สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อเท่าทัน ป้องกัน และรับมือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ในยุคสังคมดิจิทัลอย่างมีสุขภาวะที่ดี
โดย โครงการ “Smarter Life by Psychology รู้จักเข้าใจ Cyberbullying” คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
Research Summary
การศึกษาความชุกของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และผลกระทบทางจิตใจของเหยื่อในประเทศไทย
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2567)
เก็บข้อมูลระหว่าง มี.ค. – พ.ค. 2567 (จำนวน 445 คน)
มิติผู้กระทำ
พฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมของผู้กระทำ ที่มีความชุกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
-
การล้อเลียนหรือปะทะคารม
-
การเฝ้าติดตามทางอินเทอร์เน็ต
-
การเผยแพร่ส่งต่อเรื่องน่าอับอาย
ผลเช่นนี้สะท้อนว่า การใช้ถ้อยคำในเชิงล้อเลียนหรือการปะทะคารมในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการใช้ภาษาในทางลบนั้นอาจทำได้ง่ายในโลกออนไลน์ ด้วยสภาวะนิรนามของผู้ใช้งาน กล่าวคือ ความรู้สึกว่าไม่ต้องระบุตัวตนในขณะที่ใช้งาน ทำให้บุคคลอาจมีความกล้าที่จะแสดงพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงหรือมีความสุดโต่งมากกว่าการทำพฤติกรรมในสถานการณ์แบบเผชิญหน้า
พื้นที่ออนไลน์แบบสาธารณะหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงอาจจำเป็นต้องตั้งข้อกำหนด หรือข้อบังคับเกี่ยวกับลักษณะถ้อยคำ หรือภาษาที่ใช้ เพื่อป้องปรามไม่ให้การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์เกิดขึ้น
เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยทางจิตวิทยาของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 185 คน ในการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า
-
การละเลยคุณธรรม การเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำนั้นเป็นสิ่งที่บุคคลอื่น ๆ ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ หรือพยายามหาข้ออ้างอื่น ๆ เพื่อให้เหตุผลว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
-
การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น การเข้าใจถึง ความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นในสถานการณ์ต่าง ๆ
ส่งผลต่อแนวโน้มการทำพฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์
สองปัจจัยนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงตัวชี้วัดในเชิงคุณธรรมและจริยธรรมส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่า หากทิศทางของสังคมหรือกลุ่มคนจำนวนมากในสังคม ไม่ยอมรับในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ก็อาจทำให้บุคคลที่มีเจตนาจะกระทำพฤติกรรมไม่สามารถจะหยิบใช้ข้ออ้างดังกล่าวมาเป็นเหตุผลในการกระทำของตนเอง จนอาจลดหรือล้มเลิกความคิดที่จะแสดงพฤติกรรมได้
มิติผู้ถูกกระทำ
พฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมของผู้ถูกกระทำ ที่มีความชุกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
-
การได้รับภาพล่อแหลม
-
การถูกล้อเลียนหรือปะทะคารม
-
การถูกก่อกวนคุกคาม
ผลเช่นนี้สะท้อนว่า การที่บุคคลเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ทั้งรูปโปรไฟล์ และข้อมูลเชิงความสัมพันธ์ อาจทำให้บุคคลตกเป็นเป้าหมายได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ การที่บุคคลสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์และสามารถส่งภาพต่าง ๆ ไปยังบุคคลอื่นได้ง่าย อาจเป็นการเอื้อต่อผู้กระทำที่มีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมกลั่นแกล้งเหล่านี้สามารถทำพฤติกรรมได้ง่ายมากขึ้น
เมื่อตรวจสอบอิทธิพลเชิงสาเหตุของการถูกกลั่นแกล้งในโลกออกไลน์ ต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความเครียด กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 คน ในการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า การถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์มีอิทธิพลต่อสุขภาวะทางจิตทั้งสามประการ ผลวิจัยในส่วนนี้ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลใจจิตของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกออนไลน์
การพัฒนาแนวทางดูแลใจจิต ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกออนไลน์มีการจัดการกับปัญหาทางจิตใจได้อย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
มิติผู้พบเห็นเหตุการณ์
พฤติกรรมกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมผู้พบเห็นเหตุการณ์ ที่มีความชุกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
-
การได้รับเรื่องตลกน่าอายของผู้อื่น
-
การพบเห็นผู้ถูกก่อกวนคุกคาม
-
การพบเห็นการเปิดเผยข้อมูลความลับของผู้อื่น
การที่ “การได้รับเรื่องที่น่าอับอายของผู้อื่น” เป็นพฤติกรรมการกลั่นแกล้งออนไลน์ที่บุคคลในฐานะผู้พบเห็นเหตุการณ์พบเจอมากที่สุด พฤติกรรมนี้อาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนดังในสังคมมากกว่าบุคคลอื่น เนื่องจากเนื้อหาในลักษณะนี้สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้งานออนไลน์ได้ดี และหากมองถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่ผ่านมาจะพบว่า การส่งต่อคลิปลับ แชทหลุด หรือสิ่งที่น่าอับอายของผู้ถูกกระทำนั้น เป็นสิ่งที่พบเห็นได้มาตั้งแต่อดีต เพียงแต่ปัจจุบัน การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ที่มีคุณสมบัติของการส่งต่อเนื้อหาข้อความหรือรูปภาพได้ในคราวละมาก ๆ ทำให้การแพร่กระจายของเนื้อหาในลักษณะนี้ทำได้ง่าย และขยายวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ในระยะหลัง วัฒนธรรมการแฉ การเปิดโปง การล่าแม่มด ยังเกิดขึ้นมากในโลกออนไลน์ การจับผิดบุคคล และเผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความอับอายให้กับบุคคลนั้นซ้ำ ๆ จึงเป็นสิ่งที่บุคคลสามารถพบเห็นได้ในชีวิตบ่อยขึ้น
การสร้างบรรทัดฐานให้สังคมและคนในสังคมมองเห็นว่า การส่งต่อเรื่องน่าอับอายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผิด อาจลดแนวโน้มที่จะเกิดพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ประเภทนี้ลงได้เช่นกัน
Episode 1 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: Introduction”
เรื่อง Cyberbullying เราพูดกันมานาน แต่ทั้งที่มีคนพูดเยอะ ปัญหาก็ยังคงไม่น้อยลง
เมื่อดูจากสถิติ กว่าร้อยละ 50 ของเด็กและเยาวชนไทยเคยเจอพฤติกรรมนี้ หรือร้อยละ 50 เคยตกเป็นเหยื่อ และตัวเลขเหล่านี้ไม่เคยลดลง
Cyberbullying สร้างผลกระทบในทุกระดับ
การรังแกในโลกออนไลน์พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงวัยที่ “เพื่อน”คือบุคคลสำคัญ ความสัมพันธ์กับเพื่อนไม่ว่าในโลกจริงหรือโลกออนไลน์ล้วนสร้างผลกระทบอย่างมาก เมื่อถูก Cyberbullying เด็กจะรู้สึกว่าตนไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ซึ่งก็ส่งผลต่อการที่เด็กจะรู้สึกยอมรับหรือไม่ยอมรับตนเองได้
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นเหยื่อของ Cyberbullying ก็มักจะเกิดความรู้สึกหรืออารมณ์ทางลบ ซึ่งมีด้วยกันหลายระดับ ตั้งแต่โกรธ โมโห และเกิดความรู้สึกคับข้องใจ จนถึงความคับแค้น และเกิดความคิดอยากเอาคืน
ในช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่เราอยากรู้อยากลอง การถูกรังแกในโลกออนไลน์ทำให้เรารู้สึกสั่นคลอนในใจของเราว่าวิธีคิดของเรา ความคิดเห็นของเรา มันแย่ถึงขนาดนั้นเลยหรือ จึงนำมาสู่ข้อความแห่งความเกลียดชังแทนที่จะเป็นข้อความของการยอมรับ ทำให้เกิดความรู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าจะหาทางออกทางใด และเด็กหลาย ๆ คน เมื่อเจอปัญหาก็มักจะกลัวไปก่อนแล้วว่าผู้ใหญ่จะตัดสินตน จึงอาจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในทางที่ไม่ถูกต้อง
สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ภาวะซึมเศร้าคือภาวะที่บุคคลรู้สึกโดดเดี่ยว ลำพัง จนถึงขั้นนำไปสู่ความคิดที่จะทำร้ายตนเอง
ถ้ามองผลกระทบในระดับสังคม ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying มักจะมีความรู้สึกปลีกตัว แปลกแยก และบุคคลรอบข้างเองก็อาจปลีกตัวจากผู้ที่ถูก Cyberbullying เช่นกัน ไม่อยากเข้าไปหรือไม่อยากทำอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะกลัวว่าตนเองจะถูกกระทำเหมือนกัน จึงเป็นไปได้ที่ความสัมพันธ์ของคนที่ถูกรังแกและคนรอบข้างจะแย่ลง
เหตุผลที่ Cyberbullying สามารถสร้างผลกระทบได้อย่างร้ายแรง
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์มีสิ่งที่เรียกว่า Digital footprint คือไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์แล้วจะลบเลือนออกไปได้ แม้ต้นทางจะลบออกไปแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีร่องรอยปรากฏเหลืออยู่
การรังแกทางโลกออนไลน์นั้นไม่มีพื้นที่จำกัด ทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่าคนที่กระทำหรือใคร จึงกล่าวได้ว่า “ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการตกเป็นเหยื่อ” และในงานวิจัยพบว่า การรังแกในโลกจริงและในโลกไซเบอร์มักจะมาคู่กัน บางทีเป็นคนกลุ่มเดียวกันด้วยซ้ำ
ในทางความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ ความรู้สึกคับแค้นใจอาจไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับตัวผู้กระทำที่ทำกับเขา แต่ยังขยายไปถึงคนแวดล้อมผู้กระทำด้วย ที่ไม่พยายามปกป้องเขา จนทำให้อารมณ์ทางลบนั้นถึงจุดที่ระเบิด และมีความคิดเหมารวมว่าทุกคนบนโลกนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับผู้ที่รังแกเขาใช่ไหม เพราะไม่มีใครช่วยเหลือเขาเลย
Cyberbullying จะสร้างผลที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น ถ้าเป็นการรังแกในลักษณะที่เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเรา และทำให้เราตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะมีคนเข้ามาทำร้ายซึ่งส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราได้ และอาจกระทบไปถึงบุคคลในครอบครัวและคนรู้จักของเราได้
กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่จะตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying
คือผู้ที่มีลักษณะอ่อนแอกว่า รวมถึงบุคคลกลุ่มน้อย (minority) ที่มีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม
แต่ทั้งนี้ ทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ได้ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า Cyberbullying เกิดขึ้นจากการที่มีคนเอาข้อความที่มีเจตนาดีของเราไปตีความผิด ๆ หรือการที่เราแชร์เรื่องราว ความคิดเห็นของเรา โดยอาจไม่ทันได้ระวังว่าเราแชร์ที่ไหน ในแหล่งใด กับคนกลุ่มใด ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ที่เป็นความเสี่ยงในการถูกกลั่นแกล้งรังแกได้
ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า Cyberbullying เป็นเรื่องที่มีผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าที่เราคิด
แต่คนที่ตกเป็นเหยื่อก็ไม่ได้อยู่ลำพัง เดียวดาย สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราออกจากปัญหานี้ได้คือ “การแสวงหาความช่วยเหลือ” หาใครสักคนที่เรารู้สึกวางใจ ที่เราจะสามารถสื่อสารเรื่องนี้ได้ หาจุดที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย หาใครสักคนที่เชื่อใจและพูดคุยกับเขา
และทุกคนที่ใช้โซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์ต่างก็มีอำนาจในการควบคุมพื้นที่ของตนเอง เราสามารถตั้งค่าต่าง ๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโลกไซเบอร์ของเราได้ในระดับหนึ่ง สกรีนว่ามีใครบ้างที่เราจะอนุญาตให้เขามาในพื้นที่ส่วนตัวของเรา หรือป้องกันตัวเองที่จะไม่เข้าไปหาเนื้อหาทางลบ
อย่างไรก็ตามแม้เราจะป้องกันตัวเองแล้ว ก็อาจจะยังถูกกลั่นแกล้งรังแกได้ เมื่อไรก็ตามที่เรารับรู้ได้ว่าเราถูกกระทำ เราก็ต้องพยายามดึงสติ รวบรวมความกล้า และใช้ความคิดว่าจะพาตนเองออกจากสถานการณ์นี้อย่างไรให้สวยงามที่สุด ให้เราสบายใจและทุกคนสบายใจ และมันก็ไม่จำเป็นที่ในสถานการณ์ที่เราถูกด่าว่าหรือถูกเอาไปกลั่นแกล้งในทางออนไลน์ เราจะต้องกลายเป็นเหยื่อเสมอไป ตราบใดที่เราไม่ได้มองว่าเราถูกกลั่นแกล้ง เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ
Episode 2 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: มิติผู้กระทำ”
การรังแกในโลกออนไลน์ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
คิดก่อนโพสต์ เช็คก่อนแชร์ #ร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย
ถ้าเราดูนิยามในเชิงวิชาการ พฤติกรรม Cyberbullying เขาจะนับที่เจตนาของผู้กระทำเป็นหลัก ว่ามีเจตนามีพฤติกรรมที่หวังผลร้ายกับผู้ถูกกระทำหรือไม่ แต่ในระยะหลัง ๆ เราพบว่าถึงแม้ผู้กระทำ Cyberbullying จะรู้สึกว่าไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี แต่ถ้าผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อแสดงความไม่พอใจออกมา แสดงอารมณ์ทางลบออกมา และผู้กระทำยังกระทำการนั้นซ้ำ ๆ เช่นนี้ก็ถือว่าเป็น Cyberbullying เช่นกัน
พฤติกรรม Cyberbullying ที่พบได้บ่อย (จากมุมมองของผู้กระทำ)
-
การส่งหรือเผยแพร่ต่อข้อความล้อเลียนใครบางคนที่เราอาจจะรู้สึกไม่ดีด้วย
-
การเฝ้าสะกดรอยตามทางออนไลน์คนที่เราชื่นชอบหรือสนใจเป็นพิเศษ คือเฝ้าดูเขาตลอดเวลาว่าโพสต์หรือทำอะไรบ้างในแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่เขาใช้งานเป็นประจำ จนรู้ความเคลื่อนไหวของบุคคลนี้ไปเสียทั้งหมด ทำให้คนที่ถูกสะกดรอยรู้สึกไม่ดี รู้สึกหวาดกลัว
-
การขับบุคคลอื่นออกจากกลุ่ม ซึ่งทำให้คนที่ถูกกีดกันรู้สึกไม่ดี
-
การปะทะคารม การโต้เถียง การที่เราใช้คำรุนแรงระหว่างกันในอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ
-
การโพสต์หรือแชร์สิ่งที่ทำให้บุคคลรู้สึกอับอาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียง
พฤติกรรม Cyberbullying อาจเป็นพฤติกรรมที่เราเรียนรู้มาจากผู้อื่น เช่น เคยโดนกระทำมาก่อน แล้วนำมาทำบ้าง ก็เป็นการส่งต่อความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับคนอื่น ซึ่งหลาย ๆ คน โดยเฉพาะเด็ก ๆ อาจไม่ได้ตระหนักในสิ่งเหล่านี้
Cyberbullying จึงไม่ได้นับจากเจตนาหรือไม่เจตนา Cyberbullying นั้นเป็นพฤติกรรม หากเราทำลงไปแล้ว และมีคนที่ได้รับผลกระทบ ก็นับเป็น Cyberbullying เช่นการที่เราโพสต์คลิปตลก ๆ ของเพื่อนออกไป แล้วส่งผลให้มีคนมาพูดจาคุกคามทางในทางที่ไม่ดีกับเพื่อนของเรา ส่งผลให้เพื่อนของเราตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying ต่อให้เราขอโทษเพื่อนและลบคลิปแล้ว แต่สิ่งที่คนอื่นนำคลิปไปแชร์ต่อ ผลกระทบนั้นก็ยังส่งถึงเพื่อนของเราอยู่ เราก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการ Cyberbullying ได้เช่นกัน
อะไรที่ทำให้เรากลั่นแกล้งผู้อื่นทางออนไลน์
-
การที่เรารู้สึกว่าไม่มีใครรู้ว่าเราคือใคร เมื่อเป็นที่ที่ไม่ต้องแสดงความเป็นตัวตนของเราออกมา เราก็จะแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงออกมาโดยที่เราไม่กลัวว่า ฉันคือใคร
-
ในโลกออนไลน์เป็นโลกที่ขาดพื้นที่ของความเห็นอกเห็นใจ เราไม่มีโอกาสที่จะรู้ว่าผลกระทบสิ่งที่เราพิมพ์หรือโพสต์ไป คนที่ได้รับผลกระทบ เขาจะรู้สึกอย่างไร เราจึงมีโอกาสทำพฤติกรรมนั้นต่อเนื่อง
-
เราไม่รู้ว่ามีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นกับอีกฝ่ายบ้าง เขาเผชิญความเดือดร้อนแค่ไหน เกิดผลกระทบอย่างไรในโลกความเป็นจริงด้วย
-
คนบางคนมีบุคลิกภาพที่ค่อนข้างก้าวร้าว ข่มขู่คุกคามคนอื่น
-
เคยถูกบูลลี่มาก่อนในโลกไซเบอร์ ในระยะต่อมาก็อาจไปกระทำกับคนอื่น
-
บางคนมุ่งหวังยอดผู้ติดตาม ยอดไลค์ ยอดคอมเมนต์ พอมีคนสนใจมาก ๆ ในเรื่องดราม่าก็ยิ่งมีการส่งต่อแชร์ต่อ
ผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับตัวผู้กระทำเอง
-
หากคนเราใช้ชีวิตอย่างขาดการตระหนักรู้ ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่สามารถควบคุมกำกับตัวเราเองได้ ซึ่งอาจจะขยายไปถึงเรื่องอื่นของปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การตระหนักรู้ในตนเอง หรือสุขภาวะทางใจของเราในอนาคต
-
Cyberbullying เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวประเภทหนึ่ง การได้ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ในโลกออนไลน์ ก็เป็นไปได้ว่าวันหนึ่งจะนำมาทำในชีวิตจริง
การลดพฤติกรรมการรังแกในโลกออนไลน์
-
เริ่มจากความเชื่อและการตระหนักร่วมกันว่าการรังแกในโลกออนไลน์ผลกระทบนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ การที่เรารู้สึกว่าแค่เล่น ๆ ไม่ได้จริงจัง แต่ถ้าเป็นเราที่อยู่ในสถานการณ์นั้นเราจะรู้สึกอย่างไร ฝึกการคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็จะช่วยให้เรายับยั้งพฤติกรรมของเราได้
-
ถ้าเราอยู่ในโลกออนไลน์ และมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มในโลกออนไลน์ที่มีแนวโน้มทำพฤติกรรมแบบ Cyberbullying ให้ถอยตนเองออกมา หลีกเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์แบบนั้น หรือลดปริมาณการใช้งานลง
-
คิดถึงภาพรวมของสังคมให้มากขึ้น การส่งต่อพลังงานทางลบออกไป พลังงานทางลบนั้นก็จะเวียนอยู่ในสังคมและสุดท้ายเราเอง รวมถึงคนรอบข้างของเราก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
-
ใจดีต่อกันมากขึ้น ส่งต่อพลังงานทางบวกมากขึ้น เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น
Episode 3 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: มิติผู้ถูกกระทำ”
คำพูดหรือการกระทำของผู้อื่น ไม่ได้กำหนดคุณค่าในตัวคุณ
STOP / BLOCK / TELL #ร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย
จากงานวิจัยในโครงการ เรื่อง “การศึกษาความชุกของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) และผลกระทบทางจิตใจของเหยื่อในประเทศไทย (เก็บข้อมูลระหว่าง มี.ค. – พ.ค. 2567) พบว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ ในมุมมองของ “ผู้ถูกผู้กระทำ” ที่พบมากที่สุด คือ
-
การได้รับภาพล่อแหลมทางเพศ
-
การได้รับข้อความดูถูก เหยียดหยาม หรือทำให้กลัว ซึ่งอาจจะเกิดจากการสนทนาและโต้เถียงกันจนลุกลาม
-
การได้รับข้อความล้อเลียน เสียดสี
นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่คนอาจไม่ค่อยรู้ว่าจัดเป็น Cyberbullying เช่นกัน
-
การแคปแชทส่วนตัวออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะ
-
การล่อลวงให้ส่งข้อมูลหรือภาพส่วนตัวในเรื่องเพศ แล้วนำออกไปเผยแพร่สู่สาธารณะ
-
การขับคนออกจากกลุ่ม หรือ การติด Hashtag แบนคน
-
การตั้งกลุ่มปิดเพื่อนินทาลับหลังหรือส่งต่อข่าวที่ไม่ดี
วิธีการรับมือเมื่อถูก Cyberbullying
-
-
STOP ไม่เข้าไปยุ่งกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
-
BLOK ไม่ให้คนที่เข้ามาทำร้ายเราเข้าถึงตัวเราได้
-
TELL ไม่เก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวคนเดียว
-
-
ในกรณีที่มีคนมาขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตของเรา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เราอาจจะทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก สิ่งที่จะทำได้คือออกมายอมรับ ขอโทษ ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น
-
ถ้าเรารู้สึกว่ามีโพสต์ใดที่คุกคามจิตใจของเรามาก เราสามารถกด report ให้ระบบจัดการให้โพสต์นั้นหายไป
วิธีการเยียวยาตนเองและหาทางออกจากปัญหา
-
เมื่อถูก Cyberbullying เราอาจจะถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่าเรามีอะไรไม่ดีหรือเปล่า…ให้ออกจากความคิดโทษตัวเองซ้ำ ๆ สิ่งที่จะช่วยได้คือการหาใครสักคนที่จะพูดคุย คนที่วางใจว่าจะช่วยเหลือเราได้
-
แพล็ตฟอร์มที่ให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพจิต เช่น 1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิต, App SATI, App HeretoHeal
-
ถ้าเรารู้สึกแย่มาก ๆ จากการเข้าถึงสังคมออนไลน์ที่ Toxic ให้เราพักจากสื่อนั้น ออกมาทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่จับต้องได้ ออกมาใช้เวลากับตัวเอง และใช้เวลาอยู่ในกลุ่มสังคมที่ดี ๆ
แนวทางการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการถูกรังแก
-
กลับมาโฟกัสในสิ่งที่เราควบคุมได้มากขึ้น เช่น ก่อนที่เราจะแชร์ ก่อนที่เราจะโพสต์ หรือจะสื่อสารอะไรออกไป เราจะสื่อสารอะไรในพื้นที่ไหนบ้างจึงจะปลอดภัย
-
สร้างค่านิยม สร้างบรรทัดฐานใหม่ ๆ ในการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ ร่วมกันผลักดันให้เกิดบรรทัดฐานที่ดี ๆ เมื่อมีสมาชิกคนไหนที่จะมา bully คนอื่น ก็ให้ช่วยกันสกรีน จนให้พฤติกรรมเหล่านั้นลดลง
-
ไม่ตอบโต้ สุมไฟ ให้ผู้กระทำยิ่งรู้สึกสนุก ถ้าเราไม่ยอมให้คนเหล่านั้นมามีบทบาทในชีวิตของเรา เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อ
-
ให้ทุกคนรู้จักคุณค่าของตนเอง เชื่อว่าตนเองมีคุณค่า ต่อให้จะมีใครมาว่ากล่าว ตำหนิเรา ให้ยึดว่าชีวิตของเรายังมีคุณค่า ยอมรับว่า ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในโลกออนไลน์ ย่อมมีคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบเรา เพียงแต่ว่าโลกออนไลน์มันง่ายที่คนจะมาพูดทำร้ายความรู้สึกของเรา แล้วก็ไป
-
รักตัวเองให้มาก เรียนรู้ที่จะก้าวผ่านเรื่องราวที่ไม่ดี เรียนรู้ที่จะเติบโตและเป็นคนที่ดีขึ้น อยู่ในสังคมอย่างภาคภูมิใจ
Episode 4 “รู้จัก…เข้าใจ Cyberbullying: มิติผู้พบเห็นเหตุการณ์”
“แทนที่เราจะเป็นคนเฝ้าดูเฉย ๆ ซึ่งมันขาดความเห็นอกเห็นใจ ถ้าเราสามารถมีบทบาทในการที่เป็นผู้ปกป้อง บทบาทในการที่ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียวลำพัง ก็จะช่วยได้มาก ๆ”
หยุดวงจรการเกิด Cyberbullying ซ้ำ ๆ ที่ตัวเรา
“เพิ่มบทบาทการเป็นผู้ปกป้อง” #ร่วมกันสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย
ผู้พบเห็น Cyberbullying แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ
-
ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการ Cyberbullying ด้วย เช่น มาร่วมคอมเมนต์ในทางลบ
-
ผู้ที่เข้ามาปกป้องผู้ถูกกระทำ เช่น การให้ข้อมูลความจริง หรือให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เป็นการปกป้องผู้ที่ถูกกระทำ หรือให้กำลังใจผู้ที่ถูกกระทำ
-
ผู้ที่ไม่ได้ทำอะไร อาจกลัวว่าตัวเองจะกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อ หรือมองว่าเดี๋ยวคงมีคนอื่นมาช่วยเอง [ทางจิตวิทยาเรียกว่า bystander effect (ยืนมุงแต่ไม่ช่วยเหลือ) ]
เราสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying ได้อย่างไร
-
ไม่ส่งต่อ ไม่เผยแพร่ และอาจพูดคุยกับคนที่ส่งต่อมาให้ว่าอย่าส่งต่อไปให้คนอื่นอีกเลย เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม
-
ไม่คล้อยตาม หรือปักใจเชื่อ ว่าคนที่ถูกโจมตีจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ปัจจุบันนี้คนถูกโจมตีด้วยข้อมูลเท็จกันมาก เพราะฉะนั้นจึงควรต้องพิจารณาดี ๆ อย่างรอบคอบ
-
ไม่เพิกเฉย ถ้าคนนั้นเป็นคนที่เรารู้จัก สามารถให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งได้เพื่อรักษาความถูกต้องบนโลกออนไลน์
-
ช่วยกันรณรงค์ว่าก่อนที่จะสื่อสารอะไร อาจจะกำลังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่
-
กด report โพสต์ หรือ บัญชี ที่ Cyberbullying คนอื่น
-
สื่อสารกับผู้ถูกกระทำ ว่ายังมีคนที่เข้าใจ
เราทุกคนช่วยกันลดปัญญา Cyberbullying ได้อย่างไร
-
เพิ่มการตระหนักรู้ว่าพฤติกรรมอะไรที่ทำลงไปแล้วอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น และระงับพฤติกรรมนั้น
-
เพิ่มการมีวิจารณญาณในการใช้สื่อ (Media literacy) รู้ว่าอะไรคือประโยชน์ของการใช้งานอินเทอร์เน็ต และอะไรคือโทษที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกำหนดบรรทัดฐานหรือค่านิยมใหม่ ๆ ว่าสิ่งใดควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ คอยห้ามปรามกันและกัน
-
เราควรมีนโยบายป้องกันและระบบช่วยเหลือดูแลผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออย่างไร
-
เนื่องจาก Cyberbullying ส่วนมากมักเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนเป็นจุดที่สำคัญในการสร้างองค์ความรู้ให้กับนักเรียน รวมถึงครูในโรงเรียน ถึงความร้ายแรงของ Cyberbullying ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องของการล้อเล่นกัน เพราะมันสามารถสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับคนที่ตกเป็นเหยื่อได้
-
ในรายวิชาด้านการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกเหนือจากการศึกษาฟังก์ชั่นการใช้งาน ยังควรเพิ่มประเด็นเรื่องการใช้งานอย่างไรให้เหมาะสม ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และไม่ให้ผู้อื่นมาละเมิดสิทธิของเรา
-
การมีเครือข่ายในการดูแล ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความช่วยเหลือได้ง่าย รับรู้ได้ว่ามีกลุ่มบุคคลที่ปลอดภัยที่พึ่งพาได้
-
ผู้พัฒนาแพล็ตฟอร์มสร้างระบบที่จะช่วยผู้ถูกกระทำให้สามารถดึงกลับข้อมูลที่เหมาะสม งดการรีแชร์/รีโพสต์ข้อความ/รูปภาพ/คลิปเดิมซ้ำ ๆ ไม่ให้เกิดการรังแกซ้ำได้
การเพิกเฉยต่อปัญหา Cyberbullying สามารถสร้างบาดแผลให้กับผู้ถูกกระทำได้ ทุกคนจึงควรรวมพลังกัน ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ร่วมกันสร้างสังคมที่น่าอยู่ ลดปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันในโลกออนไลน์ให้หายไป