งขันเป็นทีมหรือไม่ นักกีฬาทุกคนอาจต้องทำงานร่วมกับโค้ช เพื่อนร่วมทีม นักกายภาพบำบัด หรือบุคคลอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น ทักษะการทำงานเป็นทีม เช่น การสื่อสาร (communication) ภาวะผู้นำ (leadership) การสร้างความมั่นใจให้กับทีม (team confidence) รวมถึงการสร้างความกลมเกลียวภายในทีม (cohesion) ย่อมเป็นทักษะที่สำคัญ ถ้านักกีฬาขาดทักษะเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะเล่นกีฬาที่แข่งขันคนเดียวก็ตาม ก็จะไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น (รวมทั้งนักจิตวิทยาด้วยในบางกรณี) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้นักกีฬาคนนั้นทำผลงานที่ยอดเยี่ยมได้
ท้ายสุดแล้ว อย่าลืมว่าทักษะทางจิตวิทยาเหล่านี้ คือ “ทักษะ” ที่นักกีฬาจะต้องเรียนรู้และฝึกฝน ไม่ต่างอะไรกับทักษะทางกีฬา บางทักษะอาจเรียนรู้ได้จากการฝึกซ้อมทักษะทางกีฬาทั่ว ๆ ไป แต่บางทักษะก็จำเป็นต้องมีการจัดสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ รวมทั้งการให้ผลป้อนกลับ (feedback) อย่างเหมาะสม การเรียนรู้จึงจะเกิดขึ้นได้ดี
บทความโดย
อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย